Moon (2009)
: Duncan Jones ♥♥♥♥
ถึงมนุษย์จะเคยย่างเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์ แต่ก็มีอะไรอีกมากที่ยังไม่ล่วงรับรู้ จิตใจ/ด้านมืดของคนเราก็เช่นกัน, ผลงานแรกแจ้งเกิดผู้กำกับ Duncan Jones เคารพคารวะโคตรหนัง Sci-Fi จากอดีต ใช้นักแสดงเพียง Sam Rockwell และหุ่นยนต์ HAL 9000 GERTY พากย์เสียงโดย Kevin Spacey
ไล่เรียงอิทธิพลจากหนังไซไฟคลาสสิก เท่าที่พอสังเกตได้ อาทิ 2001: A Space Odyssey (1968) [อาจจะรวมถึงภาคต่อที่ผมก็ไม่เคยดู 2010: The Year We Make Contact (1984)], Silent Running (1972), Alien (1979), Outland (1981) ฯ
Moon เป็นภาพยนตร์ Sci-Fi แนว Retro (ย้อนยุค) เพื่อสนองคอหนังรุ่นก่อนที่โหยหา ‘แนวคิด’ มากกว่า Visual Effect ตระการตา การันตีได้ว่าคุณอาจครุ่นคิดหัวแทบแตกแต่กลับไม่เข้าใจอะไรเลย หรือไม่ก็เป็นแบบเดียวกับผม ปวดหัวแทบระเบิดเพราะสามารถแตกหน่อขยายต่อความคิดไม่รู้จบสิ้น
บทความนี้มีความจำเป็นอย่างมากต้องสปอย! โดยเฉพาะจุดหักมุมของหนัง (บางคนอาจไม่รู้สึกว่า’นั่น’คือหักมุม แต่ขอให้เข้าใจว่ามันอาจเกินความคาดหมายของใครหลายๆคน) ล่วงรู้แล้วอาจทำให้อรรถรสในการรับชมลดน้อยลง แนะนำให้หลีกเลี่ยงไปก่อน ค่อยหวนกลับมาอ่านการวิเคราะห์ตีความหลังจากดูจบแล้วจะดีกว่า
Duncan Zowie Haywood Jones (เกิดปี 1971) ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bromley, London ลูกชายของนักร้องชื่อดัง David Bowie โตขึ้นเรียนจบปรัชญาจาก College of Wooster ตอนแรกตั้งใจจะไปให้ถึงปริญญาเอก แต่เปลี่ยนใจมาเรียนภาพยนตร์ London Film School จบออกมาทำงานเป็นตากล้อง, ผู้กำกับ In-Game Cinematics, กำกับโฆษณา, และภาพยนตร์เรื่องแรก Moon (2009) ไม่ทำเงินเท่าไหร่ แต่กวาดรางวัลเพียบ
เพราะความที่อยากร่วมงานกับ Sam Rockwell แต่หาเวลาว่างตรงกันไม่ได้สักที Jones เลยมอบหมายให้เพื่อนสนิท Nathan Parker ร่วมกันพัฒนาบทภาพยนตร์ที่มี Rockwell แสดงนำ โดยเลือกเอาหัวข้อ Sci-Fi เกี่ยวกับดวงจันทร์ และมีกลิ่นอาย 70s-80s
“[We] wanted to create something which felt comfortable within that canon of those science fiction films from the sort of late seventies to early eighties. For me, the Moon has this weird mythic nature to it…. There is still a mystery to it. As a location, it bridges the gap between science fiction and science fact. We (humankind) have been there. It is something so close and so plausible and yet at the same time, we really don’t know that much about it”.
อนาคตอันใกล้ 2035 เมื่อบริษัท Lunar Industries ได้ค้นพบแร่ธาตุ Helium-3 บนดวงจันทร์ สามารถนำมาใช้แทนเชื้อเพลิงน้ำมัน ทั้งยังสะอาด ปลอดภัย ไร้มลพิษ ด้วยเหตุนี้จึงสร้างสถานีขุดเหมือง Sarang Station ตั้งอยู่บริเวณห่างไกล ทุกสิ่งอย่างดำเนินไปอย่างอัตโนมัติ ควบคุมโดยหุ่นปัญญาประดิษฐ์ GERTY และเจ้าหน้าที่มนุษย์ Sam Bell (รับบทโดย Sam Rockwell) ประจำอยู่เพียงคนเดียว ด้วยระยะสัญญา 3 ปี ถึงสามารถเดินทางกลับโลกได้
เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อเหลือกำหนดกลับเพียง 2 สัปดาห์ Sam เกิดอาการป่วย เห็นภาพหลอน ปฏิบัติภารกิจผิดพลาดจนเกือบเสียชีวิต แล้วอยู่ดีๆตื่นขึ้นมาใหม่พบว่าตนเองนอนสลบไสลอยู่บนเตียง พยายามปะติดปะต่อเรื่อวราว/สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น และได้ค้นพบข้อเท็จจริงบางอย่างสิ่งอันชวนให้น่าตกตะลึง หวาดสะพรึงกลัว
Sam Rockwell (เกิดปี 1968) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Daly City, California, ในครอบครัวนักแสดง แม่จับขึ้นเวทีตั้งแต่อายุ 10 ขวบ โตขึ้นเข้าเรียน San Francisco School of the Arts รุ่นเดียวกับ Margaret Cho และ Aisha Tyler แต่เอาเวลาไปเที่ยวเล่นปาร์ตี้จนเกือบเรียนไม่จบ สู่วงการภาพยนตร์เรื่อง Clownhouse (1989), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Box of Moonlight (1996), Lawn Dogs (1997), สมทบ The Green Mile (1999), ตัวร้าย Charlie’s Angels (2000), Matchstick Men (2003), The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford (2007), Frost/Nixon (2008), Moon (2009), Iron Man 2 (2010), คว้า Oscar: Best Supporting Actor จากเรื่อง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri (2017)
พื้นหลัง: ตอนอยู่บนโลกแต่งงานครองรักกับ Tess Bell (รับบทโดย Dominique McElligott) ขณะเธอกำลังตั้งครรภ์ ไม่รู้เกิดเรื่องขัดแย้งอะไรกันขึ้น ทำให้ต้องแยกกันอยู่นานถึง 6 เดือน นั่นทำให้ Sam ตัดสินใจเซ็นสัญญาทำภารกิจดวงจันทร์เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจของตนเอง เมื่อกลับสู่โลกจะได้กลายเป็นคนใหม่ พบเจอหน้าภรรยาและลูกสาวที่รักยิ่งของตนเอง
ในความเป็นจริง: Sam ได้รับการติดต่อจากบริษัทหนึ่ง แลกกับเงินปริมาณมหาศาลเพื่อทำการคัดลอกพันธุกรรม พร้อมความทรงจำบางส่วน ตนเองอยู่สุขสบายบนโลก น่าจะไม่เคยขัดแย้งภรรยา หรือเดินทางไปดวงจันทร์เสียด้วยซ้ำ (เมื่อครั้นโคลนของ Sam โทรศัพท์ไปบ้าน จะมีเสียงผู้ชายดังขึ้น นั่นคือ Sam ตัวจริงเสียงจริง!)
โคลนของ Sam คงมีนิสัยโปรแกรมมาเหมือนกันคือ รักครอบครัว ขยันขันแข็งในหน้าที่การงาน ตรงต่อเวลาและตนเอง แต่อาจจะอารมณ์ฉุนเฉียวควบคุมสติไม่อยู่บ้างบางที และชื่นชอบใช้กำลังรุนแรงในการแก้ปัญหา,
เรื่องราวต่างๆคงดำเนินไปตามวิถีปกติ ถ้าไม่เพราะโคลนรุ่นที่ 6 ตื่นขึ้นมาพบเห็นบางสิ่งอย่างผิดปกติน่าสงสัย สะกิดต่อมใคร่อยากรู้ค้นหาคำตอบ ซึ่งพอได้ค้นพบอีกตัวตนเอง ร่างโคลนที่ 5 ทีแรกไม่อยากเชื่อสายตา พยายามครุ่นคิดไขปริศนาจนได้รับความกระจ่างแจ้ง
เกร็ด: การนับรุ่นโคลน คำนวณจากลูกสาว Eve ได้รับการเปิดเผยว่าขณะนั้นอายุ 15 ซึ่งจากสัญญา 3 ปี หารลงได้ 5 พอดี แสดงว่า Sam ตนแรกคือโคลนลำดับ 5 และที่ถูกปลุกขึ้นมากลางเรื่องคือโคลนลำดับ 6 (ช่วงท้ายตอนยานอวกาศกำลังพุ่งสู่โลก จะมีการเอ่ยถึง Clone 6 อยู่ด้วย)
เกร็ด2: อาการป่วยของ โคลน#5 แสดงถึงการได้รับกัมมันตรังสี(จากแสงอาทิตย์/อวกาศ)มากเกินไปจนเริ่มเป็นพิษ เริ่มจากปวดหัว เลือดออกเยอะ ผิวสีซีด วิงเวียน เป็นไข้ ไร้เรี่ยวแรง นี่กระมั่งคงคือเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกระยะเวลา 3 ปี (ไม่รู้ว่านี่เป็นตัวเลขจากผลการวิจัย หรือแค่สุ่มๆคาดเดา เพราะยังไม่เคยมีมนุษย์คนไหนเคยอาศัยอยู่ดวงจันทร์ยาวนานขนาดนั้น)
นักวิจารณ์ชื่อดังของอเมริกา ให้ข้อสังเกตรูปลักษณ์/การแสดงของ Sam Rockwell คล้ายคลึงกับ Christopher Walken ผู้ขึ้นชื่อลือชาในความเพี้ยนพิศดาร กล่าวคือ ภายนอกดูเหมือนคนปกติสุขทั่วไป แต่ภายในเมื่อไหร่เกิดอาการคลุ้มคลั่ง มันถึงระดับหลุดโลกเสียสติแตกไปเลย
สำหรับ Moon ถือเป็นผลงานขายการแสดงของ Rockwell (แต่กลับไม่ค่อยเข้าตาสำนักวิจารณ์ไหนๆ) รับบทสองตัวละครที่แม้จะคนๆเดียวกัน แต่มีความแตกต่าง แบ่งแยกด้วยประสบการณ์/ระยะเวลาการมีชีวิต
– โคลนลำดับที่ 5 ทำงานมาสามปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากประสบการณ์ ทำให้ถูกโลกทัศน์บางอย่างควบคุมครอบงำความคิด ร่างกายเริ่มอิดๆออดๆ กำลังใกล้ถึงจุดสิ้นสุดอายุไข เมื่อรับรู้ความจริงและตระหนักได้ว่ากำลังจะตาย ยินยอมเสียสละให้โคลนลำดับที่ 6 เติมเต็มเป้าหมายชีวิตของตนเอง
– โคลนลำดับที่ 6 เพิ่งตื่นขึ้นมา ร่างกายยังเข้มแข็งแรงเหมือนเด็กเกิดใหม่ เต็มเปี่ยมด้วยความใคร่อยากรู้สงสัย กล้าครุ่นคิดทำอะไรที่แตกต่าง และพร้อมยอมเสียสละให้คนมาก่อน เพราะไม่รู้วาระสุดท้ายในชีวิตจะยืนยาวอีกแค่ไหน
สิ่งน่าประทับใจสุดในการแสดงของ Rockwell คือระหว่างเผชิญหน้ากันและกันของโคลนสองรุ่น แรกเลยคือไม่มีใครยินยอมรับกันและกัน สันชาตญาณเสี้ยมสอนบอกว่า ‘ฉันนี่แหละมาก่อนตัวจริง’ เพื่อมิให้เกิดอาการคลุ้มคลั่งเสียสติ โคลน#6)ออกกำลังกายให้เหงื่อระบาย โคลน#5)เดินวนไปวนมาอย่างลุ่มร้อน จากนั้นเมื่อจิตใจค่อยๆสงบลง เริ่มพบเห็นข้อสังเกต ครุ่นคิดด้วยสติปัญญา และได้รับคำตอบยืนจาก GERTY ถึงได้ล่วงรับรู้ว่า ทุกคนมันก็โคลนมาเหมือนกันหมดนะแหละ
ถ่ายภาพโดย Gary Shaw ตากล้องสัญชาติอังกฤษ (ไม่ใช่นักฟุตบอลนะครับ!)
หนังแทบทั้งเรื่อง สร้างฉาก ถ่ายทำในสตูดิโอ Shepperton Studios, London ทุกอย่างถูกจำลองสร้างขึ้นมาจริงๆ (ผู้กำกับ Jones ไม่นิยมชมชอบใช้ Blue/Green Screen สักเท่าไหร่) ทั้งยาน Lunar Rovers, Helium-Harvesters สามารถวิ่งบนพื้นผิวดวงจันทร์ ขนาดกว้าง 85-90 ฟุต (26-27 เมตร) ยาวประมาณ 70 ฟุต (21 เมตร) มี Visual Effect แค่ส่วนของพื้นหลัง ดวงดาว Particle และขณะกระสวยพุ่งสู่โลกเท่านั้นเองกระมัง
การออกแบบฉาก เต็มไปด้วยกลิ่นอายหนังไซไฟยุค 70s-80s ได้รับอิทธิพลเต็มๆจาก 2001: A Space Odyssey (1968) คงไม่ต้องถึงแคปรูปมาเปรียบเทียบ ก็น่าจะจินตนาการกันออกกระมัง
อาจมีคนสงสัยว่า ถ่ายทำอย่างไรให้ Rockwell สองคนปรากฎร่วมซีนกันได้? เท่าที่ผมสังเกตเห็น มักไม่ค่อยมีการใช้ CG เข้าช่วยสักเท่าไหร่ เน้นมุมกล้อง นักแสดงแทน (ในเครดิตขึ้นชื่อ Robin Chalk) และลีลาตัดต่อเป็นส่วนใหญ่ แต่ช็อตไหนหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องเผชิญหน้ากัน ก็ใช้การแยกถ่ายทำฝั่งละเทค แล้วค่อยนำไปผนวกรวม/ซ้อนภาพเข้าด้วยกัน แค่นั้นเองไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่
ผู้กำกับ Jones เคยให้สัมภาษณ์ว่า ขณะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ กำลังจีบสาวชาวเกาหลีใต้ ด้วยเหตุนี้หลายๆคำศัพท์ของหนังจึงเป็นภาษาเกาหลี ฟังดูมีความโรแมนติกเสียกระไร อาทิ
– ชื่อสถานี Sarang ภาษาเกาหลีแปลว่า ความรัก, แต่คำนี้ยังมีความหมายภาษาสันสกฤษ แปลว่า นกยูง, และภาษา Malay แปลว่า รังนก
– ‘Annyeonghi gyeseyo’ แปลว่า Good Bye
ชื่อยานเก็บเกี่ยวทั้งสี่ลำ ประกอบด้วย Matthew, Mark, Luke, John สอดคล้องกับชื่อนักบุญที่เขียนคัมภีร์ไบเบิล พันธสัญญาใหม่ นัยยะคงประมาณว่า สิ่งที่เครื่องยนต์เหล่านี้เก็บเกี่ยว คือความหวังของมวลมนุษยชาติ(ที่อยู่บนโลก)
สำหรับคำว่า GERTY หุ่นยนต์ที่ได้แรงบันดาลใจจาก HAL 9000 มีหลายทฤษฎีสมคบคิดถึงชื่อของมัน
– มีลักษณะคล้ายคลึงกับ QWERTY หกอักษรตัวแรกของแป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษ
– แรงบันดาลใจจากชื่อของ Christopher E. Gerty วิศวกร NASA ผู้ออกแบบหุ่นยนต์ A.I. ให้โครงการสำรวจอวกาศ
– อาจมาจากชื่อแม่ Sadie Gertrude Kubrick ของผู้กำกับ Stanley Kubrick
เสียงพากย์ของ GERTY ส่งบทให้ Kevin Spacey เจ้าตัวให้ความสนใจ แต่ขอรับชมตัวหนังก่อนและถึงค่อยบันทึกเสียง คงแน่นอนว่าคงชื่นชอบมาก ใช้เวลาเพียงครึ่งวันก็เสร็จสิ้น
ตัดต่อโดย Nicolas Gaster สัญชาติอังกฤษ, เต็มไปด้วยลีลา โฉบเฉี่ยว และมีความฉับไว โดยเฉพาะเมื่อ Sam ทั้งสองคนประจันหน้า ชกต่อยสู้ เพื่อไม่ให้หลุดคิวหรือติดภาพนักแสดงแทน (ในมุมของผมมันชัดเจนเลยว่า หนังใช้การมุมกล้องและตัดต่อเพื่อเลี่ยง CG เยอะๆ)
การเล่าเรื่องจะมีการล่อหลอกให้ผู้ชมเกิดความใคร่สงสัย เมื่อตอนโคลน#5 ประสบอุบัติเหตุ เป็นตายร้ายดีไม่มีใครบอกได้ แล้วอยู่ดีๆกลับลืมตาตื่นขึ้นมาในห้องผู้ป่วย ใครกันให้ความช่วยเหลือ? เจ้าหุ่น GERTY ไปลากมางั้นหรือ? เกิดความเข้าใจผิดว่าโคลน#6 คือโคลน#5 ไปช่วงขณะหนึ่งใหญ่ๆ
และตอนที่โคลน#5 อุปโหลกด้วยความเข้าใจหัวชนฝา ฉันคือตัวจริงไม่ใช่โคลน! ผู้ชมจะเกิดความลังเลไม่แน่ใจ ครุ่นคิดถึงแนวโน้มเป็นไปได้ ใครไหนคือตัวจริง ซึ่งก็อาจมีคนครุ่นคิดนอกกรอบ ตัวจริงทั้งคู่(ฝาแฝด), โคลนทั้งคู่, ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
ช่วงระหว่าง โคลน#5 v. โคลน#6 ผมว่าสังเกตความแตกต่างไม่ยากเท่าไหร่นะ ทางกายภาพก็เห็นได้ชัด คนหนึ่งหน้าซีดเซียว ร่างกายอ่อนแอ ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง ขณะที่อีกฝ่ายยังเต็มเปี่ยมด้วยพละกำลังวังชา สติปัญญาสดใหม่ ไร้ร่องรอยบาดแผลใดๆ
เพลงประกอบโดย Clint Mansell อดีตนักร้องวง Pop Will Eat Itself ได้รับการชักชวนสู่วงการเพลงประกอบภาพยนตร์โดย Darren Aronofsky กลายเป็นขาประจำ ผลงานเด่นๆ อาทิ Requiem for a Dream (2000), The Fountain (2006), Blood: The Last Vampire (2009), Black Swan (2010), Ghost in the Shell (2017) ฯ
สัมผัสของบทเพลงเต็มไปด้วยสัมผัสอันหลอกหลอน น่าหวาดสะพรึงกลัว สร้างเสริมบรรยากาศของการต้องอาศัยเอาตัวรอดอย่างโดดเดี่ยวเดียวลำพัง บนสถานที่ห่างไกลความเจริญของอารยะธรรม สุดริมขอบฟากฟ้าดวงจันทร์ มนุษย์ผู้จักอาศัยอยู่ได้ ต้องเอ่อล้นด้วยความหวัง เป้าหมายที่เมื่อถึงเวลา/ครบกำหนด จักได้รับการเติมเต็ม’ความเชื่อ’อย่างสมบูรณ์เท่านั้น
สถานการณ์ของนาย Sam Bell สัญญานรกที่ทำให้เขาต้องตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวเดียวลำพัง บนดวงจันทร์อันเวิ้งว้างว่างเปล่าเป็นระยะเวลาถึง 3 ปี ถ้าเป็นมนุษย์ทั่วไปคงคลุ้มคลั่งเสียสติแตกไปนานแล้ว นอกเสียจากมีแรงกระตุ้นผลักดัน เป้าหมายปลายทางอย่างเด่นชัดเจน ซึ่งก็คือค่าตอบแทนปริมาณมหาศาล และการพบเจอหน้าภรรยากับลูกสาววัยกำลังน่ารัก 3 ขวบ
สัญญานรกที่ถือว่าโคตรเอารัดเอาเปรียบต่อลูกจ้าง แบบไม่สนสภาวะการทำงาน หรือผลกระทบต่อสภาพทางจิตใจ นี่เป็นการแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดของนางจ้าง บริษัท Lunar Industries ด้วยการลดภาระต้นทุนให้ต่ำที่สุด ถึงผลผลิตออกมาสร้างคุณประโยชน์มหาศาลต่อมวลมนุษย์ แต่ถือเป็นการกระทำอันโลภละโมบ เห็นแก่ตัว ไร้สามัญสำนึกมนุษยธรรมโดยสิ้นเชิง
ก็ไม่ต้องไปถึงดวงจันทร์หรอกนะ นับตั้งแต่การมาถึงของโลกยุคสมัยอุตสาหกรรม นายทุนส่วนใหญ่ก็มักเป็นแบบนี้ สนเพียงผลประโยชน์กำไร ลูกจ้างแรงงานทุกข์ยากลำบากแค่ไหนไม่อยากสนหัว แม้จะเริ่มมีสหภาพแรงงาน หรือพระราชบัญญัติการใช้แรงงาน ก็ใช่ว่าความโลภละโมบจะหมดไปจากจิตใจของคน
เมื่อวิวัฒนาการโลกพัฒนามาถึงจุดๆหนึ่ง เมื่อแรงงานมนุษย์สามารถถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรกล คราวนี้ก็หวานปากนายทุนบางกลุ่ม ไม่ต้องทนลำบากหูเปื่อยฟังคำบ่นนินทา เรียกร้องสวัสดิการค่าแรงของลูกจ้าง แต่ใช่ว่าสิ่งอัตโนมัติเหล่านั้นจะสามารถทำงานได้เองโดยสมบูรณ์แบบ ไม่ว่ายังไงก็ต้องมี’มนุษย์’เป็นผู้ตรวจสอบ บำรุงซ่อมแซม (แต่ค่าใช้จ่ายก็มิได้สูงเท่า แรงงานมนุษย์จำนวนมากๆรวมกัน)
โคลนนิ่ง เป็นวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีชิ้นหนึ่ง (พันธุวิศวกรรม) ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันห่างไกล แต่ยังอยู่ในช่วงระหว่างถกเถียงถึงความเหมาะสม เพราะสิ่งมีชีวิตเกิดใหม่นั้น ต่างมีเลือดเนื้อ ความคิดอ่าน จิตวิญญาณ ไม่แตกต่างอะไรกับสามัญชนคนทั่วไป เราจะมองเขาเป็นมนุษย์ สัตว์ หรืออะไร? จำเป็นไหมต้องให้ถือกำเนิดขึ้น?
ในมุมมองของบริษัท Lunar Industries สร้างโคลน เพื่อทำงานแทนมนุษย์ในสถานการณ์อันผิดปกติ กล่าวคือ คนทั่วไปย่อมไม่สามารถอดรนทนต่อสภาพการทำงานโดดเดี่ยวเดียวลำพัง บนดวงจันทร์อันเวิ้งว้างว่างเปล่าเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน แต่เจ้าสิ่งมีชีวิตนี้ย่อมสามารถปรับแต่งปรุงยีนส์ ให้ปรับเอาตัวรอดในสภาวะเงื่อนไขดังกล่าวได้ไม่ยาก
ถ้าเรามีทัศนคติตั้งแต่แรกว่า การโคลนนิ่งเป็นสิ่งผิดมโนธรรม การกระทำของบริษัท Lunar Industries ก็ถือว่าชั่วช้าบัดซบเลวทรามมาตั้งแต่ต้น, แต่ในมุมกลับกัน โคลนนิ่งได้สิ่งไม่ใช่มนุษย์ พวกมันถูกสร้างขึ้นด้วยข้อจำกัด เงื่อนไข เป้าหมายชัดเจน คือวัตถุสิ่งของชนิดหนึ่ง ก็เหมือนหุ่นยนต์ GERTY มิได้มีความสลักสำคัญไปมากกว่าเครื่องจักรกลไก โซ่ เฟือง น็อตตัวหนึ่งเท่านั้นเอง
Moon คือภาพยนตร์ที่จะทำให้เราย้อนกลับมาครุ่นคิดตั้งคำถามถึงตนเอง มองโลกในมุมของโคลนสองตนที่อาศัยอยู่บนดวงจันทร์ พวกเขาคือมนุษย์ที่ไม่ใช่มนุษย์ ผลผลิตจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น หุ่นยนต์/เครื่องจักรกลไก ทำงานสร้างผลประโยชน์ตอบแทนมูลค่ามหาศาล แต่กลับถูกละทิ้งขว้าง ไม่ค่อยให้ความสนใจทะนุถนอมเหลียวแล มันช่างเป็นสิ่งน่าน้อยใจ เห็นแก่ตัวมากไปหรือเปล่า
ลองมองแบบนี้ดูนะครับ
– แอร์ตัวหนึ่ง ซื้อมาใช้งานต่อเนื่องยาวนานหลายปีจนกระทั่งมันพัง
– ลูกหมาตัวหนึ่ง รับมาเลี้ยงดูจนมันเติบโต เจริญวัย แก่ เสียชีวิต
ระหว่างวัตถุสิ่งของ กับสิ่งมีชีวิต แน่นอนว่ามนุษย์มีความผูกพันกับสุนัขมากกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นไหนๆ แต่เราสามารถมองครอบจักรวาล เห็นหัวอกของเจ้าแอร์เครื่องนั้น ที่ทำงานรับใช้สร้างความสะดวกสบายมานานหลายปี ได้หรือเปล่า?
ทำไมถึงเลือกดวงจันทร์เป็นสถานที่พื้นหลังดำเนินเรื่อง? มนุษย์แหงนหน้ามองฟากฟ้า จับจ้องดูดวงจันทรา เกิดความเพ้อฝันทะเยอทะยาน อยากที่จักขึ้นไปก้าวย่างเหยียบเดินสักครั้งหนึ่ง, ในมุมกลับกัน โคลนนิ่ง Sam ผู้ถือกำเนิดอาศัยอยู่บนดวงจันทร์ จับจ้องมองดูโลกสีคราม โหยหาอยากกลับบ้านเก่า พบเจอครอบครัวที่ตนรักอีกสักครั้งหนึ่ง
ดวงจันทร์ มองในเชิงสัญลักษณ์เฉพาะกับหนังเรื่องนี้ ราวกับกระจกสะท้อนตัวตนเอง อีกด้านหนึ่งภายในจิตใจมนุษย์, โคลน#5 กำลังจะตาย พบเจอ โคลน#6 เพิ่งถือกำเนิดใหม่,
– อดีต-ปัจจุบัน, เริ่มต้น-สิ้นสุด, คนรุ่นใหม่-คนรุ่นเก่า
– มนุษย์-หุ่นยนต์, สิ่งมีชีวิต-สิ่งไม่มีชีวิต, ร่างกาย-จิตใจ
– ดี-ชั่ว, ถูก-ผิด, เหมาะสม-ไม่เหมาะสม
– โลก-ดวงจันทร์
ฯลฯ
ใจความของ Moon ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘มุมมอง’ ของหนัง เหมือนที่เราส่องกระจกเห็นตัวตนเองแล้วเกิดความพิศวง หรือจับจ้องพระจันทร์แล้วใคร่สงสัย สิ่งที่ปรากฎอยู่ฝั่งตรงกันข้ามนั่นคือใคร อะไร จะมีอารมณ์ ความรู้สึก จิตวิญญาณ แบบเดียวกับตัวเราหรือเปล่า?
ทีแรก Sony Pictures Classics ตั้งใจให้หนังเป็น Direct-to-DVD (สำหรับทั่วโลก) แต่พอเข้าฉายในเทศกาลหนัง Sundance Film Festival ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จึงเปลี่ยนใจนำเข้าโรงภาพยนตร์ด้วย
ด้วยทุนสร้างเพียง $5 ล้านเหรียญ ทำเงินรวมทั่วโลกได้เพียง $9.8 ล้านเหรียญ ถือว่าไม่เจ็บตัวเท่าไหร่ เพราะยอดขายแผ่น DVD/Blu-Ray เพียงเล็กน้อยก็สามารถกลบคืนทุนได้แล้ว, เข้าชิง BAFTA Award สองสาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Outstanding Debut by a British Writer, Director or Producer ** คว้ารางวัล
– Alexander Korda Award for Best British Film
ผู้กำกับ Jones ต้องการที่จะสร้างภาคต่อให้กลายเป็น Trilogy ล่าสุดสำเร็จภาคสอง Mute (2018) แต่เสียงตอบรับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง คงไม่น่าไหวกับภาคสามกระมัง [จริงๆภาคต่อน่าจะทำออกมาคล้ายๆ Blade Runner เมื่อ Sam Bells มีอายุเพียง 3 ขวบปี ออกติดตามหาผู้สร้างให้กำเนิด ดูสิว่าเขาจะสามารถปรับเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของตนให้ยืนยาวนานไปกว่านั้นได้ไหม แต่เหมือนว่าเรื่องราวของ Mute จะไม่ใช่แบบนี้นะสิ!]
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ เพราะเรื่องราวสามารถแตกหน่อขยายต่อความคิดไม่รู้จบสิ้น แต่ลึกๆก็น่าเบื่อหน่ายไปเสียหน่อยเพราะมีเพียงตัวละครเดียวหน้าซ้ำๆ แถมทำโทนสีของภาพมอบสัมผัสอันเหือดแห้งแล้ว อ้างว้างโดดเดี่ยวเดียวดาย อึดอัดรวดร้าวใจสิ้นดี
แนะนำคอหนังไซไฟ ดำเนินเรื่องบนดวงจันทร์, นักคิด นักปรัชญา ชื่นชอบขนไขปัญหา, นักจิตวิทยา จิตแพทย์ นักวิทยาศาสตร์, แฟนๆผู้กำกับ Duncan Jones และนักแสดงนำ Sam Rockwell ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ ภาษาหยาบคาย เลือด ความรุนแรง ทรยศหักหลัง
Leave a Reply