Mrs. Miniver (1942) : William Wyler ♥♥♥♡
ขนาดว่า Joseph Goebbels ยังต้องเอ่ยปากชื่นชมและหวาดสะพรึงกลัว! เรื่องราวของครอบครัว Miniver ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง ไร้ซึ่งถ้อยคำตำหนิด่าทอทหารเยอรมัน แต่สามารถชักชวนเชื่อให้ต่อต้านนาซีอย่างทรงพลัง, คว้า Oscar ถึง 6 สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี
“[Mrs. Miniver] shows the destiny of a family during the current war, and its refined powerful propagandistic tendency has up to now only been dreamed of. There is not a single angry word spoken against Germany; nevertheless the anti-German tendency is perfectly accomplished”.
– Joseph Goebbels รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาแถลงข่าวและโฆษณาชวนเชื่อ
ปกติแล้วภาพยนตร์แนวชวนเชื่อ ‘Propaganda’ มักเสื่อมสิ้นคุณค่าราคาเมื่อกาลเวลาผ่านไป แต่สำหรับ Mrs. Miniver ยังคงเอ่อล้นด้วยมนต์ขลังความยิ่งใหญ่ เพราะสาสน์สาระที่ผู้กำกับ William Wyler นำเสนอออกมานั้น ไม่จำเพาะเจาะจงว่าศัตรูต้องเป็นฝ่ายอักษะ Nazi, Germany อะไรใครก็ตามที่คือชนวนเหตุก่อสงคราม ต่อให้เป็นสามัญชนไม่เกี่ยวข้องใดๆ ย่อมได้รับผลกระทบทั้งร่างกาย-จิตใจ ชีวิต-ทรัพย์สิน ไม่แตกต่างกัน
ถึงกระนั้น Mrs. Miniver ก็ไม่ใช่ภาพยนตร์คุณภาพระดับสมบูรณ์แบบ ไดเรคชั่นของ Wyler แม้ค่อนข้างน่าสนใจ แต่ความรวดเร็วเกินไปทำให้ขาดมนต์เสน่ห์คลาสสิก เทียบผลงานอื่นๆยังถือว่าห่างชั้นอยู่มาก
William Wyler ชื่อจริง Willi Wyler (1902 – 1981) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เชื้อสาย Jews เกิดที่ Mülhausen, German Empire (ปัจจุบันคือ France) พ่อเชื้อสาย Swiss ส่วนแม่ German มีศักดิ์เป็นหลานของ Carl Laemmle (หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Universal Studios) เมื่ออพยพสู่อเมริกาปี 1921 ได้รับชักชวนมาทำงานยัง Universal Studios เริ่มจากพนักงานทำความสะอาด ไต่เต้าขึ้นมาผู้ช่วย และผู้กำกับ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Crook Buster (1925), มีชื่อเสียงจาก Dodsworth (1936), Jezebel (1938), Wuthering Heights (1939), The Westerner (1940), The Little Foxes (1941), Roman Holiday (1953), Friendly Persuasion (1956) คว้า Oscar: Best Director ถึงสามครั้ง เรื่อง Mrs. Miniver (1942), The Best Years of Our Lives (1946), Ben-Hur (1959) [ทั้งสามเรื่องนี้คว้า Oscar: Best Picture ได้อีกด้วย!]
การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ค.ศ. 1939 เริ่มต้นจากยุโรป ลุกลามมาถึงสหราชอาณาจักร ขณะที่สหรัฐอเมริกาเพราะดินแดนอยู่ห่างไกล เลยพยายามเพิกเฉยวางตัวเป็นกลาง สอดส่องสังเกตสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างใกล้ชิด แต่กระนั้นประชาชนในประเทศกลับยังคงโอ้ลัลล้า ครุ่นคิดว่าคงไม่มีอะไรเท่าไหร่ นั่นสร้างความหงุดหงิดหัวใจให้ผู้กำกับ Wyler ต้องการทำบางสิ่งอย่างเพื่อปลุกตื่น ย้ำเตือนสนิท อย่าหลงเพ้อว่านั่นไม่ใช่สงครามของตนเอง
“I was a warmonger. I was concerned about Americans being isolationists. Mrs. Miniver obviously was a propaganda film”.
– William Wyler
เรื่องราวได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ Mrs. Miniver (1940) แต่งโดย Jan Struther (1901 – 1953) นักข่าว/นักเขียนหญิง สัญชาติอังกฤษ ขณะนั้นทำงานเป็น Columnist ตีพิมพ์บทความลงหนังสือพิมพ์ The Times
Mrs. Miniver คือตัวละครที่ Struther สร้างสรรค์ขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากตนเองและครอบครัว เริ่มตีพิมพ์ลง The Times ตั้งแต่ปี 1937 กระทั่งการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สองปี 1939 เพิ่มเติมในส่วนประสบการณ์สงคราม สะท้อนเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นช่วงขณะนั้น ค่อยๆได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆจนรวบรวมตีพิมพ์วางขายเป็นเล่ม
เกร็ด: นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษขณะนั้น Winston Churchill กล่าวยกย่องสรรเสริญหนังสือเล่มนี้
“It had done more for the Allied cause than a flotilla of battleships”.
– Winston Churchill
หลังจาก MGM ได้ลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ ผู้กำกับ Wyler ต้องใช้บริการนักเขียนถึง 4 คน ประกอบด้วย Arthur Wimperis, George Froeschel, James Hilton, Claudine West โดยทุกเช้ามีการสุมหัวระดมสมอง จะปรับแก้ไขอะไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ประจำวันได้บ้าง ซึ่งเหตุการณ์ใหญ่สุดที่เกิดขึ้นคือการโจมตี Pearl Harbor วันที่ 7 ธันวาคม 1941 ฟางเส้นสุดท้ายของสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจประกาศเข้าร่วมสงครามโลกสักที (เป็นประเทศสุดท้าย)
ณ เมืองสมมติ Belham, ประเทศอังกฤษ ครอบครัว Miniver ประกอบด้วย
– พ่อ Clem (รับบทโดย Walter Pidgeon) อาชีพสถาปนิก ฐานะค่อนข้างดี ชื่นชอบการขับรถ/ขับเรือ ไปไหนมาไหนพร้อมหน้าทั้งครอบครัว
– แม่ Kay Miniver (รับบทโดย Greer Garson) เป็นคนง่ายๆ ยิ้มแย้มร่าเริง มองโลกในแง่ดี รักสามีและลูกๆ
– ลูกชายคนโต Vin (รับบทโดย Richard Ney) เป็นคนเฉลียวฉลาดหลักแหลม ขณะนั้นสอบติด Oxford University
– น้องชาย Toby และน้องสาว Judy
ครั้งหนึ่งเมื่อ Vin กลับมาบ้าน ระหว่างนั่งจิบน้ำชามีโอกาสพบเจอตกหลุมรัก Carol Beldon (รับบทโดย Teresa Wright) หลานสาวของคุณหญิง Lady Beldon (รับบทโดย May Whitty) แต่การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้พวกเขาต้องพลัดพรากจาก เพราะ Vin อาสาสมัครรับใช้ชาติเป็นทหารอากาศขับเครื่องบิน RAF ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสรอดชีวิตกลับมาไหม จึงรีบร้อนขอเธอแต่งงาน ไป Honeymoon ยังประเทศ Scotland แต่เมื่อหวนกลับมา …
นำแสดงโดย Eileen Evelyn Greer Garson (1904 – 1996) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Manor Park, Essex จบการศึกษาสาขาฝรั่งเศสและวรรณกรรมศตวรรษที่ 18 จาก University of Grenoble ทำงานเป็นเลขานุการในบริษัทโฆษณา สนิทสนมรู้จักกับ George Sanders ผันตัวมาเป็นนักแสดงร่วมกัน เริ่มต้นจากละครเวที รายการโทรทัศน์ ได้รับการค้นพบโดย Louis B. Mayer จับเซ็นสัญญาสตูดิโอ MGM ภาพยนตร์เรื่องแรก Goodbye, Mr. Chips (1939) ตามด้วย Pride and Prejudice (1940), Blossoms in the Dust (1941), Mrs. Miniver (1942), Madame Curie (1943), Mrs. Parkington (1944), The Valley of Decision (1945), Sunrise at Campobello (1960) ฯ
รับบท Kay Miniver หรือ Mrs. Miniver สาวใหญ่ลูกสาม แต่ยังชอบทำตัวเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสา เป็นคนมองโลกในแง่ดีมากๆ ต่อให้ตกอยู่ในสถานการณ์ขับขันอันตราย สีหน้าสะท้อนความรวดร้าวเจ็บปวดหวาดสะพรึงกลัวจากภายใน ก็ไม่ยอมแสดงออกให้ผู้อื่นต้องมาทุกข์ทรมานแทนตนเอง
ผมรู้สึกว่าใบหน้าของ Garson มีลักษณะคล้ายคลึง Setsuko Hara หญิงแกร่งผู้มีความอวบอิ่ม หนักแน่วแน่นในปฏิธานตั้งมั่น ไม่มีอะไรสั่นคลอนศรัธาความเชื่อของตนเองลงได้ และพร้อมเสียสละตนเองเพื่อครอบครัว ลูกหลาน (ว่าไปทั้งคู่ต่างได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ไล่เลี่ยกันเลยนะ)
Walter Davis Pidgeon (1897 – 1984) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ Saint John, New Brunswick โตขึ้นเข้าเรียนกฎหมายจาก University of New Brunswick แต่ถูกขัดด้วยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สมัครหน่วยกองปืนใหญ่ Royal Regiment of Canadian Artillery ไม่เคยได้เห็นการสู้รบแต่ประสบอุบัติเหตุพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 17 เดือน ปลดประจำการออกมามุ่งสู่ Boston ทำงานธนาคาร เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายย้ายสู่ New York City กลายเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วยหนังเงียบ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงแรกๆยุค Talkie อาทิ The Bride of the Regiment (1930), Sweet Kitty Bellairs (1930), Viennese Nights (1930), Kiss Me Again (1931), สำหรับผลงานอมตะ อาทิ How Green Was My Valley (1941), Blossoms in the Dust (1941), Mrs. Miniver (1942), Madame Curie (1943), The Bad and the Beautiful (1952), Forbidden Planet (1956) ฯ
รับบท Clem Miniver พ่อผู้มีความหลงใหลในรถ/เรือ ทำงานสถาปนิกออกแบบ ฐานะค่อนข้างดี มีจิตใจกว้างขวาง เป็นที่รักของลูกๆ ภรรยา และพรรคพวกเพื่อนในสังคม
เอาจริงๆบทบาทนี้แค่เพียงไม้ประดับ ไม่ได้มีความโดดเด่นสลักสำคัญเท่าไหร่ แต่ทุกการปรากฎตัวของพ่อให้ความรู้สึกพึงพาได้ ไม่มีอะไรต้องหวาดกลัวเกรง และเคมีระหว่าง Pidgeon กับ Garson ถือว่าโต้ตอบ หยอกล้อเล่น เข้าขากันสุดๆ เห็นว่าเป็นคู่ขวัญ มีผลงานร่วมกันถึง 8 เรื่อง!
Richard Maximilian Ney (1916 – 2004) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City พ่อเป็นเซลล์แมนขายประกัน ส่งเรียนต่อเศรษฐศาสตร์ Columbia University ถูกแมวมองชักชวนให้แสดงใน Mrs. Miniver (1942) มีผลงานตามมาประปราย แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดในวงการ ผันตัวสู่นักเล่นหุ้น
รับบท Vin Miniver ชายหนุ่มน้อยที่พอมีร่ำเรียนรู้วิชา ก็พูดพร่ำวาจา วางมาดโอ้อวด เย่อหยิ่งทะนงตน ยังคงอ่อยเยาว์ไร้เดียงสาต่อโลกความจริง ด้วยเหตุนี้การมาถึงสงครามจึงอาสาสมัครเป็นทหารอากาศ ขับเครื่องบินโชว์ความสามารถ เรียกร้องสร้างความสนใจให้ตนเอง
ก็ไม่รู้ไปไงมาไง สัมพันธ์สวาทระหว่าง Garson กับ Ney งอกงามเกินกว่าบทบาทแม่-ลูก (ชีวิตจริงทั้งสองอายุห่างกัน 12 ปี) พวกเขาแต่งงานกันปี 1943 และหย่าขาดปี 1947 ด้วยเหตุผลว่า ‘สามีชอบวิพากย์วิจารณ์การแสดงของเธอเสียๆหายๆ แถมขี้หงุดหงิดเอาใจยาก’
Muriel Teresa Wright (1918 – 2005) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Harlem, New York City หลังจากได้รับชม Helen Hayes ในการแสดงละครเวทีเรื่อง Victoria Regina ตัดสินใจเป็นนักแสดง โตขึ้นเป็น Understudy ของ Dorothy McGuire กับ Martha Scott ก่อนมีผลงานเรื่องแรก Life with Father (1939) ไปเข้าตา Samuel Goldwyn จับเซ็นสัญญานำมาแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Little Foxes (1941) เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress ปีถัดมากับ Mrs. Miniver (1942) คว้ารางวัลนี้ได้สำเร็จ และอีกปีถัดไปเข้าชิงอีกครั้งกับ The Pride of the Yankees (1943), ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ Shadow of a Doubt (1943), The Best Years of Our Lives (1946) ฯ
รับบท Carol Beldon สาวน้อยร่างเล็ก แต่มีความเด็ดเดี่ยว ปราชญ์เปรี่ยว พูดจาหลักแหลมคมคาย ไม่วายให้ใครๆตกหลุมรัก แถมมักชอบครุ่นคิดแทนผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา งดงามบริสุทธิ์ทั้งหน้าตาและจิตใจ
ในบทบาทคว้ารางวัล Oscar ของ Wright นำเสนอตัวละครที่มีความเฉลียวฉลาด ร่าเริงสดใส เป็นที่รักใคร่ ตัวแทนหญิงสาวคนรุ่นใหม่ คิดเร็ว ตัดสินใจไว (ไปไหม!) พร้อมยืนเคียงข้างผู้ชาย ไม่ใช่ช้างเท้าหลังอย่างแต่เก่าก่อน
ตอนรับชมผมไม่ทันสังเกตเท่าไหร่ แต่พอมาจับจ้องมองถึงค่อยพบเห็นว่า Wright แต่งหน้าเขียนคิ้วค่อนข้างหนาทีเดียว แม้เธอจะอายุมากกว่าตัวละครแค่ไม่กี่ปี กลับมีริ้วรอยเหี่ยวย่นปรากฎขึ้นบ้างแล้ว (แก่ไวไปไหม!)
ถ่ายภาพโดย Joseph Ruttenberg (1899 – 1983) ตากล้องสัญชาติ Russian เชื้อสาย Jews อพยพมุ่งสู่อเมริกัน เริ่มจากเป็นนักข่าวถ่ายภาพ ก่อนได้งานตากล้องหนังเงียบ สังกัดสตูดิโอ Fox Film Coperation คว้า Oscar: Best Cinematography ถึง 4 ครั้ง จาก The Great Waltz (1938), Mrs. Miniver (1942), Somebody Up There Likes Me (1956) และ Gigi (1958)
ถึงหนังจะมีพื้นหลังประเทศอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปถ่ายทำ (เพราะติดสงครามโลกอยู่) ทั้งหมดสร้างฉากขึ้นในสตูดิโอ MGM, Hollywood
ช็อตสวยสุดในหนัง, ก่อนหน้าที่ Mrs. Miniver จะบังเอิญพบเจอทหารเยอรมันถูกยิงตก ช็อตนี้แม้กำลังสนทนาอยู่กับ Mr. Ballard (รับบทโดย Henry Travers) แต่มิได้ใคร่สนใจฟังนัก เพราะจิตใจจดจ่อเฝ้ารอยคอยสามี เมื่อไหร่จะกลับมาจาก Dunkirk
ไม่รู้เป็นความบังเอิญหรือตั้งใจ เป็ดสามตัวที่กำลังว่ายน้ำ มองเป็นสัญลักษณ์ของ Mr. Miniver ที่กำลังเดินทางอยู่ก็ได้นะ
ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Wyler นำเสนอเรื่องราวต่างๆโดยมี Mrs. Miniver เป็นจุดหมุน ด้วยเหตุนี้งานภาพจึงถือว่าค่อนข้างติดดิน/ติดตามตัวละครไปไหนมาไหน ประสบพบเจออะไร ราวกับมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (ที่ถ่ายทำด้วยตำแหน่งบุคคลที่สาม)
ค่ำคืนทิ้งระเบิด หนังไม่นำพาผู้ชมไปไกลมากกว่าแค่ภายในหลุมหลบภัย ในสายตาของ Mrs. Miniver เดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่าง รายล้อมรอบด้วยเสียง Sound Effect เครื่องบินโฉบเฉี่ยว ปืนกล ระเบิด ฯ โลกภายนอกช่างเต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย ส่งผลกระทบถึงภายใน(จิตใจคน)
ไดเรคชั่นลักษณะนี้ช่วยเพิ่มความสมจริงให้กับหนังอย่างมาก ผู้ชมราวกับเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ อาศัยอยู่ในหลุมหลบภัย ประสบภยันตราย/รอดตายจากเครื่องบินทิ้งระเบิด
Lady Beldon (รับบทโดย May Whitty) เป็นตัวแทนของคนชนชั้นสูงในสังคมอังกฤษ ยึดถือมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็มีหลานสาวน่ารัก ทีแรกไม่ยินยอมพร้อมใจให้เธอแต่งงาน แต่ก็มิอาจทัดทานความเปลี่ยนแปลงไปของโลก เฉกเช่นเดียวกับการประกวดดอกกุหลาบ ชนะมาตั้งแต่ริเริ่มไม่มีผู้ท้าชิง แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์สุดพิเศษ ยอมให้สักครั้งไม่เห็นจะเสียหายอะไร
บอกตามตรงว่า ผมเห็นตัวละครนี้ชวนให้นึกถึง Queen Elizabeth II แต่ยุคสมัยนั้นประมุขของสหราชอาณาจักรคือ King George VI (ครองราชย์ 1936 – 1952) นัยยะของการยินยอมพ่ายแพ้ หมายถึงการให้สิทธิ์ มอบโอกาส โลกไม่ได้อยู่ในกำมือของชนชั้นสูงอีกต่อไป ประชาชนต่างหากคือผู้กำหนดทิศทางดำเนินไป
กุหลาบ คือสัญลักษณ์แห่งความรัก ตั้งชื่อ Mrs. Miniver ย่อสื่อถึงบุคคลผู้มีจิตใจงดงาม เบิกบาน เผื่อแผ่รอยยิ้มสู่คนรอบข้าง, ความพ่ายแพ้ของ Lady Beldon ไม่ใช่แค่ประกวดดอกกุหลาบนี้เท่านั้นนะครับ แต่ยังต่อ Mrs. Miniver ที่ทำให้ Carol กับ Vin ได้เร่งรีบแต่งงานกัน
สุนทรพจน์ของบาทหลวง (รับบทโดย Henry Wilcoxon) ครุ่นคิดกันสดๆกับผู้กำกับ Wyler ค่ำคืนก่อนเริ่มต้นถ่ายทำฉากนี้ เพราะสถานการณ์สงครามเปลี่ยนแปลงไปมากจากเมื่อเริ่มต้นถ่ายทำ คำกล่าวมันจึงใช้ไม่ได้ต้องปรับเปลี่ยนแปลงให้มีความเหมาะสมที่สุด
คำกล่าวสุนทรพจน์นี้ ถูกใจปธน. Franklin D. Roosevelt เป็นอย่างมาก ได้ทำการพิมพ์ใบปลิว แปลภาษา โปรยแจกทุกประเทศศัตรู เพื่อชักชวนเชื่อให้พวกเขาเลิกก่อการสงคราม (แต่มันจะมีผลไหมเนี่ย!)
ช็อตสุดท้ายของหนังเผื่อใครไม่ทันสังเกตเห็น เครื่องบินแปรขบวนรูปตัว V สัญลักษณ์ของ Victory
ตัดต่อโดย Harold F. Kress (1913 – 1999) สัญชาติอเมริกัน เจ้าของ 2 รางวัล Oscar จากเรื่อง How the West Was Won (1962), The Towering Inferno (1974) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Dr. Jekyll and Mr. Hyde (1941), Mrs. Miniver (1942), The Yearling (1947), King of Kings (1961), The Poseidon Adventure (1972) ฯ
เรื่องราวดำเนินไปโดยมี Mrs. Kay Miniver คือศูนย์ใจกลางพายุ แต่ละวันประสบพบเจอเรื่องราวต่างๆไม่ซ้ำหน้า ทั้งดี-ร้าย สมหวัง-เศร้าเสียใจ รายล้อมด้วยสมาชิกครอบครัว และสมัครพรรคเพื่อนในเมืองเล็กๆ Belham
เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด ‘ยุคสมัยสงครามทำอะไรต้องรีบเร่ง ตัดสินใจเร็ว’ ไดเรคชั่นการตัดต่อจึงมีความกระชับฉับไว ไร้ซึ่ง Establish Shot ทดลองขับรถยังไม่ทันไรกลับถึงบ้านแล้ว (จะเร็วไปไหน!)
ความเร็วเป็นสิ่งที่ผมมองว่า ไม่ค่อยเหมาะกับหนังลักษณะนี้สักเท่าไหร่ แม้นัยยะความหมายจะพอเข้าใจได้ แต่การเร่งรีบเกินไป ทำให้หนังสูญเสียสัมผัสบรรยากาศโรแมนติก และความคลาสสิก ดู Modern มากเกินไปนิด (จริงๆนี่ไม่ใช่เทคนิคล้ำหน้าแปลกใหม่อะไร แค่ยังไม่ถึงจุดได้รับความนิยมเท่านั้นเอง)
เพลงประกอบโดย Herbert Stothart (1885 – 1949) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่น อาทิ Mutiny on the Bounty (1935), A Night at the Opera (1935), The Wizard of Oz (1939), Blossoms in the Dust (1941), Kismet (1944) ฯ
บทเพลงมีสัมผัสโรแมนติก ศรัทธาความรักที่ไม่มีวันเจือจาง ตั้งมั่นคงอยู่ภายในจิตใจของ Mrs. Miniver ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายอะไรขึ้น ก็สามารถต่อสู้ดิ้นรนฟันฝ่าสู่วันข้างหน้า จนกว่าจะถึงวันชีวิตหาไม่
นอกจาก Main Theme ยังมีหลายๆบทเพลงที่ตัวละครขับร้องเล่นในหนัง อาทิ
– God Save the King! (1744) เพลงชาติอังกฤษ
– Children of the Heavenly King (Pleyel’s Hymn) (1791) ได้ยินในโบสถ์
– Onward, Christian Soldiers (1871) ได้ยินในโบสถ์
– Wedding March (1843)
– Midsummer’s Day แต่งโดย Gene Lockhart ขับร้องประสานเสียงในงานประกวดดอกไม้
– For He’s a Jolly Good Fellow ขับร้องประสานเสียงให้ผู้ชนะรางวัลประกวดดอกกุหลาบ
ช็อตสุดท้ายของหนัง เมื่อกล้องเคลื่อนขึ้นแล้วซูมสู่ท้องฟ้า บทเพลง Pomp and Circumstance March No.1 in D Major, Op.39 (1901) ของคีตกวีสัญชาติอังกฤษ Edward Elgar ช่างมีความทรงพลัง สั่นสะท้าน สร้างความฮึกเหิม เกิดพละพลังกล้าลุกขึ้นต่อสู้ เอาชนะคว้าชัยต่อศัตรู
แต่เก่าก่อน สงครามคือสิ่งที่มักเกิดขึ้นในสนามรบ สองฝั่งฝ่ายต่างจัดทัพ เตรียมพล ออกเดินทาง เผชิญต่อสู้กันซึ่งๆหน้ายังสถานที่นัดหมายกำหนดไว้ แต่กาลเวลากอปรอาวุธยุทโธปกรณ์ เมื่อได้รับการพัฒนารุดหน้าไปมาก ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ทุกสถานที่บนโลกสามารถกลายเป็นสนามรบราฆ่าฟันได้หมด แผ่นดิน ผืนน้ำ น่านฟ้า (และอวกาศ) ไม่อีกแล้วที่สามัญชนคนธรรมดา กินนอนอยู่บ้านจะมีความปลอดภัย ไร้ซึ่งการรุกรานบุกโจมตีจากศัตรูฝ่ายตรงข้าม
วิวัฒนาการของสงคราม สะท้อนสิ่งที่คือด้านมืดภายในจิตใจมนุษย์ ความเห็นแก่ตัว ละโมบโลภมักมาก ต้องการกอบโกย ครอบครองเป็นเจ้าของ พิสูจน์มุมมองทัศนคติ และศักยภาพเหนือชาติพันธุ์อื่น! ซึ่งเมื่อโลกก้าวมาถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ใครๆต่างเรียกว่า ‘สงความแห่งความเกลียดชัง’ นั่นคือที่สุดแล้วของความชั่วช้าต่ำทราม ใช้ทุกวิธีทางเพื่อให้ชนฉันได้รับชัยชนะ กลายเป็นมหาอำนาจ จ้าวโลก
Mrs. Miniver นำเสนอเรื่องราวของครอบครัวเล็กๆ ชุมชนเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนแปลงไปของโลก จากสงบสุขก้าวสู่ยุคสมัยสงคราม ทั้งๆไม่เคยสร้างความขัดแย้งรวดร้าวฉานให้ใคร กลับประสบพบโศกนาฎกรรมที่ไม่มีใครคาดคิดถึง
หนังจะมี Death Flag ปรากฎพบเห็นประปรายตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่ผมว่าน้อยคนจะคาดเดาออกว่าเป็นใคร ทั้งหมดล้วนเป็นตัวแทนของ ‘ผู้บริสุทธิ์’ ไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็น เกี่ยวข้องอะไรกับสงครามด้วยเลย แต่กลับสูญเสียชีวิตไปแบบไร้สาระ เลวร้ายยิ่งกว่าหายนะภัยพิบัติจากธรรมชาติเป็นไหนๆ
ด้วยเหตุนี้ทำไมอเมริกายังคงเพิกเฉย เฉื่อยชา ไม่สนใจต่อสถานการณ์โลก มัวแต่ครุ่นคิดว่าตนเองคงไม่ได้รับผลกระทบ วันหนึ่งเลยถูกตอกหน้าอย่างสาสม ย่อยยับเยินจากถูกโจมตี Pearl Harbor ถ้าช่วงขณะนั้นไม่มัวแต่นั่งๆนอนๆ จับจ้องสังเกตการณ์อยู่เฉยๆ หายนะมันคงไม่รุนแรงเว่ออลังการขนาดนี้
ผู้กำกับ Wyler หลังเสร็จจากภาพยนตร์เรื่องนี้ อาสาสมัครเป็นทหารอากาศ สังกัด United States Army Air Forces ด้วยความตั้งใจสร้างภาพยนตร์สารคดี The Memphis Belle: A Story of a Flying Fortress (1944) และ Thunderbolt (1947) มีโอกาสร่วมออกเดินทางกับเครื่องบินทิ้งระเบิด พบเห็นความโหดร้ายแสนสาหัสของสงคราม หวนระลึกตระหนักถึง Mrs. Miniver ว่าช่างมีความนุ่มนวล อ่อนโยน ‘Soft Light’ แสนธรรมดาเกินไป เทียบไม่ได้เลยสักนิดกับความเป็นจริง
กาลเวลาแปรสภาพ Mrs. Miniver จากภาพยนตร์ ‘Propaganda’ ชักชวนเชื่อชาวอเมริกันให้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง กลายเป็นหนังต่อต้านสงคราม Anti-Wars แบบเต็มตัว เพราะนำเสนอบุคคลผู้ได้รับผลกระทบเต็มๆคือ ประชาชนคนธรรมดาทั่วไป ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความขัดแย้งด้วยเลย กลับประสบพบเจอหายนะ โศกนาฎกรรม มันใช่เรื่องเสียที่ไหน!
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าหวาดหวั่นวิตกกังวลไม่น้อย นั่นคือความเร็วของการครุ่นคิดตัดสินใจ ในบริบทสงครามของหนังยังพอเข้าใจได้ เพราะไม่รู้ว่าจะยังมีชีวิตยาวนานอีกสักเท่าไหร่ ถ้ามีโอกาสเลยจำต้องเร่งรีบร้อน ไฟรนก้นไว้ก่อน, แต่กระนั้นหลังสงครามสิ้นสุดลากยาวมาจนปัจจุบันนี้ ความรวดเร็วดังกล่าวกลับยังคงเดิมไม่เสื่อมคลาย หนำซ้ำร้ายเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร่ง! ปืนจ่อหลังก็ไม่ใช่ เครื่องบินทิ้งระเบิดก็ไม่มี แต่โลกยุคนี้อะไรๆกับติดจรวดพุ่งไปข้างหน้า นี่ไม่ใช่แค่เทคนิคการตัดต่อภาพยนตร์เท่านั้นนะ เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต ความคิดอ่าน การตัดสินใจ … อายุไข 60 ปี มันสั้นขนาดนั้นเชียวหรือถึงต้องไวขนาดนี้
“ต่อให้ความเร็วแสง ก็ไม่อาจแซงความคิดของมนุษย์” ผมไปอ่านเจอที่ไหนจดจำไม่ได้แล้ว ทิ้งท้ายไว้ให้เป็นข้อคิดคำถาม จริงหรือเปล่ากับประโยคนี้ … ฟังดูเว่อมากกก แต่ก็เป็นไปได้นะครับ
ด้วยทุนสร้าง $1.34 ล้านเหรียญ ทำเงินในในอเมริกา $5.358 ล้านเหรียญ สูงสุดของปี และสตูดิโอ MGM รวมทั่วโลก $8.878 ล้านเหรียญ
เข้าชิง Oscar 11 จาก 12 สาขา คว้ามา 6 รางวัล
– Outstanding Motion Picture ** คว้ารางวัล
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actor (Walter Pidgeon)
– Best Actress (Greer Garson) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Henry Travers)
– Best Supporting Actress (Teresa Wright) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actress (May Whitty)
– Best Writing, Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography, Black-and-White ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing
– Best Sound Recording
– Best Effects, Special Effects
เกร็ดรางวัล:
– ผู้กำกับ William Wyler ขณะนั้นติดภารกิจรับใช้ชาติอยู่ต่างแดน ศรีภรรยา Margaret Tallichet ขึ้นรับรางวัลแทน
– เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกเข้าชิงสาขาการแสดงครบถ้วน Best Actor, Best Actress, Best Supporting Actor, Best Supporting Actress แถมยัง +1 รวมเป็น 5 คน
– คำกล่าวสุนทรพจน์ของ Greer Garson ว่ากันว่ายาวประมาณ 5 นาทีครึ่ง กลายเป็นสถิติที่ทำให้ Academy ต้องพิจารณาออกกฎจำกัดเวลา (แต่ถ้านับปริมาณคำ เจ้าของสถิติคนปัจจุบันคือ Matthew McConaughey จาก Dallas Buyers Club)
น่าเสียดายฟุตเทจสุนทรพจน์เต็มๆของ Garson ได้กระจัดกระจายสูญหายไปแล้ว หลงเหลือเพียงเกริ่นเริ่มต้นไม่กี่วินาที แต่ถ้าใครอยากอ่านถ้อยแถลงเต็มๆ: http://aaspeechesdb.oscars.org/link/015-3/
หนังมีภาคต่อด้วยนะ The Miniver Story (1950) ยังคงนำแสดงโดย Greer Garson และ Walter Pidgeon แต่เปลี่ยนผู้กำกับมาเป็น H.C. Potter เนื้อเรื่องราวเห็นว่าคล้ายๆ The Best Years of Our Lives (1946) ส่วนคุณภาพไปลองวัดดวงเอาเองก็แล้วกัน
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังอย่างมาก ประทับใจในสาสน์สาระที่ไม่ได้สักแต่จะชักชวนเชื่อผู้คน นำเสนอด้วยเหตุผล มนุษยธรรม แม้ไม่ถึงขั้นสมบูรณ์แบบ แต่เนื้อหาทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา
แนะนำคอหนัง Wars Drama กลิ่นอายชวนเชื่อ บรรยากาศสงครามโลกครั้งที่สอง, แฟนๆผู้กำกับ William Wyler และนักแสดงนำ Greer Garson, Walter Pidgeon, Teresa Wright ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับบรรยากาศสงคราม
Leave a Reply