Mother India (1957) : Mehboob Khan ♥♥♥
ธรณีกรรแสง คือเรื่องราวการต่อสู้ดิ้นรนของแม่ และเพศหญิงในอินเดีย ต่อการถูกสังคมชาวโลกเหยียดหยามดูถูกย่ำยี ระหว่างลูกรักกับศักดิ์ศรี ฆ่าได้หยามไม่ได้, ภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลในอินเดีย เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film แม้กาลเวลาจะค่อยๆลดทอนคุณภาพลง แต่ภาพลักษณ์ของแม่นี้ ได้กลายเป็นอมตะในหนังอินเดียทุกเรื่อง “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ถึงส่วนตัวจะไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ก็รับรู้ได้ถึงความยิ่งใหญ่ทรงพลังของหนัง ความเจ็บปวดรวดร้าวใจ หัวอกแม่ที่ต้องเสียสละกระทำการบางอย่าง เพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของอิสตรีเพศ ยิ่งถ้าคุณได้รับรู้ที่มาที่ไปของหนังเรื่องนี้ จะขนหัวลุกสะท้านรุนแรงยิ่งกว่าเดิม เพราะนี่เป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อตบหน้าชาติตะวันตกฉาดใหญ่ ที่ได้ทำการเหยียดหยามชาวเอเชีย (racist) โดยเฉพาะผู้หญิงเพศแม่ นี่เป็นเรื่องยินยอมกันได้ที่ไหน
มันคงเป็นวัฒนธรรม ค่านิยม ของชาวตะวันตก ผู้ชายผู้หญิงแต่งงานมีลูก พอเด็กโตขึ้นดูแลตัวเองได้ก็แยกจาก ไม่จำเป็นต้องสนใจสร้างความสัมพันธ์ ลูกก็อยู่ส่วนลูก พ่อแม่ก็อยู่ส่วนตนเอง, มันคงเป็นแบบนี้มานมนากาเล ไม่มีทางจะสืบค้นหาสาเหตุจุดเริ่มต้นได้พบเจอ
Katherine Mayo (1867 – 1940) นักวิจัย นักประวัติศาสตร์ และนักเขียนสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Ridgway, Pennsylvania ผลงานของเธอประกอบด้วย
– ต่อต้านคนที่ไม่ใช่ผิวขาวและ Catholic อพยพสู่ประเทศอเมริกา (ตัวเธอนับถือ Protestant)
– ต่อต้านการใช้แรงงานผิวสี African-American (ไม่ได้ให้ปลดแอกนะครับ แต่เป็นขับไล่ออกนอกประเทศ)
– ปลุกกระแส Anti-Filipino ต่อต้านการที่อเมริกาจะให้อิสรภาพกับประเทศ Philippines
– ปลุกกระแส Indophobia ต่อต้านการที่สหราชอาณาจักรจะให้อิสรภาพกับประเทศอินเดีย
ฯลฯ
ครั้งหนึ่งเขียนหนังสือชื่อ Mother India (1927) เป้าหมายเพื่อโจมตีสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมของประเทศอินเดีย ว่ามีความป่าเถื่อนล้าหลัง ผู้หญิงอินเดียมีลักษณะเหมือนสัตว์ที่สกปรกโสโครก เต็มไปด้วยเชื้อโรค สมควรอย่างยิ่งที่ชาว Anglo-Saxon อย่างสหราชอาณาจักร ควรจะเป็นผู้สั่งสอนรูปแบบวิถีการใช้ชีวิตให้
หนังสือของ Mayo สร้างความลุ่มร้อน เดือดดาล สุมไฟเต็มอกให้กับชาวอินเดียเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาต่างชาติตกต่ำถึงขีดสุด (แม้คนส่วนใหญ่ในอินเดียตอนนั้น จะอ่านหนังสือไม่ออกก็เถอะ) แม้แต่ Mahatma Gandhi ยังต้องเขียนจดหมายชี้แจงกับหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ
“This book is cleverly and powerfully written. The carefully chosen quotations give it the false appearance of a truthful book. But the impression it leaves on my mind is that it is the report of a drain inspector sent out with the one purpose of opening and examining the drains of the country to be reported upon, or to give a graphic description of the stench exuded by the opened drains.
If Miss Mayo had confessed that she had come to India merely to open out and examine the drains of India, there would perhaps be little to complain about her compilation. But she declared her abominable and patently wrong conclusion with a certain amount of triumph: ‘the drains are India’.”
มีความพยายามหลายครั้งของลูกหลานชาวอินเดีย เพื่อตอบโต้หนังสือเล่มนี้
– A Son of Mother India Answers (1928) หนังสือของ Dhan Gopal Mukerji นักเขียนสัญชาติอินเดียคนแรก ที่เขียนด้วยภาษาอังกฤษ แล้วได้รับความนิยมอย่างสูง
– My Mother India (1930) หนังสือของ Dalip Singh Saund นักเขียนสัญชาติ Indian American ที่ต่อมาได้กลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร California (ถือเป็นเชื้อสายอินเดียคนแรก ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ในอเมริกา)
แต่ครั้งสำคัญที่สุดคือ ภาพยนตร์เรื่อง Mother India (1957) โดยผู้กำกับ Mehboob Khan ที่ได้รับฉายาว่า ‘Cecil B. DeMille แห่งอินเดีย’ นี่เป็นการตบหน้าชาวตะวันตกอย่างรุนแรง และเป็นการสร้างค่านิยมเพศแม่เสียใหม่ ให้เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย
Mehboob Khan (1907 – 1964) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Baroda, Gujarat เดินทางสู่ Bombay โดย Mr. Noor Muhammad Ali Muhammed Shipra เพื่อทำงานเป็นคนซ่อมเกือกม้า (Shipra เป็นโปรดิวเซอร์ผู้จัดหาม้าให้กับภาพยนตร์อินเดีย) วันหนึ่ง Khan ได้มีโอกาสไปเห็นกองถ่ายแล้วเกิดความสนใจอย่างยิ่ง จนได้ทำงานกลายเป็นผู้ช่วย/ตัวประกอบของสตูดิโอ Imperial Film Company จนมีโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Al Hilal (1935)
Khan เป็นผู้กำกับที่มีผลงานหลากหลาย ทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวปะปนกันไป ผลงานระดับ blockbuster มีถึง 4 เรื่อง ประกอบด้วย Andaz (1949), Aan (1951), Amar (1954) และ Mother India (1957)
แนวคิดของ Mother India เริ่มต้นประมาณปี 1952 ผ่านมาเป็นเวลา 5 ปีนับจากอินเดียได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1947 ซึ่งพอแค่ชื่อหนังไปเข้าหูหน่วยงานรัฐ ถึงขนาดติดต่อขอบทภาพยนตร์ที่กำลังพัฒนาอยู่เพื่อทำการตรวจสอบ เพราะมีความหวาดหวั่นวิตกว่าจะเป็นการดัดแปลงหนังสือของ Katherine Mayo แต่แท้จริงแล้ว Khan จงใจใช้ชื่อเดียวกันนี้ เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของชาวอินเดียต่อโลกตะวันตก ‘ถ้าพวกเขาจดจำ Mother India เสียใหม่จากหนังเรื่องนี้ ก็คงไม่มีใครสนว่าเคยมีหนังสือชื่อ Mother India ที่ต่อต้านชาวอินเดียเกิดขึ้นมาก่อน’
“There has been considerable confusion and misunderstanding in regard to our film production Mother India and Mayo’s book. Not only are the two incompatible but totally different and indeed opposite. We have intentionally called our film Mother India, as a challenge to this book, in an attempt to evict from the minds of the people the scurrilous work that is Miss Mayo’s book.”
แรงบันดาลใจเรื่องราว ได้มาจากนิยายของนักเขียนสัญชาติอเมริกัน Peral S. Buck เรื่อง The Good Earth (1931) [เรื่องนี้เคยสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Good Earth (1937) กำกับโดย Sidney Franklin] และ The Mother (1934) ที่ Khan เคยสร้างภาพยนตร์เรื่อง Aurat (1940),
สไตล์ของหนังรับอิทธิพลจาก Mother (1926) หนังเงียบในตำนานรัสเซีย ของผู้กำกับ Vsevolod Pudovkin, Earth (1930) ของผู้กำกับ Alexander Dovzhenko และ Our Daily Bread (1934) ของผู้กำกับ King Vidor [ภาคต่อของ The Crowd (1928)]
ใจความสำคัญ เพื่อเป็นการเสริมสร้างอิทธิพล เปลี่ยนแปลงทัศนคติของเพศหญิงต่อสังคมอินเดีย (รวมถึงพลังขัดขืด จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ) ธำรงรักษาคุณค่าของศักดิ์ศรี และการสร้างเป้าหมายให้กับชีวิต ‘beauty and goodness, wealth and power, poverty and exploitation, community spirit’
เรื่องราวของหนังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 องก์
– องก์ 1: หญิงสาว Radha (รับบทโดย Nargis) แต่งงานกับ Shamu (รับบทโดย Raaj Kumar) อย่างใหญ่โต ทั้งๆที่มีอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งแม่ไปทำการกู้ยืมสินกับ Sukhilala (รับบทโดย Kanhaiyalal) ทำให้ต้องติดหนี้ดอกท่วมหัวมหาศาล ใช้ชีวิตดิ้นรนอย่างยากลำบาก, ครั้งหนึ่งเมื่อ Shamu ประสบอุบัติเหตุแขนสองข้างขาดทำงานไม่ได้ ทำให้ตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ทิ้งให้ Radha ต้องเลี้ยงดูลูกทั้ง 4 ด้วยความอยากลำบาก ไหนจะประสบพบวาตภัย/อุทกภัย ครั้งร้ายแรง ท่วมที่นาบ้านเสียหายยับเยิน แต่เธอก็ยังไม่ยินยอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรคของชีวิต หรือคิดสั้นด้วยการเสียศักดิ์ศรีของตนเองต่อ Sukhilala
– องก์ 2: หลายปีผ่านไป มีลูกชาย 2 คนของ Radha ที่เหลือรอดชีวิต Ramu (รับบทโดย Rajendra Kumar) พี่ชายคนโตที่ใช้ชีวิตอย่างถูกต้องบริสุทธิ์เหมือนแม่ และ Birju (รับบทโดย Sunil Dutt) น้องชายคนเล็ก ที่เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดโกรธา ชอบกลั่นแกล้งรังแกผู้หญิง/คนอื่นไปทั่ว และมีความเคียดแค้นคับข้องใจต่อ Sukhilala ที่ยังคงขูดรีดดอกสินท่วมหัว จนทุกสิ่งอย่างบีบคั้นบังคับให้กลายเป็นโจร สุดท้ายหวนกลับมาแย่งชิงลูกสาวและฆ่า Sukhilala ทำให้แม่ Radha ต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่างกับลูกทรพีคนนี้
Nargis Dutt ชื่อเดิม Fatima Rashid (1929 – 1981) นักแสดงหญิงสัญชาติอินเดีย ได้รับการยกย่องว่า ‘นักแสดงยิ่งใหญ่ที่สุดใน Bollywood’, เกิดที่ Calcutta, Bengal (ปัจจุบันเป็น Kolkata, West Bengal) พ่อเป็นพราหมณ์ (Mohyal Brahmin) ที่ค่อนข้างร่ำรวยแต่ภายหลังเปลี่ยนมานับถืออิสลาม ส่วนแม่เป็นนักร้องเพลงคลาสสิกรุ่นบุกเบิกที่ค่อนข้างโด่งดังทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงมีความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก
ตอนอายุ 6 ขวบ มีผลงานเรื่องแรก Talash-E-Haq (1935) ได้ชื่อการแสดง Baby Nargis จากนั้นก็เลยใช้ Nargis มาโดยตลอด, เริ่มมีชื่อเสียงจากการเล่นหนังของ Mehboob Khan เรื่อง Taqdeer (1943) แล้วยังได้ร่วมงานกันอีกใน Humayun (1945), Andaz (1949) ฯ ต่อมากลายเป็นชู้รักของ Raj Kapoor มีผลงานดังอย่าง Barsaat (1949), Awaara (1951), Shree 420 (1955) ฯ
รับบท Radha จากหญิงสาวกลายเป็นภรรยา กลายเป็นแม่ กลายเป็นย่า ชีวิตจากเต็มเปี่ยมความสุข ต่อสู้ดิ้นรน เหน็ดเหนื่อยกายใจ สุดท้ายรันทดจมอยู่ในความทุกข์ทรมานแสนสาหัส, Radha คือหญิงสู้ชีวิตที่เต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ศักดิ์ศรี อดทนต่อความทุกข์ยากไม่เคยบ่น ไม่ชอบให้ใครมาเดือดร้อนเพื่อตนเอง และพยายามทำทุกอย่างเพื่อลูก/คนรัก ด้วยใจบริสุทธิ์ แม้ที่สุดเธอจะเลือก’ศักดิ์ศรี’สำคัญกว่าสิ่งใด แต่พอมาคิดได้ก็สายไปแล้ว ทำให้ชีวิตที่หลงเหลือจึงมีเพียงตราบาปและความเศร้าเสียใจ
เห็นว่า Khan มีภาพของ Nargis ไว้ในใจตอนพัฒนาบทหนังเรื่องนี้ โดยตั้งใจให้เป็นตัวตายตัวแทนของ Sardar Akhtar ภรรยาคนที่สองของตนที่รับบทนำใน Aurat (1940) ด้วยอายุ 26 ถือว่ากำลังเหมาะเลย และตอนนั้น Nargis กำลังโด่งดัง ถึงขนาดได้รับฉายาว่า ‘Queen of Hini Cinema’ ย่อมสามารถสร้างกระแสความน่าสนใจได้แน่นอน
การแสดงของ Nargis นอกจากการแต่งหน้าตั้งแต่สาวยันแก่ที่เนียนสมจริง ช่วงขณะดราม่าบีบคั้นทางอารมณ์ยังเต็มด้วยความหนักแน่น ทรงพลัง แสดงอาการเจ็บปวดรวดร้าวสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจออกมาได้สมจริง, นี่ย่อมคือการแสดงยอดเยี่ยมทุ่มเททั้งกายใจ (ขุดดิน ทำนา เห็นเหงื่อเป็นเม็ดโป้งๆ) ที่สุดของเธอเป็นแน่แท้
นี่คือหนังใหญ่เรื่องสุดท้ายของ Nargis ด้วยนะครับ เพราะหลังจากตกหลุมรักกับ Sunil Dutt แต่งงานครองคู่ ก็เริ่มถอยออกจากวงการ มีผลงานบ้างประปราย ซึ่งกับ Raat Aur Din (1967) รับบทตัวละครที่ป่วยเป็น Multi-Personal Disorder ทำให้คว้ารางวัล National Film Award: Best Actress เป็นคนแรกของสาขานี้
Sunil Dutt หรือ Balraj Dutt (1928 – 2005) นักแสดง ผู้สร้างภาพยนตร์ และนักการเมืองสัญชาติอินเดีย เกิดที่หมู่บ้าน Khurd, Punjab ตอนอายุ 18 เกิดเหตุการณ์การแบ่งแยกอินเดีย (Partition of India) ได้เพื่อนดีทำให้ย้ายครอบครัวมาอยู่ฝั่งอินเดียสำเร็จ ต่อมาเดินทางสู่ Lucknow ตามด้วย Bombay ทำงานเป็นคนขับรถ, จัดรายการวิทยุที่ Radio Ceylon, มีผลงานการแสดงเรื่องแรก Railway Platform (1955)
รับบท Birju ลูกชายคนเล็กที่มีนิสัยเกรี้ยวกราดโกรธาตั้งแต่เด็ก ดื้อดึงเอาแต่ใจ ไม่พึงพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ เพราะความรู้น้อยอ่านเขียนไม่ได้ทำให้เสียเปรียบ มองเจ้าหนี้ Sukhilala ว่าเป็นคนคดโกงคอรัปชั่น ด้วยความคับข้องอึดอัดใจจึงจะเป็นต้องหาที่ระบาย ควบคุมยับยั้งสติไม่ค่อยจะได้ … แต่เพราะเหตุนี้จึงมีความกล้าบ้าบิ่น กล้าเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อผู้อื่น
อย่ามองแต่ว่า Birju คือลูกทรพี ธรณีกรรแสง อย่างเดียวนะครับ ให้พยายามทำความเข้าใจเหตุผลด้วยว่าทำไมตั้งแต่เด็กจนโตถึงกลายเป็นคนแบบนี้ ก็จะพบว่าตัวเขาจริงๆเป็นคนรักแม่อย่างยิ่งที่สุด การกระทำทุกสิ่งอย่างก็ล้วนเพื่อแม่เท่านั้น แค่ความอึดอัดอั้นทุกข์ทรมานขัดแย้งที่อยู่ในจิตใจ เวลาได้รับความไม่พึงพอใจปะทุระเบิดออกมา ใครก็ตามที่อยู่รอบข้าง ย่อมพลอยได้รับผลกระทบรุนแรงทั้งกายและใจ
ผมมีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนในโลกไม่ได้มีใครอยากเกิดมาเป็นคนเลว แต่ล้วนมีเหตุผลบางสิ่งอย่าง ที่ทำให้เขาเห็นผิดเป็นชอบ แม้แต่ Adolf Hitler, พระเทวทัต, พระเจ้าอชาตศัตรู ฯ ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจเหตุผล เรื่องราว เบื้องหลังของพวกเขาได้ ก็มักจะแปรสภาพจากต่อต้านกลายเป็นเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ
เดิมนั้นบท Birju ผู้กำกับเล็ง Sabu นักแสดงสัญชาติอินเดียที่มีชื่อเสียงโด่งดังใน Hollywood ถึงขนาดเดินทางจาก Los Angeles มาถึง Mumbai แล้วด้วยซ้ำ แต่ด้วยความล่าช้าในการถ่ายทำ และขอ Work Permit ไม่ผ่าน ทำให้ต้องบอกปัดโปรเจคนี้ไปอย่างน่าเสียดาย, คนถัดมาคือ Dilip Kumar ที่เจ้าตัวแสดงความสนใจออกมาเลย แต่เป็น Nargis ที่ไม่เห็นด้วย เพราะเธอเคยเล่นบทรักโรแมนติกกับ Kumar มาหลายเรื่อง จะมาให้รับบทแม่ลูก มันก็กระไรอยู่, สุดท้ายเลยมาลงตัวที่ Sunil Dutt นักแสดงหน้าใหม่ที่เพิ่งมีผลงานแค่เรื่องเดียว ซึ่งกลายเป็นบทแจ้งเกิดของเขาโดยปริยาย
กระนั้นหนังก็โดนข้อครหาจากผู้ชมหัวโบราณในอินเดีย เพราะ Nargis ตกหลุมรักแต่งงานกับ Sunil Dutt มันมีนัยยะถึงการ Incest แม่กับลูก ทั้งๆที่ทั้งสองก็ไม่ใช่พี่น้องหรือแม่ลูกกันจริงๆ (แค่บทบาทในหนังเรื่องนี้) ก็แล้วแต่จะจิ้นกันไปเองนะครับ ผมไม่เห็นจะรู้สึกอะไรทั้งนั้น
การแสดงของ Dutt รุนแรง กระแทกกระทั้น ทรมานใจอย่างมาก นี่แปลว่าเขาเล่นดีมากๆนะครับ สะท้อนความเจ็บปวดอัดอั้นภายในจิตใจออกมาได้อย่างสมจริง เต็มเหวี่ยงทั้งแรงกายใจ เสียอย่างเดียวแต่งหน้าเข้ม ผิวไหม้เกรียมได้ไม่เนียนเอาเสียเลย (จนดูคล้ายคนผิวขาวที่โบ๊ะดำเป็นนิโกร ในยุคหนังเงียบของ Hollywood) หน้าแก่เหี่ยวย่นของ Nargis ยังดูสมจริงกว่ามาก
หลังจากภรรยาออกจากวงการ ก็เป็นหน้าที่ของสามีหาเงิน ผลงานดังๆของ Dutt อาทิ Sadhna (1958), Sujata (1959), Mujhe Jeene Do (1963), Khandan (1965), Padosan (1967) ฯ ช่วงทศวรรษ 80s – 90s ตัดสินใจรีไทร์ออกจากวงการ ผันตัวไปเป็นนักการเมือง ได้รับเลือกสองสมัยที่เขต Mumbai North West ตำแหน่งสูงสุด รัฐมนตรีกระทรวงกิจการเยาวชนและกีฬา (Minister of Youth Affairs and Sports)
Rajendra Kumar Tuli (1929 – 1999) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Sialkot, Punjab ช่วงแบ่งแยกดินแดน ครอบครัวตัดสินใจทิ้งทุกสิ่งอย่างอพยพสู่ Bombay เข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ H.S. Rawail ได้แสดงหนังเรื่องแรก Johan (1950) มีชื่อเสียงโด่งดังกับ Vachan (1955) ทำให้ได้รับฉายา ‘A Star is Born’
รับบท Ramu ลูกชายคนโตที่ดีพร้อมสมบูรณ์ทุกอย่าง ไม่เคยหลงเดินทางผิด แต่ก็มักต้องมีปัญหาวุ่นวายกับน้องชายที่มักชอบเที่ยวเตร่สำมะเล พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่
การแสดงของ Kumar ไม่ได้มีความหวือหวาอะไรมากมาย คงเพราะถูก Sunil Dutt แย่งซีนไปหมด แต่การประจันเผชิญหน้าของทั้งสองในหลายๆครั้ง พี่ชายต้องจำฝืนใจทำหน้าที่ของตน แม้จะไม่เคยสำเร็จสักครั้งก็เถอะ
เห็นว่า Kumar เป็นเพื่อนแท้ของครอบครัว Dutt เลยนะครับ มีปัญหาอะไรก็ช่วยเหลือกันมาโดยตลอด (คงเพราะ Nargis ได้เคยช่วย Kumar ให้ยืนได้ตอนเล่นหนังเรื่องแรกๆ) ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งตอนที่ลูกชาย Sanjay Dutt ถูกตำรวจเข้าบุกค้นจับกุม ก็ได้เพื่อนคนนี้แหละที่รีบติดต่อให้การช่วยเหลือ
ฉายาของ Kumar คือ ‘Jubilee Kumar’ ถือเป็นนักแสดงที่ประสบความสำเร็จได้รับความนิยมมหาศาลคนหนึ่ง มีผลงานดังอาทิ Dhool Ka Phool (1959), Dil Ek Mandir (1963), Mere Mehboob (1963), Dil Ek Mandir (1963), Ayee Milan Ki Bela (1964), Sangam (1964), Arzoo (1965), Suraj (1966), Talash (1970), Ganwaar (1970) ฯ
Raaj Kumar ชื่อเดิม Kulbhushan Pandit (1926 – 1996) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Loralai, Baluchistan Agency (ปัจจุบันอยู่ในประเทศ Pakistan) ย้ายมาอยู่ Mumbai ในช่วงปลายทศวรรษ 40s ทำงานเป็นผู้ช่วยสารวัตร (Sub-Inspector) ต่อมาเปลี่ยนอาชีพ เข้าสู่วงการภาพยนตร์ มีผลงานเรื่องแรก Rangili (1952)
รับบท Shamu สามีของ Radha เพราะความรักมากจึงทุ่มเททำงานอย่างสุดกายใจ แต่ก็พาลพบกับปัญหาอุปสรรคมากมาย จนเกิดอุบัติเหตุแขนถูกหินทับ จากคนที่เคยเต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ที่กินไม่ได้ พอทำงานไม่ได้ต้องขอภรรยากิน จึงตัดสินใจกล้ำกลืนศักดิ์ศรีของตนเอง ทิ้งลูกทิ้งเมีย ตัวเองออกเร่ร่อนสูญหายตายจากไม่มีใครรู้
การแสดงของ Raaj Kumar โดดเด่นมากๆช่วงที่สูญเสียแขนทั้งสองข้าง จากชายผู้เย่อหยิ่งในศักดิ์ศรีกลายเป็นหมาจนตรอก สร้างความเจ็บปวดทุกข์ทรมานเห็นใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง
Kanhaiyalal (1910 – 1982) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Varanasi ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการเขียนบทและกำกับละครเวที เดินทางสู่ Bombay หวังที่จะเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ แต่กลับได้เป็นตัวประกอบ ไปๆมาๆหลังจากได้รับบท Sukhilala เจ้าหนี้หน้าเลือด (Moneylender) ในหนังเรื่อง Aurat (1940) จนกลายเป็น type-cast มีผลงานอื่น อาทิ Ganga Jamuna (1961), Upkar (1967), Apna Desh (1972) ฯ
Sukhilala เจ้าหนี้หน้าเลือด ใช้ความรู้ของตนเองเอาเปรียบ กดขี่ ชาวนาจนๆ เงินทองไม่ค่อยจะมี ส่วนตัวเองร่ำรวยสุขสบาย แต่คงเต็มไปด้วยความหวาดระแวง เพราะมีลูกสาวคนสวยและถูก Birju หมายหัวไว้
การแสดงของ Kanhaiyalal โฉดชั่ว ร้ายกาจ ด้วยน้ำเสียงกวนๆ และการแสดงออกท่าทางที่ Over-Acting เสียเหลือเกิน แต่ก็ถือเป็น Expressionist ของตัวละครได้อย่างตรงไปตรงมา สร้างความขบขันผ่อนคลายให้กับผู้ชม แต่คนส่วนใหญ่คงเกลียดขี้หน้าชายคนนี้ ถือเป็นตัวร้ายที่คลาสสิกมากเลยละ
สำหรับนักแสดงรุ่นเล็ก Sajid Khan ที่รับบท Birju วัยเด็ก เห็นว่าคัดเลือกจากสลัมใน Mumbai ได้ค่าตัว ₹750 ผู้กำกับ Mehboob Khan ภายหลังจึงตัดสินใจรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม และยังได้แสดงนำในหนังเรื่องถัดไปสุดท้ายของพ่อ Son of India (1962) โตขึ้นตัดสินใจเดินทางไปอยู่อเมริกา พอจะมีชื่อเสียงกับการแสดงละครโทรทัศน์ ออกอัลบัมร้องเพลง พยายามที่จะกลับมาเป็นนักแสดงในอินเดียอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีใครสนใจอีกต่อไป
ถ่ายภาพโดย Faredoon Irani ขาประจำของ Khan มีผลงานร่วมกันอย่าง Anmol Ghadi (1946), Andaz (1949), Aan (1952) [หนัง Technicolor ของอินเดีย], Amar (1954) ฯ คว้ารางวัล Filmfare Award: Best Cinematographer 2 ครั้งจาก Mother India (1958), Duniya (1970)
ถ่ายทำแถวๆ Surat, Kolhapur, Nasik ที่ซึ่งยังเต็มไปด้วยท้องทุ่งนา รวงข้าว มีหลายช็อตสวยๆที่ถ่ายติดพระอาทิตย์ยามเช้า พลบค่ำ (ไม่ค่อยมีถ่ายกลางคืนเท่าไหร่) ย้อนแสง สะท้อนแสง ฯ ส่วนฉากที่ต้องใช้ Special Effect เช่น ฝนตก, พายุเข้า ล้วนถ่ายทำในสตูดิโอ Mehboob Studios ที่ Mumbai
ฉากน้ำท่วม นี่ต้องปล่อยน้ำเข้าท้องนาจริงๆ กินพื้นที่กว่า 500 เอเคอร์ (1,250 ไร่) สิ้นเปลืองงบประมาณส่วนนี้มหาศาลเลยละ จ่ายเงินให้กับเจ้าของที่นา และฉากต่อมายังว่าจ้างคนท้องที่กว่า 200 คน วัวควายอีก 300 ตัวในฉากอพยพ
สำหรับฉากไฟไหม้ นั่นเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากการควบคุมเพลิงไม่ได้ขณะลมเปลี่ยนทิศ ซึ่ง Nargis ที่กำลังเข้าฉากนี้พอดี บังเอิญติดอยู่หาทางออกไม่ได้ โชคดีได้ Sunil Dutt แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเอาผ้าห่มวิ่งฝ่ากองไฟตรงเข้าไป คลุมหัวเธอพาวิ่งออกมา ผลลัพท์จากการทำเช่นนี้ทำให้พระเอกสุดหล่อเป็นแผลไหม้พุพองอาการสาหัสทีเดียว จำต้องหยุดกองถ่ายหลายวัน ซึ่ง Nargis ใช้ช่วงเวลานี้ เฝ้าทะนุถนอมดูแลทำแผลเอาอกเอาใจ จนพวกเขาตกหลุมรักกัน
จุดเด่นของงานภาพคือ Close-Up โดยเฉพาะใบหน้าของตัวละคร ขณะขุดดิน แบกคันไถ เราจะเห็นทั้งสีหน้า ความรู้สึก หยาดเหงื่อแรงกาย (เห็นเหงื่อเม็ดโป้งๆ) ความเหน็ดเหนื่อยของนักแสดง ในระยะใกล้ประชิดตัว ซึ่งจะมีความสมจริง ผสานกับการตัดต่อที่รวดเร็วฉับไวแบบ Montage สร้างความรู้สึกให้กับผู้ชมได้อย่างทรงพลัง
ตัดต่อโดย Shamsudin Kadri รับอิทธิพลจากหนังรัสเซียสองเรื่องในตำนาน Mother (1926), Earth (1930) ใช้ภาษาของการตัดต่อเล่าเรื่องให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก ต้องถือว่าทำออกมาได้เยี่ยมเลยละ
ถึงหนังจะใช้มุมมองของแม่ Radha เล่าเรื่อง จากปัจจุบันหวนระลึกย้อนอดีตภาพความทรงจำ แต่ครึ่งหลังส่วนใหญ่จะเป็นมุมมองของ Birju ลูกชายคนเล็กหัวรุนแรง ที่มักสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับแม่เป็นอย่างมาก, การเล่าย้อนหลังแบบนี้ มองได้ถึงความไม่พึงพอใจในอดีต ปัจจุบันที่ยังทุกข์โศกเศร้า โหยหา ผิดหวังในตัวเอง กับการตัดสินใจกระทำของตนเองเมื่อครั้นกระนั้น จริงอยู่มันเพื่อศักดิ์ศรี แต่เพราะนั่นคือลูกรักในไส้ตัวเองแท้ๆ มันเลยกลายเป็นตราบาปฝังใจ หลอกหลอนไม่รู้เลือน
เพลงประกอบโดย Naushad Ali คำร้องโดย Shakeel Badayuni ขับร้องโดย Mohammed Rafi, Shamshad Begum, Lata Mangeshkar, Manna Dey นี่ถือเป็นหนัง Bollywood เรื่องแแรกๆที่มีการทดลองใช้เครื่องดนตรีคลาสสิกสากล อาทิ ไวโอลิน, ทรัมเปต ฯ ผสมเข้ากับดนตรีพื้นบ้านของอินเดีย
บทเพลง Duniya Mein Hum Aaye Hain (We Came To The World) ขับร้องโดยสามพี่น้อง Mangeshkar ประกอบด้วย Lata, Meena, Usha นี่เป็นบทเพลงเชิงตัดพ้อต่อการเกิดมาบนโลกของ แม่และลูกชายทั้งสอง แต่เธอก็ไม่ยินยอมพ่ายแพ้ เพราะมันอาจมีคุณค่าบางอย่างของชีวิตซ่อนอยู่ก็ได้
“If we came to the world then we have to live. If our life is poison so we have to drink it.”
บทเพลงอลังการงานสร้างสุดของหนัง Holi Aayi Re Kanhai (The Holi festival is here.) ขับร้องโดย Shamshad Begum, โฮลี (Holi) หมายถึง การสิ้นสุดของปีเก่า เป็นเทศกาลฉลองรื่นเริงที่มีพื้นเพมาจากความเชื่อในศาสนาฮินดูในช่วงฤดูใบไม้ผลิ โดยชาวฮินดูจะออกมาเล่นสาดสีใส่กัน มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ‘เทศกาลแห่งสีสัน’
O Gaadiwale (=O Driver) ขับร้องโดย Shamshad Begum กับ Mohammed Rafi, บทเพลงจังหวะสนุกสนาน ประเพณีวิ่งวัว ควบแข่งขันเข้าเส้นชัย เป็นการร้องรับเล่น เกี้ยวพาระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาว
บทเพลงในหนัง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคำแปลเนื้อร้องด้วยนะครับ ทำนองอย่างเดียวถ้าคุณดูหนังอินเดียมาหลายๆเรื่อง จะรู้สึกมันคุ้นๆคล้ายกันไปหมด ยิ่งเสียงร้องแยกความแตกต่างแทบไม่ออก และบางทีการสื่ออารมณ์ของเพลงไม่ได้มีความเข้ากันเท่าไหร่ด้วย, ฟังครั้งแรกๆอาจจะไม่ได้ไพเราะติดหูเท่าไหร่ แต่ถ้าได้ยินหลายๆรอบจะเริ่มรู้สึกมีความเพราะมากๆเลยนะครับ ไม่เช่นนั้นคงไม่ติดหนึ่งใน 100 Greatest Bollywood Soundtracks Ever เป็นแน่
สังคมวัฒนธรรมอินเดียไม่ต่างจากเมืองไทยมากนัก เกษตรกรถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติ อาชีพทำนาจึงเปรียบได้กับเลือดเนื้อ จิตวิญญาณของประเทศ เช่นกันกับแม่ก็คือผู้มอบเลือดเนื้อ จิตวิญญาณให้กับบุตร, เราสามารถมองการที่แม่เสียสละ เหน็ดเหนื่อยทำนา แบกจอบเสียม คันไถ ย่อมเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ดิ้นรน เพื่อให้ลูกหลานประเทศชาติเติบโตพัฒนาขึ้น มีชีวิตเอาตัวรอดอนาคตที่สดใส
กับชาวเอเชียจะมีคำว่า
– กตัญญูรู้คุณ หมายถึง ความเป็นผู้มีใจกระจ่าง มีสติ มีปัญญาบริบูรณ์ รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นกระทำแล้วแก่ตน ผู้ใดก็ตามที่ทำคุณแก่ตนแล้ว ไม่ว่าจะมากก็ตาม น้อยก็ตามแล้วก็ตามระลึกนึกถึงด้วยความซาบซึ้งไม่ลืมเลย
– อกตัญญู คือเนรคุณ ทรยศ หักหลัง ไม่ซื่อสัตย์ ผู้ระลึกไม่ได้ว่าใครเคยทำดีเคยช่วยเหลือเกื้อกูลตนมา ผู้ลืมบุญคุณของคนอื่นที่ทำแก่ตนมา ผู้ไม่ยอมรับบุญคุณของใครทั้งนั้น
สำหรับแม่ ถือเป็นผู้มีบุญคุณล้นพ้นต่อบุตร เพราะเป็นผู้ให้กำเนิด เลี้ยงดู ช่วยเหลือเกื้อกูลจนเติบใหญ่ สั่งสอนชี้แนะนำให้กลายเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ กับบุคคลที่มีจิตใจดีมีลักษณะมงคล อภิชาตบุตร ย่อมสามารถระลึกได้ว่าตนควรประพฤติปฏิบัติอย่างไรกับผู้ให้กำเนิดตนเอง
แต่ใช่ว่าทุกคำพูดของแม่จะเป็นสิ่งถูกต้องเสียหมด นี่เป็นสิ่งที่วัฒนธรรมตะวันตกแตกต่างจากฝั่งเรา พวกเขาสามารถเลือกที่จะครุ่นคิด เห็นด้วยปฏิเสธ รับฟังแต่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ตรงกันข้ามกับฝั่งเอเชีย ที่พ่อแม่มักสามารถครอบงำควบคุมความคิด ซึ่งลูกก็จะยินยอมน้อมรับฟัง เชื่อ ปฏิบัติตามเสียส่วนใหญ่, ที่ผมยกมานี้ ไม่ได้แปลว่า การไม่รับฟังคำพูดของผู้ใหญ่คือการแสดงความอกตัญญู เนรคุณ ลูกทรพีหรือยังไงนะครับ นี่เป็นสิ่งอยู่ที่ ‘วุฒิภาวะ’ ของตัวคุณเอง จะสามารถแบ่งแยก ครุ่นคิด สิ่งไหนถูกผิดได้ด้วยตัวเองหรือเปล่า
ในอินเดีย เท่าที่ผมเห็นผ่านหนัง Bollywood หลายๆเรื่อง หนุ่มสาวส่วนใหญ่ยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีนี้อย่างเคร่งครัด แต่คงผ่อนคลายความหนักแน่นจริงจังลงไปตามยุคสมัย เมื่อวัฒนธรรมของชาติตะวันตกเผยแพร่เข้ามา ทำให้พวกเขาเริ่มมีความคิดเห็นอ่านเป็นของตัวเอง การปฏิบัติต่อพ่อแม่ครอบครัวจึงเริ่มแตกต่างออกไป
ในมุมของคนสมัยก่อน ถ้ามาเห็นคนยุคสมัยนี้คงส่ายหัว แทบทั้งนั้นเรียกได้ว่าเป็นผู้เนรคุณ อกตัญญู แต่ผมอยากให้ทำความเข้าใจ ครุ่นคิดวิเคราะห์ถึงสาเหตุผล ที่มาที่ไป อะไรทำไม อย่าเพิ่งด่วนตัดสินคนอื่นด้วยการกระทำต่อหน้า มันอาจมีเรื่องลับหลังที่สลับซันซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่ การไปดูถูก ตำหนิ ต่อว่าผู้อื่นว่าเนรคุณ โดยที่หาได้รู้แจ้งเห็นจริง นี่จะเข้าข่ายผิดศีลข้อ 4 พูดจาเพ้อเจ้อนะครับ ไม่รู้อย่าพูด ไม่เข้าใจอย่าแสร้งตรัสรู้ เรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา กรรมใดใครก่อ กรรมนั่นย่อมคืนสนอง
ผมเคยคิดจะตีความ Mother India เป็นสัญลักษณ์เพศแม่สากล ต่อสู้กับความทุกข์ยากลำบากในการมีชีวิต แต่ไปๆมาๆ ขอลดวงจำกัดเหลือเพียง ‘ผืนแผ่นดินแม่ของอินเดีย และเอเชีย’ (ผู้สร้างคนไม่คิดถึงระดับเอเชียหรอก แต่ผมเพิ่มให้เพราะหนังทรงอิทธิพลระดับนั้นจริงๆ) นี่เป็นหนังสร้างขึ้นในยุคสมัยที่ชาวตะวันตกกำลังเผยแพร่ขยายความขยาดรังเกียจ เหยียดชนชาติชาวอินเดีย และเอเชีย -อย่าปิดหูปิดตาไปนะครับ ว่าฝรั่งไม่เคยคิดอะไรแบบนี้กับชาติเรานะครับ ปัจจุบันมันก็ยังมีอยู่ แค่ไม่โดดเด่นชัดรุนแรงเท่ากับยุคสมัยก่อน- ตัวละคร Sukhilala เจ้าหนี้หน้าเลือดทุนนิยม ย่อมไม่ใช่ใครอื่น มีนัยยะถึงชาวตะวันตก โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร (British Raj) ที่เขามากอบโกย สร้างหนี้ไม่รู้จักจบสิ้นให้กับชาวอินเดีย ถึงชาวชาติเราจะถูกรังแกกดขี่ข่มเหง ก็ยังยินยอมอดทนมีชีวิตสู้ต่อไป แต่อย่าดูหมิ่นศักดิ์ศรีหรือทำให้เสียเกียรติ เพราะนี่เป็นสิ่งฆ่าให้ตายก็ยอมให้หยามไม่ได้
ความชั่วร้าย นรกส่งมาเกิดของ Katherine Mayo มันก็พ้นเลยผ่านมาหลายศตวรรษแล้ว ก็อย่่างที่บอกไป อย่าไปเดือดเนื้อร้อนใจ เอามาครุ่นคิดติดให้ปวดหัวเล่นเลยนะครับ เรียนรู้จักเข้าใจตัวตนของเธอไว้ก็เพียงพอแล้ว มนุษย์เรามีทั้งคนดีชั่ว มีพระพุทธเจ้ายังมีพระเทวทัต ดี-ชั่ว ถูก-ผิด หยิน-หยาง เหรียญสองด้าน สิ่งเหล่านี้เป็นของคู่กันเสมอ, ผมละแอบสงสารแทน Mayo ด้วยซ้ำนะ เพราะความคิดอ่านการกระทำของเธอ คงถูกผู้คนมากมายรุมเกลียดชัง ด่าทอ สาปแช่ง อาจต้องตกนรกทั้งเป็น เวียนว่ายตายเกิดถูกสังคมครหานินทาซ้ำมากี่ชาติแล้วก็ไม่รู้, สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
ระหว่างชีวิตคนกับศักดิ์ศรี นี่เป็นสิ่งที่ตอบยากถึงขั้นตอบไม่ได้เลยทีเดียวละ ว่าสิ่งใดสำคัญกว่ากัน? มันขึ้นอยู่กับบริบทของเรื่องราวสถานการณ์นั้นๆ บางครั้งชีวิตสำคัญกว่า บางครั้งศักดิ์ศรีสำคัญกว่า ไม่มีหลักการกฎเกณฑ์ตายตัว, ซึ่งในกรณีของหนังเรื่องนี้ มันชัดเจนว่ามีเป้าหมายเพื่อนำเสนอ ‘ศักดิ์ศรี’ ของประเทศชาติ/ผู้คน สำคัญกว่าชีวิตของตนเอง นี่ถือเป็นการแฝงแนวคิดชาตินิยมเข้าไว้ในหนังด้วยนะครับ ผลลัพท์มันเลยต้องออกมาเป็นแบบนั้น
ซึ่งการจะครุ่นคิดค้นหาว่า บริบทไหนชีวิตกับศักดิ์ศรีสำคัญกว่า มันอยู่ที่การกระทำนั้นถูกต้อง/ผิดหลัก ศีลธรรม-มโนธรรม-จริยธรรม หรือเปล่า, กล่าวคือ ถ้าการกระทำนั้นมันผิดศีล เช่น ต้องฆ่าคนอื่น ลักขโมย โกหก เพื่อแลกกับอะไรบางอย่าง แบบนี้ศักดิ์ศรีย่อม(น่าจะ)สำคัญกว่า
ถ้าเป็นบริบทแบบในหนัง ผมยังไงก็คงไม่ยิงนะครับ
ทุนสร้างหนังที่คาดการณ์ไว้ตอนแรกคือ ₹2–3 ล้านรูปี แต่การถ่ายทำล่าช้า ปัญหาโน่นนี่นั่น รวมๆแล้วทุนสร้างเพิ่มสูงเป็น ₹3.5–4 ล้านรูปีถือเป็นหนังทุนสร้างสูงสุดในอินเดียสมัยนั้น, ซึ่งผลลัพท์ทำเงินประมาณ ₹4 crore/₹40 ล้านรูปี (=$620,000 เหรียญ) ทุบทุกสถิติ กลายเป็น All Time Blockbuster เทียบค่าเงินปี 2016 (Adjust Grossing) ₹281 crore (=$44 ล้านเหรียญ)
เกร็ด: หนังที่ทำเงินแซงหน้า Mother India คือ Mughal-E-Azam (1960)
ในเมืองไทย เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง พ.ศ. ๒๕๐๐ ยาวนานถึง 2 เดือนเศษ นำพากย์โดย หม่อมหลวงรุจิรา อิศรางกูร เจ้าของฉายา “มนุษย์ 6 เสียง” ทำรายได้สูงราว 4 ล้านกว่าบาท (เยอะกว่าหนังไทยทำเงินสูงสุดขณะนั้นอีกนะครับ)
นี่เป็นหนังเรื่องแรกของอินเดีย ที่ส่งเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film แล้วยังเข้ารอบ 5 เรื่องสุดท้ายอีกด้วย เห็นว่าพ่ายต่อ Night of Cabiria (1957) ของผู้กำกับ Federico Fellini ไปเพียงโหวตเดียวเท่านั้น
ในอินเดีย National Film Awards มอบ 2 รางวัล
– All India Certificate of Merit for Best Feature Film (รู้สึกจะเป็นรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมลำดับที่ 3 นะครับ ไม่ใช่ชนะเลิศ)
– Certificate of Merit for Best Feature Film in Hindi (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ภาษา Hindi)
ขณะที่ Filmfare Award คว้ามา 5 รางวัล
– Best Film
– Best Director
– Best Actress (Nargis)
– Best Cinematographer
– Best Sound Record
ความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ ไม่เพียงทำให้ผู้ชมชาวตะวันตกรู้จักเข้าใจประเทศอินเดียมากขึ้น แต่ยังเป็น Benchmark เรื่องที่ให้คำนิยามภาพยนตร์ Bollywood ในยุคสมัยต่อมา
“All Hindi films come from Mother India. ”
– Javed Akhtar, นักเขียน นักแต่งเพลง Bollywood
ไม่แน่ใจว่าหนังมีการ Remaster ไปหรือยัง แต่คุณภาพฉบับที่ผมได้รับชมถือว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่คงเป็นฉบับเดียวกับที่ฉาย Cannes Classics เมื่อปี 2004
เหตุผลที่ผมไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เพราะความเจ็บปวด รวดร้าว ฟูมฟายที่พบเจอได้ตลอดเรื่อง ซึ่งหนังพยายามทำทุกสิ่งอย่างให้เกิดความรันทด แสนเข็ญ เห็นอกเห็นใจ เป็นดราม่าที่สมัยนี้น่าจะขายไม่ได้แล้ว แต่เพราะมันตรงใจ กินใจ เต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์ ทำให้ผู้ชมสมัยนั้นตกหลุมหลงใหล โดยเฉพาะชาวอินเดีย แน่นอนว่านี่คือภาพยนตร์แห่งชาติ
เชื่อว่าหลายคนคงเกิดความหงุดหงิดคับข้องใจ ทำไมตัวละครไม่คิดแบบนั้น ทำแบบนี้ ไม่เป็นดั่งใจเลย! การเกิดความคิดรู้สึกลักษณะนี้ มองได้ว่าเป็นผลจากกาลเวลาทำให้มนุษย์มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ขึ้น เรื่องราวเหล่านี้เป็นของเก่า เฉิ่มเฉย ล้าสมัย คนยุคสมัยนี้จึงรู้สึกต่อต้าน ไม่พึงพอใจ รับไม่ได้, ให้มองเป็นประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไปนะครับ จะได้ไม่เกิดอคติมากนักกับหนัง
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ผมเลือกความเสียสละทุ่มเทกายใจของแม่ ให้เป็นความสำคัญของหนังเรื่องนี้ ที่เหมาะสำหรับนั่งรับชมพร้อมหน้าทั้งครอบครัว โดยเฉพาะในวันแม่ ดูจบก็บอกรักแม่เสียนะครับ และตั้งใจให้ตนกลายเป็นแบบ Ramu ไม่ใช่ลูกทรพีแบบ Birju
คอหนังอินเดีย ชื่นชอบร้องเล่นเต้น, เรื่องราวสุดแสนดราม่า รันทด ชาวนาเกษตรกรผู้ทุกข์ยาก เจ้าหนี้เอารัดเอาเปรียบ, แฟนๆ Nargis, Sunil Dutt ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับความอึดอัดทรมาน สงสารน่าเห็นใจ และลูกทรพี
Leave a Reply