Oedipus Rex (1967) : Pier Paolo Pasolini ♥♥♥♡
คงเพราะใครๆน่าจะรู้จักบทละคอนโศกนาฎกรรมกรีกของ Sophocles เรื่อง Oedipus Rex ลูกฆ่าพ่อได้แม่เป็นเมีย ผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini เลยทำการผสมผสานโยงใยเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันของประเทศอิตาลี สะท้อนเปรียบเทียบสภาพสังคมการเมือง อดีต-ปัจจุบัน แทบไม่มีอะไรแตกต่างกัน
โดยปกติทั่วไป ไฮไลท์ของ Oedipus Rex มักคือขณะ Oedipus the King รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพ่อ-แม่ แท้ๆของตนเอง แต่น่าจะเฉพาะกับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่แตกต่างในส่วนดำเนินเรื่องและ Prologue กับ Epilogue ใช้วิธีย้อนเวลาไป-กลับ ปัจจุบัน-อดีต-ปัจจุบัน นั่นทำให้ผู้ชมฉุกครุ่นคิดขึ้นมาว่า ความตั้งใจแท้จริของผู้กำกับ ต้องการเปรียบเทียบบทละคอนโศกนาฎกรรมกรีกเรื่องนี้กับอะไร
นี่ถ้าผมไม่ไล่เรียงรับชมผลงานของ Pier Paolo Pasolini คงตระหนักไม่ถึงแน่ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีใจความการเมืองแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ เป็นลีลาแทนที่จะพูดนำเสนอออกมาตรงๆ ก็เบี่ยงเบนเข้าหาผลงานวรรณกรรม/บทละคอนชิ้นเอกของโลก เปรียบเทียบเชิงประชดประชัน ใส่สัญลักษณ์โน่นนี่นั่น ลึกล้ำซึ้งจนไม่รู้จะหาคำใดๆมาสรรเสริญบรรยาย
ก่อนอื่นเลยขอกล่าวถึง Sophocles (เกิดราว 497/6 B.C. – 406/5 B.C.) หนึ่งในสามนักเขียนบทละคอนโศกนาฎกรรมชาวกรีกโบราณ (ร่วมกับ Aeschylus, Euripides) ที่ยังมีผลงานหลงเหลือมาจนปัจจุบัน จากกว่า 120 เรื่อง ครบถ้วนสมบูรณ์เพียงแค่ 7 ประกอบด้วย Ajax, Antigone, Women of Trachis, Oedipus Rex, Electra, Philoctetes และ Oedipus at Colonus
“Always desire to learn something useful”.
– Sophocles
เรื่องราวของ Oedipus กษัตริย์แห่งเมือง Thebes ในเทพปกรณัมกรีก โอรสของกษัตริย์ Laius ที่เกิดจากพระนาง Jocasta หลังจากประสูติกาลได้รับคำทำนายจากเทพพยากรณ์ ‘เมื่อโตขึ้นจะเป็นผู้ฆ่าบิดา สมรสกับมารดาตัวเอง นำหายนะมาสู่ครอบครัวและเมือง Thebes’ ด้วยเหตุนี้ Laius เลยมัดเท้าของทารกน้อยไว้ ขอให้ Jocasta เป็นผู้ลงมือ แต่แม่ที่ไหนจะทำได้ลงเลยสั่งคนใช้ให้จัดการ แต่ก็เช่นกันไม่มีใครกล้ากระทำเลยนำไปทอดทิ้งไว้บนยอดเขา ผ่านพบโดยคนเลี้ยงแกะตั้งชื่อให้ว่า Oedipus (แปลตรงตัวว่า เท้าบวม) นำไปมอบให้กษัตริย์ Polybus รับเลี้ยงดูราวกับลูกแท้ๆในไส้
มีเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ที่ว่าคือสาเหตุให้กษัตริย์ Lainus ได้รับคำพยากรณ์เช่นนั้น สืบเนื่องจากเมื่อสมัยยังหนุ่มแน่น ครั้งหนึ่งเคยเป็นแขกของกษัตริย์ Pelops แห่ง Elis ทั้งยังได้รับแต่งตั้งให้สอนหนังสือพระโอรสองค์เล็ก Chrysippus วันหนึ่งระหว่างกิจกรรมแข่งขัน Chariot Racing ชายหนุ่ม Lainus ลักพาตัวและทำการข่มขืน Chrysippus เป็นชนวนเหตุให้หนุ่มน้อยคิดสั้นฆ่าตัวตายด้วยความละอาย เหตุการณ์ดังกล่าวราวกับต้องคำสาป สืบทอดส่งต่อให้เมื่อ Lainus กลายเป็นกษัตริย์ แต่งงาน มีโอรส ต้องชดใช้กรรมที่ก่อไว้อย่างสาสม
เมื่อ Oepidus เติบใหญ่ ได้ยินข่าวลือหนาหูว่าตนเองไม่ใช่โอรสแท้ๆของกษัตริย์ Polybus เลยออกเดินทางไปปรึกษาเทพพยากรณ์ Delphic Oracle แต่ที่จะได้คำตอบ กลับรับคำทำนายว่า
“mate with [his] own mother, and shed/With [his] own hands the blood of [his] own sire”.
สร้างความตกตะลึงสะพรึงกลัวให้ Oepidus เป็นอย่างมาก เลยตัดสินใจไม่หวนกลับพระราชวัง ออกเดินทางเรื่อยเปื่อยมาจนถึงระหว่างทางสู่เมือง Thebes พบเจอกับราชรถและกษัตริย์ Laius ที่สั่งให้ชายหนุ่มหลบหลีกทาง ด้วยโมโหโทโสไม่พึงพอใจเลยตัดสินใจฆ่าชายแก่คนนั้น (โดยหารู้ไม่ว่านั่นคือพ่อแท้ๆของตนเอง)
ออกเดินทางต่อมาเกือบถึงเมือง Thebes พบเจอกับ Sphinx สัตว์ในตำนานมีศีรษะปีศาจ หน้าอกผู้หญิง ลำตัวเหมือนเสือ และปีกอีกาสยายออก ถูกการส่งจากสวรรค์เพื่อปลิดศีรษะใครก็ตามกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่เมือง Thebes แล้วมิสามารถตอบปริศนาหนึ่งได้ถูก
ปริศนายอดนิยมในบทละคอนที่ Sphinx ตั้งกับ Thebes คือ
“What is the creature that walks on four legs in the morning, two legs at noon, and three in the evening?”
ซึ่งพอ Oedipus คาดเดาถูก เป็นเหตุให้ Sphinx กระโดดลงหน้าผาฆ่าตัวตาย เคำสาปดังกล่าวจึงถูกทำลาย เมื่อชาวเมืองได้รับทราบเลยยกเขาให้เป็นพระราชา แต่งงานกับ Jocasta ที่ก็ไม่ใช่ใครอื่น แม้แท้ๆของตนเอง (โดยหารู้ตัวไม่เช่นกัน)
จากเรื่องราวดังกล่าว ครั้งแรกที่ได้รับการจดบันทึกปรากฎอยู่ในตอนหนึ่งของมหากาพย์ Odyssey แต่งโดย Homer เมื่อประมาณ 800 B.C. เรื่องราวขณะที่ Odysseus พบเจอ Jocasta ยังยมโลก ได้รับฟังเรื่องราวของเธอกับ Oedipus เหตุผลชะตากรรมของตนเองที่ทำไมหลังจากเสียชีวิต ถึงต้องมาทนทุกข์ทรมานชั่วกัปกัลป์ในนรกภูมิแห่งนี้
Sophocles รวบรวมเรียบเรียงเรื่องราวดังกล่าว ประพันธ์ขึ้นเป็นละคอนโศกนาฎกรรมเรื่องที่สองในไตรภาค Theban plays (อีกสองเรื่องคือ Antigone กับ Oedipus at Colonus ต่างดำเนินเรื่องที่ Thebes ในช่วงรัชสมัย King Oedipus) ในชื่อ Oedipus Rex หรือชื่อกรีก Oedipus Tyrannus หรือชื่อไทย อิดิปุสจอมราชันย์ ทำการแสดงครั้งแรกประมาณ 429 B.C. ช่วงระหว่างการแข่งขันประกวดละคอนในงานเทศกาลทางศาสนาที่ Dionysia ได้รับรางวัลที่สอง รองจากผลงานของ Philocles ถึงกระนั้น Aristotle กลับยกย่อง Oedipus Rex ว่ามีความตรงต่อสิ่งที่ ‘ละคอน’ ควรจะเป็น
ความสนใจของผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini (1922 – 1975) มองเห็นสภาพสังคมการเมืองของประเทศอิตาลีในสมัยปัจจุบัน(นั้น) เปรียบเทียบแล้วมีลักษณะไม่แตกต่างจากเรื่องราวของ Oedipus Rex ตั้งใจดัดแปลงบทละคอนเรื่องนี้เพื่อสะท้อนสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น ปรับเปลี่ยนแปลงให้ตรงกับทัศนคติของตนเอง
สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ แตกต่างไปจากบทละคอน Oedipus Rex ประกอบด้วย
– ลำดับของการดำเนินเรื่อง, ในบทละคอน Oedipus Rex จะเริ่มที่ Oepidus เป็นกษัตริย์ปกครองเมือง Thebes มานานแล้วหลายปี จากนั้นค่อยๆล่วงรับรู้ความจริง ย้อนอดีตระลึกถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า ขณะที่ภาพยนตร์ ไม่นับ Prologue/Epilogue เริ่มต้นตั้งแต่ทารกน้อยถูกทอดทิ้ง Oepidus เติบโตขึ้น พานพบเห็นสิ่งต่างๆ จนได้เป็นกษัตริย์ครองเมือง Thebes และค่อยๆได้รับรู้ความจริง
– Sphinx ไม่ได้ตั้งคำถาม แต่เป็นการต่อสู้รบรากับ Oepidus
– บทของ Creon ช่างน้อยนิดจนแทบไม่มีความสลักสำคัญอะไร
– (เหมือนจะ) ตัดทิ้งบุตรสองคนของ Oepidus ที่เกิดกับ Jocasta ออกไปด้วย
นำแสดงโดย Franco Citti (1935 – 2016) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน น้องชายของผู้กำกับ/นักเขียน Sergio Citti เกิดที่ Fiumicino, Rome, เมื่อตอนอายุ 26 เข้าตา Pier Paolo Pasolini ชักชวนมาแสดงนำแจ้งเกิด Accattone (1961) จากนั้นก็ได้ร่วมงานกันอีกเรื่อยๆจนเป็นขาประจำ, ผลงานเด่นที่หลายคนอาจจดจำได้คือ The Godfather (1972) ในบท Calo ตัวละครที่ Sicily พูดว่า ‘In Sicily, women are more dangerous than shotguns’.
รับบท Oedipus ชายหนุ่มผู้มีความเคราะห์ร้ายในโชคชะตา เป็นคนเฉลียวฉลาด กล้าหาญ ยึดมั่นในคุณงามความดี ไม่ต้องการให้ตนเองประสบโชคชะตาดั่งที่ได้รับการพยากรณ์มา เสียสละตนเองออกเดินทางทิ้งลาภยศสรรเสริญ แต่ด้วยหลายครั้งอารมณ์หุนหันพลันแล่นจนหน้ามืดตามัว บดบังความคิดผิดชอบชั่วดี ขาดการไตร่ตรองให้รอบคอบรัดกุม
Citti ยังคงติดภาพลักษณ์จากบทบาทแจ้งเกิดเรื่อง Accattone (1961) ใบหน้ามีความเย่อหยิ่งจองหองทะนงตนอวดดี เมื่ออะไรๆไม่ได้ดั่งใจแสดงความเกรี้ยวกราดโกรธออกมา นี่ทำให้ช่วงท้ายเมื่อข้อเท็จจริงได้รับการเปิดเผยออก กลับกลายสภาพเป็นคนคลุ้มคลั่งเสียสติ เดินอย่างล่องลอยไร้จิตวิญญาณหน่วยเหนี่ยว มีความน่าสงสารเห็นใจเป็นที่สุด
Silvana Mangano (1930 – 1989) นักแสดงหญิงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่กรุงโรม ร่ำเรียนเป็นนักเต้นเมื่ออายุ 7 ขวบ ประกวด Miss Rome ได้รับชัยชนะ จนมีโอกาสได้เป็นนักแสดง ด้วยสัมพันธ์รักกับ Marcello Mastroianni ทำให้ถูกจับเซ็นสัญญาแจ้งเกิดรับบทนำ Bitter Rice (1949) แต่กลับปลงใจแต่งงานโปรดิวเซอร์มือฉมัง Dino De Laurentiis แม้จะไม่โด่งดังระดับเดียวกับ Sophia Loren หรือ Gina Lollobrigida แต่ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงช่วงทศวรรษ 50s – 70s ผลงานเด่น อาทิ Anna (1951), Ulysses (1954), The Gold of Naples (1954), Mambo (1955), Edipo re (1967), Teorema (1968), Death in Venice (1971) ฯ
รับบท Jocasta ราชินีแห่งเมือง Thebes แม่ของ Oedipus จะว่าเป็นคนมักมากในกามคุณก็ไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่ คงเป็นกฎบัญญัติไว้เมื่อสามีหรือกษัตริย์องค์ก่อนสวรรคต จำต้องแต่งงานใหม่(กับกษัตริย์องค์ใหม่) เพื่อสืบทอดเชื้อสายราชวงศ์ต่อกัน ถึงกระนั้นในเรื่องศีลธรรมจรรยา เมื่อข้อเท็จจริงกระจ่างแจ้งก็มิอาจยินยอมรับตนเอง เกิดความละอายใจจนเลือกจบชีวิตฆ่าตัวตาย
การแสดงของ Mangano ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไร แต่ภาพลักษณ์ของเธอถอดแบบมาจากรูปปั้นแกะสลัก ประติมากรรมยุคสมัย Italian Renaissance นึกถึงผลงานของ Michelangelo ขึ้นมาเลย
ถ่ายภาพโดย Giuseppe Ruzzolini แทนที่ขาประจำ Tonino Delli Colli เหมือนจะติดโปรเจคอื่นอยู่ และมีโอกาสร่วมงานกับ Pasolini อีกหลายครั้ง Teorema (1968), Pigsty (1969), Arabian Nights (1974) ฯ
มีอยู่สองสามอย่างที่จะให้เป็นข้อสังเกตไว้ พบเห็นบ่อยครั้งในหนัง
– ภาพทิวทัศน์พื้นหลัง มักมีลักษณะเหมือนเส้นคู่ขนาน ต้นไม้, ภูเขา ฯ
– สังเกตหมวก/สิ่งคลุมศีรษะ ของตัวละครให้ดีๆ มีนัยยะความหมายซ่อนเร้นอยู่
– หลายอย่างของหนังแทนได้ด้วย ลึงค์กับรู
แม้เรื่องราวของหนังไม่เชิงเป็นคู่ขนานระหว่าง อิตาลีปีปัจจุบัน(นั้น) กับเหตุการณ์ใน Oedipus Rex แต่ความตั้งใจของผู้กำกับ Pasolini ต้องการสะท้อนเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ ให้เห็นว่าทั้งสองเหตุการณ์สื่อความคล้ายคลึงกัน, ด้วยเหตุนี้หลายครั้งของการถ่ายภาพ จะพบเห็นทิวทัศน์มีลักษณะเหมือนเส้นคู่ขนาน อย่างช็อตนี้ต้นไม้พื้นหลังเรียงรายเป็นเส้นตรง และตัวละครเดินจากขวาไปซ้าย (ย้อนศร)
Sigmund Freud ได้เคยทำการวิเคราะห์บทละคอน Oedipus Rex แล้วเขียนลงหนังสือ Interpretation of Dreams ให้นิยามบุคคลิกภาพของผู้ชายประเภทหนึ่ง เกลียดพ่อรักแม่ เรียกว่า ‘Oedipus Complex’
ในภาพยนตร์จะสามารถพบเห็นตัวละครลักษณะนี้ได้บ่อย และฉากสำคัญที่มักสื่อถึงบุคคลผู้มีบุคลิกภาพดังกล่าว คือการดูดนมจากเต้า (ผู้ชายโตเป็นหนุ่มแล้ว กลับยังชอบดูดนมจากหน้าอกแม่/หรือหญิงสาว สื่อถึงปมนี้ได้ทั้งหมด) ก็แน่นอนละ ถ้าหนัง Oedipus Rex ไม่มีช็อตนี้ก็กระไรอยู่
นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งกับภาพพื้นหลังที่มีลักษณะเหมือนเส้นคู่ขนาน แถมตัวละคร(คนใช้) แบกหามเด็กทารก ก็ยังเดินจากขวาไปซ้าย (ย้อนศร) อะไรๆที่เกิดขึ้นไม่ว่าจาก อิตาลีปีปัจจุบัน(นั้น) กับเรื่องราวของ Oedipus Rex มันช่างคล้ายคลึงกันโดยแท้
กษัตริย์พระองค์แรกในหนัง Polybus สวมมงกุฎค่อนข้างสูงทีเดียว แต่เทียบไม่ได้กับองค์หลังๆจากนี้, มงกุฎ/หมวก สิ่งที่สวมเข้ากับศีรษะ เป็นสิ่งสัญลักษณ์หมายถึงบางสิ่งอย่างที่ครอบงำตัวตน/ความคิดอ่านของผู้สวมใส่ ด้วยฐานะของกษัตริย์แทนด้วยอำนาจ บารมี ยศศักดิ์ศรี ชนชั้นสูงสุด หรือจะมองว่าคือลึงค์ แท่งแห่งความเป็นบุรุษเพศก็ยังได้
แรกสุดของ Oedipus หลังจากเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ออกเดินทางจากบ้านเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงบางอย่าง หมวกของเขามีลักษณะป้อมแบน ปีกกว้างยาว เรียกได้ว่าไร้ซึ่งความเย่อหยิ่ง ศักดิ์ศรี ทะนงตน เหมือนแก้วที่ว่างเปล่า พร้อมได้รับการเทเติมได้อย่างเต็มที่
นี่เป็นช็อตที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง สังเกตว่าเลือกมุมกล้องถ่ายต้นหญ้า ได้ราบเรียบ เส้นตรง คู่ขนานกับภาพอีกแล้ว!
