Nausicaä of the Valley of the Wind (1984)
Anime Film : Hayao Miyazaki ♥♥♥♥♡
แม้ทั่วโลกจะมองว่า Spirited Away เป็นผลงานที่ดีที่สุดของ Hayao Miyazaki แต่ในญี่ปุ่นจะยก Nausicaä (มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม) ให้เป็นอนิเมะยอดเยี่ยมที่สุด, ผลงานกำกับเรื่องที่ 2 ของ Miyazaki ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli ในปี 1985 และเป็นการร่วมงานครั้งแรกกับ Joe Hisaishi คอมโพเซอร์คู่ใจที่ทำงานร่วมกันมาเกือบ 30 ปี, อนิเมะเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
มันมีเหตุผลหนึ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับนักวิจารณ์ และคออนิเมะชั่นในญี่ปุ่น ที่พอดูเรื่องนี้จบแล้ว จะแทบเห็นพ้องไปในทางเดียวกัน นั่นคือเรื่องราวของ Nausicaä สะท้อนความรู้สึกของคนญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างลึกซึ้ง (เลยไม่แปลกที่จะมองได้ว่า Nausicaä เป็นหนังอนิเมะที่ยอดเยี่ยมที่สุดของญี่ปุ่น), นี่เป็นสิ่งที่นักดูหนัง/อนิเมะ นอกญี่ปุ่นอาจจะจับใจความไม่ได้เท่าไหร่ ผมเองก็เพิ่งสังเกตเห็นจากการดูครั้งล่าสุด เพราะอารมณ์ของหนัง และเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น มันคล้ายกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกมากๆ, นี่แสดงถึงระดับความคิดและอิทธิพลที่ส่งผลต่อ Hayao Miyazaki, ในวงการอนิเมชั่น เขาคือผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ถ้ามองข้ามเส้นแบ่งบางๆระหว่าง Live-Action กับ Animation ผมคิดว่า Miyazaki ตอนทำ Nausicaä เทียบเท่าได้กับตอน Jean Renoir ทำ The Rules of the Games เลยละ
มันมีกลิ่นอายบางอย่างที่คล้ายกันระหว่าง Nausicaä กับ The Rules of the Games นั่นคืออารมณ์ ความรู้สึกขณะที่ได้ชม, ตอนผมดู The Rules of the Games เอาจริงๆผมจับความรู้สึกขณะดูไม่ได้เลย เพราะขาดความเข้าใจประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสยุคสงครามโลก ซึ่งหลังจากได้อ่านบทวิเคราะห์จากหลายๆที่ จึงเริ่มเข้าใจว่าหนังต้องการสื่ออะไร และความยอดเยี่ยมของหนัง คืออารมณ์ของผู้ชม ถ้าคุณเคยผ่านเหตุการณ์บางสิ่งบางอย่างมาที่คล้ายกับเหตุการณ์ในหนังมา ความรู้สึกเดียวกัน อารมณ์เดียวกัน มันจะทำให้คุณระลึกถึงความรู้สึกตอนนั้น ที่อาจจะปวดร้าว เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน, เฉกเช่นเดียวกับ Nausicaä ถ้าคุณไม่รู้ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น (จริงๆรู้คร่าวๆก็ถือว่าใช้ได้แล้ว) ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ มันสะท้อนความรู้สึกจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ผมจินตนาการไม่ออกเลย กับคนที่เคยผ่านสงครามโลกมาแล้วมาดู Nausicaä จะรู้สึกเจ็บปวด ทุกข์ทรมานแค่ไหน เพราะขนาดตอนที่ผมดูหนังเรื่องนี้ยังรู้สึกแน่นหน้าอก อึดอัด โลกความจริงมันเลวร้ายกว่าในหนังที่สร้างเป็นแฟนตาซีมากนะครับ, สรุปคือ Nausicaä เฉกเช่นเดียวกับ The Rules of the Games ที่หน้าหนังมองเห็นอย่างหนึ่ง แต่ใจความแฝงไว้ด้วยอีกเรื่องราวหนึ่ง
กับคนที่เห็นหนังอนิเมะเรืิ่องนี้ เป็นแค่เรื่องราวแฟนตาซี ผจญภัย Epic Sci-Fi ก็ยังไม่ต้องพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่ผมพูดมาก็นะครับ เพราะระดับความเข้าใจและมองเห็นในอนิเมะเรื่องนี้ สามารถแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกได้เป็น 2 กลุ่มชัดเจน
1. กลุ่มเด็กเล็ก วัยรุ่น และคนที่ไม่ได้ผ่านยุคสงครามโลกมา, คุณจะมองเห็นหน้าหนังเป็นเรื่องราวของหญิงสาวที่ต่อสู้เพื่อปกป้องหมู่บ้าน ครอบครัวอันเป็นที่รัก
2. กลุ่มคนที่ผ่านสงครามโลกมา และคนที่ชอบคิดวิเคราะห์หนัง, คุณจะมองเห็นความเจ็บปวด อดกลั้นของผู้คนในโลกยุคสงคราม ประเทศเล็กๆที่ถูกกดขี่โดยมหาอำนาจ ผ่านอุดมการณ์และความคิดเพื่อยึดครอง เอาชนะและเป็นหนึ่ง
หลังจาก Miyazaki กำกับอนิเมะเรื่องแรก The Castle of Cagliostro (1979) ที่สามารถคว้ารางวัล Ofuji Noburo Award (คือรางวัลภาพยนตร์อนิเมะชั่นยอดเยี่ยม) ในงานประกาศรางวัล Mainichi Film Award แต่หนังกลับไม่ทำเงินเท่าไหร่, Toshio Suzuki ที่เป็น editor ของนิตยสาร Animage [ที่ภายหลังกลายเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli] ชักชวนเขามาทำงาน ตอนแรกจะให้สร้างอนิเมะแต่ไอเดียก็ถูกปฏิเสธ จึงเปลี่ยนมาเขียนมังงะ ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Nausicaä of the Valley of the Wind, เริ่มวาดและตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Animage ครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ 1982 ไม่นานก็ได้รับความนิยมอย่างสูง Animage เลยต้องการให้ดัดแปลงเป็นอนิเมชั่น ซึ่งทีแรก Miyazaki ปฏิเสธ แต่รับข้อเสนอภายหลังพร้อมเงื่อนไขที่ว่า เขาต้องเป็นคนกำกับเท่านั้น
Isao Takahata [ที่ภายหลังเป็นอีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli] ได้รับมอบหมายให้เป็นโปรดิวเซอร์, เนื่องจาก Animage ไม่มีบริษัทลูกที่ทำอนิเมชั่นเลย จึงต้องจ้างบริษัทนอก ซึ่ง Miyazaki เลือกสตูดิโอ Topcraft ที่ขึ้นชื่อเรื่องทีมงานมีความสามารถเฉพาะตัวสูง และสามารถถ่ายทอดบรรยากาศที่ซับซ้อนของมังงะกลายเป็นอนิเมชั่นได้ดี, เริ่ม pre-production เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 1983
ขณะนั้นมังงะมีทั้งหมด 16 บท (รวมเล่ม 2 เล่ม) ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ Miyazaki จึงเอาแนวคิดหลักของมังงะ มาปรับแก้ไขใส่รายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติมลงไป, ช่วงที่ Miyazaki สร้างอนิเมะเรื่องนี้ เขาก็หยุดเขียนมังงะไปนะครับ พออนิเมะเสร็จก็กลับมาเขียนต่อเรื่อยๆเมื่อว่าง เขียนๆหยุดๆจนกระทั่งตอนสุดท้ายตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคมปี 1994 ทั้งหมด 59 ตอน รวมได้ 7 เล่ม
เดือนสิงหาคม 1983 ทีมอนิเมชั่นได้เริ่มต้นงานสร้าง ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกที่การจ่ายค่าจ้างของอนิเมเตอร์คิดราคาเป็นปริมาณต่อเฟรมที่วาด, หนึ่งในอนิเมเตอร์ที่ร่วมทำงานในอนิเมะเรื่องนี้คือ Hideaki Anno ต่อมาเขาได้กลายเป็นผู้กำกับ Neon Genesis Evangelion อนิเมะซีรีย์ที่ว่ากันว่าดีที่สุดในโลก, ฉากที่ Anno ได้รับการมอบหมายคือฉาก God Warrior ซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญมากๆในหนัง (high point in the film)
Nausicaä พากย์โดย Sumi Shimamoto เธอเคยร่วมงานกับ Miyazaki มาครั้งหนึ่ง พากย์เป็น Clarisse ใน The Castle of Cagliostro ซึ่งเขาประทับใจเสียงของเธอมากๆ จึงเลือกให้มาพากย์บทหญิงสาวแก่นแก้ว ที่มีจิตใจห้าวหาญ เฉลียวฉลาด รักเพื่อน รักครอบครัว เป็นเจ้าหญิงที่มองโลกในทุกๆด้าน และพยายามเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง, เสียงของ Shimamoto ได้รับการชื่นชมอย่างมาก ด้วยความนุ่มลึก แข็งนอกอ่อนใน ทำให้ตัวละครนี้ทรงพลังและเป็นที่จดจำ, เสียงกรีดร้องตอนที่ Nausicaä ตกลงไปในอ่าวกรด (acidic pool) มีคนยกย่องว่า ได้ยกระดับวงการพากย์อนิเมชั่นให้สูงขึ้นไป “tears at the listener and raises the bar for cartoon voices”
Miyazaki ให้คำนิยามตัวละคร Nausicaä ว่าเป็น humane (มีเมตตากรุณา, ศีลธรรม) และ peace-loving, เธอมีพรสวรรค์ที่สุดพิเศษ คือความรักความเข้าใจไม่ใช่แค่ต่อมนุษย์เท่านั้น แต่ถึงสรรพสัตว์และทุกสิ่งอย่างที่อยู่บนโลก, สามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับแมลงยักษ์ (Ohmu มาจากคำว่า O-mushi ในภาษาญี่ปุ่นจะแปลว่า big/great Insect), เลือกปรับตัวเข้ากับธรรมชาติที่เธออยู่ ไม่ได้ต้องการทำลายหรือยึดครองหรือเปลี่ยนแปลง ต้องการเพียงความสงบสุข, คำว่า Nausicaä เป็นชื่อของตัวละครจากปรัมปรา Odyssey เป็นผู้ช่วยคนสำคัญของ Odysseus ซึ่งเธอเป็นที่รู้จักในเรื่อง ความรักต่อธรรมชาติและเสียงเพลง (renowned for her love of nature and music, her fervid imagination and disregard for material possessions)
Miyazaki ยังเสริมอีกว่า Nausicaä เป็นผู้นำที่ปกครองด้วยจิตวิญญาณ (governed by a kind of animism) และที่ต้องให้ตัวละครนี้เป็นผู้หญิง เพราะจะทำให้เขาสามารถสร้างผู้ร้ายที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้ โดยเขาเปรียบเทียบว่า ถ้าสร้างตัวเอกเป็นผู้ชาย ตัวเลือกเขาจะมีไม่มากแบบ Indiana Jones ที่มีผู้ร้ายต้องเป็น Nazi หรือใครสักคนที่นิสัยเลวๆเท่านั้น (If we try to make an adventure story with a male lead, we have no choice but to do Indiana Jones, with a Nazi or someone else who is a villain in everyone’s eyes.), Nausicaä ไม่ใช่ตัวละครที่จะต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้อื่น แต่เธอทำความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ด้วยความพิเศษที่สามารถให้อภัย มีความอ่อนโยน ตัวละครนี้จึงควรเป็นผู้หญิงไม่ใช่ผู้ชาย (She is not a protagonist who defeats an opponent, but a protagonist who understands, or accepts. She is someone who lives in a different dimension. That kind of person should be female, not male.), สมัยนั้นไม่ค่อยมีหนัง/อนิเมะ ที่มีฮีโร่เป็นผู้หญิงเท่าไหร่นะครับ ซึ่งตัวละครนี้ ถึงเธอจะมีฝีมือเก่งกาจ ฉลาดหลักแหลม ที่ดูเหมือนเป็น legendary savior แต่แท้จริงแล้วก็แค่คนธรรมดาทั่วไปที่สามารถจับต้องได้ มีตัวตน และเข้าถึงทุกคน เพราะเหตุนี้จึงกลายเป็นที่รักของใครๆ
เกร็ด: เครื่องร่อนของ Nausicaä ที่ชื่อ Mehve เป็นคำมาจากคำภาษาเยอรมัน Möwe ซึ่งแปลว่า นกนางนวล เป็นชื่อได้มาจากรูปร่างและสีขาวของมัน
ผมมอง Nausicaä คือตัวแทนผู้นำในอุดมคติของ Miyazaki, ใครที่เคยอ่านประวัติของเขาจะรู้ว่าตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 Miyazaki ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆอายุ 3-4 ขวบ พ่อเป็นเจ้าของ Miyazaki Airplane ที่ผลิตเครื่องบินรบให้ญี่ปุ่นสู้สงคราม, ช่วงชีวิตขณะนี้แม้ครอบครัวจะมีฐานะร่ำรวย แต่ก็ต้องอยู่อย่างหวาดระแวง มีครั้งหนึ่งที่เขาผ่านประสบการณ์เฉียดตายจากเครื่องบินทิ้งระเบิดที่อยู่ห่างไปไม่ไกลมากนัก, นี่เป็นอิทธิพลสำคัญที่ให้ Miyazaki สร้าง Nausicaä เพื่อเป็นสะท้อนความรู้สึกของตนต่อสงคราม, ผู้นำที่ดีไม่ใช่คนที่จะก่อสงคราม แต่เป็นคนที่ควรทำความเข้าใจ ยอมรับ และปรับตัวได้เหมือน Nausicaä กระนั้นก็ไม่ใช่ก้มหัวรับชะตากรรมเวลาถูกกดขี่ อดทนไว้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมค่อยลุกขึ้นต่อสู้
ด้วยความอยากเป็นมหาอำนาจของญี่ปุ่น ผู้นำประเทศจึงตัดสินใจประกาศให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลลัพท์คือระเบิดนิวเคลียร์และความพ่ายแพ้อย่างหมดสภาพ ราวกับอารยธรรมของโลกได้สิ้นสุดลง, มองมุมนี้มันก็ชัดนะครับ God Warrior เปรียบได้กับระเบิดนิวเคลียร์ ที่พันปีผ่านไปก็ยังทิ้งเศษซากกัมมันตรังสี (หรือความหวาดกลัวของผู้คน) ในรูปแบบสารพิษ มลพิษที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ, Ohmu คือแมลง ซึ่งก็เป็นตัวแทนของธรรมชาตินะแหละ ถ้าเราไม่ไปทำอะไรมัน อยู่ร่วมกันโดยสันติ Ohmu ก็จะไม่มารุกราน แต่เมื่อใดที่มนุษย์ทำอย่าง ขโมยลูกของ Ohmu ธรรมชาติก็จะโกรธแค้น และตามทำลายล้างมนุษย์ (เปรียบได้กับภัยธรรมชาติ)
ในขณะที่กองกำลังทหารของ Tolmekian เข้ายึดครองเมืองแห่งสายลม (Valley of the Wind) นี่เป็นครั้งแรกเลยที่ผมดูแล้วรู้สึกเห็น ผู้บริสุทธิ์กำลังถูกผู้มีอำนาจกดขี่ข่มเหง, พวกเขาไม่ได้เคยทำอะไรเลย ไม่เคยต่อต้าน ไม่เคยรุกราน แต่ไฉนอยู่ดีๆ ใครก็ไม่รู้ ปรากฎตัวขึ้นแล้วก็แสดงพลังอำนาจออกมา ใจความนี้เปรียบได้กับอเมริกาเปะๆเลยนะครับ อยู่ดีๆก็เข้ามา อยู่ดีๆก็ทิ้งระเบิดลงมา ประกาศตนว่าข้ายิ่งใหญ่ จงทำตามคำสั่งข้า และปลูกฝังอุดมการณ์ที่ฟังดูเพ้อเจ้อ ไม่น่าเป็นไปได้ ชวนเชื่อให้ทำตามโดยไม่พยายามทำความเข้าใจอะไรทั้งนั้น, ใครก็ตามเห็นแบบนี้น่าจะรู้ได้ว่า มันไม่ใช่แล้ว นี่เป็นสิ่งที่เลวร้ายมากๆ แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้อย่าลืมว่ามันเกิดขึ้นจริงในช่วงสงครามโลกนะครับ
ภายใต้โลกที่เสื่อมโทรม ยังมีความหวังที่แอบซ่อนอยู่ใจกลาง เหมือนกับท่ามกลางความมืดมิด ยังมีแสงสว่างเล็กๆ, นี่ไม่ใช่ใจความที่สื่อถึงธรรมชาตินะครับ แต่หมายถึงจิตใจของมนุษย์และทุกสิ่งอย่าง ไม่ว่าใครที่คิดว่าตนเป็นคนชั่วช้า เลวทรามต่ำช้า แต่ในใจลึกๆของเขา ย่อมมีแสงสว่างเล็กๆที่ทำให้ยังสามารถมีชีวิตอยู่, และนี่คือใจความของหนังด้วย เป็นสิ่งที่ Nausicaä เมื่อได้พบธารน้ำใต้ Toxic Forest จึงเกิดความเข้าใจ ไม่ใช่แค่เปลือกนอก แต่ลึกลงไปเข้าใจถึงธาตุแท้ของมนุษย์และทุกสิ่งอย่าง, การเสี่ยงชีวิตเพื่อหยุด Ohmu ไม่ใช่การกระทำที่บ้าบิ่น ไร้สติ แต่เพราะเธอมองเห็นความหวัง แม้ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แสงสว่างนั้นก็ต้องมีอยู่, เธอเสียชีวิตด้วยจิตใจที่แน่วแน่มั่นคงและเชื่อมั่น การฟื้นคืนชีพกลับมา คือเป็นคำตอบของปาฏิหารย์ แสงสว่างนั้นมันมีอยู่ทุกที่ทุกหนแห่งจริงๆ ถ้าเชื่อมั่นว่ามี ตอนจบเราก็ต้องค้นพบ
การฟื้นคืนชีพของ Nausicaä มันเป็นแฟนตาซีของหนังนะครับ ไม่ได้มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษ เพราะอนิเมะที่มีกลุ่มเป้าหมายเด็กเล็ก ถ้าให้นางเอกตายตอนจบมันคงบ้ามากๆ เด็กๆคงคลั่งตายแน่ๆ ให้ฟื้นคืนชีพเนี่ยแหละ เป็นตัวแทนสัญลักษณ์แห่งความหวัง ไม่ใช่จบแบบสิ้นหวัง, ผมไม่เคยอ่านมังงะต่อนะครับ แต่เห็นว่า Miyazaki ตั้งใจเล่าเรื่องให้แตกต่างจากแนวคิดของอนิเมะด้วย ใครสนใจก็ลองหาอ่านดูนะครับ
สงครามมีแต่ผู้แพ้ ไม่ว่าจะมีอำนาจมากมายล้นฟ้าเท่าไหร่ สักวันมันก็หมดสิ้น (เหมือน God Warrior ที่ตื่นขึ้นมาแต่ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะยุคของมันจบสิ้นลงไปแล้ว) กระนั้นทุกยุคทุกสมัยก็ยังมีมนุษย์ที่มีความฝันอยากจะครอบครอง ต้องการเป็นหนึ่ง เหนือผู้อื่นใด, คนประเภทที่ไม่สนใจผู้อื่น ยึดมั่นในอุดมการณ์ของตน พวกนี้มักตกม้าตายเองนะครับ หรือถ้ายังคงดื้อดัน ฝืนทำต่อไป ก็จะไม่หลงเหลือใครที่ตามเขาไปได้ (เหมือนที่ทหารวิ่งหนีเพราะถูกสั่งให้สู้), มีอีกสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าหนังแฝงไว้ คือประวัติศาสตร์เมื่อหลายร้อยหลายพันปีก่อนที่ถูกทำลาย ไม่มีใครจดจำมันอีกต่อไปแล้วนะครับ นี่สะท้อนให้เห็นว่า ต่อให้ถ้ามีผู้ยิ่งใหญ่ขนาดไหนที่สามารถครอบครองโลกได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งโลกล่มสลาย ประวัติศาสตร์ได้สูญหาย มันก็ไม่มีค่าอะไรแม้แต่น้อยในสิ่งที่เขาเคยทำไป เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว แต่มนุษย์ก็ไม่เคยจดจำ ‘เพื่อชื่อของฉันจะได้ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์’ เชื่อสิว่ามันอยู่ไม่นานหรอกเดี๋ยวก็ลืมเลือนสูญหาย 100 ปี, 1,000 ปี เต็มที่ก็หมื่นปี ใครจะไปเชื่อเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นหมื่นปีที่แล้ว มีแต่หาว่ามโนขึ้น ความดีต่างหากที่จะยังคงยืนอยู่ ตราบจนชั่วฟ้าดินสลาย
Joe Hisashi ขณะนั้นเป็นนักดนตรีหน้าใหม่ของวงการ เขาออกอัลบัมแรกเป็นแนว Art Music ชื่อ MKWAJU ในปี 1981 และอัลบัมที่ 2 แนว electropop-minimalist ชื่อ Information ในปี 1982, Hisaishi ได้รับคำแนะนำจาก Yasuyoshi Tokuma หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Animage ให้รู้จักกับ Hayao Miyazaki ตอนที่กำลังหาคนทำเพลงประกอบให้กับ Nausicaä นี่คือจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์อันยาวนานของทั้งคู่ ที่มักได้รับการเปรียบเทียบระหว่าง Steven Spielberg กับ John Williams ที่เป็นทั้งเพื่อนสนิทและเพื่อนร่วมงานกันมาอย่างยาวนาน
เพลงประกอบใน Nausicaä ถือว่าสร้างความรู้สึกที่อ้างว้าง ยาวไกล ล่องลอยราวกับสายลม ครึ่งหลังจะแฝงความเจ็บปวด รวดร้าว ถึงขั้วของหัวใจ, Hisashi เขาขึ้นชื่อเรื่องการทำเพลงสะท้อนความรู้สึกที่อยู่ลึกลงไปในจิตใจของคน นำเสนอออกมาด้วยสไตล์ที่เรียบง่าย ฟังสบาย แต่แสดงอารมณ์ ความรู้สึกออกมาอย่างไร้ขีดจำกัด, ดนตรีของ Hisashi ว่ากันตามตรงก็คล้ายกับ John Williams นะครับ แต่ใจความเพลงของ Hisashi จะออกมาจากข้างใน ส่วน Williams จะเป็นสัมผัสจากภายนอก จุดนี้ในแง่ความเป็นศิลปินผมถือว่า Hisashi โดดเด่นกว่า แต่ Williams มีความหลากหลายในแนวคิดและเรื่องราวมากกว่า, ใครยิ่งใหญ่กว่ากัน? โห! ใครจะไปตอบได้ ถ้า John William คือตำนานแห่ง Western Music แล้วละก็ Joe Hisashi จะคือตำนานแห่ง Eastern Music
อนิเมะออกฉายวันที่ 11 มีนาคม 1984 รวมเวลาสร้างเพียง 9 เดือนเท่านั้น (ถือว่าเร็วมากนะครับ เมื่อเทียบกับผลงานอื่นๆของ Miyazaki) ใช้ทุนสร้าง $1 ล้านดอลลาร์ (¥1.08 พันล้านเยน) จัดจำหน่ายโดย Toei Company ทำเงิน ¥1.48 พันล้านเยน ขายตั๋วได้ 914,767 ใบ และขายได้ต่างประเทศอีก ¥742 ล้านเยน ถือว่าหนังได้กำไรนะครับ
หลังจากถือว่าประสบความสำเร็จกับ Nausicaä ทำให้ Hayao Miyazaki มีแนวคิดที่จะจัดตั้งสตูดิโอสำหรับสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่น โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งอีก 3 คนประกอบด้วย Isao Takahata, Toshio Suzuki, Yasuyoshi Tokuma เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1985 ก่อกำเนิดเป็น Studio Ghibli มีสถานที่ตั้งอยู่ใน Koganei กรุง Tokyo ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นตรงกับ Animage จนถึงปี 2005 จึงได้แยกตัวออกเป็นอิสระ, ชื่อ Ghibli ตั้งขึ้นโดย Miyazaki เป็นชื่อของเครื่องบินรบสัญชาติอิตาลี Caproni Ca.309 Ghibli, คำว่า Ghibli เป็นภาษา Libyan-Arabic แปลว่า ลมทะเลทราย (Desert Wind หรือ Mediterranean Wind) เหตุผลที่ใช้ชื่อนี้ เพราะ เปรียบสตูดิโอเสมือนลมกระแสใหม่ที่พัดสู่อุตสาหกรรมอนิเมชั่น (blow a new wind through the anime industry)
มีสิ่งหนึ่งที่หน้าเศร้า สมัยก่อนอนิเมะชั่นญี่ปุ่นไม่ได้มีโอกาสไปฉายทั่วโลกได้เหมือนปัจจุบัน (เพราะขาดผู้จัดจำหน่าย) ซึ่งตอนนั้น New World Pictures ได้ขอซื้อลิขสิทธิ์ Nausicaä เพื่อไปฉายในอเมริกา และได้ทำการตัดต่อ พากย์เสียงใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น Warriors of the Wind (1985) มีเนื้อเรื่องส่วนที่ถูกตัดออกกว่า 20 นาที กลายเป็นอนิเมชั่น Action Adventure ทั่วๆไป, นี่ทำให้ Miyazaki หัวเสียอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถอะไรได้ ด้วยเหตุนี้ผลงานของเขาเรื่องถัดๆมา ถ้าค่ายหนังไหนขอซื้อแล้วต้องการนำไปตัดต่อใหม่เพื่อฉาย Miyazaki จะปฏิเสธเสียงแข็ง, ครั้งหนึ่ง Harvey Weinstein ต้องการลิขสิทธิ์ Princess Mononoke แล้วไปตัดต่อใหม่ ซึ่งได้รับคำตอบเป็นดาบคาตานะของญี่ปุ่น และข้อความ “No cuts” ไม่ให้ตัด
ภายหลังเมื่อเดือนกันยายน 1996 เป็น Disney ได้จับมือกับสตูดิโอ Ghibli ในการเป็นผู้จัดจำหน่ายในอเมริกาและหลายๆประเทศ รวมถึง Home Video พวก DVD/Blu-Ray ในญี่ปุ่นโดย Walt Disney Studios Home Entertainment Japan (ส่วนฉายโรงในญี่ปุ่นยังคงเป็น Toho Company เหมือนเดิม), ซึ่ง Nausicaä ในเวอร์ชั่นเต็มนี้ได้รับการฉายในอเมริกา (แบบไม่มีตัด) เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ปี 2005
นี่เป็นหนังอีกเรื่องของ Hayao Miyazaki ที่ผมแนะนำ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” มีเหตุผลมากมายที่ผมอยากแนะนำอนิเมะเรื่องนี้ สำคัญที่สุดคงเพราะตัวละคร Nausicaä ที่ถือว่าสามารถเป็นแบบอย่างของมนุษย์ได้เลย, สำนวนที่นิยามตัวละครนี้ได้ดีที่สุดคือ เป็นหญิงสาวที่ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ไม่ใช่แค่กับมนุษย์แต่กับธรรมชาติและทุกสิ่งอย่าง, ผมเคยเห็นเพื่อนที่ใช้ชื่อ avatar ว่า Nausicaä หลายคนอยู่นะครับ ลองถามดูก็บอกแค่ชอบตัวละครนี้ แต่สิ่งที่ไม่ได้พูดออกมาและผมเชื่อว่าต้องเป็นเหตุผลในใจของพวกเธอแน่ๆ คือ ‘โตขึ้นฉันอยากเป็นแบบ Nausicaä’
นี่เป็นอนิเมะที่เด็กเล็กดูได้นะครับ พวกเขาจะชอบมากด้วย ขณะเดียวกันก็มีใจความแฝงที่ลึกซึ้งต่อผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะวัยไหนดูอนิเมะเรื่องนี้ก็จะเห็นมุมมองที่ต่างออกไป มีไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่สามารถทำแบบนี้ได้ ถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่ที่มีอคติต่ออนิเมชั่นว่าเป็นของเด็ก นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมแนะนำให้ดูเลยนะครับ เชื่อว่าเขาน่าจะเข้าใจมากขึ้นว่า ‘อนิเมะมันมีอะไรมากกว่าที่ตาเห็น’ จัดเรต PG มีภาพที่มีความรุนแรงสักนิด เด็กๆดูได้นะครับ ขอให้มีผู้ใหญ่แนะนำหน่อยแล้วกัน
ผมเองยกย่องให้เรื่องนี้เป็นอนิเมชั่นยอดเยี่ยมที่สุดจาก Studio Ghibli เช่นกันครับ อย่างที่ในบทความที่กล่าวมาผมถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นหรือผ่านสงครามโลกมาแต่หากนับจากอารมณ์ความรู้สึกและสิ่งที่สะท้อนสังคมขณะดูภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้ มันใหญ่โตมากครับ ผมเศร้าใจ ยิ่งถ้าเอาเทียบเคียงกับยุคอุตสหากรรมเช่นปัจจุบันมันยิ่งน่าเศร้าใจที่เราแทยไม่สามารถพบคนที่มี อุดมการณ์และจิตวิญญาณบริสุทธิ์แบบ nausicaa ออกมาขับเคลื่อนสังคมเพื่อปกป้องสังคมหรือปกป้องโลกได้เลย ผมชอบมากครับเรื่องนี้กับ the tale of pricess kaguya และ howl’s moving castle
ผมเห็นด้วยว่าในระดับประเทศ หรือระดับโลก การจะหาคนที่เป็นแบบ nausicaa นั้นยากมากๆ แต่ในมุมเล็กๆ ในสังคมเล็กๆ ชุมชนเล็กๆ ผม ‘เชื่อ’ ว่าคนแบบ nausicaa ยังมีอยู่ไม่หมดไปนะครับ แค่เราอาจหาพวกเขาไม่เจอในวิถีชีวิตประจำวันของพวกเราเท่านั้น