Moulin Rouge (1952)
: John Huston ♥♥♥♡
Moulin Rouge ฉบับภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้รับการยกย่องกล่าวถึง คือของผู้กำกับ John Huston เรื่องราวชีวประวัติของ Henri de Toulouse-Lautrec จิตรกร Post-Impressionist ที่วาดโปสเตอร์ Moulin Rouge ใบแรกสุด รับบทโดย José Ferrer เข้าชิง Oscar 7 สาขา ได้มา 2 รางวัล
เชื่อว่าคอหนังสมัยใหม่จะรู้จัก Moulin Rouge จากหนังเรื่อง Moulin Rouge! (2001) ของผู้กำกับ Baz Luhrmann เป็นอย่างดี, แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรกของกังหันลมสีแดง (Moulin Rouge=Red Mill) เรื่องราวเกี่ยวสถานที่แห่งนี้ มีการสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้ง ที่ได้รับการยกย่องจดจำประกอบด้วย
– Moulin Rouge (1952) ของผู้กำกับ John Huston
– French Cancan (1955) หนังฝรั่งเศส ของผู้กำกับ Jean Renoir นำแสดงโดย Jean Gabin
– และ Moulin Rouge! (2001) ของผู้กำกับ Baz Luhrmann นำแสดงโดย Nicole Kidman, Ewan McGregor
ถ้าคุณชื่นชอบ มีความสนใจในตำนานของ Moulin Rouge แนะนำหนังทั้ง 3 เรื่องนี้ไม่ควรพลาดเลย ไม่ใช่ภาคต่อ เรื่องราวแตกต่างกัน แค่มีพื้นหลังคือ Moulin Rouge สถานที่เดียวกัน
สำหรับ Moulin Rouge (1952) ฉบับของผู้กำกับ John Huston ดัดแปลงจากนิยายชีวประวัติเรื่อง Moulin Rouge (1950) เขียนโดย Pierre La Mure นี่ไม่ใช่หนังเพลง (แต่ก็มีเต้นๆ ร้องรำทำเพลงอยู่บ้าง) เรื่องราวของชายผู้วาดโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ Moulin Rouge ใบแรกให้เป็นที่รู้จักทั่วฝรั่งเศส
Henri de Toulouse-Lautrec (1864 – 1901) จิตรกรชื่อดังของฝรั่งเศสในยุค Post-Impressionist (ยุคเดียวกับ Cézanne, Van Gogh, Gauguin) มีความโดดเด่นด้านงานพิมพ์ภาพ (printmaker) สเก็ตรูป (draughtsman) และเป็น Illustrator มีสไตล์การวาดรูปที่เด่นชัด ใครเห็นก็น่าจะจดจำได้
เรื่องราวชีวิตของชายคนนี้ถือว่ามีสีสันมากๆ เกิดในครอบครัวผู้ดีชั้นสูง แต่เพราะพ่อแม่เป็นญาติมีสายเลือดจากบรรพบุรุษเดียวกัน (Inbreeding) ทำให้ Toulouse มีร่างกายที่เปราะบางอ่อนแอ ตอนอายุ 13 เกิดอุบัติเหตุกระดูกต้นขาหัก ปีถัดมาหักอีกข้าง กอปรกับการรักษาที่ยังไม่ดีพอ ทำให้ขาของเขาไม่เติบโตไปกว่านี้ (คือร่างกายด้านบนพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ แต่มีขาแคระมีขนาดเท่ากับเด็ก)
Toulouse คงรู้สึกอับอายขายหน้า ผิดต่อความคาดหวังของบรรพบุรุษ ที่ตนต้องรับสืบสายเลือดต่อมา จึงตัดสินใจออกเดินทางทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลัง มุ่งสู่ความสนใจหนึ่งเดียวของตนคือการวาดรูป ไปร่ำเรียนวิชาที่ Nice ต่อด้วย Paris, London ฯ อาศัยอยู่แถว Montmartre ช่วงปี 1889 ขณะที่ Moulin Rouge เปิดกิจการการแสดงครั้งแรก ที่ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังจากการวาดโปสเตอร์ La Goulue (The Glutton)
นักเต้นสาวที่เห็นในภาพคือ Louise Weber เจ้าของฉายา La Goulue เธอเป็น Queen of Montmartre และเป็นผู้ให้กำเนิด French Cancan, ส่วนชายคนที่ยืนอยู่ด้านหน้าคือ Valentin le désossé (Valentine the Boneless) นักเต้นชายชื่อดังขณะนั้นของ Moulin Rouge, ส่วนพื้นด้านหลังเงาคนสีดำไม่เห็นหน้า นั่นเปรียบได้ผู้ชมทั้งหลาย, ภาพนี้ใช้เทคนิค Lithograph (ภาพพิมพ์หิน) ประมาณจำนวนที่พิมพ์ 3,000 ใบ
ในหนังจะมีเหมือน Slide-Show นำเสนอภาพผลงานต่างๆของ Toulouse ให้รับชมกันด้วยนะครับ
มีภาพหนึ่งที่ผมชื่นชอบมาก At the Moulin Rouge (1890) เป็นภาพวาดสีน้ำมัน ภาพเหมือนของ Valentin le désossé ขณะกำลังสอนเต้น Can-Can กับเด็กหญิงคนหนึ่ง (ไม่ปรากฎชื่อ) ท่ามกลางผู้คนมากมายใน Moulin Rouge
การไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว รวมถึงผู้หญิงทั่วไปที่มองคนแคระอย่างเขาเป็นตัวประหลาด ทำให้ Toulouse ค่อนข้างโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว อ้างว้าง, เขานำเงินที่ได้จากการวาดภาพ ทุ่มให้กับสุราและโสเภณี จนกลายเป็นคนติดเหล้า ร่างกายอ่อนแอติดโรคซิฟิลิส (syphilis) กลับไปเสียชีวิตที่บ้านตอนอายุ 36 ปี
สไตล์ภาพวาดของ Toulouse มีลักษณะคล้ายกับ Van Gogh คือใช้แรงบันดาลใจจากสถานที่จริง, ขณะที่ Van Gogh ออกไปวาดตามท้องทุ่งนาชนบทคนชั้นล่าง Toulouse จะอาศัยอยู่ตามผับบาร์ ท่ามกลางผู้คนชนชั้นกลาง, ที่น่าตลกคือชีวิตของทั้งคู่บัดซบพอๆกันด้วย ต่างก็มีปัญหาทางจิต เสียชีวิตเพราะทำตัวเอง (คนหนึ่งตั้งใจจะฆ่าตัวตาย อีกคนกินเหล้ามั่วหญิง) เกิดอะไรขึ้นกับศิลปินยุคนี้กันนิ!
รับชมหนังเรื่องนี้ลองตั้งคำถามกับตัวเองไปด้วยนะครับ ว่าเราควรจะสงสาร/เห็นใจ สมเพศ/สมน้ำหน้า นาย Toulouse นี้ดี? และคิดตามว่าอะไรคือบทเรียนที่ได้จากตัวละครนี้ จดจำไว้อย่าให้มันเกิดขึ้นกับเราและคนใกล้ตัวเป็นอันขาด
นำแสดงโดย José Ferrer (1912 – 1992) นักแสดง/ผู้กำกับ ชาว Puerto Rican เป็นคนสัญชาติ Hispanic คนแรกที่ได้ Oscar: Best Actor จากหนังเรื่อง Cyrano de Bergerac (1950) แจ้งเกิดกับหนังเรื่อง Joan of Arc (1948) ของผู้กำกับ Victor Fleming นำแสดงโดย Ingrid Bergman,
ความสูงของ Ferrer คือ 5′ 10″ (1.78 เมตร) รับบท Henri de Toulouse-Lautrec ที่สูง 4′ 8″ (1.42 เมตร) อาจมีหลายคนคิด สมัยนั้นไม่มี CG ทำเป็นไปได้ยังไง? คำตอบคือ ใช้การคุกเข่า หรือถ้ายืนก็จะมีการขุดดิน เล่นมุมกล้องเอานะครับ (คือจะไม่มีช็อตไหนที่ถ้าเห็นใบหน้าของ Ferrer แล้วจะเห็นขาของเขาด้วย), ถือว่าเป็นความสนุกในการจับผิดไม่น้อย แทบจะตั้งแต่วินาทีแรกที่ตัวละครนี้ลุกขึ้นยืน ผมก็หาทางจ้องจับผิดตลอดทั้งเรื่อง นี่ต้องชม direction ของผู้กำกับ John Huston ว่าทำออกมาได้เนียน หาจุดจับผิดพลาดแทบไม่ได้เลย (ยกเว้นตอนเดิน ที่รู้สึกเหมือนใช้รถเข็นลากชอบกล)
เห็นว่าด้วยเหตุผลนี้ที่ทำให้ Ferrer ได้เข้าชิง Oscar: Best Actor เพราะความลำบากในการรับบท ไม่ใช่การแสดง
Toulouse ในหนังฉบับนี้เป็นคนหัวรั้น ดื้อดึง ค้ำคอด้วยศักดิ์ศรี (Pride) พูดจาคมคายแบบจิกกัด (ฟังดูเหมือนไร้สาระ) คือหมอนี่พูดจาจากความคิด/ความเชื่อของตนเอง ในลักษณะที่เหมือนคนเข้าใจโลก (แต่จริงๆต่อต้าน ไม่ยอมรับ), ด้านดีเขาก็มีนะครับ เช่น มีน้ำใจ ใจกว้าง เป็นศิลปินที่ไม่หวงผลงาน ฯ สิ่งที่เขาสนใจจริงๆคงมีแค่ ทำยังไงให้ชีวิตผ่านไปวันๆได้โดยไม่ทุกข์เกินไป
ถ้าพูดเฉพาะการแสดงของ Ferrer ผมรู้สึกเหมือน out-of-place ไม่มีความกลมกลืน เข้ากับคนอื่นได้เลย, คงเพราะตัวละครนี้มีโลกส่วนตัวสูง ทั้งคำพูดการกระทำเลยแตกต่างจากคนทั่วไป มันเพี้ยนมากๆที่อยู่ดีๆพูดเปรียบเทียบหญิงสาวที่ตนชอบดั่งสัตว์ป่า ล่ามโซ่ แล้วดิ้นหลุด จริงอยู่มันทำให้ตัวละครแตกต่าง แต่นี่เป็นลักษณะของบทที่มากเกินไป ภาษาวัยรุ่นเรียกว่า ‘เกรียน’
Zsa Zsa Gabor ผู้เจิดจรัส รับบท Jane Avril สวยสง่า เริด เชิด, ใครรู้ประวัติของ Gabor ลองเทียบกับหนังเรื่องนี้ดูนะครับ ผมว่าคล้ายกันชะมัดเลย คือชอบอ่อยเหยื่อหาผู้ชายรวยๆแต่งงาน เบื่อเมื่อไหร่ เข้ากันไม่ได้ก็เลิก (Gabor แต่งงานทั้งหมด 9 ครั้ง)
Jane Avril นักเต้นชื่อดังของ Moulin Rouge เจ้าของฉายา La Mélinite มีภาพหนึ่งที่ Toulouse วาดให้เธอ
Suzanne Flon นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส รับบท Myriamme Hyam หญิงสาวที่ตกหลุมรัก Toulouse จริงๆ (นี่เป็นตัวละครสมมตินะครับ) ก็ไม่เข้าใจเท่าไหร่ว่าเธอหลงอะไร คงเป็นคำพูดกร้านโลกของ Toulouse ที่เสียดแทง โดนใจเธออย่างมาก (ตอนพบกันครั้งแรก ผมว่าเธออาจตั้งใจกระโดดสะพานฆ่าตัวตาย แต่ Toulouse ช่วยเธอไว้โดยไม่รู้ตัว)
ถ่ายภาพโดย Oswald Morris ที่มีผลงานดังอย่าง Lolita (1962), Oliver! (1968), Fiddler on the Roof (1971) ฯ การถ่ายภาพของหนังได้รับการยกย่องอย่างมาก Huston บอกให้ Morris ถ่ายทำหนังเรื่องนี้โดยเหมือนว่า Toulouse เป็นผู้กำกับ (as if Toulouse-Lautrec had directed it.) อธิบายคือให้งานภาพออกมามีลักษณะ สไตล์ สัมผัสคล้ายๆกับภาพวาดของ Toulouse, หนังถ่ายทำด้วย Three-Strip Technicolor ล้างฟีล์มออกมา … ผมไม่ค่อยรู้สึกคล้ายภาพวาดของ Toulouse เสียเท่าไหร่นะ,
จุดเด่นอีกอย่างของงานภาพ คือการเล่นหลบซ่อนมุมในการถ่าย Ferrer ให้กลายเป็นคนแคระ, กับฉาก long shot จะมีนักแสดงแทน ส่วนเวลาเดิน/เคลื่อนไหว ถ้าต้องการให้เห็นหน้าจะถ่าย Medium Shot ไม่ให้เห็นเท้าหรือการเคลื่อนไหว (เห็นว่าใช้การคุกเข่าเดิน มันเลยช้า … มีแซวในหนังด้วย)
มีไฮไลท์ช่วงท้ายที่เป็นการซ้อนภาพสวยๆ ณ บ้านของ Toulouse นักเต้นของ Moulin Rouge เดินเข้าประตูมาเต้น Can-Can เห็นเป็นเหมือนภาพหลอน/ความทรงจำ/วิญญาณ ฯ ขณะนั้นเขากำลังจะตาย เหมือนหนังพยายามสื่อว่า ช่วงเวลาที่ Toulouse มีความสุขที่สุด คือตอนอยู่ที่ Moulin Rouge
น่าเสียดายปีนั้น Morris ไม่ได้แม้จะเข้าชิง Oscar: Best Cinematography ถือว่าเป็น Oscar SNUB ที่ร้ายแรงครั้งหนึ่งเลยละ
ตัดต่อโดย Ralph Kemplen, หนังใช้มุมมองของ Toulouse เล่าเรื่อง มีหญิงสาวหลายคนที่พบเจอ แต่มี 3 สิ่งที่ตกหลุมรัก
– Marie Charlet หญิงสาวผู้จับพลัดจับพลู รู้ทั้งรู้ว่าเธอนั้นมาหลอก แต่ยังปล่อยใจไป สุดท้ายทำใจต้องให้เธอจากไป
– ภาพวาดของตนเอง, ช่วงกลางของหนัง นำเสนอการทำงานและผลงานของ Toulouse ด้วยวิธี Slide-Show ตัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ (พร้อมเพลงประกอบ)
– Myriamme Hyam หญิงสาวที่ในใจลึกๆนั้น Toulouse หลงรัก แต่ไม่กล้าคิดพูดแสดงออกมา เพราะกลัวเธอจะรับเขาไม่ได้ แต่สุดท้ายเมื่อ Myriamme ตัดสินใจจากไปแต่งงาน คงเหลือแต่ความช้ำรักที่กลายเป็นตราบาปที่สุดในหัวใจ
เพลงประกอบโดย Georges Auric, William Engvick มีทั้งจังหวะสนุกสนาน ตื่นเต้น บางครั้งซึมเศร้า หดหู่
กับช่วงการเต้น Can-Can สิ่งที่เด่นมากๆ ไม่ใช่การเต้นโคตรเร้าใจหรือเสียงเชียร์เสียงกรี๊ดของสาวๆ แต่คือการตัดสลับให้เห็น reaction ของผู้ชมและ Toulouse ที่กำลังวาดรูป, จะมีชายร่างใหญ่คนหนึ่ง เวลาตัดให้เห็นเขายิ้มหัวเราะร่าปรบมือมันฮามากๆ หรือช็อตแว่นหล่นพร้อมกันที่ตบมุกได้ใจ ฯ นี่ถือว่าเป็นลายเซ็นต์หนึ่งของผู้กำกับ John Huston เลยนะครับ
เกร็ด: Bob Fosse เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า สไตล์หนังของเขาใน Cabaret (1972) ได้แรงบันดาลใจการเต้น Can-Can จากหนังเรื่องนี้
หนังมีเพลงประกอบหนึ่งที่มีความไพเราะอย่างยิ่ง ถูกเรียกว่า The Song from Moulin Rouge บางครั้งใช้ชื่อ Where Is Your Heart แต่ชื่อแรกสุดคือ It’s April Again แต่งทำนองโดย Georges Auric ในตอนแรกคำร้องฝรั่งเศสโดย Jacques Larue แปลเป็นอังกฤษโดย William Engvick ขับร้องโดย Muriel Smith (Zsa Zsa Gabor ลิปซิงค์)
นอกจากเรื่องราวชีวประวัติของ Henri de Toulouse-Lautrec ใจความของหนังคือ การยอมรับตนเอง (สิ่งที่ Toulouse ขาดไป) นี่รวมถึงเรื่องของความรัก คนที่ตัวเองยังไม่รัก จะไปสามารถมอบความรักให้ผู้อื่นได้ยังไง
กับมนุษย์ทุกคน ถ้าไม่ปิดกั้นตัวเองมากไป เชื่อว่าสักวันต้องมีสักคนที่เข้าใจ มองเห็น ยอมรับเราได้ในสิ่งที่เป็น (ไม่ว่าจะเป็นอะไรหรือมีความบกพร่องอะไร) หนังเรื่องนี้นำเสนอประกายความหวังที่เด่นชัดมากๆ แต่กลับเป็น Toulouse ที่ตาบอด แสร้งทำเป็นมองไม่เห็น แสงสว่างนั้นใช่ว่าจะคงอยู่นิรันดร์ พอถึงวันที่ลับหายไป ทุกอย่างก็สายไปเสียแล้ว เมื่อตระหนักถึงสิ่งที่ทำได้คือลงโทษตัวเองในความโง่งม ซื่อบื้อ ไร้สาระ … แบบนี้ผมสมน้ำหน้านะครับ ไม่รู้สึกน่าเห็นใจเท่าไหร่
แต่ก็น่าเห็นใจอยู่ละ คือชีวิตของ Henri de Toulouse-Lautrec มันไม่ใช่ความผิดของเขาเลยที่ร่างกายเป็นแบบนี้ (คงได้แต่โทษโชคชะตากรรมเวรที่เคยทำมา) แถมพิสูจน์ให้โลกได้รู้จัก รับรู้การมีตัวตนของเขา แต่การเสียชีวิตลักษณะนี้คือการทำตัวเองล้วนๆ ไม่สามารถควบคุมมุมมืดของตัวเองได้ นี่เหมือนว่าเขาคงเกลียดโลกใบนี้มาก ที่ทำให้ตนต้องทนทุกข์ทรมานอย่างไร้เหตุผล
ด้วยทุนสร้างประมาณ $1.5 ล้านเหรียญ หนังทำเงินในอเมริกาประมาณ $5 ล้านเหรียญ (ไม่มีตัวเลขรายรับทั่วโลก) เข้าชิง Oscar 7 สาขา ได้มา 2 รางวัล
– Best Picture พ่ายให้กับ The Greatest Show on Earth (1952)
– Best Director
– Best Actor (José Ferrer)
– Best Supporting Actress (Colette Marchand)
– Best Editing
– Best Art Direction ** ได้รางวัล
– Best Costume Design ** ได้รางวัล
ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ ประทับใจในการเต้น Can-Can ช่วง 10 นาทีแรกอย่างมาก และ direction แนวทางของผู้กำกับ John Huston ที่ทำออกมาได้ลึกล้ำ, กระนั้นส่วนดราม่าของหนังค่อนข้างน่าเบื่อทีเดียว น้ำเน่าไร้สาระ ซึ่งผมรู้สึกสมเพศ Toulouse มากกว่าสงสารเขานะครับ
แนะนำกับคอหนังเพลง ชื่นชอบเรื่องราวของ Moulin Rouge การเต้นสุดมัน, ต้องการรู้จัก เข้าใจตัวตน เห็นผลงานของ Henri de Toulouse-Lautrec, แฟนหนังของผู้กำกับ John Huston, นักแสดง José Ferrer, Zsa Zsa Gabor ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 13+ กับสุรา นารี
Leave a Reply