Norwegian Wood

Norwegian Wood (2010) Japanese : Trần Anh Hùng ♥♥♥♥♡

ถูกโจมตีจากแฟนคลับของ Haruki Murakami ว่าฉบับดัดแปลงภาพยนตร์เพียงบทสรุปเนื้อหา ตัดทอนรายละเอียด ลดบทบาทตัวละครสำคัญ แต่ความงดงามของ Norwegian Wood (2010) คือสัมผัสกวีภาพยนตร์ ทำให้ผู้ชมมอดไหม้ไปกับการสูญเสียรักครั้งแรก

ผมเข้าใจความผิดหวังของคนเคยอ่านนวนิยายแล้วมารับชมภาพยนตร์ ย่อมพบเห็นสิ่งขัดหูขัดตา เนื้อหารายละเอียดขาดๆเกินๆ ไร้มนต์เสน่ห์ในแบบฉบับ Murakami แต่ทว่าวรรณกรรมกับภาพยนตร์มันคนละศาสตร์กันนะครับ!

ผมไม่เคยอ่านต้นฉบับนวนิยาย และไม่คิดจะหยิบมาอ่านด้วย เพราะเชื่อว่าอาจทำลายภาพความประทับใจต่อภาพยนตร์ รายละเอียดบางอย่างปล่อยทิ้งไว้ให้คลุมเคลือ ค้างๆคาๆ ย่อมดีกว่ารับรู้เนื้อหา คำอธิบายความครุ่นคิดทั้งหมด … แน่นอนว่าฉบับนวนิยายย่อมมีอะไรๆมากกว่าภาพยนตร์ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากหลีกเลี่ยง เพราะลีลาการนำเสนอของผกก. Trần Anh Hùng สร้างพื้นที่สำหรับให้ผู้ชมปลดปล่อยจินตนาการได้อย่างเสรี เพียงพอดีอยู่แล้ว!

เมื่อตอนผมรับชม Norwegian Wood (2010) ในโรงภาพยนตร์ (จำไม่ได้ว่าดูที่ House หรือ Scala) เกิดอาการท้องไส้ปั่นป่วน กินไม่ได้นอนไม่หลับอยู่หลายวัน แต่ตอนนั้นยังไม่เข้าใจตนเองว่าชอบ-ไม่ชอบ เอาจริงๆดูไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำว่ามีเนื้อหาอะไร เพียงสัมผัสทางอารมณ์ มอดไหม้ทรวงใน … น่าเสียดายบทความที่ผมเคยเพ้อรำพันตอนสมัยเรียน (ก่อนทำ raremeat.blog) ล่องจุ๊นไปกับ Exteen.com

หวนกลับมารับชมคราวนี้ บังเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ ดูรู้เรื่องว่าเกี่ยวกับการสูญเสียรักครั้งแรก คล้ายๆกับ Burning (2018) ที่ก็ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ Haruki Murakami แม้ลีลากำกับ/สไตล์ลายเซ็นต์ของ Lee Chang-dong ทำออกมาได้ทรงพลังตราตรึงกว่า แต่ทว่า Trần Anh Hùng ก็สร้างสัมผัสกวีภาพยนตร์ งดงามวิจิตรศิลป์ไม่แพ้กัน … สไตล์ภาพยนตร์ของทั้งสองแตกต่างกันประมาณ ร้อยแก้ว (prose) vs. ร้อยกรอง (verse) แล้วแต่ความชื่นชอบส่วนบุคคล

รับชม Norwegian Wood (2010) แนะนำเปิดใจกว้างสักนิด เพราะตัวละครสนทนาแต่เรื่องรักๆใคร่ๆ แนวคิดสมัยใหม่ “ความรัก ≠ เพศสัมพันธ์” รวมถึงลองสังเกตรายละเอียดสถานที่พื้นหลัง ครุ่นคิดหาความสัมพันธ์กับเรื่องราวบังเกิดขึ้น ซึ่งนั่นอาจทำให้คุณพบเห็นความงดงาม สัมผัสกวีภาพยนตร์ คลอประกอบบทเพลงเพราะๆ … เหมาะสำหรับคนอกหัก สูญเสียคนรัก จากไปอย่างไม่มีวันกลับ

ระหว่างอ่านบทความนี้ แนะนำให้รับฟังบทเพลงที่เป็นแรงบันดาลใจ Norwegian Wood (This Bird Has Flown) แต่งโดย Lennon–McCartney (John Lennon & Paul McCartney), ต้นฉบับขับร้องโดยวง The Beatles, ประกอบอัลบัม Rubber Soul (1965), ทำออกมาในบรรยากาศเพื่อชีวิต Bob Dylan และมีการบรรเลง Sitra (กีตาร์ของชาวอินเดีย) โดย George Harrison (ลูกศิษย์ของ Ravi Shankar) กลายเป็นจุดเริ่มต้น Raga Rock, Psychedelic Rock และช่วยเผยแพร่ Indian Classical Music สู่โลกตะวันตก

เกร็ด: บทเพลง Norwegian Wood (This Bird Has Flown) ได้รับการโหวตติดอันดับ #83 นิตยสาร Rolling Stone: The 500 Greatest Songs of All Time (2004)

ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Haruki Murakami, 村上 春樹 (เกิดปี 1949) นักเขียนเรื่องสั้น นวนิยายขายดี สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Fushimi-ku, Kyoto บิดาเป็นนักบวชศาสนาพุทธ (ผมไม่เรียกพระสงฆ์ เพราะนักบวชพุทธในญี่ปุ่นแต่งงานมีภรรยาได้) พานผ่านสงคราม Second Sino-Japanese War (1937-45) ได้รับความบอบช้ำทางจิตใจอย่างหนัก จนส่งผลกระทบถึงบุตรชาย, วัยเด็กได้รับอิทธิพลมากมายจากตะวันตก ชื่นชอบการอ่าน หลงใหลดนตรีแจ๊ส โตขึ้นสอบเข้าเรียนการละคอน Waseda University จบออกมาทำงานร้านขายแผ่นเสียง เก็บหอมรอมริดจนสามารถเปิดร้านกาแฟและบาร์แจ๊ส (Coffee House & Jazz Bar) ตั้งชื่อว่า Peter Cat (ตามชื่อแมวตัวโปรด), ตอนอายุ 29 ปี ทดลองเขียนนวนิยายเล่มแรก Hear the Wind Sing (1979) ชนะการประกวดอะไรสักอย่าง กลายเป็นแรงผลักดันค่อยๆผันตัวสู่วงการนักเขียน

ผลงานในช่วงแรกๆของ Murakami ไม่ค่อยได้เสียงตอบรับที่ดีจากนักวิจารณ์(ญี่ปุ่น)สักเท่าไหร่ เพราะรับอิทธิพลจากวรรณกรรมตะวันตกค่อนข้างมาก มักเขียนเรื่องราวเหนือธรรมชาติ ไร้ซึ่งความเป็นญี่ปุ่น จนได้รับฉายาแกะดำ (Black Sheep in the Japanese literary world) แต่กลับเป็นที่ถูกอกถูกใจวัยรุ่น คนหนุ่มสาว นักอ่านใหม่ๆ เพราะสามารถจับต้องจิตวิญญาณร่วมสมัย “capture the spirit of his generation” สะท้อนความรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว โหยหาความรัก วิพากย์วิจารณ์ลัทธิทุนนิยม ทำให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ตกต่ำทรามลง

สำหรับนวนิยายลำดับที่ห้า Norwegian Wood (1987) หลายคนคงมีความเข้าใจผิดๆ ครุ่นคิดว่าได้แรงบันดาลใจจากบทเพลงฮิตของ The Beatles แม้ในเรื่องราวจะมีการอ้างอิงถึง แต่ความตั้งใจแรกของ Murakami เพียงแค่ต้องการทดลองเขียนผลงานที่มีความเป็น ‘realistic’ ตรงไปตรงมา และเข้าสู่กระแสหลัก (mainstream)

พล็อตของ Norwegian Wood ได้แรงบันดาลใจ/ดัดแปลงจากเรื่องสั้นที่เคยเขียนไว้ 螢 (1983) อ่านว่า Hotaru แปลว่า Firefly ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าเคยตีพิมพ์ลงนิตยสารฉบับไหน แต่ปัจจุบันรวบรวมอยู่ใน 24 เรื่องสั้น Blind Willow, Sleeping Woman (2006)

เรื่องสั้น Firefly ผู้แต่ง Murakami ให้อธิบายถึงการคร่ำครวญ หวนระลึกความทรงจำ ภาพภูมิทัศน์ญี่ปุ่นที่ปรับเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน(นั้น) ดังคำอธิบายหิ่งห้อย …

The firefly made a faint glow in the bottom of the jar, its light too weak, its color too pale. I hadn’t seen a firefly in years, but the ones in my memory sent a far more intense light into the summer darkness, and that brilliant, burning image was the one that had stayed with me all that time.

Norwegian Wood (1987) ก็เฉกเช่นเดียวกัน เริ่มต้นจากตัวละคร Toru Watanabe ในวัย 37 ปี หวนระลึกนึกย้อนความทรงจำ เหตุการณ์ในช่วงทศวรรษ 1960s เมื่อครั้นยังเป็นนักศึกษาการละคอนอยู่ Tokyo ได้พบเจอรักครั้งแรกกับ Naoko บังเกิดมิตรภาพอันแปลกประหลาด ความสัมพันธ์อันฉาบฉวย “ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย”

เกร็ด: โดยปกติแล้วการทำงานของ Murakami มักเริ่มต้นด้วยการตั้งชื่อหนังสือ แต่ยกเว้นเพียงนวนิยายเล่มนี้ที่ได้ข้อสรุปหลังเขียนเสร็จ ซึ่งหนึ่งใน Working Title ก็คือ The Garden in the Rain แต่หลังจากรับฟังบทเพลง Norwegian Wood (This Bird Has Flown) เลยตัดสินใจเลือก Norwegian Wood ภาษาญี่ปุ่น ノルウェイの森 อ่านว่า Noruwei no Mori แต่ทว่า 森, Mori ความหมายออกไปทางผืนป่า, Forest เสียมากกว่า!

เมื่อวางจำหน่ายกลายเป็นนวนิยายขายดี (Best-Selling) เฉพาะในญี่ปุ่นทำยอดขายปีแรกกว่าล้านเล่ม! (บางแหล่งข่าวบอกถึงสองล้าน ปัจจุบันเห็นว่าเกินสิบล้านไปแล้ว) ได้รับการแปลหลากหลายภาษาเกือบทั่วโลก ก่อเกิดปรากฎการณ์ Murakami แฟนคลับในญี่ปุ่นต่างรุมห้อมล้อม มาดักรอคอยยังสนามบิน ทำราวกับเขาเป็นดารา ซุปเปอร์สตาร์! เจ้าตัวเลยต้องอพยพหลบหนีออกนอกประเทศ ท่องเที่ยวยุโรป สหรัฐอเมริกา โหยหาความสงบสุข เรียบง่าย ไม่ได้ต้องการมีชื่อเสียงสักเท่าไหร่

ปล. Murakami เขียนนวนิยาย Norwegian Wood (1987) ระหว่างพำนักอาศัยอยู่อิตาลี มันเลยไม่เชิงเพราะความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้จึงต้องอพยพหลบหนีจากญี่ปุ่น

I actually wrote most of Norwegian Wood in Italy. So it’s not like I went there to run away from all the publicity. However, when the book became a bestseller, I felt like I could do without all the hassle of going back to Japan so I ended up staying in Italy for a long time.

Haruki Murakami

Trần Anh Hùng (เกิดปี 1962) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Vietnamese-French เกิดที่ Da Nang, South Vietnam ในช่วงสงคราม Vietnam War (1955-75) อพยพสู่ลาว ก่อนลี้ภัยไปฝรั่งเศส โตขึ้นระหว่างร่ำเรียนปรัชญา กระทั่งมีโอกาสรับชม A Man Escaped (1956) กำกับโดย Robert Bresson หันเหความสนใจมายังภาพยนตร์ ร่ำเรียนการถ่ายภาพ École nationale supérieure Louis-Lumière ทำงานเป็นตากล้อง กำกับหนังสั้น The Married Woman of Nam Xuong (1989), La pierre de l’attente (1991), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก The Scent of Green Papaya (1993)

ความสนใจของ Trần Anh Hùng ไม่ใช้การเล่าเรื่องแบบปกติทั่วๆไป พยายามมองหาวิธีสื่อสาร ภาษาภาพยนตร์รูปแบบใหม่ๆ ให้คำนิยามงานศิลปะ “Art is the truth wearing a mask” ท้าทายให้ผู้ชมครุ่นคิดค้นหาคำตอบของสิ่งที่หลบซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังหน้ากาก

ผู้กำกับ Trần Anh Hùng มีโอกาสอ่านนวนิยาย Norwegian Wood (1987) ฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1994 แล้วเกิดความชื่นชอบหลงใหล ถึงขนาดตั้งใจจะไม่อ่านผลงานเรื่องอื่นของผู้แต่ง Murakami จนกว่าจะได้ดัดแปลงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้!

I read Norwegian Wood in 1994 and since then, every time I visited Japan I wanted to talk to someone about adapting it. But there was no one to talk to. It turned out that Murakami didn’t allow any movie adaptations of his books. Then about 5-6 years ago, the distributor (Sony Pictures) of my film Vertical Ray of the Sun, got in touch with me. They remembered my desire to adapt the book and told me that Murakami just allowed one of his short stories to be adapted, that it might be a good time to try again.

Trần Anh Hùng

ด้วยความที่ Murakai หึงหวงผลงานของตนเองอย่างมาก ไม่เคยอนุญาตให้ทำการดัดแปลงเป็นสื่ออื่น จนกระทั่งเรื่องสั้น Tony Takitani ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เมื่อปี ค.ศ. 2004 กำกับโดย Jun Ichikawa นั่นทำให้โปรดิวเซอร์เล็งเห็นความเป็นไปได้ จึงลองติดต่อนัดพบเจอผกก. Trần Anh Hùng เมื่อปี ค.ศ. 2004

Murakami protected his work. He’s quiet, very serious and very careful. He gave us two conditions. One is that he would like to see the script. The other is that he would like to know what the budget would be for the movie.

ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าหนังใช้งบประมาณเท่าไหร่ แต่ผกก. Trần Anh Hùng พัฒนาบทหนังนานถึง 4 ปี (คงรวมการสำรวจสถานที่ถ่ายทำด้วยกระมัง) ปรับเปลี่ยนรายละเอียดพอสมควรกว่าที่ Murakami จะยินยอมอนุญาตให้ดัดแปลง พร้อมอำนวยอวยพร เชื่อมั่นว่าผลลัพท์ต้องออกมาดี

After this exchange of comments and notes, Murakami said, ‘Go with the film you have in your head. What you have to do is make the most beautiful film possible.’

เท่าที่ผมอ่านความคิดเห็นแฟนคลับต้นฉบับนวนิยาย บ่นอุบถึงสองความเปลี่ยนแปลงที่ยินยอมรับไม่ค่อยจะได้

  • ในนวนิยายจะเต็มไปด้วยคำอธิบายรายละเอียด ความครุ่นคิดของตัวละคร (Inner Voice) ซึ่งภาพยนตร์ไม่สามารถทำเช่นนั้น ปรับเปลี่ยนมาใช้การเล่าเรื่องด้วยภาพเคลื่อนไหว (ภาษาภาพยนตร์) บางครั้งไม่มีคำอธิบายอะไรใดๆ
  • การลดบทบาท Midori ฉบับนวนิยายมีความสำคัญเทียบเท่า Naoko หลายครั้งยังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของพวกเธอ, แต่ภาพยนตร์ทำเหมือนแค่เพียงตัวประกอบ (Side Charactor) สัมผัสไม่ได้ถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง และดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง Watanabe เพียงผู้เดียว!

พื้นหลังทศวรรษ 1960, เรื่องราวของ Toru Watanabe (รับบทโดย Kenichi Matsuyama) หลังสูญเสียเพื่อนสนิท Kizuki จากการฆ่าตัวตาย กลายเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย Tokyo ระหว่างเดินเล่นในสวนสาธารณะ บังเอิญพบเจอกับ Naoko (รับบทโดย Rinko Kikuchi) แฟนของเพื่อนเก่า และรักครั้งแรกของตนเอง โดยไม่รู้ตัวเริ่มคบหาดูใจ จนกระทั่งวันเกิด 20 ปีของฝ่ายหญิง พวกเขาจึงร่วมเพศสัมพันธ์ ก่อนตระหนักว่าเธอยังเป็นสาวพรหมจรรย์ พลั้งปากสอบถามทำไมเธอไม่เคยร่วมรักกับเขา ทำเอาทั้งสองตกอยู่ในสภาพหดหู่สิ้นหวัง (Deep Depression)

เหตุการณ์วันนั้นทำให้ Naoko สูญหายตัวไปอย่างลึกลับ ก่อนพบว่าพักรักษาตัวอยู่สถานบำบัดกลางป่าแห่งหนึ่ง จึงมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยียนหลายครั้ง ขณะเดียวกัน Toru ก็ได้พบเจอเพื่อนนักศึกษาสาว Midori (รับบทโดย Kiko Mizuhara) เธอพยายามเข้าหา เกี้ยวพาราสี บังเกิดความสัมพันธ์อันดี แต่เขายังคงมีเยื่อใยให้กับรักครั้งแรกมากกว่า

หลังจาก Naoko เปิดเผยเหตุผลที่ตนเองไม่สามารถร่วมรักกับ Kizuki โดยไม่รู้ตัวขณะนั้นกำลังเกิดความรู้สึกเดียวกันกับ Toru และพอไม่สามารถเติมเต็มความรักให้กัน เธอจึงตัดสินใจกระทำอัตนิวิบาตกรรม สร้างความเศร้าโศกสิ้นหวัง ออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆทั่วญี่ปุ่น กรีดกราย ระบายอารมณ์คลุ้มคลั่ง หลังสงบสติอารมณ์ หวนกลับมาเริ่มต้นสานสัมพันธ์รักครั้งใหม่กับ Midori


Kenichi Matsuyama, 松山 ケンイチ (เกิดปี 1985) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Mutsu, Aomori โตขึ้นทำงานโมเดลห้างสรรพสินค้า Parco, จากนั้นมีผลงานละคอนซีรีย์ Gokusen (2002), ภาพยนตร์เรื่องแรก Bright Future (2003), โด่งดังกับบทบาท L แฟนไชร์ Death Note, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Detroit Metal City (2008), Norwegian Wood (2010), Gantz (2011), Satoshi: A Move for Tomorrow (2016) ฯ

รับบท Toru Watanabe หนุ่มหน้าใส มีความนุ่มนวลอ่อนไหว ตกหลุมรักครั้งแรก Naoko แต่ยินยอมหลีกทางให้เพื่อนสนิท Kizuki เพราะเห็นว่าพวกเขารับรู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งวันเกิดอายุ 17 โดยไม่มีใครทราบสาเหตุ Kizuki กระทำอัตวินิบาตกรรม สร้างความเจ็บปวด ชอกช้ำ ตัดสินใจออกเดินทางสู่ Tokyo ใช้ชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยอย่างเตร็ดเตร่ ไร้จุดหมาย ร่วมกับเพื่อนร่วมห้อง Nagasawa สลับคู่นอน เปลี่ยนหญิงสาวไม่ซ้ำหน้า จนกระทั่งวันหนึ่งบังเอิญพบเจอ Naoko จึงเริ่มรื้อฟื้น สานความสัมพันธ์ เติมเต็มความต้องการของกันและกัน

ระหว่างการร่วมรักทำให้ Toru ตระหนักว่า Naoko ยังเป็นสาวบริสุทธิ์ จู่ๆตั้งคำถามทำไมถึงไม่เคยมีอะไรกับแฟนเก่า Kizuki โดยไม่รู้ตัวนั่นทำให้เธอเกิดอาการคลุ้มคลั่ง ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกตนเอง ถึงขนาดต้องเข้ารักษาตัวยังสถานบำบัดกลางป่า สร้างความรู้สึกผิด ตระหนักถึงภาระรับผิดชอบ แม้ยังคงหลับนอนหญิงสาวไม่ซ้ำหน้า แต่พยายามปิดกลั้นความรู้สึกดีๆที่มีต่อ Midori ควบคุมตนเองไม่ให้ปล่อยใจไปกับความรัก

หลายคนคงติดภาพจำ Matsuyama จากนักสืบอัจฉริยะ L ผู้มีความเฉลียวฉลาดปราชญ์เปรื่อง แต่สำหรับ Toru Watanabe ถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญ แม้หน้าใสๆ ดูละอ่อนเยาว์วัย แต่ภายในเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย (จากความตายของเพื่อนสนิท) ค้นพบวิธีระบายความรู้สึกอัดอั้นด้วยการหลับนอนหญิงสาวไม่ซ้ำหน้า แบ่งแยกแยะออกจากความรักที่มีให้กับ Naoko แต่มันกลับพัฒนาสู่ความรู้สึกผิด กลายเป็นภาระรับผิดชอบ และตอนสูญเสียเธอไป ปฏิกิริยาสีหน้า ท่าทางกรีดร้อง ร่ำไห้ แม้ไม่ได้ยินเสียง แต่เป็นภาพที่สร้างความเจ็บปวดทรมานจิตใจ

หลายคนอาจมองว่าตัวละครนี้คือผู้ล่า ‘sexual predator’ แต่เราต้องแยกแยะให้ออกระหว่าง เพลย์บอย คาสโนว่า One Night Stand (ONS) หรือสลับคู่นอนที่เป็นการสมยินยอมระหว่างคนสอง(สาม)คน แตกต่างจากการถูกบีบบังคับ ล่อลวง ล่วงละเมิด หรือใช้ความรุนแรงทางเพศ (ต้องในลักษณะถึงสามารถเรียกว่า ‘sexual predator’)

ซีเควนซ์ที่ผมรู้สึกประทับใจการแสดงของ Matsuyama คือฉากที่ต้องเผชิญหน้า ตอบคำถามเรื่องการสลับคู่นอนกับ Hatsumi (แฟนสาวของ Nagasawa) เธอพยายามบดขยี้ แสดงสีหน้าไม่พึงพอใจ ทำไมผู้ชายหน้าตาดีๆกลับทำตัวต่ำตม สกปรกโสมม … นั่นเพราะเธอไม่เข้าใจเหตุผล ตัดสินคนแค่เปลือกภายนอก เพียงการกระทำของอีกฝ่าย

คนที่อ่านนวนิยายมักแสดงความคิดเห็นว่า Toru เป็นตัวละครที่เศร้าสลด น่าสงสารเห็นใจ แต่ฉบับภาพยนตร์กลับให้อิสรภาพผู้ชมในการขบครุ่นคิด ตัดสินการกระทำ … โดยส่วนตัวมองว่าแบบหลังเป็นความท้าทาย และไม่จำเพาะเจาะจงว่าเราต้องรู้สึกเห็นใจตัวละครเพียงอย่างเดียว คุณรู้สึกอย่างไรกับเรื่องราวของชายคนนี้???


Rinko Kikuchi, 菊地 凛子 (เกิดปี 1981) นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hadano, Kanagawa เมื่อตอนอายุ 15 ปี ได้รับชักชวนเข้าสู่วงการโดยแมวมอง ทดสอบหน้ากล้องได้บทสมทบ Will to Live (1999) ของผู้กำกับ Kanade Shindo, พอมีชื่อเสียงกับ The Taste of Tea (2004), กระทั่งได้รับเลือกให้แสดง Babel (2006) กลายเป็นนักแสดงญี่ปุ่นคนแรกได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Norwegian Wood (2010), Pacific Rim (2013) ฯ

รับบท Naoko หญิงสาวผู้มีความเปราะบาง ตั้งแต่เด็กรับรู้จักกับ Kizuki ค่อยๆแปรสภาพสู่ความรัก แต่มันกลับทำให้เธอไร้อารมณ์ร่วม เจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ นั่นอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ชายคนรักตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม สร้างความห่อเหี่ยว เปล่าเปลี่ยว ตกอยู่ในความสิ้นหวัง จนกระทั่งมีโอกาสหวนกลับมาพบเจอ Toru พูดคุยสานสัมพันธ์ โดยไม่รู้ตัวบังเกิดอารมณ์ทางเพศ สูญเสียความบริสุทธิ์ในค่ำคืนวันเกิด 20 ปี

เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งสร้างความเจ็บปวดชอกช้ำ ทำไมฉันไม่สามารถมีอะไรกับชายคนรัก แต่กลับเต็มไปด้วยอารมณ์ร่านราคะกับเพื่อนอีกคน แสดงอาการคลุ้มคลั่ง พยายามคิดสั้นฆ่าตัวตาย ก่อนถูกส่งไปรักษาตัวยังสถานบำบัดกลางป่า ค่อยๆกลับมาสานสัมพันธ์กับ Toru โดยไม่รู้ตัวสถานการณ์แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ Kizuki หวนกลับมาอีกครั้ง (ตกหลุมรัก Toru ทำให้ไม่มีอารมณ์ทางเพศ ไม่สามารถร่วมรักกับเขา) นั่นทำให้เธอตกอยู่ในสภาพหดหู่ สิ้นหวัง ตรอมใจ ยินยอมรับความพ่ายแพ้ในที่สุด

เพราะภาพจำจาก Babel (2005) ทำให้ผกก. Trần Anh Hùng ไม่มีความสนใจในตัว Kikuchi แต่เธอพยายามพูดคุยติดต่อจนมีโอกาสเข้าทดสอบหน้ากล้อง ทำออกมายอดเยี่ยมเกินความคาดหมาย จนผู้กำกับก็ไม่สามารถปฏิเสธได้

When I was a teenager and read the book, I was really in Haruki’s world. I loved his feelings – the fragility, the danger and the beauty. I found it poetic. But as I’ve gotten older I feel like I’m completely different from Naoko’s character. I’m a lot tougher and not fragile anymore. We’re coming from opposite sides now and I could play Naoko because I don’t understand her feelings anymore. If I was closer to her, then it would be more difficult.

Rinko Kikuchi

เอาจริงๆผมว่าบทบาทจาก Babel (2005) ช่วยเสริมตัวตนของ Kikuchi หญิงสาวกล้าพูด กล้าแสดงออกเรื่องเพศ มองผิวเผินเหมือนยัยแรดร่าน แต่ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจปัญหา ความเปราะบางของเธอ “ความรัก ≠ เพศสัมพันธ์” เพราะไม่สามารถเติมเต็มรสรัก ทำให้รู้สึกผิดหวังในตนเอง เก็บมาหมกมุ่น ครุ่นคิดมาก อัดอั้นทุกข์ทรมาน ไร้หนทางระบายความรู้สึกภายใน มันจึงกลายเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมทำลายทุกสิ่งอย่าง

สำหรับบุรุษ มันอาจไม่ใช่เรื่องยากที่จะเป็นเพลย์บอย เที่ยวซ่องโสเภณี ปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศ ระบายความอึดอัดอั้นภายในออกมา แต่สำหรับสตรีกลับถูกหักห้าม ไม่ให้การยินยอมรับ สังคมตีตรา เรียกว่าสำส่อนทางเพศ แนวคิดดังกล่าวคือเป็นการปิดกั้น ใช้ข้ออ้างศีลธรรมควบคุมครอบงำ ไร้ซึ่งความเสมอภาคเท่าเทียม(ทางเพศ) … นี่ก็อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Naoko มิอาจอดรนทนต่อความคาดหวังของสังคม

หลายคนอาจรู้สึกกระอักกระอ่วนเมื่อตอน Naoko เปิดเผยเหตุผลที่ไม่สามารถร่วมรักกับ Kizuki แต่นั่นเพราะคุณยังมีอคติ รับไม่ได้ต่อการแสดงออกเรื่องทางเพศของผู้หญิง สำหรับผมแล้วนั่นคือฉากทรงพลังพอๆกับการ “Coming Out” เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศสู่สาธารณะ นี่ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย เราควรแสดงความเชื่อมั่น ให้การยินยอมรับ และมอบกำลังใจให้อีกฝ่าย อย่าไปรับฟังเสียงเห่าหอนของหมูหมากาไก่


Kiko Mizuhara, 水原 希子 ชื่อจริง Audrie Kiko Daniel (เกิดปี 1990) นักร้อง นักแสดง นางแบบ แฟชั่นดีไซน์เนอร์ สัญชาติ American-Korea-Japanese เกิดที่ Dallas, Texas บิดาเป็นชาวอเมริกัน ส่วนมารดาถือสัญชาติ Zainichi Korean (ชาวเกาหลีอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น) เดินทางมาปักหลักอยู่ญี่ปุ่นตั้งแต่สองขวบ, เมื่ออายุ 12 ปี เข้าร่วมการประกวดนิตยสารแฟชั่น Seventeen ได้รับเลือกเป็น Miss Seventeen จากนั้นกลายเป็นนางแบบ แฟชั่นโชว์ เข้าสู่วงการภาพยนตร์ Norwegian Wood (2010), Attack on Titan (2015) ฯ

รับบท Midori Kobayashi เพื่อนนักศึกษาร่วมชั้น วันหนึ่งเข้ามานั่งพูดคุยกับ Toru หยอกล้อ ทีเล่นทีจริง นิสัยง่ายๆ ร่าเริงสดใส เบิกบานด้วยรอยยิ้ม เป็นใครคงตกหลุมรัก แต่เพราะเขาติดพันอยู่กับ Naoko จึงพยายามหักห้ามตนเอง ไม่ปล่อยใจไปกับความรู้สึกดีๆ จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม

They’d done around 100 auditions for the role of Midori and hadn’t found anyone suitable. I was invited to meet Trần Anh Hùng as my expressions supposedly matched the character. I told him I’d never acted before but he liked my vibe and after three auditions I got the part.

Kiko Mizuhara

ภาพลักษณ์ของ Mizuhara ต้องถือว่ารู้จักแต่งหน้าทำผม ออร่าเปร่งประกาย เฉิดฉายดั่งแสงตะวัน แต่การแสดงยังดูเกร็งๆ ขาดๆเกินๆ ก็แน่ละนี่คือภาพยนตร์เรื่องแรก ออดิชั่นผ่านเพราะความบุคลิกภาพคล้ายตัวละคร ไม่ใช่ทักษะด้านการแสดงที่เริ่มต้นจากศูนย์

During filming, the director was very strict and purposefully said mean things to me. There would be 50 takes, but then he’d end up using the first one. He did it so I’d learn and improve. I was extremely nervous, but in many ways, it was the best movie I could have asked for as my first.

Midori เปรียบดั่งกระจก/ภาพสะท้อน Naoko ทั้งความครุ่นคิด อุปนิสัยใจคอ ปฏิกิริยาแสดงออก ล้วนมีความแตกต่างตรงกันข้าม แต่เบื้องหลังของทั้งสองกลับละม้ายคล้ายคลึง พานผ่านประสบการณ์สูญเสียคนใกล้ตัว ภายในยังคงเจ็บปวดทุกข์ทรมาน … ผู้ชมสามารถสัมผัสถึงความเจ็บปวดภายในของ Naoko แต่ขณะที่ Midori พยายามแสดงความเข้มแข็ง ปฏิเสธเปิดเผยด้านอ่อนแอของตนเองให้ใครพบเห็น (ไม่ยินยอมให้ Toru ไปร่วมงานศพบิดา)

ปล. เหตุผลที่ผกก. Trần Anh Hùng ตัดสินใจเลือกนักแสดงหน้าใหม่ Kiko Mizuhara อาจเพราะต้องการให้เกิดความแตกต่างตรงกันข้ามกับ Rinko Kikuchi ผู้มากด้วยประสบการณ์

แฟนนิยายส่วนใหญ่ไม่ค่อยพึงพอใจที่บทบาทของ Midori ถูกลดทอนลงอย่างมากๆ จนเหมือนเป็นเพียงตัวเลือก/ตัวประกอบ (Side Character) ไม่ได้สานสัมพันธ์จนสนิทชิดเชื้อ หรือสร้างความรู้สึกขัดแย้งใดๆให้เกิดกับ Toru … แต่ผมกลับชอบทิศทางของหนังมากกว่า เพราะมันชัดเจนอยู่แล้วว่า Midori คือผู้มาทีหลัง ต่อให้สนิทสนม เข้ากันได้สักเพียงไหน ก็ยังมิอาจแบ่งปันหัวใจเพราะยังมีเยื่อใยติดอยู่กับรักครั้งแรก (ถ้าทำให้เรื่องราวของ Midori โดดเด่นมากเกินไป มันจะแปรสภาพจากรักสามเส้าสู่คบชู้นอกใจ)


ถ่ายภาพโดย Mark Lee Ping-bing, 李屏賓 (เกิดปี 1954) ตากล้องสัญชาติ Taiwanese เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 ก่อนกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Hou Hsiao-hsien ตั้งแต่ The Time to Live and the Time to Die (1985), ผลงานเด่นๆ อาทิ Dust in the Wind (1987), The Puppetmaster (1993), Summer Snow (1995), Flowers of Shanghai (1998), The Vertical Ray of the Sun (2000), In the Mood for Love (2000), Springtime in a Small Town (2002), After This Our Exile (2006), The Sun Also Rises (2007), Norwegian Wood (2010), The Assassin (2015) ฯ

ความโดดเด่นของ Mark Lee Ping-bing เชี่ยวชาญในการถ่ายภาพด้วยแสง-เงาจากธรรมชาติ เต็มไปด้วยชั้นเชิงของแสง มิติตื้นลึกหนาบาง (lustrous layers of light and darkness that provide incredible depth and space) โดยเฉพาะภาพทิวทัศน์ที่สามารถสร้างสัมผัสทางอารมณ์ รวมถึงการใช้โทนสีสัน และลีลาการเคลื่อนกล้องมีความชดช้อย สง่างาม

We worked together on Vertical Ray of the Sun and I really wanted him again for the project. When he moves his camera, the psychology of the characters are always on his mind. That aspect of him is quite precious to me. And he is like a big brother. When I’m ever in doubt and need a shoulder to cry upon, he’s there for me.

Trần Anh Hùng

ด้วยความที่ผกก. Trần Anh Hùng เป็นชาวเวียดนาม สื่อสารภาษาฝรั่งเศส การถ่ายทำในญี่ปุ่นจึงต้องใช้ล่ามแปลภาษา เห็นว่าทำงานหนักมากจนร่ำร้องไห้ออกมา เพราะหลายครั้งผู้กำกับจงใจให้แปลคำพูดหยาบคาย ในเชิงดูถูกเหยียดหยาม เพื่อกระตุ้นนักแสดงสำหรับพัฒนาตนเอง (เหมือนว่า Kiko Mizuhara จะโดนหนักสุด เพราะไม่เคยประสบการณ์ด้านการแสดงมาก่อน)

ต้นฉบับนวนิยายล้วนอ้างอิงสถานที่จริง ที่ซึ่งผู้แต่ง Murakami เคยใช้ชีวิต พักอาศัย ร่ำเรียนมหาวิทยาลัย (เป็นการเลือนลางระหว่างเรื่องแต่งกับสถานที่จริง) ผมค้นในอินเตอร์เน็ตพบเจอหลายเว็บไซด์ที่พาออกสำรวจสถานที่เหล่านั้นที่ยังหลงเหลือในปัจจุบัน (อารมณ์ประมาณตามรอยอนิเมะ แต่ในบริบทนี้ต้องเรียกว่าตามรอยนวนิยาย)

นี่อาจเป็นอีกเหตุผลกระมังที่แฟนๆนิยายค่อนข้างต่อต้านภาพยนตร์ เพราะผกก. Trần Anh Hùng ทำการปรับเปลี่ยนหลายๆสถานที่ถ่ายทำ พยายามมองสถานที่ที่มีบรรยากาศสอดคล้องเข้ากับ Mood & Tone ยกตัวอย่างสถานบำบัด (Sanatorium) ในนวนิยายระบุว่า Ami Hostel ตั้งอยู่ยัง Kyoto (สถานที่สมมติ), ภาพยนตร์ปรับเปลี่ยนมาเป็น Tonomine & Mineyama Highlands ตั้งอยู่ยัง Hyogo Prefecture ย่านที่มีทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ (Miscanthus sinensis หรือ Silver Grass) และทิวเขาสลับซับซ้อน


ภาพแรกของหนัง ผมพยายามค้นหาข้อมูลแต่ไม่พบเจอว่าโปสเตอร์ภาพยนตร์อะไร สังเกตจากสองหนุ่ม Toru vs. Kizuki กำลังใช้ไม้ไอติม ทำท่าเหมือนดวลดาบ (คงเป็นแนวซามูไร) ต่อสู้เพื่อแก่งแย่งชิง Naoko และผู้ชนะเหมือนจะคือ Kizuki ได้ดูดแท่งไอติมจากปากของแฟนสาว

ภาพถัดมาพบเห็น Kizuki ดำผุดดำว่าย ถ่ายใต้พื้นผิวน้ำ (อาจต้องการสื่อถึงบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใต้/ในจิตใจ) ก่อนทะยานตัวขึ้นมายืนเคียงข้างแฟนสาว (Naoko แอบอิงพิงหลัง Kizuki ภาษากายสื่อถึงการมีชายคนรักเป็นที่พึ่งพักพิง) แต่สังเกตจากสีหน้าของเขา ดูอมเศร้า เหงาทุกข์

ฟลามิงโก (Flamingo) เป็นสัญลักษณ์แทนความรัก กล้องถ่ายติด Kizuki และ Naoko ยืนใกล้ชิดตัวติดกัน ฝ่ายหญิงดูมีรอยยิ้ม อิ่มอกอิ่มใจ ใบหน้าฝ่ายชายกลับดูเศร้าๆ เหงาๆ ก่อนที่ Toru จะเดินเข้ามา อยากเป็นมือที่สาม แต่มิอาจเข้าแทรกระหว่างกลาง

เกมสนุกเกอร์ก็เฉกเช่นเดียวกัน Toru ยินยอมรับความพ่ายแพ้ต่อ Kizuki แต่สังเกตว่าหนังไม่ถ่ายให้เห็นรายละเอียดบนโต๊ะสนุ๊ก แพ้ชนะอะไรกันยังไง เพียงจับจ้องตัวละคร และพูดบอกผลลัพท์บังเกิดขึ้น ทำราวกับมีบางสิ่งอย่างถูกปกปิด ซ่อนเร้น ยังไม่ใช่เวลาเปิดเผยมันออกมา

เห็นว่าต้นฉบับนวนิยายก็ไม่เคยมีการอธิบายเหตุผล ทำไม Kizuki ถึงกระทำอัตวินิบาต? ฆ่าตัวตายด้วยการรมท่อไอเสียรถยนต์? แต่นี่คือวิธีการสุดแสนทรมาน ต้องใช้ความอดกลั้น ฝืนทน ซึ่งเจ้าตัวยังเปลี่ยนที่นั่งจากย้ายไปเบาะหลัง ตำแหน่งไกลจากท่อไอเสีย (จะมองว่ายังไม่อยากตาย หรือต้องการตายช้าๆ ให้ทุกข์ทรมานมากที่สุด)

เหตุผลที่คนส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นกันก็คือ Kizuki ไม่สามารถเติมเต็มความรักให้กับ Naoko พูดง่ายๆก็คือถูกเธอปฏิเสธร่วมเพศสัมพันธ์ เพราะยังเป็นวัยรุ่น เลยไม่เข้าใจเหตุผล ขาดความอดทน เกิดอารมณ์ลุ่มร้อนรน ไร้หนทางระบายความรู้สึกคลุ้มคลั่งสุมอยู่ภายใน

แมงมุม ตามความเชื่อชาวญี่ปุ่นตั้งแต่โบราณกาล คือสัตว์สัญลักษณ์แห่งความโชคดี ผู้ส่งสาสน์ของพระพุทธเจ้า ใยแมงมุมยังคือสิ่งเชื่อมโยงระหว่างโลกนี้กับโลกหน้า … นี่สามารถสื่อถึงความตายของ Kizuki น่าจะได้ไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่ดีกว่า (แต่การฆ่าตัวตายนี่ลงนรกร้อยเปอร์เซ็นต์!)

อันนี้ผมไม่รู้ว่าต้นฉบับนวนิยายมีคำอธิบายการชุมนุม ประท้วง เคลื่อนไหวเรียกร้องอะไร? แต่ในบริบทของหนัง ความวุ่นๆวายๆที่บังเกิดขึ้นนี้ สามารถใช้เปรียบเทียบแทนความรู้สึกตัวละคร Toru ภายหลังสูญเสียเพื่อนสนิท แม้สามารถสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่จิตใจยังคงสับสน วุ่นวาย ไม่เข้าใจว่ามันเกิดห่าเหวอะไร ทำไม Kizuki ถึงกระทำอัตวินิบาต?

การชุมนุม เดินขบวน ประท้วงเรียกร้องสิทธิโน่นนี่นั่น คือกระแสนิยมที่ไม่ใช่แค่ประเทศญี่ปุ่น แต่ถือเป็นเทรนด์แฟชั่นพบเจอแทบจะทั่วทุกมุมโลกในช่วงทศวรรษ 60s-70s ซึ่งผู้แต่ง Murakami แน่นอนว่ายังคงจดจำบรรยากาศดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจอย่างมากๆ

ก่อนที่จะร่วมกับภรรยาเปิดร้าน Coffee House & Jazz Bar ผู้แต่ง Murakami เคยทำงานพาร์ทไทม์ร้านแผ่นเสียงในย่าน Shinjuku เลยไม่น่าแปลกใจที่จะมีการอ้างอิงถึง

ทุกครั้งที่ Toru หลับนอนกับหญิงสาวไม่ซ้ำหน้า One Night Stand (ONS) สังเกตว่ากล้องมักเคลื่อนเลื่อนผ่านอะไรสักสิ่งอย่างที่มีความระยิบระยับ สะท้อนแสง ซึ่งจะคอยบดบังทัศนียภาพ ความทรงจำเลือนลาง พานผ่านมาแล้วก็พานผ่านไป สิ้นสุดค่ำคืนนี้ก็อาจไม่พบเจอกันอีก

ความบังเอิญที่ Toru พบเจอ Naoko ถ้าเป็นนวนิยายคงเต็มไปด้วยข้อความบรรยายความครุ่นคิด (Inner Voice) รับรู้สึกอะไรยังไง บังเกิดอารมณ์โน่นนี่นั่นขึ้นมากมายหลายย่อหน้ากระดาษ

แต่ภาพยนตร์หลังจากคำทักทาย พวกเขาก็ก้าวออกเดิน กล้องเคลื่อนเลื่อนติดตาม แพนนิ่งระหว่างข้ามสะพาน (สัญลักษณ์แทนความสัมพันธ์ที่กำลังผันแปรเปลี่ยน) บดบังด้วยกิ่งก้านใบไม้ พร้อมสรรพเสียงลำเนาไพร เท่านี้ก็เพียงพอให้ผู้ชมสามารถเติมเต็มจินตนาการ เข้าใจความรู้สึกของทั้งสองโดยไม่ต้องใช้คำพูดบรรยายใดๆ

สถานที่ที่ทั้งสองก้าวออกเดินคือสวนสาธารณะ Komagome Park, Tokyo มาหยุดยืนยังต้นไม้ใหญ่, สังเกตภาพช็อตนี้ กล้องแทนมุมมองบุคคลที่หนึ่งของ Toru ซึ่งบางครั้งสายตา Naoko หันมาสบตาหน้ากล้อง (Breaking the Fourth Wall) จากนั้นแหงนมองต้นไม้สูงใหญ่ ราวกับจะสื่อถึงว่าเขากำลังจักกลายเป็นเหมือนต้นไม้/สถานที่พึ่งพักพิงทางใจแห่งใหม่

ค่ำคืนวันเกิดครบรอบ 20 ปีของ Naoko สังเกตว่าตลอดทั้งซีเควนซ์อาบฉาบด้วยแสงสีน้ำเงิน กอปรกับสภาพอากาศภายนอก ฝนก็กำลังตกพรำ ยิ่งทำให้รู้สึกหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก และสังเกตว่าระหว่างร่วมเพศสัมพันธ์ แม้ทั้งสองนอนลงกับพื้น ‘Man on Top’ แต่กล้องกลับตั้งเอียงๆ ถ่ายภาพเฉียงๆ เพื่อให้ดูเหมือนเสมอภาคเท่าเทียม (แต่อาจจะสื่อถึงความสัมพันธ์ที่มันบิดๆเบี้ยวๆ เกิดความขัดแย้งภายใน) ใบหน้าซ้อนทับ กลายเป็นหนึ่งเดียว เติมเต็มความต้องการของกันและกัน (ไม่ใช่เพศสัมพันธ์ที่ตอบสนองกามารมณ์เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง)

แซว: ของขวัญของ Toru ดูจากรูปลักษณะน่าจะคือแผ่นเสียง ซึ่งคาดเดาไม่ยากว่าเพลงอะไร … มันจะเป็นบทเพลงอื่นได้อย่างไง?

หลังจากค่ำคืนนั้น Naoko ได้สูญหายตัวไปอย่างลึกลับ เมื่อตอนที่ Toru รับรู้จากโทรศัพท์ สังเกตแสงจากภายนอกมีความฟุ้งๆ สว่างจร้ากว่าปกติ ตามด้วยร้อยเรียงภาพการทำงานในโรงงาน ที่ทั้งหนวกหู(จากเสียงเครื่องจักร) และดูเหน็ดเหนื่อย ยากลำบาก เหล่านี้สะท้อนสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตใจตัวละคร เต็มไปด้วยความเก็บกด อัดอั้น ทุกข์ทรมานจากการหายตัวไปของเธอ

หลายวันถัดมาเมื่อ Toru ได้รับจดหมายจาก Naoko ระหว่างการอ่านจะเดินวกไปวนมา พานผ่านห้องซ้อมดนตรี กล้องเคลื่อนติดตามจากห้องหนึ่งไปสู่อีกห้องหนึ่ง เรียกว่าไม่สนใจห่าเหวอะไรรอบข้าง เพราะเธอคือทุกสิ่งอย่าง โลกทั้งใบให้เธอคนเดียว (จริงๆมันต้อง โลกทั้งใบให้นายคนเดียว (พ.ศ. ๒๕๓๘))

แต่ตอนจบของซีนอ่านจดหมายด้วย Toru กลับไปโผล่ยังน้ำตกแห่งหนึ่ง บรรยากาศโดยรอบมีความผ่อนคลาย สายน้ำสาดกระเซ็น เหมือนชีวิตได้รับการปลดปล่อยจากความเก็บกด อึดอั้น ทุกข์ทรมานจากการหายตัวไปของ Naoko

เมื่อตอนที่ Toru หวนกลับมาพบเจอ Naoko เห็นเธอยืนชื่นชมธรรมชาติอยู่ตัวคนเดียว หลังจากพูดคุยทักทาย พากันก้าวออกเดิน รับฟังสรรพเสียงลำเนาไพร ไปจนถึงปลายทางต้นไม้ใหญ่, ตรงกันข้ามกับ Midori เป็นผู้เข้าหา Toru นั่งอยู่ในโรงอาหาร รายล้อมรอบด้วยผู้คน หลังรับประทานอิ่มหนำ (น่าจะอีกวัน) ก้าวออกเดิน ก่อนหยุดลงบริเวณร่มเงาไม้ เตรียมหลับนอนกลางวัน

จริงๆมันยังมีรายละเอียดอื่นๆอีกที่มีความแตกต่างตรงกันข้าม อาทิ สีเสื้อผ้า (Toru สวมชุดลายแดงตอนพบ Naoko, เปลี่ยนเป็นสีฟ้าขณะอยู่กับ Midori ฯ) ลีลาเคลื่อนเลื่อนกล้อง รวมถึงเป้าหมายปลายทาง จากภาพถ่ายมุมมองบุคคลที่หนึ่ง เปลี่ยนมาเป็นมุมมองบุคคลที่สาม (สามารถสะท้อนความรู้สึกที่ Toru มีต่อหญิงสาวทั้งสอง มุมมองบุคคลที่หนึ่งคือฉันตกหลุมรัก ส่วนมุมมองบุคคลที่สามราวกับบุคคลนอก)

ขณะที่ห้องพักของ Naoko ปกคลุมด้วยโทนสีน้ำเงินเข้ม นอกจากแสงเทียนเค้กวันเกิด แทบสัมผัสไม่ได้ถึงบรรยากาศอบอุ่น, ตรงกันข้ามกับบ้านของ Midori มีความโปร่งโล่ง กว้างขวาง โทนฟ้าอ่อนๆแทรกแซมด้วยแสงไฟส้ม (ภายนอกฝนพรำลงมาเช่นกัน) บรรยากาศดูผ่อนคลาย สบายตากว่า

ตอนร่วมรักกับ Naoko มีความรุนแรง กระแทกกระทั้น ก่อนที่ Toru จะพูดคำบางคำสร้างความเจ็บแปลบทรวงใน, สำหรับ Midori นี่น่าจะแค่จุมพิตแรก (มุมกล้องถ่ายหน้าตรง สะท้อนความสัมพันธ์ที่ไม่ได้บิดๆเบี้ยวๆเหมือน Toru กับ Naoko) ก่อนเธอพูดบอก “I’m dating someone else.” มันอาจไม่รุนแรงเท่าประโยคนั้น แต่ราวกับผลกรรมสนองตามสนอง ทำให้เขารู้สึกสับสน แอบเจ็บหัวใจ คบหาคนอื่นอยู่แล้วยังมาอ่อยเหยื่อ เกี้ยวพาราสีฉันทำไม?

เพราะไม่ใช่วันเกิด Toru เลยไม่ได้มอบของขวัญ แผ่นเพลง Norwegian Wood แต่ Naoko กลับหาโอกาสเดินทางแวะไปเยี่ยมเยียนยังร้านขายแผ่นเสียง สถานที่ทำงานพาร์ทไทม์ เดินเลือกหาแผ่นที่ตนเองชื่นชอบโปรดปราน … แล้วก็ค้างคาไว้แบบนั้นแหละ ไม่ได้มีบทสรุปว่าซื้อไม่ซื้อ เลือกแผ่นเพลงอะไร หรือใครเป็นผู้จ่ายเงิน

วันหนึ่งระหว่างกำลังซักผ้า Toru ได้รับจดหมายจาก Naoko พร้อมแล้วที่จะนัดหมาย พบเจอหน้ากันอีกครั้ง เขาจึงรีบออกเดิน วิ่งขึ้นบันได กล้องแพนติดตามตัวละครจากชั้นล่าง ค่อยๆเงยขึ้น และหมุนวนรอบ 360 องศา นี่ไม่ได้จะให้ผู้ชมเกิดอาการสับสนมึนงง แต่คือความเร่งรีบร้อนรน กระตือรือล้นอยากพบเธอให้เร็วที่สุด ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับช็อตถัดไป (คาดว่าน่าจะ) ถ่ายจากหลังรถระหว่างกำลังขับขึ้นอุทยาน พบเห็นผืนป่า ขุนเขา เคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน

หลายคนน่าจะมีความเข้าใจผิดๆ (ผมเองก็เช่นกัน) ว่าสถานที่ที่ Naoko พักรักษาตัว สถานบำบัดกลางขุนเขา ตั้งอยู่ในผืนป่าชื่อว่า Norwegian Wood เอาจริงๆแล้วไม่ใช่นะครับ มันไม่เคยมีป่าชื่อนี้ทั้งในญี่ปุ่น นอร์เวย์ หรือแห่งหนไหนบนโลก เป็นเพียงคำสมมติขึ้นเท่านั้น … เดี๋ยวเหตุผลจริงๆที่ John Lenon ตั้งชื่อบทเพลงนี้จะมีอธิบายไว้ช่วงท้าย

แต่ผมว่ามันก็ไม่อะไรที่จะมองสถานที่แห่งนี้คือ Norwegian Wood ถ้าจะให้นิยามความหมาย คงคือสถานที่สำหรับพักผ่อน คลายความวิตกกังวล ไม่เชิงว่าเป็นป่า Zen แต่สามารถทำให้เกิดความสงบร่มเย็น รักษาอาการป่วยทางจิตใจ

หลายต่อหลายช็อตที่ถ่ายภาพ Naoko เคียงคู่ เคียงข้าง ทิศทางตรงกันข้าม เอาว่ามักอยู่ร่วมเฟรมเดียวกับ(อดีต)ครูสอนเปียโน Reiko นี่แสดงให้ถึงความสนิทสนม ชิดเชื้อ เหมือนว่าพวกเธอเคยพานผ่านอะไรๆมาคล้ายๆกัน จะมองว่า Sismance (คำตรงข้ามกับ Bromance) ก็ได้กระมัง

มันจะมีช็อตหนึ่ง (ภาพกลาง) ยามค่ำคืน กิจกรรมรอบกองไฟ Naoko นั่งหันหน้าทิศทางตรงกันข้ามกับ Reiko จากนั้นกล้องค่อยๆเคลื่อนไหลจนใบหน้าทั้งสองซ้อนทับ ราวกับเป็นหนึ่งเดียวกัน! นี่ชวนให้ผมนึกถึง Persona (1966) ของผกก. Ingmar Bergman ขึ้นมาโดยพลัน!

พอกล่าวถึงใบหน้าซ้อนทับ ก็พบว่าตั้งแต่ที่ Toru เดินทางมาเยี่ยมเยียน Naoko มีหลายช็อตที่ใบหน้าพวกเขามีความเหลื่อมล้ำ (ก่อนหน้านี้จะมีแค่ฉาก Sex Scene ที่ใบหน้าพวกเขาซ้อนทับกัน) ซึ่งในบริบทนี้คือการโหยหากันและกัน ต้องการเติมเต็มรสรัก แต่กลับมีมือที่สามขวางกัน

แซว: เมื่อตอนอารัมบทต้นเรื่อง Toru ถือเป็นมือที่สามของ Kizuki & Naoko, มาคราวนี้ Reiki ถือเป็นมือที่สามของ Toru & Naoko (จะมีหลายช็อตถ่ายภาพสามตัวละคร ต่างคนต่างหันหน้าสามทิศทาง)

มันอาจดูเหมือนการเลียหัวนม และ Naoko ยกมือ Toru มาวางบนหน้าอก แต่นั่น(น่าจะ)คือตำแหน่งของ ‘หัวใจ’ เป็นความต้องการสัมผัสความรู้สึกภายในของกันและกัน

ซึ่งหลังจากที่ Naoko ทำให้อยากแล้วจากไป Toru จึงจำต้องลุกขึ้นมาสงบสติอารมณ์ สังเกตว่ากล้องถ่ายผ่านโมบายคริสทัล (พอเดินไปอีกห้องก็ยังถ่ายติดรั้วไม้) นั่นคือสิ่งกั้นแบ่งความสัมพันธ์ หรือจะมองว่าสะท้อนความรู้สึกตัวละคร เหมือนติดกับดัก ไร้หนทางออก ไม่รู้จะทำอะไรยังไงต่อไป

ยามเช้าตรู่ Naoko ปลุก Toru พากันก้าวเดินผ่านต้นไม้สูงใหญ่ (ถ่ายย้อนแสงอาทิตย์ ทำให้พบเห็นลำแสงฟุ้งกระจาย) พานผ่านอุปสรรคขวากหนาม สิ่งกีดกั้นขวางภายในหัวใจ ออกมาถึงท้องทุ่งหญ้าเขียวขจี สถานที่แห่งการปลดปล่อย ระบายความรู้สึก เปิดเผยเหตุผลถึงการยังเป็นสาวบริสุทธิ์ จนกระทั่งวันเกิดครบรอบ 20 ปี!

เมื่อมาถึงท้องทุ่งหญ้าเขียวขจี (แต่ไม่มีแสงแดด เพียงละอองหมอกขมุกขมัว) ทิศทางก้าวเดินของ Naoko และ Toru (ถ่ายทำแบบ Long Take) เดี๋ยวไปซ้ายที สลับมาขวาที ล้วนมีนัยยะเคลือบแอบแฝง

  • เดินจากขวาไปซ้าย (←) Naoko อธิบายเหตุผลที่ตนเองยังเป็นสาวบริสุทธิ์
  • เดินจากซ้ายไปขวา (→) หลังการจากไปของ Kizuki เมื่อได้หวนกลับมาพบเจอ Toru ทำให้เธอเกิดอารมณ์ทางเพศ แล้วสามารถร่วมเพศสัมพันธ์
    • นี่น่าจะเป็นทิศทางที่ Naoko สวนความรู้สึก ไม่อยากให้บังเกิดขึ้น
  • วกกลับมาขวาไปซ้าย (←) Naoko พร่ำรำพันถึงอดีตคนรัก ความพิเศษที่มีให้กับ Kizuki
  • เมื่อมิอาจอดกลั้นฝืนทน Naoko จึงพยายามวิ่งหลบหนีขึ้นด้านบน (↑) แต่ทว่า Toru ก็ติดตามไปหยุดยับยั้ง กอดรัดฟัดเหวี่ยงให้สงบสติอารมณ์
    • เพราะไม่สามารถตัดสินใจเลือกทิศทางไหนในชีวิต Naoko จึงก้าวออกนอกกรอบ คลุ้มคลั่งเสียสติ เลยต้องพักรักษาตัวอยู่สถานบำบัดแห่งนี้

หลังจาก Naoko สามารถสงบสติอารมณ์ พวกเขาก็เดินกลับบ้านพัก แต่แทนที่จะถ่ายย้อนแสงต้นไม้ใหญ่แบบตอนต้นซีเควนซ์ (นี่ก็เลยรุ่งสางมามาก) กลับเป็นภาพมุมสูงจากเบื้องบนก้มลงมา (สลับทิศทาง หันหลังให้พระอาทิตย์)

ผมมีคำเรียกช็อตลักษณะนี้ว่า “John Ford’s Shot” บันทึกภาพระหว่างที่เงาก้อนเมฆ เคลื่อนพานผ่านท้องทุ่งกว้างใหญ่ มักแฝงนัยยะถึงบางสิ่งอย่างกำลังผันแปรเปลี่ยนเปลี่ยน ซึ่งภาพนี้ปรากฎขึ้นกึ่งกลางหนังพอดิบดี สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง Toru & Naoko ได้ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยน ครึ่งแรก-หลัง

หลังจากภาพนี้ก็ยังพบเห็นสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง พัดพากระแสลมแรงระหว่างที่ Toru & Naoko กำลังพรอดรัก เกี้ยวพาราสี แล้วจู่ๆเธอช่วยให้เขาสำเร็จความใคร่ กอดจูบลูบไล้ แต่ไม่สามารถร่วมเพศสัมพันธ์ … นี่เป็นการย้อนรอยความสัมพันธ์ระหว่าง Kizuki & Naoko ขอให้อีกฝ่ายอดกลั้นฝืนทน เฝ้ารอคอยช่วงเวลาแห่งความสุข สักวันฉันจะสามารถเติมเต็มรสรักกับเธอ

ย้อนรอยกับตอนต้นเรื่องที่ Kizuki ดำผุดดำว่ายใต้ผืนน้ำ โผล่ขึ้นมาเบื้องหน้า Naoko แล้วเธอโอบกอดแนบอิงแผ่นหลัง, Toru ยืนหลังพิงกำแพง (ไม่ได้ดำผุดดำว่าย) แล้วจู่ๆโผล่ขึ้นมาพบเจอ Midoro ต่างฝ่ายต่างยืน-นั่งอยู่เคียงข้าง ไม่ได้มีการโอบกอด หรือซ้อนทับใบหน้า

บรรดาแฟนคลับนวนิยายต่างมีความฉุนเฉียวอย่างมากๆกับฉาก Toru ระหว่างเยี่ยมเยียนบิดาของ Midori (อ้างว่าไปทำงาน Uruguay แต่กลับแอบมารักษาโรคมะเร็งอยู่โรงพยาบาลใกล้ๆ) เพราะในหนังสือเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย แต่ฉบับภาพยนตร์กลับแค่มานั่งจุ้มปุ๊กไม่กี่วินาที ยังไม่ทันจะรับรู้เรื่องอะไร

การสูญเสียบิดาของ Midori สามารถย้อนรอยเข้ากับ Naoko สูญเสียชายคนรัก Kizuki แต่จุดนี้ผมเห็นด้วยว่าหนังน่าจะนำเสนอเรื่องราวบางอย่างระหว่าง Toru กับบิดาของ Midori เพื่อสะท้อนความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิท Kizuki … อาจเพราะผกก. Trần Anh Hùng มองว่า Toru เคยพานผ่านประสบการณ์สูญเสียมาแล้ว(กับ Kizuki) จึงสามารถเข้าใจความรู้สึกของ Midori โดยไม่จำเป็นต้องนำเสนอเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม

ระหว่างคุยโทรศัพท์แจ้งข่าวการเสียชีวิตของบิดา สังเกตว่า

  • ฟากฝั่ง Toru พื้นด้านหลังแทบจะปกคลุมด้วยความมืดมิด นั่นเพราะเขาเข้าใจความรู้สึกของ Midori ตนเองเคยพานผ่านประสบการณ์สูญเสียเพื่อนสนิท Kizuki สภาพจิตใจจึงหม่นหมอง เศร้าโศกเสียใจ
  • สำหรับ Midori กล้องจะเคลื่อนเลื่อนจากฟากฝั่งมืดมิด สู่แสงสว่าง แม้การสูญเสียบิดาจะเป็นเรื่องเจ็บปวดทรมาน แต่ด้วยความเข้มแข็ง ไม่ต้องการให้เขาพบเห็นด้านอ่อนแอ ย่อมสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาดังกล่าวไปได้ (ไม่ยากเย็นเหมือน Naoko)

ผมไม่รู้ว่านวนิยายเขียนอธิบายเหตุการณ์นี้เช่นไร แต่ภาพยนตร์พยายามทำให้คลุมเคลือว่าเป็นอุบัติเหตุ หรือความตั้งใจของ Toru แต่ที่แน่ๆแสดงถึงผลกระทบ/ความเจ็บปวดจากการสูญเสีย (บิดาของ Midori) มันอาจไม่เทียบเท่าตอน Kizuki แต่สามารถกระตุ้นความทรงจำดังกล่าวกลับขึ้นมาอีกครั้ง

ดินเนอร์ระหว่าง Toru, Nagasawa และ Hatumi (แฟนสาวของ Nagasawa) สังเกตว่ามีย้อมเฉดสีเหลือง แต่ดูไม่อบอุ่นเหมือนแสงสีส้ม เพราะสิ่งที่สองหนุ่มกำลังเผชิญหน้า คือความไม่พึงพอใจของหญิงสาว พยายามซักไซร้ไล่เรียง เค้นหาเหตุผลพฤติกรรมสำส่อน สลับคู่นอน … จะว่าไปทิวทัศน์ภายนอกหน้าต่าง สีสันของใบไม้ดูราวกับกำลังอยู่ในฤดูไบไม้ร่วง (Autumn) ซึ่งสอดคล้องเข้าเฉดสีเหลือง และความสัมพันธ์ที่กำลังร่วงโรยรา

ผมมีความงงๆกับโชคชะตาของ Hatsumi เพราะเสียงบรรยาย Toru ระหว่างอยู่บนแท็กซี่ระหว่างพากลับไปส่งห้องพัก เล่าว่าเธอเลิกรากับ Nagasawa แล้วแต่งงานใหม่ ฆ่าตัวตายสองปีให้หลัง จากนั้นฉากถัดมาเพื่อนร่วมห้อง (Nagasawa) กลับพูดบอกว่าเพิ่งคีนดีกับ Hatsumi มันยังไงกันเนี่ย???

ตามความเข้าใจของผมก็คือ Nagasawa ขณะนี้คืนดีกับ Hatsumi แต่ภายหลังไปต่างประเทศก็เลิกรากันอยู่ดี จากนั้นเธอแต่งงานใหม่ และก่อนฆ่าตัวตายสองปีให้หลัง … กล่าวคือเสียงบรรยายของ Toru นั้นถูกต้องแล้ว คำพูดของ Nagasawa เพียงล่อหลอก สร้างความหวังลมๆแร้งๆให้กับผู้ชมเท่านั้นเอง

หลังเลิกราแฟนเก่า Midori ต้องการเริ่มต้นสานสัมพันธ์กับ Toru พยายามพูดบอกใบ้ความต้องการ (ขึ้นอยู่กับผู้ชมจะครุ่นคิดจินตนาการ) แต่กลับถูกเขาทัดทาน บอกให้รู้จักควบคุมตนเอง นั่นคือสิ่งที่เธอคาดไม่ถึง เกิดความไม่พึงพอใจ (แต่สีหน้าดูไร้ความรู้สึกไปสักหน่อย) งอนตุ๊บป่อง ก่อนลุกเดินหายจากไป

ซีนนี้น่าสนใจตรงการจัดแสงที่มีความตัดกันระหว่างส้ม-น้ำเงิน สีอบอุ่น-เยือกเย็น ในช่วงแรกๆที่พูดคุย Midori ก็เต็มไปด้วยความระริกระรี้ ชัดเจนว่าอยากมีอะไรกับ Toru แต่พอกล้องเคลื่อนเข้ามาถึงระยะ Close-Up ใบหน้าทั้งคู่ กลับมีเพียงความผิดหวัง ใบหน้าพวกเขายังคงไม่เคยซ้อนทับกัน

หลังเหตุการณ์วันนั้น Midori ปฏิเสธการติดต่อจาก Toru แต่สังเกตว่าสถานที่โทรศัพท์ ไม่ได้ปกคลุมอยู่ในความมืดมิดเหมือนซีนก่อนๆหน้า ยังมีแสงสว่างจากภายนอกสาดส่องเข้ามา นั่นเพราะว่าการเลิกราครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เขาตกอยู่ในสภาพหดหู่ สิ้นหวัง เพียงภาพเบลอๆ หลุดโฟกัส แล้วเดินทางไป ประเดี๋ยวก็คงหลงลืมความเศร้าโศกเสียใจ

การเงียบหาย/ขาดการติดต่อของ Midori ถือว่าย้อนรอยช่วงที่ Naoko หลังจากร่วมรักกับ Toru ก็สูญหายตัวไปหลายเดือน แต่ระดับความรุนแรงทางอารมณ์ถือว่าแตกต่างกันพอสมควร

เมื่อตอนที่ Naoko สอบถาม Toru ว่ากำลังคบหาใครบางคนอยู่หรือเปล่า? พวกเขานั่งอยู่บริเวณริมน้ำ พบเห็นธารธารากำลังเคลื่อนไหล คำตอบของเขาราวกับเป็นสิ่งที่ตนเองไม่สามารถควบคุม ฝืนธรรมชาติ ความรัก/ความสัมพันธ์เกิดขึ้นได้ทุกแห่งหน ขึ้นอยู่กับโชคชะตาฟ้ากำหนด

บางคนอาจมองว่ากระแสธาราด้านหลัง สะท้อนความรู้สึกปั่นป่วนทรวงในของ Toru (เพราะขณะนี้ Midori ขาดการติดต่อมาสักระยะ) ไม่รู้จะทำอะไรกับสถานการณ์ขณะนี้

แม้ความเหินห่างของ Midori จะไม่ได้ทำให้ Toru ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังอาลัยเหมือนตอน Naoko แต่เหมือนเขาทำทัณฑ์ทรมานตนเอง ด้วยการอดอาหาร รับประทานแต่ไข่, ภาพท้องฟ้าอึมครึม สายลมปลิดปลิว, และโดยเฉพาะหนามแหลมต้นกระบองเพชร(มั้งนะ) นำมาทิ่มแทงบาดแผล เจ็บแปลบทรวงใน

ผิดกับตอนร่วมรักครั้งแรกที่กล้องถ่ายมุมเอียง ทำให้ใบหน้าทั้งสองอยู่แนบระนาบเดียวกัน แต่คราวนี้แม้ท่วงท่าเดิม (Man on Top) แต่มุมกล้องกลับถ่ายให้เห็น Toru อยู่เบื้องบน Naoko จู่ๆเกิดอาการเจ็บปวดช่องคลอด จนไม่สามารถร่วมเพศสัมพันธ์

หลังลุกขึ้นแต่งตัว กำลังจะแยกย้ายไปนอน Toru ตัดสินใจใช้กำลังขืนใจ Naoko (แต่ไม่สำเร็จ) สังเกตว่าทิศทางการนอนจะอยู่ฟากฝั่งตรงกันข้าม (←) ราวกับว่าความสัมพันธ์ทั้งสองขณะนี้ได้พลิกกลับตารหลังไม่สามารถเติมเต็มรสรักให้กัน

การจากลา(ครั้งสุดท้าย)ระหว่าง Toru และ Naoko เริ่มต้นสังเกตว่าพวกเขาพูดคุยสนทนากันคนละเฟรม หรือขณะจุมพิตร่ำลา ใบหน้าก็ไม่ได้มีการซ้อนทับ แยกฝั่งซ้ายขวา นี่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่กำลังเหินห่าง แยกจาก หลังไม่สามารถเติมเต็มรสรัก/ร่วมเพศสัมพันธ์

หลังกลับจากทริป Toru ทำการเก็บข้าวของ เตรียมขนย้ายออกไปหาอพาร์ทเมนท์ใหม่ (เพื่อพักอาศัยอยู่ร่วมกับ Naoko) ซึ่งภาพความว่างเปล่าของห้องพัก โถงทางเดิน สามารถสะท้อนความเคว้งคว้าง เวิ้งว้างภายในจิตใจตัวละครได้ด้วยเช่นเดียวกัน

สภาพอากาศหนาวเหน็บ รวมถึงความรกชัญของผืนป่าด้านหลัง สามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตใจของ Naoko ภายหลังจากไม่สามารถเติมเต็มความรัก/ร่วมเพศสัมพันธ์กับ Toru หลังเขาเดินทางกลับไป จึงตัดสินใจหลบหนีจากสถานบำบัด เพื่อที่จะกระทำการ …

จริงๆมันอาจมีเหตุผลอื่นๆที่ทำให้ Naoko ตัดสินใจคิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่หนังไม่ได้ลงรายละเอียดสักเท่าไหร่ อาจเพราะต้องการให้มองย้อนกลับหา Kizuki ที่ก็ไม่คำอธิบายอะไรใดๆเช่นกัน ขึ้นอยู่กับผู้ชมจักสามารถครุ่นคิดจินตนาการ

เมื่อตอนแรกพบเจอระหว่าง Toru กับ Midori ทักทายกันในสถานที่ที่มีผู้คนขวักไขว่ จากนั้นก้าวออกเดินสู่สวนสาธารณะ ฤดูใบไม้ผลิ เขียวขจี รักผลิบาน, คราวนี้หลังไม่ได้พูดคุยกันมานาน ทั้งสองก้าวออกเดินท่ามกลางหิมะขาวโพลน ด้วยระยะห่าง ก่อนหันเผชิญหน้า พูดคุยขอเวลา กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหา และจบลงด้วยครั้งแรกที่พวกเขาโอบกอด ใบหน้าซ้อนทับกัน

ความตายของ Naoko ทำให้ Toru ออกเดินทางไปยังบริเวณชายฝั่ง เต็มไปด้วยเกาะแก่ง โขดหิน นั่งลงคุกเข่า กรีดร้องลั่น (แทนด้วยเสียงคลื่นกระทบชายฝั่ง) ระบายความรู้สึกอัดอั้น เศร้าโศกเสียใจ และจะมีช็อตหนึ่งถ่ายติดแอ่งน้ำกลางโขดหิน (ภาพสุดท้าย) แม้มีความสงบนิ่ง แต่ดูราวกับหัวใจที่สูญหายไปจากร่างกาย

ปล. ชายฝั่งคือบริเวณคาบเกี่ยวระหว่างผืนแผ่นดิน vs. ท้องทะเล เลยมักถูกใช้เป็นสถานที่สื่อถึงชีวิต vs. ความตาย จิตวิญญาณล่องลอยสู่อิสรภาพ

การที่ Toru ยินยอมร่วมเพศสัมพันธ์กับ Reiko (อดีตผู้ดูแล Naoko) หลายคนคงขยะแขยง ยินยอมรับไม่ได้ สลับคู่นอน มันช่างเป็นความตกต่ำทางศีลธรรม แต่การกระทำของพวกเขา เอาจริงๆถือเป็น Sex ที่สำแดง ‘มนุษยธรรม’ ต่างฝ่ายต่างระบายความรู้สึกอัดอั้น ปลดปล่อยสิ่งคั่งค้างภายในออกมา เพื่อจักสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่หลงเหลืออะไรติดค้างคาใจ

ผมเคยเปรียบเทียบไปแล้วว่า Reiko คือมือที่สามระหว่าง Naoko & Toru ย้อนรอยเข้ากับ Toru เคยเป็นมือที่สามระหว่าง Naoko & Kizuki ซึ่งหลังจาก Kizuki ฆ่าตัวตายจากไป Toru ก็ได้ร่วมรักกับ Naoko … ฉันท์ใดฉันท์นั้น Naoko ฆ่าตัวตายจากไป Reiko เลยได้ร่วมรักกับ Toru

ความรู้สึกของ Toru ขณะนี้ ถือว่าย้อนรอยกับ Naoko ตอนสูญเสียความบริสุทธิ์ให้อีกฝ่าย เธอไม่ได้มีความรัก แต่กลับสามารถตอบสนองอารมณ์ทางเพศ … เรื่องพรรค์นี้สำหรับเพศชายมันอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย คอขาดบาดตาย แต่สำหรับเพศหญิงกลับมีบริบทกฎกรอบทางสังคม คอยสร้างแรงกดดัน ให้รู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้องเหมาะสม หรือคือความไม่เสมอภาคเท่าเทียมทางเพศ

ภาพแรกช่างเป็น Sex ที่ดูเร่าร้อน รุนแรง ถึงใจ ไม่สะดีดสะดิ้ง ดัดจริตเหมือน Naoko แสดงถึงการเติมเต็มตัณหาความใคร่ ใช้เพศสัมพันธ์ระบายอารมณ์อัดอั้นภายใน, ส่วนภาพหลังเสร็จกามกิจ ทั้งสองต่างหันหลังให้กัน หรือคือไม่มีทางที่พวกเขาจะตกหลุมรัก สานความสัมพันธ์ไปมากกว่า One Night Stand (ONS)

ซีนสุดท้ายของหนัง Toru โทรศัพท์หา Midori พร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ สังเกตว่าทั้งสองต่างหลังผิงกำแพง แต่มีเฉดสีแตกต่างตรงกันข้าม

  • Midori อาบฉาบด้วยแสงสว่าง โทนสีส้ม เปรียบดั่งดวงตะวัน มอบความอบอุ่น
  • รอบข้างของ Toru ปกคลุมด้วยความมืดมิด ไม่รับรู้ตนเองด้วยซ้ำว่าอยู่แห่งหนไหน แต่เพราะมีเธอส่องสว่างทางใจ ยังไงฉันย่อมพบเจอหนทางออก โบยบินไปจากสถานที่แห่งนี้

ตัดต่อโดย Mario Battistel,

ในขณะที่ต้นฉบับนวนิยายเป็นการเล่าย้อนอดีต (Flashback) กลับสู่ช่วงวัยรุ่นทศวรรษ 60s พบเจอกับรักครั้งแรก หัวใจก็แตกสลาย, หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Toru Watanabe พร้อมเสียงบรรยายเหตุการณ์ (ไม่ใช่พูดความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจ/Inner Voice แบบต้นฉบับนิยาย) ซึ่งมักทำการก้าวกระโดด ‘Jump Cut’ จากฉากหนึ่งไปยังอีกฉากหนึ่ง ยกเว้นเพียงช่วงเหตุการณ์สำคัญๆ ฝังลึกอยู่ในความทรงจำ ถึงให้เวลากับเรื่องราวขณะนั้นๆ

วิธีการดำเนินเรื่องของหนัง ช่างละม้ายคล้าย ‘สไตล์ Scorsese’ ซึ่งหลายคนมองว่ามีความรวบรัดตัดตอน ไม่ต่างจากการย่นย่อบทสรุป นำเสนอเพียงบางเหตุการณ์สำคัญๆ ซึ่งนั่นทำให้การแบ่งองก์ทำได้ค่อนข้างยาก ผมเลยใช้การแยกแยะออกเป็นตอนๆ สลับไปมาระหว่าง Naoko & Midori

  • อารัมบท, ความตายของ Kizuki
  • หวนกลับมาพบเจอ Naoko
    • Toru กลายเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย Tokyo
    • วันหนึ่งบังเอิญพบเจอ Naoko ในสวนสาธารณะ
    • นัดพบเจอ สานสัมพันธ์ ร่วมรักกันในค่ำคืนวันเกิดครบรอบ 20 ปี
  • รับรู้จัก Midori
    • หลังจากค่ำคืนนั้น Naoko สูญหายตัวไปอย่างลึกลับ
    • เพื่อนร่วมชั้น Midori เข้ามาพูดคุยทักทาย Toru พยายามสานสัมพันธ์
    • ชักชวนไปบ้าน เกี้ยวพาราสี จนกระทั่งได้จุมพิต
  • จดหมายของ Naoko
    • หลังจากได้รับจดหมายจาก Naoko ตัดสินใจออกเดินทางไปเยี่ยมเยียน
    • ใช้ชีวิตอยู่สถานบำบัดกลางผืนป่า
    • วันถัดมา Naoko เปิดเผยเหตุผลที่ตนเองยังบริสุทธิ์ ไม่เคยร่วมรักกับ Kizuki
  • ความเข้มแข็งของ Midori
    • บิดาของ Midori ล้มป่วยโรคมะเร็งก่อนเสียชีวิต แต่เธอไม่ต้องการให้ Toru มาร่วมงานศพ
    • Toru จึงร่วมดินเนอร์กับ Nagasawa และ Hatsumi
    • Midori บอกกับ Toru ว่าเพิ่งเลิกราแฟนหนุ่ม แต่เขายังไม่พร้อมจะมีเธอ หญิงสาวเลยงอนตุ๊บป่อง
  • ความอ่อนแอของ Naoko และ Toru
    • ค่ำคืนหิมะตก Toru ในสถานบำบัดกับ Naoko แต่เธอไม่สามารถร่วมรักกับเขา
    • เช้าวันถัดมาหลังจากส่ง Toru กลับ Tokyo แล้วจู่ๆ Naoko ก็สูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
    • กลับมา Tokyo, Toru มองหาอพาร์ทเม้นท์สำหรับอยู่อาศัยกับ Naoko
    • Toru พยายามงอนง้อขอคืนดีกับ Midori แต่พอเธอพร้อมให้โอกาส เขากลับขอเวลาตัดสินใจ
  • ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย
    • หลังจากรับทราบข่าวการเสียชีวิตของ Naoko ทำให้ Toru ออกเดินทางทั่วญี่ปุ่น ระบายความอัดอั้นภายในออกมา
    • เมื่อหวนกลับมาพบเจอกับ Reiko ผู้(เคย)ดูแลของ Naoko ยังสถานบำบัด
    • และโทรศัพท์ติดต่อ Midori พร้อมแล้วจะเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่

แม้การดำเนินเรื่องจะมีลักษณะเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า แต่หลายครั้งกลับมีการแทรกภาพความฝัน หวนระลึกความทรงจำ หรือตัดต่อสลับไปมาระหว่าง Naoko & Midori เหล่านี้มีลักษณะเหมือนแสงกระพริบ สร้างความรับรู้ให้กับผู้ชมว่าตัวละครกำลังครุ่นคิดอะไร

โครงสร้างการดำเนินเรื่องก็อาจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แฟนคลับนิยายไม่ค่อยชอบพอสักเท่าไหร่ เพราะการเล่าย้อนอดีต สร้างสัมผัสคร่ำครวญ โหยหา ช่วงเวลาอันทรงคุณค่า (Nostalgia) ผู้อ่านรับรู้ตอนจบก่อนที่ทุกสิ่งอย่างจะเริ่มต้นขึ้น! แต่ฉบับภาพยนตร์ไม่ได้มีลวดลีลา เพียงการดำเนินเรื่องเส้นตรงไปข้างหน้า (Chronological Order) วิธีการนี้มุ่งเน้นสร้างความประทับใจ ‘first impression’ ผู้ชมไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์บังเกิดขึ้น


เพลงประกอบโดย Jonathan Richard Guy Greenwood (เกิดปี 1971) นักกีตาร์ แต่งเพลง สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Oxford, ระหว่างอยู่โรงเรียนประจำ Abingdon School ร่วมกับพี่ชาย Colin, นักร้องนำ Thom Yorke, นักกีตาร์ Ed O’Brien และนักกลอง Philip Selway ก่อตั้งวงดนตรี On a Friday ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Radiohead เซ็นสัญญากับค่าย EMI ออกอัลบัมแรก Pablo Honey (1993) แจ้งเกิดบทเพลง Creep, หลังประสบความสำเร็จโด่งดัง แยกตัวออกมาฉายเดี่ยวตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 ทำเพลงประกอบสารคดี Bodysong (2003), โด่งดังกับ There Will Be Blood (2007), Norwegian Wood (2010), Inherent Vice (2014), Phantom Thread (2017), The Power of the Dog (2021) ฯ

It was after I heard what Jonny did on There Will be Blood that I had to bring him in. It sounded so different from anything else. Jonny is a serious man and his music reflects that. But he can pull beauty out of the darkness.

Trần Anh Hùng

เมื่อตอนติดต่อหา Greenwood ปฏิกิริยาแรกคือตอบปฏิเสธ ไม่ครุ่นคิดว่าสไตล์เพลงตนเองจะเหมาะเข้ากับพื้นหลังของหนัง แต่ผกก. Trần Anh Hùng พยายามพูดคุย โน้มน้าว นำฟุตเทจตัดต่อใกล้เสร็จมาเปิดให้รับชม ถึงทำให้อีกฝ่ายยินยอมตกลง

ความต้องการของผกก. Trần Anh Hùng ไม่ใช่งานเพลงที่ทำการปลุกเร้า บดขยี้อารมณ์ แต่พยายามทำออกมาให้สอดคล้องเข้ากับบรรยากาศ เหตุการณ์บังเกิดขึ้นขณะนั้น ช่วยยืนยันความรู้สึกที่ผู้ชมควรจักได้รับระหว่างการรับชม

I don’t like to use music to create emotions or to enhance it. I would like to use music to confirm emotions that are already there in the movie.

งานเพลงของ Greenwood ใช้สารพัดเครื่องสาย (String Intrument) สร้างบรรยากาศทะมึน อึมครึม มืดหมองหม่น ราวกับบางสิ่งชั่วร้าย ภัยอันตรายกำลังคืบคลานเข้าหา นำพาให้เกิดหายนะ ความตาย โศกนาฎกรรม บทเพลงชื่อว่า もう少し自分のこと、きちんとしたいの (อ่านว่า Mōsukoshi jibun no koto, kichinto shitai no แปลว่า I want to take care of myself a little better.) แค่ได้ยินท่อนก็รู้สึกปั่นป่วนทรวงใน

ปล. ผมแอบเสียดายเล็กๆว่าระดับเสียง (Volumn) ในหนังเปิดเบาไปสักนิด จนแทบไม่ได้ยินท่วงทำนอง เพียงอารมณ์มวนๆ ท้องไส้ปั่นป่วน สร้างความร้อนรน กระวนกระวาย อยู่ไม่สงบสุขสักเท่าไหร่

บทเพลง 時の洗礼を受けていないものを読むな (อ่านว่า Toki no senrei o ukete inai mono o yomu na, แปลว่า Don’t read anything that hasn’t been baptized by time) บรรเลงด้วยกีตาร์ไฟฟ้า แม้ท่วงทำนองมีความสดใส ร่าเริง เพลิดเพลิน ฟังสบาย แต่ก็ซุกซ่อนสัมผัสความเจ็บปวดปวดรวดร้าว … ดังขึ้นตอน Nagasawa นำพา Toru ให้รับรู้จักกับ One Night Stand (ONS)

私をとるときは私だけをとってね (อ่านว่า Watashi o toru toki wa watashi dake o totte ne, แปลว่า When you decide to choose me, please just choose me.) กรีดกรายด้วยการประสานเสียงไวโอลิน บีบเค้นคั้นหัวใจ การจากไปของเธอทำให้ฉันแทบมิอาจอดรนทน … เพลงนี้ดังขึ้นระหว่าง Toru ขอเวลากับ Midori ก่อนนำเข้าสู่การฆ่าตัวตายของ Naoko

บทเพลงที่อาจทำให้หลายคนชักดิ้นชักงอ ล้างผลาญทรวงใน  直子が死んだ (อ่านว่า Naoko ga shinda, แปลว่า Naoko died) ประสานเสียงออร์เคสตราที่ราวกับคลื่นลมมรสุม พายุลูกใหญ่ถาโถมเข้าใส่ มันช่างรุนแรง รุนแรง ปั่นป่วนเกินกว่าจะต้านทานไหว

ต้นฉบับนวนิยาย เริ่มต้นด้วย Toru Watanabe วัย 37 ปี ระหว่างเครื่องบินลงจอดสนามบิน Hamburg, West Germany ได้ยินเสียงออร์เคสตราบทเพลง Norwegian Wood นั่นคือจุดเริ่มต้นความรู้สึกคร่ำครวญ โหยหา (Nostalgia) หวนระลึกช่วงเวลารักครั้งแรกหัวใจก็แตกสลาย

ผมเป็นคนหนึ่งที่ตั้งหน้าตั้งตา อยากได้ยินบทเพลง Norwegian Wood (This Bird Has Flown) แต่กว่าจะดังขึ้นครั้งแรกก็ประมาณกึ่งกลางเรื่อง ค่ำคืนในสถานบำบัด ขับร้อง/บรรเลงโดย Reika Kirishima (รับบท Reiko Ishida ผู้ดูแล Naoko), ส่วนต้นฉบับของ The Beatles กลับดังขึ้นช่วงท้าย Closing Credit คงทำให้หลายคนรู้สึกผิดหวัง แตกต่างจากต้นฉบับนวนิยายที่ได้ยินครั้งตอนต้นเรื่อง

แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะกว่าจะได้ยินบทเพลงนี้ ผู้ชมบังเกิดความรู้สึกโหยหา เฝ้ารอคอย กว่าจะได้รับการเติมเต็ม ก็เมื่อเข้าใจความหมายของการสูญเสีย

I put the song at the end of the movie because it works like the beginning of the book.

Trần Anh Hùng

แซว: บทเพลงของ The Beatles เลื่องชื่อเรื่องความเรื่องมาก คิดค่าลิขสิทธิ์สูงอีกต่างหาก ทีแรกผกก. Trần Anh Hùng ตั้งใจจะให้ให้ Jonny Greenwood เพียงแค่ดัดแปลงฉบับออร์เคสตรา (จะได้ไม่ต้องขอลิขสิทธิ์) แต่พอนำหนังไปฉายให้โปรดิวเซอร์ เห็นพ้องว่าต้องใช้ต้นฉบับเท่านั้น!

เมื่อพูดถึงบทเพลง Norwegian Wood (This Bird Has Flown) จุดเริ่มต้นจาก John Lennon คาดว่าถูกเกี้ยวพาราสีโดยหญิงสาวคนหนึ่ง ชักชวนเล่นชู้ นอกใจภรรยา “I once had a girl, or should I say, she once had me.” แม้ไม่เคยเปิดเผยว่าเธอคนนั้นคือใคร แต่มีการคาดการณ์ว่าอาจเป็นแวดวงคนในอย่าง Maureen Cleave, Sonny Freeman ฯ

Norwegian Wood ตามคำอธิบายของ Paul McCartney คือลวดลายแผ่นผนัง (Wall Panelling) ทำจากไม้สนราคาถูกของประเทศ Norway ไม่ได้มีมูลค่า ความงดงาม ประดับตกแต่งในห้องของหญิงคนนั้น (ที่ชักชวน Lenon มาเพื่อสานสัมพันธ์)

And when I awoke I was alone
This bird had flown
So I lit a fire
Isn’t it good Norwegian wood?

ท่อนสุดท้ายของบทเพลง เมื่อตื่นขึ้นยามเช้า หญิงสาวออกจากบ้านไปทำงาน “The Bird had flow” การกระทำของเขา “lit a fire” ไม่ใช่แค่จุดเตาไฟให้อบอุ่น ยังสามารถตีความในลักษณะแก้แค้น เอาคืน เผาบ้านให้มอดไหม้ โดยใช้ไม้ Norwegian Wood เป็นเชื้อเพลิง โต้ตอบที่พยายามล่อลวง ชวนให้คบชู้นอกใจ

In our world the guy had to have some sort of revenge. It could have meant I lit a fire to keep myself warm, and wasn’t the decor of her house wonderful? But it didn’t, it meant I burned the fucking place down as an act of revenge, and then we left it there and went into the instrumental.

Paul McCartney

เกร็ด: John Lenon เขียนบทเพลงนี้ขณะพักอาศัยอยู่โรงแรม Badrutt’s Palace Hotel ตั้งอยู่ St. Moritz, Switzerland ผมลองค้นภายถ่ายภายใน พบเห็นตกแต่งด้วยงานไม้แกะสลักสวยๆ ก็เป็นไปได้ว่า Norwegian wood อาจค้นพบแรงบันดาลใจจากลวดลายแผ่นผนังสถานที่แห่งนี้

แม้เนื้อคำร้อง ความตั้งใจของ Lenon จะเกี่ยวกับคบชู้นอกใจ แก้แค้นเอาคืนหญิงสาวชั่วร้าย แต่คนส่วนใหญ่รับฟังเพลงนี้กลับรู้สึกคร่ำครวญ โหยหา “I once had a girl, or should I say, she once had me.” ฉันเคยตกหลุมรักหญิงคนหนึ่ง เราสองมีกันและกัน แต่รุ่งขึ้นเธอกลับโบยบินจากไป “The Bird had flow” ทำให้จิตวิญญาณมอดไหม้ “lit a fire” เผาทำลาย Norwegian Wood

เรื่องราวของนวนิยาย/ภาพยนตร์ Norwegian Wood นำเสนอรักครั้งแรก หัวใจก็แตกสลาย (บางแก้ว) เพราะไม่สามารถเติมเต็มรสรัก ร่วมเพศสัมพันธ์ ทำให้หนุ่ม-สาวสูญเสียความเชื่อมั่น เต็มไปด้วยความอัดอั้น (ไม่สามารถปลดปล่อยน้ำกาม) ตกอยู่ในความท้อแท้สิ้นหวัง เลยตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม

It was just a story of first love, but the first love that you lose almost immediately once you have it.

Trần Anh Hùng

ในมุมของผู้ใหญ่ บุคคลผู้มีสติ ย่อมสังเกตเห็นว่าการกระทำของ Kizuki และ Naoko ช่างโง่เขลา เอาแต่อารมณ์ แต่อย่าลืมว่าพวกเขายังเป็นวัยรุ่น ฮอร์โมน(วัย)ว้าวุ่น ไร้ซึ่งประสบการณ์ชีวิต จึงไม่สามารถควบคุมตนเอง ครุ่นคิดหาทางออกที่เหมาะสม ส่วนหนึ่งอาจต้องกล่าวโทษบริบททางสังคม เราสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับพวกเขาแล้วหรือ?

ญี่ปุ่นเป็นประเทศพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง Hiroshima และ Nagasagi ราบเรียบเป็นหน้ากลอง ทำให้ประชาชนตกอยู่ในความหดหู่ ท้อแท้สิ้นหวัง (Great Depression) เด็กรุ่นใหม่ (Baby Boomer) ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษนี้ (1946-64) ล้วนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มักขาดความรัก ความอบอุ่น ทำให้โหยหาใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง และพอเติบใหญ่ในช่วงทศวรรษ 60s จึงพยายามมองหาสิ่งปลดปล่อย ล่องลอย หลบหนีจากความทุกข์ยากลำบากในชีวิต

Murakami เกิดปี ค.ศ. 1949 แม้ไม่ได้พบเห็นหายนะจากสงคราม แต่ได้รับอิทธิพลยุคสมัย Great Depression เลยเข้าใจอารมณ์ว้าวุ่น โหยหาอิสรภาพ พยายามมองหาใครสักคนเคียงข้างกาย สำหรับนวนิยาย Norwegian Wood มีหลายส่วนที่ถือเป็นอัตชีวประวัติ โดยเฉพาะตัวละคร Midori Kobayashi สามารถเทียบแทนภรรยาได้ตรงๆเลยกระมัง

ส่วน Naoko คงไม่ใช่หญิงสาวที่ Murakami เคยประสบพบเจอ หรือมีตัวตนอยู่จริงๆ ซึ่งนั่นทำให้เราสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ ‘รักครั้งแรก’ ไม่จำเป็นต้องสื่อถึงบุคคล อาจหมายถึงช่วงเวลา สถานที่ หรือถ้ายึดตามความตั้งใจผู้เขียนจักคือบรรยากาศยุคสมัย 60s ที่สูญหายไปในปัจจุบันนั้น (นวนิยายตีพิมพ์ปี 1987) หลงเหลือเพียงความทรงจำอันเลือนลาง … กล่าวคือ Naoko เป็นตัวแทนความรักของ Murakami ต่อช่วงทศวรรษ 60s

It’s about the pain you feel when you are in the process of love. Love is growing and suddenly something stops it.

สำหรับผู้กำกับ Trần Anh Hùng ไม่ได้มีความสนใจในการหวนระลึกความหลัง (Nostalgia) โฟกัสที่เรื่องราวรักสามเส้า Toru ต้องเลือกระหว่าง Naoko หรือ Midori ตัวแทนผู้หญิงสองประเภทที่มีความแตกต่างตรงกันข้าม รักครั้งแรกเต็มไปด้วยความอ่อนไหว เปราะบาง ยิ่งชิดใกล้ยิ่งเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน อีกคนมาทีหลังกลับมอบสัมผัสอ่อนโยน อยู่ด้วยแล้วบังเกิดพละพลังใจ

In every woman, there are two things – Naoko and Midori. Naoko has dark sides. She is poisonous, and she is dangerous. She brings you to dark sides of life, like death. Midori like a wife. She is tender. She is someone who is able to go through all the changes of love and life.

อธิบายแบบนี้อาจทำให้หลายคนครุ่นคิดเห็นว่านวนิยายของ Murakami มีความลุ่มลึก มิติซับซ้อน แถมยังเป็นส่วนตัวมากกว่าภาพยนตร์ของ Trần Anh Hùng ที่โฟกัสเพียงเรื่องราวความรัก แต่นี่ไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างของหนังนะครับ การปรับเปลี่ยนเนื้อหา โครงสร้าง ทิศทางดำเนินเรื่อง ทำเพื่อให้สอดคล้องวิสัยทัศน์ผู้สร้าง

เป้าหมายของผู้กำกับ Trần Anh Hùng คือการพรรณาเรื่องราวความรัก โดยใช้ภาษากวีภาพยนตร์ สร้างสัมผัสระหว่างเหตุการณ์กับภาพพบเห็น (ไม่ใช่แค่ภาพพื้นหลัง แต่ยังทุกรายละเอียดประกอบเข้าในซีนนั้นๆ) เพื่อสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ vs. ธรรมชาติ … นี่เป็นสิ่งยิ่งใหญ่ ล้ำลึก แฝงปรัชญา ทรงคุณค่ากว่าอารมณ์โหยหา คร่ำครวญ หวนระลึกถึงทศวรรษ 60s เป็นไหนๆ

อีกประเด็นที่ผมอยากกล่าวถึงก็คือ ‘เสรีภาพทางเพศ’ นี่อาจเป็นสิ่งที่หลายคนยังส่ายหัว ไม่สามารถยินยอมรับ ปรับตัวเข้ากับค่านิยมสมัยใหม่ เพราะสังคมบ้านเราปลูกฝังค่านิยมชายเป็นใหญ่ ปิตาธิปไตย (Patriarchy) เพศหญิงต้องเป็นกุลสตรี แม่ศรีเรือน เรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ เอาจริงๆมันไม่ผิดอะไร แต่ต้องระวังการถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

“ความรัก ≠ เพศสัมพันธ์” คำกล่าวนี้อาจฟังดูเห็นแก่ตัว ขัดต่อหลักศีลธรรมจรรยา แต่สามารถสะท้อนวิถีโลกยุคสมัยใหม่ ตามแนวคิดเสรีภาพทางเพศ ทำไมเราต้องยึดถือมั่นตามขนบกฎกรอบ ค่านิยมทางสังคม ข้ออ้างศีลธรรมที่กำหนดขึ้นเพื่อควบคุมครอบงำ ความรักเป็นเรื่องของจิตใจ เพศสัมพันธ์คือความต้องการร่างกาย ถ้าสองสิ่งสามารถเติมเต็มกันและกันย่อมเป็นสิ่งดี แต่โลกปัจจุบันนี้ที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วเย้าทางเพศ เราควรเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยตนเอง (ทางเพศ) และควบคุมตนเอง (ในเรื่องความรัก) เพื่อยังคงความเป็นมนุษย์ … แบบเดียวกับ Toru แม้หลับนอนหญิงสาวไม่ซ้ำหน้า แต่ยังรักมั่นคง รักเดียวใจเดียว จนกว่าจะสูญเสียเธอไป


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice เสียงตอบรับค่อนข้างผสมทั้งดี-แย่ “a mere summary of Murakami’s book” vs. “In the realm of Greatness” ในญี่ปุ่นทำเงินได้ ¥1.4 พันล้านเยน (ประมาณ $16.4 ล้านเหรียญ) รวมรายรับทั่วโลก $17.6 ล้านเหรียญ ไม่รู้เพียงพอคืนทุนสร้างหรือเปล่า

I have seen three or four of [Tran’s] films, and I liked them very much. And I like the guy personally. We met four or five times in Tokyo and Paris [Tran’s home]. But also, he’s Vietnamese-French. And I think the Eastern Asian area is going to create a special culture. That’s important to me–that we make our own new Asian culture. Ten years ago, there was no market, no audience around here. But we now have one. We have many political problems, but in terms of culture, we can create a mutual culture, with mutual values.

Haruki Murakami กล่าวถึงภาพยนตร์ Norwegian Wood (2010)

เมื่อตอนผมเป็นวัยรุ่น ความหลงใหลภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากประสบการณ์อกหักนับครั้งไม่ถ้วน โหยหาหญิงสาวที่กล้าพูด กล้าแสดงออกเรื่องเพศ ตกหลุมรักนางเอกทั้งสองอย่างรุนแรง และโดยเฉพาะแนวคิด “ความรัก ≠ เพศสัมพันธ์” สามารถปรับเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ เปิดโลกทัศน์ใบใหม่ถึงเสรีภาพทางเพศ

พอวัยวุฒิเพิ่มสูงขึ้น รับชมครั้งนี้นอกจากเรื่องรักๆใคร่ๆ ยังได้ค้นพบพลังธรรมชาติ ภาพถ่ายทิวทัศน์ที่สะท้อนความรู้สึกภายใน สร้างสัมผัสกวีภาพยนตร์ที่งดงาม เศร้าสลด มอดไหม้ทรวงใน

เท่าที่ผมตามอ่านความคิดเห็นผู้ชม เสียงตอบรับแย่ๆล้วนมาจากคนเคยอ่านนวนิยายแล้วรับชมภาพยนตร์ แต่ในทิศทางกลับกันคนที่มีโอกาสดูหนังก่อน มักแสดงความชื่นชอบประทับใจ พอตามไปอ่านต้นฉบับหนังสือจะเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ ไม่ได้มีอคติต่อฉบับดัดแปลงนี้สักเท่าไหร่

จัดเรต 18+ กับเรื่องรักๆใคร่ๆ เพศสัมพันธ์ ฆ่าตัวตาย

คำโปรย | Norwegian Wood อาจไม่น่าประทับใจเท่าต้นฉบับนวนิยาย แต่ลีลาการนำเสนอของผู้กำกับ Trần Anh Hùng ทำให้ผู้ชมมอดไหม้ทรวงในด้วยสัมผัสกวีภาพยนตร์
คุณภาพ | วีร์
ส่วนตัว | มอดไหม้ทรวงใน

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: