Nights of Cabiria

Le notti di Cabiria (1957) Italian : Federico Fellini ♥♥♥♥♥

(21/7/2019) แม้ทั้งชีวิตของ Cabiria (รับบทโดย Giulietta Masina ศรีภรรยาผู้กำกับ Federico Fellini) จะเต็มไปด้วยความผิดหวัง แต่ตราบใดยังมีลมหายใจ และโลกยังคงหมุน ทุกสิ่งอย่างย่อมก้าวเดินต่อไป, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ตามสถิติไม่เคยมีภาพยนตร์ 2 เรื่องจากผู้กำกับคนเดียวกัน สามารถคว้ารางวัล Oscar: Best Picture สองปีติด! แต่สาขา Best Foreign Language Film กลับมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เกิดการควบคู่ นั่นคือสองผลงานของ Federico Fellini ซึ่งยังนำแสดงโดยศรีภรรยา Giulietta Masina
– La Strada (1954) เข้าฉายสหรัฐอเมริกาปี 1956
– Le notti di Cabiria (1957) เข้าฉายปี 1957

ผมได้เคยเขียนถึง Night of Cabiria ไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2016 หวนกลับมาอ่านก็รู้สึกว่าพอใช้ได้อยู่ เลยจะแค่ทำการปรับปรุง ขัดเกลา และเพิ่มเติมเนื้อหาสาระน่าสนใจ ให้มีความทันสมัยปัจจุบัน

ใครที่รับชมผลงานปรมาจารย์ผู้กำกับ Fellini มาหลายๆเรื่อง น่าจะสังเกตเห็นความละม้ายในสไตล์ลายเซ็นต์ Felliniesque ซึ่งมีภาพยนตร์อยู่ 3 เรื่อง มีโครงสร้างการดำเนินเรื่องที่คล้ายคลึงกันมากๆ
– Le notti di Cabiria (1957)
– La Dolce Vita (1960)
– และ Amarcord (1973)

โครงสร้างที่ว่านี้ คือการที่ตัวละครพานพบเจอเหตุการณ์ต่างๆเข้ามาในชีวิต โดยเราสามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆได้อย่างชัดเจน มีการเปิด-ปิด เริ่มต้น-สิ้นสุดสมมาตรกัน สนุกสนานครื้นเครง-เศร้าสร้อยเหงาหงอย สัมผัสหาพระเจ้า ฯลฯ นี่คือการรีไซเคิลเทคนิคการเล่าเรื่อง แค่ปรับเปลี่ยนตัวละคร เรื่องราว พื้นหลัง แต่สัมผัส บรรยากาศ และจิตวิญญาณยังคงเดิม

ก่อนอื่นเลย ระหว่างอ่านบทความนี้แนะนำให้รับฟังบทเพลงของ Nino Rota คลอประกอบ สร้างบรรยากาศไปด้วยนะครับ ท่วงทำนองมีส่วนผสม Mumbo เข้ากับ Jazz ทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความหวัง แม้ยามค่ำคืนแสนมืดมิด ครุ่นคิดถึง Cabiria หญิงสาวตัวเล็กๆผู้ไม่ยินยอมพ่ายแพ้ต่อสิ่งใด

Federico Fellini (1920 – 1993) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอิตาเลี่ยน หนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลสุดในวงการภาพยนตร์ เกิดที่ Rimini, Italy ครอบครัวชนชั้นกลาง อาศัยอยู่บ้านติดทะเล Adriatic Sea ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบวาดรูป อ่านการ์ตูน เล่นหุ่นเชิด ตอนอายุ 6 ขวบ ได้รู้จักเปิดโลกทัศน์กับ Grand Guignol (โรงละครเวที) พบเห็นการแสดงของตัวตลกคณะละครสัตว์ รับชมภาพยนตร์ ละครเวที, พออายุ 17 เปิดร้านเล็กๆที่ Rimini รับจ้างวาดภาพ Portrait ทำโปสการ์ด เขียน Gag Writer ช่วงหนึ่งเป็นนักเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์ สมัครเข้าโรงเรียนกฎหมายที่ University of Rome แต่ไม่เคยเข้าเรียนสักครั้ง ขณะอาศัยอยู่กรุงโรม เอาเวลาไปเขียนบทความ ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Marc’Aurelio, มีชื่อขึ้นเครดิตเขียนบทครั้งแรก Il pirata sono io (1943) ของผู้กำกับ Mario Mattoli, พบเจอ Giulietta Masino ปี 1942 แต่งงานกันปีถัดมา ลูกคนแรกแท้งเพราะตกบันได ลูกคนที่สองเกิดปี 1945 อายุเพียงเดือนเดียวเสียชีวิตจากโรคสมองอักเสบ (Encephalitis) พวกเขาจึงเพียงพอไม่เอาอีกแล้ว, หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จับพลัดจับพลูพบเจอร่วมงานกับ Roberto Rossellini พัฒนาบทภาพยนตร์เรื่อง Rome, Open City (1945) เปิดประตูสู่ Italian Neorealism ตามด้วย Paisà (1946), ร่วมกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกกับ Alberto Lattuada เรื่อง Variety Lights (1951), และฉายเดี่ยว The White Sheik (1952)

ภาพยนตร์ของ Fellini นับตั้งแต่ La Strada (1954) มีคำเรียกจากนักวิจารณ์ทั้งหลายว่า Fellinian หรือ Felliniesque มักมีลักษณะแห่งความเลิศหรูหรา เว่อวังอลังการ ภาพแห่งความงาม จมอยู่ในจินตนาการ โดดเด่นด้านการการเคลื่อนกล้องล่องลอยราวกับอยู่ในความเพ้อฝัน เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ การกระทำแปลกๆมากมาย และหลายๆครั้งการดำเนินเรื่องตัดสลับไปมาระหว่าง อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน สมมาตรกันอย่างประหลาดๆ

“synonymous with any kind of extravagant, fanciful, even baroque image in the cinema and in art in general”

ก่อนหน้านี้ Giulietta Masina เคยรับบทโสเภณี Cabiria ในภาพยนตร์เรื่อง The White Sheik (1952) ผลงานลำดับที่สอง/ฉายเดี่ยวเรื่องแรกของ Fellini ซึ่งเธอมีความลุ่มหลงใหลตัวละครนี้อย่างมาก ขอให้สามีพัฒนาเรื่องราวรายล้อมตัวละครดังกล่าว

“The brief appearance of Giulietta as Cabiria, the good hearted little prostitute…is important to Giulietta’s career as an actress, and to mine as a director. She was so wonderful, the producer could no longer say she wasn’t capable of Gelsomina (in La Strada), and of course Nights of Cabiria was inspired by this scene”.

– Federico Fellini

แรกเริ่มก็อยากให้เป็นผลงานลำดับถัดไปเลย แต่การหาทุนสร้างไม่ง่ายเลยสักนิด เพราะยุคสมัยนั้นไม่มีโปรดิวเซอร์ไหนหาญกล้าพอ จะให้เงินโปรเจคที่มีโสเภณีเป็นตัวเอก (ผิดกับฝั่งญี่ปุ่น ที่ทศวรรษนั้นหนังแนวโสเภณีขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ส่วนใหญ่กำกับโดย Kenji Mizoguchi)

กระทั่งว่าได้สร้าง La Strada (1954) มีโอกาสรู้จักโปรดิวเซอร์ชื่อดัง Dino de Laurentiis ตอบตกลงให้ทุนโปรเจคนี้ สร้างต่อจาก Il bidone (1955) ปิดไตรภาคแห่งความโดดเดี่ยว ‘Trilogy of Loneliness’ (น่าจะเป็นนักวิจารณ์เหมารวมเรียกนะครับ ไม่น่าใช่ความตั้งใจของ Fellini)
– La Strada (1954)
– Il bidone (1955)
– Le notti di Cabiria (1957)

ร่วมงานกับสองนักเขียนขาประจำ Ennio Flaiano กับ Tullio Pinelli และว่าที่ผู้กำกับดัง Pier Paolo Pasolini มาช่วยขัดเกลาบทพูดสำเนียงโรมัน, โดยเรื่องราวได้แรงบันดาลใจจากรายงานข่าว พบศพหญิงสาวจมน้ำเสียชีวิตในทะเลสาป และตัวละคร Wanda มาจากโสเภณีจริงๆที่ Fellini พบเจอในกองถ่าย Il Bidone (1955)

เรื่องราวของโสเภณีสาว Cabiria (รับบทโดย Giulietta Masina) เริ่มต้นมาถูกแฟนหนุ่ม Giorgio ผลักตกแม่น้ำ Tiber River ลักขโมยกระเป๋าสตางค์ที่มีเงินเพียง 40,000 Lira หลังได้รับความช่วยเหลือเอาตัวรอด แสดงออกด้วยความเกรี้ยวกราดขุ่นเคือง ไม่เข้าใจว่าผู้ชายจะเห็นเงินมากกว่าความรักไปได้เช่นไร! หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตพานผ่านเหตุการณ์ต่างๆมากมาย
– จับพลัดพลูพบเจอนักแสดงคนโปรด Alberto Lazzari
– เห็นอดีตเพื่อนโสเภณีตกอับ อาศัยอยู่ในหลุมบริเวณชานเมือง
– ออกเดินทางไปขอพรยังวิหาร Santuario della Madonna del Divino Amore
– ถูกสะกดจิตโดยนักมายากล
– และมีชายหนุ่มนักบัญชี Oscar D’Onofrio (รับบทโดย François Périer) ตกหลุมรักคลั่งไคล้ ขอเธอแต่งงาน แต่สุดท้าย …

เกร็ด: ชื่อตัวละคร Cabiria หยิบยืมจากชื่อหนังเงียบในตำนาน Cabiria (1914)


Giulietta Masina ชื่อเต็ม Giulia Anna Masina (1921 – 1994) นักแสดงหญิงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ San Giorgio di Piano, Bologna พ่อเป็นนักไวโอลินสอนดนตรี ตั้งแต่เด็กมีความสนใจร้องเพลง เต้น และเล่นเปียโน (ไม่ได้คิดจะเป็นนักแสดง) เรียนจบสาขาวรรณกรรมจาก Sapienza University of Rome ครั้งหนึ่ง Federico Fellini เลือกเธอจากภาพถ่าย มาให้เสียงละครวิทยุเรื่อง Terziglio (1943) ไม่นานตกหลุมรักแต่งงาน ระหว่างนั้นเธอก็เริ่มสนใจการแสดง มีผลงานละครเวทีร่วมกับ Marcello Mastroianni สำหรับภาพยนตร์ เริ่มจากเป็นตัวประกอบไร้เครดิต Paisà (1946) มีชื่อครั้งแรก Without Pity (1948) โด่งดังกับ La Strada (1954) และกลายเป็นตำนาน Nights of Cabiria (1957) คว้ารางวัล Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

Cabiria หญิงสาวตัวเล็กๆ แม้ประกอบอาชีพโสเภณี แต่กลับมีจิตใจอันบริสุทธิ์ อ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสา แสดงออกด้วยอารมณ์ความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา พูดจาหยาบกระด้าง เคลื่อนไหวเก้งก้าง ทั้งชีวิตต้องการเพียงใครสักคนรักจริง มองเธอด้วยความงามจากภายใน ไม่สนเงินทอง ข้าวของมีค่าอื่นใด

ในตอนแรกโปรดิวเซอร์อยากได้นักแสดงมีชื่อเสียงกว่านี้ แต่ผู้กำกับ Fellini เขียนบทนี้เพื่อ Masina เท่านั้น! ซึ่งความสำเร็จของเธอใน La Strada สร้างความเชื่อมั่นว่าสามารถแบกหนังทั้งเรื่องได้สบายๆ

การแสดงของขยับเคลื่อนไหวของ Masina แฝงความ Comedy ที่มักได้รับการเปรียบเทียบกับ Charlie Chaplin มันอาจดูแปลกประหลาด พิศดาร แต่สะท้อนความซื่อตรงไปตรงมาของตัวละคร รวมทั้งปฏิกิริยาสีหน้า ยักคิ้วหลิ่วตา ถ้อยคำพูดจา ผู้ชมสามารถรับรู้ว่านั่นคือการประดิษฐ์ประดอย แต่ก็อาจเป็นธรรมชาติของเธอได้เหมือนกันนะ

คนที่เคยรับชม La Strada มาก่อนหน้า เชื่อว่าคงติดตาบทบาท Gelsomina ซึ่งใน Nights of Cabiria เรายังคงเห็น Masina มีลักษณะคล้ายกันนั้นอยู่ สิ่งที่เหมือนกันของสองตัวละคร คือความบริสุทธิ์ภายในของทั้งคู่ ช่างมีความอ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสา ต่างที่การแสดงออกภายนอก สำหรับ Cabiria พยายามสร้างภาพทำตัวเป็นหญิงแกร่ง ด้วยสีหน้า คำพูด ท่วงท่าทาง มีความเริดเชิดหยิ่ง ปกปิดบังตัวตนแท้จริงไว้ภายใน ไม่เช่นนั้นคงอยู่ในสังคมแบบนั้นไม่ได้

คิ้วของ Cabiria เป็นสิ่งดึงดูดความสนใจมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเส้นตรงชี้ขึ้น ขนาดหนาบางสะท้อนถึงอารมณ์ที่หยาบกร้าน จิตใจเยือกเย็นชา กระทั่งช่วงท้ายเมื่อตบปากรับคำแต่งงาน เปลี่ยนมามีลักษณะโค้งมนลง ทำให้ใบหน้ากลมๆมีความอิ่มเอิบ รับกับรอยยิ้มหวาน ภายในช่างมีความสุขสำเริงราญ

ถ่ายภาพโดย Aldo Tonti (1910 – 1988) สัญชาติอิตาเลี่ยน ผลงานเด่นๆ อาทิ Ossessione (1943), Europe ’51 (1952), Nights of Cabiria (1957), India: Matri Bhumi (1959), The Savage Innocents (1960) ฯ

หนังถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด ณ กรุงโรม มอบสัมผัสของ Neorealist
– Castel Gandolfo
– Santuario della Madonna del Divino Amore, Castel di Leva
– ริมแม่น้ำ Tiber River
– ฉากภายในสตูดิโอ Cinecittà Studios

สภาพกรุงโรมยุคสมัยนั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเวิ้งว่างเปล่า ผู้คนเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก ตึกสูงกำลังทะยอยก่อร่างสร้าง ขณะที่คฤหาสถ์คนรวยกลับแตกต่างตรงกันข้าม ราวกับสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า วันๆสนแต่เรื่องไร้สาระ รักก็ช่างไม่รักก็ช่าง

สไตล์ลายเซ็นต์ Felliniesque กำลังมีความโดดเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆทีเดียว พบเห็นตั้งแต่ช็อตแรกถ่ายทำ Long Take กล้องเคลื่อนแพนนิ่งติดตามสองนักแสดง ระยะภาพ Long Shot ตัดไปครั้งหนึ่งให้เห็นใบหน้าของ Giorgio เหมือนกำลังครุ่นคิดวางแผนกระทำบางสิ่งอย่าง จากนั้นหวนกลับมาช็อตนี้ ฉกแย่งชิงกระเป๋าและผลัก Cabiria ให้ตกแม่น้ำ Tiber River

เห็นคนตกตกน้ำ แต่ชาวโรมันยุคสมัยนั้น (ไม่รู้ปัจจุบันด้วยหรือเปล่า) กลับเพิกเฉย เฉื่อยชา บุคคลที่ช่วยชีวิต Cabiria คือเด็กๆที่กำลังเล่นน้ำอยู่ ก็ดูชายคนซ้ายมือ ยืนเท้าสะเอวแบบเดียวกับ Giorgio ภาพด้านบนเปะๆ แถมให้ความเห็นแบบ ตายก็ช่าง ไม่ตายก็ช่าง! ไม่แคร์ยี่หร่าใครทั้งนั้นนอกจากตัวตนเอง

มันไม่ใช่ว่าคนสมัยนั้นปั๊มหัวใจ ช่วยชีวิตคนจมน้ำไม่เป็นนะครับ แต่การจับกลับหัวกลับหางแบบนี้ แฝงนัยยะบางอย่างเกี่ยวกับมุมมองของตัวละคร Cabiria ช่างไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับผู้ชาย ขนาดพร่ำกับเพื่อนสนิท Wanda

Cabiria: Someone would throw you in the river for 40,000 lire? Drown you for 40,000 lire?
Wanda: Nowadays they’ll do it for 5,000.

ระหว่างทางกลับบ้าน พบเห็นสถาปัตยกรรมเครื่องเล่นเด็กประหลาดๆ ชวนให้ผมระลึกนึกถึงภาพ Abstract ของศิลปิน Piet Mondrian (1872 – 1944) เสาเหล็กที่ไม่มีรูปร่าง สะท้อนถึงการแปรสภาพของธรรมชาติ (ภาพวาดที่ดูเป็นธรรมชาติ แต่ไม่ใช่ภาพวาดธรรมชาติ) ซึ่งคือสัญลักษณ์โครงสร้างโลกยุคใหม่ มนุษย์พึ่งพาธรรมชาติลดน้อยลง กำลังกลายสภาพเป็นสังคมเมืองที่ไม่ต้องพึ่งพาธรรมชาติอีกต่อไป

ขณะเดียวกันเจ้าโครงเหล็กนี้ยังสามารถสื่อได้ถึงชีวิตที่ไร้รูปร่าง แก่นสาระ ประกอบขึ้นเป็นโครงๆ ทำประโยชน์อะไรไม่ได้นอกจากของเล่นปีนป่ายของเด็กๆ (เอาไปตากผ้าได้นะ)

ก่อนหน้านี้ Cabiria พูดประโยคหนึ่งกับ Wanda

“I’m no stool pigeon!”

แต่ก็โดยไม่รู้ตัว เธออุ้มไก่ออกจากเล้ามาถือไว้ พอครุ่นคิดตระหนักได้ถึงค่อยปล่อยจากมือ … นี่เป็นมุกเล็กๆล้อเลียนตัวละคร บอกว่าฉันไม่ใช่นกต่อ/พิราบ แต่กลับกลายเป็นไก่เสียเอง (สัตว์ปีกเหมือนกัน)

Piccadilly คือชื่อถนนในกรุง London แต่เลื่องลือชาจากหนังเงียบ Piccadilly (1929) มีการเต้นของ Anna May Wong สุดเซ็กซี่เร้าใจ ซึ่งฉากนี้การเต้นระบำของสองสาวผิวสีในผับชื่อ Piccadilly ย่อมสะกดผู้ชมด้วยมนต์เสน่ห์ ชวนให้ตกอยู่ในความเพ้อใฝ่ฝัน ท่วงท่าทำนองราวกับการควบม้า ช่างดูผิดแผกแปลกตา … แบบเดียวกับ Cabiria มาถึงยังสถานที่แห่งนี้ กว่าจะเปิดผ้าม่านเดินผ่านเข้ามาได้ ยังรู้สึกได้ว่านี่ไม่ใช่โลกของเธอแม้แต่น้อย

แซว: ฉากการเต้นประหลาดๆ คล้ายๆกันนี้ ยังพบเห็นได้ใน La Dolce Vita (1960)

เมื่อมาถึงบ้านของ Alberto Lazzari สังเกตช็อตนี้ใบหน้าของ Cabiria ถูกปกคลุมด้วยความมืดมิดราวกับไร้ตัวตน ก็แค่คนสำรอง โสเภณี มีโอกาสมาท่องเที่ยวพบเห็นสรวงสวรรค์ก็เท่านั้น

ช็อตนี้คือการเดินขึ้นสู่สรวงสวรรค์(บนดิน) สวนทางมากับสุนัขวิ่งลงข้างล่าง

ที่ชั้นบนนั้นไม่รู้จะเรียกสวนอีเดน หรือพงไพรแห่งสันชาติญาณดิบมนุษย์ ซึ่งสายตาความสนใจของ Cabiria ขณะนี้ จับจ้องมองแต่สรรพสัตว์ เรียกร้องให้พวกมันสังเกตเห็นเธอ (Alberto Lazzari ไม่ได้อยู่ในความสนใจขณะนี้ เลยถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด)

ตู้เสื้อผ้าของ Alberto Lazzari เมื่อเปิดออกจะได้ยินเสียงกล่องเพลงบรรเลง วิ้งๆ ระยิบระยับ ราวกับเด็กน้อย กำลังเตรียมตัวเข้านอนหลับฝันดี

ขณะที่ Alberto Lazzari นอนลงบนเตียง พบเห็นภาพถ่ายแฟนสาวและรูปปั้นนักปราชญ์จีน, ทางฝั่งของ Cabiria พบเห็นไม้แกะสลักคล้ายๆ Venus de Milo แต่ไร้แขนขา และผ้าปกคลุมท่อนล้าง ดูไม่สมประกอบ สะท้อนถึงตัวตนของหญิงสาวที่หาได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง (เพราะประกอบอาชีพโสเภณี)

Cabiria ถอดเสื้อคลุมขนฟูฟ่อง หลงเหลือเสื้อเชิ้ตแขนขาดๆ เรียกได้ว่ายินยอมเปิดอก โอบรับเอาความสุดแสนโชคดีครั้งนี้ ดื่มด่ำสำเริญราญเต็มที่ แต่ก็ไม่นานค้นพบว่าทุกสิ่งอย่างล้วนคือภาพลวงตา (แบบเดียวกับลายเสื้อของทั้งสอง)

เมื่อตัวจริงของ Alberto Lazzari หวนกลับมางอนง้อคืนดี Cabiria ก็ถูกผลักไสเข้าห้องน้ำ นอนกอดหวานฉ่ำกับสุนัขตัวหนึ่ง

และเธอก็เดินลงมาจากสรวงสวรรค์ เพราะสถานที่แห่งนั้นหาใช่โลกของตนเอง … แต่จะว่าไป ช็อตนี้ถ่ายทำแบบหลอกตาอยู่นะ เพราะราวกับว่าตัวละครเดินเข้าไปไม่ใช่เดินลง อาจต้องการแฝงนัยยะว่า Cabiria สามารถค้นพบเจอความสุข/สรวงสวรรค์ได้ด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย อยู่บ้านหรูหรา หรือชื่อเสียงโด่งดังล้นฟ้าเหมือนดาราคนโปรด

ความโคตรมหัศจรรย์ของช็อตนี้ คือการค่อยๆแปรเปลี่ยนจากความมืดสู่แสงสว่าง (รุ่งสาง->เช้าตรู) แต่จริงๆมันก็อาจแค่เทคนิค Fade-onto-Black หรือปรับความมืด-สว่าง เท่านั้นเองแหละ!

หลังจากมีโอกาสทัวร์สรวงสวรรค์ เรื่องราวตอนถัดมา Cabiria จับพลัดจับพลูท่องเที่ยวสู่ขุมนรก อีกด้านหนึ่งของกรุงโรมที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งช็อตนี้ถ่ายให้เห็นทั้งหลุม เสาไฟฟ้า และตึกรามบ้านช่อง ช่างมีความแตกต่างราวกับฟ้า-เหว

เกร็ด: Sequence นี้ถูกตัดออกไปในฉบับหนังฉายสหรัฐอเมริกา ซึ่งนักแสดงชายที่รับบท The Man with the Sack คือ Leo Catozzo (นักตัดต่อของหนัง)

หลังจากพบเห็นทั้งสวรรค์-นรก ตอนถัดมา Cabiria ถูกเพื่อนๆชักนำพาสู่วิหาร Santuario della Madonna del Divino Amore เพื่อสร้างศรัทธา อธิษฐานขอพรพระแม่มารีย์ ให้ตนเอง/ทุกสิ่งอย่างเกิดการปรับเปลี่ยนแปลงไป, ซึ่งไดเรคชั่นของฉากนี้เริ่มจากเธอปฏิเสธขันแข็ง ไม่เชื่อ ไม่มีอะไรต้องการร่ำร้องขอ แต่พอถูกกระแสฝูงคน เสียงร้องเพลงดังกึกก้อง จิตใจก็เริ่มสั่นไหว คล้อยตามไป … ราวกับคนโดนล้างสมอง!

เมื่อทุกสิ่งอย่างผ่านพ้นไป ก็นั่งแบะขา หันหลังให้กล้อง ไม่เห็นคำอธิษฐานใดๆของตนเองจะสำเร็จมรรคผล! นี่เป็นความน่ารักน่าชัง ใสซื่อบริสุทธิ์ ตรงไปตรงมาของ Cabiria ไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เธอเพิ่งพานผ่าน มันก็แค่สร้างการสร้างศรัทธา ความสุขสงบให้เกิดขึ้นในจิตใจ ครุ่นคิดเป็นตุเป็นตะ ว่าจะสำเร็จกลายเป็นจริงขึ้นมาโดยทันที!

คำอธิษฐานของ Cabiria คือ

“Madonna, help me to change my life. Bestow your grace on me too. Make me change my life”.

ซึ่งชีวิตของเธอหลังจากนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปจริงๆนะ เพราะครึ่งหลังของหนังได้พบเจอ ตกหลุมรัก Oscar D’Onofrio ตัดสินใจเลิกราอาชีพโสเภณี ขายบ้าน ทุกสิ่งอย่าง แค่ว่านั่นต้องแลกเปลี่ยนด้วยการสูญเสียเงินหมดสิ้น 400,000 Lire และสุดท้ายได้รับสัมผัสของพระผู้เป็นเจ้า ทำให้สามารถหวนกลับมายิ้มได้แม้ในช่วงเวลาแห่งความทุกข์โศก

ครั้งแรกของการสะกดจิต หนุ่มๆทั้งหลายถูกสั่งให้พายอยู่บนเรือแล้วล่มลงกลางทะเล ตะเกียกตะกาย แหวกว่าย แฝงนัยยะถึงชีวิตคือการออกเดินทาง พานพบเจออุปสรรค์ปัญหา แล้วพยายามหาหนทางแก้ไขเอาตัวรอด … สะท้อนถึง Cabiria ที่ถูกผลักตกน้ำเมื่อตอนต้นเรื่องได้ตรงเผง

สำหรับ Cabiria เมื่อเธอถูกสะกดจิต (นักสะกดจิตถอดหมวก สวมเขาปีศาจ) ได้ถูกชักนำพาให้รู้จักชายหนุ่มในฝันชื่อ Oscar เคลิบเคลิ้ม ล่องลอย ก่อนตื่นขึ้นมาพบโลกความจริงอันเหี้ยมโหดร้าย … โดยไม่รู้ตัวหลังจาก Sequence นี้ เธอได้พานพบเจอชายคนนั้นมีตัวตนขึ้นมาจริงๆ

ระหว่างกำลังเล่าเรื่อง Oscar ให้เพื่อนๆโสเภณีรับฟัง อยู่ดีๆตำรวจมา นั่นทำให้วงแตกกระเจิง (นี่พยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นตอบจบของหนังได้เลยนะ) ซึ่ง Cabiria ต้องวิ่งข้ามแม่น้ำ ทำร้องเท้าแก้ว Cinderella หลุดกลางทาง เลยต้องหลบหนีกระต่ายขาเดียวทั้งๆอย่างนั้น (กระต่ายขาเดียว คือเออออห่อหมกไปข้างเดียว ไม่ได้รับรู้ธาตุแท้ตัวตนของอีกฝ่าย)

แซว: ผมค่อนข้างสงสัยว่าการตั้งชื่อตัวละคร Oscar จะเป็นการอ้างอิงถึงรางวัล Oscar ที่ Fellini เพิ่งคว้ามาครอบครองจากเรื่อง La Strada (1954) หรือเปล่านะ (บุคคลที่ Cabiria ไม่ได้เคยครุ่นคิดว่าจะตกหลุมรัก แต่ไปๆมาๆกับปลงใจแต่งงาน เสร็จแล้วเมื่อทุกสิ่งอย่างสมหวัง ก็ไม่หลงเหลืออะไรในชีวิตให้โหยหาอีก)

ฉากที่ Oscar ขอ Cabiria แต่งงาน เธอสวมชุดกะลาสี (Sailor) สะท้อนถึงการออกเดินทางครั้งใหม่ พื้นหลังคือตึกกำลังก่อร่างสร้าง และหญิงสาวในสภาพเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เข้าไปยืนกดดื่มน้ำก๊อก พยายามเติมเต็มความอิ่มเอิบของหัวใจ

กลับไปบ้านเกาะรั้วตาข่ายตะโกนบอกกับ Wanda ฉันกำลังจะแต่งงาน นี่เป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกพวกเธอทั้งสอง เพราะ Cabiria ถือว่าค้นพบเจอโลกใบใหม่ คำอธิษฐานกำลังจะได้รับการเติมเต็มสักที

ความผิดปกติของ Oscar เริ่มปรากฎเด่นชัดในฉากนี้ สวมแว่นตาดำปกปิดบางสิ่งอย่างภายในจิตใจ สูบบุหรี่จัดมวนต่อมวน เหงื่อไหลพรักๆ มันเพราะเงิน 750,000 Lire ที่ Cabiria ถือมาอวดจริงๆนะหรือ??

เอาจริงๆผมว่าพล็อตนี้มันไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ คือชายคนนี้รับรู้ได้อย่างไรว่าเธอมีเงินมากมายมหาศาลเพียงนี้ และแถมทำดีมาแทบตาย สุดท้ายกลับพ่ายใจตนเอง ซะงั้น! แต่ให้มองว่าเรื่องราวดังกล่าวเป็นการเติมเต็ม เวียนวน ย้อนรอยกลับสู่จุดเริ่มต้น อธิบายที่มาที่ไปของการที่ Giorgio ขโมยเงินและผลักไส Cabiria ตกแม่น้ำ Tiber River

ฉากในป่าพงไพร ถือว่าย้อนรอยทางขึ้นสรวงสวรรค์ชั้นสอง บ้านของนักแสดง Alberto Lazzari ที่ Cabiria ได้พบเห็นในตอนที่สอง ขณะเดียวกันมีลักษณะแตกต่างตรงกันข้ามกับบริเวณบ้านของเธอเอง ที่เป็นทุ่งกว้างๆ ไร้ซึ่งต้นไม้ขึ้นสูงใหญ่

สถานที่แห่งนี้เองทำให้ตัวตน ธาตุแท้ สันดานของ Oscar ได้เปิดเผยออกมา ชักนำพาเธอสู่ยอดเขาริมแม่น้ำ

ย้อนรอยแทบจะเปะๆกับฉากแรกของหนัง ปรับเปลี่ยนพื้นหลังให้มีความสูงใหญ่เสียดฟ้า เทียบเท่าปริมาณเงินที่ Cabiria กำลังจะสูญเสียไป (ตอนต้น 40,000 Lire ตอนนี้ 750,000 Lire)

ผมค่อนข้างเชื่อมั่นมากๆว่า ผู้กำกับ Fellini ได้แรงบันดาลใจตอนจบนี้จากภาพยนตร์เรื่อง City Light (1931) ที่เป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรด ไม่เพียงแค่ Masina คืออวตารของ Chalie Chaplin แต่วินาทีนี้โลกทั้งใบ นักแสดงทุกคนเดินหมุนรอบตัวเธอ ทำให้พานพบเจอแสงสว่างในดวงตา หันมาสบกับกล้องพยักหน้า และเบิกรอยยิ้มแห่งความหวัง

วินาทีที่ผมชื่นชอบสุดของซีนนี้ คือการหันมาสบตาแล้วยิ้มให้กล้อง เพื่อเป็นการบอกกับผู้ชมว่า ชีวิตถ้ายังไม่สิ้นลมหายใจ ย่อมมีความหวังก้าวเดินต่อไป

ตัดต่อโดย Leo Cattozzo (1912 – 1997) สัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของผู้กำกับ Fellini ตั้งแต่ La Strada (1954) ซึ่ง Le notti di Cabiria (1957) เป็นหนังเรื่องแรกที่มีการใช้เครื่อง Film Splicer หรือ Film Joiner เครื่องมือที่ช่วยให้การตัดและต่อฟีล์มได้สะดวกรวดเร็วขึ้น (สมัยก่อนจะใช้การตัดและต่อฟีล์มด้วยมือคนล้วนๆ ไม่มีเครื่องทุนแรงใดๆ) ซึ่งผู้ครุ่นคิดค้นสร้างเครื่องนี้ขึ้นมาก็คือ Catozzo นี่แหละ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมอง Cabiria ในการเล่าเรื่องทั้งหมด โดยสามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆ
– เริ่มต้น Cabiria ถูกผลักตกน้ำโดย Giorgio รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด
– แนะนำเพื่อนร่วมงาน อาชีพโสเภณี พานพบเจอนักแสดงคนโปรด Alberto Lazzari
– จับพลัดจับพลูขึ้นรถออกไปยังชานเมือง พบเจอกับอดีตเพื่อนโสเภณีตกอับ อาศัยอยู่ในหลุมสภาพไม่หลงเหลืออะไร
– ออกเดินทางไปขอพรยังวิหาร Santuario della Madonna del Divino Amore
– ถูกสะกดจิตโดยนักมายากล
– และมีชายหนุ่มนักบัญชี Oscar D’Onofrio (รับบทโดย François Périer) ตกหลุมรักคลั่งไคล้ ขอเธอแต่งงาน
– ปัจฉิมบท ออกเดินทางกลับ ลัดเลาะตามถนนริมป่า

ในบรรดาผลงานทั้งหมดของ Nino Rota บทเพลงที่โดยส่วนตัวรู้สึกซาบซึ้ง ตราตรึง น่าจะไพเราะเพราะพริ้งที่สุดแล้วคือ Ma La Vita Continua (But Life Continues) ดังขึ้นเมื่อปัจฉิมบท ส่วนผสมของ Mumbo Jazz ท่วงทำนองมีความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง แม้ภายในรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าว ซึมเศร้าน้ำตาคลอ แต่โดยไม่รู้ตัวค่อยๆทำให้ Cabiria สามารถเบิกรอยยิ้มออกมา ตระหนักครุ่นคิดได้ว่า ตราบใดโลกยังหมุน ชีวิตมีลมหายใจ มนุษย์เราก็ต้องก้าวเดินต่อไป

ชีวิตยามค่ำคืนเราจะได้พบเจอกับอะไรบ้าง? คนดังที่มีเงินมากมายไม่รู้จะเอาไปทำอะไร, คนจนที่ไม่มีเงินแม้แต่จะเช่าห้องอยู่, โสเภณี, คนเร่ร่อน, ขอทานข้างถนน ฯ ใครที่ใช้ชีวิตดั่งมนุษย์ค้างคาว พบเห็นบรรยากาศเหล่านี้ย่อมรู้สึกมักคุ้นเคย … ผมก็คนหนึ่งที่เคยพานผ่านช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมา ตระหนัก และรับรู้สึกว่ายุคสมัยปัจจุบัน ไม่ต่างจากอดีต (และอนาคต) สักเท่าไหร่

ช่วงเวลาแห่งการท่องราตรี อาจทำให้เรามีความสนุก สุขหรรษา แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่คนธรรมดาสามัญ จะใช้ชีวิตอยู่กับมันได้ตลอดเวลา, เราสามารถเปรียบสิ่งที่เกิดขึ้นตอนกลางคืน ได้กับมุมมืดที่อยู่ในจิตใจมนุษย์ แทบเป็นไปไม่ได้เลยจักค้นพบแสงสว่างหลบซ่อนอยู่ภายในนั้น (คนที่คิดว่าตัวเองได้พบสิ่งดีๆในการใช้ชีวิตกลางคืน นั่นแสดงว่าคุณกำลังมองเห็นสิ่งผิดๆอยู่) ขณะเดียวกัน บางคนใช้ความมืดเพื่อหลบซ่อน/หลบหนีจากอะไรบางอย่าง

โลกเรามันก็แปลกนะ คนอยู่ในที่สว่างมักจะแสวงโหยหาความมืดมิด ขณะที่ผู้อาศัยอยู่มุมมืดแท้ๆ กลับพยายามตะเกียกตะกายดิ้นรนหาหนทางสว่าง

Cabiria คือตัวละครที่อาศัยอยู่ในโลกแห่งความมืด ยามค่ำคืน ทำงานอาชีพโสเภณี ไม่ได้ต้องหลบซ่อนหรือหลีกหนีจากอะไร แต่หนังไม่บอกเหตุผลไว้ ว่าทำไมเธอถึงตัดสินใจเลือกทำงานประเภทนี้ ถึงกระนั้นหญิงสาวก็พยายามเสาะแสวงหาแสงสว่าง โอกาส ความหวัง กอบโกยความสุขสำราญเข้าใส่ตัวอย่างเต็มที่

น่าสงสาร Cabiria การที่เธอว่ายน้ำไม่เป็น สะท้อนถึงการไม่สามารถเอาตัวรอดด้วยตนเองเพียงลำพัง จำต้องมีผู้คอยช่วยเหลือ เพื่อนสนิท Wanda และใครสักคนจักช่วยพาเธอก้าวข้ามฝั่งแม่น้ำ ไปสู่ดินแดนแห่งความสุขสรวงสวรรค์

เงินทองไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญสำหรับ Cabiria แต่มนุษย์ยุคสมัยนั้น อันเป็นอิทธิพล/ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตึกรามบ้านช่องขึ้นสูงใหญ่ ช่องว่างระหว่างคนรวย-จน ชนชั้นสูง-ต่ำ แตกต่างราวฟ้ากับเหว นั่นเองทำให้จิตสำนึก/ค่านิยมสังคมแปรเปลี่ยนไป ผู้คนเห็นแก่ตัว ละโมบโลภมาก ยกยอปอปั้นระบอบทุนนิยม ‘เงิน’ คือสิ่งสำคัญสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด

ก็ไม่เชิงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวคือโศกนาฎกรรม ในมุมมองผู้กำกับ Fellini มองว่าเป็นความเศร้าโศก น่ารันทด สมเพศเวทนา นำเสนอให้เห็นถึงจิตสำนึก มโนธรรม ศีลธรรม ที่ตกต่ำลงเรื่อยๆของมนุษย์ยุคสมัยนั้น (เลวร้ายยิ่งกว่าในยุคสมัยนี้) ไม่มีอีกแล้วความรักยิ่งใหญ่ที่สุด เงินต่างหากทำให้ดวงตาของใครๆลุกวาว

Cabiria เป็นตัวละครที่ Fellini บอกว่ารักและห่วงใยมากสุด เมื่อปี 1993 ตอนที่เขาขึ้นรับรางวัลเกียรติยศ Academy Honorary Award มองลงมาจากโพเดียมพบเห็น Masina นั่งอยู่แถวด้านหน้า บอกกับเธอช่วงท้ายคลิปนี้ว่าอย่าร้องไห้ แล้วกล้องก็ตัดไปให้เห็นรอยยิ้มด้วยคราบน้ำตา นั่นเองสินะที่คือ Cabiria

หนังออกฉายรอบปฐมทัศน์เทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ามาสองรางวัล
– Best Actress (Giulietta Masina)
– OCIC Award – Special Mention (รางวัลด้านคุณธรรมยอดเยี่ยม)

เมื่อตอนเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา หนังได้เสียงตอบรับค่อนข้างผสม เห็นว่ามีการตัดบางฉากออกไปรวมเวลา 7 นาที ถึงอย่างนั้นปลายปียังสามารถคว้ารางวัล Best Foreign Language Film เอาชนะเต็งหนึ่ง Mother India (1957) เพียงคะแนนโหวตเดียวเท่านั้น!

ผมค่อนข้างมีความอินกับภาพยนตร์เกี่ยวกับโสเภณีค่อนข้างมาก เพราะเป็นอาชีพที่ถูกตีตราในสังคมว่าต่ำต้อยด้อยค่า ไร้จิตสามัญสำนึก ยางอาย ศีลธรรม มโนธรรม ผิดกฎหมาย แต่มันไม่ใช่ว่าใครไหนอยากลดตัวลงมาทำงานแบบนี้หรอกนะ ทุกสิ่งอย่างล้วนมีเหตุผล กงกรรมเวร น้อยคนจะสามารถมองเห็นเข้าใจ ยินยอมรับ และให้อภัย (เมื่อตระหนักได้ว่าสมควรแก้ไข)

ในบรรดาภาพยนตร์เกี่ยวกับโสเภณี เอาจริงๆมีหลายผลงานของผู้กำกับ Kenji Mizoguchi ที่ผมมองว่าเนื้อหายอดเยี่ยมยิ่งกว่า Le notti di Cabiria (1957) รวมไปถึงหลายๆผลงานของ Fellini ชื่นชอบสุดคือ La Dolce Vita (1960) แต่แค่เพียงตอนจบของเรื่องนี้ ทำให้อะไรอื่นไร้ค่าความหมายไปเลย … ตั้งแต่รับชมภาพยนตร์มา นี่เป็นตอนจบมีความงดงาม ตราตรึง ซาบซึ้งใจที่สุดอันดับสอง รองจาก City Light (1931)

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” รับชมหนังจบ แนะนำให้ตั้งคำถามกับตนเอง ถ้าคนที่คุณรัก (ไม่ว่าชาย-หญิง) พูดบอกความจริงออกมาว่า ฉันเคยขายตัวเป็นโสเภณี จะสามารถยินยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้หรือเปล่า?

จัดเรต 15+ กับถ้อยคำหยาบคาย (ส่วนใหญ่ออกมาจากปาก Cabiria) พฤติกรรมสามานย์ อาชีพโสเภณี

คำโปรย | Le notti di Cabiria คือจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของ Giulietta Masina ที่ได้รับการค้นพบเจอโดย Fedrico Fellini
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | รื่

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: