My Neighbors the Yamadas (1999) : Isao Takahata ♥♥♥♡
วันๆของครอบครัว Yamada ก็งี้แหละ สามัญขยันรั่ว เริ่มจากพ่อ-แม่ขึ้น Bobsleigh ไถลลงมาจากเค้กวันแต่งงาน ออกเดินทางขับรถพายเรือขี่ก้อนเมฆ เก็บลูกท้อตัดต้นไผ่ได้ลูกชาย-สาว เหล่านี้คือการเปรียบเปรยถึงชีวิตครอบครัว เมื่อลงโล้สำเภาลำเดียวกันแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องอดทนต่อสู้ฟันฟ่าไปด้วยกันจนถึงจุดสิ้นสุด
ใครเป็นคออนิเมะน่าจะสามารถรั่วไปกับผมได้อยู่นะ เพราะในย่อหน้าแรกกล่าวถึงอนิเมะสองเรื่อง ที่ถ้าคุณเคยรับชมหรือรู้จัก น่าจะคาดเดาได้ทันทีว่า My Neighbors the Yamadas มีลักษณะแนวทางเช่นไร
– Nichijou (2011) ชื่อไทย สามัญขยันรั่ว
– Danshi Koukousei no Nichijou (2012) ชื่อไทย วันๆของพวกผมก็งี้แหละ
ผมเพิ่งมารู้ว่าเทรนด์อนิเมะ Comedy แนวรั่วๆ งานภาพ Minimalist จืดๆชืดๆ (บ้างเรียกว่า Stylish) มันเริ่มต้นจาก My Neighbors the Yamadas เรื่องนี้นี่แหละ เพราะเพิ่งมีโอกาสได้รับชมเป็นครั้งแรก (คือส่วนตัวเคยดูทั้ง Nichijou และ Danshi Koukousei no Nichijou มาก่อนแล้ว แต่ไม่ยักรู้ว่ารับอิทธิพลจากอนิเมะเรื่องนี้เต็มๆ) แม้ตอนออกฉายจะ Flop ขาดทุนย่อยยับ แต่ทศวรรษถัดมาก็ได้กลายเป็น Cult Classic ส่งอิทธิพลต่อวงการโดยไม่รู้ตัว
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้อนิเมะเรื่องนี้ขาดทุนไม่ทำเงิน เพราะมุกตลกมีความลึกซึ้ง Abstraction มากจนเกินไป ถึงผมจะไม่มีปัญหาในการครุ่นคิดทำความเข้าใจ แต่เชื่อว่าหลายคนคงเกาหัวมึนตึบอย่างแน่นอน นี่จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ค่อนข้างสูงทีเดียว
แต่สำหรับมุกไฮไลท์ที่น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากเกินไป ปรากฎอยู่ช่วงท้ายไคลน์แม็กซ์ คำกล่าวสุนทรพจน์งานแต่งของพ่อ ใครทนได้ถึงตอนนั้นอาจได้กุมขมับยิ้มร่าน้ำตาเล็ดเลยทีเดียว ซึ่งวินาทีนั้นน่าจะทำให้หลายๆคนรับรู้ได้ทันที พ่อ Yamadas สามารถแทนได้ด้วยตัวผู้กำกับ Isao Takahata เลยสินะ
ดัดแปลงจากการ์ตูนสี่ช่อง (Comic Strip) ภาษาญี่ปุ่นมีคำเรียกว่า Yonkoma เรื่อง Tonari no Yamada-kun หรือ My Neighbors the Yamadas แต่งโดย Hisaichi Ishii ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์รายวัน Asahi Shimbun ตั้งแต่ปี 1991 ความตั้งใจของผู้เขียนต้องการเล่าเรื่องชีวิตประจำวัน Slice-of-Life ของครอบครัว Yamada แต่เพราะลูกสาวคนเล็ก Nonoko ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เมื่อเดือนตุลาคม 1997 เลยมีการปรับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Nono-chan และใช้มุมมองเรื่องราวของเธอเป็นหลัก, ปัจจุบันปี 2018 มังงะเรื่องนี้ก็ยังคงได้รับตีพิมพ์อยู่นะครับ
เกร็ด: นอกจากฉบับที่สตูดิโอ Ghibli นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นแล้ว My Neighbors the Yamadas ยังเคยถูกสร้างเป็นอนิเมะซีรีย์ ฉายปี 2001-02 จำนวน 61 ตอน ฉายช่อง TV Asahi แต่คงไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรเลยไม่มีการสร้างต่อ
ครอบครัว Yamada ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 5+1 คน
– พ่อ Takashi เป็นนักปรัชญา(ไร้สาระ) และมนุษย์เงินเดือน (Salaryman) อุทิศตัวให้กับการทำงานอย่างหนัก กลับบ้านในสภาพเหน็ดเหนื่อย วันว่างๆชอบเล่น Pachinko ตีกอล์ฟ ไม่ก็ชวนลูกชายไปเล่นเบสบอล ตัวตนจริงๆเป็นคนขี้ขลาดเขลา กลัวๆกล้าๆได้แค่เพ้อจินตนาการถึงความฝันที่ตนอยากเป็น กระทั่งโชคชะตาทำให้ต้องพูดสดอวยพรคู่บ่าวสาว เลยพรั่งพรูสิ่งอัดอั้นภายในใจออกมาหมดสิ้น
– แม่ Matsuko เป็นคนขี้เกียจคร้าน ชอบหาเรื่องอู้งานบ้านอยู่เรื่อย หลงๆลืมๆพึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้ วันๆเอาแต่วิตกจะทำอะไรกินเป็นอาหารเย็น คิดไม่ออกก็มักลงเอยด้วยข้าวแกงกะหรี่อยู่ร่ำไป
– ย่า Shige อายุ 70 ปี ทำงานอาสาเก็บกวาดขยะ พละกำลังเรี่ยวแรงยังเต็มเปี่ยม (เพ้อบอกอยากดูซากูระบานไปอีก 30 ปี) นิสัยห้าวๆเหมือนผู้ชาย วัยรุ่นเก๋ามาจากไหนเป็นอันต้องสยบยอม และมองเห็นอะไรแตกต่างจากคนอื่น
– ลูกชายคนโต Noboru ขึ้นมัธยมต้น เก่งสังคมศาสตร์ แต่ไม่ชอบเรียนหนังสือสักเท่าไหร่ เหมือนว่าจะมีสาวโทรมาหาที่บ้าน ยังไงต่อก็ไม่รู้เหมือนกัน
– ลูกสาวคนเล็ก Nonoko เรียนอยู่ ป.3 เป็นคนง่ายๆ เออออห่อหมกกับใครไปทั่ว ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไร้สาระ คงเพราะไม่มีอะไรให้ต้องรับผิดชอบวุ่นวาย
– หมาน้อยชื่อ Pochi ชอบทำหน้าบูดบึ้งเหมือนคนอารมณ์ไม่ดี วันๆเอาแต่นอนขี้เกียจ แค่หิมะตกก็หนีเข้าบ้านแล้ว
ผู้กำกับ Takahata มีความต้องการให้อนิเมชั่นเรื่องนี้ มีสไตล์ภาพวาดใกล้เคียงลายเส้นของการ์ตูนสี่ช่องมากที่สุด เลยประสงค์จะใช้ภาพสีน้ำ (Watercolor) แทนการวาดลงบนเซล (Cel) ตามแบบ Tradition Animation โดยปกติทั่วไป ซึ่งยุคสมัยนั้นประจวบกับการมาถึงของเทคโนโลยี Digital จึงเลือกวิธีการวาดภาพลงสีทั้งหมดลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์
เกร็ด: ถือเป็นอนิเมะเรื่องแรกของ Ghibli ที่โปรดักชั่นทั้งเรื่องเกิดจากเทคโนโลยี Digital แต่อนิเมชั่นเรื่องแรกของสตูดิโอที่ใช้คอมพิวเตอร์คือ Princess Mononoke (1997)
งานภาพสไตล์นี้มีคำเรียกว่า Minimalist ใช้การวาดเส้นร่างบางๆ ลงสีให้มีรายละเอียดน้อยที่สุด ในปริมาณที่ผู้ชมยังสามารถมองเห็นและบ่งบอกได้ว่านั่นคืออะไร ซึ่งพื้นที่ส่วนมากของภาพจะคือที่ว่างเปล่า ประหยัดทั้งเวลาและงบประมาณในการสร้าง
การใช้สีจะเน้นโทนอ่อนไม่พบเห็นสีเข้มฉูดฉาด ให้สัมผัสคล้ายๆจากกระดาษหนังสือพิมพ์ นี่ยังสะท้อนความเบาสมอง ไร้สาระของเรื่องราว มองผิวเผินแทบจะไม่มีคุณค่าอะไร แต่รวมๆแล้วแอบแฝงด้วยแนวคิดสุดลึกล้ำ
การเคลื่อนไหวของอนิเมชั่นก็จะมีปริมาณจำกัด แถมยังกระตุกไปมาไม่ไหลลื่นเลยสักนิด ยังคงเป็น Minimalist เพื่อแค่ดูรู้ว่ามีบางสิ่งเกิดขึ้น ตัวละครพูดคุย เคลื่อนไหว หรือกระทำอะไรก็เท่านั้น
เนื่องจากต้นฉบับของอนิเมะเรื่องนี้คือการ์ตูน 4 ช่องจบ เรื่องสั้นเล็กๆความยาวไม่มาก ซึ่งวิธีการของผู้กำกับ Takahata คือเลือกเรื่องที่อยู่ในความสนใจ นำมาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน ต่อเนื่องบ้างไม่ต่อเนื่องกันบ้าง มักเริ่มต้นด้วยชื่อตอน ลงท้ายจบบทกวี Haiku ของ Matsuo Bashō (1644-1694) ขณะเดียวกันก็เพิ่มเสริมใส่จินตนาการของตนเองเข้าไปด้วย
Prologue เริ่มต้นด้วยเสียงบรรยายของ Nonoko ประกอบเรื่องราวที่เป็นจุดเด่นเอกลักษณ์ของแต่ละคนในครอบครัว
หลังปรากฎชื่ออนิเมะ My Neighbors the Yamadas นำเข้าสู่เรื่องราวแรกของครอบครัว Yamada อธิบายสรุปย่อเป็นภาพการเดินทางต่อสู้ใช้ชีวิต นับตั้งแต่พ่อ-แม่ ได้แต่งงานกัน จนกระทั่งลูกชาย-สาว ของพวกเขากำเนิดเกิดขึ้น,
– พ่อแม่ขึ้นขี่ Bobsleigh ไถลลงมาจากเค้ก นั่นคือวินาทีแต่งงาน ชาย-หญิงตัดสินใจร่วมหัวจมท้าย ไปไหนไปด้วยกันไม่มีวันแยกจาก, การเลือกใช้ Bobsleigh เป็นความหื่นเล็กๆที่พบเจอได้ในสไตล์ของ Takahata แค่ตอนกระโดดขึ้นก็ค่อมทับกันแล้ว … *-*
– พุ่งออกมาจาก Bobsleigh กลายเป็นเรือล่อง พบเจอพายุคืออุปสรรคขวากหนาม ตราบใดไม่ย่อท้อย่อมมีโอกาสขึ้นฝั่งพบเจอโอกาส
เมื่อถึงจุดๆหนึ่งของชีวิตครอบครัวก็ต้องมีลูก (มีช็อตที่เคารพคารวะอนิเมชั่นเรื่อง Dumbo ปรากฎอยู่ด้วย) ซึ่งอนิเมะเรื่องนี้เลือกใช้สองตำนานปรัมปราของญี่ปุ่นเลย
– ลูกชายมาจากลูกท้อ
– ลูกสาวตัดได้จากกอไม้ไผ่ (ตำนานของ Princess Kaguya)
เมื่อได้ลูกมาสองคน ในตอนแรกทั้งพ่อ-แม่ จะได้ขี่ก้อนเมฆล่องลอยมาจนถึงเมืองแห่งหนึ่ง นี่สะท้อนความดีใจสุขสำราญของพวกเขา ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์, แต่เมื่อลูกๆเริ่มเติบโตเจริญวัยขึ้น ค่านิยมคนญี่ปุ่น(สมัยก่อน) พ่อคือผู้แบกรับภาระทุกสิ่งอย่าง ก็เหมือนช็อตนี้เป็นคนปั่นจักรยานขี่ลากทาก (สัญลักษณ์ของความขี้เกียจคร้าน) โดยทุกคนในครอบครัว นั่งสันหลังยาวผ่อนคลายไม่ต้องทำอะไรอยู่บนหลัง
ชีวิตคือการผจญภัยออกเดินทาง แน่นอนว่าต้องพบเจอสุข-ทุกข์ สมหวัง-ผิดหวัง ดีใจ-เสียใจ ซึ่งช็อตที่ผมชอบสุดใน Sequence นี้คือ ฝูงฉลามกัดแพ สะท้อนถึงอันตรายจากโลกภายนอกรอบข้างที่มีอยู่มากมายเต็มไปหมด แต่เมื่อทุกคนอยู่ร่วมด้วยกันในครอบครัว นั่นถือเป็นสถานที่สุขสงบปลอดภัย สามารถปิดหูปิดตาแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นเลยก็ยังได้
แต่สิ่งน่ากลัวที่สุดของปัญหาครอบครัว ไม่ใช่ขณะพบเจออุปสรรคขวากหนาม คลื่นลมฝนพายุคลั่ง แต่คือช่วงเวลาน้ำสงบลมนิ่ง ทุกคนต่างทำอะไรเพลิดเพลินหรรษาในความสนใจของตนเอง โดยไม่รู้มักมีความสะเปะสะปะไร้ทิศทางและเป้าหมาย นั่นคือสาเหตุสำคัญเลยที่ทำให้ครอบครัวแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆได้ง่ายที่สุด
แต่ละเรื่องราวของอนิเมะเรื่องนี้ มักวนเวียนอยู่กับการสะท้อนปัญหาของครอบครัวออกมา ซึ่งสิ่งที่ถือเป็นปัญหาใหญ่น่าสะพรึงกลัวสุดคือ ‘การหลงลืม’
ลืมของ ลืมเปลี่ยนเสื้อผ้า ลืมซื้อโน่นนี่นั่น เหล่านั้นเทียบไม่ได้เลยกับการลืมลูกสาวของตนเองทิ้งไว้ที่ห้างสรรพสินค้า แถมทุกคนต่างมีข้ออ้างของตนเอง พายเรือกันไปคนละทิศทาง ไม่มีใครคิดยอมรับว่าเป็นความผิดของตนเอง
สังเกตว่าพ่อมองตรงไปข้างหน้า แม่มองขวา พี่ชายมองซ้าย ส่วนย่าหลับตา ครอบครัว Yamada นี่มันช่าง…
ปัญหาถัดมาของครอบครัว นี่คงเป็นการสะท้อนค่านิยมของคนญี่ปุ่นสมัยนั้น ที่ผู้ชายเปรียบดั่งช้างเท้าหน้า ทั้งๆที่ต้องแบกรับภาระหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว แต่หลายๆครั้งกลับถูกทิ้งไว้ไม่สนใจใยดีอยู่ข้างนอก, ซึ่งช็อตนี้ แม่-ย่า-ลูกชาย-ลูกสาว ต่างจ้องมองดูโทรทัศน์ตาไม่กระพริบ ขณะที่พ่อพยายามเรียกร้องความสนใจ บันทึกภาพนี้โดยที่ตัวเองยืนหน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่นอกห้อง
ตอนสมัยเด็กๆ ที่บ้านผมเคยมีโทรทัศน์เครื่องเดียว แม่อยากดูละคร พ่อจะเปิดหนัง ใครถือรีโมทวันนั้นก็จะเป็นผู้ชนะไป, นี่เป็นฉากที่ทำให้หวนระลึกถึงความทรงจำสมัยนั้นได้อินมากๆเลยนะ ซึ่งการที่พ่อพยายามขัดขวางไม่ให้แม่เปลี่ยนช่อง จริงเว้ยเห้ย มันน่าสนใจกว่าสิ่งที่อยู่ในรายการทีวีอีก
แต่การต่อสู้แย่งชิงโทรทัศน์อย่างเดียวยังไม่เจ๋งพอ หลังจากชัยชนะของใครบางคน ฉากต่อจากนี้นำเสนอในเชิงเปรียบเทียบ แทนด้วยการเต้นแทงโก้ นี่เป็นจังหวะลีลาศที่มีอารมณ์รุนแรง เซ็กซี่ เกรี้ยวกราด ชาย-หญิง คู่ขาต้องประชันเพื่อเป็นผู้นำ ซึ่งพอพ่อเต้นกับแม่ อุ่วะ! เหยียบเท้ากันไปมา เดี๋ยวแม่ล้ม เดี๋ยวพ่อล้ม สมกับชื่อตอน Marriage Yamada Style [นี่ล้อกับหนังอิตาเลี่ยนเรื่อง Marriage Italian Style (1964) ของผู้กำกับ Vittorio De Sica]
เพราะพ่อเป็นผู้แบกรับภาระทุกสิ่งอย่างในครอบครัว แต่ไม่ได้แปลว่าเขาจะมีความกล้าหาญในทุกสิ่งอย่าง เมื่อตอนมีเด็กแว้นซ์มอเตอร์ไซด์เข้ามาก่อกวนแถวๆบ้าน กึ่งๆถูกบังคับให้ต้องออกไปพูดคุยต่อรองทำอะไรบางอย่าง แต่ตัวเขากลับทำอะไรไม่ได้สักอย่าง เลยต้องมาจุ้มปุ๊กนั่งผิดหวังในตนเองไกวชิงช้า จินตนาการเพ้อฝันอยากเป็นฮีโร่สวมหน้ากาก ช่วยเหลือปกป้องครอบครัวให้รอดพ้นจากทุกภยันตราย
ฉากนี้ผมทึ่งในวิธีการของคุณย่ามากๆเลยนะ เพราะเธอเป็นคนมองโลกในมุมสุดประหลาด ตั้งแต่ Prologue ใครๆก็คิดว่าเธอพูดถึงดอกไม้ แต่แล้วกลับชี้ไปที่ตัวหนอน แถมยังอำนวยอวยพรให้มันกลายเป็นผีเสื้อโบยบินสวยสดใส คงด้วยเหตุนี้นะแหละแทนที่จะพูดจาตำหนิต่อว่าบรรดาเด็กแวนซ์ กลับมองโลกในแง่ดี แนะนำเสี้ยมสอนให้ใช้พลังนั้นในทางบวก กลายเป็นฮีโร่ช่วยเหลือผู้อื่น … ผมว่าเด็กแวนซ์กลุ่มนั้นคงสะอึกไปเลยละครับ ไม่แน่ว่าอาจไปแอบทำดีอยู่แห่งไหนสักที่ก็เป็นได้
แต่พ่อก็ได้แก้ตัวในฉากต้องพูดสุนทรพจน์งานแต่งงาน (ของใครก็ไม่รู้) สิ่งที่เขากล่าวออกมา คือเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงของตนเอง นี่สะท้อนกับช่วงแรกๆที่ใครคนหนึ่งอำนวยอวยพรให้ในวันแต่งงานของเขา ใจความแทบไม่แตกต่างกันเลยนะ ทั้งยังเป็นการประมวลผล สรุปเรื่องราวทุกสิ่งอย่างในอนิเมชั่นเรื่องนี้ จะทำให้คุณไม่ใช่แค่กุมขมับ แต่ยังเรียกเสียงหัวเราะจนน้ำตาเล็ดไหลได้เลยละ
ตัวประกอบส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบช็อตนี้ ไร้ใบหน้า ไร้ตัวตน เพราะไม่ได้อยู่ในความสนใจ ไม่จำเป็นต้องรู้จัก ก็ขนาดคู่บ่าวสาวใครไม่รู้จัก ยังไม่มีความสำคัญใดๆในฉากนี้แม้แต่น้อย
ตัดต่อโดย Takeshi Seyama ขาประจำอนิเมะที่มีโคตรผลงานอย่าง My Neighbor Totoro (1988), Akira (1988), Princess Mononoke (1997), Tokyo Godfathers (2003), Paprika (2006) ฯ
ถึงจะเริ่มต้นด้วยเสียงของ Nonoko (คงเพื่อเป็นการเคารพคารวะต้นฉบับการ์ตูน 4 ช่อง ที่ตอนนั้นเปลี่ยนเรื่องเป็น Nono-chan แล้ว) แต่เรื่องราวส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับพ่อเสียมากกว่า อาทิ ความสัมพันธ์ อำนาจ หน้าที่ การวางตัว และพัฒนาการเพื่อไม่ทำให้ครอบครัวต้องสูญเสียหน้าตาทางสังคม
เพราะแบบนี้แหละทำให้ผมเกิดความเข้าใจขึ้นได้ว่า ตัวละครพ่อสามารถแทนได้ด้วยผู้กำกับ Isao Takahata ในฐานะเสาหลักของครอบครัว ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนจากประสบการณ์ตรง ก็ใช่ว่าฉันเองจะสามารถเป็นที่พึ่งพิงพาได้ทุกสิ่งอย่าง หลายครั้งเต็มไปด้วยความขลาดหวาดกลัวเกรงในเรื่องไร้สาระ แต่เมื่อต้องขึ้นเวทีเพื่อไม่ให้เสียหน้า ก็พยายามอย่างเต็มที่ให้ทุกคนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
เพลงประกอบโดย Akiko Yano นักร้องนักดนตรีหญิง ที่ได้รับการเปรียบเทียบน้ำเสียงคล้าย Kate Bush, เพราะประสบการณ์ที่เคยทำอัลบัม Debut ยังประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ได้รับการชักชวนมาทำเพลงประกอบอนิเมะเรื่องนี้
เสียงทรัมเป็ดของบทเพลง Main Theme ให้สัมผัสถึงความสวยงามของชีวิต ที่แม้ต้องฝ่าคลื่นลมแรงพายุคลั่ง แต่ไม่นานหรอกเดี๋ยวก็ผ่านไป พบเจอท้องฟ้าโปร่งโล่งแจ้ง มันช่างสวยงามสว่างสดใสเสมอ
หนึ่งเพลงสุดน่ารักที่จะได้ยินอยู่เรื่อยๆ ชื่อว่า Please Stop Pushing, Right Now ทั้งเพลงได้ยินแต่
“NA NA NAN NEEE NADA NANAA NANANANAA HAAWO NAA NAOOE EEE YAAAO NA NAA HEEH NAAA NANA NANA NAA NEEEDNA NAD NADA NEEE NA”
แต่ส่วนใหญ่ของอนิเมะ เป็นการนำเอาบทเพลงคลาสสิกมีชื่อ มาเรียบเรียงประกอบให้สอดคล้องกับเรื่องราวและอารมณ์นั้นๆ อาทิ
– Mahler: Symphony No. 1 in D Major, 4th Movement ‘The Titan’ [บทเพลงดังจากวิทยุ และในภาพยนตร์โทรทัศน์ ที่ทุกคนดูกันวันหิมะตกยกเว้นพ่อ เลยแอบถ่ายรูปเป็นที่ระลึก]
– Mahler: Symphony No. 5 in C Sharp Minor, 1st Movement
– Felix Mendelssohn: Wedding March, Op. 61-9 [เพลงนี้ตอนวันแต่งงาน พ่อ-แม่กระโดดขึ้น Bobsleigh ไถลลงมา]
– Albinoni: Adagio in G Minor [ตอนย่าไปเยี่ยมไข้เพื่อน แล้วพอถามว่าป่วยเป็นอะไร เสียงแห่งความโศกเศร้าหมองก็ค่อยๆดังขึ้น]
– Leopold Mozar: Toy Symphony, 2nd Movement ‘Menuette’ [ตอนที่พ่อป่วยเป็นไข้ พอคิดว่าจะพักอยู่บ้านกลับรู้สึกดี เลยตัดสินใจไปทำงานดีกว่า]
– Chopin: Nocturne No. 1, Op. 9
– Bach: Prelude and Fugue No. 8 in E Flat Minor
สำหรับไฮไลท์ที่หลายๆคนอาจจดจำได้คือบทเพลง Que Sera, Sera (Whatever Will Be, Will Be) ในคำร้องภาษาญี่ปุ่น ต้นฉบับแต่งโดย Jay Livingston กับ Ray Evans เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Man Who Knew Too Much (1956) ขับร้องโดย Doris Day สูงสุดติดอันดับ 2 ชาร์ท Billboard Hot 100
ต้องถือว่าเป็นตัวเลือกที่คลาสสิก และมีความเข้ากับอนิเมะมากๆ เพราะชีวิตครอบครัวก็แบบนี้แหละ อะไรๆก็สามารถเกิดขึ้นได้ ฝืนทำเกินตัวไปมิมีประโยชน์อันใด ปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคตวันข้างหน้า พบเจอปัญหาอะไรค่อยว่ากัน ตอนนี้ก็กางร่มปล่อยตัวกายใจล่องลอยเรื่อยเปื่อยไปบนฟากฟ้าก่อนก็แล้วกัน
บทเพลง Ending Credit ชื่อ Hitoribocchi Ha Yameta (แปลว่า Quit Being Alone) ขับร้องโดย Daisuke Minamizawa, ความหมายและทำนองเพลงนี้ เป็นการให้กำลังใจพ่อบ้านโดยเฉพาะ เราอยู่กันเป็นครอบครัว เลิกคิดได้แล้วว่าอยู่ตัวคนเดียว ตราบใดยังมีกันและกัน ไม่ว่าอุปสรรคใดๆย่อมสามารถก้าวข้ามผ่านได้เสมอ
สิ่งที่ Takahata นำเสนอออกมากับอนิเมชั่นเรื่องนี้ ใจความสะท้อนถึงปัญหาต่างๆที่พบเจอในครอบครัว ความเฉื่อยชา, หลงลืม, ขัดแย้ง, ไม่เข้าใจกัน ฯ เน้นหนักโดยเฉพาะกับพ่อ มักเป็นผู้ถูกทิ้งขว้างไว้เบื้องหลัง ทั้งๆที่ฉันทำทุกอย่างเพื่อครอบครัว แต่กลับไม่มีใครให้ความสนใจเท่าที่ควร
บทเพลง Hitoribocchi Ha Yameta คือคำแนะนำหนึ่งที่ผู้กำกับต้องการให้กำลังใจพ่อทุกคน อย่าไปคิดว่าเราอยู่ตัวคนเดียวในโลก การที่คนในครอบครัวไม่ให้ความสนใจเรา มิได้แปลว่าเขาไม่รักไม่ห่วงใย แค่นั่นอาจเป็นการแสดงออกของความเฉื่อยชา ก็อยู่กันมาตั้งนมนาน จะให้สร้างความแปลกใหม่ทุกวันมันทำได้เสียที่ไหน
ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในความเป็นพ่อ(และครอบครัว) นี่คงจากประสบการณ์ตรงจากชีวิตของผู้กำกับ Takahata เองเลยละ นั่นคือการยอมรับ ให้อภัยไม่จองเวร และมีอดทนอดกลั้นต่อทุกสิ่งอย่าง เพราะรักไม่ใช่หรือถึงแต่งงานอยู่ร่วมกินฉันท์สามีภรรยา แม้จะมีหลายสิ่งให้จงเกลียดจงชังก็ลองโอบรับมันเข้ามา ถูกตบแก้มซ้ายก็หันแก้มขวาให้ แล้วจะพบว่าไม่มีเหตุผลชั่วร้ายใดๆในโลกที่จะทำให้คนสองคนเลิกรากัน นอกจาก ‘ศักดิ์ศรี’ และ ‘ราคะ’ ของตนเอง
การนำเสนอในรูปแบบ Comedy เป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ เพราะปัญหาครอบครัวต่างๆเหล่านี้ เวลาที่ใครได้ประสบพบเจอเข้ากับตัวเองจริงๆ หลายครั้งมันมักขำไม่ออกเลยนะ เครียดคลั่งแทบบ้าตาย แต่หลังจากจบสิ้นผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นมาแล้ว สัปดาห์เดือนปีผ่านไปเมื่อย้อนกลับมาครุ่นคิดหวนระลึกนึกถึง แปลกที่เรามักจะหัวเราะยิ้มเยาะให้กับตนเอง เล่าเรื่องให้ใครอื่นฟังมักทำให้เป็นเรื่องขบขัน เพราะนั่นแหละคือชีวิต ทุกสิ่งที่มันเกิดขึ้นผ่านมาแล้วมิอาจย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้ นอกเสียจากยอมรับมันให้เป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา
ไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่ทำเงินได้ ¥2 พันล้านเยน (=$20.5 ล้านเหรียญ) เห็นว่าขาดทุนย่อยยับ [อนิเมะฝั่งญี่ปุ่นช่วงทศวรรษนั้น ใช้ทุนสร้างเฉลี่ยประมาณ ¥2 พันล้านเยน แต่เพราะเรื่องนี้วาดด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด น่าจะใช้งบประมาณสูงกว่านั้นอีกพอสมควร]
ส่วนตัวชอบการตบมุกตอนจบเป็นอย่างยิ่ง นอกจากขำหัวเราะหนักที่สุดแล้ว ยังทำให้ความเบื่อหน่ายตั้งแต่ประมาณกลางเรื่อง ปลิดทิ้งสูญหายสิ้นไปโดยสิ้นเชิง กลายเป็นซาบซึ้งประทับกินใจ หัวเราะยิ้มร่าทั้งน้ำตา รู้สึกอยากมีครอบครัวที่รักมาก ร่วมกันสร้างความมั่นคง อยู่ร่วมจนแก่เฒ่าไม่เลิกรา … ก็ไม่รู้โชคชะตาชีวิตตัวเองจะมีโอกาสนั้นหรือเปล่า แต่ Que Sera, Sera อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด
ใจจริงอยากจัดอนิเมะเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แต่รู้สึกว่าความนามธรรมมันมากล้นเกินไปเสียนิด คนส่วนใหญ่น่าจะเกาหัวกุมขมับมากกว่าเกิดความเข้าใจเห็นแจ้ง ในปรัชญาครอบครัวของผู้กำกับ Isao Takahata เลยขอละไว้ในฐานเข้าใจแล้วกัน
แนะนำกับคออนิเมะ Comedy แนวรั่วๆ, เกี่ยวกับพ่อ-แม่ ชีวิตครอบครัว, คู่รักเพิ่งแต่งงาน ข้าวใหม่ปลามัน, จิตรกร นักวาดรูป หลงใหลในภาพสีน้ำมัน, แฟนๆสตูดิโอ Ghibli และผู้กำกับ Isao Takahata ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG กับหลายๆพฤติกรรมเฉื่อยฉา ไร้สาระของครอบครัว Yamada
Leave a Reply