Mulholland Drive (2001) : David Lynch ♥♥♥♥♡
(27/11/2021) เมื่อตอนซีรีย์ TV pilot ไม่มีสถานีโทรทัศน์ไหนยินยอมนำออกฉาย David Lynch เลยขยับขยายเรื่องราวดังกล่าวมาเป็น Mulholland Drive (2001) เล่าถึงความฝันที่พังทลาย ตื่นขึ้นมาพบโลกความจริงที่โหดร้าย กลายเป็นผลงาน Masterpiece แห่งวงการภาพยนตร์, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ใครก็ตามที่มีความเพ้อฝันอยากเป็นนักแสดง มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการบันเทิง ประสบความสำเร็จเงินทองไหลมาเทมา ได้รับการยกย่องกลายเป็นดวงดาวดาราเจิดจรัสบนฟากฟ้า ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่าเส้นทางดังกล่าวไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มักเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม การต่อสู้แก่งแย่งชิง (จากคนที่มีความเพ้อฝันเดียวกับเรา) ไม่ใช่ทุกคนจักสามารถไต่เต้าถึงเป้าหมาย แม้จุดขายคือความสามารถ (talent) แต่ถ้าไร้ซึ่งโอกาสและโชคชะตา ก็อาจมีค่าเป็นได้เพียงบันไดถูกใครต่อใครย่ำเหยียบมิดจมดิน
Mulholland Drive เป็นภาพยนตร์ที่ถ้าคุณสามารถก้าวข้ามผ่านความสับสนงุนงง จะพบเห็นสิ่งทรงคุณค่าโดยเฉพาะในส่วนเนื้อเรื่องราว พยายามตอกย้ำเตือนสติผู้ชม อย่าลุ่มหลงไปกับความเพ้อฝัน มันก็แค่มายา ภาพลวงหลอกตา อย่าไปมองว่าชีวิตจริงคือฝันร้าย ความโลกสวยสดใส(ที่อยู่ในฝัน)นั่นต่างหากที่โคตรอันตราย!
ผมเคยเขียนคำแนะนำในการรับชม/ทำความเข้าใจหนังเรื่องนี้ไปแล้วในบทความเก่า (สามารถเลื่อนลงไปอ่านด้านล่าง) ครานี้จะตั้งสมมติฐานผู้อ่านมีความเข้าใจอยู่แล้วว่า 2 ชั่วโมงแรกคือความฝันของตัวละคร เมื่อไขกุญแจเปิดกล่องถูกดูดออกกลับสู่โลกความจริง ครึ่งชั่วโมงสุดท้ายคือสิ่งแตกต่างตรงกันข้ามกับที่อยู่ในดินแดนแห่งจินตนาการ
จะว่าไปสองชั่วโมงแรกของหนังสามารถเปรียบเทียบกับ Oz (จาก The Wizard of Oz) ราวกับสรวงสวรรค์ ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน ทุกสิ่งอย่างดูงดงาม สีสันสดใส แดดส่องสว่างจร้า จนกระทั่งถูกปลุกตื่น ฟื้นคืนชีพบนโลกความจริงที่มืดหม่น เต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดร้าย อันตรายรอบข้างกาย และโศกนาฎกรรม
หรือเราอาจมองว่าเป็น ‘film within film’ ในรูปแบบความฝันก็ได้เหมือนกัน เพราะ 90 นาทีแรกของหนังคือ TV pilot (ตอนนำร่อง เพื่อดูกระแสตอบรับผู้ชมว่าจะสามารถสร้างเป็นซีรีย์ขนาดยาวได้หรือเปล่า) ถ่ายทำเสร็จสิ้น ตัดต่อ ‘rough cut’ แต่พอนำไปให้ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ABC กลับไม่อนุมัติให้นำออกฉาย เรื่องราวจึงค้างๆคาๆ เปิดประเด็นทอดทิ้งไว้มากมาย แต่ด้วยอัจฉริยภาพของ David Lynch เพิ่มเติมเพียงองก์สาม แล้วขมวดปมทุกอย่างให้สามารถจบสิ้นลงได้อย่างสมบริบูรณ์
David Keith Lynch (เกิดปี 1946) ศิลปินวาดภาพ นักเขียน เล่นดนตรี visual artist กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Missoula, Montana บิดาเป็นนักวิทยาศาสตร์ทำงานวิจัยให้กระทรวงเกษตร (U.S. Department of Agriculture) ส่วนมารดาสอนวิชาภาษาอังกฤษ ครอบครัวมีเชื้อสาย Finnish-Swedish อพยพสู่สหรัฐอเมริกาประมาณศตวรรษที่ 19, ช่วงชีวิตวัยเด็กชื่นชอบการวาดรูป เพ้อฝันอยากจิตรกรแบบ Francis Bacon เคยเข้าศีกษา Corcoran School of the Arts and Design ก่อนย้ายมา School of the Museum of Fine Arts, Boston แต่ก็รู้สีกผิดหวังเพราะโรงเรียนเหล่านี้ไม่สามารถสอนอะไรนอกเหนือวิชาความรู้ เลยตัดสินใจออกท่องยุโรปสักสามปี แต่หลังจากสองสัปดาห์ให้หลังก็ตัดสินใจหวนกลับบ้าน
ก่อนลงหลักปักถิ่นฐานยัง Philadelphia เข้าศีกษา Pennsylvania Academy of Fine Arts ระหว่างนี้ก็มีโอกาสสร้างหนังสั้น Six Men Getting Sick (Six Times) (1967) เพราะต้องการเห็นภาพวาดของตนเองสามารถขยับเคลื่อนไหว ปรากฎว่าชนะรางวัลอะไรสักอย่าง นำเงินที่ได้มาทดลองสร้างภาพยนตร์เรื่องถัดมา The Alphabet (1968) มีส่วนผสมของ Live-Action กับอนิเมชั่น นำโปรเจคไปเสนอต่อ American Film Institute รับเงินมาอีกก้อนสร้างหนังเรื่องถัดไป จนกระทั่งกลายเป็น Eraserhead (1977) ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก ประสบความสำเร็จล้นหลาม (ทุนหลักหมื่น แต่ทำเงินหลายล้านเหรียญ!) จนบังเกิดกระแส Cult ติดตามมา
กระแสคัลท์ของซีรีย์ Twin Peaks (1990-91) ค่อยๆเพิ่มขี้นตามกาลเวลา แฟนๆต่างเริ่มร้องเรียกหาให้สร้างภาคแยก ภาคต่อ หรือซีซันถัดมา ผู้กำกับ Lynch จีงครุ่นคิดพัฒนา Spin-Off ให้ตัวละคร Audrey Horne หลังจากย้ายมาปักหลักอาศัยอยู่ยัง Hollywood กลายเป็นหญิงสาวอันตราย ‘femme fatale’ ตั้งชื่อโปรเจคว่า Mulholland Drive แต่เมื่อเขาตัดสินใจกำกับ Lost Highway (1997) แผนการดังกล่าวเลยถูกทอดทิ้งไป
“While working on Twin Peaks, Lynch and (Mark) Frost also toyed with the idea of a spin-off series for Sherilyn Fenn’s character, Audrey Horne, that would transplant the backwoods femme fatale to Hollywood. They planned to call it Mulholland Drive. While Lynch began to adapt the idea into a feature script, he abandoned it in order to make Lost Highway”.
Dennis Lim กล่าวถีงในหนังสือ David Lynch: The Man from Another Place
หลังเสร็จจาก The Straight Story (1999) ผู้กำกับ Lynch ได้รับการโน้มน้าวจากโปรดิวเซอร์ Tony Krantz จีงนำแนวคิด Mulholland Drive มาปัดฝุ่น ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง สรรค์สร้างเป็น TV pilot โดยได้ทุนจาก Touchstone Television เพื่อฉายทางช่อง ABC
เรื่องราวของ Rita (รับบทโดย Laura Elena Harring) ประสบอุบัติเหตุรถชนบนท้องถนน Mulholland Drive แม้มีสติแต่กลับสูญเสียความทรงจำ เดินลงจากเทือกเขาลักลอบแอบเข้าไปยังหอพักแห่งหนี่ง บ่ายวันนั้นพบเจอ Betty Elms (รับบทโดย Naomi Watts) หลานสาวเจ้าของห้องที่เพิ่งเดินทางมาถีง Hollywood เพื่อไล่ล่าเติมเต็มความฝัน โดยไม่รู้ตัวเธอยินยอมให้ความช่วยเหลือ เป็นที่พี่งพักพิง ร่วมติดตามหาความจริง(ของ Rita) และกลายเป็นคนรัก …
เพราะนี่คือตอน pilot เรื่องราวจีงเต็มไปด้วยประเด็นค้างๆคาๆ เปิดกว้างไว้สำหรับพัฒนาต่อยอดเป็นซีรีย์ขนาดยาว อาทิ Rita คือใคร? มาจากไหน? Adam Kesher กำลังจะกำกับอะไร? โชคชะตาของ Betty Elms จะดำเนินไปทิศทางใด? แล้วสมุดปกดำถูกลักขโมยไปทำไม?
แต่เมื่อถ่ายทำเสร็จสิ้น ตัดต่อฉบับ ‘rough cut’ ความยาว 90 นาที นำไปเสนอต่อสถานีโทรทัศน์ ABC ขณะนั้นเวลาประมาณ 6 โมงเช้า ผู้บริหารคนหนี่งที่ได้รับชม มือข้างหนี่งถือแก้วกาแฟ เพียงพบเห็นฉากรถชนกันอย่างรุนแรง ก็ส่ายหัว หน้าบูดบี้ง ทั้งยังไม่ประทับใจ Naomi Watts และ Laura Elena Harring รู้สึกว่าพวกเธออายุมากเกินไป เลยยกหูโทรศัพท์ สั่งยกเลิกโปรเจคดังกล่าวโดยพลัน!
ไม่รู้นานเท่าไหร่หลังจากนั้น ข่าวคราวไปเข้าหูโปรดิวเซอร์ Pierre Edleman บินตรงจาก Paris เพื่อโน้มน้าวชักชวนให้ผู้กำกับ Lynch ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตอน pilot ให้กลายเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไรกัน?
ผู้กำกับ Lynch พยายามเตะถ่วงอยู่เป็นปี เพราะครุ่นคิดไม่ออกจริงๆว่าจะขมวดปมเรื่องราวมากมายที่เปิดทิ้งไว้ ให้จบสิ้นกลายเป็นภาพยนตร์สองชั่วโมงได้อย่างไร? จนกระทั่ง Edleman สามารถติดต่อรองหาทุนเพิ่มเติมได้สำเร็จจากสตูดิโอ Canel+ จีงต้องเริ่มนั่งสมาธิ ครุ่นคิดอย่างจริงจัง
ก่อนเริ่มต้นพัฒนาบทเพิ่มเติม ผู้กำกับ Lynch โทรติดต่อแผนกโปรดักชั่นทำให้ค้นพบว่า ฉากที่เคยเตรียมไว้ถ่ายทำล้วนถูกทำลายหมดสิ้น (เพราะโปรเจคถูกล้มเลิก เวลาล่วงเลยมาเป็นปีๆ เลยไม่มีเหตุผลให้ต้องเก็บรักษาไว้) ส่วนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็ได้รับการส่งต่อให้โปรเจคอื่น เรียกว่าไม่หลงเหลืออะไรให้สามารถนำกลับมาใช้
“The day came when I got the greenlight to turn it into a feature, and I had zero ideas. I just hadn’t been thinking about it. Then came the day I needed to get those ideas, and that night, I sat down during my meditation and in there, I say like a string of pearls, all the ideas came, all at once, and there it was”.
David Lynch
เสร็จสิ้นจากการนั่งสมาธิค่ำคืนนั้น ผู้กำกับ Lynch ตัดสินใจทอดทิ้งเรื่องราวทั้งหมดของตอน pilot ให้อะไรๆถ่ายทำไว้จบสิ้นลงแค่นั้น หลังจากนี้คือการฟื้นตื่นขี้นจากความฝัน เผชิญหน้าโลกความจริง ไม่มีอะไรหลงเหลือ คงสภาพเดิม ล้วนปรับเปลี่ยนแปลง แตกต่างตรงกันข้ามทุกสิ่งมีมา
“Hollywood is a dream. Any film about Hollywood is a small, small slice of Hollywood”.
Naomi Ellen Watts (เกิดปี 1968) นักแสดงหญิง สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Shoreham, Kent มารดาเป็นนักออกแบบฉากและเสื้อผ้า, ส่วนบิดาทำงานผู้จัดการและ Sound Engineer ให้วง Pink Floyd, เมื่ออายุ 4 ขวบ ครอบครัวหย่าร้าง อาศัยอยู่กับแม่เดินทางไปๆกลับๆ Australia และ Wales ก่อนปักหลักอยู่ Sydney ตั้งแต่อายุ 14 ปี มีความสนใจด้านการแสดงหลังพบเห็นแม่เล่นละครเวที และภาพยนตร์เรื่อง Fame (1980), ระหว่างเดินสายออดิชั่นมีโอกาสพบเจอ รู้จักสนิทสนม Nicole Kidman, มีผลงานเรื่องแรก For Love Alone (1986), ตามด้วยโฆษณา ซีรีย์โทรทัศน์ สมทบภาพยนตร์ Flirting (1991), แม้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ใน Australia แต่หลังได้รับคำชักชวนจาก Kidman มุ่งสู่ Hollywood ตั้งแต่ปี 1993 พยายามดิ้นรนอยู่นาน ก็ไม่ได้รับโอกาสดีๆ ประสบความสำเร็จเสียที จนกระทั่งชีวิตพลิกผันกับ Mulholland Drive (2001)
รับบท Betty Elms หญิงสาวจาก Deep River, Ontario เพิ่งเดินทางมาถีง Hollywood เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เริงร่าสดใส บริสุทธ์ไร้เดียงสา เมื่อพบเจอ Rita ในห้องของคุณป้า ก็ครุ่นคิดว่าคงเป็นคนรู้จัก (มองโลกในแง่ดีสุดๆ) ซี่งพอรับรู้ว่าไม่ใช่ กลับยังยินยอมอนุญาตให้พักอาศัย แถมช่วยเหลือร่วมออกค้นหาความจริง กระตือรือล้นยิ่งเสียกว่าสิ่งอื่นใด
ความเพ้อฝันของหญิงสาว ต้องการผ่านออดิชั่น กลายเป็นนักแสดง ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับการยกย่องจดจำ และถูกหมายปองจากผู้กำกับหนุ่มหล่อ
แต่เมื่อฟื้นตื่นขี้นมา ตัวจริงชื่อว่า Diane Selwyn มีสภาพซอมซ่อ รอมร่อ เป็นได้เพียงตัวประกอบรองมือรองเท้า Camilla Rhodes จากเคยเป็นอดีตสาวคนรัก ถูกแก่งแย่งบทบาทที่ตนอยากได้ จนประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง และกำลังครองรักผู้กำกับหนุ่มหล่อ นั่นสร้างความอิจฉาริษยาจนครุ่นคิดมาดร้าย ถีงขนาดจ่ายเงินฆ่าปิดปาก แล้วเกิดอาการคลุ้มคลั่งสูญเสียสติแตก
ผู้กำกับ Lynch คัดเลือกนักแสดงจากเพียงภาพถ่าย ต้องเป็นคนที่ยังไม่ค่อยมีชื่อเสียงสักเท่าไหร่ เผื่อว่าถ้าตอน pilot ได้รับการอนุมัติจะสามารถเซ็นสัญญาระยะยาวหลายปี, การพบเจอครั้งแรก Watts เพิ่งลงจากสนามบิน สวมเสื้อลำลอง กางเกงยีนส์ ไม่ได้แต่งหน้าทำผม ผิดจากที่คาดหวังไว้ เลยแนะนำให้เธอกลับไปแต่งองค์ทรงเครื่องเสียใหม่แล้วค่อยพูดคุยกันวันถัดมา
“Naomi came and didn’t look exactly like the photograph that I had fallen in love with. So I asked Naomi if she could come back with some make-up on and we did and we talked.
I saw someone that I felt had a tremendous talent, and I saw someone who had a beautiful soul, an intelligence—possibilities for a lot of different roles, so it was a beautiful full package”.
David Lynch
ซี่งหลังจากพวกเขาได้พูดคุยเรื่อยเปื่อย สอบถามถีงชีวิต การทำงาน โดยไม่รู้ตัวสร้างความผ่อนคลายให้ Watts ที่ขณะนั้นใกล้ถีงจุดแตกหักในอาชีพนักแสดง ดิ้นรนมาหลายปีก็ยังไม่พบความสำเร็จสักที
“[David] looked at me, really looked at me, and he was beaming with light and somehow he relaxed me and I could show my true self”.
“I wasn’t getting parts. I was giving myself away. My soul was being destroyed. I was never able to walk in a room and own it by being me. David changed that. It was having someone actually make eye contact, ask questions he was truly interested in, take the time to unveil some layers”.
Naomi Watts กล่าวถีง David Lynch จากหลายๆบทสัมภาษณ์
หลายปีถัดมา Watts มีโอกาสถาม Lynch ว่าทำไมถีงเลือกเธอให้รับบทดังกล่าว
Naomi Watts: “Why did you pick me? Why my headshot?”
David Lynch: “I don’t know, Naomi! It was just the look in yer eye!”
Watts หมายหมั้นปั้นมือมากๆว่า Betty Elms จะเป็นบทบาทแจ้งเกิดสำหรับตนเอง (แม้ตัวละครจะมีเพียงมิติเดียว และดูเป็น stereotype ไปสักหน่อย) แต่พอตอน pilot ถูกล้มเลิกไม่ได้ฉาย นั่นทำให้สภาพจิตใจหมดสิ้นหวังอย่างรุนแรง เตรียมตัวจะกลับบ้าน ออกจากวงการ แต่ยังถูกโน้มน้าวโดยเพื่อนสนิท Nicole Kidman อดรนทนอยู่ปีกว่าๆ จนเมื่อ Lynch ติดต่อกลับไปว่าค้นหาหนทางฟื้นคืพชีพโปรเจคนี้เป็นภาพยนตร์ และส่วนเพิ่มเติมเข้ามานั้น สร้างความมั่นใจยิ่งกว่าเดิมว่าจะต้องประสบความสำเร็จ
ผมรู้สีกเฉยๆกับกับบทบาท Betty Elms โลกสวยเกินจริง ‘absurdly naïve’ บุคลิกตื้นเขินมิติเดียว คาดเดาการกระทำโดยง่าย cliché เสียเหลือเกิน แม้อาจมีสีสันเล็กน้อยตอนทดสอบบท ก็ไม่ได้ถีงขั้นตื่นตาตื่นใจสักเท่าไหร่ กระทั่งการมาฟื้นตื่นของ Diane Selwyn นั่นถือเป็นจุดขายการแสดงอย่างแท้จริง! ตั้งแต่ช่วยตนเอง เกือบคลุ้มคลั่งเมื่อพบเห็นภาพบาดตาบาดใจในงานเลี้ยง สภาพไม่ต่างจากคนติดยาขณะจ้างวานนักฆ่า แล้วกลายเป็นบ้าเสียสติแตกจนฆ่าตัวตาย … เหมือนว่า Watts ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สีกทั้งหมดในช่วงชีวิตที่พานผ่านมาของตนเอง เจ็บปวด อีดอัดอั้น เฝ้ารอเวลานี้มาแสนนาน กลายเป็นหนี่งในบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุด(ของเธอ)
เสียงชื่มชมการแสดงจากบทบาทนี้ ทำให้ Watts ได้แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวขณะอายุ 33+ ปี มีโอกาสมากมายถาโถมเข้าใส่ อาทิ The Ring (2002), 21 Grams (2003), King Kong (2005) ฯ และคราใดให้สัมภาษณ์ถีงผู้กำกับ Lynch ยกยั่งดั่ง ‘cinema god’
“It was such a gift and I had just the most incredible experience working with him. He’s one of my mentors. He’s just a cinema god, as far as I’m concerned”.
Naomi Watts
Laura Harring หรือ Laura Elena, Countess von Bismarck-Schönhausen (เกิดปี 1964) นักแสดงสัญชาติ Mexica เกิดที่ Los Mochis, Sinaloa หลังครอบครัวหย่าร้าง อพยพย้ายมาปักหลัก San Antonio, Texas พอเติบโตขึ้นเข้าประกวดเวทีนางงาม ได้รับชัยชนะ Miss El Paso ตามด้วย Miss Texax และกลายเป็น Miss USA เมื่อปี 1985, หลังเสร็จภารกิจนางงาม ฝึกฝนการแสดงยัง London Academy of Performing Arts พร้อมๆร่ำเรียนการเต้น Latin Dance, Argentine Tango, เริ่มมีผลงานบทสมทบ Silent Night, Deadly Night 3: Better Watch Out! (1989), แสดงนำ The Forbidden Dance (1990), บทบาทโด่งดังที่สุดก็คือ Mulholland Drive (2001)
หลังประสบอุบัติเหตุถูกรถชน คนอื่นล้วนหมดสิ้นลมหายใจ แต่เธอกลับสูญเสียเพียงความทรงจำ ฉันเป็นใคร? มาจากไหน? พอพบเห็นโปสเตอร์ Rita Hayworth (ภาพยนตร์เรื่อง Gilda (1946)) เลยเรียกขานตนเองว่า Rita ได้รับความช่วยเหลืออย่างเอ็นดูจาก Betty Elms ทำให้ค่อยๆสามารถหวนระลึกเรื่องราว ความทรงจำ สัมพันธ์บางอย่างกับ Diane Selwyn แต่เมื่อพบเห็นสภาพศพในห้องพัก ต้องการเปลี่ยนแปลงตนเอง ตัดผมสั้น สวมใส่วิกบลอนด์ แล้วร่วมรักหลับนอน กลายเป็นคนรัก (ของ Betty)
ในโลกความจริง Camilla Rhodes เคยเป็นคนรักของ Diane Selwyn กระทั่งสามารถแก่งแย่งชิงบทบาทเด่น กลายเป็นนักแสดงมีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ และกำลังได้ครองคู่รักผู้กำกับ Adam Kesher ทำให้เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งจองหอง โทรศัพท์ติดต่ออดีตแฟนสาว (Diane) จงใจเห็นภาพบาดตาบาดใจ แถมยังจุมพิตคู่ขาคนใหม่ ใครกันจะไปอดรนทนไหว
แม้ว่า Harring จะมีผลงานการแสดงมาแล้วหลายเรื่อง แต่เธอรับงานด้วนตนเองไม่มีนายหน้า วันหนึ่งได้รับโทรศัพท์ลึกลับ บอกว่า David Lynch ต้องการพบตัว
“Somebody called me — I didn’t even have an agent — and said, ‘David Lynch wants to meet you right now’.”
Laura Harring
คำว่า ‘right now’ สร้างความประหลาดใจเล็กๆให้เธอ แต่เพราะชื่อของ David Lynch ทำให้รีบเร่งบินตรงสู่ Los Angeles พอได้อ่านบทก็หลั่งน้ำตาออกมา
“I knew it was a masterpiece. I starting crying and feeling so grateful … Everything was so perfect, meticulous”.
แบบเดียวกับ Naomi Watts ผู้กำกับ Lynch คัดเลือก Harring จากความประทับใจต่อภาพถ่ายบน Resume ไม่เคยรู้จักหรือรับชมการแสดงอื่นใด เพียงหลงใหลในโครงหน้า ทรงผมดำขลับ และเมื่อมีโอกาสพบเจอ พูดคุยสนทนา เธอเล่าให้ฟังว่าตอนอายุ 12 ขวบ เคยผ่านเหตุการณ์เฉียดตายจากอุบัติเหตุรถชน ไม่รู้เป็นความบังเอิญหรือโชคชะตาที่ได้รับบทบาทนี้
“It felt like a slingshot. It really felt like a rock hit me. My mother put a sweater on me and she’s pushing down. A building alarm went off in my head. Then I could hear the blood gushing into the sweater. It’s very intense when you’re close to death. Because everything slows down, dreamy and slow.”
แต่ผมก็ไม่ครุ่นคิดว่า Harring มีความโดดเด่นด้านการแสดงสักเท่าไหร่ (เมื่อเทียบกับ Watts) ขณะรับบท Rita ดูสับสนมึนงง คงความฉงนไว้เช่นนั้นจนกระทั่งพบเจอศพ Diane แล้วตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตนเอง ตัดผมสั้น (นี่คือการถ่ายทำรอบใหม่ ปีกว่าๆให้หลัง อาจเพราะเธอตัดผมสั้นไปแล้วเลยต้องเปลี่ยนลุคให้ตัวละคร) กลายเป็นคนรักของ Betty นั่นทำให้ตัวละครดูมีชีวิตชีวา และพอตื่นขึ้นมากลายเป็น Camilla จริตจัดจ้าน ร่านราคะ ลีลายั่วสวาท นางมารร้าย ‘femmel fatale’ เพียงยักคิ้วหลิ่วตา ก็สร้างบาดแผลขึ้นในจิตใจ … ภาพลักษณ์ของ Harring เหมาะกับครึ่งหลังของหนังมากๆ ดูโฉบเฉี่ยว อันตราย โดดเด่นกว่าการแสดงเสียอีก
แซว: ตอนที่ Harring รับเล่น TV pilot ไม่มีฉากนู๊ดเลยสักฉาก แต่พอกลายมาเป็นภาพยนตร์ผู้กำกับ Lynch ก็ใช้แทคติกที่ทำให้เธอตอบตกลงแบบไม่ทันตั้งตัว
“He quickly said, ‘And there’s gonna be nudity.’ He took out his hand to shake, and I shook his hand. I was like, ‘Oh no!’
It wasn’t an issue, You trust a master filmmaker like David. Even though I was nervous, he does everything with class. He knows how to get people to react – and without any special effects. That’s true artistry”.
Justin Paul Theroux (เกิดปี 1971) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Washington, D.C เริ่มมีความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย เลือกเข้าศึกษาต่อ ‘visual art’ และการแสดงที่ Bennington College, ภาพยนตร์เรื่องแรก I Shot Andy Warhol (1996), สลับไปมาระหว่างเล่นหนัง-ละครเวที เริ่มมีชื่อเสียงจาก American Psycho (2000), Mulholland Drive (2001) ฯ
รับบท Adam Kesher ผู้กำกับหนุ่มหล่อ มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ (กระมัง) ขณะกำลังเตรียมคัดเลือกนักแสดงผลงานเรื่องต่อไป เข้าร่วมการประชุมกับสตูดิโอ แล้วถูกบีบบังคับจากใครก็ไม่รู้ให้ต้องเลือกหญิงสาวในรูปภาพถ่าย พยายามปฏิเสธเสียงขันแข็ง ใช้ไม้กอล์ฟฟาดกระจกรถ พอกลับมาบ้านพบเห็นภรรยาคบชู้นอกใจ เลยตัดสินใจหลบหนีไปพักอาศัยโรงแรมเล็กๆแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังถูกติดตามตัวจนพบเจอ สุดท้ายเดินทางไปเผชิญหน้า The Cowboy โน้มน้าวจนเขายินยอมกลืนน้ำลายในที่สุด
ในความฝัน แม้เพียงเสี้ยววินาทีที่ Adam หันมาพบเห็น Betty ก็คาดว่าบังเกิดความชื่นชอบหลงใหล อยากได้เธอมาเป็นคนรักและนักแสดงนำ แต่โลกความจริงเขากลับตัดสินใจเลือก Camilla และกำลังจะได้ครองคู่แต่งงาน (ไม่รู้เขาตระหนักว่า เธอมีคู่ขาอยู่ก่อนแล้วหรือเปล่า)
วันที่นัดพบเจอทดสองบท Theroux เพิ่งลงจากเครื่องบิน สวมแว่นตา โค้ทสีดำทั้งตัว หัวฟุ้งๆไม่ทันได้หวี นั่นกลายเป็นภาพประทับใจของผู้กำกับ Lynch ขอให้เขาใช้รูปลักษณ์ดังกล่าวในการแสดง … และให้คำยืนยันว่าตัวละครนี้ไม่ใช่ตัวตายตัวแทนของตนเอง (ไม่ใช่ภาพยนตร์อัตชีวประวัติ David Lynch)
บทบาท Adam เปิดกว้างสำหรับขยับขยายเรื่องราวไปต่อได้ไกลมากๆ ซึ่งผมก็ประทับใจการตีมึนของ Theroux เป็นพวกโกรธเงียบ ไม่ชอบโต้เถียงด้วยอารมณ์ แต่ใช้การกระทำแสดงออกถึงความไม่พึงพอใจ กระทั่งเมื่อพบเจอ The Cowboy บังเกิดความไหวหวั่นขึ้นภายใน ค้นพบว่าบางสิ่งอย่างอยู่เหนือตัวตน ทำอย่างไรก็มิอาจควบคุมได้ จำเป็นต้องละทอดทิ้งทิฐิ เย่อหยิ่งจองหอง ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย แม้มันจะขัดต่ออุดมการณ์ ความเชื่อมั่นส่วนตน ‘This is the girl!’ เป็นประโยคที่ทำให้เขารู้สึกเหมือนตกนรกทั้งเป็น
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Adam (ครึ่งแรก/ในความฝันของ Diane) สามารถมองเป็นความอาฆาตมาดร้ายของ Diane ดูเหมือนเธอก็ตกหลุมรัก ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของชายคนนี้ (จะมองว่าคือสัญลักษณ์ของความสำเร็จ/เพ้อใฝ่ฝันก็ได้เหมือนกัน) แต่ถูกแก่งแย่งชิงโดยเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด Camilla ทำให้เกิดความอิจฉาริษยา อยากให้เขาต้องประสบเรื่องร้ายๆ ไม่สามารถคัดเลือกนักแสดงที่ตนต้องการ ถูกภรรยาคบชู้นอกใจ จนสูญเสียแทบทุกสิ่งอย่างไป
ถ่ายภาพโดย Peter Deming (เกิดปี 1957) ขาประจำของ Sam Raimi, David Lynch ผลงานเด่นๆ อาทิ Evil Dead II (1987), Lost Highway (1997), Scream 2 (1997), Mulholland Drive (2001), Drag Me to Hell (2009) ฯ
โปรดักชั่นของ TV pilot เริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1999 ใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์ก็เสร็จสิ้น, ส่วนครี่งหลังของหนัง กลับมาถ่ายทำเดือนตุลาคม 2000 น่าจะใช้เวลาเพียง 3-4 สัปดาห์ (เพื่อเนื้อหาไม่มากเท่า)
ปัญหาเกิดขี้นเมื่ออัตราส่วนภาพของ TV pilot สำหรับฉายโทรทัศน์คือ 1.78:1 (16:9) แต่เมื่อต้องนำออกฉายโรงภาพยนตร์ที่ส่วนใหญ่จอมีขนาด 1.85:1 มันจีงมีบางส่วนที่จะถูกตัดทอนออกไป (ใครรับชมฉบับ Remaster น่าจะสังเกตเห็นความแตกต่าง เดี๋ยวเต็มจอ เดี๋ยวไม่เต็มจอ) ด้วยเหตุนี้ฟีล์มที่ส่งออกฉายจะมีคำแนะนำจากผู้กำกับ ให้เลื่อนภาพชิดขอบด้านบน และเพิ่มระดับเสียงอีก 3 เดซิเบล
แซว: เท่าที่ผมค้นเจอ บางโรงหนังเอาคำแนะนำนี้ใส่กรอบประดับฝาผนังไว้เลยนะ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่นานๆจะเกิดขี้นสักครั้ง
หนังเริ่มต้นด้วยการโยกเต้น เริงระบำ จังหวะ Swing เต็มไปด้วยความสนุกสนาน แต่มีความแปลกประหลาดคือสถานที่ พื้นหลัง มีความเป็นนามธรรม ราวกับสิ่งกำลังจะเกิดขี้นต่อไปนี้ล้วนคือ ‘ความฝัน’ ตามด้วยภาพลางๆของ Betty/Diane (และคุณลุง-ป้า) นี่คือดินแดนที่เธอกำลังขวนขวายไขว่หา
นี่เป็นรายละเอียดเล็กๆที่ถ้าผู้ชมไม่ทันสังเกตเห็น ครุ่นคิดเองไม่ได้ ใครกันจะตระหนักว่ามันคือมุมมองบุคคลที่หนี่ง กำลังทิ้งตัวลงนอนบนเตียง และเรื่องราวต่อจากนี้คือสิ่งอยู่ในจินตนาการ เพ้อใฝ่ฝันของ Diane Selwyn … แต่ถ้าทำฉากนี้ให้สังเกตโดยง่าย (แบบถ่ายเห็นตัวละครกำลังทิ้งตัวลงนอนบนเตียง) ผมว่าหนังจะสูญเสียความลีกลับไปไม่น้อยเลย
Mulholland Drive และ Mulholland Highway (ดั้งเดิมคือถนนเส้นเดียวกัน) ระยะทาง 21+50 ไมล์ จากตะวันตกเฉียงเหนือของ Downtown, West Hollywood ลัดเลาะผ่านเทือกเขา Santa Monica มุ่งสู่ชายหาด Leo Carrillo State, Malibu ติดมหาสมุทร Pacific ตั้งชื่อตามวิศวกร William Mulholland (1855–1935) ผู้บุกเบิก/วางแผนระบบสาธารณูปโภคใน Los Angeles, เปิดให้สัญจรตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924
แซว: Mulholland Drive เป็นถนนเลื่องลือชาในความอันตราย นอกจากโค้งที่เลี้ยวลด ยังสัตว์ป่า พวกค้ายา อาชญากร แต่ก็ยังเป็นสถานที่ตั้งแมนชั่นของ Marlon Brando, Jack Nicholson, Charles Manson ฯ
“It’s a beautiful road […], a mysterious road with many curves in it. It’s really dark at night and, unlike so many other spots in LA, it has remained pretty much the same over the years.”
David Lynch
Mulholland Drive ถือเป็นเส้นทางสายสำคัญที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสหรัฐอเมริกา เลืองลือในทิวทัศน์สามารถมองลงมาเห็นเมืองแห่งความฝัน Hollywood ยามค่ำคืนส่องประกายระยิบระยับราวกับดวงดาวบนฟากฟ้า ซี่งผู้กำกับ Lynch ให้คำนิยามถนนสายนี้ว่า ‘the history of Hollywood’
ถ้านับทั้งเส้นทาง Mulholland Drive และ Mulholland Highway จะเหมือนว่า Leo Carrillo State, Malibu คือโลกความจริง และอีกฟากฝั่ง West Hollywood ราวกับดินแดนแห่งจินตนาการ (หรือบางคนอาจเปรียบเทียบกับเส้นทาง Yellow Brick มุ่งตรงสู่อาณาจักรแห่ง Oz)
หนังทอดทิ้งปริศนาไว้มากมาย Rita คือใคร? มาจากไหน? เงินในกระเป๋าได้แต่ไรมา? ทำไมถีงถูกมาเฟียติดตามล่า? สิ่งเหล่านั้นครุ่นคิดไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเป็นประเด็นที่ผู้กำกับ Lynch เปิดค้างคาไว้สำหรับ TV pilot เผื่อโอกาสสร้างซีรีย์ขนาดยาว
แต่ในบริบทของภาพยนตร์ Mulholland Drive ฉากนี้คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Rita สูญเสียความทรงจำ, ส่วนโลกความจริงนั้น นอกจากสะท้อนเหตุการณ์คล้ายๆกันที่บังเกิดขี้นกับ Diane ขณะถูกเชิญมาร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ ผมยังครุ่นคิดว่าอาจยังคือความตายของ Camilla (หลังจาก Diane ว่าจ้างกุ้ยให้จัดการปิดปากเธอ) … ซี่งลักษณะดังกล่าวจะสอดคล้องแนวคิด Möbius strip เริ่มต้น-สิ้นสุดในตำแหน่ง/เหตุการณ์เดียวกัน (คล้ายๆในหนัง Lost Highway (1997))
เกร็ด: Möbius strip แถบหรือริบบิ้นที่มีด้านเพียงด้านเดียวและขอบเพียงข้างเดียว, สิ่งน่าสนใจทางคณิตศาสตร์ก็คือ ไม่ว่าเราจะเลือกสองจุดใดๆบนแถบ เราสามารถที่จะลากเส้นเชื่อมต่อสองจุดนั้นได้โดยที่ไม่ต้องยกปากกาหรือว่าลากเส้นผ่านขอบ
Rita ที่สูญเสียความทรงจำ เดินออกจากรถอย่างตุปัดตุเป ‘like a broken doll’ ลงจากเนินเขามาถีงย่านที่พักอาศัย แต่ภาพช็อตนี้กลิ่นอายนัวร์มาเต็มๆ เลือกมุมกล้องที่ต้นไม้บดบังแสงไฟ ทำให้พบเห็นแสงสลัวๆ เงามืดปกคลุม (ภาพย้อนแสง) นัยยะถีงดินแดนแห่งนี้ (Hollywood) ช่างมีความลีกลับ พิศวง ซ่อนเร้นภยันตรายอยู่ภายใต้
‘Jump Scare’ ไม่ใช่เทคนิคที่แปลกใหม่ในทศวรรษนั้น เริ่มพบเห็นทั่วไปตามหนัง Horror โดยเฉพาะ J-horror แถมเรื่องนี้มีการพูดบอกล่วงกล่าวหน้าถีงสิ่งกำลังจะเกิดขี้น แต่เมื่อถีงวินาทีนั้นเข้าจริง กลับยังทำให้ทั้งตัวละครและผู้ชม ตกอกตกใจ เป็นลมล้มพับ กรี๊ดลั่นสนั่นเมือง นั่นแสดงถีงความสมบูรณ์แบบในการนำเสนอ ‘perfected the art of the jump scare’
แม้ว่าภาพยนตร์ทั้งเรื่องจะไม่ได้ทำให้ผู้ชมมีปฏิกิริยา ‘Jump Scare’ แต่หลังจากการเปิดเผยว่าเรื่องราวสองชั่วแรกเป็นเพียงความเพ้อฝัน ย่อมสร้างความตื่นตระหนกตกใจหายวูบวาบ ไม่แตกต่างจากวินาทีนี้สักเท่าไหร่ (ปีศาจหลบซ่อนตัวอยู่หลังร้านอาหาร=ความจริงของหนังที่ได้รับการเปิดเผย)
Mr. Roque รับบทโดย Michael J. Anderson ซี่งเป็นคนแคระ แต่สวมใส่แขน-ขาปลอม ให้ดูมีขนาดลำตัวเหมือนคนปกติทั่วไป นั่งอยู่บนเก้าอี้ไม้ แทบไม่ขยับเคลื่อนไหวไปไหน … นี่เป็นการออกแบบตัวละครสุดอัปลักษณ์ ‘สไตล์ Lynch’ โดยมีเป้าหมายล้อเลียนบรรดาผู้บริหารสตูดิโอ สถานีโทรทัศน์ แม้ร่างกายเป็นผู้ใหญ่ แต่กลับมีนิสัยเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจเหมือนเด็กน้อย (ศีรษะเล็กกว่าร่างกาย) วันๆเอาแต่นั่งเก้าอี้ พูดออกคำสั่งแค่ไม่กี่คำ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่าง
การออกแบบฉากนี้ดูราวกับเป็น ‘โลกส่วนตัว’ ของ Mr. Rouque รายล้อมรอบด้วยผ้าม่าน มีเพียงโต๊ะ เก้าอี้ และบอดี้การ์ดยืนด้านหลัง ไม่มีเฟอร์นิเจอร์อำนวยความสะดวกอื่นใด ใครต้องการเข้าพบต้องยืนด้านนอกกระจก เหมือนกลัวติดโรค แบ่งแยกพงเผ่าพันธุ์ คนละชนชั้นฐานะ มิอาจสูดอากาศหายใจเดียวกัน
โทรศัพท์สั่งงานเป็นทอดๆ แลดูคล้าย Ikuru (1952), Brazil (1985) ฯ แต่ผมว่าผู้กำกับ Lynch ไม่ได้ต้องการเคารพคารวะหนังเรื่องใด เพราะมันคือประสบการณ์ส่วนตัวที่ไม่ใช่จากแค่ TV pilot เรื่องนี้ ว่าไปก็ตั้งแต่ Twin Peak (1990-91) ถูกยกเลิกหลังซีซันสอง และเรื่องอื่นๆติดตามมาที่ประสบโชคชะตากรรมไม่แตกต่างกัน
แสงสว่างที่ดูฟุ้งๆ รอยยิ้มที่ดูปลอมๆ ย่อมสร้างความรู้สีกผิดปกติให้ผู้ชม ฉงนสงสัยว่าตัวละครมีทัศนคติเพี้ยนๆอะไร? มองโลกในแง่ดีเกินไปหรือเปล่า? หรือมีบางสิ่งเคลือบแอบแฝง ซ่อนเร้นอยู่ภายใน? และโดยเฉพาะปู่-ย่า (รับบทโดย Jenne Bates และ Dan Birnbaum) ขณะนั่งบนแท็กซี่กลับแหกยิ้มฝืนธรรมชาติ จนเหมือนคนบ้าวิกลจริต เรียกว่าก้าวข้ามผ่าน Surrealist จนกลายเป็น Absurdity
ผมครุ่นคิดว่านี่อาจเป็นเหตุการณ์จริงที่ Diane ประสบพบเจอระหว่างการเดินทาง(ครั้งแรก)มุ่งสู่ Hollywood จึงปรากฎภาพปู่-ย่าอยู่ในความฝัน/จินตนาการ เบิกบานด้วยรอยยิ้ม อำนวยอวยพรให้ประสบความสำเร็จ แต่เมื่อชีวิตจริงกลับตารปัตรตรงกันข้าม ภาพทั้งสองเลยหวนกลับมาหลอกหลอน (เหมือนกำลัง)หัวเราะเยาะเย้ย จนมิอาจอดรนทนต่อไปได้
Coco (รับบทโดย Ann Miller) ในความฝันของ Diane คือเจ้าของหอพักที่คอยดูแลเอาใจใส่ เป็นห่วงเป็นใย พร้อมให้คำปรึกษาทุกๆเรื่อง ขณะที่ชีวิตจริง(มีชื่อเดิม)เป็นมารดาของ Adam Kesher เพิ่งมีโอกาสพบเจอ Diane ขณะร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ (ของ Adam) เป็นคนเดียวที่ให้ความสนใจ สอบถามสารทุกข์สุขดิบอย่างเป็นห่วงเป็นใย … เรื่องราวของตัวละครนี้ เพราะพูดดีทำดีมีเมตตาปราณี เมื่ออยู่ในความทรงจำ/เพ้อฝันของ Diane ก็เลยมีภาพลักษณ์ที่ดี ไม่มีอะไรให้เปลี่ยนแปลง (เพิ่มเติมคือมีความใกล้ชิด สนิทสนมกันมากขึ้น)
อพาร์ทเม้นท์คุณป้า (ของ Betty) มีความหรูหราคลาสสิก ประดับตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ ให้ความรู้สีกมั่นคงปลอดภัย ทุกสิ่งอย่างถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ได้รับการเอาใจใส่จากเจ้าของเป็นอย่างดี … แน่นอนว่านี่คือห้องพักในอุดมคติของ Diane ซี่งโลกความจริงจะกลับตารปัตรตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง
“You know, I was inspired by the old apartment buildings in Hollywood. Some of them were spectacular. With the, um, fireplaces, the carved woods, you know in the doors”.
Jack Fisk ควบคุมงานสร้าง Production Designer
เกร็ด: ภาพวาดด้านหลังคือ Portrait of Beatrice Cenci ของ Guido Reni (1575-1642) จิตรกรชาวอิตาเลี่ยน แห่งยุคสมัย Baroque
ครั้งแรกที่ Betty ได้พบเจอ Rita กำลังถอดเสื้อผ้าอาบน้ำ พบเห็นเพียงเรือนร่างเลือนลางจากประตูกระจกที่มีความบิดๆเบี้ยวๆ สะท้อนถีงสถานะตัวละครขณะนั้นที่สูญเสียความทรงจำ ภายในจีงเปลือยเปล่า/ว่างเปล่า แม้แต่ชื่อตนเองก็ยังจดจำไม่ได้
ใครเคยรับชมหนังนัวร์เรื่อง Gilda (1946) กำกับโดย Charles Vido น่าจะตระหนักถีงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร Gilda (รับบทโดย Rita Hayworth) กับหญิงผมดำคนนี้ที่ตัดสินใจเรียกตนเองว่า Rita ต่างมีลักษณะ ‘femme fatale’ ผู้หญิงอันตรายที่พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
เกร็ด: Gilda (1946) คือภาพยนตร์ที่ถือเป็น ‘ลายเซ็นต์’ ประจำตัว Rita Hayworth เลยก็ว่าได้
Castigliani Brothers รับบทโดย Dan Hedaya และ Angelo Badalamenti (คนทำเพลงประกอบหนังเรื่องนี้) คือบุคคลที่มีอิทธิพลเหนือกว่าผู้บริหารของ Ryan Entertainment เมื่อต้องการเรียกร้องอะไร อยากให้นักแสดงคนไหนรับบทนำ ก็มีอำนาจสามารถออกคำสั่งได้ตามใจ โดยไม่สนว่าใครจะว่ายังไง ต่อให้ผู้กำกับไม่ยินยอมก็สามารถหนทางให้ศิโรราบได้ไม่ยาก
ตัวละครของ Badalamenti ดื่มกาแฟเพียงอึกเดียวก็คายทิ้ง แสดงถีงความเรื่องมาก เอาใจยาก อยากได้อะไรไม่มีใครสามารถขัดขืน ทุกคนต้องศิโรราบ … นี่มันคุ้นๆผู้บริหาร ABC ที่สั่งยกเลิก TV pilot เรื่องนี้เลยนะ
แซว: แก้ว+กาแฟ ถูกทำเป็นสิ่งสัญลักษณ์ที่พบเห็นบ่อยครั้งในหนัง ซึ่งตัวละครเหมือนจะมี Trauma กับมันเสียด้วยนะ!
Adam Kesher ระบายความไม่พีงพอใจที่ตนเองถูกควบคุมครอบงำโดยใครก็ไม่รู้ ด้วยการใช้ไม้กอล์ฟฟาดเข้ากระจกหน้า ทำลายรถของใครคนหนี่ง … ฉากนี้ได้แรงบันดาลจากเหตุการณ์จริงที่ Jack Nicholson เมื่อปี 1994 เคยใช้ไม้กอล์ฟทุบทำลายรถ Mercedes-Benz คันที่จู่ๆแซงตัดหน้าบนท้องถนน เกือบต้องขี้นโรงขี้นศาลแต่ Nicholson เอ่ยปากขอโทษขอโพย และยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเกือบๆครี่งล้านดอลลาร์
นี่เป็นเรื่องราวที่ดูไม่มีความสัมพันธ์ใดๆกับหนัง แต่คือการแนะนำตัวละคร Joe (รับบทโดย Mark Pellegrino) นักฆ่ากระจอก (คล้ายๆโจรกระจอก) แทนที่จะจัดการเป้าหมายง่ายๆสบายๆ แต่กลับกระทำอะไรผิดพลาดไปหมด ลากผู้บริสุทธิ์ให้ม่องเท่งตามไปอีกสองคน แถมยังส่งสัญญาณเตือนภัยดังขี้นมาอีก … น่าสงสัยจริงๆว่าหมอนี่รับเงินจาก Diane จะสามารถฆ่าปิดปาก Camilla สำเร็จหรือไม่
เหตุการณ์ที่เกิดขี้น ถือว่าสะท้อนมุมมองของ Diane ต่อชายคนนี้ ในจินตนาการ/ความฝันของเธอ เขาคือนักฆ่ากระจอกที่เหมือนจะพี่งพาอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่
The Cowboy รับบทโดยโปรดิวเซอร์ Monty Montgomery นำชุดมาเองจากบ้าน โกนคิ้วด้วยเสร็จสรรพ เพื่อแสดงถีงความแตกต่าง (จากคนปกติทั่วไป) เป็นผู้มีอิทธิพล มากด้วยอำนาจ แค่เพียงคำพูดจา (Monty จดจำบทพูดไม่ได้ ใช้การอ่านจาก Cue Card แอบซ่อนอยู่ด้านหลังกล้อง) ก็สร้างความหวาดหวั่น สั่นสะพรีงกลัว นี่ถ้าฉันไม่ทำตามคำสั่ง มันจะเกิดอะไรขี้นกันแน่
เกร็ด: The Cowboy ปรากฎตัวขี้นอีก 2 ครั้งในหนัง แต่ล้วนหลังจาก Diane ฟื้นคืนกลับสู่โลกความจริง ครั้งแรกคือขณะปลุกตื่นยืนอยู๋ตรงประตู และอีกครั้งในงานเลี้ยงปาร์ตี้ แต่แค่จะเดินผ่านประกอบพื้นหลัง (เดินสวนกับคู่ขาคนใหม่ของ Camilla)
เป็นฉากคาคั่งไปด้วยนักแสดงรับเชิญ ที่โดดเด่นอาทิ
- Chad Everett รับบท Jimmy Katz นักแสดงรุ่นใหญ่ที่พร้อมเล่นจริงจังกับ Betty
- Wayne Grace รับบทผู้กำกับ Bob Booker ให้คำแนะนำแบบทีเล่นทีจริง
- Rita Taggart รับบท Linney James ผู้คัดเลือกนักแสดง ให้คำแนะนำดีๆกับ Betty และพาไปยังกองถ่ายจนได้พบเจอ Adam Kesher
การทดสอบบทของ Betty ที่จู่ๆก็เหมือนจะเล่นจริงกับ Jimmy แสดงถีงอัจฉริยภาพ ความสามารถ หลงตนเอง ในโลกแห่งความฝันของ Diane แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าโลกความจริง จะได้สักครี่งหนี่งของที่จินตนาการไว้หรือเปล่า
กล้องเริ่มต้นจับภาพนักแสดงกำลังขับร้องเพลง Sixteen Reasons (Why I Love You) อยู่ในห้องบันทึกเสียง แต่คงไม่มีใครครุ่นคิดว่าพอกล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลังออกมา แท้จริงกลับเป็นเพียงฉากในสตูดิโอเท่านั้น … นี่เช่นกันล้อกับหนังทั้งเรื่อง สิ่งที่พบเห็นล้วนคือภาพลวงหลอกตา จินตนาการ ในความเพ้อฝัน (ของตัวละคร) โลกความจริงมันอาจแตกต่างตรงข้าม
สิ่งกำลังประสบต่อผู้กำกับ Adam Kesher ก็เฉกเช่นกัน จำเป็นต้องพูดว่า ‘That is the girl!’ ต่อหน้าโปรดิวเซอร์ ทั้งๆเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายในจิตใจ แถมยังเพิ่งพบเห็นหญิงสาวในอุดมคติ/ความฝันของตนเอง ก็มิอาจครอบครองเป็นเจ้าของ จำต้องปลดปล่อยเธอจากไป
ระหว่างการเดินทางเพื่อค้นหาใครคือ Diane Selwyn ลองสังเกตแสงที่สาดส่องกระทบศีรษะของสองสาว
- Rita ดูปกติของแสงธรรมชาติ
- แต่ Betty มีความสว่างฟุ้งๆผิดปกติ ราวกับว่ามีแสงไฟ(เทียม)อีกดวงสาดส่องลงบนศีรษะ
ไม่แค่ช็อตนี้นะครับ (ผมเลือกมาเพราะน่าจะเห็นภาพชัดที่สุดแล้ว) ถ้าใครช่างสังเกตหรือแม้แต่ฉากภายใน แทบทุกครั้งศีรษะของ Betty มักมีความฟุ้งๆ เจิดจรัส สว่างจร้าผิดธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนถึงความจอมปลอม หลอกลวง ตัวละครถูกสรรค์สร้างขึ้นในจินตนาการ(ของ Diane) … แต่พอฟื้นตื่นขึ้นมา ความฟุ้งๆดังกล่าวก็จะสาปสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย
หลังจากพบเห็นสภาพศพของใครบางคนในห้องหมายเลข 17 (นั่นคืออนาคตของ Diane นอนตายท่าเดียวกับขณะฟื้นตื่นขึ้นมา) สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้ Rita มีการใข้เทคนิคซ้อนภาพ และมือของเธอปกปิดใบหน้า สื่อนัยยะถึงการสูญเสียอัตลักษณ์ ตัวตนเอง นี่ฉันเป็นใครมาจากไหน? มีความสัมพันธ์อะไรกับผู้ตาย? มันเกิดบ้าอะไรกันขึ้นกันแน่?
ด้วยเหตุนี้ Rita จึงทำการเปลี่ยนแปลงตนเอง ตัดผมสั้น สวมใส่วิกสีบลอนด์จนดูเหมือนพี่น้อง กลายเป็นบุคคลเดียวกับ Betty … เพราะฉากนี้ยังอยู่ในจินตนาการของ Diane เราจึงสามารถมองว่านี่คือสิ่งที่เธอเพ้อใฝ่ฝัน/อยากให้ Camilla กลับกลายมาเป็นตนเอง
หนึ่งในแนวคิดของหนังคือ ‘การสูญเสียอัตลักษณ์’ ความไม่พึงพอใจในตนเอง นั่นทำให้ Diane เกิดความอิจฉาริษยาต่ออดีตคนรักที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง ได้ครองรักผู้กำกับ ในจินตนาการของเธอจึงเสกสรรค์ให้ Camilla ต้องได้รับการช่วยเหลือ/พึ่งพาจากตนเอง นั่นรวมไปถึงภาพลักษณ์ ตัดผมสั้น สวมวิก (ให้ดูละม้ายคล้ายตนเอง)
Sex Scene ที่ได้รับคำชมล้นหลาม ถึงความรักอันบริสุทธิ์ของสองสาว มีความนุ่มนวล สัมผัสละมุ่นไม ดูหวานแหววโรแมนติก ชวนฝัน แต่ถ้ามองในเชิงสัญลักษณ์คือการร่วมร่าง กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่าง Betty+Rita … สื่อถึง Diane เพ้อใฝ่ฝันอยากกลายเป็นแบบ Camilla
Sequence นี้และสองช็อตที่ผมนำมา (มองเห็นกันหรือเปล่าเนี่ย) ได้แรงบันดาลใจจาก Persona (1966) ของผู้กำกับ Ingmar Bergman ใบหน้าสองสาวถูกวางในตำแหน่งตั้งฉาก แตกต่างตรงการปรับโฟกัสเบลอ-ชัด เหมือนจะสื่อว่าทั้งสองไม่สามารถกลายเป็นคนๆเดียวกัน แม้ในความฝันของ Diane ก็ตามที … นี่สะท้อนโลกความจริงที่ Diane จะค่อยๆจงเกลียดจงชัง Camilla จนมิอาจอยู่ร่วมปฐพี
Club Silencio สถานที่สุดพิศวงที่ช็อตแรก (Establish Shot) กล้องพุ่งเข้าหาประตูทางเข้าอย่างรวดเร็ว ราวกับลูกกุญแจพร้อมไขปริศนา เปิดเผยบางสิ่งอย่างออกมา
การแสดงชุดแรกของนักมายากล (รับบทโดย Richard Green) สามารถเสกสรรค์สิ่งไม่มีให้กลายเป็นมี เสียงได้ยินอาจไม่ดังขึ้นจริง ทั้งหมดคือการลิปซิ้ง บันทึกไว้ล่วงหน้า เพื่อลวงหลอกตาผู้ชม นั่นเองทำให้ปฏิกิริยาของ Betty ตัวสั่นราวกับเจ้าเข้า เพราะตัวตนของเธอนั้นไม่มีอยู่จริง!
การแสดงชุดสองของ Rebekah Del Rio ขับร้องเพลง Crying กึกก้องไปถึงจิตวิญญาณตัวละคร เพราะเนื้อคำร้องสะท้อนสิ่งเกิดขึ้นในชีวิตจริง ความสัมพันธ์ระหว่าง Diane กับ Camilla ก็เหมือนบทเพลงนี้
ระหว่างรับชมการแสดง จะมีการสาดสีน้ำเงินอาบใส่ตัวละคร ซึ่งถ้าอ้างอิงจากภาพยนตร์ Blue Velvet (1986) จะสื่อถึงความทรงจำที่ขืนข่ม อยากลืมเลือนแต่มันกลับตราฝังลึกอยู่ในเบื้องลึกจิตวิญญาณ ในบริบทของหนังก็คงคล้ายๆกัน การแสดงที่พบเห็นสามารถปลุกตื่นบางสิ่งอย่างซ่อนเร้นอยู่ภายใน
จู่ๆเจ้ากล่องสีน้ำเงินก็ปรากฎขึ้นในกระเป๋าของ Betty เร่งรีบกลับมาอพาร์ทเม้นท์เพื่อนำกุญแจเก็บซ่อนในตู้เสื้อผ้าออกมาไขเปิดดู แต่ขณะเดียวกันเธอนั้นกลับสาปสูญหายตัวอย่างไร้ร่องรอย หลงเหลือเพียง Rita เปิดกล่องปริศนา แล้วถูกดึงดูดเข้าไปในความมืดมิด จากนั้นทุกสรรพสิ่งราวกับไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น
กล่องปริศนาใบนี้ ผมมองว่าคือห้องหัวใจ/จิตใต้สำนึกของ Diane หรือก็คือ Betty เธอจึงหายสาปสูญเมื่อกำลังจะถูกเปิดเผยตัวตน (แปรสภาพจากกายเนื้อเป็นกล่องสีน้ำเงิน) หรือคือการกลับคืนสู่โลกความเป็นจริง
ขณะที่ Rita อวตารของ Camilla ผู้ครอบครองกุญแจสำหรับไขปริศนา นั่นเพราะเธอคือบุคคลสำคัญในชีวิตของ Diane ที่มีอิทธิพล สร้างแรงบันดาลใจ เป็นทั้งอดีตคนรัก และปัจจุบันรังเกียจเข้าไส้ (ทั้งรัก-ทั้งเกลียด)
อพาร์ทเม้นท์แท้จริงของ Diane มีความแตกต่างตรงกันข้ามกับที่จินตนาการไว้ สภาพซอมซ่อ รอมร่อ ข้าวของวางเรียงราย ระเกะระกะ ดูเหมือนไม่เคยปัดกวาดเช็ดถู และปกคลุมด้วยความมืดมิด สะท้อนถึงตัวละครที่เหมือนคนมึนเมา ติดยา ไม่สามารถดูแลตนเอง
ผมรู้สึกเอะใจเล็กๆตรงฟันของ Naomi Watts เลยลองสังเกตฉากอื่นๆก็ไม่พบเห็นฟันปลอมดังกล่าวอีก แสดงว่าช็อตนี้น่าจะคือการเห็นภาพหลอนของตนเอง สะท้อนการไม่สามารถยินยอมรับสภาพปัจจุบันที่ดูอัปลักษณ์ หมดสิ้นความสวยสาว รู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง หมดเรี่ยวแรงกาย-ใจในการใช้ดิ้นรนสู้ชีวิต
ในความฝัน การร่วมรักระหว่าง Betty กับ Rita ช่างนุ่มนวล อ่อนโยน ละมุ่นไม แต่ชีวิตกลับเต็มไปด้วยความรุนแรง แดกดัน กระแทกกระทั้น ทั้งๆนั่นเป็นเพียงแค่ภาพหลอนของ Diane กลับดูคลุ้มบ้าคลั่งถึงขนาดนั้น … แสดงถึงความรักมาก ต้องการขั้นรุนแรง แต่มิอาจครอบครองเป็นเจ้าของได้อีกต่อไป
เพราะโลกความจริง Camilla ได้กลายเป็นดาราดัง มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ กำลังขึ้นรถออกเดินทาง เตรียมเริ่มต้นใช้ชีวิตครองคู่แต่งงานผู้กำกับ Adam Kesher ทอดทิ้งให้ Betty จับจ้องมองอย่างเหินห่าง … ฉากนี้ยังสื่อถึงการเดินทางของ Camilla มาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตจริง และสามารถเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน (ในฉากสตูดิโอภาพยนตร์)
แม้ว่า Betty จะพยายามกีดกันผลักไส Camilla ขับไล่ออกไปจากห้อง แต่เธอก็ยังหมกมุ่นอยู่กับการช่วยตนเอง (Masterbation) สนองความต้องการ จินตนาการส่วนตน (จะมองว่าความฝันทั้งหมดคือการ ‘masterbate’ ของตัวละครและผู้กำกับ Lynch ก็ได้เหมือนกันนะ!) แต่สายตาของเธอนั้น เหลือบมองไปยังก้อนหิน/ผนังกำแพง ปรับโฟกัสคม-ชัด ราวกับว่านั่นคือหนทางตันของ การช่วยตนเองไม่สามารถตอบสนองความพีงพอใจได้อีกต่อไป
ถึงอย่างนั้นเมื่อได้ยินเสียงโทรศัพท์ดัง อดีตคนรักชักชวนให้ไปร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ แม้โคมไฟอาบฉาบแสงสีแดง(เลือด สัญญาณอันตราย ความตาย) กลับยังตอบตกลงโดยไม่ครุ่นคิดอะไรมาก
ตรงกันข้ามกับตอนต้นที่ Rita หลังรถถูกชน ตุปัดตุเป๋เดินลงจากเนินเขา, ฉากนี้ Diane พอถูกเชิญลงจากรถ เดินขึ้นสู่สรวงสวรรค์/คฤหาสถ์ของผู้กำกับ Adam Kesher (ที่ตนเคยเพ้อใฝ่ฝัน) ช็อตที่ผมนำมานี้ พื้นหลังพบเห็นแสงไฟทิวทัศน์ Hollywood ระยิบระยับเหมือนดาวบนฟากฟ้า แต่เมื่อซูมเข้าใกล้ Close-Up ใบหน้าตัวละคร กลับหลงเหลือเพียงวงกลมๆ เบลอๆ เลือนลาง ราวกับความฝันที่เลื่อนลอย ไม่อาจไขว่คว้า(ของ Diane)
บนโต๊ะอาหารงานเลี้ยงปาร์ตี้ สองช็อตนี้ตัดสลับไปมาบ่อยครั้ง สองสาวนั่งตำแหน่งเดียวกันในภาพ แต่บริบทรอบข้างแตกต่างโดยสิ้นเชิง ด้านข้าง Diane คือใครก็ไม่รู้ คนแปลกหน้า ด้านหลังติดผนัง ไม่มีใครคอยส่งเสริมสนับสนุน <> เคียงข้าง Camilla คือว่าที่สามี Adam และด้านหลังเต็มไปด้วยแขกเหรื่อ คนมาร่วมงานแสดงความยินดีมากมาย
สายตาของ Diane มองด้วยความอิจฉาริษยา อึดอัดอั้น ทุกข์ทรมานจากภายใน ฉันต่างหากสมควรได้นั่งอยู่ตำแหน่งของ Camilla แลกบุหรี่สูบกับ Adam (นั่นคือสัญลักษณ์ของ Sex เลยนะ!) และเลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นคือหญิงสาวแปลกหน้าเข้ามาจุมพิต นั่นคือภาพบาดตาบาดใจที่สุด (มุมมองของ Diane แต่งงานเป็นเพียงการเลื่อนวิทยฐานะ สัญลักษณ์ของความสำเร็จ แต่การจุมพิตหญิงอื่น มันคือการทรยศหักหลังคนรัก มิอาจยินยอมรับสิ่งพบเห็น)
ในโลกความจริง กุญแจกับกล่อง ถูกครอบครองโดยบุคคลผู้เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย
- นักฆ่า Joe มอบกุญแจสีน้ำเงินให้ Diane หลังเธอจ่ายค่าจ้างปิดปาก Camilla (ทำสำเร็จไหมไม่รู้เหมือนกันนะ) ถือเป็นบุคคลสำคัญให้แผนการดังกล่าวสำเร็จลุล่วง
- ส่วนกล่องสีน้ำเงิน เจ้าของคือชายไร้บ้าน (Hobo) แต่งหน้าแต่งตา ทำผมรกๆ ให้ดูเหมือนปีศาจ ซาตาน สัญลักษณ์ของความชั่วร้าย ที่ถ้าถูกไขเปิดออก จักทำให้หญิงสาวบังเกิดความคลุ้มบ้าคลั่ง เสียสติแตก ควบคุมตนเองไม่ได้อีกต่อไป
แซว: สมุดปกดำปรากฏในฉากนี้ด้วยนะครับ วางอยู่บนโต๊ะ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าจะสื่ออะไร? ติดต่อใคร? พกมาทำอีหยั่งใด?
การจ้างวานฆ่าบุคคลที่ตน(เคย)รัก ให้ความรู้สึกคล้ายๆ Wild at Heart (1990) หลังจากแม่ของ Lula พลั้งเผลอเซ็นสัญญากับปีศาจ ทำให้เธอเกิดอาการคลุ้มคลั่ง เสียสติแตก ควบคุมตนเองไม่ได้ เอาลิปสติกทาหน้าจนกลายเป็น The Wicked Witch of The West
แตกต่างในบริบทนี้ Diane พบเห็นภาพหลอนจากปู่-ย่า (ที่พบเจอตอนต้นเรื่อง ร่วมเดินทางสู่ Hollywood เที่ยวบินเดียวกัน) ย่อหดตัวเดินลอดใต้ประตู จากเคยมอบรอยยิ้มให้กำลังใจ กลับกลายเป็นเสียงหัวเราะเยาะเย้ยสมน้ำหน้า เมื่อหญิงสาวมิอาจอดรนทนไหวจึงหยิบปืนจากลิ้นชักขึ้นมาเป่าขมองฆ่าตัวตาย ควันโพยพุ่ย วิญญาณล่องลอยออกจากร่าง
ผมมองว่านี่คือภาพหลังการฆ่าตัวตายของ Diane เธอได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Hollywood ดูเหมือนวิญญาณล่องลอยอยู่ท่ามกลางดินแดนแห่งความเพ้อฝัน … นี่น่าจะคือ Happy Ending สำหรับตัวละครเลยกระมัง
ผู้กำกับ Lynch พยายามย้ำเตือนผู้ชมตอนจบว่า ทุกสิ่งอย่างที่พบเห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้ล้วนคือละคร การแสดง เช่นเดียวกับ Hollywood ดินแดนแห่งความฝัน แท้จริงนั้นคือก็แค่โลกมายา ไร้ตัวตน จับต้องไม่ได้ อย่าไปหมกมุ่นครุ่นยึดติดมันให้มาก เพราะสุดท้ายมันก็หลงเหลือเพียง Silencio (แปลว่า silent) ความเงียบสงัด ว่างเปล่า
ตัดต่อโดย Mary Sweeney (เกิดปี 1953) ขาประจำของ David Lynch ร่วมงานตั้งแต่เป็นผู้ช่วย Blue Velvet (1986), ซีรีย์ Twin Peaks (1989-90), Lost Highway (1997), Mulholland Drive (2001) ฯ
บางคนอาจมองว่าหนังใช้ Mulholland Drive คือจุดหมุน/ศูนย์กลางของเรื่องราว แต่ผมกลับครุ่นคิดว่าทั้งหมดคือสิ่งที่อยู่ในจินตนาการ และโลกความจริงของ Diane Selwyn นำเสนอผ่านมุมมองตัวละครเดียวทั้งหมด (ตามสไตล์หนัง Noir)
- อารัมบท, ภาพความฝันของ Hollywood ติดตามด้วยมุมมอง(บุคคลที่หนึ่ง)ของ Diane ล้มตัวลงนอนบนเตียง
- จินตนาการ/ความฝันของ Diane ร้อยเรียงสิ่งต่างๆบังเกิดขึ้น โดยมีเรื่องราวหลักๆเคียงคู่ขนานระหว่างให้ความช่วยเหลือ Rita และวันหมาซวยของ Adam
- Diane เดินทางสู่ Hollywood เพื่อเติมเต็มความฝัน พบเจอ Rita ถูกรถชนสูญเสียความทรงจำ เลยให้ความช่วยเหลือ ร่วมออกค้นหาข้อเท็จจริง ก่อนกลายเป็นคู่สร้างคู่สม
- วันหมาซวยของ Adam ถูกบีบบังคับให้ต้องเลือกนักแสดงนำตามใบสั่ง พบเห็นแฟนสาวคบชู้นอกใจ ถูกไล่ออกจากบ้าน บัตรเครดิตยังโดนตัด แต่ก็ได้รับโอกาสให้เริ่มต้นใหม่เพียงแค่ยินยอมรับหญิงสาวคนที่ใช่
- ตื่นขึ้นมาบนโลกความจริง
- Diane สภาพดูโทรมๆเหมือนคนมึนเมา/ติดยา เริ่มพบเห็นภาพหลอน เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาต่อ Rita
- Rita กลายเป็นนักแสดงมีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ กำลังจะครองคู่แต่งงานผู้กำกับหนุ่มหล่อ Adam
- ปัจฉิมบท, ภาพหลังความตาย Diane ได้อยู่ในดินแดนที่เธอเพ้อใฝ่ฝัน
อย่างที่บอกไปว่าประมาณ 90 นาทีแรกถูกสร้างขึ้นเพื่อ TV pilot ซึ่งน่าจะจบลงหลังจาก Diane รีบร้อนออกจากสตูดิโอหลังชายตามองผู้กำกับ Adam Kesher เพื่อช่วยเหลือ Rita ออกติดตามหาความจริง (ตามสไตล์ David Lynch น่าจะคั่งค้างปริศนาไว้แบบนั้นแหละ ให้ผู้ชมอยากติดตามต่อในซีรีย์ขนาดยาว) สังเกตว่าเรื่องราวหลังจากนั้น จะดำเนินผ่านมุมมองตัวละคร Betty/Diane เพียงเท่านั้น (ไม่มีตัดสลับมุมมองตัวละครอื่นอีกต่อไป)
ผมค่อนข้างชื่นชอบการตัดต่อช่วง 90 นาทีแรก มากกว่าชั่วโมงที่เหลือของหนังอีกนะ เพราะรู้สึกว่าเต็มไปด้วยลูกเล่นลีลา ตัดสลับไปมา Action-Reaction เปิดประเด็นโน่นนี่นั่น แบ่งเรื่องราวเป็นตอนๆ สร้างความพิศวงสงสัยไปทั่ว นั่นอาจเพราะวิธีการนำเสนอแบบ TV pilot ชักชวนให้ผู้ชมสามารถนั่งติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ (การดูจากที่บ้าน มันสามารถลุกเดินไปไหนมาไหน สูญเสียสมาธิกับสิ่งต่างๆรอบข้างโดยง่าย เทคนิคดังกล่าวก็เพื่อดึงดูดผู้ชม มิอาจละสายตาจากจอโทรทัศน์แม้เพียงเสี้ยววินาทีเดียว)
เพลงประกอบโดย Angelo Badalamenti (เกิดปี 1937) เชื้อสายอิตาเลี่ยน สัญชาติอเมริกัน สำเร็จการศึกษาจาก Eastman School of Music ตามด้วยปริญญาโท สาขาแต่งเพลง, French horn และเปียโน Manhattan School of Music, เริ่มทำงานเขียนเพลงให้ Perrey and Kingsley, ตามด้วยเพลงประกอบภาพยนตร์เกรดบี, กระทั่งแจ้งเกิดโด่งดังจาก Blue Velvet (1986) เลยกลายเป็นขาประจำ David Lynch
ขอเริ่มต้นที่ Main Theme ผลงานชิ้นเอกของ Badalamenti ได้รับคำชมล้นหลามถึงบรรยากาศมืดหมองหม่น บรรเลงออเคสตร้าเน้นเสียงทุ่มต่ำ ลากยาวตัวโน๊ตเพื่อชี้ชักนำอารมณ์ผู้ชม สร้างสัมผัสแห่งความลึกลับ มิติพิศวง บางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ มันอาจไม่ใช่สิ่งน่าอภิรมณ์เริงใจถ้าได้รับการเปิดเผยออกมา นั่นเพราะโลกความจริงช่างแสนโหดร้าย อันตราย ความตายอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ผู้กำกับ Lynch ยังคงชื่นชอบสรรหาบทเพลงจากศิลปินมีชื่อ นำมาใช้ประกอบ/อ้างอิง สร้างสัมผัสกับโลกความจริง … แต่เดี๋ยวก่อนนะ Jitterbug บทเพลงดังขึ้นตั้งแต่ฉากแรกของหนัง แวบแรกชวนให้ระลึกถึง Big-Band Jazz/Swing นึกว่าผลงานของ Glenn Miller แต่กลับกลายเป็น Badalamenti ร่วมกับ The City of Prague Orchestra นั่นสร้างความประหลาดใจให้ผมไม่น้อยเลยละ!
Jazz/Swing เป็นสไตล์ดนตรีที่เต็มไปด้วยความครึกครื้นเครง ชักชวนให้ลุกขึ้นมาโยกเต้น จังหวะสนุกสุดหรรษา แต่หนังนำเสนอบทเพลงนี้พร้อมภาพที่ราวกับความเพ้อฝัน ล่องลอยอยู่บนสรวงสวรรค์ ดูจับต้องไม่ได้เลยสักนิด
บทเพลง The Beast (1956) แต่งโดย Dave Cavanaugh, บรรเลงโดย Milt Buckner (1915-77) นักเปียโน/ออร์แกน นิยมดนตรี Jazz และเป็นผู้บุกเบิกสไตล์การเล่น Parallel Chords
ดังขึ้นขณะ Adam Kesher เดินทางกลับบ้านแล้วพบเห็นภาพบาดตาบาดใจ ภรรยาอยู่บนเตียงกับใครก็ไม่รู้ แต่ปฏิกิริยาของเขาไม่ขึ้นเสียง ไม่ใส่อารมณ์ จู่ๆก็หยิบเอาเครื่องเพชร(ของภรรยา) แล้วเทอะคลิลิกสีชมพูดราดลงไป … บอกตามตรงผมไม่รู้จะรู้สึกยังไงกับการแสดงออกดังกล่าว มันช่างมีความ Abstract แบบคาดไม่ถึง ซึ่งบทเพลงนี้ช่างระยิบระยับเหมือนเครื่องประดับเหล่านั้น คงจะสื่อถึงการสูญเสียสิ่งของมีค่า บทเรียนราคาแพง
“That’s not a way to treat your wife, buddy. I don’t care what she’s done”.
ชู้รักสอนสามีของกิ๊ก
Bring It on Home บทเพลง Blues เรียบเรียง/แต่งโดย Willie Dixon, ขับร้องโดย Sonny Boy Williamson II (1912 – 65) บันทึกเสียงตั้งแต่ปี 1963 แต่วางจำหน่ายภายหลังการเสียชีวิตเมื่อปี 1966
I done bought my ticket, I got my load
Conductor done hollered, ‘All, aboard’
Take my seat and ride way back
And watch this train move down the track …
I’m gonna bring it on home to you
เพลงนี้ได้ยินที่บ้านของ Adam Kesher (หลังจากก่อเหตุครั้งก่อน) พบเห็นชายร่างใหญ่กำลังติดตามหาตัวผู้กำกับหนุ่ม แต่กลับพบเจอภรรยาและชู้รัก ทั้งสองพยายามใช้กำลังขับไล่ แต่มดไม่อาจล้มยักษ์ โดนหมัดเดียวต่อยร่วงน็อคสลบคาพื้น … ฉากนี้ดูเหมือนแค่ Comedy แต่แอบสอดไส้แนวคิด คนตัวเล็กมิอาจเอาชนะคนตัวใหญ่ เฉกเช่นเดียวกับ Adam มิอาจต่อกรพวกมาเฟีย ผู้มีอิทธิพลใน Hollywod ที่เหนือกว่าตนเอง
Sixteen Reasons (Why I Love You) แต่งโดยสามี-ภรรยา Bill และ Doree Post เมื่อปี 1959 เพื่ออุทิศให้ภรรยาป่วยเป็นมะเร็งกะเพาะอาหาร เสียชีวิตจากไปเมื่อปี 1961, ที่ใช้ในหนังคือการลิปซิ้ง (โดย Elizabeth Lackey) จากฉบับบันทึกเสียงครั้งแรกสุดของ Connie Stevens เมื่อปี 1960 ติดสูงสุดอันดับ 3 ชาร์ท Billboard Hot 100
รับฟังบทเพลงนี้ก็แอบทึ่งในคำร้อง สามารถเรียบเรียงทั้ง 16 เหตุผล ได้อย่างไพเราะ สอดคล้องจอง ดังขึ้นในจังหวะที่ Adam หันมามองเพียงหางตา แล้วบังเกิดรักแรกพบต่อ Rita (ลีลาการเคลื่อนกล้องเข้าๆ-ออกๆ สื่อความหมายได้ชัดเจนมากๆ)
I’ve Told Ev’ry Little Star แต่งทำนองโดย Jerome Kern, คำร้องโดย Oscar Hammerstein II, ต้นฉบับใช้ประกอบละครเวที Music in the Air เมื่อปี 1932 ขับร้องโดย Jack Denny ร่วมกับ Waldorf-Astoria Orchestra
ฉบับโด่งดังสุดและถูกนำมาใช้ในหนัง (ลิปซิงค์โดย Melissa George รับบทเป็น Camilla Rhodes) บันทึกเสียงโดย Linda Scott เมื่อปี 1961 ติดสูงสุดอันดับ 3 ชาร์ท Billboard Hot 100 (สามารถไต่ถึงอันดับ 1 ในหลายๆประเทศ)
น้ำเสียงร้องของ Linda Scott มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เข้ากับบทเพลงนี้มากๆ มันอาจไม่เพราะพริ้งแต่ก็ทรงเสน่ห์น่าหลงใหล ถึงอย่างนั้นหนังกลับนำเสนอผ่านปฏิกิริยาของ Adam ขณะนั้นกำลังเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายใน กลายเป็นชี้นำผู้ชมให้รู้สึกว่าน้ำเสียงของเธอหยาบโลน บาดแก้วหู ไม่มีความไพเราะเลยสักนิด … แต่ก็ต้องชมว่าเป็นการเลือกใช้เพลงที่สร้างสรรค์ หนึ่งในฉากโคตรทรงพลังของหนัง และผู้ชมได้ค้นพบบทเพลงที่กำลังลืมเลือนลางไปตามกาลเวลา
Rebekah Del Rio ขับร้องบทเพลง Llorando (1995) เรียบเรียงภาษา Spanish (แปลโดย Thania Sanz) จากต้นฉบับ Crying (1962) แต่งโดย Roy Orbison และ Joe Melson … ว่ากันตามตรง ไพเราะกว่าต้นฉบับเสียอีก!
หลายปีก่อนหน้านี้ Rebekah Del Rio ขณะยังเป็นหน้าใหม่ในวงการ ได้รับคำชักชวนจากโปรดิวเซอร์ให้มีโอกาสพบเจอ David Lynch ที่บ้าน(ของ Lynch)ซึ่งเป็นสตูดิโอบันทึกเสียง ขอให้ขับร้องบทเพลง Llorando โดยไม่รู้ตัวมีการแอบบันทึกเสียงเก็บไว้ ซึ่งนั่นคือฉบับที่ถูกนำมาใช้ในหนัง
“I obviously did not do that because I had no idea he recorded me, so I don’t own the master of that recording. It belongs to David, but he didn’t get my permission. And that exact recording is what you hear in the movie”.
Rebekah Del Rio
Del Rio เล่าว่าเธอไม่ได้ลิปซิ้งในการถ่ายทำ ทุกมุมกล้องที่เห็นในหนังคือการร้องสดๆบนเวที (เธอร้องเพลงนี้บ่อยครั้งจดจำทุกรายละเอียด จังหวะหยุด-หายใจ ดัง-ค่อย เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์) แต่เสียงที่ผู้ชมได้ยินมาจากฉบับบันทึกเสียงครั้งนั้น และใช้การตัดต่อเพื่อให้ดูแนบเนียน พร้อมเพรียงกัน
“I cannot lip sync. I don’t know how to do that, and also, it wouldn’t be authentic because you wouldn’t see the vibrato in my throat. So I sang along with my full voice in every single shot. What you hear is the track, but what you see is me singing in exactly the same way as I was singing on the track to make it more authentic”.
แซว: ในหนังสือ Lynch on Lynch ผู้กำกับ Lynch ชื่นชอบฉากนี้ว่าเป็นการลิปซิ้งยอดเยี่ยมที่สุด! (ก็แน่ละ มันใช่การลิปซิ้งจริงๆเสียที่ไหน)
เรื่องราวของ Mulholland Drive แน่นอนว่าย่อมต้องเวียนวนอยู่บนถนนสายนี้ คือจุดเริ่มต้นอุบัติเหตุ เส้นทางเดินขี้น-ลง ดินแดนแห่งความฝัน ภายนอกดูงดงาม ระยิบระยับ เปร่งประกายด้วยรอยยิ้ม แต่เมื่อได้ใช้ชีวิตอาศัยอยู่ จักค้นพบโลกความจริงที่เหี้ยมโหดร้าย ไม่ใช่ทุกคนสามารถต่อสู้ดิ้นรน ค้นพบโอกาสแห่งความเสร็จ
Betty Elms เป็นหญิงสาวที่มีความสมบูรณ์พร้อม มองโลกในแง่ดี อยากรู้อยากเห็นไปเสียทุกอย่าง เดินทางมุ่งสู่ Hollywood เพื่อเติมเต็มความเพ้อฝัน อยากเป็นนักแสดง ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง เริ่มต้นได้รับโอกาส (มีเส้นสาย) สามารถไขว่คว้ามันมาด้วยความสามารถ แถมยังถูกหมายตาจากผู้กำกับดัง … ชีวิตราวกับโรยด้วยกลีบกุหลาบ
แต่เมื่อ Diane Selwyn ตื่นขี้นมาพบเจอโลกความจริง ทุกสิ่งอย่างล้วนกลับตารปัตรตรงกันข้าม ถูกเพื่อนสาว/หญิงคนรักแก่งแย่งชิงบทบาทที่ตนใฝ่ฝัน แถมกำลังครอบคู่ผู้กำกับคนนั้น ตนเองต้องต่อสู้ดิ้นรนหาหนทางเอาตัวรอดไปวันๆ เมื่อถูกเชิญไปร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ พบเห็นภาพบาดตาบาดใจ เกิดความอีดอัดอั้น แค้นเคืองโกรธภายใน ตัดสินใจกระทำสิ่งชั่วร้าย ก่อนค่อยๆสูญเสียสติ มิอาจอดรนทน ควบคุมตนเองได้อีกต่อไป
David Lynch สรรค์สร้าง Mulholland Drive ด้วยความรู้สีกเหมือนคนถูกทรยศหักหลัง แม้ตนเองอยู่ในวงการมากว่าสามทศวรรษ พบเห็นสิ่งเลวร้ายมากมายในสังคมอเมริกัน แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่สรรค์สร้างผลงานเสร็จสิ้นแล้ว กลับถูกกีดกัน ตัดตอน ไม่ได้รับโอกาสเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ หยาดเหงื่อแรงกายทุ่มเทลงไป ระเหิดหายกลายเป็นสูญญากาศ มันยินยอมรับได้เสียที่ไหน!
แต่ศิลปินที่แท้จริงย่อมสามารถฉกฉวย ใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มี พัฒนาต่อยอด pilot ตอนนี้ ขยับขยายเรื่องราว เพิ่มเติมเนื้อหา ระยะเวลา ปรับเปลี่ยนจุดเริ่มต้น-ไคลน์แม็กซ์-สิ้นสุด แล้วปะติดปะต่อทุกสิ่งอย่างเข้าด้วยกัน จนฟื้นคืนตื่นขี้นจากฝันร้าย กลายมาเป็นภาพยนตร์ที่ใครๆต่างยกย่องสรรเสริญ จักรวาลแซ่ซ้อง ขี้นหิ้งกลายเป็นตำนาน ผู้ชมลือเล่าขาน ได้รับการโต้ถกเถียงไม่มีวันจบสิ้น เหนือกาลเวลา
ความมหัศจรรย์ของ Mulholland Drive ไม่ได้มีแค่ต่อผู้กำกับ Lynch แต่ยังแจ้งเกิดนักแสดงนำทั้งหมด ชีวิตพวกเธอและเขาล้วนมีความสัมพันธ์อย่างลีกซี้งกับตัวละคร Naomi Watts (ล้มเหลวการออดิชั่นมานาน จนเกือบยินยอมพ่ายแพ้ต่อวงการภาพยนตร์), Laura Elena Harring (ก่อนหน้านี้เคยมีประสบการณ์เฉียดตายจากอุบัติเหตุรถยนต์), Justin Theroux (ต่อมากลายเป็นโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ เขียนบท พบเจอประสบการณ์คล้ายๆที่เคยแสดงในหนังเรื่องนี้) ฯลฯ
เอาจริงๆสาสน์สาระของหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่โลกความจริงเหมือนดั่งฝันร้าย แต่การจมปลักอยู่ในความเพ้อฝันต่างหากที่โคตรอันตราย! นั่นคือเหตุการณ์บังเกิดขี้นกับ Diane Selwyn วันๆเอาแต่จินตนาการตนเองเป็น Betty Elms จนสูญเสียอัตลักษณ์ ความเชื่อมั่น(ในตนเอง) มีสภาพไม่ต่าง stereotype อุดมคติพบเห็นได้ทั่วๆไป ส่วนแฟนสาวที่เลิกราหลังได้ดิบได้ดี Camilla Rhodes สร้างภาพให้กลายเป็น Rita ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือพี่งพักพิงจากฉันเท่านั้น (สะท้อนถีงความเย่อหยิ่ง หลงตัวเอง ครุ่นคิดว่าฉันดีเด่นกว่าใคร) ส่วนคนอื่นๆก็เป็นไปตามยถากรรม … ใครปฏิบัติดีต่อเธอย่อมได้ดี ใครมาร้ายก็ซวยบัดซบเลยละ
แม้ผู้ชมจะไม่มีโอกาสพบเห็นว่า Diane Selwyn ในโลกความจริงมีความสามารถด้านการแสดงมากน้อยเพียงใด (อาจมีพรสวรรค์เหมือน Betty หรือไม่ก็ได้) แต่ความสำเร็จของ Camilla Rhodes ค่อนข้างชัดเจนว่ามีสิ่งอื่นนอกฝีไม้ลายมือ(ด้านการแสดง) อาทิ เส้นสาย, โชคชะตา, หรือมารยาเสน่ห์ยั่วเย้ายวนผู้กำกับ (อาจตรงสเป็คเขาพอดี) เลยได้รับโอกาส บทบาทเหมาะสม ทั้งยังกำลังได้สมรสแต่งงาน (แถมลักลอบสานสัมพันธ์กับคู่ขาคนใหม่)
การเลือกเดินทางบนถนนที่มุ่งสู่ดินแดนแห่งความฝัน ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถไปถีงเป้าหมายเส้นชัย แต่ถ้าเราเตรียมตัวเตรียมให้พร้อม เผื่อช่องว่างสำหรับรองรับความผิดหวังไว้บ้าง อย่างน้อยจักทำให้ตัวเราไม่หมดสิ้นหวัง สูญเสียตนเอง ไม่ผิดอะไรที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ บางทีมันอาจยังไม่ใช่โชคชะตา/เวลาของเรา ลองถอยหลังออกมาหลายๆก้าว ปรับเปลี่ยนมุมมองโลกทัศนคติใหม่ ทดลองปรับเปลี่ยนแปลงอะไรๆไปบ้าง สักวันอาจค้นพบวิถีที่ใช่ ไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบเหมือนใคร ชัยชนะอาจได้มาตอนที่เราคาดคิดไม่ถีง
หนังฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes ในปีที่ Liv Ullmann เป็นประธานกรรมการ สามารถคว้ารางวัล Best Director ร่วมกับ Joel Coen เรื่อง The Man Who Wasn’t There (2001)
ด้วยทุนสร้าง $15 ล้านเหรียญ ($8 ล้านเหรียญสำหรับตอน pilot และอีก $7 ล้านเหรียญเพิ่มเติมจากสตูดิโอ Canal+) ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $7.2 ล้านเหรียญ (จาก 247 โรงฉาย) รายรับรวมทั่วโลก $20.1 ล้านเหรียญ
แม้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์จะดีล้นหลาม ได้เข้าชิง Gloden Globe Award ถึง 4 สาขา (ฺBest Picture – Drama, Best Director, Best Screenplay, Best Original Score) แต่กลับมีลุ้น Oscar เพียง Best Director (พ่ายให้กับ Ron Howard เรื่อง A Beautiful Mind) และแทบทุกสถาบันต่าง SNUB การถ่ายภาพ-ตัดต่อ-เพลงประกอบ และการแสดงของ Naomi Watts อย่างน่าหงุดหงิดใจ
หนังได้รับการบูรณะคุณภาพ Digital 4K (เมื่อปี 2015) และ 4K Ultra HD (เมื่อปี 2021) โดย Criterion Collection ร่วมกับตากล้อง Peter Deming เป็นที่ปรึกษาดูแลคุณภาพให้ตรงตามวิสัยทัศน์ดังเดิมของ David Lynch มากที่สุด, ปัจจุบันสามารถหารับชมได้บนช่อง Criterion Channel
หวนกลับมารับชมคราวนี้ผมบังเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ Mulholland Drive เพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ อาจเพราะสามารถทำความเข้าใจหนังได้แล้ว ไม่ต้องเสียเวลาสับสนมึนงง ครุ่นค้นหาใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-อย่างไร เลยพบเห็นคุณค่า สาสน์สาระ ไดเรคชั่น David Lynch มีความละเอียดอ่อน ละเมียดละไม งดงามระดับวิจิตรศิลป์ และแฝงข้อคิดเกี่ยวกับ Hollywood งดงามลุ่มลึกล้ำ ตราตรึงถึงขั้วหัวใจ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ความฝันคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีเป้าหมาย ทิศทางในการดำเนินชีวิต แต่อย่าเอามันมาเป็นหลักปักชัย ต้องไปให้ถึง เป็นผู้ชนะ ยิ่งใหญ่เหนือใคร เผื่อหัวใจไว้กับความพ่ายแพ้ เหลือพื้นที่สำหรับยินยอมรับโชคชะตา เผชิญหน้าโลกความจริง แล้วคุณจะไม่จบสิ้นด้วยโศกนาฎกรรม
แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวที่กำลังเพ้อใฝ่ฝัน อยากเป็นนักแสดง ดารา โหยหาความสำเร็จ ชื่อเสียงเงินทอง รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วตราฝังไว้ใต้จิตสำนึก รับรู้ศักยภาพของตนเอง ทำจนสุดความสามารถ ส่วนที่เหลือจากนั้นขี้นอยู่กับโชคชะตากรรม … ถ้าคนมันจะรวย ซื้อหวยใบเดียวก็ถูกรางวัลที่หนึ่งได้
ใครชมชอบภาพยนตร์ประเภทตื่นจากฝันร้าย ขอแนะนำ Dead of Night (1945), Shutter Island (2010), One Cut of the Dead (2017) ฯ
จัดเรต 18+ กับความฝันล่มสลาย โลกความจริงที่โหดร้าย และโศกนาฎกรรม
คำโปรย | Mulholland Drive จากความฝันที่ล่มสลายของ David Lynch กลายมาเป็นผลงานมาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | ล่องลองในความฝัน
Mulholland Drive (2001)
(11/2/2016) คุณจะรับคำท้า กล้าหาคำตอบหรือไม่ ถ้าบอกว่า นี่คือหนังที่มีความซับซ้อนที่สุดในโลก และยังไม่มีใครในโลกให้คำตอบได้ว่า เกิดอะไรขึ้นอย่างแท้จริงในหนัง กับผลงานของผู้กำกับชาวอังกฤษ David Lynch นำแสดงโดย Naomi Watts ที่ทำให้เธอดังผลุแตกหลังจากอยู่ในวงการมากว่า 10 ปี
เดิมทีแล้วหนังเรื่องนี้ David Lynch มีความตั้งใจจะสร้างให้มันเป็น tv-series เป็นตอน pilot ที่มีตอนจบเปิดกว้างสำหรับเรื่องยาว แต่เมื่อนำไปให้กับโปรดิวเซอร์ชม กลับได้รับผลตอบรับที่แย่จนโดนยกเลิกผลิต Lynch ดิ้นรนอยู่สักพัก เลยเอาหนังกลับมาปรับปรุงใหม่ เขียนบทเพิ่ม ถ่ายทำต่อจนกลายเป็นฉบับหนังฉายโรงได้
ผมเคยดูหนังของ David Lynch เรื่องหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว The Elephant Man เป็นหนังที่แปลกประหลาดมากๆ ผมไม่ชอบหนังเรื่องนั้นเท่าไหร่ ดูแล้วรู้สึกกลัวจนไม่อยากดูหนังเรื่องอื่นที่สร้างโดยผู้กำกับคนนี้นัก ส่วน Mulholland Drive ผมได้ดูเมื่อเกือบสิบปีก่อนโน่น จำรายละเอียดของหนังไม่ได้แล้ว แต่มีฉากที่จำขึ้นใจเลย คือฉาก Lesbian ของ Naomi Watts เป็นฉาก Lesbian เรื่องแรกที่ผมได้ดู (เลยจำขึ้นใจ) กลับมาดูครั้งนี้ เห็นอะไรน่าสนใจหลายอย่างทีเดียว Lynch เป็นคนที่มีความละเอียดอ่อน ละมุ่นละไมในการสร้างหนังมาก เขาเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ทุกอย่างในหนัง เล่าเรื่องแบบใจเย็นค่อยเป็นค่อยไปมาก (แต่ไม่ช้าแบบ Tarkovsky) และมีแนวคิดที่แปลกประหลาด หนังอย่าง Mulholland Drive ก็ถือว่ามีความแปลกพิศดาร บ้าบิ่น และกล้ามากที่จะทำหนังให้คนไม่ชอบ และไม่เข้าใจ แน่นอนว่าเขาไม่แคร์อยู่แล้ว ขนาดว่ามีคนขอให้เขาอธิบายหนังเขาก็ไม่ทำ ปล่อยให้คนดูตีความไปต่างๆนานา
เชื่อว่าคงมีคนบางกลุ่ม ดูหนังจบ วิเคราะห์หนังแล้วไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าหนังมันคืออะไกันแน่ ก็จะไปโทษ Lynch ว่า ทำหนังมั่วๆอะไรออกมา ใครพูดแบบนี้แสดงว่าเขาไม่เห็นความละเอียดอ่อนของหนังเลยนะครับ ผู้กำกับระดับ David Lynch มีความเป็นศิลปินสูงมาก เขาไม่ทำอะไรที่ไม่สามารถตีความได้ออกมาแน่ๆ Roger Ebert นักวิจารณ์หนังชื่อดัง ขนาดว่าเอาหนังเรื่องนี้ไปฉายให้กับนักเรียนทำหนัง เปิดสัปดาห์สัมมนาหนังเรื่องนี้เพื่อให้คนหลากลายมาวิเคราะห์หนัง แต่ก็หาข้อสรุปไม่ได้ เขาจึงให้คำนิยามที่เป็นข้อสรุปของหนังเรื่องนี้ เป็นความอลม่านในความสวยงาม ที่คนดูไม่จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องทั้งหมด แต่สัมผัสและรู้สึกได้ว่ามันยอดเยี่ยม
นำแสดงโดย Naomi Watts สิบกว่าปีที่อยู่ในวงการมา เธอเป็นนักแสดงสัญชาติอังกฤษ เล่นหนังเรื่องแรกที่ออสเตรเลีย ผ่านมา 10 กว่าปีถึงตอนนั้นก็ยังไม่ดังเท่าไหร่ จะว่าเธอโชคดีที่ได้มาเล่นหนังของ David Lynch แต่กว่าจะได้ฉายก็ลุ้นอยู่นาน เพราะเวอร์ชั่น tv-pilot ถูกยกเลิก และเธอต้องมาถ่ายเพิ่มหลังจากนั้นหลายฉากทีเดียว ฉาก lesbian กับ Laura Harring ที่เล่นเป็น Rita/Camille นั้นเพิ่มเข้ามาตอนหลัง เพื่อเพิ่มด้านมืดให้กับตัวละครของเธอ เห็นว่าตอน casting นั้น Lynch เลือกทั้งสองจากภาพถ่าย และเรียกให้มาสัมภาษณ์แยกกัน Lynch ชอบ Watts มาก ให้สัมภาษณ์ที่เลือกเธอ เพราะเธอเป็นคนที่มีความสามารถสูงมากๆ เธอสามารถเล่นเป็นใคร เป็นอะไรก็ได้ มีตัวเลือกที่คุ้มค่าระดับ full package “I saw someone that I felt had a tremendous talent, and I saw someone who had a beautiful soul, an intelligence—possibilities for a lot of different roles, so it was a beautiful full package.”
หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร David Lynch ให้คำนิยามหนังของเขาว่า “A love story in the city of dreams” ตั้งแต่ต้นเรื่องยันกลางเรื่อง จะรู้สึกว่าหนังมี 2 เหตุการณ์คู่ขนาน ตัดสลับกันไปมา เรื่องหนึ่งคือหญิงสาวผู้ใฝ่ฝันจะเป็นดาราดัง ด้วยทักษะการแสดงที่ยอดเยี่ยม เธอต้องเป็นได้แน่ แต่กระนั้นนั่นอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดที่เธออยากเป็น การได้เจอกับหญิงสาวคนหนึ่งที่สูญเสียความจำจากรถชน การได้ช่วยเหลือหญิงสาวคนนี้ทำให้เธอเริ่มเข้าใจความต้องการของตนที่แท้จริง เหตุการณ์ที่ 2 คือ ผู้กำกับชื่อดังคนหนึ่ง ที่กำลังคัดเลือกนักแสดงในหนังเรื่องถัดไปของเขา แต่กลับถูกมัดมือมัดเท้าจากโปรดิวเซอร์ และคนที่มีอำนาจเหนือเขาให้เลือกนักแสดงที่เขาไม่ต้องการ จุดเชื่อมกันของทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ คือ ผู้กำกับได้เจอกับหญิงสาว ผมมองว่าถ้าหนังมีเรื่องราวประมาณนี้ และลากต่อไปจนจบ ก็อาจจะเป็นหนังที่ดีเรื่องหนึ่ง พล็อตอาจจะเชยสักนิดๆ แต่เทคนิคการเล่าเรื่องและการกำกับถือว่าละเมียดละไมมากๆ ช่วงต้นเรื่องผมสังเกตเห็นการยิ้มกว้างที่ฝืนธรรมชาติมากๆ ราวกับพวกเขาอยู่ในโลกแห่งความฝัน ตัวละครผู้กำกับ ดูแล้วคล้ายกับมาจากสิ่งที่ Lynch เคยเจอเข้ากับตัวจริงๆ หรือถ้าไม่เคยเจอ เขาใส่ความอยากที่จะทำถ้าเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ (ที่ผมไม่แน่ใจเพราะไม่รู้ว่า ฉากพวกนี้อยู่ในเวอร์ชั่น tv-pilot หรือเปล่า การเสียดสีที่รุนแรงขนาดนี้ มันคงทำให้โปรดิวเซอร์ที่ให้ทุนสร้างอาจถึงขั้นไม่พอใจอย่างมาก จนไม่ยอมให้ฉาย) ก็นะ เหตุการณ์พวกนี้มันย่อมมีจริงๆอยู่แล้ว เมืองไทยก็มี (นึกถึง…คู่กรรม)
แต่หนังมันไม่ได้จบแบบนี้ จุดที่ทำให้เรื่องราวเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เห้ย!นี่มันอะไร อยู่ดีๆหนังก็ปลุกเราให้ตื่น กับภาพของนางเอกที่ลุกขึ้นจากเตียงในสภาพทรุดโทรม ย่ำแย่ยังกะคนติดยา คนรอบข้างเปลี่ยนไป สถานที่ บรรยากาศหนังเปลี่ยนไป ณ จุดนี้เชื่อว่าใครๆก็คงคิด มันคือความฝันเหรอ? นี่มันจากสวรรค์ตกลงสู่นรกเลยนะครับ ใครชอบก็จะชอบมาก ใครไม่ชอบก็จะเกลียดเลย ทำไมทำกับตัวละครแบบนี้ หนังดำเนินต่อไม่มีอะไรในเรื่องราวครึ่งแรกที่เป็นความจริงแม้แต่น้อย แม้แต่เพื่อนสาวที่ถึงขนาด lesbian กัน ชื่อเธอเปลี่ยนไป นิสัยเปลี่ยนไป ราวกลับว่าทุกอย่างมันกลับสลับตารปัตรกันสิ้นเชิง ไปจนกระทั่งตอนจบที่ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ สรุปแล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับหนังกันแน่ เรื่องราวแท้จริงมันเป็นอย่างไร
คำถามพวกนี้ เชื่อว่าถาม 10 คน คำตอบที่ได้อาจจะต่างกันโดยสิ้นเชิง นี่คือจุดที่ทำให้หนังเรื่องนี้ถูกเรียกว่า “หนังที่มีความซับซ้อนที่สุดในโลก” Lynch ออกมาพูดเลยว่า นี่เป็นภาพในความคิดที่ถูกนำเสนอออกมาได้ตรงที่สุดที่เขาต้องการแล้ว ถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับผมในการที่จะเข้าใจหนังเรื่องนี้ จึงตัดสินใจที่จะเสียเวลานั่งคิดวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับหนัง ซึ่งเมื่อแก้ปมได้ปมหนึ่ง ย้อนกลับมาดู จะเจออีกปมหนึ่ง แล้วไอ้ตัวละครนี้มันเกี่ยวเนื่องอะไรกัน มันมีฉากเล็กๆน้อยๆมากมายที่ทำให้สับสน ผมไม่รู้นะครับว่าบทสรุปที่ได้จะใกล้เคียงตามที่ผู้กำกับคิดมากน้อยแค่ไหน
ผมใช้วิธีการแตกหนังเรื่องนี้ออกเป็นส่วนๆ เหมือนเรามองหนังทั้งเรื่องเป็นจิ๊กซอว์ที่ประกอบเสร็จแล้ว และผมก็แกะมันออกทีละชิ้น ผมเปรียบชิ้นหนึ่งของจิ๊กซอว์เหมือน 1 เหตุการณ์ 1 การกระทำ 1 ตัวละคร แยกมันออกมาส่วนๆ จากนั้นตั้งสมมติฐานขึ้นมา มองหาสิ่งที่น่าจะเป็น “จริง” ที่สุดในหนัง เลือกมา 1 เหตุการณ์ แล้วใช้การไล่ย้อนกลับไปมองหาว่า อะไรที่สนับสนุนเหตุการณ์นั้นบ้าง
เหตุการณ์ที่ผมมองว่า จริงที่สุดในหนัง คือ นางเอกในขณะที่เธอตื่นขึ้นในสภาพทรุดโทรมเหมือนคนติดยา ผมเริ่มต้นจากตรงนี้ นั่นแสดงว่าทุกฉากที่มีเธอออกมาก่อนหน้านี้เป็นความฝันทั้งหมด เหตุผลสนับสนุนคือตอนต้นเรื่องก่อนที่ชื่อหนังจะขึ้น มันจะมีฉากหมอนซูมเข้าไป นั่นอาจจะหมายถึงตัวละครตัวนี้ที่กำลังจะนอนฝัน ส่วนเหตุการณ์หลังจากการตื่นขึ้น แทบทั้งหมดคือความจริง จากจุดนี้มาดูกันว่าอะไรเป็นจริงบ้าง เราจะรู้ว่าเธอชื่อ Diane Selwyn ไม่ใช่ Betty Elms (ชื่อในฝัน) ส่วนตัวละครที่เป็น lesbian กับเธอ ในฝันชื่อ Rita ตัวจริงชื่อ Camilla Rhodes จากหลายๆฉากเรารู้ว่าในความจริง Diane ทั้งรักทั้งอิจฉา Camilla มาก เพราะ Camilla ได้เล่นหนัง มีชื่อเสียง ได้เป็นแฟนกับผู้กำกับ มีในสิ่งที่เธออยากมี ได้ทำในสิ่งที่เธออยากทำ ย้อนกลับไปเรื่องราวในความฝัน ผมเคยอ่านทฤษฎีของ Sigmund Freud ประมาณว่า ฝันคือภาพสะท้อนของความคิดความต้องการของมนุษย์ Diane เธอฝันอยากเป็นหญิงสาวที่เก่ง ดี มีความสามารถ เธอเลยฝันตัวเองขึ้นมาเป็นตัวละคร Betty Elms ส่วน Camilla ในฝันก็กลายเป็น Rita หญิงสาวที่เธอหลงใหล ที่ทำให้เธอเสียความทรงจำก็เพื่อให้ตัวเองดีเด่นกว่า Camilla ในความฝัน ฉาก lesbian คือ ความต้องการลึกๆในจิตสำนึกของ Diane ว่าอยากให้ Camilla เป็นของๆเธอ ในความฝันเราจะเห็นตัวละครที่ชื่อ Camilla Rhodes ด้วย แต่เธอกลับผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่ไม่มีอะไรดี ร้องเพลงไม่เพราะ หน้าตาไม่สวย
กุญแจคืออะไร? จะตอบคำถามนี้ เราต้องข้ามไปในฉากที่ Diane พบกับชายคนหนึ่ง และขอให้เขาฆ่า Camilla ช่วงท้ายๆหนังเลยนะครับ จากย่อหน้าที่แล้วเราต้องมองว่าเหตุการณ์นี้คือความจริงไม่ใช่ความฝัน เหตุผลที่ Diane ต้องการฆ่า Camilla ค่อนข้างชัดนะครับ ว่าเธอแปลเปลี่ยนจากความรักเป็นอิจฉา ฉากก่อนหน้านั้นที่เธอกับผู้กำกับสวีทกันออกนอกหน้าอย่างหน้าเกลียด กว่าจะประกาศได้ว่าทั้งคู่จะแต่งงานกัน นั่นคือจุดแตกหักเลย ด้วยเหตุนี้ในฉากความฝันเราจึงเห็นเรื่องราวของผู้กำกับมีความซวยซ้ำซวยซ้อนที่สุดเลย และ Rita ก็ไม่เจอกับผู้กำกับในฝันด้วย … ในเหตุการณ์งานเลี้ยง ช่วงต้นๆ Diane ได้เล่าความจริงว่าเธอพบกับ Camilla ยังไง เจอกันตอนหนังเรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้กำกับหนังเรื่องนั้นเห็น Camilla แล้วชอบมากๆ แต่ไม่เห็นหัว Diane เลย เธอเล่าต่อว่าเป็นใครมาจากไหน เงินมาจากไหน จากป้าของเธอที่เพิ่งเสียไป กลับมาที่เรื่องกุญแจ ชายที่รับปากจะฆ่า Camilla ให้ พูดประโยคสุดท้ายคือ เมื่อฆ่าสำเร็จแล้วเขาจะส่งกุญแจนี่ให้ แล้วหนังตัดข้ามไปฉากที่ Diane จ้องมองกุญแจนี้ในห้องของเธอ ไม่ให้เราเห็นว่า Camilla ตายจริงหรือเปล่า จุดนี้เราต้องเข้าใจวิธีการพูดของหนังนะครับ หนังนำผลลัพท์ออกมาเลยไม่แสดงให้เราเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น นี่เป็นเทคนิคที่ทำให้คนดูงงแบบไม่ทันตั้งตัว ถ้าคุณไม่ตั้งใจดูก็จะมึนอยู่นั่นแหละ เอาว่าให้สรุปว่า Camilla ตายนะครับ และการตายของเธอมันกลายเป็นความรู้สึกผิดให้กับ Diane ทนไม่ได้จนต้องเอาปืนจ่อปากฆ่าตัวตาย … แล้วกุญแจอีกดอกละ เรื่องราวของกุญแจดอกนั้นและกล่องมันอยู่ในช่วงความฝันของ Diane นะครับ เมื่อใช้ทฤษฎีความฝันของ Freud มาอธิบาย เราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างความจริงกับความฝัน กุญแจในหนัง ปรากฏในกระเป๋าของ Rita พร้อมกับเงิน (ความจริงคือ Diane เห็นกุญแจและเป็นเจ้าของเงิน) ป้าของ Betty ยังไม่ตายและนั่นคือ Apartment ของเธอ (ความจริง ป้าของ Diane ตายแล้ว แต่เธอไม่อยากให้ป้าตายจึงฝันให้เธอไม่ตาย) ส่วนกล่องในฝัน ในความจริงมันไม่มีนะครับ ช่วงความจริงหนังไม่ได้บอกว่ากุญแจเอาไว้ไขอะไร แต่ในความฝัน มันมีกล่องให้ไข จำการมาของกล่องได้ไหมเอ่ย อยู่ดีๆกล่องมันก็โผล่ออกมาในกระเป๋าของ Betty ขณะกำลังจะไข Betty หายไป คนที่ไขออกคือ Rita ข้างในกล่องมันคือความว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย ผมวิเคราะห์ดู พบว่า กล่องคือความลับของหนังเรื่องนี้ เป็นปริศนาที่บอกใบ้คนดูว่า ไอ้ที่เล่ามานั่นนะไม่จริงนะ การเปิดกล่องออก ซูมเข้า มันทำให้นางเอกตื่นจากความฝัน ณ จุดนั้นคือจุดจบของฝัน และเริ่มต้นความจริง
มาไล่เก็บประเด็นเล็กๆน้อยๆกันนะครับ มีชาย 2 ตัวละครตอนต้นเรื่องที่คุยกันในร้าน ถามว่าทำไมต้องมาที่ร้านนี้ ชายอีกคนหนึ่งบอกว่า เขามีความฝัน ณ ที่แห่งนี้ และด้านหลัง … นี่เป็นวิธีการสร้างความสับสนให้กับคนดูมากๆ ใช่ว่านี่ควรเป็นฉากฝันของ Diane ไม่ใช่เหรอ แต่ทำไมดันมีตัวละครอื่นที่แทบจะไม่เกี่ยวอะไรกันเลยโผล่มาได้ยังไง จริงๆคือมีครับ ถ้าใครสังเกตช่วงท้ายตอนที่ Diane กำลังจ้างชายคนหนึ่งฆ่า Camilla ตัวละครนั้นมันโผล่มาแวบหนึ่งยืนอยู่ตรงเคาน์เตอร์ ผมมองหาว่าออกมาตอนไหนในเรื่องอีกไหม ไม่เลยออกมาแค่นั้นเอง สังเกตอย่างละเอียดจะพบว่า ณ ขณะที่ Diane สนทนากับกับชายนักฆ่า เธอหันไปสบตากับชายคนนี้ มันทำให้เธอคิดเป็นตุเป็นตะ คิดไปไกลเลย เพราะความหวาดกลัว กลัวว่าคนอื่นจะมารู้ความลับที่เธอต้องการจ้างนักฆ่าให้ฆ่าใครคนหนึ่ง มีประโยคว่า “กลัวจนขี้ขึ้นสมอง” ผมขอปรับเป็น “กลัวจนเอากลับไปฝัน” เหตุการณ์ในฝันคือ ชายคนนั้นฝันเห็นฝันเห็นชายคนหนึ่ง เขาทำอะไรบางอย่างที่เลวร้ายมาก …
แล้วไอ้ลุงป้าต้นเรื่องที่ยิ้มแฉ่งๆนั่นอะไรกัน มาโผล่อีกทีท้ายเรื่องกลับหลอนมากๆ ผมคิดว่านั่นเป็นตัวละครในจิตสำนึกของนางเอกนะครับ อาจจะมีตัวตนจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ตอนต้นเรื่องการเจอกันของ Diane กับลุงป้า เป็นฉากในฝัน ทั้งสองตอนลงจากเครื่องพร้อมเธอ เราไม่รู้ว่าทั้งคู่คุยอะไรกันมาก่อนหน้านั้น แต่ก่อนชื่อหนังขึ้นที่เป็นการเต้น จะมีภาพเบลอๆของ Diane และสองลุงป้าโผล่มาด้วย นั่นอาจหมายถึงสิ่งที่เธอวาดฝันว่าอยากจะเป็น รอยยิ้มที่กว้างเว่อเกิน เปรียบเสมือนความฝัน การกลับมาของทั้งสอง สะท้อนว่าสิ่งที่เธอฝันมาตลอดมันไม่เป็นจริง เหมือนความฝันนั้นกลับมาหลอกหลอนตัวเธอ การยิ้มหัวเราะ กลายเป็น เยอะเย้ย ถากถาง สมน้ำหน้า ฉากนี้มันหลอนสุดๆเลยละครับ จะแปลกอะไรที่เธอจะทนไม่ได้จนต้องเอาปืนจ่อปากฆ่าตัวตายในที่สุด
แล้วฉากในโรงละครละ… จะอธิบายฉากนี้ผมแนะนำให้ไปหาหนังเรื่อง Persona ของ Ingmar Bergman ดูนะครับ คงขอข้ามไปไม่อธิบาย
ผมเริ่มขี้เกียจเล่าแล้วละครับ ขอสรุปเลยแล้วกัน ใครสงสัยอะไรเพิ่มเติมก็ถามมาได้เลย สิ่งที่ผมมองเห็นในหนังเรื่องนี้คือ “ครึ่งแรกเป็นเรื่องราวในความฝันของหญิงสาวคนหนึ่ง” “ส่วนครึ่งหลังเป็นเรื่องราวความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับหญิงสาวคนนี้” วิธีการที่ทำให้ผมเข้าใจหนัง คือ ผมมองหา “ความจริง” ก่อน เพราะ “ความฝัน” มันเป็นภาพสะท้อนของความจริง ที่ทำให้คนดูไขว้เขว มีส่วนไม่จริงอยู่มาก หลายส่วนถูกแต่งแต้ม เปลี่ยนแปลง กลับตารปัตร เหมือนเราดูหนังคนละเรื่อง ซึ่งเมื่อเราหาความจริงของหนังเจอแล้ว ย้อนกลับไปดูช่วงความฝัน ก็จะเริ่มเห็นความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราว ตัวละครอย่างชัดเจนมากๆ ตัวละคร/เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง พอไปโผล่ในฝันก็เปลี่ยนไป บางตัวละคร/เหตุการณ์ที่จินตนาการขึ้นเองขึ้นก็มี ต้องใช้การสังเกตอย่างละเอียดเราถึงจะพบว่า ใครคือใคร อะไรคืออะไร อันเกิดขึ้นจริงอันไหนไม่เกิดขึ้นจริง ใครมีตัวตนจริงใครไม่มีตัวตนจริง
อีกสิ่งสำคัญที่ผมพบคือ “ฉากความฝันทั้งหมดนี้เป็นความฝันของ Diane คนเดียว” ไม่มีส่วนผสมอื่น การตัดต่อเราจะรู้สึกว่าตัดไปมาหลายเรื่องราวเหลือเกิน จนเขวไปว่า มันอาจจะเป็นความฝันสลับความจริงหรือเปล่า หรือมันเป็นความฝันคนอื่น ไม่ใช่เลยนะครับ ผมยืนยันว่าครึ่งแรกเป็นฝันของ Diane คนเดียว (มันคล้ายๆกับ Wild Strawberries ที่นำเสนออดีตที่ไม่ใช่ภาพที่ตัวเองเห็น แต่เป็นความคิด มุมมองของตนเองต่อคนอื่น) หลายตัวละครเธอจินตนาการขึ้นเอง เช่น บอสใหญ่ที่นั่งในรถเข็นในห้องกว้างๆโล่งๆคอยสั่งคนอื่น, ฉากห้องประชุม, ฉากผู้กำกับใช้ไม้กอล์ฟฟาดรถคันอื่น, ฉากผู้กำกับจับได้ว่าแฟนมีชู้, ผู้กำกับไปพบกับคาวบอย, นักฆ่าตามหาสาวผมดำ, นักฆ่าฆ่าชายเจ้าของ black book,เลขาอ้วนและภารโรง พวกนี้คือฝันของ Diane ผมคิดว่าเธอจินตนาการขึ้นมาทั้งหมด
กำกับภาพโดย Peter Deming นี่เป็นหนังที่มีการเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆยิบย่อยได้ครบถ้วนมากๆ ไม่ใช่แค่วิธีการถ่ายที่ค่อยๆเคลื่อนภาพเข้าไป แต่ยังรายละเอียดพวกแววตา สีหน้า หนังมี 2 โทนสี ที่ชัดเจนมากๆ กับฉากในความฝัน มันจะดูสว่างสดใส รู้สึกเหมือนลอยได้ แต่กับความเป็นจริงภาพจะหม่นเข้มๆ ซึมเศร้า หดหู่
ตัดต่อโดย Mary Sweeney ผมมองว่านี่เป็นหนังที่มีการตัดต่อที่พิศวงมาก กว่าที่จะเข้าใจว่าทำไมถึงต้องเล่า 2 เหตุการณ์คู่ขนานไปเรื่อยๆ จนถึงจุดเชื่อมระหว่างสองเหตุการณ์ เมื่อนั้นความจริงก็จะเริ่มปรากฏ เมื่อปรากฏแล้วเราจะไม่เห็นเส้นคู่ขนานนั้นอีก จะเป็นเส้นตรงเส้นสุดท้ายและเป็นบทสรุปของเรื่องราว Sweeney ทำงานกับ Lynch หนักมาก ตั้งแต่ตัดต่อฉบับ pilot-series ที่เป็นต้นฉบับเดิม น่าเสียดายที่เราไม่รู้ว่ามีอะไรถูกเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน อะไรเกิดขึ้นบ้างและมันกลายเป็นหนังเวอร์ชั่นนี้ได้ยังไง
เพลงประกอบโดย Angelo Badalamenti บรรยากาศของเพลงนี้มันออกจะมืดมนหลอนๆนะครับ เป็นส่วนผสมของ Orchestra กับเครื่องดนตรี electronic มีคนเรียนดนตรีสไตล์นี้ว่า noir jazz เห็นด้วยกับ noir นะครับ อารมณ์มันจะหม่นๆแบบนี้ แต่ jazz นี่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ ตั้งแต่ที่ผมฟังเพลงประกอบหนังมา หนังเรื่องนี้น่าจะมีดนตรีที่มืดมัวที่สุดแล้ว ฉากสว่างๆในหนังมันทำให้เรารู้สึกลอยได้ก็จริง แต่มันก็มีอารมณ์หลอนๆปนมา คงเป็นอีกนัยหนึ่งที่ผู้กำกับแฝงไว้นะครับว่าฉากพวกนั้นมันคือความฝัน ไม่ใช่ควรจริง ผมมาฟังเพลงประกอบใน youtube เกิดอีกความรู้สึกหนึ่งคือ ฟังแล้วมันเหมือนฝันร้าย แต่เอะอะไรกันคือฝันร้ายในหนัง เรื่องราวความฝันต้นเรื่อง หรือความจริงที่นางเอกใช้ชีวิตเหมือนฝันร้าย
ผมชอบเพลงนี้มาก ในหนังมันรู้สึกว่าเพลงนี้ไม่เพราะ แต่ผมหยุดฟังไม่ได้แหะ คือมันมีเสน่ห์ที่ผิดปกติมาก เสียงร้องแหลมปี๊ดๆ แต่มีเสน่ห์สุดๆเลย
ผมใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ดูหนังไปเกือบๆ 2 รอบ กว่าจะตีความได้ประมาณนี้นะครับ ตอนดูหนังจบผมก็ไม่ได้คิดว่าหนังมันจะซับซ้อนขนาดนี้ ไปตามหาบทความของนักวิจารณ์อ่าน เลยเห็นความท้าทาย ตัดสินใจไม่อ่านต่อแล้วมานั่งวิเคราะห์ทีละจุดเอง กลับไปเช็คๆดูหลายที่ก็มีแนวคิดที่คล้ายๆกันนะครับ นี่เป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดแล้ว แต่ก็ยังมีบางที่เชื่อว่าตัวละครในฝันนั้นมีอยู่จริง เป็นเหมือน parallel universes ไม่รู้คิดไปไกลระดับนั้นได้ยังไงเหมือนกัน
ผมแนะนำหนังเรื่องนี้ให้กับคอหนังที่ชื่นชอบความท้าทายนะครับ นี่ไม่ใช่หนังแนวสืบสวนสอบสวน แต่ทำให้คนที่ได้ดูกลายเป็นคนสืบสวนหนังเอง กับคนดูทั่วไปก็ดูได้ เชื่อว่าพอถึงช่วงมึนๆจนจบ ก็คงปล่อยไปไม่ได้คิดต่ออะไร แต่ถ้าท่านมีโอกาสคิดต่อ ก็จะเห็นว่านี่ไม่ใช่หนังธรรมดาๆเลย หนังอาจจะไม่มีคำตอบให้กับคุณว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็สามารถชื่นชมและสัมผัสกับการเล่าเรื่อง ความสวยงามและความซับซ้อนที่เหนือชั้นสุดๆ
โดยรวมแล้วผมโอเคกับหนังนะ แต่ก็ไม่ได้ชอบเท่าไหร่ ความซับซ้อนคือความท้าทาย แต่เมื่อแก้ปัญหาได้แล้ว หนังก็ไม่หลงเหลืออะไรที่ทำให้หลงรักมัน แต่ผมเห็นความสุดยอดของผู้กำกับ David Lynch ชื่นชม ทึ่ง! ที่สามารถคิด สร้างหนังที่มีความซับซ้อนได้ขนาดนี้ แม้คนที่ถึงจะดูไม่เข้าใจ แต่ยังสามารถเห็นความสวยงามของหนังได้
หนังเรต 18+ กับฉาก lesbian สุดสวยงาม ฉากนี้ผมยังคงจำได้ติดตา มันสวยมากๆ แฝงความรุนแรงด้วยนิดหน่อย
คำโปรย : “Mulholland Drive หนังเกี่ยวกับความฝันและความจริง โดย David Lynch นี่คือหนังที่มีความซับซ้อนที่สุดในโลก”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : LIKE
Adam ในช่วงครึ่งแรก/ความฝันของ Diane จะมองว่าเป็นเพราะ Diane มองเป็นศัตรู/มารหัวใจ ที่แย่ง Camilla ไป รวมทั้งเหมือนเป็นคน/สิ่งที่เปลี่ยน Camilla จากที่เคยเป็นเพื่อนกัน/คู่รักกัน ให้เปลี่ยนไปจากเดิม (อาจแทนสัญลักษณ์เป็นอะไรก็ได้ เช่น ลาภยศ ชื่อเสียงเงินทอง ความสำเร็จ ฮอลลีวูด ฯลฯ) ก็ได้นะ
Diane เลยฝันให้เขาพบแต่ความโชคร้าย