Munich (2005) : Steven Spielberg ♥♥♥♥♡
‘There’s no peace at the end of this no matter what you believe.’ การต่อสู้ไม่มีทางจบลงอย่างสันติ ไม่ว่าคุณจะเชื่อมั่นแค่ไหน, Steven Spielberg สร้าง Munich ด้วยความตั้งใจ เป็นจดหมายรักต่อทั้ง Israel และ Palestine แม้รู้ทั้งรู้ว่าจดหมายฉบับนี้ อาจไม่มีวันได้ถูกเปิดออกอ่านก็ตาม
เดิมทีผมตั้งใจจะเขียนรีวิวหนังเรื่องนี้ในช่วง Olympic Month นะครับ แต่หลังจากได้ยินข่าวเหตุการณ์กราดยิง สังหารหมู่ที่ Munich เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2016 ผมจึงรีบหยิบหนังเรื่องนี้มาพูดถึงก่อน, โศกนาฎกรรมสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นใน Munich มีโด่งดังสุดๆเพียงครั้งนี้ (2016) กับครั้งนั้น (1972) เป็นเหตุการณ์สะเทือนใจที่ว่ากันว่า สาเหตุหรือกลุ่มผู้อยู่เบื้องหลัง ก็มักจะมาจากกลุ่มประเทศแถบเดิมๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็รูปแบบเดิมๆ มันน่าเศร้านะครับที่เราคงไม่มีวันเห็น ทั้งสองฝ่ายที่เป็นต้นตอของปัญหา นั่งลงเจรจาพูดคุยต่อรองกันอย่างสันติ หนังเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ แต่คนกลุ่มประเทศผู้ก่อปัญหาทั้งสอง คงไม่มีวันสนใจสิ่งที่หนังต้องการสื่อเป็นแน่
ผมได้ดู Munich ครั้งแรกตั้งแต่วันแรกที่เข้าโรงหนัง (คุ้นว่าเข้าเมืองไทยปี 2006 ประมาณมกรา-กุมภา ช่วงเทศกาลฉายหนัง Oscar) เป็นหนังที่ไม่ผิดหวังเลย แม้จะยาวไปหน่อย แต่ครบรสชาติความเป็น Action, Thriller แนวสืบสวนสอบสวนที่ดูสนุกเรื่องหนึ่ง และผมลุ้นให้ Spielberg ได้ Oscar สาขา Best Director ตัวที่ 3 ในปีนั้นด้วย (แต่เป็น Ang Lee ที่ได้ไป)
ใช้เวลาเตรียมงานสร้างกว่า 5 ปี ทีแรกตั้งใจจะสร้างให้เสร็จตั้งแต่ปี 2003-2004 แต่ตอนนั้น Tom Cruise ว่างอยู่พอดี จึงไปสร้าง Wars of the World ก่อน เสร็จแล้วถึงมาเริ่มถ่ายหนังเรื่องนี้, Spielberg ไม่ได้มีการให้สัมภาษณ์หรือให้ข้อมูลใดๆของหนังแก่สื่อมวลชนได้รับรู้เลย เพราะเขารู้ดีว่า การทำหนังประเภทนี้มักได้รับเสียงคัดค้าน ต่อว่าดูถูก เสียดสีด่าทอ จากกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยมากมาย นั่นทำให้เขาปิดทุกอย่าง รอจนหนังสร้างเสร็จออกฉายแล้วถึงค่อยออกมาพูดให้สัมภาษณ์
ดัดแปลงจากหนังสือเรื่อง Vengeance เขียนโดย George Jonas ตีพิมพ์ปี 1984 ที่เป็นการอธิบายปฏิบัติการ Wrath of God ของรัฐบาล Israel ในการตอบโต้เหตุการณ์สังหารหมู่นักกีฬา Israel ในการแข่งขันกีฬา Olympic ที่เมือง Munich เมื่อปี 1972
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายนของปี 1972 เวลาตีสี่กว่าๆ มีกลุ่มชาว Palestine ในกลุ่มกันยาทมิฬ (Black September) ซึ่งเป็นกองกำลังเสริมของ Palestine บุกเข้าหอพักนักกีฬา Olympic แล้วจับตัวนักกีฬาทีมชาติ Israel จำนวน 11 คนเป็นตัวประกัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษ Palestine จำนวน 234 คนและอีก 2 คนที่ถูกขังอยู่ในคุกของ Germany, Israel มีนโยบายไม่เจรจากับผู้ก่อการร้าย ตั้งใจส่งหน่วยทหารที่เชี่ยวชาญชิงตัวประกันและรับมือผู้ก่อการร้านมาช่วยเหลือ แต่กลับถูก Germany ปฏิเสธ (คงเพราะต้องการรักษาหน้าตาในฐานะเจ้าภาพ Olympic ไว้ หรือไม่ก็อยากแก้ไขความผิดพลาดเมื่อครั้งที่นาซีเคยฆ่าล้างชาวยิว) การตัดสินใจไม่รับความช่วยเหลือกลายเป็นความผิดมหันต์ เมื่อหน่วยแม่นปืนของ Germany ทำพลาด ผลคือตัวประกันตายเรียบ ตำรวจตายไป 1 คน ผู้ก่อการร้ายตายไป 5 ส่วนอีก 3 ถูกจับกุมได้ในที่เกิดเหตุ
มีหนังสารคดีรางวัล Oscar ที่นำเสนอภาพเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นใน Munich นี้ เรื่อง One Day in September (1999) ไว้ผมจะรีวิวให้ฟังวันหลังนะครับ
โศกนาฎกรรมครั้งนี้สร้างความเจ็บปวดให้กับประชาชนชาว Israel มาก เพราะนอกจากตัวประกันตายหมดแล้ว ประเทศอื่นๆดูจะไม่แยแสสนใจ กีฬาโอลิมปิกยังคงดำเนินไป, Golda Meir นายกรัฐมนตรีของ Israel จึงตอบโต้ทันทีด้วยการส่งเครื่องบินรบไปทิ้งระเบิดที่ฐานบัญชาการขบวนการปลอดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ใน Syria และ Lebanon ตามด้วยส่งหน่วยจารชนไปลอบสังหาสมาชิกกลุ่มกันยาทมิฬจำนวน 11 คน ที่เชื่อว่าเป็นผู้วางแผนอยู่เบื้องหลัง ตั้งชื่อทีมงานนี้ว่า Wrath of God
reference: http://pantip.com/topic/30770106
ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Tony Kushner และ Eric Roth, เรื่องราวของหนังเกี่ยวกับจารชน 5 คนที่ได้รับเลือกจากรัฐบาล Israel เพื่อลอบสังหารผู้วางแผนทั้ง 11 คน ประกอบด้วย Avner Kaufman (Eric Bana) เจ้าหน้าที่ Mossad สัญชาติ German-Jewish เป็นหัวหน้ากลุ่ม สมาชิกประกอบด้วย คนขับรถแม่นปืน Steve (Daniel Craig), คนทำของเล่นชาว Belgian และเชี่ยวชาญระเบิด Robert (Mathieu Kassovitz), อดีตทหาร Israel และคนเก็บกวาด Carl (Ciarán Hinds), และคนสร้างเอกสารปลอมชาว Danish ชื่อ Hans (Hanns Zischler) โดยมีแหล่งข้อมูล เป็นนักขายข่าวชาวฝรั่งเศสชื่อ Louis (Mathieu Amalric)
หนังนำเสนอการวางแผน เตรียมการ และปฏิบัติการ ขณะลอบสังหารเป้าหมายต่างๆ, ทั้ง Spielberg และ Kushner เป็นชาว Jews แต่แทนที่จะให้ Israel เป็นพระเอก กลับเลือกเล่าเรื่องออกมาในมุมมองที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด, ในช่วงแรกของการปฏิบัติการ ไม่มีใครในทีมจารชนมีข้อสงสัยใดๆ หลับหูหลับตาทำตามคำสั่ง แต่เมื่อปฏิบัติการเริ่มเกิดข้อผิดพลาด ความหวาดระแวง ความสงสัยได้เข้ามาครอบงำจิตใจของพวก รวมถึงการถูกแทรกแซงจากองค์กรภายนอก และความตายของสหายผู้ร่วมงาน ทำให้สุดท้ายภารกิจนี้ต้องถูกยุติลงกลางคัน จบที่ลอบสังหารได้ 7 จาก 11 คนพลาดไป 2 (แต่เห็นว่าหน่วยอื่นตามเก็บได้ทีหลัง)
Avner Kaufman รับบทโดย Eric Bana ที่ตอนนั้นกำลังร้อนแรงมาจากหนังเรื่อง Hulk (2003) และ Troy (2004), Bana เป็นคนเชื้อสาย Australian ไม่ได้มีเชื้อ Jews เลยนะครับ เหตุที่ได้รับเลือกบทนี้ ผมคิดว่าคงจาก Hulk ที่ Bana สามารถแสดงได้ทั้งคนที่สงบเยือกเย็น และแสดงความโกรธเกรี้ยว ออกมาได้อย่างบ้าคลั่ง, ตัวละคร Avner เป็นคนรักครอบครัวมากๆ ไม่คิดนอกใจภรรยาแม้แต่น้อย ถึงขนาดโดดงานไปพบหน้าลูกวันคลอด ฯ หนังให้เราเห็นแม่ ไม่เห็นพ่อตัวจริงของเขา กระนั้นเขาก็เหมือนมีพ่ออีกคน Papa รับบทโดย Michael Lonsdale (พ่อของนักขายข่าว Louis) ที่มีความประทับใจในความรักครอบครัวของเขา และพูดกึ่งๆอยากให้เป็น Avner เป็นลูกของตน
คงไม่มีฉากไหนสะเทือนใจเท่าตอนที่ Avner โทรหาครอบครัว ได้ยินเสียงลูกเรียก Papa แล้วเขากลั้นน้ำตาออกมาไม่อยู่ นี่เป็นช่วงเวลาอ่อนไหวที่สุดของเขา มีความลังเลไม่แน่ใจ ระหว่าง ‘เพื่อชาติ’ กับ ‘เพื่อครอบครัว’ อะไรสำคัญกว่า?
Daniel Craig รับบท Steve, ตอนหนังฉาย Craig กำลังได้รับเสียงบ่นขรม เพราะเพิ่งถูกรับเลือกให้เป็น James Bond คนใหม่, สำหรับ Steve บทนี้ผมรู้สึกคล้ายๆกับตัวละครที่เขาเคยแสดงใน Layer Cake (2004) พูดมาก กวนๆเหมือนกัน แต่รักพวกพ้อง ถึงไหนถึงกัน ไปไหนไปกัน, มีฉากเด่นของ Craig คือขณะแย่งกันปรับคลื่นวิทยุฟังเพลงกับคนของ PLC ใน Safe House ที่ Athens, Greece ต่างคนชอบเพลงคนละสไตล์ จบลงด้วยการจ้องหน้ากัน หาช่องคลื่นที่ฟังได้ทั้งคู่, ฉากนี้ไม่มีบทพูดด้วยนะครับ มองตากันกันก็เข้าใจได้ นี่เป็นช่วงเวลาเล็กๆที่ผมชอบที่สุดในหนัง
เกร็ด: หนังเรื่องนี้มีนักแสดงที่เล่นหนัง 007 อยู่ 3 คน, Daniel Craig ที่เป็น James Bond, Mathieu Amalric ตัวร้ายในภาค Quantum of Solace (2008) และ Michael Lonsdale ตัวร้ายใน Moonraker (1979)
นักแสดงสมทบดังๆอย่าง Geoffrey Rush ในบท Ephraim หัวหน้าของ Avner, Mathieu Kassovitz ในบทมือระเบิด จำเขากันได้ไหมเอ่ย เคยเล่นเป็นพระเอกใน Amélie (2001) และ La haine (1995)
ถ่ายภาพโดย Janusz Kamiński ขาประจำของ Spielberg ที่ทำ Schindler’s List (1993) และ Saving Private Ryan (1998) ด้วยกันมา, สำหรับหนังเรื่องนี้ การถ่ายภาพถือว่าเป็นไปในสไตล์ของ Spielberg มากๆ ใช้การเคลื่อนไหวกล้องเพื่อสร้างอารมณ์ มีลูกล่อลูกชน ไม่ถ่ายตรงๆแต่คนโค้งไปมาจนกว่าจะเข้าสู่ประเด็นสำคัญ ถึงจะเผชิญหน้ากัน, แต่ที่เด่นสุดคือการเลือกใช้แสงและโทนสี ช่วงแรกๆของหนัง ภาพจะมีสีสันสดใสอบอุ่น ช่วงหลังจะใช้สีเข้ม ให้ความรู้สึกมืดมน หดหู่, เห็นได้ชัดในฉากที่พระเอกอยู่ที่อเมริกาแล้วโทรหา Papa ที่อยู่ฝรั่งเศส โทนสีและการจัดแสงของภาพจากทั้งสองสถานที่ให้ความรู้สึกตรงกันข้ามเลย หนึ่งอบอุ่น หนึ่งเยือกเย็น
หลังจากการลอบสังหารคนสุดท้ายของพระเอก (ที่ล้มเหลว) กลับไป Israel จะเห็นว่างานภาพจะมีโทนสี บรรยากาศและความรู้สึกที่เปลี่ยนไปมาก มันแห้งแล้ง จืดชืด ราวกับอยู่ใน ‘ทะเลทราย’ มีพื้นหลังเบลอๆ แสงแดดจ้าๆ จุดนี้ตีความได้ถึงทัศนคติที่เปลี่ยนไปของพระเอก ทำให้เขามองโลกต่างออกไป มันไม่ได้สดชื่น อบอุ่นสดใสเหมือนช่วงแรกๆ
ผมคิดว่างานภาพของ Kamiński ควรจะได้เข้าชิง Oscar ด้วยนะครับ แต่โชคร้ายที่ปีนั้นคู่แข่งสาขานี้แข็งแกร่งมากๆ ทั้ง 5 เรื่องที่เข้าชิงก็ถือว่าสุดยอดกันทั้งนั้น (ที่ได้ไปคือ Memoirs of a Geisha ก็สมควรแหละครับ)
ตัดต่อโดย Michael Kahn, สำหรับเรื่องนี้ ความโดดเด่นอยู่ที่ลูกล่อลูกชน การเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆอย่างครบถ้วน และการตัดสลับภาพของ 2 เหตุการณ์ที่สะท้อนความรู้สึกของตัวละครออกมา, ภาพเหตุการณ์ขณะกลุ่มชาว Palestine จับนักกีฬา Israel เป็นตัวประกัน จนถึงการระเบิดที่สนามบิน จะไม่ได้ถูกถูกเปิดเผยออกมาทั้งหมดตั้งแต่แรก แต่จะฉายให้เห็นทีละนิด ตัดสลับระหว่างที่เรื่องราวหลักของหนัง การลอบสังหารดำเนินไปเรื่อยๆ นี่เป็นการสะท้อนว่า สิ่งที่ Palestine ทำ ไม่ต่างจากสิ่งที่กลุ่มจารชนของพระเอกทำแม้แต่น้อย แม้วิธีการจะต่าง แต่แนวคิดและผลลัพท์นั้นเหมือนกัน
ไฮไลท์ของการตัดต่ออยู่ตอนท้ายๆเลยนะครับ ช่วงไคลน์แม็กซ์ของหนัง ที่เป็นจุดสุดยอดของการมี Sex ตัดสลับกับการความผิดพลาดของ Germany ที่ทำให้ตัวประกันถูกฆ่าตายทั้งหมด, นี่เป็นวิธีการที่บ้าและกล้ามากๆ ถ้าไม่ใช่ Spielberg และ Michael Kahn คงไม่มีใครกล้าทำแบบนี้แน่ (Sex น่าจะแทนถึง ‘การกระทำ’ เพื่อ ‘ปลดปล่อย’)
เพลงประกอบโดย John William, บอกตามตรงผมแทบไม่ได้ยินเสียงเพลงประกอบของหนังเรื่องนี้เลย ไม่รู้เพราะผมจดจ่ออยู่กับเนื้อเรื่องมากเกินไป หรือเพราะเพลงประกอบมันสุดยอด ในระดับที่กลมกลืนไปกับหนังได้โดยไม่รู้สึกตัว, ผมมาได้ยินเสียงเพลงของนักร้องหญิงที่มีความโหยหวน ในฉากที่ตัดให้เห็นขณะชาว Palestine ฆ่าตัวประกัน เป็นเสียงของคนที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน อยากกรีดร้องออกมา แต่ส่งเสียงได้แค่อู้อี้ในลำคอ เครื่องดนตรีใช้ไวโอลินกับเครื่องสายประสานเสียงล้วนๆ มันช่างเสียดแทง ก่อนจบลงด้วยความเงียบงัน ในจุดสุดยอด และคำพูดว่า I love you!
สิ่งที่หนังเรื่องนี้ต้องการพูดถึง คือความรักต่อประเทศชาติ เชื้อชาติ และการต่อสู้เพื่อแผ่นดิน, ความรักต่อครอบครัว พ่อ-แม่ ภรรยา-ลูก และการต่อสู้เพื่อครอบครัว, แต่ประเทศชาติ เปรียบได้กับ ครอบครัวไหม? อันนี้แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนนะครับ ถ้าสักสมัยพ่อขุนรามฯ ผมเชื่อแน่ว่า เราสามารถมองประเทศชาติเสมือนคือครอบครัว และครอบครัวคือประเทศชาติได้ แต่สมัยนี้ผมไม่ค่อยเต็มใจที่จะเรียกว่าประเทศชาติคือครอบครัวเสียเท่าไหร่, คนกลุ่มหนึ่งทำเพื่อครอบครัวเท่านั้น (Louis และ Papa) อีกกลุ่มทำเพื่อประเทศชาติเท่านั้นแม้จะไม่มีแผ่นดินอยู่ (PLO) การได้พบเจอกับคนทั้งสองกลุ่ม ทำให้พระเอกตั้งคำถาม ว่าเขาจะทำเพื่อ ‘ครอบครัว’ หรือทำเพื่อ ‘ประเทศชาติ’ เพราะสุดท้ายแล้ว เขาสามารถเลือกได้แค่อย่างเดียวเท่านั้น, คำตอบของการเลือกอยู่ตอนจบของหนังนะครับ
ใจความสำคัญของหนัง คือการตั้งคำถาม ‘ต่อสู้เพื่ออะไร?’ และ ‘เมื่อไหร่จะสิ้นสุด’ ตอนต้นเรื่องคำตอบของสองคำถามนี้จะเป็นรูปธรรมชัดเจน สู้เพื่อแก้แค้น ตอบโต้การกระทำที่รุนแรง และสิ้นสุดเมื่อคนในรายชื่อเสียชีวิตทั้งหมด แต่เมื่อหนังดำเนินไปเรื่อยๆ แทนที่เป้าหมายจะชัดเจนยิ่งขึ้นกลับเริ่มเบลอ ความจริงหลายอย่างเริ่มเปิดเผย กลายเป็นข้อสงสัย ข้อครหา ศัตรูที่เสียชีวิตไป ก็มีคนใหม่ขึ้นมาแทนที่ คำถามเดิมจึงวนกลับเข้ามา ต่อสู้เพื่ออะไร? แล้วมันจะสิ้นสุดตอนไหน? สองคำถามนี้ไม่มีคำตอบอีกต่อไป พระเอกจึงเลือกที่จะหยุดลงทันที การต่อสู้ของเขามันไม่มีค่าอะไรอีกแล้ว ต่อให้ทำจนเสร็จ ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะจบลง
เชื่อว่าหลายคน ดูหนังจบแต่เหมือนมันจะไม่จบ เพราะเป้าหมายที่หนังวางไว้ตั้งแต่แรกคือ ฆ่า 11 คน แต่ไฉนมันจบแค่ฆ่าได้ 7 แล้วอีก 4 คนละ เลยรู้สึกว่าหนังโคตรค้างคา, หนังมันจบได้ถูกที่ถูกเวลาแล้วละคร เพราะเป้าหมายของหนังไม่ใช่การ “ต้อง” ฆ่าให้ครบทั้ง 11 คน แต่เป็นการตั้งคำถามการกระทำนี้ ว่ามันมีประโยชน์อะไร ดังทีผมพูดไปย่อหน้าที่แล้ว “สู้เพื่ออะไร” และ “สิ้นสุดตอนไหน” เมื่อเหตุผลของการต่อสู้เปลี่ยนไป ตอนจบมันเลยเปลี่ยนไปด้วย, ถ้าพระเอกตัดสินใจกลับ Israel ในตอนจบ ไม่แน่ว่าหนังอาจจะยาวขึ้นอีกสัก 30 นาที เพื่อเก็บ 4 คนสุดท้ายที่ยังไม่ตาย แต่เพราะพระเอกตัดสินใจไม่กลับ หนังมันก็เลยจบลงตรงนั้นพอดี
ถ้าคุณรู้สึกขัดใจมากๆ ผมแนะนำให้ลองหา L’Avventura (1960) มาดู นี่เป็นต้นกำเนิดของหนังที่อยู่ดีๆ เป้าหมายของหนังเปลี่ยนไปตอนกลางเรื่อง แล้วตอนจบก็ทิ้งประเด็นไว้แบบนั้นแหละ น่าขัดใจยิ่งกว่าหนังเรื่องนี้อีก ไม่ใช่หนังจบไม่เคลียร์ แต่เป็นคุณที่ดูไม่เคลียร์เอง
หลังจากหนังออกฉาย Spielberg ออกมาให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร TIME ว่าหนังเรื่องนี้เป็นเสมือนคำสวดอ้อนวอนขอสันติภาพให้ตะวันออกกลาง ‘ผมไม่คิดว่าหนังเรื่องหนึ่ง หนังสือเล่มหนึ่ง หรืองานศิลปะชิ้นหนึ่ง จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ในตะวันออกกลางได้ เพียงแต่วันมันก็คุ้มค่าน่าลอง ผมว่ามันเป็นเรื่องดีที่คนทำหนังจะหันมาจับประเด็นสังคมหนักๆ ที่โหดร้ายและเกิดขึ้นจริงดูบ้าง’
การตอบโต้ของ Israel ต่อหนังเรื่องนี้ ในทัศนะของกงสุล Israel ประจำอเมริกา ที่ได้เข้าร่วมชมการฉายหนัง บอกว่า Spielberg มองโลกง่ายเสียจริง ‘หนังพูดว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นด้วยการเจรจา ไม่ใช่ความรุนแรง แต่เท่าที่จำกันได้ Israel คือฝ่ายที่พยายามเปิดการเจรจามาตลอด ซึ่งไม่เห็นว่ามันจะช่วยหยุดการก่อการร้ายได้เลย’
ถ้าจะคิดมองหาว่าใครผิด ผมว่าปวดหัวเสียเปล่าๆ ต่างคนก็มี Ego ของตัวเองที่แรงพอดู และไม่มีใครยอมให้ประเทศตัวเองเสียผลประโยชน์อย่างแน่นอน ดังคำพูดที่ผมยกมาตั้งแต่ประโยคแรกของการรีวิวนี้ ‘มันไม่มีทางจบอย่างสันติ ไม่ว่าคุณจะเชื่อมั่นแค่ไหน’
ด้วยทุนสร้าง $70 ล้านเหรียญ ทำเงินทั่วโลก $130.4 ล้าน ถือว่าขาดทุนนะครับ เพราะยังไม่รวมค่าโปรโมทหนัง, หนังเข้าชิง 5 รางวัล Oscar ประกอบด้วย Best Picture, Best Director, Best Writing: Adapted Screenplay, Best Edited และ Best Score แต่ไม่ได้สักรางวัล
แนะนำหนังกับคนกำลังเรียนประวัติศาสตร์ของ Israel และ Palestine, สนใจเรื่องจริง ในหนังประวัติศาสตร์, แฟนหนัง Thriller เครียดๆ สะท้อนประเด็นสังคมของ Steven Spielberg, การตัดต่อเจ๋งๆของ Michael Kahn, เพลงเพราะๆของ John Williams
จัดเรต 15+ กับระเบิด ความตาย และการลอบสังหาร (Sex Scene ด้วย)
Leave a Reply