Nosferatu the Vampyre

Nosferatu the Vampyre (1979) German : Werner Herzog ♥♥♥♥

หนังแดร็กคูล่า แวมไพร์ โทนภาพสีสด เพลงประกอบลอยหลอน ให้บรรยากาศเย็นยะเยือก สั่นสะท้านถึงขั้วหัวใจ, การร่วมงานครั้งที่ 2 ของผู้กำกับสุดบ้า Werner Herzog และนักแสดงสุดคลั่ง Klaus Kinski สร้างขึ้นเพื่อคารวะ Nosferatu (1922) โดยเฉพาะ

นี่เป็นหนังแดร็กคูล่า แวมไพร์ ในแบบที่ผมไม่เคยพบเห็นมาก่อน ส่วนใหญ่กับหนังแนว Horror จะมีความสยดสยอง ขยะแขยง เป็นภาพจดจำติดตา แต่หนังเรื่องนี้มีบรรยากาศที่เย็นยะเยือก อันจะทำให้คุณขนลุกขนพอง สยิวทั้งกายและใจ

ถ้าคุณเคยรับชมผลงานของ Werner Herzog (และ Klaus Kinski) อย่าง Aguirre, the Wrath of God (1972) หรือ Fitzcarraldo (1982) มาก่อนแล้ว จะสามารถเข้าใจสไตล์ รับสัมผัสบรรยากาศหนังของ Herzog ได้เป็นอย่างดี

Dracula เป็นนิยายแต่งโดย Bram Stoker นักเขียนชาว Irish ตั้งแต่เมื่อปี 1897 แนว Gothic Horror เรื่องราวของแวมไพร์ชื่อ Count Dracula ต้องการย้ายจาก Transylvania (ปัจจุบันคือ ประเทศโรมาเนีย) มาตั้งรกราก ถิ่นฐานใหม่ในประเทศอังกฤษ (แต่ในหนังทั้งสองภาค ดำเนินเรื่องที่ Wismar, Germany)

ในปี 1922 F. W. Murnau ได้พยายามเจรจาขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงนิยายของ Stoker แต่ไม่สามารถต่อรองได้สำเร็จ ด้วยความดื้อด้านส่วนตัว เขาจึงเอาเนื้อหาอ้างอิงจากนิยาย เปลี่ยนแปลงชื่อตัวละคร และแก้ไขเรื่องราวเล็กน้อย สร้างขึ้นเป็นหนังเงียบออกฉายเงียบๆเพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องลิขสิทธิ์, แต่พอภรรยาหม้ายของ Stoker รู้เข้า ยื่นฟ้องศาล ชนะคดี ผลลัพท์คือต้องทำลายฟีล์มหนังทุกม้วน นับว่าโชคยังดีที่กฎหมายลิขสิทธิ์นี้มีผลแค่ประเทศอังกฤษ เยอรมัน (และทั่วยุโรป) จึงทำให้มีฟีล์มหนังหลงเหลือ รอดอยู่ต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน

หลังจาก Florence Stoker ภรรยาของผู้แต่งเสียชีวิตและผลงานครบ 50 ปี กฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์จึงหมดอายุไป นิยายกลายเป็นของสาธารณะ ฟีล์มหนัง Nosferatu จึงเริ่มได้รับการบูรณะโดยผู้สร้างหนังยุคใหม่ ผมได้เคยเขียนรีวิวหนังเรื่องนั้นไปแล้ว ลองค้นหาในหมวดหนังเงียบดูนะครับ

Werner Herzog ยกย่อง Nosfertu ฉบับของ F. W. Murnau ว่าคือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดของประเทศเยอรมัน เขามีความประสงค์ต้องการสร้างใหม่ในสมัยปัจจุบัน เพื่อเป็นการคารวะต่อต้นฉบับ, จะเห็นว่าหลายๆอย่างยังคงเรื่องราว วิธีการไว้ตามแบบที่ Nosferatu ได้เคยสร้าง (เช่น รูปลักษณ์ของ Count Dracula, การเล่นกับแสงเงา, คำพูดบางประโยคก็นำมาจาก Title Card ฯ) แต่เพราะนิยายหมดลิขสิทธิ์แล้ว Herzog จึงได้นำหลายๆอย่างจากนิยาย (เช่น ชื่อตัวละคร, บทสรุป ฯ) เติมเต็มให้หนังมีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

หนังเป็นการร่วมทุนสร้างของ Werner Herzog Filmproduktion (บริษัทของ Herzog), สตูดิโอ Gaumount ของประเทศฝรั่งเศส และสถานีโทรทัศน์ของเยอรมันตะวันตก ZDF แต่ก็ไม่ได้ทุนสร้างมากมายอะไร ทั้งกองถ่ายมีทีมงานเพียง 16 คน จัดจำหน่ายทั่วโลกโดย 20th Century Fox

ตามคำร้องขอของผู้จัดจำหน่ายให้ Herzog สร้างหนัง 2 ฉบับ คือ พูดภาษาอังกฤษ และพูดภาษาเยอรมัน (ฉบับภาษาอังกฤษ จะเห็นขยับปากตรง แต่มีการพากย์เสียงทับอีกที), Herzog บอกว่า ถ้าจะดูให้เห็นความแท้จริง (authentic) ให้หาฉบับพากย์เยอรมันมาดู (แต่ถ้าคุณฟังเยอรมันไม่ออก ผมว่าดูฉบับไหนก็เหมือนกัน)

นำแสดงโดย Klaus Kinski รับบท Count Dracula, เราอาจจดจำหน้าตาของเขาไม่ได้ เพราะมีการแต่งหน้าหนาเตอะ แต่คุณจะจดจำความบ้าคลั่งของ Kinski ได้ ซึ่งผมรู้สึกว่าเขาเกิดมาเพื่อรับบทนี้เลยละ, Count Dracula ก็ไม่รู้อายุเท่าไหร่ แต่คิดว่าคงอยู่มานานหลายศตวรรษ จนรู้สึกชีวิตน่าเบื่อหน่าย จึงต้องการแสวงหาความตื่นเต้นจากโลกภายนอก

รูปลักษณ์ของแดร็กคูล่า เป็นการคารวะ เลียนแบบ Max Schreck จากต้นฉบับ Nosferatu (1922) เปะๆเลย สวมชุดสีดำ โกนหัวล้าน ใส่ฟันหนูสองซี่หน้า หูค้างคาว เล็บยาวแหลม แต่งหน้าโดยศิลปินชาวญี่ปุ่น Reiko Kruk, แม้ในกองถ่าย Kinski กับ Herzog จะมีเรื่องทะเลาะขึ้นเสียง จะฆ่าแกงกันหลายครั้ง แต่ 4 ชั่วโมงทุกวันขณะแต่งหน้า เขาโดยไม่เคยแสดงความสติแตกออกมาเลย

Bruno Ganz (คนที่แสดงเป็นพระเจ้าลงมาเกิดใน Wings of Desire-1987) รับบท Jonathan Harker ชายหนุ่มผู้มีความทะเยอทะยาน คิดว่าเงินคือสิ่งที่ทำให้เขาและแฟนสาวมีความสุขได้ ออกเดินทางตามคำสั่งของเจ้านายไปยัง Transylvania แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น, สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Jonathan ในหนังเรื่องนี้ ต่างจาก Nosferatu ต้นฉบับพอสมควร ในตอนจบเขาป่วย ติดเชื้อและกลายเป็นแวมไพร์

มีนักวิเคราะห์เปรียบเทียบแวมไพร์ ที่ชอบดูดเลือด ได้กับ โรคติดต่อ/โรคระบาด (บางคนจะมองว่า เลือด=AIDS) นี่เป็นนัยยะแฝง ที่บอกว่าเมื่อ Jonathan ถลำลงไปคลุกคลีกับบางสิ่งอย่าง ก็ไม่สามารถถอนตัวกลับขึ้นมาได้ ต้องกลายเป็นเหมือนผู้สืบทอดต่อจาก Count Dracula ในตอนจบ

Isabelle Adjani (นักแสดงนำใน The Story of Adèle H.-1975 ของ François Truffaut) รับบท Lucy Harker หญิงสาวผู้มีสัมผัสในเรื่องลี้ลับ แต่อาภัพกับเรื่องของความรัก แม้เธอจะมอบกายใจให้แฟนหนุ่ม แต่เขาไม่เห็นความสำคัญเสียเท่าไหร่ และการเสียสละตอนจบ (นี่ก็ต่างจาก Nosferatu ต้นฉบับ) เธอก็หารู้ตัวเองไม่ ว่าสิ่งที่ทำกลับไร้ค่าสิ้นดี

เรื่องราวของ Harker เป็นการเปรียบเทียบบทบาทของผู้หญิงในสังคมอังกฤษ (ตามต้นฉบับนิยาย) เพราะถึงเธอเป็นได้เพียงช้างเท้าหลัง ไม่มีสิทธิ์ออกเสียแทนสามี และการกระทำบางอย่างของเธอ แม้เป็นสิ่งที่หวังดี แต่แท้จริงกลับไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ

การแสดงของทั้ง Bruno Ganz และ Isabelle Adjani ถือว่าโดดเด่นมากๆ แต่… โดน Klaus Kinski กลบรัศมีหมด ใครเป็นคอหนังเยอรมัน จดจำชื่อของทั้งสองไว้ด้วยละ ถือเป็นดารามากฝีมือ และเคยคว้ารางวัลระดับนานาชาติมาหมดแล้ว

แถมให้กับอีกหนึ่งทีมนักแสดง หนูจำนวน 11,000 ตัว เห้ย! บ้าไปแล้ว! ผมเคยดูหนังเรื่อง Willard (2003) ไม่คิดจะมีหนังเรื่องไหนบ้าบอคอแตก ทรมานสัตว์โลกได้กว่านี้อีกแล้ว จนได้พบหนังเรื่องนี้, เห็นว่าเป็นพันธุ์หนูขาวนำเข้าจาก Hungary ขนส่งทางเรือ แต่เพราะอาหารการกินไม่ค่อยมี บางตัวทนหิวไม่ได้เลยเริ่มฆ่ากันเอง (เพิ่งรู้นะเนี่ยว่าหนูเป็น cannibal), พอมาถึงสถานที่ถ่ายทำ ผู้กำกับต้องการย้อมขนจากสีขาวเป็นสีเทา ซึ่งวิธีการต้องต้มน้ำเดือดสำหรับย้อมสี แล้วจับหนูโยนลงบ่อต้ม ครึ่งหนึ่งตาย ครึ่งหนึ่งรอด, Oh My God!

ความตั้งใจของ Herzog ต้องการถ่ายทำสถานที่เดียวกับที่ Murnau เคยถ่ายทำด้วย แต่หลายที่ไม่อนุญาติ เพราะเมื่อได้ยินว่าต้องใช้หนูกว่าหมื่นตัวประกอบฉาก แค่นี้ใครก็ส่ายหัว จะไปยอมให้ใช้ได้ยังไง

ถ่ายภาพโดย Jörg Schmidt-Reitwein ความโดดเด่นอยู่ที่การเลือกโทนสีเย็น (เน้นน้ำเงิน/ดำ) ทำให้หนังมีความอึมครึม หดหู่ แต่ไม่ใช่ว่ามืดหม่นจนมองไม่เห็น หนังมีความสว่างมากๆ ซึ่งนี่อาจขัดแย้งกับความรู้สึกหลายๆคนที่มองว่า หนังแนว Horror งานภาพต้องมืดๆ เห็นเงาดำทะมึนๆ หนังเรื่องนี้ภาพสว่าง สีสดมากๆ นี่ทำให้รสสัมผัสของหนังแตกต่างไป กลายเป็นความเยือกเย็นที่จับต้องได้ ราวกับอยู่ในโลกแฟนตาซีสมจริง การเดินทางคือผจญภัยเพื่อค้นพบโลกใหม่

กับฉากโคตรไฮไลท์ ไม่รู้ Herzog เคยดู Throne of Blood (1957) มาหรือยังไง (จริงๆเคยเห็นงานภาพลักษณะนี้มาแล้วใน Aguirre, the Wrath of God (1972) บนยอดเขาที่ตั้งปราสาทของ Count Dracula หมอกลงปกคลุมจนมองไม่เห็น แล้วมีลมพัด จนค่อยๆเห็นเงาทะมึนของปราสาท นี่เป็นฉากที่ผมอึ่งทึ่งอ้าปากค้าง มีความงดงามเหนือคำบรรยาย

มีช็อตที่ ถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ด้วย ภาพสวยมาก เป็นขณะล่องเรือในทะเล… แต่เดี๋ยวก่อนนะ ถ้าใครดูแผนที่เป็นคงรู้สึกความไม่สมจริงบางอย่าง คือถ้านั่งเรือนี่ต้องอ้อมทวีปยุโรปเลยละ เพราะ Wismer อยู่ตอนเหนือของเยอรมัน ติดทะเลบอลติก ส่วน Transylvania ของโรมาเนียติดทะเลดำ ต้องเข้าทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตอนใต้ของยุโรป วนขึ้นเหนือผ่านเกาะอังกฤษ เข้าทะเลเหนือ นี่มันอ้อมยุโรปเลยนะครับ สมัยนั้นคงกินเวลาหลายเดือน ไม่แปลกถ้า Jonathan แม้จะป่วย แต่เดินทางบกจะถึงก่อน Count Dracula ที่เดินทางเรือ

เกร็ด: ฉาก Opening Title ภาพมัมมี่ ไปถ่ายที่พิพิธภัณฑ์ Guanajuato ประเทศ Mexico, เป็นร่างของมนุษย์ที่ถูกห่าลง (อหิวาตกโรค) เมื่อปี 1833 ปัจจุบันเปิดให้คนทั่วไปเข้าชม ใครไปไม่ต้องกลัวว่าจะติดห่ากลับมานะครับ (เชื้อโรคตายไปนานแล้ว)

ตัดต่อโดย Beate Mainka-Jellinghaus ขาประจำของ Herzog, หนังไม่มีความรีบเร่งอะไรเลย ค่อยๆให้ผู้ชมซึมซับ ให้เวลาสัมผัสกับธรรมชาติ บรรยากาศของหนังได้อย่างเต็มที่, มีฉากหนึ่งที่น่าพิศวงมาก คือกล้องถ่ายรถม้าโดยสารวิ่งผ่าน กล้องแพนจากด้านขวาไกลสุด ไปจนซ้ายสุดแบบไม่มีตัด … นี่ให้รู้ใช่ไหมว่ากำลังเดินทาง ใช้เวลานานม๊ากก (ก็การเดินทางจาก Wismer ไป Transylvania ในหนังใช้เวลา 4 สัปดาห์) ไม่มีความเร่งรีบแม้แต่น้อย

เพลงประกอบโดย Popol Vuh วงดนตรีขาประจำของ Herzog สไตล์เพลงของพวกเขา คือ Electronic/สังเคราะห์เสียง ในแนว avant-garde มีการใช้เครื่องดนตรีของอินเดีย 2 ชิ้นคือ Sitra และ Tamboura, กับเรื่องนี้มีกลิ่นอายของ Gothic ให้ความหลอนแบบเย็นยะเยือก มานุ่มๆตอนต้นเรื่อง ที่ทำให้ผมเกิดข้อสงสัยว่า มันเหมาะกับหนังแนวนี้ยังไง? เสียงเหมือนเพลงประกอบสารคดี National Geographic ที่พาคุณไปสำรวจโลกใหม่, แต่ไปๆมาๆ สักกลางเรื่องเริ่มรู้สึกขนลุก นี่เป็นเพลงประกอบ ที่สร้างบรรยากาศหลอนได้ลุ่มลึกที่สุดตั้งแต่ที่เคยได้ยินมาเลยละครับ, ลองไปฟังตัวอย่างสักหน่อยแล้วกัน ผมเลือก Opening Title ฉากเปิดเรื่อง เผื่อใครอยากเห็นมัมมี่

– ตอนพระเอกเดินทางขึ้นเขาไปพบกับ Count Dracula ใช้เพลง Richard Wagner: Das Rheingold เลือกเฉพาะช่วง Prelude
– งานเลี้ยงเต้นรำ Last Supper เป็นเพลง เพลง folk song ของประเทศ Georgian ชื่อ Tsintskaro ขับร้องโดย Vocal Ensemble Gordela
– เพลงตอนจบ มาจาก Charles Gounod: Sanctus (จาก Messe solennelle à Sainte Cécile)

ใจความของเรื่องนี้ ก็เหมือนหนัง Dracula ทั่วไป ชายหนุ่มต้องการสร้างความประทับใจหญิงสาว ออกเดินทางสู่ดินแดนไม่รู้จัก แล้วค่อยตระหนักได้ว่าสิ่งที่ตนทำไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่ก็สายไปเสียงแล้ว เพราะเขาได้นำพาความชั่วร้ายบางอย่างกลับมาด้วย ที่ทำให้ต้องสูญเสียคนรักที่สุดไป และตนเองกลับกลายเป็นความชั่วร้ายนั้น

ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้ แม้พล็อตเรื่องจะไม่มีอะไรใหม่ หลายๆอย่างดูผิดที่ผิดทางไม่เข้ากัน แต่บรรยากาศหนังที่ขนลุกขนพอง มันแผ่ซ่านความเย็นยะเยือกจับจิตจับใจ เกาะกินสร้างความประทับใจของผมไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงของ Klaus Kinski บ้าบอคอแตก เล่นอะไรของพี่แกก็ไม่รู้ คลั่งไคล้สมจริง

ข้อเสียของหนังเรื่องนี้ คือมีตำหนิมากมายเต็มไปหมด อาทิ ตัวละคร Renfield (รับบท Roland Topor) เจ้านายของ Jonathan ลูกน้องของ Count Dracula ผมเห็นหมอนี่หัวเราะทีไรได้เบือนหน้าหนีทุกที คือเว่อ เกินจริง Overacting (คงพยายามนำเสนอความบ้าให้เทียบเท่าตัวละครอื่น แต่การหัวเราะแบบคนบ้า ไม่ได้ทำให้คุณเป็นคนบ้าหรอกนะ)

ส่วนคนรักสัตว์ ดูไปคงรู้สึกทรมานใจสิ้นดี ผมก็รู้สึกหงุดหงิดเช่นกัน เพราะรู้ว่า นั่นหนูจริงๆไม่ใช่ CG มีเยอะขนาดนั้น จะดูแลทั่วถึงได้ยังไง, พอมารู้ความจริงก็ส่ายหัวเลยละครับ กรรมใครกรรมมันนะ! ทั้ง Werner Herzog และ Klaus Kinski คือคนโคตรบ้าที่สุดโต่ง หนังเรื่องนี้ถือเป็นอีกมุมหนึ่งของโลกภาพยนตร์ที่ไร้ขอบเขต ถ้าจะบ้าก็ต้องให้ได้ที่สุดแบบสองคนนี้

กับคนชื่นชอบหนังแดร็กคูล่า แวมไพร์ ถ้ายังไม่เคยดูเรื่องนี้ถือว่า พลาดแล้วนะครับ

แนะนำคอหนังที่ชื่นชอบบรรยากาศ ภาพสวยสีสันสด เพลงประกอบล่องลอยหลอนๆ, หลงใหลการแสดงของบ้าๆบอๆของ Klaus Kinski, แฟนหนัง Werner Herzog ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศที่เย็นยะเยือก ที่สัมผัสได้ไปถึงขั้วหัวใจ

TAGLINE | “Nosferatu ฉบับของ Werner Herzog มีบรรยากาศที่เย็นยะเยือก และ Klaus Kinski ที่บ้าคลั่ง ทำให้หนาวลึกไปถึงขั้วหัวใจ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: