My Neighbor Totoro (1988)
: Hayao Miyazaki ♥♥♥♥
โทโทโร่เพื่อนรัก อาจมองได้คือแฟนตาซีที่เกิดขึ้นในจินตนาการของเด็กหญิงสาว ไม่สิเป็นกึ่งอัตชีวประวัติของผู้กำกับ Hayao Miyazaki ถ่ายทอดความคิดเพ้อฝัน อารมณ์ความรู้สึก และความทรงจำวัยเด็กของตนเอง แปรสภาพความทุกข์โศกเศร้า กลายเป็นภาพแห่งรอยยิ้มโลกสวย, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
แม้ชีวิตจริงจะไม่ค่อยสวยงามดั่งความฝัน แต่เราสามารถเลือกมองโลกแต่มุมดีๆ คิดในแง่บวก ก็อาจพบเจอความสุขสงบสันติขึ้นในจิตใจ
My Neighbor Totoro คือผลงานชิ้นเอกของปรมาจารย์ผู้กำกับ Hayao Miyazaki แม้จะไม่ประสบความสำเร็จทันทีตอนออกฉายในญี่ปุ่น เพราะเข้าโรงควบกับ Grave of the Fireflies (1988) ที่มีเรื่องราวตรงข้ามสุดขั้ว ผู้ชมเลยเบือนหน้าหนี แต่ด้วยคำวิจารณ์เสียงตอบรับดีล้นหลาม และยอดขายตุ๊กตา Totoro กับ Nekobasu (Catbus) ผลิตกันแทบไม่ทันจนได้ทุนคืน เด็กๆต่างคลั่งไคล้หลงใหล กลายเป็นกระแส Cult ตามมา
ในบรรดาผลงานของ Miyazaki จะบอกว่า My Neighbor Totoro เป็นเรื่องที่โดยส่วนตัวแค่ชื่นชอบแต่ไม่ถึงระดับหลงใหลคลั่งไคล้สักเท่าไหร่ เพราะความที่มันโลกสวยจนเกินไป และผมได้รับชมครั้งแรกตอนโตเป็นวัยรุ่นเลิกเล่นตุ๊กตาของเล่นแล้ว เลยไม่ค่อยตราตรึงกับ King Totoro สักเท่าไหร่
กระนั้นอนิเมชั่นเรื่องนี้ รับชมแล้วทำให้เกิดความรู้สึกอิ่มเอม ซาบซึ้ง เป็นสุขใจ ชวนให้หวนระลึกถึงสมัยวัยเด็ก มันช่างสดใสไร้เดียงสา หมดห่วงคลายกังวล มิได้ต้องรับผิดชอบภาระอะไรมากมายในชีวิต โลกตอนนั้นคงเป็นอะไรที่น่าพิศวงค้นหา เต็มเปี่ยมด้วยอิสรภาพเสรีภาพ สวยงามล้ำค่าเสียเหลือเกิน
Hayao Miyazaki (เกิดปี 1940) ผู้กำกับ อนิเมเตอร์ สร้างอนิเมชั่นสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Bunkyō, Tokyo, มีพี่น้อง 4 คน พ่อเป็นเจ้าของบริษัทผลิตเครื่องบิน Miyazaki Airplane ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นอายุ 4-5 ขวบต้องอพยพหนีระเบิดจาก Tokyo ไปยัง Utsunomiya, Kanuma โชคดีเอาตัวรอดมาได้, ประมาณปี 1947 แม่ป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังอักเสบเนื่องมาจากวัณโรค ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลหลายปี, ตั้งแต่เด็กมีความฝันต้องการเป็นนักวาดการ์ตูน รับอิทธิพลจาก Tetsuji Fukushima, Soji Yamakawa และ Osamu Tezuka แต่หลังจากรับชมอนิเมชั่นเรื่อง Panda and the Magic Serpent (1958) เกิดตกหลุมรักนางเอกอย่างรุนแรง เลยเบี่ยงเบนความสนใจไปทางนี้
หลังเรียนจบมหาลัย สมัครงานเป็น In-Between Artist กับ Toei Animation มีส่วนร่วมโปรเจค Doggie March (1963), Wolf Boy Ken (1963) ต่อมากลายเป็น Chief Animator, Concept Artist, Scene Designer ถูกดึงตัวไปสตูดิโอ A-Pro ร่วมกับ Isao Takahata สร้างอนิเมะซีรีย์ Lupin the Third (1971), ฉายเดี่ยวกับซีรีย์ Future Boy Conan (1978), ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรก The Castle of Cagliostro (1979) เป็นการต่อยอดจาก Lupin III แม้ได้รับคำชมเรื่องสไตล์และวิสัยทัศน์ แต่ผู้ชมกลับไม่ให้ความสนใจสักเท่าไหร่, ดิ้นรนอยู่พักใหญ่จนได้สร้าง Nausicaä of the Valley of the Wind (1984) ได้รับการยกย่องไม่ใช่แค่อนิเมชั่น แต่คือภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่สุดของของประเทศญี่ปุ่น
ความสำเร็จของ Nausicaä ทำให้ Miyazaki ร่วมกับเพื่อนอีกสามคน Toshio Suzuki, Isao Takahata และ Yasuyoshi Tokuma ก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli ขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1985 มีผลงานเรื่องแรก Laputa: Castle in the Sky (1986) กลายเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นทำเงินสูงสุดในญี่ปุ่นโดยทันที
สำหรับผลงานถัดมาของ Miyazaki นำบทที่ตนเองเขียนขึ้นและภาพร่างคร่าวๆของ Totoro ไปเสนอหานายทุน แต่ถูกพิจารณาว่ามีความเสี่ยงเกินไป Toshio Suzuki เลยเสนอให้ควบโปรเจคกับ Grave of the Fireflies ของ Isao Takahata ใช้งบประมาณเท่ากับอนิเมชั่นเรื่องเดียว แต่ได้ผลลัพท์ถึงสองเรื่อง มีหรือนายทุนจะไม่ยินยอมตกลง
Miyazaki พัฒนาบทอนิเมชั่นเรื่องนี้ โดยนำเรื่องราวชีวิตของตนเองในช่วงวัยเด็กมาเป็นแรงบันดาลใจ แม่ป่วยหนักจากโรคกระดูกสันหลังอักเสบเนื่องมาจากวัณโรค ต้องพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลถึง 9 ปี แต่ถ้าจะให้เรื่องราวดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของเด็กชาย มันก็จะดูโหดร้ายตรงเกินไปสำหรับเขา เลยเปลี่ยนมาเป็นเด็กหญิงเพื่อสามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง นำเสนอออกมาได้ชัดเจนกว่า
ประมาณปี 1958 อาจารย์มหาวิทยาลัย Tatsuo Kusakabe พร้อมด้วยลูกสาวสองคน คนพี่ Satsuki (พากย์เสียงโดย Noriko Hidaka) และคนน้อง Mei (พากย์เสียงโดย Chika Sakamoto) ย้ายเข้าอาศัยยังบ้านเก่าหลังหนึ่ง อยู่ไม่ไกลกับโรงพยาบาลที่แม่ Yasuko พักรักษาตัว
เรื่องราวดำเนินไปในมุมมองของสองเด็กสาว ที่ได้พบเห็นสิ่งแปลกประหลาดมากมาย อาทิ Susuwatari (ปีศาจฝุ่น), Totoro (วิญญาณป่า, Forest Spirit), Nekobasu (รถบัสแมว) ฯ วันหนึ่งพวกเธอได้รับโทรเลขส่งจากโรงพยาบาล บอกว่าให้ติดต่อกลับด่วน ด้วยความเป็นห่วงกังวลกลัวว่าแม่จะเป็นอะไรไป Mei จึงออกเดินทางไปหาแม่ที่โรงพยาบาลโดยไม่ปรึกษาใคร เดือดร้อนพี่สาว Satsuki ที่ต้องออกติดตามค้นหา ไหว้วาน Totoro ทำให้ได้ขึ้น Nekobasu พบตัวและพาไปส่งถึงโรงพยาบาล
แรกสุด Miyazaki ตั้งใจให้มีตัวละครเด็กหญิงเพียงคนเดียวอายุ 7 ขวบ แต่กลับไม่สามารถพัฒนาเรื่องราวครึ่งหลังให้ลงตัวได้ เลยต้องแบ่งออกเป็นสองคน Satsuki อายุ 10 ขวบ และ Mei อายุ 4 ขวบ ชื่อของทั้งสองแปลว่า เดือนพฤษภาคม (Satsuki ภาษาญี่ปุ่นแปลว่า พฤษภาคม, Mei พ้องเสียงกับ May)
Noriko Hidaka นักพากย์หญิงชื่อดังจาก Chiyoda, Tokyo ผลงานเด่นอาทิ Minami Asakura เรื่อง Touch, Akane Tendo เรื่อง Ranma 1/2, Near เรื่อง Death Note, Kikyo เรื่อง Inuyasha ฯ,
พากย์เสียง Satsuki พี่สาวที่โตพอจะเข้าใจอะไรหลายๆอย่างได้เองแล้ว จึงพยายามมองโลกในแง่ดีเสมอ มีนิสัยแก่นแก้วห้าวหาญเหมือนผู้ชาย เข้ากับคนอื่นง่าย รู้จักสัมมาคารวะ เป็นที่รักใคร่ของทุกๆคน แต่เพราะเธอยังเป็นเด็กอยู่ ต้องการแม่เป็นแบบอย่างเคียงข้างกาย บางครั้งจึงมิอาจอดทนกลั้นความอ้างว้างโหยหาที่ทะลักออกมาจากภายในได้
เพราะความที่เป็นผู้หญิงสูงวัยที่สุดในบ้าน เธอจึงพยายามทำตัวเหมือนแม่ ให้ทั้งพ่อและน้องสาวสามารถพึ่งพาได้ ตื่นเช้าเข้าครัว ปลุกเมื่อตื่นสาย มีสติเมื่ออาจเกิดเรื่องร้ายๆ
เมื่อตอนน้อง Mei หายตัวออกจากบ้าน Satsuki แทบรับรู้โดยทันทีว่าน้องคิดทำอะไร (คงเพราะตัวเธอเองคงครุ่นคิด ต้องการทำแบบนั้นด้วยละมัง แต่ถูกเหนี่ยวรั้งด้วยความเข้าใจที่เป็นผู้ใหญ่กว่า จึงหักห้ามใจตนเองได้) ความทุ่มเทของเธอในการออกค้นหาถือว่ามากยิ่ง วิ่งไม่คิดเหนื่อย ไม่หยุด ไม่ย่อท้อ ยินดีที่รองเท้านั่นไม่ใช่ จนสุดท้ายเกือบจะยอมแพ้ อธิษฐานขอตัวช่วยจนได้รับความอนุเคราะห์ นับเป็นความโชคดีโดยแท้
กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ คงทำให้เด็กหญิงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นไปอีกขั้น มีความระแวดระวังตัวมากขึ้นกับการใช้คำพูดที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้อื่น และในช่วงเวลาคับขันอื่น เพราะมีประสบการณ์มาครั้งหนึ่งแล้ว จะสามารถเรียกสติกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม
ในผลงานของ Miyazaki หลายๆเรื่อง สังเกตว่ามักมี Service คือให้เห็นกางเกงในของเด็กหญิงสาว แต่ไม่ได้เพื่อให้หนุ่มๆหรือผู้ชมเกิดอารมณ์ทางเพศแต่ประการใด (ใครเห็นแล้วเกิดอารมณ์นี่เข้าขั้นโรคจิตแล้วนะ) ผมมองเป็นความใคร่สงสัยอยากรู้อยากเห็นของเด็กชาย (Miyazaki) จึงชอบแทรกใส่ให้เห็นแบบแวบๆ ซึ่งยังสะท้อนความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา (สีขาว) ไม่รู้จะระวังตัวทำไมของตัวละครเด็กๆเหล่านี้ออกมาด้วย
Chika Sakamoto นักพากย์จาก Kobe โด่งดังจากบท Kisugi เรื่อง Cat’s Eye, Agumon เรื่อง Digimon Adventure, Kaoruko Hanasaki เรื่อง Heartcatch Precure! ฯ
Mei น้องสาวที่วิ่งตามหลังพี่อยู่เรื่อยๆ ด้วยอายุยังน้อยไม่ถึงวัยเข้าโรงเรียน วันๆว่างๆวิ่งเล่นเรื่อยเปื่อย หลายครั้งชอบเรียกร้องหาความสนใจ ต้องการอะไรก็ยังขาดสติยับยั้งคิดหักห้ามตนเอง
ความสนใจของเธอในช่วงแรกๆจะเปลี่ยนไปตามสิ่งดึงดูดใหม่ๆที่พบเจอ จากกล่องข้าวกลางวัน -> ดอกไม้ -> ลูกอ๊อด -> กระแป๋งทะลุ -> ลูกโอ๊ก (Acorn) -> เงาของ mini Totoro -> วิ่งตามไปพบ King Totoro หมดแรงผลอยหลับ ลืมเรื่องกล่องข้าวกลางวันไปแล้วโดยสิ้นเชิง
กระนั้นก็มีความตั้งใจหนึ่งของน้อง Mei ไม่ว่ายังไงต้องทำให้สำเร็จ คือตอนรู้ว่าแม่ป่วยยังไม่ได้กลับบ้าน ไม่ว่ายังไงต้องไปให้ถึงโรงพยาบาล มอบฝักข้าวโพดที่หักมาให้ถึงมือจงได้
ผมค่อนข้างเชื่อว่าน้อง Mei น่าจะคือตัวละครที่แทนด้วย Miyazaki เองเลย เพราะมีพี่หนึ่งคน และตอน Ending Credit จะเห็นเหมือนมีน้องเกิดใหม่อีกสองคน (Miyazaki เป็นลูกคนที่สองจากสี่) ซึ่งการกระทำของเด็กหญิงมีแนวโน้มสูงว่านั่นคือสิ่งที่ผู้กำกับเคยกระทำ คิดถึงแม่มากเลยออกเดินทางไปหา แล้วหลงกลางทาง คงมีใครสักคนช่วยเหลือ พาไปส่งถึงโรงพยาบาล
มันคงเป็นเหตุการณ์ตราตรึงฝังใจ Miyazaki มากๆ เพราะอาจคือครั้งแรกในชีวิตของเขา ที่มีความตั้งมั่น’แน่แน่ว’ในการทำอะไรบางอย่างด้วยตนเอง เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ และอาจเป็นความทรงจำเก่าแก่ที่หวนระลึกได้ไม่เคยหลงลืมเลือน
แซว: ว่าไปตัวละครนี้ออกแบบได้เหมือน กบ (นัยยะสื่อถึงกำลังอยู่ในช่วงวิวัฒนาการ) แถมชอบนั่งยองๆโชว์กางเกงในอีกต่างหาก
ตัวละครที่กลายเป็นสัญลักษณ์ โลโก้ของสตูดิโอ Ghibli คือ Totoro เป็นวิญญาณป่า (Forest Spirit) อาศัยอยู่ใต้ต้นการบูร (Camphor Tree) หูยาวชี้ขึ้น ตากลม หนวดข้างละสามเส้น ปากยิ้มกว้าง ขนสีเทา อุ้งมือเล็บยาว ร่างท้วมกลมเหมือนนกฮูก หน้าอกมีลายลูกศรชี้ขึ้น ชอบกินลูกโอ๊ก วันๆขี้เซาเอาแต่นอน ยิ้มแย้งร่าเริงไร้เดียงสาเหมือนเด็ก 4 ขวบ และมีจิตใจดีงามชอบช่วยเหลือผู้อื่น, พบเห็นสามขนาด King/Big, Medium, Small/Mini
ชื่อ Totoro มาจากการออกเสียงผิดของน้อง Mei จริงๆคำที่เธอจะพูดคือ Tororu ที่แปลว่า Troll แต่เมื่อเรียกผิดแล้ว ใครๆก็เลยเออออห่อหมก ตามกันไปหมด, นักวิจารณ์ให้ข้อสังเกตว่าอาจมาจากชื่อเมือง Tokorozawa สถานที่ซึ่ง Miyazaki เคยใช้ชีวิตวัยเด็ก เติบโตขึ้นที่นั่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
คำอธิบายของ Miyazaki ต่อตัวละครนี้
“Totoro is not a spirit: he’s only an animal. I believe he lives on acorns. He’s supposedly the forest keeper, but that’s only a half-baked idea, a rough approximation.”
เกร็ด: สตูดิโอ Ghibli เริ่มใช้โลโก้ Totoro เป็นครั้งแรกกับอนิเมชั่นเรื่อง Only Yesterday (1991)
Nekobasu (Catbus) รูปลักษณ์เหมือนแมว แต่มีหลายขาเหมือนหนอนผีเสื้อ ดวงตา/หางมีแสงไฟสาดส่องออกมา ด้านบนสามารถเปลี่ยนเป็นชื่อสถานีปลายทาง ด้านหลังเป็นห้องโดยสาร หน้าต่างสามารถยืดหดกลายเป็นประตู เคลื่อนไหวกระโดดทะยานไปมารวดเร็วดั่งสายลม
แรงบันดาลใจของตัวละครนี้ คงเป็นส่วนผสมของ Cheshire Cat จาก Alice in Wonderland และความเชื่อพื้นบ้านของชาวญี่ปุ่น Bakeneko แมวปีศาจที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างหลอกคนได้
Art Direction ออกแบบโดย Kazuo Oga ที่เคยมีผลงานอย่าง Barefoot Gen (1983), Wicked City (1987) ฯ ได้รับคำท้าจาก Miyazaki หลังจากนำภาพร่าง Totoro มีพื้นหลังคือป่าไม้ธรรมชาติบริเวณตีนเขา ให้หาวิธีการวาดพื้นหลังมีสัมผัสผสมผสานระหว่างธรรมชาติกับแฟนตาซีได้อย่างลงตัว และต้องประหยัดงบประมาณที่สุด, ผลลัพท์ออกมากลายเป็นสไตล์ลายเซ็นต์ของสตูดิโอ Ghibli ที่กลายเป็นอิทธิพลให้ภาพยนตร์อนิเมชั่นในทศวรรษนั้นเลียนแบบตามเป็นทิวแถว
Toshio Suzuki ให้คำอธิบายโดยย่อผลลัพท์ของ Oga ว่าคือการลงสีธรรมชาติด้วยสีโปร่งแสง ‘It was nature painted with translucent colors.’
ลักษณะของพื้นหลังมองแบบผ่านๆ จะหลงคิดว่ามีความสวยสมจริงเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อสังเกตจับจ้องดูอย่างละเอียดจะพบลักษณะของ Impressionist หลอกตาได้อย่างเนียนๆ
มีอนิเมชั่นอยู่สองฉาก น่าทึ่งสวยงามทรงพลังอย่างยิ่ง
1) ขณะที่สองสาวยืนตากฝนรอรถเมล์ แล้ว Totoro เดินมายืนข้างๆ Satsuki ยื่นร่มให้ เมื่อน้ำฝนหยดลงมาเสียงดังแปะๆ ทำเอาขนลุกสั่นสะท้าน ทำตาโต ยิ้มร่า กระโดดตุ๊บ! สายฝนหยุดตกลงทันที, จริงๆแค่สายฝนของฉากนี้ก็อลังการมากๆแล้ว แต่วินาทีขนลุกซู่ยิ้มร่าตาโตของ Totoro อนิเมชั่นสื่ออารมณ์ออกมาได้อย่างทรงพลังมากๆ
2) ขณะสองสาวกำลังหลับฝัน ตื่นขึ้นมาพบเห็น Totoro ทั้งสามกำลังกระโดดโลดเต้น ทำพิธีขอให้ต้นไม้เติบโตขึ้นอย่างเร็วไว, อนิเมชั่นของต้นไม้ขณะงอกเงยขึ้นจากพื้น มีความลื่นไหลเว่ออลังการแบบคาดไม่ถึง กลายเป็นฉากในตำนานของอนิเมะไปเลยละ
เพลงประกอบโดย Joe Hisaishi เป็นการร่วมงานครั้งที่สามกับ Miyazaki ด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวกับเด็กๆ ความทรงจำในอดีต ถือเป็นแนวถัดของ Hisaishi ก็ว่าได้ ท้วงทำนองค่อนข้างเรียบง่าย ฟังสบาย เต็มเปี่ยมด้วยความหวัง มีความสนุกสนาน เพลิดเพลิง ร่าเริง ลื่นไหลเป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง
ผมเพิ่งมาสังเกตพบอย่างจริงจังแล้วพบว่า บทเพลงของ Hisaishi มีกลิ่นอายของ Impressionist ที่ค่อนข้างสอดคล้องรับกับภาพวาด เรื่องราว และอนิเมชั่นของ Miyazaki เป็นอย่างยิ่ง (ก็แน่ละไม่งั้นจะร่วมงานกันได้ไงหลายสิบปี มีผลงานหลายสิบเรื่อง)
The Path of Wind เส้นทางแห่งสายลมโชย โปรยปลิวด้วยเสียงของเปียโนที่พริ้วไหว ตัดด้วยเสียงไวโอลินที่เหมือนบางสิ่งยืนขัดขวางทางลมเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้ขัดขืนหรือต่อต้าน พยายามที่จะปลดปล่อยจิตวิญญาณให้ล่องลอยออกไปพร้อมๆกัน, เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต เกิดกระแสลมแรงคลื่นคลั่ง เปียโนกระแทกเสียง เครื่องเป่าพ่นลมออกอย่างเต็มพลัง เปรียบได้กับขณะที่เด็กๆทั้งสองพบเจออุปสรรคของชีวิต แต่ถ้าพวกเขาไม่ยินยอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ ย่อมสามารถฟันฝ่าเอาชนะได้ทุกปัญหาสิ่งอย่าง
บทเพลงที่คือ Masterpiece ของอนิเมะเรื่องนี้คือ Mei is Missing ช่วงขณะที่น้องสาวคนเล็กหายตัวไป เนื่องจากผมหาบทเพลงจาก Soundtrack ไม่ได้ เลยขอนำฉบับ Live Concert มาให้รับชมกัน
เสียง Oboe ทรงพลังมากๆในบทเพลงนี้ ให้สัมผัสของความหวาดหวั่นสั่นกลัว นี่ถ้าน้องสาวของฉันเป็นอะไรไปแล้วฉันจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร (ในอนิเมะ Oboe ก็เป็นไฮไลท์เช่นกันนะครับ) ขณะที่เปียโนเป็นเสียงแห่งความหวัง ตราบใดที่ฉันไม่ยอมแพ้ ก็ต้องสามารถค้นหาพบเจอได้อย่างแน่นอน
สำหรับเพลงเนื้อร้องมี 2 เพลง
– Opening Credit ชื่อเพลง Stroll (แปลว่าเดินเล่น) คำร้องโดย Rieko Nakagawa ขับร้องโดย Azumi Inoue [จะมี Reprise ตอนจบอีกรอบด้วย พร้อมกับ Suginami Children’s Choir]
– Ending Credit ชื่อเพลง Tonari no Totoro (My Neighbor Totoro) คำร้องโดย Hayao Miyazaki ขับร้องโดย Azumi Inoue อีกเช่นกัน
ขอเหมารวมนำฉบับ Orchestra ขับร้องโดย Azumi Inoue และประสานเสียง ในคอนเสิร์ต Studio Ghibli 25 Years Concert ที่ Budokan มาให้รับชมรับฟังกันก่อน ว่าไปทุกบทเพลงในคอนเสิร์ตนี้ ไพเราะกว่าในอนิเมชั่นเสียอีกนะ เพราะนี่เป็นการตีความอารมณ์เพลงใหม่ทั้งหมด และใส่จิตวิญญาณของ Joe Hisaishi ลงไปด้วย จึงค่อนข้างแตกต่างกับที่อยู่ในอนิเมะมากๆเลยละ
My Neighbor Totoro เป็นอนิเมชั่นที่ไม่มีตัวละครไหนเป็นผู้ร้าย พ่อแม่ไม่รังแกฉัน พี่น้องไม่ทะเลาะกัน เรื่องราวดำเนินไปด้วยความเพ้อฝันหวาน มองโลกในแง่บวก ไร้ซึ่งพิษภัยอันตราย เด็กๆยิ้มแย้ม ผู้ใหญ่ยิ้มร่า เต็มเปี่ยมด้วยความสุขสำราญโดยแท้
ก็อยู่ที่มุมมองของผู้ชมเองจะเห็นความมหัศจรรย์แฟนตาซีที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องจริง ตำนาน หรือเพื่อนในจินตนาการความเพ้อฝันของเด็กๆ พวกเธอไม่ได้พูดโกหกอะไรนะครับ นั่นเป็นสิ่งที่พบเห็นด้วย’ใจ’จริงๆ
ซึ่งผมจะขอนำเสนอเปรียบเทียบในเชิงโลกความเป็นจริงด้วย เพื่อว่าจะได้มองอนิเมะเรื่องนี้ในอีกมุมมองหนึ่ง ที่ไม่ใช่แค่เรื่องราวแฟนตาซีเพ้อฝัน
เพราะบ้านหลังใหม่นี้มีความเก่าแก่มากๆ ไม่ได้มีคนอยู่อาศัยมานานจนฝุ่นเกาะจับจนเขรอะ สองเด็กหญิงเปิดประตูเข้าไป เพื่อเพิ่มความตื่นเต้นในชีวิต จินตนาการเห็น Susuwatari (ปีศาจฝุ่น) ตัวกลมๆสีดำๆ ไม่ได้มีความชั่วร้าย สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ตบก็ตายกลายเป็นฝุ่นเปรอะเปื้อนมือดำ
เกร็ด: ใครเคยรับชม Spirited Away ก็จะพบเห็น Susuwatari เป็นแรงงานชั้นต่ำให้ลุงแมงมุม Kamaji
วันๆของน้อง Mei ก็งี้แหละไม่ได้มีสาระอะไร กระโดดโลดเต้นวิ่งเล่นไปเรื่อยๆ น่าเบื่อสิ้นดี จินตนาการเห็น mini Totoro พยายามจะหายตัวหลบจากสายตาเธอกลับไม่พ้น ถูกติดตามไปเรื่อยๆมุดเข้าในโพรงกิ่งไม้พบเจอ King Totoro หลับสบายบนขนหน้าอก แต่เมื่อน้อง Mei ตื่นขึ้นมา พบว่าก็แค่นอนหลับอยู่บนพื้นโพรงกิ่งไม้ ออกค้นหาก็มิพบหลุมขนาดใหญ่ใดๆที่ต้นการบูร, Totoro ในบริบทนี้ก็คือเพื่อนเล่น/เพื่อนบ้าน ในจินตนาการของเด็กหญิง มีความขี้เซาเหมือนกันเพราะทั้งคู่ต่างง่วงนอนกำลังจะผลอยหลับ
Satsuki ระหว่างรอคอยพ่อที่ป้ายรถเมล์อย่างน่าเบื่อหน่าย จินตนาการเห็น Totoro เข้ามายืนเคียงข้าง เหมือนเพื่อเรียกร้องความสนใจ พอมอบร่มให้ก็มีความชื่นชอบยิ้มแย้มเบิกบานแก้มปริ กระโดดโหยงทีหนึ่งฝนหยุดตก Nekobasu วิ่งเข้ามาหยุดรับแล้วจากไป, Satsuki จินตนาการเห็น Totoro เหมือนกันเพราะเธอกำลังอยู่ในอารมณ์เบื่อหน่าย ต้องการเพื่อนเล่น/เพื่อนบ้าน ขณะที่ Nekobasu ตีความได้ตรงๆเลย ก็คือรถบัสวิ่งโฉบมาเร็วไว เพราะเด็กหญิงอยากให้รถโดยสารของพ่อมาถึงสักที
ของฝากที่ได้มา ลูกโอ๊ค ปลูกไว้หลังบ้านหลายวันแล้วก็ไม่ขึ้นสักที ค่ำคืนหนึ่งกำลังหลับฝัน สะดุ้งตื่นเพราะได้ยินเสียง ลุกขึ้นไปเต้นพิธีขอให้ต้นไม้เติบโตขึ้นอย่างเร็วไว ปรากฎว่าสูงเว่อเสียดฟ้า เช้าวันใหม่ตื่นขึ้นมาให้ตายเถอะ เพิ่งโผล่พ้นดินมานิดเดียว, ฉากนี้น่าจะทำความเข้าใจง่ายสุดแล้วว่า Totoro ที่พบเห็น ล้วนอยู่ในความฝันของเด็กๆ นัยยะของต้นไม้งอกเงยจนขึ้นสูงเสียดฟ้า ก็คือเด็กๆ’เติบโต’ขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่พึ่งพาเป็นร่มเงาให้กับบ้าน/ครอบครัวได้
ไคลน์แม็กซ์ที่ Satsuki กำลังตามหาน้อง ขอความช่วยเหลือจาก Totoro เรียก Nekobasu ในความเป็นจริงคงคือ เธอโบกขึ้นรถบัสแล้วไปพบเจอน้อง Mei กลางทาง จึงพากันไปต่อถึงโรงพยาบาล แกะสลักฝักข้าวโพดวางทิ้งไว้ตรงหน้าต่าง แล้วค่อยโบกรถกลับบ้าน
เกร็ด: ฉากที่น้อง Mei นั่งละห้อยอยู่ตรงรูปปั้นพระพุทธรูป นั่นคือพระกษิติครรภโพธิสัตว์ (Bodhisattva Jizo) ที่ชาวญี่ปุ่นเชื่อถือว่ามีหน้าที่ปกป้องเด็กๆจากภยันตราย
เรื่องราวของอนิเมะเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ประเด็นคำถามว่า Totoro คือสัตว์/วิญญาณป่า หรือในจินตนาการความเพ้อฝันของเด็กๆ แต่ยังคือ ‘การเติบโต’ ของพวกเธอทั้งสองด้วย
– พี่ Satsuki เรียนรู้การเป็นพี่สาวที่ดี ทำทุกอย่างเพื่อปกป้องน้องสาว และมีสติเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน
– น้อง Mei ได้เรียนรู้จักความกล้า ที่จะคิดทำอะไรด้วยความตั้งมั่นของตนเอง นี่เริ่มจากการไม่กลัว Susuwatari จนกระทั่งตอนจบ ออกทางไปหาแม่ด้วยตัวคนเดียว (แต่เด็กๆอย่าทำเลียนแบบนะ)
มีคนเคยถาม Miyazaki ว่าคิดจะทำภาคต่อของ Totoro หรือเปล่า? คำตอบที่ได้คือ ‘ไม่’ ให้เหตุผลเพราะนี่เป็นเพียงสิ่งที่อยู่ในจินตนาการของเด็กทั้ง 2 คน เพื่อชดเชยกับการต้องอยู่ห่างจากแม่เท่านั้น ในช่วง Ending Credit เมื่อแม่ของทั้งคู่กลับมารักษาตัวที่บ้านได้ ก็จะไม่ปรากฎ Totoro ให้เห็นอีกเลย
กระนั้น Miyazaki ก็สร้างภาคต่อเล็กๆขนาดสั้นความยาว 13 นาที ในชื่อ Mei and the Kittenbus มีฉายให้ชมเฉพาะที่ Ghibli Museum บริเวณ Inokashira Park, Mitaka, Tokyo เท่านั้น
ตอนออกฉาย เพราะความตั้งใจให้เป็นหนังควบคู่กับ Grave of the Fireflies แต่ทั้งสองเรื่องกลับมีลักษณะขั้วตรงข้าม สวรรค์-นรก ผู้ปกครองอยากพาเด็กเข้าไปดู Totoro แต่ก็ต้องคิดหนักเพราะอีกครึ่งมันหดหู่ปางตาย กระนั้นต้องถือว่าทั้งสองเรื่องนี้น่าจะคือ Double Feature คุ้มค่าตั๋วที่สุดในวงการภาพยนตร์
อิทธิพลของตัวละคร Totoro มีนักวิจารณ์ยกย่องเปรียบเทียบ ยิ่งใหญ่เท่ากับหรืออาจจะมากกว่า Winnie the Pooh ของประเทศอังกฤษ ซึ่งทั้งสองต่างมีสิ่งหนึ่งเหมือนกันคือ เรื่องราวไม่มีตัวร้าย (แต่ Winnie the Pooh ที่ถูกอเมริกานำไปพัฒนาต่อ เขียนใส่ตัวร้ายมาเพรียบเลย)
“At once innocent and awe-inspiring, King Totoro captures the innocence and magic of childhood more than any of Miyazaki’s other magical creations.”
บางสำนักก็ยกย่องยิ่งใหญ่กว่า Mickey Mouse เสียอีก เพราะ Totoro เป็นตัวละครที่มีปฏิกิริยากับเด็กๆ การแสดงออก ภาษากายบริสุทธิ์ใสซื่อไร้เดียงสาพอๆกัน (Mickey จะออกกร้านโลกเสียหน่อย)
“[Totoro] is more genuinely loved than Mickey Mouse could hope to be in his wildest – not nearly so beautifully illustrated – fantasies.”
สิ่งที่ผมเคยชื่นชอบสุดใน My Neighbor Totoro คือบทเพลงประกอบของ Joe Hisaishi แต่เพราะฟังฉบับ Concert มาจนติดหู พอย้อนมาดูกลับกลายเป็นว่า ไม่ค่อยรู้สึกถึงความทรงพลังสักเท่าไหร่ คือเสียงดนตรีมันกลืนกับอนิเมะไปเลย นี่น่าจะเป็นสิ่งดีนะ แต่ส่วนตัวกลับผิดหวังยังชอบกล
แต่สิ่งที่ทำให้ผมชื่นชอบเพิ่มขึ้นมาคือความใจในส่วนเนื้อเรื่อง เพิ่งเริ่มรับรู้ครานี้เองว่า แท้ที่จริงมันไม่ใช่แค่อนิเมชั่นแฟนตาซีโลกสวยเพียงอย่างเดียว แต่มองได้คือจินตนาการความเพ้อฝันของเด็กหญิงสาวทั้งสอง และยังสะท้อนความเป็นโคตรศิลปินของ Hayao Miyazaki ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ไม่ว่าคุณจะทุกข์ เศร้า สิ้นหวัง หมดอาลัย อยากตาย เมื่อนั่งรับชมอนิเมชั่นเรื่องนี้ จะทำให้คุณยิ้มร่าออกมาโดยไม่รู้ตัว เกิดความเข้าใจว่า ถึงความเป็นจริงโลกมันจะไม่ได้สวยงาม แต่ก็อยู่ที่ตัวเราเองที่จะมองชีวิตในมุมไหน
แนะนำอย่างยิ่งกับคออนิเมชั่น ภาพวาดสองมิติของญี่ปุ่น, ชื่นชอบเรื่องราวแฟนตาซีแฝงข้อคิดชีวิต, แฟนๆสตูดิโอ Ghibli ผู้กำกับ Hayao Miyazaki และบทเพลงเพราะๆของ Joe Hisaishi ไม่ควรพลาด
จัดเรตทั่วไป เด็กๆดูได้ ผู้ใหญ่ชื่นชอบ
Leave a Reply