Naked Lunch
Naked Lunch

Naked Lunch (1991) Canadian : David Cronenberg ♥♥♥♥

ปลดเปลื้องจิตวิญญาณของผู้แต่งโคตรนวนิยาย William S. Burroughs นำเสนอจินตนาการ เหตุการณ์เหนือจริง หรือคือภาพหลอนระหว่างเสพสารพัดยา (มอร์ฟีน เฮโรอีน ฯ รวมเรียกว่า ‘black meat’) การเสียชีวิตของภรรยา คือจุดเริ่มต้นทำให้เขาตัดสินใจเป็นนักเขียนที่ราวกับถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง

คงจะมีแต่ผู้กำกับ David Cronenberg ถึงสามารถดัดแปลงนวนิยาย Naked Lunch (1959) ของ William S. Burroughs ออกมาเป็นภาพยนตร์ที่โคตรแปลกประหลาด เหนือจริง สมจินตนาการ ทั้งยังผสมผสานอัตชีวประวัติผู้เขียนคลุกเคล้าลงไป พัฒนาเรื่องราวจากแทบไม่มีอะไรให้จับต้องได้มากขึ้น แต่เชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่ยังคงส่ายหัว กุมขมับ ไม่สามารถขบครุ่นคิด เครื่องพิมพ์ดีดมันกลายเป็นด้วงทอง อิหยังวะ???

หนึ่งในสิ่งที่ใครต่อใคร ใคร่ฉงนสงสัยมากที่สุดก็คือ Naked Lunch มื้อกลางวันเปลือย? แก้ผ้ารับประทานอาหาร? มันมีความหมายห่าเหวอะไร? คำตอบแบบยียวนกวนประสาท ตามแบบฉบับขี้เมายาของ Burroughs บอกว่า

The title means exactly what the words say: naked lunch, a frozen moment when everyone sees what is on the end of every fork.

William S. Burroughs

จริงๆแล้วมันคือความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของเพื่อนนักเขียน Allen Ginsberg ที่เหมือนจะพิมพ์ผิดหรือยังไงสักอย่าง ชื่อดั้งเดิมที่ Burroughs ครุ่นคิดไว้คือ ‘Naked Lust’ ก็ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ อึท่าไหนถึงกลายมาเป็น Naked Launch

  • Naked คือความเปลือยเปล่า เปิดเผยให้เห็นเรือนร่างกาย หรือคือตัวตนธาตุแท้จริง ซึ่งสำหรับคนเมายาสามารถสื่อถึงอาการพบเห็นภาพหลอนๆ จินตนาการที่มีความเหนือจริง
  • Launch สำหรับคนติดยา สิ่งที่พวกเขารับประทานก็มีแต่ ‘black meat’ ไม่จำเป็นต้องบริโภคอะไรอย่างอื่นแทนอาหารกลางวัน

ในความเข้าใจของผมเองนั้น Naked Launch ก็คือสิ่งที่พวกขี้ยา (junky) รับประทานเข้าไป แล้วเกิดอาการมึนเมา พบเห็นภาพหลอน ปลดเปลื้องจิตใต้สำนึก จินตนาการที่มีความเหนือจริง (Surrealist) ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงจัดเข้าพวก ‘drug movie’ นั่นเองแหละ!

การจะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เข้าใจ ต้องใช้จินตนาการขั้นสูง เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ (ระดับ ‘fluent’) รู้จักขบครุ่นคิดวิเคราะห์ เพราะทุกคำพูดล้วนมีนัยยะซ้อนสอง-สาม-สี่-ห้าชั้น ถึงขนาดมีคำเรียก ‘cut-up technique’ สำหรับลีลาการเขียนของ Burroughs ปะติดปะต่อการสนทนา บิดเบือนข้อความจากสิ่งหนึ่งสู่อีกสิ่งหนึ่ง ยกตัวอย่างอาชีพนักกำจัดแมลง (Exterminator) แล้วครั้งหนึ่งตัวละครก็พูดว่า

Exterminate all rational thought.

อาชีพนักกำจัดแมลง มีนัยยะแฝงถึงการพยายามทำลายกรอบความครุ่นคิดด้วยเหตุด้วยผล บอกใบ้ว่าเรื่องราวทั้งหมดต้องใช้จินตนาการ ปลดปล่อยจิตวิญญาณให้ล่องลอยไป ถึงสามารถบังเกิดความเข้าใจอะไรๆหลายสิ่งอย่าง … แต่เอาจริงๆคนที่จะสามารถทำความเข้าใจภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างถ่องแท้ ก็ต้องขบครุ่นคิดด้วยเหตุด้วยผลจนแทบสมองระเบิดต่างหาก!

ครึ่งแรกของตัวอย่างหนัง (Trailer) คือฟุตเทจที่ William S. Burroughs เคยถ่ายทำสำหรับโปรโมทนวนิยายเมื่อช่วงทศวรรษ 1960s ซึ่งยังพบเห็น Brion Gysin และผลงานของเขา เพื่อสะท้อนแนวคิด ‘cut-up technique’ นำมาปะติดแล้วต่อด้วยฟุตเทจใหม่อย่างลงตัว ไม่เปิดเผยรายละเอียดอะไรมากด้วย ยอดเยี่ยม น่าตื่นตาตื่นใจ เหนือกาลเวลาไปแล้วละ!

ก่อนอื่นขอกล่าวถึง William Seward Burroughs II (1914-97) นามปากกา William Lee นักเขียนนวนิยาย สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ St. Louis, Missouri ในครอบครัวฐานะมั่งคั่ง บิดาเปิดกิจการร้านขายของเก่า นั่นคงเป็นเหตุผลทำให้เขาหลงใหลเวทย์มนต์และสิ่งเหนือธรรมชาติ เมื่อถูกส่งไปโรงเรียนประจำ Los Alamos Ranch School ที่ New Mexico ค้นพบว่าตนเองชื่นชอบเพื่อนชาย ว่ากันว่าถูกขับไล่ออกจากโรงเรียนเพราะลักขโมยสารเคมี Chloral Hydrate (สำหรับสูดดมเป็นสารเสพติด), ช่วงระหว่างเข้าเรียนวิจิตรศิลป์ Harvard University เปิดโลกทัศน์สังคมรักร่วมเพศ และเคยตีพิมพ์บทความลงนิตยสาร St. Louis Post-Dispatch

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย Burroughs ตัดสินใจออกท่องเที่ยวยุโรป พอดิบพอดีในช่วงการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง พบเจอหญิงสาวชาวยิว Ilse Klapper แม้ไม่ได้ตกหลุมรักแต่กลับยินยอมแต่งงาน พาเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา หลังจากได้รับวีซ่าก็ทำการหย่าร้าง และคงความเป็นเพื่อนไม่เสื่อมคลาย

ช่วงปี 1942, เมื่อสหรัฐอเมริกาเพิ่งเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง Burroughs อาสาสมัครทหารแต่ได้รับการจัดระดับ 1-A ว่ามีปัญหาทางจิต นั่นสร้างความซึมเศร้า เข้ารักษาในโรงพยาบาลจิตเวช ระหว่างนั้นอาศัยอยู่ร่วมอพาร์ทเม้นท์กับว่าที่ภรรยาคนใหม่ Joan Vollmer Adams และเพื่อนนักเขียนอีกสองคน Jack Kerouac และ Edie Parker จับพลัดจับพลูเข้าไปพัวพันคดีฆาตกรรม นำแรงบันดาลใจดังกล่าวเขียนนวนิยายเรื่องแรก And the Hippos Were Boiled in Their Tanks (1945) แต่ไม่รับโอกาสตีพิมพ์

พอไม่ได้ตีพิมพ์ก็ไม่มีเงิน ทำให้ Burroughs เริ่มเสพติดมอร์ฟีน เช่นเดียวกับ Vollmer และเพื่อนๆทั้งสอง พอถูกตำรวจจับกุมก็หลบหนีสู่ Mexico แต่ชีวิตที่นี่ไม่ค่อยน่าอภิรมณ์เท่าไหร่ แถมครั้งหนึ่งพลั้งพลาดปืนลั่นระหว่างละเล่น ‘William Tell’s Act’ กับภรรยา กระสุนยิงเข้าศีรษะเสียชีวิตคาที่ ถูกจับติดคุกในเรือนจำ 13 วัน ก่อนจ่ายใต้โต๊ะให้ได้ประกันตัวออกมามุ่งสู่อเมริกาใต้ เสพติดยาขนาดใหม่ชื่อว่า Ayahuasca ทำให้ผู้ใช้เกิดภาพหลอน ‘psychedelic experiences’ ราวกับมีพลังโทรจิต ‘telepathic’

เพราะถูกหมายหัวคดีค้ายาและฆาตกรรม ทำให้ Burroughs ไม่สามารถหวนกลับไปใช้ชีวิตยังสหรัฐอเมริกา ต่อมาค้นพบเมือง Tangier ทางตอนเหนือของ Morocco ที่ยังอนุญาตให้ค้าขาย-เสพยา โดยไม่ผิดกฎหมาย สมัยนั้นมีคำเรียก Tangier International Zone ซึ่งเขาทำการละเล่นคำจนเหลือเพียงดินแดน Interzone

การเสียชีวิตของ Vollmer ถือว่าสร้างความเศร้าโศกเสียใจอย่างมากต่อ Burroughs กลายเป็นแรงผลักดันให้เขาเริ่มต้นเขียนนวนิยายอย่างจริงจัง โดยผลงานฉายเดี่ยวเรื่องแรก Junkie: Confessions of an Unredeemed Drug Addict (1953) นำประสบการณ์ตนเองล้วนๆระหว่างเป็นพ่อค้าและเสพติดเฮโรอีนในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก

สำหรับ Naked Lunch (1959) คือนวนิยายเรื่องแรกของ Burroughs เขียนขึ้นในลักษณะ non-linear โดยได้แรงบันดาลใจระหว่างพักอาศัยอยู่ Beat Hotel ณ กรุง Paris พบเห็นภาพวาดงานศิลปะของ Brion Gysin ที่มีลักษณะปะติดปะต่อกัน ซ้อนทับ ทำซ้ำๆ สลับไปมาอยู่หลายครั้ง ร่วมกันพัฒนาเทคนิคชื่อว่า ‘cut-up technique’

I don’t think I had ever seen painting until I saw the painting of Brion Gysin.

William S. Burroughs

เกร็ด: ในทางวรรณกรรม ‘cut-up technique’ หมายถึงการปะติดปะต่อข้อความ เรียบเรียงประโยคใหม่ ให้เกิดนัยยะซ้อนนัยยะ พูดอย่างหนึ่งแต่สื่อความหมายอีกอย่างหนึ่ง กล่าวถึงอาชีพนักกำจัดแมลง (Exterminator) แต่แท้จริงแล้วต้องการให้ผู้ชมทำลายกฎกรอบความครุ่นคิดด้วยเหตุและผล

การพัฒนาเรื่องราว Naked Lunch ก็พิลึกพิลั่น เริ่มจากนำแนวคิดดังกล่าวไปเสนอสำนักพิมพ์ Grove Press ได้ระยะเวลามาเพียงสิบวัน อยากเขียนอะไรส่งไป ไม่มีลำดับ ไม่มีความต่อเนื่อง หรือแม้แต่เป้าหมายเรื่องราว แค่นั้นก็ได้เงินมาล่วงหน้า $3,000 เหรียญ นำไปซื้อยามาเสพหมดเกลี้ยง

ถึงบอกว่าไม่มีเนื้อเรื่องราว แต่ละตอนๆของ Naked Lunch บรรยายผ่านมุมมองขี้เมายา William Lee (นามปากกาของ Burroughs) ถือเป็นกึ่งๆอัตชีวประวัติ (Semi-Autobiography) ออกเดินทางจากสหรัฐอเมริกามุ่งสู่ Mexico ก่อนขึ้นเรือต่อมาถึง Tangier และสิ้นสุดยังดินแดนเหมือนฝัน Interzone ทั้งหมดเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ระหว่างเสพเฮโรอีน, มอร์ฟีน, Majoun, Opioid ฯลฯ แล้วพบเห็นภาพหลอนต่างๆนานา

เกร็ด: นิตยสาร TIME จัดให้นวนิยาย Naked Lunch (1959) รวบรวมอยู่ใน “100 Best English-language Novels from 1923 to 2005”


ตั้งแต่เมื่อเริ่มตีพิมพ์จัดจำหน่าย ก็มีใครต่อใครแสดงความสนใจอยากดัดแปลงภาพยนตร์ เริ่มจาก Antony Balch ซึ่งเคยร่วมงานโปรเจคหนังสั้นกับ Burroughs ครุ่นคิดอยากทำ Musical นำแสดงโดย Mick Jagger แต่ก็ต้องล้มพับเพราะความขัดแย้งทางความคิดเห็นระหว่าง Balch และ Jagger

ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1965, โปรดิวเซอร์/ผู้กำกับ Conrad Rooks ได้รับลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ แต่กลับนำมาสรรค์สร้าง Chappaqua (1966) ในลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติของตนเอง แทบจะไม่หลงเหลือเค้าโครงเดิมจากต้นฉบับนวนิยาย

แซว: Conrad Rooks เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับ Naked Lunch (1991) ของผู้กำกับ David Cronenberh ไว้ว่า

I don’t think he understood what Naked Lunch was about at all. And he’s certainly never been a junkie. I don’t see how anybody who hasn’t been a junkie could even conceive that they could shoot Naked Lunch.

Conrad Rooks

ต่อมาก็เป็น Dennis Hopper หลังความสำเร็จล้นหลามของ Easy Rider (1969) แสดงความสนใจกำกับ/แสดงนำ แต่ก็ไม่ได้มีการพัฒนาโปรเจคอย่างจริงจัง, จนกระทั่งช่วงต้นทศวรรษ 80s ลิขสิทธิ์ตกมาอยู่ในมือของโปรดิวเซอร์ Jeremy Thomas เล็งเห็นว่ามีเพียงบุคคลเดียวเท่านั้นที่สามารถดัดแปลงนวนิยายเล่มนี้!


David Paul Cronenberg (เกิดปี 1943) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario บิดาเป็นนักเขียน/นักตัดต่อ พยายามเสี้ยมสอนบุตรชายให้หลงใหลในสื่อภาพยนตร์ แต่เขากลับชื่นชอบอ่านนวนิยาย Science-Fiction ในตอนแรกเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ University of Toronto ก่อนเปลี่ยนมาคณะวรรณกรรมภาษาอังกฤษ จนกระทั่งเมื่อมีโอกาสรับชม Winter Kept Us Warm (1966) ถึงเริ่มค้นพบความสนใจในภาพยนตร์ กำกับหนังสั้น 16mm ร่วมก่อตั้ง Toronto Film Co-op กับเพื่อนสนิท Ivan Reitman, ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Stereo (1969), Crimes of the Future (1970), พัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ ‘body horror’ เริ่มตั้งแต่ Shivers (1975), Rabid (1977)

ผกก. Cronenberg ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกภาพยนตร์แนว ‘body horror’ ด้วยความพยายามทำให้เรือนร่างกายมนุษย์มีความผิดปกติ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพ (Transformation) มักจากเทคโนโลยีล้ำยุคสมัย ไม่ก็ติดเชื้อโรคบางอย่าง ซึ่งสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ จิตวิเคราะห์ ผลงานส่วนใหญ่จึงมีลักษณะ Sci-Fi Horror แต่บางครั้งก็สรรค์สร้างแนว Psychological Thriller, Gangster Film ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง คลุ้มบ้าคลั่ง

ผลงานเด่นๆ อาทิ The Brood (1979), Scanners (1981), Videodrome (1983), The Dead Zone (1983), The Fly (1986), Dead Ringers (1988), Naked Lunch (1991), Crash (1996), A History of Violence (2005), Eastern Promises (2007) ฯลฯ

เมื่อปี 1981, ผกก. Cronenberg เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Omni เคยครุ่นคิดอยากดัดแปลงผลงานของ William Burroughs มาสักพักใหญ่ๆ

Some part of me would love to make a movie of William Burroughs’s Naked Lunch.

David Cronenberg

ไม่รู้เพราะบทสัมภาษณ์นั้นหรือเปล่าทำให้เขามีโอกาสพูดคุยโปรดิวเซอร์ Jeremy Thomas ตอบตกลงดัดแปลงนวนิยาย Naked Lunch แต่เพราะติดพันหลากหลายโปรเจค กว่าจะเริ่มต้นได้ก็ระหว่างแสดงภาพยนตร์ Nightbreed (1990) ครุ่นคิดพัฒนาบทหนังด้วยการพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์ Toshiba

บทหนังของผกก. Cronenberg ไม่ได้ดัดแปลงจากนวนิยายออกมาตรงๆ แต่ทำการผสมผสานอัตชีวประวัติของผู้แต่ง William S. Burroughs โดยใช้เหตุการณ์ที่เขาพลั้งพลาดเข่นฆาตกรรมภรรยาเป็นจุดตั้งต้น เพื่อให้สอดคล้องคำพูดที่กล่าวไว้

I am forced to the appalling conclusion that I would never have become a writer but for Joan’s death, and to a realization of the extent to which this event has motivated and formulated my writing. I live with the constant threat of possession, and a constant need to escape from possession, from Control. So the death of Joan brought me in contact with the invader, the Ugly Spirit, and maneuvered me into a life long struggle, in which I have had no choice except to write my way out.

William S. Burroughs

แซว: ผกก. Cronenberg เคยให้สัมภาษณ์ว่าระหว่างพัฒนาบทหนัง Naked Lunch (1991) บังเกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระอย่างทะลุปรุโปร่ง แม้ตนเองไม่เคยเสพยาม่ก่อนก็ตาม ถึงขนาดมีคำพูดเล่นๆ “I’ll just write his next book”.


พื้นหลัง ค.ศ. 1953, นักกำจัดแมลง William Lee (รับบทโดย Peter Weller) ค้นพบว่าภรรยา Joan Lee (รับบทโดย Judy Davis) นำเอาสารเคมีที่ใช้ในยาฆ่าแมลงมาเสพติดจนเกิดภาพหลอน ระหว่างถูกตำรวจควบคุมมาสอบสวน พบเห็นตัวด้วงพูดคุยสนทนา อ้างว่าเขาคือสายลับได้รับมอบภารกิจกำจัดเจ้าหน้าที่องค์กร Interzone Incorporated ซึ่งก็คือภรรยาของตนเอง

ในตอนแรกครุ่นคิดว่าก็แค่ภาพหลอนจากการเสพยา แต่หลังจากจับได้คาหนังคาเขาว่าภรรยาแอบคบชู้เพื่อนนักเขียน แม้เธออ้างว่าไม่ได้ครุ่นคิดจริงจัง จู่ๆเขาชักชวนเล่นเกม ‘William Tell’s Act’ แล้วปืนลั่น เข่นฆาตกรรมโดยไม่รับรู้ตัวว่าจงใจหรือเมายา เป็นเหตุให้ต้องหลบหนีสู่บริเวณ Interzone (ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา)

เมื่อมาถึงยัง Interzone ได้รับมอบหมายทำรายงานโดยใช้เครื่องพิมพ์ดีด Clark Nova เรียนรู้จักรสนิยมรักร่วมเพศ พบเจอหญิงสาว Joan Frost ที่มีใบหน้าเหมือนเปี๊ยบกับอดีตภรรยา และเป้าหมายหลักคือค้นหา Dr. Benway (รับบทโดย Roy Scheider) ผู้อยู่เบื้องหลังองค์กร Interzone Incorporated ทลายแหล่งผลิตยาเสพติด ‘black meat’ ทำจากตะขาบยักษ์สายพันธุ์ Brazilian


Peter Weller (เกิดปี 1947) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Stevens Point, Wisconsin บิดาเป็นคนขับเฮลิคอปเตอร์ให้กองทัพสหรัฐ นั่นทำให้ครอบครัวต้องใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนหลายปี จนกระทั่งสามารถมาปักหลักยัง Texas เข้าเรียนด้านการละคอนเวทียัง North Texas State University (ปัจจุบันคือ University of North Texas) แล้วต่อด้วย American Academy of Dramatic Arts จากนั้นมีผลงาน Broadway, ซีรีย์โทรทัศน์, ภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Of Unknow Origin (1983), โด่งดังจาก RoboCop (1987), RoboCop 2 (1990), Naked Lunch (1991), Star Trek Into Darkness (2013) ฯลฯ

รับบท William ‘Bill’ Lee ดูเป็นคนนิ่งๆ วางมาดเนี๊ยบๆ ชอบส่งเสียงอู้อี้อยู่ในลำคอ แต่ทุกครั้งเมื่อเสพยามักพบเห็นภาพหลอน เครื่องพิมพ์ดีกลายร่างเป็นด้วงทอง สามารถพูดคุยสนทนา ออกคำสั่งให้เขาทำโน่นนี่นั่น และหลายๆครั้งเมื่อฟื้นตื่น/สร่างเมายา ไม่ค่อยรับรู้ตนเองว่าทำอะไร มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร เพียงคำบอกเล่าถึงพฤติกรรมสุดเหวี่ยง รสนิยมรักร่วมเพศ สร้างความประทับใจให้ใครต่อใคร

เพราะความอยากร่วมงานผกก. Cronenberg เห็นว่า Weller ปฏิเสธเงินก้อนโตจาก RoboCop 3 (1993) เพื่อมาแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะ!

รูปร่างหน้าตาของ Weller ช่างมีความละม้ายคล้ายทั้งผกก. Cronenberg และนักเขียน Burroughs เป็นคนสูงโปร่ง มาดเนี๊ยบ สงบเสงี่ยมเจียมตน แต่สีหน้าเต็มไปด้วยความสับสนมึนงง หลายๆเรื่องเล่าฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ ซึ่งหนังก็จงใจสร้างความลึกลับ ไม่เคยนำเสนอเหตุการณ์เหล่านั้นที่ทำให้ตัวละครสูญเสียภาพลักษณ์ สร้างความพิศวงสงสัย ปล่อยจินตนาการผู้ชมให้เตลิดเปิดเปิงไปไกล

ผมรู้สึกว่า Weller สร้างความลึกลับให้ตัวละครได้อย่างน่าสนใจ ไม่พยายามทำให้ผู้ชมสงสารหรือสมเพศเวทนา เป็นความรู้สึกกลางๆ นามธรรม จับต้องไม่ได้ เพื่อนำเสนอว่าอาการเมายาทำผู้เสพให้ไม่รับรู้ตนเอง พบเห็นหลายสิ่งอย่างบิดเบี้ยว ความทรงจำผิดเพี้ยน หลงๆลืมๆ เลอะๆเลือนๆ มีชีวิตราวกับอยู่บนเส้นดาย เต็มไปด้วยความคลุ้มบ้าคลั่ง


ถ่ายภาพโดย Peter Suschitzky (เกิดปี 1941) สัญชาติอังกฤษ สำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายภาพจาก Institut des hautes études cinématographiques เริ่มงานเป็นเด็กตอกสเลท, ควบคุมกล้อง, ถ่ายภาพเรื่องแรก It Happened Here (1964), โด่งดังจาก The Rocky Horror Picture Show (1975), Valentino (1977), The Empire Strikes Back (1980), แล้วกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ David Cronenberg ตั้งแต่ Dead Ringers (1988)

งานภาพของ Naked Lunch (1991) อาจไม่ได้มีความหวือหวาเมื่อเทียบกับ Dead Ringers (1988) เพราะต้องให้เวลากับ Special/Visual Effect สัตว์ประหลาดตัวเล็ก-ใหญ่มากมายเต็มไปหมด แต่หนังมีการย้อมเฉดสีออกส้มๆ จัดแสงฟุ้งๆ (ส่วนใหญ่ถ่ายทำตอนกลางวัน แทบไม่มีตอนกลางคืนที่ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความคลุ้มบ้าคลั่ง) เพื่อมอบสัมผัสของภาพหลอน เหนือจริง สมจินตนาการ

ผกก. Cronenberg ต้องการใช้โอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ออกเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่จริง Tangier ทางตอนเหนือของ Morocco แต่การบุกครองคูเวต (Iraqi invasion of Kuwait) ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม ค.ศ. 1990 ทำให้แผนการเดินทางต้องล้มเลิกโดยพลัน ทั้งเมือง Interzone จึงต้องก่อสร้างขึ้นในสตูดิโอที่ Toronto โดยการขนทรายปริมาณกว่า 700 ตัน!


ผกก. Cronenberg ให้ความสำคัญกับ Title Sequence อย่างมากๆ เคยแสดงความคิดเห็นว่า “a vestibule before the film” เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ชมเข้าสู่โลกของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ

สำหรับ Naked Lunch (1991) ให้สัมภาษณ์บอกว่าต้องการเคารพคารวะโคตรนักออกแบบ Saul Bass (The Man with the Golden Arm, Vertigo, Anatomy of a Murder, North by Northwest, West Side Story ฯลฯ) ซึ่งกำลังโด่งดังในช่วงทศวรรษ 50s และหลากหลายเทคนิค วิธีการนำเสนอที่ใช้ ‘cut-out’ นำมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ช่างมีความละม้ายคล้าย ‘cut-up technique’ ที่ผู้แต่ง Burroughs พัฒนานวนิยายเล่มนี้

ออกแบบโดย Randall Balsmeyer และ Mimi Everett (Dead Ringers, Naked Launch และ M. Butterfly) ในตอนแรกนำเสนอหลากหลายแนวคิดให้ผกก. Cronenberg แต่ได้รับคำตอบ “Hmm, I’m not feeling it.” จนกระทั่งมีโอกาสพบเห็นโปสเตอร์หนังที่ใช้เครื่องพิมพ์ดีดแทนใบหน้า ชวนให้นึกถึงผลงานศิลปะของ René Magritte: The Son of Man (1964) เลยเกิดแรงบันดาลใจง่ายๆในการสรรค์สร้างภาพ Abstract ที่ไม่มีรายละเอียดใดๆนอกจากเส้นๆ เหลี่ยมๆ ตัวอักษรบิดๆเบี้ยวๆ พร้อมเพลงประกอบสไตล์ Jazz สร้างบรรยากาศล่องลอยไปๆมาๆ เหมือนพบเห็นภาพหลอนๆลวงตา

I don’t even know where it came from but someone had done a Naked Lunch logo for the crew hats and things like that, which looks like the title of the film. At a certain point, I went, you know what? That’s really cool. Let’s just run with that and make three shapes and some little abstract lines, let’s go the other direction completely. Let’s go abstract, no content, no message, no information at all, and just let it be a mood piece. David liked it.

Randall Balsmeyer

สองคำกล่าวของหนังนี้ต่างปรากฎแทรกอยู่ในต้นฉบับนวนิยาย Naked Lunch (1959)

Nothing is true; everything is permitted.

Hasan-i Sabbāh (حسن صباح)

ใครเคยเล่นเกมแฟนไชร์ Assassin Creed น่าจะมักคุ้นเคยเป็นอย่างดี Hasan-i Sabbāh (ค.ศ. 1050-1124) คือผู้ก่อตั้งกลุ่มนักฆ่า (Order of Assassins) เชี่ยวชาญในการลอบสังหาร ถือเป็นบุคคลแรกๆของโลกที่ใช้วิธีการพรางตัว ลักลอบเข้าไปเข่นฆาตกรรมเป้าหมายโดยอีกฝ่ายไม่ทันรับรู้ตัว และคำพูดดังกล่าวว่ากันว่าคือประโยคสุดท้ายก่อนเสียชีวิต เพื่อบอกกับลูกน้องในสังกัดว่าทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นไปได้ … หรือคือ Burroughs กล่าวถึงเรื่องราว จินตนาการภาพหลอน และลีลาการเขียน ‘cut-up technique’ อะไรล้วนเป็นไปได้ทั้งนั้น!

Hustlers of the world, there is one Mark you cannot beat: The Mark Inside…

William S. Burroughs

Hustler of the world เป็นการเปรียบเทียบถึงมนุษย์โลก ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อกอบโกย แก่งแย่งชิง ลวงล่อหลอกทุกสรรพสิ่ง แต่มีอย่างหนึ่งคือความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ทุกคนล้วนตระหนักรับรู้การกระทำของตัวเราเอง … หรือคือ Burroughs รับรู้พฤติกรรมตนเองว่าเคยทำอะไรไว้ ไม่มีทางหลบหนีความจริงดังกล่าวได้พ้น (นี่อาจจะเรื่องเข่นฆาตกรรมภรรยา ภายในของเขาย่อมรับรู้อยู่แล้วว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น)

แค่ช็อตแรกของหนังก็สร้างความลึกลับได้ไม่น้อย พบเห็นเพียงเงาของชายสวมหมวก (เงาคือด้านมืด ในบริบทนี้สามารถสื่อถึงจินตนาการ ภาพหลอน บอกใบ้สิ่งที่ผู้ชมกำลังจะได้พบเห็นต่อไป) เดินเข้ามาหน้าห้อง เคาะประตู แล้วบอกว่าตนเองเป็นนักกำจัดแมลง (Exterminator)

อาชีพนักกำจัดแมลง อย่างที่อธิบายไปตั้งแต่ต้นว่าเป็นการบอกใบห้ผู้ชม ทำลายกรอบความครุ่นคิดด้วยเหตุด้วยผล เรื่องราวต่อจากนี้ต้องใช้จินตนาการ ปลดปล่อยจิตวิญญาณให้ล่องลอยไป ถึงสามารถบังเกิดความเข้าใจอะไรๆหลายสิ่งอย่าง

แต่แทนที่ตัวละครจะสามารถกำจัดแมลงเหล่านั้น เขากลับต้องชะงักงันเพราะถูกภรรยาลักขโมยยาฆ่าแมลง ต่อมาก็เริ่มพบเห็นภาพหลอน พวกมันกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาด ถูกควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วบงการ ออกคำสั่งโน่นนี่นั่น ตกเป็นทาสของ ‘black meat’ ที่ทำจากตะขาบสายพันธุ์ Brazillian และเป้าหมายของหนังก็คือการ ‘Exterminator’ บุคคลที่อยู่เบื้องหลังทุกสรรพสิ่งอย่าง ลอกคราบ เปิดโปง และกำจัดสารเคมีเหล่านั้นให้ออกไปจากร่างกาย

William สอบถามภรรยา Joan ถึงยากำจัดแมลงที่เธอแอบลักขโมย แล้วกำลังฉีดเข้าหน้าอก (ทำยังกะฉีดโบท็อกซ์) ให้คำตอบที่หลายคนอาจเกาหัว

It’s a Kafka high.

Joan Lee

เป็นการกล่าวอ้างถึง Franz Kafka (1883-1924) นักเขียนนวนิยายชาว German บุคคลแรกๆที่ทำการผสมผสานระหว่าง Realism และ Fantastic ผลงานดังๆก็คือ The Trial, The Metamorphosis ให้กำเนิดคำว่า ‘Kafkaesque’ เพื่อสื่อถึงสถานการณ์ไร้สาระ เป็นไปไม่ได้ ‘absurd’ แต่กลับสามารถบังเกิดขึ้นจริง … Naked Lunch ก็ถือว่าเข้าพวกเลยละ!

คงจะมีผู้ชมประมาณครึ่งหนึ่งสามารถทำความเข้าใจสิ่งที่ William พบเห็นนั้นคือภาพหลอนจากการเสพยา แต่เชื่อว่าอีกหลายคนคงครุ่นคิดว่าเป็นหนังไซไฟ เอเลี่ยนต่างดาว เขาคือสายลับถูกล้างสมองเพื่อปฏิบัติภารกิจบางอย่าง เอาจริงๆมันก็ไม่ผิดอะไรนะครับ เพราะหนังพยายามเลือนลางระหว่างความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน(หรือภาพหลอน) ถ้าสามารถล่อหลอกผู้ชมได้กลุ่มหนึ่ง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย!

สัตว์ประหลาดทั้งหลายออกแบบโดย Chris Walas (1955-) สัญชาติอเมริกัน เจ้าของผลงานดังๆอย่าง Gremlins (1984), Enemy Mine (1985) ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผกก. Cronenberg เรื่อง Scanners (1981) และ The Fly (1986) **คว้ารางวัล Oscar: Best Makeup

สำหรับ Naked Lunch (1991) สัตว์ประหลาดทั้งหมดมีคำเรียกว่า Mugwumps (ทั้งด้วงพิมพ์ดีด และตัวที่มีร่างกายเหมือนมนุษย์) ซึ่งล้วนเป็นสัญลักษณ์ของกิเลสตัณหา สิ่งทางโลกที่สร้างความลุ่มหลงใหล ใช้แล้วเสพติด พบเห็นภาพหลอน ทำให้มนุษย์ไม่สามารถปล่อยละวางความหมกมุ่นยึดติด

Burroughs talks about the Mugwump in the book as a demure beast, I think that it represents all of the seductive monsters we run into that have some kind of addictive element, whather it is money of power or sex or whatever.

I thought his body should be like that of an old junkie – emaciated and with the ‘look of borrowed flesh’ that Burroughs describes in the book. I also want the Mugwump to be basically humanoid but the characteristics that would emphasize its nonhumanness.

David Cronenberg

เกร็ด: Mugwumps เป็นคำภาษา Algonquian (Massachusett language) ดั้งเดิมมาจาก mugquomp แปลว่าหัวหน้าเผา, บุคคลสำคัญ (important person, kingpin)

(ภาพสุดท้าย William S. Burroughs มาเยี่ยมเยือนกองถ่าย ถ่ายรูปร่วมกับฝูง Mugwumps และผกก. David Cronenberg)

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องตัวด้วง? แต่มันคงไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ใดๆสามารถอธิบาย เช่นนั้นแล้วเราต้องมองเชิงจิตวิเคราะห์ ย้อนถึงอาชีพนักกำจัดแมลง (Exterminator) สัตว์ตัวแรกที่พบเห็นในหนังคือแมลงสาป ซึ่งก็มีรูปลักษณะคล้ายๆตัวด้วง (มั้งนะ) ผมรู้สึกว่ามันเป็นสัตว์ที่สามารถวิวัฒนาการวงจรชีวิตสมบูรณ์ (Complete Metamorphosis) กลายสภาพสู่เครื่องพิมพ์ดีด (Mugwriter), ศีรษะ Mugwumps และร่างตัวเต็มวัย

มันเหมือนมีสิ่งเหนือธรรมชาติบางอย่าง (จากฤทธิ์ยาเสพติด และหรือความรู้สึกผิดหลังการเสียชีวิตของภรรยา) ที่ทำการควบคุมครอบงำ เป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้ William Lee (รวมถึงผู้แต่ง Burroughs) สามารถครุ่นคิด ตีพิมพ์นวนิยาย (นัยยะแฝงของการพิมพ์รายงาน) จนสำเร็จแล้วเสร็จ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

William Tell คือวีรบุรุษจากนิทานพื้นบ้าน Switzerland นักธนูผู้มีมือแม่นยำ โด่งดังจากการลอบสังหาร Albrecht Gessler ขุนนางผู้ใหญ่แห่งอาณาจักร Habsburg ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งจุดกำเนิดของตำนานเริ่มต้นจาก Tell ถูกท้าทายด้วยบททดสอบสุดเหี้ยมโหดของ Gessler ด้วยการวางผลแอปเปิ้ลบนศีรษะบุตรชาย เดินถอยหลัง 120 ก้าว ถ้ายิงไม่ถูกเป้าหมายก็จะสูญเสียลูกคนเดียวของเขาไป

ปล. ภาพวาดที่นำมานี้ได้แรงบันดาลใจจาก William Tell’s Act หรือ William Tell’s feat รวบรวมอยู่ในหนังสือ Cosmographia (ค.ศ. 1544) เรียบเรียงโดย Sebastian Münster (1488–1552)

ความผิดพลาดจากการละเล่น William Tell’s Act ของ William Lee ถือว่าเกิดจากแรงผลักดันของจิตใต้สำนึก (=ตัวด้วงที่พบเห็นภาพหลอนก่อนหน้านี้ ออกคำสั่งให้เขาจัดการเธอ โดยอ้างว่าเป็นสายลับจากองค์กร Interzone Incorporated) หลังพบเห็นภรรยาแอบร่วมรักหลับนอน คบชู้กับเพื่อนนักเขียน แม้เธออ้างว่าไม่มีอารมณ์ร่วมใดๆ แต่มันคงสร้างความอึดอัด คับข้อง ไม่พึงพอใจ … ในกรณีนี้แม้จะมีแรงจูงเข่นฆาตกรรม แต่ทางการแพทย์น่าจะถือว่ากระทำด้วยอาการขาดสติ เพราะเขากำลังมึนเมาจากฤทธิ์ยา จึงไม่สามารถควบคุมสติสัมปชัญญะ รับรู้ตนเองว่าทำอะไรลงไป

Homosexuality is the best all-around cover an agent ever had.

Clark Nova (ให้เสียงโดย Peter Boretski)

ผมอธิบายไปแล้วผู้แต่ง William S. Burroughs ค้นพบตนเองว่ามีรสนิยมรักร่วมเพศ (Homosexual) เมื่อครั้นยังเป็นวัยรุ่น แต่ต้องปกปิดไว้จนกระทั่งระหว่างร่ำเรียน Harvard University ถึงได้เปิดโลกทัศน์ ‘gay cultural’ เลยไม่แปลกที่นวนิยายของเขาจะกล่าวถึงเพศสัมพันธ์อย่างโจ๋งครึ่ม ชาย-หญิง ชาย-ชาย หญิง-หญิง ไม่มีอะไรให้ต้องปกปิดบัง

สิ่งน่าสนใจก็คือหนังนำเสนอประเด็นรักร่วมเพศ ด้วยวิธีการที่สร้างความประหลาดใจให้ทั้งตัวละครและผู้ชม คือมันแทบจะไม่มีปี่มีขลุ่ย ก่อนหน้านี้พบเจอเพียงชายหนุ่มชื่อ Kiki (รับบทโดย Joseph Scorsiani) ใช้คำเรียก ‘faggot’ ซึ่งไม่ใช่คำสุภาพต่อชายรักร่วมเพศสักเท่าไหร่ (เลยทำให้หลายๆคนมองว่าเขาอาจมีอคติต่อเกย์) แต่จากการบอกเล่าของ Yves Cloquet (รับบทโดย Julian Sands) กลับกลายเป็นว่า William Lee แสดงรสนิยมดังกล่าวออกมาจากจิตใต้สำนึก โดยไม่รับรู้ตัวเองด้วยซ้ำ!

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า doppelgänger ของ Joan เป็นสิ่งที่ผกก. Cronenberg เพิ่มเติมเข้ามาเองหรือเปล่า เพื่อล้อกับภาพยนตร์ Dead Ringers (1988) แต่ตัวละคร Joan Lee และ Joan Frost ต่างมีทั้งภาพลักษณ์ อุปนิสัยใจคอ ละม้ายคล้ายกันมากๆราวกับ Déjà vu … เราสามารถมอง Joan Frost ได้ทั้งภาพหลอน (เห็นหญิงอื่นหน้าเหมือนอดีตภรรยา) หรือบุคคลจริงๆก็ได้นะครับ

ซึ่งการมีตัวตนของ Joan Frost จุดประสงค์เพื่อสร้างแรงผลักดัน และมอบโอกาสสอง (Second Chance) ให้กับ William Lee หลังจากเคยทำผิดพลาดพลั้งเข่นฆาตกรรมภรรยา Joan Lee สังเกตว่าเขามุ่งมั่นที่จะเขียนรายงาน(=ตีพิมพ์นวนิยาย)ให้แล้วเสร็จ แล้วหาหนทางช่วยเหลือเธอจาก Fadela/Dr. Benway คาดหวังจะครอบครองรักด้วยกันอีกครั้ง

การต่อสู้ระหว่าง Clark Nova vs. Martinelli คือภาพหลอนที่สะท้อนความอิจฉาริษยาของ William Lee ต่อนักเขียน Tom Frost (รับบทโดย Ian Holm) ผู้เป็นสามีของ Joan Frost แต่เพราะเขาไม่สามารถแสดงออกต่อหน้า จึงมาลงกับเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อ Martinelli (ที่เป็นของ Tom ให้หยิบยืมมาทดลองใช้) ด้วยการทุบทำลายจนหมดสิ้นสภาพ

Clark Nova (จิตใต้สำนึกของ William) ออกคำสั่งให้ William Lee แอบสานสัมพันธ์กับ Joan Frost ซึ่งเขาก็ฉกฉวยโอกาสเมื่อตอน Tom Frost ไม่ได้อาศัยอยู่ในอพาร์เม้นท์ เข้ามาเกี้ยวพาราสี ระหว่างกำลังกอดจูบลูบไล้ (หลังจากเสพยา) ไอ้จ้อนก็ค่อยๆงอกออกมาจากเครื่องพิมพ์ดีดภาษาอาหรับ Mujahideen แล้วกลายร่างเป็น ‘Sex Blob’ ลักษณะเหมือนตะขาบร้อยขา ขยุ้มลงมาตรงตำแหน่งที่ William และ Joan กำลังจะมีเพศสัมพันธ์กัน

เอาจริงๆผมไม่รู้ว่า William และ Joan ถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กันไหม? เพราะพวกเขายังคงสวมใส่เสื้อผ้า (แต่ถ้ามองในเชิงสัญลักษณ์ของ ‘Sex Blob’ ที่ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ก็มีแนวโน้มน่าจะสำเร็จกามกิจกระมัง) เมื่อขณะแม่บ้าน Fadela (รับบทโดย Monique Mercure) มาพบเห็นสภาพของพวกเขา แต่การหยิบเครื่องพิมพ์ดีด Mujahideen โยนทิ้งออกนอกหน้าต่าง อาจตีความว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นทั้งหมด ก็แค่สิ่งที่ Joan ตีพิมพ์ออกมา(เป็นภาษาอาหรับ)เท่านั้น!

ในถุงยังชีพของ William Lee สิ่งที่คนอื่นพบเห็นคือสารพัดยาเสพติด แต่ตัวเขากลับบอกว่ามันคือเศษซากเครื่องพิมพ์ดีด (ที่ทำลายทิ้งด้วยความอิจฉาริษยา) แล้วจู่ๆแฟนหนุ่ม Kiki ก็พาเข้าร้านหลอมเหล็ก ซ่อมแซมเครื่อง Martinelli ให้กลับมามีสภาพเหมือนใหม่ และเมื่อเขาเสพยามันจึงมองเห็นศีรษะ Mugwumps แป้นพิมพ์อยู่ทางปาก ผลิตสารเคมีที่สามารถดูดดื่มด่ำ … เสียงพูดก็เปลี่ยนจากหญิงกลายมาเป็นชาย

นี่อาจจะเป็นสิ่งที่หลายคนเกิดความสับสน ไม่ใช่ว่าเสพยาแล้วพบเห็นภาพหลอน? แต่ในบริบทนี้มันดูเหมือน ยาเสพติด=เครื่องพิมพ์ดีด? เอาจริงๆครุ่นคิดแบบนี้ก็ไม่ผิดอะไรนะครับ เพราะผมเองก็มองว่าการดูหนัง เขียนบทความลง raremeat.blog ไม่แตกต่างจากการเสพติดยาสักเท่าไหร่!

ฉากที่ถือว่าสร้างความตกตะลึง น่าสะพรึงกลัวที่สุดของหนัง คือการพบเห็นเพศสัมพันธ์ชาย-ชาย ระหว่าง Kiki กับ Yves Cloquet นี่อาจฟังดูขัดแย้งรสนิยมรักร่วมเพศของ William Lee แต่อย่าลืมว่าหนังไม่เคยนำเสนอภาพจากจิตใต้สำนึก ในช่วงตัวละครไร้ซึ่งสติสัมปชัญญะ

สิ่งที่พบเห็นในขณะนี้ก็คือภาพหลอน(ระยะแรก)จากการละเล่นยา เพื่อสื่อว่าเปลือกภายนอกของตัวละคร ยังไม่สามารถยินยอมรับสภาพตนเองว่ามีรสนิยมรักร่วมเพศ มองเป็นสิ่งอัปลักษณ์ น่ารังเกียจขยะแขยง ต้องถูกควบคุมขังในกรงนก และมีรูปลักษณะของสัตว์ประหลาด/เดรัจฉาน (คงเพราะสังคมยุคสมัยนั้นยังไม่ให้การยินยอมรับ เรื่องพรรค์นี้จึงต้องปกปิด กักขัง ซุกซ่อนเร้นไว้) จะว่าไปแลดูเหมือนวิวัฒนาการอีกขั้นของ ‘sex blob’ ตะขาบขยุ้มเข้าด้านหลังชายอีกคน สูบเลือด สูบเนื้อ สูบจิตวิญญาณ

It is sexual and horrific at the same time.

Chris Walas

ครั้งสุดท้ายของ Clark Nova หลังแลกตัวประกัน ทวงคืนจาก Tom Frost สังเกตว่าเต็มไปด้วยคราบเลือด ชิ้นส่วนแตกหัก เศษเนื้อหนัง นี่ไม่ใช่แค่สะท้อนสภาพปรักหักพังของเครื่องพิมพ์ดีด แต่ยังวิถีชีวิตของนักเขียนที่ต้องประสบโชคเลือด เผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆเลวร้ายไม่แตกต่างผลงานประพันธ์ (หรือก็คือผู้แต่ง Burroughs พานผ่านประสบการณ์เสพยา พบเห็นภาพหลอน ไม่แตกต่างจากตัวละคร William Lee)

A writer lives the sad truth like anyone else.

Clark Nova

Mugwumps Dispensary (ฟาร์ม Mugwumps) สถานที่สำหรับคนเสพยา (คล้ายๆโรงฝิ่นสมัยก่อน) ในบริเวณ Interzone ยุคสมัยนั้นยังถือว่าไม่ผิดกฎหมาย พวกมนุษย์กำลังดื่มด่ำกับสารเสพติด(ที่ได้จาก Mugwumps) แต่สภาพของพวกเขาก็ไม่ต่างจาก Mugwumps ที่ถูกล่ามโซ่ ห้อยโหน ไม่สามารถดิ้นหลบหนี ได้รับอิสรภาพออกไปจากสถานที่แห่งนี้

ไคลน์แม็กซ์ของหนัง การเผชิญหน้าระหว่าง William Lee กับผู้เบื้องหลัง Interzone Incorporated นั่นคือ Fadela กระชากหน้ากากออกมาเป็น Dr. Benway แลดูคล้ายการแปรสภาพจากดักแด้สู่ตัวเต็มวัย สามารถตีความถึงการปลุกตื่น ฟื้นขึ้นจากฝันร้าย/ภาพหลอน หรือก็คือ William Lee (ผู้แต่ง Burroughs) ตีพิมพ์นวนิยาย Naked Lunch แล้วเสร็จสิ้น!

ความปรารถนาหนึ่งเดียวของ William Lee คือต้องการครอบครอง Joan Frost ที่มีใบหน้าเหมือนเป๊ะกับอดีตภรรยา Joan Lee แม้จะได้รับกลับคืนมา แต่ระหว่างออกเดินทางสู่ดินแดนแห่งใหม่ Annexia ขณะกำลังผ่านด่านตรวจชายแดน ถูกสั่งให้พิสูจน์ตนเองว่าเป็นนักเขียน นั่นทำให้เขาต้องทำการแสดง William Tell’s Act เข่นฆาตกรรมเธออีกครั้ง

ปล. Annexia น่าจะมาแผลงมาจาก Anxious แปลว่าร้อนรน กระวนกระวาย หรือสามารถสื่ออาการลงแดงขณะกำลังถอนยา

ตอนจบของหนังนี้ต้องมองในเชิงสัญลักษณ์ เปรียบเทียบระหว่างทั้งสองครั้งที่เกิดขึ้น

  • ครั้งแรก William Lee มีแรงผลักดันจากจิตใต้สำนึก โดยไม่รับรู้ตัวเองเข่นฆาตกรรม Joan Lee แล้วแสดงอาการเยือกเย็นชา สาสมน้ำหน้า
  • ครั้งหลัง Wiliiam Lee ถูกบุคคลภายนอกกดดัน บีบบังคับ เกิดความโล้เล้ลังเลใจ จำต้องตัดสินใจเข่นฆาตกรรม Joan Frost แล้วแสดงอาการเศร้าโศกเสียใจ

กล่าวคือครั้งแรกกระทำโดยจิตใต้สำนึก ระหว่างมึนเมาพบเห็นภาพหลอน ส่วนครั้งหลังเป็นตอนที่เขา(น่าจะ)ละเลิก ถอนยา กำลังจะผ่านพรมแดนกลับสู่โลกความจริง ทำให้ต้องเผชิญหน้าสิ่งเคยกระทำ นั่นคือยินยอมรับว่าฉันเป็นผู้เข่นฆาตกรรมภรรยา ไม่มีทางที่เธอจะหวนกลับคืนมา (ไม่มีทางที่เธอจะหวนกลับสู่โลกความจริง)

ตัดต่อโดย Ronald Sanders สัญชาติแคนาดา ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ David Cronenberg ตั้งแต่ผลงาน Fast Company (1979)

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ William Lee ซึ่งจะผสมผสานระหว่างสิ่งที่ตัวละครพบเห็นจริงๆ กับภาพหลอนจากการเสพยา ไม่ใช่เรื่องง่ายจะทำการแบ่งแยกแยะ แต่ถ้าพบเห็นสิ่งมีชีวิตหน้าตาผิดแผกประหลาด นั่นเกิดจากอาการหลอนยาอย่างแน่นอน!

การดำเนินเรื่องของหนังจะนำเสนอเฉพาะช่วงเวลาที่ William Lee ยังคงมีสติอยู่เท่านั้น ระหว่างที่เขาเพิ่งตื่น สร่างเมา และเริ่มต้นพี้ยาระยะแรก (พบเห็นภาพหลอก) แต่เมื่ออาการหนักกว่านั้นถึงขั้นสูญเสียสติ หรือแสดงความคลุ้มบ้าคลั่ง จะถูกตัดข้ามไปเลย แล้วอาจมีใครอื่นพูดกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อข้ามคืน แค่เพียงผ่านๆพอให้ผู้ชมสามารถครุ่นคิด จินตนาการ จับใจความอะไรบางอย่างได้เท่านั้น

  • นักฆ่าแมลง (Exterminator)
    • William พบเห็นภรรยา Joan เสพติดสารเคมีที่ใช้กำจัดแมลง
    • เมื่อถูกตำรวจควบคุมตัว ทำให้ William รับรู้ว่าตนเองเป็นสายลับ ถูกส่งมาให้กำจัดศัตรูจากองค์กร Interzone Incorporated
    • พบเจอกับ Dr. Benway แนะนำให้รู้จัก ‘black meat’
    • พอพบเห็นภรรยานอกใจตนเอง จึงชักชวนเธอทำละเล่นเกม “William Tell’s Act” ไม่รู้พลั้งเผลอหรือจงใจ เป็นเหตุให้เธอเสียชีวิต
  • หลบหนีสู่ Interzone
    • ปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ พิมพ์ดีดรายงานบนเครื่อง Clark Nova
    • พบเจอกับเพื่อนนักเขียน Tom Frost และภรรยา Joan Frost ที่มีใบหน้าเหมือนเป๊ะกับอดีตภรรยา
    • Tom ให้ William หยิบยืมเครื่องพิมพ์ดีด (และภรรยา Joan) แต่ทั้งสองสิ่งกลับทรยศหักหลังเขา
  • ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้เธอกลับคืนมา
    • William ซ่อมแซมเครื่องพิมพ์ดีดของ Tom เพื่อแลกคืน Clark Nova ของตนเอง
    • จากนั้นออกติดตามหา Dr. Benway เพื่อทวงคืน Joan กลับหาตนเอง
    • แต่แล้วท้ายสุดทุกสิ่งอย่างก็เวียนวน Déjà vu หวนกลับสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง

ผมรู้สึกว่าการที่หนังเต็มไปด้วยคำพูดบิดๆเบี้ยวๆ ภาพสิ่งมีชีวิตประหลาดๆ นัยยะเชิงสัญลักษณ์มากมาย ช่วงแรกๆก็สร้างความอยากรู้อยากเห็น อยากขบครุ่นคิดไขปริศนา แต่พอเรื่องราวดำเนินเข้าสู่องก์สอง-สาม ความสลับซับซ้อนเหล่านั้นจะเริ่มบั่นทอนความน่าสนใจ ยิ่งถ้าคนไม่สามารถครุ่นคิดติดตาม จะรู้สึกสมองตื้นตัน อับจนปัญญา และอาจยินยอมรับความพ่ายแพ้ อดรนทนดูจบจนก็อาจไม่ช่วยอะไร

แต่ผมยังแนะนำให้อดรนทนดูหนังให้จบรอบแรกเสียก่อนนะครับ แม้ไม่สามารถครุ่นคิดทำความเข้าใจอะไร เพื่อให้อย่างน้อยรับรู้ว่ามันมีเรื่องราว เหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้นบ้าง เมื่อมาอ่านบทวิเคราะห์ภาพยนตร์ จักสามารถเข้าถึงสาสน์สาระ นัยยะสิ่งต่างๆเหล่านั้นได้โดยทันที


เพลงประกอบโดย Howard Leslie Shore (เกิดปี 1946) นักแต่งเพลงชาว Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario ค้นพบความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ มีความสามารถเล่นดนตรีได้หลากหลาย เลยเข้าเรียนต่อ Berklee College of Music จากนั้นเป็นสมาชิกวงดนตรี Lighthouse แนว Jazz Fusion, ต่อด้วย Music Director ให้รายการโทรทัศน์อย่าง Saturday Night Live, สำหรับภาพยนตร์ได้รับคำชักชวนจาก David Cronenberg เริ่มต้นครั้งแรก The Brood (1979), The Dead Zone (1983), The Fly (1986), Dead Ringers (1988), Naked Lunch (1991), Crash (1996), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Silence of the Lambs (1991), Ed Wood (1994), Se7en (1995), The Game (1997), The Lord of the Rings trilogy (2001-03) ** คว้ารางวัล Oscar ทั้งหมด 3 ครั้ง, Gangs of New York (2002), The Aviator (2004), Hugo (2011) ฯลฯ

จะว่าไปนี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ผมได้รับฟัง ‘Jazz Fusion’ สไตล์เพลงแนวถนัดของ Shore สำหรับประกอบภาพยนตร์ (อาจเป็นครั้งแรกของเจ้าตัวด้วยนะ!) ต้องชมเลยว่ามีความแปลก พิศดาร ผสมผสานเข้ากับเครื่องสังเคราะห์เสียงและออร์เคสตรา สามารถสร้างความปั่นป่วนพลุกพล่าน สับสนว้าวุ่นวาย โดยเฉพาะเสียงแซกโซโฟนเต็มไปด้วยลวดลีลา ‘improvised’ ผันแปรเปลี่ยนจนมิอาจคาดเดา เหมือนดังภาพหลอนของตัวละคร เป็นสิ่งเหนือจริง และสมจินตนาการ

ซึ่งคราวนี้ Shore ยังได้อัญเชิญโคตรๆนักดนตรี Ornette Coleman (1930-2015) นักแซกโซโฟน ไวโอลิน ทรัมเป็ต ผู้บุกเบิกสไตล์ ‘free jazz’ บ้างก็เรียกว่า ‘jazz avant-garde’ เจ้าของรางวัล Pulitzer Prize for Music เมื่อปี 2007 มาร่วมเล่น ‘improvised’ บรรเลงแซกโซโฟน ใส่ลวดลีลาได้อย่างโคตรๆตราตรึง

เหตุผลที่หนังต้องอัญเชิญ Ornette Coleman เพราะเป็นนักดนตรี Jazz คนโปรดของ William S. Burroughs ต่างคนต่างสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันและกัน หลายๆบทเพลงประพันธ์ขึ้น ได้แรงบันดาลใจจากนวนิยาย Naked Launch อาทิ Write Man, Bugpowder, Ballad, Intersong ฯลฯ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Midnight Sunrise ประกอบอัลบัม Dancing in Your Head (1977) เห็นว่า Burroughs เข้าร่วมการบันทึกเสียงกับวงดนตรี The Master Musicians of Jajouka พื้นบ้านของ Moroccan (จริงๆบันทึกเสียงตั้งแต่ปี 1973 แต่เพิ่งมารวบรวมอัลบัมปี 1977)

Naked Launch (1991) ทำการปลดเปลื้องสภาพของคนเสพติดยา เริ่มจากพบเห็นภาพหลอน พัฒนาสู่ความหวาดระแวง วิตกจริต เกิดอาการหลงเข้าใจผิด สติสตางค์ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หลงลืมโน่นนี่นั่น ความทรงจำขาดหาย สูญเสียความสามารถในการครุ่นคิดตัดสินใจ และแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างคลุ้มบ้าคลั่ง เข่นฆาตกรรมแม้แต่หญิงสาวคนรัก

เหตุการณ์ต่างๆที่บังเกิดขึ้นในนวนิยาย Naked Launch ล้วนสะท้อนประสบการณ์เสพยาของผู้แต่ง William S. Burroughs เอาจริงๆคือไม่มีอะไรมากกว่านั้น แต่ที่ได้รับคำชมอย่างล้นหลาม เพราะวิธีการนำเสนอ โดยเฉพาะลีลาการเขียน ช่างมีความดิบ เถื่อน แปลกพิศดาร เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ๆแก่ผู้อ่าน ใครที่ชื่นชอบก็หลงใหลคลั่งไคล้ ผิดกับคนส่วนใหญ่คงไม่อภิรมณ์เริงใจสักเท่าไหร่ … ทำไมฉันต้องมาทนอ่านพฤติกรรมบ้าๆบอๆ เพ้อเจ้อไร้สาระของพวกขี้เมายานี้ด้วย

สำหรับภาพยนตร์ Naked Launch (1991) ผู้กำกับ Cronenberg พยายามนำเสนอเรื่องราวในเชิงอัตชีวประวัติของ Burroughs เล่าถึงจุดเริ่มต้น สาเหตุผล แรงผลักดันหลังทำปืนลั่นใส่ภรรยา ทำให้เขาต้องกลายมาเป็นนักเขียน สรรค์สร้างผลงานระหว่างทำการเสพยา พบเห็นภาพหลอนอยู่แทบตลอดเวลา แต่ผลลัพท์กลับคือความน่ามหัศจรรย์ เหนือจริง สมจินตนาการ

ตั้งแต่ The Brood (1979) ที่ผกก. Cronenberg ใช้สิ่งเกิดขึ้นกับ(อดีต)ภรรยา มานำเสนอจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต! คราวนี้ William Lee ทำปืนลั่นใส่(ภรรยา) Joan แม้มันดูก้ำๆกึ่งๆว่าจงใจหรือพลั้งพลาด แต่ใครเคยอ่านบทสัมภาษณ์(ของผกก. Cronenberg) บอกว่ารู้สึกสะใจที่ได้ระบายความอัดอั้น เคียดแค้นฝังหุ่น ครั้งนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน

และเมื่อครั้นสรรค์สร้าง Dead Ringers (1988) มีเรื่องราวการใช้ยาเสพติด ทำให้ตัวละครตกอยู่ในสภาวะท้อแท้สิ้นหวัง (หลังเข้าใจผิดว่าแฟนชาวคบชู้นอกใจ) Naked Launch (1991) ถือเป็นการขยับขยายแนวคิดดังกล่าว William Lee บังเกิดภาพหลอน หวาดระแวง วิตกจริต หลงเข้าใจอะไรผิดๆ ใกล้กลายเป็นคนคลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตก

Naked Launch (1991) จึงถือเป็นการผสมผสานประสบการณ์ชีวิต และการทำงานของผกก. Cronenberg เพื่อนำเสนอจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ อันมีต้นเหตุจากการจากไป(เลิกราหย่าร้าง)ของอดีตภรรยา ทำให้เขาสามารถค้นพบตัวตนเอง สรรค์สร้างผลงานที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว และก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเลวร้ายดังกล่าว

สำหรับ Burroughs แม้ระหว่างเขียนนวนิยายเล่มนี้ ยังอยู่ในช่วงพีคๆของการเล่นยา แต่ในกาลต่อมาเมื่อถึงจุดอิ่มตัว(กระมัง) เขาก็ละเลิกยุ่งเกี่ยว จนสามารถเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1974 ใช้ชีวิตอย่างร่ำรวย สุขสบาย และเข้าก๊วน Andy Warhol สรรค์สร้างผลงานโลกตะลึงชิ้นถัดๆไป


ด้วยทุนสร้างสูงถึง $16-18 ล้านเหรียญ กับหนังที่โคตรๆเหนือจริง แปลกประหลาด อัปลักษณ์พิศดาร แม้เสียงตอบรับตอนออกฉายจะค่อนข้างดี เข้าชิง Genie Awards (Oscar ของประเทศแคนาดา) จำนวน 11 สาขา คว้ามา 8 รางวัล แต่ทำเงินในสหรัฐอเมริกาได้เพียง $2.64 ล้านเหรียญ ถือว่าขาดทุนย่อยยับเยิน! แต่กาลเวลาก็ทำให้ได้รับกระแสคัลท์ติดตามมา (Cult Following)

  • Best Motion Picture **คว้ารางวัล
  • Best Direction **คว้ารางวัล
  • Best Actor (Peter Weller)
  • Best Supporting Actress (Monique Mercure) **คว้ารางวัล
  • Best Adapted Screenplay **คว้ารางวัล
  • Best Cinematography **คว้ารางวัล
  • Best Art Direction **คว้ารางวัล
  • Best Costume Design
  • Best Score
  • Best Sound **คว้ารางวัล
  • Best Sound Editing **คว้ารางวัล

ผมแอบแปลกใจพอสมควรที่ Doc Club & Pub นำภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉายในช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 คาดว่าเพื่อต้อนรับการอาจกำลังมาถึงของ Crimes of the Future (2022) แต่น่าเสียดายที่หนังยังไม่ได้รับการบูรณะใดๆ ฉบับของ Criterion Collection และ Studio Canal เพียงทำการสแกน ‘High-definition’ ผ่านการอนุมัติโดยผกก. Cronenberg เท่านั้นเอง

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบในความแปลกประหลาด ท้าทายการใช้สติปัญญาครุ่นคิดวิเคราะห์ คงไม่มีใครเหมาะแก่การดัดแปลงนวนิยายของ William S. Burroughs ไปมากกว่าผกก. David Cronenberg ทำออกมาได้อัปลักษณ์ พิศดาร โคตรเหนือจริง สมจินตนาการ

แนะนำคอหนัง Sci-Fi, ลัทธิเหนือจริง Surrealist, หลงใหล ‘body horror’, ชื่นชอบการขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ค้นหานัยยะเชิงสัญลักษณ์, นักออกแบบงานสร้าง โมเดลสัตว์ประหลาด, และแฟนๆนวนิยายของ William S. Burroughs ไม่ควรพลาดเลยละ!

จัดเรต 18+ เสพยา รักร่วมเพศ เผด็จการ ฆาตกรรม

คำโปรย | Naked Lunch คืออาหารกลางวันของผู้กำกับ David Cronenberg ดัดแปลงบทประพันธ์โคตรเหนือจริงของ William S. Burroughs ออกมาได้อย่างโคตรสมจริง
คุณภาพ | โคตรนืริ
ส่วนตัว | อาหารกลางวัน

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: