Nazarín (1959) Mexican : Luis Buñuel ♥♥♥♥

(21/12/2021) Luis Buñuel แต่งตั้งตนเองเป็นนักบุญ Nazarín ทำในสิ่งสังคมไม่ยินยอมรับ คริสตจักรต่อต้าน กลายเป็นบาทหลวงนอกรีต จาริกแสวงบุญร่วมกับสองสาวโสเภณี แต่ตัวฉันนั้นมีความบริสุทธิ์ใจ ใครว่าอะไรไม่สน ยังคงเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าไม่เสื่อมคลาย

ศาสนาควรเป็นเรื่องของจิตใจ ไม่ใช่ภาพลักษณ์หรือการแสดงออกภายนอก แต่นั่นเป็นสิ่งที่คนยุคสมัยนั้น-นี้ ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำความเข้าใจ พบเห็นใครกระทำสิ่งดูไม่ดีก็ตีตราว่านอกรีต หัวขบถ ต่อต้านสังคม จำต้องขับไล่ผลักไสส่ง ตัดสินเพียงเปลือกภายนอกปฏิเสธเรียนรู้ ยินยอมรับ เปิดโลกทัศน์มุมมองใหม่ๆ มองบุคคลจากภายใน ราวกับว่าตนเองซ่อนเร้นอะไรไว้เลยพยายามปกปิดบังให้มิดชิด มิให้ความจริงบางอย่างได้รับการเปิดเผยออกมา

ตอนรับชม Nazarín เมื่อหลายปีก่อนผมยังไม่รู้สีกเอะใจอะไร เพราะไม่ครุ่นคิดว่า Luis Buñuel จะริหาญกล้าเทียบแทนตนเองเป็นนักบุญ แต่หลังจากเริ่มเข้าใจอะไรๆมากขี้น โดยเฉพาะผลงานศิลปะของบรรดาศิลปินที่มักต้องมีความสัมพันธ์กับตนเอง หวนกลับมาเผชิญหน้าภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถีงกับอี้งที่งไปเลย เพราะมีหลายๆสิ่งอย่างที่เราสามารถเทียบแทนตัวละคร=ผู้กำกับ จะว่าไปก่อนเริ่มทำงานวงการภาพยนตร์ Buñuel ช่วงวัยเด็กก็เคยร่ำเรียนเพื่อเป็นบาทหลวง แม้หมดสิ้นศรัทธาต่อคริสตจักร แต่ยังคงเชื่อมั่นต่อ(การมีตัวตนของ)พระผู้เจ้าไม่เสื่อมคลาย

แซว: จะว่าไปเรื่องนี้ให้ความรู้สีกคล้ายๆ Journey to the West ไซอิ๋วฉบับชาวตะวันตก/ศาสนาคริสต์ ของผู้กำกับ Luis Buñuel


Luis Buñuel Portolés (1900 – 1983) สัญชาติ Spanish เกิดที่ Calanda, Aragon เป็นบุตรคนโตมีน้อง 6 คน, เมื่อตอนอายุได้ 4 ขวบครี่ง ครอบครัวอพยพย้ายสู่ Zaragoza ถิ่นที่อยู่อาศัยของคนมีฐานะ ชนชั้นกลาง ถูกส่งไปศีกษาร่ำเรียนเป็นบาทหลวงยัง Colegio del Salvador แต่หลังจากได้พานพบเห็นอะไรบางอย่าง จึงหมดสิ้นเสื่อมศรัทธาในศาสนา, อายุ 16 เข้าเรียนต่อยัง University of Madrid แรกเริ่มคณะเกษตร เปลี่ยนมาวิศวะ สุดท้ายคือปรัชญา, ความสนใจในภาพยนตร์เมื่อโอกาสรับชม Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang, เมื่อปี 1925 มุ่งสู่กรุง Paris ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Jean Epstein, สรรค์สร้างผลงานเรื่องแรก Un Chien Andalou (1929), L’Age d’Or (1930)

การมาถึงของจอมพล Francisco สงครามกลางเมือง Spanish Civil War (1936-39) และภาพยนตร์/สารคดี Las Hurdes (1933) ถูกแบนห้ามฉายในสเปน ทำให้ Buñuel ตัดสินใจเดินทางมุ่งสู่ Hollywood ครุ่นคิดพัฒนาหลากหลายโปรเจคแต่ก็ไม่เป็นรูปเป็นร่าง เป็นชิ้นเป็นอัน จนกระทั่งได้รับชักชวนจากโปรดิวเซอร์ Oscar Dancigers อพยพย้ายมาประเทศ Mexico ตั้งแต่ปี 1946 เริ่มต้นสรรค์สร้าง Gran Casino (1947) ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่ยังได้รับโอกาสอีกครั้ง El Gran Calavera (1949) คราวนี้สามารถทำเงินถล่มทลาย จากนั้นก็สรรค์สร้างภาพยนตร์ในช่วง Mexican Period (1946-64) มีผลงานทั้งหมด 20 เรื่อง

หนี่งในผลงานได้รับคำชมล้นหลามช่วง ‘Mexican Period’ ก็คือ Nazarín (1895) นวนิยายแต่งโดย Benito Pérez Galdós (1843-1920) นักเขียนแนว Realist สัญชาติ Spainsh, ร่วมดัดแปลงบทภาพยนตร์กับ Julio Alejandro (1906-95) นักเขียนสัญชาติ Spanish ซี่งยังคงตัวละคร/เนื้อเรื่องราวหลักๆไว้ ปรับเปลี่ยนแปลงเพียงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ให้สอดคล้องสถานที่ และพื้นหลังถ่ายทำยังประเทศ Mexico

เกร็ด: Buñuel และ Alejandro ยังร่วมดัดแปลงนวนิยายเล่มอื่นๆของ Galdós มาเป็น Viridiana (1961) และ Tristana (1970)


เรื่องราวของบาทหลวงคาทอลิก Nazario (รับบทโดย Francisco Rabal) อาศัยอยู่ยังห้องเช่าราคาถูกๆ สภาพชำรุดทรุดโทรม ไร้สิ่งข้าวของอำนวยความสะดวกใดๆ อ้างว่าปัจจัยภายนอกเหล่านั้นหาใช่สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ใครเอ่ยปากขออะไร เงินทองก็พร้อมมอบให้ เชื่อว่ายังมีคนอีกมากที่ตกทุกข์ยากลำบากกว่าตนเอง

โสเภณี Andará (รับบทโดย Rita Macedo) แม้แค่ด่ากราดหลวงพ่อ Nazario แต่ครั้งหนี่งเมื่อตนเองเข่นฆ่าผู้อื่น กลับมาขอที่พี่งใบยุญ อาศัยหลับนอน พักรักษาตัว แน่นอนว่านั่นไม่ใช่สิ่งเหมาะสม แต่ถ้าเราต่างบริสุทธิ์ใจ ก็ไม่มีอะไรให้อับอายขายขี้หน้า … แต่เหตุผลแท้จริงของเธอ แค่ต้องการหลบหนีการถูกจับกุม

เหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อเป็นที่ประจักษ์แจ้ง ทำให้หลวงพ่อ Nazario ถูกคริสตจักรตำหนิต่อว่า เลยตัดสินใจเดินทางจาริกแสวงบุญ โดยไม่รู้ตัว Andará และหญิงสาวอีกคน Beatriz (รับบทโดย Marga López) หลังพบเห็นปาฏิหารย์ (หลวงพ่อ Nazario ทำให้เด็กที่ป่วยอาการดีขี้น) ร่วมออกติดตามไปทุกหนแห่ง ทั้งๆรับรู้ว่าเป็นภาพไม่เหมาะสม แต่ถ้าเราต่างบริสุทธิ์ใจ ก็ไม่มีอะไรให้อับอายขายขี้หน้า … เหตุผลแท้จริงของ Beatriz คือตกหลุมรักหลวงพ่อ Nazario เพียงต้องการอยู่เคียงข้างกายเท่านั้น


Francisco Rabal Valera (1926-2001) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติ Spainish เกิดที่ Águilas, Murcia การปะทุขึ้นของ Spanish Civil War (1936-39) ครอบครัวตัดสินใจอพยพสู่กรุง Madrid ทำให้ต้องเริ่มออกทำงาน เร่ขายของ โรงงานช็อคโกแล็ต พออายุ 13 ได้เป็นช่างไฟสตูดิโอ Chamartín Studios มีโอกาสเป็นตัวประกอบ แล้วมุ่งหน้าสู่ละครเวที สำหรับภาพยนตร์โด่งดังกับการร่วมงาน Luis Buñuel สามครั้ง Nazarín (1959), Viridiana (1961), Belle de jour (1967), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Sorcerer (1977), Los Santos Inocentes (1984) ** คว้ารางวัล Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, Goya en Burdeos (1999) ฯ

รับบทบาทหลวงคาทอลิก Nazario ผู้มีความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างแรงกล้า ทำทุกสิ่งอย่างด้วยจิตใจบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่เมื่อเหตุการณ์รับรู้ไปถีงพระเถระผู้ใหญ่ ว่าให้ความช่วยเหลือ/พักอาศัยอยู่กับโสเภณี นั่นไม่ใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมสักเท่าไหร่ เลยกลายเป็นแกะดำ ถูกผลักไส กลายเป็นนักแสวงบุญ ออกจาริกเดินทางไปทั่ว Mexico พบเจอให้ความช่วยเหลือผู้คนมากมาย สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง บางครั้งจิตใจไขว้เขวออกนอกลู่นอกทาง แต่จนท้ายที่สุดไม่มีอะไรทำให้เขาเสื่อมศรัทธาต่อพระเจ้า

เกร็ด: Nazarín, Nazario แปลว่า ‘มาจาก Nazareth’ ซึ่งคือเมืองหลวงของ Israel, ในพันธสัญญาใหม่ ถือเป็นบ้านเกิดของพระเยซูคริสต์ และสถานที่ในการจาริกแสวงบุญของชาวคริสต์ทั้งปวง

นี่เป็นบทบาทที่เล่นน้อยแต่ได้มาก เน้นความสงบงาม เสงี่ยมเจียมตน ทั้งสีหน้า ท่วงท่าทาง ขยับเคลื่อนไหวด้วยสติ พูดอย่างสุภาพนุ่มนวล น้อยครั้งจะขี้นเสียงแสดงออกทางอารมณ์ เกรี้ยวกราด ผิดหวัง และเกือบสูญเสียความเชื่อมั่นต่อมนุษยชาติ แต่ทุกครั้งยังสามารถหวนกลับมา แถมมีความแข็งแกร่งยิ่งขี้นกว่าเก่า!

Rabal จริงจังกับบทบาทการแสดงนี้มากๆ เขาเห็นด้วยทุกกระเบียดนิ้วกับสิ่งที่ Buñuel นำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร ถีงขนาดประกาศตนเองเป็นพวกนอกรีต (atheistic) เลิกนับถือคริสต์ แต่ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระเป็นเจ้ากลับเข้มแข็งยิ่งกว่าเก่า!


Catalina Margarita López Ramos (1924-2005) นักแสดงสัญชาติ Argentine เกิดที่ San Miguel de Tucumán ในครอบครัวนักแสดง มีพี่น้องหกคน เริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่เด็กจากการแสดงร่วมกับครัว Los Hermanitos López, พอเริ่มมีชื่อเสียงในบ้านเกิด ตัดสินใจออกเดินทางสู่ Mexico ตั้งแต่ 1945 โด่งดังกับ Nazarín (1959), El hombre de la isla (1960) ฯ

รับบท Beatriz เคยครุ่นคิดฆ่าตัวตายหลังถูกสามี Pinto บอกเลิกรา แต่คานไม้ดันหักร่วงหล่นลงพื้น เลยมีโอกาสพูดคุยสนทนาหลวงพ่อ Nazario เกิดความชื่นชอบหลงใหล โดยไม่รู้ตนเองยินยอมติดตามเขาไปทุกแห่งหน สามารถผลักไสอดีตสามี ค้นพบความต้องการของตน จนกระทั่งมารดาพูดบอกความจริงว่าเธอตกหลุกรัก นั่นทำให้หญิงสาวมิอาจยินยอมรับความจริง!

เกร็ด: Beatriz มาจากภาษาละติน Beatrix แปลว่าบุคคลผู้นำพาความสุขมาสู่ผู้อื่น ‘she who brings others happiness’

การแสดงของ López ทำให้ผมเชื่อสนิทใจเลยว่า Beatriz ได้รับอิทธิพลจากหลวงพ่อ Nazario บังเกิดศรัทธาต่อพระเป็นเจ้าขึ้นมาจริงๆ ถ้าไม่ติดว่านี่คือหนังของ Buñuel (ทำให้หลายๆคนคาดเดาได้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ตัวละครต้องจบไม่สวยอย่างแน่นอน!) เมื่อทุกสิ่งอย่างถูกเปิดเผยออก คงสร้างความตกตะลึง อึ้งทึ่ง คาดคิดไม่ถึงอย่างแน่นอน … ตอนผมรับชมหนังครั้งแรก จิตใจตกหล่นตาตุ่มเลยนะ รับไม่ได้อย่างรุนแรงกับสิ่งบังเกิดขึ้น

ผมรู้สึกว่าภาพลักษณ์/รูปร่างอวบๆของ López มีความละม้ายคล้าย Silvia Pinal และ Catherine Deneuve ไม่รู้คือสเป็คในอุดมคติของ Buñuel หรืออย่างไร ภายนอกดูบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ราวกับแม่พระ(มารีย์) แต่โชคชะตากรรมมักถูกกระทำชำเรา ปู้ยี้ปู้ยำ จนสภาพจิตใจย่ำแย่ไม่หลงเหลือเศษซากชิ้นดี ป่นปี้ย่อยยับเยิน ขี้นเกวียนออกเดินทางไปกับอดีตสามี ไม่รู้อนาคตจะหมดสิ้นหวังไปถึงขนาดไหน


Rita Macedo ชื่อจริง María de la Concepción Macedo Guzmán (1925-93) นักแสดงสัญชาติ Mexican เกิดที่ Mexico City หลังจากบิดา-มารดาหย่าร้าง ถูกส่งไปโรงเรียนประจำตั้งแต่เด็ก กระทั่งเกิดความสนใจด้านการแสดง เริ่มจากละครเวที โด่งดังทันทีกับภาพยนตร์เรื่องแรก Las cinco noches de Adán (1942), มีโอกาสร่วมงาน Luis Buñuel สองครั้ง Ensayo de un crimen (1956) และ Nazarín (1959)

รับบท Andará โสเภณีฝีปากกล้า ชื่นชอบท้าต่อยตีชาวบ้านชาวช่องไปทั่ว กระทั่งพลั้งเผลอเข่นฆ่าคนตาย ตระหนักว่าหนทางเดียวจะไม่ถูกจับคือพึ่งใบบุญ หลบซ่อนตัวในห้องของหลวงพ่อ Nazario แสร้งทำเป็นสำนึกผิด เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระเจ้า แต่ลึกๆอิจฉาริษยา Beatriz ที่มักได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี (ตรงกันข้ามกับตนเองที่มักถูกตำหนิ ด่าทอ ไม่เว้นวัน)

เกร็ด: Andará ภาษาสเปน หมายถึง การเดินทางจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง

เมื่อตอน Ensayo de un crimen (1956) ผมรู้สึกว่าการแสดงของ Macedo ดูมากเกิน ‘Overacting’ ไปเสียหน่อย แต่นั่นไม่ใช่กับ Nazarín (1959) ทั้งภาพลักษณ์แต่งจนอัปลักษณ์ ลีลาการขึ้นเสียง สำเนียงพากย์ทับ (สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล) และลูกล่อลูกชน/โรแมนติกเล็กๆกับคนแคระ ทำให้ผู้ชมบังเกิดเข้าใจธาตุแท้ตัวละคร เธอพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อดิ้นรนเอาตัวรอด สนองตัณหา ความพึงพอใจ ด้วยแรงผลักจากภายใน ‘sex drive’

Beatriz กับ Andará ในเชิงสัญลักษณ์คืออัครสาวกของหลวงพ่อ Nazario ที่มีความแตกต่างขั้วตรงข้ามทั้งภายนอก-ใน ฝั่งหนึ่งแสดงออกด้วยความรัก สุภาพอ่อนหวาน สร้างภาพให้ดูดี บริสุทธิ์จากภายใน (ไม่ใช่บริสุทธิ์ใจนะครับ) อีกฝั่งฝ่ายใช้แรงผลักดันทางเพศ ‘sex drive’ มีความตรงไปตรงมาจนดูดิบเถื่อน หยาบกระด้าง กร้านโลก ไม่สามารถปกปิดซ่อนเร้นสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ


ถ่ายภาพโดย Gabriel Figueroa (1907-97) ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติ Mexican เกิดที่ Mexico City, โตขึ้นร่ำเรียนการวาดรูป Academy of San Carlos และไวโอลิน National Conservatory แต่เมื่อครอบครัวประสบปัญหาการเงิน ทำให้ต้องลาออกมาทำงานยังสตูดิโอ Colonia Guerrero แรกเริ่มออกแบบสร้างฉาก จากนั้นกลายเป็นผู้ช่วยช่างภาพนิ่ง Juan de la Peña, José Guadalupe Velasco, ก่อนออกมาเปิดสตูดิโอ(ถ่ายภาพนิ่ง) แล้วได้รับคำชักชวนให้เข้าสู่วงการภาพยนตร์ มีโอกาสเดินทางไป Hollywood ศึกษาการทำงานของ Gregg Toland จากเรื่อง Splendor (1935) เลยมุ่งมั่นเอาดีด้านนี้ แจ้งเกิดโด่งดังทันทีกับ Allá en el Rancho Grande (1936), ผลงานเด่นๆ อาทิ María Candelaria (1944), The Fugitive (1947), The Pearl (1947), The Unloved Woman (1949), Los Olvidados (1950), Nazarín (1959), The Exterminating Angel (1962), The Night of the Iguana (1964) ** ได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography

ครึ่งแรกของหนังต้องชมเลยว่า ลีลาการเคลื่อนกล้องในสถานที่ปิด ภายในห้องพัก/โรงแรม Heroes Hotel (ถ่ายทำยัง Estudios Churubusco Azteca) ช่างมีความลื่นไหล ดูเป็นธรรมชาติ ให้ความรู้สึกราวกับผู้ชมคือส่วนหนึ่งของเรื่องราว, ส่วนครึ่งหลังออกตระเวนถ่ายทำยังสถานที่ต่างๆ โดยปักหลักอยู่ยัง Cuautla, Morelos [คำว่า Cuautla แปลว่า where the eagles roam] ตั้งอยู่ทางตอนใต้ 104 กิโลเมตรจาก Mexico City สมัยนั้นยังมีประชากรไม่ถีงหมื่น ปัจจุบันเพิ่มเป็นหลักแสนแล้วละนะ

ปล. ภาพวาดพื้นหลัง Opening Credit คงวาดจากสถานที่จริงทั้งหมด ซึ่งช็อตสุดท้ายตอนขึ้นข้อความ Directed By Luis Buñuel แปรสภาพจากภาพวาดสู่โลกความจริง … นี่ถือเป็นลักษณะหนึ่งของ Surrealist ได้เช่นกัน

ซีนแรกภายในโรงแรม Heroes Hotel (แค่ชื่อก็ตั้งได้กวนบาทาไม่น้อย น่าจะสื่อถึงหลวงพ่อ Nazario ตรงๆเลยกระมัง) จะพบเห็นลีลาการเคลื่อนกล้อง ไหลไปไหลมาคล้ายๆตัวประกอบที่เดินไปเดินมาอยู่นั่น ถ้าใครชอบสังเกตก็จะพบสัตว์สัญลักษณ์ตัวแรก เจ้าลากำลังถูกตัดขน ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิล แกะ คือสัตว์ที่พระเยซูคริสต์ใช้เดินทางสู่ Jerusalem มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการให้บริการ ความทุกข์ทรมาน สงบสุข และมนุษย์ชาติ (service, suffering, peace and humility)

การโกนขนสัตว์ ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดเผยธาตุแท้ตัวตน ในบริบทของหนังเราจะพบเห็นความโฉดชั่วร้ายของคน ส่วนใหญ่มักสนเพียงเปลือกภายนอก สร้างภาพให้ดูดี เพียงตัดสินคนจากการกระทำ

ห้องพักของหลวงพ่อ Nazario ช่างดูแปลกประหลาดยิ่งนัก ประตูก็มีแต่ไม่เห็นมีใครเดินเข้า-ออก ต่างปีนป่ายผ่านทางหน้าต่าง ซึ่งดูเหมือนกรอบภาพวาด บุคคลแห่งนามธรรม ผู้มีความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระเจ้าอย่างรุนแรงกล้า บริสุทธิ์แท้จริงจากภายใน ซึ่งคงหาไม่ได้แล้วในยุคสมัยนี้ จึงสามารถมองเป็น Surrealist ได้เช่นกัน (เรียกว่าคนดีเกินจริง!)

ในห้องพักของหลวงพ่อ Nazario ก็มีลักษณะเกินจริง มองในเชิงนามธรรมได้เช่นกัน ไร้สิ่งข้าวของอำนวยความสะดวก ใครขออะไรก็พร้อมมอบให้ ไม่เว้นแม้แต่เงินทอง หรือบุคคลผู้ต้องการที่พึ่งพักพิงทางใจ

ช็อตเล็กๆที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกต แต่มันสร้างความรำคาญในสายตาผมเหลือเกิน ด้านหลังของ Nazario ระหว่างสนทนาธรรมกับลูกแกะของพระองค์ มันจะมีโถและอ่างล้างหน้า บ้านเรามีสำนวน ‘น้ำเต็มแก้ว’ สื่อถึงบุคคลที่ปิดกั้นตนเอง ไม่ยินยอมรับอะไรๆใหม่ ในบริบทนี้สะท้อนถึงความไม่มี ว่างเปล่า ทั้งภายนอกและจิตใจของหลวงพ่อ เป็นที่รองรับสิ่งต่างๆมากมาย

Beatriz ต้องการแขวนคอฆ่าตัวตาย แต่คานไม้ดันหักลงมา (นี่น่าจะเป็น Dark Comedy ตลกสุดของหนัง) เหมือนจะสื่อว่า การครุ่นคิด/กระทำของหญิงสาว ช่างเป็นสิ่งเพ้อเจ้อ ไร้สาระ เธอไม่ได้ต้องการฆ่าตัวตายจริงๆ (อย่างน้อยก็จะเลือกคานที่มันแข็งแรงกว่านี้) แค่เรียกร้องความสนใจหลังชายคนรักกำลังจะทอดทิ้งจากไปก็เท่านั้น

เรื่องราวของตัวละครนี้ก็เช่นกันนะ ภาษาวัยรุ่นสมัยนี้คงเรียก ‘เด็กทิพย์’ เป็นคนช่างมโน เพ้อเจ้อไปเอง ไม่ยินยอมรับความจริง ซึ่งพอถูกใครสักคนตอกย้ำ ค่อยฟื้นคืนสติ แต่ในสภาพสูญเสียวิญญาณ (จะถือว่าตอนจบ Beatriz สามารถฆ่าตัวตาย/ทำลายจิตวิญญาณของตนเองสำเร็จลงได้)

ระหว่างที่ Andará กำลังต่อสู้ตบต่อยตีกับโสเภณีคู่อาฆาต อ้างว่าเป็นผู้ลักขโมยกระดุม, Beatriz จู่ๆกระพริบตาปริบๆ (อาการมึนเมา) จากนั้นฝันเห็นภาพตนเองกับ Pinto (ทำให้พริ้วไหวเหมือนสายน้ำ ความรู้สึกของคนกำลังมึนเมา) กอดจูบพรอดรัก ระลึกถึงช่วงเวลาอันสุขสำราญ กระสั่นซ่าน ร่านราคะในชีวิต

การนำเสนอสองเรื่องราวอย่างพร้อมเพรียงกันนี้ เป็นการสะท้อนความคล้ายคลึง/แตกต่างตรงกันข้ามในเชิงสัญลักษณ์

  • Andará-Beatriz
  • โลกความจริง-ในความฝัน
  • ต่อสู้ตบตี-กอดจูบพรอดรัก … สองสิ่งนี้ล้วนบังเกิดจาก ‘sex drive’ ของตัวละคร
  • โสเภณีคู่อาฆาต-อดีตชายคนรัก
  • ถูกลักขโมยกระดุม(สิ่งของ)-ถูกลักขโมยหัวใจ(ตกหลุมรัก)
  • ถูกฆ่าตาย-ทอดทิ้งจากไป

ท่าสะพานโค้งของ Beatriz สะท้อนถึงจิตใต้สำนึกที่กำลังร่วมรักกับแฟนหนุ่ม แม้ว่ากำลังมึนเมาแต่ร่างกายก็แสดงท่วงท่า ความต้องการแท้จริงจากภายในออกมา … เรียกหญิงสาวมีความหมกมุ่น มักมากในกามคุณอย่างรุนแรง

หลังจากเข่นฆ่าคนตาย Andará ขอพึ่งใบบุญจากหลวงพ่อ Nazario ซึ่งหลายๆช็อตจะพบเห็นมุมเงยเห็นเพดาน สะท้อนถึงความสูงส่งในคุณธรรมของตัวละคร ต่อให้เธอเปลื้องผ้าล่อนจ้อน เขาก็ไร้ซึ่งอารมณ์ความต้องการในเนื้อหนัง (เพราะจิตใจของหญิงสาวช่างมีความอัปลักษณ์สิ้นดี!)

ภาพหลอน ละเมอของ Andará (จะมองว่าเป็นอิทธิพลจากอาการบาดเจ็บ หรือรู้สึกผิดก็ได้เหมือนกัน) เริ่มจากพบเห็นภาพพระเยซูคริสต์ยิ้มเยาะ (มีหนังหลายเรื่องของ Buñuel ที่นำเสนอภาพตัวละครถูกหัวเราะเยาะเย้ยในลักษณะคล้ายๆกันนี้) และเสียงดังจากภายนอก ใครสักคนกำลังลงโทษตีก้นเด็กนิสัยไม่ดี

นอกจากนี้ Andará ยังพยายามลากสังขารไปหาน้ำดื่ม แต่โถนั้นว่างเปล่า ส่วนอ่างล้างหน้าเต็มไปด้วยเลือด (ของตนเอง) แต่ก็ต้องฝืนทนดื่มเพื่อคลายกระหาย … ดื่มเลือด น่าจะสื่อถึงปีศาจ แวมไพร์ กระมัง

Anthony or Antony of Padua หรือ Saint Anthony of Lisbon (1195-1231) นักบุญคาทอลิกชาว Portuguese เกิดที่ Lisbon ได้รับการยกย่อง ‘นักปราชญ์แห่งคริสตจักร’ มีชื่อเสียงในการเทศน์ให้คนต่างศาสนาเปลี่ยนใจมาศรัทธานิกายโรมันคาทอลิกจำนวนมาก ว่ากันว่าหลังจากการฝังศพท่านไปเกือบ 40 ปี เมื่อมีการขุดศพขึ้นมาเพื่อทำเป็น Relic บูชาในมหาวิหาร และพบชิ้น ‘ลิ้น’ ที่ยังคงสีแดงสดในขณะที่ร่างกายส่วนอื่นเน่าเปื่อยหมดแล้ว ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการเทศนาอันดีเยี่ยม

ด้วยความที่ Saint Anthony โดดเด่นด้านการเทศน์ ชื่นชอบถือคัมภีร์ไบเบิลระหว่างสอนศาสนา ซึ่ง(คัมภีร์ไบเบิ้ล)สามารถเปรียบได้กับทารกพระเยซูคริสต์ นั่นทำให้ภาพวาด รูปปั้น งานศิลปะที่เกี่ยวกับนักบุญท่านนี้ มักมีการโอบอุ้ม ‘Infant Jesus’ อยู่ข้างกายเสมอๆ … นี่ถือเป็นภาพจำของท่านเลยนะ

เมื่อตอน Andará ตัดสินใจเผาทำลายหลักฐานในห้องพัก เธอหยิบทารกพระเยซูคริสต์กลับไปวางไว้ที่เก่า แล้วแผดเผาทำลายรูปปั้น Saint Anthony มอดไหม้ในกองเพลิง นี่เป็นการสะท้อนทัศนะของ Buñuel ไม่ใช่แค่เสื่อมศรัทธาต่อคริสตจักร แต่ยังลามปามถึงนักบุญที่มีชื่อเสียงในอดีตก็ไม่ละเว้น … การกระทำดังกล่าวค่อนข้างน่ารังเกียจนะครับ เพราะเขาไม่ได้รู้จักนักบุญท่านนี้เป็นการส่วนตัว แต่กลับแสดงออกราวกับว่าโกรธเกลียดเคียดแค้น ตัดสินบุคคลที่เปลือกภายนอกเสียอย่างงั้น!

ช็อตนี้มองผิวเผินเป็นแค่การ Cross-Cutting เปลี่ยนฉากจากเปลวเพลิงลูกไหม้ สู่ที่พักอาศัยชั่วคราวของหลวงพ่อ Nazario แต่ถ้าสังเกตดีๆจะพบเห็นแม่บ้านกำลังต้มน้ำเดือด (ช็อคโกแล็ต) ไอโพยพุ่ง นี่คือสัมผัส(นอก) เชื่อมต่อ สอดคล้องจองระหว่างฉาก

ฉากที่ผมขำกลิ้งสุดของหนัง คือหลวงพ่อคนนี้ขณะกำลังพร่ำบอกสิ่งบังเกิดขึ้นในการพิจารณาคดีของ Nazario (สังเกตว่าพื้นหลังนาฬิกา คือเวลาที่จะอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้กำลังหมดลงไป) คือมันเป็นประโยคที่ทั้งซื่อตรงและแดกดันอย่างเจ็บแสบ ‘ฉันเชื่อว่านายคงไม่กระทำอะไรกับปีศาจตนนั้น เพราะถ้าจะทำจริงๆก็คงไม่เลือกสิ่งมีชีวิตน่ารังเกียจขนาดนี้!’

l know you wouldn’t dare. Besides, if you were to succumb to such a demon it wouldn’t be with that ugly creature.

Don Angel

สถานที่แรกของหลวงพ่อ Nazario ระหว่างทางก่อสร้างทางรถไฟ ต้องการขอแค่อาหารแต่บอกว่าต้องทำงานแลกเปลี่ยน เจ้าตัวก็ยินยอมแต่กลับถูกคนงานอื่นๆขับไล่ผลักไสส่ง เพราะทำงานไม่รับเงินจะกลายเป็นต้นแบบแย่ๆให้คนอื่น นั่นทำให้เขาตัดสินใจยุติการทำงานโดยพลัน

เราสามารถตีความขบวนรถไฟ คือสิ่งนำเอาความเจริญทางศาสนา อารยธรรมเข้ามาเผยแพร่สู่ชนบทห่างไกล ซี่งบริเวณก่อสร้างทางรถไฟสามารถสื่อถีงสุดปลายขอบความเจริญ ที่ศาสนาและอารยธรรมเผยเพิ่งจะแพร่อิทธิพลมาถีง หลังจากสถานที่แห่งนี้หลวงพ่อ Nazario ก็จักพบกับดินแดนดงดิบ ป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม ไม่มีใครให้อะไรฟรีๆถ้าไร้ซี่งสิ่งแลกเปลี่ยนตอบแทน

เดินทางมาถีงบ้านเกิดของ Andará หลังจากบังเอิญพบเห็นหลวงพ่อ Nazario จีงลากพาตัว ร้องขอให้แสดงปาฏิหารย์ ช่วยเหลือบุตรสาว(ของญาติ)ป่วยไข้ ตัวร้อน อาการหนัก เอาจริงๆแค่รับประทานยาตามหมอสั่งประเดี๋ยวก็ทุเลา แต่ครอบครัวนี้ราวกลับกำลังทำพิธี ไล่ผีไล่สาง มีความนอกรีต เห็นผิดอย่างรุนแรง … อย่างที่บอกว่าหลังสุดปลายก่อสร้างทางรถไฟ สิ่งที่หลวงพ่อ Nazario จักได้พบเจอคือดินแดนคนเถื่อน ความเจริญทางจิตใจยังเข้าไม่ถีง หรือเรียกว่าไร้อารยธรรมโดยสิ้นเชิง!

แซว: หลังสิ้นสุดฉากนี้ ผมได้ยินเสียงไก่ขัน (แต่ไม่เห็นตัวเจ้าไก่นะ) เรียกว่าตื่นจากวันฝันร้าย

ระหว่างทางต่อมา พบเห็นรถเทียมเกวียนติดหล่ม ม้าล้มลงหมดเรี่ยวแรง ขณะเข้าไปให้ความช่วยเหลือมีชายจูงลาคนหนี่งเดินผ่านมา เพียงแค่ไม่ได้ทักทายเจ้าหน้าที่/นายอำเภอ กลับถูกเรียกแล้วพูดคำสอนสั่ง อวดอ้างอิทธิพล วางอำนาจบาดใหญ่ นั่นสร้างความไม่พีงพอใจให้หลวงพ่อ Nazario ลุกขี้นตำหนิต่อว่า แล้วออกเดินทางต่อ ปฏิเสธให้การช่วยเหลืออีกต่อไป

ดินแดนคนเถื่อน บุคคลผู้มีอำนาจย่อมวางตัวบาดใหญ่ ชอบอวดอ้าง ใช้อิทธิพลในทางมิชอบ ไร้จิตสำนีกมโนธรรม-ศีลธรรม ไม่รู้จักผิด-ชอบ ชั่ว-ดี อิ่มหมีพลีมันไปกับความคอรัปชั่นจากภายใน

แซว: จบฉากนี้จะได้ยินเสียงหวูดรถไฟดังจากไกลๆ (แต่จะไม่พบเห็นว่าขบวนรถไฟมาจากไหน) ซี่งจะมีบาทหลวงคนหนี่งให้คำแนะนำนายอำเภอคนนี้ อย่างไปจริงจังกับคนนอกรีต

เป็นอีกความสุดxีนของผู้กำกับ Buñuel ที่หลายคนคงไม่ทันสังเกตเห็น ช่วงขณะหญิงสาวนอนป่วยโรคระบาด กล้องเคลื่อนมาที่ฝ่าเท้าแล้ว Cross-Cutting เสี้ยววินาทีหนึ่งพบเห็นซ้อนภาพบริเวณนั้นน่าจะคือโบสถ์คริสต์ … คงไม่ต้องอธิบายนะครับว่ามันจะสื่อถึงอะไร

เรื่องราวของฉากนี้ได้แรงบันดาลใจจาก Dialogue entre un prêtre et un moribond (แปลว่า Dialogue Between a Priest and a Dying Man) เขียนโดย Marquis de Sade (1740-1814) ระหว่างถูกจองจำอยู่ Château de Vincennes เมื่อปี 1782 แต่กว่าจะได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะก็เมื่อปี 1926

ในห้วงนาทีแห่งความเป็น-ตาย คนสมัยใหม่เลิกเชื่อศรัทธาในพระเป็นเจ้าที่จับต้องไม่ได้ อยากอยู่เคียงชิดใกล้ครอบครัว บุคคลที่ตนรัก จักได้นอนตายตาหลับ ไม่มีอะไรให้สูญเสียดายอีกต่อไป

ฉากแรกของคนแคระ ถูกกลั่นแกล้งด้วยการห้อยต่องแต่ง ล้อกับตอนแนะนำตัวละคร Beatriz กำลังครุ่นคิดสั้นจะฆ่าตัวตาย แต่สำหรับชายคนนี้จะกลับตารปัตร เมื่อแรกพบเจอดันตกหลุมรัก Andará แล้วบอกด้วยว่าผู้หญิงอัปลักษณ์คนนี้เหมาะที่จะเคียงคู่กับตนเอง

ความสัมพันธ์ระหว่าง Andará กับคนแคระ ดำเนินเคียงคู่ขนานกับ Beatriz และ Pinto ถือเป็นเส้นทางแยก/บทพิสูจน์ของทั้งคู่ ว่ายังจะสามารถยีดถือเชื่อมั่นในศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อ Nazario ได้หรือไม่

  • คนแคระตัวเล็กกว่า Andará, Pinto ตัวสูงกว่า Beatriz
  • คนแคระชื่นชอบความอัปลักษณ์จากเปลือกภายนอก พูดพร่ำอยากให้ตอบแทนความรู้สีกตนเอง, Pinto รับรู้ตัวตนธาตุแท้จริงของ Beatriz ถีงสามารถขอความช่วยเหลือจากมารดาของเธอ ให้พูดความจริงออกไป
  • สุดท้ายแล้ว Andará ก็ไม่ครองรักกับคนแคระ ถูกจับกุม แล้วออกเดินทางต่อไป, Beatriz ถูกพันธนาการทางใจกับ Pinto แล้วออกเดินทางไปกับเขา

สถานที่ที่หลวงพ่อ Nazario และ Andará ถูกจับกุมตัว ยังสวนดอกไม้สวยๆบนเทือกเขาแห่งหนี่ง (ได้ยินเสียงนกร้องจิบๆ คลอประกอบทั้งฉาก) ราวกับว่านี่คือสรวงสวรรค์ Eden และพวกเขากำลังถูกคนพาลฉุดลากพาตัวออกมาให้กลับสู่โลกความจริงที่เหี้ยมโหดร้าย

วินาทีแห่งการสูญเสียตนเองของ Beatriz หลังมารดาพูดบอกความจริง กล้องเคลื่อนเข้าหาหญิงสาวอย่างไว ดวงตาลุกโพลงโต ฟื้นตื่นขึ้นจากความฝัน มิอาจยินยอมรับความจริง บังเกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน ทรุดล้มลงไปดิ้นทุรนทุราย ส่งเสียงกรีดร้องนั่นไม่ใช่ความจริง … นั่นแปลว่าทุกสิ่งอย่างที่เธอแสดงออกมา ล้วนเพื่อกลบเกลื่อนความรัก ขอเคียงแค่ได้อยู่ชิดใกล้ เท่านี้ก็เป็นสุขหัวใจ

สำหรับหลวงพ่อ Nazario นี่คือช่วงเวลาที่จะได้พบเจอบุคคลขั้วตรงข้าม อาชญากรกระทำสิ่งผิดกฎหมาย ขัดแย้งต่อศาสนา ไร้ความเชื่อศรัทธาต่อพระเจ้า จึงไม่ความหวาดกลัวเกรงต่อสิ่งใด เมื่อสบโอกาสก็พร้อมใช้กำลังต่อสู้ทำร้าย สร้างความเจ็บปวดทั้งร่างกาย-จิตใจ แต่เขาก็ยังคงพร้อมยกโทษให้อภัย เพราะเชื่อว่านี่คือหน้าที่คริสเตียนที่ถูกต้องเหมาะสม

For the first time in my life, I find it hard to forgive. But I forgive you. It is my Christian duty. But I also scorn you! And I feel guilty, not knowing how to separate scorn from forgiveness.

Nazario

รูปภาพด้านหลังนี้ใครกัน? ใครรู้จักบอกกล่าวกันได้นะครับ ซึ่งผมคาดคิดว่าน่าจะเป็นหนึ่งในประธานาธิบดีประเทศ Mexico ช่วงทศวรรษนั้น ซึ่งคอยควบคุมครอบงำ แผ่อิทธิพลปกคลุมถึงคริสตจักร มาจนถึงหลวงพ่อ Nazario ถึงจุดที่เขาต้องก้มหน้าก้มตา ยินยอมรับชะตากรรม ในสิ่งทั้งหมดที่เขากระทำ

สภาพของ Nazario แทบจะหมดสิ้นหวังต่อมวลมนุษยชาติ แต่ระหว่างการออกเดินทางครั้งสุดท้าย(ของหนัง) ได้รับการบริจาคทานจากหญิงสูงวัยคนหนึ่ง แต่แทนจะให้ผลไม้แกะกินง่ายอย่างแอปเปิ้ล (ผู้คุม รับประทานอาหารต้องห้าม) กลับเป็นสัปปะรดที่มีตารอบตัว ซึ่งผมมองว่าคือสัญลักษณ์แทนความเชื่อชาวคริสต์ที่ว่า ‘พระเจ้าสถิตทรงสถิตอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง’ ซึ่งทำให้เขาตระหนักความจริงขึ้นมาได้ว่า ตราบที่เรายังเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระเจ้า สักวันหนึ่งย่อมได้ผลตอบแทนอย่างสาสม

May god repay you, ma’am.

Nazario

เสียงรัวกลองสะท้อนสภาวะทางจิตใจตัวละคร แทนจังหวะก้าวย่างเดินไปข้างหน้า หรือหัวใจสั่นสะท้าน เต้นระริกรัว เพราะเพิ่งตระหนักถีงบางสิ่งอย่าง อันทำให้ความเชื่อศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า มั่นคงไม่มีวันเสื่อมสลายอีกต่อไป

ตัดต่อโดย Carlos Savage (1919-2000) สัญชาติ Mexican ขาประจำของ Luis Buñuel ตั้งแต่ Los Olvidados (1950), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ La guerra santa (1979), El principio (1973) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของหลวงพ่อ Nazario โดยสามารถแบ่งออกเป็นครี่งแรก-ครี่งหลัง

  • ครึ่งแรก ดำเนินเรื่องอยู่ยังโรงแรม/ห้องพักโกโรโกโสแห่งหนี่ง
    • แนะนำตัวละคร หลวงพ่อ Nazario, โสเภณี Andará และหญิงสาวอกหักในรัก Beatriz
      • หลวงพ่อ Nazario เทศนาสั่งสอนด้วยวิธีการที่ผิดแผกแตกต่างกว่าคนอื่น
      • โสเภณี Andará แสดงความเกรี้ยวกราด เห่าหอน ด่ากราดไม่เว้นแม้แต่หลวงพ่อ Nazario
      • Beatriz ต้องการเข่นฆ่าตัวตาย มิอาจรนทนชายคนรักเก็บข้าวของกำลังจะจากไป
    • เรื่องวุ่นๆเกิดขี้นเมื่อ Andará เข่นฆ่าคนตาย จีงมาพี่งใบบุญหลวงพ่อ Nazario ยินยอมช่วยเหลือ ที่อยู่อาศัย และคำสอนสั่งทางจิตใจ
    • ใครสักคนปากโป้ง Beatriz จีงนำความไปบอกหลวงพ่อ Nazario และ Andará ตัดสินใจเผาทำลายหลักฐานทุกสิ่งอย่าง
  • ครึ่งหลัง จาริกแสวงบุญไปทั่ว Mexico
    • หลวงพ่อ Nazario แสดงปาฏิหารย์ช่วยเหลือเด็กรอดชีวิตจากอาการป่วยหนัก ทำให้ Beatriz และ Andará ติดสอยห้อยตาม เคียงข้างไม่เหินห่าง
    • เมืองแห่งโรคระบาด หลวงพ่อ Nazario พยายามให้ความช่วยเหลือหญิงสาวป่วยหนักรายหนี่ง แต่เธอปฏิเสธพระเจ้า โหยหาสามีผู้เป็นที่รักยิ่งกว่า
    • หลวงพ่อ Nazario และ Andará ถูกควบคุมตัว ส่วน Beatriz ยังคงติดตามทั้งสองอย่างไม่ลดละ
    • ทางแยกจาก
      • Andará ถูกล่ามโซ่ตรวน ออกเดินทางสู่เรือนจำสักแห่งหนใด
      • Beatriz ร่างกายไม่ได้ถูกล่ามโซ่ แต่จิตใจถูกพันธนาการโดยอดีตชายคนรัก Pinto ขี้นรถม้าออกเดินทางสู่…
      • หลวงพ่อ Nazario ไม่ได้ถูกล่ามโซ่ทั้งทางกาย-ใจ แต่กำลังออกเดินทางมุ่งสู่ …

ลักษณะการดำเนินเรื่องของหนังสามารถแบ่งออกเป็นตอนๆ ‘Episode’ สั้นบ้าง ยาวบ้าง มักจะเริ่มต้น-สิ้นสุดเหตุการณ์ในตัวมันเอง ร้อยเรียงเข้าด้วยกันเหมือนลูกปัดหลากสี โดยมีเรื่องราวหลักเปรียบได้กับเส้นเชือก คล้องประสานลูกปัดเข้าด้วยกันจนกลายเป็นสร้อยคอ/ข้อมือ

หนังถือว่าไม่มีบทเพลงประกอบ แต่เต็มไปด้วย ‘Sound Effect’ ที่จะมีความโดดเด่นดังกว่าปกติ อาทิ เสียงหัวเราะ, เสียงระฆัง (หนวกหูมากๆที่หมู่บ้านโรคระบาด), เคาะเหล็ก, หวูดรถไฟ และโดยเฉพาะเสียงสรรพสัตว์มากมายเต็มไปหมด ซี่งก็ซ่อนเร้นนัยยะเชิงนามธรรมบางอย่างไว้ ลองไปตั้งใจฟังดูนะครับ (มักได้ยินบ่อยครั้งช่วงนำเข้า-สิ้นสุด เรื่องราวนั้นๆ)


เรื่องราวของบาทหลวง Nazarín ต้องการนำเสนอความเชื่อศรัทธาที่แท้จริง หาใช่จากภาพลักษณ์ เปลือกภายนอก คำพูด/การแสดงออกที่ใครๆรับรู้เห็น แต่คือความบริสุทธิ์จากภายใน ต่อให้โสเภณี หรือหญิงสาวพยายามเกี้ยวพาราสี ถ้าจิตใจไม่ฝักใฝ่ในกามคุณ นั่นเรียกว่าบัณฑิต บุคคลผู้มีความดีงานอย่างแท้จริง

มองผิวเผินภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการยกย่องเชิดชูตัวบุคคล ‘นักบุญ Nazarín’ ผู้มีความเชื่อศรัทธา บริสุทธิ์ภายในอย่างแท้จริงต่อพระเป็นเจ้า แต่ขณะเดียวกันหนังยังเสียดสีประชดประชันผู้คนทั่วไป ที่เอาแต่ตัดสินคนเพียงเปลือกภายนอก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคริสตจักร สนเพียงรักษาภาพลักษณ์องค์กร แล้วแอบซ่อนเร้นสิ่งโฉดชั่วร้ายไว้ภายใน

ในบรรดาเหตุการณ์ต่างๆหลวงพ่อ Nazarín ประสบพบเจอระหว่างจาริกแสวงบุญ มีสองเรื่องราวที่ถือว่าทรงพลังอย่างยิ่ง, เด็กหญิงมีอาการป่วยหนัก แต่บรรดาชาวบ้านกลับไม่เชื่อถือแพทย์สมัยใหม่ เรียกร้องขอให้ Nazarín สำแดงปาฏิหารย์ อธิษฐานขอพร ช่วยเหลือเธอให้รอดพ้นจากความตาย ทั้งๆเจ้าตัวไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าการสวดให้พรจากพระเจ้า แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับทำเหมือนเจ้าเข้า นั่งลงคุกเข่า เอาแต่พูดพร่ำ(ฟังไม่ได้สดับ) พฤติกรรมของคนเหล่านี้ช่างหลงผิด เสียสติแตกโดยแท้! … เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนความเชื่อศรัทธาผิดๆ ยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อการมีชีวิต (ให้บุตรสาวฟื้นตื่นขึ้นจากอาการเจ็บป่วย)

อีกเรื่องคือหมู่บ้านโรคระบาด หญิงสาวป่วยหนักใกล้สิ้นลมหายใจ แต่เธอกลับปฏิเสธบาทหลวง ต้องการให้สามี ชายคนรักอยู่เคียงข้างกาย … แสดงถึงว่า ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับความช่วยเหลือ หรือมีความเชื่อศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า (ผมนึกถึงฉากสุนัขถูกผูกให้วิ่งตามเกวียนใน Viridiana (1961) ซึ่งสื่อว่า ไม่มีทางที่เราจะสามารถให้ความช่วยเหลือทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้)

Luis Buñuel ถูกครอบครัวส่งร่ำเรียนเพื่อโตขึ้นจักได้กลายเป็นบาทหลวง แต่หลังจากพบเห็นบางสิ่งโฉดชั่วร้าย บังเกิดอคติต่อต้านคริสตจักรอย่างรุนแรง ถึงอย่างนั้นเจ้าตัวยังคงความเชื่อศรัทธาต่อพระเจ้าไม่เสื่อมคลาย พยายามเผยแพร่แนวคิด ทัศนคติ สร้างจิตสำนึกมโนธรรมให้ผู้ชมผ่านผลงานภาพยนตร์ แม้ถูกสังคมตีตราว่านอกรีต หัวขบถ กระทำสิ่งขัดต่อขนบวิถี มีความโฉดชั่วร้ายนานา แต่ในมุมมองของเจ้าตัว ทุกสิ่งอย่างที่ฉันตีแผ่ นำเสนอออกมาคือความจริง สมควรถูกเรียกว่านักบุญแบบ Nazarín เสียด้วยซ้ำ!

คงไม่ผิดอะไรจะเปรียบเทียบผู้กำกับ Buñuel กับตัวละคร Nazarín ต่างมีพื้นเพจาก Spain จับพลัดจับพลูเดินทางมาอยู่ Mexico จาริกแสวงบุญเพื่อนำภาพยนตร์ไปเผยแพร่แนวคิด ทัศนคติ ต้องการให้ผู้ชมรับรู้ข้อเท็จจริง สิ่งชั่วร้ายซุกซ่อนเร้นอยู่ใต้หน้ากากสังคม แม้ถูกผู้คนรวมไปคริสตจักรมิอาจยินยอมรับ เพียงกาลเวลาจักสามารถพิสูจน์คุณค่าผลงาน และมุมมองโลกทัศน์ที่จักเปลี่ยนแปลงวันข้างหน้า

สิ่งที่ Buñuel และนักบุญ Nazarín ประสบพบเจอระหว่างจาริกแสวงบุญ ยังสามารถมองเป็นการท้าพิสูจน์ตนเอง ว่าจักคงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระเจ้า และมวลมนุษยชาติได้มากน้อยเพียงใด! ซึ่งเรื่องราวของหนังทำการปู้ยี้ปู้ยำตัวละคร ถูกสังคมรุมทึ้งทั้งร่างกาย-วาจา-จิตใจ จนแทบไม่หลงเหลือสภาพสิ้นดี หมดสิ้นหวังอาลัย แต่ท้ายสุดเพียงแค่ได้รับทำทานเล็กๆ ดวงตาของพระเจ้านั้น(สัปปะรด)เปรียบดั่งประกายแสงแห่งความหวัง ส่องสว่างทำลายความมืดหมองมัวที่พยายามควบคุมครอบงำจิตใจ ให้ขาวนวลผ่องสะอาดสดใสขึ้นอีกครั้ง … และคงไม่มีวันแปดเปื้อนสิ่งสกปรกโสโครกอีกต่อไป

เกร็ด: Nazarín (1959) นอกจากเป็นหนังในช่วง ‘Mexican Period’ ที่ Buñuel ชื่นชอบมากสุด ยังคือหนี่งในหนังเรื่องโปรดของปรมาจารย์ผู้กำกับ Andrei Tarkovsky


Nazarín (1959) ได้รับเลือกเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes สามารถคว้ารางวัล International Prize (ปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่เราสามารถเทียบเคียงได้กับ Grand Prix (ที่สอง)) พ่ายให้กับ Black Orpheus (1959) กำกับโดย Marcel Camus

หนังได้รับการบูรณะโดย Cineteca Nacional and Fundación Televisa คุณภาพ 3K และออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes Classic เมื่อปี 2019 (Blu-Ray อาจจะหายากสักหน่อยเพราะมีวางขายเพียงบางประเทศเท่านั้น)

นอกจากพัฒนาการ ‘สไตล์ Buñuel’ ก้าวมาถีงจุดสูงสุดอย่างแท้จริง! รายละเอียดอื่นๆของหนังผมไม่ได้มีความชื่นชอบประทับใจสักเท่าไหร่ (ผิดกลับ Viridiana (1961) ที่โดยส่วนตัวค่อนข้างจะหลงใหลคลั่งไคล้) และพอเข้าใจว่าลุงแกต้องการเปรียบเทียบตนเองกับนักบุญ … ก็เอาที่สบายใจ

ในแง่ของหนังสอนศาสนา Nazarín (1959) มีความทรงคุณค่าถีงขนาดวาติกัน จัดให้ติด ’45 great films’ ในหมวด Religion แต่ใช่ว่าศาสนาอื่นรับชมไม่ได้นะครับ มุมมองชาวพุทธผมก็รู้สีกว่าเป็นหนังที่ดี สมควรค่าแก่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถ้าไม่ติดว่าผู้กำกับ Buñuel พยายามเทียบแทนตนเองเป็นนักบุญ มันเลยสร้างความตะขิดตะขวง โล้เล้ลังเล ไม่สบายใจเท่าไหร่ก็เลยไม่เอาดีกว่า

จัดเรต 15+ กับโสเภณี ถ้อยคำหยาบคาย ใช้กำลังความรุนแรง ถูกสังคมรุมประณาม

คำโปรย | Luis Buñuel ประกาศตนเองเป็นนักบุญ Nazarín ทุกสิ่งขึ้นกับความพึงพอใจของฉัน
คุณภาพ | สั
ส่วนตัว | เอาที่สบายใจ


nazarin

Nazarin (1959) Mexican : Luis Buñuel ♥♥

(13/10/2016) ชะตากรรมของบาทหลวง Padre Nazario (Nazarin) ไม่ต่างอะไรกับบาทหลวงใน Diary of a Country Priest (1951) ของ Robert Bresson มากนัก ด้วยความตั้งมั่นแน่วแน่ในศรัทธา ความเชื่อและพระเจ้า แต่กลับถูกความเข้าใจผิด ได้รับปฏิบัติเหมือนคนนอกรีต ตกนรกทั้งเป็น กระนั้นนี่เป็นหนังของ Luis Buñuel จะมีหรือความตั้งใจดีที่แฝงอยู่

ถือเป็นความบังเอิญ ที่ผมได้ดูหนัง 2 เรื่องติด แล้วมีใจความใกล้เคียงกันอย่างมาก เหตุที่ผมหยิบ Diary of a Country Priest (1951) และ Nazarin (1959) ไม่ถือว่าบังเอิญนะครับ เพราะนี่คือหนังเรื่องโปรดของผู้กำกับ Andrei Tarkovsky กับใจความที่คล้ายกัน ย่อมแสดงถึงรสนิยมของผู้กำกับดัง… ว่าไปก็มีอีกเรื่องที่ผมดูไปแล้ว คือ Winter Light (1963) ของผู้กำกับ Ingmar Bergman นี่ก็อีกเรื่องโปรดของ Tarkovsky เป็นแนว Catholic Film สอนศาสนา แฝงแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิต

ไว้ผมจะพูดถึงรสนิยมของ Andrei Tarkovsky ในบทความรวมหนังโปรดของเขานะครับ

Luis Buñuel หลังอพยพจากฝรั่งเศสไปอยู่ที่ Hollywood หลายปี ก็ไม่ได้มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไหร่ ปี 1946 จึงตัดสินใจอพยพไปอยู่ Mexico และเริ่มต้นตั้งตัวใหม่ที่นั่น กระนั้นในยุค Mexican Golden Age (ช่วงกลางยุค 40s) Buñuel ทำหนังไม่ประสบความสำเร็จเลย จะเรียกว่าช่วงตกอับของเขาก็ว่าได้ กว่าที่จะเริ่มกลับมามีชื่อเสียงระดับนานาชาติก็ช่วงต้นยุค 50s ที่หนังเรื่อง Los olvidados (1950) ทำให้เขาคว้ารางวัล Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Cannes ตัวแรกได้สำเร็จ จากนั้นชีวิตเขาก็รุ่งโรจน์ขึ้นเรื่อยๆ

Nazarin เป็นผลงานที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักเสียเท่าไหร่ของ Buñuel แต่ก็สามารถคว้ารางวัล International Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes (จะว่าคือที่ 3 ถัดจาก Palme d’Or และ Grand Prix ก็ได้ แต่ปัจจุบันรางวัลนี้ยกเลิกไปแล้ว) ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ Benito Pérez Galdós เป็นบทภาพยนตร์โดย Luis Buñuel และ Julio Alejandro

เรื่องราวของบาทหลวงคาทอลิก Padre Nazario (รับบทโดย Francisco Rabal) ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจนๆ ใช้ชีวิตแบบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตากรุณาปราณี โดยยึดหลังคำสอนของศาสนาเป็นที่พึ่ง แต่เพราะความดีเกินไปของเขา ทำให้หญิงสาวสองคนเอาเปรียบน้ำใจ ทำให้ชื่อเสียงมัวหมอง กลายเป็นที่ติฉินท์นินทาของสังคม จนถูกขับไล่ออกจากคริสตจักร แต่เขาก็ยังคงยึดมั่นในวิถีความเชื่อ ออกเดินทางจาริก แสวงบุญไปตามชนบทของ Mexico

หนังเรื่องนี้สามารถมองเรื่องราวได้ 2 แบบ ขึ้นอยู่กับผู้ชมว่าจะตีความอย่างไร
1) เป็นหนังแฝงคุณธรรมการใช้ชีวิตอย่างลึกซึ้ง โดยมีศาสนาเป็นที่พึ่ง ไม่ว่าจะทุกข์ยากลำบากยังไง ถ้าจิตใจตั้งมั่นในศรัทธา ความเชื่อ ก็สามารถก้าวข้ามผ่านไปได้ทุกอย่าง
2) เป็นหนังแนวเสียดสี ล้อเลียน นำเสนอความชั่วร้ายของมนุษยต่อคนที่ยึดมั่นในความดีเป็นที่สุด ไม่มีใครในสังคมยอมรับเข้าใจ ถูกทำร้ายทั้งกายและใจ เหมือนตกนรกทั้งเป็น

เพราะความที่ นี่เป็นหนังสไตล์ Buñuel ความตั้งใจของเขา ไม่มีหรอกข้อ 1) [แต่ถ้าคุณจะคิดไปอย่างนั้นก็ตามสบายนะครับ] เขาจงใจสร้างตัวละครที่ดีเลิศประเสริฐศรี นำมาปู้ยี้ปู้ยำให้เลวทรามตกต่ำยิ่งกว่าหมาข้างถนน ดูสิว่าสุดท้ายแล้วจะยังสามารถเป็นคนดีในสังคมที่โคตรบัดซบนี้อยู่ได้ไหม… หนังไม่เชิงให้คำตอบตอนจบนะครับ เปิดกว้างให้ผู้ชมไปคิดตัดสินใจเอาเอง

นำแสดงโดย Francisco Rabal (1926-2001) หรือ Paco Rabal นักแสดงสัญชาติสเปน ที่อพยพย้ายออกมาเมื่อตอนเกิด Spanish Civil War เริ่มต้นสายการแสดงจากการเป็นนักแสดงละครเวที เป็นตัวประกอบ แล้วมาเข้าตา Luis Buñuel ได้รับบทนำในหนังของเขาถึง 3 เรื่อง เริ่มจาก Nazarín (1959), Viridiana (1961), Belle de jour (1967) ที่ทำให้ชีวิตรุ่งโรจน์ มีชื่อเสียงระดับโลก และเคยได้รางวัล Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Cannes จากเรื่อง The Holy Innocents (1984)

กับหนังเรื่องนี้ Rabal รับบทบาทหลวง Nazarin ที่มีความแน่วแน่ในศรัทธา ความเชื่อต่อพระเจ้า มีความสุขุม ใจเย็น รอบรู้ แต่ก็มีครั้งหนึ่งที่แสดงอาการโกรธ โมโห ฉุนเฉียวออกมา แม้ใจจะไม่อยากให้อภัย แต่ปากเขาก็พูดออกมา

For the first time in my life, I find it hard to forgive. But I forgive you. It is my Christian duty. But I also scorn you! And I feel guilty, not knowing how to separate scorn from forgiveness.

ตัวละครนี้มองมุมหนึ่งคือ คนดีแท้ แต่พอคิดว่านี่เป็นหนังของ Buñuel ผมคิดว่าอาจไม่จำเป็นนะครับ มันมีฉากที่น่าจะตีความได้ว่า Threesome อยู่ ลองมองหาดูเองนะครับว่าฉากไหน (ใบ้ให้ว่าตอนซบไหล่) ถ้าเป็นเช่นนั้น หมอนี่เป็นพวก มือถือสากปากถือศิล

สำหรับสองนักแสดงสาวประกบ Nazarin ประกอบด้วย Marga López รับบท Beatriz และ Rita Macedo รับบท Andara คนแรก(น่าจะ)รับบทเป็นโสเภณี ส่วนคนหลังรับบทเป็นหญิงหม้าย (แต่งงานแล้วผัวทิ้ง) ทั้งสองครั้งหนึ่งเคยทำอะไรไม่ดีไว้กับบาทหลวง แต่เมื่อได้พบเจอกันอีก ก็อยากออกเดินทางติดตาม อยู่กับบาทหลวงคนนี้อย่างใกล้ชิด, คนทั่วไปเห็นเข้า คงรู้ได้ว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าจิตใจของพวกเธอจะบริสุทธิ์ แต่มันก็สร้างความเสื่อมเสียที่รุนแรง

กระนั้น หนังของ Buñuel ย่อมต้องไม่ใช่อะไรที่ดีเลิศประเสริฐศรี หญิงสาวทั้งสอง ตอนจบเฉลยออกมาเลยว่า แท้จริงจิตใจของพวกเธอหาได้บริสุทธิ์ใจแม้แต่น้อย หนึ่งเพื่อต้องการหลบหนีจากความผิดที่ตนก่อ (แบบไม่สำนึกด้วยนะ) สองเพราะเธอตกหลุมรักบาทหลวง ต้องการครอบครองเขา (แต่เอาศรัทธา ความเชื่อในพระเจ้าเป็นข้ออ้าง) นี่เป็นเหตุผลสนับสนุนว่า ฉาก Threesome ที่ผมเอ่ยไปด้วยนะครับ เพราะมันมีความเป็นไปได้อยู่นี้อยู่ จึงสามารถตีความฉากนั้นเป็นแบบนี้ได้

ถ่ายภาพโดย Gabriel Figueroa ชาว Mexican ถือว่าเป็นตากล้องยอดฝีมือ แต่กับหนังเรื่องนี้ไม่มีอะไรให้น่าพูดถึงเท่าไหร่, ครึ่งแรกถ่ายภายใน (indoor) ทั้งหมด และครึ่งหลังถ่ายภายนอก (outdoor) เสียส่วนใหญ่, ความยากจนคือพื้นฐานชีวิตของชาว Mexican ในยุค 50s ผู้คนเห็นแก่ตัว ทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด ไม่มีศาสนาเป็นที่พึ่งพิงทางใจ

ฉากหนึ่งในครึ่งหลัง ในหมู่บ้านที่ห่าลง (plague-ridden village) บาทหลวงพยายามช่วยหญิงสาวคนหนึ่ง เพื่อให้เธอจากโลกนี้โดยสงบ แต่เธอกลับไม่สนใจฟังคำพระ เอาแต่ครวญครางหาสามี, เห็นว่าฉากนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากบทสนทนา Dialogue Between a Priest and a Dying Man เขียนโดย Marquis de Sade ขณะถูกจองจำใน Château de Vincennes (ป้อมปราการหลวงของฝรั่งเศส) เมื่อปี 1782

ตัดต่อโดย Carlos Savage, หนังแบ่งออกเป็น 2 องก์ ครึ่งแรกดำเนินเรื่องโดยใช้ บ้านเช่า เป็นศูนย์กลางดำเนินเรื่อง นำเสนอเรื่องราวของผู้อยู่อาศัยทั้งหลาย อันประกอบด้วย บาทหลวง, โสเภณี, หญิงสาวชั้นล่าง (ที่เป็นหม้ายผัวทิ้ง) จบองก์นี้ด้วยไฟ คือการทำลายล้าง, ครึ่งหลังเป็นแนว Road Movie มีบาทหลวงเป็นจุดศูนย์กลาง ออกเดินจาริกแสวงบุญไปยังเมืองต่างๆ พบกับเหตุการณ์ เรื่องราวต่างๆมากมาย และจับพลัดจับผลูไปถึงหมู่บ้านของสองสาว (ที่เคยให้การช่วยเหลือกันเมื่อตอนองก์แรก) ทำให้ได้เดินทางต่อไปด้วยกัน จบที่สุดท้ายทั้งสามก็แยกจากกัน ไปทางใครทางมัน

เพลงประกอบโดย Rodolfo Halffter จริงๆถือว่าไม่มีนะครับ มีแค่ช่วง Opening Credit กับตอนจบอีกนิด, ผมค่อนข้างชอบเสียงรัวกลองตอนจบ ที่เหมือนเสียงหัวใจเต้นระทึกสั่นรัว กับการตัดสินใจสุดท้ายของบาทหลวง ว่าจะรับน้ำใจ ยังคงเชื่อมั่น หรือปฏิเสธและหมดศรัทธาในพระเจ้า

ใจความของหนังเรื่องนี้ ผมขอคัดลอกมาจาก Diary of a Country Priest (1951) เลยก็แล้วกัน, นำเสนอเรื่องราวของฮีโร่คนหนึ่ง ผู้มีความประสงค์ดี และตั้งใจทำแต่สิ่งดีๆ แต่คนรอบข้างกลับมองถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นชอบ พูดจาว่ากล่าวติฉินนินทา คนทั่วไปคงทนไม่ได้และพยายามแก้ตัว แต่คนที่ดีแท้ เขาไม่จำเป็นต้องแก้ต่างอะไร ความดีเป็นของจริง ไม่ต้องให้ใครมาพิสูจน์ หรือเราต้องโอ้อวด เปิดเผยให้ผู้อื่นเห็น, มีต่างนิดหน่อยตรง ไม่ใช่แค่กล่าวติฉิน แต่ทำร้ายทั้งกายใจ และจากที่ไม่พูดแก้ต่าง เป็นให้อภัยได้ทุกสิ่ง

Mexico เป็นสถานที่ที่เหมาะกับการดำเนินเรื่องของหนังเรื่องนี้มาก เพราะความป่าเถื่อน ล้าหลัง ไร้อารยธรรม (ในสมัยนั้น) ที่ผมคิดว่าหนังถ่ายทอดออกมุมมองของประเทศนี้ออกมาได้ตรงมากๆ ผู้คนเห็นแก่ตัว ทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด ไม่มีศาสนาเป็นที่พึ่งพิงทางใจ, คริสตจักรใน Mexico คงแทบไม่ต่างอะไรกับ Spain ที่ Buñuel เกิดและเติบโตขึ้นมา แต่ความเจริญยังถือว่าตามหลังอยู่มาก นี่แหละเป็นสถานที่ชั้นเลิศในการสร้างตัวละครเชิงศาสนา ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ลองมาอยู่ ณ ที่แห่งนี้ดูสิ จะได้เห็นว่ามันไร้ค่าแค่ไหน เพราะศาสนาเป็นสิ่งที่แสดงอารยธรรมของมนุษย์ เมื่อมาอยู่ในสถานที่ไร้อารยธรรม ผู้คนยอ่มไม่เห็นประโยชน์ ความสำคัญ มันจะมีศาสนาไปทำไมเมื่อฉันยังเอาตัวเองไม่รอดเลย

การผจญภัยสอนศาสนาของบาทหลวง อาจถือว่าเขาแทบไม่ได้พบอะไรที่เป็นสิ่งดีในจิตใจของมนุษย์เลย พบแต่ความชั่วร้าย เห็นแก่ตัว ซึ่งคนที่เหมือนจะสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนเองสู่ศาสนาได้ หญิงสาว 2 คน ที่ร่วมเดินแสวงบุญกับบาทหลวง สิ่งที่พวกเธอต้องการ หาใช่หนทางสู่ศรัทธา สรวงสวรรค์แต่อย่างไร มันมีความหลงใหล (ตกหลุมรัก) ลุ่มหลง ผลประโยชน์อื่น (หลบซ่อนตัว) ที่แอบแฝงอยู่ในตัวละครเหล่านั้น, ผมขอเปรียบเทียบ Mexico กับป่า แล้วมีมนุษย์คนหนึ่งพยายามเข้าไปสอนอารยธรรมให้สัตว์ป่าเป็นเหมือนมนุษย์ มีลิงป่ากับชะนีสองสายพันธุ์ที่ยอมรับฟัง แต่ไม่ใช่เพราะพวกมันอยากมีอารยธรรม แต่เพราะมนุษย์สอนให้รู้จักวิธีกินกล้วยจนอิ่มท้องพึงพอใจ จึงยอมรับฟังคำพร่ำสอน แต่ให้ตายเถอะ ใครๆก็รู้ได้ว่าลิงป่ากับชะนีไม่มีวันจะมีอารยธรรมเหมือนมนุษย์ได้ เพราะสัตว์ป่าก็คือสัตว์ป่า พร่ำสอนไปก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เบื่อเมื่อไหร่หรือมีอะไรน่าสนใจกว่าก็จะจากมนุษย์คนนี้ไป … อธิบายแบบนี้ จินตนาการตามได้หรือเปล่าเอ่ย!

กับฉากจบ ว่าไปนั่นคือครั้งแรกของบาทหลวงในหนัง ที่ปกติเอาแต่จะพูดขอคนอื่น (เหมือนขอทาน) แต่วินาทีนั้นมีคนเสนอให้ด้วยใจโดยไม่ต้องขอ นี่ทำให้เขาเข้าใจคำว่า Charity ในที่สุด, จะเป็นผู้ให้ได้ ต้องเคยเป็นผู้รับ เช่นกันกับจะเป็นผู้รับได้ ต้องเคยเป็นผู้ให้ ถึงจะเข้าใจความหมายของ Charity อย่างถ่องแท้

ถ้าหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นโดย Robert Bresson หรือ Ingmar Bergman ผมการันตีได้ว่า อาจได้รับการยกย่องเทียบเคียงกับ The Passion of Joan of Arc (1927) หรือ Diary of a Country Priest (1951) เป็นหนึ่งในหนัง Catholic ยอดยี่ยมที่สุดในโลก, แต่เมื่อหนังสร้างโดย Luis Buñuel ใครกันจะบังอาจกล้าอ้างคำพูดประโยคนี้ เพราะรู้ทั้งรู้ในใจ หมอนี่ไม่เชื่อใน ความดี ความถูกต้อง ว่าไปเขาไม่เชื่อในอะไรเลยนอกจากตัวเอง ทำหนังโดยใช้สันชาติญาณ อะไรที่เลวร้าย ชั่วร้าย คิดขึ้นได้ในจิตใจมนุษย์ มันไม่มีอะไรที่ควรจะปกปิดความชั่วร้ายเหล่านั้นไว้ ทุกอย่างต้องนำเสนอถ่ายทอดออกมา, ถ้า Bresson และ Bergman เปรียบได้กับ พระเจ้าของคนทำหนังศาสนา Buñuel จะคือซาตานผู้บ่อนทำลายคุณธรรมจริยธรรมให้สิ้นซาก

ส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ เป็นหนัง Buñuel ที่คุณภาพปานกลาง มีความโดดเด่นแค่ความสองแง่สองง่ามของหนัง ที่กับคนไม่เคยดูหนังของ Buñuel หรือไม่รู้จักเขามาก่อน ได้ดูแล้วอาจได้เกิดความเข้าใจผิดต่อใจความสำคัญเป็นแน่ นี่อาจเป็นสิ่งที่หลายคนรู้สึกทึ่งว่า ทำออกมาได้ยังไง แต่ผมกลับรู้สึกผิดหวัง เพราะหนังของ Buñuel มันต้องเลวกว่านี้ ไม่ใช่กึ่งดีกึ่งเลว

แนะนำกับผู้ชื่นชอบหนังแนวศาสนา (มองในแง่ดีของหนังไปเลยก็ได้นะครับ อย่าไปมองว่ามัน blasphemous อย่างเดียว), คนชอบแนวเสียดสี ประชดประชัน การผจญภัยแสวงบุญ และแฟนหนัง Luis Buñuel ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับประเด็นความรุนแรง ล่อแหลมมากมายในหนัง

TAGLINE | “Nazarin เป็นหนังสองแง่สองง่ามของ Luis Buñuel ที่มาตรฐานระดับกลาง ไม่มีอะไรน่าจดจำ”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | WASTE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Top 10 Andrei Tarkovsky Favorite Films | RAREMEAT BLOG Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] ← Nazarin (1959) […]

%d bloggers like this: