My Beautiful Laundrette

My Beautiful Laundrette (1985) British : Stephen Frears ♥♥♥♥

อิทธิพลของ 1981 England Riots ในยุคสมัยนายกรัฐมนตรี Margaret Thatcher (1979-90) ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนคนขาว vs. ผู้อพยพชาวผิวสี พลิกกลับตารปัตร! เมื่อเกย์หนุ่มหล่อ Daniel Day-Lewis ยินยอมทำงานลูกจ้างร้านซักรีดของแฟนหนุ่มชาว Pakistani ก็ยังดีกว่าเตร็ดเตร่ร่อนเร่ตามท้องถนนไปวันๆ

ผมมีโอกาสรับรู้จัก My Beautiful Laundrette (1985) จากลิสภาพยนตร์ LGBTQIAN+ ยอดเยี่ยม (ติดแทบทุกชาร์ทเลยนะ) เอาจริงๆแค่เห็นเครดิต Daniel Day-Lewis เล่นเป็นเกย์หนุ่ม ก็เพียงพอกระตุ้นต่อมความสนใจมหาศาล!

แต่คาดไม่ถึงว่าหนังนำเสนอประเด็นสังคมโคตรหนักอึ้ง! ไดเรคชั่นผู้กำกับ Stephen Frears ทำให้ดูยากยิ่งๆขึ้นอีก (หนังไม่ได้ซับซ้อนเท่าไหร่นะครับ แต่ต้องใช้ความอดทนในการรับชมค่อนข้างมาก) แถมถ้าคุณไม่มักคุ้นเคยประวัติศาสตร์ประเทศอังกฤษ ยุคสมัยนายกรัฐมนตรี Margaret Thatcher (1979-90) หรือที่ใครๆเรียกว่า Thatcherism ก็อาจหน้านิ่วคิ้วขมวด ไม่เข้าใจความเป็นมาเป็นไปของเรื่องราวสักเท่าไหร่

และถ้าใครช่างสังเกตอาจสัมผัสได้ถึงหลายๆองค์ประกอบมีความละม้ายคล้าย The Godfather (1972) เพราะผู้เขียนบทภาพยนตร์ Hanif Kureishi ต้องการเลียนแบบความสำเร็จของมาเฟียอิตาเลี่ยนยังสหรัฐอเมริกา มาเป็นจิ๊กโก๋ปากีสถานยังสหราชอาณาจักร … แต่ความยิ่งใหญ่ใครๆย่อมบอกได้ว่าห่างชั้นกันไกลโข ถึงอย่างนั้นคุณค่าของ My Beautiful Laundrette (1985) คือบันทึกประวัติศาสตร์ประเทศอังกฤษ ช่วงทศวรรษ 80s เก็บฝังลงใน ‘Time Capsule’


ก่อนอื่นต้องเท้าความไปตั้งแต่สหราชอาณาจักรมอบเอกราชกลับคืนให้อาณานิคมอินเดีย เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1947 แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับคือจุดเริ่มต้นของความแตกแยก ขีดเส้นแบ่งอาณาเขตดินแดนออกเป็นอินเดียและปากีสถาน ตามความเชื่อทางศาสนาฮินดู-มุสลิม อันนำไปสู่ความขัดแย้ง การใช้กำลังรุนแรง เหตุการณ์นองเลือดติดตามมา

ชาวอินเดีย/ปากีสถานที่พอมีฐานะ ความรู้ความสามารถ หรือเคยทำงาน(รับใช)คนขาว จึงเริ่มทะยอยอพยพสู่เกาะอังกฤษ เพื่อหลบหลีกหนีปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว และเริ่มต้นชีวิตใหม่ (คล้ายๆชาวยุโรปออกเดินทางไปแสวงโชคยังสหรัฐอเมริกา) แต่เมื่อมาถึงพวกเขาสามารถเป็นได้เพียงพลเมืองชั้นสอง ทำงานประเภทใช้แรงงาน (Working Class) ถูกกดขี่ข่มเหงด้วยสายตารังเกียจเหยียดหยาม

กาลเวลาดำเนินมาจนถึงช่วงทศวรรษ 80s ยุคสมัยนายกรัฐมนตรี Margaret Thatcher (1979-90) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเศรษฐกิจถดถอย ประชาชนมากมายต้องตกงาน เหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายกับพลเมืองชั้นสอง โดยเฉพาะผู้อพยพจากแอฟริกาและเอเชียใต้ (ทั้งคนดำและผิวเหลือง) ซึ่งมีปริมาณประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเริ่มสร้างความหวาดวิตกกังวลให้คนขาวชาวอังกฤษ

เมื่อบรรดาคนผิวสีทั้งหลายมิอาจอดรนทนความกดดัน ไม่ได้รับการเหลียวแลหลัง จึงเริ่มออกมารวมกลุ่มชุมนุมประท้วงเรียกร้องสิทธิ ก่อเกิดการปะทะกับตำรวจตามหัวเมืองใหญ่ๆ London, Birmingham, Liverpool, Manchester ฯลฯ พัฒนากลายมาเป็นเหตุการณ์ England Riots ช่วงระหว่างเมษายน ถึงกรกฎาคม ค.ศ. 1981

โดยเฉพาะเหตุการณ์วันเสาร์ที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1981 ถึงขนาดมีคำเรียกว่า ‘Bloody Saturday’ เมื่อจู่ๆตำรวจเริ่มยิงปืนใส่ประชาชนที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้อง นิตยสาร TIME รายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บรวมแล้วกว่า 300+ คน … เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการเร่งร่างระเบียบ The Scarman Report นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง/ปฏิรูปเชิงโครงสร้างตำรวจครั้งใหญ่ ไม่อนุญาตให้ใช้ความรุนแรงปราบปรามจราจล ตรวจค้นร่างกายโดยไม่ชอบธรรม เน้นยำโดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติต่อชุมชนคนผิวสี ทำให้สถานการณ์ขณะนั้นค่อยๆลดความตึงเครียดลง


Hanif Kureishi (เกิดปี 1954) นักเขียนนวนิยาย บทภาพยนตร์ เกิดที่ Bromley, South London บิดาเป็นชาว Pakistani มีฐานะร่ำรวย อพยพจาก Chennai/Madras ในช่วงการประกาศอิสรภาพอินเดีย (1947) ตั้งใจมาร่ำเรียนกฎหมาย จับพลัดจับพลูได้ทำงานสถานกงศุลปากีสถาน แล้วพบเจอแต่งงานภรรยาชาวอังกฤษ

My [paternal] grandfather, an army doctor, was a colonel in the Indian army. Big family. Servants. Tennis court. Cricket. Everything. My father went to the Cathedral School that Salman Rushdie went to. Later, in Pakistan, my family were close to the Bhuttos. My uncle Omar was a newspaper columnist and the manager of the Pakistan cricket team.

My grandfather, the colonel, was terrifying. A hard-living, hard-drinking gambler. Womanising. Around him it was like The Godfather. They drank and they gossiped. The women would come and go.

Hanif Kureishi เล่าถึงต้นตระกูลตนเอง

Kureishi เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด สอบได้ A ล้วนระหว่างร่ำเรียน Bromley College of Technology จากนั้นศึกษาต่อสาขาปรัชญา King’s College London แต่จบออกมาทำงานเป็นนักเขียนนิยาย 18+ (ใช้นามปากกา Antonia French) ระหว่างนั้นก็มีโอกาสสรรค์สร้างบทละครเวทีให้กับ Hampstead Theatre, Soho Poly และ Royal Court Theatre จนไปเข้าตาสถานีโทรทัศน์ Channel 4 (ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 1984) ชักชวนให้มาพัฒนาบทละครโทรทัศน์เรื่องแรก

เมื่อได้รับโอกาสดังกล่าว สิ่งแรกที่ Kureishi ครุ่นคิดก็คืออยากพัฒนาอัตชีวประวัติของตนเอง เรื่องราวผู้อพยพชาว Pakistani ที่มาปักหลักอาศัยอยู่บนเกาะอังกฤษ … แบบเดียวกับภาพยนตร์ The Godfather (1972) ที่ชาวอิตาเลี่ยนไปตั้งถิ่นฐานอยู่ยังสหรัฐอเมริกา

แซว: “I believe in England” เป็นประโยคฟังดูคุ้นๆคล้ายๆ “I believe in America” ประโยคแรกของ The Godfather (1972)


Stephen Arthur Frears (เกิดปี 1941) ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Leicester ในครอบครัว Anglicanism, โตขึ้นร่ำเรียนกฎหมาย Trinity College, Cambridge ระหว่างนั้นทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการโรงละครแห่งหนึ่ง หลังเรียนจบกลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ Morgan – A Suitable Case for Treatment (1966), if…. (1968), จากนั้นกำกับโฆษณา ละครโทรทัศน์ กำกับหนังเรื่องแรก Gumshoe (1971), The Hit (1984), แจ้งเกิดโด่งดัง My Beautiful Laundrette (1985), ผลงานเด่นๆติดตามมา อาทิ Dangerous Liaisons (1988), The Grifters (1990), High Fidelity (2000), The Queen (2006), Philomena (2013), Florence Foster Jenkins (2016) ฯ

Frears เป็นผู้กำกับที่มีความสนใจในปัญหาสังคม (ของประเทศอังกฤษ) โดยเฉพาะความขัดแย้ง/แตกต่างระหว่างชนชั้น ฐานะ เชื้อชาติพันธุ์ หรือระบอบการเมืองขณะนั้นๆ และมักมีการนำเสนอด้วยความขบขัน เรียกเสียงหัวเราะ ชักชวนผู้ชมให้ครุ่นคิดเห็นมุมมองอะไรใหม่ๆ

เกร็ด: วงการภาพยนตร์ประเทศอังกฤษ ในช่วงทศวรรษ 80s มีคำเรียกว่า ‘British Renaissance’ แม้สภาพเศรษฐกิจจะย่ำแย่ แต่คือสรวงสวรรค์ของหนังทุนต่ำ สร้างโดยผู้กำกับหน้าใหม่ เอ่อล้นด้วยคุณภาพ มักสะท้อนสภาพสังคมยุคสมัยนั้น และมีลักษณะ anti-Thatcherism (ต่อต้านนายกรัฐมนตรี Margaret Thatcher) อาทิ Stephen Frears (My Beautiful Laundrette, Sammy and Rosie Get Laid), Mike Leigh (Naked), David Leland (Wish You Were Here) และยังรวมถึงภาพยนตร์อย่าง Brazil (1985), Letter to Brezhnev (1985) ที่ก็มีใจความเสียดสี/ต่อต้านระบบการทำงานของหน่วยงานรัฐบาล(อังกฤษ)เช่นเดียวกัน

In a certain way we were true models of (anti-)Thatcherism.

Stephen Frears

การร่วมงานระหว่าง Frears กับ Kureishi ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการนำเสนอวิถีชีวิต สภาพสังคมชาวอังกฤษในยุคสมัย Thatcherism โดยใช้เรื่องราวชุมชนผู้อพยพชาว Pakistani หลังเหตุการณ์จราจล 1981 England Riots บังเกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้างในสังคม


เรื่องราวของเกย์หนุ่ม Omar Ali (รับบทโดย Gordon Warnecke) ถือเป็นชาว British Asian รุ่นสอง ครอบครัวอพยพจากปากีสถานมาปักหลักอาศัยอยู่ South London หลังจากการประกาศอิสรภาพอินเดีย ค.ศ. 1947

หลังเรียนจบมัธยม Omar ร้องขอลุง Nasser (รับบทโดย Saeed Jaffrey) อาสาดูแลกิจการร้านซักรีด แอบขโมยเงินจากญาติอีกคนที่เป็นนายหน้าค้ายา Salim (รับบทโดย Derrick Branche) แล้วร่วมกับแฟนหนุ่มคนขาว Johnny Burfoot (รับบทโดย Daniel Day-Lewis) ทำการออกแบบปรับปรุงสถานที่เสียใหม่ให้มีความน่าใช้บริการ อนาคตของพวกเขาช่างสดใสเหลือเกิน

แต่ปัญหาวุ่นๆก็เกิดขึ้นเมื่อ Salim จับได้ว่า Omar แอบขโมยเงินของตนเองมาใช้เป็นทุนปรับปรุงร้านซักรีด ขณะเดียวกัน Tania (รับบทโดย Rita Wolf) บุตรสาวคนโตของลุง Nasser ก็ได้เผชิญหน้ากับชู้รักของบิดา Rachel (รับบทโดย Shirley Anne Field) สุดท้ายแล้วความเพ้อฝันของชายหนุ่ม (และชู้รัก) จักดำเนินต่อไปเช่นไร


Gordon Warnecke (เกิดปี 1962) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ London มีเชื้อสาย Indo-Guyanese และ Germany เข้าสู่วงการจากเป็นนักแสดง Royal Shakespeare Company และ the Royal Court Theatre, ส่วนผลงานภาพยนตร์มีเพียง My Beautiful Laundrette (1985) นอกนั้นจะเป็นบทรับเชิญเล็กๆในซีรีย์โทรทัศน์

รับบท Omar Ali ถือเป็น British Asian รุ่นสอง บิดาเคยทำงานนักข่าวฝั่งซ้าย อพยพมาจากปากีสถาน ต้องการให้บุตรชายร่ำเรียนสูงๆจักได้มีโอกาสในอาชีพการงาน (Middle Class) แต่เพราะความความเบื่อหน่ายต่อปัญหาสังคม จนกลายเป็นคนติดเหล้าหนัก (Alcoholism) เลยต้องไหว้วานพี่ชาย Nasser (มีศักดิ์เป็นลุงของ Omar) ให้ช่วยหาทางส่งเสริมสนับสนุน ทำงานในศูนย์บริการล้างรถ ก่อนเปลี่ยนมาเป็นร้านซักรีด (Working Class)

Omar เป็นเด็กหนุ่มที่มีความมุ่งมั่นทะเยอทะยาน สาเหตุน่าจะเพราะสมัยเรียนหนังสือเคยถูกเพื่อนๆกลั่นแกล้ง ดูถูก พูดจาเหยียดหยาม ด้วยเหตุนี้จึงต้องการเป็นเจ้าของกิจการอะไรสักอย่าง แล้วว่าจ้างงานคนขาวเหล่านั้นให้อยู่ภายใต้อาณัติตนเอง ซึ่งเขาก็สามารถทำสำเร็จกับกิจการร้านซักรีด กำลังมีแผนขยับขยายแฟนไชร์ไปยังสถานที่อื่นๆต่อไปอีก

ยุคสมัยนั้นการจะหานักแสดงหนุ่มที่มีเชื้อสายอินเดียหรือปากีสถาน แทบจะเป็นไปไม่ได้! ผู้กำกับ Frears เลยขอแค่ลูกครึ่ง เชื้อชาติใดก็ได้ในเอเชีย จนบังเอิญพบเจอ Gordon Warnecke ในโปรดักชั่นละครเวทีเรื่องหนึ่ง

ภาพลักษณ์ของ Warnecke ชวนให้นึกถึง Dev Patel ด้วยสายตาอันมุ่งมั่น มองถึงวันข้างหน้า เมื่อได้รับโอกาสดูแลกิจการร้านซักรีด ไม่เคยเห็นจับไม้กวาด ปัดฝุ่น ถูพื้น วันๆสวมสูทผูกไทด์ วางตัวเริดเชิดหยิ่งเหมือนผู้ดีมีสกุล (ทั้งๆก็แค่พลเมืองชั้นสองของประเทศอังกฤษ) ส่วนเคมีกับคู่ขา Daniel Day-Lewis แทบดูไม่ออกว่าใครเป็นฝ่ายรุก-รับ

น่าเสียดายที่แม้หนังจะประสบความสำเร็จมากมาย แต่ก็ไม่ได้สร้างโอกาสใดๆในวงการภาพยนตร์ให้กับ Warnecke คงเพราะเล่นเป็นเกย์ ผิวเหลือง ดูเหมือนมาเฟีย จึงไม่ค่อยมีบทบาทเหมาะสมภาพจำดังกล่าว


Sir Daniel Michael Blake Day-Lewis (เกิดปี 1957) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Kensington, London เป็นบุตรของนักกวี Cecil Day-Lewis (1904 – 1972) กับแม่ประกอบอาชีพนักแสดง Jill Balcon (1925 – 2009) ความสนใจในวัยเด็กมีเพียงสามอย่าง เกี่ยวกับงานไม้ การแสดง และตกปลา, ก่อนโตขึ้นตัดสินใจเลือกเป็นนักแสดงละครเวทีที่ National Youth Theatre ฝึกหัดอยู่หลายปีจนได้รับโอกาสเข้าเรียน Bristol Old Vic ภายใต้ John Hartoch, เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากบทสมทบเล็กๆ Gandhi (1982), แจ้งเกิดโด่งดังกับ My Beautiful Laundrette (1985), A Room with a View (1985), จากนั้นครุ่นคิดแนวทาง Method Acting ของตนเอง สวมบทบาทเป็นตัวละครตลอดการถ่ายทำตั้งแต่ My Left Foot (1989) จนคว้า Oscar: Best Actor ได้เป็นครั้งแรก, โกอินเตอร์ข้ามมาฝั่ง Hollywood ในผลงาน The Last of the Mohicans (1992), The Age of Innocence (1993), Gangs of New York (2002), คว้า Oscar ตัวที่สองจาก There Will Be Blood (2007) และตัวที่สาม Lincoln (2012)

รับบทเกย์หนุ่ม Johnny Burfoot หลังเรียนจบเตร็ดเตร่ร่วมกับผองเพื่อนคนขาวตามท้องถนน ไม่สามารถหางานทำ จนกระทั่งพบเจอคู่ขาเก่า Omar Ali ชักชวนมาร่วมกิจการร้านซักรีด เป็นผู้ออกแบบ ตกแต่งภายนอก-ใน ไม่สนว่าต้องทำงานเป็นลูกจ้างใคร ขอแค่มีเงิน มีห้องพัก มีคนรักอยู่เคียงข้าง เพียงเท่านี้ก็สามารถเอาตัวรอดในช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบากไปได้

ผมคุ้นๆเหมือนเคยอ่านเจอว่า Daniel Day-Lewis เคยแสดงเป็นเกย์ในโปรดักชั่นละครเวทีเรื่องนี้ ซึ่งคงมีโอกาสเข้าตาผู้กำกับ Frears ชักชวนมาแสดงบทนำภาพยนตร์เรื่องนี้ แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที

There was a list of four actors for Daniel’s part; Tim Roth who I’d just worked with, Kenneth Branagh who was desperate for the part and clearly wasn’t right for it, and Gary Oldman who said he’d played it before, and the girls all said “Oh you want Dan”, and of course they were absolutely right.

บทสัมภาษณ์ Stephen Frears ต่อตัวเลือกนักแสดง Johnny Burfoot

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็น Day-Lewis ย้อมสีผม (ไม่แน่ใจว่าครั้งเดียวเลยกระมัง) สร้างภาพลักษณ์วัยสะรุ่น ทำตัวเหมือนจิ๊กโก๋ แต่ท่าเดินอ้อนช้อน น้ำเสียงละอ่อนหวาน แลดูอ่อนแอเปราะบาง เห็นว่าฉาก Sex Scene กับ Gordon Warnecke ทำการดั้นสด ‘Improvised’ จนอาจทำให้ผู้ชมตกตะลึง อ้าปากค้าง … กล้าเล่นขนาดนี้เชียวหรือ?

เมื่อตอนหนังเข้าฉายสหรัฐอเมริกา รอบปฐมทัศน์ของ My Beautiful Laundrette (1985) พอดิบพอดีวันเดียวกับ A Room with a View (1985) ซึ่งบรรดานักวิจารณ์ที่รับชมภาพยนตร์ทั้งสองเรื่อง ต่างอึ้งทึ่งกับนักแสดงโนเนม Daniel Day-Lewis ในบทบาทที่แตกต่างกันสุดขั้ว เชื่อมั่นมากๆว่าอนาคตชายหนุ่มคนนี้ต้องก้าวไกลแน่ๆ


Saeed Jaffrey (1929-2015) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Malerkotla, Punjab ในครอบครัวมุสลิม คุณปู่ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง Dewan (นายกรัฐมนตรี) แห่งรัฐ Malerkotla, ส่วนบิดาทำงานสาธารณสุข ต้องออกเดินทางไปตามแว่นแคว้นต่างๆ, ตั้งแต่เด็กค้นพบความสามารถด้านการเลียนแบบ (Mimic) ชื่นชอบหนัง Bollywood เลือกเรียกสาขาวรรณกรรมภาษาอังกฤษและอินเดีย Allahabad University

หลังการประกาศอิสรภาพอินเดีย ค.ศ. 1947 ครอบครัวของ Jaffrey ต้องอพยพสู่ New Delhi ได้งานเป็นผู้ประกาศวิทยุ All India Radio จากนั้นร่วมก่อตั้งโรงละคร Unity Theatre ครุ่นคิดเอาจริงจังด้านการแสดงจึงออกเดินทางสู่เกาะอังกฤษ Royal Academy of Dramatic Art (RADA) แล้วได้ทุนการศึกษา (Fulbright Scholarship) ไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา Catholic University of America ติดตามด้วย Actors Studio จากนั้นมีผลงานละครเวทีมากมาย กระทั่งได้รับการชักชวนจากโปรดิวเซอร์ Ismail Merchant และผู้กำกับ James Ivory แสดงภาพยนตร์ The Guru (1969), จับพลัดจับพลูร่วมงาน Satyajit Ray เรื่อง Shatranj Ke Khilari (1977), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ My Beautiful Laundrette (1985), ซีรีย์ The Jewel in the Crown (1984) ฯ

รับบท Nasser Ali มีศักดิ์เป็นลุงของ Omar รักเหมือนบุตรชายแท้ๆ (เพราะในครอบครัวมีแต่บุตรสาวถึงสามคน) เลยอาสาให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุน ยินยอมมอบกิจการร้านซักรีดให้ดูแล ทั้งยังสอนวิธีการใช้ชีวิต แอบมีชู้รักกับคนขาวชาวอังกฤษ Rachel แต่หลังจากเธอเผชิญหน้าบุตรสาวคนโต Rachel ทำให้ครอบครัวเริ่มแตกแยก กำลังค่อยๆสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป

ทีแรกผมไม่คิดจะเขียนถึงตัวละครนี้ แต่ก็รู้สึกว่านักแสดงหน้าตาคุ้นๆ เลยลองค้นหาข้อมูลพบเห็นเคยเล่น Shatranj Ke Khilari (1977) ก็นึกขึ้นได้ว่าชายคนนี้คือโคตรนักแสดงเลยนี่หว่า! ครุ่นคิดทบทวนดูถึงเริ่มตระหนักถึงบทบาท Nasser ค่อนข้างมีความซับซ้อน ตัวละครสองหน้า เมื่ออยู่กับครอบครัวก็แสดงออกอย่างหนึ่ง อยู่กับชู้รักก็อีกอย่างหนึ่ง สะท้อนความผิดหวังในเชื้อสายเลือด ความเป็นอินเดีย/ปากีสถาน ยกยอปอปั้นประเทศอังกฤษราวกับสรวงสวรรค์ ขอแค่มีเงินมีทองก็สามารถครอบครองทุกสิ่งอย่าง

และผมรู้สึกว่า Hanif Kureishi ต้องการพัฒนา Nasser Ali ให้มีลักษณะละม้ายคล้าย Don Vito Corleone จากเรื่อง The Godfather (1972) แต่ผู้ชมก็คงตระหนักได้ไม่ยากว่าพลังการแสดงของ Saeed Jaffrey แตกต่างคนละขั้วกับ Marlon Brando (ปัญหาไม่ใช่ที่นักแสดงนะครับ แต่คือบทบาทไม่ได้ทำให้ตัวละครทรงพลังตราตรึงขนาดนั้น)


ถ่ายภาพโดย Oliver David Whiteside Stapleton (เกิดปี 1948) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ สำเร็จการศึกษาสาขาจิตวิทยาจาก University of Cape Town ก่อนค้นพบความสนใจด้านภาพยนตร์ เข้าเรียนต่อ National Film and Television School (NFTS) จบออกมาไปทำงานอยู่ South Africa (ระหว่างปี 1966-74) พอเดินทางกลับอังกฤษ กลายเป็นขาประจำร่วมงานผู้กำกับ Stephen Frears, ผลงานเด่นๆ อาทิ My Beautiful Laundrette (1985), Earth Girls Are Easy (1988), The Grifters (1990), The Cider House Rules (1999), Ned Kelly (2003) ฯ

ด้วยความที่หนังได้ทุนสร้าง(จำกัด)จาก Channel 4 สำหรับโปรดักชั่นฉายทางโทรทัศน์ จึงเลือกถ่ายทำด้วยฟีล์ม 16mm พอเปลี่ยนมาเข้าโรงภาพยนตร์เลยต้อง ‘blow up’ ขยายขนาดสู่ฟีล์ม 32mm … ซึ่งการใช้ฟีล์มคุณภาพต่ำ ทำให้รายละเอียดของภาพดูหยาบๆ สอดคล้องสถานที่ที่ดูรกๆร้างๆ เสื่อมโทรมทราม รายล้อมรอบด้วยอันตรายของ South London และสะท้อนสภาพสังคมยุคสมัยนั้นได้ชัดเจนมากๆ

หนังใช้เวลาถ่ายทำเพียง 6 สัปดาห์ ระหว่างกุมภาพันธ์-เมษายน 1985, สถานที่หลักๆก็คือ Battersea, Wandsworth, Vauxhall ฯลฯ ทั้งหมดล้วนอยู่บริเวณ South London, ผมลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับร้านซักรีด Powders Laundrette ตั้งอยู่ Wilcox Road, Lambeth แม้ห้องแถวยังคงสภาพเดิมอยู่ แต่ล่าสุดก็กลายเป็นคาเฟ่ไปเรียบร้อยแล้ว

LINK: https://www.bfi.org.uk/features/my-beautiful-laundrette-locations

อารัมบทของหนัง เราสามารถเปรียบเทียบอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ได้กับประเทศอังกฤษ ที่มีสภาพเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรม กำลังถูกรุกรานเข้ามาโดย(ผู้อพยพ)คนผิวสี เข้ามาขับไล่ผู้เช่าอาศัยที่เป็นคนขาว Johnny และเพื่อนร่วมแก๊งค์ต่างมีสภาพอ่อนเปลี้ยเพลียแรง (คงค้างค่าเช่าห้อง) เลยจำต้องออกไปเตร็ดเตร่เร่ร่อน ใช้ชีวิตอยู่ตามท้องถนน

เหตุการณ์ในอารัมบทนี้ นำเสนอสภาพสังคมภายใต้ยุคสมัย Thatcherism และผลกระทบจาก 1981 England Riots ที่ทำให้สิ่งต่างๆกลับตารปัตรตรงกันข้ามจากที่เคยเป็นมา (คนขาวที่ควรเป็นเจ้าของอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ กลับถูกรุกราน กลายเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนผิวสีเสียอย่างนั้น)

ผมชื่นชอบการออกแบบโลโก้หมุนๆ พร้อมเสียงบ๊วบ บ๊วบ ของฟองสบู่แตก เพื่อสื่อถึงการทำงานของเครื่องซักผ้า สัญลักษณ์ของวัฏจักรชีวิตที่ว่ายเวียนวนไปมา หรือจะมองว่าคือการชำระล้างสิ่งสกปรกให้สะอาดเอี่ยมอ่อง (ผู้ดีอังกฤษต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่มีความสะอาดเอี่ยมอ่อง) ได้ด้วยเช่นกัน!

  • จากร้านซักรีดเก่าๆปรับปรุงพัฒนาใหม่ จนน่าเข้าไปใช้บริการ
  • Johnny เคยเตร็ดเตร่เร่ร่อนบนท้องถนน เมื่อกลายเป็นลูกจ้างร้านซักรีดแห่งนี้ก็ราวกับได้ถือกำเนิดใหม่
  • ลุง Nasser (และ Salim) ที่จิตใจคิดคด กระทำสิ่งขัดต่อหลักศีลธรรมจรรยา เลยถูก(สังคม)พิพากษาตัดสิน ได้รับผลกรรมคืนตอบสนองอย่างสาสมควร (จนกลายเป็นคนใหม่)
  • ชาวอังกฤษจากเคยเป็นเจ้าคนนายคน มีคนผิวสีเป็นขี้ข้าทาสรับใช้ ยุคสมัยนั้นอะไรๆหลายอย่างเริ่มกลับตารปัตรไป Omar กลายเป็นนายจ้างงาน Johnny (คนผิวสีกลายเป็นหัวหน้าคนขาว)

ภาพแรกของ Omar Ali กำลังซักผ้าด้วยมือ (สื่อถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ด้วยสองมือของตนเอง) เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง (เพ้อฝันถึงความสำเร็จ มองหาสถานที่ของตนเอง) พบเห็นขบวนรถไฟแล่นผ่านหน้า (สัญลักษณ์การเดินทางของชีวิต ซึ่งหลังจากนี้ Omar กำลังจะออกจากบ้าน/อพาร์ทเม้นท์เพื่อเผชิญโลกกว้าง)

ทิศทางของเรื่องราวก็จะมีลักษณะหมุนๆเวียนวนเหมือนเครื่องซักผ้าเช่นกัน ผมเลือกช็อตนี้เพราะมุมกล้องใกล้เคียงกันมากๆ ถ่ายตรงระเบียงอพาร์ทเม้นท์ของ Hussein (บิดาของ Omar)

  • ตอนต้นเรื่อง Omar กำลังตากผ้า ตระเตรียมตัวก้าวออกจากบ้านเพื่อเริ่มต้นเรียนรู้จักชีวิตบนโลกกว้าง
  • ช่วงท้าย Nasser พบเห็นบุตรสาว Tania ยืนอยู่ตรงสถานีรถไฟ Queenstown Road Station กำลังจะออกเดินทาง(หลบหนีครอบครัว)เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

Hussein บิดาของ Omar ในอดีตเคยเป็นนักข่าวฝั่งซ้าย สาเหตุที่กลายเป็นคนติดเหล้า (Alcoholism) เพราะทนไม่ได้ต่อสภาพสังคมประเทศอังกฤษ เลยกักขังตนเองอยู่ในห้อง ไม่ได้ออกไปไหนต่อไหนมาสักพักใหญ่ๆ มุมกล้องช็อตนี้แสดงถึงโลกทัศน์อันคับแคบของตัวละคร และสังเกตภาพวาดหญิงสาวน่าจะคือภรรยา (มารดาของ Omar) คาดว่าคงเสียชีวิตจากไปแล้ว (เพราะชาวอินเดีย/ปากีสถานมักไม่ค่อยหย่าร้างภรรยานะครับ นี่น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งทำให้เขาติดเหล้าอย่างหนัก)

เห็นโปสเตอร์ภาพยนตร์ Some Like It Hot (1959) ก็สะท้อนรสนิยมของลุง Nasser ที่กำลังคุยโทรศัพท์กับชู้รักได้เป็นอย่างดี จะว่าไป Marilyn Monroe ก็มีความละม้ายคล้ายตัวละคร Rachel (รับบทโดย Shirley Anne Field) อยู่เล็กๆเหมือนกัน

ศูนย์บริการล้างรถแห่งนี้ ถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่าอยู่ชั้นใต้ดิน แสดงถึงความต่ำต้อยด้อยความสำคัญ ไม่เชิงว่าเป็นอาชีพที่ถูกใครต่อใครดูถูกเหยียดหยาม แต่เป็นการเหมารวมเด็กล้างรถคืออาชีพของชนชั้นทำงาน (Working Class) ค่าจ้างน้อยนิด แต่ต้องใช้แรงงานค่อนข้างหนัก

แม้หนังจะนำเสนอความเปลี่ยนแปลงของชุมชนผู้อพยพ/คนผิวสี สามารถก่อร่างสร้างตัวตน มีพื้นที่ยืนในสังคมประเทศอังกฤษ แต่สิทธิสตรี (โดยเฉพาะชุมชนชาวเอเชีย) ยังคงถูกกีดกั้น แบ่งแยก (ห้องสนทนายังต้องชาย-หญิง) ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง เพียงวัตถุทางเพศสำหรับแต่งงานกับบุรุษ (เพศตรงข้ามเท่านั้นด้วยนะ!)

Tania มีความเบื่อหน่ายต่อครอบครัวที่ยังคงยึดถือมั่นในขนบประเพณี ไม่ยินยอมให้เธอมีสิทธิ์เสียง ไร้ซึ่งอิสรภาพในการครุ่นกระทำอะไรๆ เลยต้องการออกไปจากบ้านหลังนี้ แต่ในตอนแรกเธอยังถูกครอบงำด้วยทัศนคติทางสังคม พยายามใช้มารยาหญิงยั่วราคะ พร้อมพลีกายถวาย Omar (แต่หารู้ไม่ว่าเขาเป็นเกย์) ต่อมาก็ Johnny (ก็เป็นเกย์อีกเช่นกัน) พอถูกทั้งคู่บอกปัดปฏิเสธเลยสามารถหลุดจากมโนคติดังกล่าว ก้าวออกเดินทางด้วยลำแข้งตนเอง ไม่พึ่งพาอะไรใครอีกต่อไป

หนังมีการละเล่นกับการจัดแสงสี เงามืด ค่อนข้างฉูดฉาดทีเดียว สะท้อนเข้ากับเทรนด์แฟชั่นยุคสมัย 80s ได้เป็นอย่างดี

  • สีแดงแทนกลุ่มคนนักเลง พวกเร่ร่อนตามท้องถนน กระพริบปริบๆเมื่อกระสิ่งอัปลักษณ์ ก่อกวนความสงบสุขของสังคม
  • แสงสีน้ำเงินแม้ให้ความรู้สึกหนาวเหน็บเย็นยะเยือก แต่สามารถสื่อถึงความสงบมั่นคง (ของ Omar) ได้ด้วยเช่นกัน
  • ส่วนฝั่งของ Johnny พบเห็นเพียงความสว่าง-เงามืด ปกคลุมใบหน้าละครึ่งซีก (คือไม่ได้กระทำสิ่งชั่วร้าย แต่ก็มีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้นภายในจิตใจ)

น่าเสียดายที่ผมไม่ค่อยรับรู้จัก Modern Indian Art สักเท่าไหร่ มีทั้งภาพวาด งานแกะสลัก ฯ ส่วนใหญ่ดูเป็น Abstract แต่มักเกี่ยวกับชาย-หญิง สะท้อนความเชื่อศรัทธาของ Salim หมกมุ่นอยู่กับความร่ำรวย มั่งคั่ง ชอบดูถูกข่มเหงผู้อื่น พร้อมย่ำเหยียบบุคคลต่ำด้อยกว่า

สำหรับ Omar ผู้ต้อยต่ำ เพราะยังไม่มีเงินทอง เป็นเจ้าของอะไรสักสิ่งอย่าง กดเล่นวีดีโอเลยไร้คลื่นสัญญาณ พบเห็นเพียง Noise ส่งเสียงสร้างความน่ารำคาญปรากฎยังโทรทัศน์ด้านหลัง

ชาวอินเดียเอเชีย ค่อนข้างยึดติดกับความสูง-ต่ำ ศีรษะ-ฝ่าเท้าคือสองสิ่งไม่เท่าเทียมกัน แต่เมื่อไหร่ถูกย่ำเหยียบหรือการให้บริการ/อาชีพเกี่ยวกับเท้า นั่นหมายถึงการดูถูกเหยียดหยาม มองอีกฝั่งฝ่ายว่ามีความต่ำต้อยด้อยค่า (เป็นการนำเสนอเชิงสัญลักษณ์ที่ค่อนข้างเกรี้ยวกราดรุนแรงต่อผู้ชมชาวเอเชีย แต่อาจไม่เท่าไหร่กับคนผิวขาว)

การไว้หนวดเคราของคนอินเดีย/ปากีสถาน มักสื่อถึงความเฉลียวฉลาด รอบรู้ กูรู แต่ Salim กลับใช้มันซุกซ่อนยาเสพติด … จะว่าไปวีดีโอเทปที่ไม่มีเนื้อหาอะไร นั่นเพราะภายใน(ม้วนเทป)ก็น่าจะซุกซ่อนบางสิ่งอย่างไว้ภายใน!

เหตุผลที่ Salim หลังตระหนักว่าสิ่งของในหนวดสูญหาย กลับไม่ทำอะไร Omar คงเพราะไม่ต้องการเปิดเผยว่าตนเองค้ายา และไม่อยากกระทำอะไรกับหลานชาย เพียงแค่ภายหลังเสี้ยมสอนให้รู้ว่าอย่าทรยศเครือญาติพี่น้องก็แล้วกัน!

คนที่นั่งอยู่ทางฝั่งขวามือของโต๊ะอาหาร (หันหน้าเข้าหากล้อง) ก็คือ Hanif Kureishi ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้

ฉากขายยาของ Johnny มีการนำเสนอที่น่าสนใจไม่น้อย! ถ่ายทำแบบ Long Take กล้องเคลื่อนหมุน 360 องศา โดยรอบผับบาร์แห่งนี้ (ละม้ายคล้ายการหมุนของเครื่องซักผ้า) สามารถสื่อถึงการหวนกลับสู่วังวนพ่อค้ายา (ที่เคยทำเมื่อตอนเร่รอนบนท้องถนน) แต่ครานี้เขานำเงินเพื่อไปปรับปรุงกิจการร้านซักรีด ไม่ได้เสพติด หรือนำไปทิ้งๆขว้างๆ

นี่เป็นอีกฉากที่สะท้อนวัฒนธรรมอินเดีย/ปากีสถาน บุรุษยังคือผู้เป็นใหญ่ ‘พระราชา’ ในบ้าน (ผ้าปูเตียงลวดลายราชสีห์=เจ้าป่า) ได้รับการนวดผ่อนคลายจากบุตรสาวราวกับคนรับใช้ แต่ Tania ปฏิเสธปรนนิบัติบิดา พยายามครุ่นคิดหาหนทางออกไปจากสถานที่แห่งนี้ เพื่อให้ได้รับอิสรภาพแห่งชีวิต

หลายคนอาจรับรู้สึกว่านี่เป็นฉากกระอักกระอ่วน สร้างความรำคาญใจ เมื่อคนขาวชาวอังกฤษถูกห้อมล้อมรอบ (สัมภาษณ์งาน) โดนจับจ้องมองโดยกลุ่มคนผิวสี รับฟังคำพูดที่เหมือนจะเสียดสีถากถาง … เพราะนี่คือภาพกลับตารปัตรจากสามัญสำนึกผู้ชมทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นคนขาวที่ห้อมรอบล้อมชาวผิวสี กล่าวคำพูดดูถูกเหยียดหยาม แต่ไม่ว่าจะฝั่งฝ่ายไหน สังคมลักษณะนี้ก็ไม่ได้มีความน่าอาศัยอยู่สักเท่าไหร่!

หลังจาก Johnny ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากเครือญาติของ Omar ต่อจากนี้หนังจะเริ่มนำเสนอหลายๆเหตุการณ์ในลักษณะคู่ขนาน ระหว่างทั้งสองกำลังหลบมุมจุมพิตท่ามกลางความมืดมิด (แสงสีแดงแห่ง ‘Passion’ สัญญาณเตือนภัยอันตราย) พอดิบพอดีกล้องเคลื่อนมาที่ร้านซักรีด พรรคพวกเก่าของ Johnny กำลังสร้างความปั่นป่วน ทำลายสิ่งข้าวของ จนต้องรีบวิ่งไปหยุดยับยั้งก่อนจะมีอะไรสูญเสียหาย

มาถึงตรงนี้ก็ถือว่ากึ่งกลางเรื่องพอดิบดี! จากตอนอารัมบท Johnny เคยถูกขับไล่ออกจากอพาร์ทเม้นท์ กลับตารปัตรมาเป็นผู้ขับไล่คนที่ไม่จ่ายค่าเช่าห้อง เพิ่มเติมคือยังได้รับโอกาสให้กลายเป็นผู้ดูแลอพาร์ทเมนท์หลังนี้ … โลกมันช่างพลิกกลับตารปัตรเสียจริง

อีกสิ่งหนึ่งน่าสนใจคือกราฟฟิตี้ของเจ้าของห้องเช่าคนก่อน ผมมองเหมือนเคียวและค้อน สัญลักษณ์ของคอมมิวนิสต์ คาดว่าน่าจะสื่อถึงเจ้าของอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ (ก็คือลุง Nasser) มีความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย ไม่ต่างจากเผด็จการ!

ระหว่างเฝ้ารอคอยผู้มาร่วมเปิดร้านซักรีด Omar และ Johnny ก็มิอาจอดรนทนต่อความเร่าร้อนรน (เพราะไม่มีใครมาตรงเวลา) เลยเข้าไปหลังร้านแล้วถอดเสื้อผ้า กอดจูบ กำลังจะมีเพศสัมพันธ์ พอดิบพอดีลุง Nasser และชู้รัก Rachel เดินทางมาถึง เมื่อไม่เจอใครก็โยกเต้นเริงระบำ ตัดสลับสองเหตุการณ์ภายนอก-ใน ทำเอาผู้ชมลุ้นระทึก เสียวสันหลังวูวาบ หนุ่มๆทั้งสองจะถูกค้นพบขณะเข้าด้ายเข้าเข็มหรือเปล่า?

การนำเสนอคู่ขนานลักษณะนี้เพื่อสื่อให้เห็นถึงภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ สิ่งแสดงออก-ซุกซ่อนเร้นภายใน ซึ่งในบริบทนี้สามารถเปรียบเทียบได้กับความสัมพันธ์ระหว่างคนขาว (อังกฤษ) vs. ชาวผิวสี (ผู้อพยพ) ภายนอกเริงระบำอย่างผู้ดี แต่ในห้องหับกลับเต็มไปด้วยความเร่าร้อนรุนแรง

หนึ่งในไฮไลท์ของหนังคือตัดสลับการสนทนาระหว่าง Nasser & Omar กับ Rachel & Johnny & Tania ที่แทบจะประโยคต่อประโยค มีความลื่นไหล สอดคล้องจองอย่างน่าอึ่งทึ่ง! นำพาคลื่นสึนามิกระแทกกระทั้นลุง Nasser ขณะที่สภาพจิตใจของสองสาวก็อยู่ในสภาพปั่นป่วน (ด้านหลังคือเครื่องซักผ้า)

บิดา Hussein อยากให้บุตรชาย Omar เลือกร่ำเรียนสูงๆ จบมหาวิทยาลัย เพื่อจักได้มีความรู้ความสามารถ ดำเนินชีวิตอย่างชนชั้นกลาง (Middle Class) ไม่ใช่ทำงานลูกจ้าง พนักงานร้านซักรีด ต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดไปวันๆ (Working Class) แต่ตัวตนของเขานั้นนัดสามโมงกลับมาตีสาม ช่างกลับตารปัตรตรงกันข้ามกับความเป็นจริง!

การถกเถียงเรื่องของชนชั้นสูง-กลาง-ต่ำ สำหรับผมมองว่ามันไร้สาระโคตรๆ คนส่วนใหญ่มักหมกมุ่นอยู่กับความร่ำรวยมั่งคั่ง โอกาสก้าวหน้า ตำแหน่งงานการสูงๆ อนาคตจักสุขสบาย แต่ชีวิตมันจะเป็นอะไรก็ได้ เปิดร้านซักรีดมันผิดอะไร? ถ้าทำแล้วบังเกิดความพึงพอใจ ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ต้องประสบความสำเร็จร่ำรวย ตำแหน่งสูงๆ ชื่อเสียงโด่งดัง แค่สามารถค้นพบความสุขทางใจก็เพียงพอแล้วละนะ!

ผมชื่นชอบรายละเอียดเล็กๆนี้อย่างมาก เหตุผลหนึ่งที่ Johnny ยินยอมก้มหัวศิโรราบ อดรนทนต่อคำถากถางของ Omar และเครือญาติ ก็คือเรื่องของ ‘เงิน’ ในฉากนี้เมื่อเขาชนะการพนันก็กอบโกยธนบัตรยัดใส่หมวก แล้วสวมลงบนศีรษะ เทิดทูนเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมเลยก็ว่าได้

ถึงผมจะไม่ได้ชื่นชอบ Salim แต่วิธีการเสี้ยมสอน Omar ไม่ให้ลักขโมย/ทรยศหักหลังครอบครัว ถือว่าน่าประทับใจมากๆ วินาทีที่ชายหนุ่มนำเงินมาชดใช้ กล้องเคลื่อนผ่านศีรษะของ Salim จากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง

  • เริ่มต้นใบหน้าของ Omar อาบฉาบด้วยภาพสะท้อนหยาดฝน แสดงถึงความหวาดกลัวตัวสั่น นั่นคือเหตุผลให้เขาเร่งรีบหาเงินมาชดใช้หนี้
  • แต่หลังจากรับฟังคำเสี้ยมสอนของ Salim กล้องเคลื่อนเลื่อนมาอีกด้านหนึ่ง แม้ปฏิกิริยายังสั่นๆแต่ก็ดูผ่อนคลายลงไป ปรับเปลี่ยนมุมมอง บังเกิดความเข้าใจ ตราฝังตรึงบทเรียนดังกล่าวไม่รู้ลืมเลือน

เหตุการณ์เกิดขึ้นกับ Nasser สะท้อนความขัดแย้งทางขนบประเพณี เชื้อชาติพันธุ์ ความมั่งคั่งทำให้เขาละทอดทิ้งจิตสำนึก มโนธรรม เมื่ออยู่บ้านพยายามเสแสร้งสร้างภาพ ทำตัวดั่งพระราชา แต่เมื่อก้าวออกมาก็ปล่อยตัวกาย-ใจ ลุ่มหลงระเริงในมายาคติ กระทำสิ่งตอบสนองตัณหา พึงพอใจส่วนตน ผลกรรมทำให้ต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่าง ทั้งครอบครัวและชู้รัก บังเกิดความอัปยศอดสูทางใจ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Salim สะท้อนความขัดแย้งระหว่างชนชั้น อันเกิดจากทัศนคติอันเย่อหยิ่ง จองหอง หลงตนเอง ครุ่นคิดว่าตนเองสูงส่งคับฟ้า เลยขับรถพุ่งชนพวกเร่ร่อนข้างถนน ผลกรรมเลยถูกกลุ่มคนเหล่านั้นทุบรถ กระทำร้ายร่างกาย และจะมีคนหนึ่งกระโดดลงมาจากดาดฟ้า ราวกับพระเจ้ากำลังลงประชาทัณฑ์

หลายคนอาจขำไม่ออกแต่ผมหัวเราะลั่น เพราะหลังจากที่ลุง Nasser พูดคุยกับ Hussein บอกว่าประเทศอังกฤษแห่งนี้ราวกับสรวงสวรรค์เล็กๆ “Compared with everywhere it’s a little heave, here.” แล้วตัดมาภาพที่ Salim โดนไม้ฟาดเลือดพุ่งกลบปาก มันช่างงดงามจริงๆ

นี่เช่นกันสามารถสื่อถึงสองสิ่งกลับตารปัตรขั้วตรงข้าม อยู่ที่มุมมองของเราเองจะเห็นว่าร้านซักรีด/ดินแดนแห่งนี้ มีความงดงามดั่งสรวงสวรรค์ หรือเสื่อมโทรมทรามเหมือนขุมนรก

ภาพสุดท้ายของหนัง Omar และ Johnny กำลังทำความสะอาดกันและกัน สามารถสื่อถึงการชะล้างสิ่งสกปรก/ความขัดแย้งไม่ลงรอยจากอดีต ต่อจากนี้เราสามารถเริ่มต้นกันใหม่ หรือคืออนาคตที่ชาวอังกฤษ=ผู้อพยพผิวสี จักมีความเสมอภาคเท่าเทียม (สังเกตสีผิวของทั้งคู่ก็ดูกลมกลืนเดียวกัน)

You’re dirty. You’re beautiful.

Omar Ali

คำพูดของ Omar คือสองสิ่งกลับตารปัตรตรงกันข้าม สกปรก=สวยงาม เหมือนกระจกสองด้าน หยิน-หยาง ภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ ที่สามารถเติมเต็มกันและกัน (คือถ้าไม่มีความสกปรก จะพบเห็นความสวยงามได้อย่างไร?)

ตัดต่อโดย Mick Audsley (เกิดปี 1947) สัญชาติอังกฤษ ในตอนแรกมีความสนใจด้าน Sound Editing สำเร็จการศึกษาจาก Royal College of Art ก่อนเปลี่ยนมานักตัดต่อขาประจำผู้กำกับ Stephen Frears, Mike Newell และ Terry Gilliam ผลงานเด่นๆ อาทิ Dance with a Stranger (1985), My Beautiful Laundrette (1985), Dangerous Liaisons (1988), Interview with the Vampire (1994), 12 Monkeys (1995), Harry Potter and the Goblet of Fire (2005), Murder on the Orient Express (2007) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Omar Ali ตั้งแต่ถูกบิดาส่งให้ไปทำงานกับลุง Nasser ค่อยๆเรียนรู้งาน ไต่เต้าจากเด็กล้างรถ พนักงานบัญชี จนได้รับโอกาสดูแลจัดการร้านซักรีด จากนั้นชักชวนแฟนหนุ่ม Johnny Burfoot ให้มาทำงานร่วมกัน

  • อารัมบท, Johnny ถูกลูกน้อง Salim ขับไล่ออกจากอพาร์ทเม้นท์
  • การไต่เต้า/ความทะเยอทะยานของ Omar
    • ถูกบิดาส่งให้ไปทำงานกับลุง Nasser
    • เริ่มจากเด็กล้างคน กลายเป็นพนักงานบัญชี
    • ที่บ้านของลุง Nasser รับรู้จักเครือญาติ และแฟนสาว Tania
  • ปรับปรุงกิจการร้านซักรีด
    • Omar ได้รับโอกาสดูแลจัดการร้านซักรีด
    • ชักชวน Johnny มาร่วมทำงานกิจการร้านซักรีด
    • Omar ครุ่นคิดแผนการลักลอบขโมยยาของ Salim มาใช้เป็นทุนสำหรับปรับปรุงร้าน
  • เรื่องวุ่นๆในวันเปิดกิจการ
    • ระหว่างรอคอยผู้มาร่วมพิธีเปิด Omar ร่วมรักกับ Johnny
    • ลุง Nasser และชู้รัก Rachel มาร่วมงานเปิดร้าน จับพลัดจับพลูพบเจอ Tania
    • บิดาของ Omar มาเยี่ยมเยียนร้านตอนตีสาม
    • Salim ตระหนักถึงทุนปรับปรุงร้านซักรีด เลยทวงหนี้กับ Omar
  • เหตุการณ์หลังจากนั้น
    • หลังจากหาเงินมาชดใช้หนี้ Salim ทำให้ Omar ได้รับโอกาสใหม่ๆ ขยายแฟนไชร์ร้านซักรีด
    • Salim ขับรถชนคนเร่ร่อน (ซึ่งเป็นเพื่อนของ Johnny) เลยถูกดักซุ่มกระทำร้ายร่างกาย
    • Raciel ตัดสินใจเลิกรา Nasser ขณะที่ Tania ก็ตัดสินใจหลบหนีอกจากบ้าน
    • ส่วน Omar และ Johnny ก็ยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนต่อไป

ช่วงแรกๆของหนังมีการดำเนินเรื่องที่กระชับฉับไว ทำให้ขาดความต่อเนื่องลื่นไหล ดูไม่เป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ มอบสัมผัสดิบเถื่อน ‘Hard Boiled’ สอดคล้องสภาพสังคมที่เหี้ยมโหดร้าย อันตรายรอบทิศทาง รับชมไปสักพักก็น่าจะเริ่มมักคุ้นชิน … กระมัง

ไฮไลท์ของการตัดต่ออยู่ช่วงองก์สาม เมื่อบุตรสาวคนโต (Tania) พบเจอชู้รักของบิดา (Rachel) มีการตัดสลับฝั่งสนทนาระหว่าง Nasser & Omar กับ Rachel & Johnny & Tania แทบจะประโยคต่อประโยค ฝั่งหนึ่งตั้งคำถาม อีกฝั่งพูดคำตอบ มันช่างมีความสอดคล้องจอง ลื่นไหลต่อเนื่องอย่างคาดไม่ถึง!

ช่วงไคลน์แม็กซ์องก์สี่ก็มีการนำเสนอเหตุการณ์คู่ขนาน ตัดสลับเคียงข้างกันไป

  • Salim ถูกรุมกระทำร้ายร่างกาย (โดยพวกคนขาวที่เขาเคยขับรถพุ่งชน) Johnny เห็นท่าไม่ดีเลยเข้ามาขัดขวาง เลยโดยกระทำร้ายได้รับบาดเจ็บเช่นกัน
  • ลุง Nasser ถูกชู้รักบอกเลิกรา เดินทางไปหาบิดาของ Omar แล้วพบเห็นบุตรสาว Tania ยืนอยู่บนสถานีรถไฟกำลังหลบหนีออกจากบ้าน

เพลงประกอบในเครดิตขึ้นชื่อว่า Ludus Tonalis นามปากกาของ Stanley Myers (1930-93) และ Hans Zimmer (เกิดปี 1957) ทั้งสองร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอบันทึกเสียง Lillie Yard ร่วมงานทำเพลงประกอบภาพยนตร์อยู่หลายเรื่อง อาทิ Moonlighting (1982), Success Is the Best Revenge (1984), Insignificance (1985), My Beautiful Laundrette (1985) ก่อนแยกย้ายไปแสวงหาความสำเร็จของตนเอง

เกร็ด: Ludus Tonalis (แปลว่า Play of Tones) (1942) คือบทเพลงเปียโน ประพันธ์โดย Paul Hindemith (1895-1963) คีตกวี นักทฤษฎี สัญชาติ German, ซึ่งบทเพลงนี้ได้ทำการสำรวจเทคนิค ทฤษฎี แรงบันดาลใจ ค้นหาความเป็นไปได้ทั้งหมดของเครื่องดนตรีเปียโน มีทั้งหมด 25 Movement (ถือว่าเยอะมากๆ และครอบคลุมน่าจะเกือบทุกสิ่งอย่าง)

ตอนแรกผมโคตรฉงนสงสัยกับเสียง บ๊วบ บ๊วบ มันคืออะไร? แต่พอตระหนักว่ามันคือ Sound Effect ฟองสบู่ ซึ่งสอดคล้องกับร้านซักรีด (Laundrette) และโลโก้ที่หมุนๆวนๆ ก็รู้สึกชื่นชอบประทับใจอย่างมากๆ สามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ของ ‘ฟองสบู่แตก’ แต่ไม่ใช่ในแง่เศรษฐกิจนะครับ คือความอึดอัดอั้นของผู้คน กลุ่มอพยพ (ทั้งคนดำและผิวเหลือง) เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ปะทุระเบิด แตกออก นำไปสู่การชุมนุมประท้วง 1981 England Riots อันเป็นจุดตั้งต้น อิทธิพลต่อภาพยนตร์เรื่องนี้

งานเพลงของหนังส่วนใหญ่เป็น ‘Diegetic music’ ได้ยินจากเครื่องเล่น/แหล่งกำเนิดเสียงที่พบเห็นได้ในฉาก แต่ก็มีบางครั้งดังคลอประกอบพื้นหลังเบาๆ สำหรับเสริมสร้างบรรยากาศนัวร์ๆ เพิ่มความตึงเครียด เก็บกดดัน ต่อการใช้ชีวิตในสภาพสังคมอันทุกข์ยากลำบากย

บทเพลงที่ดังขึ้นในวันเปิดให้บริการร้านซักรีด ประกอบด้วย

  • ระหว่างลุง Nasser เต้นรำกับ Rachel (และ Omar ร่วมรักกับ Johnny)
    • Les Patineurs หรือ The Skater’s Waltz, Op. 183 ประพันธ์โดย Émile Waldteufel (1837-1915) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส
  • หลังจากตัดริบบิ้นเปิดร้านซักรีด Omar กดเล่นเพลง
    • Fanfare for the Common Man (1942) แต่งโดย Aaron Copland (1900-90) คีตกวีสัญชาติอเมริกัน เจ้าของฉายา ‘Dean of American Composer’ แต่ก็เลื่องลือชาว่าเป็นเกย์ (นั่นน่าจะคือเหตุผลที่เลือกใช้บทเพลงนี้กระมัง)

Thatcherism คำอธิบายถึงความเชื่อทางการเมือง เศรษฐกิจ นโยบายสังคม และความเป็นหญิงเหล็ก ‘The Iron Lady’ ของผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ Margaret Thatcher (1925-2013) ในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 1979 ถึงธันวาคม 1990 โดยมีอยู่ 5 แนวทางหลัก

  1. การให้เสรีภาพแก่บุคคล (Individual Liberty) ให้ประชาชนเป็นใหญ่ มุ่งเน้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ได้
  2. ความเชื่อในหลักทุนนิยม (Capitalism) ด้วยการสร้างความเชื่อว่า คนจะมีฐานะกินดีอยู่ดีได้นั้น (Individual Wealth) ต้องมาจากการมีความรู้ความสามารถ และพากเพียรทำงานอย่างหนัก แม้รัฐบาลจะทำให้ทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกันไม่ได้ แต่อย่างน้อยจักมอบโอกาสอย่างเสมอภาค
  3. การเก็บภาษีระดับต่ำ (Low Tax) ให้บทบาทรัฐบาลในการจัดการความมั่งคั่ง เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม
  4. การเปลี่ยนผ่านกิจการวิสาหกิจไปให้กับเอกชน (Privatization) แต่จะเน้นการกระจายความเป็นเจ้าของไปสู่คนชั้นกลางทั่วไป มากกว่าจะให้ตกอยู่แก่นายทุน หรือบริษัทขนาดใหญ่
  5. การลดบทบาทของสหภาพแรงงาน (Anti Unionism) โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ให้สูญเสียอำนาจในการบริหารจัดการ ประชาชนหันมาพึ่งพาสวัสดิการของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการชุมนุมประท้วงหยุดงาน

การครองอำนาจของ Thatcher มักได้รับการต่อต้าน (anti-Thatcherism) จากกลุ่มผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง แม้หลายๆแนวความคิดจะฟังดูดี แต่ในแง่ปฏิบัติกลับทำให้ประเทศอังกฤษมีความแตกแยกในหลายภาคส่วน สภาวะเศรษฐกิจถดถอด อัตราการว่างงานสูงขึ้นทุกๆปี หลายอุตสาหกรรมต้องล้มพับ เมื่อไม่มีเงินไม่มีงานประชาชนก็ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้าน

LINK: http://pracob.blogspot.com/2013/04/thatcherism.html


My Beautiful Laundrette (1985) เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอสภาพสังคมภายใต้ยุคสมัย Thatcherism พบเห็นตึกรามบ้านช่องมีความชำรุดทรุดโทรม ธุรกิจขนาดเล็กล้มละลาย ผู้คนตกงานมากมาย กลายเป็นขโมยกะโจร วัยรุ่นออกเตร็ดเตร่ตามท้องถนน เล่น-เสพ-ค้าขายยา มาเฟียครองเมือง พร้อมใช้กำลังความรุนแรงกระทำร้ายร่างกายผู้คน

ภายหลังเหตุการณ์ 1981 English Riots ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อกลุ่มชุมชนผู้อพยพ จากเคยเป็นแค่พลเมืองชั้นสอง มักได้รับการกดขี่ข่มเหง เลือกปฏิบัติ(จากตำรวจ) ดูถูกเหยียดหยามจากคนขาวชาวอังกฤษ ระเบียบ/กฎหมายใหม่ทำให้ชาวผิวสี (ทั้งคนดำและผิวเหลือง) เสมือนว่ามีสิทธิ์เสียง เสมอภาคเท่าเทียม กลับตารปัตรจากที่เคยเป็นมา

Omar Ali สมัยยังเรียนหนังสือเคยถูกเพื่อนชาวอังกฤษพูดจาดูถูกเหยียดหยาม แต่เมื่อเติบโตขึ้นถึงวัยทำงาน กลายเป็นเจ้าของกิจการร้านซักรีด สามารถว่าจ้างคนขาว Johnny Burfoot และสานสัมพันธ์ชาย-ชาย นั่นคือเหตุการณ์กลับตารปัตรตรงจากที่เคยเป็นมา ว่าไปมีลักษณะละม้ายคล้ายการหมุนๆเวียนวนของเครื่องซักผ้า!

อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนอุดมคติของ Thatcherism ก็คือความเชื่อในหลักทุนนิยม (Capitalism) ที่ใดมีเงินที่นั่นย่อมมีความสุข นำเสนอผ่านความมั่งคั่งของลุง Nasser (และ Salim) พบเห็นจากบ้านหลังใหญ่ รถคันหรู แอบมีภรรยาน้อย (ที่เป็นคนขาว) พร้อมจับจ่ายเงินใช้สอยโดยไม่ใคร่สนอะไรทั้งนั้น

มองอย่างผิวเผิน แนวทางของ Thatcherism สามารถแพร่กระจายความมั่งคั่ง สู่ประชาชนผู้มีความขยันขันแข็งในการทำงาน แต่ในทางปฏิบัตินั้นกลับตารปัตรตรงกันข้าม เพราะแนวคิดของหลักทุนนิยมจะสร้างผลประโยชน์ให้บุคคลผู้มีความเฉลียวฉลาดก้าวขึ้นมาเป็นนายทุน ประสบความสำเร็จ มั่งคั่งร่ำรวย ส่วนกรรมกรแรงงาน (Working Class) กลับยิ่งตกต่ำยากจนข้นแค้น แถมสูญเสียสิทธิ์ในการรวมกลุ่มเรียกร้องสิทธิ (เพราะสหภาพแรงงานได้สูญเสียบทบาทและอำนาจหมดสิ้นไป) กลายเป็นทุกสิ่งอย่างต้องขึ้นตรงกับรัฐบาลส่วนกลาง (ผู้นำดีประชาชนย่อมสุขี แต่ถ้านายกแย่ก็อดตายกันถ้วนหน้า)

และปัญหาใหญ่ของ Thatcherism คือไม่มีการกล่าวถึงจิตสำนึก มโนธรรม จริยธรรมทางสังคม ทุกสิ่งอย่างล้วนขึ้นกับกฎหมายบ้านเมือง ผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด จนทำให้ …

  • ลุง Nasser เพราะมีเงินมากมายเลยคบชู้หญิงสาวชาวอังกฤษ Rachel ปรนเปรอปรนิบัติแลกกับการร่วมรักอันหวานฉ่ำ แต่เมื่อเกิดการเผชิญหน้ากับบุตรสาวคนโต Tania นำพาความอัปยศอดสู (ทางใจ)
  • Salim มีความเย่อหยิ่งทะนงตน ครุ่นคิดว่าตนเองสูงส่ง เคยใช้เท้าย่ำเหยียบใบหน้า Omar และยังชอบพูดคำดูถูกเหยียดหยาม รังเกียจเดียดฉันท์พวกเศษสวะข้างถนน ถึงขนาดขับรถพุ่งชนกลุ่มคนเร่ร่อน เลยถูกดักซุ่มรุมกระทำร้าย ได้รับบาดเจ็บสาหัส (ทางกาย)

การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัวเอง เมื่อประสบความสำเร็จร่ำรวยเงินทอง ก็ไม่ควรปล่อยตัวกาย-ใจ ให้หลงระเริงไปจนขาดสติ เรื่องราวของลุง Nasser และ Salim น่าจะเป็นบทเรียนสอนใจแก่ Omar & Johnny (และผู้ชม) ได้เป็นอย่างดี

แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้น Omar & Johnny ยังต้องอดรนทน ต่อสู้ดิ้นรน พานผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบาก สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ สังคมรายล้อมรอบด้วยภยันตราย ร้านซักรีดของพวกเขาเลยเปรียบดั้งสรวงสวรรค์ โอเอซิสกลางทะเลทราย มีความงดงามเจิดจรัส ‘The Beautiful Laudrette’

เอาจริงๆผมไม่ค่อยรู้สึกว่า The Beautiful Laudrette (1985) มีนัยยะใจความ anti-Thatcherism อย่างโจ่งแจ้งแจ่มชัดนัก เพียงนำเสนอวิถีชีวิต สภาพสังคม หลักๆคืออิทธิพลจากเหตุการณ์จราจล 1981 England Riots ส่งผลกระทบต่อผู้อพยพ/ชุมชนคนผิวสีเสียมากกว่า … นั่นน่าจะเพราะบทหนังมีความเป็นส่วนตัวของ Hanif Kureishi มากกว่าผู้กำกับ Stephen Frears

I believe in England

ด้วยทุนสร้าง £650,000 ปอนด์ (ประมาณ $900,000 เหรียญ) เสียงตอบรับถือว่าดีเยี่ยมตั้งแต่รอบปฐมทัศน์เทศกาลหนัง Edinburgh Film Festival เมื่อเข้าฉายสหรัฐอเมริกาปีถัดมา สามารถทำเงิน $2.45 ล้านเหรียญ (ไม่มีรายงานรายรับทั่วโลก) ถือว่าประสบความสำเร็จใช้ได้ และยังมีโอกาสเข้าชิง Oscar: Best Original Screenplay แต่พ่ายให้กับ Hannah and Her Sisters (1986) ของ Woody Allen

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ จากฟีล์มต้นฉบับ 16mm จนมีคุณภาพ 2K ควบคุมดูแลโดยตากล้อง Oliver Stapleton สามารถซื้อ/รับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel

ความสำเร็จของ My Beautiful Laundrette (1985) ทำให้มีการดัดแปลงเป็นละครเวทีเมื่อปี 2002 และ 2019, นอกจากนี้ Kumail Nanjiani นักแสดงลูกครึ่ง Pakistani-American เคยสนใจอยากทำเป็นซีรีย์โทรทัศน์ แต่เหมือนยังไม่ข่าวคราวความคืบหน้าสักเท่าไหร่

ความที่ผมไม่ได้ตระเตรียมตัวจะเผชิญหน้าประเด็นสังคมหนักอึ้งของ My Beautiful Laundrette (เพราะครุ่นคิดว่าคงโลกสวยๆตามชื่อหนัง) เลยทำให้เกิดความหงุดหงิด หน้านิ่วคิ้วขมวด เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น จนกระทั่งเมื่อร้านซักรีดเปิดกิจการ หลายๆอย่างบังเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างคาดไม่ถึง นำเข้าสู่การขมวดปมที่ทำเอาผมโคตรทึ่ง สมราคา 98% จากเว็บมะเขือเน่าโดยทันที!

ต้องยืนปรบมือดังๆให้ไดเรคชั่นผู้กำกับ Stephen Frears นี่เพิ่งเป็นผลงานแรกที่ผมได้รับชม แถมเครดิตพี่แกถือว่าไม่ธรรมดา Dangerous Liaisons (1988), The Queen (2006), Florence Foster Jenkins (2016) ฯ ไว้มีโอกาสต้องสรรหามารับชมอีกอย่างแน่นอน

เกร็ด: A Private Enterprise (1974) ถือเป็นภาพยนตร์ ‘British Asian’ เรื่องแรกที่เกี่ยวกับผู้อพยพชาวเอเชียในประเทศอังกฤษ แต่ความสำเร็จล้นหลามของ My Beautiful Laundrette (1985) กลายเป็นเสาหลักให้หนังลูกครึ่งลักษณะนี้มีจุดยืนของตนเอง

แนะนำคอหนังดราม่า คอมเมอดี้ โรแมนติกชาย-ชาย LGBTQIAN+, พ่อค้าแม่ขาย ทำธุรกิจร้านซักรีด, สนใจประวัติศาสตร์ประเทศอังกฤษช่วงทศวรรษ 80s อิทธิพลยุคสมัย Thatcherism, และแฟนคลับ Sir Daniel Day-Lewis ห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด!

จัดเรต 18+ บรรยากาศเครียดๆ ความรุนแรง เพศสัมพันธ์ชาย-ชาย

คำโปรย | My Beautiful Laundrette คือความงดงามที่แม้ล้อมรอบด้วยสิ่งเลวร้าย ภยันตราย แต่ยังคือสรวงสวรรค์ของใครหลายๆคน
คุณภาพ | ค์-ท่ามกลางขุมนรก
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: