Nobody Knows (2004)
: Hirokazu Kore-eda ♥♥♥♥
ตามติดชีวิตเด็กๆ 4 คน ที่ถูกแม่ทอดทิ้งไว้ในอพาร์ทเมนต์เล็กๆ เติบโตขึ้นในช่วงเวลา 1 ปี ผ่านร้อนหนาวฝนหิมะเปียกปอน โดยไม่มีใครล่วงรับรู้มาก่อน และพวกเขาก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไปดี, “ค้องดูให้ได้ก่อนตาย”
มันคงตื้นเขินเกินไปที่จะโบ้ยโทษความผิดโยนให้กับแม่ใจยักษ์ หรือพ่อทั้งสี่ของเด็กๆ หลังจากเสพสมอารมณ์หมายก็ถีบหัวส่งทิ้งขว้าง ขาดความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ของตนเอง เพราะแท้จริงแล้วนี่เป็นปัญหาที่ ‘Nobody Knows’ ไม่มีใครตอบได้ว่าต้นตอแท้จริงของปัญหาคืออะไร แต่เมื่อชีวิตหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก ถ้าจิตสำนึกทาง ‘มนุษยธรรม’ ยังพอมีอยู่บ้าง เหตุการณ์แบบหนังเรื่องนี้คงไม่บังเกิด
สิ่งที่ผมชื่นชอบสุดของหนังเรื่องนี้ คือการมาถึงของ +1 เด็กหญิงชาวในชุด Sailor พบเห็นครั้งแรกถูกเพื่อนๆกลั่นแกล้งเล่นแรงแช่งให้ตาย เลิกไปโรงเรียนนั่งเตร่อยู่ในสวนสาธารณะ รู้สึกว่าชีวิตของตนเองเกิดมาช่างไร้ค่าเสียเหลือเกิน แต่เมื่อเธอพบเจอเด็กๆทั้งสี่ที่มีสภาพชีวิตย่ำแย่เลวร้ายกว่าเสียอีก ปัญหาของตนเองเล็กขี้ประติ๋วไปเลย
Nobody Knows ไม่ใช่ภาพยนตร์แนว Tearjerker เรียกน้ำตาให้ไหลพรากๆ ทิชชู่หมดเป็นกระสอบ แต่เชื่อว่าหลายคนส่วนใหญ่ย่อมมิอาจสะกดกลั้นความเศร้าหดหู่ รู้สึกโชคดีเหลือเกินที่ชีวิตมิได้โหดร้ายสิ้นหวังแบบพวกเขา ถือเป็นบทเรียนสอน ‘มนุษย์ธรรม’ ปลูกฝังลงในจิตวิญญาณ ทรงคุณค่าระดับ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Hirokazu Kore-eda (เกิดปี 1962) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ตอนเด็กอาศัยอยู่กับแม่ (ไม่มีพ่อ) วาดฝันเป็นนักเขียนนิยาย โตขึ้นเข้าเรียนสาขาวรรณกรรมจาก Waseda University แต่ออกมาเลือกทำงานเป็นผู้ช่วยกำกับสารคดีโทรทัศน์อยู่ถึง 3 ปี ฉายเดี่ยวเรื่องแรก Lessons from a Calf (1991) มีผลงานทั้งหมด 8 เรื่อง, แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ Maborosi (1995) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ารางวัล Golden Osella ได้รับการจับตามองจากทั่วโลกโดยทันที
สไตล์ของ Kore-eda มีคำเรียก ‘Cine-Poems’ เรื่องราวมีสะท้อนสัมพันธ์เข้ากับชุมชน/เมือง/ป่าเขาธรรมชาติ รับอิทธิพลจาก Yasujirō Ozu, Hou Hsiao-hsien ในความเชื่องช้า นุ่มนวล ลุ่มลึกซึ้ง ชอบสร้างสถานการณ์ข้อจำกัด ตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต ครอบครัว การมีตัวตน/สูญหาย และมุ่งค้นหาหนทางออกดีสุดของปัญหาที่ไม่มีคำตอบ
ผลงานเด่นๆ อาทิ After Life (1998), Nobody Knows (2004), Still Walking (2008), Like Father, Like Son (2013), Our Little Sister (2015), The Third Murder (2017), Shoplifters (2018) ฯ
ภาพยนตร์ลำดับที่สาม Nobody Knows ได้แรงบันดาลใจจากคดีสะเทือนสังคมเมื่อปี 1988 ที่ Toshima Ward, Tokyo แม่ทิ้งลูกๆ 5 คน (ในหน้าหนังสือพิมพ์ใช้ชื่อเรียก A, B, C, D, E) ไว้ในอพาร์ทเมนต์เล็กๆ พร้อมเงินเพียง ¥50,000 ผ่านไป 9 เดือน เจ้าของห้องเช่าถึงค่อยติดต่อเรียกตำรวจกลายเป็นข่าวใหญ่ แต่พบเจอเด็กเพียง 3 คน A, B, D ป่วยโรคขาดสารอาหารรุนแรง เด็ก C ในสภาพศพทารก คาดว่าคงเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิดหมกอยู่ในกระเป๋าเดินทาง ส่วนเด็ก E สูญหายตัวไป ถูกเพื่อนของเด็กชาย A ทำร้ายเสียชีวิตนำศพฝังในป่าตรงไหนก็ไม่รู้, ซึ่งหลังจากแม่ของเด็กรับทราบข่าวก็รีบตรงเข้ามอบตัว รับโทษจำคุก 4 ปี ลดเหลือ 3 ปี ออกมาได้รับสิทธิ์เลี้ยงดูลูกสาว B, D ส่วนเด็กชาย A ถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจฯ (ดัดสันดาน)
Kore-eda หลังจากได้พบเห็นข่าวนี้ในหน้าหนังสือพิมพ์ เกิดความใคร่สนใจอย่างยิ่งยวด พัฒนาเค้าโครงบทร่างทั้งๆที่ตนเองตอนนั้นยังเป็นเพียงผู้ช่วยกำกับสารคดี คาดหวังสักวันคงมีโอกาสได้กำกับสร้างภาพยนตร์ โดยในตอนแรกตั้งชื่อว่า Wonderful Sunday เล่าเรื่องในมุมของพี่ชายคนโต Akira ตอนจบจะเป็นฉากความเพ้อฝันแฟนตาซี ที่ทุกคนในครอบครัว (รวมทั้งแม่ และพ่อๆอีก 4-5 คน) ได้หวนกลับมาพบเจอกันในเช้าวันอาทิตย์
15 ปีผ่านไป ความฝันนั้นถึงก็ได้กลายเป็นจริงเสียที
เรื่องราวของแม่ Keiko Fukushima (รับบทโดย YOU) กับลูกชายคนโตวัย 12 ขวบ Akira (รับบทโดย Yūya Yagira) อพยพย้ายเข้ามาพักอาศัยอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งในกรุง Tokyo แต่แท้จริงแล้วพวกเขาแอบหลบซ่อนน้องสองคนเล็กไว้ในกระเป๋าเดินทาง Shigeru กับ Yuki และลูกสาวคนรอง Kyoko นั่งรอคอยอยู่ยังสถานีรถไฟ
คาดว่าเหตุผลที่แม่ต้องหลบๆซ่อนๆลูกของตนเอง ไม่อนุญาตให้ออกไปเล่นนอกห้องหรือแม้แต่ตรงระเบียง เพราะเธอมองพวกเขาเป็นภาระวุ่นวาย นอกจากลูกชายคนโตเหมือนว่าน้องๆที่เหลือไม่ได้มีการแจ้งเกิดในทะเบียนราษฎร์ หรือถ้าส่งไปโรงเรียนหนังสือก็สิ้นเปลืองเสียเงินทองเปล่า ขณะที่อาชีพของแม่แม้ไม่พูดบอกตรงๆ แต่บางครั้งเงินทองได้เยอะแยะ น่าจะจากการหาลำไผ่พิเศษนอกเหนืองานประจำในห้างสรรพสินค้าเป็นแน่
หลังจากแม่ได้พบเจอแฟนหนุ่มคนใหม่ ก็ตัดสินใจหนีตามไปอยู่กับเขา ทิ้งน้องๆให้ Akira เป็นผู้ดูแล เดือนกว่าๆผ่านไปหวนกลับมาอย่างอารมณ์ดี แต่ครานี้ไปลับไม่เคยกลับมา เงินที่มีอยู่ค่อยๆร่อยหรอ ถูกตัดน้ำ ตัดไฟ อาหารการกินขอของหมดอายุจากร้านค้าใกล้บ้าน กฎระเบียบที่เคยร่วมสร้างกันไว้ค่อยๆหมดความศักดิ์สิทธิ์ ใช้ชีวิตตามมีตามเกิด จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุโศกนาฎกรรมขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิดถึง
(ถึงจะอ้างอิงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เนื้อเรื่องราวของหนังเขียนแต่งขึ้นใหม่ทั้งหมดนะครับ)
แผนการที่ Kore-eda วางแผนไว้ กินเวลาถ่ายทำ 1 ปีเต็ม 4 ฤดู แบ่งเรื่องราวออกเป็น 4 องก์ เขียนบท -> ถ่ายทำ -> ตัดต่อ เสร็จสิ้นฤดูกาลหนึ่งถึงค่อยเริ่มต้นพัฒนาองก์ถัดไป ไล่เรียงจากใบไม้ร่วง (Autumn) -> หนาว (Winter) -> ใบไม้ผลิ (Spring) -> ร้อน (Summer) นี่จะทำให้นักแสดงเติบโตขึ้นด้วย ซึ่ง Yūya Yagira (รับบท Akira) ถ้าสังเกตดีๆช่วงท้ายจะได้ยินเสียงแตกเนื้อหนุ่ม
สำหรับนักแสดงเริ่มค้นหาจากเด็กๆ หลังจากทดสอบหน้ากล้องมากมาย คัดเลือก 4 คนไม่เคยผ่านการแสดงมาก่อน เน้นนิสัยใจคอที่คล้ายคลึงกับตัวละครเป็นหลัก แล้วค่อยๆศึกษาหาความถนัดของพวกเขา เช่นว่า Yūya Yagira (รับบท Akira) มักเล่นดีขึ้นหลังจากผ่านไปหลายเทค, Ayu Kitaura (รับบท Kyōko) เยี่ยมพอๆกันทุกเทค, ส่วน Hiei Kimura (รับบท Shigeru) กับ Momoko Shimizu (รับบท Yuki) แสดงดีเฉพาะเทคแรกๆ
เกร็ด: ในบท Yuki ชื่นชอบกิน Strawberry Pocky แต่น้อง Momoko Shimizu ชอบกิน Apollo Choco หลังจากงอแงอยู่สักพัก ผู้กำกับก็เลยเปลี่ยนให้ Yuki ชอบกิน Apollo Choco แทน
Yūya Yagira (เกิดปี 1990) หลังจากแจ้งเกิดกับ Nobody Knows (2004) ได้รับติดต่อแสดงซีรีย์โทรทัศน์ มีผลงานภาพยนตร์ตามมาเรื่อยๆ อาทิ Unforgiven (2013), Gin Tama (2017) ฯ ปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในวงการ แต่คงไม่มีบทบาทไหนโดดเด่นเกินผลงานแจ้งเกิดอย่างแน่แท้
รับบท Akira เด็กชายที่กำลังแตกเนื้อหนุ่ม ต้องรับผิดชอบดูแลเอาใจใส่น้องๆเป็นหัวหน้าครอบครัว ขณะที่ความสนใจจริงๆของเขาคือเรียนหนังสือ คบเพื่อน (ตามประสาวัยรุ่น) อยากเล่นกีฬา กลายเป็นความทรงจำมิรู้ลืมเมื่อถูกจับลงสนามเล่นเบสบอล ซึ่งหลังจากเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นกับครอบครัว ตัดสินใจทำบางสิ่งอย่างเพื่อน้องเป็นครั้งสุดท้าย
ความเป็นธรมชาติในการแสดงของ Yagira ต้องถือว่ามาจากไดเรคชั่นของผู้กำกับ Kore-eda ที่เรียนรู้จักเข้าใจความสามารถของเขาอย่างถ่องแท้ สามารถดึงเอาช่วงขณะการแสดงยอดเยี่ยมดีที่สุดออกมาได้
Ayu Kitaura (เกิดปี 1992) หลังจากแจ้งเกิดใน Nobody Knows (2004) รับงานแสดงบ้างประปราย เหมือนจะรอคอยเวลาจนตนเองเรียนจบแล้วค่อยตัดสินใจเข้าสู่วงการบันเทิงเต็มตัว ปัจจุบันรับเชิญสมทบใน Mini-Series หลายเรื่อง
รับบท Kyōko พี่สาวคนโตอายุ 11 ขวบ เพราะได้ยินว่าพ่อเป็นนักดนตรี จึงมีความฝันอยากเล่นเปียโนเป็น หน้าที่ในบ้านคือซักผ้าทำความสะอาด ได้รับอนุญาตออกไปแค่ระเบียงเท่านั้น, เนื่องจากเด็กหญิงช่วงวัยนี้มักเติบโตเร็วกว่าเด็กชาย หลังจากแม่ทาเล็บให้ก็เลียนแบบสวยสะพรั่ง แต่ก็ต้องผิดหวังกลายเป็นดั่งนกในกรง
การแสดงของ Kitaura ค่อยข้างจะคงที่เสมอตัว หน้านิ่งๆ เหมือนเป็นคนเก็บกดจากอะไรบางอย่าง ซึ่งเรื่องราวของ Kyōko ค่อนข้างจะเชิงสัญลักษณ์เยอะทีเดียว เช่น น้ำยาทาเล็บหล่นหกรอยติดพื้น มองได้คือสัญลักษณ์แทนประจำเดือนครั้งแรกของเด็กสาว, หลบซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าของแม่ แสดงความหึงหวงอิจฉาริษยา และละอายหวาดกลัว (ต่อประจำเดือนของตนเอง) เพราะการมาถึงของ Saki ร่วมเล่นเปียโน คงได้ช่วยเหลือเธอไว้เยอะทีเดีย (อาทิ แนะนำวิธีการใช้ผ้าอนามัย ฯ)
Hiei Kimura (เกิดปี 1995) หลังแจ้งเกิดกับหนังเรื่องนี้ มีผลงานภาพยนตร์อีกเรื่อง Hana (2006) แล้วตัดสินใจเอาดีด้านอื่นแทน, รับบท Shigeru น้องชายคนเล็กอายุ 6 ขวบ เป็นคนขี้เล่นซุกซน ชอบส่งเสียงดัง เรียกร้องความสนใจพี่ๆ
Momoko Shimizu (เกิดปี 1997) หลังจากโด่งดังกับหนังเรื่องนี้ ได้แสดงภาพยนตร์อีกสองเรื่อง Train Man (2005), God’s Left Hand, Devil’s Right Hand (2006) แล้วผันตัวไปทำอย่างอื่นเช่นกัน, รับบท Yuki Fukushima น้องสาวคนเล็กอายุ 5 ขวบ ชื่นชอบการวาดรูปและกิน Apollo Choco ครั้งหนึ่งต้องการไปรอคอยแม่ที่สถานีรถไฟแต่ก็พบเจอความผิดหวัง และมีเพียงต้นไม้ในกระถางของเธอเท่านั้นที่เหี่ยวเฉาตายไป
Hanae Kan (เกิดปี 1990) เคยมีผลงานการแสดงก่อนหน้านี้ และหลังจากแจ้งเต็มตัว ก็ปักหลังอยู่ในวงการ มีผลงานตามมาเรื่อยๆถึงปัจจุบัน, รับบท Saki Mizuguchi เด็กสาวอายุรุ่นราวคราวเดียวกับ Akira หลังจากถูกเพื่อนๆที่โรงเรียนกลั่นแกล้ง ตัดสินใจเที่ยวเตร่จนได้พบเจอครอบครัว Fukushima พบเห็นสภาพอันโหดร้ายของพวกเขา ต้องการที่จะช่วยเหลือ แม้จะทำอะไรได้ไม่มากก็เถอะ
สำหรับบทแม่ Kora-eda ต้องการนักแสดงที่ผู้ชมพอจะเคยพบเห็นคุ้นหน้า มีไหวพริบไม่เสแสร้งว่าตนเองเป็นคนดี ก็ได้พบเจอกับนักร้อง YOU เห็นในโทรทัศน์นัดเจอที่ร้านอาหาร ซึ่งเธอมีลักษณะนิสัยตรงกับความต้องการมากๆ แม้เจ้าตัวแสดงความหวาดหวั่นไม่ชอบท่องจำบท แต่พอผู้กำกับบอกวิธีการทำงานของตนเอง ก็ยินยอมตกลงโดยทันที
YOU ชื่อจริง Ehara Yukiko (เกิดปี 1964) นักร้อง นักแสดง โมเดลลิ่ง หลังแจ้งเกิดกับซิงเกิ้ง Chotto Dake (1985) รวมกลุ่มวง Fairchild มีผลงานแสดงบ้างประปราย Nobody Knows (2004), Be with You (2004), Still Walking (2008) ฯ
รับบทแม่ Keiko Fukushima ตอนแรกเหมือนเป็นคนรักเอ็นดูลูกๆของตนอย่างยิ่ง แต่แท้จริงเสแสร้งแกล้งแสดงออก มีความสนใจเพียงความสุขบำบัดตัณหาของตนเองเท่านั้น
น้ำเสียงลีลาการพูดของ YOU เดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำไล่ระดับขึ้นลงลื่นไหล ให้สัมผัสของการเสแสร้งปั้นแต่งมากๆ เว้นเพียงตอนบอก Akira ว่าตกหลุมรักชายคนหนึ่ง เต็มไปด้วยความเคลิบเคลิ้มหลงใหล นั่นคงคือความต้องการแท้จริงของตนเองกระมัง
ไดเรคชั่นของการถ่ายทำ จะไม่มีซักซ้อมล่วงหน้าแต่จะใช้เวลาเตรียมตัวอย่างมาก
– สำหรับเด็กๆ จะไม่มีการอธิบายรายละเอียดอะไรมาก มักปล่อยอิสระโดยจำลองสร้างสถานการณ์ขึ้นมา อาทิ ถามคำถามแล้วให้แสดงความคิดเห็น หรือกระทำสิ่งที่ตนเองครุ่นคิดได้ออกมา แล้วกล้องจะแอบถ่ายเก็บรายละเอียดโดยบางทีพวกเขาไม่รู้ตนเองเสียด้วยซ้ำ
– สำหรับผู้ใหญ่ มักใช้การมอบโจทย์ประจำวันแล้วแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พูดคุยถึงสิ่งที่อยากนำเสนอแสดงออกมา
ถ่ายภาพโดย Yutaka Yamasaki ขาประจำช่วงแรกๆของผู้กำกับ Kora-eda อาทิ After Life (1998), Nobody Knows (2004), Still Walking (2008) ฯ และเคยเป็นตากล้องหนังเรื่อง Babel (2006) ฉากที่ถ่ายทำในประเทศญี่ปุ่น
ประมาณ 70% ของหนัง ถ่ายทำในอพาร์ทเม้นท์เล็กๆใน Tokyo ซึ่งถูกเช่าเหมารายปี (ถ่ายทำก็เต็มปีเช่นกัน) ซึ่งเวลาไม่ได้ถ่ายทำก็เป็นสถานที่หลับนอนพักผ่อนของผู้ช่วย/ทีมงาน จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปกลับบ้านบ่อยๆ
หนังใช้ภาพ Close-Up อย่างมาก เก็บรายละเอียดอาทิ มือจับ เท้าเดิน วาดภาพ โดยเฉพาะใบหน้าของเด็กๆ มักมีลักษณะเหมือนการหลบมุมแอบถ่าย ตอนที่ไม่ค่อยรู้ตัวเองนัก ด้วยกล้อง Hand Held ฟีล์มขนาด 16mm ใช้แสงธรรมชาติล้วนๆ ได้ภาพสั่นๆก็เหมือนชีวิตของพวกเขาที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้
ช็อตที่เครดิตของหนังปรากฎขึ้น เป็นการซ้อนภาพระหว่าง
– เด็กสองคนพร้อมกระเป๋าเดินทางอยู่บนรถไฟ
– ภาพยามค่ำคืนเต็มไปด้วยแสงไฟของเมือง Tokyo
ความหมายของช็อตนี้ คือเรื่องราวการเดินทางของเด็กๆ ท่ามกลางกรุง Tokyo ที่ไม่มีใครรับล่วงรู้มาก่อน
ความเจ๋งของผู้กำกับ Kore-eda คือการเลือกถ่ายภาพสถานที่ซ้ำๆ ห้างสรรพสินค้า เดินขึ้นลงบันได เสาไฟฟ้า สายไฟ รถไฟฟ้า ลำธาร ฯ ซึ่งล้วนแฝงนัยยะความหมายบางสิ่งอย่าง สร้างสัมผัสให้กับเรื่องราวจนมีความเป็น ‘Poetic Film’
บันได ขึ้นๆลงๆ มักสะท้อนช่วงเวลาสุขบ้างทุกข์บ้างของเด็กๆ, ช็อตนี้น่าสนใจตรงมีสองฝั่งซ้ายขวา บางทีมีคนนั่งอยู่ บางครั้งว่างเปล่า คนเดินสวนขึ้นลง มากับเพื่อน ฯ
หลายๆอย่างของหนัง คือการเริ่มต้นครั้งแรกทั้งนั้น โตเป็นหนุ่ม, ประจำเดือน, พนักงานหัดม้วนถุง (ผมเห็นช็อตนี้เหมือนม้วนถุงยางยังไงชอบกล)
แม่และ Akira พูดคุยกันตรงระเบียงห้อง สารภาพว่ากำลังตกหลุมรักครั้งใหม่ น้ำเสียงของเธอราวกับนกน้อยที่อยากโผลบินออกจากรัง ขณะที่เด็กชายเต็มไปด้วยความเบื่อเซ็งอีกแล้วเหรอนี่
ซึ่งแม่ก็ได้โผลบินหนีออกจากรังไปจริงๆเสียด้วย
สายน้ำลำธารเคลื่อนไหลไปตามกระแส แม้จะในทางทิศโค้งมนกลับมีความมั่นคงตลอดเวลา แต่ชีวิตของเด็กๆเดี๋ยวเดิน เดี๋ยววิ่ง เดี๋ยวหยุดยืนมอง เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้สักอย่าง
ภาพเงาของต้นไม้ที่เต็มไปด้วยกิ่งก้านไร้ใบในช่วงฤดูหนาว สะท้อนเข้ากับชีวิตเด็กๆที่แทบไม่หลงอะไรอีกแล้ว พ่อ-แม่ทอดทิ้งไม่เหลียวแล เป็นได้เพียงเงาชีวิตของพวกเขาเท่านั้น
ตอนที่น้องสาวคนเล็กขอพี่เพื่อไปรอแม่ยังสถานีรถไฟ ใครๆคงรับรู้ได้ว่าคงต้องพบเจอความผิดหวัง เดินทางกลับบ้านอย่างอ้างว้างเดียวดายบนถนนไร้รถและผู้คน ตรงเส้นกึ่งกลางถนนพอดิบพอดี
แซว: น้องคนเล็กเดินมาถึงลูกศรกากบาทตรงพื้นก่อนตัดไปช็อตถัดไป … นี่มัน Death Flag เลยนะ
ช็อตหลังจากนี้สองพี่น้องจะเงยหน้าขึ้นมองเห็นรถไฟสองขบวนวิ่งสวนกัน มีความหมายถึงการติดอยู่กึ่งกลางระหว่างของพวกเขา ในสถานการณ์ที่ก็ไม่รู้จะครุ่นคิดทำอะไรต่อไปดี
เมื่อแม่ไม่กลับมาสักที จุดๆหนึ่งในชีวิต Akira ตัดสินใจพาน้องๆออกจากห้องที่แสนอับเหม็น วิ่งเล่นเรื่อยเปื่อยในสวนสาธารณะ, หนึ่งในเครื่องเล่นรูปลักษณะทรงกลมหมุนรอบ เด็กๆทั้งสี่ต่างเกาะแก่งปีนป่าย ราวกับว่านั่นคือโลกทั้งใบของพวกเขา
(สัญลักษณ์ซ้ำๆแบบนี้ คงพบเห็นรีไซเคิลบ่อยทีเดียวในหนังของ Kore-eda)
เด็กๆเริ่มปลูกต้นไม้หลังจากได้ออกจากห้องเป็นครั้งแรก, ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตมีชีวิต ซึ่งจะมี Death Flag สำหรับตัวละครหนึ่ง ต้นไม้เฉาตาย เลยกลายเป็นชะตากรรมตอนจบ
มุมเงยช็อตนี้ติดสายไฟและท้องฟ้า
– ท้องฟ้าคืออิสรภาพของชีวิต
– สายไฟคือสิ่งกั้นขวางพาดผ่านไม่ให้มนุษย์ได้พบเจออิสรภาพนั้น
เบสบอล เป็นกีฬาที่มีสองนัยยะ
1) ต้องตีให้ถูกลูก ทำโฮมรันจะได้วิ่งเข้าเส้นชัยได้คะแนนเต็ม นี่สะท้อนถึงความเพ้อฝันในเป้าหมายชีวิตของเด็กชาย Akira
2) เมื่อเป็นฝ่ายตั้งรับ ตำแหน่งของเขาคือเด็กเก็บบอลรอบนอก ที่ดูเหมือนไม่ได้มีความสำคัญสักเท่าไหร่ แต่คือผู้เก็บกวาดสิ่งตกหล่นเหลือขอ
ช็อตนี้ที่โค้ชสอนให้ Akira เรียนรู้จักการจับไม้เบสบอลให้แน่นๆ มองมุมหนึ่งแทนสัญลักษณ์ พ่อ-ลูก เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตของเด็กชาย อีกมุมมองหนึ่งคือให้มั่นคงเข็มแข็งหนักแน่นในภาระรับผิดชอบของตนเอง
โศกนาฎกรรมของความไร้เดียงสา เด็กน้อยตกจากเก้าอี้ ชวนให้นึกถึงหนังเรื่อง The Spirit of the Beehive (1973) ที่คงทำเอาจิตใจของหลายคนหล่นตกไปอยู่ตาตุ่ม
เมื่อ Akira รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น ภาพที่เขามองเห็นจะดูสว่างจ้าขึ้นกว่าปกติ สะท้อนความลุ่มร้อนรวดร้าวทุกข์ทรมาน จะมีช็อตโรงพัก, ร้านขายของ, ห้างสรรพสินค้า และเด็กหญิงคนนี้ที่ชวนให้หวนระลึกถึงเสียเหลือเกิน
ฟ้าครามรุ่งอรุณวันใหม่ ภาพพื้นหลังน่าจะคือสะพานที่ยังสร้างไม่เสร็จถึงอีกฝั่ง ขณะที่เด็กๆ Akira เดินมาจากด้านซ้าย Saki เดินจากหลังกล้องตรงไปที่หลุมฝังศพ พวกเขาคงใช้เวลาขุดกันทั้งคืนเลยทีเดียว
ผมมองสะพานที่ยังสร้างไม่เสร็จ แทนด้วยชีวิตของเด็กน้อยที่จากไปก่อนวัยอันควร, Akira เดินมาจากด้านข้าง (ฝั่งสะพานที่ยังสร้างไม่เสร็จ) สะท้อนถึงความรู้สึกผิด/รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะนี่ได้ทำให้ชีวิตที่เคยสมบูรณ์ขาดหายไป, Saki คือคนนอกครอบครัวไม่ได้อยู่ในเส้นทางของสะพาน แต่เธอเลือกเดินเข้ามาเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้แบบตรงไปตรงมา
หนังจบแบบปลายเปิด ชีวิตของพวกเขายังคงต้องเดินทางต่อไป ข้ามสะพาน (ข้ามผ่านความตาย) ขึ้นรถไฟ (สัญลักษณ์การเดินทางของชีวิต) เดินข้ามถนน และช็อตนี้เงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ยังคงวาดฝันถึงอนาคตที่มีชีวิตสุขสดใส (ช็อตนี้จะตรงกันข้ามกับตรงกลางเรื่อง ที่ Akira และน้องสาว เงยหน้ามองรถไฟในยามค่ำคืนมืดมิดสนิท)
ตัดต่อโดย Hirokazu Kore-eda, หนังเล่าเรื่องในมุมมองของเด็กชาย Akira Fukushima เริ่มจากขณะนั่งอยู่บนรถไฟ กำลังเดินทางสู่สนามบินเพื่อเติมเต็มคำสัญญากับน้องสาว ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดถือเป็นการหวนระลึกความทรงจำในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา
ลักษณะของเรื่องราวคือการตามติดชีวิตประจำวันของเด็กๆ มีความคล้ายคลึงกับรูปแบบสารคดีที่นำหลายๆสิ่งมาร้อยเรียงประติดประต่อจนได้เป็นเหตุการณ์ ขณะเดียวกันก็จะเชื่อมต่อประสานด้วยภาพที่เป็น Poetic Shot แฝงนัยยะความหมายที่สะท้อนกับเรื่องราวช่วงขณะนั้นๆ
4 องก์ของหนัง ตั้งชื่อตามฤดูกาล แต่ผมว่ามันก็แบ่งแยกออกจากกันไม่ค่อยได้เด่นชัดสักเท่าไหร่
– ใบไม้ร่วง (Autumn) เริ่มต้นตั้งแต่เข้าไปอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ห้องใหม่ จบสิ้นที่ตอนแม่ร่ำลาจาก Akira ที่สถานีรถไฟ สัญญาว่าจะกลับมาคริสต์มาสแต่ก็หายลับไปเลย
– หนาว (Winter) ช่วงคริสต์มาสใส่เสื้อกันหนาวหนาเตอะ เงินทองยังพอมีมากอยู่แต่ค่อยๆร่อยหรอ พบเจอสองพ่อแต่ก็พึ่งพาอะไรไม่ได้ จบที่ Akira พาน้องสาวไปรอแม่ที่สถานีรถไฟ
– ใบไม้ผลิ (Spring) เมื่อน้ำไฟถูกตัด ทำให้ต้องออกไปใช้ของสาธารณะ จบตอนชักชวน Keiko มาที่บ้าน
– ร้อน (Summer) อากาศร้อนสวมเสื้อแขนสั้น น้องชายถอดเสื้อไปไหนมาไหน จบที่โศกนาฎกรรมการสูญเสีย
ช่วงองก์สุดท้ายของหนัง น่าจะเป็นครั้งเดียวเท่านั้นที่มีการตัดสลับไปมาระหว่างสองเหตุการณ์
– Akira ได้เข้าร่วมแข่งขันเบสบอล
– อุบัติเหตุโศกนาฎกรรมบางอย่างเกิดขึ้นที่บ้าน
ช่วงเวลาสุขสนุกที่สุด กับทุกข์โศกเศร้าที่สุด มิได้มีความแตกต่างกันในมุมมองของชีวิต หนำซ้ำยังสามารถเติมเต็มกันและกันเหมือนหยิน-หยาง ขาว-ดำ สุข-ทุกข์ สัจธรรมของโลก
เพลงประกอบโดย Gontiti คู่ดูโอ้นักกีตาร์โปร่ง Masahiko ‘Gonzalez’ Mikami กับ Masahide ‘Titi’ Matsumura ซึ่งเราก็จะได้ยินเสียงกีตาร์ประกอบเป็นพื้นหลังสร้างจังหวะให้สอดคล้องกับเรื่องราว มากกว่าจะเป็นการสะท้อนแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร
เพราะผู้กำกับ Kore-eda ไม่ได้ต้องการให้หนังออกไปในทาง Tearjerker บีบเรียกน้ำตาผู้ชม บทเพลงเลยมีลักษณะคล้ายภาพวาด Impressionist เน้นสร้างสัมผัสให้สอดคล้องกับเรื่องราว เช่นว่า อารมณ์สนุกสนานตื่นเต้นจังหวะเสียงกีตาร์จะมีความรวดเร็วรุกเร้า เวลาสับสนเศร้าหมองก็จะเชื่องช้าเอื่อยเฉื่อย ถือเป็นส่วนหนึ่งในภาษาของ ‘Poetic Film’
อีกเพลงหนึ่ง Yakusoku แปลว่าคำสัญญา, ฉากที่ Akira พาน้องสาวไปรอแม่ที่สถานีรถไฟ แต่ก็ต้องพบเจอความผิดหวัง นี่หมายถึงคำสัญญาที่มีเพียงคำโป้ปดหลอกลวง มันช่างเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานเสียเหลือเกิน
บทเพลงที่ดังขึ้นหลังจากการฝังศพน้องสาวเสร็จสิ้นชื่อ Hōseki แปลว่าอัญมณีของมีค่า ขับร้องโดย Takako Tate ที่มารับเชิญในหนังด้วย รับบทพนักงานหญิงจอมเฟอะฟะ และช่วยเขียนหนังสือ ให้กำลังใจกับ Akira สู้ชีวิตต่อไป
ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งในญี่ปุ่น ในช่วงทศวรรษ 70s – 80s ล้วนมีอิทธิพลต่อเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 คนรุ่นที่เกิดหลังช่วงเวลานั้น ด้วยสภาพบรรยากาศสังคม และการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด ระบอบทุนนิยมเข้ามามีผลกระทบต่อชีวิตอย่างมาก ส่งผลให้มีทั้งผู้ตามทันและล้าหลัง พ่อ-แม่ของหนังเรื่องนี้ถือว่าคือประเภทสอง วันๆยังแทบเอาตัวไม่รอดจะมีปัญญาที่ไหนเลี้ยงดูแลผู้อื่น พบเจอความสุขเล็กๆก็ต้องรีบไขว่คว้าหา จิตสำนึก ‘มนุษยธรรม’ ค่อยๆลบเลือนหายไปในสังคม
เพราะแบบนี้การจะโทษว่าเป็นความผิดของพ่อ-แม่ ก็อย่างที่ผมกล่าวไปตอนต้น ‘มันคงตื้นเขินเกินไป’ ส่วนตัวรู้สึกว่าแม่ Keiko ก็ไม่ได้อยากทอดทิ้งลูกๆในไส้ไปจริงๆหรอก (แม่ตัวจริงที่ทอดทิ้งลูก ยังยอมมอบตัวกับตำรวจ แสดงความรู้สำนึกผิดเลย) แต่เพราะชีวิตของตนเองยังแทบเอาตัวไม่รอด พบเจอความสุขเล็กๆก็โหยหาไว้ครอบครองเห็นแก่ตัว มันผิดตรงไหน? โลกทัศน์ของคนเหล่านี้ย่อมมองว่ามันไม่ใช่สิ่งผิดอย่างแน่นอน เพราะตั้งแต่เด็กอาจไม่เคยได้รับการปลูกฝังชี้ชักนำความคิดที่ถูกต้อง เช่นนั้นแล้วจะให้รู้จักแสดงออกสิ่งเหมาะสมได้เช่นไร
เด็กๆในหนังเรื่องนี้ ช่วงแรกเมื่อมีแม่เป็นผู้ชี้ชักนำเสี้ยมสอนสิ่งต่างๆ ทุกสิ่งอย่างแสดงออกเลยค่อนข้างจะในหนทางถูกต้องเหมาะสม แต่เมื่อเธอจากไป อะไรๆก็เริ่มพลังทลายหมดคุณค่าความหมาย บ้านไม่เคยปัดกวาดเช็ดถูก ขยะเต็มถังเลิกนำไปทิ้ง เคยมีกฎห้ามออกระเบียงนอกบ้านก็แหกออกเลิกสนใจใยดี จริงอยู่นั่นคืออิสรภาพเสรี แต่เพราะความไม่รู้ไร้เดียงสาจึงขาดความรับผิดชอบธรรม มุมลับๆที่ไม่มีใครรู้ ด้านมืดที่สังคมมองข้าม แสร้งทำเป็นเพิกเฉนหลับตามองไม่เห็น
ก็จนกว่าจะมีใครสักคน ชีวิตเต็มไปด้วยปัญหาแย่ๆแบบ Saki ผมคิดว่าเธออาจครุ่นคิดฆ่าตัวตายด้วยซ้ำถ้าไม่ได้พบเจอกับครอบครัว Fukushima (การถูกเพื่อนกลั่นแกล้งในสังคมญี่ปุ่น มันเลวร้ายมากๆเลยนะ เด็กบางคนวุฒิภาวะไม่พอก็อาจหลงผิดคิดสั้น พบเจอบ่อยครั้งเป็นว่าเล่นถมไป) นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมหลั่งน้ำตาแบบเข้าใจเลยว่า ยังมีผู้คนอีกมากในโลกที่ประสบพบเจอสิ่งเลวร้ายยิ่งกว่าตนเอง ถือเป็นความโชคดีมากๆของเธอแล้วมีชีวิตสุขสบาย พ่อแม่เลี้ยงดูตามใจ มีโอกาสเข้าเรียนหนังสืออนาคตเติบใหญ่ จะไปครุ่นคิดอะไรมากกับเรื่องเล็กๆไร้สาระที่ตนประสบมา
ทำไมถึงต้องน้องคนเล็ก Yuki (แปลว่าหิมะ) คิดว่าน่าจะเป็นการสะท้อนถึงความน่ารักใสซื่อบริสุทธิ์ ไร้เดียงสาตามวัย ยังมิอาจรับรู้ถึงภัยอันตรายและสิ่งถูกต้องเหมาะสมในการกระทำ, ขณะโอบเอื้อมไขว่คว้าสิ่งอยู่สูงกว่าตนเอง ถ้าพื้นฐาน(ครอบครัว)เกิดการสั่นคลอนไม่มั่นคง (ไม่ได้รับคำแนะนำสั่งสอนที่ถูกต้อง) ย่อมมีโอกาสพลาดพลั้งตกลงมากลายเป็นโศกนาฎกรรม
สถานที่ฝังศพคือสนามบินแห่งหนึ่ง พบเห็นเครื่องขึ้นลงจอด มองมุมหนึ่งเหมือนเพื่อส่งวิญญาณของเธอขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ขณะเดียวกันคือความคาดหวังต่ออนาคตที่จะทะยานสู่ความยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น จำเป็นอย่างยิ่งต้องกลบฝังความผิดพลาดนี้ ยอมรับเผชิญหน้าปัญหา เพื่อมิให้มันหวนย้อนกลับคืนขึ้นมาบังเกิดขึ้นซ้ำอีก
ใจความของหนังเรื่องนี้ สามารถมองอีกมุมนำเสนอการเจริญเติบโตวิวัฒนาการของชีวิต จากเด็กสู่วัยรุ่น พอดิบพอดีกับตอนที่แม่หายตัวจากไป สื่อถึงว่านั่นคือช่วงวัยที่มนุษย์สมควรต้องสามารถเริ่มต้นดูแลตนเอง เป็นที่พึ่งพาของผู้อื่นได้แล้ว?
ความรู้สึกของหลายๆคนต่อหญิงชายอายุ 11-12 อาจรู้สึกพวกเขายังเด็กน้อยเกินไป แต่อย่าลืมว่าร่างกายของมนุษย์ เมื่อชายผลิตอสุจิ หญิงตกไข่มีประจำเดือน ถือว่าเจริญวัยพร้อมสืบพันธุ์ได้ตามธรรมชาติสร้างแล้ว คือถ้าเป็นสัตว์อื่นพอเกิดอารมณ์ติดสัดปุ๊ปก็วิ่งไล่ฟัดเอากันท้องมีลูกแล้ว แค่ว่ามนุษย์จะมีบางสิ่งยับยั้งชั่งใจเอาไว้ก่อน ข้ออ้างวุฒิภาวะตามกฎหมายกำหนดที่ 16-17-18 บางประเทศ 20-21 ด้วยซ้ำ แต่ของแบบนี้มันวัดกันที่ตัวเลขได้ด้วยหรือ? … Nobody Knows
ถึงตอนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับ Kora-eda จะยังไม่มีลูกของตนเอง (ไม่รู้แต่งงานหรือยังนะ) แต่เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า
“I don’t know if I like children in general, but I like the kids in the film very much. I felt a great responsibility towards them, which made me want to show their personal emotions in the film”.
ตอนที่พาเด็กๆไปเที่ยวเล่นเทศกาลหนังเมือง Cannes กลับมาพวกเขาวาดรูปนี้ให้เป็นที่ระลึก, รูปบนของ Momoko Shimizu (รับบท Yuki) รูปล่างของ Ayu Kitaura (รับบท Kyōko)
ระหว่างที่ผมหาข้อมูลเขียนถึงหนัง บังเอิญผ่านตาเข้าไปในทวิตเตอร์ของ Hanae Kan เห็นภาพรวมรุ่น Nobody Know ที่โตเป็นหนุ่มสาวกันถ้วนหน้า ซึ่ง Yūya Yagira เห็นว่าได้แต่งงานมีครอบครัวภรรยาสวยมากกก เวลาช่างผ่านไปเร็วเสียจริง (ที่ Hanae Kan โพสภาพนั้น คงเพราะ Kore-eda เพิ่งคว้ารางวัล Palme d’Or กับ Shoplifters ถือเป็นการแสดงความยินดียกย่องผู้กำกับที่ทำสำเร็จสักที)
ครั้งเก่าแก่สุดที่ผมรับรู้ในความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้กำกับ-นักแสดง คือ The 400 Blows (1959) ระหว่าง François Truffaut แทบจะกลายเป็นพ่อคนที่สองของ Jean-Pierre Léaud ในเมืองไทยเราก็มีนะ แก๊งค์แฟนฉันเห็นเลี้ยงรุ่นกันเรื่อยๆแทบทุกปี ว่าไปนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ส่วนตัวรู้สึกซาบซึ้งกินใจมากกว่าหนังทั้งเรื่องที่รับชมมาเสียอีก
เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้จะพลาด Palme d’Or ให้สารคดี Fahrenheit 9/11 (2004) แต่ก็ปลอบใจกับ Best Actor (Yûya Yagira) ขณะอายุ 12 ปี กลายเป็นสถิติอายุน้อยที่สุดของรางวัลนี้โดยปริยาย
ขณะที่ในญี่ปุ่น หนังหนังคว้ารางวัล Best Film และอีกหลายรางวัลจาก Blue Ribbon Awards กับ Kinema Junpo Awards แต่ถูกมองข้ามโดยสิ้นเชิงจาก Japan Academy Award กับ Mainichi Film Concours
ด้วยความยาว 141 นาที ทำเอาผมหาวแล้วหาวอีก คือถ้าครุ่นคิดความหมายของภาพ Montage ตามไปเรื่อยๆคงไม่เบื่อแน่ ซึ่งเมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็อาจเริ่มเบื่อ หมดสมาธิ หันมองนาฬิกา มันจะเชื่องช้าไปไหน แต่นี่ไม่ใช่ข้อเสียของหนังนะครับ ผมผิดเองที่ทำงานหนักนอนดึกไปหน่อย *-*
แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัยรุ่นรู้จักความรับผิดชอบบ้างนะเว้ยเห้ย! คู่รักหนุ่มสาว พร้อมมีน้องไหมก็คิดให้ดี, สามี-ภรรยา คิดเรื่องหย่าร้างหาข้อสรุปไม่ได้เรื่องลูก, นักสังคมสงคราะห์ ทำงานเกี่ยวกับวัยรุ่นและเด็ก, แฟนๆผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG กับพฤติกรรมเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่
Leave a Reply