Night of the Living Dead

Night of the Living Dead (1968) hollywood : George A. Romero ♥♥♥♡

ค่ำคืนที่คนตายจะฟื้นคืนชีพ เดินอย่างลอยๆเชื่องช้าไร้วิญญาณ กินเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร, George A. Romero โดยไม่รู้ตัวสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกนี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นภาพลักษณ์ซอมบี้ยุคใหม่ สัญลักษณ์ของสะท้อนเสียดสี วิพากย์การเมือง และสงครามได้อย่างลึกล้ำ

มีหนังเรื่องหนึ่งที่ผมเคยรับชมตั้งแต่เด็กทางช่อง UBC ภาพขาว-ดำ บรรยากาศชวนขนลุกขนพอง ดำเนินเรื่องภายในบ้านหลังหนึ่ง ข้างนอกเต็มไปด้วยฝูงซอมบี้กินเนื้อ กลุ่มพระเอกพยายามหาทางต่อสู้ ดิ้นรน เอาตัวรอดจากวันโลกาวินาศนี้, จดจำได้ว่าเป็นหนังที่ทำให้ผมรู้จักอารมณ์ ‘กลัว’ เป็นครั้งแรก น่าเสียดายจดจำชื่อเรื่องไม่ได้ บอกตามตรงไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าใช่หนังเรื่องนี้หรือเปล่า แต่จากที่บรรยายมาแนวโน้ม 90% ไม่น่าผิดแน่

Zombie ในทัศนคติของผมเมื่อสัก 2-3 ปีก่อน คือสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่งที่น่าสะพรึงอันตราย ฟื้นคืนชีพจากความตาย มีแต่ร่างกายไร้จิตวิญญาณ อาหารโปรดคือเนื้อมนุษย์ เผลอโดนกัดก็จะเตรียมตัวตายได้เลย และโดยทั่วไปมักไม่สามารถคิดพูดคุยสื่อสารกับผู้อื่นรู้เรื่อง

ระยะหลังๆมาผมเริ่มสังเกตพบว่า Zombie แท้จริงๆแล้วคือสิ่งมีชีวิตเชิงสัญลักษณ์ชนิดหนึ่ง ความหมายแตกต่างออกไปตามวิสัยทัศน์แนวคิดของผู้สร้าง/ผู้กำกับ อาทิ 28 Days Later… (2002) ซอมบี้เปรียบได้กับเชื้อโรคแพร่ระบาด, World War Z (2013) เป็นตัวแทนความเกรี้ยวกราด สิ้นหวังของมนุษย์ ฯ

สำหรับหนังซอมบี้เรื่องแรกของโลก White Zombie (1932) โดยผู้กำกับ Victor Halperin นำแสดงโดย Béla Lugosi เป็นหนึ่งในจักรวาล Universal Monster โดย Zombie มีลักษณะเป็น Mythology มาจากพิธีกรรมของชาว Voodoo ปลุกคนตายให้ฟื้นคืนชีพมาใช้แรงงาน จ้องตาไม่กระพริบ (นี่เป็นลายเซ็นต์ของนักแสดงนำ Lugosi เลยนะครับ) ไม่เคยกินเนื้อมนุษย์ ไม่แพร่ติดต่อ และมีเรื่องราวพื้นหลังอยู่แถวๆคาบสมุทร Caribbean, หนังเรื่องอื่นๆที่สร้างตามมา ล้วนอ้างอิง Zombie ตามแนวคิดนี้ อาทิ The Ghost Breakers (1940), King of the Zombies (1941), I Walked with a Zombie (1943), The Plague of the Zombies (1966) ฯ

ไหนๆแล้วขอพูดถึงกระแสนิยมแนว Horror ก่อนหน้าหนังเรื่องนี้โดยย่อด้วยแล้วกัน, จุดเริ่มต้นจาก Universal Monster ที่ครอง Hollywood ยาวนานถึงสองทศวรรษ (30s – 40s), หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงสงครามเย็น สัตว์ประหลาดแนว Sci-Fi สวมชุดยาง มาจากนอกโลก ทำให้ดูน่ากลัวขนหัวลุกเข้าไว้ มักมีนัยยะถึงศัตรูชาติอเมริกา โดยเฉพาะสหภาพโซเวียต, จากนั้น Les Diaboliques (1955), Psycho (1960), Repulsion (1965) ผสมผสานจิตวิทยาเข้ากับบรรยากาศ ความน่าสะพรึงกลัวที่อยู่ภายในจิตใจมนุษย์ และ The Bird (1963) ความหวาดกลัวในประเด็น มนุษย์ vs ธรรมชาติ, มักมีสูตรสำเร็จคือ ตัวเอกสามารถเอารอดตัว ต่อสู้ชนะภัยคุกคามนั้น ตอนจบ Happy Ending ไม่ทิ้งความขื่นขมค้างคาใจ

Night of the Living Dead เป็นภาพยนตร์ปฏิวัติทุกสิ่งอย่างที่ใครเคยรับรู้เกี่ยวกับ Horror และ Zombie

“I never thought of my guys as zombies, when I made the first film…To me, zombies were still those boys in the Caribbean doing the wetwork for [Bela] Lugosi.”

George Andrew Romero (1940 – 2017) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ The Bronx, New York พ่อเป็นชาว Cuban ทำงานเป็น Commercial Artist, แม่เป็นลูกครึ่ง Lithuanian-American อาศัยวิ่งเล่นอยู่ในเมือง Manhattan มีความชื่นชอบภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก เช่า film reel มารับชมที่บ้าน หลงใหลคลั่งไคล้กับหนังเรื่อง Tales of Hoffmann (1951) ของ Michael Powell กับ Emeric Pressburger ก็ได้ตั้งใจว่านี่แหละที่ฉันสนใจจะทำเมื่อโตขึ้น, เข้าเรียนที่ Carnegie Mellon University, Pittsburgh จบออกร่วมกับ John A. Russo, Russell Streiner เริ่มต้นจากการทำหนังสั้นและโฆษณา พอเริ่มเบื่อหาแนวร่วมเพิ่มเติมรวมแล้วสิบคน ก่อตั้งสตูดิโอเล็กๆ Image Ten Productions รวบรวมเงินได้ประมาณ $114,000 เหรียญ เป็นทุนสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก

Romero และ Russo ในตอนแรกร่วมกันพัฒนาบทภาพยนตร์ที่เป็นแนว Horror Comedy ตั้งชื่อว่า Monster Flick เรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มวัยรุ่นเอเลี่ยน ออกเดินทางสำรวจมาถึงโลก แล้วได้เป็นเพื่อนกับวัยรุ่นมนุษย์โลก (ไม่ได้มีพล็อตอะไรหลงเหลือถึงหนังเรื่องนี้เลยนะครับ), แผนสอง Night of Anubis เป็นเรื่องราวของ ชายหนุ่มคนหนึ่งหนีออกจากบ้าน แล้วพบกับร่างอันเน่าเปลื่อยของมนุษย์ที่เอเลี่ยนใช้เป็นอาหาร กระจัดกระจายอยู่ทั่วสนามหญ้า (ก็ไม่ได้นำไปใช้อะไรอีกเช่นกัน)

หลังจากอ่านนิยาย Sci-Fi Horror เรื่อง I Am Legend (1957) ของนักเขียนสัญชาติอเมริกัน Richard Matheson, ผู้กำกับ Romero ตัดสินใจนำองค์ประกอบหลายๆอย่าง มาเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังเรื่องนี้ อาทิ เริ่มต้นนิยายคือวันสิ้นโลก พระเอกตัวคนเดียวก่อนได้พบคนอื่นๆด้วย, ถูกกัดแล้วแพร่เชื้อติดต่อ (เหมือนแวมไพร์), ไม่สามารถรักษาหายได้ ฯ ส่วน Russo เป็นผู้เสนอไอเดีย ‘flesh-eaters’ ศพกินเนื้อมนุษย์ และคำเรียกชื่อว่า Ghouls (ภาษาไทย=ปอป) [สังเกตว่าหนังไม่มีพูดถึงชื่อ Zombie เลยนะครับ แต่จะได้ยินว่า Ghouls ให้เข้าใจว่าคือสิ่งเดียวกันในหนังเรื่องนี้]

เกร็ด: นิยาย I Am Legend (1957) หลายคนน่าจะรู้จักมักคุ้น เคยได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วหลายครั้ง อาทิ The Last Man on Earth (1964), The Omega Man (1971), I Am Legend (2007) ฯ

Barbra Blair (รับบทโดย Judith O’Dea) กับพี่ชาย Johnny ขับรถมาถึงสุสานฝังศพพ่อที่ Pennsylvania ไปๆมาๆถูกชายคนหนึ่งเข้าโจมตี ชายหนุ่มพยายามช่วยเหลือแต่ถูกทุบหัวเสียชีวิต หญิงสาววิ่งหนีสุดชีวิตมาถึงบ้านร้างหลังหนึ่ง พบเจอกับชายหนุ่มผิวสี Ben (รับบทโดย Duane Jones) ที่ก็หลบหนีบางสิ่งอย่างมาเช่นกัน นี่มันเกิดเหตุการณ์บ้าอะไรขึ้น ราวกับวันสิ้นโลกก็ไม่ปาน!

สำหรับนักแสดงที่เป็นมนุษย์ทั้งหมด เป็นมือสมัครหน้าใหม่ ไม่เคยมีผลงานแสดงภาพยนตร์มาก่อน คัดเลือกผ่านการ Audition

Duane L. Jones (1937 – 1988) นักแสดงผิวสีสัญชาติอเมริกา เกิดที่ February 2, 1937 New York City, ถือเป็นนักแสดงผิวสีคนแรกที่ได้รับบทในหนัง Horror และน่าจะเป็นคนแรกอีกด้วยที่ได้รับบทนำในภาพยนตร์ Hollywood, Romero บอกถึงเหตุผลในการเลือก Jones จากความประทับใจระหว่าง Audition ไม่ได้สนเรื่องเชื้อชาติ สีผิว หรือคาดหวังให้เกิด Controversial แม้แต่น้อย

“there was no racial implication in casting Jones — he simply gave the best audition”

– George A. Romero

รับบท Ben คนขับรถบรรทุกผิวสี ถูกซอมบี้(ชาวผิวขาวล้วน)ไล่ล่าจนมาถึงบ้านหลังหนึ่ง ทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด, Ben เป็นคนค่อนข้างสุภาพ แต่ก็ฉุนเฉียวบ้างบางเวลาเมื่อพบเจอกับคนเห็นแก่ตัว มีความเฉลียวฉลาด ช่างสังเกต กล้าหาญ และสามารถควบคุมสติได้เป็นอย่างดี

บทภาพยนตร์ดั้งเดิมของ Russo กับ Romero บรรยายตัวละครนี้ไว้เพียง คนขับรถบรรทุกกระจอกๆ หัวก้าวร้าว คำพูดคำจาเหมือนคนไม่ได้รับการศึกษา ซึ่ง Jones (ที่เรียนจบปริญญา) ได้ทำการปฏิเสธพื้นหลังนี้ สร้างบุคลิกภาพขึ้นใหม่ให้กับตัวละคร คิดบทพูดสนทนา ปฏิกิริยาท่าทาง การแสดงออกทั้งหมดด้วยตนเองทั้งหมด ซึ่งผู้กำกับก็เห็นด้วยสนับสนุนส่งเสริม ผลลัพท์ออกมาเรียกได้ว่า ยกระดับการแสดงของหนังให้มีมิติจับต้องได้มากขึ้น

และเห็นว่าตอนจบของหนัง เป็นสิ่ง Jones ที่เสนอให้กับผู้กำกับเองเลย ซึ่งตอนแรก Romero มีความหวั่นวิตกลังเลใจเล็กน้อย เพราะกลัวมีปัญหากับชุมชนคนผิวสี ถึงขนาดถ่าย Alternate Ending เผื่อไว้อีก 2-3 แบบ จะได้ไปตัดสินเลือกตอน Post-Production ก่อนสุดท้ายจะยอมเลือกตามคำขอของนักแสดง

“I convinced George that the black community would rather see me dead than saved, after all that had gone on, in a corny and symbolically confusing way, The heroes never die in American movies. The jolt of that, and the double jolt of the hero being black seemed like a double-barreled whammy.”

Judith O’Dea (เกิดปี 1945) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Pittsburgh, Pennsylvania, เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงโฆษณาและละครเวที กำลังมองหาช่องทางใน Hollywood ตอนสัมภาษณ์บอกว่าหนังที่ทำให้เธอหวาดกลัวสุดในชีวิตคือ House of Wax (1953)

รับบท Barbara หญิงสาวที่พอได้พบการสูญเสียของพี่ชาย ก็ท้อแท้สิ้นหวัง หมดเรี่ยวแรง สติแตก ไม่สามารถคิดทำอะไรได้ด้วยตนเองอีกแล้ว

เดิมนั้นตัวละครนี้มีความเข้มแข็ง หญิงแกร่ง มี Charisma ค่อนข้างสูง (แบบเดียวกับ Ben) และเป็นผู้รอดชีวิตหนึ่งเดียวตอนจบ แต่พอ Romero เลือก O’Dea เห็นภาพลักษณ์ของเธอ เลยตัดสินใจแก้ไขเปลี่ยนแปลงบท ให้กลายเป็นหญิงสาวที่เต็มไปด้วยความหวาดหวั่นวิตกกลัว แทบจะเคลื่อนไหวไปไหนแทบไม่ได้ และชะตากรรมถูกฉุดคร่าหายลับไปกับฝูงซอมบี้

สำหรับนักแสดงที่รับบทซอมบี้ บางคนที่มีบทบาทเด่น (เช่น ชายคนแรกที่โจมตี Barbara) จะมาจากการคัดเลือก นอกนั้นจะเป็นเพื่อนมหาลัย เพื่อนของเพื่อน และชาวเมือง Evans City รวมๆแล้วกว่า 200 คนร่วมด้วยช่วยกัน นี่รวมถึง Romeo และ Russo ที่ต่างมา Cameo ในหนัง
– Romeo เป็นนักข่าวที่ Washington D.C.
– Russo เป็นซอมบี้ตัวหนึ่งที่ถูกฝากหัวด้วยเหล็ก

วันหนึ่ง มีการถ่ายทำซอมบี้หญิงสาวเปลือย เป็นวันที่ทุกสายตาของซอมบี้ทั้งหลายต่างจับจ้องมองให้ความสนใจอย่างล้นหลาม

“The night they filmed the nude ghoul, all of Evans City found out about it. They had their lawn chairs set up around the edges of the property. It was funny to see the rest of the zombies trying to keep their eyes elsewhere instead of looking down at the obvious places on the nude one.”

– Judith O’Dea

ถ่ายภาพ, ตัดต่อ โดย George A. Romero ด้วยความที่ทุนสร้างหนังมีจำกัด แม้ช่วงปลายทศวรรษ 60s ฟีล์มสีจะเริ่มได้รับความนิยม แต่ฟีล์มขาว-ดำ ยังราคาถูกกว่า ใช้งานง่าย และเข้ากับบรรยากาศของหนังได้อย่างลงตัว

อิทธิพลจาก Psycho (1960) เราจะไม่เห็นฉากที่ซอมบี้ถูกทุบหัว กระสุนแสกหน้า พลั่วขณะปักอก หรือตอนกำลังกัดกินฉีกร่างเนื้อมนุษย์ (แต่จะเห็นตับไตไส้พุง เลือด และภาพหลังเสียชีวิต) หลายครั้งใช้การจัดแสงและความมืด บดบังส่วนที่มันมีความรุนแรง ซึ่งต้องชมเลยว่าถ่ายทำออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ โดดเด่นมีสไตล์มากๆ

เริ่มเรื่องมา ก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น อยู่ดีๆตัวละครทั้งหลายก็ตกอยู่ในสถานการณ์สิ้นหวัง ประสบพบเจอกับเหตุการณ์คาดคิดไม่ถึง ที่จะค่อยๆดำเนินสู่ความสิ้นหวัง และท้ายที่สุดโศกนาฎกรรมสูญเสีย

เนื่องจากเหตุการณ์ของหนัง ดำเนินไปแทบทั้งเรื่องอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง เพื่อจะได้รับรู้ต้นสายปลายเหตุของวันสิ้นโลกนี้ จึงมีการเล่าเรื่องผ่านวิทยุ, โทรทัศน์ ซึ่งทุกคนก็จะตั้งใจฟัง จดจ่อ พยายามประติดประต่อ ทำความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ข้อสรุปที่หนังนำเสนอมา ดูเพ้อเจ้อ ไร้สาระ ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเสียเท่าไหร่

สำหรับฉากที่ถือว่าเป็น Taboo สิ่งต้องห้ามหนึ่งในภาพยนตร์สมัยก่อน แต่หนังเรื่องนี้ได้ใช้ช่องโหว่บางอย่าง ทำให้มุมมองแนวคิดต่อการกระทำนี้เปลี่ยนไป นั่นคือเด็กหญิงสาว พอเสียชีวิตกลายเป็นซอมบี้ ฆ่าพ่อ-แม่ ของตนเอง แล้วกัดกินเลือดเนื้อของพวกเขา, นี่เป็นฉากที่สมควรถูกแบนมากๆ แต่เพราะเด็กหญิงกลายเป็นซอมบี้มันเลยถูกมองข้ามเพราะเธอไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป

ปี 1968 ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของ Hays Code และระบบ Censor ภาพยนตร์ในอเมริกา ภาพยนตร์เรื่องนี้ค้นพบอีกหนึ่งช่องโหว่ ที่ถือเป็นบทเรียนสำคัญ พัฒนากลายมาเป็นระบบจัดเรตติ้งหนังในเวลาต่อมา

สำหรับเพลงประกอบไม่ได้มีการแต่งขึ้นใหม่เลยนะครับ ขอซื้อลิขสิทธิ์มาจากห้องสมุดเพลง (Stock Music) ของ WRS Studio และ Capitol Records, เพลงเปิดหนัง นำ Theme Song มาจากซีรีย์โทรทัศน์เรื่อง Ben Casey (1961) ขณะที่ตัวละครของ George C. Scott กำลังแอบเสพย์สารมอร์ฟีน ฉีดเข้ากระแสเลือดตัวเอง

ช่วงครึ่งหลังทศวรรษ 60s หลังการเสียชีวิตของ John F. Kennedy เมื่อปี 1963 ประธานาธิบดีคนใหม่ของ Lyndon B. Johnson เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กลับมา ทวงคืนความเป็นมหาอำนาจโลก จึงตัดสินใจนำพาประเทศเข้าสู่สงครามอีกครั้ง คราวนี้มายังอินโดจีน สนับสนุนเวียดนามใต้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ นี่ก็คงเหมือนสงครามทั่วๆไปที่เคยเกิดขึ้น ถ้าไม่ได้ชายชื่อ Muhammad Ali แชมป์โลกมวยสากลรุ่น Heavyweight ประกาศกร้าวว่าจะไม่มีวันสมัครเป็นทหาร เข้าร่วมทำสงครามต่อสู้กับชาวเวียดกงเป็นอันขาด

“I ain’t got no quarrel with the Vietcong…No Vietcong ever called me nigger.”

มีนักวิเคราะห์ภาพยนตร์มากมาย ตีความหนังเรื่องนี้ในเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านสงครามเวียดนาม งานภาพของหนังมีลักษณะเหมือน film reel ภาพขาวดำเก่าๆ แต่กลับมีความสมจริงจับต้องได้ ภารกิจที่เห็นในรายการโทรทัศน์ ‘Search and destroy’ นี่คล้ายกับปฏิบัติการของทหารอเมริกาในเวียดนาม วันๆเดินเท้าลุยเข้าไปในป่า ค้นหาชาวเวียดกงที่หลบซ่อนอยู่ในหลุมหลบภัย (ห้องใต้ดิน) มีรายงานข่าว ‘We killed nineteen of them in this area.’ ฟังโดยไม่รู้สึกอะไร แต่อีกซีกโลกหนึ่งมีคนถูกฆ่าเสียชีวิตไปแล้วตั้ง 19 คน นี่มันเรื่องใหญ่มากๆเลยนะ

Zombie ในหนังเรื่องนี้ เปรียบได้กับทหาร (มองได้ทั้งฝั่งเวียดกงและอเมริกา) เครื่องจักรสังหาร ฆ่าคนตามหน้าที่/สันชาติญาณ ไร้ซึ่งเหตุผล-จิตสำนึก-มโนธรรม หรือแม้แต่จะสามารถแสดงความรู้สึกสงสาร เห็นใจ, การต่อสู้ของ Ben กับฝูงซอมบี้ เปรียบได้ไม่ใช่แค่การสู้รบเอาตัวรอดในสงครามเวียดนาม แต่ยังรวมถึงต่อต้านการเกิดขึ้นของสงครามเวียดนาม

“dying together isn’t going to solve anything.”

ตัวละครต่างๆที่ปรากฎในหนัง ต่างสะท้อนถึงสถานะของชาวอเมริกันต่อสงครามเวียดนามครั้งนี้
– ชายคนหนึ่ง พูดจาปากดี แต่ไม่กล้าคิดทำอะไรให้เกิดขึ้นทั้งนั้น คุดคู้อยู่แต่ในห้องใต้ดิน คิดว่าเป็นสถานที่ปลอดภัยสุด, สุดท้ายปลาหมอตายเพราะปาก
– หญิงสาวที่เหม่อลอยไร้สติสมประดี รับรู้แต่ไม่สนใจ ไม่สามารถทำอะไรได้สักอย่าง, สุดท้ายถูกกลืนกิน สูญหายไปท่ามกลางฝูงซอมบี้
– คู่รักหนุ่มสาวที่ถึงจะมีความหวาดกลัว แต่กล้าที่จะทำอะไรบางอย่างด้วยตนเอง, สุดท้ายกลับเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ

ซึ่งตอนจบของหนัง สำหรับตัวละครสุดท้าย เรียกได้ว่าเป็นการเสียชีวิตที่ไร้ค่าสิ้นดี ทุกสิ่งทั้งหมดที่ต่อสู้เอาตัวรอดมา ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย! นี่เป็นบทสรุปที่ผู้กำกับเลือกมาเพื่อพูดถึงผลลัพท์ของสงคราม ต้องการชวนให้เกิดข้อคำถาม แล้วมันมีค่าความหมายอะไร!

มีประเด็นอื่นอีกที่ผมอ่านพบเจอ นอกเหนือจากสงครามเวียดนาม อาทิ เปรียบตัวละครของ Ben คือตัวแทนของคนผิวสี เป็นได้ทั้ง Martin Luther King Jr. หรือ Malcolm X ที่ต่างก็ถูกลอบสังหารเสียชีวิต, ผู้กำกับ Romero เคยบอกว่า ตอนที่คิดสร้างหนังไม่ได้มีอะไรแบบนี้แฝงอยู่เลย แต่ไม่น่าเชื่อ เรากลับสามารถตีความมองมุมนั้นได้แทบจะเปะๆ

“You can be the boss down there, I’m boss up here!”

เห็นว่านี่เป็นคำพูดที่ Duane Jones ปรุงแต่งคิดขึ้นมาเองเลย มองได้เป็นการแสดงพลังของคนผิวสี ในยุค 60s ที่ความ Racists การเหยียดผิวมีความรุนแรงสูงมาก, ในกรณีนี้ Zombie ทั้งหลายที่เป็นคนผิวขาวล้วนๆ ถูกมองว่าเป็น KKK (Klu Klux Klan) ขบวนการสนับสนุนกระแสปฏิกิริยาสุดโต่งของคนขาว (white supremacy) ชาตินิยมผิวขาว (white nationalism) เพื่อต่อต้านคนผิวสีและชาติพันธุ์อื่น

สำหรับผู้ชมทั่วไปที่ไม่ได้คิดวิเคราะห์ มองเรื่องราวอย่างที่ผมว่ามานี้ คงเห็นลักษณะของหนัง เริ่มจากความ Horror หลอนๆ สักกลางเรื่องพัฒนาเป็น Terror หวาดหวั่นกลัว ช่วงท้ายจะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง หดหู่หมดเรี่ยวแรง อาลัยตายอยาก ทิ้งความขื่นขมไว้เต็มปาก สูญสิ้นศรัทธาในมวลมนุษย์

คงเพราะ Zombie ในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่สัตว์ประหลาดหรือเอเลี่ยน แต่คือ ‘มนุษย์’ ด้วยกันเองที่ได้สูญสิ้นชีวิตตายจากไป แล้วกลับคืนมามีร่างกายแต่เดินอย่างไร้จิตวิญญาณ นี่ทำให้หนังมีความเสมือนสมจริงจับต้องได้ ทรงพลังมีความยิ่งใหญ่เลยละ

ด้วยทุนสร้าง $114,000 เหรียญ ทำเงินได้ $30 ล้านเหรียญ ถือเป็นหนัง Indy เรื่องประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ น่าจะไม่มีเรื่องไหนโค่นล้มลงได้

หนังเรื่องนี้ได้กลายเป็น Public Domain ด้วยเหตุผลที่ขำไม่ออกเลยทีเดียว, เพราะตอนแรกจดลิขสิทธิ์ชื่อหนังไว้ Night of the Flesh Eaters แต่ตอนสร้างเสร็จนำออกฉาย เปลี่ยนเป็นชื่อ Night of the Living Dead ซึ่งก็ไม่มีใครคิดไปยื่นเรื่องแก้ไข กาลเวลาล่วงเลยผ่านมาถึงค่อยมาตระหนักระลึกกันได้ว่า กฎหมายไม่คุ้มครองเพราะเป็นคนละชื่อหนัง สามารถหารับชมได้ใน Youtube

สำหรับคนที่คลั่งไคล้ชื่นชอบหนังเรื่องนี้มาก เห็นว่ามีทั้งฉบับ Remaster, Colorization, Remake, Sequel สร้างต่อตามมานับไม่ถ้วน แต่ถ้านับเฉพาะที่ George A. Romero กำกับมีทั้งหมด 6 เรื่อง (ผมตั้งใจจะเขียนแค่ 3 ภาคแรก) ประกอบด้วย
– Night of the Living Dead (1968)
– Dawn of the Dead (1978)
– Day of the Dead (1985)
– Land of the Dead (2005)
– Diary of the Dead (2007)
– Survival of the Dead (2009)

ส่วนตัวผมจะไม่ค่อยชอบแนว Horror เสียเท่าไหร่ แต่ก็ประทับใจกับบรรยากาศ ความน่าสะพรึงกลัว, ลีลาการนำเสนอ, ไดเรคชั่นของผู้กำกับ และเรื่องราวหลายสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในหนัง ครุ่นคิดวิเคราะห์พบใจความแฝงช่างเสียดสีได้อย่างเจ็บแสบ, กอปรกับความที่หวนระลึกได้ว่า อาจเป็นหนังเรื่องแรกที่ทำให้ผมรู้สึกกลัวขึ้นมา รับชมครั้งนี้ไม่ค่อยรู้สึกขวัญผวาสักเท่าไหร่ แต่แอบช็อค! คาดไม่ถึงกับบางสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น มีใจให้เล็กๆ

แนะนำกับคอหนัง Horror, Cult Film ชื่นชอบบรรยากาศหลอนๆ แนว Zombie ของผู้กำกับ George A. Romeo ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศหนังที่หลอนจับใจเลยละ ไม่ควรเปิดให้เด็กเล็กดูเป็นอันขาด

TAGLINE | “Night of the Living Dead ของ George A. Romeo ถึงจะเก่าคลาสสิก แต่อาจทำให้คุณไม่อยากตื่นกลางดึกเดินไปเข้าห้องน้ำอีกเลย”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: