Moulin Rouge!

Moulin Rouge! (2001) hollywood : Baz Luhrmann ♥♥♥

ในโลกแฟนตาซีไร้กาลเวลา ณ สถานที่ชื่อ Moulin Rouge เรื่องราวความรักของชายหนุ่มกับหญิงโสเภณีที่ถูกพันธนาการจากมหาราชาผู้โหดเหี้ยม มีหนทางเดียวเท่านั้นที่ทั้งคู่จะได้ครองรักกัน, หนังเพลงของผู้กำกับ Baz Luhrmann นำแสดงโดย Nicole Kidman, Ewan McGregor เข้าชิง Oscar 8 สาขา ได้มา 2 รางวัล

เมื่อสักสิบปีก่อนตอนยังดูหนังไม่ค่อยเป็น ผมเคยชื่นชอบ Moulin Rouge! ฉบับนี้มากๆ ในเรื่องราวของ ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปกลับมารับชมอีกครั้ง รู้สึกว่าหนังมีลูกเล่นลีลามากเกินไป และรสนิยมหลายๆอย่างของผู้กำกับช่างน่ารำคาญยิ่งนัก

Mark Anthony ‘Baz’ Luhrmann (เกิด 17 กันยายน 1962) ผู้กำกับชาว Australian เกิดที่ Sydney แม่เป็นครูสอนเต้นและเปิดร้านตัดเสื้อผ้า พ่อเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันและโรงภาพยนตร์, Luhrmann เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงละครเวที ต่อจากนั้นเป็นผู้กำกับ มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Strictly Ballroom (1992) เรื่องราวของนักเต้นที่กำลังค้นหาสไตล์ของตนเอง [เอิ่ม…จากชีวิตจริงของผู้กำกับหรือเปล่านิ] ด้วยความสำเร็จและกวาดรางวัลมากมาย ทำให้โกอินเตอร์ได้สร้างหนัง hollywood เรื่องแรก Romeo + Juliet (1996) นำแสดงโดย Leonardo DiCaprio กับ Claire Danes และผลงานต่อมา Moulin Rouge! (2001) ทั้งสามเรื่องนี้ถูกเรียกเหมารวมว่า The Red Curtain Trilogy (ไตรภาคม่านแดง)

พื้นหลังดำเนินเรื่องที่ Montmartre, Paris ประเทศฝรั่งเศส ในยุค 1890s, Christian (รับบท Ewan McGregor) นักเขียนหนุ่มชาวอังกฤษ ตกหลุมรักกับดาราดังของ Moulin Rouge ที่เป็นนักเต้นและโสเภณี Satine (รับบทโดย Nicole Kidman) แต่ถูกขัดขวางโดย The Duke of Monroth (Richard Roxburgh) ที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ Satine มาครอบครอง

Luhrmann ได้แรงบันดาลใจพล็อตเรื่องลักษณะนี้จากการไปอินเดีย และมีโอกาสรับชมหนัง bollywood ในโรงภาพยนตร์, เขาบอกว่าถึงจะฟังภาษาฮินดีไม่รู้เรื่อง แต่สามารถเข้าใจหนังที่ดูได้ทันที เพราะเรื่องราว/การนำเสนอมีความเป็นสากลมาก เลยมีความใคร่สงสัย ‘Could we ever do that in the West?’ นี่จึงถือเป็นงานทดลองของ Luhrmann ต่อผู้ชมฝั่งตะวันตก และหนังมีเรื่องราวซ้อน การแสดงละครเพลงที่มีพื้นหลังประเทศอินเดีย รักสามเส้าของหญิงสาวโสเภณี (Courtesan) กับนักดนตรี Sitar และมหาราชาผู้ชั่วร้าย (Maharajah) ที่สะท้อนเรื่องราวหลักของหนังด้วย

นำแสดงโดย Nicole Kidman (เกิด 20 มิถุนายน 1967) นักแสดงชาว Australian, มีผลงานเป็นที่รู้จักทั่วโลกจาก Days of Thunder (1990) นำแสดงโดย Tom Cruise (ทั้งสองต่อมาได้แต่งงาน แล้วหย่ากัน) ตามมาด้วย Far and Away (1992), Batman Forever (1995) ฯ ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress ครั้งแรกกับหนังเรื่อง Moulin Rouge! (2001) และได้รางวัลปีถัดมาจากหนังเรื่อง The Hours (2002) ช่วงเวลานั้นต้องถือว่า Kidman ประสบความสำเร็จที่สุดในชีวิตแล้ว

รับบท Satine โสเภณีไฮโซที่เปิดตัวด้วยเพลง Sparkling Diamonds (Diamonds Are a Girl’s Best Friend) ปากอ้างว่าสนใจแต่เพชรแหวนเงินทอง แต่จิตใจคงวาดฝันได้พบกับชายหนุ่มที่รักเธอจริง, ชีวิตของ Satine ถือว่าอาภัพนัก ป่วยหนักเป็นวัณโรค (tuberculosis) ฝืนโกหกตัวเอง หลอกลวงผู้อื่น เพื่ออะไรกัน?

การแสดง Kidman ไม่สามารถทำให้ผมเชื่อได้เท่าไหร่ว่าเธอเป็นโสเภณี ถึงจะมีฉากที่ทำตัวเซ็กซี่เย้ายั่วยวน แต่นั่นใครๆก็ดูออกว่าคือการแสดง, ความสง่างามของ Kidman ดูมีระดับ เกินกว่าที่จะลดตัวลงไปทำอะไรเช่นนั้น (นี่กระมังที่เรียกว่า โสเภณีชั้นสูง ดูภายนอกมองไม่ออกว่าเป็นโสเภณี), แต่ไฮไลท์การแสดงอยู่ที่ความขัดแย้งกันระหว่างกายกับใจที่เป็นเหตุให้เธอล้มลงบ่อยๆ คือใจไม่อยากทำแต่ต้องบังคับกายให้แสดงออก ไม่เห็นด้วยกับใจร่างกายเลยทรุดดีกว่า

Ewan McGregor (เกิด 31 มีนาคม 1971) นักแสดงชาว Scottish มีผลงานที่สร้างชื่อคือ Trainspotting (1996) โด่งดังที่สุดคือรับบท Obi-Wan Kenobi ใน Star Wars ไตรภาคต้น (1999–2005)

รับบท Christian นักเขียนหนุ่มที่เดินทางแสวงโชคที่ Paris มีความเชื่อมั่นในความรักอย่างแน่วแน่ (แต่ยังไม่เคยตกหลุมรักใคร) พบกับ Satine กลายเป็นรักครั้งแรกพบ สานความสัมพันธ์จนกลายเป็นรักแท้ สุดท้าย…

การแสดงของ McGregor แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ช่วงแรกจะมีความใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา (ในรัก) แต่เมื่อได้เรียนรู้พบเจอสิ่งต่างๆ กลายเป็นคนระทมทุกข์ในรัก, นี่เป็นการแสดง 2 แนวที่ McGregor มักได้รับบ่อยๆ คือถ้าไม่ใสซื่อบริสุทธิ์ไปเลยก็มืดสนิท (แต่ผมคิดว่า McGregor เล่นด้านมืดได้ไม่โอเคเท่าไหร่)

Richard Roxburgh นักแสดงชาว Australian มีผลงานดังจากการเป็นตัวร้ายใน Mission: Impossible II (2000), Van Helsing (2004) ฯ [มักได้รับบทตัวร้ายเสมอๆ] กับ Moulin Rouge รับบท The Duke of Monroth ผู้อิจฉาริษยา เห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ คิดว่าเงินและอำนาจคือทุกสิ่งอย่างในโลก, Roxburgh เล่นหนังเรื่องนี้เหมือนเด็กน้อยที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบตามใจ ต้องการของเล่นชิ้นหนึ่งก็ทำทุกอย่างให้ได้มาครอบครอง แต่พอไม่สำเร็จก็โวยวายจะเป็นจะตาย, ผมค่อนข้างอยากรู้ชะตากรรมของตัวละครหลังจากหนังจบจะเป็นยังไงต่อไป กลายเป็นบ้าไปเลยหรือเปล่า (เพราะไม่ได้ของที่ตนอยากได้) หรือกลายเป็นคนเข้าใจโลกขึ้น [น่าจะแบบแรกนะ]

ว่ากันตามตรงนักแสดงชุดนี้ถือว่ายอดฝีมือนะ ยังมี Jim Broadbent ในบท Harold Zidler เจ้าของ Moulin Rouge ที่สนแต่เงิน, John Leguizamo รับบท Henri de Toulouse-Lautrec เพื่อนรักศิลปินแคระขี้เมาของ Christian ฯ แต่หนังใช้การเล่าเรื่องด้วยเทคนิคลีลาอย่างมีสไตล์ มากกว่าต้องการโชว์ฝีมือของนักแสดง

ถ่ายภาพโดย Donald M. McAlpine ตากล้องชาว Australian ที่หลังจากหนังเรื่องนี้ มีผลงานหนัง blockbuster อย่าง The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe (2005), X-Men Origins: Wolverine (2009) ฯ ความโดดเด่นของหนังคือการจัดองค์ประกอบ แสงสี การเคลื่อนไหว ดอลลี่/ซูม/แพน ฯ เรียกว่ามีครบแทบทุกเทคนิคภาพยนตร์ และบางครั้งใช้ CGI เพื่อให้เกิดความลื่นไหลต่อเนื่อง

งานภาพของหนังถือว่ามีกลิ่นอายของแฟนตาซี การออกแบบที่แม้จะมีพื้นหลังในยุค 1890s แต่หลายๆองค์ประกอบไม่ใช่ยุคสมัยนั้นเลย อาทิ ชุดเดรสของสาวๆ ล้ำยุคมาก (มาจากยุค 70s-80s), เพชรในยุคนั้นก็ไม่ได้มีขนาดอลังการ, ท่าเต้นก็เว่อล้ำยุคไป, เพลงประกอบนี่ชัดที่สุด ใช้ดนตรี Rock ของยุคสมัยใหม่ ฯ นี่ไม่เชิงเรียกว่าเป็นความร่วมสมัยนะครับ แต่คือการ Mixed ผสมผสานตามใจฉัน ที่สามารถเรียกว่า ‘แฟนตาซี’, กับคนที่ไม่ได้สนใจอะไรรายละเอียดพวกนี้คงไม่ติดใจอะไรเท่าไหร่ แต่หลายคนที่ยึดติดกับรูปแบบอาจหัวเสียหงุดหงิดต่อต้าน มองการนำเสนอแบบนี้เป็นการลบหลู่บิดเบือน ยุคสมัย/อารยธรรมของโลก

ส่วนตัวเมื่อมองว่าหนังคือ แฟนตาซี ก็ไม่เกิดความรู้สึกอคติอะไรนะครับ คือมันจะผิดอะไรถ้ามีการผสมผสาน หลงยุค มั่วซั่ว ผิดแปลกไปจากสิ่งที่เราเคยรับรู้เข้าใจ แต่กับความคาดหวังที่ถ้าใครๆเคยดู Moulin Rouge ฉบับก่อนหน้านี้มาจะมี หนังอาจสร้างอคติให้กับคุณพอสมควรเลย, นี่คือรสนิยม/สไตล์ของผู้กำกับ Luhrmann ที่ถ้าคุณรับได้ก็อาจจะโคตรชอบ รับไม่ได้ก็จะเกลียดไปเลย

ตัดต่อโดย Jill Bilcock ชาว Australian, หนังใช้มุมมองของ Christian เล่าเรื่องจากการพิมพ์/เขียน เรียบเรียงเรื่องราวความรักของตนกับ Satine นำเสนอด้วยภาพย้อนอดีต Flashback ที่มีเสียงบรรยายประกอบตลอดเรื่อง

ตอนโลโก้หนังขึ้นมาต้นเรื่อง จะมีวาทยกรคนหนึ่งอยู่ด้านล่างของจอ ยกไม้บาตองกวัดแกว่งไปมา, มีใครเป็นแบบผมบ้างหรือเปล่าเอ่ย? คือโคตรชอบหมอนี่เลย ออกลีลาท่าทางได้สุดเหวี่ยงเร้าใจเป็นอย่างอย่างมาก

หนังเรื่องนี้มีความเร็วเฉลี่ยในการตัดต่อต่อช็อต Average Shot Length (ASL) อยู่ที่ 1.9 วินาที คือทุกๆเกือบ 2 วินาที ภาพที่ปรากฎจะเปลี่ยนไป, นี่เร็วติดจรวจ กว่าการกระพริบตาเสียอีกนะครับ แถมการตัดทุกครั้งภาพที่เห็นจะเปลี่ยนในมุมมองทิศทางต่างออกไป ไม่เคยมีใกล้เคียง ซ้ำมุมเดิม แตกต่างกันในทุกๆช็อต, บอกตามตรงผมละโคตรสงสารคนตัดต่อเหลือเกิน หนังเรื่องนี้ยังถ่ายทำด้วยฟีล์ม ซึ่งต้องใช้การตัดฟีล์มต่อฟีล์มกันจริงๆ (สมัยนี้เปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์ตัดต่อกันหมดแล้ว งานจะไม่หนักเท่าแต่ก่อน)

การตัดต่อลักษณะนี้มีข้อเสียหนึ่ง คือทำให้หนังขาดความต่อเนื่อง เช่นด้านการแสดง แทนที่ว่านักแสดงจะสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอย่างต่อเนื่อง กลับตัดไปโน่นนี่นั่น เปลี่ยนทิศทางมุมมอง แบบนี้เราจะไม่เห็นการแสดงของนักแสดงมีความยอดเยี่ยม สมจริง ลึกล้ำขนาดไหน, จริงๆเทคนิคนี้เหมาะกับหนังที่นักแสดงไม่ได้มีฝีมืออะไร ใช้ตัดต่อเพื่อสร้างอารมณ์แทน ซึ่งการทำแบบนี้กับนักแสดงมากฝีมืออย่าง Nicole Kidman มองได้เป็นการไม่เอาใจใส่นักแสดงเท่าไหร่ คือแค่ให้มีชื่อ เห็นหน้าตา ปรากฎในหนัง แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว

กับยุคสมัยนี้ก็ไม่รู้ผู้สร้างหนังไปรับเอาความเชื่อนี้มาจากไหน การตัดต่อต้องรวดเร็วฉับไวเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชม, ในอดีตเทคนิคการตัดต่อเร็วๆแบบนี้ ถือว่ามีความแปลกใหม่น่าสนใจ แต่การนำมาใช้ของคนยุคสมัยนี้ มันเหมือนทำให้คุณค่าความเป็นศิลปะของภาพยนตร์ลดต่ำลงอย่างมาก การทำฉาก Action ให้ยุ่งๆวุ่นวายดูไม่รู้เรื่อง แบบนี้แหละสนุก … นี่มันตรรกะเพี้ยนสุดๆ

เพลงประกอบโดย Craig Armstrong, ลักษณะของบทเพลง มีทั้งประกอบเรื่องราว แสดงอารมณ์/ความรู้สึก และดำเนินเรื่องราว ฯ แต่ละเพลงไม่ได้เจาะจงจุดประสงค์ชัดเจน เหมือนว่าตามอารมณ์ของผู้กำกับ ตรงนี้อยากให้แสดงอารมณ์ก็ขยี้ด้วยเพลงเพราะๆ ตรงไหนอยากรวบรัดเรื่องราวก็เล่าด้วยเพลงประกอบ ฯ

แทบจะทุกเพลงในหนังเรื่องนี้ ดัดแปลงมาจากเพลงดังในอดีต หลายคนคงรู้สึกทำนองคุ้นๆ บางเพลงคงคำร้องไว้ บางเพลงเปลี่ยนคำร้องให้เข้ากับเรื่องราวของหนัง อาทิ
– Nature Boy (ร้องโดย Toulouse) มาจาก Nat King Cole ร้องปี 1948
– The Sound of Music (ร้องโดย Toulouse, Christian, และ Satine) จากหนัง The Sound of Music (1965) ร้องโดย Julie Andrews
– Sparkling Diamonds (ร้องโดย Satine) มาจากบทเพลง Diamonds Are a Girl’s Best Friend ละครเพลงเรื่อง Gentlemen Prefer Blondes (1949) ขับร้องโดย Carol Channing
– One Day I’ll Fly Away (ร้องโดย Satine) มาจาก The Crusaders
– Like a Virgin (ร้องโดย Zidler กับ The Duke) มาจาก Madonna
ฯลฯ

จะมีเพียงก็แต่ Come What May เท่านั้นที่เป็นบทเพลง Original จริงๆของหนัง แต่งโดย David Baerwald, Kevin Gilbert ขับร้องโดย Nicole Kidman กับ Ewan McGregor

เพลงที่ผมชอบสุดในหนัง El Tango de Roxanne ในค่ำคืนก่อนรอบปฐมทัศน์การแสดง Satine ที่พยายามหาทางเลี่ยง The Duke of Monroth มาหลายครั้ง แต่คืนนี้เลี่ยงไม่ได้อีกแล้ว มันทำให้ Christian ใจสลายเพราะรู้ว่าอะไรต้องเกิดขึ้น, การเต้น Tango ในฉากนี้เร้าร้อนกระแทกอารมณ์ได้เจ็บปวดรวดร้าว ใช้การตัดต่อสลับไปมาระหว่าง 2 เหตุการณ์ และทำนองเพลงช่วงท้าย บดขยี้ทำลายจิตใจของผู้ฟังให้แหลกละเอียดเป็นผุยผง

ต้นฉบับเพลงชื่อ Roxanne ร้อง/บรรเลงโดยวง The Police เมื่อปี 1978 เป็นบทเพลงที่เขียนขึ้นจากมุมมองของชายคนหนึ่งที่ตกหลุมรักโสเภณี, เคยขึ้นสูงสุดอันดับ 12 ของ UK Singles Chart

ใจความของหนังเรื่องนี้ ‘ความรัก’ ต่อให้เอาเพชรมาล่อลวง แก้วแหวนเงินทอง ชื่อเสียง ความสำเร็จ ฯ ก็เทียบไม่ได้กับ ‘เมื่อรักแล้วได้รับรักกลับคืนมา’ ดังประโยคที่ Toulouse ตะโกนออกมาจากหลังเวที ที่ทำให้หนุ่มสาวระลึกถึงอุดมการณ์ของตน

“The greatest thing you’ll ever learn is just to love and be loved in return”

เราสามารถมองว่า ‘ความรัก’ คือสิ่งดำเนินเรื่องของหนัง เกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์ได้บ้าง เมื่อตอนโหยหา, สุขสมหวัง, อิจฉาริษยา, อกหักแยกจาก, สูญเสียจากไป ฯ มีนักวิจารณ์เรียกหนังเรื่องนี้ว่า ‘Ultimate Love Story’ ก็ไม่ผิดเลยนะครับ

‘ความรัก’ ถือเป็นอารมณ์ชนิดหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งการที่หนังใช้สิ่งนี้ดำเนินเรื่อง แสดงว่าทุกสิ่งอย่างของหนังดำเนินไปด้วยความรู้สึก(อารมณ์ของผู้กำกับล้วนๆ) นี่ทำให้ผมหวนระลึกถึงหนังของ Jean-Luc Godard เรื่อง Pierrot le fou (1965) ที่ดำเนินเรื่องด้วยอารมณ์ของตัวละครเช่นกัน (แต่ไม่ใช่แค่อารมณ์รักเท่านั้นนะครับ เรื่องนั้นทดลองกับทุกอารมณ์เลย)

หลายคนคิดว่า ‘ความรัก’ เป็นเรื่องของวัยรุ่นคนหนุ่มสาว นี่ไม่จริงนะครับ ไม่มีนิยามหรือกฎจักรวาลอะไรเขียนไว้ ผู้ใหญ่ คนสูงวัย ตายไปแล้ว จะไม่สามารถมีความรักได้ (หนังบางเรื่องเขียนจดหมายย้อนเวลารักกันได้อีก) คือมันไม่มีขอบเขตใดๆของความรักถ้ามันจะเกิดขึ้น แต่รักข้างเดียวยังไงก็เทียบไม่ได้กับ เมื่อได้รับรักตอบกลับมา นั่นน่าจะเป็นช่วงเวลาอิ่มเอิบ ที่มีความสุขที่สุดของมนุษย์ ยิ่งเสียกว่า Sex หรือ การมีลูกคนแรก เสียอีกนะครับ

ด้วยทุนสร้าง $52 ล้านเหรียญ ทำเงินทั่วโลก $179.2 ล้านเหรียญ ได้กำไรพอสมควร, เข้าชิง Oscar 8 สาขา ได้มา 2 รางวัล
– Best Picture
– Best Actress (Nicole Kidman)
– Best Cinematography
– Best Film Editing
– Best Production Design ** ได้รางวัล
– Best Costume Design **ได้รางวัล
– Best Makeup and Hairstyling
– Best Sound

มี 3 สิ่งที่หนังถูก Oscar SNUB ในปีนั้น
– Baz Luhrmann ไม่ได้เข้าชิง Best Director
– สาขา Best Score ไม่ได้เข้าชิง เพราะถูกมองว่าไม่ใช่ Original
– และสาขา Best Song บทเพลง Come What May ที่ถือเป็นบทเพลง Original หนึ่งเดียวของหนัง แต่เพราะเป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อใช้กับ Romeo + Juliet (1996) [แต่ไม่ได้ใช้] จึงถูกมองว่าไม่ Original

ส่วนตัวกับการรับชมครั้งนี้รู้สึกไม่ค่อยประทับใจหนังเสียเท่าไหร่ รำคาญอย่างยิ่งกับการตัดต่อที่รวดเร็วจนดูไม่ค่อยทัน และบทเพลงที่เป็นส่วนผสมของดนตรียุค 70s-80s ทำเอาบทเพลง Can-Can สุดคลาสสิกที่ผมชื่นชอบกลายเป็นอะไรไปก็ไม่รู้

แต่หนังก็มีดีนะครับ ในเรื่องโปรดักชั่น ออกแบบฉาก เสื้อผ้าที่งดงามจริงๆ, Nicole Kidman ที่สวยบาดใจ และเรื่องราวความรักน้ำเน่าที่ยิ่งใหญ่อลังการ (ไม่ค่อยรู้สึกเน่าเท่าไหร่)

แนะนำกับคอหนังเพลง hollywood/bollywood ร้องเล่นเต้น โปรดักชั่นสวยๆ เสื้อผ้าอลังการ, แฟนหนังผู้กำกับ Baz Luhrmann, นักแสดง Nicole Kidman, Ewan McGregor ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความอิจฉาริษยารุนแรง

TAGLINE | “Moulin Rouge! ฉบับของ Baz Luhrmann มีหลายๆอย่างที่ยิ่งใหญ่อลังการ ยกเว้นสไตล์และรสนิยมของผู้กำกับ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: