My Fair Lady (1964) : George Cukor ♥♥♥♥♡
จากบุษบาริมทาง กลายมาเป็นหญิงสาวชนชั้นสูง, My Fair Lady เข้าชิง Oscar 12 สาขาได้มา 8 รางวัล รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี แต่ Andrey Hepburn ที่แม้จะไม่ได้ร้องเพลงเอง กลับไม่ได้รับแม้โอกาสจะเข้าชิง, ดูหนังเรื่องนี้แล้วมีความสุขชะมัด “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
สำหรับบทเพลงที่สามารถบรรยายความรู้สึกของผู้ชมต่อหนังเรื่องนี้ได้ตรงที่สุด ‘Wouldn’t It Be Loverly’ ประพันธ์โดย Frederick Loewe คำร้องโดย Alan Jay Lerner ใช้ในละครเพลง Broadway ฉบับปี 1956 ขับร้องครั้งแรกโดย Julie Andrews ที่นำแสดงในละครเพลงครั้งนั้น, คำว่า Lovely (แปลว่า น่ารัก, เป็นที่เบิกบานใจ) เป็นคำที่ถูกต้องตาม Oxford Dictionary แต่เพลงชื่อว่า Loverly เพิ่ม -r- มาอีกตัวเพื่อการเล่นคำกระดกลิ้น นี่ก็เหมือนคำว่า น่ารัก กับ น่าร๊าก คนสมัยนี้คงสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นคำเดียวกัน เพราะใช้การเล่นเสียง นี่ถือได้ว่าเป็นการเพี้ยนของภาษา ที่เป็นแฟชั่นของยุคสมัย (ในพจนานุกรมไทยไม่มีบัญญัติคำว่า น่าร๊าก นะครับ)
ผมหยิบเอาฉบับที่ Julie Andrews ร้องมาให้ฟัง เชื่อว่าหลายคนคงไม่เคยได้ยินมาก่อนแน่ แล้วลองเทียบกับฉบับที่ร้องโดย Marni Nixon (คนที่ร้องแทน Andrey Hepburn) แบบไหนจะไพเราะกว่ากัน
ปล. มีเพลงที่ Julie Andrews ร้องในละครเพลง My Fair Lady น่าจะครบทุกเพลงใน Youtube นะครับ ใครสนใจลองค้นหาเองเลย
ผมเคยรับชมภาพยนตร์เรื่อง My Fair Lady มาประมาณ 2-3 ครั้ง มี 2-3 สิ่งที่ยังคงจดจำไม่รู้เลือน
– การแสดงของ Andrey Hepburn ที่บอกตามตรงว่า ผมจดจำเธอไม่ได้ในครึ่งชั่วโมงแรก พยายามมองหาว่าหญิงสาวหน้าตาจิ้มลิ้ม น่ารักน่าเอ็นดูที่เคยเห็นใน Roman Holiday (1953), Sabrina (1954), Charade (1963) ฯ เมื่อไหร่จะปรากฎตัวออกมา แต่ก็ทึ่งไปเลยเมื่อรู้ว่า หญิงสาวซ่อมซ่อที่เห็นตั้งแต่แรกคนนั้นแหละคือ Hepburn จะถือว่าเป็นวินาทีแรกที่ทำให้ผมหลงรักหนังเรื่องนี้ หลอกได้สนิทว่า บุษบาริมทางต่างกับดอกฟ้ายังไง
– ความไพเราะเสนาะหู และความหลากหลายของบทเพลง ที่มีทั้งแนวโรแมนติก, หวานแหวว, ไร้สาระ, บางครั้งแฝงปรัชญา ฯ เช่นกันบทสนทนาที่มีความหลักแหลมคมคาย ได้ยินแล้วต้องคิดตามตลอด (เพราะหลายครั้ง ก็ไม่รู้พูดอะไร) จะเรียกว่านี่เป็นหนังเพลงที่ใช้ความรู้สึกและสมองไปพร้อมๆกัน
– และไฮไลท์ของหนังคือส่วนของเรื่องราว ที่ให้ข้อคิดอันลึกซึ้ง ไว้จะเล่าให้ฟังต่อไปว่ามีอะไรที่ผมจับใจความได้บ้าง
ดัดแปลงจากละครเพลง My Fair Lady (1956) ของ Alan Jay Lerner กับ Frederick Loewe ที่สร้างขึ้นจากบทละครเวที Pygmalion (1913) ของ George Bernard Shaw ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวปรับปรากรีก The Metamorphoses ของนักกวีโรมัน Ovid
Pygmalion เป็นชื่อบุคคลในปรัมปรากรีก มีอาชีพช่างแกะสลัก (sculptor) ที่เมื่อได้สร้างผลงานชิ้นเอก Propoetides แกะสลักจากงาช้าง (Ivory) เกิดความหลงใหลจนตกหลุมรัก แล้วรูปปั้นนั้นก็กลับมีชีวิตขึ้นมา, ความตั้งใจของ George Bernard Shaw สร้างเรื่องราวให้มีนัยยะเปรียบเทียบกับตำนานของนี้ Henry Higgins ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ได้ช่วยขัดเกลาสั่งสอนหญิงสาวขายดอกไม้ชนชั้นต่ำ Eliza Doolittle ให้กลายเป็นหญิงสาวมีระดับชนชั้นสูง แล้ว… จะมองว่า ตกหลุมรักก็ได้ และอีกนัยยะหนึ่งคือ มอบชีวิตใหม่ให้กับเธอ (brought to life)
ละครเวที Pygmalion ถือว่าประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่แล้วตั้งแต่ปีที่เปิดการแสดงครั้งแรก มีการนำกลับมาแสดงใหม่และสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง แต่ยังเทียบไม่ได้เมื่อถูกดัดแปลงเป็นละครเพลง My Fair Lady ฉบับปี 1956 นำแสดงโดย Rex Harrison และ Julie Andrews ที่ขณะนั้นได้กลายเป็นละครเวทีสร้างสถิติมีจำนวนรอบการแสดงมากที่สุด (2,717 รอบ) เข้าชิง Tony Award 9 สาขา ได้มา 6 รางวัล รวมถึงละครเพลงยอดเยี่ยมแห่งปี นักวิจารณ์ถึงขนาดยกย่องว่าเป็น ‘the perfect musical’
Warner Bros. โดย Jack L. Warner เมื่อได้เห็นความสำเร็จของละครเพลง จึงติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1962 ในราคาที่สูงลิบลิ่ว $5 ล้านเหรียญ แถมยินยอมให้ลิขสิทธิ์การสร้างหนังกลับไปสู้เจ้าของ 7 ปีหลังหนังฉาย, นี่ทำให้ทีมงานฉบับละครเพลงดั้งเดิมหลายคน ตัดสินใจกลับมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานกันอีกครั้ง อาทิ Alan Jay Lerner ดัดแปลงบทภาพยนตร์, Cecil Beaton ออกแบบเสื้อผ้าและฉาก, Frederick Loewe ทำเพลงประกอบ, นักแสดงอาทิ Rex Harrison และ Stanley Holloway (ที่รับบทพ่อ Alfred P. Doolittle) ก็กลับมารับบทเดิม
สำหรับ Julie Andrews ก็ได้รับความคาดหวังว่าจะกลับมา แต่เพราะขณะนั้นเธอยังไม่มีชื่อเสียงใดๆจากการแสดงภาพยนตร์ ทำให้ Jack L. Warner ตัดสินใจเปลี่ยนตัว เลือกคนที่มีประสบการณ์และชื่อเสียงมากกว่า (a star with a great deal of name recognition) มาลงเอยกับ Andrey Hepburn ที่โด่งดังมากสมัยนั้น ยังไม่เคยทำหนังขาดทุนสักเรื่อง, นี่ทำให้เกิดข้อกังขาต่อผู้ชมสมัยนั้นอย่างมาก รวมถึงตัว Andrews เองที่ก็ผิดหวังเพราะไม่ได้รับโอกาส แม้ผลลัพท์จะออกมาดี ประสบความสำเร็จทั้งเงินและรางวัล แต่นี่อาจจะคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Hepburn ไม่ได้รับโอกาสแม้แต่จะเข้าชิง Oscar ปีนั้น
ตลกคือปีนั้น Julie Andrews ได้มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Mary Poppins สามารถคว้า Oscar และ Golden Globe สาขา Best Actress มาครองได้, ตอนที่ขึ้นรับรางวัล Oscar กล่าวคำขอบคุณ
“Finally, my thanks to a man who made a wonderful movie and who made all this possible in the first place: Mister Jack Warner.”
Mary Poppins เป็นหนังของ Walt Disney แต่ Andrews กลับขอบคุณ Jack L. Warner ก่อนเลย ที่ไม่เลือกให้เธอแสดงใน My Fair Lady นี่ถือว่าเป็นคำพูดประชดเสียดสีที่ตบหน้าแรงมากๆ
มอบหมายให้ผู้กำกับ George Cukor ที่มีผลงานดังอย่าง Little Women (1933), The Philadelphia Story (1940), Adam’s Rib (1949), A Star Is Born (1954) ฯ ล้วนเป็นเรื่องราวของหญิงสาวกับอะไรสักอย่าง, คนทั่วไปคงรู้สึกแปลกใจ ทำไมผู้ชายคนนี้ถึงชอบทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิงเสียเหลือเกิน?, คนวงใน hollywood จะรู้กันว่า Cukor เป็น homosexual แต่เขาไม่เปิดเผยตัวเองชัดเจนนัก (เพราะสมัยนั้นเรื่องแบบนี้อ่อนไหวมาก)
เกร็ด: Cukor คือเป็นผู้กำกับคนแรกของ Gone With The Wind (1939) เตรียมงานมา 2 ปี แต่ถูกโปรดิวเซอร์ไล่ออกในสัปดาห์ที่กำลังจะเริ่มถ่ายทำ มีเหตุผลหนึ่งเล่าลือกันว่า เพราะนักแสดงนำ Clark Gable ไม่ต้องการทำงานกับผู้กำกับที่เป็นเกย์
ด้านมืดของ My Fair Lady นี่เป็นหนังที่ดูถูกผู้หญิงอย่างมาก เห็นชัดในหลายเพลงด้วย โดยเฉพาะ A Hymn to Him ที่ Higgins ร้องว่า
Women are irrational, that’s all there is to that!
Their heads are full of cotton, hay, and rags!
They’re nothing but exasperating, irritating,
vacillating, calculating, agitating,
Maddening and infuriating hags!Why can’t a woman be more like a man?
นี่เป็นบทเพลงที่เป็นการแสดงทัศนะ ความเห็นของ Higgins ที่ทำไมเขาถึงไม่แต่งงาน ไม่หลงใหลในหญิงสาว เพราะตัวเองไม่เข้าใจว่าผู้หญิงคิด ต้องการอะไร ทำไมพวกเธอถึงคิดไม่เหมือนผู้ชาย กึ่งๆต่อต้านไม่ยอมรับ แต่ยังเล่นด้วย มองเห็นเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง มากกว่ามนุษย์คนหนึ่ง
คุณผู้หญิงกับเพลงนี้ ส่วนใหญ่คงรู้สึกว่าเป็นมุมความน่ารัก พิศวงของเหล่าผู้ชาย (ที่บางทีฉันก็ไม่เข้าใจนายเหมือนกัน) แต่ผมขอแนะนำให้มองโลกอีกด้านด้วยนะครับ เพราะ Cukor เป็นชาวเกย์ ผู้ชายที่ไม่ชอบผู้หญิง เพลงนี้มีนัยยะของการไม่เข้าใจ สงสัย ต่อต้าน ฯ ซึ่งหนังของเขาแทบทุกเรื่อง ล้วนนำเสนอภาพในด้านแย่ๆของผู้หญิงแต่ทำเป็นปลายเปิดดูดีไว้ คือถ้ามองแค่หน้าหนังก็จะไม่พบเห็นอะไร ต้องมองลึกลงไปนี่จะคือสิ่งที่อยู่ในใจของเขา
(ไม่ใช่แค่ Cukor นะครับ ต้องลากยาวไปถึงคนที่แต่งเพลงพวกนี้แรกสุด Frederick Loewe และ Alan Jay Lerner สองคนนี้มัน…)
ถ้าคุณมองไม่สนใจประเด็นที่ผมว่ามานี้ก็ช่างมันนะครับ มองข้ามไปเลย ให้ถือว่าเป็นมุมมืดของบทความที่ผมตั้งใจจะ “ก่อนเห็นแสงสว่าง ต้องพบเจอความมืดเสมอ”
นำแสดงโดย Andrey Hepburn ในบท Eliza Doolittle กับการแสดงที่ผมคิดว่า ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิต ถึงจะไม่ได้ร้องเพลงเอง แต่เธอทำทุกสิ่งอย่างเพื่อสวมบทบาทนี้อย่างทุ่มเทหมดใจ สมจริงทรงพลังที่สุด, กับคนสมัยนั้นคงดูแคลน Hepburn อย่างมาก แต่เมื่อเบื้องหลังที่ผมเล่ามาเริ่มเลือนลางตามกาลเวลา การแสดงของเธอจึงค่อยๆได้รับการยกย่อง ยอมรับ พูดถึง ต่อให้เสียงร้องของ Marni Nixon ไพเราะแค่ไหน ถ้าไม่ได้การแสดงอันสุดตราตรึงของ Hepburn หนังเรื่องนี้คงไม่ได้ประสบความสำเร็จกลายเป็นตำนานแน่
Marni Nixon เป็นนักร้อง Soprano และ Playback Singer (ร้องแทนนักแสดง) สัญชาติอเมริกันที่มีชื่อเสียงมากๆคนหนึ่ง ก่อนหน้านี้เคยร้องแทนนักแสดงในหนังดังๆ อาทิ The King and I (1956) ร้องแทน Deborah Kerr, West Side Story (1961) ร้องแทน Natalie Wood ฯ แต่ไม่เคยมีประเด็นอะไรเกิดขึ้นเลย จนกระทั่งการร้องแทน Andrey Hepburn ในหนังเรื่องนี้
แต่มีเพลงหนึ่งที่ Hepburn ร้องเองนะครับ Just You Wait เพราะเป็นบทเพลงที่แสดงอารมณ์ของตัวละครอย่างรุนแรง ทำให้ Nixon จึงไม่สามารถร้องแทนได้
Eliza Doolittle หญิงสาวขายบุษบาอยู่ริมทาง หน้าตาสกปรกมอมแมมไม่เคยอาบน้ำ เสื้อผ้าซกมกไม่เคยซัก คำพูดที่ฟังไม่ได้ศัพท์ นิสัยเสนียดกระเดียดเต็มตัวไปหมด วันดีคืนดีได้พบกับศาสตราจารย์ Henry Higgins นักภาษาศาสตร์ที่คุยโวโอ้อวดว่า สามารถเปลี่ยนเธอจากคนชั้นเลวให้กลายเป็นผู้หญิงชั้นดีได้, Eliza จดจำคำพูดนั้น วาดฝันด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้า เข้าไปหาศาสตราจารย์ รับคำท้าเป็นหนูทดลอง พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง
ไม่ใช่ว่า Hepburn ไม่รู้ตัวเองนะครับ เธอยังอยากให้ Andrews กลับมารับบทนี้ เพราะตัวเองเสียงไม่ถึง (และรู้สึกขายหน้าด้วยที่ต้องให้คนอื่นมาร้องแทน) แต่ Jack L. Warner ยืนกรานว่ายังไงคงไม่ให้ Andrews นำแสดง และถ้า Hepburn บอกปัด ก็จะติดต่อ Elizabeth Taylor ให้มาแสดง นั่นทำให้เธอจึงจำใจต้องรับบทนี้
Sir Rex Harrison กลับมารับบท Professor Henry Higgins ที่สามารถกวาดรางวัลการแสดงเกือบครบทุกสถาบัน (พลาด BAFTA Award ไปอย่างน่าเสียดาย), ทีแรก Jack L. Warner ไม่ต้องการ Harrison กลับมารับบท ยื่นข้อเสนอให้ Cary Grant ที่ไม่เพียงบอกปัด แต่บอกว่าถ้า Harrison ไม่ได้บทนี้จะไม่ดูหนังด้วย!, นี่ผมก็คิดว่าเป็นการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ Harrison เช่นกัน, ท่านเซอร์มีความดื้อด้านอย่างหนึ่ง บอกว่าตนไม่สามารถทำอะไรซ้ำสองได้เหมือนเดิมโดยเฉพาะการร้องเพลง นี่ทำให้ทุกฉากมีการบันทึกเสียงสด โดยใช้ Wireless Microphone (ครั้งแรกของโลก) ขณะที่ปากของ Hepburn ขยับไม่ตรงกับเสียงพูดบางครั้ง แต่ Harrison ตรงเปะทุกประโยค
Henry Higgins ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญด้านภาษา การพูดและการออกเสียง มีความหลงใหลในอุปกรณ์บันทึกเสียงสมัยใหม่ที่เห็นอยู่เต็มบ้าน นิสัยกล้าบ้าบิ่น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ชอบสิ่งท้าทายความสามารถตนเอง และไม่ชอบผู้หญิง, ทัศนคติแปลกๆของตัวละครนี้เชื่อว่าได้อิทธิพลมาจาก แม่ สังเกตจากที่เธอเป็นคนชั้นสูงมีหน้ามีตาในสังคม แต่สนเฉพาะหน้าตนเอง ซึ่งผู้เป็นแม่คงปลูกฝังแนวคิดของผู้ดีไร้สาระมากมายสู่ Higgins ตั้งแต่เด็ก จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งเขาเกิดความต่อต้านสังคมแบบนั้น รับไม่ได้โดยสิ้นเชิง พาลให้ตัวเองมีทัศนคติไม่ชอบผู้หญิง ขณะเดียวกันก็มีความเห็นแก่ตัวไม่ต่างจากแม่
Harrison เองตอนแรกไม่พอใจที่ Hepburn ได้รับบท เพราะคิดว่า Andrews เหมาะสมกว่ามาก แต่เมื่อได้ร่วมงานกันก็เปลี่ยนความคิด ตอนขึ้นรับ Oscar: Best Actor พูดคำขอบคุณอุทิศให้ ‘two fair ladies’ คือทั้ง Audrey Hepburn และ Julie Andrews
Stanley Holloway กลับมารับบท Alfred P. Doolittle พ่อของ Eliza ที่จากเคยเป็นนักเลงชั้นต่ำจนๆ วันๆไม่ทำการงาน กินแต่เหล้า หาเงินโดยขอคนอื่นไปทั่ว แต่เพราะโชคชะตาบารมีหล่นใส่ จับพลัดจับพลูกลายเป็นเศรษฐีร่ำรวยผู้ดี วันๆยังคงไม่ต้องทำงาน กินแต่เหล้า แต่มีเงินใช้ไม่หมด ไม่ต้องขอใครกินอีก, ตัวละครนี้ถือว่าเป็นมุมตลกเรียกเสียงฮา แต่แฝงปรัชญาแนวคิดไว้อย่างลึกซึ้ง
ข้อคิดสำคัญมากๆที่ผมได้จากตัวละครนี้ “เมื่อเราเติบโตขึ้นแล้ว ไม่ควรที่จะย้อนกลับไปเป็นเหมือนเดิม” นี่เหมารวมทั้งลักษณะกายภาพ (จากเด็กเล็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ย่อมไม่สามารถกลับไปเป็นเด็กได้) และมโนภาพ ความคิด ทัศนคติ ความเข้าใจ ฯ เช่นว่า ถ้าคุณเคยเป็นคนชนชั้นล่างของสังคม พัฒนาตัวเองขึ้นมามีความรู้ ฐานะ ยกระดับเป็นคนชนชั้นกลางหรือสูง คงไม่มีใครอยากที่จะกลับไปจนๆ อดเช้ากินค่ำ แบมือขอทานผู้อื่นเป็นแน่
กับคนที่เลือกย้อนกลับไป สามารถเรียกเต็มปากเต็มคำว่า ‘คนโง่’ มันมีประโยชน์อะไรกับความรู้ วิทยฐานะที่ตนเองมี แต่กลับไม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เอาตัวรอดเองได้, อาจมีคนแย้งว่า ถ้านั่นคือความสุขของเขาที่จะย้อนกลับไป กับบริบทนี้มันต่างกันนะครับ เช่นว่า ครั้งหนึ่งเคยอาศัยอยู่ในเมืองร่ำรวยมั่งมี แล้ววันดีคืนดีทิ้งทุกสิ่งอย่าง ออกไปเป็นอยู่บ้านนอกเป็นคนจนๆหาเช้ากินค่ำ ลักษณะแบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นการถอยหลังนะครับ แต่คือการก้าวไปข้างหน้าด้วยความเข้าใจใหม่ นั่นคือความสุขของการค้นพบตัวเอง ไม่ใช่การย้อนกลับไป
แต่จิตใจของ Doolittle ผู้พ่อ ยังคงเป็นคนชั้นต่ำ คือถึงภายนอกเขาเป็นผู้ดีแต่งสูทร่ำรวย แต่ภายใจเขาไม่ได้พัฒนาเปลี่ยนไป ยังคงยึดมั่นใน Middle-Class Morality (ไม่รู้เหมือนกันว่าคืออะไร) นี่เป็นการเปรียบเทียบกับคนที่โตแต่ตัว จิตใจยังเหมือนเดิม ตรงข้ามกับ Doolittle คนลูก ที่เดี๋ยวผมจะเล่าต่อไป
ถ่ายภาพโดย Harry Stradling อีกหนึ่งตากล้องในตำนานของ Hollywood เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ทั้งหมด 14 ครั้ง ได้มา 2 รางวัล หนังเรื่องนี้คือหนึ่งในนั้น
หนังถ่ายทำในสตูดิโอของ Warner Bros ทั้งหมด พื้นหลังเป็นเมือง London ในยุค Edwardian (1910s) มีการสร้างฉากขนาดใหญ่ อาทิ Covent Garden (ตลาด), Ascot Racecourse (สนามแข่งม้า), บ้านของ Higgins ได้แรงบันดาลใจมาจาก Château de Groussay, Montfort-l’Amaury ของประเทศ France ฯ
ความโดดเด่นของงานภาพ อย่างแรกคือสีสันและการจัดแสง,
– จะเห็นว่าที่ Covent Garden ตลาดคนชั้นต่ำ ถึงเป็นตอนเช้าก็ยังดูมืดมิด ผู้คนสวมใส่เสื้อผ้าสีเข้ม (เขียว, ดำ) ดูสกปรกรกรุงรัง บรรยากาศขมุกขมัวอึมครึม
– ตรงกันข้ามกับ Ascot Racecourse สนามแข่งม้าของคนชั้นสูง หรือในงานเต้นรำ Embassy Ball ที่ผู้คนสวมใส่ชุดสีคมเข้มตัดกัน (ขาว, ดำ, เทา) เครื่องประดับเป็นประกายยิบยับ บรรยากาศสว่างสดใสสบายตา
การจัดองค์ประกอบภาพและตำแหน่ง ถือว่ามีความโดดเด่นไม่แพ้กัน อย่างช็อตที่ผมเลือกมา ตอนต้นเรื่องจะเห็นว่า หญิงสาวอยู่ในระดับต่ำสุด (กว่าคนใช้เสียอีก) แต่พอกลายเป็น Fair Lady แล้ว ก็สามารถยืนสูงกว่าพระเอกได้ (ในตอนจบ)
ตัดต่อโดย William H. Ziegler นักตัดต่อยอดฝีมือผู้อาภัพ Oscar ได้เข้าชิง 3 ครั้งไม่เคยได้สักรางวัล มีผลงานดังๆอย่าง Strangers on a Train (1951), Rebel Without a Cause (1955) The Music Man (1962) ฯ
เพลงประกอบโดย André Previn คีตกวียอดฝีมือชาวเยอรมัน ที่ได้นำเอาบทเพลงจากละครเวทีทั้งหมด คงไว้ซึ่งเนื้อร้องแล้วเรียบเรียงทำนองบรรเลงเพลงขึ้นใหม่ (แต่กลิ่นอายก็ยังคล้ายๆเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก)
หนังเล่าเรื่องด้วยมุมมองของ 2 ตัวละครหลัก Eliza Doolittle และ Henry Higgins ใช้บทเพลงเพื่อ
– อธิบายความคิด ข้อสงสัย อาทิ Why Can’t the English Learn to Speak?, An Ordinary Man, A Hymn to Him, Without You
– บรรยายความรู้สึกของตัวละคร อาทิ Wouldn’t It Be Loverly?, Just You Wait, I Could Have Danced All Night, On the Street Where You Live, Show Me, I’ve Grown Accustomed to Her Face
– ดำเนินเรื่อง/เหตุการณ์ อาทิ Servants Chorus, You Did It
– สนุกสนานไร้สาระ อาทิ With a Little Bit of Luck, The Rain in Spain, Get Me to the Church on Time
ส่วนใหญ่บทเพลงจะร้องขึ้น ดำเนินต่อเนื่องไปพร้อมเรื่องราว, บางครั้งเกิดขึ้นในความฝัน/เหมือนความฝัน (เช่น Just You Wait ฯ), บางครั้งเป็นการตัดตอน รวบรัดเรืองราว (เช่น Servant Chorus, You Did it ฯ)
กับความยาว 170 นาที เกือบๆ 3 ชั่วโมง สำหรับหลายๆคนคงรู้สึกเหนื่อยเพราะหนังยาวเกินไป มีหลายอย่างที่ดูแล้วตัดออกได้ อาทิส่วนของ Doolittle คนพ่อ ที่เอาแค่พอเพียงก็ได้ ไม่ต้องใส่ทั้ง Sequence มาหมด (หลายคนไม่สนใจเรื่องของป๋าด้วยซ้ำ รู้สึกว่าเป็นส่วนเกิน แต่จากเหตุผลที่ผมว่าไป คือตัดตัวละครนี้ออกไม่ได้นะครับ) กับคนชื่นชอบฟังเพลง ตำหนิพวกนี้คงพอรับได้กระมัง
เกร็ด: สังเกตเห็นในบทเพลง With a Little Bit of Luck มีการเดินขบวนพาเรด เขียนป้ายเรียกร้องสิทธิสตรี (ตรงกับหนังดีนะครับ)
บทเพลงที่ผมชอบสุดในหนังคือ I Could Have Danced All Night เป็นอารมณ์ของหญิงสาวที่เป็นสุขล้น เพราะได้ทำบางสิ่งอย่างสำเร็จเป็นครั้งแรก จึงต้องการเต้น เต้น เต้นตลอดคืน ไม่อยากเข้านอน, ทำนองเพลงนี้เป็น Main Theme ของหนังด้วยนะครับ ได้ยินตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ Overture เลย, แน่นอนว่าเพลงนี้ต้องติด AFI’s 100 Years…100 Songs อันดับ 17
ผมหยิบเอาฉบับที่ Andrey Hepburn ร้องขณะแสดงมาให้ฟัง จะได้รู้กันไปเลยว่าเสียงเธอเหมาะกับหนังเรื่องนี้หรือเปล่า
มีช่วงหนึ่งของหนังในงาน Embassy Ball แทบจะไม่ได้ยินเสียงพูดของนางเอกเลย บางครั้งเห็นขยับปากแต่ไม่มีเสียงออกมา ต่อเนื่องไปจนถึงหลังงานเลี้ยงที่บ้านของ Higgins ใช้การพูดบรรยายโอ้อวดชมตนเองด้วยเสียงเพลง เล่าถึงบทสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (แทนหญิงสาวที่ควรเป็นคนพูด) การให้เธอเงียบในช่วงนี้มีนัยยะถึง ‘ผู้หญิงที่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียง’ เปรียบเสมือนหุ่นเชิด ที่ต้องแสดงออก ทำตามในกรอบตามที่ผู้ชายกำหนด
ถ้าคุณดูหนังอย่างเข้าใจจะสามารถรับรู้อารมณ์ของหญิงสาวขณะนี้เลย ว่าโกรธอย่างยิ่ง วิธีแสดงออกของเธอคือหลบซ่อนยืนแอบอยู่มุมห้อง ไม่มีใครสนใจจนทุกคนออกไปหมดเธอจึงเดินออกมา ซึ่งเมื่อ Higgins นึกขึ้นได้กลับลงมาทวงถามรองเท้าแตะ นี่เป็นการเปรียบเปรยถึงหญิงสาว ที่มีค่าแค่เพียงของชั้นต่ำ ดั่งรองเท้าที่ถูกลืมทิ้งไว้ แล้วเพิ่งมานึกได้
ตลอดเวลาที่ผ่านมา Higgins มองหญิงสาวเป็นเหมือนของเล่น, รองเท้า, คนชั้นต่ำ, ที่สามารถจับขยับแขนขา เคลื่อนไหวได้ตามที่ใจตนสั่ง ซึ่งเมื่อวินาทีที่ทำสำเร็จสมอารมณ์หมาย ก็เหมือนว่าเขาพร้อมที่จะทอดทิ้งอย่างไร้การเหลียวแหล หญิงสาวตระหนักได้ถึงสิ่งนี้ นั่นทำให้เธอตัดสินใจทำบางสิ่งอย่าง
ชนชั้นสูง ชนชั้นต่ำ นี่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างกรอบขึ้นมา เพื่อกำหนดบริบท คุณค่า วิถีของคนในสังคม แบ่งตามฐานะ ความรู้ความสามารถ เชื้อชาติพันธุ์ ฯ การแบ่งชนชั้น เชื่อว่าคงเริ่มต้นมีมาพร้อมๆกับการเกิดขึ้นของมนุษย์ มีมิตรก็ต้องมีศัตรู มีชื่นชอบก็ต้องมีรังเกลียด แค่นี้ก็แบ่งคนออกเป็นสองประเภทแล้ว และการต่อสู้/ความขัดแย้งถือเป็นสันชาติญาณหนึ่งของมนุษย์ ไม่มีทางจะทำให้สูญหายหมดไปจากโลกได้
ใจความของหนังเรื่องนี้ คือการทำลายขอบเขต ก้าวผ่านเส้นแบ่งความแตกต่างระหว่างคนสองกลุ่ม
– เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงภาษา กิริยา ท่าทาง คำพูด หรือเรียกว่า รูปลักษณ์ภายนอก
– แต่สิ่งที่เป็นใจความสำคัญที่สุดคือ ตัวตน สิ่งที่อยู่ภายใน การยอมรับจากตนเองและคนรอบข้าง
รูปลักษณ์เปลือกนอกถือว่าแบ่งกันง่ายที่สุด แค่ว่าเอาคนจนๆมาอาบน้ำตัดผมโกนหนวดแต่งตัวให้เป็นผู้ดีใส่สูท เดินไปที่ไหนใครๆคงจะยกมือไหว้ เช่นกันกับถ้าให้มหาเศรษฐี ไว้ผมยาว หนวดเครารุงรัง สวมเสื้อผ้าเก่าๆขาดๆ เดินเข้าห้าง รปภ. ที่ไหนจะให้, กับหนังเรื่องนี้ ครึ่งหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ภายนอก เสื้อผ้าหน้าผม ภาษาคำพูดของหญิงสาว
แต่ตัวตน อุปนิสัยของคน นี่ไม่ใช่สิ่งที่ต่อให้รูปลักษณ์ภายนอกจะเปลี่ยนไป ภายในจะสามารถปรับเปลี่ยนให้แตกต่างได้, นี่คืออีกครึ่งหนึ่งของหนัง ที่เป็นการพิสูจน์ให้ทั้งตนเองและผู้อื่นยอมรับตัวตน เปลี่ยนจากคนนิสัยชั้นเลวกลายเป็นผู้ดีมีสกุล นี่คือวิธีการทำลายกำแพงของความแตกต่างระหว่างคนสองชนชั้น
เมื่อ Higgins สามารถเปลี่ยนแปลง Eliza จากคนธรรมดาชั้นต่ำให้กลายเป็นคนชั้นสูง ภายนอกดูดีมีสง่าราศีได้แล้ว ในตอนแรกเขาหาได้ยอมรับตัวตนของเธอที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่เมื่อหญิงสาวงอนและจากไป นั่นทำให้เขารับรู้ถึงความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย และหลังจากได้สนทนาภาษาผู้ใหญ่
Without your pulling it, the tide comes in
Without your twirling it, the Earth can spin
Without your pushing them, the clouds roll by,
If they can do without you, ducky, so can I.
นี่ทำให้เขาตระหนักว่า หญิงสาวได้เติบโต เปลี่ยนแปลง กลายเป็นสิ่งมากกว่าที่เขาเคยคาดหวังให้เป็น นั่นคือเป็นผู้ดีทั้งภายนอกและภายใน นี่ทำให้เขาจะแสดงออกปฏิบัติต่อเธอเหมือนคนชั้นต่ำแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว กระนั้นตัวตนของเขา ภายนอกถึงจะแสดงออกเหมือนเดิม แต่ภายในยอมรับเข้าใจแล้ว นั่นคือวินาทีตอนจบของหนัง พระเอกเรียกหารองเท้าแตะ แต่ไม่ได้มีนัยยะแปลว่า หญิงสาวคือรองเท้าแตะอีกต่อแล้ว นี่ผมเรียกว่าการยอมรับแบบเขินอาย (นั่นทำให้เขาเอาหมวกปิดหน้าไม่ให้เห็นรอยยิ้มแห่งความสุขใจ)
ด้วยทุนสร้าง $17 ล้านเหรียญ หนังทำเงิน $72 ล้านเหรียญ ขณะนั้นถือว่าทำเงินสูงสุดของสตูดิโอ Warner Bros, เข้าชิง Oscar 12 สาขา ได้มา 8 รางวัล
– Best Picture ** ได้รางวัล
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Actor (Rex Harrison) ** ได้รางวัล
– Best Supporting Actor (Stanley Holloway)
– Best Supporting Actress (Gladys Cooper)
– Best Writing Adapted Screenplay
– Best Cinematography ** ได้รางวัล
– Best Edited
– Best Art Direction ** ได้รางวัล
– Best Costume Design ** ได้รางวัล
– Best Adaptation or Treatment Score ** ได้รางวัล
– Best Sound ** ได้รางวัล
เกร็ด: ชื่อหนัง My Fair Lady เป็นคำมาจาก Lullabies/Nursery Rhyme เพลงร้องให้เด็กเล็ก ของคนอังกฤษ ที่ว่า ‘London Bridge is falling down, my fair lady.’
สิ่งสุดท้ายที่ทำให้ผมหลงรักหนังเรื่องนี้ คือดูแล้วมีความสุขมากๆ
– สุขที่ได้เห็นการเติบโต เปลี่ยนแปลงของหญิงสาว จากคนชั่นต่ำ กลายเป็นผู้ดีชั้นสูง, นี่เหมือนความสุขของพ่อแม่ ที่ได้เห็นลูกเติบโตขึ้นจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ จากช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สยายกางปีก โบยบินได้ด้วยตนเอง
– สุขที่ได้เห็นการยอมรับเข้าใจ จากคนที่ไม่เคยเห็นค่าของผู้อื่น, ลูก ไม่ว่าตัวโตเติบใหญ่ขนาดไหน ผู้ใหญ่มักยังจะมองว่าลูกเป็นลูกเสมอ ซึ่งวินาทีที่พ่อแม่ยอมรับ เข้าใจ และมองลูกว่าได้เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่แล้ว ถือเป็นช่วงเวลาทรงคุณค่าแห่งการยอมรับ เทียบเท่าเสมอภาค
– สุขที่ได้เห็นการค้นพบความเป้าหมายความต้องการ ก้าวผ่านขอบเขตขีดจำกัด และการประสบความสำเร็จ, นี่เหมือนกับคนที่ทั้งชีวิตสำมะเลเทเมา ไม่เคยคิดทำอะไรได้ด้วยตนเอง แล้ววันดีคืนดีเกิดตระหนักขึ้นมาได้ แล้วตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ วินาทีของการค้นพบ เอาชนะ/ก้าวผ่านตัวเอง ถ้าทำสำเร็จจักเหมือนนกที่สามารถหนีออกจากกรงขังด้วยตนเองได้สำเร็จ
สามสุขที่ผมได้รับจากหนังนี้ เป็นความสวยงามที่เกิดจากการสังเกตวิถีของมนุษย์ ที่โดยส่วนตัวไม่เคยประสบพบเจอสัมผัสมาก่อน แต่รับรู้เข้าใจได้จากการชมภาพยนตร์หลายๆเรื่อง แล้วจินตนาการวาดฝันให้มันเกิดขึ้น (คือก็สามารถทำให้ความสุขเกิดขึ้นในจิตใจได้ แต่ไม่ใช่ทางกาย) นี่ฟังดูอาจเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่อย่ามองผมแบบนั้นนะครับ เพราะส่วนตัวคิดว่า มนุษย์สามารถทำความเข้าใจ มองเห็นความสวยงามของชีวิต ได้โดยไม่จำเป็นต้องประสบพบเจอเข้ากับตัวเองเสมอไป แบบหนังเรื่องนี้ คือขอแค่รับรู้ว่ามีเหตุการณ์ที่สร้างลักษณะอารมณ์พวกนี้เกิดขึ้น ก็สามารถค้นพบความสวยงามของชีวิตได้ระดับหนึ่งแล้ว (แต่ก็ยอมรับว่า ถ้าได้พบเจอเข้ากับตัวจริงๆ มันคงจะต้องยิ่งใหญ่มากแน่)
แนะนำกับคอหนังทุกคน ครั้งหนึ่งในชีวิต “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” หนังอาจดูยากในครั้งแรกสำหรับคนไม่คุ้นเคย แต่ถ้ามีรอบ 2-3 ขึ้นไป เชื่อว่าจะตกหลุมรักยิ่งๆขึ้นไป เพราะนี่เป็นหนังที่จะดูสนุกสนาน เพลิดเพลินขึ้นตามกาลเวลา
จัดเรต PG กับนิสัย คำพูดที่เสียดสี และชนชั้นของสังคม
ส่วนตัวคิดว่าคุณมีอคติในการเขียนมากเกินไป แน่นอนว่าคุณสามารถใส่ความคิดเห็นลงไปได้แต่ไม่ใช่ความมั่นใจแบบผิดๆอย่างเช่นที่ว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ดูถูกผู้หญิงอย่างมาก หรือ ‘เพราะ Cukor เป็นชาวเกย์ ผู้ชายที่ไม่ชอบผู้หญิง เพลงนี้มีนัยยะของการไม่เข้าใจ สงสัย ต่อต้าน ฯ ซึ่งหนังของเขาแทบทุกเรื่อง ล้วนนำเสนอภาพในด้านแย่ๆของผู้หญิงแต่ทำเป็นปลายเปิดดูดีไว้ คือถ้ามองแค่หน้าหนังก็จะไม่พบเห็นอะไร ต้องมองลึกลงไปนี่จะคือสิ่งที่อยู่ในใจของเขา’ การเขียนในลักษณะนี้แสดงถึงอคติที่คุณมีต่อเกย์ ว่าเพราะเป็นเกย์จึงต้องคิดเช่นนี้อย่างแน่นอน ทั้งที่ความจริงเขาคิดอย่างไรคุณไม่มีทางรู้ได้เลยแต่คุณก็ได้พรั่งพรูคำพูดด้านลบออกมาแล้ว ไม่สมควรกระทำ
อีกเรื่องหนึ่งที่ขอแย้งก็คือ เรื่องที่ว่า ‘พ่อของ Eliza ที่จากเคยเป็นนักเลงชั้นต่ำจนๆ วันๆไม่ทำการงาน กินแต่เหล้า หาเงินโดยขอคนอื่นไปทั่ว แต่เพราะโชคชะตาบารมีหล่นใส่ จับพลัดจับพลูกลายเป็นเศรษฐีร่ำรวยผู้ดี วันๆยังคงไม่ต้องทำงาน กินแต่เหล้า’ ส่วนตัวดูแล้วเข้าใจว่าเขาได้ไปเป็นนักพูดเรื่องศีลธรรมแล้วก็ยังคงต้องทำงานอยู่
สุดท้ายมีข้อสงสัยตรงที่คุณบอกว่า ‘นี่เหมือนกับคนที่ทั้งชีวิตสำมะเลเทเมา ไม่เคยคิดทำอะไรได้ด้วยตนเอง แล้ววันดีคืนดีเกิดตระหนักขึ้นมาได้ แล้วตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่’ ว่าคุณหมายถึงส่วนไหนของเรื่องหรือเปล่า เพราะถ้าหมายถึงอิไลซ่า ฟังดูแล้วเหมือนคุณดูถูกคนจนว่าเพราะไม่ขยันพอ ไม่ฉลาดพอ หรือต่างๆถึงไม่มีชีวิตที่ดี แต่ถ้าไม่ได้หมายถึงอย่างนั้นก็ขออภัยด้วยค่ะ
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ส่วนอื่นๆของหนังอ่านแล้วก็เพลิดเพลินดีคะ มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่อ่านแล้วรู้สึกทึ่งเหมือนกัน ขอบคุณที่มาวิเคราะห์วิจารณ์ให้ได้อ่านกันค่ะ