My Own Private Idaho (1991) : Gus Van Sant ♥♥♥♡
ครึ่งหลับครึ่งตื่นบนโลกส่วนตัวของผู้กำกับ Gus Van Sant เพื่อออกค้นหารากเหง้าของ River Phoenix และทอดทิ้งตัวตนเองของ Keanu Reeves แต่สุดท้ายแล้วผู้ชมก็เกาหัว นี่มันหนังห่าเหวอะไรกัน?
There’s not another road anywhere that looks like this road. I mean, exactly like this road. It’s one kind of place. One of a kind. Like someone’s face. Like a fucked-up face.
Michael ‘Mikey’ Waters
ไม่มีหนังเรื่องไหนแลดูเหมือน My Own Private Idaho (1991) ครั้งแรกครั้งเดียว ‘one of a kind’ กาลละครั้งหนึ่งในวงการภาพยนตร์ เหมือนใบหน้าใครบางคนหลังถูกอัดน่วม บวมเป่ง เละตุ้มเป๊ะ! ย่อมไม่มีทางพบเห็นซ้ำอีกจากแห่งหนไหน
ความน่าทึ่งของ My Own Private Idaho (1991) ที่ทำให้กลายเป็น Cult Classic ประกอบด้วย เรื่องราวที่เต็มไปด้วยประเด็นต้องห้าม (homosexual, incest, sadist) ผสมผสานเข้ากับบทละคร William Shakespeare (Henry IV Part 1, Henry IV Part 2, Henri V), การถ่ายภาพแลดูเหมือนงานศิลปะ (โดยเฉพาะ Time Lapse สร้างโลกแห่งความฝัน), ตัดต่อกระโดดไปมาระหว่างความจริง-เพ้อฝัน (โดยให้ตัวละครล้มป่วยโรคลมหลับ, Narcolepsy), และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของ River Phonix (กลายเป็นแบบ James Dean ไปเสียอย่างนั้น!) ทำให้ตัวละคร Mikey Waters ราวกับวิญญาณล่องลอยอยู่ในฟีล์มหนังเรื่องนี้! แค่คิดก็หลอนแล้วละ
แต่บอกตามตรงผมมองไม่เห็นเนื้อหาสาระอันใดในการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพียงสรรค์สร้างโลกส่วนตัวที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นศิลปิน/จิตรกรของผู้กำกับ Gus Van Sant เพื่อนำเสนอความ ‘fucked-up’ ของสังคมอเมริกัน ดินแดนที่อ้างว่าทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียม แต่เหตุไฉนคนรวย-จน ชนชั้นบน-ล่าง (Upper-Middle Class vs. Working Class) กลับมีความแตกต่างราวฟ้ากับเหว!
Gus Green Van Sant Jr. (เกิดปี 1952) ผู้กำกับแห่งกลุ่มเคลื่อนไหว New Queer Cinema เกิดที่ Louisville, Kentucky บิดาเป็นเซลล์แมนขายสิ่งทอ/เสื้อผ้า ทำให้ครอบครัวต้องออกเดินทางย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆจนมาปักหลักอยู่ Portland, Oregon ไต่เต้าจนกลายเป็นประธานบริษัท White Stag Manufacturing Company
ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านการวาดภาพ ระหว่างร่ำเรียนทัศนศิลป์ Rhode Island School of Design ได้มีโอกาสรับชมหนังแนว Avant-Gard อย่าง The Little Shop of Horrors (1960), Pink Flamingos (1972) กลายเป็นแรงบันดาลใจเปลี่ยนจากศิลปะสู่สาขาภาพยนตร์, จากนั้นได้งานเป็นผู้ช่วยกองถ่าย อาศัยอยู่ Hollywood ช่วงทศวรรษ 70s, สรรค์สร้างผลงานอินดี้เรื่องแรก Mala Noche (1986) ต้องตาโปรดิวเซอร์ของ Universal Pictures อาสาออกทุนสร้าง Drugstore Cowboy (1989)
ช่วงระหว่างที่ Van Sant อาศัยอยู่ Hollywood ในช่วงทศวรรษ 70s ได้มีโอกาสพบเห็นสิ่งต่างๆมากมาย เบื้องหน้า-เบื้องหลังของคนในแวดวงการภาพนยตร์ ที่มีความแตกต่างสุดขั้วตรงกันข้าม
I lived in Hollywood for about six years. And I think it’s sort of like the thing that you see: the first thing you see when you hang out or work there is that it’s all like a false front—like in an old western set—that the storefront can fall down, and there’s nothing in back of it. And that it’s all an illusion—that these sort of cinematics or powers are—they’re actual; they’re real people, even though they’re not necessarily acting like real people. I mean, sometimes they—the people that are there, and everywhere else too—it’s true of the rest of society, just sort of more pronounced there.
Gus Van Sant
ในตอนแรกต้องการนำประสบการณ์พบเห็นดังกล่าวมาพัฒนาบทภาพยนตร์ โดยให้มีพื้นหลังคือ Hollywood Boulevard แต่ก็ปรับเปลี่ยนใจหลังจากอ่านนวนิยาย City of Night (1963) แต่งโดย John Rechy เรื่องราวเกี่ยวกับเกย์หนุ่มนิรนาม ดำเนินชีวิตอย่างล่องลอยไป ทำงาน(ขายตัว)ยังหัวเมืองต่างๆ New York City, Los Angeles, San Francisco และ New Orleans พานผ่านประสบการณ์ทางเพศกับผู้สูงวัย, คนไข้บนเตียง, S&M, ฯลฯ
ด้วยความรู้สึกว่าเรื่องราวของนวนิยาย City of Night (1963) ดูจับต้องได้มากกว่า จึงเริ่มพัฒนาบทใหม่โดยอ้างอิงเกย์หนุ่มนิรนามเข้ากับตัวละคร Michael Parker (ป่วยเป็นโรคลมหลับ, Narcolepsy) ซึ่งเป็นชื่อเด็กหนุ่มที่ Van Sant เคยพบเจอ(ใช้บริการ) เมื่อตอนอาศัยอยู่ Portland, Oregon และมีเพื่อนอีกคนชื่อ Scott แต่งตัวภูมิฐาน (เลยพัฒนาให้ตัวละครนี้เป็นลูกคนรวย) โดยเรื่องราวเกี่ยวกับหนุ่มๆทั้งสองตกเป็นทาสกามของชายชาวเยอรมันชื่อ Hans … โปรเจคดังกล่าวตั้งชื่อว่า The Boys of Storytown
หลังจากที่ Van Sant มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ Chimes at Midnight (1966) ของผู้กำกับ Orson Welles บังเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำเอาบทละครของ William Shakespeare เข้ามาคลุกเคล้าผสมผสาน เพื่อสร้างมิติให้กับเรื่องราวพานผ่าน Scott (=Prince Hal) และเพิ่มตัวละครบิดาบุญธรรม Bob Pigeon (=Sir John Falstaff) … โปรเจคดังกล่าวตั้งชื่อว่า Howling At The Moon
- บทละคร Henry IV, Part 1 และ Henry IV, Part 2
- เรื่องราวของ Prince Hal บุตรชายคนโตของ King Henry IV ที่เลือกใช้ชีวิตอย่างเที่ยวเตร่ สำมะเลเทเมา คบคนพาล Sir John Falstaff ปฏิเสธจะดำเนินตามรอยเท้าบิดา
- บทละคร Henry V
- หลังจากพระบิดา King Henry IV ทรงสวรรคต Prince Hal ตัดสินใจละทอดทิ้งวิถีชีวิตดั้งเดิม กลับตัวเปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ แต่งงานหญิงสาวชาวยุโรป (ที่พูดภาษาอังกฤษยังไม่ได้) ขึ้นครองราชย์สมบัติกลายเป็น King Henry V แล้วขับไล่ผลักไส Sir John Falstaff จนตรอมใจตาย
I thought that the Henry IV plays were really a street story. I also knew this fat guy named Bob, who had always reminded me of Falstaff and who was crazy about hustler boys
Gus Van Sant
นอกจากนี้ Van Sant ยังเคยครุ่นคิดพัฒนาอีกเรื่องสั้น เกี่ยวกับสองหนุ่มชาว Latino ร่วมออกเดินทางสู่ประเทศสเปนเพื่อค้นหาครอบครัวตนเอง แต่คนหนึ่งกลับพบเจอตกหลุมรักหญิงสาวท้องถิ่น เลยตัดสินใจทอดทิ้งอีกฝ่ายไว้เบื้องหลัง … โปรเจคดังกล่าวตั้งชื่อว่า In A Blue Funk
ช่วงระหว่างตัดต่อภาพยนตร์ Drugstore Cowboy (1989) ผู้กำกับ Van Sant ก็ได้รวบรวมทั้งสามโปรเจคเข้าด้วยกัน The Boys of Storytown, Howling At The Moon และ In A Blue Funk กลายมาเป็น My Own Private Idaho ได้แรงบันดาลใจจากบทเพลง Private Idaho (1980) แนว Post-Punk, Dance-Rock ของวงดนตรี The B-52s
ในตอนแรกนำโปรเจคไปเสนอต่อ 20th Century Fox (ที่ชื่นชอบบทละคร Shakespeare) แต่กลับถูกบอกปัดปฏิเสธเพราะเรื่องราวมีความสลับซับซ้อน พร้อมประเด็นต้องห้ามมากมาย! กระทั่งความสำเร็จหลังออกฉาย Drugstore Cowboy (1989) ทำให้หลายๆสตูดิโอเริ่มแสดงความสนใจ ถึงอย่างนั้นกลับให้งบประมาณต่ำเตี้ยเรี่ยดิน (ถึงขนาดอาจต้องคัดเลือกนักแสดงจากตามท้องถนนจริงๆ)
หลังจาก Van Sant ได้รับคำตอบตกลงจากสองนักแสดงนำ River Phoenix และ Keanu Reeves เลยสามารถติดต่อของบประมาณจาก Fine Line Features บริษัทในเครือ New Line Cinema มอบทุนสร้าง $2.5 ล้านเหรียญ
เรื่องราวของ Mikey Waters (รับบทโดย River Phoenix) เป็นผู้ชายขายตัว ล้มป่วยโรคลมหลับ (Narcolepsy) มักเพ้อฝันถึงท้องถนน บ้านกลางทะเลทราย และมารดาสุดที่รัก แต่เมื่อตื่นขึ้นก็ต้องพบเจอกับโลกความจริงอันโหดร้าย รับรู้จักสนิทสนม Scott Favor (รับบทโดย Keanu Reeves) บิดาเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Portland, Oregon แต่กลับใช้ชีวิตเตร็ดเตร่ สำมะเลเทเมา ยินยอมขายตัวเพื่อประทังชีพรอด
ทั้งสองเดินทางมาถึง Portland, Oregon พบเจอกับ Bob Piegeon (รับบทโดย William Richert) ชายวัยกลางคน หัวหน้าแก๊งค์ดูแลเด็กๆตามท้องถนน และเป็นบิดาบุญธรรมของ Scott เคยให้คำแนะนำ เสี้ยมสอนสั่ง ชอบพูดพร่ำบทละครของ Shakespere วาดฝันว่าเมื่อบุตรชายอายุครบ 21 จักได้รับมรดกจากบิดาแท้ๆ แล้วตนเองก็จะใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างสุขสบาย
จากนั้นออกเดินทางต่อมาถึงรัฐ Idaho เยี่ยมเยียนพี่ชาย Richard Waters (รับบทโดย James Russo) รับฟังเรื่องเล่ามารดา ต้องการติดตามหาจนกระทั่งรับรู้ว่าเธอไปทำงานยังประเทศอิตาลี หาเงินได้จากขายตัวกับชายชาวเยอรมัน Hans (รับบทโดย Udo Kier) แต่พอไปถึงกลับไม่พบเจอ (บอกว่าเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาไปแล้ว) หนำซ้ำ Scott ยังตกหลุมรักหญิงสาวชาวอิตาเลี่ยน Chiara Caselli (รับบทโดย Chiara Caselli) เลยตัดสินใจทอดทิ้ง Mike แล้วปรับเปลี่ยนตัวเองเสียใหม่ ละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเคยกระทำมา รวมถึงปฏิเสธยินยอมรับ Bob เศร้าโศกจนตรอมใจตาย
หลงเหลือเพียง Mike ตื่นขึ้นมากลางท้องถนนรัฐ Idaho แล้วก็เป็นลมล้มพับ เพ้อใฝ่ฝันถึงสถานที่ที่ก็ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือเปล่า?
River Jude Phoenix (1970-93) นักร้อง/นักแสดง เกิดที่ Madras, Oregon ในครอบครัว Hippy ที่ชอบออกเดินทางไปเรื่อยๆ แม้สามารถพูด-อ่าน-เขียน แต่ไม่เคยร่ำเรียนหนังสือ หางานจากการเป็นนักดนตรีเปิดหมวก จนมีโอกาสไปเข้าตานายหน้าประทับใจสี่พี่น้อง เลยได้เป็นนักแสดงโฆษณา จากนั้นได้เซ็นสัญญา Paramount Pictures ออกรายการโทรทัศน์ ซีรีย์สำหรับเด็ก พออายุ 16 ร่วมแสดงภาพยนตร์ Stand by Me (1986), โด่งดังกับ Running on Empty (1988), พบเจอร่วมงานกลายเป็นเพื่อนสนิท Keanu Reeves ตั้งแต่ Parenthood (1989), I Love You to Death (1999) และ My Own Private Idaho (1991)
รับบท Michael ‘Mikey’ Waters ชายหนุ่มที่ดูโดดเดี่ยวอ้างว้าง เพราะถูกมารดาทอดทิ้งขว้างตั้งแต่ยังเด็ก แถมตระหนักว่าบิดาแท้จริงคือพี่ชายตนเอง (Incest) อาจคือเหตุผลล้มป่วยโรคลมหลับ (Narcolepsy) ใบหน้าดูล่องลอย ครึ่งหลับครึ่งตื่น เพ้อฝันถึงสถานที่ในจินตนาการ โหยหาต้องการใครสักคนอยู่เคียงข้างกาย
การได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมอาชีพ Scott โดยไม่รู้ตัวบังเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นภายใน ต้องการโอบกอด อยู่เคียงชิดใกล้ ใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างกันตลอดไป แต่ระหว่างออกเดินทางติดตามหามารดามาจนถึงประเทศอิตาลี กลับถูกทรยศหักหลังไปมีความสัมพันธ์กับหญิงสาว นั่นทำให้เขาตกอยู่ในสภาพหดหู่ ท้อแท้สิ้นหวัง จมปลักอยู่ในความเพ้อฝัน ไม่รู้ตัวว่ากำลังหลับหรือตื่นอีกต่อไป
ผู้กำกับ Gus Van Sant มีภาพสองนักแสดงนำ River Phoenix และ Keanu Reeves จัดส่งบทหนังผ่านผู้จัดการของพวกเขา ทางฝั่งของ Reeves เห็นดีเห็นชอบด้วยเลยได้รับคำตอบโดยพลัน แต่ฝั่งของ Phoenix กลับถูกบอกปัดปฏิเสธไม่ยินยอมให้อ่านบทเสียด้วยซ้ำ! … ด้วยเหตุนี้ Reeves เลยขับขี่มอเตอร์ไซด์คันโปรดจากบ้านที่ Canada เดินทางไปฟาร์มของ Phoenix ที่ Micanopy, Florida เพื่อนำบทหนังเรื่องนี้ไปให้อ่าน พบเห็นความทุ่มเทพยายามของเพื่อนสนิทเลยตอบตกลงด้วยความเชื่อมั่นใจ
Okay, I’ll do it if you do it. I won’t do it if you don’t.
River Phoenix พูดกับ Keanu Reeves
Phoenix เดินทางมาถึงเมือง Portland ล่วงหน้าก่อนเริ่มต้นถ่ายทำถึงสองสัปดาห์ เพื่อปรับเปลี่ยนตนเองทั้งภาพลักษณ์ อากัปกิริยา ให้ดูเหมือนวัยรุ่น/ชายขายตัวตามท้องถนน แล้วสวมบทบาทดังกล่าว ‘in character’ อยู่ตลอดระยะเวลาถ่ายทำ จนทำให้ใครต่อใครพบเห็นต่างเข้าไปชื่นชม เปรียบเทียบถึง James Dean คนถัดไป!
I think River had an entire youth spent traveling with his family, no connections to society, no roots, no permanence. He crafted that character himself.
Gus Van Sant กล่าวถึง River Phoenix
ในบรรดานักแสดงเด็กรุ่นเดียวกัน Leonardo DiCaprio, Heath Ledger หรือแม้แต่น้องชาย Joaquin Phoenix ก็เทียบไม่ได้กับ River Phoenix ในความสลับซับซ้อนของตัวละคร เป็นการแสดงที่ดูอึดอัด บางครั้งก็น่าขบขัน โดยเฉพาะการแสดงออกภาษากาย ท่านั่งขดตัวกอดเข่า (เหมือนทารกในครรภ์ = โหยหาความอบอุ่นภายใน) ล้มตัวนอนเกร็งชักกระตุก (ถ้าหลับแบบปกติจะขดตัวเหมือนท่านั่ง แต่อาการป่วยลมหลับจะนอนแผ่นราบตัวเกร็ง) เวลาเดินก็ตุปัดตุเป๋ ครึ่งหลับครึ่งตื่น แต่ละคำพูดล้วนเต็มไปด้วยอารมณ์ ผู้ชมสัมผัสถึงความผิดปกติ รู้สึกสงสารเห็นใจ เป็นห่วงใย อยากให้กำลังใจพานผ่านเหตุการณ์ต่างๆไปได้
ตัวละคร Mikey มีความสลับซับซ้อนจนกลายเป็น ‘Iconic’ แห่งยุคสมัย New Queer Cinema แต่ไม่จำต้องมองว่าต้องเป็นเกย์เท่านั้นนะครับ ตัวแทนของบุคคลผู้โหยหาใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง รักษาบาดแผลหัวใจ อาศัยอยู่เคียงข้างกาย ชายหรือหญิงก็ได้ทั้งนั้น
น่าเสียดายค่ำคืน Halloween วันที่ 31 ตุลาคม 1993 ในผับชื่อ The Viper Room โดยไม่รู้ตัว Phoenix พลาดพลั้งเผลอเสพโคเคนผสมกับเฮโรอีน (มีคำเรียก Speedball) เกินขนาดจนเสียชีวิต ขณะอายุเพียง 23 ปี!
การจากไปก่อนวัยอันควรของ Phoenix ทำให้ตัวละคร Mikey เพิ่มเติมความหลอกหลอน ราวกับจิตวิญญาณล่องลอย ดูราวกับไร้ชีวิตขึ้นมาจริงๆ นั่นสร้างความขนลุกขนพอง สั่นสะท้านทรวงในให้ผู้ชม … เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้หนังได้รับกระแสคัลท์ ‘cult following’ ติดตามมาอย่างรุนแรงมากๆ
Keanu Charles Reeves (เกิดปี 1964) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ Beirut, Lebanon มารดาเป็นคนอังกฤษ, บิดาชาวอเมริกันเชื้อสาย Chinese-Hawaiian ทอดทิ้งครอบครัวไปเมื่อตอนอายุ 3 ขวบ, อาศัยอยู่กับแม่เติบโตยัง Sydney, ตามด้วย New York City, แต่งงานใหม่ผู้กำกับ Paul Aaron ทำให้เขามีโอกาสคลุกคลีวงการภาพยนตร์ เคยชื่นชอบกีฬาฮ็อกกี้น้ำแข็ง เกือบจะได้เล่นทีมชาติแต่ตัดสินใจเป็นนักแสดงดีกว่า เริ่มมีชื่อเสียงจากแฟนไชร์ Bill and Ted, Point Break (1991), My Own Private Idaho (1991), Bram Stoker’s Dracula (1992), Little Buddha (1993), Speed (1994), ล่าสุดโด่งดังจาก Matrix Trilogy
รับบท Scott Favor หนุ่มหล่อพ่อรวย แม้ขายตัวกับผู้ชายแต่ยืนกรานไม่ใช่เกย์ ได้รับการเลี้ยงดูอย่างไข่ในหิน ไร้ซึ่งอิสรภาพในการครุ่นคิดทำอะไร เลยตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้าน เที่ยวเตร่ สำมะเลเทเมา จนพานพบเจอ Bob Pigeon เสี้ยมสอนชี้แนะนำจนเติบใหญ่ (ถึงขนาดเรียกบิดาบุญธรรม) แต่ชายหนุ่มตั้งใจไว้ว่าเมื่ออายุครบ 21 ปีเมื่อไหร่ จักทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง กลับตัวกลับใจ เริ่มต้นชีวิตใหม่ เพื่อสร้างความประหลาดใจให้บิดาแท้ๆ
Scott มีเพื่อนสนิทคือ Mikey คอยให้การช่วยเหลือ ดูแลกันและกัน ร่วมออกเดินทางจาก Seattle, Washington มายัง Portland, Oregon ต่อด้วยรัฐ Idaho แล้วบินสู่ประเทศ Italy จับพลัดจับพลูพบเจอ ตกหลุมรักสาวสวย Carmela เลยตัดสินใจทอดทิ้ง Mikey แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่ตามความคาดหวัง
แม้ว่า Keanu Reeves กับ River Phoenix จะเป็นเพื่อนสนิทกัน แต่ทั้งสองก็มีความแตกต่างขั้วตรงกันข้ามทั้งชีวิตจริงและบทบาทการแสดง, ผู้กำกับ Van Sant เคยนำนวนิยาย City of Night (1963) มอบให้ทั้งสองเพื่อใช้อ้างอิง Reeves อ่านซ้ำอยู่หลายรอบจนกลายเป็นแรงบันดาลใจตัวละคร ส่วน Phoenix มองผ่านๆไม่กี่ย่อหน้าก็ส่งคืน (เพราะชีวิตจริงมีหลายๆอย่างละม้ายคล้ายตัวละครอยู่แล้ว เลยไม่คิดหาต้นแบบอย่างอื่นใด)
นักวิจารณ์ส่วนใหญ่มักยกย่องสรรเสริญ Phoenix แล้วตำหนิต่อว่า Reeves ห่างไกลกันอย่างเทียบไม่ติด ก็แหงละ! นี่เป็นบทบาทแตกต่างขั้วตรงข้าม ตัวละคร Scott แทบไม่มีความตึงเครียด เก็บกดอัดอั้น ดูสบายๆ ผ่อนคลาย ใช้ชีวิตอย่างไม่ยี่หร่าอะไร เฝ้ารอคอยอายุ 21 เมื่อไหร่ถึงค่อยเปลี่ยนแปลงตนเองกลายเป็นคนใหม่ … ถ้าใครเคยรับชมผลงานอื่นๆของ Reeves ก็น่าจะค้นพบว่านี่คือสไตล์ลายเซ็นต์ Keanussance อันเป็นเอกลักษณ์ชัดเจน
การเสียชีวิตของเพื่อน Phoenix สร้างความเศร้าโศกเสียใจ ถึงขนาดว่า Reeves ป่วยโรคซึมเศร้าสักพักใหญ่ๆ ปัจจุบันก็ยังคงครุ่นคิดถึง ไม่มีวันลืมเลือนจางหาย
River was a remarkable artist and a rare human being. I miss him every day.
Keanu Reeves กล่าวถึงเพื่อนสนิท River Phoenix
ถ่ายภาพโดย John J. Campbell, Eric Alan Edwards
ความชื่นชอบด้านการวาดภาพ งานศิลปะ ทำให้ผู้กำกับ Gus Van Sant พยายามทดลอง ผสมผสาน มองหารูปแบบวิธีนำเสนอ(ภาพศิลปะ)ผ่านสื่อภาพยนตร์ ซึ่งก็ต้องชมหลายๆแนวคิดมีความน่าสนใจ ไม่ถึงกับแปลกใหม่ แต่พอนำมารวมๆเข้ากันแล้วดูเฉพาะตัว ไม่ซ้ำแบบใคร … แต่ไม่เชิงว่าพัฒนาเป็นสไตล์ Van Sant เพราะดูเหมือนพี่แกไม่ต้องการสร้างกฎกรอบครอบงำความครุ่นคิดตนเอง
มีสองเทคนิคถ่ายภาพที่ถือว่าน่าตื่นตาตื่นใจ ได้รับคำชื่นชมในแง่ความครุ่นคิดสร้างสรรค์
- Time-lapse photography ก้อนเมฆผันแปรเปลี่ยน ช่วยสร้างสัมผัสราวกับดินแดนแห่งความฝัน
- ได้แรงบันดาลใจจาก Heart of Glass (1976) ของผู้กำกับ Werner Herzog
- และ Photoshoot ร้อยเรียงชุดภาพนิ่งในฉาก Sex Scene (มีสองครั้งในหนัง)
หนังใช้เวลาถ่ายทำประมาณ 7 สัปดาห์ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ค.ศ. 1990 ยังสามเมืองหลักๆเริ่มจาก Portland, Oregon (ฉากที่อ้างว่าคือ Idaho ก็ถ่ายทำที่ Portland นะครับ) ติดตามด้วย Seattle, Washington และกรุง Rome ประเทศอิตาลี
บนท้องถนนท่ามกลางทะเลทราย Idaho (จริงๆถ่ายทำที่ Portland, Oregon) มองไปทางไหนก็พบเห็นแต่ความเวิ้งว่างเปล่า ไร้ซึ่งผู้คนสัญจรไปมา สามารถสื่อตรงๆความโดดเดี่ยวอ้างว้างของ Micky ราวกับมนุษย์คนเดียวบนโลกใบนี้ … นี่เป็นฉากที่แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดตีความ ว่าอยู่ในความเพ้อฝันของ Micky หรือมีเหตุบางอย่างให้ชายหนุ่มถูกทอดทิ้งอยู่กลางถนน
บางคนอาจมองว่าตั้งแต่ Micky ทิ้งตัวล้มลงนอนจากอาการป่วยโรคลมหลับ เรื่องราวทั้งหมดต่อจากนี้คือในความทรงจำ จินตนาการเพ้อฝัน จนกระทั่งช่วงท้ายปัจฉิมบทค่อยฟื้นตื่นขึ้นมากลางถนนแห่งนี้อีกครั้ง … นี่ให้ความรู้สึกละม้ายคล้าย Mulholland Drive (2001) อยู่เล็กๆ
แซว: ผมลองลากเส้นเล่นๆเผื่อคนที่ดูไม่ออกว่า ‘fucked-up face’ หน้าตาเป็นอย่างไร และให้ลองสังเกตสองฟากฝั่งถนนซ้าย-ขวา แลดูเหมือนคนถูกต่อยหน้าบวมไปข้างหนึ่ง (ฝั่งซ้ายจะดูรกๆ แต่ฝั่งขวากลับมีทุ่งหญ้าเรียบเนียนสวย)
Time-Lapse photography การถ่ายภาพเหลื่อมเวลา เป็นเทคนิคการถ่ายภาพด้วยเฟรมเรต (ภาพต่อวินาที) ต่ำกว่าความเร็วมาตรฐาน (24 ภาพต่อวินาที) ซึ่งเมื่อนำมาเรียงร้อยต่อ เล่นด้วยความเร็วปกติ จะดูเหมือนภาพมีการเคลื่อนที่ที่รวดเร็วขึ้น
ต้องยอมรับว่า Time-Lapse ของ Heart of Glass (1976) มีความ ‘Breathtaking’ น่าอึ้งทึ่งจนแทบหยุดหายใจ, สำหรับ My Own Private Idaho (1991) อาจไม่ตื่นตระการตาขนาดนั้น แต่สามารถสร้างโลกส่วนตัว My Own Private Idaho พื้นที่แห่งความเพ้อฝัน/จินตนาการของ Micky ขึ้นมาได้อย่างน่าประทับใจจริงๆ
บ้านร่วงหล่นมาจากท้องฟ้า นี่ชัดเจนว่าต้องอยู่ในความเพ้อฝันของ Micky ซึ่งสามารถสื่อตรงๆถึงครอบครัวที่แตกแยก พังทลาย ต่อจากนี้จักไม่มีโอกาสอาศัยอยู่พร้อมหน้าพ่อ-แม่-ลูก นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ชายหนุ่มรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง ขาดความอบอุ่น โหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย เลยออกเดินทางติดตามหารากเหง้า มารดาของฉันอยู่แห่งหนไหน?
ผู้กำกับ Van Sant เล่าว่านี่คือหนึ่งในภาพที่ตนเองเคยวาดไว้ ติดค้างคาอยู่ในจิตใจมาแสนนาน แทนสัญลักษณ์ของการเดินทางออกจากบ้าน (ของตนเอง) ตระหนักว่าต่อจากนี้คงไม่มีทางหวนกลับไปอาศัยอยู่กับครอบครัว
แซว: ใครช่างสังเกตน่าจะพอมองออกว่านี่เป็นการละเล่นกับมุมกล้อง (วางแนบติดพื้นถนน ทำให้มุมการมองของผู้ชมคับแคบลง) แล้วบ้านที่ตกลงมาคือโมเดลขนาดไม่ใหญ่มาก (ประมาณครึ่งเลนถนน กว้างยาวประมาณ 1-2 เมตรเองกระมัง)
พื้นหลังสีน้ำเงินของ River Phoenix สามารถสะท้อนถึงตัวละคร Micky ที่สภาพจิตใจมีความหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก โดดเดี่ยวอ้างว้าง โหยหาใครสักคนเคียงให้ความอบอุ่นอยู่ข้างกาย แต่สุดท้ายก็ไม่พบเจอใคร (ตอนต้นและช่วงท้าย ยังคงใช้เฉดสีเดิม)
ผิดกับ Keanu Reeves ช่วงต้น (Opening Credit) มีพื้นหลังสีเขียว สามารถสื่อถึงธรรมชาติชีวิต ตัวตน สันดานธาตุแท้ของ Scott ชื่นชอบเที่ยวเตร็ดเตร่ สำมะเทเมา อาศัยอยู่ตามข้างถนน แต่ช่วงท้าย (Closing Credit) หลังจากกลับตัวกลับใจ ละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างจากอดีต สวมใส่สูทหรู ปฏิเสธพ่อบุญธรรม เฉดสีม่วงๆช่างดูจอมปลอม หลอกลวง เต็มไปด้วยความโฉดชั่วร้าย
และท้ายสุด My Own Private Idaho ใช้เฉดสีแดงแรงฤทธิ์ สัญลักษณ์ของเลือด การต่อสู้ ความรุนแรง บาดเจ็บล้มตาย ในบริบทของหนังน่าจะสื่อถึงความเหี้ยมโหดร้ายของโลกใบนี้ ที่พร้อมกระทำชำเรามนุษย์ทุกคนทั้งร่างกาย-จิตใจ สรวงสวรรค์มีอยู่จริงแค่เพียงขณะนอนหลับฝัน
ปลาแหวกว่ายทวนกระแสน้ำเพื่อหวนกลับไปยังต้นน้ำ หรือคือถิ่นฐานบ้านเกิด รากเหง้าของพวกมัน! ฟังดูละม้ายคล้ายการออกเดินทางของ Micky ที่ต้องการติดตามหามารดาอยู่แห่งหนไหน อยากหวนกลับเข้าไปซุกหัวหนุนตัก นั่นเป็นสถานที่ที่มีความอบอุ่น สุขสบาย ผ่อนคลายหฤทัยที่สุดแล้ว
แซว: ผมแอบรู้สึกว่าทิวทิศน์ต้นน้ำ (ช็อตหลังจากฝูงปลาแหวกว่ายทวนกระแส) ช่องระหว่างกลางภูเขา แลดูเหมือนช่องคลอด ทางเข้าอวัยวะเพศหญิง (สัญลักษณ์ของจุดกำเนิดชีวิต) … พอดูออกกันไหมเอ่ย?
แม้หนังใช้นักแสดงคนเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าในโลกความจริง vs. จินตนาการเพ้อฝันของ Micky บุคคลที่พบเห็นจะคือมารดาแท้ๆของตนเอง … นี่เป็นการให้อิสรภาพผู้ชมในการครุ่นคิดตีความ อาจจะใช่หรือไม่ใช่ หรือจะมองว่าความฝันซ้อนทับโลกความจริงก็ได้เช่นกัน
ลูกค้าสองของ Micky มักมีรสนิยมทางเพศแปลกๆ ซึ่งล้วนแฝงนัยยะบางอย่างต่อเรื่องราวด้วยนะครับ
- ชายคนหนึ่งให้เขาสวมชุดเหมือนเด็กน้อย ขัดสีฉวีวัน ทำความสะอาดโต๊ะแล้วบังเกิดอารมณ์ทางเพศ
- หญิงสูงวัยชื่นชอบชายหนุ่ม (เหมือนว่าเธอมีบุตรสามคน) รักเอ็นดูเหมือนบุตรชาย (พบเห็นภาพพระแม่มารีย์โอบอุ้มพระบุตรเยซูคริสต์)
ลูกค้าทั้งสองรสนิยมทางเพศนี้ สะท้อนสิ่งที่ Micky โหยหาคร่ำครวญต้องการพบเจอมารดาแท้ๆ ไม่ใช่ในจินตนาการเพ้อฝัน หรือตัวปลอมบนโลกความจริง
ปลากับหอย สำหรับคนไทยน่าจะตระหนักได้อยู่แล้วกระมังว่าสื่อถึงอะไร ซึ่งยังล้อกับช็อตก่อนหน้าที่มีปลาแหวกว่ายทวนกระแสน้ำ ชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน เพื่อหวนกลับไปหารากเหง้า จุดเริ่มต้น หรือก็คือเปลือกหอยหยิบมาเงี่ย(น)หูฟัง ต้องการได้ยินเสียง(ความต้องการของหัวใจ)ที่อยู่ภายในนั้น
ในยุคสมัยที่ CGI ยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลาย ฉากชั้นวางนิตยสารนี้ย่อมสร้างความตกตะลึงให้ผู้ชมสมัยนั้น นักแสดงแต่ละคนขยับเคลื่อนไหวได้อย่างไร? คำตอบก็คือสร้างฉากที่มีลักษณะเหมือนหน้าปกนิตยสาร (Mock-Magazine Cover) ส่วนลวดลายตัวอักษรก็พิมพ์ใส่กระจกใสตั้งไว้เบื้องหน้านักแสดง (แนวคิดคล้ายๆ Matte Painting)
ผมคัทลอกนัยยะของช็อตนี้จากภาพยนตร์ Cries and Whispers (1972) เลยก็แล้วกัน Scott โอบอุ้ม Micky ตื่นขึ้นยัง Elk Fountain (แกะสลักโดย Roland Hinton Perry เมื่อปี 1900 ตั้งอยู่ที่ Downtown Portland) ด้วยท่วงท่าละม้ายคล้าย Pietà รูปปั้นแกะสลัก Renaissance ของ Michelangelo Buonarroti (1475-1564) ให้กับ St. Peter’s Basilica, Vatican City ช่วงระหว่างปี 1498-99
Pietà รูปแกะสลักพระเยซูคริสต์ นอนอยู่บนตักพระแม่มารี ภายหลังการตรึงกางเขน (Crucifixion) ซึ่งในบริบทของหนังเป็นการเปรียบเทียบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
- โดยตรงก็คือเราสามารถเปรียบเทียบ Scott กับพระแม่มารีย์, และ Micky ที่พานผ่านความทุกข์ทรมาน และเสียชีวิตดั่งพระเยซูคริสต์
- โดยอ้อมคือการเปรียบเทียบความรักบริสุทธิ์ของพระแม่มารีย์ต่อพระเยซูคริสต์ คือความรู้สึกที่ Scott มีให้ต่อ Micky (อาจตีความได้ทั้งมารดาและคนรัก)
Scott และ Micky นั่งสนทนาในร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ Portland, Oregon แต่มุมกล้องกลับถ่ายจากภายนอกร้าน พบเห็นภาพสะท้อนเลือนลางบนกระจก รถราวิ่งสัญจรไปมาบนท้องถนน … ผมมองนัยยะช็อตนี้แลดูเหมือน ‘โลกส่วนตัว’ สถานที่ที่มีเพียงเราสองพูดคุยสนทนา รู้สึกอบอุ่นหัวใจเมื่อได้อยู่เคียงชิดใกล้ อะไรอื่นภายนอกล้วนเพียงเงาเลือนลางเคลื่อนพานพานผ่าน
ทั้งรูปลักษณ์ของ William Richert (แต่ก็ไม่อวบอ้วนเท่า Orson Welles) ท่วงท่าการเดิน เสื้อผ้าสวมใส่ ทั้งยังพูด Shakespeare เหน่อสำเนียงอังกฤษ นี่เป็นตัวละครที่เพียงแวบแรกก็ชวนให้ระลึกถึง Sir John Falstaff จากภาพยนตร์ Chimes at Midnight (1965) ใครเคยรับชมก็คงรู้สึกมักคุ้นเคย
เกร็ด: ในตอนแรก Gus Van Sant ยื่นข้อเสนอบทบาท Bob Pigeon ให้กับ Dennis Hopper แต่เจ้าตัวบอกปัดพร้อมเสนอตัวอยากเล่นเป็น Scott ไม่ก็ Micky
ภาพช็อตแรกของตัวละครกำลังเดินตรงเข้าหากล้อง แต่ด้านหลังกลับมีสะพานสูงใหญ่ทำให้ดูกระจิดริดกระจ้อยร่อย มีสภาพไม่ต่างจากกระยาจกทั่วๆไป เพียงปกครองกลุ่มเด็กๆอันธพาลข้างถนน ก็เย่อหยิ่งทะนงตน หลงตัวเองว่ายิ่งใหญ่เหนือใครใต้หล้า
ภาพลักษณ์ของ Scott เมื่อพบเจอบิดาแท้ๆ ให้ความรู้สึกเหมือนสุนัขสวมปลอกแขน ปลอกคอ เพียงเสื้อแจ๊กเก็ตคลุมเนื้อหนัง ไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยง/ทาสรับใช้ ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้านาย แต่เขาคือมนุษย์คนหนึ่งจึงสามารถดิ้นรนขัดขืน กระทำสิ่งตอบสนองความต้องการของตนเอง
นี่เป็นฉากที่ไม่ได้มีอยู่ในบทของผู้กำกับ Gus Van Sant แต่เป็น River Phoenix ครุ่นคิดเขียนลงบนกระดาษชำระ พบเห็นความตั้งใจเลยยินยอมเพิ่มให้ ถ่ายทำวันสุดท้ายภายในสตูดิโอแห่งหนึ่ง (ไม่ได้ไปถ่ายทำกลางทะเลทรายแต่อย่างใด)
โดยไม่รู้ตัวฉากนี้คือจุดเปลี่ยนของหนัง ทำให้ผู้ชมเข้าใจความสัมพันธ์/รสนิยมทางเพศของทั้งสอง รวมถึงเหตุผลของการเป็นคนรักร่วมเพศ (เพราะสถานที่แห่งนี้อยู่ท่ามกลางทะเลทรายอันเวิ้งว้างเปล่า มีเพียงเราสอง กองไฟ ไม่มีอะไรให้ต้องปกปิดบังสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ)
- Scott บอกว่าตนเองเป็นชายแท้ๆ ขายตัวเพียงเพราะเงิน ไม่มีอะไรสามารถแปรเปลี่ยนรสนิยม/ความตั้งใจของเขาได้
- Micky เพราะไม่เคยมีคนอยู่เคียงข้างกาย เลยต้องการใครก็ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องหญิง-ชาย (เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาย จึงเหมือนได้รับความอบอุ่น พึงพอใจจากบุรุษด้วยกันมากกว่า)
Before the scene, it’s almost like the kids are all victims of homosexuality. There’s the scene where they all sit around telling their stories of being raped and abused. It’s not until River Phoenix and Keanu Reeves sit around the camp fire that you see one of the hustlers being gay in an all natural environment, with no money changing hands.
Gus Van Sant อธิบายถึงฉากนี้
ผมละขำกลิ้งกับแซนวิช อาหารที่ใช้ขนมปังสองอันซ้อนทับเนื้อ/แฮม/ผัก อะไรสักอย่างกึ่งกลาง ซึ่งสามารถสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครในฉากนี้ได้มากมาย
- เพราะนี่คือบ้านของ Richard พี่ชายของ Micky มันจึงเหมือนว่า Scott คือส่วนเกินระหว่างพวกเขา
- ความสัมพันธ์ชู้สาวระหว่าง Richard กับมารดา (Incest) ให้กำเนิด Micky ซึ่งถือว่าเป็นส่วนเกินก็ว่าได้
เรื่องเล่าของ Richard ดังคำพูดของ Scott ที่ยังอดรนทนฟังไม่ไหว “How corny.” ช่างเต็มไปด้วยความโป้ปดหลอกลวง พยายามจะล้างสมองน้องชาย Micky ให้ลบลืมเลือนสิ่งเคยบังเกิดขึ้น แต่เขาก็รับรู้ตระหนักได้ว่าใครคือบิดาที่แท้จริงของตนเอง!
ภายในรถบ้านจะพบเห็นรูปภาพวาดมากมาย (ทั้งหมดคือผลงานผู้กำกับ Gus Van Sant) สังเกตเวลา Richard พยายามพูดเล่าอะไร มักมีการตัดสลับไปยังรูปต่างๆ, หวนระลึกความทรงจำของ Micky, ไม่ก็ Scott เดินหลบด้านหลังไปทำอะไรสักสิ่งอย่าง นี่เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ ให้ผู้ชมไม่รู้สึกจริงจังกับเรื่องรับฟัง (คือถ้าเรื่องเล่านั้นมีความสำคัญมากๆ ก็ควรจับจ้องใบหน้าผู้พูด แช่ค้างภาพมองตาไม่กระพริบ)
ตัวประกอบด้านหลังเบลอๆ พนักงานขนกระเป๋า (Porter) ก็คือผู้กำกับ Gus Van Sant แอบหลบซ่อนตัวได้อย่างแนบเนียนมากๆ
รายละเอียดเล็กๆแต่มีความหมายอันลุ่มลึก นั่นคือรูปภาพปลา พิงผนังอยู่ข้างๆ Keanu Reeves อย่างที่อธิบายไปตั้งแต่ต้นว่าคือสัญลักษณ์ของการแหวกว่ายเวียนวน ชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน เพื่อหวนกลับไปหารากเหง้าจุดเริ่มต้น ซึ่งขณะนี้หนุ่มๆทั้งสองต้องยินยอมเป็นทาสกามให้ Hans เพื่อนำเงินซื้อตั๋วเครื่องบินมุ่งสู่ Mamma Roma ประเทศอิตาลี!
ผมรู้สึกว่านี่เป็น Photoshoot Sex Scene มีความสร้างสรรค์ เหมือนรูปปั้น(มนุษย์)งานศิลปะ สไตล์ Renaissance และหลายภาพช่างมีความตลกขบขันสิ้นดี! (โดยเฉพาะไอ้ที่หนีบๆหัวนม แก้มก้น)
โดยไม่ทันรับรู้ตัว Micky ตื่นขึ้นมายัง Piazza del Popolo จัตุรัสกลางกรุง Rome มองไปทางไหนก็พบเห็นวงเวียน หนทางแยก จากนั้นออกเดินทางมุ่งสู่บ้านชนบท สังเกตรูปทรงมีลักษณะละม้ายคล้ายบ้านในฝัน(ของ Micky) โดยเฉพาะตรงส่วนเอียงๆด้านข้าง
ความละม้ายคล้ายกันของบ้านทั้งสองหลัง สามารถสื่อถึงการพบเจอเป้าหมายปลายทาง (โลกความจริงซ้อนทับสิ่งเพ้อฝัน) แต่สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่สำหรับ Micky กลับคือ Scott ตกหลุมรักหญิงสาวสุดสวย Carmela เริ่มต้นสานความสัมพันธ์ หมั้นหมาย กำลังจะได้ครองคู่แต่งงาน (กล่าวคือการเดินทางของ Scott ได้มาถึงจุดสิ้นสุด!)
ขณะที่ Scott พูดคุยสนทนา เกี้ยวพาราสี Carmela อยู่ภายนอกบ้าน, Micky เดินเข้าไปภายในปกคลุมด้วยความมืดมิด บอกใบ้ถึงความสิ้นหวัง แถมกล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลัง ดูแล้วไม่น่าจะค้นพบเจอใคร
ผมขี้เกียจแคปรูป Photoshoot Sex Scene ระหว่าง Scott กับ Carmela ซึ่งมีความโรแมนติก หวานแหวว (ผิดกับตอนชายสามเส้าที่ดูหื่นกระหาย เร่าร้อน ร่านราคะ) เอาแค่ช็อตนี้ที่พอทั้งสองเริ่มโอบกอดจูบ ก็กระแทกถูกชามใส่น้ำหกกระเด็นกระดอน มันคือสัญลักษณ์ของ … ก็น่าจะเข้าใจกันอยู่นะ
แซว: River Phoenix เล่าถึง Sex Scene ฉากนี้ว่า Keanu Reeves และ Chiara Caselli ต้องเปลือยกายล่อนจ้อนในสภาพอากาศหนาวเหน็บยาวนานกว่า 5 ชั่วโมง
Keanu was filmed naked with the beautiful Chiara. That scene was really a drag. He was having a great time with this girl, but it was freezing cold and they were dying. So I think they were more worried about the temperature than the nudity. That took five hours.
River Phoenix เล่าถึง Sex Scene ฉากนี้ว่า Keanu Reeves และ Chiara Caselli
River Phoenix เป็นแฟนตัวยงซีรีย์ The Simpsons (1989) เลยแนะนำผู้กำกับ Van Sant เพิ่มฉากนี้เข้าไป ด้วยความบังเอิญที่โปรดิวเซอร์ Matt Groening เป็นชาว Portland เลยยินยอมให้ใช้ฟุตเทจตอน The Simpsons: Treehouse of Horror (1990) โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ใดๆ … แค่ชื่อตอนก็บอกใบ้อะไรๆเยอะเลยนะ
นี่คือช็อตที่ Scott พูดขับไล่ Bob Pigeon บอกไม่ต้องการหวนกลับไปยุ่งเกี่ยววิถีชีวิตแบบนั้นอีกต่อไป สังเกตว่าเขายืนหันหลัง ภาพเบลอๆ (มองไม่เห็นความสำคัญของผู้ต้อยต่ำเบื้องหลัง) แถมแสงสีแดงอาบฉาบใบหน้า (สัญลักษณ์ของความโฉดชั่วร้าย)
วินาทีแห่งความตายของ Bob Pigeon มุมกล้องโคลสอัพใบหน้า ค่อยๆเคลื่อนเข้ามาประชิดใกล้ พอเอ่ยคำพูดสุดท้าย “Scott” ก็หนาวสั่นหมดสิ้นลมหายใจ ช็อตถัดไปพบเห็นภาพรองเท้า แสดงถึงชีวิตอันต่ำต้อยด้อยค่า ไร้คุณประโยชน์ใดๆต่อสาธารณะ
ขณะที่งานศพบิดาแท้ๆของ Scott ดูมีความหรูหรา น่าเคารพยกย่อง ผู้เข้าร่วมอยู่ในความสงบสำรวม เคารพให้เกียรติผู้เสียชีวิต ได้สร้างคุณาประโยชน์มากมายต่อสังคม
ทางฝั่งงานศพของ Bob Pigeon กลับเต็มไปด้วยคนพาลข้างถนน แสดงออกทางอารมณ์อย่างคลุ้มบ้าคลั่ง ลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้น ร่ำร้องไห้ ส่งเสียงเรียกหา “Bob Bob Bob” ไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น!
ลักษณะแตกต่างตรงกันข้ามของทั้งสองพิธีการ แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกในวิถีอเมริกัน มีการแบ่งชนชั้น (สูง-ต่ำ) วรรณะ (กษัตริย์-ศูทร/จัณฑาล) วิทยฐานะ (ร่ำรวย-ยากจน) แม้อาศัยอยู่ร่วมในผืนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา แต่กลับไม่สามารถยินยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม
ภาพสุดท้ายของหนัง กลับตารปัตรตรงกันข้ามกับทิวทัศน์ฝั่ง ‘fucked-up face’ สังเกตว่าไม่มีต้นไม้ หรือทะเลทรายรกๆ สองฟากฝั่งมีความเรียบเนียน ถูกไถ่เกลี่ยจนโล่งเตียน แต่คนละเฉดสี (เขียว-เหลือง, ชอุ่ม-แห้งแล้ว) ซึ่งสามารถสื่อถึงความแบ่งแยก แตกต่าง สองขั้วตรงข้าม รวมถึงสองเหตุการณ์บังเกิดขึ้นกับ Mikey
- รถคันแรก ปล้นกระเป๋า ถอดรอดเท้า ลักขโมยทุกสิ่งอย่างเท่าที่เอาไปได้ แสดงออกถึงความเห็นแก่ตัว สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตน
- รถคันหลังของพี่ชาย (จริงๆจะมองว่าคนแปลกหน้าก็ยังได้) ลงมาลากพาขึ้นรถ ออกเดินทางจากไป เรียกว่ามีเพียงคนรู้จัก ญาติสนิทมิตรสหาย ถึงยินยอมให้ความช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน
สรุปแล้วนี่คงคือวิวทิวทัศน์ที่ผู้กำกับ Gus Van Sant พบเห็นจากวิถีชีวิต สภาพสังคมสหรัฐอเมริกายุคสมัยปัจจุบัน(ขณะนั้น) มีการแบ่งแยก แตกต่าง สองฝากฝั่งขั้วตรงข้าม มนุษย์เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว สนแต่ผลประโยชน์ ไร้ซึ่งมนุษยธรรม หลงเหลือเพียงญาติสนิทมิตรสหาย ถึงยินยอมให้ความช่วยเหลือพรรคพวกพ้องเดียวกัน! (จะว่าไปเพราะความเห็นแก่พรรคพวกพ้องนี่แหละ คือสาเหตุให้สังคมมีสภาพแตกแยก ขัดแย้งรุนแรงขนาดนี้)
ตัดต่อโดย Curtiss Clayton ขาประจำยุคแรกๆของผู้กำกับ Gus Van Sant อาทิ Drugstore Cowboy (1989), My Own Private Idaho (1991), To Die For (1995), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford (2007) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของตัวละคร Michael ‘Mikey’ Waters ร่วมกับ Scott Favor ออกเดินทางจาก Seattle มุ่งสู่ Portland ต่อด้วยรัฐ Idaho แล้วบินไปยัง Italy ก่อนกลับมา Portland, หลายครั้งมักแทรกภาพความฝัน (ระหว่าง Mikey ทรุดล้มลงนอนจากโรคลมหลับ) ไม่ก็กระโดดตัดข้ามไปตอนฟื้นตื่น ย่นย่อเรื่องราว/การเดินทางได้มากทีเดียว
ผมขอไม่แบ่งหนังออกเป็นองก์ๆ แต่จะเลือกใช้สถานที่/การเดินทางของตัวละคร (จะมีขึ้นข้อความเพื่อบ่งบอกว่าขณะนั้นอยู่แห่งหนไหน) ใช้อธิบายการดำเนินไปของเรื่องราวได้เช่นกัน
- Seattle, Washington
- Micky ตื่นขึ้นมาบนถนนกลางทะเลทราย ทรุดล้มลงนอนป่วยโรคลมหลับ หวนระลึกถึงความทรงจำสมัยเด็ก
- วันๆของ Micky ทำงานโสเภณี พบเจอผู้คนมากหน้า หลากหลายรสนิยมทางเพศ
- พบเจอชายชาวเยอรมัน Hans ที่ดูหื่นกระหาย อาสาพาไปส่งยัง Portland, Oregon
- Portland, Oregon
- ตื่นขึ้นมาในอ้อมอกของ Scott พาไปรู้จักผองเพื่อนข้างถนน และบิดาบุญธรรม Bob Pigeon
- ค่ำคืนแห่งการโจรกรรม แต่ Scott กลับครุ่นคิดแผนตลบหักหลัง Bob แล้วประจานต่อหน้าพรรคพวกพ้อง
- รัฐ Idaho
- Scott ขับมอเตอร์ไซด์พา Micky มาติดตามหาพี่ชาย แต่รถเสียระหว่างทางเลยต้องแคมปิ้งกลางทะเลทราย
- Micky รับฟังเรื่องเล่าของมารดาจากพี่ชาย แต่ก็ตระหนักความจริงว่าเคยมีเหตุการณ์อะไรบังเกิดขึ้นในอดีต
- มาถึงโรงแรมที่มารดาเคยทำงาน ค้นพบว่าเธอย้ายสู่ประเทศอิตาลี แล้วบังเอิญพบเจอ Hans ได้รับเงินสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน
- กรุง Rome, ประเทศอิตาลี
- ตื่นขึ้นกลางจัตุรัสที่ไม่มักคุ้น Scott เหมาแท็กซี่ออกเดินทางสู่สถานที่เป้าหมาย แต่มารดาของ Micky กลับไปสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว
- Scott รับรู้จัก ตกหลุมรัก Carmela เลยตัดสินใจทอดทิ้ง Micky ครึ่งหลับครึ่งตื่นระหว่างนั่งเครื่องบินกลับ
- หวนกลับมา Portland, Oregon
- Scott ตัดสินใจละท้อนทิ้งอดีต กลับตัวกลับใจ แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่ ปฏิเสธบิดาบุญธรรม Bob จนตรอมใจตาย
- งานศพบิดา/บิดาบุญธรรมของ Scott ที่มีความแตกต่างขั้วตรงข้าม
- Micky ตื่นขึ้นมาอีกครั้งบนท้องถนนกลางทะเลทราย แล้วล้มพับลงนอนเพราะโรคลมหลับอีกครั้ง
ต้องชมเลยว่าหนังใช้ประโยชน์จากอาการป่วยโรคลมหลับได้ยอดเยี่ยมมากๆ (ชวนให้นึกถึง Memento (2000) หรือหนังที่ตัวละครมีหลายบุคลิกภาพ แล้วใช้การดำเนินเรื่อง/เทคนิคตัดต่อล่อหลอกผู้ชมในลักษณะเดียวกัน) โดยเฉพาะการตื่นขึ้นมายังสถานที่ไม่มักคุ้น ย่นย่อเรื่องราว/การเดินทาง ตัดข้ามเหตุการณ์ไม่สลักสำคัญออกไป ทำให้หนังมีความกระชับ เฉียบคมคาย สร้างสีสันได้มากๆทีเดียว
สำหรับข้อความชื่อเมืองมีทั้งหมด 4 สถานที่ (Idaho, Seattle, Portland, Roma) แต่สีผืนหลังกลับผันแปรเปลี่ยนแทบไม่ซ้ำเดิม (ยกเว้น Idaho จะมีซ้ำครั้งหนึ่งตอนต้น-กลางเรื่อง แต่จะเปลี่ยนเป็นอีกสีช่วงท้าย) มันคงมีนัยยะความหมายอะไรบางอย่าง แต่ผมขี้เกียจครุ่นคิดตีความ … เฉดแต่ละสีน่าจะสะท้อนบรรยากาศของเรื่องราวขณะนั้นๆ กระมั้งนะ?
เพลงประกอบโดย Bill Stafford นักประดิษฐ์/นักดนตรี ชื่นชอบการเรียบเรียงหลากๆบทเพลงชื่อดัง (ไม่จำกัดแนวว่าต้องเป็น Country, Cowboy, บทเพลง Pop, Rock, Classic ก็เล่นได้หมด) นำมาบรรเลงโดยใช้เครื่องดนตรี Pedal steel guitar (กีตาร์แบบที่เล่นคล้ายจะเข้)
เสียงของเครื่องดนตรี Pedal steel guitar มอบสัมผัสอันโหยหวน ล่องลอย หลายครั้งยังผสม Theramin เพิ่มสัมผัสหลอกหลอน ขนลุกขนพอง ไม่ก็ใส่ Sound Effect ลมฟ้าฝน รถราบนท้องถนน ซึ่งสามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์/สภาพจิตใจของตัวละคร Micky ได้เป็นอย่างดี
น่าเสียดายที่หนังไม่มีอัลบัมรวมเพลงประกอบ แต่บังเอิญผมพบเจอคลิปการแสดงคอนเสิร์ตของ Bill Stafford ด้วยการบรรเลง Pedal steel guitar หนึ่งในบทเพลงจาก My Own Private Idaho (1991) ใครไม่เห็นก็ลองรับชมดูนะครับ (เริ่มต้นนาที 2:09)
Home on the Range (1872-73) บทเพลงแนว Cowboy Song บางครั้งก็เรียกว่าเพลงชาติของ American West (ปัจจุบันคือเพลงประจำประจำรัฐ Kansas) แต่งโดย Daniel E. Kelley, นำคำร้องจากบทกวี My Western Home ของ Brewster M. Higley
บทเพลงในความฝันของ Micky ชื่อว่า The Cattle Call (1934) แต่งโดย Tex Owens เล่าว่าเขียนขึ้นที่ Kansas City ระหว่างพบเห็นหิมะตก รู้สึกสงสารเห็นใจสรรพสัตว์เลี้ยงทั้งหลายที่คงกำลังหนาวเหน็บ สั่นสะท้านร่างกาย-จิตใจ
Watching the snow, my sympathy went out to cattle everywhere, and I just wished I could call them all around me and break some corn over a wagon wheel and feed them. That’s when the words ‘cattle call’ came to my mind. I picked up my guitar, and in thirty minutes I had wrote the music and four verses to the song,
Tex Owens
The Cattle Call มีการคัฟเวอร์ บันทึกเสียงใหม่หลายครั้ง ฉบับโด่งดังที่สุดก็คือ Eddy Arnold (1918-2008) เมื่อปี 1944 และ 1955 รอบหลังสามารถไต่ถึงอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Country ถึงสองสัปดาห์ (และคงอยู่ในชาร์ท 26 สัปดาห์) จนกลายเป็นบทเพลงประจำตัว ‘Signature Song’
บทเพลงที่ตัวละครเกย์ชาวเยอรมัน Hans (รับบทโดย Udo Kier) ขับร้อง-เล่น-เต้น ยั่วสวาทราคะในโรงแรมแห่งนั้น (แต่ผมขนลุกจนพอง แม้งโคตรหลอกหลอน!) จะคือบทเพลงที่เจ้าตัวแต่ง/ขับร้องร่วมกับ Tom Dokupil ชื่อเพลง Der Adler (1986)
แซว: ลีลาของ Udo Kier ชวนใช้ระลึกถึง Dean Stockwell จากภาพยนตร์ Blue Velvet (1986) อยู่ไม่น้อยเลยนะ!
Udo Kier (เกิดปี 1944) คืออีกโคตรนักแสดงชาวเยอรมัน มีน้ำเสียงและภาพจำที่น่าสะพรึงกลัวไม่น้อย โด่งดังจาก Andy Warhol’s Frankenstein (1973) [รับบทเป็น Frankenstein] ตามด้วยหนังแวมไพร์อีกหลายเรื่อง นอกจากนี้ยังเป็นขาประจำผู้กำกับ Lars von Trier และเจ้าของเสียงพากย์ตัวร้าย Yuri ในเกม Command & Conquer: Red Alert 2
Closing Song คือบทเพลง The Old Main Drag (1985) ขับร้องโดย The Pouges ประกอบอัลบัม Rum Sodomy & the Lash ดูจากคำร้องช่างมีความละม้ายคล้ายเนื้อเรื่องราวของหนังมากๆเลยนะ (เปลี่ยนจาก London เป็น Portland ได้เลยละ) โดยเฉพาะ he-males, she-males และชื่อ old man drag (main กับ man อ่านเสียงละม้ายคล้ายกันมากๆนะครับ) ต่างคือสัญลักษณ์ของ Transgender
When I first came to London I was only sixteen
With a fiver in my pocket and my ole dancing bag
I went down to the dilly to check out the scene
And I soon ended up on the old main dragThere the he-males and the she-males paraded in style
And the old man with the money would flash you a smile
In the dark of an alley you’d work for a fiver
For a swift one off the wrist down on the old main dragIn the cold winter nights the old town it was chill
But there were boys in the cafes who’d give you cheap pills
If you didn’t have the money you’d cajole or you’d beg
There was always lots of tuinol on the old main dragOne evening as I was lying down by Leicester Square
I was picked up by the coppers and kicked in the balls
Between the metal doors at Vine Street I was beaten and mauled
And they ruined my good looks for the old main dragIn the tube station the old ones who were on the way out
Would dribble and vomit and grovel and shout
And the coppers would come along and push them about
And I wished I could escape from the old main dragAnd now I’m lying here I’ve had too much booze
I’ve been shat on and spat on and raped and abused
I know that I am dying and I wish I could beg
For some money to take me from the old main drag
There is no mechanical plot that has to grind to a Hollywood conclusion, and no contrived test for the heroes to pass; this is a movie about two particular young men, and how they pass their lives.
นักวิจารณ์ Roger Ebert กล่าวถึงบทสรุปของ My Own Private Idaho (1991)
ผู้ชมส่วนใหญ่มักตีความว่า My Own Private Idaho คือโลกในจินตนาการของ Micky หลังจากทรุดล้มตัวลงนอนจากอาการป่วยโรคลมหลับ (หลบหนีจากโลกความเป็นจริง) เพ้อใฝ่ฝันถึงความทรงจำในอดีต สถานที่ที่มีมารดาอยู่เคียงชิดใกล้ ช่างมีความอบอุ่นเบิกบานหฤทัย ปลอดภัยจากสิ่งชั่วร้ายภายนอกทั้งปวง
แต่ถ้าเรามองในเชิงสัญลักษณ์ของสถานที่ส่วนบุคคล อาศัยอยู่แล้วมีความสุข อบอุ่น รู้สึกปลอดภัย อพาร์ทเม้นท์ร้างของ Bob Pigeon ที่ Scott เคยพักอยู่อาศัย (หลังหลบหนีออกจากบ้าน) ก็ถือเป็นสรวงสวรรค์ของเด็กๆข้างถนนด้วยเช่นกัน (ตรงกันข้ามกับ Micky ที่เป็นโลกในจินตนาการ, สำหรับ Scott คือสถานที่มีอยู่จริง จับต้องได้ แม้มันจะไม่สวยงามสักเท่าไหร่ก็ตามเถอะ!)
ถ้าเราไม่ตีกรอบตนเองถึง ‘สถานที่’ นัยยะของ My Own Private Idaho ยังลุ่มลึกซึ้งไปกว่านี้ได้อีก
- สำหรับ Micky การได้อยู่เคียงชิดใกล้ Scott ก็ทำให้มีความสุข อบอุ่น รู้สึกปลอดภัย เขาคือชายคนรักของฉัน (แม้จะถูกบอกปัดความรู้สึกก็ตามที)
- ส่วน Scott ไม่ใช่แค่แฟนสาว Carmela แต่ยังคือแผนการของเขาที่ต้องการปรับเปลี่ยนตนเองเมื่ออายุครบ 21 ปี กลับตัวกลับใจ เริ่มต้นชีวิตใหม่ ยินยอมรับมรดกจากบิดา แล้วเลือก’วิถีชีวิต’ที่มีความสุข อบอุ่น รู้สึกปลอดภัย
แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่ผมอธิบายมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ My Own Private Idaho โลกส่วนตัวของผู้กำกับ Gus Van Sant ดำเนินเรื่องผ่านสองตัวละครที่มีความแตกต่างตรงกันข้าม
- River Phoenix รับบท Micky ออกเดินทางเพื่อค้นหารากเหง้า/มารดา สรวงสวรรค์ในจินตนาการ แต่สุดท้ายก็ไม่พบเจอใคร แถมยังสูญเสียชายคนรักและตัวตนเอง (จมปลักอยู่ระหว่างโลกความจริง-เพ้อฝัน)
- Keanu Reeves รับบท Scott นำเสนอการทอดทิ้งรากเหง้า อดีตของตัวตนเอง สูญเสียบิดา/บิดาบุญธรรม แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่กับภรรยาที่พบเจอ
แม้ทั้งสองตัวละครจะมีความแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง แต่เราสามารถมองเป็นหยิน-หยาง รวมกันเป็นอันหนึ่ง หรือคือผู้กำกับ Gus Van Sant ออกเดินทางค้นหารากเหง้า (แต่มารดาของ Van Sant ยังครองรักอยู่ดีกับบิดานะครับ) จนกระทั่งค้นพบตัวตนเอง (อาทิ รสนิยมทางเพศ, ความสนใจด้านศิลปะ, ภาพยนตร์ ฯ) เลยตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง (บิดาของ Van Sant เป็นประธานบริษัท แต่เขาปฏิเสธดำเนินรอยตาม)
แซว: แม้ฉากแคมป์ไฟ River Phoenix จะครุ่นคิดเขียนขึ้นทั้งหมด แต่ผมครุ่นคิดว่าผู้กำกับ Gus Van Sant ก็น่าจะเคยพานผ่านประสบการณ์ลักษณะคล้ายๆกัน พูดบอกรักเพื่อนชายแต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ(เพราะอีกฝ่ายไม่ได้มีรสนิยมรักร่วมเพศ)
ฉากงานศพของบิดา/บิดาบุญธรรม (บิดาแท้ของ Van Sant ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่นะครับ) เป็นความต้องการเปรียบเทียบสภาพสังคมที่ผู้กำกับ Van Sant พบเห็นในปัจจุบัน(ขณะนั้น) สหรัฐอเมริกาคือประเทศมีความเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก! แต่ผมไม่ค่อยเห็นชาวอเมริกันยินยอมรับความจริงดังกล่าวเลยนะครับ
สังคมอเมริกันก็เหมือนปัจฉิมบทของหนัง (จากข้อสรุปของผู้กำกับ Van Sant) ผู้คนต่างสนเพียงผลประโยชน์ เงินๆทองๆ สิ่งตอบสนองความต้องการ พบเห็นคนนอนสลบกลางถนน แทนที่จะช่วยเหลือพาไปส่งโรงพยาบาล กลับลงไปปล้นชิงทรัพย์ เอาแม้กระทั่งรองเท้า (=พร้อมทำลายโอกาส/เส้นทางก้าวเดิน/อนาคตของผู้อื่น) เพียงแต่คนรู้จัก ญาติมิตรสหาย พี่ชาย(บิดา)ของ Micky ถึงยินยอมให้ความช่วยเหลือ … มันเป็นสังคมที่ ‘fucked-up’ เสียจริง!
have a nice day เขียนด้วยอักษรสีขาว ขอบฟ้า ตัวพิมพ์เล็ก พื้นหลังดำมืดมิด ผิดจากปกติที่พื้นหลังอื่นมักมีเฉดสีสัน และตัวพิมพ์ใหญ่ขึ้นหน้า นี่น่าจะสื่อถึงอนาคตช่างมืดหม่น หมดสิ้นหวัง แต่ผู้กำกับ Gus Van Sant ก็อำนวยอวยพรขอให้ทุกคนโชคดีก็แล้วกัน
หนังเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม โดยเฉพาะการแสดงของ River Phoenix คว้ารางวัล Volpi Cup: Best Actor ด้วยมติเป็นเอกฉันท์!
I don’t want more awards. Venice is the most progressive festival. Anything else would be a token.
River Phoenix
ด้วยทุนสร้าง $2.5 ล้านเหรียญ สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $6.4 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จนิดๆหน่อยๆ ช่วงปลายปีได้เข้าชิง Independent Spirit Awards (ถือเป็น Oscar ของหนังอินดี้ทุนต่ำ) จำนวน 6 สาขา คว้ามา 3 รางวัล
- Best Feature พ่ายให้กับ Rambling Rose (1991)
- Best Director
- Best Male Lead (River Phoenix) ** คว้ารางวัล
- Best Screenplay ** คว้ารางวัล
- Best Cinematography
- Best Film Music ** คว้ารางวัล
ยอดขาย/เช่ายืม VHS และ LaserDisc จัดจำหน่ายปี 1992 ถือว่าถล่มทลายมากๆ กลายเป็นกระแสคัลท์ ‘cult following’ ต่อมาลิขสิทธิ์ Home Video ตกมาเป็นของ The Criterion Collection ทำการบูรณะคุณภาพ 4K ได้รับการตรวจอนุมัติโดยผู้กำกับ Gus Van Sant และตากล้อง Eric Alan Edwards แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2015
จริงอยู่ภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้ชมได้ขบครุ่นคิด โต้ถกเถียง ล้วนมีคุณค่าทางศาสตร์ศิลปะ (นี่คือเหตุผลที่ผมให้คะแนนคุณภาพจัดเต็มนะครับ) แต่ส่วนตัวมองว่า My Own Private Idaho (1991) ไม่ได้มีสาสน์สาระจับต้องได้เลยสักสิ่งอย่าง เพียงเป็นผลงานตอบสนองตัณหาของผู้กำกับ Gus Van Sant สร้างโลกส่วนตัวเองขึ้นมา ไม่ใช่ทุกคนอยากใคร่รู้ใคร่สนใจ แล้วแต่ความชื่นชอบ รสนิยมบุคคล
แนะนำคอหนัง Avant-Garde ชื่นชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์ ค้นหาเหตุผลของสิ่งต่างๆ, แพทย์ จิตแพทย์ มีความสนใจโรคลมหลับ (Narcolepsy), จิตรกร ช่างภาพ หลงใหลผลงานศิลปะ, แฟนๆผู้กำกับ Gus Van Sant, และโดยเฉพาะคนทำงานอาชีพนักแสดง ต้องศึกษา ‘character study’ ของ River Phoenix อีกอัจฉริยะที่จากไปก่อนวัยอันควร
จัดเรต 18+ กับโสเภณี ชายขายตัว ความรุนแรง สภาพคลุ้มบ้าคลั่ง
Leave a Reply