Nayak

Nayak (1966) Indian : Satyajit Ray ♥♥♥♥

ในประเทศอินเดีย พระเอกหนัง (Nayak แปลว่า The Hero) มักถูกเปรียบเปรยดั่งพระเจ้า ต้องมีภาพลักษณ์ดีงามทั้งภายนอก-ใน แต่การเดินทางด้วยรถไฟครานี้ ความจริงบางอย่างกำลังจะได้รับการเปิดเผยบอก

ผู้กำกับ Satyajit Ray สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ มีลักษณะคล้ายคลึง Wild Strawberries (1957) ผสมๆ 8½ (1963) เรื่องราวของชายผู้ประสบสำเร็จถึงจุดสูงสุดในชีวิต กำลังตระเตรียมตัวเพื่อไปรับรางวัลเกียรติยศ ระหว่างการเดินทางก็มีโอกาสหวนระลึกความทรงจำ เหตุการณ์จากอดีตที่ปั้นหล่อหลอมตนเองมาจนถึงปัจจุบัน แต่จะดี-ชั่ว ถูก-ผิด น่าสมเพศ-สงสารเห็นใจ ก็แล้วแต่มุมมองผู้ชมจักตัดสิน

ผมว่า Nayak เป็นหนังที่ดูไม่ยากนะ (ระดับเดียวกับ Wild Strawberries) แต่ความอืดอาดเชื่องช้า ดำเนินเรื่องอย่างไม่เร่งรีบร้อน และส่วนใหญ่ตัวละครก็แค่พูดคุยสนทนา ตัดสลับภาพความฝัน-ทรงจำย้อนอดีต สามารถเรียกได้ว่า ‘Minimalist’ คงทำให้ใครหลายๆคนฟุบหลับสนิทคาโซฟา

ความยอดเยี่ยมของ Nayak เมื่อเทียบผลงานระดับ Masterpiece ของผู้กำกับ Ray อย่าง Pather Panchali (1955), Jalsaghar (1958) หรือ Charulata (1964) อาจไปไม่ถึงขั้นนั้น แต่ฝีไม้ลวดลายมือ ไดเรคชั่น และความสมบูรณ์ของเรื่องราวถือว่าไร้ที่ติ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสี่เรื่องแรก (ของผู้กำกับ Ray) ได้รับการบูรณะโดย Criterion Collection ร่วมกับ Academy Film Archive ออกฉายเมื่อปี 2014 [อีกสามเรื่องคือ Pather Panchali, Charulata และ Aranyer Din Ratri] แฟนๆหนังอินเดียทางเลือก (ที่ไม่ใช่แนวร้อง-เล่น-เต้น) ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง


Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)

ก่อนหน้านี้ผู้กำกับ Ray เคยสร้างภาพยนตร์เรื่อง Kapurush (1965) แปลว่า ‘The Coward’ เรื่องราวของนักเขียนบทภาพยนตร์ผู้ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง มีโอกาสพานพบเจออดีตคู่หมั้น ปัจจุบันแต่งงานกับสามีจนๆ ไร้ซึ่งเสน่ห์น่าหลงใหล นั่นสร้างความตกตะลึง คาดไม่ถึง ผิดหวังกับเธอที่ชีวิตตกต่ำลงเพียงนี้ พยายามโน้มน้าวชักจูง เอื้อยคำหวานถึงอดีต แต่กลับถูกบอกปัดปฏิเสธ หวนระลึกความทรงจำเคยเรียกร้องขอให้ล้มเลิกการแต่งงาน สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นความโง่ขลาดเขลาของตนเองทั้งหมดทั้งสิ้น

สำหรับ Nayak ที่แปลว่า ‘The Hero’ ก็มีแนวคิดคล้ายๆ Kapurush คือการสำรวจตนเองว่าได้ครุ่นคิดตัดสินใจ กระทำบางสิ่งอย่างเมื่อครั้นอดีต แล้วปัจจุบันมีชีวิตดีขึ้นยิ่งขึ้นกว่าเดิมบ้างหรือเปล่า

ผู้กำกับ Ray ครุ่นคิดพัฒนาบท Nayak ขึ้นที่เมืองตากอากาศ Darjeeling, West Bengal เมื่อเดือนพฤษภาคม 1965 ซึ่งถือเป็นบทดั้งเดิม (Original Screenplay) เรื่องที่สองถัดจาก Kanchenjungha (1962)

“I wanted a relationship to develop between the Matinee Idol and a girl on the train. Romance was out – the time being so short – but I wanted something with an interesting development”.

– Satyajit Ray

เมื่อพูดถึงรถไฟ ผู้กำกับ Ray มีความลุ่มหลงใหลมาตั้งแต่ได้ยินเสียง วิ่งไล่ติดตามใน Pather Panchali (1955) เพิ่งมีโอกาสก็ครานี้ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเดินทาง สำรวจตัวตนเอง ผู้คนรอบข้าง และมุ่งสู่เป้าหมายที่ก็ไม่รู้ว่า ปัญหาได้รับการแก้ไข หรือปริศนาได้รับคำตอบบ้างหรือเปล่า

Arindam Mukherjee (รับบทโดย Uttam Kumar) นักแสดงหนุ่มหล่อ ‘Matinee Idol’ ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับคำเชิญให้ไปรับรางวัลการแสดงยังกรุง Delhi เพราะตั๋วเครื่องบินเต็มทุกที่นั่ง เลยจำต้องโดยสารขบวนรถไฟ AC Deluxe Express (จาก Kolkata สู่ New Delhi) มีโอกาสพบเจอนักเขียนสาว Aditi Sengupta (รับบทโดย Sharmila Tagore) พูดจี้แทงใจดำหลายเรื่องจนเก็บมาครุ่นคิด ฝันร้าย เลยจำต้องใช้เธอระบายความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ เพื่อให้ชีวิตสามารถดำเนินได้ต่อไป

เกร็ด: AC Deluxe Express เคยเป็นขบวนรถไฟหรูหราที่สุดของประเทศอินเดีย วิ่งระยะทาง 1,531 กิโลเมตร เห็นว่าปัจจุบัน ค.ศ. 2019 ยังคงให้บริการอยู่แต่เปลี่ยนชื่อเป็น Poorva Express
– ออกเดินทางจาก Howrah เวลา 8 โมงเช้า ถึง New Delhi เวลา 6 โมงเช้าของอีกวัน (22 ชั่วโมง)
– และขากลับออกจาก New Delhi เวลา 17:30 ถึง Howrah เวลา 17:15PM (เกือบๆ 24 ชั่วโมง)


Uttam Kumar ชื่อจริง Arun Kumar Chatterjee (1926 – 1980) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอินเดีย เจ้าของฉายา ‘Mahanayak’ (แปลว่า Superstar) เกิดที่ Aahiritola, Calcutta, โตขึ้นเข้าเรียน Goenka College of Commerce and Business Administration แต่ไม่ทันจบทำงานเป็นเสมียนอยู่ที่ Kolkata Port ระหว่างนั้นฝึกหัดการแสดง เข้าร่วมกลุ่ม Suhrid Samaj กระทั่งมีโอกาสแสดงภาพยนตร์ Drishtidan (1948) แรกๆก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ถึงขนาดได้รับฉายา ‘flop master’ จนกระทั่งได้ประกบคู่ขวัญ Suchitra Sen เริ่มตั้งแต่ Basu Paribar (1952), Sharey Chuattor (1953) กระทั่งเรื่อง Agni Pariksha (1954) ยืนโรงฉายนานถึง 65 สัปดาห์

ผลงานส่วนใหญ่ของ Kumar มักเป็นภาษาเบงกาลี เคยแสดงหนัง Bollywood อยู่หลายเรื่องแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ผลงานเลื่องโด่งดังสุด คือสองครั้งร่วมงานผู้กำกับ Satyajit Ray เรื่อง Nayak (1966) และ Chiriyakhana (1967) ** เป็นบุคคลแรกคว้างรางวัล National Film Award for Best Actor

รับบท Arindam Mukherjee นักแสดงหนุ่มหล่อ ‘Matinee Idol’ ไปที่ไหนก็มีคนมากมายรู้จัก แต่แทบทั้งนั้นก็แค่หน้ากาก/เปลือกภายนอก สวมแว่นตาดำปกปิดบังตัวตนแท้จริงไว้ ซึ่งภายในมีเพียงความเวิ้งว่างเปล่า ดวงตาเหงาหงอยสร้อยซึม ไร้ซึ่งคู่ครองคนรัก อีกทั้งอดีตมากมายทับทม จมอยู่กับด้านมืดของภาพมายา ดื่มสุราเมามายเพื่อระบายความอึดอัดคับข้องใจ

ผู้กำกับ Ray เขียนบทบาทตัวละครนี้โดยมีภาพของ Uttam Kumar ไว้ในใจตั้งแต่แรก จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งครุ่นคิดว่าถ้าไม่ได้เขามานำแสดง ก็อาจจะขึ้นหิ้งหนังไว้

“If you are showing a matinee idol, then you have to cast a star. Nobody else would do; people wouldn’t accept the fact. So I thought that I was doing the only possible thing”.

– Satyajit Ray

ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ ความหล่อเหล่า สมการเป็น ‘Matinee Idol’ แต่ดวงตาที่สะท้อนความเหงาหงอย เศร้าสร้อย ชีวิตจริงเคยพานผ่านช่วงเวลาล้มเหลว-ประสบความสำเร็จ หล่อหลอมปั้นแต่งให้ Kumar กลายเป็นนักแสดงระดับ Superstar … เนื่องจากผมไม่เคยรับชมผลงานอื่น เลยบอกไม่ได้ว่าเรื่องนี้ยอดเยี่ยมที่สุดแล้วหรือยัง แต่ก็น่าจะลำดับต้นๆ เพราะทำให้แฟนคลับพบเห็น/เข้าใจมุมมองอีกด้านหนึ่งของชีวิตในวงการมายา ตกหลุมรัก คลุ้มคลั่งไคล้ยิ่งกว่าเก่า

แซว: รูปลักษณ์หน้าตาของ Uttam Kumar ดูละม้ายคล้ายคลึง Marcello Mastroianni นักแสดงชาวอิตาเลี่ยนมากๆเลยนะ และพอสวมแว่นดำ ภาพจากหนัง 8½ (1963) เลยปรากฎเด่นชัดขึ้นมา


Sharmila Tagore (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Hyderabad เป็นญาติห่างๆของนักเขียนชื่อดัง Rabindranath Tagore, บิดาเป็นผู้จัดการ British India Corporation มีพี่น้องสามคน เพราะความที่น้องสาวคนกลาง Oindrila Kunda ได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง Kabuliwala (1957) ทำให้เธออยากเข้าวงการบ้าง เมื่อตอนอายุ 14 ปี ขณะกำลังแสดงการเต้นยัง Children’s Little Theatre ค้นพบโดยผู้กำกับ Satyajit Ray คัดเลือกมามาเป็นเจ้าสาวผู้อาภัพใน Apur Sansar (1959), ได้ร่วมงานกันอีกเรื่อง Devi (1960), Nayak (1966), Aranyer Din Ratri (1970) และ Seemabaddha (1971)

รับบท Aditi Sengupta นักเขียนนิตยสารสตรี Adhunika จับพลัดจับพลูขึ้นรถไฟขบวนเดียวกับ Arindam Mukherjee ปากอ้างไม่ได้ชื่นชอบคลั่งไคล้ แต่จู่ๆเดินเข้าไปขอลายเซ็นต์หน้าตาเฉย แล้วพูดคุยราวกับว่าล่วงรู้ทุกสิ่งอย่าง ทีแรกไม่ได้ครุ่นคิดจะสัมภาษณ์ ถูกคะยั้นคะยอจึงทดลองดู ซึ่งความสนใจของเธอไม่ใช่หน้ากาก/เปลือกภายนอก ต้องการเข้าใจตัวตน สาเหตุผล เพราะอะไร ทำไม เส้นทางความสำเร็จมาจากไหน

แม้ว่า Uttam Kumar จะคือพระเอก แต่ Sharmila Tagore กลับแย่งซีนความโดดเด่นไปเต็มๆ ใช้มารยาหญิง มานิ่งๆเฉยๆ ทำเป็นกลัวๆกล้าๆ สวมใส่แว่นหน้าเป็นหน้ากากไว้ แต่แท้จริงกลับหลบๆซ่อนๆ กระดี้กระด้า อยากรับล่วงรู้เรื่องราวชีวิตของ Superstar ใจจะขาด และด้วยความเฉลียวฉลาดของตัวละคร พูดน้อยๆแต่จี้แทงใจดำ ทำให้เขาเกิดความเชื่อมั่นใจ พรั่งพรูอะไรต่างๆนานาออกมา ท้ายสุดเมื่อเกิดความเข้าใจทุกสิ่งอย่าง ค่อยตระหนักว่าไม่สมควรนำเรื่องส่วนตัวดังกล่าวเผยแพร่สู่สาธารณะ น่าเสียดายไม่มีเวลาสานต่อความรัก มิตรภาพเล็กๆแต่โคตรน่าประทับใจ

แซว: หนังอินเดียจะไม่มี Passion เร่าร้อนรุนแรงเท่าหนังตะวันตกอย่าง Before Sunrise (1999) ถึงต่อให้ถูกโฉลกโชคชะตา ยังมีศีลธรรม มโนธรรม ขนบประเพณีอันดีงามคล้องคอ เลยไม่มีทางเกินเลยเถิดอย่างรวดเร็วไวอย่างแน่นอน


ถ่ายภาพโดย Subrata Mitra (1930 – 2001) ขาประจำผู้กำกับ Ray ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Pather Panchali (1955),

หนังสร้างฉากห้องโดยสาร/ขบวนรถไฟขึ้นมาในสตูดิโอ ให้สามารถถอดแยกชิ้นส่วน เพื่อนำกล้องเข้าไปถ่ายทำภายใน และใช้เทคนิค Rear-Projection สำหรับฉายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติภายนอกขบวนรถไฟ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีการใช้ ‘Bounce Light’ เพื่อลอกเลียนแสงอาทิตย์สาดส่องเข้ามา

Opening Credit พบเห็นแถวขาว-ดำ แนวตั้ง-นอน ปรากฎเหมือนตารางหมากรุก ซึ่งคงแฝงนัยยะถึงด้านมืด-สว่าง ของวงการภาพยนตร์ ที่นักแสดงต้องสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองดูดี แต่ตัวตนแท้จริงหาได้จำต้องเป็นเช่นนั้นไม่

หนังจะไม่เร่งรีบร้อนให้ผู้ชมพบเห็นใบหน้าพระเอก รอคอยให้หวีผม แต่งหล่อ สวมใส่เสื้อผ้า ผูกเชือกรองเท้า สร้างภาพลักษณ์จนเสร็จสรรพ ถึงค่อยตัดมาให้เชยชม

แซว: ว่าไป Sequence อาจได้แรงบันดาลใจจาก Juliet of the Spirits (1965) ของผู้กำกับ Federico Fellini ซึ่งก็พยายามใส่ลูกล่อลูกชน ไม่เร่งรีบร้อนนำเสนอใบหน้านางเอกเฉกเช่นเดียวกัน

หลายๆช็อคในหนัง ระดับความสูงของภาพจะประมาณโต๊ะอาหาร น่าจะเรียกได้ว่า ‘Table Shot’ ซึ่งต่ำกว่าระดับสายตาตัวละครที่นั่งอยู่ และหลายครั้งเงยขึ้นพบเห็นเพดานเบื้องบน, ไม่รู้ผู้กำกับ Ray จะจงใจลอกเลียนแบบ ‘Tatami Shot’ ของผู้กำกับ Yasujirô Ozu หรือเปล่านะ แต่กล้องจะไม่หยุดนิ่งเฉย ขยับเคลื่อนไหลไปมาอย่างมีชีวิตชีวามากๆ

Arindam Mukherjee สวมใส่แว่นตาครั้งแรกเมื่อยกหูโทรศัพท์ ชัดเจนเลยว่านั่นเป็นการสร้างภาพ ปกปิดบังตัวตนธาตุแท้จริงของตนเอง ซึ่งปลายสายคือหญิงสาวคนหนึ่ง น่าจะเป็นนักแสดงที่เขาคบชู้ แล้วเมื่อคืนก่อนเพิ่งมีเรื่องชกต่อยกับสามีเธอ

ฉากเปิดขวดยาที่เหมือนจะไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่การอาสาของเขา สร้างปฏิกิริยาให้ตัวละครอื่นๆ (และผู้ชม) เด็กหญิงเกิดรอยยิ้มพิมพ์ใจ การกระทำแค่นี้ ทำให้เขามีภาพลักษณ์ของพระเอก ‘ฮีโร่’ ในสายตาพวกเขาและเธอ

“There is one scene in the film which is quite inspiring the way tells a story. It is the scene where Uttam Kumar walks into a compartment. Before he walks into a compartment there is a father who is trying to open an orange squash bottle and he cannot open it. Uttam Kumar walks in and opens it. The character becomes not only a hero in the kid’s eyes but also in ‘our’ eyes. I learnt that if you want to make somebody a hero to the audience this is perhaps one of the ways you can”.

– ผู้กำกับ Sujoy Ghosh พูดถึงอิทธิพลของฉากนี้ที่มีต่อผลงาน Kahaani (2012)

ฉากในตู่อาหาร ก็มักพบเห็น ‘Table Shot’ ความสูงกล้องระดับเดียวกับพื้นโต๊ะ ไม่รู้เพราะต้องการกลบเกลื่อน Rear Projection ฉายภาพทิวทัศนียภาพด้านนอกหน้าต่างหรือเปล่านะ

หลายคนคงสงสัยว่าเรื่องราวคู่ขนานของ Pritish Sarkar (รับบทโดย Kamu Mukherjee) แทรกใส่เข้ามาทำไม? เพื่อเป็นการสะท้อนเรื่องราวของ Arindam Mukherjee ในแง่มุมธุรกิจ ซึ่งหลายๆขณะมักมีความสอดคล้อง ล้อกัน, แรกเริ่มต้น Pritish Sarkar เสนอหน้าเข้าไปพูดคุยธุรกิจ = Aditi เสนอหน้าเข้าไปสัมภาษณ์ Arindam

Aditi Sengupta ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นแฟนคลับของ Arindam Mukherjee แต่ใช้ข้ออ้าง/มารยาหญิง สวมแว่น สร้างภาพให้ตนเองเหมือนว่าไม่ได้ใคร่สนใจเขา แต่ลึกๆอยากมาสัมภาษณ์ เรียนรู้จักธาตุแท้ตัวตน ซึ่งเขาพยายามบอกกลับไป

“Look Miss Sengupta, it’s no good to talk too much. You see, we live in a world of shadows—so it’s best not to let the public see too much of our flesh and blood”.

– Arindam Mukherjee

การมาถึงของ Molly (รับบทโดย Susmita Mukherjee) ถือว่าถูกสามี Pritish Sarkar ล่อลวงมา เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้กับธุรกิจ สร้างความสดชื่น กระชุ่มกระชวย อีกฝ่ายอยากร่วมงานด้วย แต่นั่นกลับไม่ใคร่สนใจความครุ่นคิดต้องการของเธอเลย

ความฝันแรกของ Arindam Mukherjee ยืนอยู่ท่ามกลางกองภูเขาธนบัตรพันรูปี จากนั้นอยู่ดีๆเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น แต่แทนที่จะปลุกให้ตื่นกลับเป็นโครงกระดูกมือยื่นขึ้นมา แล้วอยู่ดีๆตัวเขากลับค่อยๆจมลง ร้องเรียกหา Shankar ผู้มีความเปราะบางเหมือนกระเบื้อง เอื้อมมือจะช่วยแต่กลับเปลี่ยนใจ และสะดุ้งตื่นขึ้นมา
– กองเงินเท่าภูเขา สะท้อนถึงความสำเร็จจากการเป็นนักแสดงของ Arindam
– เสียงโทรศัพท์ คือการปลุกตื่นให้เขาเลิกเพ้อใฝ่ฝัน เผชิญหน้าโลกความเป็นจริง
– มือ/โครงกระดูก ถือโทรศัพท์อยู่นั้น เป็นการย้ำเตือนว่ามีผู้คนมากที่ตรงกันข้ามกันตนเอง พยายามตะเกียกตะกายขึ้นมา แต่ก็ได้แค่เอื้อมมือไขว่คว้า
– ถูกธรณีสูบจมลง นั่นคือเมื่อภาพยนตร์ล้มเหลว 3 เรื่องติด กองเงินกองทองที่สะสมมาก็อาจหมดสิ้น เป็นการสะท้อนความหวาดสะพรึงกลัวที่จะตื่นขึ้นจากฝัน
– Shankar คือบุคคลผู้เปรียบเสมือนอาจารย์ ให้คำแนะนำ ปลุกปั้น จนกลายเป็น ‘จิตสำนึก’ ของ Arindam แต่หลังจากเสียชีวิต ชายหนุ่มก็ตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง นั่นเองเมื่ออยู่ในความฝัน เลยถูกปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือ (ราวกับกรรมสนองกรรม)

Arindam Mukherjee เกิดความเครียดอย่างหนักกับฝันดังกล่าว ต้องการใครสักคนเพื่อพูดระบายสักถาม ในขบวนรถไฟนี้ก็มีแต่หญิงแปลกหน้า Aditi Sengupta น่าจะพอช่วยเหลือได้ เลยเข้าไปซักถาม ให้สัมภาษณ์ (พวกเขานั่งสลับทิศทางกันจากเมื่อตอนนั่งลงคุยกันครั้งแรก)

จากนี้หนังจะเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) จากคำบอกเล่าของ Arindam Mukherjee ซึ่งพอจบเรื่องราวขณะหนึ่ง ก็จะตัดกลับมาปัจจุบันให้พบเห็นปฏิกิริยา ความเปลี่ยนแปลงไปอันเกิดจากกาลเวลาเคลื่อนเลยผ่าน

แรกเริ่ม Arindam เล่าถึง Shankar ผู้เปรียบเสมือนอาจารย์ ให้คำแนะนำ เสี้ยมสอนสั่นด้านการแสดง จนค้นพบศักยภาพ ความสามารถของตนเอง, เมื่อเล่าช่วงแรกจบตัดกลับมา จะพบเห็น Aditi แอบซุ่มจดบันทึก เอากระเป๋าบังหน้า ส่วน Arindam เงยขึ้นเหม่อมองท้องฟ้านอกหน้าต่าง

การสูญเสีย Shankar ในค่ำคืนทุรคาบูชา (Durga Puja) ทำให้ Arindam ตัดสินใจทอดทิ้งคำสอนทุกสิ่งอย่าง ไฟด้านหลังกำลังมอดไหม้ศพ ตนเองกลับสูบบุหรี่แสวงหาความสุขสำราญส่วนตัวเฉพาะหน้า เลือกตกลงเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงภาพยนตร์, ตัดกลับมาปัจจุบัน พบเห็น Arindam กำลังเล่นกับส้อม (คงคล้ายๆเล่นกับไฟ?) ขณะที่ Aditi ถอดแว่นตาออกชั่วครู่หนึ่ง เป็นอาการคาดไม่ถึงว่าเขาจะเปิดเผยธาตุแท้/ตัวตนเองออกมา

การถูกรุมร้อมจากแฟนๆ สำหรับนักแสดงนั่นคือเรื่องปกติ/ชีวิตประจำ ส่วนหนึ่งของอาชีพเลยก็ว่าได้ แต่สำหรับบุคคลทั่วไป นั่นถือว่าผิดปกติ ไม่คุ้นเคย Aditi เลยแสดงออกมาด้วยอาการลุ่มร้อน หวาดหวั่นวิตก

เพราะเป็นนักแสดงใหม่เพิ่งเข้าวงการ Arindam Mukherjee เลยยังต้องก้มหัว รับฟังคำเสี้ยมสอนสั่งจากรุ่นพี่ Mukunda Lahiri (รับบทโดย Bireswar Sen) ขณะกำลังแต่งหน้าทำผมฉากนี้ มองจากกระจกราวกับพบเห็นภาพสะท้อนตัวตนเอง อดีต-อนาคต

ฉากถ่ายทำภาพยนตร์นี้ก็เช่นกัน Arindam ถูกทำให้อับอายขายขี้หน้า เพียงเพราะความอ่อนด้อยไร้ประสบการณ์ นั่นสร้างความแค้นเคืองโกรธให้เกิดขึ้นในใจเล็กๆ มุ่งมั่นที่จะดำเนินไปตามแนวทางของตนเอง ดีกว่าจะรับฟังความครุ่นคิดเห็นของผู้อื่นใด, ตัดกลับมาปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาที่ Arindam และ Aditi กำลังรับประทานอาหาร น่าจะมื้อกลางวันกระมัง

ความคับข้องขุ่นเคืองต่อ Mukunda Lahiri นั่นเองคือจุดเริ่มต้นให้ Arindam เริ่มดื่มเหล้า เมามาย กล้องถ่ายมุม ‘Table Shot’ เคลื่อนติดตามเขาเดินไปมารอบห้อง ที่มีความมืดมิด เพียงแสงไฟจากโคมส่องสว่าง เงาด้านหลังทอดยาว … เรียกได้ว่า เพื่อชัยชนะความสำเร็จ พร้อมทำทุกสิ่งอย่างไม่สนอะไร

ตัดกลับมาปัจจุบันครานี้ Aditi เลิกปกปิดบังว่ากำลังจดบันทึกบทสัมภาษณ์ ซึ่งสะท้อนว่า Arindam ก็ยินยอมพร้อมใจที่จะพูดบอกเรื่องราวดังกล่าวให้รับฟัง

ความสำเร็จของ Arindam สวนทางกับ Mukunda Lahiri ค่อยๆตกต่ำลงเรื่อยๆ วันหนึ่งมาเยี่ยมเยือนถึงบ้าน เงามืดอาบฉาบปกคลุมใบหน้าครึ่งหนึ่ง กลายเป็นชายแก่ไร้ที่พึ่ง ช่างดูน่าสมเพศเวทนา แต่จะให้ความช่วยเหลือก็ไม่คิดเสียเวลา, ตัดกลับมา  Aditi ถามเขาว่า รู้สึกสะใจแล้วสิที่ได้แก้แค้น แต่พระเอกหนุ่มกลับเพิ่งตระหนักครุ่นคิดได้

เรื่องราวของ Biresh (รับบทโดย Premangshu Bose) เพื่อนสนิทสมัยเรียน เป็นนักประท้วงเรียกร้องโน่นนี่นั่น กล้าเผชิญหน้ายินยอมรับความจริง ถึงขนาดเคยถูกจับติดคุกอยู่นาน หลายปีหลังจากนั้น Arindam กลายเป็นนักแสดงชื่อเสียงโด่งดัง วันหนึ่งหวนกลับมาพานพบเจอ ถูกลากพาตัวไปให้เข้าร่วมกลุ่มการประท้วง แต่พระเอกกลับเหงื่อแตกพลั่ก สรรหาข้ออ้างที่จักปฏิเสธคำเชื้อเชิญ … ฉันมันก็แค่ดารานักแสดง สร้างภาพไปวันๆ ไม่สามารถเอาชีวิตมาเสี่ยง เผชิญหน้าโลกความจริงที่เหี้ยมโหดร้ายขนาดนี้!

นี่เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับผู้กำกับ Ray เพื่อนๆหลายคนเข้าร่วมกลุ่มการประท้วง เดินขบวนเรียกร้องสิทธิ ซึ่งตัวเขาพยายามอย่างยิ่งจะไม่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองใดๆออกมา (นอกจากอ้างถึงในผลงานภาพยนตร์)

ตัดกลับมาปัจจุบัน กล้องจะแพนนิ่งสลับไปมาซ้าย-ขวา สะท้อนถึงอารมณ์ที่เต็มไปด้วยความสั่นไหว หวาดหวั่นวิตก แม้แต่ Aditi ยังต้องถอดแว่น ตระหนักถึงบางสิ่งอย่างที่อยู่ในจิตใจของ Arindam นักแสดงไม่ใช่พระเจ้า ถึงสามารถทำได้ทุกสิ่งอย่าง!

Arindam กลับไปตู้นอนของตนเอง กินยานอนหลับแต่ยังไม่ได้หลับ จินตนาการถึง Promila Chatterjee (รับบทโดย Sumita Sanyal) เธอแต่งงานมีสามีอยู่แล้ว แต่แสร้งเล่นละครตบตาว่ายังโสด แล้วใช้เรือนร่างเข้าแลกเพื่อคาดหวังจักกลายเป็นนักแสดงนำ … ด้วยความไร้เดียงสาของ Arindam หลงเชื่อสนิทใจ ภาพถ่ายในมุมของเขา ใบหน้าครึ่งหนึ่งอาบปกคลุมด้วยความมืดมิด สะท้อนสิ่งเกิดขึ้นกับ Mukunda Lahiri กำลังจะประสบพบแก่ตัว (กรรมสนองกรรม)


Pritish Sarkar กำลังเล่นหมากรุก ใกล้ที่จะ ‘รุกฆาต’ นั่นสะท้อนถึงชะตาชีวิตของ Arindam กำลังใกล้ถึงจุดจบสิ้นเพราะการลักลอบมีชู้ และถูกสามีของ Promila จับได้

หลับฝันในฉากนี้ เดินอยู่ท่ามกลางสป็อตไลท์ที่มืดมิด ทุกคนสวมใส่แว่น/หน้ากาก Arindam ตรงเข้ามาเผชิญหน้าชายคนหนึ่งที่อ้างว่าคือสามีของ Promila ทำการชกหน้า … นี่เป็นความฝันที่สะท้อนเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงในค่ำคืนก่อนการเดินทาง

Molly อยู่ดีๆก็เดินเข้าหา Arindam พูดบอกว่าอยากเป็นนักแสดง ทำให้เขาตอบกลับอย่างระแวดระวัง ให้ไปขออนุญาตสามีมาก่อนค่อยพูดคุยกัน … เรื่องราวของเธอนี้ทั้งหมดเลยนะ สามารถสะท้อนเข้ากับ Promila ได้อย่างตรงไปตรงมา เหตุผลของการอยากเป็นนักแสดง เพราะต้องการอิสรภาพจากสามี (แค่ว่าโชคร้ายที่ Arindam รับล่วงรู้ว่า Molly มีสามีอยู่แล้ว ไม่เหมือน Promila ที่คงก้ำกึ่ง ไม่แน่ใจ ถูกเล่นละครตบตา)

Molly พูดต่อรองร้องขอกับสามี Pritish Sarkar ขณะที่ตนเองจับจ้องมองออกไปนอกหน้าต่าง พบเห็นเพียงเงาสะท้อนลางๆแห่งอิสรภาพ ขณะที่กระจกด้านข้าง สามีจุดบุหรี่ แสดงสีหน้าอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย … ความฝันของเธอจบสิ้นล่มสลายโดยพลัน

Arindam ในสภาพเมามาย เมื่อสักครู่ก่อนหน้านี้กำลังจะครุ่นคิดฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ ต้องการสารภาพสิ่งเกิดขึ้นเมื่อคืนก่อนกับ Aditi แต่หญิงสาวตอบว่าไม่อยากรับฟัง สามารถจินตนาการได้เองว่าเกิดอะไรขึ้นนั้น นั่นคงสร้างความผิดหวังเล็กๆ แต่ก็สาอยู่แก่ใจ พูดไปแค่เพียงข้ออ้างเข้าข้างตนเอง ไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรใคร ก็มีคนครุ่นคิดเข้าใจเขาได้

Arindam ในสภาพเมามาย สร้างความผิดหวังให้สมาชิกตู้นอนของเขา (ตรงกันข้ามกับภาพฮีโร่ที่สร้างมาตอนต้นเรื่อง) ถึงขนาดเด็กหญิงร่ำไห้หลั่งน้ำตา แต่นั่นคงทำให้พวกเธอเข้าใจ ชายผู้นี้ก็มนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่เทวดาฟ้าดินจากแห่งหนไหน

การขอลายเซ็นต์เมื่อเขาตื่น จึงเสมือนว่าไม่ใช่ในฐานะแฟนคลับ แต่คือเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก รู้จักตัวตนที่ไม่ใช่แค่ภาพมายาการแสดง

ตื่นขึ้นมาเช้าวันใหม่ โดยไม่รู้ตัว Pritish Sarkar อาจกำลังจะได้ทำธุรกิจกับเพื่อนห้องร่วม ผู้สงบเงียบเอาแต่พรมน้ำหอม แต่คงจะล่วงรับรู้เข้าใจทุกสิ่งอย่างบังเกิดขึ้น … เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงโอกาส ความหวัง วันหน้าฟ้าใหม่ เช่นกันกับ Arindam Mukherjee ถึงเวลาที่จะลุกขึ้นก้าวเดินต่อไป

Aditi ถอดแว่นตา ฉีกกระดาษจดบันทึกบทสัมภาษณ์ จุ่มลงน้ำ แล้วพูดว่า

“I’ll keep them in my memory”.

– Aditi Sengupta

แสดงถึงความเข้าใจต่อปัญหาของ Arindam Mukherjee ที่ต้องการความเอ็นดูสงสาร มิตรภาพเล็กๆที่สามารถเติมเต็มความเวิ้งว่างเปล่าภายใน เรื่องราวเล่ามาทั้งหมด จึงไม่สมควรได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะ เก็บเป็นช่วงเวลาแห่งความลับ/ทรงจำระหว่างเราสอง (แต่กลับกลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ซะงั้น!)

เมื่อลงจากขบวนรถไฟ ทุกคนต่างก็แยกย้าย สวนทางกันไป Arindam Mukherjee กลับมาสวมใส่แว่นตาดำอีกครั้ง แต่ด้วยมุมมองโลกทัศน์ที่ปรับเปลี่ยนแปลงไปชั่วนิรันดร์

ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, นอกจากอารัมบทเริ่มต้นที่อพาร์ทเม้นท์ของ Arindam Mukherjee เรื่องราวทั้งหมดของหนังดำเนินเรื่องในขบวนรถไฟ DC Deluxe Express จาก Howrah, Kolkata มุ่งสู่ New Delhi ในระยะเวลารวมแล้วประมาณ 24 ชั่วโมง

แม้การดำเนินเรื่องในขบวนรถไฟ จะมีการตัดต่อสลับไปมาไม่ใช่แค่มุมมองสายตาของ Arindam แต่ทั้งหมดถือว่ามีเขาคือจุดศูนย์กลางความสนใจ ซึ่งจะมีแทรกภาพความฝันระหว่างนอนหลับ และเล่าเรื่องย้อนอดีตเมื่อสนทนากับ Aditi Sengupta

เพลงประกอบโดย Satyajit Ray ส่วนใหญ่จะดังขึ้นเฉพาะช่วงเวลาแห่งความเพ้อฝันและการย้อนอดีต เพื่อสะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครขณะนั้นออกมา
– ฝันเห็นกองเงินกองทอง เสียงกระดิ่ง พิณ ไพเราะเพราะพริ้งราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์
– เสียงโทรศัพท์ดัง พบเห็นมือ/โครงกระดูกผุดขึ้นมา คำร้องประสานเสียง ช่างเต็มไปด้วยความน่าหวาดสะพรึงกลัว
– เสียงเป่าปี่ขณะงานศพ Shankar, การมาเยี่ยมเยียนของ Mukunda Lahiri และขณะ Arindam มึนเมามายพูดคุยกับ Aditi สร้างบรรยากาศสิ้นหวัง หดหู่ จุดจบ ความตาย


ความตั้งใจของผู้กำกับ Ray สรรค์สร้าง Nayak ด้วยสามจุดประสงค์หลัก
– นำเสนอสภาพจิตวิทยาของดาราภาพยนตร์ ชื่อเสียง เงินทอง ความสำเร็จ ล้วนต้องแลกมาด้วยเบื้องหลัง/การสูญเสียบางสิ่งอย่าง
– สภาพจิตวิทยาของแฟนคลับในแง่มุมต่างๆ รู้จักเพียงเปลือกนอก เข้าใจธาตุแท้ตัวตน จะยังธำรงความชื่นชอบอยู่ได้หรือเปล่า
– การเดินทางบนขบวนรถไฟ สวนทางผู้คนมากมาย และเป้าหมายปลายทางจะได้พบเจออะไร

เรื่องราวของ Arindam Mukherjee จากนักแสดงละครเวที ทอดทิ้งอุดมการณ์ทุกสิ่งอย่าง ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เพ้อฝันถึงเงินทอง ชื่อเสียง ความสำเร็จ และเมื่อมาถึงจุดสูงสุดแห่งอาชีพการงาน หวนระลึกนึกย้อนความหลังกลับไป ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคุ้มหรือเปล่ากับสิ่งได้รับมา

สำหรับแฟนคลับ ส่วนใหญ่มักล่วงรู้จักดาราคนโปรดก็แค่เพียงภาพลักษณ์ เปลือกภายนอก ผลงานการแสดง น้อยนักจักเข้าถึงตัวตน อุปนิสัย ธาตุแท้ เพราะเหตุใด? ทำไม? แรงบันดาลใจ? ต้องสูญเสียสละอะไรมาบ้างเพื่อความสำเร็จได้รับมานี้? … แต่สิ่งที่แฟนผู้คลั่งไคล้ ต้องแลกมากับการล่วงรับรู้เบื้องหลังข้อเท็จจริง คือเส้นทางชีวิตที่มักไม่สวยงามดั่งเพ้อฝัน ซึ่งอาจทำให้เรายิ่งรักมาก หรือจงเกลียดชัง ยินยอมรับความจริงไม่ได้ เพราะสุดท้ายโด่งดังคับฟ้าขนาดไหน ก็มนุษย์เดินดินไม่ต่างกัน

หลายๆบทความวิจารณ์ต่างประเทศ มักเอ่ยถึงนักแสดง Sharmila Tagore ผู้เป็นหลานของ Rabindranath Tagore นักคิด/นักเขียน สัญชาติ Bengali ที่เคยคว้ารางวัล Nobel Prize in Literature ซึ่งคือไอดอลในดวงใจผู้กำกับ Satyajit Ray, การเลือกเธอมาแสดงในหลายๆผลงาน มักมีบทบาทให้ผู้อื่ตระหนักเห็นคุณค่าความสำคัญของชีวิต ถึงขนาดมีคำเรียกว่า ‘Tagorean Humanist Values’

คือผมก็ไม่เคยอ่านวรรณกรรมของ Rabindranath Tagore เลยบอกไม่ได้ว่ายิ่งใหญ่ เกรียงไกร ทรงคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติสักเพียงไหน แต่เห็นว่าคืออิทธิพลแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ Ray เคยดัดแปลงสร้างภาพยนตร์จากผลงาน และสารคดีเรื่องหนึ่งอุทิศให้ Rabindranath Tagore (1961) ต้องถือว่าคลั่งไคล้มากยิ่งทีเดียว

ตัวละครของ Sharmila Tagore ไม่ได้ต้องการปลุกตื่น Uttam Kumar ให้หวนกลับมาเผชิญหน้าโลกความจริง แค่ชี้แนะนำให้มองเห็นว่า สิ่งขาดหายภายในจิตใจเขาคืออะไร เพราะนั่นไม่ใช่หน้าที่ตนเองจะมาตักเติมเต็ม คงเป็นใครสักคน วันใดวันหนึ่ง เดี๋ยวก็ค้นพบเจอได้เองอีกไม่ช้า

เรื่องราวของ Arindam Mukherjee ก็ไม่ต่างจากผู้กำกับ Satyajit Ray เมื่อก้าวมาถึงจุดสูงสุดชีวิต แต่กลับมีบางสิ่งอย่างขาดหายในจิตใจ ไม่ใช่ว่าเขายังครองตัวเป็นโสดนะครับ แต่หลังจากมีชื่อเสียงโด่งดัง พอมีเงินทองเทไหลเข้ามาบ้าง ล่วงรู้จักนักแสดง/นักร้อง สาวๆสวยๆมากมาย ปล่อยตัวกายใจ ลักลอบมีชู้นอกใจภรรยา มันเป็นความรู้สึกผิดลึกๆเสียมากกว่า สิ่งแลกมาสำหรับเขาคือการสูญเสียจิตวิญญาณความเป็นคน

ว่าไปมันก็ย้อนแย้งกับสาสน์สาระที่ Ray ใส่ลงมาในภาพยนตร์ของเขานะครับ ซึ่งผมมองว่านั่นคือความพยายามที่จะส่งต่อบทเรียนชีวิต นำเสนอความน่าอับอายขายขี้หน้าตนเอง ‘อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม’ ก็เหมือนเรื่องราวของ Arindam ที่ตอนจบ Aditi ตัดสินใจฉีกทิ้งบทสัมภาษณ์เพราะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ทั้งหมดกลับกลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ซะงั้น! แลดูมันช่าง Ironic โดยแท้


การได้นักแสดงระดับ Superstar อย่าง Uttam Kumar ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จไม่น้อยในประเทศอินเดีย ทั้งเสียงวิจารณ์และรายรับ มีโอกาสเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin คว้ามา 2 รางวัล
– Special Jury Award/Special Mention
– UNICRIT Award

เอาจริงๆถ้าผมไม่เคยดูหนังอย่าง Wild Strawberries (1957) หรือ 8½ (1963) ก็อาจเกิดความคลั่งไคล้ภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ แต่เพราะความละม้ายคล้ายคลึง สังเกตได้ถึงอิทธิพล แรงบันดาลใจ มันเลยไม่ใช่ความสด แปลกใหม่ แค่ว่าเปลี่ยนแปลงไปในสไตล์ Satyajit Ray เท่านั้นเอง

สิ่งน่าประทับใจอย่างยิ่งสำหรับ Nayak คือภาพลักษณ์ ‘Matinee Idol’ น่าเชื่อถือมากๆของ Uttam Kumar, และการแสดงของ Sharmila Tagore ทำให้ผมตกหลุมรักเธอมากๆยิ่งกว่า Apur Sansar (1959) เสียอีกนะ

จัดเรต 13+ กับความสำเมเทเมาของตัวละคร ด้านมืด-สว่างของโลกมายา

คำโปรย | Nayak ได้ทำให้ Uttam Kumar, Sharmila Tagore และผู้กำกับ Satyajit Ray กลายเป็นนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่
คุณภาพ | รีง่ายรึ
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: