mouchette

Mouchette (1967) French : Robert Bresson ♥♥♡

หนึ่งในหนังที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Masterpiece ของ Robert Bresson, หญิงสาว Mouchette เติบโตขึ้นในครอบครัวชั้นต่ำ (Low Class) พ่อขี้เมา แม่ป่วยหนัก มีน้องทารกให้ต้องเลี้ยงดู เพื่อน/ครูที่โรงเรียนรังแก สังคมเหยียดหยาม ถูกข่มขืน … นี่มันเป็นหนังที่มีอะไรดี

หลังจากดูจบผมก็ส่ายหัวทันที นี่เป็นหนังที่ไม่มีความน่าอภิรมย์เอาเสียเลย แต่ในความเลวร้ายนั้นก็มีความยอดเยี่ยมอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินผู้กำกับ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังที่ถึงระดับ Masterpiece และ Andrei Tarkovsky เลือกให้เป็นหนังโปรด (นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมต้องฝืนตัวเอง ดูหนังของ Robert Bresson เรื่องนี้นะครับ)

คุณเคยมีผู้กำกับ หรือหนังที่ไม่ถูกโฉลกบ้างหรือเปล่า? จริงๆผมมีเยอะนะ แต่ก็ไม่อคติอะไรกับผู้กำกับมากเท่า หนังของ Robert Bresson เหตุผลคือ ไม่เข้าใจว่าเป้าหมายในการทำหนังของเขาคืออะไร?, ในสไตล์ของ Bresson ชอบทำหนังที่เกี่ยวกับคนชั้นต่ำ (Low Class) ตีแผ่มุมความชั่วร้ายของสังคม ตัวละครมีชีวิตที่ต้องดิ้นรน ทุกข์ยากลำบาก สังคมต่อต้านไม่ยอมรับ จนเกิดความสิ้นหวังถึงขีดสุด เรียกได้ว่าแทบไม่มีมุมอะไรดีๆปรากฎอยู่เลยในหนัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครหลักมักจะนำเอาทัศนคติผิดๆบางอย่าง ไปทำให้มันถูก (ผมเรียกว่า ตรรกะเพี้ยน) ผลลัพท์จะทำให้ผู้ชมรู้สึกเห็นใจ สงสารตัวละคร แล้วหนังก็จบลงแค่นั้น ไม่ได้แฝงข้อคิด ไม่ได้นำเสนอคำตอบ แค่ถ่ายทอด ตีแผ่ นำเสนอออกมา … แล้วนี่จะไม่ให้ผมตั้งคำถาม Bresson ทำหนังเพื่ออะไร! ได้ยังไง

มีนักวิจารณ์/วิเคราะห์ ที่ได้ดูหนังของ Bresson ต่างบอกว่า สไตล์ของเขา ทำหนังเชิง Christian (มีส่วนผสม ตีความได้เชิงศาสนา) ในเรื่องราวที่เสมือนเพื่อไถ่โทษ (redemption)

He has been called the most Christian of filmmakers. Most of his films deal, in one way or another, with redemption.

นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมไม่เข้าใจผู้กำกับเลย คือไม่รู้ว่าสิ่งที่ต้องการไถ่โทษคืออะไร ความผิดที่เคยกระทำ? ความเชื่อที่ขัดแย้ง? ซึ่งกับหนังเรื่องนี้ อย่าบอกนะว่าเขาแทนตัวเองด้วย Arsène เพราะถ้าจริง เขาจะเป็นผู้กำกับที่นิสัยส่วนตัวเลวร้ายยิ่งกว่า Woody Allen หรือ Roman Polanski เสียอีก

ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกัน เขียนโดย Georges Bernanos ตีพิมพ์เมื่อปี 1937 เห็นว่าได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ตรงของ Bernanos ในขณะ Spanish Civil War, เรื่องราวของเด็กหญิงอายุ 14 ที่ถูกกลั่นแกล้งต่างๆสารพัด ทำให้อับอายขายหน้า เสียชื่อเสียง และถูกข่มขืน นี่ทำให้เธอกลายเป็นเด็กกร้านโลก ต่อต้านสังคม ไม่เชื่อในความดีงาม

ใจความเชิงศาสนา พูดถึงความชั่วร้ายทั้งหลายที่ปรากฎขึ้น จากการไม่มีตัวตนของความดี (หรือพระเจ้า)

สำหรับนักแสดงของหนัง ทั้งหมดล้วนเป็นมือสมัครเล่น เพราะความเชื่อของ Bresson ที่ไม่ต้องการให้นักแสดงตีความ ถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกใส่ลงไปในตัวละคร, นักแสดงในหนังของ Bresson เปรียบเสมือนหุ่น (Model) ที่แค่พูดตามบทและเคลื่อนไหวตามคำสั่ง เปรียบเหมือนคนที่ไร้จิตวิญญาณ วิธีการที่ใช้คือ ให้นักแสดง แสดงฉากเดิมซ้ำๆ 30 รอบ-50 รอบ-100 รอบ จนร่างกายอ่อนล้า ไม่สามารถเคลื่อนไหวทำอะไรได้ตามใจ เมื่อนั้นจึงจะแต่การเคลื่อนไหวที่ไม่มีอะไรเจือปนอยู่

Nadine Nortier รับบท Mouchette ลักษณะภายนอก ดูเป็นเด็กแก่นแก้ว กร้านโลก เข้ากับตัวละครนี้มาก (การคัดเลือกนักแสดงของ Bresson คือให้หน้าตา ตรงกับพื้นฐานของตัวละคร) กระนั้นผมสังเกตว่า ตัวละครนี้ผิดแปลกจากแนวคิดของ Bresson พอสมควร เพราะเธอต้องยิ้ม (ดูมีความสุข) และร้องไห้ (มีความทุกข์) สองการแสดงออกนี้ เป็นสิ่งที่ต้องออกมาจากข้างในเท่านั้น ไม่มีทางที่หุ่น (ในความหมายของ Bresson) จะแสดงความรู้สึกเช่นนี้ออกมาได้

ปกติแล้วหนังของ Bresson มักจะไม่มีนักแสดงหน้าเดิม แต่หนังเรื่องนี้เขาใช้บริการของ Jean-Claude Guilbert ที่เคยร่วมงานกันมาใน Au hasard Balthazar แต่ก็ไม่ได้มีบทใหญ่อะไร, กับหนังเรื่องนี้รับบท Arsène ชายหนุ่มนิสัยไม่ดี ที่เป็นคนข่มขืน Mouchette แต่ใช่ว่าเธอไม่สมยอมนะครับ เรียกเขาว่า ‘คนรัก’ ด้วยซ้ำ เพราะ Arsène คือชายคนเดียวที่ทำให้เธอมีความสุข (แบบนี้ไม่ให้เรียก ตรรกะเพี้ยน ได้ยังไง!)

ปกตินักแสดงที่เคยร่วมงานกับ Bresson มักจะ ไม่อยากร่วมงานกับเขาอีก … เหตุผลก็น่าจะชัดนะครับ ใครจะไปทนกับความเผด็จกาจเรื่องมากและเอาแต่ใจของผู้กำกับคนนี้ได้ คุณต้องโยน Ego ของตัวเองทิ้งไป ต้องไม่ให้ร่างกายมีจิตวิญญาณหลงเหลือ ถึงจะเป็นนักแสดงของ Bresson ได้

ถ่ายภาพโดย Ghislain Cloquet ขาประจำของ Bresson, การเคลื่อนไหวกล้องในระดับ Close-Up ติดตามการเคลื่อนไหวของสิ่งที่เคลื่อนไหว นี่ถือเป็นสไตล์ลายเซ็นต์ของหนัง Bresson นะครับ ผมเปรียบงานภาพ เหมือนมุมมองของสายตามนุษย์ จับจ้องต่อสิ่งที่มีการเคลื่อนไหว เรียกร้องความสนใจ

กับหนังเรื่องนี้ มีช็อตที่ถ่ายรองเท้าบ่อยมาก หลายครั้งด้วย นี่แสดงถึงความ Low-Class ฐานะทางสังคมของตัวละคร และแทนด้วยสายตาของ Mouchette ที่มักก้มหน้า มองต่ำ เพราะไม่สามารถเงยขึ้นสบสายตา มองระดับเดียวกับคนอื่นได้ (เพราะตนเป็นคนชั้นต่ำ)

ตัดต่อโดย Raymond Lamy, ถึงหนังจะชื่อ Mouchette แต่หนังไม่ได้เริ่มต้นที่มุมมองของเธอนะครับ, หนังทำให้เรารู้จักกับ Arsène และ Mathieu (Gamekeeper) ก่อนที่จะมาพบเจอกับ Mouchette ครั้งแรกที่หน้าโรงเรียน เป็นการแนะนำตัวละครที่จะทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปก่อน เมื่อรู้จักแล้วก็จะใช้มุมมองของ Mouchette ที่ได้พบเจอกับสิ่งชั่วร้ายต่างๆนานา เล่าเรื่องไปจนจบ

ฉากเปิดเรื่อง แม่ของ Mouchette พูดต่อหน้ากล้องว่า ‘จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่มีฉัน’ (what will become of them without me) คำพูดของเธอนี้ เหมือนแทนตัวเองว่าเป็น ‘พระเจ้า’ ซึ่งเรื่องราวในหนังก็บอกเป็นนัยๆว่า พระเจ้าไม่มีจริง ซึ่งตอนที่แม่จากไป (หลังจาก Mouchette โดนข่มขืน) ก็เหมือนกับว่า ที่พึ่งทางใจหนึ่งเดียวของเธอ (และมวลมนุษย์) อย่างสุดท้ายได้จากไปจากโลกแล้ว คงเหลือแต่ความสิ้นหวัง

หนังเรื่องนี้พูดน้อยต่อยหนัก ใช้การเล่าเรื่องด้วยภาพและการตัดต่อมากกว่าคำพูด และหลายฉากมีความหมายแฝง นัยยะบางประการซ่อนอยู่ อาทิ ฉากแรกแนะนำ Arsène ที่ใช้บ่วงกับดักจับนก เราจะเห็นนกเดินมาติดกับแล้วดิ้นรน (นี่เปรียบเปรยถึงตัวละครในหนัง ที่มีชีวิตต่อสู้ดิ้นรน เสมือนคนติดในกับดัก ไม่มีทางหนี), ฉากรถบั้ม ขับชนไปชนมา (เหมือนชีวิตที่ต้องดิ้นรน การกระแทกแทนได้กับพบเจอคนอื่นมากมาย มีปฏิสัมพันธ์กัน), ฉากยิงกระต่ายท้ายเรื่อง (แทนด้วยการตายของผู้บริสุทธิ์ — ฉากนี้ทำคารวะหนังเรื่อง The Rules of the Game-1939 เลยนะครับ) ฯ

การตัดต่อหลายครั้ง ใช้อธิบายอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละคร อาทิ ตอนที่ Mouchette ไม่พอใจหญิงชราคนหนึ่ง สีหน้าของเธอไม่แสดงความรู้สึกอะไร แต่ภาพตัดให้เห็นเธอกำลังเช็ดรองเท้าที่เปอะเปื้อนกับพรม ฯ กับคนที่ไม่ค่อยคุ้นเคยการเล่าเรื่องแบบนี้ ใช้ความพยายามคิดตามหน่อยนะครับ ถ้าดูแล้วไม่เข้าใจอีก ก็อย่าเพิ่งรีบดูหนังของผู้กำกับคนนี้ เพราะทุกเรื่องเป็นลักษณะคล้ายๆนี้หมด

ปกติหนังของ Bresson มักจะไม่มีเพลงประกอบ แต่หนังเรื่องนี้มีฉากหนึ่ง แต่งโดย Jean Wiener และ Claudio Monteverdi ตลาดนัดที่มีคนเยอะๆ มีของเล่น เครื่องเล่นและรถบั้ม จริงๆจะไม่เรียกว่าเพลงประกอบก็ได้ เป็นเพลงที่ดังขึ้นประกอบสถานที่เท่านั้น

ผมพยายามมองหาใจความของหนัง ว่าผู้กำกับต้องการนำเสนออะไร ก็ค้นไม่พบเลยนะครับ มีแต่คำถามคาใจไม่มีคำตอบ เปิดกว้างทุกสิ่งอย่าง มีนักวิจารณ์เปรียบเทียบกับ บทกลอนของกวี ที่ใช้พรรณาบางสิ่งอย่าง ถ้าบอกว่า หนังนำเสนอมุมมองความชั่วร้ายของโลกผ่านสายตาเด็กหญิงและการโต้ตอบของเธอ นี่ถือเป็นการพรรณาประเภทหนึ่ง (การพรรณาไม่จำเป็นต้องกับสิ่งสวยงามอย่างเดียว สิ่งเลวร้ายก็ย่อมพรรณาได้) และจะสามารถมองหนังคือกวีนิพนธ์ประเภทหนึ่ง

ที่แฝงปรัชญาลึกซึ้ง โดยเฉพาะในด้านศาสนา การมีอยู่หรือไม่มีตัวตนของพระเจ้า ความดี/ความชั่วของโลกมนุษย์, บอกตามตรงนี่เป็นประเด็นที่ผมไม่สนใจอย่างยิ่ง ถ้าคุณชอบคิดวิเคราะห์ประเด็นนี้ ก็ลองมองหาคำตอบดูเองนะครับ

เด็ก… สักวันหนึ่งต้องโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ แต่ก่อนที่เขา/เธอ จะถึงวันนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเติบโต เรียนรู้ เลียนแบบ ทำความเข้าใจโลกของผู้ใหญ่เสียก่อน อายุ 14 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ (เมืองไทยคือช่วงเรียนจบ ม.3 ต้องเลือกว่าจะเรียนต่อ ม.4 หรือสายอาชีพ) เพราะพวกเขาจะจับจ้องมองดูผู้ใหญ่อย่างใกล้ชิด โตขึ้นฉันจะเป็นอย่างนั้น โตขึ้นจะไม่เป็นอย่างนั้น อะไรที่ชอบจะหลงรัก อะไรที่เกลียดจะเหยียดหยาม มันไม่ใช่เรื่องตลกเลยนะครับที่ Mouchette บอกว่า สิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกดีคือ การได้เห็นคนอื่นเป็นทุกข์ นั่นเพราะสังคมได้เสี้ยมสอน กัดกร่อน แปรสภาพเธอ จากเด็กไร้เดียงสา กลายเป็นวัยรุ่นที่ต่อต้าน รังเกียจโลก, สิ่งเดียวที่เธอได้พบเจอและรู้สึกว่ามีความสุขมาก แต่นั่นกลับเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมต่อต้าน ชีวิตมันจะมีค่าอะไรในสังคมแบบนี้ วิธีเดียวที่จะหนีรอดคือการจากไป และหวังว่าโลกใบใหม่จะดีกว่านี้ … คิดสั้นไปนะเด็กน้อย

คงไม่ต้องย้ำกันอีกว่าผมไม่ชอบหนังเรื่องนี้นะครับ แต่ต้องยอมรับว่า Bresson เป็นผู้กำกับที่มีสไตล์ ลายเซ็นต์ชัดเจนมากๆ และสามารถทำหนังออกมาได้ยอดเยี่ยมระดับเดียวกับ Yasujirô Ozu, Ingmar Bergman, François Truffaut ฯ มีภาษาหนังเป็นของตนเองเด่นชัด จนสามารถเรียกได้ว่า ‘หนังสไตล์ Bresson’ คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้จักเขา แต่ถ้าคุณเป็นคอหนังเก่าๆ ชอบหนังเจ๋งๆ จดจำชื่อ Bresson ไว้หน่อยก็แล้วกัน ไม่แน่คุณอาจจะชื่นชอบสไตล์ของเขามากๆ กว่าผมก็ได้

แนะนำกับคนชอบหนังที่มีการถ่ายภาพสุดประณีต ตัดต่อเจ๋งๆ, แนวดราม่า แฝงปรัชญา ตีแผ่ชีวิตคนชั้นต่ำของฝรั่งเศส ที่ได้รับการดูถูก เหยียดหยาม ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม, แฟนหนัง Robert Bresson และแนว Minimalist ไม่ควรพลาด

แนะนำอย่างยิ่งกับนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา ศึกษาทำความเข้าใจตัวละคร Mouchette ที่เธอกลายเป็นแบบนั้น เพราะอะไร จะมีหนทางใดช่วยเหลือได้บ้างไหม

จัดเรต 15+ กับความชั่วร้ายต่างๆนานาที่ปรากฎในหนัง

TAGLINE | “Mouchette สาวน้อยผู้น่าสงสาร ดีแล้วที่ตอนจบเธอจากไป โลกใบที่ Robert Bresson สร้างมานี้ มันช่างไม่น่าอภิรมย์เสียเลย”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | WASTE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Top 10 Andrei Tarkovsky Favorite Films | RAREMEAT BLOG Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] 9. Mouchette (1967)  : Robert Bresson ♥♥♡ […]

%d bloggers like this: