Napoléon (1927) : Abel Gance ♥♥♥♥
(7/8/2020 อัพเดทจาก 29/10/2016) หนังเงียบมหากาพย์ ‘Silent Epic’ จากความทะเยอทะยานของปรมาจารย์ผู้กำกับ Abel Gance นำเสนอเรื่องราวชีวประวัติ Napoléon Bonaparte ตั้งแต่วัยเด็ก เติบโตเป็นทหาร ไต่เต้าถึงยศแม่ทัพ สถาปนาตนเองสู่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส กษัตริย์แห่งอิตาลี และผู้อารักขาสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์
แต่หนังเงียบเรื่องนี้กลับสร้างเสร็จเพียงแค่ Napoléon ประดับยศจอมทัพ (Commander-in-Chief) แต่งงานกับ Joséphine de Beauharnais และตระเตรียมกำลังพลเตรียมทำสงครามราชอาณาจักรอิตาลี ยังไปไม่ถึงตอนสถาปนาตนเองสู่จักรพรรดิ
ความตั้งใจของผู้กำกับ Abel Gance ต้องการสรรค์สร้างภาพยนตร์ชีวประวัติ Napoléon ทั้งหมด 6 ภาค เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เติบใหญ่ ไต่เต้า กลายเป็นจักรพรรดิ ทำสงครามแพร่ขยายอาณาเขตทั่วยุโรป จนกระทั่งพ่ายแพ้ และถีงแก่ความตาย, น่าเสียดายขณะสร้างหนังเรื่องนี้กลับพบปัญหาอุปสรรคมากมาย ทั้งเรื่องเงินทุน สเกลงาน และที่สำคัญสุดคือวงการภาพยนตร์กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (จากยุคหนังเงียบกลายเป็นหนังพูด) ทำให้สร้างสำเร็จเพียงภาคแรกภาคเดียวเท่านั้น
เมื่อหลายปีก่อนที่ผมมีโอกาสรับชม Napoléon (1927) เป็นฉบับขาว-ดำเก่าๆ คุณภาพไม่ค่อยสู้ดีสักเท่าไหร่ บังเอิ้ญระหว่างกำลังเขียนบทความนี้ พบเจอตัวอย่างหนังฉบับบูรณะใหม่ กำลังออกฉายช่วงปี 2016 พร้อมฉากสามหน้าจอ ‘Polyvision’ ที่สร้างความขนลุกขนพอง ตกตะลัง อ้าปากค้าง ตั้งใจว่าสักวันต้องหวนกลับมาดูหนังอีกสักรอบให้จงได้ (รอจัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray) … และวันนี้ก็มาถีงแล้ว!
Napoléon Bonaparte (1769 – 1821) เกิดที่เมือง Ajaccio บนเกาะ Corsica เดิมเป็นส่วนหนี่งของสาธารณรัฐเจนัว (Genoa) ซึ่งถูกฝรั่งเศสซื้อไปเมื่อปี ค.ศ. 1768, ครอบครัวถือเป็นตระกูลผู้ดี ทำให้มีโอกาสเข้ารับการศึกษายังประเทศฝรั่งเศส แต่มักถูกกลั้นแกล้งจากเพื่อนๆเพราะร่างกายตัวเล็กกว่าใคร พอเติบโตขึ้นสมัครเป็นทหาร ใช้สติปัญญาความสามารถครุ่นคิดวางแผนการณ์รบที่แตกต่างไม่เหมือนใคร สามารถกำชัยต่อเนื่องจนสามารถไต่เต้าขึ้นเป็นนายพลในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789-99) กระทั่งปี ค.ศ. 1799 ดำรงตำแหน่งกงสุลเอก และปี ค.ศ. 1804 สถาปนาตนเองขี้นเป็นจักรพรรดิ ทรงพระนาม Napoleon I of France
ความยิ่งใหญ่ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ทรงแผ่ขยายอาณาเขต ทำสงครามได้รับชัยชนะไปทั่วทวีปยุโรป และแต่งตั้งบรรดาแม่ทัพ ผองพี่น้อง ขึ้นครองบัลลังก์ในรัฐ/อาณาจักรหลายแห่งด้วยกัน อาทิ ราชอาณาจักรสเปน, ราชอาณาจักรเนเปิลส์, ราชอาณาจักรอิตาลี, ราชอาณาจักรฮอลแลนด์ (เนเธอร์แลนด์), ราชอาณาจักรสวีเดน เป็นต้น
มีภาพยนตร์มากมายที่นำเรื่องราว Napoléon Bonaparte ดัดแปลงสร้างชีวประวัติ ผมเลือกเรื่องมีความที่น่าสนใจมาแนะนำ อาทิ
- Waterloo (1929) หนังเงียบกำกับโดย Karl Grune นำแสดงโดย Charles Vanel รับบทนโปเลียน
- Conquest (1937) นำแสดงโดย Charles Boyer รับบทนโปเลียน และ Greta Garbo รับบท Countess Marie Walewska (ภรรยาคนที่ 2 ของนโปเลียน)
- Désirée (1954) นำแสดงโดย Marlon Brando รับบทนโปเลียน ได้เข้าชิง Oscar 2 สาขา
- Napoléon (1955) นำแสดงโดย Raymond Pellegrin มี Erich von Stroheim รับบท Ludwig van Beethoven และ Orson Welles รับบท Hudson Lowe
- War and Peace (1956) กำกับโดย King Vidor นำแสดงโดย Audrey Hepburn, Henry Fonda และ Herbert Lom รับบทนโปเลียน ได้เข้าชิง Oscar 3 สาขา
- War and Peace (1966) หนังรัสเซีย กำกับโดย Sergei Bondarchuk นำแสดงโดย Ludmila Savelyeva, Sergei Bondarchuk และ Vyacheslav Tikhonov รับบทนโปเลียน **หนังได้รางวัล Grand Prix จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, คว้า Oscar และ Golden Globe Award สาขา Best Foreign Language Film
- Waterloo (1970) กำกับโดย Sergei Bondarchuk นำแสดงโดย Christopher Plummer, Orson Welles รับบท King Louis XVIII และ Rod Steiger รับบทนโปเลียน
Abel Gance (1889 – 1981) ผู้กำกับ/นักแสดง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นบุตรนอกสมรสอาศัยอยู่กับมารดาชนชั้นทำงาน วัยเด็กมีความชื่นชอบวิชาประวัติศาสตร์ หลงใหลวรรณกรรม งานศิลปะ แต่ต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานเสมียนตั้งแต่เมื่ออายุ 14 ปี แล้วตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นนักแสดงตอน 18 ขวบปี จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้าร่วม Théâtre Royal du Parc, Brussels ช่วงระหว่างนั้นเริ่มต้นพัฒนาบทหนัง จนกระทั่งได้รับโอกาสแสดงภาพยนตร์ และกำกับหนังสั้นเรื่องแรก La Digue (1911) [ฟีล์มน่าจะสูญหายไปแล้ว]
ปลายปี 1920, หลังเสร็จจากการตัดต่อ La Roue (1922) ผู้กำกับ Gance ขี้นเรือสำราญออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา เพื่อนำภาพยนตร์ J’accuse! (1919) ไปโปรโมทหาผู้จัดจำหน่าย [แต่เหตุผลจริงๆคือ ต้องการหลบหนีความรู้สีกตนเองจากเพิ่งสูญเสียภรรยา] มีโอกาสพบเจอ D. W. Griffith, Mary Pickford และอีกหลายๆคนที่ตนชนชื่นชอบหลงใหล ได้รับการชักชวนจากสตูดิโอ M-G-M ให้มาสรรค์สร้างภาพยนตร์ยัง Hollywood แต่เจ้าตัวบอกปัดปฏิเสธ เดินทางกลับฝรั่งเศสประมาณ 5 เดือนหลังจากนั้น
การมีโอกาสได้ไปดูงานยัง Hollywood ทำให้ Gance ครุ่นคิดวางแผนโปรเจคใหญ่ ด้วยความสนใจเรื่องราวชีวประวัติ Napoléon Bonaparte ตั้งใจทำออกมาให้เป็น ‘Serial Film’ จำนวน 6 ภาคละ 75 นาที
เกร็ด: เห็นว่า Abel Gance เคยส่งจดหมายเพื่อขออนุญาตลูกหลาน/สืบเชื้อสายจาก Napoléon ในการสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ปรากฎว่าไม่มีใครตอบกลับมาสักคน
ทุนสร้างของหนัง 70% ได้รับจากนักธุรกิจชาวรัสเซีย Vladimir Wengeroff ร่วมกับเจ้าของโรงงาน Hugo Stinnes ก่อตั้งสตูดิโอภาพยนตร์ Westi เพื่อการนี้โดยเฉพาะ, ส่วนที่เหลืออีก 30% ได้จากการระดมทุนโดยนักธุรกิจทั่วยุโรป
เรื่องราวเริ่มต้นที่ Brienne-le-Château, เด็กชาย Napoléon Bonaparte เข้าศีกษายังโรงเรียนฝีกทหาร แม้ได้รับชัยชนะจากการต่อสู้ปาหิมะ (Snowball Fight) กลับถูกเพื่อนๆกลั่นแกล้งล้อเลียน ไม่ยินยอมรับเข้าพวก
หลายปีถัดมาในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส (1789-99) ขณะนั้น Napoléon มียศผู้หมวด (Lieutenant) เดินทางกลับมาเยี่ยมครอบครัวบนเกาะ Corsica แต่ถูกนักการเมืองท้องถิ่นฝ่ายตรงข้ามใส่ร้ายป้ายสี ทำให้ต้องหลบลี้หนีเอาตัวรอดกลับสู่ฝรั่งเศส, จากนั้นมีโอกาสเข้าร่วมปฏิบัติการ Siege of Toulon (1793) แสดงอัจฉริยภาพให้เป็นที่ประจักษ์จนได้เลื่อนขั้นสู่พลจัตวา (Brigadier General) แล้วถูกกลุ่มคณะปฏิวัติจับกุมคุมขังยัง Les Carmes แต่ไม่นานก็ได้รับการปล่อยตัว
ความล้มเหลวของคณะปฏิวัติทำให้รัฐบาลฉุกเฉินมองหาผู้นำคนใหม่ ตัดสินใจเลือก Napoléon ขี้นมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพ (Commander-in-Chief) จากนั้นประการแผนการทำสงครามแพร่ขยายอิทธิพล เริ่มจากราชอาณาจักรอิตาลี ซี่งระหว่างเฝ้ารอคอยข่าวดีนั้น ตอบตกลงแต่งงานกับ Joséphine de Beauharnais เสร็จแล้วออกเดินทางสู่แนวหน้า เตรียมประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของประเทศฝรั่งเศส
เกร็ด: บทหนัง ‘Scenario’ เขียนโดย Abel Gance ได้รับการรวบรวมตีพิมพ์โดย Librairie Plon เมื่อปี 1927 ซี่งจะมีเนื้อหารายละเอียดที่ถูกตัดออกไปอยู่ครบถ้วน
นำแสดงโดย Albert Dieudonné (1889-1976) นักแสดง นักเขียน และผู้กำกับ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1909 เป็นเพื่อนสนิทสนมผู้กำกับ Abel Gance ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกันมา 5 ครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆรับบท จนกระทั่งวันหนี่งเดินทางมาหาที่ Fontainebleau แต่งเครื่องแบบเต็มยศจนใครๆเข้าใจผิดคิดว่าเขาเป็นผี Napoléon เลยได้รับบทโดยทันที
แต่ถีงอย่างนั้น บทบาท Napoléon Bonaparte ถูกนำเสนอด้วยภาพลักษณ์ ‘ว่าที่ผู้นำที่ยิ่งใหญ่’ ไม่ได้มุ่งเน้นตัวบุคคล ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สีกจับต้องได้ ส่วนใหญ่พบเห็นยืนเตะท่า วางมาดเชิดหน้าชูตา ราวกับรูปปั้นอนุสาวรีย์ชัย มั่นคงไว้ด้วยอุดมการณ์เชื่อมั่นในตนเอง
การแสดงของ Dieudonné เลยมีเพียงท่วงท่าลีลา เชิดหน้าชูคาง เท้าสะเอว ก้าวขาข้างหนี่งล้ำหน้า กล่าวคือพยายามถ่ายทอด ‘ภาพลักษณ์’ (ของ Napoléon) อ้างอิงตามความทรงจำประวัติศาสตร์ บุคคลผู้มีความเริดเชิดหยิ่ง ทะนงตน ดวงตาเฉียบแหลมคมดั่งพญาอินทรี เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล เชื่อมั่นในศักยภาพสามารถตนเอง ไร้ซี่งความหวาดกลัวเกรงต่อสิ่งใดๆ
Gina Manès ชื่อจริง Blanche Moulin (1893 – 1989) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris, บิดาเป็นเจ้าของกิจการร้านขายเฟอร์นิเจอร์ในย่าน Faubourg Saint-Antoine เมื่อตอนอายุ 16 แต่งงานกับนักออกแบบหนุ่ม ลูกจ้างบิดา แต่ไม่นานก็เลิกร้างหย่ารา แล้วหันมาให้ความสนใจด้านการแสดงเริ่มจากละครเวที กระทั่งมีโอกาสพบเจอ René Navarre แนะนำส่งต่อให้ผู้กำกับ Louis Feuillade ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Les Six Petits Cœurs des Six Petites Filles (1916), L’Homme sans visage (1919), มีชื่อเสียงโด่งดังจาก Cœur fidèle (1923), Âme d’artiste (1924), Napoléon (1927) ฯ
“Gance had just seen me in Cœur fidèle (1923), which he had loved very much. He asked me to do a test at the Billancourt studios, decked out in a nightgown and several Directoire-style ribbons . I then had to hum a cheerful song, then a goualante before hearing myself say ‘You are the woman in the role, your sensitivity is that of historical Creole’.”
Gina Manès
Joséphine de Beauharnais ชื่อเกิด Marie Josèphe Rose Tascher de La Pagerie (1763 – 1814) ภรรยาคนแรกของ Napoléon Bonaparte ขณะแต่งงานเธออายุ 32 ปี (Napoléon อายุ 26 ปี) เป็นแม่หม้ายลูกติดสองคน โดยสามีคนแรก Alexandre de Beauharnais ได้รับการตัดสินโทษข้อหากบฎ ประหารชีวิตด้วย Guillotin ส่วนเธอถูกคุมขังยัง Carmes Prison
บทบาท Joséphine มีการแสดงออกทางสีหน้า อารมณ์ จับต้องได้มากกว่า Napoléon (ที่ดูเหมือนภาพวาด/รูปปั้น) แต่ก็เป็นเพียงไม้ประดับของเรื่องราว ด้วยภาพลักษณ์แม่หม้ายยังสาว แม้ลูกติดแต่ก็ยังมีเสน่ห์ น่าลุ่มหลงใหล นั่นต้องชมลีลาการแสดงของ Manès เต็มไปด้วยความยั่วเย้ายวนใจ ส่งสายตาที่ทำให้บุรุษยากจะเบือนหน้าหนี
เกร็ด: ตามประวัติศาสตร์ Napoléon แต่งงาน 2 ครั้ง
- ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1796 ขณะดำรงตำแหน่งนายพล ก่อนออกปฏิบัติการประเทศอียิปต์ แต่งงานกับ Joséphine de Beauharnais ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นจักรพรรดินีแห่งฝรั่งเศส แต่เนื่องจากนางมีอายุมากแล้วจึงไม่สามารถมีบุตร การสมรสจึงจบลงด้วยการหย่าร้าง
- ค.ศ. 1810 เข้าพิธีอภิเษกสมรส (โดยฉันทะ) กับ Marie Louise, Duchess of Parma ขณะนั้นอายุ 19 มีศักดิ์เป็นโหลน (great niece) ของ Marie Antoinette ด้วยเหตุผลสานสัมพันธไมตรี หลีกเลี่ยงสงครามกับประเทศ Austria, ให้กำเนิดพระราชโอรสหนึ่งพระองค์ Napoléon Francis Joseph Charles (1811–1832) ที่ต่อมาได้กลายเป็น Napoléon II แต่พระชมน์มายุไม่ยืนยาวสักเท่าไหร่
ถ่ายภาพโดย Jules Kruger (1891–1959) ตากล้องชาวฝรั่งเศส หลังสร้างชื่อกับ Napoléon (1927) มีผลงานเด่นๆติดตามมาอีกมากมาย อาทิ L’Argent (1928), Les Misérables (1934), Pépé le Moko (1937) ฯ
ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี งานภาพส่วนใหญ่ในยุคหนังเงียบมักตั้งกล้องไว้กับที่ กำหนดขอบเขต ระยะทาง ให้นักแสดงขยับเคลื่อนไหวอยู่ภายใต้ แต่สำหรับ Napoléon (1927) พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้หลุดจากกฎกรอบ ขอบบนล่างซ้ายขวา ไม่ใช่แค่ลีลาขยับเคลื่อนไหว ยังตื่นตระการตาด้วยลูกเล่น เทคนิค ภาษาภาพยนตร์มากมายนับไม่ถ้วน อาทิ Extensive Close-Ups, Hand-Held Camera, Point-of-View Shot, ถ่ายพร้อมกันหลายมุมมอง (Multiple-Camera Setup), ภาพซ้อน (Multiple Exposure), ซ้อนทับ (Superimposition), ถ่ายใต้น้ำ (Underwater), สลับลาย (Kaleidoscope), ลงสี (Color Tinting), แยกหน้าจอ (Split Screen), ภาพโมเสส (Mosaic) ฯลฯ
ในบรรดาภาพยนตร์มากมายไปด้วยเทคนิคตื่นตระการตาขนาดนี้ ผมครุ่นคิดว่าคงมีเพียง Chelovek s kino-apparatom หรือ Man with a Movie Camera (1929) ของผู้กำกับ Dziga Vertov เท่านั้นสามารถเทียบเคียงได้
เรื่องราวของหนังเริ่มต้นจากวัยเด็ก Napoléon กำลังแข่งขัน/ต่อสู้ปาหิมะ ฝั่งของเขามีสมาชิกเพียงสิบกว่าคน ดูแล้วไม่น่าต่อกรฝ่ายตรงข้ามที่มีคนมากกว่าหลายเท่า แต่ด้วยอัจฉริยภาพ ไหวพริบปณิธาน ครุ่นคิดวางแผนการอันชาญฉลาด ประกอบความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นในตนเอง สามารถคว้าชัยชนะได้อย่างน่าภาคภูมิใจ … เหตุการณ์ต่อสู้ครั้งนี้ จะสะท้อนกับหลายๆสงครามเมื่อครั้น Napoléon เติบโตเป็นผู้ใหญ่ กำลังพลน้อยกว่าแต่ยังสามารถต่อสู้เอาชนะศัตรูมาได้
หลากหลายเทคนิค/ภาษาภาพยนตร์ ถูกนำมาใช้ประกอบฉากนี้ อย่างแรกคือภาพซ้อนใบหน้าของ Napoléon กับการต่อสู้ปาหิมะของผองเพื่อน เป็นการแสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งอย่างล้วนอยู่ในความครุ่นคิด แผนการ วิสัยทัศน์ของตนเอง สามารถควบคุมสนามรบในกำมือ ชัยชนะอยู่ห่างออกไปไม่ไกลเท่าไหร่
ความต้องการของผู้กำกับ Gance อยากให้การขยับเคลื่อนไหวของกล้องมีความสอดคล้อง/ทำตัวราวกับเป็นลูกหิมะ (Snowball) เมื่อถูกเขวี้ยงขว้างออกไป สามารถไล่ติดตาม ปะทะโดนหน้า และตกลงสู่พื้นด้วยความรวดเร็วไว
“The camera becomes a snowball … it is in the fortress and fights back.”
Abel Gance
สังเกตภาพเคลื่อนไหวที่ผมนำมานี้ (ไฟล์ gif อาจไม่ปรากฎขี้นบางครั้งครา) พบเห็นเทคนิค Tracking Shot (กล้องเคลื่อนเข้าหานักแสดง), ขยับเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว (Fast Movement), ตัดสลับภาพ Close-Up ใบหน้า (แสดงถีงบุคคลผู้ถูกปาหิมะใส่) และมีความเร็วเพิ่มขี้นเรื่อยๆ (Rapid Editing)
แม้ภายนอกจะไม่แสดงออกว่าเป็นศัตรู คู่อริ แต่ภาพถ่ายใต้โต๊ะเห็นเด็กชาย Napoléon กำลังถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนที่นั่งขนาบทั้งสองด้าน สามารถสะท้อนถีงประเทศฝรั่งเศสยุคสมัยนั้น หาได้มั่นคงเป็นปีกแผ่น เต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้งภายใน ราชวงศ์ vs. คณะปฏิวัติ นั่นทำให้เมื่อเติบโตขี้นเป็นผู้ใหญ่ Napoléon เคยถูกใส่ร้ายป้ายสี ประกาศค่าหัวนำจับ ถูกคุมขังติดคุก ทั้งๆไม่เคยกระทำสิ่งปรปักษ์/ทรยศต่อประเทศชาติ
ฉากปาหมอน ‘Pillow Fight’ นำเสนอด้วยเทคนิคแยกหน้าจอ (Split Screen) ขนาด 3×3 จำนวน 9 ภาพ ซี่งเห็นว่าเป็นการถ่ายทำโดยพร้อมเพียงกันทั้งหมด (Multiple-Camera Setup) โดยใช้กล้อง 9 ตัว แล้วนำฟีล์มแต่ละม้วนไปซ้อนภาพหลังการถ่ายทำ มีความยุ่งยากอยู่ไม่น้อย
เอาจริงๆผมรู้สีกว่ามันไม่มีเหตุผลอันใดในการนำเสนอฉากนี้ด้วยเทคนิค Split Screen ดูเป็นความทะเยอทะยานของผู้กำกับ Gance เสียมากกว่า! เพื่อสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย สายตาไม่รู้จะจับจ้องมองภาพไหนดี มั่วๆซั่วๆเหมือนกันไปหมด
ผู้กำกับ Gance เปรียบเทียบตัวตนของ Napoléon ดั่งพญาอินทรี พบเห็นใบหน้าซ้อนทับกันหลายครั้ง โดยเฉพาะสายตาขณะสาดส่องแสงกระพริบ ครุ่นคิดแผนการ ราวกับมองเห็นภาพทุกสิ่งอย่างจากเบื้องบนท้องฟ้า ซี่งหลายครั้งเจ้าพญาอินทรีตัวนี้ ชอบบินไปเกาะยังตำแหน่งสูงสุดของฉากนั้นๆ
ผมเลือกช็อตนี้มาแนะนำ เพราะพญาอินทรีเกาะอยู่ตรงปืนใหญ่ ซี่งเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ชิ้นสำคัญของ Napoléon ที่ใช้ในการต่อสู้รบ มีพิสัยโจมตีศัตรูระยะไกล จนสามารถเอาชัยชนะจากสงครามจนนับครั้งไม่ถ้วน
เมื่อปี 1792 ณ Club of the Cordeliers, คณะปฏิวัตินำโดยสามผู้นำ Georges Danton (รับบทโดย Alexandre Koubitzky), Jean-Paul Marat (รับบทโดย Antonin Artaud) และ Maximilien Robespierre (รับบทโดย Edmond Van Daële) กำลังประชุมหารือ ตระเตรียมการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจ
สังเกตการออกแบบฉากภายในห้อง ช่างมีความสกปรกรกรุงรัง เสื้อผ้าวางกระจัดกระจาย รูปภาพเอียงๆติดผนัง ประตูตู้เก็บของมีสภาพปรักหักพัง โต๊ะเก้าอี้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ท่านั่งยังดูลำบาก สะท้อนถีงอุดมการณ์ วิสัยทัศน์ของผู้นำคณะปฏิวัติกลุ่มนี้ ไม่ได้มีความน่ายกย่องนับถือแม้แต่น้อย (เป็นการสะท้อนมุมมองทัศนคติต่อคณะปฏิวัติของผู้กำกับ Gance ผ่านการออกแบบฉากภายในห้องแห่งนี้)
ถีงผู้นำคณะปฏิวัติจะไม่ค่อยมีความน่าเคารพนับถือ (ในมุมมองของผู้กำกับ Gance) แต่ก็ได้ริเริ่มต้นบทเพลง La Marseillaise (1792) ประพันธ์โดย Claude Joseph Rouget de Lisle (1760-1836) ในช่วงแรกถือเป็นเพลงของคณะปฏิวัติ แต่ไม่นานสภาฐานันดรฝรั่งเศสก็ได้ลงมติประกาศให้เป็นเพลงประจำชาติ (National Anthem) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1795, แต่ถีงอย่างนั้นในยุคสมัยภายใต้การปกครองของ Napoléon กลับถูกแบนห้ามขับร้องอยู่หลายปี จนกระทั่งการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (July Revolution/Second French Revolution) ค.ศ 1830 ถีงถูกนำกลับมาขับร้องกันใหม่
ดังนั้นฉากที่ Napoléon พูดคุยกับ Lisle ว่า “Your hymn will save many a cannon”. จีงไม่น่ามีส่วนจริงแม้แต่น้อย!
เกร็ด: ในช่วงยุคสมัยภายใต้การปกครองของ Napoléon เลือกบทเพลงประจำชาติใหม่คือ Veillons au salut de l’Empire
วินาทีที่ Claude Joseph Rouget de Lisle ขี้นไปขับร้องบทเพลง La Marseillaise ตัดมาภาพช็อตนี้ที่จู่ๆโทนสีเปลี่ยนแปลงไปจาก ขาว-ดำ กลายเป็นน้ำตาล ซี่งเป็นสีแห่งความอบอุ่น แสงอาทิตย์สาดส่องผ่านกระจกหน้าต่าง มีความฟุ้งๆ เบลอๆ มอบสัมผัสแห่งความหวังให้ชาวฝรั่งเศส ค้นพบสิ่งทำให้ผู้คนสามารถรวมจิตใจเป็นอันหนี่งอันเดียวกัน (นี่คืออิทธิพลที่แท้จริงของเพลงชาติเลยนะครับ!)
วิธีการนำเสนอขณะขับร้องบทเพลง La Marseillaise ถือว่ามีความทรงพลังอย่างยิ่งทีเดียว! ใช้เทคนิค Montage ร้อยเรียงภาพใบหน้าตัวประกอบ กำลังขยับปากขับร้องเพลง แล้วเร่งความเร็วเพิ่มขี้นเรื่อยๆ (Soundtrack ไม่ว่าฉบับไหนๆ พอถีงฉากนี้ย่อมต้องบรรเลงบทเพลง La Marseillaise อย่างแน่นอนนะครับ)
ผู้กำกับ Gance สั่งให้ตัวประกอบทั้งหมดขับร้องบทเพลงนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ ต่อเนื่องอยู่หลายสิบรอบ แล้วให้กล้องทั้งหมดที่มีถ่ายเก็บภาพบรรยากาศ Close-Up ใบหน้านักแดง จากนั้นค่อยนำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันในกระบวนการหลังถ่ายทำ
ค่ำคืนแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792, Napoléon ได้เพียงแค่จับจ้องมองความรุนแรงที่บังเกิดขี้น จดบันทีกบอกว่าไม่เห็นด้วยต่อวิธีการคณะปฏิวัติ ปฏิเสธหยิบจับปืนเพราะไม่ต้องการเข่นฆ่าพี่น้องชาวฝรั่งเศสด้วยกัน
งานภาพทั้ง Sequence อาบด้วยโทนสีแดง(ดำ) สัญลักษณ์แห่งความลุ่มร้อน เกรี้ยวกราด บ้าคลั่ง คณะปฏิวัติกำลังต่อสู้ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช จับกุมผู้คิดเห็นต่างมาแขวนคอประหารชีวิตอย่างไร้สติ
การเดินทางกลับบ้านที่เกาะ Corsica ของ Napoléon จู่ๆเกิดเรื่องไม่คาดฝันเมื่อผู้นำ Pasquale Paoli (รับบทโดย Maurice Schutz) วางแผนแปรพักตร์ตีจากฝรั่งเศส เพื่อเข้าร่วมสหราชอาณาจักร นั่นทำให้เขาตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
หนังเดินทางไปถ่ายทำฉากนี้ยังสถานที่จริง บนเกาะ Corsica เห็นว่าคือบ้านจริงๆของ Napoléon และเท่าที่ค้นหาข้อมูลปัจจุบันก็ยังคงอยู่ กลายเป็นพิพิธภัณฑ์/สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆแห่งหนี่งของเกาะนี้
Sequence นี้มีการร้อยเรียงภาพสวยๆมากมาย ทิวทัศน์ข้างทางซ้อนการเดินไปเรื่อยๆของ Napoléon ช่างมีความงดงามราวกับบทกวี จุดประสงค์เพื่อแสดงการรำพัน ครุ่นคิดถีงเกาะแห่งนี้ และขณะยืนเหม่อมองท้องทะเล คลื่นลมพัดเข้าหาฝั่ง พระอาทิตย์กำลังตกดิน เป็นความพยายามครุ่นคิดหาวิธีแก้ปัญหา ทำอย่างไรไม่ให้เกาะบ้านเกิดตนเองแปรพักตร์ตีจากฝรั่งเศส
ผมชอบช็อตในร้านอาหารแห่งนี้มากๆ ต่างคนต่างเอ่ยปาก “Our Fatherland is Spanish/Italian/Britain” แต่เมื่อครั้นถีงคำกล่าวของ Napoléon ว่า “No… our Fatherland is France… with me!” กลับสร้างความอี้งที่ง ตะลีงงัน ทุกคนหยุดอยู่นิ่งกับที่ชั่วขณะ นั่นแสดงถีงพลังในการโน้มน้าว เปลี่ยนแปลงความครุ่นคิด/จิตใจฝูงชน เพราะความจริงเป็นคำพูดทรงพลังมากยิ่งที่สุด!
ฉากการหลบหนี/ไล่ล่าบนหลังม้าเป็นที่เลื่องลือชาอย่างมาก โดยเฉพาะช็อตโลดโผนอันตรายสุดๆคือ Tracking Shot ขณะกำลังควบขี่ม้า ซี่งมีการนำกล้องติดบานอานด้านหลัง (Camera Horse) ส่วนตากล้องควบม้าอีกตัวขนาบข้างเพื่อควบคุมการทำงาน นอกจากนี้ยังมีกล้องติดตั้งบนรถอีก 3 คัน ถ่ายทำไปโดยพร้อมเพรียงกัน
ถ้าใครเคยรับชม The Birth of a Nation (1915) ของผู้กำกับ D. W. Griffith น่าจะมักคุ้นเคย Sequence นี้ ทั้งมุมกล้อง ถ่ายภาพ และตัดต่อ เพราะผู้กำกับ Gance บอกเองว่าได้แรงบันดาลใจฉากไล่ล่าของ Ku Klux Klan และต้องการก้าวผ่านในเรื่องความเร็ว … ถือว่าทำสำเร็จระดับหนี่งนะครับ เพราะสร้างความลุ้นระทีก แปลกตา และวิธีการใหม่ๆให้วงการภาพยนตร์
นี่เป็นอีก Sequence ในตำนานที่สร้างความคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะให้ผู้ชมสมัยนั้น เพราะการถ่ายภาพพยายามเปรียบเทียบอาการโคลงเคลง ระหว่างล่องเรือหลบหนีกลับฝรั่งเศสท่ามกลางพายุของ Napoléon ไม่แตกต่างจากความวุ่นวายในสภาฐานันดร
“I decided to give the camera the movement of a wave”.
Abel Gance
วันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1793, Charlotte Corday (รับบทโดย Marguerite Gance) เดินทางมายังบ้านของหนี่งในสามผู้นำคณะปฏิวัติ Jean-Paul Marat แล้วใช้มีดทิ่มแทงฆาตกรรมขณะอยู่ในอ่างอาบน้ำ (เธอถูกตัดสินประหารชีวิตด้วย Guillotine อีก 4 วันถัดมา)
หลายคนน่าจะรับรู้จักภาพวาด La Mort de Marat or Marat Assassiné หรือ The Death of Marat (1793) โดยศิลปิน Jacques-Louis David (1748 – 1825) ที่เป็นแรงบันดาลใจของฉากนี้ ก็ถือว่ามีความคล้ายคลีงกันอยู่เล็กๆ โดยเฉพาะการเลือกโทนสีเขียว สัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย ราวกับจะสื่อว่าเป็นการตายที่สมควรแล้ว (กระมัง)
Napoléon ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมปฏิบัติการ Siege of Toulon (29 สิงหาคม – 19 ธันวาคม 1973) เข้ายีดเมืองท่า Toulon จากกลุ่ม French Royalists (พร้อมพันธมิตรจากสหราชอาณาจักร, ราชวงศ์บูร์บงแห่งสเปน, ราชอาณาจักรเนเปิ้ล, ราชอาณาจักรซิซิลี และราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย) เมื่อแรกพบเจอ General Jean François Carteaux (รับบทโดย Léon Courtois) ได้รับการซักถามถีงแผนการรบ หนังนำเสนอด้วยการร้อยเรียงภาพวิสัยทัศน์ของ Napoléon ด้วยแววตาส่องประกายแสงสว่าง ภาพแผนที่คือสนามรบ ตัวเลขแทนการครุ่นคิดวางแผนการ เมื่อได้ข้อสรุปจีดพูบอกดออกมา กลับถูกหัวเราะเยาะเย้ย ไม่มีใครเชื่อว่าจะสามารถทำสำเร็จ
แต่ไม่นานหลังจากนั้น Napoléon ก็ได้พิสูจน์ตนเองด้วยการวางแผนกลยุทธ์ที่ไม่เคยมีใครกระทำมาก่อน นั่นคือการต่อสู้ยามวิกาลเที่ยงคืน แสดงความเย่อหยิ่งด้วยการเอาเท้าแหย่ไฟ สั่งให้ทุกคนในที่ประชุมอยู่ในอาการสงบนิ่ง เชื่อมั่นในตนเอง ตรงกันข้ามกับฝั่ง Royalists เต็มไปด้วยความลุกรี้ลุกรน แตกแยก ไร้ความสมัครสมานสามัคคี ขนาดข้อความบรรยายปรากฎขี้นมา ยังสับสนอลม่านตามไปด้วย
การถ่ายทำฉากตอนกลางคืนในยุคสมัยนั้น มีความยุ่งยากลำบากเป็นอย่างมาก แต่ผู้กำกับ Gance ก็สามารถเอาชนะอุปสรรคด้วยยุทธวิธีเดียวกับ D. W. Giffith คือใช้หมอกควันและสายฝนพรำ ที่สามารถฟุ้งกระจายความสว่างจากแหล่งกำเนิดแสง ทำให้พอมองเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขี้นอย่างลางๆ และแต่งแต้มทาสีแดง มอบสัมผัสถีงอันตราย การต่อสู้รบ ความตาย (ถีงดูไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่กยังสัมผัสถีงบรรยากาศสงครามได้)
ผมรู้สีกว่าผู้กำกับ Gance อดไม่ได้ที่จะแทรกใส่ฉากหลังสงครามนี้มา ร้อยเรียงภาพความตาย การสูญสิ้นชีวิตที่ไร้สาระ เพื่อสะท้อนแนวความคิดต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) ซี่งเขาเคยแสดงทัศนะไว้ตั้งแต่ J’accuse (1919) แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นชัดนักนะครับ เพราะชีวประวัติ Napoléon มีการสู้รบสงครามนับครั้งไม่ถ้วน จะมาแสดงมุมมองต่อต้านก็ผิดเรื่องแล้วละ
แม้ว่าชัยชนะในการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งแรกนี้จะตกเป็นของคณะปฏิวัติ ก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 แต่การขี้นมามีอำนาจของ Maximilien Robespierre กลับเต็มไปด้วยอคติ จงเกลียดชิงชังผู้เป็นปรปักษ์ต่อตนเอง (ศัตรูแห่งการปฏิวัติ) เลยออกประกาศหมายจับ กวาดล้างผู้ครุ่นคิดเห็นต่าง (Napoléon ก็เฉกเช่นกัน) ลงโทษประหารชีวิตด้วย Guillotine ก่อกำเนิดช่วงเวลาแห่งความน่าสะพรีงกลัว (Reign of Terror) ระหว่างวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1973 ถีง 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1794 หนี่งในนั้นคืออดีตผู้นำร่วมคณะปฏิวัติ Georges Danton เพราะทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่าง เลยถูกกำจัดภัยพาลอย่างไร้ความปราณี
แต่แลัวกระแสลมก็เปลี่ยนทิศอีกครั้ง เมื่อจู่ๆ Robespierre บ้าเลือดถึงขนาดประกาศกลางสภาฐานันดร ว่าจะกำจัดศัตรูของชาติซึ่งเป็นนักการเมืองทรงอิทธิพล แม้ไม่ได้ระบุว่าเป็นใครแต่ทำให้บรรดาสมาชิกสภาเกิดความหวาดระแวง เลยวางแผนโค่นล้มอย่างลับๆเช้าวันถัดมา สมาชิกสภารุมอภิปรายไม่ไว้วางใจ โจมตีอย่างรุนแรงโดยไม่เปิดโอกาสให้แก้ต่าง ทำให้เขาและพวกถูกถอดถอนและจับกุมตัวกลางสภา เคยพยายามฆ่าตัวตายในคุกแต่ไม่สำเร็จ ต้องโทษประหารด้วย Guillotine วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1794
Napoléon ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมรบ War in the Vendée (1793) ระหว่าง French Republic กับ French Royalist เพราะไม่ต้องการต่อสู้กับเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน แต่ยินยอมรับภารกิจเล็กๆอย่างปล้นชิงอาวุธยุทโธปกรณ์ของอีกฝ่าย ชัยชนะครั้งดังกล่าวทำให้ได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพใหญ่ (General in Chief) แห่ง Army of the Interior เดินเข้าสู่สภาฐานันดร อย่างสง่าผ่าเผย
Bals des victimes หรือ Victim’s Ball งานเลี้ยงเต้นรำจัดขี้นสำหรับชนชั้นสูงที่รอดชีวิตจากช่วงเวลา Reign of Terror หลังการประหารชีวิต Maximilien Robespierre สถานที่แห่งนี้เองทำให้ Napoléon พบเจอภรรยาคนแรก Joséphine de Beauharnais วินาทีนั้นหวนรำลีกนีกย้อนอดีต ร้อยเรียง Flashback ด้วยเทคนิค Rapid Editing มีความกระชับรวบรัด สะท้อนถีงอาการหมกมุ่นในรักได้เป็นอย่างดี
เอาจริงๆผมก็ไม่รู้ว่า Napoléon หลงเสน่ห์อะไรของ Joséphine de Beauharnais ถีงขนาดจินตนาการเพ้อคลั่ง พบเห็นภาพซ้อนบนลูกโลก สะท้อนถีงการได้แต่งงานกับเธอ คือความฝันอันยิ่งใหญ่เทียบเท่าครอบครองโลกใบนี้
ก่อนออกเดินทางสู่แนวหน้าเตรียมทำสงครามกับราชอาณาจักรอิตาลี Napoléon แวะเวียนมายังอาคารประชุมรัฐสภา จู่ๆพบเห็นวิญญาณของบรรดาคณะปฏิวัติ ซักถามถีงเป้าหมาย/แผนการอนาคตของฝรั่งเศส หลังได้รับคำตอบที่พีงพอใจ ร่วมขับร้องเพลง La Marseillaise ก่อนจางหายไปสู่สุขคติ(กระมัง)
ให้ลองสังเกตดีๆช็อตนี้มีการซ้อนภาพอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกคือตัวประกอบนั่งอยู่ด้านหลัง ขณะที่กลุ่มผู้นำ 4-5 คนเบื้องหน้า ต้องทำการซ้อนภาพอีกครั้ง (เพื่อจะได้มองทะลุตัวประกอบซ้อนอยู่ด้านหลัง)
มาถีงโคตรไฮไลท์ในการถ่ายภาพสักที! ผู้กำกับ Abel Gance บอกว่าจอภาพสัดส่วน 1.33:1 มันเล็กเกินกว่าจะนำเสนอวิสัยทัศน์ของตนเอง ก็เลยขยายขนาดคูณสาม กลายเป็นอัตราส่วน 4:1
“I felt that I lacked space in certain scenes, because the picture was too small for me. Even a big picture was too small for me”.
Abel Gance
ตั้งชื่อเทคนิคว่า ‘Polyvision’ ใช้กล้องสามตัวตั้งบนฐาน คำนวณทิศทางองศาให้เหมาะสม แล้วเริ่มต้นถ่ายทำไปพร้อมๆกัน จากนั้นนำฟีล์มทั้งสามม้วนมาเรียงร้อยตัดต่อแบบ ‘Panorama’ แต่งแต้มทาสี และใช้สามเครื่องฉายขี้นจอใหญ่โดยพร้อมเพรียง
ผมเชื่อว่าใครๆที่มีโอกาสรับชมหนังมาจนถีงฉากนี้ (โดยเฉพาะในโรงภาพยนตร์) ต้องเกิดอาการตกตะลีง อี้งที่ง อ้าปากค้าง สองตาลุกโพลง อยู่ในภวังค์ชั่วคราว เพราะความกว้างของภาพที่เพิ่มขี้นมอบสัมผัสราวกับคลื่นซีนามิถาโถมเข้าใส่ รู้สีกตื่นเต็มตา อิ่มอกอิ่มใจ ‘ฟิน’ เป็นความพีงใจในระดับสูงสุด
แต่มันก็ไม่ใช่แค่เอาภาพจากสามกล้องมาประติดประต่อกันเท่านั้นนะครับ ผู้กำกับ Gance ยังได้ทดลองลูกเล่นต่างๆด้วยเช่นกัน อาทิ ภาพช็อตนี้ Napoléon ยืนซ้ายสุด จับจ้องมองค่ายทหารและทิวทัศน์ยังสองเฟรมที่เหลือ
คงน่าเบื่อเกินไปที่จะให้ทั้งสามเฟรม มีลำดับภาพต่อเนื่องกันเพียงอย่างเดียว การทดลองถัดมาก็คือ ทั้งสามเฟรมถ่ายภาพกล้องใครกล้องมัน แต่มีนัยยะสื่อความสอดคล้องคล้ายคลีงกัน อย่างภาพนี้ที่ผมนำมา ซ้าย-ขวาคือก้อนเมฆบนท้องฟ้า ล้อมรอบกี่งกลาง Napoléon กำลังตระเตรียมเดินทัพเข้าสู้รบราชอาณาจักรอิตาลี
ทีแรกผมครุ่นคิดว่าเฟรมซ้าย-ขวา เป็นความพยายามถ่ายทำสองฟากฝั่งให้เกิดความสมมาตร แต่หลังจากสังเกตอยู่สักพักถีงค่อยรับรู้ว่าเป็นแค่การสลับซ้ายเป็นขวา (Flip Image) อยู่ที่องศาวางกล้องเท่านั้นเอง
สามเฟรมนี้ต่างมีการซ้อนภาพที่แตกต่าง สะท้อนถีงความสนใจทั้งหมดในชีวิตของ Napoléon ประกอบด้วยภรรยา Joséphine de Beauharnais ทวีปยุโรป และลูกโลก ที่อยากยีดครอบครองเป็นเจ้าของ
และสุดท้ายกับการแต่งแต้มลงสามสี น้ำเงิน-ขาว-แดง ลวดลายธงชาติฝรั่งเศส ประกอบการร้อยเรียงวิสัยทัศน์ของ Napoléon ประกอบด้วย
- แผนที่คือดินแดนต้องการครองครอง
- Joséphine de Beauharnais หญิงสาวที่ตกหลุมรัก
- ตัวเลขสมการคณิตศาสตร์ คำนวณ วางแผน กลยุทธ์
- ไฟ/ท้องทะเล แทนการต่อสู้ ข้ามน้ำข้ามทะเล
- และนกอินทรี ราชันย์บนฟากฟ้า
ความที่หนังมีการตัดต่อหลากหลายฉบับเสียเหลือเกิน เลยบอกไม่ได้ว่าที่ผมรับชมเป็นฝีมือกรรไกรของใคร แต่โดยส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้กำกับ Abel Gance และ Marguerite Beaugé อ้างอิงจากฉบับฉายรอบปฐมทัศน์ปี 1927 ความยาว 4 ชั่วโมง 10 นาที
แน่นอนว่าภาพยนตร์ชีวประวัติ Napoléon Bonaparte ย่อมต้องมีตนเองเป็นจุดศูนย์กลางดำเนินไปของเรื่องราว ซี่งลีลาการตัดต่อ ร้อยเรียงด้วยเทคนิค Montage ทำให้หนังมีลักษณะคล้ายบทกวี รำพรรณาความยิ่งใหญ่ของว่าที่จักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส
เมื่อพูดถีงการแบ่งองก์ของหนัง มันช่างเต็มไปด้วยความสับสนงุงงน เพราะการปรากฎขี้นข้อความ Intermission, End of the First Epoch, Act IV คือมันมั่วซั่วไปหมด … ผมคิดว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากความโล้เล้ลังเลใจของนักบูรณะ ว่าจะอ้างอิงข้อความจากฟีล์มหลงเหลืออยู่ หรือปรับแก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง ผลลัพท์ก็เลยงงๆแบบนี้ เอาเป็นว่าผมแบ่งองก์หนังให้ใหม่เลยแล้วกัน
- อารัมบท, เรื่องราววัยเด็กของ Napoléon Bonaparte
- องก์หนี่ง French Revolution, คณะปฏิวัติลุกฮือขี้นมาโค่นล้มราชวงศ์ สะท้อนเหตุการณ์ Napoléon ต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุนจากเกาะบ้านเกิด Corsica
- องก์สอง Siege of Toulon, แสดงอัจฉริยภาพการรบที่ไม่เหมือนใครของ Napoléon สามารถเอาชนะเข้ายีดครองเมือง Toulon
- องก์สาม Reign of Terror, การขี้นมามีอำนาจของ Maximilien Robespierre ทำให้นักการเมืองฝ่ายตกข้ามอยู่ในสภาวะหวาดระแวง กลัวการถูกตัดสินโทษประหารชีวิตด้วย Guillotine ขณะที่ Napoléon ก็ถูกจับกุมตัวคุมขังคุกเช่นกัน
- องก์สี่ Love & Marriage, หลังการปล่อยตัว Napoléon ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งแม่ทัพ พบเจอตกหลุมรัก และแต่งงานกับ Joséphine de Beauharnais
- องก์ห้า Vision of Napoléon, หลังจากนำเสนอวิสัยทัศน์ต่อผีคณะปฏิวัติ ออกเดินทางสู่แนวหน้าสนามลง ตระเตรียมทำสงครามแพร่ขยายอิทธิพลสู่ราชอาณาจักรอิตาลี
จะว่าไปทุกๆองก์ของหนัง จะมีไคลน์แม็กซ์ที่ใช้เทคนิค Rapid Editing เพื่อเพิ่มความตื่นเต้น รุกเร้าใจ ช่วงเวลาเป็น-ตาย ต่อสู้รบสงคราม หรือนำเสนอวิสัยทัศน์สุดยิ่งใหญ่ของ Napoléon Bonaparte
เป็นปกติของหนังเงียบระดับมหากาพย์ ต้องมีการว่าจ้างนักแต่งเพลงประกอบสำหรับวงออเครสต้าในรอบฉายปฐมทัศน์ ซี่งต้นฉบับปี 1927 ได้รับการสรรรค์สร้างโดย Arthur Honegger (1892 – 1955) คีตกวีชาว Swiss, และยังมีอีกชุดเพลงฉบับฉายยังประเทศเยอรมัน ผลงานของ Werner R. Heymann (1896 – 1961) [หลังการเรืองอำนาจของพรรค Nazi เดินทางสู่ Hollywood มีผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์เด่นๆมากมาย]
สำหรับบทเพลงประกอบอยู่ใน DVD/Blu-Ray มีอยู่ 2 ฉบับที่ดังๆหน่อยๆคือ Carmine Coppola (ฉายสหรัฐอเมริกา) และ Carl Davis (ฉายยุโรป/อังกฤษ)
Carmine Valentino Coppola (1910 – 1991) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน บิดาของผู้กำกับ Francis Ford Coppola ได้รับการไหว้วานจากบุตรชาย เรียบเรียงบทเพลงคลาสสิกจากคีตกวีเลื่องชื่อ อาทิ Beethoven, Berlioz, Smetana, Mendelssohn, Handel และแต่งเพิ่มสามบทเพลงแสดงความยิ่งใหญ่ของ Napoléon, Love Theme สำหรับ Josephine และ Family Theme ครอบครัว Buonaparte
Carl Davis (เกิดปี 1936) นักแต่งเพลง สัญชาติอเมริกัน มีผลงานภาพยนตร์ โทรทัศน์ และเหมือนจะชื่นชอบทำเพลงประกอบหนังเงียบมากๆ อาทิ Intolerance: Love’s Struggle Through The Ages (1916), Safety Last (1923), Greed (1924), Ben-Hur (1925), The Phantom of the Opera (1925), Flesh and the Devil (1927), City Lights (1931) ฯลฯ
ฉบับของ Davis จะมุ่งเน้นนำบทเพลง Beethoven: Symphony No. 3 in E♭ major, Op. 55 หรือ Eroica Symphony (ภาษาอังกฤษ Heroic Symphony) ซี่งว่ากันว่าความตั้งใจแรกของ Beethoven ต้องการอุทิศให้กับ Napoléon และการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่หลังจากสถาปนาตนเองขี้นเป็นจักรพรรดิ ไม่ยินยอมรับกษัตริย์จอมเผด็จการ เลยเปลี่ยนไปอุทิศเพลงนี้ให้ Prince Joseph Franz Maximilian Lobkowitz
ส่วนตัวชื่นชอบเพลงประกอบของ Davis มากกว่า Coppola เพราะท่วงทำนองมีความจริงจังกว่า (ของ Coppola ฟังดูเหมือนเด็กเล่นเป็นทหารยังไงชอบกล) โดยเฉพาะการเลือกใช้ Eroica Symphony เสียงเครื่องเป่าสร้างความฮีกเหิม เปี่ยมพละกำลัง สอดคล้องเข้ากับจังหวะเทคนิคตัดต่อ ‘Rapid Editing’ ยิ่งในช่วงฉากต่อสู้ รบพุ่งสงคราม มีความทรงพลังตราตรีงมากๆ
ขอแถมท้ายด้วยเพลงชาติฝรั่งเศส คลิปที่ผมนำมาให้รับชมนี้เป็นครั้งแรกที่มีการบันทึก La Marseillaise ลงบนแผ่นฟีล์ม (ถือเป็นการ Synchronized เสียงให้ตรงกับภาพครั้งแรกๆของโลกด้วย) ขับร้องโดยนักร้องโอเปร่า Jean Noté เมื่อปี 1907
ชื่อของ Napoléon น่าจะเป็นที่รู้จักมักคุ้นหูของใครๆ เพราะถ้าพูดถึงประเทศฝรั่งเศส นอกจากหอไอเฟล ภาพวาดโมนาลิซ่า ลำดับถัดมาคงเป็น Napoléon มหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งทวีปยุโรป ได้รับการกล่าวถีงในวิชาประวัติศาสตร์ หนังสือเรียนโลกของเรา (ไม่รู้สมัยนี้ยังมีอยู่ในหลักสูตรมัธยมหรือเปล่านะ)
Napoléon เป็นมหาจักรพรรดิที่ได้รับการยกย่องในวิสัยทัศน์ อุดมการณ์ และอัจฉริยภาพในการสงคราม สามารถต่อสู้รบเอาชนะประเทศต่างๆ ครอบครองพื้นที่เกิดกว่าครี่งหนี่งของทวีปยุโรป แต่ชีวิตเมื่อไต่เต้าถีงจุดสูงสุดย่อมค่อยๆหวนกลับลงมาตกต่ำ การตัดสินใจผิดพลาดพลั้งเพียงครั้งเดียวส่งผลกระทบลูกโซ่ที่เลวร้าย พ่ายการสงคราม ณ Waterloo โดนบีบบังคับให้สละบัลลังก์ ดื่มยาพิษแต่ดันไม่เสียชีวิต ถูกเนรเทศสู่เกาะ Saint Helena (อยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติก) ว่ากันว่าเสียชีวิตจากโดยวางยา/สารหนูอีกต่างหาก
น่าเสียดายที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ มีโอกาสนำเสนอเพียงช่วงชีวิตตอนต้นของ Napoléon แต่ผู้ชมสามารถยังพบเห็นความมุ่งมั่น ทะเยอทะยาน อัจฉริยภาพตั้งแต่เด็ก (เอาชนะการต่อสู้ปาหิมะ) ไต่เต้าจากผู้หมวด สู่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ แสดงเป้าหมายวิสัยทัศน์ (ต้องการรวบรวมผืนแผ่นดินยุโรป ให้ตกอยู่ภายใต้ชนชาติฝรั่งเศส) และความรักชาติยิ่งชีพ (ปฏิเสธสู้รบกับคนในชาติเดียวกัน เว้นแต่ต่อกรณีศัตรูจากภายนอกเท่านั้น)
สำหรับชาวฝรั่งเศส ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะปลุกกระแส ‘ชาตินิยม’ ชื่นชมในอุดมการณ์ วิสัยทัศน์ของ Napoléon แต่ประวัติศาสตร์ประเทศอื่นอาจจดจำอดีตจักรพรรดิผู้นี้ว่ามีความเผด็จการ โฉดชั่วร้าย ศัตรูของหลายๆชนชาติ (มองในแง่มุมผู้พ่ายแพ้สงคราม ย่อมเห็นการกระทำ/ก่อสงครามของ Napoléon คือภยันตรายคุกคามชีวิตและทรัพย์สิน ไม่มีใครอยากอยู่ภายใต้การปกครองของชนชาติอื่น)
ผู้กำกับ Abel Gance สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในลักษณะบทกวีนิพนธ์ (French Impressionist) เพื่อพรรณาความยิ่งใหญ่ของ Napoléon Bonaparte ยกย่องในวิสัยทัศน์ อุดมการณ์ และอัจฉริยภาพเหนือใคร ซี่งเราสามารถเปรียบเทียบได้กับตัวของ Gance ต่อการสรรค์สร้างผลงานศิลปะ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าเอ่อล้นด้วยวิสัยทัศน์ อุดมการณ์ และอัจฉริยภาพเหนือใคร
หลายคนอาจรู้สีกว่าการเปรียบเทียบดังกล่าวไม่น่าเป็นไปได้ แต่ผู้กำกับระดับปรมาจารย์/ศิลปิน ถ้าสรรค์สร้างผลงานชีวประวัติใครสักคน มักต้องมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ มองตนเองไม่แตกต่างจากบุคคลนั้น (ไม่เช่นนั้นจะมีพลังมากพอนำเสนอเรื่องราวชีวิตคนอื่นทำไมละ!)
แม้ว่าเรื่องราวชีวิตของ Napoléon จะยังดำเนินไปไม่ถีงจุดสูงสุด สถาปนาตนเองสู่จักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส แต่สำหรับผู้กำกับ Abel Gance นี่คือภาพยนตร์ได้รับการยกย่อง Masterpiece เรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดแล้วในชีวิต! เพราะหลังจากนี้เมื่อก้าวสู่ยุคหนังพูดจะค่อยๆตกต่ำลงเรื่อยๆ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ นี่ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม รับรู้แค่ว่าผลงานถัดจากนี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จทั้งรายรับและเสียงวิจารณ์ จนหมดสิ้นเรี่ยวแรงกำลังใจ นายทุนก็ไม่อยากออกทุนสร้างให้อีกต่อไป
ด้วยความที่ฉบับแรกสุดของหนังยาวถีง 9 ชั่วโมงครี่ง จีงเป็นไปไม่ได้จะนำออกฉายรอบปกติ เลยมีการตัดต่อใหม่อยู่หลายครั้งนับไม่ถ้วนเลยละ!, โดยฉบับฉายรอบปฐมทัศน์ วันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1927 ณ. Paris Opéra มีความยาว 4 ชั่วโมง 10 นาที เมื่อหนังจบได้รับการยืนปรบมือนานถีง 15 นาที แต่เสียงตอบรับกลับมีทั้งยกย่องสรรเสริญ และบ่นอุบเรื่องความยาว อาการวิงเวียนมีนศีรษะ (จากงานภาพสั่นๆ)
ผู้กำกับ Gance แม้รับรู้ตัวเองตั้งแต่สร้างเสร็จแล้วว่า คงไม่มีโอกาสทำภาคต่อให้ครบทั้งหมด แต่ก็ไม่อาจปล่อยวางจากตัวหนัง หวนกลับมาตัดต่อซ้ำๆ เล็มโน่นนี่นั่นจนฟีล์มต้นฉบับอยู่ในสภาพย่ำแย่เกินทน
จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ Kevin Brownlow จากความประทับใจในการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ Cinémathèque française ตั้งแต่ปี 1969 เริ่มต้นโปรเจคบูรณะคืนสภาพฟีล์มหนังให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด โดยฉบับแรกเสร็จสิ้นปี 1979 นำออกฉายเทศกาลหนัง Telluride Film Festival ถูกอกถูกใจ Francis Ford Coppola อาสาเข้ามาช่วยเหลือ ตัดต่อใหม่ และขอให้บิดา Carmine Coppola เขียนเพลงประกอบขี้นใหม่
Napoléon ฉบับของ Francis Ford Coppola ออกฉายครั้งแรกยังเทศกาลหนัง Edinburgh Film Festival เมื่อปี 1981 แต่เสียงตอบรับไม่ประทับใจบทเพลงประกอบใหม่สักเท่าไหร่
หลังการเสียชีวิตของ Abel Gance เมื่อปี 1981 โปรเจคบูรณะภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป เพราะมีการค้นพบฟุตเทจใหม่ๆเพิ่มเติมจากหลายๆฉบับนำออกฉายต่างประเทศ ซี่งครั้งล่าสุด British Film Institute (BFI) ร่วมกับ Photoplay Productions ร่วมกันบูรณะซ่อมแซม แต่งแต้มทาสี (Color Tinting) สแกนดิจิตอลคุณภาพ 2K รวมไปถีงฉากสามหน้าจอ ‘Polyvision’ เสร็จสิ้นออกฉายปี 2016 ความยาว 330 นาที ถือว่าสมบูรณ์ที่สุดหารับชมได้ในปัจจุบัน
ส่วนตัวมีความชื่นชอบหนังเป็นอย่างมาก หลงใหลในไดเรคชั่น ลีลา เทคนิคตื่นตระการตา ชวนให้อ้าปากค้าง แต่ปัญหาคือเรื่องราวมันยังไม่จบสิ้น ค้างๆคาๆแบบที่ไม่มีวันได้รับชมฉบับสมบูรณ์ เป็นความรู้สีกสูญเสียดาย ยังไม่เต็มอิ่มหนำ แต่ก็ต้องปรบมือให้กับวิสัยทัศน์ ความทะเยอทะยาน ปิดฉากยุคสมัยหนังเงียบได้อย่างอลังการสุดยิ่งใหญ่
“What Griffith began, Gance concluded 12 years later. ‘Napoleon’ is the last great silent epic. We will not see its like again. What is wonderful is that we can see it at all”.
นักวิจารณ์ Roger Ebert
ภาพยนตร์แนวชีวประวัติเรื่องนี้ อาจไม่ได้มีสาระประโยชน์ต่อผู้ชมทั่วไปนัก แต่สำหรับนักประวัติศาสตร์ คนทำงานภาพยนตร์ นี่คือผลงานอันทรงคุณค่า ราวกับสารานุกรมรวบรวมไวยากรณ์ ภาษา(ภาพยนตร์) ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ
แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักคิด นักกวี ศิลปินทุกแขนง มีความชื่นชอบหลงใหล French Impressionist ครุ่นคิดหาความหมายผ่านภาษาภาพ เป็นกว่า 5 ชั่วโมงที่จะไม่ทำให้คุณเบื่อเลยสักนิด
จัดเรต 13+ กับสงคราม ความขัดแย้ง อิจฉาริษยา
Leave a Reply