Mr. Smith Goes to Washington (1939) : Frank Capra ♥♥♥♥
Filibuster คือการกระทำประเภทหัวเด็ดตีนขาด! ฉันจะไม่ยอมหยุดพร่ามในรัฐสภาจนกว่าจะได้สมปรารถนา กิจกรรมเตะถ่วงทางการเมืองที่ดูเหมือนไร้สาระ แต่คือสิทธิ์เสียงประชาธิปไตย มีมานมนานตั้งแต่ยุคสมัยโรมัน, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
การเตะถ่วงของเสียงข้างน้อย/ฝ่ายค้านในรัฐสภา (Filibuster) จุดประสงค์เพื่อขัดขวางหรือชะลอการออกกฎหมายใหม่ เนื่องเพราะไม่สามารถถกเถียงโต้แย้งเอาชนะ เลยต้องใช้วิธีการสุดโต่ง สร้างสงครามจิตวิทยา ลุกขึ้นพูดอภิปรายต่อเนื่องไม่จำกัดเวลา แค่ว่าห้ามหยุด ห้ามนั่ง ห้ามไปเข้าห้องน้ำ เป็นลมหมดสติเมื่อไหร่ถือว่าสิ้นสุดยุติ
ไล่ย้อนในประวัติศาสตร์ ครั้งแรกของการ Filibuster ว่ากันว่าคือยุคสมัยโรมัน 60 BCE เมื่อ Cato the Younger พยายามเตะถ่วงไม่ให้การประชุมรัฐสภายุติ จนสมาชิกไม่สามารถออกไปต้อนรับ Julius Caesar ที่เพิ่งกลับจากสงคราม เฝ้ารอคอยอยู่หน้าเมือง ระหว่างเสียหน้าเสียเวลากับเสียบทบาททางการเมือง จึงต้องตัดสินเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ในประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยเบิกบาน สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา ฯ ล้วนเคยเกิดการ Filibuster มาแล้วทั้งหมดทั้งสิ้น โดยเจ้าของสถิติปัจจุบันคือ Strom Thurmond สมาชิกวุฒิสภารัฐ South Carolina แห่งพรรค Democratic เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1957 เรียกร้องแก้กฎหมาย Civil Rights Act of 1957 ใช้เวลาอภิปรายทั้งสิ้น 24 ชั่วโมง 18 นาที
ผมลองค้นหาข้อมูล Filibuster ว่าเคยมีเกิดขึ้นในเมืองไทยบ้างหรือเปล่า พบว่าน่าจะยังไม่มีนะครับ ใกล้เคียงสุดคือการพูดอ้างถึง เมื่อวันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556 แต่การประชุมล่มไม่เป็นท่าไปเสียก่อน
Mr. Smith Goes to Washington เป็นภาพยนตร์ที่ดูไร้สาระทางการเมือง แต่สอดแทรกอุดมคติแห่งประชาธิปไตย ให้ความบันเทิง เสียงหัวเราะ รอยยิ้มกริ่ม และโอกาสความหวัง ในโลกเต็มไปด้วยสิ่งคอรัปชั่น ‘คนดีต้องมีที่ยืนในสังคม’
Frank Russell Capra ชื่อเดิม Francesco Rosario Capra (1897 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Italian-American เกิดที่ Bisacquino, Sicily ตอนอายุ 5 ขวบ ครอบครัวอพยพสู่อเมริกาปักหลักที่ Los Angeles ฝั่งตะวันออก (ปัจจุบันคือ Chinatown) ทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ก่อนไปเรียน โตขึ้นเข้าเรียน California Institute of Technology สาขา Chemical Engineering สมัครเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปลดประจำการออกมากลายเป็นพลเมืองอเมริกัน เร่ร่อนออกหางานทำได้ใบบุญจากโปรดิวเซอร์ Harry Cohn กลายเป็นนักเขียน ตัดต่อ ผู้ช่วย กำกับภาพยนตร์สามเรื่องแรกร่วมกับ Harry Langdon ก่อนฉายเดี่ยวเรื่อง For the Love of Mike (1927) มีชื่อเสียงโด่งดังจาก Lady for a Day (1933) ตามด้วย It Happened One Night (1934), Mr. Deeds Goes to Town (1936), Lost Horizon (1937), You Can’t Take It With You (1938), Mr. Smith Goes to Washington (1939), Meet John Doe (1941), It’s a Wonderful Life (1946) ฯ
ผลงานของ Capra มักมีลักษณะ ‘fantasy of goodwill’ เต็มไปด้วยความบันเทิงแฝงสาระ หรือเรียกว่า ‘message film’ เพราะชีวิตของเขาเริ่มต้นจากสลัมไต่เต้าขึ้นเป็นเศรษฐีผู้ประสบความสำเร็จ (Rags-to-Rich) จึงมักมีส่วนผสมของ ‘American Dream’ รวมอยู่ด้วย มีชื่อเล่นเรียกว่า ‘Capra-corn’ หรือ ‘Capraesque’
จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้มาจาก Columbia Picture ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์นวนิยายที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ของ Lewis R. Foster (1898 – 1974) เรื่อง The Gentleman from Montana ตั้งใจให้ Ralph Bellamy รับบทแสดงนำ จนกระทั่ง Frank Capra เซ็นสัญญาผู้กำกับ ทำการปรับเปลี่ยนแผนต้องการให้เป็นภาคต่อของ Mr. Deeds Goes to Town (1936) ตั้งชื่อ Mr. Deed Goes to Washington โดยมี Gary Cooper หวนกลับมารับบทนำ Longfellow Deeds แต่เจ้าตัวดันติดงานอื่นอยู่ ส้มหล่นใส่ James Stewart ได้ชื่อหนังใหม่ว่า Mr. Smith Goes to Washington
จริงๆแล้วก่อนหน้านี้ MGM และ Paramount Pictures ต่างเคยแสดงความสนใจนวนิยาย The Gentleman from Montana แต่พอนำไปพูดคุยกับ Joseph Breen แห่งกองเซนเซอร์ Hays Code ได้รับคำตักเตือนที่รุนแรง เพราะเรื่องราวมีลักษณะเคลือบแฝงโจมตีรัฐบาล และต่อต้านระบอบประชาธิปไตยของประเทศ ถึงกระนั้นบทหนังของ Columbia ที่พัฒนาโดย Sidney Buchman กลับได้เสียงตอบรับอย่างดี
“It is a grand yarn that will do a great deal of good for all those who see it and, in my judgment, it is particularly fortunate that this kind of story is to be made at this time. Out of all Senator Jeff’s difficulties there has been evolved the importance of a democracy and there is splendidly emphasized the rich and glorious heritage which is ours and which comes when you have a government ‘of the people, by the people, and for the people'”.
– Joseph Breen
Jefferson ‘Jeff’ Smith (รับบทโดย James Stewart) ชายหนุ่มหัวหน้ากิจการลูกเสือ Boy Rangers ได้รับคำชักชวนให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา แทนที่ Sam Foley ผู้เพิ่งเสียชีวิตก่อนสิ้นสุดวาระหน้าที่ ยินยอมตบปากรับคำทั้งๆไม่เคยรับล่วงรู้หน้าที่การงานใดๆมาก่อน กลายเป็นตัวตลกสร้างสีสันในรัฐสภา ขณะเดียวกันดันไปล่วงรับรู้ความคอรัปชั่นของ ส.ว. Joseph Paine (Claude Rains) จึงพยายามทำบางอย่างเพื่อกีดกั้นขวาง และใช้กลยุทธ์ Filibuster เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง
เกร็ด: เพื่อมิให้พาดพิงการเมืองของประเทศ จึงไม่มีการระบุรัฐของวุฒิสภา หรือตัวละครสังกัดพรรคใด
นำแสดงโดย James Maitland Stewart (1908 – 1997) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Indiana, Pennsylvania พ่อเป็นเจ้าของร้าน Hardware Store คาดหวังให้เขาสืบต่อกิจการ ส่วนแม่เป็นนักเปียโน ทำให้ Jimmy เล่นดนตรีเก่งมาตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียน Princeton University โดดเด่นในวิชาสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะการออกแบบเครื่องบินจนได้ทุนการศึกษา แต่กลับสนใจชมรมการแสดง สนิทสนามรู้จักกับ Henry Fonda, Margaret Sullavan กลายเป็นนักแสดง Broadways แม้จะไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่ก็ได้มีแมวมองของ MGM จับเซ็นสัญญา รับบทนำครั้งแรก Speed (1936), เริ่มมีชื่อเสียงจาก You Can’t Take It with You (1938), และพลุแตกกับ Mr. Smith Goes to Washington (1939)
รับบท Jefferson ‘Jeff’ Smith หนุ่มหน้าใส ผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ไร้เดียงสา มากด้วยอุดมการณ์ แต่ไม่รู้ทำไมถึงยินยอมตบปากรับคำ ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาอันเกียรติ ออกเดินทางมุ่งสู่ Washington D.C. กลายเป็นตัวตลกเรียกเสียงหัวเราะ แต่ไหนๆได้รับโอกาสจึงต้องการทำบางสิ่งอย่าง โดยไม่รู้ตัวขัดขากับ ส.ว. Joseph Paine ที่ตนเองเคยเลื่อมใส รับทราบข้อเท็จจริงบางอย่างจึงถูกใส่ร้ายป้ายสี วินาทีกำลังจะถูกขับออกจากรัฐสภา ประกาศกร้าวใช้สิทธิ์ Filibuster จนกว่าทุกคนจะยินยอมเชื่อในสิ่งที่พูด ฉันจะไม่หยุดยอมแพ้นั่งลงโดยเด็ดขาด
แม้ติดที่ Gary Cooper ไม่ว่างรับบทบาทนี้ ผู้กำกับ Capra เลยพร้อมส่ง Stewart รับบทนำอีกครั้งถัดจาก You Can’t Take It with You (1938)
“I knew he would make a hell of a Mr. Smith … He looked like the country kid, the idealist. It was very close to him”.
– Frank Capra
Jimmy รับรู้ตัวเองเลยว่านี่คือบทบาทแห่งชีวิต จะเกิดดับกลายเป็นตำนานอยู่ที่ความทุ่มเทพยายาม ทุกวันตื่นเช้าตั้งแต่ไก่โห่ ขับรถช้าๆมากองถ่ายกลัวว่าตนเองจะประสบอุบัติเหตุหรือเป็นอะไรไป ไม่หลับไม่นอนเพื่อให้ดูสภาพโทรมๆเข้าฉากสุดท้าย แม้ได้เข้าชิง Oscar: Best Actor และคือเต็งหนึ่ง แต่กลับพ่ายให้ Robert Donat จากเรื่อง Goodbye, Mr. Chips (1939) อย่างน่ากังขา
บทบาทจากหนังเรื่องนี้ ได้สร้างเอกลักษณ์ที่เป็นทั้ง Iconic และ Type Cast ให้กับ Jimmy ตัวละครประเภทหนุ่มบ้านนอกเข้าเมืองหลวง หน้าตาสดใสซื่อ ไร้เดียงสา ท่าทางอ่อนโยน มีความจริงใจ แถมไม่เคยโป้ปดหลอกลวงใคร ขณะที่เรื่องราวก็มักจับพลัดจับพลู ตกอยู่ในสถานการณ์พิสูจน์คุณความดี การต่อสู้ระหว่างธรรมะ vs. อธรรม
ในบรรดาผลงานของ Jimmy โดยส่วนตัวชื่นชอบการแสดงเรื่อง Mr. Smith Goes to Washington (1939) ที่สุดแล้ว! ดวงตายังคงใสซื่อบริสุทธิ์ ความทุ่มเทพยายามกลั่นออกมาจากจิตวิญญาณ เชื่อสนิทใจว่ามีนิสัยดีแท้และเป็นสุภาพบุรุษ (ขณะที่ผลงานช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มันจะมีความเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย กร้านโลก แฝงซ่อนเร้นอยู่ในแววตา)
Jean Arthur ชื่อจริง Gladys Georgianna Greene (1900 – 1991) นักแสดงหญิงเจ้าของฉายา ‘Everyday Heroine’ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Plattsburgh, New York พ่อถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้ต้องลาออกจากโรงเรียนมาช่วยงานที่บ้านทำงาน เป็นนางแบบโฆษณา เข้าตาสตูดิโอ Fox Film Studios แสดงหนังเงียบ Cameo Kirby (1923) กำกับโดย John Ford มีผลงานมากมายแต่ยังไม่พบเจอความสำเร็จสักเท่าไหร่ แวะเวียนไปแสดง Broadway กลับมาโด่งดังพลุแตกยุคหนังพูดตั้งแต่ Mr. Deeds Goes to Town (1936), You Can’t Take It with You (1938), Mr. Smith Goes to Washington (1939), Only Angels Have Wings (1939), คว้า Oscar: Best Actress เรื่อง The More the Merrier (1943), และผลงานสุดท้ายได้รับการจดจำสูงสุด Shane (1953)
รับบท Clarissa Saunders เลขานุการส่วนตัวของ Jeff Smith เป็นคนปากไม่ตรงกับใจ พูดอย่างหนึ่งแต่มักกระทำอีกอย่างหนึ่ง พร่ำว่าอยากลาออกแต่กลับฝืนทนอยู่นั่น รับไม่ได้กับความไร้เดียงสาของเจ้านายใหม่ แต่ก็มิอาจหักห้ามใจให้ความช่วยเหลือ ค่อยๆแปรสภาพเป็นตกหลุมรัก และพร้อมทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เขาต้องการเป็นผู้แพ้
ผมรู้สึกว่า Arthur เป็นนักแสดงที่โคตรเหมาะกับบทบาท Screwball Comedy เต็มไปด้วยความลึกลับซับซ้อน ทั้งสีหน้าสายตา น้ำเสียงลีลา ทำตัวไม่ยี่หร่าแต่จิตใจโคตรแคร์ผู้อื่น (เรียกว่า ปากไม่ตรงกับใจ) ความขัดย้อนแย้งกันเองนี้แหละ ช่างดูน่ารักน่าชัง จนกลายเป็นเอกลักษณ์ ‘Iconic’ ได้รับการยกย่องจดจำไม่ย่อหย่อนกว่า Greta Garbo
แม้ Arthur จะไม่ค่อยพึงพอใจเท่าไหร่ที่ต้องประกบคู่ Stewart แทน Cooper แถมในกองถ่ายเห็นว่าไม่ค่อยถูกคอกันด้วย (เธอมองว่า Stewart น่ารักเกินไปสำหรับบท ทั้งยังทุ่มเทจริงจังจนไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนรอบข้าง) แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้คือผลงานที่เจ้าตัวชื่นชอบโปรดปรานสุดในชีวิต
William Claude Rains (1889 – 1967) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Clapham, London พ่อเป็นนักแสดงละครเวที แต่ครอบครัวมีฐานะยากจน (เพราะมีพี่น้องถึง 12 คน) วัยเด็กมักติดตามพ่อไปโรงละคร คลุกคลีกับเบื้องการแสดง จนได้ขึ้นเวทีครั้งแรกตอนอายุ 10 ขวบ อาสาสมัครทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถูกแก๊สระเบิดสูญเสียตาซ้ายมองไม่เห็น ปลดประจำการยศกัปตัน มุ่งสู่ London เป็นนักแสดง/อาจารย์ในสังกัด Royal Academy of Dramatic Arts มีลูกศิษย์อย่าง John Gielgud, Charles Laughton, แสดงหนังเงียบเรื่องแรก Build Thy House (1920), จากนั้นมุ่งสู่อเมริกา กลายเป็นนักแสดง Broadway, ภาพยนตร์สร้างชื่อ The Invisible Man (1933), The Adventures of Robin Hood (1938), Mr. Smith Goes to Washington (1939), Casablanca (1942), Notorious (1946), Lawrence of Arabia (1962) ฯ
รับบท Senator Joseph Harrison ‘Joe’ Paine อดีตเคยสนิทสนมกับพ่อของ Jeff Smith เมื่อมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาพด้วยกันจึงเอ็นดูเหมือนบุตรชาย พยายามช่วยเหลือปกป้องไม่ให้รับล่วงรู้ถึงความคอรัปชั่นของการเมือง แต่เมื่อมิสามารถหลีกเลี่ยงจึงต้องทำทุกสิ่งอย่างเพื่อขัดขวาง แม้ทำให้สูญเสียเกียรติศักดิ์ศรีของตนเองก็ตามที
นักแสดงที่ผมถือว่าแย่งซีน โดดเด่นสุดในหนังคือ Claude Rains แม้ตัวเตี้ยกว่าใครเพื่อน แต่ Charisma ความเป็นผู้นำกลับสูงลิบลิ่วอันดับหนึ่ง แถมลงทุนย้อมผมขาว (ฉายา Silver Knight) ถ้าลงสมัครเป็นปธน. น่าจะได้รับชัยชนะแน่!
Rains เป็นนักแสดงที่สร้างมิติให้กับตัวละครได้ลุ่มลึกเกินจินตนาการ! ตอนมาดีช่างมีสง่าราศีเจิดจรัสจร้ากว่าใคร แต่เมื่อต้องแสดงบทร้ายก็หนักแน่นทรงพลังสุดๆ แถมบนพื้นฐานความขัดแย้งภายใน (คือไม่อยากทำแบบนั้นแต่หลบหลีกเลี่ยงไม่ได้) ด้วยเหตุนี้สุดท้ายเมื่อมิอาจอดรนทนต่อไป ทะลักความคลุ้มคลั่งเสียสติแตก ไม่สามารถควบคุมตนเองได้อยู่
ถ่ายภาพโดย Joseph Walker (1892 – 1985) ตากล้องขาประจำผู้กำกับ Capra เคยได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ทั้งหมดสี่ครั้ง You Can’t Take It with You (1938), Only Angels Have Wings (1939), Here Comes Mr. Jordan (1941), The Jolson Story (1946)
การถ่ายภาพอาจไม่ได้มีความตื่นตระการตาใดๆ แต่งานสร้างถือว่าอลังการโดยเฉพาะรัฐสภา ต้องใช้ถึงสองเวที Stage 8 และ 9 ที่ Columbia Studio ออกแบบโดย Lionel Banks ซึ่งทำการอ้างอิงจากสถานที่จริง! ความท้าทายไม่ใช่การสร้างหรือยัดเยียดตัวประกอบเข้าไป แต่คือการจัดแสง เลือกมุมกล้อง บันทึกเสียง … ผู้กำกับ Capra เรียกสถานที่แห่งนี้ว่า ‘ฝันร้าย’
“How to light, photograph, and record hundreds of scenes on three levels of a deep well, open only at the top, were the logistic nightmares that faced electricians, cameramen, and soundmen”.
หนังมีการใช้ Rear Projection บ่อยครั้งทีเดียว นั่นเพราะนักแสดงปักหลักถ่ายทำอยู่ที่ Hollywood ไม่ได้ก้าวออกจาก Los Angeles เลยสักเซนติเมตรเพียง มีเพียงกองสองเท่านั้นเดินทางสู่ Washington D.C.
ให้ข้อสังเกตนิดหนึ่งกับห้องทำงานของ Senator Joe Paine ฝาผนังเต็มไปด้วยรูปภาพ ชั้นวาง หนังสือ และมีขนาดกว้างใหญ่กว่าห้องอันว่างเปล่าของ Jeff Smith ราวฟ้ากับเหว! นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร เพราะ Joe Paine ถือว่าคร่ำหวอดในวงการอย่างยาวนาน ซึ่งภาพถ่ายพวกนี้ต่างสะท้อนถึงเกียรติยศ ความภาคภูมิใจ … ในการประณีประณอมเพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อเสียง ความสำเร็จ
หนังมีการเล่นกับแสงเงาในหลายๆช่วงขณะ เมื่อตัวละครตกอยู่ในสภาพซึมเศร้าหดหู่ หรือกำลังครุ่นคิดวางแผนการชั่วร้าย มักปกคลุมอาบฉาบใบหน้า/เรือนร่างกายด้วยความมืดมิด แสงสว่างลิบๆถ้าหาพบเจอก็จักสามารถย่างก้าวเดินออกไป (สู่อนาคตที่สดใส)
ตัดต่อโดย Al Clark และ Gene Havlick รายหลังคือขาประจำของ Capra เคยคว้า Oscar: Best Edited เรื่อง Lost Horizon (1937)
แม้ว่า Jeff Smith คือตัวละครหลักของหนัง แต่ก็มักรายล้อมด้วยเหตุการณ์/ผู้เกี่ยวข้องทั้งมิตรและศัตรู ซึ่งมีการตัดสลับเปลี่ยนมุมมองไปมาแทบไม่ซ้ำหน้า เพื่อให้พบเห็นผลกระทบ/ปฏิกิริยาต่อเนื่องตามมา นำเสนอคู่ขนานไปพร้อมๆกัน
การตัดต่อที่น่าจะทำให้ Clark & Havlick ได้เข้าชิง Oscar คือช่วงท้ายระหว่าง Jeff Smith กระทำการ Filibuster จักพบเห็นการแทรกเข้ามาของเหตุการณ์มากมาย อาทิ ขึ้นป้ายรณรงค์ขับไล่, ตัวร้ายกำลังวุ่นวายจัดแจงรับโทรศัพท์, การตระเตรียมหนังสือพิมพ์ฉบับเช้า ฯ โลกไม่หยุดหมุนไม่ว่าอะไรจะบังเกิดขึ้น
ตอนจบดั้งเดิมของหนังจะมีต่อจากนี้อีกหน่อย Mr. Smith และ Clarissa Saunders เดินทางกลับบ้าน ได้รับการต้อนรับด้วยขบวนพาเรด ตัดสลับกับความล่มจมของ Jim Taylor และ Joe Paine ลาออกจากสมาชิกวุฒิสภา, ท้ายสุดเมื่อ Smith มาถึงบ้าน แม่อำนวยอวยพรทั้งสองให้ได้แต่งงานกัน
เพลงประกอบโดย Dimitri Tiomkin (1894 – 1979) สัญชาติ Russian อพยพย้ายมาอเมริกาในช่วง Russian Revolution แต่กว่าอีกทศวรรษถึงค่อยได้รับการจดจำจาก Hollywood ด้วยการร่วมงานกลายเป็นขาประจำของ Frank Capra ตั้งแต่ Lost Horizon (1937), กลายเป็นตำนานคว้า Oscar จาก High Noon (1952), The High and the Mighty (1954), The Young Land (1959)
งานเพลงเต็มไปด้วยกลิ่นอายของ Traditional Song น่าจะสร้างความคุ้นเคยให้หลายๆคน เกิดสัมผัส Nostalgia ฮึกเหิม ซาบซึ้ง ภาคภูมิใจ รักชาตินิยม (สหรัฐอเมริกา) จัดว่าเป็นลักษณะของ Patriotism ก็ยังได้!
– Columbia, the Gem of the Ocean (1843)
– Yankee Doodle (1755)
– America, My Country Tis of Thee (1832)
– Semper Fidelis (1888)
– The Star-Spangled Banner (1814)
– For He’s a Jolly Good Fellow
– Auld Lang Syne (1788)
– O Bury Me Not On the Lone Prairie
– When Johnny Comes Marching Home (1863)
– Battle Hymn of the Republic (1856)
– Jeanie With the Light Brown Hair (1854)
– (Oh My Darling) Clementine (1884)
ฯลฯ
Mr. Smith Goes to Washington นำเสนอการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่าง ความถูกต้อง vs. คอรัปชั่น, คนรุ่นใหม่ไร้เดียงสา vs. ผู้ใหญ่มากประสบการณ์ หรือก็คือ ธรรมะ vs. อธรรม
ความเพ้อเจ้อของหนังคือการสร้างสถานการณ์ให้ ชายหนุ่มไร้เดียงสาหลงทางเข้ามาในโลกรายล้อมด้วยฝูงหมาป่า แล้วถูกวิ่งไล่กัด โดนขยุ้มขย้ำ แต่กลับยังคงมองโลกในแง่ดี ดิ้นรนด้วยความสุดโต่ง แถมสุดท้ายจบแบบ Happy Ending … แต่ทั้งหมดนี้นั้นถ้าครุ่นคิดมองว่าคือเรื่องแต่ง ก็หาใช่สาระสำคัญให้หมกมุ่น ว้าวุ่นวายใจเลยสักนิดเดียว!
โลกที่รายล้อมไปด้วยสิ่งชั่วร้าย ผู้คนมากมายถูกความคอรัปชั่นกัดกร่อนกิน ตัวละครจำต้องต่อสู้ดิ้นรน พิสูจน์คุณความดีงามของตนเอง นี่คือลักษณะของ ‘American Dream’ สไตล์ลายเซ็นต์ผู้กำกับ Capra ไต่เต้าจากสลัมสู่ความสำเร็จ (Rags-to-Rich) และไม่หลงลืมพื้นฐานความดีงาม จบแบบ Happy Ending ธรรมะชนะอธรรมตลอดกาล
ออกฉายรอบปฐมทัศน์ยัง Constitution Hall ณ Washington, D.C. กอปรด้วยผู้ชมกว่า 4,000 คน และสมาชิกวุฒิสภา 45 ท่าน ซึ่งต่างเดินเข้าๆออกๆ หน้าดำค่ำเครียด บึ้งตึงไม่พึงพอใจต่อหนังสักเท่าไหร่
“[this film] silly and stupid! It makes the Senate look like a bunch of crooks”.
– Alben W. Barkley ผู้นำฝ่ายรัฐบาล พรรค Democrat
หนังยังถูกโจมตีว่ามีใจความ Anti-American, Pro-Communist และยังนำเสนอความคอรัปชั่นของสถาบันการเมือง จัดว่ามีเภทภัยอันตราย (ต่อสงครามโลกที่กำลังปะทุขึ้น) และถูกไม่ให้ส่งออกฉายยังหลายๆประเทศในยุโรป (เยอรมัน, อิตาลี, สเปน, สหภาพโซเวียต บรรดาประเทศเผด็จการ/คอมมิวนิสต์ ต่างแบนหนังเรื่องนี้โดยอัตโนมัติ!)
ถึงเสียงตอบรับออกไปทางย่ำแย่ แต่ด้วยทุนสร้าง $1.5 ล้านเหรียญ กลับทำเงินได้สูงถึง $9 ล้านเหรียญ แถมเข้าชิง Oscar 10 จาก 11 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (James Stewart)
– Best Supporting Actor (Harry Carey)
– Best Supporting Actor (Claude Rains)
– Best Writing, Original Story ** คว้ารางวัล
– Best Writing, Screenplay
– Best Film Editing
– Best Art Direction
– Best Sound, Recording
– Best Music, Scoring
ค.ศ. 1939 ถือเป็นปีทอง ‘Golden Year’ แห่งวงการภาพยนตร์ Hollywood การที่ Mr. Smith ได้เข้าชิงถึง 11 รางวัลท่ามกลาง Gone With the Wind, The Wizard of Oz, Ninotchka, Stagecoach, Wuthering Heights ถือว่ายิ่งใหญ่มากๆแล้ว น่าเสียดายจริงๆกับ James Stewart และ Claude Rains (รายหลังคงไปตัดคะแนนกันเองกับ Harry Carey) เป็นการแสดงอันทรงพลังน่าจะเกือบๆที่สุดของทั้งคู่แล้ว
กาลเวลาทำให้ผู้ชมเริ่มเข้าถึงสาสน์สาระภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่ทั้ง Anti-American หรือ Pro-Communist แต่คือการสร้างแรงผลักดันให้กับผู้ชม ยึดถือเชื่อมั่นคงในอุดมการณ์เข้าไว้ จักสามารถต่อสู้หาหนทางเอาชนะความชั่วเลวร้าย/คอรัปชั่นได้อย่างแน่นอน … และเห็นว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆคน เข้าสู่วงการเมืองหลังรับชมหนังเรื่องนี้ด้วยนะ!
ส่วนตัวชื่นชอบหนังอย่างมาก เรื่องราวอาจดูเพ้อเจ้อไปบ้างแต่มอบความบันเทิงสอดแทรกสาระ ประทับใจล้นหลามต่อการแสดงของ James Stewart, Claude Rains, และไดเรคชั่นของ Frank Capra เรียบง่ายแต่ทรงพลัง
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพื่อเติมพลังทางการเมือง เกิดความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ เข้าใจหน้าที่ของผู้แทน และเรียนรู้จักสิทธิ์แห่งประชาธิปไตย
ไม่ใช่ว่าผมอยากเห็น Filibuster เกิดขึ้นในเมืองไทยนะครับ เพราะเชื่อว่าถึงกระทำการนี้ไป ความหน้าด้านหน้าชาของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามคงไม่เห็นหัว ทุ่มเทถึงตายก็ไร้ประโยชน์สูญเสียเปล่า แต่มันอาจสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ว่าประเทศเราก็มีคนกล้า บ้า จริงใจ หลบซ่อนเร้นในฝูงแร้งกา
จัดเรต PG กับความคอรัปชั่น เห็นแก่ตัวของนักการเมือง
Leave a Reply