Never Say Never Again (1983)
: Irvin Kershner ♥♥♥♡
Sean Connery กลืนน้ำลายตัวเองครั้งที่ 2 กลับมารับบท James Bond ครั้งสุดท้ายเมื่อตอนอายุ 52, พยัคฆ์เหนือพยัคฆ์ ไม่ใช่สายลับ 007 แบบฉบับที่ผู้ชมคุ้นเคย แต่ดูแล้วจะทำให้ตระหนักได้ทันที ว่าแฟนไชร์นี้มีสไตล์ลายเซ็นต์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวขนาดไหน
ชื่อ Never Say Never Again หาได้เกี่ยวกับเรื่องราวของหนังเลยนะครับ เป็นคำประกาศของ Sean Connery หลังจากรับบทใน Diamond Are Forever (1971) ว่า ฉันจะ never again ไม่อีกแล้วที่จะรับบท James Bond, แต่เขาก็หักคอตัวเองหน้าด้านๆ ด้วยการกลับมารับบทนี้ 12 ปีถัดมา
ไม่มีใครรู้เหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไม Sean Connery ถึงกลับลำอีกเป็นครั้งที่ 2, เรื่องเงินคงไม่ใช่ เพราะ Connery น่าจะร่ำรวยกินดีอยู่ดีไปจนตายโดยไม่ต้องเล่นหนังเรื่องไหนอีกแล้ว, ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะ Roger Moore ที่รับไม้ต่อจาก Connery แล้วทำให้ภาพลักษณ์ของ James Bond เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง สร้างความไม่พอใจลึกๆต่อ Connery จึงตัดสินใจกลับมาอีกครั้ง เพื่อให้ผู้ชมระลึกถึง เห็นความแตกต่าง พิสูจน์ให้เห็นไปเลยว่า ใครกันที่คือ James Bond แท้จริง
Never Say Never Again ดัดแปลงมาจากบทภาพยนตร์เรื่อง Thunderball ที่ Ian Fleming ร่วมกับโปรดิวเซอร์ Kevin McClory และนักเขียน Jack Whittingham พัฒนาขึ้นในต้นยุค 60s มีชื่อเดิม Longitude 78 West นี่อาจจะเป็น James Bond ภาคแรกถ้าพวกเขาไม่เกิดความขัดแย้งกันเสียก่อน, Fleming เกิดความไม่ประทับใจในตัว McClory มาก่อนหน้านี้ จึงพยายามผลักเขาออกจากโปรเจคแต่ไม่สำเร็จ แต่เพราะไม่อยากเสียเรื่องราวดีๆ เขาจึงนำบทภาพยนตร์นี้ไปเขียนเป็นนิยายเรื่อง Thunderball ซึ่งทำให้เกิดเป็นเรื่องฟ้องร้องขึ้นศาลใหญ่โต, หลังจากได้ข้อไกล่เกลี่ย Eon Productions ที่ได้รับสิทธิ์ในการดัดแปลงนิยาย James Bond จึงได้นำ Thunderball สร้างเป็นฉบับภาพยนตร์ออกฉายเมื่อปี 1965, ส่วน McClory ที่ชนะลิขสิทธิ์ในตัวบทภาพยนตร์เดิม เขารอเวลาหลัง Thunderball สร้างเสร็จถึง 10 ปี ช่วงกลางยุค 70s ได้นำเรื่องราวนี้ กลับมาปัดฝุ่นปรับปรุงใหม่ ด้วยความตั้งใจให้แนวทางต่างจาก Eon Productions ตั้งชื่อโปรเจค Warhead แล้วไปว่าจ้าง Len Deighton ให้เข้ามาพัฒนาบทหนังร่วมกับ Sean Connery (หลังจากประกาศรีไทร์จากบน Bond ไปแล้ว)
แน่นอนว่าขณะสร้าง Eon Production ต้องไม่ยอม ส่งเรื่องฟ้องศาล แต่ก็พ่ายแพ้เพราะบริษัทถือสิทธิ์เฉพาะในตัวนิยายเท่านั้น ส่วน McClory มีสิทธิ์ในบทภาพยนตร์และการดัดแปลงใหม่ได้ นี่ทำให้ปลายยุค 70s โปรเจคใหม่นี้จึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
เรื่องราวขององค์กร SPECTRE ที่ได้โจรกรรมหัวรบนิวเคลียร์ 2 ลูก และขู่ blackmail รัฐบาลอเมริกาและอังกฤษ ให้จ่ายเงินค่าปิดปาก, ทำให้ James Bond ต้องเดินทางไป Nassau, Bahamas ร่วมกับสหาย CIA Felix Leiter เพื่อช่วยกันตามหาว่า หัวรบนิวเคลียร์ทั้งสองลูกแอบซ่อนอยู่ที่ไหน
Sean Connery ตอนแรกที่เข้าร่วมกับโปรเจคนี้ ก็เพื่อร่วมพัฒนาบทหนัง ไม่มีความตั้งใจที่จะกลับมารับบท James Bond จนกระทั่งโปรดิวเซอร์ Jack Schwartzman ที่พอเข้ามาร่วมงาน ก็เอ่ยปากชวนเขา ก็ไม่รู้อะไรดลใจ Connery ยอมตกลงรับปาก พร้อมขอค่าตัวสูงถึง $3 ล้านเหรียญ มีหรือโปรดิวเซอร์จะไม่ยินยอม
ด้วยวัยวุฒิที่สูงขึ้น ความกระฉับกระเฉงของ Sean Connery เริ่มลดลง บอนด์ในภาคนี้ดูไม่ Sexy เหมือนแต่ก่อน เห็นริ้วรอยความแก่ชรา ที่พอมาประกบกับหญิงสาวสวยหน้าตาจิ้มลิ้มแล้ว ดูเหมือนพ่อกับลูก มากกว่าคนหนุ่มสาว, แต่ Connery ยังคงมีภาพของ James Bond ที่เป็นคลาสสิกอมตะ การแสดงของเขาดูดีกว่า Diamond Are Forever เป็นไหนๆ เพราะไม่ต้องแสดงอารมณ์ภายในออกมามากนัก ใช้ความหล่อเท่ห์มีเสน่ห์ ขนหน้าอกเยอะๆ หลอกล่อยั่วยวนใจสาวๆให้มาติดกับโดยง่ายดาย
สาว Bond ในภาคนี้ Kim Basinger รับบท Domino Petachi, ตอนที่ Basinger รับบทนี้ เธออายุเกือบๆ 30 แล้วแต่ยังสวยเซ็กซี่หุ่นดีเลิศ ตัวละครนำเสนอด้านอ่อนไหวและยั่วยวนผสมกันได้อย่างลงตัว, ผมไม่อยากเทียบเธอกับ Claudine Auger ที่รับบทนี้ใน Thunderball แต่ก็อดไม่ได้ เพราะ Basinger สามารถตีความทางอารมณ์ แสดงออกมาผ่านสีหน้าท่าทาง คำพูดได้ดีกว่ามาก
ชอบที่สุดคือตอน Bond เต้น Tango กับ Domino ทั้งสองเข้าขากันเป็นอย่างดี ซึ่งคู่ที่จะเต้น Tango ได้เลิศขนาดนี้ ต้องมองตาแล้วรู้ใจ ทุกลีลาการสะบัดต้องเย้ายวน เซ็กซี่ (Tango มันเหมือนท่าการเต้นเย้ายวน ที่มีจังหวะรุกเร้า ระทึก เหมือนชายหญิงกำลังมี Sex อย่างเมามันส์ แบบมีสไตล์)
ตัวร้ายภาคนี้ ขอเริ่มจาก Ernst Stavro Blofeld หัวหน้าใหญ่กลุ่ม SPECTRE รับบทโดย Max von Sydow ชื่อนี้คอหนัง Swedish คงรู้จักเป็นอย่างดี นักแสดงขาประจำของ Ingmar Bergman, แม้บทของ Sydow จะมีไม่มาก แต่เขาสร้างมิติให้กับ Blofeld ดูเฉลียวฉลาด ลุ่มลึก เฉกเช่นเดียวกับ Donald Pleasence ตอนปรากฎตัวครั้งแรกใน You Only Live Twice
Klaus Maria Brandauer รับบท Maximillian Largo (ใน Thunderball ใช้ชื่อว่า Emilio Largo), Brandauer เป็นนักแสดงที่มีเสน่ห์ และความน่ารักในตนเองสูง ตอนผมเห็น Brandauer ครั้งแรกในหนัง ไม่คิดว่าเขาจะสามารถทำให้ Largo เป็นตัวละครที่มีมิติลึกได้ขนาดนี้ นี่เป็นตัวละครประเภทแอบซ่อนความปรารถนาลึกๆไว้ภายใน แล้วแสดงออกด้วยท่าทางน่ารักน่าชัง หน้านิ่ง แต่ข้างชั่วร้ายยิ่งกว่าอสรพิษ, ฉากที่ผมชอบที่สุด เป็นฉากง่ายๆ ตอนที่ Domino ถามเขาว่า ถ้าเราต้องเลิกกันละ… คำตอบของ Largo ยิ้มกว้างๆ แล้วพูดว่า ‘ฉันจะเชือดคอเธอ’
Barbara Carrera รับบท Fatima Blush (ใน Thunderball ใช้ชื่อ Fiona Volpe), ว๊าว! นี่เป็นตัวละครที่ Sexist สูงมาก เป็นพวก Maso+Sado Bisexual ดูจากการแต่งกาย ท่าทาง คำพูด รสนิยม มีสไตล์ที่โดดเด่น สวยระเบิด, ตอนเธอถามบอนด์ว่า ผู้หญิงคนไหนที่เขาเคย Sex ด้วยที่ยอดเยี่ยมที่สุด? … ผมหลงรักตัวร้ายนี้ขึ้นมาทันที, สิ่งที่อยู่ในใจของเธอ คือความต้องการเป็นที่หนึ่ง ยิ่งใหญ่เกรียงไกรเหนือผู้ชาย (สงสัยตอนเด็กมีปมเรื่องพ่อที่ดูถูกกดขี่… อาจจะทางเพศต่อเด็กหญิง) มันดูตลกสักนิดที่ให้ Bond เขียนคำตอบแล้วลงลายเซ็นต์ แต่ก็พอยอมรับได้นะครับ เพราะเป็นการจงใจให้บอนด์โชว์ของเล่นเอาตัวรอดจากฉากนั้นไปได้
Rowan Atkinson มารับเชิญในหนังด้วยนะครับ เรียกเสียงหัวเราะได้เปิ่นมากๆ ซึ่งเขาได้กลายเป็น parody ของ James Bond ในหนังที่สร้างชื่อให้เขาเรื่อง Johnny English (2003)
ถ่ายภาพโดย Douglas Slocombe, ปกติแล้วเทรนด์การถ่ายภาพของหนัง Bond จะคือ fast-motion แต่หนังเรื่องนี้ไม่มีการถ่ายลักษณะนั้นเลย, ผมเรียกงานถ่ายภาพลักษณะนี้ว่า Classic Motion คือ ใช้การเคลื่อนกล้องแบบเรียบง่าย ธรรมดาๆ ตรงไปตรงมา, แพนกล้องในรัศมี, มีมุมภาพทดลองแปลกๆ อาทิ มุมก้ม มุมเงย, เดินลงบันไดถ่ายที่ขา, เห็นเหลี่ยมมุมของบันไดชัดเจน ฯ งานภาพอาจไม่ดูอลังการ แต่มีความแปลกพิศดาร ผมเรียกว่าคลาสสิก ไม่เหมือนหนัง Bond เรื่องไหนเลย
ฉากต่อสู้ใต้น้ำ ดูไม่หรูหราอลังการงานสร้างเทียบเท่า แต่ผมกลับรู้สึกปะการัง/มหาสมุทรในหนังเรื่องนี้สวยกว่า Thunderball เป็นไหนๆ, คงด้วยวิธีการถ่ายภาพที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบเร่ง สร้างบรรยากาศ ทำให้เราซึมซับ เห็นความสวยงามของท้องทะเลใต้น้ำได้มากกว่า
ฉากหนีฉลามนี่น่ากลัว อันตรายมาก (ไม่รู้ Connery เอาชนะความกลัวที่เขาเคยพูดไว้ใน Thunderball ได้ยังไง) หรือฉลามทั้งหมดเป็นฉลามเลี้ยง/ฉลามหุ่น เป็นผมเห็นฉลามเยอะขนาดนั้นว่ายวนรอบๆ ก็ชิบหายแล้วละครับ เตรียมตัวเตรียมใจตายได้ อันตรายโคตรๆ, ยกนิ้วให้กับ Stuntman ภาคนี้เลย กล้าหาญมากๆ
เมื่อหนังใช้ช็อต Gun Barrel ที่ James Bond เดินเข้ามายิงปืนเปิดเรื่องไม่ได้ (ติดเรื่องลิขสิทธิ์) จึงเปลี่ยนมาใช้ตัวเลข 007 ขึ้นเต็มจอ ตอนแรกเห็นไกลๆ นึกว่าเป็นตาราง/ตาข่าย พอซูมเข้ามาใกล้ก็จะเห็นเป็นตัวเลข แล้วเคลื่อนผ่านไปกล้องไป นำเข้าสู่ฉากแรกของหนัง
ตัดต่อโดย Ian Crafford, หนังมีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจกว่า Thunderball มาก แม้ใช้การตัดสลับระหว่างภารกิจ Bond กับ Largo เหมือนกัน แต่หนังเรื่องนี้ไม่มีความรีบเร่งในการตัดสลับไปมา คือให้เรื่องราวหนึ่งดำเนินไปจนจบก่อน แล้วค่อยตัดไปอีกเรื่องหนึ่ง มันอาจรู้สึกช้าไม่ตื่นเต้น แต่ทำให้หนังดูไหลลื่น มีความต่อเนื่องมากกว่า
บางฉากจะมีการตัดสลับระหว่าง 2 เหตุการณ์ เช่น Sex Scene ระหว่าง Bond กับ Blush ตัดสลับกับปะการังใต้น้ำ (เป็น montage มีนัยยะถึง Sex ที่จมดิ่งลงสู่ก้นเบื้องใต้ทะเล), ตอนที่ Bond ถูกล่ามโซ่อยู่ภายนอก ตัดสลับกับ Domino ถูกล่ามโซ่อยู่ภายนอก นี่แทบจะช็อตต่อช็อตเลย สวยงามมากๆ
เพลงประกอบโดย Michel Legrand, กับดนตรีที่ไม่คุ้นเคย ทำให้กลิ่นอายของหนังเปลี่ยนไปมาก แม้จะมีความหลากหลายค่อนข้างสูง อาทิ ดนตรี Jazz เสียงแซกโซโฟน (ฉากเลิฟซีน+ใต้น้ำ), เพลง Mexican (ขี่ม้าไล่ล่า), จังหวะ Tango (ตอนเต้นลีลาศ) ฯ แต่โดยรวมถือว่า ไม่กลมกล่อมเข้ากับหนังแม้แต่น้อย นี่ถือเป็นส่วนที่น่าผิดหวังที่สุดของหนัง
สำหรับเพลง Never Say Never Again แต่งเนื้อร้องโดย Alan และ Marilyn Bergman ขับร้องโดย Lani Hall, นี่เป็นเพลงที่ผมได้ยินแล้วกุมขมับเลย คือมันเหมือนจะไพเราะ แต่กลับไม่มีอะไรเข้ากับเนื้อเรื่องของหนังเลย ทำไมถึงใช้เพลงนี้!
แต่ก็มีเพลงหนึ่งที่ผมชอบ และเป็นฉากประทับใจที่สุดในหนัง คือ Tango of Death เอามาให้ฟัง/เห็นกันอีกเพลงนะครับ, ใครเป็นขาเต้น ได้ยินจังหวะ Tango แล้วขยับขาตามทันหรือเปล่า
ใจความของหนังเรื่องนี้ เหมือนกับ Thunderball คือ สะท้อนความหวาดกลัว ต่อระเบิดนิวเคลียร์ ของประเทศมหาอำนาจ ที่อาจก่อให้เกิดสงครามโลก จึงได้ส่งสายลับไปทำทุกสิ่งอย่างเพื่อกู้ระเบิดกลับคืนมา, หนังมีหลายๆประเด็นที่นำเสนอต่างออกไป เช่น M ต้องการปิดหน่วย 00 เพราะไม่ค่อยได้ใช้งาน, หน่วย Q ก็โดนลดงบประมาณ, James Bond ก็ไม่ค่อยมีงานทำ ต้องไปฝึกซ้อมเพื่อฟิตร่างกาย (ไม่ให้ขี้เกียจ) ฯ ถือว่าเป็นการตีความเรื่องราวของ Thunderball ในอีกมุมหนึ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจ (และอาจตรงกับนิยายมากกว่าหนังฉบับแรกเสียอีก)
สิ่งที่ทำให้หนังสองเรื่องนี้แตกต่างกันมาก คือวิธีการนำเสนอ ที่พอทิ้งสไตล์ James Bond ไป นี่ก็คือหนังสายลับทั่วๆไปเรื่องหนึ่ง, วิธีจะดูหนังเรื่องนี้ให้สนุก ต้องสมมติว่าตัวคุณไม่เคยดู James Bond มาก่อน ทิ้งความทรงจำใน สไตล์ รูปแบบ, ความมีเสน่ห์ เซ็กซี่ของ James Bond, สาวบอนด์สวยๆน่ารักๆ, Vodka Matini, เพลงประกอบเพราะๆ ฯ ทำเป็นไม่เคยรู้จัก ไม่เคยรับชม ดูอย่างไม่มีอคติ ก็อาจจะสามารถทนดูหนังเรื่องนี้ได้
เพราะนี่คือ ‘เปลือก’ ของแฟนไชร์ James Bond ที่เมื่อเอา ‘แก่น’ ความรู้ความเข้าใจออกไป สิ่งที่เหลืออยู่ ก็คือหนังเรื่องนี้แหละ
ถ้าเปรียบ Thunderball คือหนัง Blockbuster แล้ว Never Say Never Again จะคือหนังคลาสสิก ที่ดันสร้างทีหลังแต่ให้ความรู้สึกเก่าแก่กว่า
ด้วยทุนสร้าง $36 ล้านเหรียญ หนังทำเงินทั่วโลก $160 ล้านเหรียญ ได้มากกว่า Thunderball (1965) แต่ยังน้อยกว่า Octopussy (1983) ของ Roger Moore ที่ฉายปีเดียวกัน ทำเงินได้ $183.7 ล้านเหรียญ, นี่ไม่ได้แปลว่า Connery เริ่มถูกลืมเลือนจากผู้ชมนะครับ มันมีหลายเหตุผลที่คนไปดูน้อยกว่า อาทิ
1) ป๋า Connery ดูแก่ขึ้นมาก
2) หนังไม่มีกลิ่นอายของ James Bond ที่คุ้นเคยอยู่เลย
3) นี่เป็นเหมือน remake ของ Thunderball จึงไม่รู้จะดูซ้ำเพื่ออะไร
สามข้อนี้กลายเป็นกระแสปากต่อปาก ให้คนไปดูซ้ำน้อยลง (คำจากนักวิจารณ์ออกไปทางต่อว่าเสียๆหายๆ) ทั้งๆที่หนังเปิดตัวสัปดาห์แรกมากกว่า Octopussy ด้วยซ้ำ แต่ยอดปิดโปรแกรมสู้ไม่ได้
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ พอมันไม่มีกลิ่นอาย สไตล์ รูปแบบของหนัง James Bond แรกๆอาจรู้สึกไม่คุ้นเคย แต่เมื่อทำความเข้าใจได้ จะพบว่านี่คือหนังทั่วๆไปเรื่องหนึ่ง ที่มีความสนุกสนาน ลุ้นระทึก, ว่าไปผมชอบ Never Say Never Again มากกว่า Thunderball เยอะเลยละครับ โดยเฉพาะการเล่าเรื่องและตัวละคร ที่เน้นขยี้แนวคิด อารมณ์ให้แหลกละเอียด ทำให้เข้าใจเรื่องราว/ตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง มีความสวยงามมากกว่ามีสไตล์
ชอบที่สุดคือสองตัวร้ายหลัก Klaus Maria Brandauer และ Barbara Carrera มีอัตลักษณ์ตัวตนชัดเจนมาก ถือว่าเป็นผู้สร้างสีสันให้กับหนัง จนไม่รู้สึกเบื่อเลย
แนะนำกับ คนชอบหนังแนวสายลับมาดเท่ห์ และครั้งสุดท้ายของ Sean Connery กับบท James Bond, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา มีตัวละครแนวๆให้ศึกษาวิเคราะห์หลายคนเลย, คนชอบดำน้ำดูปะการัง ภาพใต้ทะเลสวยๆ ฉลามเยอะๆ ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับฉากโป๊เปลือยความรุนแรง
Leave a Reply