Mother (2009) : Bong Joon-ho ♥♥♥♥
ชายหนุ่มวัย 28 ปี (รับบทโดย Won Bin) เหมือนว่าเป็นคนบ้องตื้น ปัญญาอ่อน ถูกกล่าวหาฆาตกรรมเด็กหญิงสาวคนหนึ่ง แม่ (รับบทโดย Kim Hye-ja) จึงพยายามทำทุกสิ่งอย่าง ออกค้นหาฆาตกรตัวจริง เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้กับลูก
ขอเตือนไว้ก่อนตั้งแต่ตรงนี้เลยนะครับว่า หนังมีประเด็นทางเพศรุนแรงมากๆ ทั้งฉาก Sex Scene ที่โจ๋งครึ่ม (เหมือนว่ากับเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี) และความที่ลูกเป็นคนปัญญาอ่อน โตขนาดนี้แล้วยังอาศัยหลับนอนกับแม่ (ที่ก็ไม่ปกติเช่นกัน) นี่แฝงประเด็น Incest (Sex กับคนในครอบครัว) ถ้าคิดว่าพอรับไหวก็ลองเสี่ยงดูเองนะครับ
Bong Joon-Ho (เกิดปี 1969) ผู้กำกับสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Daegu ตั้งแต่เรียนมัธยมก็ตั้งใจว่าโตขึ้นจะกลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แต่พ่อแม่ไม่อนุญาติ บังคับให้เข้าเรียนคณะสังคม (Sociology) ที่ Yonsei University ซึ่งตัวเขาก็เอาเวลาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ชมรมภาพยนตร์ ค้นพบผู้กำกับคนโปรดอย่าง Edward Yang, Hou Hsiao-hsien, Shohei Imamura ฯ
หลังเรียนจบหมดภาระบังคับทางบ้าน ตัดสินใจเข้าเรียนต่อสองปีที่ Korean Academy of Film Arts จบออกมาเริ่มทำงานเป็นนักเขียนบท/ผู้ช่วยผู้กำกับ จนกระทั่งได้มีโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Barking Dogs Never Bite (2000) เป็นแนว Dark-Comedy ตลกเสียดสี ได้รับเสียงวิจารณ์ค่อนข้างดีแต่ก็ไปอย่างช้าๆ, จนกระทั่งภาพยนตร์เรื่องที่สอง Memories of Murder (2003) เรื่องราวได้แรงบันดาลใจจากของฆาตกร Serial Killer คนแรกในประวัติศาสตร์ชาติเกาหลี คว้ารางวัล Grand Bell: Best Film, Best Director และอีกหลายสาขา จนกลายเป็นภาพยนตร์ยอดจำหน่ายตั๋วสูงสุดแห่งปี, ผลงานถัดมา The Host (2006) ด้วยทุนสร้างสูงถึง $12 ล้านเหรียญ เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้ไม่ได้รางวัลอะไรติดมือกลับมา แต่ในเกาหลีใต้มียอดจำหน่ายตั๋วสูงสุดตลอดกาล กวาดรางวัลทั่วเอเชียนับไม่ถ้วน ชื่อของ Bong Joon-Ho ได้กลายเป็นที่รู้จักระดับโลก
Mother เป็นผลงานลำดับที่ 4 แน่นอนว่าย่อมต้องได้รับการคาดหวังจากผู้ชมอย่างสูงทีเดียว, ผู้กำกับให้สัมภาษณ์ถึงแรงบันดาลใจ หลังจากการพบเจอกับ Kim Hye-ja ทั้งๆที่เธอเป็นนักแสดงยอดฝีมือ แต่มักได้รับบทบาทเดิมซ้ำๆ (type-cast) จนตั้งฉายาให้ได้เลยว่าเป็น ‘แม่แห่งชาติ’ (National Mother) ของชาวเกาหลี ทำไมไม่ลองจับเธอมาทำให้แตกต่าง ตั้งประเด็นคำถาม ‘แม่คือใครสำหรับเรา?’ ในความสัมพันธ์ที่รุนแรงลึกซึ้งและผิดปกติ การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของแม่คนนี้ คงสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติความคิดของผู้ชมต่อประเทศชาติได้เช่นกัน
Kim Hye-ja (เกิดปี 1941) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Gyeongseong ในช่วงญี่ปุ่นยึดครองเกาหลี (ปัจจุบันคือกรุง Seoul) โตขึ้นเข้าเรียนที่ Ewha Womans University ไม่ทันจบตัดสินใจลาออกมาเป็นนักแสดง ผลงานส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์/ละครโทรทัศน์ รับแสดงหนังบ้างประปรายทศวรรษละเรื่อง ประกอบด้วย Late Autumn (1982), Mayonnaise (1999), Mother (2009) ฯ
กว่า 22 ปีที่ได้รับบทแม่ผู้ทุ่มเท รักและเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อลูก เป็นใครย่อมต้องเกิดความเบื่อหน่าย จนกระทั่งได้เล่นละครโทรทัศน์เรื่อง Mom’s Dead Upset (2008) ที่เป็นการพลิกบทบาท รับบทแม่ผู้ต้องการอิสระจากพันธการของลูกและสามี ปรากฎว่าผู้ชมอึ้งทึ่งช็อคตราตะลึง ได้เรตติ้งสูงถึง 42.7% กลายเป็นสถิติใหม่ของวงการซีรีย์เกาหลีไปเลย
ปี 2009 หลังความพยายาม 4 ปีของผู้กำกับในการโน้มน้าวเธอให้มาแสดงในหนังเรื่องใหม่ ก็ตัดสินใจรับบทที่ทำให้ตัวเองรู้สึกพึงพอใจที่สุดในชีวิต การแสดงครั้งนี้ให้สัมภาษณ์บอกว่า ‘reactivate all the cells that have been dormant in (my) body.’
รับบทแม่ (ไม่มีคำเรียกชื่อจริงของเธอ) เป็นหม้ายโดยไม่ทราบสาเหตุ (คือไม่รู้ว่าสามีทิ้งไปหรือเสียชีวิต) ขณะที่ลูกชายอายุ 5 ขวบ ตัดสินใจจะฆ่าตัวตายพร้อมกัน แต่กลับรอดชีวิตมาได้ ปัจจุบันมีอาชีพเป็นหมอยาสมุนไพร(เถื่อน)และฝังเข็ม สติไม่ค่อยสมประกอบเท่าไหร่ รักและสนใจลูกของตนเองเท่านั้น พยายามทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูกผิดศีลธรรม เพียงเพื่อให้เขาเป็นอิสระเอาตัวรอดในโลกใบนี้ได้
ความรักของแม่ในหนังเรื่องนี้ถือว่าระดับมืดบอด ความเสียสละระดับไร้มโนธรรม มากเกินขอบเขตจิตสำนึกของมนุษย์ทั่วไปจะสามารถแสดงออกมาได้, ซึ่งเหตุผลที่ต้องมีความ’มาก’ขนาดนี้ คงเพราะความผิดพลาดครั้งนั้นที่ฆ่าตัวไม่ตาย ทำให้ลูกเติบโตขึ้นด้วยความผิดปกติทางกาย มันเลยเป็นเสมือนกรรมที่ต้องจับจ้องมองทุกฝีเก้า ปกป้องทะนุถนอมดูแล ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม ลูกขาดอะไรแม่จัดให้ได้ทุกสิ่งอย่าง
ผมค่อนข้างชอบความระห่ำบ้าคลั่งของตัวละครนี้ ที่ท้าทายให้ผู้ชมครุ่นคิดถึง ความรักระหว่างแม่กับลูก ระดับไหนที่ถือว่าพอเหมาะสมควร มากไปน้อยไป เราจะไม่เห็นความพอดีจนกว่าจะรับรู้ว่าอะไรคือมาก อะไรคือน้อยเกินไป
การแสดงของ Kim Hye-ja ทำให้ผมอ้าปากค้างหลายครั้ง หวิวๆแน่นอก รวดร้าวแสนสาหัส เกิดความรู้สึกนึกคิดสะท้อนกับแม่ของตัวเอง ‘ก็ว่าแม่ฉันเป็นคนมากมากๆแล้วนะ พอมาพบเจอหนังเรื่องนี้ เธอกลายเป็นเด็กหญิงสาวไปเลยละ’, ความโดดเด่นอยู่ที่สีหน้าขณะอมทุกข์ เจ็บปวด ผิดหวัง เสียงกรีดร้องรับไม่ได้มันช่างร้าวรานไปถึงทรวง กับคนเป็นลูกเห็นแม่แสดงอาการเช่นนี้มันช่างเจ็บปวดรวดร้าวใจจะขาด จนตอนจบแทบไม่มีสักครั้งที่เราจะเห็นใบหน้ายิ้มแป้นเป็นสุขของเธอเลย
Won Bin (เกิดปี 1977) นักแสดงหนุ่มสุดหล่อสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Jeongseon County, Gangwon Province เติบโตขึ้นในชนบท ชื่นชอบภูเขาและแม่น้ำ เป็นคนไม่ค่อยพูดแต่เล่นกีฬาเก่ง Taekwondo สายดำ โตขึ้นตั้งใจจะเป็นช่างเครื่องยนต์ สนใจในรถแข่ง เรียนจบสายอาชีวะแต่ตัดสินใจสมัครเป็นนักแสดง มีผลงานสร้างชื่อคือละครโทรทัศน์ Autumn in My Heart (2000) [รักนี้ชั่วนิรันดร์] ส่วนภาพยนตร์ Taegukgi (2004) ทุบสถิติยอดจำหน่ายตั๋วสูงสุดในประเทศ ทำให้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ
หลังเรียนจบ Yong-In University เมื่อปี 2005 สมัครเป็นทหารรับใช้ชาติ เลือกประจำการที่ Korean Demilitarized Zone (พรมแดนระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้) ปลดประจำการเพราะได้รับบาดเจ็บหัวเข่า (ACL) เข้าผ่าตัดรักษาตัว กายภาพบำบัดอยู่เป็นปีกว่าจะหาย กลับเข้าสู่วงการด้วยภาพยนตร์เรื่องใหม่ Mother กับการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของชีวิต
Do-joon ความผิดปกติของชายหนุ่มอายุ 28 ปีคนนี้ มองได้คือผลกระทบจากยาฆ่าแมลงที่แม่ต้องการฆ่าตัวตายด้วยกันแต่กลับรอดชีวิตทั้งคู่ มันอาจส่งผลกระทบถึงสมองทำให้คิดประมวลผลได้ช้า แต่ไม่ใช่คนโง่นะครับ เพราะสามารถจดจำรายละเอียด คิดวิเคราะห์ ทำความเข้าใจอะไรต่างๆได้เป็นอย่างดี
ความใสซื่อ (Naive) ของ Do-joon เป็นภัยต่อตนเองอย่างยิ่ง เพราะคำสอนแม่ที่ว่าถ้าถูกใครด่าว่าให้โต้ตอบ ถูกตบหน้าต้องสวนกลับ ฟังดูเหมือนจะไม่ผิดอะไร แต่นี่คือจุดพลิกผัน หักมุม ที่จะทำให้คุณคาดไม่ถึงทีเดียวเมื่อปริศนาของหนังได้รับการเปิดเผยออก แสดงถึงนัยยะที่ว่า การกระทำของลูกคนนี้หาได้มีความจงใจชั่วร้ายแฝงอยู่แม้แต่น้อย กลับเป็นแม่ที่ปลูกฝังการกระทำนี้ของลูก ต้องถือว่าเธอคือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้โดยแท้จริง
การแสดงของ Won Bin ว่าใน Taegukgi ก็ยอดเยี่ยมมากๆแล้วนะ มาเจอพลิกบทบาทกับหนังเรื่องนี้ ทำเอาผมเหวอเลยละ หมอนี่มันระดับอัจฉริยะแท้ๆ ไม่ได้มีดีแค่หน้าตา แต่สามารถรังสรรค์การแสดงออกมาได้อย่างลึกล้ำ ทรงพลัง, โดดเด่นคือใบหน้าไร้เดียงสา ดวงตาที่ใสซื่อบริสุทธิ์ มองเข้าไปไม่เห็นอะไรทั้งนั้น สงบนิ่งเยือกเย็นดั่งขุนเขา ไม่รู้นี่สะท้อนตัวตนของตนเองออกมาด้วยรึเปล่า
ทั้ง Kim Hye-ja และ Won Bin เคมีระหว่างแม่ลูกผู้สติไม่สมประดี ช่างเติมเต็มเข้ากันได้อย่างลงตัว แม่ผู้พยายามให้ทุกสิ่งอย่าง ส่วนลูกก็พยายามปฏิเสธทุกสิ่งอย่าง โดยไม่รู้ตัวพวกเขาขาดห่างกันแทบไม่ได้ เกิดมาเพื่อกันและกันโดยแท้
ถ่ายภาพโดย Hong Kyung-pyo ครั้งแรกที่ได้ร่วมงานกับ Joon-ho ผลงานเด่นเรื่องอื่นๆ อาทิ Il Mare (2000), Taegukgi (2004), Snowpiercer (2013) ฯ ความโดดเด่นคือการจัดวางองค์ประกอบภาพ พื้นหลัง และการใช้สี
ผมค่อนข้างหลงใหลการใช้พื้นที่ ช่องว่าง ของพื้นหลัง/สถานที่ ในการจัดองค์ประกอบของภาพ ซึ่งล้วนมีนัยยะสะท้อนบางสิ่งอย่างของเรื่องราว/ตัวละคร, อย่างช็อตนี้ กำแพงที่ว่างเปล่า สีน้ำเงินเป็นสีเย็น = ความรู้สึกอ้างว้างเย็นชา สองถังด้านข้างแทนได้ด้วย แม่-ลูก
หลังจากเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น แม่ออกเดินเรื่อยเปื่อย สภาพจิตใจของเธอล่องลอยไปตามสายลมพริ้วไหว ทุ่งหญ้าต้นไม้ถูกกระแสลมพัดปลิว กล้องและนักแสดงก็จะเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ช้าๆ ตลอดเวลา จนกว่าจะจบซีน
ผมเพิ่งมาสังเกตพบในช็อตนี้ ว่าห้องเยี่ยมญาติในคุกมีลักษณะซ้อนๆเข้าไปแบบนี้ นี่เป็นการสะท้อนถึงเบื้องลึกในจิตใจของตัวละคร ที่ความรู้สึกบางอย่างถูกเก็บซ่อนซ้อนทับไว้หลายชั้น ปกปิดไม่ให้ผู้อื่นได้รับรู้มองเห็น ซึ่งครานี้ทุกอย่างได้รับการเปิดเผยออกหมด ทำให้เราสามารถมองเห็นความจริงที่อยู่ข้างในส่วนลึกสุด
หลายครั้งทีเดียวที่หนังใช้กล้อง Hand-Held ถ่ายสั่นๆวิ่งตามติดตัวละคร นี่เป็นการสะท้อนความหวาดกลัว(จนตัวสั่น) ของตัวละครออกมา
ภาษาของงานภาพ ถือว่ามีความสวยงามเป็นศิลปะสากล ช่วยขับเน้นเสริมบรรยากาศให้มีลักษณะคล้ายหนังนัวร์ (ตีแผ่ด้านมืดในจิตใจของคนออกมา) สร้างสัมผัสความรู้สึกให้รับรู้เข้าใจอารมณ์ของตัวละครอย่างถ่องแท้, ถ้าคุณสามารถอ่านภาษาภาพของหนังได้ จะยิ่งเข้าใจเหตุผลทางความรู้สึกของตัวละครมากขึ้น
ตัดต่อโดย Moon Sae-kyung, หนังใช้มุมมองของทั้งแม่และ Do-joon สลับไปมา (แต่ส่วนใหญ่จะเป็นในสายตาของแม่มากกว่า) ส่วนการย้อนอดีต/ภาพความทรงจำ ก็จะใช้ในมุมมองการเล่าผ่านสายตาของตัวละครนั้นๆ
หนังมีลมหายใจที่ค่อนข้างจะเชื่องช้า ไม่มีการตัดต่อที่รวดเร็วฉับไว หวือหวามากนัก มักปล่อยให้การเคลื่อนไหวของภาพมีความเป็นธรรมชาติลื่นไหลที่สุด ตัดช็อตเมื่อต้องการเปลี่ยนทิศทางมุมมองหรือจบฉากแล้วเท่านั้น คาดว่า ASL (Average Shot Length) น่าจะเฉลี่ยเกิน 5 วินาทีแน่
เพลงประกอบโดย Lee Byung-woo นักกีตาร์/แต่งเพลง ที่มีผลงานเด่นอย่าง A Tale of Two Sisters (2003), The King and the Clown (2005), The Host (2006), Miracle on 1st Street (2007) ฯ
ทำนอง Rumba เน้นเสียงกีตาร์ (เห็นว่า Byung-woo เคยไปเรียนกีตาร์ถึงประเทศสเปน) ในฉาก Opening Credit กอปรกับการเต้นของ Kim Hye-ja เป็นการสะท้อนจิตวิญญาณของหนัง มีความแปลกประหลาดเพี้ยนพิศดาร คนหนุ่มสาวเห็นแล้วใจคงหวิวๆ ทำไมคนเถ้าคนแก่ถึงกล้าหน้าด้านขนาดนี้… ไว้ลองตัวเองกลายเป็นผู้สูงวัยดูบ้าง ก็คงเข้าใจนะครับ
สังเกตว่าท่าเต้นของเธอ มีขณะหนึ่งยกมือปิดตา ถัดมาปิดปาก โยกตัวลัลล้าไปมา นัยยะนี้ถือว่าตรงตัวกับหนังเลยนะครับ, และช็อตสุดท้ายขณะชื่อหนังปรากฎ ยกมือล้วงเข้าไปในเสื้อตรงท้องน้อย (ที่ตั้งของจิตใจ)
เสียงทรัมเป็ต จะค่อนข้างเด่นช่วงครึ่งแรก, นี่เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ ‘ลมหายใจ’ สูดเข้าเต็มปอดแล้วปล่อยออกมาให้เกิดเสียงดังขึ้น ซึ่งการที่หนังเน้นมากๆ จึงมีนัยยะถึงจิตวิญญาณของตัวละคร การเผชิญหน้า และต่อสู้ดิ้นรน
เสียงไวโอลิน จะมาเด่นช่วงครึ่งหลัง, เสียงเครื่องสายที่เล่นสี สร้างมีความแหลมคมบาดหู สะท้อนความเจ็บปวดรวดร้าวที่เกิดขึ้นในจิตใจของตัวละคร
ถ้าคุณเคยรับชม/ฟังเพลงจากหนังเรื่อง A Tale of Two Sisters นั่นคือ Masterpiece ของ Lee Byung-woo เลยนะครับ กับหนังเรื่องนี้แม้จะไม่ถึงระดับนั้น แต่ก็ได้ทำให้มีความกลมกล่อม สร้างมิติ ระดับหรูหราให้กับหนัง เติมเต็มความสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะครึ่งหลังของหนังที่ให้สัมผัสคล้ายกับบทเพลงของ Bernard Herrmann ขาประจำของ Alfred Hitchcock ที่เมื่อแต่ละปริศนาความจริงค่อยๆได้รับการเปิดเผย จะยิ่งสร้างความรวดร้าวใจให้กับตัวละครและผู้ชมอย่างยิ่งยวด
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ ถ้าเคยเรียนรู้จดจำ คิดเข้าใจอะไรมา ก็มักจะเวียนวนอยู่กับสิ่งๆนั้นไปตลอดชีวิต, โดยเฉพาะค่านิยม แนวคิด คำสอนของพ่อแม่ ที่บางครั้ง หลายสิ่งอย่าง ก็มักจะติดตัว จดจำ ลูกๆเลียนแบบ ตามคำสอน ตั้งแต่เด็กยันโต เป็นผู้ใหญ่ คนแก่ โดยบางทีไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่านั่นได้รับจากพ่อแม่ติดมา
ผมมองใจความสำคัญของหนังเรื่องนี้ตรงกับชื่อหนัง คือแม่ ผู้คือทุกสิ่งอย่างของลูก ให้กำเนิดมีชีวิต แต่มิอาจพรากไปจาก (ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ) สิ่งที่สั่งสอนล้วนถ่ายทอดลงไปสู่ แนะนำให้ทำอะไร ลูกล้วนปฏิบัติตามไม่ผิดเพี้ยน ทั้งๆที่เจ้าตัวพยายามที่จะสร้าง ‘อัตลักษณ์’ ของตนเอง แต่ไม่วายได้อิทธิพลทั้งหมดก็จากแม่คนนี้
ชื่อหนังภาษาเกาหลี 마더 อ่านว่า Madeo มันมีความพิศดารอย่างหนึ่ง คือแปลได้ 2 ความหมาย คือ Mother/แม่ หรือ Murder/ฆาตกร, จริงๆถ้าฉบับฉายต่างประเทศใช้ชื่อ Murder อาจเป็นการสปอยหนังที่โหดร้ายไปสักนิด ซึ่งพอเลือกใช้ Mother ก็อาจมีคนหลงคิดว่า เป็นแนวดราม่าครอบครัว
สายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ไม่ว่ายังไงก็ตัดไม่ขาด แม้จะมีความคาดหวังต้องการให้ลูกโตขึ้นเป็นคนดี แต่ถ้าเขาเป็นคนชั่ว แม่ที่ดีก็ยังต้องยอมรับ ให้อภัย ปกป้อง ช่วยเหลือจนถึงที่สุด, กระนั้นตราบาปรอยเลือดของแม่จะต่างกับความผิดพลาดของลูก เพราะสามารถสืบทอดส่งต่อให้กับเขาโดยไม่รู้ตัว … ถ้าแม่ดี ลูกก็มีแนวโน้มที่จะเป็นคนดี หรือถ้าแม่มีจิตใจชั่วร้าย มีหรือลูกจะสามารถเป็นคนดี
มองหนังเรื่องนี้ในระดับมหภาค เมื่อแม่เป็นสิ่งสัญลักษณ์แทนด้วยผืนแผ่นดินชาติเกาหลีใต้ โอ้! … ผมละไม่อยากเขียนต่อเลย ไปคิดวิเคราะห์กันเองแล้วกันนะครับ
ด้วยทุนสร้าง $5 ล้านเหรียญ ในเกาหลีใต้มียอดจำหน่ายตั๋วประมาณ 3 ล้านใบ (ประเทศนี้เขาไม่นิยมเก็บตัวเลขรายรับ แต่เป็นปริมาณตั๋ว/ผู้เข้าชม) รวมรายรับทั้วโลก $17.1 ล้านเหรียญ
เกร็ด: หนังเป็นตัวแทนของประเทศเกาหลีใต้ ส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film น่าเสียดายไม่ผ่านเข้ารอบใดๆทั้งสิ้น
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ใน direction ของผู้กำกับ ความสวยงามตราตระการของงานภาพ ตัดต่อลมหายใจที่เต็มอิ่ม และเพลงประกอบไพเราะเพราะพริ้ง แทบทุกองค์ประกอบสมบูรณ์ลงตัว เสียอย่างเดียวคือความรุนแรงของเนื้อเรื่องที่ทำให้ผมรู้สึกไม่ปกติสุขเท่าไหร่ คือต้องใช้สติรั้งตัวเองออกมาเพราะไม่อยากถลำลึกเข้าไปในวังวนเวียนของหนังเรื่องนี้
แนะนำกับคอหนังเกาหลี ชื่นชอบความรุนแรง เพี้ยนๆ ตื่นเต้นลุ้นระทึก ค้นหาความจริง, ตำรวจ นักสืบ ทนายความ ควรรับชมหนังเรื่องนี้อย่างมีสติ, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ครุ่นคิดวิเคราะห์ เกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร, แฟนๆผู้กำกับ Boon Joon-ho และนักแสดง Won Bin ไม่ควรพลาด
จัดเรต R ไม่เหมาะสำหรับเด็ก และผู้ใหญ่ขวัญอ่อน
Leave a Reply