Notorious

Notorious (1946) hollywood : Alfred Hitchcock ♥♥♥♥♡

(10/6/2024) เพราะเป็นบุตรสาวสายลับนาซี Ingmar Bergman จึงมีชื่อเสียงฉาวโฉ่ (Notorious) จนกระทั่ง Cary Grant โน้มน้าวให้เธอพิสูจน์ตนเองด้วยการเป็นสายลับอเมริกัน ออกเดินทางสู่ Rio de Janeiro, Brazil เพื่อล้วงข้อมูลจากสมาชิกเครือข่ายนาซี Claude Rains ด้วยการทำให้เขาตกหลุมรัก

Alfred Hitchcock’s “Notorious” is the most elegant expression of the master’s visual style, just as “Vertigo” is the fullest expression of his obsessions. It contains some of the most effective camera shots in his–or anyone’s–work, and they all lead to the great final passages in which two men find out how very wrong they both were.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 4/4 พร้อมจัดเป็น Great Movie

ตั้งแต่ออกเดินทางมาทำงานยัง Hollywood ยังไม่เคยสรรค์สร้างผลงานเรื่องไหนตรงตามวิสัยทัศน์ ล้วนถูกแทรกแซง ปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่น และแม้ Notorious (1946) จะเริ่มต้นภายใต้โปรดิวเซอร์ David O. Selznick แต่ขณะนั้นสตูดิโอขาดสภาพคล่อง จึงจึงต้องขายต่อโปรเจคนี้แก่ RKO Radio Pictures นั่นทำให้ผกก. Hitchcock ได้รับอิสรภาพในการสรรค์สร้างภาพยนตร์อย่างเต็มที่ เป็นครั้งแรก!

ผลลัพท์ก็คือร์พี ดั่งคำบรรยายของนักวิจารณ์ Roger Ebert กล่าวยกย่อง Notorious (1946) น่าจะเป็นผลงานที่มีความสละสลวย สง่างาม แพรวพราวด้วยภาษาภาพยนตร์ ถ่ายทอดความหมกมุ่น อารมณ์นึกคิด ออกมาได้อย่างวิจิตรศิลป์ที่สุด

ผมมีความกระตือรือล้น อยากหวนกลับมาเขียนถึงหนังเรื่องนี้อย่างมากๆ แบบเดียวกับ Rebecca (1940) ตระหนักว่าเมื่อเขียนถึงคราก่อน ยังอ่อนด้อยประสบการณ์ ไร้ความสามารถในการปีนป่าย เข้าถึงศาสตร์ชั้นสูงของหนัง, รับชมครานี้แทบจะน้ำลายฟูมปาก มันช่างงดงาม ละเมียดไม เต็มไปด้วยรายละเอียดน่าหลงใหล ให้อิสระผู้ชมจิ้นไปไกล และโดยเฉพาะการท้าทายขีดจำกัด Hays Code ได้อย่างอื้อฉาว คาวโลกีย์


Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899-1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่ Leytonstone, Essex ครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำ (grocery shop) ช่วงวัยเด็กมีความสนใจภูมิศาสตร์ แผนที่ ขบวนรถไฟ ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร เข้าศึกษาภาคค่ำยัง London County Council School of Engineering and Navigation แต่พอบิดาเสียชีวิต เลยต้องแบ่งเวลามาทำงานเสมียนบริษัทโทรเลข Henley Telegraph and Cable Company, หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มมีความสนใจด้านการเขียน กลายเป็นบรรณาธิการรุ่นก่อตั้ง The Henley Telegraph ก่อนย้ายมาแผนกโฆษณา ทำให้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ ‘Motion Picture’ เกิดความชื่นชอบหลงใหล Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang

ต่อมายื่นใบสมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Famous Players–Lasky เปิดสาขาใหม่ที่ London เริ่มจากเป็นนักออกแบบ Title Card, ร่วมเขียนบท, ออกแบบศิลป์, ผู้จัดการกองถ่าย, ผู้ช่วยตัดต่อ ฯ เรียนรู้งานแทบจะทุกสิ่งอย่าง ไต่เต้าสู่ผู้ช่วยผู้กำกับ Woman to Woman (1923), ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Pleasure Garden (1925), แจ้งเกิดกับ The Lodger: A Story of the London Fog (1927), ผลงานโดดเด่นในยุคแรกๆ อาทิ Blackmail (1929), The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935), The Lady Vanishes (1938) ฯ

ผกก. Hitchcock เซ็นสัญญา(ทาส)กับโปรดิวเซอร์ David O. Selznick เมื่อปี ค.ศ. 1939 เดินทางมาสรรค์สร้างภาพยนตร์ Hollywood เรื่องแรก Rebecca (1940) แต่ทั้งสองเต็มไปด้วยขัดแย้ง แนวทางทำงานที่แตกต่าง แม้ยังติดสัญญากันอยู่ Selznick กลับปล่อยให้ Hitchcock หยิบยืมโดยโปรดิวเซอร์/สตูดิโออื่น Universal, RKO, 20th Century Fox ฯ ก่อนถูกเรียกตัวหวนกลับมาสรรค์สร้าง Spellbound (1945)

จุดเริ่มต้นของ Notorious เกิดขึ้นช่วงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1944 ระหว่างผกก. Hitchcock รับประทานอาหารกลางวันกับ Margaret McDonell เลขาส่วนตัวของโปรดิวเซอร์ Selznick เธอเขียนโน๊ตส่งให้นายจ้าง

[Hitchcock was] very anxious to do a story about confidence tricks on a grand scale [with] Ingrid Bergman [as] the woman … Her training would be as elaborate as the training of a Mata Hari.

Margaret McDonell

หลายสัปดาห์ถัดมา Hitchcock ร่วมรับประทานอาหารกับ William Dozier ผู้บริหารสตูดิโอ RKO Radio Pictures เล่าถึงโปรเจคที่อยู่ในความสนใจ “the story of a woman sold for political purposes into sexual enslavement”. แม้ยังไม่มีรายละเอียดใดๆมากกว่านั้น แต่ทำการตั้งชื่อหนัง Notorious

Dozier มีความสนอกสนใจโปรเจคนี้อย่างมาก ติดต่อพูดคุยโปรดิวเซอร์ Selznick ยื่นข้อเสนอซื้อต่อ Notorious แต่เพราะมันยังไม่ได้เริ่มต้น ไม่มีอะไรสักสิ่งอย่าง เลยไม่รู้จะขายอะไรยังไง? ถึงอย่างนั้น Selznick ก็ยินยอมให้ผกก. Hitchcock ร่วมงานนักเขียน Ben Hecht (เคยร่วมงาน Spellbound (1945)) พัฒนาบทหนัง Notorious ตามที่พวกเขาสนใจ … เราสามารถมองว่าผกก. Hitchcock ใช้ผู้บริหารสตูดิโออื่น ทำการล็อบบี้โปรดิวเซอร์ Selznick เพื่อให้เวลาตนเองพัฒนาโปรเจคนี้!

การร่วมงานระหว่างผกก. Hitchcock และนักเขียน Hecht เป็นไปด้วยดี ไม่มีปัญหาวุ่นวายอะไร นั่นเพราะ Hecht ไม่ใคร่สนใจว่าหลังพัฒนา Treatment สำเร็จเสร็จสรรพ จะถูกนำไปปรับแก้ไขอะไรยังไง

Their story conferences were idyllic. Mr. Hecht would stride about or drape himself over chair or couch, or sprawl artistically on the floor. Mr. Hitchcock, a 192-pound Buddha (reduced from 295) would sit primly on a straight-back chair, his hands clasped across his midriff, his round button eyes gleaming. They would talk from nine to six; Mr. Hecht would sneak off with his typewriter for two or three days; then they would have another conference. The dove of peace lost not a pinfeather in the process.

Donald Spoto นักเขียนหนังสือ The Dark Side of Genius: The Life of Alfred Hitchcock (1983)

บทหนังพัฒนาแล้วเสร็จช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1945 แต่ทว่าโปรดิวเซอร์ Selznick กำลังติดพันโปรเจค Duel in the Sun (1946) ที่เต็มไปด้วยปัญหามากมาย เลยต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะว่างตรวจสอบ แสดงความคิดเห็น ไม่ค่อยประทับใจตัวละคร Alicia เรียกร้องขอให้ปรับแก้ไข MacGuffin คืออะไร? ทำไมต้อง Uranium?

เกร็ด: ผกก. Hitchcock และนักเขียน Ben Hecht ขอคำปรึกษาจาก Dr. Robert Millikan ถึงวิธีการสร้างระเบิดปรมาณู แม้อีกฝ่ายจะปฏิเสธ ไม่ยินยอมตอบคำถาม แต่ได้อธิบายวิธีการทำง่ายคร่าวๆ ส่วนผสม Uranium สามารถเก็บใส่ในขวดไวน์ … องค์ความรู้ดังกล่าวยังถือเป็นสิ่งใหม่ คนส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้มาก่อน แต่นั่นทำให้ผกก. Hitchcock ถูก F.B.I. ส่งคนมาสอดแนม แอบติดตาม สังเกตการณ์อยู่นานถึงสามเดือน!

จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง โปรดิวเซอร์ Selznick สูญเสียความเชื่อมั่นในโปรเจค อีกทั้ง Duel in the Sun (1946) ต้องการใช้เงินทุนเพิ่มเติมสำหรับถ่ายซ่อมแซม เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1945 จึงตัดสินใจขายต่อลิขสิทธิ์ Notorious (พร้อมให้หยิบยืม Hitchcock และ Ingrid Bergman) ให้กับสตูดิโอ RKO ได้เงินสดมา $800,000 เหรียญ พร้อมส่วนแบ่ง 50% ของกำไร

แม้เมื่อตอน Suspicion (1941) ผกก. Hitchcock จะเคยมีอคติต่อ RKO ที่พยายามควบคุมครอบงำ เรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่น, แต่สำหรับ Notorious ด้วยคำหมั้นสัญญาของผู้บริหาร Dozier จึงไม่มีใครเข้ามายุ่งย่ามก้าวก่าย (แม้แต่ Selznick เพราะมีส่วนแบ่งการลงทุน จึงพยายามล็อบบี้เปลี่ยนตัวนักแสดงจาก Cary Grant ให้เป็น Joseph Cotten แต่ก็ประสบความล้มเหลว) และยังมอบเครดิตโปรดิวเซอร์ (ถือเป็นครั้งแรกของ Hitchcock ที่รับหน้าที่โปรดิวเซอร์)


เรื่องราวเริ่มต้นเดือนเมษายน ค.ศ. 1946, เมื่อบิดาของ Alicia Huberman (รับบทโดย Ingrid Bergman) ถูกตัดสินว่าเป็นสายลับนาซี หน่วยข่าวกรองจึงส่งเจ้าหน้าที่ T. R. Devlin (รับบทโดย Cary Grant) เข้ามาโน้มน้าว เกลี้ยกล่อมเกลา ให้สำแดงความรักชาติ พิสูจน์ตนเองด้วยการปลอมตัวเป็นสายลับ เดินทางสู่ Rio de Janeiro, Brazil เพื่อล้วงข้อมูลจากสมาชิกเครือข่ายนาซี Alexander Sebastian (รับบทโดย Claude Rains)

ก่อนจะรับล่วงรู้ภารกิจ Alicia เกิดความสนิทสนม โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรัก Devlin หัวปลักหัวปลำ! แต่เมื่อทราบแผนการที่เธอจะต้องเข้าไปตีสนิท สานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ Sebastian มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจ ถึงอย่างนั้นหญิงสาวกลับพร้อมเสียสละ พิสูจน์ตนเอง ยินยอมปฏิบัติภารกิจดังกล่าวอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ


Ingrid Bergman (1915-82) นักแสดงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Stockholm มารดาจากไปตั้งแต่ยังไม่รู้เดียงสา บิดาใฝ่ฝันให้บุตรสาวเป็นนักร้องอุปรากร ส่งไปเรียนร้องเพลงตั้งแต่อายุสามขวบ หลังบิดาเสียชีวิตอาศัยอยู่กับลุง-ป้า เข้าศึกษาด้านการแสดง Royal Dramatic Theatre School (โรงเรียนเดียวกับ Greta Garbo) แค่เพียงปิดเทอมแรกก็ได้ทำงานตัวประกอบ Swedish Film Studio ปีถัดมาเลยตัดสินใจลาออก ทุ่มเทเวลาให้กับการแสดงเต็มตัว เครดิตภาพยนตร์เรื่องแรก Munkbrogreven (1935), Intermezzo, (1936), แจ้งเกิดกับ A Woman’s Face (1938) คว้ารางวัล Special Recommendation จากเทศกาลหนังเมือง Venice, เซ็นสัญญาสามปีกับ UFA แต่มีโอกาสแสดงหนังเยอรมันแค่เรื่องเดียว The Four Companions (1939), จากนั้นตอบตกลง David O. Selznick เดินทางสู่ Hollywood เริ่มจากสร้างใหม่ Intermezzo: A Love Story (1939) ตอนนั้นยังพูดอังกฤษไม่ชัดเท่าไหร่ ครุ่นคิดว่าถ่ายเสร็จคงกลับสวีเดน ที่ไหนได้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม, ผลงานเด่นๆ อาทิ Casablanca (1942), For Whom the Bell Tolls (1943), Spellbound (1945), The Bells of St. Mary’s (1945), Notorious (1946), Joan of Arc (1948), Stromboli (1950), Europe ’51 (1952), Journey to Italy (1954), Autumn Sonata (1978), คว้ารางวัล Oscar ทั้งหมดสามครั้ง Gaslight (1944), Anastasia (1956) และสาขาสมทบ Murder on the Orient Express (1974)

เกร็ด: Ingrid Bergman ในชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฟากฝั่ง Female Legends ติดอันดับ #4

รับบท Alicia Huberman หญิงสาวผู้มีชื่อเสียงฉาวโฉ่จากการที่บิดาคือสายลับนาซี ค่ำคืนนี้ต้องการดื่มด่ำให้หลงลืมทุกสิ่งอย่าง แต่กลับถูกโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมโดยชายแปลกหน้า T. R. Devlin มารับรู้ว่าเป็นสมาชิกหน่วยข่าวกรอง พยายามเรียกร้องขอให้เธอเสียสละตนเองเพื่อชาติ ปลอมตัวเป็นสายลับ สานสัมพันธ์ ทำให้สมาชิกเครือข่ายนาซี Alexander Sebastian ตกหลุมรัก เพื่อล้วงข้อมูลอาชญากรรม

แต่ทว่า Alicia ระหว่างเดินทางสู่ Rio de Janeiro, Brazil ดันตกหลุมรักคลั่ง T. R. Devlin ด้วยเหตุผลบางอย่างจึงยังตอบรับภารกิจ สานสัมพันธ์กับ Sebastian จนสามารถพบเจอหลักฐานมัดตัว แต่เพราะเรื่องวุ่นๆของกุญแจห้องใต้ดิน ทำให้ถูกค้นพบว่าเธอคือสายลับ เลยโดยวางยาพิษ จนเกือบจะสูญสิ้นชีวิต

เกร็ด: บทหนังดั้งเดิม Alicia ทำงานเป็น ‘Sex Worker’ แต่ติดที่กองเซนเซอร์ Hays Code จึงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดตรงนั้น รวมถึงความสัมพันธ์ทางเพศกับ Sebastian เป็นสิ่งที่ผู้ชมต้องครุ่นคิดจินตนาการด้วยตนเอง

อาจเพราะความประทับใจ ต้องมนต์สะกดระหว่างสรรค์สร้าง Spellbound (1945) ผกก. Hitchcock จึงพัฒนาบทบาทนี้มาเพื่อ Bergman โดยเฉพาะ! หญิงสาวผู้มีจิตใจอันบริสุทธิ์ ซื่อสัตย์ จงรักภักดี แต่เพราะสถานการณ์บางอย่างบีบบังคับให้ต้องเสียสละร่างกาย-จิตวิญญาณ ไม่ใช่แค่พิสูจน์ตนเอง แสดงความรักชาติ (patriotic) ยังคือเชื่อมั่นศรัทธาในรัก จักสามารถเอาชนะทุกสิ่งอย่าง

Bergman เป็นนักแสดงที่มีเสน่ห์ น่าหลงใหล ดึงดูดใจ ดูสูงส่งราวกับนางฟ้า แต่สามารถเอื้อมือไขว่คว้าจับต้องได้ โดดเด่นในการถ่ายทอดอารมณ์อันซับซ้อน ตัวละครโหยหาการยินยอมรับ (เพราะบิดาเป็นสายลับนาซี แต่ตนเองมีความรักชาติอเมริกัน) พยายามมองหาใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง และเมื่อพบเจอชายคนรัก ก็พร้อมเสียสละ(ชีพ) พิสูจน์ตนเอง แสดงศรัทธาเชื่อมั่น ไม่ไขว้เขว รวนเร ผันแปรเปลี่ยน แม้ต้องกระทำสิ่งอัปยศ อื้อฉาว ขายเรือนร่างให้ศัตรู

เกร็ด: โดยปกติแล้วผกก. Hitchcock มักไม่ค่อยเปิดรับฟังความคิดเห็นใคร เพราะทุกสิ่งอย่างล้วนวางแผน ตระเตรียมการ วาดภาพ Storyboard ไว้แล้วเสร็จสรรพ แต่วันหนึ่ง Bergman ไม่รู้นึกครึ้มอะไร เสนอความคิดเห็นว่าตัวละครของตนเองควรออกทางอารมณ์เช่นไร อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดถึง Hitchcock ตอบตกลง … Bergman เป็นนักแสดงคนเดียวที่ Hitchcock เรียกเธอว่า ‘closest collaborator’


Cary Grant ชื่อจริง Archibald Alec Leach (1904-86) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน เกิดที่ Bristol, Horfield ในครอบครัวที่พ่อติดเหล้า แม่เป็นโรคซึมเศร้าแต่ก็พยายามสอนเขาให้ยิ้มไว้ ร้องเพลง เล่นเปียโน โตขึ้นได้ทุนเข้าเรียน Fairfield Grammar School แม้จะเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนๆ แต่ตัวเองกลับโดดเรียนจนถูกไล่ออก ใช้เวลาอยู่หลังเวทีที่ Hippodrome ต่อมากลายเป็นนักแสดงออกทัวร์ ตอนอายุ 16 ขึ้นเรือ RMS Olympic เดินทางไปที่อเมริกา ดิ้นรนไปเรื่อยๆจนพอมีชื่อเสียงใน Broadway แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก This is the Night (1932), เริ่มได้รับบทบาทเด่นกับ Blonde Venus (1932), She Done Him Wrong (1933), โด่งดังกับ The Awful Truth (1937), Bringing Up Baby (1938), His Girl Friday (1940), The Philadelphia Story (1940), กลายเป็นตำนานกับ Notorious (1946), North by Northwest (1959), Charade (1963) ฯ

เกร็ด: Cary Grant ในชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฟากฝั่ง Male Legends ติดอันดับ #2

รับบทเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง T. R. Devlin ได้รับมอบหมายให้เกลี้ยกล่อม Alicia Huberman มาทำงานสายลับรัฐบาล แต่โดยไม่รู้ตัวทั้งสองกลับตกหลุมรักคลั่ง จนกระทั่งหัวหน้าเปิดเผยภารกิจที่ต้องสานสัมพันธ์(ทางเพศ)กับสมาชิกเครือข่ายนาซี Alexander Sebastian

ในตอนแรก Devlin ต้องการปฏิเสธแทนเธอ แต่ทว่า Alicia กลับยินยอมตอบตกลง สร้างความผิดหวัง ไม่พึงพอใจ จึงพยายามรักษาระยะห่าง ปิดกั้นความรู้สึก แสดงออกอย่างเยือกเย็นชา ก่อนท้ายที่สุดจะตระหนักว่าทั้งหมดที่เธอทำไป เพราะความเชื่อมั่นศรัทธาในรักที่มอบให้กับตนเอง

Grant คือตัวเลือกแรก ตัวเลือกเดียวของผกก. Hitchcock แต่ทว่าโปรดิวเซอร์ Selznick พยายามล็อบบี้ให้เปลี่ยนมาเป็นนักแสดงในสังกัด Joseph Cotten สรรหาสารพัดข้ออ้างคิวไม่ว่าง เรียกค่าจ้างสูง และเมื่อตอน Suspicion (1941) เหมือนว่า Grant ไม่ค่อยชอบพอการทำงานร่วมกับ Hitchcock … แต่สุดท้ายผกก. Hitchcock ยินยอมรอคอยสามเดือนเพื่อให้ได้เซ็นสัญญากับ Grant

ก่อนหน้านี้ Grant มักได้รับบทพระเอกหนุ่มหล่อ เพลย์บอย พ่อรวย ใช้ชีวิตสนุกสนานร่าเริง ไม่ค่อยมีมิติลึกลับซับซ้อนสักเท่าไหร่ เมื่อตอน Suspicion (1941) คาดหวังไว้มากว่าตัวละครอาจจะเป็นฆาตกร กลับถูกล็อบบี้โดยสตูดิโอเพราะไม่ต้องการสูญเสีย ‘ภาพจำ’ แต่ทว่า Notorious (1946) คือครั้งแรกๆที่บทบาทเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แสดงสีหน้าเย่อหยิ่ง เย็นชา แทบไม่เคยพบเห็นรอยยิ้ม คิ้วขมวดแทบตลอดเวลา ชอบพูดน้ำเสียงหนักๆ จริงจัง เต็มไปด้วยถ้อยคำเสียดสี ประชดประชัน ก่อนเมื่อหญิงสาวขาดการติดต่อ เกิดอาการร้อนรน กระวนกระวาย ไม่สามารถหักห้ามใจตนเองได้อีกต่อไป … นั่นเพราะรักมาก จึงอดรนทนไม่ได้ที่เธอต้องไปร่วมรักชายอื่น พยายามรักษาระยะห่าง พูดคำถากถาง แสดงความเยือกเย็นชา แต่ท้ายที่สุดก็มิอาจทนต่อเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจ

underlined how far his unique qualities as a screen actor had matured in the years since The Awful Truth

นักเขียน Geoffrey Wansell หนังสือชีวประวัติ Cary Grant, Dark Angel (1996)

แซว: Grant เป็นนักแสดงที่ตัวสูงมากๆ เวลาแสดงภาพยนตร์เรื่องอื่นๆมักต้องย่อตัว หรือให้นางเอกยืนบนกล่อง แต่ไม่ใช่สำหรับ Ingrid Bergman ที่ก็ตัวสูงพอๆกัน ทั้งสองเลยมีความสนิทสนม เข้าฉากโรแมนติกได้อย่างไม่ต้องพะว้าพะวัง


William Claude Rains (1889-1967) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Clapham, London บิดาเป็นนักแสดงละครเวที แต่ครอบครัวมีฐานะยากจน (เพราะมีพี่น้องถึง 12 คน) วัยเด็กมักติดตามบิดาไปโรงละคร คลุกคลีกับเบื้องหลังการแสดง จนได้รับโอกาสขึ้นแสดงครั้งแรกตอนอายุ 10 ขวบ, อาสาสมัครทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถูกแก๊สระเบิดสูญเสียตาซ้ายมองไม่เห็น ปลดประจำการยศกัปตัน จากนั้นมุ่งสู่ London เป็นนักแสดง/อาจารย์ในสังกัด Royal Academy of Dramatic Arts มีลูกศิษย์อย่าง John Gielgud, Charles Laughton, แสดงหนังเงียบเรื่องแรก Build Thy House (1920), จากนั้นมุ่งสู่สหรัฐอเมริกามีผลงาน Broadway และภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ The Invisible Man (1933), The Adventures of Robin Hood (1938), Mr. Smith Goes to Washington (1939), Casablanca (1942), Notorious (1946), Lawrence of Arabia (1962) ฯ

รับบท Alexander Sebastian สมาชิกเครือข่ายนาซี เคยสนิทสนมกับบิดาของ Alicia แอบตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบเจอ แต่ตอนนั้นยังไม่โอกาสสานสัมพันธ์ พอมาบังเอิญพบเจอกันครั้งนี้ เกิดความมุ่งมั่น แสดงออกอย่างจริงจัง ต้องการสู่ขอแต่งงาน ปฏิเสธรับฟังคำทัดทานมารดา จนกระทั่งเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ ตระหนักว่าเธอคือสายลับ จึงครุ่นคิดแผนฆาตกรรมอันแยบยล ถึงอย่างนั้นตอนจบกลับกำลังก้าวย่างสู่หายนะ

ความตั้งใจแรกของผกก. Hitchcock ต้องการ Clifton Webb มารับบท Sebastian แต่โปรดิวเซอร์ Selznick พยายามล็อบบี้ Claude Rains ด้วยคำพรรณสรรพคุณ …

Rains offers ‘an opportunity to build the gross of Notorious enormously… Do not lose a day trying to get the Rains’ deal nailed down.’

David O. Selznick พยายามล็อบบี้ Claude Rains

ด้วยความที่ Rains ตัวเตี้ยกว่า Bergman ทำให้เวลาเข้าฉากร่วมกันต้องยืนบนกล่อง หรือขณะก้าวเดินจะสวมรองเท้ายกสูง 2.5 นิ้ว (มักถ่ายติดแค่ครึ่งบน ไม่ให้เห็นรองเท้า) เพื่อทำให้ดูสูงใหญ่กว่านางเอก สำแดงอำนาจบารมี แต่เอาเข้าจริงผมรู้สึกว่า Rains ไม่ได้ดูโฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย ตรงกันข้ามมีความอ่อนไหว เปราะบาง สง่างาม ในสไตล์ผู้ดีอังกฤษ … ตัวละครนี้คือสายลับนาซี ไม่ใช่ว่าควรต้องเป็นชาวเยอรมันหรอกหรือ??

อาจเพราะสงครามโลกเพิ่งสิ้นสุดลงไม่นาน ผกก. Hitchcock จึงสร้างตัวละครชาวเยอรมัน/นาซี ไม่ให้ดูโฉดชั่วร้าย อันตรายเกินไป พยายามแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ จิตใจอันอ่อนแอ เปราะบาง จากเคยเย่อหยิ่งทะนงตน พอรับรู้ว่าหญิงคนรักคือสายลับปลอมตัวมา เกิดความห่อเหี่ยว สีหน้าซีดเซียว อกสั่นขวัญแขวน ถึงขนาดต้องขอคำปรึกษามารดา กลายเป็นคนเลือดเย็นอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนเมื่อความจริงถูกเปิดเผย ทุกก้าวย่างดูสั่นคลอน ราวกับลมหายใจเฮือกสุดท้าย

ถึงตัวละครจะเป็นสายลับนาซี แต่เชื่อว่าหลายๆคนกลับจะรู้สึกสงสารเห็นใจ เพราะในเรื่องราวความรัก พยายามปรนเปรอนิบัติ จงรักภักดี กลับถูกเธอทรยศหักหลัง ทำให้ตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง แสดงความอ่อนแอ เปราะบาง และพอแผนการล้มเหลวก้มหน้าเศร้าสลด ฉันยังไม่อยากตาย … แต่อย่าหลงลืมสิครับว่าหมอนี่เป็นใคร เคยกระทำสิ่งชั่วร้ายอะไร แม้หนังไม่นำเสนอภาพเหล่านั้น ผู้ชมควรต้องตระหนักรับรู้ด้วยตนเอง


อีกหนึ่งนักแสดงที่ต้องพูดถึงก็คือ Leopoldine Konstantin ชื่อจริง Leopoldine Eugenie Amelie Konstanti (1886-1965) สัญชาติ Austrian เกิดที่ Moravia, Austria-Hungary เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละคอนเวที Deutsches Theater, Berlin มีผลงานหนังเงียบมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1912 แต่มาแจ้งเกิดโด่งดังในช่วงหนังพูด ก่อนตัดสินใจอพยพย้ายสู่สหรัฐอเมริกาก่อนการมาถึงของสงครามโลกครั้งสอง เนื่องจากไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษ เลยทำงานโรงงานจนสื่อสารรู้เรื่อง และมีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย Notorious (1946)

รับบท Madame Anna Sebastian มารดาของ Alexander เป็นคนเฉลียวฉลาด สายตาหลักแหลม สังเกตเห็นความผิดปกติ พฤติกรรมลับลมคมในของ Alicia เลยพยายามหักห้าม เตือนสติบุตรชาย จนเขาค้นพบว่าเธอคือสายลับ จึงช่วยครุ่นคิดแผนการอันแยบยล เพื่อให้เอาตัวรอดพ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย

ในตอนแรกผกก. Hitchcock มีความสนใจนักแสดง Ethel Barrymore และ Mildred Natwick แต่ไม่สามารถติดต่อรองทั้งคู่ จนกระทั่งได้รับคำแนะนำจากเพื่อนนักแสดง Reinhold Schünzel ให้รับรู้จัก Leopoldine Konstantin เธอเป็นนักแสดงมีชื่อเสียงโด่งดังใน Germany ช่วงก่อนการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง … น่าเสียดายที่หลังจากนี้ Konstantin ปฏิเสธเล่นหนัง Hollywood ด้วยสาเหตุเพราะ “My very first part and they made me in this monster!”

แซว: แม้ว่า Konstantin เล่นเป็นมารดาของ Claude Rains แต่อายุจริงของเธอมากกว่าแค่ 4 ปีเท่านั้น!

ผมชื่นชอบคำนิยามตัวละคร “The spidery, tyrannical Nazi matron demanded a stronger, older presence” แค่เพียงภาพลักษณ์ บุคลิกภาพ กิริยาท่าทางของ Konstantin เต็มไปด้วยความน่าเกรงขาม เจ้ากี้เจ้าการ จอมเผด็จการ ชอบใช้คำพูดจี้แทงใจดำ สำหรับควบคุมครอบงำ ชักใยบุคคลอื่น/บุตรชายอยู่เบื้องหลัง

ตัวละครนี้ได้รับการวิเคราะห์ เปรียบเทียบถึงมารดาของผกก. Hitchcock ที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1942 นี่ถือเป็นครั้งแรกที่เขากล้านำเสนออิทธิพล ตัวละครที่สะท้อนความรู้สึกส่วนบุคคล

In Notorious, the role of mother is at last fully introduced and examined. No longer relegated to mere conversation, she appears here as a major character in a Hitchcock picture, and all at once—as later, through Psycho, The Birds and Marnie—Hitchcock began to make the mother figure a personal repository of his anger, guilt, resentment, and a sad yearning.

Donald Spoto นักเขียนหนังสือ The Dark Side of Genius: The Life of Alfred Hitchcock (1983)

ถ่ายภาพโดย Dale H. “Ted” Tetzlaff (1903-95) ผู้กำกับ/ตากล้อง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles, California เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ กลายเป็นช่างภาพขาประจำของ Carole Lombard, ผลงานเด่นๆ อาทิ My Man Godfrey (1936), Remember the Night (1939), The Talk of the Town (1942), I Married a Witch (1942), Notorious (1946), ก่อนผันตัวมากำกับภาพยนตร์ Riffraff (1947), The Window (1949) ฯ

งานภาพของหนังมีความแพรวพราว เต็มไปด้วยลูกเล่น สารพัดเทคนิคภาพยนตร์ โดดเด่นกับการจัดแสง-เงามืด มุมก้ม-เงย-เอียง ปรับโฟกัสเบลอ-ชัด (บางครั้งก็ ‘deep focus’) ไฮไลท์คือลีลาการเคลื่อนเลื่อนกล้องแบบไม่ตัด (long take) จากภายนอกห้องเข้าสู่ด้านใน ใช้เครนค่อยๆเคลื่อนไหลจากชั้นบนลงล่าง ฯ … ลูกเล่นภาพยนตร์เหล่านี้เพื่อถ่ายทอดความหมกมุ่น อารมณ์นึกคิดของตัวละคร Alicia (เหมารวมถึงผกก. Hitchcock)

แม้เรื่องราวจะมีพื้นหลัง Rio de Janerio, Brazil แต่หนังทั้งเรื่องปักหลักถ่ายทำในสตูดิโอ RKO Studios, Hollywood ระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. 1945 – มกราคม ค.ศ. 1946 โดยทิวทัศน์ภายนอกให้กองสองเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่จริง แล้วนำกลับมาฉายผ่านเครื่อง Rear Projection ไม่ก็ใช้เทคนิค Schüfftan process (ฉากห้องพักในโรงแรม แล้วพบเห็นทิวทัศน์/ชายหาดริมระเบียง)


เชื่อว่าหลายคนอาจไม่เคยสังเกตเครดิตหนัง ผมเลยแคปรูปที่น่าสนใจ เพราะใต้ชื่อหนังมีข้อความ “By arrangement with David O. Selznick” แม้จะขายโปรเจคนี้ให้ RKO Radio Pictures แต่ยังถือครองส่วนแบ่งกำไร 50% เลยยังพอมีสิทธิ์เสียง ชื่อปรากฎบนเครดิต

และเหมือนเป็นความจงใจของผกก. Hitchcock ที่เอาชื่อตนเองอยู่เหนือเครดิตและโปรดิวเซอร์ Selznick ให้มันรู้กันไปว่าใครคือเจ้าของโปรเจคนี้

เกร็ด: ภาพพื้นหลัง Opening Credit ถ่ายทำยัง Miami, Florida

สิ่งหนึ่งที่บรรดาแฟนคลับของผกก. Hitchcock พยายามจับจ้องมองหา คือการมาปรากฎตัว (Cameo) หลบซ่อนอยู่แห่งหนไหน? ประมาณนาทีที่สามพบเห็นชายร่างอวบอ้วน สูบซิการ์ ก้าวเดินจากไป ให้ตายเถอะโรบิ้น ชายคนนี้ช่างมีความละม้ายคล้าย แต่ต้องถือเป็นการล่อหลอกผู้ชมให้เกิดความเข้าใจผิด ‘misdirection’ หรือจะเรียกว่า Hitchcock ตัวปลอม!

อาจเพราะเปิดลำโพงเบาไปหน่อย ผมเลยไม่ได้ยินเสียงอะไร แต่คำบรรยายระบุว่ามีเสียงหวูดรถไฟดังขึ้น แทรกใส่มาทำไม? จากแห่งหนไหนกัน? นี่น่าจะสื่อถึงการเดินทางจากศาลกลับมาบ้าน หรือใช้เป็นสัญลักษณ์ของเวลาเคลื่อนพานผ่าน (หลังชายคนนี้เดินจากไป กลางวันจะผันเปลี่ยนสู่กลางคืน)

หลังการตัดสินคดีความของบิดา Alicia กลับบ้านมาเลี้ยงฉลอง ดื่มด่ำ เมามาย แต่กลับมีชายแปลกหน้าคนหนึ่ง เริ่มต้นถ่ายจากด้านหลังศีรษะ ปกคลุมด้วยความมืดมิด นี่เป็นวิธีสร้างความลึกลับ พิศวง ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามหมอนี่คือใคร? มาดีหรือมาร้าย? ต้องมีลับลมคมในอะไรบางอย่างแน่แท้

ตรงกันข้ามกับภาพโคลสอัพใบหน้าของ Alicia สังเกตว่าจะมีความฟุ้งๆ เบลอเล็กๆ สาดส่องแสงจากเบื้องบน เพื่อให้ทรงผมดูเปร่งประกาย เจิดจรัสจร้า พยายามทำออกมาให้ผู้ชมต้องมนต์สะกด ‘Spellbound’ ตกหลุมรักแรกพบโดยพลัน

ชุดลายขวางเอวลอยของ Alicia (ออกแบบตัดเย็นเครื่องแต่งกายโดยขุ่นแม่ Edith Head) ช่างดูแรดร่าน คล้ายโจรสลัด แต่มองไปมองมาไม่ต่างจากชุดนักโทษ ซึ่งสามารถสะท้อนถึงความรู้สึกภายในของเธอภายหลังบิดาถูกจับกุม ตัดสินโทษทัณฑ์ สร้างความเดือดร้อนให้บุตรสาว จนมีชื่อเสียงฉาวโฉ่ แม้ร่างกายอยู่ภายนอกเรือนจำ แต่สภาพจิตใจราวกับกำลังถูกคุมขัง

การที่ Devlin เอาผ้ามาพันรอบตัว ปกคลุมบริเวณเอวลอย มองผิวเผินอาจเพื่อไม่ให้ร่างกายโดนลมหนาวขณะขับรถเล่นยามดึก แต่ขณะเดียวกันดูเหมือนการผูกมัด พันธนการ แสดงความเป็นเจ้าของ และโดยไม่รู้ตัวยังอาจสร้างอิทธิพลให้กับการสวมใส่ชุดอื่นๆต่อไปของ Alicia แทบจะไม่เคยเปิดเผยเนื้อหนังมังสา ยกเว้นเพียง …

นี่อาจเป็นซีนเล็กๆ เส้นผมบังตา หญิงสาวขับรถขณะมึนเมา จึงครุ่นคิดว่ามองเห็นหมอกควัน แต่นี่คือลูกเล่นภาพยนตร์ที่ผกก. Hitchcock ใช้สำแดงอารมณ์นึกคิดตัวละคร หรือจะตีความถึงระหว่างการดำเนินไปของชีวิต ย่อมมีบางหลายครั้งเกิดเหตุการณ์ทำให้เราเจ็บปวด เศร้าโศกเสียใจ อนาคตพร่าเลือนลาง มองไม่เห็นเส้นทาง ตราบยังมีใครบางคนเคียงข้าง ย่อมสามารถปกป้อง ดูแล เป็นที่พึ่งพักพิง พานผ่านช่วงเวลาเลวร้ายได้สำเร็จ

เช้าตื่นขึ้นมา ภาพแรกที่เห็นคือชายแปลกหน้ายืนพิงประตู แต่ในลักษณะมุมเอียง (Dutch Angle) นี่เช่นกันคือภาษาภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้ชมบังเกิดความเคลือบแคลง ระแวง ฉงนสงสัย เหมือนมีลับลมคมในอะไรบางอย่าง

แซว: ใครที่เคยรับชม Suspicion (1941) พบเห็นพฤติกรรมลับๆล่อๆของ Cary Grant และโดยเฉพาะแก้วนมเรืองแสง (ที่น่าจะใส่ยาพิษ) ย่อมบังเกิดความเคลือบแคลง ระแวง ฉงนสงสัย นี่มันหนังภาคต่อหรือไร? ผมขอเรียกว่าความเชื่อมต่อทางจิตวิญญาณก็แล้วกัน

แซว2: ระหว่างพยายามค่อยๆดันตัวลุกขึ้นมา Alicia จะสอบถามว่า “What’s you angle?” ความหมายจริงๆคือนายต้องการอะไร? เป็นการบอกให้เปิดเผยลับลมคมในออกมา แต่คำว่า ‘angle’ มันช่างสอดคล้องกับมุมกล้องเอียงๆ (Dutch Angle) นี่สัมผัสอันเฉียบคมคายสไตล์ Hitchcockian

ปริศนาโลกแตก ทำไมต้องเดินทางไปไกลถึง Rio de Janiro? Brazil? ทั้งๆความเป็นจริง นักแสดงปักหลักถ่ายทำในสตูดิโอที่ Hollywood ไม่เคยไปเหยียบย่างผืนแผ่นดินแซมบ้าเสียด้วยซ้ำ? ผมเลยตัดสินใจสอบถาม AI Bard ได้คำตอบที่น่าสนใจหลายประเด็น

  • Exotic Location & Visual Appeal ยังเป็นดินแดนห่างไกล ‘exotic and glamorous’ ที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่รับรู้จัก แต่มีความงดงาม ทรงเสน่ห์ เหมาะสำหรับภาพยนตร์ ‘Spy Thriller’ ระดับนานาชาติ
  • Post-War Setting ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกาใต้มักเป็นสถานที่หลบลี้ภัยของพวกนาซี เพราะพยายามรักษาสถานะเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝั่งฝ่ายใด
  • Metaphorical Setting ท่ามกลางความสวยงามของทิวทัศน์ธรรมชาติ อเมริกาใต้ยังเลื่องชื่อในการเป็นดินแดนอาชญากรรม เต็มไปด้วยสิ่งผิดกฎหมาย มาเฟียครองเมือง สถานที่แห่ง ‘deception and betrayal’

เริ่มต้นจากภาพถ่ายบนเครื่องบิน ‘Swift Transitions’ ค่อยๆลดระดับท้องฟ้ามาจนถึงถนนหนทาง ก่อนตัดมาหน้าคาเฟ่แห่งหนึ่ง พบเห็นคนหนุ่ม-สาว Devlin & Alicia ไล่ระยะไกล-กลาง-ใกล้ จนถึงโคลสอัพใบหน้า มันช่างลื่นไหล ต่อเนื่อง และดูเป็นธรรมชาติอย่างมากๆ

แบบเดียวกับ Suspicion (1941) ครั้งแรกที่พระ-นาง โอบกอด จุมพิต แสดงความรักกันครั้งแรก ยังสถานที่บนเนินเขาสูง อาจจะสื่อถึงจุดสูงสุดความสัมพันธ์ หรือจะมองว่าทิวทัศน์แห่งความโรแมนติกก็ได้กระมัง … และพอทั้งสองถาโถมเข้าจุมพิต ยังไม่ทันอิ่มหนำ 3 วินาทีก็ต้องรีบ ‘Cross-Cutting’ เปลี่ยนฉากถัดไป

นี่เป็นช็อตที่ผมรู้สึกว่าน่าอัศจรรย์ที่สุดของหนัง! คือเราต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า ทุกช็อตฉากถ่ายทำในสตูดิโอ แน่นอนว่าระเบียงสร้างขึ้นมา แต่ทิวทัศน์พื้นหลัง ท้องทะเลนี่สิมาจากไหน? หลายคนอาจตอบว่าใช้เครื่องฉาย Rear Projection แต่ผมแนะนำให้ลองสังเกตบริเวณขอบระเบียง มันจะมีรอยต่อดำๆที่ดูไม่ค่อยแนบเนียบ นั่นเกิดจากเทคนิค Schüfftan process ที่ผกก. Hitchcock ไปร่ำเรียนมาจาก Fritz Lang พบเห็นใช้ครั้งแรกตั้งแต่ Blackmail (1929), The 39 Steps (1935) ฯ

เกร็ด: กระบวนการ Schüfftan คือหนึ่งในเทคนิคพิเศษภาพยนตร์ ตั้งชื่อตาม Eugen Schüfftan (1893–1977) ตากล้องสัญชาติ German ได้ทำการวางกระจกไว้ด้านหน้าของกล้องโดยทำมุมให้กับโมเดล หรือภาพสะท้อนลงมายังแผ่นกระจก โดยส่วนหนึ่งของพื้นผิวสะท้อนแสงของกระจกจะถูกลบออกเพื่อให้สามารถมองเห็นฉากถ่ายทำที่ตั้งอยู่ด้านหลังกระจกผ่านกระจกใส

ในยุคสมัย Hays Code มีกฎห้ามการจุมพิตยาวนานเกิน x วินาที (ประมาณ 3 วินาที) ผกก. Hitchcock จึงครุ่นคิดวิธีการอันสุดแสบ ด้วยการให้นักแสดงจูบกันตามกฎแค่ 3 วินาที แต่พวกเขายังคงอยู่ในอ้อมกอด ส่งสายตาหื่นกระหาย แค่เพียงหยุดพักหายใจ ไซร้ซอกคอ พูดคุยกระซิบกระซาบกันแปปหนึ่ง แล้วค่อยประกบปากกันต่ออีก 3-4 วินาที เวียนวนซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนี้นานนับนาที … มีคำเรียก “Notorious Kiss” และได้รับการประชดประชัน “‘the longest kiss in the history of the movies”

ตอนที่ Devlin เดินทางมาพบเจอหัวหน้า เพื่อรับภารกิจของ Alicia สังเกตห้องทำงานแห่งนี้มีหน้าต่างบานเกล็ด แสงจากภายนอกสาดส่องเข้ามาอาบฉาบเรือนร่างนักแสดง เงาเลือนลางสื่อถึงการถูกกักขัง ไร้หนทางออก อยากจะตอบปัดปฏิเสธ ไม่ต้องการยอมรับภารกิจ แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนอยู่เหนือการควบคุมของตนเอง

เมื่อตอนที่ Devlin พูดเล่าภารกิจให้กับ Alicia เกิดความตระหนักรับรู้ว่าตนเองอาจต้องทำอะไร จะมีเสี้ยววินาทีหนึ่งที่เธอหันหลังให้เขา แล้วใบหน้าปกคลุมด้วยความมืดมิด (เป็นจังหวะที่แสงจากประภาคารเคลื่อนผ่านไปพอดิบดี) สภาพจิตใจก็คงเฉกเช่นเดียวกัน

ตรงกันข้ามกับตอนต้นเรื่องที่ Devlin พยายามโน้มน้าว Alicia ตอบรับงานสายลับ, มาขณะนี้กลับเป็นฝ่ายหญิงพูดคุยสอบถาม จะให้ฉันยินยอมรับภารกิจหรือไม่? แต่เขากลับนิ่งเงียบ แสดงสีหน้าเย็นชา บอกให้อิสระเธอตัดสินใจ วินาทีนั้นเดินเข้าไปในห้อง กล้องถ่ายผ่านผ้าม่าน (กั้นแบ่งความรู้สึกกับ Devlin) พบเห็นภาพเลือนลาง ดื่มสุราย้อมใจ ฉันจะเริ่มทำงานเมื่อใด?

แซว: เมื่อตอนที่ตัวละครพร่ำบ่นถึงอาหารมื้อเย็น “It’s all cold now.” นี่ไม่ได้จะสื่อถึงอาหารถูกตั้งทิ้งไว้จนไม่ร้อนแล้ว แต่ต้องสื่อถึงความรู้สึกระหว่าง Devlin & Alicia ภายหลังเธอตอบรับภารกิจ ทำความสัมพันธ์ของพวกเขาหยุดนิ่ง แช่แข็ง เย็นชา

โดยปกติผมไม่ค่อยสนใจแฟชั่นของหนังมากนัก แต่เห็นว่านี่คือครั้งแรกที่ผกก. Hitchcock ร่วมงานกับขุ่นแม่ Edith Head (1897-1981) นักออกแบบแฟชั่นดีไซเนอร์สัญชาติอเมริกัน เจ้าของสถิติรางวัล Oscar: Best Costume Design จำนวนแปดครั้ง! … สาขานี้เพิ่งเริ่มมีการมอบรางวัลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949

การมาถึงของ Head ทำให้เสื้อผ้าของหนุ่มๆสาวๆ มีความเท่ห์ ทรงเสน่ห์ โมเดิร์น ดูหรูหราขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายของ Ingmar Bergman ช่วยเสริมความเจิดจรัส เปร่งประกายยิ่งๆขึ้นกว่าเดิมอีกเท่าตัว และมักเคลือบแฝงสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตใจตัวละครขณะนั้นๆไว้ด้วยเช่นกัน

โดยปกติแล้วชุดของ Alicia ตั้งแต่เดินทางสู่ Rio de Janiro มักแขนยาว ปกปิดเรือนร่างกายมิดชิด (เพื่อสื่อถึงการมีลับลมคมในที่ต้องปกปิด หรือจะมองว่าเป็นอิทธิพลจากตอนต้นเรื่องที่ Devlin นำผ้ามาผูกมัด/ปกปิดเอวลอย) ยกเว้นเพียงชุดเดรสสีดำระหว่างร่วมงานเลี้ยง (หลังกลับจากแต่งงาน/ฮันนีมูน) มีการเปิดหน้าอก ทรงวี ที่มีความลึกมากๆ นั่นเพราะเธอกำลังทำสิ่งเสี่ยงอันตราย ท้าความตาย เปิดเผยตัวตนแท้จริง (ลักขโมยกุญแจห้องใต้ดิน ปฏิบัติภารกิจสายลับ)

ตั้งแต่การปรากฎตัวครั้งแรกของ Sebastian พบเห็นกำลังควบขี่ม้าเคียงข้างกับมารดา ตอนพูดคุยระหว่างดินเนอร์ก็ยังเอ่ยกล่าวถึงมารดา และตอนที่ Alicia เข้าบ้านหลังนี้ครั้งแรกก็พบเจอมารดาก่อนใคร! นั่นแสดงถึงอิทธิพล บุคคลมีความสำคัญต่อชีวิต หรือจะเรียกว่า ‘mother complex’

แต่ครานี้ Sebastian มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ต้องการแต่งงานกับ Alicia โดยไม่สนคำตักเตือน ทัดทาน แม้ซีนนี้เขาจะยืนค้ำหัวมารดา แต่ความลึกขอภาพทำให้ดูตัวเล็ก ความสูงศีรษะต่ำเตี้ยกว่า แสดงถึงการไร้ซึ่งอำนาจ สิทธิ์เสียง ถูกควบคุมครอบงำโดยมารดา (เป็นการใช้ความลึกของภาพ สำแดงอำนาจบารมีแบบเดียวกับ Citizen Kane (1941)) ก่อนจะก้าวเดินออกมาเผชิญหน้าตรงๆ ทิศทางนี้ทำให้ระดับศีรษะสูงกว่ามารดา เพื่อสำแดงถึงอำนาจการตัดสินใจ เฉพาะครั้งนี้ปฏิเสธก้มหัว ยินยอมทำตามคำสั่ง(มารดา)

อีกซีนหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดของหนัง ระหว่างานเลี้ยงปาร์ตี้ กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนลงมาจากชั้นสอง ก่อนหยุดลงตรงมือของ Alicia ที่ซุกซ่อนกุญแจห้องใต้หลังดิน การถ่ายทำยุคสมัยนั้นถือว่าค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน เพราะต้องสร้างลิฟท์ที่สามารถเลื่อนขึ้น-ลง และขยับแนวราบ เหตุผลที่ต้องลงทุนลงแรงขนาดนี้ก็เพราะ …

That’s again using the visual. That’s a statement which says, “In this crowded atmosphere there is a very vital item, the crux of everything.” So taking that sentence as it is, in this crowded atmosphere, you go to the widest possible expression of that phrase and then you come down to the most vital thing—a tiny little key in the hand. That’s merely the visual expression to say, “Everybody is having a good time, but they don’t realize there is a big drama going on here.” And that big drama epitomizes itself in a little key.

Alfrid Hitchcock

เท่าที่ผมจับใจความได้ก็คือ งานเลี้ยงเป็นกิจกรรมที่คาคั่งไปด้วยผู้คน แต่ท่ามกลางความสนุกสนานหรรษา กลับซุกซ่อนเรื่องราวลับๆล่อๆที่ไม่มีใครคาดคิดถึง!

ผกก. Hitchcock ได้รับเชิญมาเป็นแขกเหรื่อ ร่วมงานเลี้ยง พบเห็นกำลังยกดื่มแชมเปญ ก่อนเดินหายไปจากเฟรม

ตั้งแต่ต้นเรื่องที่ Alicia ดื่มด่ำจนเมามาย ขับรถส่ายไปส่ายมา ตลอดทั้งเรื่องมักพยายามถ่ายให้เห็นขวดเหล้า ขวดแชมเปญราวกับว่ามีความสำคัญซ่อนเร้นอะไรบางอย่าง จนกระทั่งฉากนี้ที่ค้นพบสาร Uranium ซุกซ่อนไว้ในขวดไวน์ 1934 Pommard แสดงถึงอันตราย สารแห่งความตาย เลวร้ายเท่ากับระเบิดปรมาณู … ใจความแฝงของหนังน่าจะต้องการสื่อถึงการดื่ม “All the drinking is valueless and finally dangerous.” ไม่ว่าจะเฉลิมฉลองหรือย้อมใจ ล้วนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด

ปล. สิ่งที่คือ MacGuffin ของหนังไม่ใช่ขวดไวน์ แต่คือสาร Uranium เพราะผู้ชมสมัยนั้นยังไม่ค่อยรับรู้กันว่ามันคืออะไร? นำไปใช้ประโยชน์อย่างไร? ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องค้นหาคำตอบ มันหาได้มีความสลักสำคัญใดๆต่อเรื่องราว เพียงแค่ ‘plot device’ ที่อยู๋ในความสนใจของตัวละคร

หลังตระหนักว่า Alicia คือสายลับ/บุคคลลักขโมยกุญแจห้องใต้ดิน Sebastian ในสภาพห่อเหี่ยวสิ้นหวัง ก้มหน้าก้มหน้า (ถ่ายมุมก้ม) ยกมือปกปิดบังใบหน้า (รู้สึกอับอายที่ไม่เชื่อคำมารดา) และมีถ่ายติดภาพสะท้อนในกระจก (สื่อถึงการทบทวน พิจารณาตนเอง) เข้าไปขอคำปรึกษาจากมารดา เลยถูกพูดกรอกหู ชี้แนะนำ ออกคำสั่ง ด้วยท่าทางเริดเชิดหยิ่ง นั่นเพราะเธอหวนกลับมามีอำนาจ สามารถควบคุมครอบงำบุตรชายได้อีกครั้ง

ตั้งแต่ภาพยนตร์ Suspicion (1941) หลายคนอาจยังคงรู้สึก ‘Trauma’ กับแก้วนมเรืองแสง คราวนี้เปลี่ยนมาเป็นแก้วน้ำชา เมื่อกล้องเริ่มจับภาพบ่อยๆ ย่อมทำให้ใครๆรู้สึกเอะใจทีละน้อย ยิ่งมุมกล้องที่ทำให้แก้วน้ำชาขนาดใหญ่โตกว่าปกติ จักแปรสภาพสู่ความเคลือบแคลง หวาดระแวง และวินาทีที่ Sebastian กับมารดาพร้อมใจกันพูดเตือน ระวังหยิบแก้วผิด! นั่นสร้างความตระหนักให้กับหญิงสาว รับรู้ว่าตนเองกำลังถูกวางยาพิษ … นี่เป็นสิ่งที่หนังไม่ได้พูดบอกออกมาตรงๆ แต่ผู้ชมสามารถขบครุ่นคิด ทำความเข้าใจจากการสังเกตอากัปกิริยา ปฏิกิริยาสีหน้า และภาษาภาพยนตร์ที่พยายามบอกใบ้ ไม่ได้ใช้ลูกเล่นซับซ้อนซ่อนเงื่อนเกินไป

แซว: เมื่อตอนต้นเรื่องระหว่างดื่มสุราเมามาย Alicia เคยกล่าวว่า “The important drinking hasn’t started yet.” แต่ผู้ชมต้องรอคอยจนถึงช่วงท้ายที่การดื่มชา ทำให้เธอได้รับประสบการณ์เฉียดเป็นเฉียดตาย

หลังจาก Alicia ตระหนักว่าตนเองถูกวางยา ภาพถ่ายแทนมุมมองสายตาของเธอ แสดงอาการผิดปกติ พบเห็นเงาเลือนลาง มีความบิดๆเบี้ยวๆ เดี๋ยวเบลอ-ชัด วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม ถูกหามขึ้นห้องพัก กักขังหน่วงเหนี่ยว ปฏิเสธไม่ให้พบเจอกับใคร … นี่น่าจะเรียกว่าเงายมทูต อารัมบทความตาย

ภาพสุดท้ายของหนัง หลังจาก Devlin บุกเข้าไปให้ความช่วยเหลือ Alicia ลากพาลงมาจากห้องพัก แล้วขึ้นรถแท็กซี่จากไป หลงเหลือเพียง Sebastian ตระหนักถึงโชคชะตา ถ้าความจริงว่าภรรยาคือสายลับได้รับการเปิดเผยออกไป แต่เขาไม่สามารถต่อต้านคำสั่งของพวกพ้อง จำยินยอมต้องหวนกลับเข้าบ้าน แต่ละก้าวย่างราวกับลมหายใจเฮือกสุดท้าย มุ่งหน้าสู่ความตาย

ในบรรดาผลงานของผกก. Hitchcock ผมรู้สึกว่า Notorious (1946) แทบจะไม่เคยนำเสนอภาพเหตุการณ์ชั่วร้าย ฆ่าคนตาย ร่วมเพศสัมพันธ์ แต่ผู้ชมสามารถสังเกตจากรายละเอียดเล็กๆน้อย แล้วครุ่นคิดจินตนาการ ได้รับอิสรภาพในการอิมเมจิ้นไปไกล

ตัดต่อโดย Theron Warth (1911-73) สัญชาติอเมริกัน,

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Alicia Huberman หญิงสาวผู้มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ ถูกโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมโดยเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง T. R. Devlin ออกเดินทางสู่ Rio de Janeiro, Brazil กลายเป็นสายลับ ล้วงข้อมูลจากสมาชิกเครือข่ายนาซี Alexander Sebastian

  • อารัมบท, Alicia Huberman หญิงสาวผู้มีชื่อเสียงฉาวโฉ่
    • หลังกลับจากศาล Alicia ดื่มด่ำจนมึนเมามาย
    • ขับรถเล่นกับชายแปลกหน้า Devlin
    • เช้าวันถัดมายินยอมตอบตกลงข้อเสนอของ Devlin ออกเดินทางสู่ Rio de Janerio
  • ความรักคือสิ่งหักห้ามกันไม่ได้
    • เมื่อมาถึง Rio de Janerio ระหว่างเฝ้ารอภารกิจ หนุ่ม-สาวพากันท่องเที่ยว เกี้ยวพาราสี แล้วก็ตกหลุมรัก
    • หลังรับรู้รายละเอียดของภารกิจ Devlin พยายามปฏิเสธหัวหน้า
    • แต่พอกลับมาพูดคุยกับ Alicia เธอกลับยินยอมตอบตกลง
    • เริ่มต้นภารกิจ Alicia พบเจอกับ Sebastian
    • Sebastian นัดหมายรับประทานอาหารเย็น หวนระลึกหลัง พร่ำรำพันความชื่นชอบที่มีต่อเธอ
  • ภารกิจสายลับ
    • Alicia เดินทางมาร่วมรับประทานอาหารเย็นที่บ้านของ Sebastian พบเจอมารดา และบรรดาสมาชิกเครือข่ายนาซี
    • ระหว่างรับชมการแข่งม้า Alicia นำสิ่งที่ตนเองพบเจอมารายงานกับ Devlin
    • Alicia ตอบตกลงแต่งงาน ย้ายเข้าบ้านของ Sebastian จากนั้นออกสำรวจห้องหับต่างๆ
    • ระหว่างงานเลี้ยงปาร์ตี้
      • Alicia ทำการลักขโมยกุญแจห้องใต้ดินมาให้กับ Devlin
      • พบเจอบางสิ่งอย่างซุกซ่อนอยู่ในขวดไวน์
      • Sebastian เกิดความฉงนสงสัย กุญแจห้องใต้ดินสูญหายไปไหน
  • หายนะกำลังคืบคลานเข้ามา
    • Sebastian เมื่อตระหนักรับรู้ว่า Alicia คือสายลับ ไม่รู้จะทำอะไรยังไง จึงขอความช่วยเหลือจากมารดา
    • หน่วยข่าวกรองได้ข้อมูลหลักฐานเพียงพอ ใกล้เสร็จสิ้นภารกิจ
    • แต่ทว่า Alicia เกิดอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง เป็นลมล้มพับ ถูกสามี(และมารดา)วางยาพิษ ต้องการจะฆ่าปิดปาก
    • การผิดนัดของ Alicia ทำให้ Devlin บังเกิดความเคลือบแคลง หวาดระแวง ตัดสินใจบุกเข้าไปยังบ้านของ Sebastian เพื่อช่วยเหลือเธอกลับออกมา

เกร็ด: Notorious (1946) น่าจะถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกตั้งแต่ที่ผกก. Hitchcock เดินทางสู่ Hollywood แล้วไม่ถูกแทรกแซง โดนโปรดิวเซอร์แก่งแย่งไปตัดต่อ ‘final cut’


เพลงประกอบโดย Royden Denslow Webb (1888-1982) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan, New York สำเร็จการศึกษาดนตรีคลาสสิกจาก Columbia University เริ่มจากทำงานวาทยากร กำกับวงออร์เคสตราให้กับละคอนเวที Broadway ก่อนมุ่งสู่ Hollywood ในยุคหนังพูด (Talkie) เริ่มต้นเป็น ‘Music Director’ ให้กับ Radio Pictures (ก่อนควบรวม RKO Radio Pictures) เคยเป็นผู้ช่วย Max Steiner จนกระทั่งปี ค.ศ. 1935 ถึงได้รับโอกาสก้าวขึ้นมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ผลงานเด่นๆ อาทิ I Married a Witch (1942), Cat People (1942), I Walked with a Zombie (1943), The Enchanted Cottage (1945), Notorious (1946), The Spiral Staircase (1946), Out of the Past (1947), The Window (1949), Marty (1955) ฯ

ในตอนแรกผกก. Hitchcock พยายามติดต่อ Bernard Herrmann แต่อีกฝ่ายคิวไม่ว่างสักที! นั่นทำให้โปรดิวเซอร์ Selznick พยายามล็อบบี้นักแต่งเพลงอย่าง Franz Waxman, Miklós Rózsa ที่มุ่งเน้นความเว่อวังอลังการ จัดเต็มวงออร์เคสตรา บดขยี้อารมณ์ผู้ชมให้แหลกลาน

พอโปรเจคย้ายมาอยู่ภายใต้ร่มเงา RKO ก็ไม่จำเป็นต้องงอนง้อโปรดิวเซอร์ Selznick อีกต่อไป! ผกก. Hitchcock จึงมีโอกาสรับรู้จัก Roy Webb แม้ไม่ใช่นักแต่งเพลงมีชื่อเสียงนัก แต่พูดคุยกันอย่างถูกคอ เข้าใจความต้องการกันและกัน เพราะต่างหลงใหลสไตล์เพลงของ Herrmann

Benny writes the best music in Hollywood, with the fewest notes.

Roy Webb

งานเพลงของ Webb ถ้าจะให้สรุปง่ายๆมีลักษณะเหมือน ‘จิ๊กซอว์’ ทำการแปะติดปะต่อ แทรกใส่ตรงโน้นนิด ตรงนี้หน่อย ท่วงทำนองสั้นๆ มุ่งเน้นสร้างสัมผัสทางอารมณ์ อารัมบทเข้าสู่เหตุการณ์ ดังเกิดขึ้นแล้วเงียบไป (ไม่ใช่บทเพลงบรรเลงต่อเนื่อง ลากยากไปเรื่อยๆ)

และหลายๆครั้งจะมีลักษณะ ‘diegetic music’ ดังจากวิทยุ แผ่นเสียง บรรเลงดนตรีสด ผสมผสานเข้ากับท่วงทำนองพื้นบ้าน Samba, Brazilian Dance สำหรับสร้างบรรยากาศให้เข้ากับสถานที่พื้นหลัง

Selznick deplored ‘Hitchcock’s goddamned jigsaw cutting‘, the dreamlike, jagged images that create his signature subjectivity. But Webb didn’t mind jigsaw cutting at all. It complemented his fragmented musical architecture, just as the blocked passions of the film’s characters reflect his unresolved harmonies. Like Hitchcock, Webb favored atmosphere and tonal nuance over broad gestures. Both men were classicists dealing in darkness and chaos.

นักเขียน Jack Sullivan ในหนังสือ Hitchcock’s Music (2006)

Notorious นำเสนอเรื่องราวของหญิงสาวผู้มีบิดาเป็นสายลับนาซี ทั้งๆตนเองไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย กลับถูกตีตรา ตำหนิต่อว่า สังคมไม่ให้การยินยอมรับ ชื่อเสียงเหม็นฉาวโฉ่! จนกระทั่งวันหนึ่งได้รับโอกาสพิสูจน์ตนเอง สำแดงความบริสุทธิ์ จงรักภักดีต่อประเทศชาติ/สหรัฐอเมริกา (Patriotism) ด้วยการปลอมตัวเป็นสายลับ ล้วงข้อมูลจากแวดวงเพื่อนของบิดา บุคคลเชื่อกันว่าคือสมาชิกระดับสูงเครือข่ายนาซีที่ยังหลงเหลืออยู่ เมื่อขุดคุ้ย พบเจอหลักฐาน ย่อมสามารถกำจัดรากเหง้า วัชพืช นำพาสันติสุขให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้

แต่การเป็นสายลับ สร้างความขัดแย้งให้กับหญิงสาว เพราะเธอตกหลุมรักเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองคนหนึ่ง แต่ภารกิจกลับต้องร่วมหลับนอน แต่งงานชายอีกคนหนึ่ง ที่ไม่ใช่แค่ไม่รัก ยังคือศัตรูชั่วร้าย บุคคลอันตราย ตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย … เหตุผลที่เธอยินยอมตอบรับภารกิจ ไม่ใช่แค่ต้องการพิสูจน์ตนเอง เสียสละ(ชีพ)เพื่อชาติ แต่ยังเพราะเชื่อมั่นศรัทธาในรัก แม้ร่างกายจะถูกครอบครองโดยชายอื่น จิตใจกลับยังมีเขาเพียงผู้เดียว

ตรงกันข้ามกับบุรุษทั้งสองต่างมีความเห็นแก่ตัว โฉดชั่วร้ายไม่ต่างกัน สรรหาข้ออ้างทำประโยชน์เพื่อชาติ ตอบสนองอุดมการณ์ ประชาธิปไตย vs. เครือข่ายนาซี แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาสนเพียงเพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของเรือนร่างกาย-จิตใจหญิงสาว … นี่ถือเป็นความอัปยศ ฉาวโฉ่ เลวร้ายยิ่งกว่าชื่อเสียของฝ่ายหญิงเสียอีก อาจเรียกได้ว่า ‘หนีเสือปะจระเข้’

  • T. R. Devlin เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองแห่งสหรัฐอเมริกา ติดต่อเข้าหา Alicia เพราะความสัมพันธ์ของบิดากับสมาชิกเครือข่ายนาซี ใช้ข้ออ้างพิสูจน์ตนเอง แสดงความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ อุดมการณ์ประชาธิปไตย และความรักที่เขามอบให้
  • Alexander Sebastian แม้เป็นสมาชิกเครือข่ายนาซี เบื้องหลังมีความโฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย กลับแสดงความรักจริงใจต่อ Alicia ขอเพียงเธอตอบสนองตัณหาทางกาย แต่งงาน ร่วมเพศสัมพันธ์ ก็พร้อมปรนเปรอปรนิบัติทุกสิ่งอย่าง

นักวิจารณ์ Roger Ebert วิเคราะห์ถึงปีที่สร้างและนำออกฉายไว้อย่างน่าสนใจ ค.ศ. 1946 หลังสิ้นสุดสงครามโลกได้ไม่นาน (Post-Wars) ประชาชนยังคงหวาดระแวงต่อ Nazi Germany ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงสามารถทำให้ผู้ชมผ่อนคลายความกลัว ระบายอารมณ์อัดอั้น ‘Escapist’ แต่ถ้าหนังสร้างขึ้นหลังจากนี้เพียงไม่กี่เดือน อาจต้องปรับเปลี่ยนจากเครือข่ายนาซี มาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ อุดมการณ์เมืองใหม่ที่กำลังแพร่หลาย และจะขึ้นมามีบทบาทในสงครามเย็นอีกไม่ช้า

Hitchcock made the film in 1946, when the war was over but the Cold War was just beginning. A few months later, he would have made the villains Communists, but as he and Ben Hecht worked on the script, Nazis were still uppermost in their minds.

Roger Ebert

ผกก. Hitchcock เซ็นสัญญา(ทาส)กับโปรดิวเซอร์ Selznick ออกเดินทางมาสรรค์สร้างภาพยนตร์ยัง Hollywood แต่ด้วยความขัดแย้ง แนวทางการทำงานที่แตกต่าง หลังเสร็จจาก Rebecca (1940) ก็มักปล่อยให้สตูดิโออื่นหยิบยืมตัวไปใช้งาน Universal, RKO, 20th Century Fox ฯ … พอจะมองเห็นความสัมพันธ์กับเรื่องราวของหนังไหมเอ่ย?

ให้ลองทำการเปรียบเทียบผกก. Hitchcock = ตัวละครของ Ingrid Bergman ถูกโน้มน้าวกล่อมเกลาโดย Cary Grant (เซ็นสัญญาทาสกับโปรดิวเซอร์ Selznick) ออกเดินทางสู่ Rio de Janiro (หรือก็คือมาทำงานยัง Hollywood) แต่ด้วยความไม่ลงรอยอะไรหลายๆอย่าง จึงมักถูกส่งตัวไปสอดแนม ล้วงข้อมูล สรรค์สร้างภาพยนตร์กับสตูดิโออื่นๆบ่อยครั้ง … เฉกเช่นเดียวกับ Notorious (1946) ที่ก็ถูกซื้อโดย RKO Radio Pictures

คล้ายๆแบบ Rebecca (1940) ตอนต้นเรื่องเราอาจเปรียบเทียบชายหนุ่มที่ชักนำพานางเอกมายังคฤหาสถ์ Manderley = Alicia ออกเดินทางสู่ Rio de Janiro = แทนด้วยโปรดิวเซอร์ Selznick ชักชวนผกก. Hitchcock มาทำงานยัง Hollywood, แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินสู่ครึ่งหลัง จักปรากฎผู้ร้ายคนใหม่/ตัวจริง Mrs. Danver หรือของ Notorious (1946) ก็คือ Alexander Sebastian (รับบทโดย Claude Rains) ซึ่งก็สามารถตีความว่าเป็นอีกตัวตายตัวแทน Selznick ได้เช่นเดียวกัน! (บางคนจะมองแค่ว่าคือตัวแทนโปรดิวเซอร์สตูดิโออื่น ที่ก็ชอบควบคุมครอบงำ เรียกร้องโน่นนี่นั่น ไม่ได้แตกต่างจาก Selznick สักเท่าไหร่!)

เหตุผลที่ผมอยากตีความเช่นนั้นเพราะตอนจบ โชคชะตากรรมของทั้ง Mrs. Danver และ Alexander Sebastian สามารถมองได้ทั้งสาปแช่ง สมน้ำหน้า สมเพศเวทนา และรู้สึกน่าสงสารเห็นใจ … เป็นการพยากรณ์อนาคตของโปรดิวเซอร์ Selznick ที่อีกไม่นานจักต้องได้รับผลกรรมเคยทำเอาไว้ ถูกทอดทิ้ง สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง

หลังจากนี้ผกก. Hitchcock ยังหลงเหลือสัญญา(ทาส)ที่ต้องสรรค์สร้างภาพยนตร์ให้โปรดิวเซอร์ Selznick อีกหนึ่งเรื่อง The Paradine Case (1947) อย่างไร้ความกระตือรือล้น ทำไปส่งๆจนงบบานปลายถึง $4.258 ล้านเหรียญ ทำเงินได้เพียง $2.1 ล้านเหรียญ ร่วมกับการขาดทุนของย่อยยับของ Duel in the Sun (1946) และ Portrait of Jennie (1948) ผลลัพท์ทำให้สตูดิโอโปรดักชั่นอันอื้อฉาวของ Selznick ต้องปิดกิจการลงไป

I stopped making films in 1948 because I was tired. I had been producing, at the time, for twenty years.

David O. Selznick

ตรงกันข้ามกับ Hitchcock หลังจากหมดสัญญา(ทาส) ก็กำลังมุ่งสู่ ‘Peak years’ จุดสูงสุดในอาชีพการงาน ก่อตั้งสตูดิโอโปรดักชั่นของตนเอง สรรค์สร้างภาพยนตร์ที่ไม่ถูกควบคุมครอบงำ ทำทุกสิ่งอย่างสนองตามวิสัยทัศน์ อิสรภาพนำสู่ความเป็นไปได้ไม่จบสิ้น


ด้วยทุนสร้าง $1 ล้านเหรียญ หลังฉายรอบปฐมทัศน์ที่ Radio City Music Hall ณ New York City สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $4.85 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $7.15 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

เกร็ด: Notorious (1946) ยังคือหนึ่งในภาพยนตร์ได้รับเลือกเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ครั้งที่ 1 ระหว่า 20 กันยายน – 5 ตุลาคม ค.ศ. 1946 แต่เกิดเรื่องอื้อฉาวจากการเริ่มฉายม้วนสุดท้ายย้อนกลับมาม้วนแรก (Reverse Order) … เลยไม่ได้รางวัลใดๆติดไม้ติดมือกลับมา

ช่วงปลายปี หนังได้เข้าชิง Oscar เพียงแค่สองสาขา นั่นเพราะสารพัดความอื้อฉาว เต็มไปด้วยความหมิ่นเหม่ นำเสนอเรื่องราวที่สังคมสมัยนั้นยังไม่ให้การยินยอมรับ … น่าเสียดายที่สุดก็คือ Best Director, Best Actress (Ingmar Bergman) และ Best Cinematography

  • Best Supporting Actress (Claude Rains)
  • Best Writing, Original Screenplay

กาลเวลาทำให้หนังกลายเป็นตำนาน อาจจะเริ่มต้นที่นักวิจารณ์ Roger Ebert เมื่อปี ค.ศ. 1991 ยกให้เป็น Ten Greatest Film of All-Time จากนั้นเมื่อเริ่มมีการจัดโหวตจากนิตยสาร/สำนักต่างๆ ก็ทะยอยติดอันดับนับชาร์ทไม่ถ้วน

  • Entertainment Weekly: The Greatest Films of All Time (1999) อันดับ #66
  • The Village Voice: Best Films of the Century (1999) อันดับ #77
  • AFI’s 100 Years…100 Thrills (2001) อันดับ #38
  • AFI’s 100 Years…100 Passions (2002) อันดับ #86
  • Writers Guild of America: 101 Greatest Screenplay (2005) ไม่มีระบุอันดับ
  • TIME: All-Time 100 film (2005) ไม่มีอันดับ
  • Cahiers du cinéma: Top 100 of all time (2008) อันดับ #38
  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 อันดับ #171 (ร่วม)
  • BBC: 100 greatest American films (2015) อันดับ #68
  • TIME OUT: The 100 best thriller films of all time (2022) อันดับ #34
  • Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 อันดับ #133 (ร่วม)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K โดย Walt Disney ร่วมกับ Criterion Collection เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2019 สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel

เมื่อตอนเขียนถึงคราก่อน ผมมองเห็นแค่ว่าว่า Notorious (1946) เป็นหนังคุณภาพดี ลุ้นระทึก ดูสนุกเรื่องหนึ่ง แต่การหวนกลับมารับชมครั้งนี้ ประสบการณ์ทำให้ค้นพบลูกเล่นอันแพรวพราว ภาษาภาพยนตร์สำหรับถ่ายทอดความหมกมุ่น อารมณ์นึกคิดของผกก. Hitchcock มันช่างงดงาม วิจิตรศิลป์ หนึ่งในผลงานมาสเตอร์พีซ

มันมีหลายสิ่งอย่างของหนังที่ผมหลงใหลคลั่งไคล้ แต่ที่สุดขอยกให้ Ingrid Bergman ความเจิดจรัสของเธอเปร่งประกายออกมานอกจอ พาผู้ชมโต้คลื่น ขึ้นรถไฟเหาะ เดี๋ยวสุข-เดี๋ยวทุกข์ อารมณ์ผันแปรเปลี่ยนตลอดเวลา รักสามเส้าทำให้เธอต้องอดกลั้น อัดอั้น ขัดย้อนแย้งภายใน น่าสงสารเห็นใจ

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศนัวร์ๆ เรื่องราวสายลับ ล้วงข้อมูลนาซี

คำโปรย | Notorious รักอื้อฉาวระหว่าง Ingrid Bergman ตกหลุมรัก Cary Grant คบชู้กับ Claude Rains เมื่อได้รับสัมผัส Hitchcockian เลยกลายเป็นภาพยนตร์กระฉ่อนโลก
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | รักกระฉ่อน


Notorious

Notorious (1946) hollywood : Alfred Hitchcock ♥♥♥♥

(7/5/2016) ในยุคที่ Hays Code ออกกฎว่าจะแบนหนังที่มีฉากจูบเกิน 3 วินาที Notorious ได้สร้างฉากจูบที่คลาสสิคที่สุดในโลก ระหว่าง Cary Grant กับ Ingrid Bergman ด้วยความยาวครั้งละไม่เกิน 3 วินาทีต่อเนื่องยาวเกือบ 3 นาที ถ้าไม่ใช่ Alfred Hitchcock คงคิดอะไรแบบนี้ไม่ได้แน่ๆ

Hays Code หรือ Production Code เป็นข้อตกลง สัญญาที่ทำร่วมกันระหว่างผู้สร้างกับผู้จัดจำหน่ายหนัง ในยุคที่ Hollywood ยังไม่มีระบบ Rating จึงต้องสร้างข้อจำกัดเพื่อเป็นบรรทัดฐานความรับผิดชอบต่อสังคม กระนั้นในยุคของ Hays Code ก็มีข้อจำกัดที่ไร้สาระอย่าง แบนหนังที่มีฉากจูบยาวนานเกิน 3 วินาที หนึ่งในวิธีที่เถไถ ซิกแซก จูบกันไม่เกิน 3 วินาทีก็ได้ แต่อีก 10 วินาทีต่อไปก็จะจูบกันอีก นับไป 3 วินาที แล้วแยกออกจากกัน มองตา พูดคุย ยิ้มหวาน แล้วจูบกันใหม่อีก 3 วิ … รวมเวลาแล้ว 2 นาทีครึ่ง ที่พระนางจูบ-หยุด-จูบ-หยุดอยู่อย่างนั้น … คิดไปก็ตลก มองเสียว่ามันหนึ่งในช่วงเวลาวิวัฒนาการของวงการภาพยนตร์นะครับ Hays Code ถูกยกเลิกเมื่อปี 1968 เปลี่ยนไปเป็นระบบจัด Rating แทน

ผมเคยดู Notorious เมื่อนานมาแล้ว จดจำรายละเอียดของหนังไม่ได้มากนัก แต่จำ 2 นักแสดงหลักได้ Cary Grant กับ Ingrid Bergman นี่เป็นหนังที่ทำให้ผมหลงรัก Ingrid Bergman มากๆ ส่วน Cary Grant มันอดไม่ได้ที่ต้องเปรียบเทียบกับ Humphrey Bogart ใน Casablanca เพราะมี Ingrid Bergman เป็นนางเอกเหมือนกัน ซึ่งโดยส่วนตัวผมชอบ passion ระหว่าง Bergman กับ Bogart มากกว่า ซึ่ง AFI: 100 Years…100 Passions ก็เห็นด้วยกับผม จัดให้ Bergman กับ Bogart ติดอันดับ 1 ส่วน Bergman กับ Grant ติดอันดับ 86 กระนั้นในนิตยสาร TIME ชาร์ท Great Performances กลับยกให้ Cary Grant เสียอย่างนั้น

David O. Selznick โปรดิวเซอร์ชื่อดังแห่งยุค เขาเป็นเจ้าของโปรเจคนี้ ขนาดในเครดิตชื่อหนังยังต้องขึ้นชื่อเขาเลย ทั้งๆที่ Selznick ขายโปรเจคนี้ให้กับ RKO ไปแล้ว แต่ต้องถือว่าเขาเป็นตัวตั้งตัวตีเริ่มต้นโปรเจคนี้, ในความตั้งใจแรกของ Selznick หนังเรื่องแรกหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่สอง ควรเป็นเป็นหนังเกี่ยวกับนาซีและ atomic bomb คงจะฮิตมากๆ Ingrid Bergman นั้นเป็นตัวเลือกแรกที่จะให้เป็นนางเอก (เพราะเธอมีสัญญากับ Selznick อยู่ แม้ Selznick อยากได้ Vivien Leigh ก็เถอะ) เป็น Hitchcock เองก็ต้องการทำหนังกับเธออีก (เคยร่วมงานกันมาแล้วใน Spellbound-1945) ไอเดียของหนังได้มาจากเรื่องสั้นใน Saturday Evening Post ชื่อ The Song of the Dragon เขียนโดย John Taintor Foote เรื่องราวของสายลับที่ตกหลุมรักกับหัวหน้า แต่ต้องเสียตัวและแต่งงานกับคนที่ตัวเองไปสืบเพื่อล้วงข้อมูลลับออกมา ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Ben Hecht

นักแสดงนำชาย Hitchcock ตั้งใจให้ Cary Grant นำแสดงตั้งแต่แรกแล้ว แต่ Selznick เหมือนจะไม่ค่อยปลื้ม Grant เท่าไหร่ อ้างว่า เขาเป็นคน ego สูงและชอบเรียกค่าตัวแพงๆ “would come with ego and salary demands,” Selznick จึงพยายามล็อบบี้ให้ Joseph Cotten ได้รับบท แต่ตอนนั้น Selznick ขายโปรเจคนี้ไปแล้ว จึงหมดสิทธิ์เลือก บทเลยมาตกที่ Grant โดยปริยาย

สำหรับบท Alexander Sebastian นำแสดงโดย Claude Rains เห็นว่า Selznick เกลี้ยกล่อมให้ Hitchcock เลือก Rains โดยบอกว่า Rains เป็นนักแสดงที่จะสร้างความโดดเด่นให้ Notorious อย่างมาก ที่ Hitchcock ยอมตกลง เพราะยอมรับในแนวคิดของ Selznick ซึ่งการได้ Rains มาสมทบต้องถือว่าเป็นนักแสดงที่มีความโดดเด่นมากๆ ผมนึกถึง Casablanca (อีกแล้ว) เพราะ Rains ก็ถือว่าไม่ธรรมดา สามารถประกบกับ Bogart ได้อย่างยอดเยี่ยม สำหรับ Notorious บทของเขาเป็นศัตรูหัวใจของ Grant การแสดงของเขาสร้างมิติในระดับที่ คนดูอาจจะเห็นใจตัวละครนี้มากกว่าพระเอกอีก

รักสามเศร้า ถือว่าเป็นประเด็นหลักของหนังก็ได้ ประเด็นอื่นๆถือเป็น sub-plot ที่ไม่มีความสำคัญอะไรเลย ด้วยความที่ Hitchcock ไม่ต้องการให้ผู้ชมให้ความสนใจกับประเด็นอื่นๆมากเกินไป เขาจึงค้น ประดิษฐ์คำว่า MacGuffin** ขึ้นมาในหนังเรื่องนี้มีถึง 3 อย่าง
1.Uranium สมัยนั้นคนส่วนใหญ่ไม่รู้กันว่า uranium เป็นสสารที่ใช้สร้าง atomic bomb จึงเข้าใจแค่ว่ามันเป็นอะไรอย่างหนึ่งที่สำคัญมากๆในหนัง (เห็นว่าตอนแรกถ้าไม่มีการทิ้งบอมลงญี่ปุ่น MacGuffin เดิมจะเป็น เพชร-diamond)

อีก 2 อย่างที่เหลือ หลายคนอาจไม่มองว่ามันเป็น MacGuffin นะครับ แต่ในความหมายของ MacGuffin จริงๆนั้น เราสามารถมองสิ่งของที่มีความสำคัญต่อพล็อตเรื่อง ว่าเป็น MacGuffin ได้ทั้งนั้น
2.กุญแจ ที่ใช้ไขเข้าห้องเก็บไวน์ใต้ดิน
3.สสารที่ใช้ดื่ม หรือ poison substance (เหล้า ตอนต้นเรื่อง, กาแฟ ในช่วงท้าย)

**MacGuffin คือ องค์ประกอบสำหรับพล็อตหนังในการดึงดูดให้ผู้ชมติดตามเนื้อเรื่อง ว่าด้วยบางสิ่งที่ตัวละครหลักของเรื่องต่างทุ่มเท ทอดกายถวายตัวเพื่อครอบครองมัน ลักษณะสำคัญของมันจึงไม่ชัดเจน บ้างต้องตีความ หรืออาจมองได้ว่าไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรเลยเช่นกัน

ref: http://www.flickpeople.com/?p=366

หนังเรื่องนี้แทบทั้งเรื่องถ่ายกันใน RKO studio (ใน New York) นะครับ ไม่ได้ไป Rio de Janeiro ใน Brazil หรือ Miami ภาพที่เราเห็นเป็นการจัดฉากในสตูดิโอ แล้วใช้ rear projection ฉายภาพขึ้นสกรีนด้านหลัง เทคนิคที่ใช้ครั้งแรกในหนังเรื่อง King Kong (1933) ซึ่งมี Selznick เป็นโปรดิวเซอร์

ถ่ายภาพโดย Ted Tetzlaff ผมดูแล้ว Tetzlaff อาจไม่ใช่ตากล้องที่มีชื่อเสียงนัก แต่ใน Notorious มีหลายฉากที่ถ่ายภาพด้วยมุมมองแปลกใหม่ อาจเพราะ Hitchcock มักจะวาด Storyboard ด้วยตนเอง ทำให้เขามีมุมมองภาพที่ต้องการชัดเจน ตากล้องสามารถศึกษา Storyboard แล้วทำให้ได้ตามที่ผู้กำกับต้องการก็พอ ตอนต้นเรื่อง ในงานปาร์ตี้แนะนำตัวละครของ Cary Grant ใช้การถ่ายภาพจากด้านหลังตัวละคร แสดงถึงมุมมองของตัวละครที่สังเกตเห็นการกระทำ พฤติกรรมของตัวละครของ Bergman แบบชัดๆ เต็มๆ, หลังปาร์ตี้ Bergman ตื่นมา นอนกลิ้งอยู่บนเตียง กล้องใช้มุมมองจากสายตาเธอ กลิ้งตามตัวละคร เราจะเห็นภาพของตัวละครของ Grant หมุนตาม 180 องศา, ฉากไฮไลท์เลยคือตอนงานเลี้ยงปาร์ตี้หลังจากตัวละคร Bergman ขโมยกุญแจของ Rains สำเร็จ ภาพเริ่มจากชั้น 2 ในบ้าน จากนั้นกล้องค่อยๆเคลื่อนลงมาที่ชั้น 1 จบที่กุญแจในมือ Bergman นี่ถือเป็น long-shot ที่เป็นแรงบันดาลใจให้หนังเรื่อง Touch of Evil (1958) ของ Orson Welles เลยก็ว่าได้

ในหนังเราจะเห็นว่า Rains ไม่ได้เตี้ยกว่า Bergman นัก แต่ความจริง Rains เตี้ยกว่า Bergman ประมาณ 3-4 นิ้ว สังคมอเมริกาถือว่าเป็นเรื่องแปลกประหลอด ถ้าสามีจะเตี้ยกว่าภรรยามากๆ (จริงๆคือ Bergman สูงมากๆ) ในฉากที่ทั้งสองต้องเดินเคียงคู่กัน Hitchcock ให้ Rains สวม elevator shoes (เสริมส้น) เพื่อจะได้ดูสูงขึ้นในระดับที่รับได้ สร้างความทรมานให้ Rains ไม่น้อย

ตัดต่อโดย Theron Warth ช่วงเวลาในหนังจะรู้สึกกระโดดไปมา ผ่านไปไม่รู้นานเท่าไหร่ นั่นเพราะ Hitchcock ไม่ต้องการให้ผู้ชมให้ความสนใจกับเวลามากเกินไป แบบเดียวกับ MacGuffin ที่อะไรไม่สำคัญก็จะถูกลดความสำคัญลงไป เหลือแค่เนื้อแท้ของหนังคือรักสามเศร้าเท่านั้น

เพลงประกอบโดย Roy Webb ถือว่ามีรสสัมผัสที่แตกต่างจากหนังของ Hitchcock เรื่องอื่นๆ Webb ไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการทำเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ Max Steiner, Bernard Herrmann ต่างไม่มีเวลาว่างพอจะทำเพลงประกอบให้ ซึ่งพอ Selznick ขายโปรเจคให้ RKO ทำให้ Webb ที่เป็นคนทำเพลงให้กับ RKO เข้ามาร่วมงานในโปรเจคนี้โดยปริยาย ด้วยความที่ Webb ไม่ใช่คนที่เก่งมากนัก แต่ก็ไม่เย่อหยิ่งถือตัวทำให้สามารถสื่อสารกับ Hitchcock ได้อย่างเข้าใจ ผลลัพท์ออกมาค่อนข้างน่าทึ่ง เพลงประกอบมีความไพเราะลงตัว เสียอย่างเดียวคือไม่มีอะไรให้น่าจดทำเท่าไหร่

อย่างตอนที่คู่พระนางนั่งเครื่องบินไปลง Brazil เพลงประกอบมีการใส่เสียงเครื่องดนตรีพื้นเมืองของ Brazil เข้าไปก็จริง แต่ไม่สามารถจับอารมณ์ของสถานที่ได้เลย ไม่รู้สึกสักนิดว่าที่นั่น Brazil (นอกจากภาพถ่าย) ถ้าไม่บอกว่าเหตุการณ์เกิดใน Rio ใครๆคงคิดว่าอยู่ในอเมริกาเป็นแน่

ผมสังเกตมาหลายเรื่อง ผู้ชายในหนังของ Hitchcock มักมีความอ่อนไหวต่อบางสิ่งบางอย่าง ใน Notorious เราจะรู้สึกว่าคนที่สมควรได้รับเครดิตเป็นนักแสดงนำของหนังคือ Ingmar Bergman ไม่ใช่ Cary Grant เพราะเธอแบกหนังไว้ทั้งเรื่อง และเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างชายสองคนจนกลายเป็นรักสามเศร้า, ชายคนแรก ตัวละครของ Grant เขาเป็นคนที่กล้าๆกลัวๆ ขลาดเขลา ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่แน่วแน่ ไม่กล้าตัดสินใจ ผมคิดว่าตัวละครนี้มีภูมิหลังบางอย่างที่หนังไม่ได้เล่าออก เช่นปมถูกแฟนเก่าทิ้ง ฯ ที่ทำให้เขาไม่สามารถทุ่มเทใจทั้งหมดเพื่อนางเอกได้ เขาจึงลังเลไม่กล้าตัดสินใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตอนจบเขาก็กล้าตัดสินใจ, สำหรับตัวละครของ Rains นี่ก็ปากกล้า ใจเด็ด ขี้อิจฉา แต่เอาจริงๆกลับขี้ขลาดตาขาว สุดท้ายก็ต้องพึ่งแม่ ปมเรื่องแม่นี่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะมันดูเหมือนว่า หมอนี่มันโตไม่จริงนี่หว่า พอทำอะไรไม่ได้ก็ต้องหันไปพึ่งพ่อแม่ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ด้วยตัวเองได้ นี่อาจต้องโทษการเลี้ยงดูของแม่ ที่หึงหวงลูกมากๆ ไม่ให้มดไต่ผึ้งตอม ทำให้โตขึ้นมาลูกไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ แม้จะมีขณะที่ตัวละคร Rains พยายามที่จะต่อสู้เอา ตัดสินใจไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของแม่ (ตอนขอตัวละครของ Bergman แต่งงาน) แต่สุดท้ายเมื่อเจอปัญหาที่ถึงขั้นเป็น-ตาย เขาก็กลับไปพึ่งแม่ ทีนี้แม่ก็ได้ทีใส่ไข่ บอกแล้วไม่ฟัง (แม่แบบนี้โคตรๆเห็นแก่ตัวอ่ะครับ) ทีแรกผมชอบตัวละครนี้นะ เพราะมองว่าความรักของเขาต่อนางเอกมันจริงแท้ แต่พอรู้ว่าเธอเป็นสายลับ ก็เกิดความขลาดเขลา กลัวจนขี้ขึ้นสมอง พอหันไปพึ่งแม่ก็จบกัน นี่เด็กไม่หย่านม นี่หว่า กลายเป็นเกลียดเลยละครับ

Ingrid Bergman ผมค่อนข้างชัวร์ว่า เธอกลายเป็นนักแสดงหญิงอมตะจากหนังเรื่องนี้ หลังจาก Casablanca ที่เธอยังติดภาพหญิงสาววัยรักแรกแย้ม ซึ่งพอมาใน Notorious เธอโตขึ้น ตัวละครโตขึ้น ความคิดความอ่านโตขึ้น ตัวละครหลงรักกับคนที่ไม่ยอมรักตอบ แต่งงานกับคนที่ไม่ได้รัก ต้นเรื่องพ่อตาย ท้ายเรื่องถูกวางยาลองฆ่า ตัวละครนี้โคตรอาภัพ ใครๆก็ต้องจะสงสารเธอ นี่แหละครับที่ทำให้เธอกลายเป็นอมตะ ผู้หญิงที่สวยขนาดนี้ ทำไม Hitchcock ทำกับเธอได้ขนาดนี้ แววตาของ Bergman ทำให้ผู้ชายทั้งโลกใจละลาย ผมก็คนหนึ่ง, Ingmar Bergman เป็นนักแสดงหญิงที่ผมชอบที่สุดนะครับ ความสวยของเธอผมเรียกว่า classic แต่ต้องกับหนังขาว-ดำเท่านั้นนะครับ ผมไม่เคยดูหนังภาพสีของเธอเลย ไม่คิดว่าจะตราตรึงเท่าหนังภาพขาว-ดำแน่ๆ ถ้าเป็นหนังภาพสี ผมยกให้ Audrey Hepburn เป็นนักแสดงคนโปรด

ฉากตอนจบถือว่าจัดเต็มมากๆ Hitchcock ใช้บันไดเป็นสื่อกลางการกระทำของตัวละคร ทั้ง 3 คนเดินลงมาพร้อมกัน 2 คนที่ขึ้นรถเอาตัวรอดไปแล้ว แต่หนึ่งต้องเดินกลับขึ้นไป “I wish to talk to you!” เป็นประโยคที่ตัวละครนั้นย่อมรู้ดีว่า ถ้าเดินกลับขึ้นไป อาจจะไม่ได้กลับออกมามีชีวิตอีกแล้ว, ต้นเรื่องงานปาร์ตี้ ตัวละคร Bergman เมา (เหล้า) กลางเรื่องก็เมา (ในรัก) ท้ายเรื่องก็เมา (เมายาพิษ) …

คำว่า Notorious มีความหมายออกไปทางลบนะครับ ฉาวโฉ่, ชื่อเสีย, ดังกระฉ่อน ชื่อหนังแสดงถึงตัวละครของ Bergman ตอนต้นเรื่อง เธอมีชื่อเสียงจากการที่พ่อถูกอเมริกันจับได้ว่าทำงานให้กับนาซี แต่นี่ยังไม่ใช่ทั้งหมดของหนัง, ช่วงกลางเรื่อง ขณะที่เจ้าหน้าที่ของอเมริกันพูดคุยกันว่า ‘เธอขึ้นชื่อเรื่องแบบนี้’ นี่เป็นการพูดเสียๆหายๆต่อการกระทำของเธอ ที่สื่อได้ถึงชื่อหนังเช่นกัน, และเมื่อถึงจุดที่เธอต้องตัดสินใจระหว่าง ความรัก กับ หน้าที่ ความ Notorious ของเธอถูกตีความได้ 2 อย่าง คือ เป็น Patriot ที่ทำเพื่อชาติและยอมเสียสละได้ทุกอย่าง หรือ คนที่ทำทุกอย่างไปในทางฉาวโฉ่ นี่เป็นชื่อหนังที่สองแง่สองง่ามมากๆ คนไทยอาจไม่รู้สึกเท่าไหร่ แต่ฝรั่งบางคนที่ได้ยินหนังชื่อนี้ จะคิดว่าเป็นหนัง rate R ด้วยซ้ำ ถ้าไม่รู้ว่าผู้กำกับคือ Alfred Hitchcock

มีหนังแนวคล้ายๆกันนี้หลายเรื่องเลย ผู้หญิงที่กลายเป็น spy และต้องเสียตัวเพื่อลวงข้อมูลลับออกมา ที่ผมจำได้ อาทิ Lust, Caution (2007) ของ Ang Lee เรื่องนี้ผมชอบมากๆ เพราะมันเน้นความ passion ของผู้หญิงที่รุนแรงมากๆ, Mission Impossible 2 เหมือนว่า John Woo สร้างเพื่อคาราวะ Hitchcock โดยเฉพาะ, The Prestige (2006) ของ Christopher Nolan ก็มีส่วนผสมเรื่องรักสามเศร้าที่คล้ายๆกับ Notorious ฯลฯ

หนังทำเงินถล่มทลายในอเมริกา ทุนสร้าง$1 ล้าน ทำรายได้จากการฉายครั้งแรกไป $4.8 ล้าน ค่าลิขสิทธิ์ตอนที่ Selznick ขายให้ RKO คือ $800,000 และ 50% จากกำไรของหนัง ทำให้ RKO ได้กำไรเน้นๆประมาณ $1 ล้าน ว่ากันว่าที่หนังฮิตขนาดนี้คงเพราะ Bergman และ Grant ที่โด่งดังราวกับ atomic bomb

ถึงหนังจะทำเงิน แต่ก็ไม่ค่อยถูกใจนักวิจารณ์ในสมัยนั้น เข้าชิง Oscar แค่ 2 สาขา Best Support Actor ของ Claude Rains และบทภาพยนตร์โดย Ben Hecht ซึ่งก็ไม่ได้รางวัลทั้งคู่ สำหรับ Alfred Hitchcock ที่ไม่เคยได้ Oscar สาขา Best Director เลย จน Academy ได้มอบ Life Achievement Award ให้ในปี 1979 คนที่มอบคือ Ingmar Bergman และเธอได้ให้กุญแจ ที่ได้จาก Cary Grant ที่เก็บกุญแจนี้ไว้หลังจากถ่าย Notorious เป็นกุญแจ MacGuffin ของหนังเรื่องนี้ สร้างความประหลาดใจและตื้นตันให้กับ Hitchcock อย่างมาก ไม่คิดว่ามันจะยังอยู่จนถึงช่วงเวลานั้น

Notorious ไม่เคยติดอันดับของ American Institute Film (AFI) ในชาร์ท Greatest American Films Of All Time สักครั้ง แต่ติดอันดับ 171 ของนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll, อันดับ 38 นิตยสาร Cahiers du cinéma: Top 100 of all time, และติดชาร์ท All-TIME 100 Movies กับ Top 10 Great Performances ของนิตยสาร TIME

ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับคนชอบหนังแนว passion, romance, thriller, spy คอหนัง Alfred Hitchcock ไม่น่าพลาดอยู่แล้ว หนังดูไม่ยากเลย คนไม่เคยดูหนังมาก่อนก็ดูได้ จัดเรต PG นะครับ เด็กดูได้แต่มีผู้ปกครองนั่งดูด้วยสักหน่อยก็ดี

TAGLINE | “ยิ่งฉาวยิ่งดัง ความฉาวโฉ่ใน Notorious คือความอมตะของ Ingrid Bergman และ Cary Grant โดยผู้กำกับ Alfred Hitchcock”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: