Murder on the Orient Express (1974) : Sidney Lumet ♥♥♥♡
ดัดแปลงจากนิยายชุดสายสืบ Hercule Poirot ของ Agatha Christie เรื่องราวฆาตกรรมพิศวงที่เกิดขึ้นบนรถไฟสาย Orient Express ออกเดินทางจาก Istanbul ปลายทาง Paris รวมดารานักแสดงคับคั่ง อาทิ Albert Finney (เข้าชิง Oscar: Best Actor), Ingrid Bergman (คว้า Oscar: Best Supporting Actress), Lauren Bacall, Sean Connery, John Gielgud, Jean-Pierre Cassel, Anthony Perkins ฯลฯ
ในบรรดาภาพยนตร์ดัดแปลงจากผลงานเขียนของ Agatha Christie เรื่องที่โด่งดังมีชื่อเสียงประสบความสำเร็จที่สุด คงคือ Murder on the Orient Express (1974) เพราะเป็นหนึ่งในสองเรื่องที่ผู้เขียนแสดงความเห็นออกมาว่า ชื่นชอบประทับใจ [อีกเรื่องคือ Witness for the Prosecution (1957)] นี่ทำให้แฟนๆนิยายแห่กันมาจับจ้องรอชม อีกทั้งความที่รวมโคตรดาราชื่อดังแห่งยุคไว้มากมาย มีหรือบรรดาคนรักหนังจะพลาดได้
ช่วงวัยเด็กผมเคยชื่นชอบอ่านวรรณกรรม/นิยายสายสืบอยู่พักหนึ่ง หลงใหลคลั่งไคล้กับตอนเฉลยคดีแทบทุกครั้ง เพราะมันมักมีสิ่งเซอร์ไพรส์คาดคิดไม่ถึงอยู่เสมอ แต่พอโตขึ้นเริ่มรู้สึกไร้สาระยังไงชอบกล คือแทนที่จะชักชวนให้ผู้อ่านสามารถครุ่นคิดตามจากเงื่อนงำที่มี กลับสร้างคำตอบในสิ่งที่ไม่เคยนำเสนอพูดถึงมาก่อน หรือถ้าขาดองค์ความรู้อะไรบางอย่าง ก็มิอาจไขปริศนานั้นๆออกได้, กลายเป็นว่าเรื่องราวแนวสายสืบยุคสมัยนี้ เน้นขายความอึ้งทึ่ง ชวนให้สับสนพิศวง ยิ่งสลับซับซ้อนมากจะดูเฉลียวฉลาดลึกล้ำ แต่หาความสมเหตุสมผลไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่
ในความเห็นส่วนตัวกับเรื่องราวแนวสายสืบที่ดี เงื่อนงำ/หลักฐาน ตัวละคร/ผู้ต้องสงสัย ทุกสิ่งอย่างที่สามารถชี้ชักนำคดี รวมถึงคำอธิบายที่มาที่ไป เหตุผลแรงจูงใจ ความสัมพันธ์ต่างๆ ต้องมีการเปิดเผยไพ่ทุกใบบนหน้าตักออกจนหมดครบ แล้วการเฉลยคำตอบต้องมาจากสิ่งที่ปรากฎอยู่อย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช่เอาใครที่ไหนไม่รู้ หรือไพ่นอกวงมาตบอ้างกินเรียบ แบบนี้เรียกว่าโกงหน้าด้านๆ ใครที่ไหนจะไปยินยอมรับ
ผมไม่เคยอ่านนิยาย Murder on the Orient Express แต่หลังจากได้รับชมภาพยนตร์ต้องยกย่องเลยว่า มีเรื่องราวสายสืบในระดับอุดมคติ ไพ่ทุกใบ เงื่อนงำทุกสำรับ ถูกนำออกวางเรียงบนหน้าตักหมดสิ้น ผู้ชมสามารถครุ่นคิดค้นหาคำตอบ ‘ใครเป็นฆาตกร?’ ตามได้โดยทันที ไม่มีสิ่งนอกเหนือความคาดหมายใดๆปรากฏอยู่ (นอกจากคุณจะคิดไม่ถึงเอง) สมเหตุสมผลทุกประการ, กับคนที่คิดตามไม่ได้ อาจมองว่าตอนจบเป็นการหักมุมที่คาดไม่ถึง แต่ผมไม่รู้สึกเช่นนั้นเลยนะ เพราะถ้าคุณสามารถขบคิดออกก่อนได้ทัน คงพูดว่าเป็นไปตามความคาดหมายแน่
คงจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยชื่นชอบอ่านนิยายสายสืบมาตั้งแต่เด็กกระมัง ทำให้ผมเอะใจและได้คำตอบของตัวเองก่อนถึงตอนเฉลย คือคำพูดของตัวละคร Sean Connery ถึง 12 ลูกขุน มันบังเอิญเกินไปหรือเปล่าที่ตรงกับรอยแทง 12 บาดแผลของผู้ตาย นั่นทำให้ผมหยุดหนังแล้วไล่นับตัวละคร … เอะ! นี่ถือว่าผมแอบสปอยตอนจบรึเปล่าเนี่ย
Dame Agatha Mary Clarissa Christie หรือ Lady Mallowan (1890 – 1976) นักเขียนนิยาย/บทละคร แนวอาชญากรรม สัญชาติอังกฤษ,
– Guinness World Records จดบันทึกว่านิยายของเธอมียอดขายสูงสุดในโลก ประมาณการ 2 พันล้านเล่ม [ว่ากันว่าเป็นรองเพียงคัมภีร์ไบเบิล กับบทละครของ Shakespeare]
– โดยนิยายเรื่องที่ได้รับการยกย่องเป็น Masterpiece ขายดีที่สุดคือ And Then There Were None (1939) แปลเป็น 103 ภาษา ชื่อไทยฆาตกรรมยกเกาะ น่าจะเกิน 100 ล้านเล่มไปแล้ว,
– นอกจากนี้บทละครเวทีเรื่อง The Mousetrap (1952) ถือสถิติเปิดการแสดงยาวนานสุดในโลกที่ West End ปัจจุบันก็ยังแสดงกันอยู่ 25,000+ รอบเข้าไปแล้ว
Agatha Christie เริ่มเขียนนิยายสายสืบเรื่องแรก At the Villa Rose (1910) นำแรงบันดาลใจจาก Sherlock Holmes ของ Arthur Conan Doyle สร้างตัวละครชื่อ Inspector Hanaud ให้เป็นสายของฝรั่งเศส (ตัวเธอเป็นชาวอังกฤษแต่กลับสร้างตัวละครสัญชาติอื่น นี่อาจมีนัยยะถึงทัศนคติขัดแย้งกับอะไรสักอย่างกับประเทศของตนเอง) แม้ไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายในการตีพิมพ์ครั้งแรก แต่ได้รับการยกย่องว่า ‘first major fiction police detective of the Twentieth Century.’ ภายหลังค่อยๆขายดีขึ้นตามชื่อเสียงของผู้เขียน ทำให้มีภาคต่อตามมาอีกหลายเล่ม
“I was still writing in the Sherlock Holmes tradition – eccentric detective, stooge assistant, with a Lestrade-type Scotland Yard detective, Inspector Japp.”
– Agatha Christie
สำหรับนิยายเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้กับ Christie คือ The Mysterious Affair at Styles (1920) เริ่มเขียนช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 (ประมาณปี 1916) อดีตตำรวจ Hercule Poirot สัญชาติ Belgian อพยพลี้ภัยสู่อังกฤษในช่วงสงครามโลก พบเจอกับ Emily Inglethorp ให้การช่วยเหลือจนสามารถตั้งตัวอาศัยอยู่ได้ [Christie ได้แรงบันดาลใจจากทหาร Belgian ที่เธอให้การช่วยเหลือขณะเป็นพยาบาลในช่วงสงครามโลก] แต่แล้ววันหนึ่งหญิงสาวคนนั้นกลับถูกฆาตกรรม เขาจึงต้องออกตามล่าหาฆาตกรด้วยตัวเอง, ภายในนิยาย ยังประกอบด้วยแผนที่บ้าน, ภาพวาดหลักฐาน, ห้องหับสถานที่ดำเนินเรื่อง ฯ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการได้อย่างเห็นภาพชัด แม้สไตล์การเขียนยังขาดๆเกินๆ เรื่องราวตกๆหล่นๆ แต่สร้างความพึงพอใจให้กับผู้อ่านอย่างยิ่ง
สิ่งที่ทำให้ตัวละคร Hercule Poirot ได้รับการจดจำกลายเป็นตำนาน คือภาพลักษณ์สุดประหลาด หนวดโค้งมนขึ้น ศีรษะกลมเรียวรูปไข่ สำเนียงแปร่งๆ พูดจากวนบาทา กักฬระ ปลิ้นปล้อน สีหน้าซีเรียสจริงจังแต่กลับชอบทีเล่นทีจริง สไตล์ทำงานชอบครุ่นคิดด้วยเหตุผลตรรกะ กอปรกับความช่างสังเกต โดดเด่นมากเรื่องการอ่านจิตวิทยาผู้อื่น, ปรากฎตัวในนิยาย 33 เรื่อง, บทละคร 1 ตอน, เรื่องสั้นอีก 50 เรื่อง โดยนิยายเล่มสุดท้าย Curtain (1975) หวนกลับสู่เกาะอังกฤษ สถานที่เดียวกับบ้านหลังเก่าจากนิยายเล่มแรก The Mysterious Affair at Styles ปิดฉากการสืบสวนคดีฆาตกรรมยาวนานกว่า 55 ปีลงอย่างสวยงาม
สำหรับ Murder on the Orient Express (1934) ฉบับในอเมริกาใช้ชื่อ Murder in the Calais Coach นำแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง การลักพาตัวเรียกค่าไถ่ ตามด้วยฆาตกรรมลูกชายของนักบินชื่อดัง Charles A. Lindbergh กับภรรยา Anne Morrow เมื่อปี 1932
Christie เริ่มเขียนนิยายเล่มนี้ประมาณปี 1931 ขณะกำลังเดินทางกลับจากไปเยี่ยมสามีนักโบราณคดี กำลังขุดหาเมืองเก่าอยู่ที่ Nineveh อาศัยอยู่ห้อง 411 โรงแรม Pera Palace Hotel เมือง Istanbul ขณะเริ่มต้นเขียน วันถัดๆมาขึ้นรถไฟสาย Orient Express ระหว่างทางเกิดฝนตกน้ำท่วมทำให้รางขาด จอดแน่นิ่งขยับไปไหนไม่ได้ 24 ชั่วโมง ระหว่างนั้นก็ได้สังเกตจดบันทึกพฤติกรรมของผู้โดยสารทั้งหลาย นำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจให้กับนิยายเล่มนี้อย่างละเอียด
ความสำเร็จในนิยายของ Agatha Christie ไม่ได้การันตีดัดแปลงเป็นสื่ออื่นแล้วจะประสบความสำเร็จตาม โดยเฉพาะวงการภาพยนตร์ในช่วงทศวรรษ 60s ไม่มีหนังเรื่องใดสร้างจากนิยายของเธอแล้วได้รับเสียงตอบรับที่ดีเลย นั่นทำให้เกิดความไม่พึงพอใจอย่างมาก ถึงขนาดไม่ต้องการมอบสิทธิ์ดัดแปลงให้ใครอีก แต่ด้วยเส้นสายผู้บริหาร Nat Cohen และโปรดิวเซอร์ John Brabourne ติดต่อไหว้วานผู้ตรวจการของราชวงศ์อังกฤษ Lord Mountbatten of Burma เกลี้ยกล่อมจนเธอยินยอมมอบสิทธิ์ดัดแปลงให้กับสตูดิโอ EMI Films สัญชาติอังกฤษโดยเฉพาะ
“Agatha herself has always been allergic to the adaptation of her books by the cinema, but was persuaded to give a rather grudging appreciation to this one.”
ผลลัพท์ของหนังเป็นสิ่งที่คงเกินความคาดหวังของเธอมาก ชื่นชมทุกอย่างยกเว้นหนวดของนักแสดงนำ ที่เหมือนจะไม่ตรงกับภาพลักษณ์ที่จินตนาการไว้สักเท่าไหร่
“It was well made except for one mistake. It was Albert Finney, as my detective Hercule Poirot. I wrote that he had the finest moustache in England — and he didn’t in the film. I thought that a pity — why shouldn’t he?”
– Agatha Christie
Sidney Arthur Lumet (1924 – 2011) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania ในครอบครัวชาว Jews พ่อแม่เป็นนักแสดง-ผู้กำกับในโรงละคร Yiddish Theatre ทำให้เขาตามรอยเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 5 ขวบ สมัครทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประจำการอยู่พม่าและอินเดีย ปลดประจำการกลายเป็นผู้กำกับ Off-Broadway ครูสอนการแสดง กำกับซีรีย์โทรทัศน์หลายเรื่องจนโด่งดัง ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ปฏิวัติวงการโดยนำแนวทางโปรดักชั่นโทรทัศน์มาใช้ถ่ายทำเรื่อง 12 Angry Men (1957), เข้าชิง Oscar: Best Director ถึง 4 ครั้งแต่ไม่เคยได้ จากเรื่อง 12 Angry Men (1957), Dog Day Afternoon (1975), Network (1976), The Verdict (1982) ทำให้ Academy ต้องมอบ Honorary Award เมื่อปี 2005
ความที่เติบโตจากการเป็นนักแสดง และโด่งดังจากยุค Golden Age of Television (ทศวรรษ 50s) ทำให้สไตล์ของ Lumet โดดเด่นเรื่องการกำกับนักแสดง (Actor’s Director) มี’พลัง’ในการทำงานเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยใช้เวลาทิ้งขว้างไร้ค่า ทุกสิ่งอย่างต้องมีการเตรียมพร้อม ซักซ้อมการแสดงล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทำให้พอถึงเวลาถ่ายจริงทุกคนจะรู้หน้าที่ของตนเองชัดเจน
สำหรับความสนใจของ Lumet ทำหนังที่มีความสมจริง (realism) เป็นธรรมชาติ (naturalism) มักเลือกมุมกล้องที่มีความกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว ไม่ให้โดดเด่นสะดุดตาจนเกินไป, ส่วนประเด็นความสนใจคือปัญหาสังคมและการตัดสินพิพากษา (social justice) ที่มักสะท้อนความบกพร่องทางจิตวิทยาของมนุษย์ออกมา (psychodramas)
“Someone once asked me what making a movie was like. I said it was like making a mosaic. Each setup is like a tiny tile. You color it, shape it, polish it as best you can. You’ll do six or seven hundred of these, maybe a thousand. Then you literally paste them together and hope it’s what you set out to do.”
– Sidney Lumet
มอบหมายการดัดแปลงบทภาพยนตร์ให้กับ Paul Dehn (1912 – 1976) สัญชาติอังกฤษ ที่มีผลงานดังอย่าง Seven Days to Noon (1950), Goldfinger (1964), Beneath the Planet of the Apes (1970) ฯ
เดือนธันวาคม 1935, Hercule Poirot (รับบทโดย Albert Finney) กำลังเดินทางกลับเกาะอังกฤษด้วยรถไฟขบวน Orient Express ได้พบเจอกับเพื่อนเก่า Signor Bianchi (รับบทโดย Martin Balsam) ผู้บริหาร/เจ้าของทางรถไฟสายนี้ ใช้เส้นยัดเยียดให้เขาสามารถเดินทางร่วมไปกับขบวนรถไฟสายนี้ได้ แต่แล้วระหว่างทางก็เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น เมื่อนักธุรกิจสัญชาติอเมริกา Samuel Ratchett (รับบทโดย Richard Widmark) ที่อยู่ห้องข้างๆถูกฆ่าเสียชีวิต สันชาติญาณนักสืบทราบโดยทันทีว่าฆาตกรต้องเป็นหนึ่งผู้โดยสารรถไฟขบวนนี้แน่ การสืบสวนค้นหาความจริงจึงได้เริ่มต้นขึ้น
เกร็ด: ขบวนรถไฟสาย Orient Express ชื่อเดิมคือ Express d’Orient เปิดให้บริการครั้งแรกปี 1883 จาก Paris ถึง Vienna ใช้เวลา 29 ชั่วโมง, จากนั้นค่อยๆสร้างต่อเติมไปเรื่อยๆ จนยุคทองช่วงกลางทศวรรษ 1930s ระยะไกลสุดจาก Istanbul ไปถึง Calais, ฝรั่งเศส แล้วต่อเรือมุ่งสู่ London ระยะทางกว่า 2,500 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 80-90 ชั่วโมง (4-5 วัน) ปัจจุบันตั้งแต่ธันวาคม 2009 ไม่ได้เปิดให้บริการแล้วนะครับ เพราะการมาถึงของ High-Speed Train สามารถย่นระยะการเดินทางข้ามยุโรปในเวลาไม่ถึงวัน (ขึ้นเครื่องบินอาจเร็วกว่าด้วยซ้ำ)
เกร็ด 2: ขบวนรถไฟสายนี้ ได้รับการพูดถึงครั้งแรกในวรรณกรรมเรื่อง Dracula (1897) ตามด้วย Murder on the Orient Express (1934), กับภาพยนตร์ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ดังๆ คือ From Russia with Love (1963) นำแสดงโดย Sean Connery ด้วยนะ
Albert Finney (เกิดปี 1936) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Charlestown, Pendleton โตขึ้นเข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art กลายเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก The Entertainer (1960), Tom Jones (1963) ที่คว้า Oscar: Best Picture ส่วนตัวเขาได้รางวัล Volpi Cup for Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Venice, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Dresser (1983), Shoot the Moon (1982), Under the Volcano (1984), Erin Brockovish (2000), Big Fish (2003) ฯ
รับบท Hercule Poirot นักสืบที่ตอนนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก เงินทองมากเกินใช้จ่าย เลือกรับทำคดีที่มีความน่าสนใจเท่านั้น ในตอนแรกจึงบอกปัดให้ความช่วยเหลือ Samuel Ratchett แต่พอวันต่อมากลายเป็นศพทั้งๆที่อยู่ห้องติดกัน ทำให้เขาเกิดความใคร่สงสัยอยากรู้ขึ้นมาว่าเกิดอะไรขึ้น และเมื่อตอนรู้ตัวตนของฆาตกร ยินยอมนิ่งเพิกเฉยต่อทั้ง 12 คนที่เปรียบตัวเองเป็นลูกขุน ตัดสินโทษผู้ต้องหากระทำความผิดร้ายแรง, จริงอยู่นี่เป็นคดีที่อุกอาจร้ายแรง แต่มันก็มีความยุติธรรมแทรกอยู่ด้วย จิตสำนึกของเขาจึงยินยอมปล่อย วางตัวเป็นกลางในสถานการณ์พิลึกพิลั่นนี้
ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูไม่ออกว่านั่นคือ Finney เลียนเสียงสำเนียงฝรั่งเศส (หรือ Belgian ก็ไม่รู้) ได้อย่างสมจริงจัง นี่อาจเป็นการแสดงโดดเด่นที่สุดในชีวิตของเขาเลยละ ยิ่งเวลาพูดใส่อารมณ์เลือดขึ้นหน้า แทบไม่มีจังหวะหยุดหายใจ และช่วงท้ายไขคดีเป็น Long-Take เฉพาะบทพูดฉายเดี่ยวความยาว 8 หน้ากระดาษ แถมต้องถ่ายซ้ำหลายเทคเปลี่ยนมุมมองกล้องไปเรื่อยๆ เป็นงานหนักที่ท้าทายความสามารถสุดๆ
ปีนั้น Finney พ่ายแพ้ Oscar: Best Actor ให้กับ Art Carney ที่เป็นตัวเต็งจากเรื่อง Harry and Tonto (1974) แบบไม่ค่อยได้ลุ้นเท่าไหร่ แต่เขาก็ได้กลายเป็นภาพลักษณ์อมตะของ Hercule Poirot ที่คงไม่มีใครโดดเด่นกว่านี้ได้
เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้รวมดาราชื่อดังไว้จำนวนมาก ผมจะพูดถึงแต่ละคนโดยคร่าวๆที่โดดเด่นพอนะครับ ซึ่งวิธีการที่ Lumet สามารถดึงดูดนักแสดงมีชื่อได้เยอะขนาดนี้ เกิดจากการเข้าหาติดต่อดาราดังแห่งยุคก่อน ขณะนั้นคือ Sean Connery ที่โด่งดังจากการรับบท James Bond ซึ่งพอเจ้าตัวตบปากรับคำ พูดคุยกับคนอื่นๆก็โดยง่าย ใครๆล้วนอยากมาร่วมงานด้วย
Connery รับบท Colonel Arbuthnott ประจำการอยู่อินเดีย เป็นสุภาพบุรุษในมาดสุขุมลุ่มลึก ยึดมั่นในขนบธรรมเนียม กฎระเบียบของประเทศอังกฤษอย่างเคร่งครัด กำลังเดินทางกลับประเทศเพื่อหย่าขาดกับภรรยาลักลอบมีชู้ ตัวเขาเองจะได้เป็นอิสระจากพันธการนี้เสียที
Vanessa Redgrave รับบท Mary Debenham หญิงสาวรักครั้งใหม่ของ Colonel Arbuthnott เดินทางกลับอังกฤษร่วมกัน แต่รักษาระยะห่างเพื่อธำรงไว้ซึ่งศีลธรรมจรรยาความเชื่อมั่นจริงใจที่มีต่อกัน
Ingrid Bergman ผมว่าน่าจะดังกว่า Connery อีกนะ แต่ทศวรรษ 70s คือช่วงขาลงของเธอแล้ว, ตอนแรก Lumet ต้องการให้มารับบท Princess Dragomiroff แต่เจ้าตัวยืนกรานแบบดื้อด้าน ขอเล่นบท Greta Ohlsson ที่แทบจะไม่มีอะไร แต่กลับขโมยซีนไปเต็มๆด้วย Long-take ไม่มีตัดความยาว 5 นาที กล้องจับจ้อง Close-Up เฉพาะแต่ใบหน้าของเธออย่างอบอุ่นนุ่มนวล (เป็นคนที่ Poirot พูดคุยด้วยอย่างสุภาพสุดแล้ว) ใครๆคงคิดว่าไม่มีทางที่ผู้หญิงคนนี้จะสามารถเป็นฆาตกรได้แน่ แต่…
Lauren Bacall รับบท Harriet Belinda Hubbard ห้องของเธออยู่เชื่อมติดกับ Ratchett ยามค่ำคืนอ้างว่ามีผู้ชายคนหนึ่งผ่านเข้ามาในห้องของเธอ (น่าจะออกจากห้องของ Ratchett ภายหลังการฆาตกรรม) ใบหน้าเชิดหยิ่งตลอดเวลา ทั้งๆที่ตัวเองมีสามีถึง 2 คน แต่กลับจองหองอวดดีถึงขนาดนี้ คงมีแต่ Bacall นี่แหละสามารถเชิดหน้าอย่างภาคภูมิใจในเรื่องน่าอับอายขายขี้หน้าได้
Wendy Hiller รับบท Princess Natalia Dragomiroff ไม่รู้เชื้อพระวงศ์สืบเชื้อสายจากไหน ในห้องของเธอเต็มไปด้วยรูปภาพที่ก็ไม่รู้จะพกมาทำไม ราวกับจะสำนึกผิดต่อ… เวลาพูดจะปากเบี้ยวๆ (แก่แล้วแต่โกหกไม่เนียนเลยนะ)
Rachel Roberts รับบท Hildegarde Schmidt คนรับใช้ส่วนตัวของ Princess Natalia ร่างกายกำยำบึกบึน แข็งแกร่ง แต่กลับหลุดพูดว่าทำอาหารเก่ง (ไม่ได้เข้ากับภาพลักษณ์ของเธอเลย)
John Gielgud รับบท Edward Beddoes (ชื่อในนิยายคือ Edward Henry Masterman) คนรับใช้ส่วนตัวของ Ratchett ก่อนนอนต้องเสิร์ฟน้ำพร้อม Valerian (ยานอนหลับ) ตื่นนอนก็จะเป็น Amber Moon (Cocktail ส่วนผสมของซอส Tabasco, ไข่ดิบ และวิสกี้/วอดก้า มักใช้แก้อาการ Hangover)
Anthony Perkins รับบท Hector McQueen เลขา/ผู้ช่วยส่วนตัวของ Ratchett เป็นชายหนุ่มผู้มีอาการลุกลี้ลุกรน ร้อนดั่งไฟ มีปมเรื่องแม่ [นี่เป็นบทบาท Typecast ของ Perkins นับตั้งแต่ Psycho (1960) ตัวละครมักมีปมเรื่องแม่ ภาพลักษณ์เหมือนฆาตกรโรคจิต] เกิดความสงสัยผิดปกติเมื่อรู้ว่า Poirot รับรู้ตัวตนจริงๆของ Ratchett ว่าคือใคร
Jean-Pierre Cassel รับบท Pierre Paul Michel เจ้าหน้าที่รถไฟ ผู้ดูแลโบกี้นี้ เป็นคนจัดวางตำแหน่งห้องพักให้มีความน่าพิศวงสงสัย ลูกสาวของเขาเหมือนว่าจะเสียชีวิตไม่นานมานี้ ด้วยเหตุผลที่น่าสงสัยทีเดียว
Michael York รับบท Count Rudolf Andrenyi สามีของ Countess Helena Andrenyi รับบทโดย Jacqueline Bisset ทั้งสองเป็นเชื้อพระวงศ์ (เชื้อสาย Hungarian) ออกเดินทางด้วย Passport ที่มีปัญหา เหมือนต้องการหนีจากอะไรสักอย่าง
Colin Blakely รับบท Cyrus B. Hardman เป็นนักสืบเอกชนที่ได้รับการว่าจ้างเพื่อเป็นบอดี้การ์ดให้กับ Ratchett แต่ยังไม่ทันได้ทำหน้าที่อะไร เป้าหมายก็ถูกฆาตกรรมแบบไร้ร่องรอย, ขณะตอนถูกซักทอด เมื่อเห็นรูปภาพหนึ่งปฏิกิริยาของเขาเปลี่ยนไปอย่างน่าสงสัย
Denis Quilley รับบท Antonio Foscarelli ชาวอิตาเลี่ยน อ้างว่าเป็นเซลล์แมนขายรถอยู่ที่ Chicago พูดอังกฤษไม่ค่อยชัดนัก แต่คำว่ามาเฟีย ขัดแย้งฆ่ากันเป็นเรื่องปกติ นี่มีนัยยะอะไรบางอย่างแน่ๆ
ให้ข้อสังเกต: ถึงผมจะเขียน 12 ย่อหน้า แต่มีทั้งหมด 13 คน เพราะมีคนหนึ่งที่…
ยังมีอีกตัวละครหนึ่ง Signor Bianchi ในนิยายใช้ชื่อ Mr. Bouc (รับบทโดย Martin Balsam) ผู้บริหาร/เจ้าของกิจการรถไฟสายนี้ เชื่อว่าหลายคนคงไม่เอะใจอะไรกับคำพูดหยอกล้อเล่นของเขา หลังจากฟังคำให้การของผู้โดยสาร ทักไปแบบไม่คิดว่าคนโน้นนี้เป็นฆาตกร ลองสังเกตดูให้ดี มันมีเค้ามูลคดีแฝงอยู่ด้วย (ตอนผมมาระลึกได้ถึงตัวละครนี้ หัวเราะร่าออกมาเลย เออเว้ยเห้ย! หมอนี่มันเก่งกว่า Poirot เสียอีกแหะ)
ถ่ายภาพโดย Geoffrey Unsworth (1914 – 1978) ตากล้องในตำนานสัญชาติอังกฤษ เจ้าของผลงาน 2001: A Space Odyssey (1968), Cabaret (1972), Superman (1978), Tess (1979) ฯ ใช้กล้อง Panavision 35 mm ที่กำลังตกยุคในสมัยนั้น ฉากภายในถ่ายทำที่ Elstree Studios, Borehamwood ส่วนภายนอกปักหลักที่ฝรั่งเศสเป็นหลัก, บริเวณที่รถไฟหยุดกลางทาง ใกล้ๆเมือง Montbenoît
ปีที่ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ ขบวนรถไฟ Orient Express สาย Paris-Istanbul ได้ยุติการให้บริการไปแล้ว (แต่หลังหนังเรื่องนี้ออกฉาย มีการบูรณะเปิดให้บริการใหม่ แต่เหลือเพียงสายสีเหลืองระยะสั้นๆ Paris-Budapest ดูจากรูปด้วยบน) ทีมงานต้องสร้างโบกี้รถไฟขึ้นใหม่ แต่หัวรถจักรจริงๆนั้นยังใช้การได้อยู่ในระยะสั้น และถูกนำมาใช้จริงในหนังด้วย
ความโดดเด่นอยู่ที่การถ่ายภาพ Close-Up ใบหน้าของตัวละคร โดยเฉพาะขณะที่แต่ละคนกำลังให้การกับ Poirot เพื่อให้ผู้ชมมองเห็นปฏิกิริยาสีหน้า ริ้วรอยตีนกาเหี่ยวย่นรูขุมขน แทบจะทะลุเนื้อหนังเข้าไปในจิตใจของตัวละครทั้งหลาย ใครพูดจริงใครพูดโกหก จับผิดกันได้เลย, แต่ในบรรดานักแสดงทั้งหลาย โดดเด่นสุดที่ผมบอกไปแล้ว คือการ Close-Up แบบ Long-Shot ใบหน้าของ Ingrid Bergman ต่อเนื่องยาวนาน 5 นาที สมาธิของเธอแน่วแน่มากๆ ทุกคำพูด สีหน้าแววตา หันมองซ้ายขวา เห็นชัดเลยว่าตัวละครครุ่นคิดรู้สึก จริงเท็จเช่นไร
มีอยู่ครั้งหนึ่งช่วงท้าย ไปสังเกตกันเองดีๆ น่าจะเป็นครั้งเดียวในหนังที่ทั้ง 12+1 (ผู้ต้องสงสัย) +3 (ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วย) อยู่ในช็อตเดียวกัน พอ Signor Bianchi คนเดียวที่ยืนหันหลังประกาศข้อสรุปตัดสิน แต่ละคนจะมีปฏิกิริยาแสดงออกที่แตกต่างกันออกไป มองครั้งเดียวอาจเห็นไม่ครบถ้วน ย้อนกลับไปมองให้ทั่วนะครับ จะพบว่าไม่มีใครหลุดคาแรคเตอร์ของตนเองเลย (เด่นสุดคงเป็นตัวละครของ Anthony Perkins เป๋อมากๆ)
ตัดต่อโดย Anne V. Coates สัญชาติอังกฤษ เจ้าของรางวัล Oscar: Best Edited เรื่อง Lawrence of Arabia (1962) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Those Magnificent Men in Their Flying Machines (1965), The Elephant Man (1980), Erin Brockovich (2000) ฯ
ช่วงแรกๆของหนังค่อนข้างจะสับสนวุ่นวายพอสมควร เพราะมีมากหลายตัวละครที่ผู้ชมอาจยังจดจำไม่ได้ ไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใคร (แต่ถ้าคุณเป็นคอหนังเก่าๆ เชื่อว่าน่าจะคุ้นแทบทุกคน จดจำได้เกือบหมด แต่อาจจะเว้น Finney ไว้คนหนึ่งเพราะผมนึกตั้งนานว่าใคร *-*) แต่พอขึ้นรถไฟแล้วคราวนี้เอกลักษณ์ของแต่ละคนจะค่อยๆเปิดเผยออกมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตอนให้ปากคำจะชัดเลยว่าใครเป็นใคร ลักษณะนิสัย มีความน่าสงสัยประการใด
ระหว่างการเดินทาง หนังมักตัดสลับภายในกับภายนอก ตัวละครพูดคุยสนทนาหลับนอน กับภาพวิวทิวทัศน์ขณะรถไฟกำลังวิ่งแล่น เพื่อให้เห็นว่าการเดินทางดำเนินต่อไป จนกระทั่งเมื่อติดหิมะถล่ม ทุกสิ่งอย่างหยุดนิ่ง เรื่องราวไม่คาดฝันบังเกิดขึ้น
ไฮไลท์การตัดต่ออยู่ที่ช่วงไคลน์แม็กซ์ เมื่อทั้ง 16 คนรวมตัวกันในตู้เสบียง แม้จะมีเพียง Poirot ที่สาธยายอธิบายไขข้อกระจ่างทุกสิ่งอย่าง แต่หนังมีการตัดสลับเปลี่ยนมุมกล้องไปมา มักแทนด้วยสายตาของตัวละครที่กำลังถูกพาดพิงถึงอยู่ขณะนั้น และมีการตัดย้อนให้หวนระลึกถึงตอนให้ปากคำ เพื่อเป็นการแทนข้อสังเกตที่ผู้ชมอาจหลงลืมไม่ทันเห็น
ขณะที่ฉากไคลน์แม็กซ์กำลังดำเนินไป ภายนอกก็กำลังมีการเคลียร์ทางรถไฟโดยรถเจาะหิมะ มันเป็นช่วงจังหวะเวลาพอดิบพอดี วินาทีที่คดีไขข้อกระจ่าง รถเจาะฝั่งตรงข้ามสามารถทะลุมาถึงหัวรถจักรฝั่งนี้โดยพอดี พร้อมแล้วที่จะออกเดินทางต่อ
เพลงประกอบโดย Richard Rodney Bennett นักแต่งเพลง/นักดนตรี Jazz Pianist สัญชาติอังกฤษ เข้าชิง Oscar: Best Original Score สามครั้งไม่เคยได้รางวัล จากเรื่อง Far from the Madding Crowd (1967), Nicholas and Alexandra (1971), Murder on the Orient Express (1974)
เริ่มต้นด้วย Orchestra สุดอลังการ แต่ใช้เสียงเปียโน Concerto บรรเลงสร้างทำนองความพิศวงสงสัยให้เกิดขึ้น, ผมจดจำเพลงอื่นของหนังไม่ได้เท่าไหร่ แต่ Opening Song เพลงนี้เพลงเดียวก็ล้ำควรค่าแก่การเข้าชิง Oscar: Best Original Score แล้ว
แถมให้อีกหนึ่งบทเพลงที่ผมไปบังเอิญค้นเจอ ชื่อ The Body/Remembering Daisy ใช้เครื่องเป่ากดโน๊ตเสียงทุ้มต่ำ สร้างบรรยากาศความฉงนสงสัย สะดุ้งตกใจในครั้งแรก เป็นการบ่งบอกว่าบางสิ่งอย่างที่คาดไม่ถึงได้บังเกิดขึ้นแล้วอย่างน่าพิศวง
บทเพลงนี้ได้กลายเป็น Stock Music สำหรับหนังแนวสืบสวนสอบสวน Mystery อะไรบางอย่างกำลังจะเกิดขึ้น หรือบังเกิดขึ้นแล้ว
การจะสรุปหนังเรื่องนี้โดยไม่สปอยตอนจบ ทำให้ผมไม่รู้จะเขียนถึงอะไรเลยนะครับ ถ้าบอกว่าใจความคือ ‘กรรมใดใครก่อ กรรมนั่นย่อมคืนสนอง’ ก็ไม่ค่อยตรงสักเท่าไหร่ เหมือนการทวงคืนล้างแค้นเสียมากกว่า กระนั้นผมทิ้งประเด็นคำถามไว้ให้ดีกว่า ‘Samuel Ratchett ชายผู้นี้สมควรถูกฆาตกรรมหรือเปล่า?’
คำตอบของคำถามนี้ แม้แต่ Hercule Poirot ก็ตอบไม่ได้ ผมเองก็สองจิตสองใจ ‘ฆ่าคนเป็นสิ่งผิด แต่กับคนที่สมควรตายมันผิดหรือเปล่า?’ ซึ่งการที่หนังใช้ประเด็นเปรียบเทียบ 12 คน แทนกระบวนการยุติธรรม นี่ก่อให้เกิดคำถามถัดมา ‘นั่นเป็นสิ่งเหมาะสมควรแล้วหรือ?’
เหตุผลผู้กำกับ Sidney Lumet มีความสนใจสร้างหนังเรื่องนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะคาดเดาได้ถ้าคุณเคยรับชม 12 Angry Men (1957) เรื่องราวเกี่ยวกับลูกขุน 12 คน ที่พยายามหาข้อสรุปร่วมกัน ว่าจะตัดสินผู้ต้องหามีความผิดจริงหรือไม่, กับหนังเรื่องนี้ ถือว่ากลับตารปัตรตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง
สิ่งที่เกิดขึ้นบนรถไฟสายนี้ ชวนให้ผมระลึกถึงหนังเรื่อง M (1930) เมื่อกฎหมายบ้านเมืองมิอาจเข้าถึงจัดการผู้กระทำความผิดได้ จึงกลายเป็นหน้าที่ฝูงชนตัดสินโดยศาลเตี้ย ผู้ต้องหาถูกรุมประชาทัณฑ์ มองแบบนี้ก็จะพบว่า มันหาใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมควรแม้แต่น้อย บ้านเมืองมีขื่อมีแป มีศาลตัดสิน ถ้าประชาชนไม่ใคร่สนใจทำตามกฎหมาย ยึดปฏิบัติตามความพึงพอใจส่วนตน แบบนี้ต่อไปจะสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไร สามัญสำนึกไม่มีเลยรึไง
มีอีกคำถามหนึ่งที่ชวนให้เกิดข้อสงสัย ‘ทำไมการฆาตกรรมต้องเกิดขึ้นบนรถไฟ?’ และ ‘ทำไมต้อง Orient Express?’ อย่าคิดตอบแบบ การเดินทางเต็มไปด้วยคนแปลกหน้า Stranger on the Train คงไม่ใครสามารถจับได้ไล่รู้ทันหาความสัมพันธ์ของแต่ละคน หรือ มีคนตายบนรถไฟสายนานาชาติ จะใช้กฎหมายประเทศใดอ้างว่าผิด, สองคำถามนี้ ใบ้ให้ว่าเกี่ยวกับชีวิต/การเดินทาง รถไฟหยุดติดหิมะถล่มพอดีขณะเกิดการฆาตกรรม และตอนจบเมื่อคดีได้รับข้อกระจ่าง รถไฟก็พร้อมเคลื่อนออกเดินทางต่อ
ผมคงไม่อาจช่วยไขข้อคำตอบเหล่านี้ได้เลย เพราะเป็นการสปอยตอนจบที่อุตส่าห์พยายามหลีกเลี่ยงเต็มที่มาตั้งแต่ต้น เชื่อว่าจากคำถามชี้ชักนำเหล่านี้ ผู้อ่านน่าจะสามารถค้นพบไขปริศนาต่อได้ด้วยตนเองนะครับ
ด้วยทุนสร้าง ₤554,100 ปอนด์ (=$1.4 ล้านเหรียญ) เฉพาะในอเมริกาทำเงินได้ $36 ล้านเหรียญ กำไรเน้นๆแบบหายห่วง, หนังไม่ได้เข้าชิง Golden Globe สักสาขา (อาจเพราะฉายตอนสิ้นปี ไม่ทันตอนกรรมการลงคะแนนโหวต) แต่ก็ข้ามไปลุ้น Oscar เข้าชิง 6 สาขา ได้มา 1 รางวัล
– Best Actor (Albert Finney)
– Best Supporting Actress (Ingrid Bergman) ** ได้รางวัล
– Best Adapted Screenplay
– Best Cinematography
– Best Costume Design
– Best Original Score
ตอนที่ Bergman ขึ้นรับรางวัล “It’s always nice to get an Oscar.” แต่หลังจากนั้นก็พูดถึงแต่ Valentina Cortese คู่แข่งจากเรื่อง Day for Night (1973) [หนังคว้า Oscar: Best Foreign Language Film เมื่อปีก่อน แต่เธอเพิ่งมาได้เข้าชิงสาขา Best Actress ปีถัดมา] กล่าวขอโทษที่ทำให้เธอพลาดรางวัลนี้
คำสุนทรพจน์นี้ค่อนข้างหยาบคาย แสดงความเห็นแก่ตัวออกมามากทีเดียว แถมเป็นการไม่ให้เกียรตินักแสดงคนอื่นที่พลาดรางวัลนี้ด้วย, แต่ตัวจริงของ Bergman คงไม่ได้มีความตั้งใจแบบนั้นแน่ แค่ต้องการถนอมน้ำใจเพื่อนร่วมอาชีพ ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนมากกว่า
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ กับการแสดงของ Albert Finney ใครว่ะ! จำหน้าแทบไม่ได้, Ingrid Bergman แย่งซีนความโดดเด่นไปเต็มๆ (เห็นภาพการแสดงนี้ จะมีความรู้สึกว่าตัวตนของเธอน่าจะอ่อนน้อมถ่อมตนมากๆ แค่มีความดื้อด้านหัวรั้นเป็นที่หนึ่ง) การวางเงื่อนงำ เหตุผลของฆาตกรรม ชักชวนให้ผู้ชมสามารถค้นหาคำตอบเองได้ และผลลัพท์สุดท้ายยังมีพลิกอีกตลบหนึ่ง กับการตัดสินใจของ Hercule Poirot เลือกแสดงออกในสิ่งคาดไม่ถึงยิ่งกว่าตัวตนของฆาตกร
แนะนำกับผู้ชื่นชอบเรื่องราวสืบสวนสอบสวน สายสืบ, เคยอ่านนิยายของ Agatha Christie, หลงใหลการเดินทางบนรถไฟ โดยเฉพาะสายยุโรป, แฟนๆผู้กำกับ Sidney Lumet และนักแสดงชื่อดังมากมาย Albert Finney, Ingrid Bergman, Sean Connery, Lauren Bacall, John Gielgud ฯ
จัดเรต 13+ กับเรื่องราวการฆาตกรรม พิศวง พิลึกพิลั่น
Leave a Reply