Water Lilies (2007) French : Céline Sciamma ♥♥♥

การตื่นรู้เรื่องทางเพศ ‘Sexual Awakening’ ในภาพยนตร์เรื่องแรกของ Céline Sciamma แม้เต็มเปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ ทะลุปรุโปร่งถึงสิ่งซ่อนเร้นอยู่ภายใน แต่ยังเป็นการทดลองผิดลองถูก ขาดประสบการณ์นำเสนอที่น่าสนใจ ผลลัพท์เลยได้แค่บัวลอยปริมๆ รอคอยวันงอกงาม เบ่งบานสะพรั่ง

Water Lilies (2007) นำเสนอเรื่องราวของสามสาววัยแรกรุ่น อายุประมาณ 15 ปี ต่างมีประสบการณ์ ‘ครั้งแรก’ ที่แตกต่างกันออกไป พยายามดิ้นรนขวนขวาย ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้เติมเต็มความต้องการ ตอบสนองตัณหาราคะ/สันชาตญาณ ระริกระรี้ แรดร่าน ไม่สามารถควบคุมตนเอง เมื่อนำเสนอผ่านมุมมองผู้กำกับหญิง (เลสเบี้ยน) มันจึงมีความสมจริง ‘insight’ ถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรง

สิ่งต้องชมเลยก็คือผู้กำกับ Céline Sciamma แม้ว่า Water Lilies (2007) ยังมีหลายส่วนขาดๆเกินๆ เร่งรีบร้อน รวบรัดตัดตอนไปนิด (หนังความยาวแค่ 85 เท่านั้น) แต่มุมมองการนำเสนอ (ผ่าน female gaze) และวิสัยทัศน์ของเธอ สามารถเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆให้ผู้ชม เรียกว่า Woman New Wave คงไม่ผิดอะไร

ผมค่อนข้างมีปัญหาในการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเหมือนตนเองกำลังถ้ำมองเรื่องส่วนตัวของสาวๆ รู้สึกอึดอัด กระอักกระอ่วน นี่ไม่ใช่สถานที่ของฉัน … นั่นแสดงว่า Water Lilies (2007) ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อเพศหญิง และเลสเบี้ยนโดยเฉพาะ ถ้าคุณผู้ชายอยากรับชม ต้องเปิดใจให้กว้าง ละทอดทิ้งอีโก้ของตนเองเสีย และอย่ามือถือสากปากถือศีลก็แล้วกัน


Céline Sciamma (เกิดปี 1978) ผู้กำกับ/นักเขียนบทภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Pontoise, Val-d’Oise วัยเด็กชื่นชอบการอ่าน-เขียน หลงใหลในภาพยนตร์เพราะคุณย่ามักเปิดหนัง Hollywood ยุคเก่าๆให้รับชม, พอช่วงวัยรุ่นก็แวะเวียนเข้าโรงหนัง Art House สัปดาห์ละสามวัน, คลั่งไคล้ผลงานของ Chantal Akerman และ David Lynch, ศึกษาต่อยัง École Nationale Supérieure des Métiers de l’Image et du Son (เรียกสั้นๆว่า La Fémis) พัฒนาบทโปรเจคจบ Naissance des Pieuvres ไม่เคยคาดหวังจะเป็นผู้กำกับ แต่หลังจากนำบทไปพูดคุยโปรดิวเซอร์ ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่

แรงบันดาลใจของหนังเกิดขึ้นเมื่อ Sciamma อายุ 15 ปี ได้มีโอกาสเข้าร่วมชมการแสดงระบำใต้น้ำ (Artistic Swimming หรือ Synchronized Swimming) เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ หมกมุ่นอยู่เป็นสัปดาห์ๆ ครุ่นคิดอยากเต้นแบบนั้นได้บ้าง แต่อายุเกินฝึกฝน และร่างกายก็ไม่เหมาะสม (เพราะไม่ได้เป็นนักกีฬามาตั้งแต่แรก)

When I was 15-years-old I attended an exhibition by chance and I was totally moved. I became obsessed with it for like a week. I thought I’d totally messed up my life and should have been doing synchronized swimming, but it was too late. I didn’t have the athletic body to do it.

Céline Sciamma

ภายหลังความหมกมุ่นนั้น ทำให้ Sciamma ครุ่นคิดได้ว่า ระบำใต้น้ำ (กีฬาที่เฉพาะผู้หญิงเล่นได้) มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ถึง ‘ความเป็นเพศหญิง’ ผู้ชมพบเห็นเบื้องบน/เปลือกนอกคือความสวย สง่างาม แต่ภายใต้พื้นผิวน้ำนั้นคือการต่อสู้ดิ้นรน ต้องเสียสละ อดทน ฝึกฝนจนกว่าจะได้ผลลัพท์เช่นนั้นออกมา

It really worked as a metaphor for what I wanted to tell; that is, the ‘job’ of being a girl. Because it’s the only sport that strictly for girls, it tells a lot about what is expected of them. There is this whole surface thing where you have to be very feminine with the makeup and the hair and you have to smile and pretend you’re not making any effort. And then you have underwater, under the surface of things where it’s all about sacrifice and pain. You look like a doll but you’re a soldier.

Sciamma ใช้เวลา 6 เดือน พัฒนาบทในมุมมองของนักเขียนระหว่างยังเรียนอยู่ La Fémis ซึ่งพอสำเร็จการศึกษา 2-3 เดือนหลังจากนั้น ได้มีโอกาสพูดคุยกับโปรดิวเซอร์ พอถูกผลักดันให้เป็นผู้กำกับ กลับมาปรับปรุงบทเพิ่มเติม(ในมุมของผู้กำกับ)อีก 3-4 เดือน เปลี่ยนเปลงเรื่องราวให้มีกระชับรัดกุม จากบทสนทนายาวๆตัดสั้น หันมาเน้นเล่าเรื่องด้วยจังหวะ และภาษาภาพยนตร์

Once I knew that I was going to direct this, the rewriting process was really radical because when you are not planning on directing I think you can be more indulgent. I wanted there to not be any decorative scenes. It was all action.

For instance the scene when Marie says, “I’m going to do it. You asked me to deflower you and I’m going to do it.” The scene after that, they are actually doing it. I wanted it to be surprising, like that.

I went radically for my rhythmic obsession and my visual obsession.


เรื่องราวของสามสาวแรกรุ่น อายุ 15 ปี, เริ่มจาก Marie (รับบทโดย Pauline Acquart) วันหนึ่งมีโอกาสรับชมการแสดงระบำใต้น้ำ เกิดความหลงใหลประทับใจ Floriane (รับบทโดย Adèle Haenel) จึงพยายามเข้าไปตีสนิทชิดใกล้ โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรัก อิจฉาริษยาเมื่อเห็นเธอกอดจูบกับแฟนหนุ่ม François (รับบทโดย Warren Jacquin)

Anne (รับบทโดย Louise Blachère) สาวร่างอวบ เพื่อนสนิทของ Marie คือคนชักชวนให้มาชมการแสดงระบำใต้น้ำ (เพราะตนเองเป็นคนฝึกสอนรุ่นน้อง) บังเอิญวันนั้นลืมผ้าเช็ดตัว ขณะกำลังเปลือยกายเปลี่ยนเสื้อผ้า François เปิดประตูเข้ามาพบเห็น โดยไม่รู้ตัวเธอเกิดความต้องการ อยากครอบครองเป็นเจ้าของ พร้อมยินยอมศิโรราบทุกสิ่งอย่าง

สำหรับ Floriane แม้เป็นกัปตันทีมระบำใต้น้ำ แต่กลับไม่ถูกโฉลกกับเพื่อนๆที่กล่าวหาว่าตนเป็นยัยร่าน ทั้งๆยังบริสุทธิ์ ไม่เคยร่วมรักกับใคร พยายามเกี้ยวพาราสี François ขณะเดียวกันก็เริ่มแสดงความสนใจ Marie (หญิงก็ได้ชายก็ดี) เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเธอร้องขอให้เพื่อนสาวทำลายพรหมจรรย์ เพื่อค่ำคืนนั้นจะได้ระริกรี้แฟนหนุ่ม


เพื่อให้เรื่องราวมีความสมจริงที่สุด Sciamma ทำการคัดเลือกนักแสดงหน้าใหม่ หญิงสาวแรกรุ่นอายุ 15-20 ปี (ถ้าเกินกว่าจะดูไม่เหมือนเด็กสาวแล้วละ) ส่วนใหญ่ไม่เคยพานผ่านภาพยนตร์เรื่องไหน โดยทั้งสามตัวละครจะมีความแตกต่างทางอย่างชัดเจน

Pauline Acquart (เกิดปี 1992, ที่ Paris) ถูกแมวมองพบเจอระหว่างเดินทางกลับบ้านเมื่อปี 2006 ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูเหมือนทอมบอย ผอมแห้ง แต่งตัวเชยๆ นิสัยขี้อาย แต่สายตาเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากเป็นแบบที่เพ้อใฝ่ฝัน เหมาะสมกับบทบาท Marie ที่ไม่ค่อยพูดอะไร แต่สามารถสื่อสารผ่านภาษากาย (และดวงตา) แสดงความต้องการออกมาอย่างชัดเจน, หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ Acquart ก็ยังเวียนวนอยู่ในวงการ แต่ไม่ค่อยได้รับโอกาสจ้างงานสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่แค่เพียงตัวประกอบทั่วๆไป (แม้การแสดงของเธอใน Water Lilies จะถือว่ายอดเยี่ยมใช้ได้ แต่ภาพลักษณ์ที่ดูธรรมดาเกินไป จึงหาบทบาทเหมาะสมไม่ได้สักเท่าไหร่)

Louise Blachère (เกิดปี 1989, ที่ Saint-Étienne) ถูกพบเจอโดยแมวมองอีกเช่นกัน รับบท Anne เพื่อนสนิทของ Marie ด้วยรูปร่างอวบๆ จึงขาดความเชื่อมั่น(ในตนเอง) แต่พยายามแต่งชุดรัดรูปให้ดูยั่วเย้ายวนชายที่ตนแอบชื่นชอบ แรกเริ่มต้องการเพียงกอดจูบ แสดงความรัก แต่ภายหลังก็ยินยอมพร้อมศิโรราบ ได้ร่วมรักหลับนอน เติมเต็มความต้องการของตนเอง และหลังจากสูญเสียความบริสุทธิ์ ถึงค่อยหนักถึงความต้องการแท้จริง, โชคชะตาของ Blachère ก็ไม่ต่างจาก Acquart เพราะไม่ได้สวยดูดี แม้ฝีมือการแสดงถือว่าใช้ได้ กลับไม่ค่อยได้รับโอกาสในวงการภาพยนตร์สักเท่าไหร่ … อัตราการแข่งขันมันสูงจริงๆนะ

Adèle Haenel (เกิดปี 1989, ที่ Paris) ได้เข้าร่วมคณะละครเวที ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ด้วยการแสดงเลียนแบบตัวการ์ตูน Tex Avery, พอโตขึ้นมีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Les Diables (2002) แล้วว่างเว้นหลายปีเพื่อไปร่ำเรียนต่อ กระทั่งได้รับชักชวนให้มาทดสอบหน้ากล้อง Water Lilies (2007) หลังตอบตกลงรับบท ซักซ้อมระบำใต้น้ำอย่างจริงจัง (แม้ส่วนใหญ่จะใช้นักแสดงแทนก็ตามเถอะ) ซึ่งบทบาท Floriane เต็มไปด้วยเริดเชิดหยิ่ง ทะนงตน ฉันสวยฉันเก่งจึงไม่สนใจใคร พยายามตีตนออกห่างจากผองเพื่อน เลยถูกซุบซิบนินทายัยแรดร่าน แต่เพื่อให้ได้ร่วมรักแฟนหนุ่มก็ไม่ยินยอมเสียหน้า (ถึงขนาดร้องขอให้ Marie ช่วยทำลายพรหมจรรย์ของตนเอง) ถึงอย่างนั้นรสนิยมทางเพศของเธอดูเหมือน หญิงก็ได้-ชายก็ดี (Bisexual)

ในบรรดาสามนักแสดงหลัก Haenel ถือว่ามีความเจิดจรัสจร้า ดูลื่นไหลเป็นธรรมชาติ และอาจทำให้สาวๆพร่ำเพ้อตกหลุมรัก (เธอยังประกาศตัวเป็นแฟนสาวผู้กำกับ Céline Sciamma ครองรักอยู่พักใหญ่ๆ) นั่นเองทำให้ได้รับการส่งเสริมสนับสนุน กอปรความสามารถที่โดดเด่นจริงๆ จึงสามารถประสบความสำเร็จ และค้นพบความมั่นคงในวงการภาพยนตร์


ถ่ายภาพโดย Crystel Fournier สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มต้นมีผลงานหนังสั้นตั้งแต่ปี 1998 กระทั่งมีโอกาสกลายเป็นตากล้องขาประจำ Céline Sciamma ตั้งแต่ Water Lilies (2007)

หนังปักหลักถ่ายทำยัง Cergy, Val-d’Oise ไม่ห่างจากบ้านเกิดของผู้กำกับ Sciamma ให้เหตุผล เพราะมีความมักคุ้นเคยสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างดี และยังเป็นธรรมเนียมนิยมในฝรั่งเศส ผลงานกำกับแรกมักนำเสนอเรื่อง Coming-of-Age ของตนเอง/ที่บ้านเกิด

in France. It’s a bit of a tradition for a filmmaker to make their first movie surrounding their own intimate coming-of-age story.

Céline Sciamma

เพราะไม่เคยแม้แต่กำกับหนังสั้น การทำงานของ Sciamma จึงดำเนินรอยตามวิถีทางทั่วๆไป ก่อนเริ่มถ่ายทำประมาณหนึ่งเดือน รวมตัวทีมนักแสดงเพื่อสานความสัมพันธ์ ปรับเปลี่ยนมุมมองพวกเธอให้กับบทบาท และสร้างสภาพแวดล้อมให้สาวๆรู้สึกปลอดภัยเมื่อต้องเปลือยกายต่อหน้ากล้อง

We worked for a month before shooting. It wasn’t rehearsing per se because we didn’t go through the dialogue of the scenes; it was mostly working on concentration and bringing emotions, like in an Actor’s Studio way, what you really feel.  And getting them to know each other and especially talking a lot about the film because I didn’t want there to be any misunderstanding. 

สำหรับสไตล์ภาพยนตร์ ผมยังไม่แน่ใจในลายเซ็นต์ของ Sciamma แต่หลายๆช็อตของหนังให้สัมผัสเหมือน ‘female gaze’ จับจ้องมองบริเวณที่ผู้ชายมักไม่ค่อยหาญกล้าเหลียวแลดู (เพราะมันดูไม่สุภาพ เหมือนพวกหื่นกระหายมากเกินไป) ซึ่งสร้างความรู้สึกอึดอัด กระอักกระอ่วน(ให้ผู้ชมที่เป็นผู้ชาย)ได้พอสมควรเลยละ

แม้ความตั้งใจของผู้กำกับ Sciamma ไม่ต้องการให้หนังแลดูเป็นพวกถ้ำมอง (voyeuristic) แต่หลายๆฉากกลับทำให้ผมรู้สึกเหมือนเป็นส่วนเกิน นี่ไม่ใช่สถานที่ที่ผู้ชายจะเข้าไปมีส่วนรับรู้เห็นกับเรื่องส่วนตัวของสาวๆ … คือถ้าในมุมของเพศหญิง หลายคนอาจไม่รู้สึกเช่นนั้น(มั้งนะ) เพราะไดเรคชั่นดังกล่าวราวกับทำให้พวกเธอเข้าไปมีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์ ตัวละครหนึ่งของเรื่องราว (หรือเพราะนั่นเป็นมุมมองที่พวกเธอจับจ้องเพื่อนหญิงเป็นประจำอยู่แล้ว เลยไม่รู้สึกกระอักกระอ่วน ผิดที่ผิดทางประการใด)


การเลือกใช้ Verdi: Messa da Requiem ท่อน Libera me (แปลว่า Deliver me, ปล่อยฉันไป) ในการแสดงระบำใต้น้ำ นอกจากเพื่อสร้างความประทับใจแรก ‘first impression’ ให้ผู้ชม ยังแฝงนัยยะถึงเรื่องราวของหนังมุ่งไปสู่การปลดเปลื้องพันธนาการ ‘ครั้งแรก’ ของบรรดาสามสาว เมื่อพวกเธอได้รับการปลดปล่อยก็จักได้รับอิสรภาพที่แท้จริง

ไดเรคชั่นของฉากนี้ จะตัดสลับไปมาระหว่างใบหน้าของ Marie จับจ้องมองการแสดงระบำใต้น้ำ (เห็นเฉพาะเบื้องบนพื้นผิวน้ำ) วิธีการดังกล่าวเพื่อให้ผู้ชมรับรู้ถึงความใคร่สนใจของหญิงสาว แม้เธอจะไม่มีปฏิกิริยาแสดงออก(ทางใบหน้า)สักเท่าไหร่ (เหมือนเธอพยายามเก็บซ่อนความรู้สึกดังกล่าวไว้ภายใน)

ปัญหาของ ‘female gaze’ จริงๆมันก็ไม่ใช่ปัญหาหรอกนะ เพราะมุมมองของผู้กำกับหญิง (เลสเบี้ยน) นี่คือสิ่งที่พวกเธอจับจ้องมองผู้หญิงด้วยกันเองแบบนี้อยู่แล้ว แต่สำหรับผู้ชายจะถูกตีตราว่าเป็นการถ้ำมอง (voyeuristic) เพราะเมื่อไหร่(ผู้ชาย)จับจ้องหน้าอก เรียวขา บั้นท้าย ฯ มันคือความไม่สุภาพอย่างรุนแรง สมัยนี้มีคำเรียก ‘sexual harassment’ ซึ่งหนังของผู้กำกับชาย ช็อตล่อแหลมลักษณะนี้จึงแทบไม่พบเห็น หรือถ้ามีก็จะแฝงนัยยะ/สื่อความหมายบางอย่าง ไม่ใช่กระจัดกระจายพบเห็นได้ทั่วไปในลักษณะนี้

รู้สึกว่ามันย้อนแย้งเองไหมละครับ ถ้าผู้ชายจับจ้องมองหน้าอกผู้หญิงจะถูกเรียกว่าไอ้หื่นกาม แต่ถ้าผู้หญิงด้วยกันกลับบอกว่านั่นคือธรรมชาติ/ปกติทั่วไป

การสนทนาครั้งแรกระหว่าง Marie กับ Floriane (ในห้องน้ำ) สังเกตว่าใบหน้าของหญิงสาวบนกระจก สะท้อนถึงตัวตน/ธาตุแท้ที่มีความแตกต่างจากเปลือกนอกพบเห็น (ถูกตีตราว่ายัยร่าน-ตัวจริงกลับยังไม่เคยสูญเสียพรหมจรรย์) ซึ่งยังสามารถอ้างอิงถึงนัยยะการแสดงระบำใต้น้ำ (บนพื้นผิว-ใต้น้ำ) ได้ด้วยเช่นกัน

ซีนน่าจดจำที่สุดของหนัง คือเมื่อ Marie พบเห็นภาพการแสดงระบำใต้น้ำจากทั้งเบื้องบนและด้านล่าง มองผิวเผินช่างดูสวย สง่างาม แต่ภายใต้(พื้นผืวน้ำ)นั้นสองขาตะเกียกตะกาย แหวกว่าย ดิ้นรนทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้(เหนือผิวน้ำ)ออกมาดูดี เป็นที่ชื่นชอบของผู้พบเห็น

ในมุมมองของผู้กำกับ Sciamma นี่เป็นกิจกรรม/กีฬา การแสดงเพียงหนึ่งเดียวสามารถแทนคำนิยาม ‘ความเป็นเพศหญิง’ ออกมาได้ชัดเจนที่สุด ภายนอกพยายามสร้างภาพให้ดูดี สวยสง่าราศี แต่ภายในร่างกาย-จิตใจ ล้วนต้องต่อสู้ดิ้นรน ฝึกฝน ทุ่มเทพยายาม เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย เจ็บปวดรวดร้าว ทุกข์ทรมาน ก็ไม่หวั่นแม้วันมามาก

ถ้าเป็นหนังที่สร้างโดยผู้ชาย การใช้กล้วยและสุนัข มักมีเพียงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ ไม่ขยับขยายให้ผู้ชมรู้สึกกระอักกระอ่วนต่อภาพพบเห็น ปฏิกิริยาสีหน้า การแสดงออกของพวกเธอสักเท่าไหร่ แต่พอเป็นหนังของผู้กำกับหญิง (เลสเบี้ยน) มันจึงมีความ ‘provocative’ ที่ตรงไปตรงมาและดูรุนแรงกว่ามากกว่า

  • Floriane กินกล้วย (สัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชาย) ขณะกำลังสนทนากับหนึ่งในเพื่อนร่วมทีม แต่ปฏิกิริยาสีหน้าคำพูดของเธอ กลับสร้างความน่ารังเกียจ เรื่องของฉันใครจะทำไม (ทั้งๆตัวเองไม่เคยเสียความบริสุทธิ์ให้ใคร กลับทำตัวเหมือนพานผ่านผู้ชายมามากมายนับไม่ถ้วน)
  • Anne หยิบยืมสุนัขจากเพื่อนบ้าน แล้วมานั่งถ่างข้าง (ราวกับกำลังมีเพศสัมพันธ์กับสุนัข) เฝ้ารอคอย François เพียงเพื่อจะเดินติดตาม สานความสัมพันธ์ แบบไม่สนใครจะมองยังไง อะไรทั้งนั้น

Floriane โน้มน้าวให้ Marie ยังคงอยู่เคียงชิดใกล้ตนเอง ด้วยการนำพาไปพูดคุยสนทนาเรื่องผู้ชาย (ที่เคยแสดงพฤติกรรมเxียกๆต่อหน้าตนเอง) ยังสถานที่ที่มีเสาตั้งเรียงราย ผมเห็นเหมือนสัญลักษณ์(อวัยวะ)เพศชาย และพวกเธอนั่งอยู่ตรงบันได เบื้องล่าง ภายใต้ (สะท้อนถึงสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่)

พัฒนาการที่ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งความสัมพันธ์ คือการมอบของขวัญให้กันและกัน เริ่มจาก Floriane มอบชุดว่ายน้ำเก่าให้ Marie แต่เหมือนว่าหลังจากนี้เธอจะทิ้งลงถังขยะ แต่มันก็เป็นของขวัญที่มีคุณค่าทางใจ ทำให้ Marie แอบเก็บมาไว้ในลิ้นชัก, ตรงกันข้ามกับเมื่อตอน Anne มอบสร้อยคอให้ François แล้วถูกส่งต่อให้ Floriane (และ Anne) ถือเป็นของขวัญทางวัตถุที่ผู้รับไม่ได้เห็นคุณค่าใดๆ

ฉากสองสาวนอนสนทนา เหม่อมองบนเพดาน สนทนาถึงภาพสุดท้ายของคนตาย ราวกับจะสื่อถึงข้อจำกัดของชีวิต วิสัยทัศน์ ไม่ใช่ทุกคน(ที่ตายไป)จะได้รับอิสรภาพโบยบิน มองเห็นท้องฟ้า เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ดินแดนแห่งอิสรภาพที่ไม่รู้จบสิ้น (เพดาน = สิ่งกีดกั้นขวางอิสรภาพที่แท้จริง)

และการที่ Marie สวมใส่ชุดว่ายน้ำ (ของขวัญจาก Floriane) ทับเสื้อผ้าของตนเอง สะท้อนถึงภายนอกอยากกลายเป็นแบบ Floriane มีความสวย สง่างาม สามารถเริงระบำใต้น้ำได้อย่างชดช้อย (แต่อาจไม่รวมถึงการถูกผู้ชายรุมตอม ระร่าน หว่านโปรยเสน่ห์ไปทั่ว)

Céline Sciamma รับเชิญ (Cameo) ในหนังของตนเอง เล่นเป็นพนักงานขาย McDonald ที่แสดงทัศนะว่าพวกเธอโตเกินกว่าจะได้รับของแถม/ของเล่นเด็ก นี่ไม่ได้จะสื่อแค่ ‘ความเป็นเด็ก’ ในตัว Anne แต่ยังความคิดอ่านของสาวสาวสาวในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตราบใดที่ยังไม่เคยพานผ่าน ‘ครั้งแรก’ ย่อมไมถือว่าเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างแท้จริง

ฉากการสูญเสียพรหมจรรย์ Floriane นำเสนออย่างตรงไปตรงมาด้วย 2 ช็อต Long Take (Medium Shot และ Close-Up เพื่อให้เห็นคราบน้ำตา) นี่เป็นวิธีที่ผู้กำกับ Sciamma ครุ่นคิดว่าเรียบง่าย ซื่อตรง ทรงพลังที่สุดแล้ว เพราะถ้าเล่นลีลากับการตัดต่อหรือมุมกล้องอื่นๆ (Trick Shot) มันอาจทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนทีเล่นทีจริง จับต้องไม่ได้ หรือนามธรรมเกินไป

ผ้าห่มสีขาวกับการเสียบริสุทธิ์ จริงๆก็น่าจะถ่ายให้เห็นรอยเลือดสักหน่อย ซึ่งหลังจากเสร็จฉากนี้ ผ้าคลุมเตียงจะมีลวดลายดอกไม้สีฟ้า (สัญลักษณ์ของการ defloration จริงๆมันควรเป็นสีแดง แต่ผมครุ่นคิดว่าการใช้น้ำเงินเพื่อสะท้อนการสูญเสียพรหมจรรย์แบบปลอมๆ ด้วยมือ ไม่ใช่เลือดที่ไหลจากเพศสัมพันธ์จริงๆ)

(ผ้าปูเตียงในห้องนอนของ Marie ให้ความรู้สึกเหมือนรอยเลือด ทั้งๆที่เธอไม่ได้สูญเสียพรหมจรรย์ให้ใคร)

ขณะที่ Sex แทนความต้องการทางกาย การจุมพิตถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกทางจิตใจ ชื่นชอบ ตกหลุมรัก ไม่ได้สื่อถึงร่านราคะเสมอไป

  • จูบแรกของ Marie และ Anne เป็นการแสดงถึงสัมพันธภาพผองเพื่อน ไม่ได้มีตัณหาใดๆร่วมด้วย
  • Anne ปฏิเสธจุมพิตกับ François เพราะมีเพียงความต้องการทางกาย ไม่ได้รู้สึกตกหลุมรักประการใด
  • Floriane จุมพิตกับใครไปทั่ว แสดงถึงความร่านราคะ ต้องการยั่วยวน สร้างความริษยาให้ผู้อื่น (ไม่จำเป็นต้องสื่อถึง Sex เสมอไป)
  • และรอยจูบทิ้งคราบลิปสติกของ Floriane กับ Marie นั่นคือการตราฝังความทรงจำ รักครั้งแรก (หัวใจก็แตกสลาย)

ช็อตจบของหนัง Marie และ Anne ต่างกระโดดลงสระ ล่องลอยคออยู่บนพื้นผิวน้ำ สามารถสื่อถึงอิสรภาพของพวกเธอจากพันธนาการ ‘ครั้งแรก’ สูญเสียความรัก (Marie) และพรหมจรรย์ (Anne) ต่อจากนี้ถือว่าได้ก้าวข้ามผ่านความเป็นเด็ก เติบโตเป็นหญิงสาวอย่างแท้จริง (Coming-of-Age)

ขณะที่ Floriane กำลังโยกเต้นอย่างเมามันในบาร์ เพราะเหมือนว่าเธอไม่ได้สูญเสียอะไรทั้งนั้น (พรหมจรรย์ของ Floriane สูญเสียด้วยมือ ไม่ใช่จากเพศสัมพันธ์, ส่วนเรื่องของความรัก ก็ไม่ได้มอบให้ใครทั้งนั้น) ก็เลยยังโอ้ลัลล้า ลุ่มหลงระเริง โดยไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งใดๆ … หรือจะมองว่า เธอยังมีเป็นเด็ก ไม่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ได้เช่นกัน

ตัดต่อโดย Julien Lacheray สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มจากมีผลงานหนังสั้นอีกเช่นกัน แล้วกลายเป็นนักตัดต่อขาประจำ Céline Sciamma ตั้งแต่ Water Lilies (2007)

เรื่องราวของหนังดำเนินพานผ่านมุมมองสายตาของ Marie (พบเห็นเธอปรากฎอยู่ทุกๆฉาก) ตั้งแต่พบเห็น/ลุ่มหลงใหลในการแสดงระบำใต้น้ำ พยายามเข้าไปตีสนิทชิดใกล้ Floriane ขณะเดียวกันก็ค่อยๆเหินห่างเพื่อนสนิท Anne (เหมือนจะไม่มีฉากที่ Floriane และ Anne อยู่ร่วมช็อตเดียวกัน)

  • แนะนำตัวละคร Anne, Floriane, Marie พร้อมความประทับใจแรกพบเห็น
    • Marie หลังจากพบเห็นการแสดงระบำใต้น้ำ บังเกิดความลุ่มหลงใหล เลยต้องการเคียงชิดใกล้ Floriane
    • Anne หลังจากความตกใจที่ François เปิดประตูเข้ามาเห็นร่างกายเปลือยเปล่า เกิดอารมณ์พิศวาส ความต้องการมีเพศสัมพันธ์
    • Floriane ไม่ได้อยากให้ความช่วยเหลือ Marie แต่ครุ่นคิดอีกทีมีเบี้ยให้ใช้สอย ทำไมจะไม่ตอบตกลง
  • การตื่นขึ้นของความต้องการทางเพศ ‘Sexual Awakening’ เป็นแรงผลักดันให้สาวๆต้องการบางสิ่งอย่าง
    • Marie ต้องการเข้าหา Floriane เพื่อเชยชมความงดงาม (ของระบำใต้น้ำ) แต่ช่วงแรกๆยังไม่เข้าใจความรู้สีกของตนเอง อยากได้อะไรจากการกระทำนี้กันแน่
    • Floriane เลยใช้ Marie เป็นกันชนในการสานความสัมพันธ์กับ François ขณะเดียวกันก็พยายามหว่านโปรยเสน่ห์ให้เพื่อนสาวเกาะติดตนเอง (แสดงถีงความต้องการทั้งเขาและเธอ)
    • Anne พยายามอ่อยเหยื่อ ต้องการจุมพิต แล้วค่อยมีเพศสัมพันธ์กับ Floriane (คนรักในอุดมคติของเธอจะต้องดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน)
  • พัฒนาการความต้องการของสาวๆ มาจนถีงจุดแตกหัก
    • Floriane เพื่อจักได้ร่วมรักกับ François จีงยินยอมสูญเสียพรหมจรรย์ให้ Marie แต่แค่นั้นก็เพียงพอตอบสนองความพีงพอใจของตนเอง (เลยปฏิเสธไม่ยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับ François)
    • กลับเป็น Anne ที่จู่ๆส้มหล่นใส่ ได้รับการเติมเต็มทางร่างกาย ได้ร่วมรักกับ François แต่กลับไม่ยินยอมให้จุมพิต
    • ส่วนสภาพจิตใจของ Marie ถือว่าแตกสลาย เพราะได้สูญเสียทั้ง Floriane และ Anne
  • หลังสาวๆได้รับการตอบสนอง สำเร็จสมหวัง สติก็หวนกลับคืนมา จีงสามารถเริ่มทบทวนตนเอง มองค้นหาความต้องการที่แท้จริง
    • Floriane ต่อจากนี้สามารถแรดร่านได้โดยไม่ต้องห่วงพรหมจรรย์ ชายก็ได้-หญิงก็ดี เต็มที่ไปกับชีวิต
    • Anne เลือกผลักไสจาก François ปฏิเสธการร่วมรักครั้งที่สอง ด้วยการถ่มถุยทำลายความสัมพันธ์
    • ส่วน Marie ล่องลอยคอต่อความผิดหวังในรักครั้งแรก

ลีลาการตัดต่อจะเปลี่ยนแปลงไปตามไดเรคชั่นของฉากนั้นๆ อาทิ ฉากแรกๆตัดสลับไปมาระหว่างการแสดงระบำใต้น้ำ กับปฏิกิริยา/มุมมองสายตาของ Marie (เพื่อสร้างความใคร่รู้ใคร่เห็น บังเกิดความใคร่สนใจ), ขณะที่ฉาก Floriane ยินยอมสูญเสียพรหมจรรย์ ถ่ายทำแบบ Long Take (เพื่อนำเสนอเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่ผ่านสายตาถ้ำแอบมอง)


เพลงประกอบโดย Para One หรือ Jean-Baptiste de Laubier (เกิดปี 1979) สัญชาติฝรั่งเศส หนึ่งในโปรดิวเซอร์ผู้บุกเบิก French Rap ให้กับวง TTC และเมื่อมีโอกาสทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ได้กลายเป็นขาประจำของ Céline Sciamma

งานเพลงของหนังมักใช้เครื่องดนตรีสังเคราะห์เสียง (Synthesis) เพื่อสร้างสัมผัสบรรยากาศให้เรื่องราว สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของสาวแรกรุ่นทั้งสาม ที่เต็มไปด้วยอาการสับสนอลม่าน อึดอัดอั้นทรมาน ฮอร์โมนเพศพลุกพล่าน ไม่เข้าใจว่าบังเกิดอะไรขึ้นตนเองถึงมีความต้องการ(ทางเพศ)บางสิ่งอย่างรุนแรงโคตรๆ

บทเพลงของ Para One ต้องชมเลยว่ามีความลุ่มลึกชวนหลงใหล ให้ความรู้สึกเหมือนนัยยะระบำใต้น้ำ ผิวเผินมอบความเพลิดเพลิน ระเริงรื่น แต่ภายใต้ผืนน้ำนั้นกลับเต็มไปด้วยความปั่นป่วน พลุกพล่าน

บทเพลงแทบทั้งอัลบัม ล้วนเต็มไปด้วยบรรยากาศหมองหม่น สร้างความอึดอัดให้ผู้ชม รู้สึกเหมือน(ตัวละคร)กำลังจมอยู่ใต้พื้นผิวน้ำ ยกเว้นเพียงครึ่งหลังของ Finale ที่เหมือนว่าสาวๆสามารถล่องลอยคอ โผล่ศีรษะขึ้นมาหายใจ ตระหนักถึงความต้องการแท้จริงจากภายใน ปลดเปลื้องพันธนาการ พรหมจรรย์ และสันชาตญาณพื้นฐานมนุษย์ (เมื่อพานผ่าน ‘ครั้งแรก’ มุมมอง/ทัศนคติของมนุษย์ก็จะเปลี่ยนแปลงไป)

วัยรุ่น เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายมีการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สำหรับเพศหญิงเริ่มต้นด้วยน้ำเสียงแตกสาว หน้าอก/สะโพกขยายขนาดใหญ่ และฮอร์โมนเพศ/ประจำเดือนค่อยๆหลั่งไหล ให้บังเกิดแรงดึงดูด ความสนใจเพศตรงข้าม (แต่ยุคสมัยนี้เมื่อทัศนคติของมนุษย์เปิดกว้าง มันจึงไม่จำเป็นว่าอีกฝั่งฝ่ายต้องคือเพศตรงข้ามเสมอไป)

สามตัวละครหลักของหนังต่างมีรูปลักษณะ ความต้องการ ค้นพบรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกันออกไป

  • Marie รูปร่างผอมบาง สวมเสื้อผ้าสบายๆ ใบหน้าเหมือนทอมบอย พูดน้อยขี้อาย ครุ่นคิดมาก อารมณ์อ่อนไหว และมีรสนิยมชื่นชอบเพศหญิง (Homosexual)
  • Anne จากเคยสนุกสนานร่าเริง กลายเป็นหมกมุ่นหลังตกหลุมรักชายหนุ่ม (Heterosexual) พยายามใส่ชุดรัดรูปเพื่อสร้างเสน่ห์เย้ายวน กลบเกลื่อนปมด้อยในรูปร่างอวบอ้วนของตนเอง
  • Floriane สวยเซ็กซี่ เป็นนักกีฬา ร่างกายแข็งแรง แต่นิสัยเย่อหยิ่ง ส่วนเพียงสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ ส่วนรสนิยมได้หมดถ้าสดชื่น (Bisexual)

ซึ่งหลังจากพานผ่าน ‘ครั้งแรก’ ด้วยวิธีการแตกต่างกันไป พวกเธอก็ได้เรียนรู้ เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ๆ สามารถเข้าใจรสนิยม/ความต้องการ(ทางเพศ)ของตนเองที่เปลี่ยนแปลง

  • Marie ทำลายพรหมจรรย์ให้ Floriane และมอบจุมพิตแรกให้กับ Anne แต่เธอก็ไม่ได้ครอบครองทั้งสอง สูญเสียรักครั้งแรก หัวใจเลยแตกสลาย
  • Anne สูญเสียพรหมจรรย์ให้ชายหนุ่ม François แต่มอบจุมพิตแรกให้ Anne สุดท้ายปฏิเสธ Sex ครั้งที่สอง เพราะเธอต้องการความรักที่ค่อยๆมีวิวัฒนาการอย่างเป็นไปทีละขั้นมากกว่า
  • Floriane พึงพอใจกับการแค่สูญเสียพรหมจรรย์ให้ Floriane เพราะจุมพิตของเธอมอบให้ใครต่อใครจนไม่มีความสลักสำคัญอีกต่อไป และหลังจากนี้ก็สามารถใช้ชีวิตตอบสนองตัณหา/พึงพอใจส่วนตนได้อย่างเต็มที่ (ไม่ต้องกังวลถึงพรหมจรรย์อีกต่อไป)

การที่หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Marie ค่อนข้างชัดเจนว่านั่นคือสิ่งที่ Céline Sciamma เคยประสบพบเจอกับตนเอง ซึ่งสิ่งสร้างความประหลาดใจให้ผมมากที่สุด ก็คือความลุ่มหลงใหลใน Floriane แสดงโดย Adèle Haenel ซึ่งก็เป็นแฟนสาวของผู้กำกับ Sciamma (พบรักในกองถ่าย) เรียกว่าชีวิตจริง-ภาพยนตร์ สำหรับพวกเธอมันช่างเลือนลางจนกลายเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วกระมัง

ผมมองข้อคิด/เป้าหมายที่ผู้กำกับ Sciamma พยายามสื่อสารออกมา คือต้องการให้คำแนะนำ เสี้ยมสอนสาวๆแรกรุ่น เรียนรู้จักปลดปล่อยความต้องการ(ทางเพศ) ช่างหัวศีลธรรมจรรยา! มันผิดอะไรที่มนุษย์จะระบายความใคร่ตัณหา ย่อมดีกว่าหมกมุ่นจนไม่สามารถทำอะไรอย่างอื่น และเมื่อพานผ่าน ‘ครั้งแรก’ สูญสิ้นรอยจูบ พรหมจรรย์ จักทำให้พวกเธอเหล่านั้นเปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ๆ สามารถเข้าใจ ‘ความเป็นเพศหญิง’ ได้ดียิ่งขึ้น … ค่านิยมสังคมมันเปลี่ยนแปลงไปมากจริงๆ

ชื่อหนังภาษาฝรั่งเศส Naissance des Pieuvres แปลว่า birth of the octopuses, ซึ่งเจ้าปลาหมึก ให้ความรู้สึกเหมือนศัพท์แสลงถึงอวัยวะเพศหญิง แต่เราก็สามารถตีความถึงแขน-ขาของสาวๆ ที่กำลังตะเกียกตะกาย(เหมือนขาปลาหมึก)อยู่ใต้พื้นผิวน้ำ หรือจะสื่อถึงการให้กำเนิด ‘ความเป็นเพศหญิง’ จุดเริ่มต้นของสาวแรกรุ่น(ทั้งสาม)

ส่วนชื่อภาษาอังกฤษ Water Lilies คือดอกบัวชนิดหนึ่ง (คนละสายพันธุ์กับ Lotus ดอกบัวที่ใช้ไหว้พระ) น่าจะสื่อถึงกีฬาระบำใต้น้ำ ที่สาวๆต้องแหวกว่าย ตะเกียกตะกาย เพื่อให้บางส่วนที่สวยงาม(ของตนเอง)โผล่พ้นพื้นผิวน้ำ ให้ใครต่อใครได้เชยชม แล้วเกิดความลุ่มหลงใหล


หนังฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes สายการประกวดรอง Un certain regard ไม่ได้รางวัลใดๆ, ส่วนช่วงปลายปีได้เข้าชิง César Awards สามสาขา (ไม่ได้สักรางวัลเช่นกัน)

  • Best Fist Film
  • Most Promising Actress (Louise Blachère)
  • Most Promising Actress (Adèle Haenel)

แม้ว่าโดยส่วนตัวจะไม่ชอบหนังสักเท่าไหร่ (อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังถ้ำมองเรื่องส่วนตัวของสาวๆ) แต่ผมก็ประทับใจในวิสัยทัศน์ เปิดมุมมองใหม่ๆจากภาพยนตร์สร้างโดยผู้กำกับหญิง (เลสเบี้ยน) ได้รับสัมผัสที่แตกต่างออกไป (จากหนังของผู้กำกับชาย)

ภาพยนตร์เรื่องน่าจะไม่ถูกจริตกับพวกมือถือสากปากถือศีล และบรรดาคนหัวอนุรักษ์นิยม (ทั้งชาย-หญิงเลยนะ) คงยินยอมรับความหมกมุ่น ร่านราคะ ทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงไม่รู้จักควบคุมตนเอง แต่กลุ่มเป้าหมายของผู้กำกับ Céline Sciamma ชัดเจนมากๆว่าคือหญิงสาว โดยเฉพาะวัยแรกรุ่น กำลังอยู่ในช่วงเวลาสับสน ไม่เข้าใจตนเอง ฮอร์โมนเพศพลุกพร่าน ให้คำแนะนำเมื่อเกิดความต้องการก็แสดงออกมา โลกก้าวมาถึงยุคเสรี อิสตรีก็มีสิทธิ์ครุ่นคิด-พูด-แสดงออก ไม่จำเป็นต้องอยู่ในขนบกฎกรอบอีกต่อไป

ถ้าคุณเป็นผู้ชายแล้วยินยอมรับหนังไม่ได้ ก็แค่เลิกดู จะฝืนอยู่ทำไม แต่ถ้าคุณจะรับชมหนังเพื่อตอบสนองตัณหาส่วนตน ไปหาหนังโป๊ดีกว่านะครับ ได้อารมณ์กว่ามาก

จัดเรต 18+ กับความหมกมุ่นในสรีระ ร่านราคะ เสียความบริสุทธิ์

คำโปรย | Water Lilies เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ของ Céline Sciamma แต่ยังขาดประสบการณ์ในการนำเสนอ เลยเป็นได้แค่บัวลอยปริมๆ รอคอยวันงอกงาม เบ่งบานสะพรั่ง
คุณภาพ | บัวปริมๆ
ส่วนตัว | อึดอัด

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
Nobody Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Nobody
Guest
Nobody

วิเคราะห์ได้ดีมากๆเลยค่ะ เคยดูเมื่อนานมาแล้วไม่เคยเข้าใจตอนจบเลย จนเพิ่งมาเห็นบทความนี้เป็นบทความที่ดีมากๆเลยค่ะ อยากดูหนังแล้ววิเคราะห์ได้แบบนี้บ้างจัง คุณเก่งมากๆเลยค่ะ

%d bloggers like this: