My Sassy Girl (2001) : Kwak Jae-yong ♥♥♥♥♡
มันคงจะดีไม่น้อย ถ้าผู้หญิงกล้าพูดหรือทำอะไรที่แสดงให้เห็นว่า ตัวเองไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้ชาย, ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม เป็นหนังที่จะบอกคุณว่า ผู้หญิงก็มีความคิด ความต้องการของตัวเอง ไม่ได้ต้องการเป็นแค่ช้างเท้าหลังเดินตามผู้ชายตลอดเวลา
My Sassy Girl เป็นหนังโรแมนติกคอมเมดี้ (Romcoms) ที่ทำเงินสูงสุดในเกาหลีใต้ ณ ขณะฉายและลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน (2016) ก็ยังไม่มีหนังรักโรแมนติกเรื่องไหนที่ทำรายได้แซงได้ นี่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญของหนัง ที่มีอิทธิพลต่อผู้ชมอย่างมาก, ไม่ใช่แค่กับเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงหลายๆประเทศในแถบเอเชีย ญี่ปุ่น, จีน, ไต้หวัน, ฮ่องกง, สิงคโปร์ และประเทศไทย ที่ถ้าใครเป็นคอหนังรักเกาหลียุค 2000s คงไม่มีใครไม่รู้จักยัยตัวร้าย Jun Ji-hyun ที่แม้ทศวรรษต่อมาจะไม่ค่อยได้เห็นเธอเล่นหนังเท่าไหร่แล้ว แต่คงไม่มีใครลืมการแสดงของเธอใน My Sassy Girl ที่เปลี่ยนยุคสมัยภาพยนตร์แนวรอมคอมไปโดยสิ้นเชิง
อะไรกันที่ทำให้ยัยตัวร้ายฮิตได้ขนาดนี้?
My Sassy Girl เป็นหนังที่ดัดแปลงมาจาก เรื่องราวที่โพสขึ้นบนอินเตอร์เน็ต เป็นนิยายรักที่โด่งดังมากสมัยนั้น (นามปากกาผู้เขียนคือ Kim Ho-sik) เขียนจากเรื่องจริงของตนเองกับแฟนสาว ซึ่งผู้กำกับ Kwak Jae-yong ก็รีบคว้ากระแสนิยมไว้ นำมาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์โดยทันที, นี่เป็นการจุดกระแสให้นิยายออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างสูงขึ้นมาในทันทีด้วย
ในสังคมเกาหลี ว่ากันว่า ผู้หญิงมักจะเป็นฝ่ายยอมให้ผู้ชายมีอำนาจมากกว่าในบ้านเสมอ ซึ่งช่วงขณะนั้นมีเรื่องราวข่าวเกี่ยวกับสามีตบตีภรรยาเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งเรื่องราวของหนังเรื่องนี้ มันเหมือนเป็นการนำเสนอสิ่งที่อยู่ในใจผู้หญิงเกาหลีออกมา จะเป็นอย่างไรถ้าพวกฉันเป็นคนคอยชี้นิ้วสั่ง บ่งการเสียทุกสิ่งอย่าง และสิ่งที่หนังนำเสนออกมา คือภาพของผู้ชายที่ดูเจี๋ยมเจี้ยม ยอมอดทนอยู่ภายใต้อุ้งมืออุ้งเท้า เป็นที่รองมือรองเท้าสำหรับเธอ และเมื่อฝ่ายชายพูดถึงกฎ 10 ข้อที่มีข้อหนึ่งบอกว่า ‘ถ้าถูกเธอตบตี เวลาไม่เจ็บก็ต้องแกล้งทำเป็นเจ็บ แต่ถ้าเจ็บจริงต้องแกล้งทำเป็นไม่เจ็บ เพราะเธอจะรู้สึกผิด’ นี่เป็นแนวคิด คำพูด การกระทำที่ สาวไหนได้ยินก็รู้สึกหลงใหลคลั่งไคล้ ‘นี่แหละผู้ชายที่ฉันต้องการ’
ในมุมของผู้ชาย กับผู้หญิงประเภทที่ชอบเออออห่อหมก เหมือนคนที่คิดอะไรเองทำอะไรเองไม่เป็น หรือผู้หญิงที่ทำตัวหรูเลิศเชิดหยิ่ง เอาแต่ใจ ชอบเล่นตัว ถือว่ามีให้เห็นมากในหนังสมัยนั้น จนขาดบางสิ่งบางอย่างที่เป็นแรงดึงดูด ซึ่งพอมียัยตัวร้ายเกิดขึ้น คำพูดของตัวละคร ‘อยากตายหรือยังไง’ กับผู้ชายแทบทุกคนที่ได้ยินคงถึงกับผงะ อึ้งทึ่งพูดไม่ออก ไม่มีใครคิดหรอกนะครับว่านี่เป็นคำขู่ แต่จะเกิดความสงสัย อะไรกันที่ทำให้ผู้หญิงคนนี้ริอาจกล้าได้ถึงเพียงนี้ นี่กลายเป็นเสน่ห์ที่น่าหลงใหล คือความเพี้ยน บ้าบอ ติ้งต๊อง รั่วๆ ดูไปมันก็น่ารักน่าเอ็นดู ทำให้ผู้ชายระลึกได้ว่า ‘ผู้หญิงแบบนี้ก็น่าสนใจดี’
ปมของยัยตัวร้าย คือเธอนั้นเสียคนรักเก่าไป กับความรักที่ไม่คิดว่าจะมีใครสักคนมาแทนที่ได้ เมื่อได้มาเจอนายเจี๋ยมเจี้ยม ซึ่งทำให้เธอระลึกถึงเขา และความละอายต่อความผิดพลาดของตนเอง คำพูดและการแสดงออกของเธอจึงมีลักษณะออกมาเพื่อกลบเกลื่อน หลบซ่อนปกป้องตัวเองอยู่ภายใต้สีหน้าการแสดงออกของตน ‘อยากตายหรือไง’, ‘ถ้าไม่ทำที่ฉันบอกนายตายแน่’ นานวันเข้าเธอจึงค่อยๆเริ่มตกหลุมรักเขาอีกครั้ง แต่เพราะยังลืมคนรักเก่าไม่ได้ จึงสั่งให้นายเจี้ยมเจี้ยมทำสิ่งเหมือนกับคนรักเธอที่เคยทำ ลากไปถึงครั้งหนึ่งที่เธอแกล้งถีบเขาตกน้ำแล้วเป็นฮีโร่กระโดดเข้าไปช่วย นี่เป็นการพยายามแก้ปมอดีตของตัวเอง ด้วยการให้นายเจี๋ยมเจี้ยมเป็นตัวตายตัวแทน แทนที่เขา, กระนั้นเมื่อถึงตอนที่นายเจี๋ยมเจี้ยมสาธยายกฎ 10 ข้อออกมา นั่นทำให้เธอตระหนักรู้ตัวว่า สิ่งที่ตนทำอยู่นั้นไม่ถูกต้อง เขาไม่ใช่คนรักเก่าของเธอ แต่เป็นผู้ชายอีกคนหนึ่งที่มีตัวตนของตัวเอง ยอมรับเธอได้ในสิ่งที่เป็น นั่นทำให้เธอต้องขอเวลาคิดทบทวนจิตใจตัวเองอีกสักครั้ง
ปมของนายเจี๋ยมเจี้ยม เริ่มตั้งแต่เด็กเลย พ่อแม่เลี้ยงให้เขาเป็นลูกผู้หญิง ตนเองก็คิดว่าเป็นเด็กผู้หญิงจนพอมาพบว่าตัวเองเป็นผู้ชาย ก็คงเกิดความเหนียมอาย, การแสดงออกของแม่ เวลาไม่พอใจอะไรลูก คือ การตบตีทำร้าย แม้จุดประสงค์ไม่ได้ถึงขั้นเป็นตาย แต่มันทำให้เขากลายเป็นคนที่ยอมรับสภาพกับการถูกกระทำชำเรา ตบตี ทำร้ายต่างๆนานาได้ คือเป็นคนยอมคน ขี้เกรงใจ และไม่ชอบสู้คน, ผู้ชายแทบทุกคนจะมีจุดอ่อนเรื่องแม่ ถ้าได้พบกับผู้หญิงที่คล้ายกับแม่ของตนก็มักจะตกหลุมรักเธอ เฉกเช่นกับยัยตัวร้าย มันอาจดูผิดเพี้ยนไปมาก ใครกันจะบ้าทนผู้หญิงสุดเห็นแก่ตัวแบบนี้ได้ แต่เพราะเธอเหมือนกับแม่ของตนมาก จึงรู้สึกคุ้นเคย และรู้ว่าเบื้องลึกข้างในจิตใจคงมีอะไรสักอย่าง ที่ทำให้แสดงออกมาเช่นนี้
ความฝันของนางเอก เปรียบได้กับความฝันของผู้หญิงทั่วไปๆ ในนิยายที่เธอเขียน มักมีใจความสลับเพศระหว่างชายหญิง ซึ่งโดยปกติแล้ว
– อย่างเรื่องแรก ปกติ พระเอกมักจะไปช่วยชีวิตนางเอก แต่ในหนัง นางเอกจะไปช่วยชีวิตพระเอก
– เรื่องสอง ปกติ ถ้าพระเอกตายนางเอกจะตรอมใจตาย แต่ในหนัง นางเอกตายและขอให้พระเอกตายตาม
– เรื่องที่สาม ปกติ พระเอกจะต้องเป็นฮีโร่สู้กับผู้ร้าย แต่ในหนัง นางเอกเป็นฮีโร่สู้กับพระเอกที่เป็นตัวร้าย
เรื่องราวช่วงนี้ในหนัง ผู้ชมส่วนใหญ่ก็จะหัวเราะ ขบขันกับแนวคิดของนางเอก แต่ผมหัวเราะไม่ออกนะครับ เพราะนี่คือความจริงที่แสนเจ็บปวด เป็นความตลกร้ายเสียดสีทัศนคติของมนุษย์, คุณลองมองหาในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ดูสิ หนังที่มีเรื่องราวให้ผู้หญิงเป็นตัวเอก แล้วผู้ชายเป็นคนตาม แบบนี้ยังถือว่ามีน้อยในปัจจุบัน ซึ่งเท่าที่มีแทบทั้งนั้นจะถูกเรียกว่าเป็นหนัง Feminist, นี่ก็ปี 2016 แล้ว ทัศนคติความแตกต่างเรื่องเพศ แม้จะเปลี่ยนไปมาก แต่ก็ยังไม่ถึงจุดที่สามารถเรียกว่าเท่าเทียมกันแม้แต่น้อย
ความฝันของพระเอก เขามีสเป็คผู้หญิงอยู่ในใจ หน้าตาแบบนางเอก ไม่เจ้ากี้เจ้ากาลเรื่องมาก ไม่ใช่คนขี้เมาหรือชอบพาลหาเรื่องอื่น ที่พูดมานี่ถือเป็นความฝันได้ทั้งหมดนะครับ แต่โชคชะตาได้พาเขาให้พบกับความจริง เจอผู้หญิงประเภทที่ ร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นแบบที่เขาเกลียด, มีคำกล่าวที่ว่า ผู้ชายมักจะเริ่มรักผู้หญิงจาก 100 และลดลงเรื่อยๆจนเหลือ 1 ส่วนผู้หญิงจะเริ่มจาก 1 ค่อยๆเพิ่มขึ้นจนถึงร้อย, ซึ่งพระเอก ถือว่าตรงกันข้ามกับคำกล่าวนี้ เริ่มรักจาก 1 แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นร้อย ถึงนี่จะไม่ใช่ความฝันของเขา แต่เมื่อความรักมันถึงสักประมาณ 30 เขาก็เริ่มเข้าใจแล้ว ว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง
มีฉากหนึ่งตอนพ่อนางเอก ถามพระเอกว่า โตไปแล้วจะทำงานอะไร นี่เป็นความคาดหวังของผู้ใหญ่ ที่มักชอบตั้งไว้สูงๆ ซึ่งพอพระเอกบอกว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ พ่อจึงสั่งให้เขาเอาทุกอย่างออกจากกระเป๋า ชีวิตของคุณมีอะไรบ้าง, นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนลองสำรวจตัวเองดูนะครับ ล้วงกระเป๋าออกมา ดูสิว่าชีวิตคุณมีอะไรบ้างที่น่าสนใจพกติดตัวไว้ ในกระเป๋าผมมีแค่ เงินกับกุญแจห้องเท่านั้นนะครับ บัตรประชาชนและเอทีเอ็มนานๆจะพกที (เฉพาะเวลาไปเที่ยว) บัตรเครดิตไม่มี, ถ้าเป็นกระเป๋าของคุณผู้หญิง เชื่อว่าจะมีอะไรๆเยอะแยะไปหมด เครื่องสำอางค์, นามบัตร, ผ้าเช็ดหน้า, ของมีค่า ฯลฯ ความบังเอิญที่สุดฮาของหนังคือ ถุงยาง ผมชอบประเด็นนี้ที่ใส่มานะ นี่แสดงถึงอีกหนึ่งความต้องการของมนุษย์ มันไม่ใช่เรื่องน่าอาย ดังสำนวนที่เคยฮิตกัน ยืดอกพกถุง สมัยวัยรุ่นผมก็พกติดตัวตลอดนะ มันไม่ได้มีประโยชน์แค่ใช้ป้องกันโรคจากเพศสัมพันธ์นะครับ ตอนสงกรานต์ผมยังเคยเอาถุงยางมาใส่โทรศัพท์กันเปียกน้ำเลย
โดยทั่วไป ผู้ชมหนังจะเห็นว่า หนังแบ่งออกเป็น 3 ส่วน First Half, Second Half และ Overtime แต่หนังมี Intro ที่ผมนับเป็นส่วนที่ 4 ด้วยนะครับ, เริ่มเรื่องจาก 2 ปีถัดมา พระเอกยืนอยู่ที่ต้นไม้ตามวันที่นัดหมาย แต่นางเอกไม่มา จากนั้นใช้เสียงบรรยายของพระเอกเล่าเหตุการณ์ย้อนไปตั้งแต่จุดเริ่มต้น ขณะถ่ายรูปทำบัตร แล้วขึ้นข้อความ First Half, ครึ่งแรกถือว่าเป็นมุมมองของพระเอกทั้งหมด ได้พบกับสาว วิ่งหนีสาว จบลงที่ถึงวันเกิดนางเอก, ครึ่งหลังยังคงเป็นมุมมองของพระเอก แต่น่าจะเป็นจุดที่นางเอกเริ่มชอบพระเอก และพยายามแทนที่เขาด้วยคนรักเก่า ซึ่งจะมีช่วงหนึ่งที่หนังเปลี่ยนไปเป็นมุมมองของนางเอก เมื่อเธอตระหนักได้ว่าเขาไม่ใช่คนรักเก่าของเธอ, Overtime (หลังพระเอกอ่านจดหมายจบ) ถือว่าเป็นมุมมองฝั่งนางเอกล้วนๆ ก่อนการพบกันราวปาฏิหารย์ครั้งสุดท้าย
ถ้าใครสังเกตสีเสื้อและแสงของหนัง จะพบว่า ช่วงแรกๆ พระเอกนางเอกจะใส่สีตรงข้ามกัน เช่น แดงกับเหลือง (ฉากในสวนสนุก ทหารจะใส่สีเขียว กลายเป็น แดง-เขียว-เหลือง) หรือน้ำเงินเข้มกับน้ำเงินอ่อน แสดงถึงนิสัย แนวคิดที่ตรงกันข้าม เหมือนน้ำกับไฟ ยังเข้ากันไม่ได้, ช่วงครึ่งหลังจะใส่สีหรือลาย(สก็อต)เดียวกัน แต่สลับระหว่างเสื้อนอกกับเสื้อใน นี่ก็เหมือนเสื้อทีม แสดงถึงความเข้าใจที่ตรงกัน แต่เหตุที่สลับเสื้อนอกกับเสื้อข้างใน เพราะคนหนึ่งยังมีความลับที่ไม่เปิดเผยออก ส่วนอีกคนหนึ่งก็ยังไม่เคยแสดงออก, ชุดตอนจบเมื่อทั้งคู่มาเจอกันกลับมาเป็นตรงกันข้ามอีกครั้ง สีน้ำตาลอ่อนกับน้ำเงินกรมท่า แต่คราวนี้ใส่สูทเป็นชุดสุภาพสากลทั้งคู่ นี่แสดงถึงพวกเขาพร้อมแล้วที่จะเริ่มต้น ‘จริงจัง’ กับความรักครั้งนี้
ผมเป็นคนชอบใส่เสื้อลายสก็อต ที่มีลักษณะเป็นตารางสี่เหลี่ยม โดนสันดานของคนที่ชอบใส่เสื้อประเภทนี้ คือเป็นคนมีกฎระเบียบเคร่งครัด มีความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ยึดมั่นในประเพณีวัฒนธรรม ไม่ทำอะไรเกินกรอบ อาจจะที่สังคมวางไว้หรือที่ตนเองวางไว้, ในฉากที่นางเอกสั่งให้พระเอกเดินไปภูเขาลูกโน้นแล้วตะโกนหา เธอและเขาต่างใส่เสื้อลายสก็อตเหมือนกัน ทั้งคู่มีอะไรที่ต้องการพูดออกมาให้ฝ่ายตรงข้ามได้ยินแต่เก็บมันไว้ ฝังใส่ Time Machine รอวันเปิดออกอ่านพร้อมกันในอนาคต นี่เป็นกรอบ(หรือกฎ) ที่ทั้งคู่ตั้งตกลงไว้ร่วมกัน กลบฝังความรู้สึกของตัวเอง ให้เวลาเป็นตัวเยียวยาความรู้สึก เมื่อวันนั้นมาถึง ถ้าใจฉันยังคงเป็นเหมือนเดิม เปิดจดหมายนี้ออกอ่านแล้วสามารถรู้สึกได้ ก็ถึงเวลาที่ชีวิต(ความรัก)ต้องก้าวเดินต่อ
สถานีรถไฟคือสถานที่แห่งการแยกจาก หนังรักโรแมนติกน่าจะเป็นร้อยๆพันๆเรื่อง มักจะใช้สถานีรถไฟ, ป้ายรถเมล์, สนามบิน เป็นสัญลักษณ์ของการจากลา แยกจาก กับหนังเรื่องนี้ก็ไม่ต่าง แต่มีมุกหนึ่งที่ถือว่าสร้างความแตกต่าง คือผลัดกันกระโดดขึ้นลงรถไฟ ตอนแรกนางเอกให้พระเอกขึ้นไปก่อน เพราะเธอไม่อยากเป็นคนจากไป ให้พระเอกเป็นคนจากไป แต่ขณะรถไฟกำลังเคลื่อนออก พระเอกตัดสินใจกลับไปหานางเอก ส่วนนางเองตัดสินใจไปกับพระเอก, กลายเป็นสองความคิดนี้สวนทางกัน คนหนึ่งกระโดดขึ้นรถไฟ คนหนึ่งกระโดดลงรถไฟ มันน่าทึ่งที่ ทั้งสองตัดสินใจเพื่อฝ่ายตรงข้าม (ทั้งๆที่มันควรเป็นแค่พระเอกที่ยอมตามนางเอก แต่คราวนี้เธอยอมก้าวเดินไปกับเขา) นั่นทำให้ความตั้งใจเดิมที่แยกกัน 2 ปีต้องดำเนินต่อ (เชื่อว่าถ้าทั้งคู่จบลงที่ อยู่บนรถไฟด้วยกัน หรืออยู่ที่สถานีด้วยกัน คงได้สานต่อความรักโดยไม่มี 2 ปีมาคั่นแน่ๆ)
กระนั้นเธอไม่สามารถกลับมาใน 2 ปี นั่นเพราะตัวเองยังจมวนเวียนอยู่กับความคิดความรู้สึกเดิมๆ กลัวที่จะเริ่มต้นใหม่ ความเศร้าเสียใจที่ฝังรากลึก กว่าจะถอนออกหมดก็ยาก ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้ด้วยถ้าจะถอนออกหมดแล้ว ทุกอย่างจะกลับคืนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น, สิ่งที่เธอก้าวผ่านไม่ได้จากการถอนทุกอย่างหมด แต่เป็นการยอมรับในสิ่งที่ตนเคยผ่านมา กับคนที่เราเคยรักมาก มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะลืมเขาหมดใจ ไม่ว่ายังไงเขาก็ยังอยู่ในใจเรา แต่ขนาดจะเล็กลงเมื่อกาลเวลาผ่านไป, กับผู้ชาย เรื่องลืมถือว่าง่าย เรื่องจำถือว่ายาก แต่ผู้หญิง เรื่องจำนั้นง่ายแต่ให้ลืมนั้นยาก
ฉากไฮไลท์ของหนังที่ใครๆคงชอบกัน ตอนนางเอกเล่นเปียโนเพลง Canon in C ของ Johann Pachelbel แล้วพระเอกเดินเอาดอกไม้มาให้, เพลง Canon ที่หลายๆคนรู้จัก คือ Canon in D ไม่ใช่ in C นะครับ ซึ่งจริงๆมันก็คือเพลงเดียวกันนะแหละ แต่งโดย Pachelbel เหมือนกัน ซึ่งคอร์ด C กับ D ต่างกันแค่ระดับโน๊ต และเครื่องดนตรีที่ใช้เล่น Canon in C มักจะเล่นกับเปียโนอย่างเดียว ส่วน Canon in D เวอร์ชั่น original จะใช้เครื่องดนตรี ไวโอลิน 3 ตัวและเบส 1 ตัว (เช่น เชลโล่), เหตุที่ฉากนี้ใครๆก็กรี๊ดกัน เพราะเป็นการแสดงความกล้าและการเอาชนะความกลัวของพระเอก เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนางเอก, การกระทำเช่นนี่เป็นสิ่งที่ใครๆ (โดยเฉพาะผู้ชาย) คงรู้สึกอึดอัด ขัดขืน ลำบากใจ เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่จะไม่ชอบแสดงความรู้สึกของตนเองออกมาต่อหน้าคนอื่น ซึ่งคนที่สามารถทำได้ ย่อมแสดงถึงว่า เป็นการยอมรับตนเอง เอาชนะความกลัว และพร้อมเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในใจออกมา, กระนั้น ถึงผมจะบอกว่านี่เป็นสิ่งน่าละอาย แต่จริงๆแล้วไม่เลยนะครับ เป็นความรู้สึกของคุณเองล้วนๆ กับคนที่ไม่เคยแสดงตัวตนออกมาให้คนอื่นเห็น เขามักจะเกิดความกลัวถ้าต้องเปิดเผยตนเอง แต่กับคนที่ไม่มีอะไรต้องปกปิด มันจะไม่มีความละอายเหลืออยู่ เพราะนี่เป็นแค่การกระทำๆหนึ่งเท่านั้น
เหตุที่ฉากนี้ของหนังเลือกเพลง Canon, ผมเรียกว่าเพลงนี้ว่า ‘เพลงชาติงานแต่ง’ ที่เวลามีงานแต่งงาน นี่จะเป็นเพลงพื้นฐาน มาตรฐานที่วงดนตรีจะบรรเลงตามคำเรียกร้องของคู่บ่าวสาว ในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ซึ่งในหนังเปรียบได้กับ ‘ช่วงเวลาที่ประทับใจที่สุด’ ทั้งนี้ถ้าใครได้อ่านประวัติเพลงนี้ จะพบว่า นี่เป็นเพลงที่มีความมหัศจรรย์ของตัวโน้ต (Kanon หรือ Canon ในทางดนตรีหมายถึงการเล่นวนซ้ำ) ที่สามารถเล่นด้วยโน้ตชุดเดียวซ้ำไปซ้ำมาได้ตลอดเพลง (ซึ่งถ้าเป็นไวโอลิน 3 ตัว จะสามารถเล่นคนละท่อนกันแล้วประสานกลายเป็นเพลงเดียวกันได้) เรื่องราวของหนังก็เช่นกัน ความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้จะต่างคน ต่างเหตุการณ์ ต่างเวลา แต่มีพื้นฐาน ให้ความรู้สึกแบบเดียวกัน
สำหรับประเด็นไซไฟ, UFO, แฝดห้าในหนัง ผมถือว่าเป็นอะไรที่น่าพิศวงดีนะครับ บางครั้งเรื่องราวบางอย่างที่ผู้ชมอาจมีข้อสงสัยและบางทีหนังก็ไม่มีคำตอบให้ทั่วๆไปให้ การใส่ Easter Egg ที่ถ้าคุณคลั่งไคล้หนังมากๆ ต้องคอยสังเกตมองหาคำตอบดูเอง นี่เป็นการทำให้หนังดูสนุกขึ้นพิลึก, ผมไม่ขอพูดถึงว่ามีอะไรบ้างในหนัง แต่แนบลิ้งค์บทความที่เขียนคำตอบไว้แล้วนะครับ เฉพาะสำหรับคนที่สนใจใคร่อยากรู้ความลับทั้งหมดเท่านั้น
LINK : http://www.oknation.net/blog/red-devils/2008/03/07/entry-1
ตอนที่ผมดู My Sassy Girl ครั้งแรกๆ จบปุ๊ปก็รีบเข้าอินเตอร์เน็ตหาโน๊ตเพลง Canon มาหัดเล่นเปียโน ฝึกอยู่วันสองวันก็เล่นได้จนคล่อง ตั้งใจว่าชีวิตนี้ถ้าได้แต่งงานเมื่อไหร่จะเล่นเพลงนี้ด้วยตัวเอง เชื่อว่าหลายคนมีความฝันแบบนี้แน่ๆ แต่ผมฝันสลายไปนานแล้วนะครับ ถือเป็นความสวยงามในช่วงชีวิตหนึ่ง ที่ได้ดูหนังรักโรแมนติก ชื่นชอบ หลงรัก หลงใหลและกลายมามีอิทธิพลต่อความฝันของตนเอง ถ้าคุณดูหนังเรื่องนี้แล้วถึงระดับที่ผมว่ามา จงเรียกมันเถอะครับว่า ‘หนังเรื่องโปรด’ ในชีวิตคงมีไม่กี่เรื่องเท่านั้นหรอก ที่สามารถทำให้คุณอยากทำโน่นนี่นั่น อยากเป็นนี่นั่นโน่น อยากได้นั่นโน่นนี่ รักษาความรู้สึกนี้ไว้ให้ดีนะครับ มันจะอยู่กับคุณจนวันตายเลย
แนะนำกับคนชอบดูหนังรักเกาหลี โรแมนติกคอมเมดี้ ถ้ายังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ อย่าริอาจเรียกตัวเองว่าคอหนังรักโรแมนติกนะครับ, แฟนหนัง Jun Ji-hyun กับ Cha Tae-hyn และผู้กำกับ Kwak Jae-yong คงไม่พลาดอยู่แล้ว
จัดเรต 13+ กับฉากกินเหล้าและความรุนแรงต่างๆนานาที่ยัยตัวร้ายกระทำกับนายเจี๋ยมเจี้ยม
Leave a Reply