Network (1976) : Sidney Lumet ♥♥♥♥
ในวงการโทรทัศน์ ‘เรตติ้งเท่านั้นสำคัญที่สุด’ ต่อให้นำคนบ้าเสียสติแตกมาออกอากาศ ถ้ามีผู้ชมมากมายมหาศาล อย่างอื่นไร้คุณค่าความหมาย, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
โทรทัศน์ เป็นสื่อที่พัฒนาต่อยอดจากภาพยนตร์ เริ่มต้นได้รับความนิยมอย่างสูงในอเมริกาช่วงทศวรรษ 50s เรียกว่ายุคทอง ‘Golden Age of Television’ เพราะได้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญ แก่งแย่งผู้ชมที่ขี้เกียจเสียเวลาว่างวันหยุดออกเดินทางไปยังโรงหนัง ก็นั่งจุ้มปุ๊กอยู่ที่บ้าน บริโภคข่าวสารความบันเทิงเริงรมย์ได้ไม่ต่างกัน
Network ถือเป็นความพยายามแรกๆของ Hollywood ในการตอบโต้วงการโทรทัศน์
“So, you listen to me. Listen to me: Television is not the truth! Television is a God-damned amusement park! …”
แซว: ภาพยนตร์ก็ไม่ต่างกันนะ!
ก็แน่นอนว่า ไม่มีใครในวงการโทรทัศน์สมัยนั้น(หรือแม้แต่สมัยปัจจุบัน)ยินยอมรับเรื่องราวของหนังนี้ แต่เพราะคุณภาพอันยอดเยี่ยมระดับสมบูรณ์แบบ นักวิจารณ์ต่างหลงใหลคลั่งไคล้ในแทบทุกสิ่งอย่าง ปลายปีกวาดรางวัลมากมาย และทั้งๆที่เป็นเรื่องราวในทศวรรษ 70s แต่เสมือนคำทำนาย พยากรณ์ ข้อเท็จจริงที่จนถึงปัจจุบันก็ยังคงถูกต้องเช่นนั้นเสมอ ทำให้หนังมีความคลาสสิก ‘เหนือกาลเวลา’
ผมเป็นคนที่ไม่ติดโทรทัศน์ (ติดแต่หนังกับอนิเมะ) เพราะไม่ชอบทัศนะคติของการทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเรียกเรตติ้งสูงๆ ทั้งยังพยายามครอบงำความคิดของผู้ชม แต่ก็ยอมรับในอิทธิพลของสื่อช่องทางนี้ มีความทรงพลัง และเข้าถึงได้โดยง่ายที่สุดเลยละ
แต่วงการโทรทัศน์กำลังจะตายถ้าไม่มีการปรับตัว เพราะการมาถึงของโลกยุคอินเตอร์เน็ตไร้พรมแดน คนที่ยังติดทีวีอยู่ในปัจจุบันล้วนเป็นคนรุ่นเก่า Baby Boomer, Gen X และ Gen Y บางส่วน แต่ขณะที่ Gen Z แทบทั้งนั้นพกโทรศัพท์มือถือ บริโภคข่าวสารผ่าน Line, Facebook, Youtube เทรนด์ดังๆในโทรทัศน์หาพบได้ในอินเตอร์เน็ตแทบทั้งหมดแล้ว, ส่วนตัวค่อนข้างเชื่อว่าอีกสักประมาณ 2-3 ทศวรรษถัดไป เมื่อ Gen Alpha, Beta ถือกำเนิดขึ้นมา มันคงมีสถานีโทรทัศน์หลงเหลือเอาตัวรอดได้แค่เพียงหลักหน่วยแน่ๆ และนั่นอาจคือจุดจบของสื่อชนิดนี้ (ถ้ายังดื้อดึงไม่มีการปรับตัว)
กระนั้นโลกยุคใหม่นี้ การวัดยอดความสำเร็จไม่ได้มีความแตกต่างอะไรมากกับระบบเรตติ้ง แค่เปลี่ยนมาเป็น ยอดไลค์ ยอดวิว ทราฟฟิกเข้าเว็บ ฯ ก็ยังคงเป็นตัวเลขกลมๆนำไปประเมินราคาได้ แค่ว่าการสร้างรายได้ไม่จำกัดอยู่ที่องค์กรบริษัท แต่เป็นที่ตัวบุคคลเอง (หันไปพึงพิงพา Google, Facebook แทน)
นี่เป็นการสะท้อนแนวคิด คำอธิบาย พยากรณ์โลกไร้พรมแดนของบระเจ้า Arthur Jensen
“We no longer live in a world of nations and ideologies.
Sidney Aaron ‘Paddy’ Chayefsky (1923 – 1981) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน เจ้าของสถิติ Oscar: Best Screenplay มากที่สุด 3 ครั้ง จากเรื่อง Marty (1955), The Hospital (1971), Network (1976), ขณะที่ในวงการโทรทัศน์ ก็เป็นนักเขียนชื่อดังประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่ง ได้รับการยกย่องเป็น ‘Figure’ ต่อแนว ‘Kitchen Sink Realism’
เกร็ด: Kitchen Sink Realism เสมือน Sub-Genre ของ Social Realism ที่มักประกอบด้วยตัวละครชายหนุ่มผู้มีความเกรี้ยวกราด (Angry Yong Man) อาศัยอยู่ในสังคมคนทำงาน (Working Class) ทำงานอย่างหนัก อาศัยอยู่ในบ้านโทรมๆ พอถึงวันศุกร์ก็ออกสำมะเลเทเมา พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้
Cheyefsky พัฒนาบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ในทศวรรษที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความตึงเครียดของ Watergate Scandal, สงครามเวียดนาม, สงครามเย็น ฯ แต่บรรดารายการโทรทัศน์ทั้งหลายกลับมีสีหน้าระเริงรื่น ราวกับเรื่องราวพรรค์นั้นไม่เคยปรากฎมีตัวตน เขาจึงได้ข้อสรุปของตนเอง
“[American’s] don’t want jolly, happy family type shows like Eye Witness News. The American people are angry and want angry shows.”
ด้วยความตั้งใจพัฒนาเป็น Comedy แต่ยิ่งเขียนยิ่งหงุดหงิดใจ
“It became a dark satire about an unstable news anchor and a broadcasting company and a viewing public all too happy to follow him over the brink of sanity.”
ประกอบกับมีเหตุการณ์หนึ่ง นักข่าวสาว Christine Chubbuck จากช่อง WXLT-TV ท้องถิ่นของ Sarasota, Florida เพราะเรตติ้งรายการ Suncoast Digest ของตนเองกำลังตกต่ำจึงถูกสั่งยกเลิก เธอเข้าสู่สภาวะซึมเศร้าหดหู่ (Depression) วันที่ 15 กรกฎาคม 1974 จึงตัดสินใจยิงตัวตายขณะกำลังออกอากาศอยู่
หลังพัฒนาบทเสร็จนำไปเร่เสนอขายให้กับหลายๆสตูดิโอ Columbia Pictures, United Artist ตอนแรกตกลงกันเกือบได้แล้ว แต่เกิดความขัดแย้งเรื่องตัวผู้กำกับเพราะ Cheyefsky ต้องการ Lumet จึงลงเอยที่ UA ร่วมลงขันแบ่งภาระความเสี่ยงกับ MGM จ่ายค่าลิขสิทธิ์ดัดแปลงมูลค่า $300,000 เหรียญ
Sidney Arthur Lumet (1924 – 2011) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania ในครอบครัวชาว Jews พ่อแม่เป็นนักแสดง-ผู้กำกับในโรงละคร Yiddish Theatre ทำให้เขาตามรอยเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 5 ขวบ สมัครทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประจำการอยู่พม่าและอินเดีย ปลดประจำการกลายเป็นผู้กำกับ Off-Broadway ครูสอนการแสดง กำกับซีรีย์โทรทัศน์หลายเรื่องจนโด่งดัง ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ปฏิวัติวงการโดยนำแนวทางโปรดักชั่นโทรทัศน์มาใช้ถ่ายทำเรื่อง 12 Angry Men (1957), เข้าชิง Oscar: Best Director ถึง 4 ครั้งแต่ไม่เคยได้ จากเรื่อง 12 Angry Men (1957), Dog Day Afternoon (1975), Network (1976), The Verdict (1982) ทำให้ Academy ต้องมอบ Honorary Award เมื่อปี 2005
ความที่เติบโตจากการเป็นนักแสดง และโด่งดังจากยุค Golden Age of Television ทำให้สไตล์ของ Lumet โดดเด่นเรื่องการกำกับนักแสดง (Actor’s Director) มี’พลัง’ในการทำงานเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยใช้เวลาทิ้งขว้างไร้ค่า ทุกสิ่งอย่างต้องมีการเตรียมพร้อม ซักซ้อมการแสดงล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทำให้พอถึงเวลาถ่ายจริงทุกคนจะรู้หน้าที่ของตนเองชัดเจน
สำหรับ Network ฟังดูเหมือนเป็นงานถนัดของ Lumet เพราะเป็นผู้กำกับมาจากฝั่งโทรทัศน์ แต่เพราะ UA มองว่าเขาไม่เคยทำหนังแนว Comedy Satire หรือ Counter-Culture เลยไม่น่าออกมาดี ซึ่งพี่แกก็เหมือนจะรู้ตัวเองดีด้วย เลยขอให้ Cheyefsky ที่ทุ่มเทกับโปรเจคนี้อย่างมาก มากองถ่ายทุกวันจนเสมือน Co-Director กำกับแทนหลายครั้ง และแสดงความคิดเห็นต่อทุกฉาก นี่ทำให้แม้ไดเรคชั่นของหนังเป็นลายเซ็นต์ของ Lumet แต่คนได้รับเครดิตมากสุดกลับก็คือ Cheyefsky
เกร็ด: ในบรรดาภาพยนตร์กำกับเองของ Lumet ชื่นชอบ Network เรื่องนี้ที่สุดแล้ว
Howard Beale (รับบทโดย Peter Finch) ผู้ประกาศข่าวของ Union Broadcasting System (UBS) รายการ Evening News ได้รับแจ้งข่าวจากเพื่อนสนิท/หัวหน้าแผนกข่าว Max Schumacher (รับบทโดย William Holden) ว่ากำลังจะถูกปลดออกเพราะเรตติ้งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ด้วยความคับข้องแค้นใจวันถัดมาจึงพูดประกาศจะฆ่าตัวตายในสัปดาห์หน้าระหว่างออกอากาศ ทำให้ถูกปลดออกจากผังโดยทันที แต่ Beale ก็พูดจาโน้มน้าว Schumacher ขอโอกาสอีกสักครั้งแบบพูดดีๆ กระนั้นกลับตลบหลังด้วยการพูดความรู้สึกภายในจิตใจออกมาแทน
ทั้งๆที่สมควรหมดสิ้นหวังอนาคต แต่เพราะเรตติ้งรายการ Evening News ค่ำคืนนั้นดันพุ่งทะยานสูงขึ้นมากๆ ทำให้ Diana Christensen (รับบทโดย Faye Dunaway) ท้าทายกับหัวหน้า Frank Hackett (รับบทโดย Robert Duvall) ขอนำ Beale กลับมาออกอากาศโดยไม่สนครรลองครองธรรม แล้วขับไล่ออก Schumacher ให้พ้นทาง
William Holden ชื่อเดิม William Franklin Beedle, Jr. (1918 – 1981) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ O’Fallon, Illinois ในครอบครัวฐานะร่ำรวย ขณะเข้าเรียน Pasadena Junior College ให้เสียงพากย์ละครวิทยุ คงไปเข้าตาแมวมองจับเซ็นสัญญากับ Paramount บทนำเรื่องแรก Golden Boy (1939) ประกบ Barbara Stanwyck ซึ่งเธอมีความชื่นชอบ Holden เป็นอย่างมาก (คงในฐานะพี่น้อง) จึงช่วยเหลือผลักดันจนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง, หลังกลับจากสงครามโลกครั้งที่สอง กลายเป็นตำนานกับ Sunset Boulevard (1950), Stalag 17 (1953) ** คว้า Oscar: Best Actor, Sabrina (1954), The Bridge on the River Kwai (1957) แต่หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ กำลังที่จะจืดจางหายไปจนกระทั่ง Comeback กับ The Wild Bunch (1969), The Towering Inferno (1974), Network (1976) ฯ
รับบท Max Schumacher หัวหน้าแผนกข่าว แต่ถูกหักหลังจากเพื่อนฝูงและเจ้านาย จึงตัดสินใจย้อนแย้งแว้งกัด ก็คิดว่าคงโดนไล่ออกแต่กลับได้ทำงานต่ออีกสักพัก ภายหลังพยายามทำตัวดีๆว่านอนสอนง่ายกลับถูกบีบบังคับให้ออกเสียอย่างงั้น (เพราะไม่ยอมนำ Beale กลับสู่การออกอากาศ)
Schumacher ตกหลุมรัก Diana Christensen ตัดสินใจทิ้งภรรยาที่อยู่กินร่วมกันยาวนานกว่า 25 ปีไปอาศัยกับกิ๊กใหม่ ไม่ใช่เพราะความรักใคร่ต้องการ หรือ Sex สุดบรรเจิด แต่ในความโรคจิตคลั่งไคล้ต่อหน้าที่การงาน เธอทำให้เขารู้สึกเหมือนกลับมามีพลัง ชีวิตชีวา ราวกับยังได้ทำงานอยู่ในสถานีโทรทัศน์
“I’m not sure she’s capable of any real feelings. She’s television generation. She learned life from Bugs Bunny.”
Chayefsky เล็งบทนี้ไว้กับ Glenn Ford ไม่ก็ William Holden สุดท้ายเลือกรายหลังเพราะความสำเร็จล่าสุดกับ The Towering Inferno (1974) น่าจะสามารถเรียกเรตติ้งได้มากกับหนังเรื่องนี้
คงนับตั้งแต่ The Wild Bunch (1969) ที่ Holden หวนกลับมา ‘Comeback’ ติดภาพลักษณ์ตัวละครโคตรเคร่งขรึม เก็บกด ซีเรียสจริงจัง นอกจากฉากเมาและเล่าเรื่องตลก ก็ไม่เคยเห็นขณะไหนมีรอยยิ้มแย้ม ปกติทำหน้านิ่วคิ้วขมวดตลอดเวลา พยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาภาพลักษณ์ของตนเอง แม้ข้างในจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งก็ตาม
Holden ไม่ค่อยอยากเล่น Love Scene กับ Dunaway เสียเท่าไหร่ เพราะเขาเติบโตมาในทัศนคติของยุคสมัย Hays Code ที่เรื่องพรรค์นี้มักไม่ถูกนำเสนอตรงๆ กระนั้นเจ้าตัวยินยอมแสดงฉากนี้ด้วยแนวคิดที่ว่า มันไม่ใช่ความโป๊เปลือย ‘pornographic’ แต่เพื่อกระชับเรื่องราว นำเสนอข้อบกพร่องจุดอ่อนของตัวละคร
“I believe lovemaking is a private thing, and I don’t enjoy depictions of it on the screen. If nobody had been in bed on the screen before, I might have hesitated.
Dorothy Faye Dunaway (เกิดปี 1941) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Bascom, Florida ในครอบครัวเชื้อสาย Scots-Irish ทำให้ช่วงวัยเด็กเดินทางไปๆกลับๆอเมริกากับยุโรป, มีความชื่นชอบร้องเล่นเต้น เปียโน จบสาขาการแสดงละครเวททีที่ Boston University เริ่มจากเป็นนักแสดง Broadway ภาพยนตร์เรื่องแรก The Happening (1967) ตามด้วย The Chase (1966), กลายเป็นตำนานกับ Bonnie and Clyde (1967), โด่งดังกับ Little Big Man (1970), Chinatown (1974), The Towering Inferno (1974) ฯ คว้า Oscar: Best Actress เรื่อง Network (1976)
รับบท Diana Christensen หญิงสาวร่านงาน ทุกสิ่งอย่างในหัวของเธอมีเป้าหมายเดียว คือเพื่อเรตติ้งรายการโทรทัศน์ ไม่เว้นแม้แต่ขณะร่วมรักมี Sex ถึงจุดสุดยอดขณะกำลังพูดถึงรายการโชว์ของตนเอง ‘Mao Tse Tung Hour’ [นำเอาเรื่องราวผู้ก่อการร้ายมาออกอากาศจริงๆ] นั่นทำให้บรรดาชายๆ ไม่ว่าจะวัยไหน ต่างหลงใหลคลั่งไคล้ในช่วงแรกๆของการคบหา แต่ก็ค่อยๆหมดเรี่ยวแรงจากไปเพราะไม่สามารถโน้มน้าวให้เธอรู้จักคำว่า ‘ความรัก’ อย่างแท้จริง
เอาจริงๆสิ่งที่กระตุ้นจุดไคลน์แม็กซ์ของ Christensen คือความตื่นเต้นที่ได้ทำอะไรแปลกใหม่ พิศดารไม่เหมือนใคร ผมมองเธอเป็นพวกซาดิสม์ ชื่นชอบความรุนแรงสมจริง มันสามารถกระตุ้นอารมณ์ สันชาติญาณภายใน ให้รู้สึกเหมือน ‘มีชีวิต’ สิ่งอื่นๆที่เร้าใจไม่เท่า สักพักเดี๋ยวก็หลงลืมทอดทิ้งทำลายไปอย่างไร้เยื่อใยดี
Chayefsky กับ Lumet เลือก Dunaway เพราะลีลาท่าทาง สายตาของเธอใน Bonnie and Clyde พร้อมกับบอกความต้องการว่า ตัวละครต้องเลือดเย็น (Cold-Blooded) ไร้จิตวิญญาณ (Soulless) ไม่มีเศษเสี้ยวของจิตสำนึกดีคิดถึงผู้อื่นแม้แต่น้อย
“Where’s her vulnerability? Don’t ask it. She has none. If you try to sneak it in, I’ll get rid of it in the editing room, so it’ll be a wasted effort.”
แม้จะเป็นบทมีความเสี่ยงต่อการ Typecast แต่เธอก็ยินดีรับเล่น พร้อมกับใส่ความดัดจริตลงไป ทุ่มสุดตัวกายใจ เคลื่อนไหวแบบหุ่นกระบอก มือไม้ศีรษะกวัดแกว่งไปมาสะเปะสะปะ คำพูดเหมือนปั๊มลมสูบฉีดไม่มีหมด ก็ไม่รู้เอาเวลาที่ไหนหายใจ
Dunaway ชื่นชม ยกย่องความมืออาชีพในการทำงานของผู้กำกับ Lumet มากๆ
“In the rehearsals, two weeks before shooting he blocks his scenes with his cameraman. Not a minute is wasted while he’s shooting and that shows not only on the studio’s budget but on the impetus of performance.”
Frederick George Peter Ingle Finch (1916 – 1977) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ South Kensington, London, สมัยเด็กอาศัยอยู่ในวัดพุทธ ชอบอยู่เงียบๆสงบๆคนเดียว โตขึ้นย้ายไปอยู่กับลุงที่ Australia เรียนจบทำงานเป็นนักจัดรายการงินยุ ภาพยนตร์เรื่องแรก Dad and Dave Come to Town (1938) ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัครเป็นทหาร Australian Army เดินทางไป Middle East ได้เป็นผู้จัดรายการวิทยุ แสดงภาพยนตร์ Propaganda กลับจากสงครามกลายเป็นนักแสดงละครเวที ได้รับการชักชวนจาก Laurence Olivier และ Vivien Leigh กลับสู่อังกฤษ จนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงกับ A Town Like Alice (1956), The Nun’s Story (1959), The Trials of Oscar Wilde (1960), No Love for Johnnie (1961), Sunday Bloody Sunday (1971) ฯ และคว้า Oscar: Best Actor ย้อนหลังกับ Network (1976)
รับบท Howard Beale ชายหนุ่มผู้เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดรุนแรง จากการหงุดหงิดคับข้องใจที่ถูกขับไล่ออกจากรายการของตนเอง ความคิดนี้เกิดขึ้นขณะกำลังมึนเมา มันคงเจ๋งไปเลยถ้าฉันฆ่าตัวตายขณะออกอากาศ แม้มันจะเป็นอะไรที่บ้าคลั่งเสียสติแตก แต่กลับมีผู้คนยินยอมรับ ให้ความสนใจ เรียกเรตติ้งได้มากมายมหาศาล
“I’m as mad as hell and I’m not gonna take this anymore!”
- ประโยคนี้ติดอันดับ 19 ของชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes
- ติดอันดับ 79 ชาร์ท The 100 Greatest Movie Lines ของนิตยสาร Premiere เมื่อปี 2007
ความบ้าคลั่งของ Beale ทำให้ Diana Christensen ฉวยโอกาสจัดตั้งรายการ The Howard Beale Show ขึ้นคำโปรยว่า ‘the mad prophet of the airwaves’. เป็นการเกาะกระแส เรียกเรตติ้งได้มากมายมหาศาล, แต่แล้ววันหนึ่งที่ Beale เทศน์เกี่ยวกับ Communications Corporation of America (CCA) กำลังถูกควบกิจการโดยบริษัทค้าน้ำมันจากประเทศ Saudi Arabian ทำให้ถูกเรียกตัวโดยประธานเจ้าของบริษัทในเครือ Arthur Jensen (รับบทโดย Ned Beatty) ขายแนวคิดโลกยุคใหม่ต่อ Beale ได้สำเร็จ นับจากนั้นเรตติ้งรายการก็ค่อยๆตกลงไปเรื่อยๆจนใกล้ถึงจุดตกต่ำสุด
Henry Fonda มองว่าตัวละครนี้ ‘too hysterical’ จึงบอกปัด เช่นกันกับ Glenn Ford, George C. Scott, Gene Hackman, James Stewart, Paul Newman, Cary Grant, เห็นว่า William Holden ก็เคยได้รับการติดต่อบทนี้ แต่ตัดสินใจรับเล่นอีกบท, ขณะที่ Peter Finch ชื่นชอบตัวละครนี้ จ่ายค่าตั๋วเครื่องบินเอง ตรงมาเพื่อมาทดสอบหน้ากล้อง แต่ผู้กำกับไม่มั่นใจสำเนียงเหน่อๆติด Australian เขาเลยบันทึกเสียงสำเนียง New York อเมริกันแท้ๆส่งมาให้ เลยได้รับบททันที
การแสดงของ Finch ติดภาพลักษณ์ ‘Angry Young Men’ ชายผู้มีความโกรธเกรี้ยวกราดต่อทุกสิ่งอย่างรอบตัว มันไม่ใช่ความเหวี่ยงที่เขาแสดงออกมา แต่บทพูดที่ยาวเป็นหน้าๆ ถ่ายทำแบบ Long-Take ให้ตายเถอะ ไม่มีดั้นสดเลยนะ แล้วไดเรคชั่นของ Lumet มักไม่ค่อยเกิน 2-3 เทค เพราะมีการซักซ้อมเตรียมการมาก่อนแล้วอย่างดี นี่แสดงถึงความมืออาชีพ เจ๋งจริงของนักแสดง!
น่าเสียดายที่ Finch ไม่ทันอยู่รับรางวัลความสำเร็จของตนเอง ด่วนเสียชีวิตไปก่อนหน้าประกาศผลรางวัล Oscar ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว (Heart Attack) เป็นภรรยาหม้ายของเขาขึ้นรับรางวัลแทน กลายเป็นนักแสดงคนแรกที่คว้ารางวัลการแสดงภายหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว (คนที่สองคือ Heath Ledger)
เกร็ด: ตัวละคร ‘Angry Young Men’ แม้จะมีการเอ่ยถึงในวรรณกรรมมาสักพัก แต่เริ่มต้นได้รับความนิยมจากบทละครสัญชาติอังกฤษเรื่อง Look Back in Anger (1956) เขียนโดย Johm Osborne ที่สะท้อนความเกรี้ยวกราดของคนชนชั้นทำงาน (Working Class) เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบตาย แต่ชีวิตก็ยังหนีไม่พ้นจากสลัมรูหนู, ขณะที่ภาพยนตร์จุดกระแส ‘Kitchen Sink Realism’ เกิดขึ้นกับกลุ่ม British New Wave เริ่มนับตั้งแต่ Look Back in Anger (1959), Room at the Top (1959), Saturday Night and Sunday Morning (1960), A Taste of Honey (1961), A Place to Go (1963), Alfie (1966), Kes (1969) ฯ แต่มีเรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจคุ้นเคยกว่า The 400 Blows (1959) ของผู้กำกับ François Truffaut เปิดประเดิม French New Wave เช่นกัน
Robert Selden Duvall (เกิดปี 1931) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Diego, California เรียนจบจาก Principia College สาขา Bachelor of Arts สาขาการแสดง แล้วสมัครเป็นทหารบก เข้าร่วมรบ Korean War กลับมาเรียนการแสดงต่อที่ Neighborhood Playhouse School of the Theatre รุ่นเดียวกับ Dustin Hoffman, Gene Hackman, James Caan เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วยละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก To Kill a Mockingbird (1962) โด่งดังกับ MASH( (1970), THX 1138 (1971), The Godfather Trilogy, The Conversation (1974), Network (1976), Apocalypse Now (1979), คว้า Oscar: Best Actor เรื่อง Tender Mercies (1983)
รับบท Frank Hackett จากตำแหน่งแค่ผู้ประสาน เข้ามาครอบงำทุกสิ่งอย่างของสตูดิโอ เชื่อมั่นในเรตติ้งเฉกเช่นเดียวกับ Diana Christensen ไม่สนเรื่องจรรยาบรรณาความถูกต้องใดๆ และเป็นผู้เอ่ยแผนฆาตกรรมในฉากช่วงท้าย เมื่อไม่อาจกำจัดรายการออกจากผังได้ ก็เลยต้อง…
Duvall รับบทชายผู้มีความบ้าคลั่งเสียสติที่ยังดูเหมือนคนปกติทั่วไป คงด้วยมาดนิ่งอันมีเสน่ห์สะท้อนความลุ่มลึก โหดโฉดชั่วร้ายของตัวละครที่แอบซ่อนอยู่ภายใน ไม่ได้มีท่าทีอะไรมาก่อน อยู่ดีๆอยากไล่ใครออกก็ชี้นิ้วสั่งเลยแบบไม่มีตั้งตัว ซึ่งพอตัวละครตกอยู่ในสภาวะคับขัน เชื่อว่าหลายคนคงยินดีสมน้ำหน้า
มีสองนักแสดงสมทบที่ถือเป็นโคตรไฮไลท์ของหนัง โผล่มาไม่นานแต่แย่งซีนความโดดเด่นไปเต็มๆ
Ned Beatty (เกิดปี 1937) นักแสดงสมทบสัญชาติอเมริกัน คุ้นๆหน้ากับ Nashville (1975), All the President’s Men (1976), ลูกน้องของ Lex Luthor เรื่อง Superman (1978), Hear My Song (1991) ฯ รับบท Arthur Jensen ประธานเจ้าของบริษัทในเครือ CCA ที่ตอนแรกพูดกับ Frank Hackett สั้นๆแค่ “Very good, Frank. Exemplary. Keep it up.” แต่เมื่อถึงคิวของ Howard Beale กลายเป็นเซลล์แมน ขายอุดมการณ์โลกใหม่ จัดเต็มทั้งคำพูด ลีลา ภาษามือ ตบท้ายด้วยคำพูดสุดแสนน่ารัก
“Because you’re on television, dummy.”
Beatrice Straight (1914 – 2001) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน โด่งดังกับละครเวที Broadway เกือบที่จะได้ Triple Crown of Acting แต่พลาด Emmy Award ไป, รับบท Louise Schumacher ภรรยาของ Max ออกน่าจะสองฉากเช่นกัน ครั้งแรกตื่นขึ้นมาบอกว่า Howard Beale หายตัวไปจากที่นอน อีกครั้งคือตอนที่สามีบอกเธอว่ามีกิ๊ก นั่นทำให้เธอดิ้นพร่าน ร้อนรน มันเกิดบ้าอะไรขึ้นกับชีวิตฉันเนี่ย … แค่ 5 นาที 2 วินาที คว้า Oscar: Best Supporting Actress กลายเป็นสถิติปรากฎตัวระยะเวลาสั้นสุดแล้วได้รับรางวัลนี้
ถ่ายภาพโดย Owen Roizman ตากล้องสัญชาติอเมริกัน เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ถึง 5 ครั้ง แต่ยังไม่เคยได้รางวัล The French Connection (1971), The Exorcist (1973), Network (1976), Tootsie (1982), Wyatt Earp (1994) เพิ่มได้รับมอบ Honorary Award เมื่อปี 2017
ไดเรคชั่นของ Lumet ในหนังเรื่องนี้ คือโคตรของ Long-Take ไม่ใช่ตั้งกล้องแช่ทิ้งไว้เฉยๆ แต่นักแสดงโชว์ของจัดเต็ม เรียกว่ามีอะไรใส่มาหมดไม่ยั้ง กล้องจะมีการเคลื่อนไหวติดตามอยู่ตลอดเวลา (ให้อยู่กึ่งกลางเฟรม) เห็นแล้วเหนื่อยแทน โชคดีที่ครั้งหนึ่งก็ไม่กี่เทค เพราะมีการซักซ้อมเตรียมพร้อมกันมาอย่างดีก่อนหน้าถ่ายทำ
Lumet ให้ข้อสังเกตว่า ตอนต้นเรื่องพยายามถ่ายทำโดยใช้แสงให้น้อยที่สุด แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้น การเคลื่อนกล้องก็เช่นกัน จากอยู่นิ่งๆในช่วงแรกๆ ออกลีลามากขึ้นในช่วงหลังๆ จนกระทั่งท้ายที่สุดจะมีความสว่างจ้าแบบกลมกลืนแนบเนียน ‘slick’ สาเหตุที่ทำแบบนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดของการถูก ‘ครอบงำโดยสื่อ’
จุดเด่นอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพ คือการเลือกใช้มุมกล้อง หลายครั้งการตัดต่อสลับไปมามักหวนนำกลับเสนอภาพในทิศทางคล้ายเดิม แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าไม่มีการใช้ภาพเก่าซ้ำสักครั้งเดียว เปลี่ยนตำแหน่งมุมกล้องให้แตกต่างจากเดิมเล็กน้อยทุกครั้ง
อย่างสองช็อตนี้ช่วงท้าย มาจากการตัดต่อคนละครั้งกัน สังเกตดีๆจะพบว่ามีมุมกล้องแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย
ฉากที่เป็นไฮไลท์โดดเด่นที่สุดในหนัง คงหนีไม่พ้น Arthur Jensen ขณะกำลังเสี้ยมสั่งสอน ชี้แนะนำวิถีของโลกยุคใหม่ให้กับ Howard Beale กล้องถ่ายมุมมองนั่งอยู่ของ Beale ในห้องมืดที่มิดสนิท แสงไฟบนโต๊ะเรียงรายราวกับบนท้องถนน และที่ยืนอยู่ปลายทางนั่น Jensen ราวกับพระเจ้าที่มีอำนาจอิทธิพลเหนือสิ่งอื่นใด
ตัดต่อโดย Alan Heim ขาประจำของผู้กำกับ Bob Fosse คว้า Oscar: Best Edited จากเรื่อง All That Jazz (1979)
เริ่มต้น กลางเรื่องและจบท้าย ใช้เสียงบรรยาย(ข่าว) ของ Lee Richardson เพื่อเกริ่นนำเข้าเรื่องราวว่ามีอะไรเกิดขึ้นและบทสรุปส่งท้าย นี่เป็นความพยายามทำให้เหมือนสารคดีข่าว (แต่ก็ไม่ค่อยเหมือนสักเท่าไหร่นะ)
หนังไม่ได้ใช้มุมมองของตัวละครใดเป็นพิเศษ ขณะที่เรื่องราวหลักๆต้องถือว่าเป็นของ Max Schumacher (ครึ่งแรก) และ Diana Christensen (ครึ่งหลัง) ส่วนรายการข่าว/โชว์ของ Howard Beale จัดว่าเป็นเพียง Side-Story หรือ Catalyses ที่เพิ่มสีสันให้กับหนัง
ต้องถือว่าหนังไม่มีเพลงประกอบ เว้นแต่ตอนเข้ารายการ The Howard Beale Show เป็นผลงานของ Elliot Lawrence นักเปียโน Jazz สัญชาติอเมริกา
ฉากที่ทุกคนในอพาร์ทเมนต์ชะโงกหน้าออกมาทางหน้าต่าง ตะโกนว่า “I’m as mad as hell and I’m not gonna take this anymore!” ประกอบเข้ากับเสียงฟ้าร้อง (พร้อมภาพฟ้าแลบ) ดังกระหึ่มราวกับ Soundtrack ของหนัง (น่าเอาไปทำเพลง Rap เสียเหลือเกิน)
คงไม่มีใครริอาจโต้เถียงกับอิทธิพล ความทรงพลังของสื่อสารมวลชน (ไม่จำเป็นต้องโทรทัศน์) เปรียบเทียบกับยุคสมัยนี้คือการ Share/Retweet ไม่ว่าเรื่องนั้นจะจริงแท้หรือลวงโลก ล้วนสร้างกระแสให้เกิดขึ้น(และดับลง) ได้อย่างรวดเร็วกว่าใจคนเสียอีก
Network คือภาพยนตร์ที่นำเสนอความทรงพลังของสื่อ ไม่ใช่แค่นำเสนอข่าวสาร สาระ/ไร้สาระ บันเทิงผ่อนคลาย แต่ยังสามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมออกมาได้ด้วย, อิทธิพลที่ไม่ใช่แค่ให้เกิดการลอกเลียนแบบทำตาม แต่ยังเชื่อถือทั้งกายใจ (เห็นว่ามีชาวอเมริกันหลายคนในทศวรรษนั้น รับชมหนังเรื่องนี้จบเลิกดูโทรทัศน์โดยสิ้นเชิงเลยก็มี)
ความตั้งใจของผู้เขียน Chayefsky และผู้กำกับ Lumet เห็นว่าไม่ได้ต้องการให้ออกมาเป็น Comedy Satire แต่นำเสนอในเชิง Social Realism คือสะท้อนความจริงออกมา แต่เป็นนักวิจารณ์/ผู้ชมเราๆกันเองนี่แหละที่บิดเบือน คิดเข้าใจไปว่ามันเป็นการเสียดสีล้อเลียน
สองนักวิจารณ์ชื่อดังของอเมริกัน
– Leonard Maltin เรียกหนังเรื่องนี้ว่า “outrageous satire”
– Pauline Kael เปรียบกับ “messianic farce”
ผมขอเรียกว่า ‘ระเบิดเวลาของวงการโทรทัศน์’ ความเกรี้ยวกราดของตัวละครที่แสดงออกมา มันคือความอึดอัดอั้น คับข้องแค้น ทุกข์ทรมานต่อทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นบนโลก เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง ผู้คนที่มิอาจอดรนทนกักเก็บอารมณ์ความรู้สึกนี้ต่อไปได้ ก็จักระเบิดปะทุทะลักออกมา
Howard Beale ถือว่าเป็นตัวแทนของผู้คน/ชาวอเมริกัน ที่ได้สนองความต้องการของพวกเขา ทุกวันนี้ฉันแทบจะอกแตกตายอยู่แล้ว อยากที่จะระเบิดระบายความอัดอั้นนี้ออกมา แต่เมื่อครั้นเห็นผู้อื่นแสดงออกในสิ่งที่ตนอย่างกระทำ มันช่างรู้สึกสดชื่นผ่อนคลาย ภาระหนักอึ้งที่แบกอยู่เบาลงได้โดยไม่รู้ตัว
กระนั้นความเกรี้ยวกราดของ Beale เปรียบได้คือจุดเริ่มต้นนับถอยหลังลงคลองของวงการโทรทัศน์ หมดสิ้นยุคสมัยแห่งคุณธรรม จรรยาบรรณ โปรดิวเซอร์/ผู้จัดรายการ/เบื้องหลัง ต่างค้นพบเป้าหมายใหม่ของการแข่งขัน … ทำอย่างไรเพื่อเรียกเรตติ้ง ผู้ชมจำนวนมาก ทำกำไรให้สถานีเป็นตัวเลขผลตอบแทนสูงสุด
การเปลี่ยนแปลงนี้ถ้าเปรียบเทียบกับวงการภาพยนตร์ คงเท่ากับ Bonnie and Clyde (1967) หนังที่เป็นจุดเริ่มต้น New Hollywood ยุคเปลี่ยนผ่านสิ้นสุด Classic Era และ Hays Code สู่การจัดเรตติ้ง Modern Cinema ทำให้วงการนี้ได้พบเจอความรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่และตกต่ำที่สุดไปพร้อมๆกัน
ในทัศนะส่วนตัวมองว่า นักข่าว ได้กลายเป็นอาชีพพื้นฐานหนึ่งของโลก (เฉกเช่นเดียวกับ ขอทาน, พ่อค้า, โสเภณี, นักการเมือง ฯ) แต่รูปแบบของสื่อสารมวลชนต่างหากที่จะเปลี่ยนไป, อย่างที่แสดงทัศนะไปตอนต้น วงการโทรทัศน์กำลังใกล้สู่จุดล่มสลาย แต่ก็มีของเล่นใหม่อินเตอร์เน็ตเข้ามาแทนที่ ซึ่งก็ถือเป็น ‘สื่อ’ ชนิดหนึ่ง มีความรวดเร็วทันสมั เข้าถึงผู้คนได้ง่ายกว่า คนรุ่นเก่าคงยากหน่อยที่จะปรับตัวเปลี่ยนแปลง แต่คนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าก็จักเริ่มค้นพบช่องทางหากินนี้ ไม่ต้องคร่ำครึย่ำยึดติดกับรูปแบบซ้ำเดิมที่เคยมีมา นี่ถือเป็นวิวัฒนาการของโลกที่มนุษย์ต้องคอยปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
ถึงปัจจุบัน (ปี 2018) ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงมีความคลาสสิก นำเสนอ/พยากรณ์หลายสิ่งอย่างได้เหนือกาลเวลา แต่ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อไหร่ที่วงการโทรทัศน์จบสิ้นล่มสลายลงเหมือนกิจการโทรเลข นั่นจะทำให้ Network ตกยุคสมัยโดยทันที และอีกสัก 2-3 ทศวรรษถัดจากนั้น เด็กรุ่นใหม่จะเกิดข้อคำถาม โทรทัศน์คืออะไร? หน้าตาเป็นยังไง? เออแหะ คิดแล้วก็ตลกสิ้นดี พวกเขาคงดูหนังเรื่องนี้คงไม่เข้าใจแน่ๆ คนรุ่นบรรพบุรุษแข่งเรตตงเรตติ้งอะไรไร้สาระสิ้นดี
ด้วยทุนสร้าง $3.8 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ในอเมริกา $23.6 ล้านเหรียญ กำไรล้นหลาม, เข้าชิง Oscar 10 สาขา คว้ามา 4 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (William Holden)
– Best Actor (Peter Finch) ** คว้ารางวัล
– Best Actress (Faye Dunaway) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Ned Beatty)
– Best Supporting Actress (Beatrice Straight) ** คว้ารางวัล
– Best Writing, Screenplay Written Directly for the Screen ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography
– Best Film Editing
ถ้าไม่พลาด Best Supporting Actor ให้กับ Jason Robards จากเรื่อง All the President’s Men คงหลายเป็นหนังเรื่องแรกที่กวาดเรียบสาขาการแสดง แต่เพราะได้แค่สาม จึงเทียบเท่ากับ A Streetcar Named Desire (1951) ที่ก็คว้า 3 รางวัลการแสดงเช่นกัน
ความพ่ายแพ้ต่อ Rocky สร้างความหงุดหงิดหัวเสียให้กับ Lumet เป็นอย่างมาก สาขา Best Director ยังไม่เท่าไหร่ แต่ Best Picture นี่สิ!
Aaron Sorkin เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ได้แรงบันดาลใจการเป็นนักเขียนจากการรับชมหนังเรื่องนี้
“no predictor of the future, not even Orwell, has ever been as right as Chayefsky was when he wrote Network (1976).”
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ ในการตีแผ่ความจริงของวงการโทรทัศน์ นำเสนอในรูปแบบ Satire Comedy สะท้อนค่านิยม ‘เรตติ้งเท่านั้นสำคัญที่สุด’ ซึ่งผมน่าจะฝังใจมาจากการเคยรับชมจากภาพยนตร์เรื่องนี้นี่แหละ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะกับคนทำงานในวงการนี้ ยอมรับเสียเถอะว่านี่คือข้อเท็จจริง ใครๆเขาก็รู้กันโดยทั่ว บิดเบือนหาข้ออ้างไปก็เท่ากับสะท้อนความคอรัปชั่นที่อยู่ในใจของตนเองออกมา
ในมุมของคนนอกวงการ พยายามซึมซับทำความเข้าใจสิ่งที่หนังนำเสนอ อย่า’เชื่อ’ในทุกสิ่งอย่าง นี่ผมอยากให้ต่อยอดออกจากโทรทัศน์ด้วย เหมารวมทุกสื่อในโลกยุคดิจิตอล เพิ่มสติและวิจารณญาณเข้าไป อย่าไปยึดติดมากกับการบริโภคทุกสิ่งอย่างในโลก
สำหรับแฟนๆ Comedy Satire, สนใจเบื้องหลังงานสายนี้, ชื่นชอบผู้กำกับ Sidney Lumet และนักแสดง William Holden, Faye Dunaway, Robert Duvall ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับภาษาหยาบคาย ความเกรี้ยวกราดรุนแรง และทัศนคติต่อวงการโทรทัศน์
Leave a Reply