
Alice (1988)
: Jan Švankmajer ♥♥♥♥
Alice (in Wonderland) ฉบับผสมผสานระหว่าง Live-Action & Stop-Motion Animation สร้างบรรยากาศ Dark Fantasy ได้อย่างเหนือจริง (Surrealist) เติมเต็มจินตนาการของ Lewis Carroll น่าจะสมบูรณ์แบบที่สุดแล้วละ!
ถ้าคุณเบื่อหน่ายอนิเมชั่นโลกสวยฟากฝั่ง Hollywood หรืออนิเมะสายเซอร์วิสของญี่ปุ่น ผมแนะนำให้ลองหา Stop-Motion Animation ของประเทศ Czechoslovaka มาเปิดหูเปิดตาสักหน่อยนะครับ แล้วคุณอาจค้นพบโลกใบใหม่ที่น่าตกตะลึง อึ้งทึ่ง อ้าปากค้าง ให้เริ่มต้นจาก Alice (1988) ติดอันดับ 12 ชาร์ท TIMEOUT: The 100 Best Animated Movies
ทีแรกผมตั้งใจจะเปลี่ยนไปเขียนถึงภาพยนตร์แนว Courtroom Drama ที่กำลังเข้าฉาย แต่บังเอิญไปพบเจออนิเมชั่นเรื่องนี้ใน Youtube พร้อมซับอังกฤษ ได้รับการบูรณะ คุณภาพใสกิ๊ก ลองเปิดผ่านๆเกิดความสนอกสนใจ ลบทิ้งภาพจำ Alice in Wonderland โดยเฉพาะฉบับของ Tim Burton ทุนสูงเสียเปล่า กลับเข้าไม่ถึงจิตวิญญาณผู้ประพันธ์ Lewis Carroll
มุมมองของผกก. Jan Švankmajer แสดงความเห็นว่า Carroll เขียนเทพนิยาย Alice in Wonderland เพื่อให้ผู้อ่านที่เป็นเยาวชนเกิดความตระหนัก สามารถแยกแยะระหว่างชีวิตจริง-จินตนาการเพ้อฝัน ไม่ใช่อย่างที่ผู้สร้างภาพยนตร์ส่วนใหญ่ทำการปลดปล่อยจิตวิญญาณให้ล่องลอยด้วยความลุ่มหลงใหลอยู่ในโลกแฟนตาซีใบนั้น
So far all adaptations of Alice present it as a fairy tale, but Carroll wrote it as a dream. And between a dream and a fairy tale there is a fundamental difference. While a fairy tale has got an educational aspect – it works with the moral of the lifted forefinger (good overcomes evil), dream, as an expression of our unconscious, uncompromisingly pursues the realisation of our most secret wishes without considering rational and moral inhibitions, because it is driven by the principle of pleasure. My Alice is a realised dream.
Jan Švankmaje
โดยปกติแล้ว Stop-Motion Animation มักสร้างโมเดลจำลองขนาดเล็กๆ ถ่ายทำในสตูดิโอที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ทั้งหมด แต่ไม่ใช่กับ Alice (1988) เพราะทำการผสมผสานระหว่างนักแสดงเด็กหญิงรับบทเป็น Alice ยุคสมัยนั้นยังไม่มี CGI ใช้เพียงเทคนิคภาพยนตร์บางอย่าง ทุกรายละเอียดจึงต้องสร้างขึ้นขนาดเท่าของจริง (แต่ตัวละครใน Wonderland ก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่โตอะไรอยู่แล้ว) ผลลัพท์จึงดูน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก … ผมยกให้ Alice (1988) คือภาพยนตร์ Stop-Motion Animation ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยรับชมมา!
Jan Švankmajer (เกิดปี 1934) ผู้กำกับ Stop-Motion Animation สัญชาติ Czech เกิดที่กรุง Prague ตั้งแต่เด็กตั้งแต่ได้รับของคริสต์มาส มีความสนใจในหุ่นเชิดชัก (Puppet Theatre)
For an introverted child it was an amazing gift. I could use puppets to play out all life’s injustices, correcting them, taking revenge. Puppets have accompanied me throughout my life. It may be that everything I do is just a puppet play.
Jan Švankmajer
โตขึ้นเข้าศึกษายัง College of Applied Arts ตามด้วยสาขาหุ่นเชิด (Puppetry) ณ Prague Academy of Performing Arts สนิทสนมเพื่อนร่วมรุ่น Juraj Herz, จบออกมาทำงานโรงละคร Semafor Theatre แล้วก่อตั้งคณะการแสดงหุ่นเชิด Theatre of Masks, กำกับอนิเมชั่นขนาดสั้นเรื่องแรก The Last Trick (1964), ต่อมาได้รับอิทธิพลจาก Vratislav Effenberger เข้าร่วมกลุ่ม Czechoslovak Surrealist Group สรรค์สร้างหนังสั้นคนแสดงแนว Surrealist ครั้งแรก The Garden (1968)
ผกก. Švankmajer มีชื่อเสียงจากการใช้เทคนิค Stop-Motion ผสมผสานเข้ากับการแสดง Live-Action ทำออกมาให้ดูเหนือจริง (Surreal) น่าขนลุก (Nightmarish) ขณะเดียวกันก็มักแฝงความตลกขบขัน นิยมสร้างเสียงแปลกๆ ใช้เทคนิค Fast-Motion, Whip Pan, นำเอาสารพัดสิ่งข้าวของ มาทำให้ราวกับดูมีชีวิต
ในเครดิตของผกก. Švankmajer มีผลงานหนังสั้น 30+ กว่าเรื่อง ผมเลือกดูเฉพาะที่มีคะแนนสูงๆจากเว็บ IMDB อาทิ Jabberwocky (1971), Dimensions of Dialogue (1983), Down to the Cellar (1983), The Pendulum, the Pit and Hope (1983), Darkness/Light/Darkness (1989), Food (1992)
อยากแนะนำมากๆให้ลองรับชม Dimensions of Dialogue (1983) น่าจะเป็นผลงานชิ้นเอก ยอดเยี่ยมที่สุดของผกก. Švankmajer พยายามผสมผสานหลากหลายสรรพสิ่ง ทำให้เกิดโครงสร้าง รูปร่าง สามารถพูดคุยสื่อสาร แต่ทุกครั้งล้วนนำไปสู่ความขัดแย้ง แก่งแย่ง กลืนกินกันและกัน จนท้ายสุดไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง! นี่ไม่ใช่แค่การวิพากย์วิจารณ์ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ แต่มันคือวิถีของทุกสรรพสิ่ง (ทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต) … สามารถคว้ารางวัล Golden Berlin Bear (Short Film) จากเทศกาลหนังเมือง Berlin
ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ผกก. Švankmajer มีความหลงใหลในเทพนิยาย/วรรณกรรมสำหรับเด็ก (Children’s Novel) ของนักเขียนชาวอังกฤษ Lewis Carroll (1832-98) โดยเฉพาะผลงาน Alice’s Adventures in Wonderland (1865) ถึงขนาดให้คำยกย่องสรรเสริญ
Personally I think that Lewis Carroll’s Alice is one of the most important and amazing books produced by this civilisation.
Jan Švankmajer
แม้ว่า Alice’s Adventures in Wonderland (1865) ได้รับการดัดแปลงสื่อภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้ง แต่ล้วนไม่เคยตรงปก ตามวิสัยทัศน์ของผกก. Švankmajer แต่กว่าที่เขาจะตัดสินใจสร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้ ใช้เวลาสะสมประสบการณ์นานหลายทศวรรษ จนกระทั่งหลังเสร็จสร้าง Jabberwocky (1971) และ Down to the Cellar (1983) ถึงรับรู้ตัวว่าพร้อมแล้วจะกำกับ ‘Feature Length’
Alice belongs to my mental morphology. Before I made up my mind to do a feature-length film I was circling around the subject. I made Jabberwocky and Down to the Cellar and only then dared to shoot the whole of Alice.
ผมแนะนำให้รับชมหนังสั้นทั้งสองเรื่องนี้ด้วยนะครับ จะได้มีความเข้าใจอะไรหลายๆอย่างเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสำหรับผกก. Švankmajer ถือเป็นการฝึกฝน เตรียมความพร้อม อารัมบท (Prologue) ของ Alice (1988) เลยก็ว่าได้!
เกร็ด: Jabberwocky (1871) คือบทกวีไร้สาระ (nonsense poem) ของ Lewis Carroll เกี่ยวกับการไล่ล่าเข่นฆ่าสิ่งมีชีวิตชื่อว่า The Jabberwock ปรากฎอยู่ในนวนิยาย Through the Looking-Glass (1871) ภาคต่อของ Alice’s Adventures in Wonderland (1865)
Down to the Cellar (1983) นำเสนอเรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่ง ได้รับมอบหมายจากมารดาให้เดินลงไปห้องใต้ดินอพาร์ทเม้นท์ เพื่อนำเอามันฝรั่งมาทำอาหาร แต่ระหว่างทางลงบันไดนั้น เธอต้องเผชิญหน้าสิ่งน่าสะพรึงกลัวมากมาย … จริงๆมันไม่มีอะไรน่าหวาดกลัว แต่ในมุมมองเด็กเล็กที่ยังไม่รับรู้เดียงสา หลายๆสิ่งอย่างต้องใช้ความหาญกล้าอย่างมากๆ
ปล. ระหว่างที่ผมรับชม Down to the Cellar (1983) แอบครุ่นคิดว่าเด็กหญิงคนนี้ไม่ต่างจาก Alice (in Wonderland) เลยสักนิด!
เด็กหญิง Alice (รับบทโดย Kristýna Kohoutová) นั่งอยู่ริมชายน้ำกับพี่สาว เขวี้ยงขว้างหินลงคลอง กำลังง่วงหงาวหาวนอน พอกลับถึงห้องก็นอนหลับสนิท แล้วจู่ๆตื่นขึ้นเพราะได้ยินเสียงแก้วแตก แอบพบเห็นกระดาษสีขาวลุกขึ้นมาแต่งตัว ก้าวออกเดินหายเข้าไปในลิ้นชัก นี่มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรกันขึ้น??
ด้วยความอยากรู้อยากเห็นของเด็กสาว จึงออกติดตามเจ้ากระต่ายขาว โดยไม่รู้ตัวสามารถมุดเข้าไปลิ้นชักได้เช่นกัน แล้วมาโผล่ยังห้องแห่งหนึ่งมีประตูบานเล็ก-ใหญ่ ไม่สามารถเปิดออก แล้วจู่ๆเห็นขวดน้ำหมึก ยกซดดื่มแล้วร่างกายเกิดการย่อส่วน … เล่าเรื่องแค่นี้พอแล้วกัน จากนี้คือการผจญภัยของเด็กหญิง Alice ในดินแดนสุดมหัศจรรย์
ในส่วนของงานสร้าง อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า Stop-Motion Animation ส่วนใหญ่นิยมถ่ายทำภายในสตูดิโอที่มีสภาพแวดล้อมปิด ด้วยโมเดลจำลองขนาดเล็ก (Miniature) เพื่อสามารถควบคุมรายละเอียดทุกสิ่งอย่าง เพราะการจะขยับเคลื่อนไหว กว่าจะถ่ายภาพได้แต่ละช็อตจนครบวินาทีก็อาจใช้ระยะเวลานานเป็นวันๆ (หรือมากกว่านั้น) มันมีความยุ่งยาก ละเอียดอ่อนอย่างมากๆ
สำหรับ Alice (1988) ยังพยายามทำการผสมผสานระหว่างนักแสดง Live-Action และอนิเมชั่นเคลื่อนไหวด้วยเทคนิค Stop-Motion มันจึงไม่สามารถใช้โมเดลจำลองขนาดเล็ก (Miniature) ทุกสิ่งอย่างต้องสร้างขึ้นโดยใช้สัดส่วนของเด็กสาว เพราะบ่อยครั้งที่เธอต้องเข้าไปอยู่ในฉากนั้นๆ แล้วโต้ตอบกลับสิ่งมี-ไม่มีชีวิตทั้งหลาย … แต่ถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่ามีแค่ไม่ช็อตที่เด็กหญิงอยู่ร่วมเฟรมเดียวกับโมเดลที่มีการขยับเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่ใช้ลูกเล่นภาพยนตร์ ‘Action-Reaction Shot’ บันทึกภาพสีหน้า สายตาอยากรู้อยากเห็น (เต็มไปด้วยภาพ Close-Up ใบหน้า) แอบถ้ำมองแล้วลอกเลียนแบบตาม
หนึ่งในลูกเล่นภาพยนตร์ที่เห็นบ่อยครั้ง เมื่อตัวละคร (ที่เป็นโมเดลเคลื่อนไหว) ต้องการพูดคุยสนทนา จะมีการแทรกภาพริมฝีปากเด็กสาว ขยับพร้อมส่งเสียง ทำราวกับว่าเธอกำลังอธิบายสิ่งที่ตนเองครุ่นคิดว่าอีกฝ่ายพยายามจะสื่อสารอะไรออกมา … วิธีการดังกล่าวทำให้ผู้ชมเกิดความตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า สิ่งขยับเคลื่อนไหวส่งเสียงพูดออกมานั้น มันก็แค่ลูกเล่นอนิเมชั่น หาได้มีตัวตนหรือจิตวิญญาณ เพียงจินตนาการเพ้อฝันของเด็กสาวเท่านั้น!
เอาจริงๆผมรู้สึกว่า Stop-Motion Animation มีประมาณ 50-60% อีกสัก 30% คือนักแสดงเด็กสาว (Live-Action) และส่วนเหลือประกอบด้วยการเชิดหุ่น สร้างกลไก ปล่อยธารน้ำไหล ลมพัดปลิดปลิว ฯ ซึ่งลูกเล่นเหล่านี้ช่วยลดระยะเวลาการทำอนิเมชั่นได้มาก เพิ่มความสมจริงให้กับหนังได้ด้วย … นี่อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ประเภท ‘pure Stop-Motion’ แต่เอาจริงๆมันก็ไม่มีอนิเมชั่นเรื่องไหนที่ใช้เพียงเทคนิค ‘Stop-Motion’ เท่านั้นหรอกนะครับ
ในส่วนของการดำเนินเรื่อง มันอาจไม่ได้มีทิศทาง เป้าหมาย เพียงการผจญภัยของ Alice ร้องเรียงเหตุการณ์ต่างๆที่ประสบพบเจอ แล้วเกิดความอยากรู้อยากลอง (เห็นใครทำอะไรก็ลอกเลียนแบบตามโดยทันที) ทุกสิ่งอย่างพบเห็นในความเพ้อฝัน ล้วนคือสิ่งข้าวของเล่นที่ซุกซ่อนอยู่ในอารัมบท (และจะพบเห็นอีกครั้งเมื่อฟื้นตื่น ปัจฉิมบท)
เราสามารถแบ่งเรื่องราวการผจญภัยของ Alice ออกเป็นตอนๆ (Episode) ประกอบด้วย
- อารัมบท, เด็กหญิง Alice นั่งเล่นอยู่ริมน้ำกับพี่สาว รู้สึกเหน็ดเหนื่อย กลับเข้าไปในบ้านนอนหลับฝัน
- ความเร่งรีบของกระต่ายขาว มุดเข้าไปในลิ้นชัก Alice เลยออกติดตามสู่ดินแดนมหัศจรรย์
- ลงลิฟท์มาถึงห้องปิด ประตูสองบาน ดื่มน้ำหมึกย่อส่วน รับประทานคุกกี้หวนกลับร่างเดิม ร่ำไห้น้ำตานองเต็มห้อง
- Alice ในร่างจิ๋ว ถูกกระต่ายขาวเข้าใจผิด สั่งให้ไปเอากรรไกรในปราสาท แต่พอมาถึงเธอพลั้งพลาดรับประทานคุกกี้ ร่างกายหวนกลับเป็นเด็ก งอนตุ๊บป่องกักขังตนเองอยู่ในห้อง
- หลังจากสามารถย่อส่วน ต้องหาหนทางหลบหนีบรรดาโครงกระดูก ลูกน้องของกระต่ายขาวที่ไม่พึงพอใจเหตุการณ์บังเกิดขึ้น สุดท้ายถูกกักขังอยู่ในห้องเก็บของ
- พอสามารถหากุญแจไขทางออก ไปพบเจอกับหนอนถุงเท้า เจาะรูเต็มพื้นห้อง
- Alice ติดตามเสียงเด็กร้องไห้มาจนถึงบ้านหลังหนึ่ง ก่อนค้นพบว่าแท้จริงคือ
- ต่อมาเข้าร่วมงานเลี้ยงน้ำชาของ Mad Hatter
- เดินทางมาถึงปราสาท The King และ Queen of Heart พบเห็นเหตุการณ์วุ่นๆวายๆ ขึ้นศาลในคดีความอะไรก็ไม่รู้
- ปัจฉิมบท, เด็กหญิง Alice ตื่นกลับสู่โลกความจริง ทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นก็แค่จินตนาการเพ้อฝัน
เชื่อว่าหลายคนอาจรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะอนิเมชั่นเรื่องนี้ไม่ได้มีทิศทาง เป้าหมายดำเนินไป (นั่นเพราะคุณยึดติดกับรูปแบบ สูตรสำเร็จ Hollywood มากเกินไป!) ทำไมเราไม่ลองเพลิดเพลินกับลูกเล่น/อนิเมชั่นในแต่ละซีเควนซ์ มันช่างมีความน่าตื่นตา ประทับใจ ครุ่นคิดได้ยังไง พบเห็นทั้งประสบการณ์และอัจฉริยภาพของผกก. Švankmajer
นอกจาก Opening/Closing Credit ที่ใช้เพียงการบรรเลงเปียโนกล่อมเด็กเข้านอน หนังไม่มีบทเพลงประกอบใดๆ นั่นเพราะผกก. Švankmajer เชี่ยวชาญในการใช้ ‘Sound Effect’ ขับเน้นสรรพเสียงต่างๆให้มีความสมจริง ฟังดูเป็นธรรมชาติ เพื่อสามารถขยับขยายโสตประสาทในการรับรู้เรื่องราวว/เหตุการณ์บังเกิดขึ้น … ในส่วนของ ‘Sound Mixing’ ต้องชมเลยว่าใส่ใจรายละเอียดมากๆ เต็มไปด้วยเสียงเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนมีส่วนร่วมกับทุกๆการเคลื่อนไหว ต้องได้ยินอะไรสักสิ่งอย่างดังขึ้นมา
Alice (1988) นำเสนอการผจญภัยของเด็กหญิง Alice ระหว่างนอนหลับฝัน ครุ่นคิดจินตนาการถึงสิ่งต่างๆรอบข้าง สมมติว่าถ้าพวกมันสามารถขยับเคลื่อนไหว กระทำสิ่งต่างๆตามใจ คงทำให้ชีวิตสนุกสนาน สุขสำราญ คลายความน่าเบื่อหน่ายในแต่ละวัน
ผมเคยอ่านเจอภาวะผิดปกติของระบบประสาท Alice in Wonderland Syndrome (AIWS) ที่ส่งผลกระทบให้มองเห็น (Visual Perception) ภาพปรากฏเบื้องหน้าดูผิดเพี้ยน บิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง ขยายขนาดใหญ่ขึ้น หรือหดเล็กลง แบบเดียวกับที่ Alice สามารถย่อ-หดเข้าสู่ดินแดนมหัศจรรย์ … จริงๆยังมีพบเห็นระยะทางจากไกลเป็นใกล้ ใกล้เป็นไกล และไม่สามารถรับล่วงรู้เวลา (แบบเดียวกับกระต่ายขาวพร่ำบ่นสายแล้วอยู่ตลอดเวลา)
เกร็ด: Alice in Wonderland Syndrome (AIWS) มีชื่อเรียกทางการว่า Dysmetropsia และ Todd’s Syndrome ตั้งตามชื่อของ John Todd (1914–87) นักจิตวิทยาผู้ค้นพบอาการโรคนี้เมื่อปี ค.ศ. 1955
นักจิตวิทยา John Todd เป็นคนแรกที่ตั้งสมมติฐานว่า Lewis Carroll เขียนวรรณกรรม/เทพนิยายเรื่องนี้จากประสบการณ์ตรง มองเห็นภาพหลอนที่ทำให้ขนาดวัตถุบิดเบือนไปจากความจริง (ตอนเขียนหนังสือเล่มนี้ เคยบรรยายไว้ว่ามักมีอาการปวดหัว ไมเกรนบ่อยครั้ง) แต่จะจริงหรือไม่นั้นคงไม่ใครให้คำตอบได้ในปัจจุบัน
ไม่ว่าผู้แต่ง Carroll จะมีภาวะผิดปกติของระบบประสาทหรือไม่ Alice (in Wonderland) ไม่ได้ต้องการให้ผู้อ่านเคลิบเคลิ้มหลงใหลไปกับดินแดนมหัศจรรย์เพียงอย่างเดียวแน่นอน ในแต่ละเรื่องราวผจญภัย ล้วนแฝงสาระข้อคิดบางอย่างซุกซ่อนเร้นไว้
- ดื่มน้ำหมึกย่อส่วน รับประทานคุกกี้หวนกลับร่างเดิม ทำให้สามารถเข้าประตูเล็ก-ใหญ่ สามารถสื่อถึงการกระทำที่เพียงพอดี เหมาะสมกับ(ขนาด)ตนเอง ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
- ทุกครั้งเวลาดึงลิ้นชัก Alice มักใช้ความรุนแรงจนที่จับหลุดออกมา นี่เช่นกันสื่อถึงความไม่รู้จักเพียงพอดี ทำให้ต้องหาหนทางแก้ปัญหาด้วยวิธีการอื่นทุกครั้งไป
- เพราะไม่สามารถแก้ปัญหา ครั้งหนึ่งร่ำร้องไห้ออกมาจนน้ำท่วมห้องอย่างเว่อวังอลังการ นั่นคือการกระทำที่ไม่เป็นประโยชน์เสียเลย แทนที่จะเอาเวลาไปขบครุ่นคิด ใช้สติปัญญาหาทางออก กลับมันแต่ระบายอารมณ์ จนเจ้าหนูพายเรือออกมา ปีนป่ายขึ้นศีรษะ (ครุ่นคิดว่าเป็นเกาะ) แล้วตั้งเตา จุดไฟ ปรุงอาหาร วินาทีนั้นเด็กหญิงถึงค่อยตระหนักได้ว่าเป็นการกระทำที่มากเกินไป!
- แซว: เหตุการณ์เกิดขึ้นนี้ชวนให้ผมนึกถึงสำนวนไทย “น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง” หมายถึงการพูดมาก แต่กลับไม่ค่อยได้เนื้อหาสาระอะไร
- นาฬิกาของเจ้ากระต่ายขาว แม้ดูเหมือนว่ามันจะไม่เดิน แต่มักพร่ำบ่นว่าสายแล้วทุกครั้งไป ถึงอย่างนั้นก็ไม่เคยเห็นเร่งรีบทำอะไร นี่สามารถสื่อถึงความสำคัญ-ไม่สำคัญของเวลา ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าจะตระหนักได้อย่างไร
- คำสอนของหนอนถุงเท้า “Keep your temper” แต่ผมมองเหตุการณ์ดังกล่าว น่าจะสอนให้เด็กๆรู้จักสวมใส่ถุงเท้า ไม่ปล่อยให้มันกลายเป็นหนอนชอนไชเสียมากกว่า
- จริงๆคำสอนของหนอนถุงเท้า มันจะไปสอดคล้องกับเรื่องราวถัดไปเกี่ยวกับเจ้าชายกบเจ้าอารมณ์ ชอบเขวี้ยงขว้างโน่นนี่นั่นออกจากบ้าน (รวมถึงไม่สามารถอดรนทนต่อแมลงวัน ต้องกระโดดแลบลิ้นจับกิน) นั่นไม่ใช่พฤติกรรมที่เหมาะสมสักเท่าไหร่
- งานเลี้ยงน้ำชาของ Mad Hatter พบเห็นทำในสิ่งซ้ำๆ รินน้ำชา พูดอะไรสักอย่างออกมา แล้วขยับย้ายเก้าอี้ เวียนวนรอบโต๊ะอยู่หลายครั้ง จนสร้างความเบื่อหน่ายให้กับ Alice นี่สอนเรื่องการย้ำคิดย้ำทำ อย่าหมกมุ่นในบางสิ่งอย่างมากเกินไป ต้องรู้จักปลดปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติเสียบ้าง
- The King และ Queen of Hearts ต่างเป็นคนเจ้าอารมณ์ ใครทำอะไรขัดใจก็สั่งตัดหัว โดยไม่สนฟังคำแก้ต่างแต่อย่างไร
สรุปแล้วความฝัน(ส่วนใหญ่)ของ Alice เหมือนพยายามจะเสี้ยมสอนสาระข้อคิด “Keep your temper” นั่นน่าจะมีเป้าหมายถึงเด็กหญิง เพราะเป็นเด็กเลยยังไม่สามารถควบคุมตนเอง อารมณ์ร้อน เอาแต่ใจ ไม่เคยครุ่นคิดถึงหัวอกผู้ใด หลังจากนี้เธอคงเริ่มเกิดความตระหนัก รู้จักใช้สติปัญญาครุ่นคิดแก้ปัญหา และนำเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น
ผมอยากให้ลองสังเกตเวลารับชมภาพยนตร์ดัดแปลงเทพนิยาย Alice’s Adventures in Wonderland มีเรื่องอื่นไหน ชักชวนให้ผู้ชมขบครุ่นคิดเล็กคิดน้อยเหล่านี้?? ฉบับของ Tim Burton ที่ล่องลอยอยู่ในโลกแฟนตาซี จึงดูไร้สาระจะคุย แค่เพียงนิทานหลอกเด็ก(และผู้ใหญ่) แทบไม่ได้มีข้อคิดอะไรแฝงอยู่
Stop-Motion Animation ไม่ใช่แค่เทคนิคภาพยนตร์ แต่ถือเป็นสื่อศิลปะประเภทหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถทำให้สรรพสิ่งไม่มีชีวิตสามารถขยับเคลื่อนไหว ราวกับเหมือนมีจิตวิญญาณซ่อนเร้นอยู่ภายใน แม้อาจดูไม่ค่อยลื่นไหล ผิดธรรมชาติ สัมผัสถึงการปรุงแต่ง รังสรรค์สร้างขึ้น แต่นั่นก็ทำให้เราสังเกตเห็นรายละเอียดเล็กๆที่เวลารับชมภาพยนตร์ปกติ มักไม่ค่อยอยู่ในความสนใจ
เคยสังเกตไหมว่าเวลาระหว่างรับชม Stop-Motion Animation ทุกสิ่งอย่างที่มีการขยับเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะขนาดเล็ก-ใหญ่ มันช่างดึงดูดสายตา ความสนใจ ชักชวนให้ขบครุ่นคิดว่ามันเกิดอะไร? ทำไมผู้สร้างถึงต้องเสียเวลาทำให้มันขยับเคลื่อนไหว? เพื่ออะไร? เพราะเหตุใด? ซึ่งเรายังสามารถต่อยอดความครุ่นคิดจากจุดนั้นไปได้อีกไกล (ผิดกับพวกภาพยนตร์สามมิติ Visual Effect สมจริง เว่อวังอลังการ มักเข้าตาซ้าย ทะลุตาขวา ไม่ผ่านการประมวลผลในสมองประการใด)
ผลงานของผกก. Švankmajer แม้เหมือนไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ใดๆ กับสถานการณ์การเมืองใน Czechoslovaka แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสบรรยากาศของหนัง สะท้อนเข้ากับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่(ในประเทศ Czechoslovaka) ถ้าไม่ได้เติบโตในสังคมเผด็จการลักษณะนี้ จะสรรค์สร้างผลงานที่มีความมืดหม่น Dark Fantasy ได้อย่างไรกัน
เหตุการณ์ตอน The King และ Queen of Hearts ก็แอบสะท้อนความเผด็จการของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้เช่นกัน ใครทำอะไรไม่ได้ดั่งใจก็สั่งประหาร ตัดศีรษะ แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายหลักของผกก. Švankmajer แค่ความบังเอิญอยู่ในต้นฉบับเทพนิยาย Alice’s Adventures in Wonderland สอดคล้องเข้ากับสถานการณ์การเมืองในชีวิตจริง
An absurd court hearing with Alice (‘off with her head,’ shouted the Queen) obviously recalls the political trials of the 50s. Of course Alice, compared with the accused from that time, doesn’t respect the official script. It was just a minor analogy, I didn’t shoot the film because of that. But each imaginative work has got within itself, from its very essence, a subversive charge, because it knocks down the notion of lived-through reality as the only one possible.
Jan Švankmajer
เกร็ด: ชื่อหนัง Něco z Alenky ภาษา Czech แปลว่า Something from Alice ให้ความรู้สึกเหมือนเด็กหญิง Alice ได้ครอบครองเป็นเจ้าของสมบัติบางสิ่งอย่าง แต่มันคืออะไรกันละ?
เมื่อตอนที่ Alice (1988) สร้างเสร็จสิ้น สถานการณ์การเมืองใน Czechoslovaka กำลังอยู่ในภาวะตึงเครียด สหภาพโซเวียตใกล้ล่มสลาย นำไปสู่ความแตกแยก Velvet Revolution (1989) ออกมาเป็น Czech Republic และ Slovakia จึงไม่มีโรงภาพยนตร์ไหนพร้อมฉายอนิเมชั่นเรื่องนี้
โปรดิวเซอร์เลยส่งไปฉายรอบปฐมทัศน์ยังสหรัฐอเมริกา ต่อมาเข้าร่วมเทศกาล Annecy International Animated Film Festival เสียงตอบรับดีล้นหลาม สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ Feature Film Award, ส่วนในประเทศ Czech Republic เข้าฉายวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1990 ไม่มีรายงานทุนสร้างและรายรับ
ปัจจุบันอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้รับการบูรณะคุณภาพ HD โดย British Film Institute เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2011 ผ่านการตรวจอนุมัติโดยโปรดิวเซอร์ Jaromír Kallista สามารถหาซื้อแผ่น DVD/Blu-Ray ของค่าย BFI Video และ First Run Features (แนะนำของ BFI เพราะมีของแถมเยอะกว่า)
ส่วนตัวชื่นชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้อย่างมากๆ Stop-Motion Animation ทำให้ทุกสิ่งอย่างดูจับต้องได้มากกว่า CGI บรรยากาศตึงๆ หัวใจสั่นไหว เป็นห่วงเป็นใยเด็กสาว Alice และหลายๆลูกเล่นของผกก. Švankmajer แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ อัจฉริยภาพ ครั้งแรกที่ผมรู้สึกเพลิดเพลินกับการรับชม Alice (in Wonderland)
ใครชื่นชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้ แนะนำให้ลองหาผลงานหนังสั้นเรื่องอื่นๆของผกก. Švankmajer ส่วนใหญ่สามารถหารับชมได้ทาง Youtube และเท่าที่ผมลองค้นหาข้อมูล พบว่ายังมี Czech Animation อีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ รอติดตามดูนะครับ
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศ Dark Fantasy ที่มีความน่าสะพรึงกลัว
Leave a Reply