Mughal-E-Azam (1960) : K. Asif ♥♥♥♥♡
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์สุดอลังการงานสร้างจาก bollywood ในช่วงเวลาครองราชย์ของ จักรพรรดิอักบัรมหาราช (Akbar the Great) เกิดเรื่องราวความรักต้องห้าม ระหว่างเจ้าฟ้ารัชทายาทกับหญิงสาวคนรับใช้ ระหว่างความรักกับหน้าที่ มหาราชองค์นี้จะตัดสินพระทัยเลือกอะไร?, นำแสดงโดย Prithviraj Kapoor, Dilip Kumar และ Madhubala, นี่เป็นหนังเรื่องแรกของโลกที่มีการ Colourisation จากภาพขาว-ดำ เป็นสีสันสวยสด, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่นำเสนอผลงาน ความยิ่งใหญ่ ปรีชาสามารถของจักรพรรดิอักบัรมหาราชนะครับ ถ้าใครสนใจเรื่องราวชีวประวัติของกษัตริย์พระองค์นี้ ให้ไปหาเรื่อง Jodha Akbar (2008) [ผมเคยเขียนถึงหนังเรื่องนี้ไปแล้วนะครับ] เป็นหนังที่นำเสนอเหตุผลว่าทำไม ญะลาล อุดดีน มุฮัมมัด (Abu’l-Fath Jalal ud-din Muhammad) ถึงได้รับการขนานนามว่าเป็น อักบัร (Akbar แปลว่า มหาราช)
เรื่องราวของหนัง คือความรักต้องห้าม ระหว่างเจ้าฟ้ารัชทายาทสะลีม (Mirza Nur-ud-din Beig Mohammad Khan Salim) กับหญิงสาวคนใช้ชื่อ Anarkali ที่ทำให้ จักรพรรดิอักบัร ต้องเลือกตัดสินระหว่าง จะยอมให้พระราชโอรสแต่งงานกับหญิงสาว หรือทำทุกอย่างให้ทั้งสองแยกออกจากกัน
ในประวัติศาสตร์จริงๆ ไม่มีการบันทึกเรื่องราวของ Anarkali ไว้เลยนะครับ บ้างว่าเป็นตำนาน, บ้างก็ว่าเป็นเรื่องแต่ง, บ้างก็ว่าเธอเป็นหนึ่งในมเหสีของจักรพรรดิอักบัร ฯ ได้รับการกล่าวถึงครั้งแรก เป็นบทละครเวทีเขียนโดย Imtiaz Ali Taj ภาษา Urdu ในปี 1922, สำหรับภาพยนตร์ มีการสร้างมาแล้วหลายครั้ง
– Loves of a Mughal Prince (1928) เป็นหนังเงียบ นำแสดงโดย Seeta Devi และมีการบันทึกเสียงเพิ่มเข้าไปในปี 1935
– Anarkali (1953) นำแสดงโดย Bina Rai
– Anarkali (1955) ภาษา Telugu & Tamil นำแสดงโดย Anjali Devi
– Anarkali (1958) สัญชาติ Pakistan นำแสดงโดย Noor Jehan
– Mughal-E-Azam (1960) นำแสดงโดย Madhubala
– Anarkali (1966) ภาษา Malyalam นำแสดงโดย K. R. Vijaya
Mughal-E-Azam เป็นโปรเจคของ K. Asif (Karimuddin Asif) เริ่มจะสร้างตั้งแต่ต้นยุค 40s เขารวบรวมนักเขียนภาษา Urdu ยอดฝีมือ ถึง 4 คนเข้ามาร่วมพัฒนาบทหนัง ประกอบด้วย Aman, Wajahat Mirza, Kamaal Amrohi และ Ehsan Rizvi จากนั้นคัดเลือกนักแสดง ประกอบด้วย Chandra Mohan รับบทจักรพรรดิอักบัร, D.K. Sapru รับบทเจ้าฟ้ารัชทายาท Salim และ Nargis รับบท Anakali เปิดกล้องเมื่อปี 1946 เริ่มถ่ายทำที่สตูดิโอ Bombay Talkies, แต่หนังก็ประสบปัญหามากมาย ปี 1947 เกิดเหตุการณ์แบ่งแยกดินแดงระหว่าง อินเดียกับปากีสถาน ซึ่งโปรดิวเซอร์หนังได้อพยพย้ายไปอยู่ปากีสถาน ตัดขาดการติดต่อ ทำให้เงินทุนสร้างหนังสะดุด และปี 1949 นักแสดง Chandra Mohan ก็เสียชีวิตจากโรคหัวใจ ทำให้โปรดักชั่นหนังต้องยุติลงทันที
ในปี 1950 Asif ตัดสินใจเริ่มต้นโปรเจคนี้ใหม่ เขามีบทหนังที่พัฒนาเสร็จแล้ว จึงออกตามหานายทุนรายใหม่ด้วยตนเอง เมื่อได้แล้วก็เริ่มคัดเลือกนักแสดงใหม่หมด เพราะฟุตเทจเก่าใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
ในชีวิตของ K. Asif ได้กำกับหนังเพียง 2 เรื่องเท่านั้นคือ Phool (1945) และ Mughal-e-Azam (1960) มีอีกโปรเจคที่กำลังสร้างอยู่ แต่เสียชีวิตไปก่อนเมื่อปี 1971
สำหรับนักแสดงชุดใหม่ ในตอนแรก Asif ไม่ได้ต้องการให้ Dilip Kumar รับบทของเจ้าชาย Salim เช่นกันกับ Kumar ก็ไม่ต้องการแสดงในหนัง Period แต่เพราะโปรดิวเซอร์ยืนกราน ทั้งสองเลยต้องยอมรับซึ่งกันและกัน, Kumar บอกว่า ‘Asif ให้อิสระเต็มที่ในการสร้างสรรค์บทนี้ อยากทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ’, สิ่งที่ Kumar ทำ คือให้กิเลส ความต้องการทุกสิ่งอย่าง เข้าครอบงำตัวละครนี้ ไม่ใช่แค่ความรัก แต่รวมถึงความโลภ, โกรธ, หลง, ศักดิ์ศรี, หยิ่งผยอง ฯ
เจ้าชาย Salim มีปมเรื่องพ่อ ไม่ใช่ขาดความรัก แต่เพราะพระบิดาเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่สมบูรณ์แบบ เมื่อเทียบกับตนจะพบว่า เป็นแค่เด็กเมื่อวานซืนที่ไม่วันเป็นได้ดั่งพระบิดา พระองค์จึงต้องการทำอะไรด้วยความคิดอ่านตั้งใจของตน เพื่อเรียกร้องความสนใจ และพิสูจน์คุณค่าตนเอง (นี่คุ้นๆกับเมืองไทยตอนนี้เลยนะครับ)
ในประวัติศาสตร์ เจ้าชาย Salim เป็นคนนิสัยแย่มากๆ (เลวร้ายกว่าในหนังอีก) ขี้เหล้ามายาตั้งแต่อายุ 18 ชอบทุบตีทำร้ายคนรอบข้าง ไม่มีทางที่พระองค์จะตกหลุมรักหญิงสาวคนใช้ได้เป็นแน่, ก่อนขึ้นครองราชย์ ได้เคยก่อกบฎทำสงครามกลางเมืองกับพระบิดานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็พ่ายแพ้เรื่อยไป และได้รับอภัยโทษทุกครั้ง, ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์กลายเป็น จักรพรรดิชะฮันคีร์ (Jahangir แปลว่า conqueror of the world) อยู่ในบัลลังก์ 22 ปี
Anarkali รับบทโดย Madhubala หรือ Mumtaz Jehan Dehlavi เจ้าของฉายา The Venus of Indian Cinema และ The Beauty with Tragedy เนื่องจากเธอเสียชีวิตเมื่อปี 1969 ด้วยวัยเพียง 36 ปีเท่านั้น (จากโรคหัวใจรั่ว), นี่เป็นหนังเรื่องที่โด่งดังที่สุดของ Madhubala จนกลายเป็น iconic ให้กับหญิงสาวชาวอินเดียสมัยนั้น ด้วยความห้าวหาญ เสียสละ ยึดมั่นในความรัก และจงรักภักดีเป็นที่สุด
มีนักวิจารณ์อินเดียจำนวนมาก พูดถึง Madhubala ว่าเป็นนักแสดงที่สวยแต่รูป การแสดงไม่เท่าไหร่, นี่ผมก็บอกไม่ได้ เพราะยังไม่เคยดูผลงานเรื่องอื่นของเธอ ซึ่งกับ Mughal-E-Azam ต้องถือว่า Madhubala มีการแสดงที่โดดเด่นและทุ่มเท สามารถทำให้ผู้ชมสัมผัส รู้สึกได้ถึงความเจ็บปวด ที่ออกมาผ่านสีหน้าและทางกาย (อาจเป็นความรู้สึกจากความเจ็บปวดจริง ที่เธอป่วยทนทรมานอยู่ จากโรคหัวใจ)
เกร็ด: Madhubala ในฉากที่เธอต้องใส่โซ่ตรวนเหล็ก ซึ่งมีน้ำหนักเท่าของจริง (สมัยนั้นยังไม่มีพลาสติกนะครับ) ทำให้ผิวเธอเกิดรอยถลอก เป็นแผลมากมาย จนถึงขั้นนอนป่วยไม่สบายอยู่หลายวัน (แบบเดียวกับตัวละคร Anarkali เลย)
สำหรับจักรพรรดิอักบัร รับบทโดย Prithviraj Kapoor หนึ่งในนักแสดงรุ่นบุกเบิกที่มีชื่อเสียงที่สุดของอินเดีย และเป็นพ่อของผู้กำกับดัง Raj Kapoor, ได้ยินว่าเขารับความยากลำบากในการรับบทนี้ไม่น้อย เพราะการแต่งองค์ทรงเครื่อง ชุดเต็มยศที่หนักอึ้ง ทำให้เขาไม่สามารถเดิน คิด ทำอะไรได้ถนัด แค่ท่องบทอย่างเดียวก็เหนื่อยแย่แล้ว มีครั้งหนึ่งต้องถ่ายซ้ำถึง 19 เทค เพราะจำบทไม่ได้ ทั้งเหนื่อยทั้งน้ำหนักลด, Kapoor บอกว่า ‘การแสดงของเขาพึ่งบทหนังและผู้กำกับล้วนๆ’ กระนั้นก็ออกมาได้ยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ น่าเกรงขาม สมกับการเป็นผู้นำ จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่
เกร็ด: ก่อนการแสดงหลายๆฉาก Kapoor จะหันไปมองตัวเองที่กระจก แล้วพูดว่า ‘ข้าคืออักบัร’ เพื่อสวมจิตวิญญาณของจักรพรรดิอักบัรในการแสดง
อีกหนึ่งนักแสดงสมทบที่ต้องพูดถึงคือ Durga Khote ในบทพระมารดาโจธา (Jodhabai) นักแสดงหญิงรุ่นบุกเบิกของ bollywood, กระนั้นผู้หญิงในยุคสมัยก่อน แม้กระทั่งมเหสี ราชินี ก็หาได้มีบทบาท หรืออิทธิพลใดๆต่อการตัดสินใจของกษัตราธิราชไม่
นักแสดงชุดนี้ของหนังถือว่าโดดเด่น ยอดเยี่ยม ทรงพลัง โดยเฉพาะเคมีของ Dilip Kumar และ Madhubala ได้ยินว่า Kumar พยายามเกี้ยวพาราสี จีบ Madhubala อยู่ด้วย ซึ่งเธอก็คงแอบชอบเขาเช่นกัน เราสามารถเห็นได้จากแววตาของทั้งคู่ในหนังเรื่องนี้ น่าเสียดายทั้งสองไม่ได้ประกบคู่กันอีก
ถ่ายภาพโดย R. D. Mathur, ถึงต้นฉบับฟีล์ม Negative จะเป็นภาพขาวดำ แต่ไม่ง่ายเลยกับการถ่ายในวัง Sheesh Mahal ซึ่งระยิบระยับไปด้วยแก้ว กระจก เพชร ฯ ที่สะท้อนแสงแวบวับตลอดเวลา, ผมก็ไม่รู้ว่า Mathur ทำอย่างไรถึงสามารถถ่ายฉากพวกนี้ออกมาได้สวยงามวิจิตรขนาดนี้ แต่รู้ว่าไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะการควบคุมแสง ซึ่งทุกการเคลื่อนกล้องต้องระวังไม่แสงที่ระยิบระยับนี้โดดเด่นกว่านักแสดง
ในระหว่างถ่ายทำ ขณะนั้นเทคโนโลยีภาพสี Technocolor เริ่มแพร่หลายและใช้งานง่ายขึ้น ผู้กำกับจึงตัดสินใจลองถ่ายฉากหนึ่ง (1 reel) เป็นภาพสี ปรากฎว่าผลลัพท์ออกมาสวยงามน่าประทับใจมาก จึงได้เพิ่มเป็น 3 reel, นี่เป็นหนังเรื่องแรกของ bollywood ที่มีการใช้ฟีล์มขาว-ดำ ผสมกับฟีล์มสีในหนัง
หนึ่งในฉากไฮไลท์ที่ถ่ายทำฟีล์มสีแท้ๆ ที่ทำเอาผมอึ้งทึ่ง อ้าปากค้าง ในบทเพลง Pyar Kiya To Darna Kya (I have loved, so what is there to fear?) ขับร้องโดย Lata Mangeshkar คือการถ่ายภาพสะท้อนจากแก้วกระจกบนเพดาน เห็น Anarkali กำลังเต้นหมุนๆอยู่ ผมเอาคลิปมาให้ดูนะครับ แคปภาพบรรยายเฉยๆไม่ได้อรรถรสแน่ ช็อตนั้นอยู่ช่วงท้ายๆของเพลง
การแสดงถือว่าเปะมาก ทั้งคำพูด ท่าทาง การเคลื่อนไหว ตำแหน่งของนักแสดง ได้รับการซักซ้อมเตรียมการมาเป็นอย่างดี มันอาจดูฝืนธรรมชาตินิดๆ แต่ขณะเดียวกันมันก็แฝงความหมายของคำพูด การกระทำ, ใครฟัง Hindi ออก ผมเชื่อว่าคำพูดคงสำบัดสำนวน เหมือนหนังสุริโยทัย, ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชบ้านเรา ที่ใช้ภาษาโบราณ/บทกลอน ในการสนทนา
ตัดต่อโดย Dharamvir, หนังดำเนินเรื่องไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่ได้ใช้มุมมองของตัวละครใดเป็นพิเศษ ตัดสลับเรื่องราวทั้ง จักรพรรดิอักบัร, เจ้าชาย Salim, และ Anarkali, ลีลาการตัดต่อถือว่ามีความนุ่มนวล ไม่รีบเร่ง เว้นแต่ฉากเต้นที่อาจรวดเร็วขึ้นตามอารมณ์เพลง
เพลงประกอบโดย Naushad Ali ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน บรรเลงเพลงคลาสสิกอินเดีย แต่งเนื้อร้องโดย Shakeel Badayuni, คงไม่มีหนังเรื่องไหนเหมาะสมกว่านี้อีกแล้ว เพราะทุกสิ่งอย่างในหนังคืออินเดีย เรื่องราว นักแสดง สถานที่ แล้วจะไม่ให้เพลงประกอบมีกลิ่นอาย จิตวิญญาณของความเป็นอินเดียอยู่ได้อย่างไร, ซึ่งผลลัพท์ก็ยอดเยี่ยมสมราคา มีความไพเราะรื่นหูทุกบทเพลง ท่าเต้นก็อยู่ในความพอเหมาะพอควร ดูเลิศหรูสวยงาม มีการซักซ้อมมาเป็นอย่างดี หาได้น่าเกลียดจนรับไม่ได้
การขับร้องโต้วาที (ผมไม่แน่ใจมีชื่อเรียกเฉพาะหรือเปล่า) เป็นการประชันร้องสดของสองฝ่าย (คล้ายๆการ ประชันกลอนสด) เพื่อแสดงความคิดเห็นในประเด็นหัวข้อหนึ่ง และจะมีกรรมการตัดสินว่าฝั่งไหนมีลีลา คำร้อง สัมผัส และเหตุผลที่ยอดเยี่ยมกว่า, ในหนังคือเพลง Teri Mehfil Mein ขับร้องโดย Lata Mangeshkar และ Shamshad Begum โต้เถียงกันในหัวข้อคือ ความรักคืออะไร?
ใจความของหนังเรื่องนี้ คือการตั้งคำถามระหว่าง หน้าที่การงาน กับ ความรัก, ความเหมาะสมถูกต้อง กับ ความต้องการของจิตใจ, ระหว่างพ่อกับลูก ที่ทุกสิ่งอย่างต่างขัดแย้ง เข้าใจตรงกันข้าม, ถ้าเป็นในบ้านเมือง ประเทศที่กษัตริย์เป็นผู้นำเผด็จการ มีความเฉียบขาด ไร้ซึ่งความเมตตาปราณี เจ้าชายคงถูกประหารชีวิตไปนานแล้ว แต่นี่เพราะรัชสมัยจักรพรรดิอักบัร พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม ไม่ว่าเจ้าชายจะกระทำผิดมหันต์ประการใดมา ก่อกบฎสงครามภายในนับครั้งไม่ถ้วน พระองค์ก็พร้อมให้อภัยเสมอ
ความขัดแย้งของหนังถือเป็นสัจธรรมหนึ่งของชีวิต มีคนรักก็ต้องมีคนเกลียด มีขาวก็ต้องมีดำ มีเกิดก็ต้องมีตาย มีคนให้ต้องมีคนรับ มีคนเสียสละก็ต้องมีคนหวงทุกสิ่งอย่าง, ส่วนตัวผมไม่สามารถตัดสินเลือกฝั่งได้ ว่าใครผิดใครถูก แต่ละคนก็มีเหตุผลของตนเอง ในหลักการความเชื่อ อุดมการณ์ สัจจะ ศักดิ์ศรี ที่ไม่อาจยอมอ่อน ต่อสิ่งใดๆให้กับฝั่งตรงข้ามได้
จริงๆวิธีแก้ปัญหามันง่ายมากเลยนะ คือให้ทั้งสองฝ่ายมาบรรจบที่ตรงกลาง คุยกันเปิดอก ยอมรับ ให้อภัย ต่อหน้า ไม่มีลับหลังหรือลับลมคมใน, มันเป็นไปไม่ได้ยังไงที่เจ้าชายจะแต่งงานกับหญิงสาวคนรับใช้ไม่ได้ สิ่งที่ค้ำคออยู่คือศักดิ์ศรีและความเย่อหยิ่งของคนสมัยนั้น, นี่เป็นสิ่งน่าเห็นใจนะครับ หนังพยายามทำให้ผู้ชมเข้าใจความขัดแย้งนี้ เพื่อให้หวนตระหนักถึงตนเอง ที่แม้หนังจะไม่ให้คำตอบอะไรเรา แต่ก็มันไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเสมอไป คงได้แค่หวังว่าการเลือกนี้จะไม่เกิดขึ้นกับตัวเรา
Mughal-e-Azam คือหนังที่ใช้ทุนสร้างสูงสุดของ Bollywood สมัยนั้น และนับเป็นศตวรรษ, เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายตัดเย็บใน Delhi, ปักลายที่ Surat, เครื่องประดับจาก Hyderabad, มงกุฎจาก Kohlapur, อาวุธตีขึ้นที่ Rajastha และรองเท้าทำที่ Agra, ฉากสงครามมีอูฐ 2,000 ตัว, ม้า 4,000 ตัว และนักแสดงประกอบฉากอีก 8,000 คน รวมแล้วทุนสร้างอยู่ประมาณ ₹10-15 ล้าน crore
ออกฉายเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมปี 1960 ทำเงิน ₹55 ล้าน crore (=₹1,327 ล้าน crore ในปี 2009) ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม (All-Time Blockbuster) กลายเป็นหนังทำเงินสูงที่สุดขณะนั้น แซงหน้า Mother India (1957) เจ้าของสถิติเดิม ₹40 ล้าน crore อย่างไม่เห็นฝุ่น และยึดครองสถิตินี้ยาวนานถึง 15 ปี ก่อนถูกทำลายโดย Sholey (1975)
ถึงหนังจะทำเงินมหาศาล แต่กวาดรางวัลความสำเร็จไม่มากเท่าไหร่, รางวัลใหญ่สุดที่ได้รับคือ National Film Award สาขา Best Feature Film in Hindi, นอกจากนี้เข้าชิง Filmfare Award 7 สาขา ได้มาแค่ 3 รางวัล
– Best Film **ได้รางวัล
– Best Director
– Best Actress (Madhubala)
– Best Playback Singer
– Best Music
– Best Cinematography ** ได้รางวัล
– Best Dialogue ** ได้รางวัล
ถือว่าน้อยกว่าผิดคาด กับความยิ่งใหญ่ของหนังนี้ เพราะนักแสดงนำชายทั้งสอง Prithviraj Kapoor กับ Dilip Kumar ไม่ได้เข้าชิง, แล้วยัง Best Art Direction, Best Costume ไม่ได้เข้าชิงด้วย เป็นไปได้ยังไง!
ในปี 2002 มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งของ India ต้องการฟื้นฟู บูรณะปรับปรุงฟีล์มหนังเรื่องนี้ และต้องการทำ Colourisation ใส่สีให้กับฟีล์มขาว-ดำ, ได้ลองติดต่อให้ hollywood ช่วยประเมินราคา ก็พบว่างบประมาณอยู่ที่ $12–15 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงเกินไป นักลงทุนจึงกลับมาพูดคุยกับ Indian Academy of Arts and Animation (IAAA) ในการก่อตั้งทีมงานบูรณะฟีล์มหนังของอินเดียขึ้นมาเอง ซึ่งคงจะประหยัดงบประมาณได้มากในระยะยาว, ทีมงานใช้เวลา 8 เดือนพัฒนาโปรแกรม สำหรับเทียบเคียงสีความเข้มสว่างจากฟีล์ม Negative กับสีธรรมชาติ และอีก 10 เดือนสำหรับทดลองกับหนังเรื่องนี้ ได้ออกฉายปี 2004 ผลลัพท์ออกมาถือว่าน่าพึงพอใจมาก ความคลาสสิกของหนังได้แปรเปลี่ยนให้คนรุ่นให้ได้เห็น สัมผัส ซึมซับได้ง่ายขึ้น ถ้าไม่เคยรู้มาก่อนว่านี่เป็นหนังขาว-ดำ ได้ดูฉบับหนังสีอาจคิดว่าเป็นหนังฟีล์มสีจริงๆ, ซึ่งหลังจากทำสำเร็จกับหนังเรื่องนี้ ได้มีการประเมินราคา สำหรับภาพยนตร์ที่ต้องการทำ Colourisation ในอินเดีย 1 ชั่วโมง จะใช้งบประมาณเพียง ₹20 ล้าน crore (=$300,000 เหรียญ)
ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้มาก ติดใจในความวิจิตรตระการตาอลังการ เรื่องราวสุดคลาสสิกเลอค่า แม้จะบางฉากดูตุปัดตุเป๋ไปบ้าง แต่ยังอยู่ในขั้นพอรับได้ กับ 3 ชั่วโมงถือว่าเต็มอิ่มคุ้มค่า แฝงคำถามข้อคิดดีๆ ที่คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ตก
นี่เป็นหนังที่หาดาวน์โหลดเถื่อนแบบซับอังกฤษดีๆไม่ได้เลยนะครับ ถ้าใครฟัง Hindi ออกก็โชคดีไป มีหนังเต็มเรื่องอยู่บน Youtube, ชี้เป้าให้ที่ amazon prime กับคนที่พร้อมยอมเสียเงิน มีซับอังกฤษคุณภาพดี แถมเลือกได้ด้วยว่าจะดูฉบับขาว-ดำ หรือภาพสี
แนะนำกับคอหนังประวัติศาสตร์สุดอลังการ ทั้งการออกแบบ เสื้อผ้าหน้าผม ที่สุดวิจิตรตระการตา, ผู้ชื่นชอบเรื่องราวความรักโรแมนติกที่ต้องเลือกระหว่าง ความรักกับการเสียสละ, แฟนหนัง Prithviraj Kapoor, Dilip Kumar และ Madhubala ไม่ควรพลาด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนรักหนัง bollywood นี่เป็นเรื่องที่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” จะฉบับขาว-ดำ หรือภาพสีก็ได้แล้วแต่ชอบ เคียงคู่กับ Mother India (1957) และ Sholey (1975) หนังอินเดีย 3 เรื่องนี้ ถ้ายังไม่ได้ดู ถือว่าคุณยังไม่ใช่แฟนหนัง bollywood ตัวจริง
จัดเรต PG กับความรัก และความขัดแย้ง
Leave a Reply