Nashville (1975) : Robert Altman ♥♥♥♥
คงไม่ผิดอะไรจะเปรียบเทียบเมือง Nashville, Tennessee กับประเทศสหรัฐอเมริกาทศวรรษนั้น เต็มไปด้วยความโกลาหล สับสนวุ่นวาย ขณะที่บรรดานักร้องเพลงคันทรีทั้งหลาย การขึ้นแสดงบนเวทีแทบไม่ต่างอะไรกับการหาเสียงของนักการเมือง!
“the funniest epic vision of America ever to reach the screen”.
– นักวิจารณ์ชื่อดัง Pauline Kael
ผู้ชมส่วนใหญ่ที่รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คงกุมขมับส่ายหัวบ่นไม่เข้าใจ แม้งบ้าบอคอห่านแตกอะไร แถมตัวละครเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด แล้วใจความหลักอยู่ตรงไหน? เอาจริงๆผมก็ดูหนังไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่เหมือนกัน กระทั่งว่าอยู่ดีๆฉุกครุ่นคิดถึง Jesus Christ Superstar (1973) ที่เปรียบเทียบพระเยซูคริสต์ ไม่ต่างอะไรกับไอดอล/นักร้อง/ซุปเปอร์สตาร์ เฉกเช่นนั้นแล้วนักร้องเพลงคันทรี กับนักการเมืองที่ไม่ปรากฎพบเห็นหน้าสักคนในหนัง ก็น่าจะสามารถเชื่องโยงได้เช่นกัน!
นี่แปลว่า Nashville คือโคตรภาพยนตร์ที่นำเสนอ ‘สหรัฐอเมริกา’ ในเชิงเสียดสีล้อเลียน Satire Black-Comedy ต่อสถานการณ์การเมืองของประเทศยุคสมัยนั้น ไล่ตั้งแต่
– สงครามอินโดจีน/เวียดนาม (1955 – 1975)
– เหตุการณ์ลอบสังหาร ปธน. John F. Kennedy วันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963
– Pentagon Papers (1971)
– Watergate Scandal (1972)
– และการลาออกจากตำแหน่งของ ปธน. Richard Nixon วันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1974
ขณะที่ความ Masterpiece ของหนัง คือการนำบรรยากาศของสหรัฐอเมริกายุคสมัยนั้น แปลเป็นภาษาภาพยนตร์ ด้วยไดเรคชั่นลายเซ็นต์ผู้กำกับ Robert Altman จนเกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในสเกลระดับ Epic ที่ยังคงยิ่งใหญ่ตราตรึงเหนือกาลเวลา
Robert Bernard Altman (1925 – 2006) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา ได้รับการยกย่องจากความหัวขบถนอกรีต จนกลายเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดแห่งยุค New Hollywood เกิดที่ Kansas City, Missouri เรียนจบจาก Wentworth Military Academy, Missouri สมัครเป็นทหารอากาศทันเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองในตำแหน่งลูกเรือเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 Liberator ปลดประจำการย้ายมาปักหลักที่ California ทำงานในบริษัทผลิตเครื่องสักลาย เข้าสู่วงการจากขายบทหนังเรื่อง Bodyguard (1948) ให้กับสตูดิโอ RKO เพราะได้เงินเยอะเลยหันมาสนใจเอาดีด้านนี้ ไต่เต้าจนได้เป็นผู้กำกับซีรีย์โทรทัศน์, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Delinquents (1957) ด้วยทุนสร้างเพียง $63,000 เหรียญ ทำเงินกว่า $1 ล้านเหรียญ แต่ผลงานถัดจากนั้นไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ จนกระทั่งได้รับการว่าจ้างจากสตูดิโอ Fox ให้มากำกับ MAS*H (1970) คว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
ผลงานเด่นๆ อาทิ Nashville (1975), Buffalo Bill and the Indians, or Sitting Bull’s History Lesson (1976), The Player (1992), Short Cuts (1993), Gosford Park (2001), A Prairie Home Companion (2006) ฯ
สไตล์ของผู้กำกับมีคำเรียกว่า Altmanesque มักใช้นักแสดงปริมาณเยอะๆ ชอบให้พวกเขา Ad-Lib เวลาสนทนาก็ให้พูดคุยมักซ้อนทับเหลือมล้ำกัน, สำหรับความสนใจจะไม่มีแนวหนังจำเพราะเจาะจง (เป็นพวก Anti-Genre) แต่ส่วนใหญ่ชอบที่จะนำเสนออะไรที่มันแตกต่างจากกฎกรอบ วัฒนธรรมรูปแบบวิถีดั้งเดิมที่เคยมีมา
สำหรับ Nashville จุดเริ่มต้นจากความสนใจสร้างภาพยนตร์ยัง Tennessee (Nashville คือเมืองที่ได้รับฉายาว่า Athens of the South) มอบหมายให้ Joan Tewkesbury นักเขียนบทขาประจำ ออกเดินทางไปศึกษาดูงาน/สำรวจสถานที่ พัฒนาบทหนังความยาวกว่า 140 หน้ากระดาษ ยื่นของบประมาณได้จาก Paramount Pictures แต่ผู้กำกับ Altman เป็นคนไม่ชอบอ่านตัวหนังสือเยอะๆ เลยส่งต่อผู้ช่วย Alan Rudolph ดึงเอาเฉพาะโครงสร้าง ‘Blueprint’ ส่วนที่เหลือจำพวกคำบรรยาย บทสนทนาโยนทิ้งลงถังขยะไป และมอบอิสรภาพให้นักแสดงครุ่นคิด ‘improvised’ ได้อย่างอิสรภาพ
เรื่องราววุ่นๆของมนุษย์ 24 คน ตลอดระยะเวลา 5 วัน ก่อนการขึ้นเวทีปราศัยหยั่งฐานเสียงของ Hal Phillip Walker ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี ตัวแทนพรรค Replacement Party ยังเมือง Nashville, รัฐ Tennessee
- Linnea Reese (รับบทโดย Lily Tomlin) นักร้อง Gospel ประจำโบสถ์ชาวผิวสี มีบุตรชายสองคนหูหนวก ต้องใช้ภาษาใบ้สื่อสาร ถูกตามตื้อโดย Tom Frank หลังจากพบเจอขับร้องเพลงในผับ ขึ้นห้องร่วมรักเสร็จสรรพสวมใส่เสื้อผ้ากลับบ้าน
- Delbert Reese (รับบทโดย Ned Beatty) สามีร่างท้วมของ Linnea อาชีพทนายความ ได้รับมอบหมายเป็นผู้จัดหาทุนเลือกตั้ง (fund-raising) ให้กับ Hal Phillip Walker ด้วยการคัดเลือกหญิงสาวมาเต้นระบำเปลือย
- John Triplette (รับบทโดย Michael Murphy) ชายหนุ่มร่างสูงใหญ่ ชอบใส่สูทสีฟ้า หัวหน้าของ Delbert Reese เป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานจัดหาทุนเลือกตั้งให้กับ Hal Phillip Walker
- Barbara Jean (รับบทโดย Ronee Blakley) เจ้าของฉายา ‘Queen of Country-Western Music’ น้ำเสียงร้องไพเราะเพราะพริ้ง แต่กลับมีร่างกายเปราะบาง อ่อนแอ ควบคุมสติสตางค์ไม่ค่อยอยู่ ชอบพูดเรื่อยเปื่อยอะไรก็ไม่รู้จนคลุ้มคลั่งเสียสติแตก และท้ายสุดคือผู้โชคร้าย ไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่าทำไม?
- Barnett Allen (รับบทโดย Garfield Barbara) สามีและผู้จัดการส่วนตัวของ Barbara Jean อ้างว่ารักภรรยาแต่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว หลงตัวเอง ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยอยู่ คำพูดจารุนแรงหยาบคาย … ไม่แปลกอะไรที่หญิงคนรักจะกลายเป็นคนคลุ้มคลั่งเสียสติแตกแบบนั้น [มาแบบเดียวกับ A Woman Under the Influence (1974) เลยนะ!]
- Pfc. Glenn Kelly (รับบทโดย Scott Glenn) นายทหารหนุ่มหล่อ -เหมือนจะเพิ่งกลับจากสงครามเวียดนาม- เพราะแม่เคยช่วยชีวิต Babara Jean จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ เป็นเหตุให้สูญเสียชีวิตจากไป ตัวเขาจึงพยายามปกป้องคอยดูแลเธออยู่ห่างๆ (แบบไม่ให้เจ้าตัวล่วงรับรู้) แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ช่วงท้ายของหนัง ทำให้เขาหมดสิ้นหวังอาลัยต่อทุกสิ่งอย่าง เดินคอตกไร้วิญญาณกลับบ้านไป
- Mr. Green (รับบทโดย Keenan Wynn) เจ้าของบ้านพักที่ภรรยาเจ็บป่วยนอนซมอยู่โรงพยาบาล ทุกวันต้องรีบเร่งไปเยี่ยมไข้ ในที่สุดก็จากไป จิตใจเต็มไปด้วยความรวดร้าวทุกข์ทรมาน
- L. A. Joan หรือ Martha (รับบทโดย Shelley Duvall) หลานของ Mr. Green เดินทางจาก Los Angeles เพื่อมาเยี่ยมย่า (แต่เหมือว่าจะไร้โอกาสพบเจอ) เรือนร่างของเธอผอมบาง ขี้ก้างติดกระดูก สวมใส่ผ่อนผ้าน้อยชิ้น รักอิสระเสรี พบเจอใครก็ตกหลุมหลงใหลโดยทันที
- Tricycle Man (รับบทโดย Jeff Goldblum) นักบิดมอเตอร์ไซด์ ที่ชอบให้ความช่วยเหลือพาใครๆไปส่งยังสถานที่ต่างๆ และยังเป็นเพื่อนร่วมรักหลับนอนกับ L. A. Joan
- Buddy Hamilton (รับบทโดย David Peel) บุตรชายของ Haven Hamilton ร่ำเรียนเรียนกฎหมาย ปัจจุบันเป็นผู้จัดการวงดนตรีหนึ่ง (ที่ไม่ใช่ของพ่อ)
- Haven Hamilton (รับบทโดย Henry Gibson) นักร้องเพลงคันทรีชื่อดัง น้ำเสียงร้องต้องยอมให้ แต่นิสัยหัวสูง อีโก้จัด ไม่พอใจเล็กน้อยก็พูดจาด่าทอเสียๆหายๆ ชอบสวมใส่ชุดสีขาวรัดรูป ประดับลวดลายระยิบระยับ พบเห็นที่ไหนย่อมสะดุดตาจดจำได้โดยทันที
- Lady Pearl (รับบทโดย Barbara Baxley) ภรรยาของ Haven Hamilton ชอบสวมใส่ชุดสีชมพู เคร่งครัดนับถือคาทอลิก มีความหมกมุ่นเหตุการณ์ลอบสังหาร JFK และเป็นเจ้าของ Old Time Pickin’ Parlor
- Opal (รับบทโดย Geraldine Chaplin) อ้างว่าเป็นนักข่าวจาก BBC มาทำสารคดีเกี่ยวกับเมือง Nashville แต่จริงไหมไม่มีใครรู้, สวมเสื้อผ้าสไตล์โบฮีเมียน ชื่นชอบตะแล๊ดแต๊ดแต๋ เข้าไปพูดคุยสัมภาษณ์บุคคลผู้มีชื่อเสียง อ่อยเหยื่อเพื่อให้ได้ร่วมรักหลับนอน และปฏิเสธสนทนากับคนรับใช้
- Tommy Brown (รับบทโดย Timothy Brown) นักร้องผิวสี ดาวรุ่งพุ่งแรงใน Nashville
- Connie White (รับบทโดย Karen Black) นักร้องเพลงคันทรีชื่อดังแต่ได้รับความนิยมอันดับสองรองจาก Barbara Jean ชอบใส่ชุดแดงแรงฤทธิ์ จัดจ้านไม่เหมือนใคร
- Bill (รับบทโดย Allan Nicholls) หนึ่งในสมาชิกวง Trio สามีของ Mary
- Mary (รับบทโดย Cristina Raines) หนึ่งในสมาชิกวง Trio แม้แต่งงานกับ Bill แต่ก็ไม่ได้มั่นคงในรักนัก
- Tom Frank (รับบทโดย Keith Carradine) หนึ่งในสมาชิกวง Trio เป็นเสือผู้หญิง ร่วมรักหลับนอนกับสาวไปทั่ว (แล้วจดจำพวกเธอไม่ได้ด้วยนะ) ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อสำเร็จความใคร่ ก็จะถูกสาวๆเกาะติดแจ เว้นเสียแต่ Linnea Reese คนแรกคนเดียวเท่านั้นเป็นผู้ทอดทิ้งเขาไป
- Norman (รับบทโดย David Arkin) คนขับรถของวง Trio สวมแจ็กเก็ตสีแดง พบเห็นครั้งหนึ่งพยายามจีบ Opal แต่กลับถูกเธอดูถูก ปฏิเสธพูดคุยกับคนรับใช้
- Kenny Fraiser (รับบทโดย David Hayward) ชายหนุ่มผู้เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดโกรธจากไหนก็ไม่รู้ เดินทางมาจาก Columbus, Ohio เช่าห้องพักของ Mr. Green พกติดตัวกระเป๋าใส่ไวโอลิน แต่แท้จริงแล้วหลบซ่อนปืน สำหรับเข่นฆาตกรรม…
- Albuquerque หรือ Winifred (รับบทโดย Barbara Harris) เธอพยายามหลบหนีสามีเพื่อเติมเต็มความใฝ่ฝันเป็นนักร้องชื่อดัง แต่ก็ไม่มีที่ไป จนเสื้อผ้าขาดหวิ่น และโดยไม่รู้ตัวช่วงท้าย ได้ขึ้นเวทีขับร้องเพลง It Don’t Worry Me
- Star (รับบทโดย Bert Remsen) สามีของ Winifred ติดตามหาเธอไปทุกหนแห่ง
- Sueleen Gay (รับบทโดย Gwen Welles) เพ้อใฝ่ฝันเป็นนักร้อง แต่น้ำเสียงไม่มี แถมสติปัญญาโง่เขลา เลยถูกหลอกให้เต้นระบำเปลื้องผ้า
- Wade Coolidge (รับบทโดย Robert Doqui) ชายผิวสี พนักงานล้างจาน เป็นเพื่อนสนิทคอยดูแล Sueleen Gay แต่ก็ผิดหวังที่เธอทั้งโง่และเขลา เลยตัดสินใจหนีไป Detroit
- ตัวละคร MacGuffin ผู้พากย์เสียง Hal Phillip Walker ที่ไม่เคยพบเห็นหน้าตาคือ Thomas Hal Phillips นักเขียน/นักแสดง เห็นว่าเคยได้รับแต่งตั้งเป็น Mississippi Public Service Commission และอยู่เบื้องหลังผู้จัดการหาเสียงเลือกให้กับน้องชาย Rubel Phillips แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
- และนักแสดงรับเชิญ ประกอบด้วย Elliott Gould, Julie Christie, Vassar Clements และ Howard K. Smith
แม้ว่าหนังจะเล่าเรื่องแบบผ่านๆ แต่ก็มี 2-3 นักแสดงโดดเด่นเกินหน้าเกินตา อาทิ
Lily Tomlin รับบท Linnea Reese หญิงสาวผู้มีความแกร่งนอกอ่อนใน จุดประสงค์เพื่อปกป้องลูกๆที่หูหนวก และสามีไม่เอาอ่าว ซึ่งเมื่อจิตใจเต็มไปด้วยความรวดร้าว เอาเรือนร่างการเข้าแลกความพึงพอใจกับ Tom Frank เสร็จสรรพก็แยกจากอย่างไร้เยื่อใยดี
ขณะที่ Ronee Blakley รับบท Barbara Jean ทั้งภายนอก-ในเต็มไปด้วยความอ่อนแอ-เปราะบาง แม้หนังไม่เล่าถึงเบื้องหลังสาเหตุ ก็พอคาดเดาได้จากเหตุการณ์ไฟไหม้ และการแสดงออกของสามีที่เข้มงวดเกินตัว ก่อเกิดความตึงเครียดจนไม่สามารถควบคุมสติสตางค์ของตนเองได้
การแสดงที่ผมชื่นชอบสุดคือ Geraldine Chaplin ในบทนักข่าว Opal ปากอ้างว่าเป็นนักข่าว BBC แต่จริงไหมก็ไม่รู้ ดูเหมือนคนกำลังหลอกตนเอง ต้องการเป็นแบบคนโน้นนี่นั่นโดยไม่มองย้อนกลับหาตัว แถมวางตัวเริดเชิดหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรี เช่นนี้ภายในคงกลวงโบ๋ว่างเปล่า หรือจะเรียกว่า ฮิปปี้ คงไม่ผิดอะไร
ถ่ายภาพโดย Paul Lohmann (1926 – 1999) แม้ผลงานภาพยนตร์เด่นๆจะมีเพียง Nashville (1975) แต่ก็ไปโด่งดังกับซีรีย์โทรทัศน์ คว้ารางวัล Emmy Award จากเรื่อง Eleanor and Franklin (1976)
หนังถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด ณ Nashville, Tennessee ช่วงฤดูร้อน (ปลายกรกฎาคม-กันยายน)
– Centennial Park
– Tennessee State Penitentiary
– ผับ Exit/In ที่วง Trio ขึ้นแสดง และ Tom Frank ขับร้องเพลง I’m Easy
– ฉากไคลน์แม็กซ์ The Parthenon Replica
ฯลฯ
ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Altman คือสร้างสถานการณ์ให้บังเกิดขึ้น แล้วใช้กล้องหลายตัว/หลายมุมมอง จัดเก็บภาพรายละเอียดโดยรอบ นักแสดงจักสวมบทบาทเป็นตัวละคร มักไม่รับรู้หรอกว่ากำลังถูกถ่ายอยู่หรือเปล่า (และที่แสดงไปก็ใช่ว่าจะปรากฎอยู่ในหนัง) และส่วนใหญ่เทคเดียวผ่าน
ดังนั้นงานภาพส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเหมือนการแอบถ่าย ค่อยๆซูมเข้า-ออก แพนนิ่งซ้าย-ขวา ทิลด์ขึ้น-ลง ไม่ค่อยพบเห็นการเคลื่อนติดตาม (Tracking) เพราะกล้องมักจะตั้งอยู่เฉยๆไม่สามารถขยับเคลื่อนไปไหนได้ท่ามกลางฝูงชน
การบันทึกเสียง, มีเทคโนโลยีที่ผู้กำกับ Altman ทดลองใช้มาตั้งแต่ MAS*H (1970) ทำให้นักแสดงหลากหลายคน สามารถพูดขึ้นอย่างพร้อมเพรียง ซ้อนทับกันได้โดยไม่มีปัญหา เช่นกันกับขณะขับร้องเพลง แม้จะมีการซักซ้อมไว้ล่วงหน้า แต่เอาเข้าจริงก็บันทึกสดๆตรงนั้นเลย ได้บรรยากาศอารมณ์ยิ่งกว่า
Title Sequence ออกแบบโดย Dan Perri ที่เพิ่งโด่งดังกับ The Exorcist (1973) หลังจากนี้มีผลงานเด่นๆอย่าง Taxi Driver (1976), Star Wars (1977), Raging Bull (1980) ฯ
ถ้าเป็นภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ มักจะหลีกเลี่ยงมุมกล้องที่ถ่ายให้เห็นผู้ชมนี้ เพราะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณว่าจ้างตัวประกอบมากมาย แต่ด้วยไดเรคชั่นของผู้กำกับ Altman นี่ไม่ใช่ปัญหาสักเท่าไหร่ (ใช้กล้องหลายตัวเก็บบรรยากาศโดยรอบอย่างครบถ้วน) และชาว Nashville ต่างเต็มใจให้ความช่วยเหลือกองหนังนี้อย่างเต็มที่
ว่าไปการเลือกมุมกล้องนี้แฝงนัยยะถึง ผู้ชม=ประชาชน คนมาฟังเพลง=ปราศัยหาเสียง ต่างมีความจดจ่อ ลุ่มหลงใหล ใครมีกล้องก็เดินมาถ่ายหน้าเวที แถมมีเด็กๆมาขอลายเซ็นต์อีกต่างหาก
ฉากที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง กองขยะเศษเหล็กรถ สะท้อนความเป็นมหาชาติทุนนิยมของสหรัฐอเมริกาได้อย่างเจ็บแสบ เมื่ออะไรใหม่ๆมาถึง ของเก่าก็โยนทิ้งไป หลงเหลือเป็นขยะไม่สามารถย่อยสลาย กองพะเนินสูงหลายชั้นจนแทบกลายเป็นภูเขาเลากา … นั่นมันเมื่อทศวรรษ 70s เองนะครับ ปัจจุบันนี้มันจะขนาดไหนแล้วละ!
การเลือก The Parthenon Replica ที่รับอิทธิพลมาจากวิหาร Parthenon แห่งกรุงเอเธนส์, ศาสนสถานบูชาเทพีอาธีน่า หรือเทพีแห่งปัญญา ความรอบรู้ ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช คงเพื่อสะท้อนประวัติศาสตร์ มนุษยชาติมีมาเก่าแก่นมนาน (ยิ่งกว่าก่อตั้งชาติสหรัฐอเมริกาเสียอีก)
ซึ่งช็อตสุดท้ายของหนัง เป็นการ Tilt Up จากตำแหน่งช็อตนี้เงยขึ้นบนท้องฟ้า สามารถตีความได้ถึง
– อนาคตต่อไป คือสิ่งไม่มีใครบอกได้
– ชีวิตเมื่อถึงจุดสิ้นสุด เป้าหมายต่อไปคือสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า
– แต่ผมรู้สึกว่า ลักษณะการ Tilt Up ดูเหมือนเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา หรือคือธงสหรัฐอเมริกา โบกสะบัดค้ำฟ้า ยิ่งใหญ่กว่าใครใต้หล้า
ฯลฯ
ตัดต่อโดย Dennis M. Hill, Sidney Levin ฉบับแรกสุดของหนังเห็นว่าได้ความยาวกว่า 4 ชั่วโมง ผู้ช่วยผู้กำกับ Alan Rudolph แนะนำ Altman ให้แบ่งออกเป็นสองภาค Nashville Red และ Nashville Blue แต่สุดท้ายก็สามารถเล็มโน่นนี่นั่นออกเหลือภาคเดียว ความยาว 160 นาที!
หนังดำเนินเรื่องโดยใช้ระยะเวลา 5 วัน ดำเนินไปข้างหน้า ร้อยเรียงเหตุการณ์และตัวละครทั้ง 24 คน ตัดสลับไปมาโดยให้ความสำคัญเกือบๆเท่ากันหมด
ไดเรคชั่นดังกล่าวสร้างความโกลาหล สับสนวุ่นวาย ยากยิ่งที่ผู้ชมจะทำความเข้าใจ แต่เราสามารถเปรียบเทียบวิธีการดำเนินเรื่องนี้ได้กับโมเสก เหตุการณ์ ตัวละคร สามารถแตกยิบย่อยเป็นชิ้นเล็กๆนำมาวางเรียงรายต่อกัน ต้องใช้การถอยห่างระยะหนึ่งถึงพบเห็นเข้าใจภาพดังกล่าวว่าคืออะไร
เทคนิคการตัดต่อนี้ ยังมีลักษณะเป็น Montage กล่าวคือ ตัวละครแม้อยู่ต่างสถานที่แต่ก็สามารถสะท้อนนัยยะสื่อถึงกันและกันได้
– รถหาเสียงของ Hal Phillip Walker ตระเวนไปรอบเมือง = ทุกตัวละครในหนังต่างมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับการเมือง
– ยามค่ำ: ตัวละครส่วนใหญ่อยู่ตามผับบาร์, Linnea Reese กับสามีและลูกๆ อยู่บ้านรับประทานอาหารเย็น
– เช้าวันอาทิตย์: หลากหลายตัวละครไปโบสถ์ คาทอลิก, โปรเตสแตนต์, แบ็บติสต์คนผิวสี ขึ้นกับพื้นฐานความเชื่อของพวกเขา
– ยามค่ำวันที่สี่: Trio ขึ้นร้องเพลงในผับ, Sueleen Gay เต้นระบำเปลื้องผ้า
ฯลฯ
สำหรับเพลงประกอบ ส่วนใหญ่จะให้นักแสดง/นักร้องบทเพลงนั้นๆ -ล้วนเป็นคนมีชื่อเสียงในวงการดนตรีคันทรี- แต่งขึ้น/ขับร้องเองเลย และอาจจะมี Richard Baskin ให้ความช่วยเหลือในการเรียบเรียง บรรเลงทำนอง (Baskin ยังมารับเชิญในบท Frog เป็นนักดนตรีเล่นเปียโน/กีตาร์ ฯ)
สังเกตว่าเนื้อคำร้องของหลายๆบทเพลง ล้วนมีใจความเสียดสีล้อเลียน แฝงนัยยะบางอย่างถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนั้นๆ และสะท้อนบรรยากาศการเมืองสหรัฐอเมริกา ได้อย่างแสบๆคันๆ
It Don’t Worry Me แต่งโดย Keith Carradine ได้ยินสองครั้งในหนัง ต้นเรื่องขับร้องโดย Keith Carradine และไคลน์แม็กซ์ช่วงท้ายขับร้องโดย Barbara Harris, ถือว่ามีใจความเสียดสีประชดประชันสหรัฐอเมริกาแบบเต็มๆ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศของเรา ก็มิต้องเป็นห่วงหวงอะไรทั้งนั้น … จริงๆนะเหรอ!
Keep A-Goin’ แต่งโดย Richard Baskin, ขับร้องโดย Henry Gibson ได้ยินขับร้องในงานคอนเสิร์ต เนื้อใจความสอดคล้องต่อเนื่องกับ It Don’t Worry Me ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ชีวิตก็ต้องก้าวเดินต่อไป อย่าไปหวาดหวั่นวิตกอะไร
บทเพลงไฮไลท์ของหนัง I’m Easy แต่ง/ขับร้องโดย Keith Carradine ไต่สูงสุดอันดับ 17 ของ U.S. Billboard Hot 100 และติดอันดับ 81 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Songs
นี่เป็นบทเพลงที่ Tom Frank ใช้เกี้ยวพาราสีหญิงสาวพร้อมๆกันถึง 3 คน แต่ที่เขาสนใจจริงๆกลับมีเพียง Linnea Reese (ที่ยังไม่เคยได้ครอบครองมาก่อน) ปฏิกิริยาของเธอแสดงออกมาช่าง ร่านเงียบ ผุบโผล่อีกที่กำลังถอดเสื้อบนห้องนอนเลย … เป็นบทเพลงที่มีความไพเราะเซ็กซี่ เรียบง่ายธรรมดา แต่ตราตรึงเสียเหลือเกิน
“All of us are deeply involved with politics, whether we know it or not and whether we like it or not”.
การเปรียบเทียบ นักร้อง=นักการเมือง มีหลายสิ่งอย่างทีเดียวที่มีความคล้ายคลึงกัน อาทิ
– บทเพลงคือสาสน์/คำอภิปราย ที่สามารถเข้าถึงผู้ฟังวงกว้าง
– ต่างต้องขึ้นเวทีร้องเพลง/ปราศัยหาเสียง
– ความนิยมวัดจากผู้ชม/ผู้ฟัง ปริมาณมากแปลว่าชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับการยินยอมรับจากส่วนรวม
– ถ้าต้องการประสบความสำเร็จระยะยาว ต้องสร้างสรรค์ผลงานดีๆออกมาอยู่เรื่อยๆ
ฯลฯ
ทำไมต้องบทเพลงคันทรี? ผมคิดว่าแนวเพลงนี้คือสิ่งสะท้อน ‘จิตวิญญาณ’ สองร้อยปีของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน ปัจจุบัน(นั้น)แม้ดูเก่า ‘อนุรักษ์นิยม’ แต่ยังคงความร่วมสมัย ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเดิมสักเท่าไหร่
เมื่อเราสามารถทำความเข้าใจเบื้องต้น นักร้อง=นักการเมือง จักพบเห็นรายละเอียดอย่าง
– นักร้องที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีชื่อเสียงโด่งดัง มีคำเรียกว่า King-Queen เปรียบเทียบก็คือผู้ได้รับชัยชนะเลือกตั้ง หรือคือผู้นำประเทศ/ประธานาธิปเลยก็ยังได้
– เมื่อมีที่หนึ่งก็ต้องมีตัวอิจฉา พระรอง ที่สอง สาม สี่ เมื่อได้โอกาสขึ้นเวทีก็จะรีบแจ้นเสนอหน้า ไขว่คว้าหาโอกาสสร้างชื่อเสียงให้ตนเองโดยทันที
– ขณะเดียวกันย่อมมีบุคคลที่ พรสวรรค์ไม่มี น้ำเสียงไม่ได้ แต่ตั้งมั่นด้วยอุดมการณ์ ถึงต้องอับอายขายขี้หน้า ร่างกายเปลือยเปล่าก็ยินยอม!… นี่เหมือนบรรดาผู้สมัครพรรคเล็กพรรคน้อย ไม่ได้มีชื่อเสียงหรือแนวโน้มได้รับชัยชนะ แค่ต้องการเติมเต็มความใฝ่ฝัน โอกาสใช่ว่าจะเป็นศูนย์เสียที่ไหน
King-Queen ของวงการเพลงคันทรีในหนัง คือบุคคลประเภท
– Haven Hamilton เย่อหยิ่งจองหอง ทะนองตน อ้างอวดดี หรือจะเรียกว่าเผด็จการ คงไม่ผิดอะไร
– Barbara Jean คือคนอ่อนแอทั้งร่างกายจิตใจ แต่แค่น้ำเสียงร้องดี เลยถูกผลักดันโดยสามี Barnett Allen ชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง
ผมคงไม่ต้องอธิบายลงรายละเอียด นัยยะของสองตัวละครที่กล่าวถึงนี้สื่อถึงอะไรนะครับ เป็นการเสียดสีล้อเลียนตัวตนของสองประเภทผู้นำประเทศ ได้อย่างเจ็บแสบกระสันต์ทีเดียว!
หนังเรื่องนี้คนดีไม่มีที่อยู่
– พฤติกรรมเสือผู้หญิงของ Tom Frank แสวงเพียงความพึงพอใจส่วนตน ก็เสมือนนักการเมืองที่สนแต่กอบโกยผลประโยชน์ เสร็จแล้วก็ถีบส่งเฉดหัวทิ้ง เปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆไม่ซ้ำ ไม่จดจำ
– การจัดหาทุนให้นักการเมือง, ด้วยกิจกรรมระบำเปลือย อันนี้ตรงไปตรงมาถึงความคอรัปชั่นของหน่วยงานรัฐ แลกหมูแลกหมา ขอฟรีไม่มีในโลก
– ชาวเอเชีย(ผิวเหลือง)/คนผิวสี ยังคงถูกต่อต้าน กีดกัน ไม่ยินยอมรับเข้าพวก ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียงใดๆในสังคม
ฯลฯ
ตัวละครนักข่าว มีลักษณะของนกแร้ง ชื่นชอบการเสนอหน้า จุ้นจ้าน เสือกเรื่องผู้อื่นไปทั่ว สิ่งที่อยู่ในความสนใจก็มีแต่เรื่องของดารา นักการเมือง บุคคลมีชื่อเสียง ขณะที่คนธรรมดาชนชั้นสามัญ หาได้มีความน่าใยดีแม้แต่น้อย!
สำหรับฉากไคลน์แม็กซ์ ผมว่าใครๆน่าจะคาดเดาได้ว่าเป็นการอ้างถึงเหตุการณ์ลอบสังหาร JFK (แต่ไม่ใช่แบบเหมือนเปะๆนะ เลี่ยงๆเบี่ยงเบนสักเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ดูโจ่งแจ้งจนน่าเกลียด) โศกนาฎกรรมเกิดขึ้นแบบไม่มีใครคาดคิดถึง จากบุคคลผู้ไม่มีใครรับรู้เบื้องหลัง แค่แสดงออกเต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้น มาตั้งแต่ชาติปางไหนกัน!
เช่นกับนายทหารพานผ่านสงครามเวียดนาม สภาพของเขาหลังความสูญเสีย/พ่ายแพ้(สงคราม) มันช่างสิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก นี่ฉันจะทำอย่างไรต่อไป ตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าโดยทันที!
เป้าหมายของผู้กำกับ Robert Altman ต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ คงคือต้องการบันทึกบรรยากาศทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา ช่วงระหว่างทศวรรษ 60s – 70s แต่เขามิได้หลบหลู่ต่อต้านประชาธิปไตยนะครับ แค่นำเสนอด้วยการเสียดสีล้อเลียน มุมมองของเขาเองต่อสถานะประเทศขณะนั้น และเชื่อว่าทุกสิ่งอย่างจะก้าวเดินต่อไปได้เอง ไม่ใช่เรื่องน่าหวาดหวั่นวิตกใดๆ
ด้วยทุนสร้าง $2.2 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $6.8 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $10 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยทีเดียว, เข้าชิง Oscar 4 จาก 5 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Supporting Actress (Ronee Blakley)
– Best Supporting Actress (Lily Tomlin)
– Best Original Song บทเพลง I’m Easy ** คว้ารางวัล
Nashville หาใช่ภาพยนตร์ที่จะเข้าถึงผู้ชมวงกว้าง/คณะกรรมการ Academy โดยทันที ได้เข้าชิงหลายรางวัลถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ ขณะที่ผู้ชนะปีนั้นคือ One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) ก็พอไปวัดไปวาได้อยู่
ผู้กำกับ Altman ถูกนักข่าวสัมภาษณ์ถามถึงเหตุการณ์เข่นฆาตกรรม John Lennon เมื่อปี 1980 เพราะเหมือนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พยากรณ์ และอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ฆาตกร
“It’s no surprise to me, the Lennon assassination, because this is what all that is, and I don’t think we have seen the end of it either”.
– Robert Altman
ส่วนตัวชื่นชอบความโกลาหนของหนังมากๆ มันอาจดูไม่รู้เรื่องแต่ก็มิได้แปลว่าผู้สร้างจับแพะชนแกะ แค่ว่าตัวคุณยังขาดศักยภาพในการครุ่นคิดทำความเข้าใจ อ่านบทความนี้จบแล้งลองกลับไปดูรอบสองสาม น่าจะพอสังเกตเห็นอะไรบางสิ่งอย่างขึ้นมาได้บ้าง
เนื่องจากผมยังรับชมผลงานของ Robert Altman ไม่ครบทุกเรื่อง เลยยังบอกไม่ได้ว่า Nashville คือผลงานชิ้นเอก ยอดเยี่ยมที่สุดหรือเปล่า แต่บรรดานักวิจารณ์ต่างประเทศยกให้เป็นเอกฉันท์ ก็ถือตามนั้นไปก่อนแล้วกัน!
แนะนำคอหนัง Satire Black-Comedy เสียดสีล้อเลียนการเมืองสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 60s – 70s, ชื่นชอบบทเพลงแนวคันทรี, และแฟนๆผู้กำกับ Robert Altman ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 18+ กับความโกหาหล สับสนวุ่นวาย
Leave a Reply