Morocco (1930) : Josef von Sternberg ♥♥♥♡
Marlene Dietrich ทิ้งทุกสิ่งอย่างจากบ้านเกิด ออกเดินทางเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังประเทศ Morocco แม้จะได้รับสิ่งปรนเปรอเลิศหรูสุขสบายจาก Adolphe Menjou แต่เพราะตกหลุมรักนายทหารหนุ่มสุดหล่อ Gary Cooper สุดท้ายเลือกติดตามเขามุ่งสู่ทะเลทราย Sahara อันเวิ้งว้างว่างเปล่า
เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจผิดแน่ๆ คิดว่าอวตารของ Josef von Sternberg จะคือตัวละคร Gary Cooper แต่แท้จริงแล้วพระเอกหนุ่มสุดหล่อคนนี้เป็นเพียงตัวประกอบน่าหมั่นไส้ ที่ผู้กำกับไม่เคยสนใจเหลียวแลให้คำแนะนำใดๆ หนำซ้ำยังเกลียดตัวกินไข่เพราะดันเป็นหนึ่งในมือที่สามขัดขวางความรักของตนเอง (Dietrich พอไปอยู่อเมริกา หนุ่มสาวหล่อสวยไหนมาพาขึ้นห้องหมด) ได้ยินว่าเคยกระชากคอเสื้อเกือบมีเรื่องชกต่อยตีกันด้วย
Adolphe Menjou ต่างหากที่คือตัวตายตัวแทนของ Sternberg ทุ่มเทกายใจให้แม่หญิง Dietrich บำเรอกามสุขทุกสิ่งอย่าง ซื้อรถ Rolls-Royce Phantom II ทำขวัญให้ตั้งแต่ลงเรือเดินทางถึงอเมริกาครั้งแรก แต่สุดท้ายได้สนองเพียง Passion อันเร่าร้อนรุนแรงและแห้งเหือดดั่งทะเลทราย Sahara ไร้ซึ่งโอกาสครอบครองจิตใจแท้จริงของเธอแม้แต่น้อย
เราสามารถมองได้ว่า Sternberg คือบันไดที่ช่วยให้ Dietrich ปีนป่ายไขว่คว้ากลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า แต่ทั้งสองในวงการภาพยนตร์ถือว่าคู่สร้างคู่สมโดยแท้ ทั้ง 1+6 ผลงานที่ร่วมงานกัน The Blue Angel (1930) [สร้างที่ German], Morocco (1930), Dishonored (1931), Shanghai Express (1932), Blonde Venus (1932), The Scarlet Empress (1934), The Devil is a Woman (1935) ต่างคือผลงานไฮไลท์ในอาชีพของพวกเขาเลยละ
“I am Miss Dietrich. Miss Dietrich is me”.
– Josef von Sternberg ให้สัมภาษณ์ช่วงทศวรรษ 70s
ก่อนหน้านี้แม้ Sternberg จะขึ้นชื่อโดดเด่นเรื่องการจัดแสงถ่ายภาพที่สามารถถ่ายทอด/สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในออกมา [ออกแบบฉาก/พื้นหลังด้วย German Expressionism และการจัดแสงสไตล์ Prot-Noir (หนังนัวร์ที่เกิดขึ้นก่อนยุคหนังนัวร์)] แต่เทียบไม่ได้เลยเมื่อมีสุดที่รักของหัวใจ ซึ่งตอน The Blue Angel (1930) ผมยังเห็นไม่ชัดเท่าไหร่ นับตั้งแต่เรื่องนี้โดยเฉพาะ Shanghai Express (1932) ความงดงามของแสงที่อาบฉาบบนใบหน้า Dietrich ดั่งเทพธิดานางฟ้าบนสรวงสวรรค์โดยแท้
Josef von Sternberg ชื่อเดิม Jonas Sternberg (1894 – 1969) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austrian-American เกิดที่ Vienna, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพสู่อเมริกาตอนอายุ 14 ปักหลักอยู่ New York City เข้าโรงเรียนพูดภาษาอังกฤษยังไม่ได้เลยออกมาเป็นเด็กส่งของ ทำความสะอาด ซ่อมแซมฟีล์มภาพยนตร์ ประมาณปี 1915 ทำงานกับ Word Film Company ได้รับความอนุเคราะห์จาก Emile Chautard ชี้แนะสั่งสอน ว่าจ้างเป็นผู้ช่วย The Mystery of the Yellow Room (1919), สมัครเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 สังกัดหน่วยสื่อสารถ่ายทำสารคดีข่าว เดินทางไปยุโรปเพื่อสะสมประสบการณ์ กำกับเรื่องแรก The Salvation Hunters (1925) ** บ้างถือว่าคือหนัง Indy เรื่องแรกของอเมริกา
“Our aim has been to photograph a Thought. It is not conditions, nor is it environment – our faith controls our lives!”
แม้จะรับอิทธิพลของ German Expressionism แต่ Sternberg ได้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา (มีผลงานหนึ่ง ขุดนรกขึ้นมาในพระราชวังอันโอ่งโถง) ไม่ใช่แค่สะท้อนสภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ยังรวมถึงความคิดอ่าน เป้าหมายอุดมการณ์ แรงผลักดันอันเกิดจากเงื่อนไข โชคชะตาที่พลิกผันแปรเปลี่ยน
“I care nothing about the story, only how it is photographed and presented”.
สำหรับ Morocco ดัดแปลงจากนิยายอัตชีวประวัติเรื่อง Amy Jolly, die Frau aus Marrakesch (1927) [แปลว่า Amy Jolly, the Woman from Marrakesh] ของ Benno Vigny (1889 – 1965) นักเขียนสัญชาติ French-German จากความทรงจำของตนเองขณะเป็นทหาร French Foreign Legion ประจำการอยู่ที่ประเทศ Morocco (แต่ไม่รู้เป็นเรื่องราวของผู้เขียน หรือพบเห็นจากเพื่อนนะครับ)
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Jules Furthman (1888 – 1966) ขาประจำที่เคยร่วมงานกับ Sternberg ตั้งแต่ The Docks of New York (1928), Thunderbolt (1929) ฯ และจะมีผลงานเด่นๆตามมา อาทิ Shanghai Express (1932), Mutiny on the Bounty (1935), Come and Get It (1936), Only Angels Have Wings (1939), To Have and Have Not (1944), The Big Sleep (1946) ฯ
เกร็ด: Furthman เป็นนักเขียนที่ผู้กำกับ Howard Hawks ชื่นชมอย่างมาก หลายครั้งมักแค่เรียกตัวมาขัดเกลาปรับปรุงบท เพราะเป็นคนที่ถ้าหนังมี 5 แนวโน้มทางเลือกเป็นไปได้ ชายคนนี้จะนำไอเดียที่ 6 มาเสนออยู่ตลอด
เรื่องราวมีพื้นหลังช่วงสงคราม Rif War (1920 – 1927) ระหว่างพันธมิตรสเปน, ฝรั่งเศส ต่อสู้กับ Republic of the Rif ทางตอนเหนือของประเทศ Morocco, Amy Jolly (รับบทโดย Marlene Dietrich) นักร้องนักแสดงคาบาเร่ ขึ้นเรือเดินสมุทรตั้งใจมาตายดาบหน้า ก่อนจะลงเรือพบเจอกับมหาเศรษฐี Kennington La Bessière (รับบทโดย Adolphe Menjou) ที่ต้องการตีสนิทรู้จักแต่เธอฉีกนามบัตรแบบไม่สนเยื่อใย ค่ำคืนนั้นเองพวกเขาก็ได้พบเจอกันอีกในไนท์คลับแห่งหนึ่ง แต่หญิงสาวหลงเสน่ห์ในนายทหารหนุ่มสุดหล่อ Private Tom Brown (รับบทโดย Gary Cooper) แอบยัดกุญแจห้องนัดหมายให้ค่ำคืนนี้พบเจอกัน
Gary Cooper ชื่อเดิม Frank James Cooper (1901 – 1961) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Helena, Montana ในครอบครัวฐานะร่ำราย มีที่นากว่า 600 เอเคอร์อยู่ติดกับแม่น้ำ Missouri วัยเด็กชื่นชอบขี่ม้า ล่าสัตว์ ตกปลา, โตขึ้นมีความสนใจวาดภาพ งานศิลปะ เข้าเรียน Grinnell College ที่ Iowa ผลการเรียนดีเยี่ยม แต่กลับไม่สามารถเข้าร่วมชมรม School Drama, เรียนจบย้ายมาอยู่ Los Angeles พบเพื่อนสองคน Jim Galeen กับ Jim Calloway ขณะนั้นทำงานเป็นตัวประกอบ Stuntman ขี่ม้าในหนังเงียบ Western ทุนต่ำ เกิดความสนใจเพราะต้องการตั้งตัวเองได้ เข้าร่วมทำงานเริ่มต้นได้เงินวันละ 5 ดอลลาร์ ด้วยทักษะขี่ม้าที่ยอดเยี่ยม ทำให้ได้ค่าจ้างสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้จัดการส่วนตัวแนะนำให้เปลี่ยนชื่อเป็น Gary จากนั้นก็เริ่มมีชื่อเสียง รับบทสำคัญใน The Winning of Barbara Worth (1926) เซ็นสัญญากับสตูดิโอ MGM และการมาถึงของยุคหนังเงียบ The Virginian (1929) กลายเป็น Superstar โด่งดังขึ้นมาโดยพลัน
รับบท Légionnaire Tom Brown สังกัด French Foreign Legion ประจำการอยู่ที่ประเทศ Morocco ไม่ปกปิดตัวเองว่าเป็นคนเจ้าชู้ประตูดิน ชอบเหล่หลีสาวๆแบบไม่สนอะไรใครมาก คาดว่าที่กลายเป็นเช่นนี้ (และเหตุผลสมัครเป็นทหาร ประจำการยังสถานที่ไกลปืนเที่ยงขนาดนี้) ก็เพราะอกหักเลิกราหญิงสาวเคยรักมาก ใช้ชีวิตแบบนี้คงเพราะต้องการทรมานตนเองให้เจ็บปวดหลงลืมความรวดร้าว แต่พลันตกกระไดพลอยโจรเมื่อพบเจอ Amy Jolly กำลังจะพบรักครั้งใหม่ที่ไม่ควรคู่กับตนเองสักนิด
บทบาทนี้ในตอนแรก Sternberg ต้องการ John Gilbert ให้รับบทนำ แต่เจ้าตัวมีปัญหาเรื่องการปรับตัวสู่ยุคหนังพูดแถมสตูดิโอ MGM ไม่ยอมปล่อยตัว มองหาตัวเลือกอื่น Fredric March, John Barrymore แต่โปรดิวเซอร์ David O. Selznick ต้องการพวกเขาในโปรเจคอื่น แต่ก็ได้ผลักดันกึ่งๆล็อบบี้ Gary Cooper
“Cooper was neither intelligent nor cultured. Just like the other actors, he was chosen for his physique, which, after all, was more important than an active brain”.
ต้องถือว่าเป็นบทบาทตัวประกอบ ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรมากนักนอกจากขายความหล่อเหลาเจ้าชู้ประตู้ดิน แต่ด้วยความหลงตัวเองของ Cooper สลักคิดว่าตนเองคือพระเอกต้องสำคัญ ตาร้อนเมื่อเห็น Sternberg เอาแต่สนใจ Dietrich ที่ยังไร้ชื่อเสียงใดๆใน Hollywood ครั้งหนึ่งเกิดข้อพิพาทปากเสียงรุนแรง กระชากคอเสื้อ ตำหนิต่อว่าที่ไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษในกองถ่าย (Sternberg คุยกับ Dietrich เป็นภาษาเยอรมัน)
“You goddamned Kraut, if you expect to work in this country you’d better get on to the language we use here”.
ก็ขนาดว่าชื่อเดิมของหนังตามหนังสือ Amy Jolly, The Woman of Marrakesh เห็นว่า Cooper ไปล็อบบี้สตูดิโอ Paramount ให้เปลี่ยนชื่อ เพราะมันจะไปโฟกัสที่ Dietrich มากเกินหน้าเกินตาไป กลายเป็นชื่อกลางๆอย่าง Morocco หมอนี่มันมีดีแค่หล่อเหลาใช่ไหมเนี่ย!
Marie Magdalene ‘Marlene’ Dietrich (1901 – 1992) นักแสดงหญิงสัญชาติ German เกิดที่ Berlin ในครอบครัวชนชั้นกลาง ตั้งแต่เด็กร่ำเรียนไวโอลินวาดฝันเป็นนักดนตรี แต่พอได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับข้อมือเลยต้องล้มเลิกความตั้งใจ โตขึ้นมุ่งสู่วงการแสดง เริ่มจากเป็นนักร้องคอรัส รับบทเล็กๆในภาพยนตร์ The Little Napoleon (1923) มีผลงานในยุคหนังเงียบหลายเรื่องแต่ไม่ประสบพบเจอความสำเร็จ จนกระทั่งผลงานหนังพูดเรื่องแรก The Blue Angel (1930) เซ็นสัญญากับ Paramount Pictures ตั้งแต่ก่อนหน้าหนังออกฉายเสียอีก
รับบท Amy Jolly นักร้อง/นักแสดงสาวสวยเซ็กซี่ เดินทางขึ้นเรือมุ่งสู่ Morocco เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ เหมือนว่าเพราะถูกผู้ชายหักอกจนหมดสิ้นความเชื่อมั่นศรัทธา เงินทองเป็นของนอกกายไร้ความสำคัญ เฉพาะหนุ่มหล่อที่ตนตกหลุมรักคลั่งไคล้เท่านั้นที่ไขว่หา ซึ่งสิ่งที่ทำให้เธอหลงเสน่ห์ Tom Brown เพราะความซื่อตรงจากใจของเขา พบเจอบุคคลที่แทบไม่ต่างอะไรจากตนเอง (เดินทางมาประเทศไกลปืนเที่ยงแบบนี้ เพื่อหลงลืมอดีต ถูกคนรักเก่าทอดทิ้งมา) ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สุขทางใจของฉันมีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น
Sternberg บีบบังคับให้ Dietrich ต้องไดเอทจนแก้มตอบ แต่ก็ทำให้รูปร่างดูเพรียวสลิมขึ้นกว่าตอน The Blue Angel เวลาพูดกดน้ำเสียงให้ต่ำทุ้มฟังดูแหบแห้งเหมือนอยู่ในทะเลทราย สำเนียงที่จริงๆไม่ค่อยชัดนักก็ถูกขัดเกลาให้พูดซ้ำกว่า 30-40 เทค จนครั้งหนึ่งเป็นลมล้มพับไปกลางทะเลทราย ฟื้นคืนสติขึ้นมาถามว่า ‘ต้องการถ่ายช็อต cloze-up อีกหรือเปล่า’ Sternberg ตอบโต้สวนกลับ ‘Close-Up’ ให้เธอออกเสียงสำเนียงถูกต้องก่อน เนื้อหาสนทนาค่อยว่ากันทีหลัง
มันมีเสน่ห์บางอย่างในการแสดงของ Dietrich ที่คนชื่นชอบคงหลงใหล แต่ถ้าไม่ก็จะส่ายหัวปฏิเสธ นั่นคือใบหน้าอันเบื่อโลกระดับ ‘world-weary attitude’ ก็ไม่รู้วัยเด็กประสบพบเจออะไรเข้ากับตัวเองถึงกลายเป็นคนกร้านจัดจ้านขนาดนี้ มองหาแต่ความสำราญไม่ปักหลักยึดติดลงเอยกับใคร พูดตรงๆก็คือ ‘กระหรี่ไฮโซ’ เงินทองไม่ใช่เรื่องสำคัญ มองตาถูกใจชักชวนขึ้นห้องได้ทั้งชายหญิง (เหมือนตัวละครนี้เปะๆเลยนะ)
ฉากที่เป็นไฮไลท์ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากของหนัง เห็นว่า Dietrich ครุ่นคิดหาเหตุขึ้นมาด้วยตนเอง นั่นคือฉากจุมพิตหญิงสาวคนหนึ่ง, สมัยนั้นแม้ยังไม่มีกฎห้าม Hays Code แต่ใช่ว่าการแสดงออกลักษณะนี้จะสามารถยินยอมรับได้ในภาพยนตร์ ซึ่งเธอก็ได้มอบข้ออ้างด้วยการขอดอกไม้ปักผมเธอคนนั้น แล้วใช้การ kiss แทนคำขอบคุณ แล้วค่อยส่งต่อให้ชายหนุ่มเป็นของที่ระลึก ประมาณว่าถ้าช็อตนี้จะโดนตัดออก ทั้ง Sequence จะล่มลงโดยทันที … ร้ายกาจยิ่งนัก!
มันไม่ใช่ว่า Dietrich หลงเสน่ห์อะไรในตัว Cooper หรอกนะครับ แต่ด้วยนิสัยสันดานรสนิยมของตนเองสำส่อนร่านรักไปทั่ว และเหมือนว่าทั้งคู่ต้องการเอาคืนจอมเผด็จการ Sternberg ทำอะไรแย่ๆกับพวกตนไว้มาก ซึ่งพวกเขาไปมาหาสู่กันก็แค่หนังเรื่องนี้และหลังจากนั้นไม่เท่าไหร่ เก็บแต้มจนพึงพอใจแล้วก็ลาจากกัน (ด้วยดีหรือเปล่าไม่รู้นะ)
Adolphe Jean Menjou (1890 – 1963) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Pittsburgh, Pennsylvania, เรียนจบวิศวกรรมจาก Cornell University แต่กลับเลือกเป็นนักแสดงเร่ (Vaudeville) ตามด้วยภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ โด่งดังกับ The Sheik (1927), The Marriage Circle (1927), ยุคหนังพูด อาทิ Morocco (1930), The Front Page (1931), A Star is Born (1937), Paths of Glory (1957) ฯ
รับบทมหาเศรษฐี Kennington La Bessière ก็ไม่รู้ทำธุรกิจการค้าอะไรร่ำรวยเงินทอง อาศัยอยู่ในบ้าน/คฤหาสถ์หรูหราใหญ่โต เป็นที่มากหน้าหลายตารู้จักผู้คนไปทั่ว ครั้งหนึ่งขณะเดินทางบนเรือสู่ Morocco พบเจอหญิงสาว Amy Jolly หลงใหลในเสน่ห์ความงามและนิสัยสุดประหลาด เห็นหน้าอีกครั้งเป็นนักร้องเล่นเต้นในไนท์คลับสถานที่ประจำ ซื้อเครื่องประดับงามเลิศหรู ดอกไม้ช่อใหญ่ กล่าวคำสุภาพขอเธอแต่งงาน แต่หญิงสาวก็มิใคร่สนใจเพราะมีคนชื่นชอบตกหลุมรักอยู่แล้ว ภายหลังที่ยินยอมไปด้วยคงต้องการประชดชีวิต สุดท้ายเดินจากเขาไปแบบ … ใครกันจะพูดอะไรออก
บทบาทในหนังเรื่องนี้ของ Menjou ทำให้ผมนึกถึง A Star is Born (1937) ขึ้นมาทันที Type-Cast มากๆกับตัวละครทุ่มเทมอบให้ทุกสิ่งอย่าง แต่กลับไม่เคยได้รับอะไรตอบแทนที่ออกมาจากใจหญิงสาวแม้แต่น้อย ทำหน้าเศร้าๆอยากจะร้องไห้แทน หวังว่าชีวิตพี่แกคงได้สุขสมหวังอะไรกับเขาบ้างนะ
ที่ว่าตัวละครนี้คืออวตาร/ตัวแทนของผู้กำกับ Sternberg ก็ต้องถือว่าใช่เลยละ เพราะความรักทำให้เขามอบทุกสิ่งอย่างเพื่อ Dietrich เงินทอง สิ่งของ ชื่อเสียง โอกาส ความสำเร็จ ยอมเป็นบันไดให้เธอเหยียบย่ำไขว่คว้าดาว แต่สุดท้ายแล้วนายไม่ใช่คนที่ฉันจะทุ่มเททั้งชีวิตกายใจให้ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งหลายปีถัดมาพวกเขาถึงค่อยแยกย้ายทางใครทางมัน
ผมว่า Sternberg คงน่าจะเริ่มรู้ตัวตั้งแต่หย่าภรรยา ขอแต่งงานไม่สำเร็จ แต่เขาก็ยังดั้นด้นอดทนรอต่อไป ขณะที่ Dietrich รับรู้ตัวว่าชายคนนี้จะคือผู้ส่งเธอให้คว้าดาว ถ่ายภาพช็อตสวยๆที่จะกลายเป็นอมตะเหนือกาลเวลา มีหรือโอกาสแบบนี้จะทิ้งขว้างไม่สนใจ
ถ่ายภาพโดย Lee Garmes (1898 – 1978) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน ทำงานมาตั้งแต่ยุคหนังเงียบ กลายเป็นขาประจำของ Sternberg และคว้า Oscar: Best Cinematography จากผลงานเรื่อง Shanghai Express (1933), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Scarface (1932), Since You Went Away (1944), The Big Fisherman (1959) ฯ
หนังทั้งเรื่องไม่ได้เดินทางไปถ่ายทำยังประเทศ Morocco ฉากภายในที่ Paramount Studios, Hollywood ส่วนทะเลทราย Guadalupe-Nipomo Dunes, California ขับรถออกนอกเมืองไปไม่ไกลเท่าไหร่
ฉากบนเรือขณะมุ่งสู่ประเทศ Morocco ด้วยการจัดแสดงที่มีลักษณะฟุ้งกระจาย เห็นภาพมัวๆเบลอๆราวกับหมอกควันปกคลุม นัยยะสะท้อนถึงการเดินทางสู่อนาคต/โลก/สถานที่คาดเดาอะไรไม่ได้ทั้งนั้น
คิ้วของ Dietrich เป็นอะไรที่น่าจับจ้องสังเกตเป็นอย่างยิ่ง มีทั้ง โค้งมน, แหลมชี้ขึ้น, แหลมชี้ลง ฯ ซึ่งล้วนสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในจิตใจของตัวละครออกมา
ซึ่งช็อตนี้มีลักษณะโค้งมนรับกับดวงตา คาบบุหรี่แบบไม่แคร์ นี่มันอาการของคนเบื่อหน่ายต่อโลกระดับ ‘world-weary attitude’ สวมใส่สูทเหมือนผู้ชาย คงอยากไปเกิดใหม่ไม่ต้องการเป็นผู้หญิงอีกแล้วใช่ไหมเนี่ย (ประมาณว่า เป็นผู้หญิงต้องทุกข์ทรมานกับการถูกหักอก เช่นนั้นขอเกิดเป็นผู้ชายได้ขโมยจูบของหญิงสาว คงจะดีกว่าเยอะ)
อีกหนึ่งชุดการแสดงของ Dietrich บทเพลงขายแอปเปิ้ล ชุดของเธอมีลักษณะเหมือนสัตว์ปีก (นก?) ไหล่เต็มไปด้วยขนฟูฟ่อง สวมใส่กางเกงขาสั่นระดับติ่ง เขียนคิ้วแหลมชี้ขึ้น บางสิ่งอย่าง (หนุ่มหล่อคนนี้) คงกำลังอยู่ในความสนใจของเธอ
สัญลักษณ์ของแอปเปิ้ล ในเนื้อเพลงก็ได้อธิบายถึงอดัมกับอีฟขัดคำสั่งของพระเจ้า กัดคำแรกทำให้พวกเขาตกลงจากสรวงสวรรค์ แต่ฉากนี้กับการเดินขายแอปเปิ้ล จะมีนัยยะตรงกันข้ามคล้ายการเร่ขายตัว คนมีเงินเท่านั้นถึงสามารถซื้อกินแล้วได้ขึ้นสรวงสวรรค์ (จริงๆตัวละคร Amy Jolly ในต้นฉบับหนังสือ เธอเป็นนักร้อง/น้องแสดง/โสเภณี/ติดยา แต่หนังตัดสองสิ่งหลังออกเพื่อไม่ให้ตัวละครดูโชกโชนเกินไปนัก)
นี่น่าจะเป็นช็อตที่ Dietrich น่ารักน่าชังที่สุดในหนังเรื่องนี้แล้วกระมัง แก้มของเธอยังตอบไม่มากนัก (เมื่อเทียบกับ Shanghai Express) เขียนคิ้วลากยาวไปด้านหลังแสดงถึงความใคร่สนใจในบางสิ่ง จัดแสง Dim Light จากด้านหลัง เลนส์ Soft Focus แบบอ่อนๆ และวินาทีนี้เธอพูดว่า
“You’d better go now, I’m beginning to like you”.
ผมละสงสารใจตัวละครของ Adolphe Menjou เสียเหลือเกิน นำสร้อยข้อมือ ดอกไม้มามอบให้เพื่อขอความรัก แต่ก็กลับได้ครอบครองเพียงเรือยร่างกายของหญิงสาว อย่างช็อตนี้รับมอบดอกไม้ เห็นเป็นภาพสะท้อนใบหน้าของ Dietrich ในกระจก สื่อความหมายถึงฉันจะยินยอมรับมา แต่จิตใจมิได้ใคร่สนใจแม้แต่น้อย
ภาพสะท้อนในกระจกช็อตนี้ แสดงถึงจิตใจของพวกเขามองเห็นเข้าใจกันและกันแบบไม่ต้องมองตาหรือสื่อสารด้วยคำพูดใดๆ เพราะภายนอกของพวกเขามิได้มีโอกาสเป็นเจ้าของครอบครองกันและกัน (Cooper ติดภาระหน้าที่เป็นทหาร, Dietrich กำลังจะกลายเป็นของ Menjou)
บ้าน/คฤหาสถ์อันหรูหราใหญ่โตของ Adolphe Menjou ยังไม่วายติดกลิ่นอาย German Expressionism รูปทรงประหลาดๆ ผสมผสานสถาปัตยกรรมอาหรับ
มันจะมีขณะที่ตัวละครของ Marlene Dietrich ตัดสินใจยอมรับแต่งงานกับ Menjou เธอหยิบตุ๊กตาสองตัวโปรดมาส่งให้ หนึ่งสีดำ (แทนคนผิวสี) สองแต่งตัวเหมือนคนจีน (แทนคนผิวเหลือง) นี่ไม่ใช่สื่อถึงการเหยียดผิวเชื้อชาติพันธุ์แต่ประการได้ ตรงกันข้ามสะท้อนถึงกลุ่มคนที่มักถูกชาวอเมริกันกีดกันผลักไสไม่ยินยอมรับเข้าพวก ก็ประกอบด้วยประมาณนี้แหละ
Dietrich เล่นกับมีด ของมีคม มองได้เป็นการพยากรณ์/คาดการณ์ สิ่งที่เธอจะตัดสินใจกระทำต่อไปในอีกไม่ช้า นั่นคือแสดงออกบางสิ่งอย่างเสี่ยงภัยอันตราย อาจต้องเจ็บตัวทรมาน แต่สร้างความพึงพอใจให้กับตนเองอย่างล้นพ้น
เกมปามีด หรืออะไรสักอย่างที่เล่นกับของมีคม มักสื่อถึงการมี Sex อันหมิ่นเหม่/อันตราย อาจขัดต่อศีลธรรมจรรยา หรือการลักลอบมีชู้ แต่นั่นสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับหนุ่ม-สาว ปาแต่ละดอกเหมือนการรุกเร้าเข้าถึงทรวงใน มีดหมดเมื่อไหร่ก็เสพสมเสร็จสิ้น
ประตูทางออกด่านสุดท้าย ถัดจากนี้คือท้องทะเลทรายอันเวิ้งว้างว่างเปล่า, การออกแบบประตูมีลักษณะเหมือนลูกแอปเปิ้ล/หัวใจ ด้วยสถาปัตยกรรมอาหรับผสมผสาน German Expressionism ซึ่งการกระทำของหญิงสาว เรียกได้ว่า ทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจ
ตัดต่อโดย Sam Winston, หนังใช้มุมมองของสามตัวละครหลัก Tom Brown, Amy Jolly และ Kennington La Bessière ไกล่เกลี่ยในปริมาณพอๆกัน แต่เยอะสุดคงเป็นเรื่องราวของหญิงสาว เพราะสถาปัตยกรรมการออกแบบ German Expressionism แสงเงา ล้วนสะท้อนออกมาจากภายในจิตใจของเธอเพียงผู้เดียว
ก่อนการมาถึงของ King Kong (1933) หนังพูดยังใช้ลักษณะของเสียง/เพลงประกอบ เพื่อสร้างความสมจริงให้กับเรื่องราว กล่าวคือ Soundtrack จะต้องมีแหล่งที่มาที่ไป ไม่จากคำร้องของนักแสดง ก็ดังขึ้นจากวิทยุ ลำโพงเครื่องเสียง ฯ
มีสามบทเพลงที่ Dietrich ขับร้องในหนัง ประกอบด้วย, Quand L’Amour Meurt (1904) [แปลว่า When Love Die] แต่งทำนองโดย Octave Crémieux เนื้อร้องโดย Georges Millandy, ผมไม่ได้แกะคำแปลจากคำร้องนะครับ แค่ดูจากชื่อเพลงก็ถือว่าชัดเจนมากๆว่าต้องการสื่อถึงความหมดอาลัยเชื่อมั่นในรักของหญิงสาว
What Am I Bid for My Apple? (1930) แต่งทำนองโดย Karl Hajos เนื้อร้องโดย Leo Robin, นัยยะใจความของเนื้อร้องต่อเนื่องจาก Quand L’Amour Meurt จะมีใครสักคนไหมที่ช่วยเยียวยาฟื้นฟูรักษาแผลใจของฉันนี้ ให้กลับมาหาคืนสู่ปกติ
Give Me The Man (1930) แต่งทำนองโดย Karl Hajos เนื้อร้องโดย Leo Robin, เพลงนี้ Dietrich ไม่ได้ร้องโชว์ในไนท์คลับ แต่ที่ห้องของเธอหลังคนรักหนุ่มเดินทัพหนีจากไปแล้ว ขณะกำลังเมามายท้อแท้สิ้นหวัง และมหาเศรษฐี Menjou เดินเข้ามาในห้องได้ยินเสียงร้องเข้ามาพอดี ‘Give Me The Man’ เอาชายคนรักของฉันคืนมา! (นี่ไม่ได้หมายถึงตัวละครของ Menjou ที่เธอตัดสินใจไปอยู่ด้วยกันเขานะครับ)
Sound Effect เสียงกลองสวนสนามของทหารฝรั่งเศสที่ได้ยินตั้งแต่ต้นเรื่อง ว่าไปราวกับเสียงเต้นของหัวใจซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของหนัง ซึ่งจะมีขณะหนึ่งช่วงท้าย เมื่อตัวละครของ Dietrich ได้ยินเสียงกลองนี้ดังขึ้น มันทำให้หัวใจเธอเต้นไม่เป็นจังหวะระส่ำระส่าย กำลังอยู่ในงานเลี้ยงรีบออกเดินวิ่งตามหาคนที่ตนรักอย่างรวดเร็วไว
ความรักเป็นสิ่งซื้อหาไม่ได้ด้วยเงินทอง สิ่งของ ชื่อเสียง โอกาส หรือแม้ความสำเร็จ แต่อยู่ที่อาการพึงพอใจของคนสอง พูดคุยถูกชะตา หรือมีบางสิ่งอย่างตรงกัน ทำให้พบเห็นตัวตนเองของอีกฝ่ายโดยไม่จำเป็นต้องใช้สายตามองก็รับรู้ด้วยใจ
ซึ่งเมื่อใดได้พบเจอบุคคลที่ตนตกหลุมรักคลั่งไคล้ ไม่ว่าชีวิตจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้นก็มิมีวันแปรเปลี่ยนผันต่างออกไป คงด้วยเพราะเหตุผลนี้แล หนุ่มสาวทั้งสองเลยต่างต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับอดีตอันรวดร้าวถูกคนรักเก่าทิ้งขว้าง อยากที่จะทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างแล้วเริ่มต้นมีชีวิตเกิดใหม่ เพื่อว่าเมื่อพบเจออีกคนจะได้ทุ่มเทกายใจให้แบบไม่มีอะไรติดค้าง
ต้องถือว่าผู้กำกับ Sternberg นำเสนอเรื่องราวของหนังที่สะท้อนชีวิตตนเองออกมาล้วนๆ ซึ่งสามารถมองได้ทั้งต่ออดีตภรรยา Riza Royce ขณะนั้นกำลังหมดรักเลิกร้างรา ต้องการจะลบลืมเลือนช่วงเวลาที่ผ่านมาดังกล่าวแล้วเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่, หรือสำหรับ Dietrich หญิงสาวที่ตนเองตกหลุมหลงใหลรักใคร่ แต่เธอเหมือนว่าจะมิค่อยสนใจใยดี คบค้าอยู่ร่วมกันจริงๆจังๆนอกเหนือการงานที่ทำ มันน่าชอกช้ำระกำใจยิ่งนัก
พูดถึง Morocco ชวนให้นึกถึงหนังเรื่อง Casablanca (1942) [เผื่อคนไม่รู้ เมือง Casablanca ตั้งอยู่ในประเทศ Morocco] แถมยังเรื่องราวรักสามเส้าที่ใครคนหนึ่งต้องยินยอมเสียสละทุกสิ่งอย่าง นี่คงไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญแน่ แต่อาจเป็นพล็อตซ้ำๆ Cliché พบเจอได้บ่อยครั้งในยุคสมัยนั้น
แม้หนังจะสร้างทีหลัง The Blue Angel กลับได้ออกฉายก่อนประมาณครึ่งเดือน ไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่ทำเงินกว่า $2 ล้านเหรียญ กำไรมหาศาล, เข้าชิง Oscar 5 สาขา คว้ามา 1 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Director พ่ายให้กับ Norman Taurog เรื่อง Skippy
– Best Actress (Marlene Dietrich) พ่ายให้กับ Marie Dressler เรื่อง Min and Bill
– Best Cinematography
– Best Sound, Recording ** คว้ารางวัล (มอบให้กับ Paramount Publix Studio Sound Department)
– Best Art Direction
เกร็ด: ถือเป็นครั้งแรกครั้งเดียวของ Dietrich ที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress, ขณะที่ Sternberg ได้เข้าชิง Oscar: Best Director อีกครั้งเรื่อง Shanghai Express (1932) แต่ไม่เคยคว้ารางวัลเช่นกัน [ทั้งคู่ไม่เคยได้ Honorary Award ด้วยนะครับ ไม่รู้สาเหตุเพราะเป็นชาวเยอรมันหรือเปล่า]
จุดเด่นของหนังเรื่องนี้ไม่ใช่ที่เรื่องราวโคตรเชยระเบิด แต่คือไดเรคชั่นของผู้กำกับ Josef von Sternberg การถ่ายภาพจัดแสง และการแสดงของ Marlene Dietrich ที่ทำให้ผมอ่อนยวบตั้งแต่เริ่มเทใจให้ Gary Cooper สีหน้าสายตาท่าทางและคำพูด แสงสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของเธอจากภายในออกมาจนสัมผัสได้ สงสารเห็นใจรวดร้าวทรมานแทน Adolphe Menjou ยิ่งนัก
แนะนำคอหนังรักโรแมนติกสามเส้า, ชื่นชอบท้องทะเลทราย ไนท์คลับ คาบาเร่, ชื่นชอบผู้กำกับ Josef von Sternberg, คลั่งไคล้ Marlene Dietrich, Gary Cooper, Adolphe Menjou ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG รักสามเส้า มีเพียงความน่าสงสารเห็นใจ และเร่าร้อนเหงื่อพลักๆ
Leave a Reply