หมวกของเทพพยากรณ์ Delphic Oracle มีลักษณะแปลกประหลาดทีเดียว เหมือนทำจากดินเผาปั้นเป็นหน้าคน มีเศษฟาง และกิ่งก้านไม้อยู่ด้านบน นัยยะคงสื่อถึง เทพเจ้า สิ่งเหนือธรรมชาติ ที่สามารถรับล่วงรู้อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต พระเจ้าในร่างทรงมนุษย์ ต้องได้รับการบูชาสังเวยด้วยอาหารการกินเสียก่อน ถึงสามารถรับรู้ความเป็นไปของโชคชะตาชีวิต
หลังจากได้รับคำพยากรณ์ Oedipus ก็ทอดทิ้งหมวกใบเก่า หยิบกิ่งก้านไม้ขึ้นมาบังแดด (มันจะหายร้อนไหมนะ!) สะท้อนถึงความว่างเปล่า ไร้ทิศทาง ไม่มีอะไรหลงเหลือในจิตใจ ด้วยเหตุนี้เมื่อไม่รู้จะไปไหนก็หลับตาแล้วหมุนตัว ปล่อยให้โชคชะตานำทางชีวิต
ระหว่างทางสู่เมือง Thebes พบเจอกับกษัตริย์ Lainus (ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าคือพ่อของตนเอง) สั่งให้ Oedipus หลบหลีกทางแต่เจ้าตัวไม่ยินยอม เกิดการต่อสู้กับทหารองค์รักษ์ สังเกตอาวุธดาบของเขา มันช่างพิลึกกึกกือเสียเหลือเกิน แถมถือด้วยลักษณะแปลกๆยกขึ้นเคียงข้างศีรษะ นัยยะคงคล้ายๆหมวก แต่คืออาวุธที่บุรุษใช้ต่อกรกับศัตรู (มองเป็นลึงก์ไปเลยก็ได้นะครับ ของพระเองปลายจะทื่อๆตรงกลางมีรู ขณะที่ฝั่งทหารจะแหลมๆเหมือนสายฟ้าฟาด)
เป็น Sequence การต่อสู้ที่หลายคนอาจไม่ชอบเท่าไหร่ แต่คิดว่าแฝงนัยยะความหมายไว้พอสมควร
– Oedipus หาใช่คนหาญกล้าเผชิญหน้าต่อสู้ล้มล้างอำนาจผู้นำตรงๆ เริ่มต้นด้วยการเขวี้ยงก้อนหินใส่ขาองค์รักษ์คนหนึ่ง ตัดต่อผู้ช่วยเหลือสนับสนุนไม่ให้สามารถไล่ติดตามเขาได้
– จากนั้นพี่แกก็วิ่งหนีหางจุกตูด แล้วค่อยๆไล่เก็บองค์รักษ์ที่ตามมาทีละคนอย่างชาญฉลาด
– คนสุดท้ายจากสามที่วิ่งตามมา หอบแหกหมกเรี่ยวแรง ทิ้งตัวลงนั่งหอบหายใจดูเชิงกันอยู่สักแปปถึงเริ่มต่อสู้
– หลังจากจัดการสามองค์รักษ์ได้แล้วหวนกลับมา หนึ่งที่เจ็บตัวจากก้อนหินยังคงพิทักษ์รักษาตำแหน่งไว้มั่นคง ก็เลื่อยขาเก้าอี้อีกข้างให้ครานี้ขยับไปไหนมาไหนไม่ได้
– คนสนิทใกล้ตัวพบเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น แสดงความขลาดเขลาวิ่งหนีหางจุกตูด
– กษัตริย์ยังคงแสดงความผยอง สวมมงกุฎสูงใหญ่โต ถูกฉุดคร่าถีบตกลงมาจากราชรถ
– เมื่อผู้นำสิ้นสูญไปเรียบร้อย ค่อยหวนกลับมาจัดการสุนัขรับใช้ที่ได้รับบาดเจ็บ ยังไงก็หนีไปไหนไม่พ้นอยู่แล้ว
รวมๆแล้วการต่อสู้ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการนำเสนอวิธีล้มอำนาจของผู้นำ (ไม่รู้ว่าสื่อถึง Benito Mussolini หรือเปล่านะ) จากเคยมีอำนาจยิ่งใหญ่ล้นฟ้าน่าเกรงขาม เมื่อถูกลอบกัด ลูกน้องคนเก่งโดนล่อลวงจัดการ ไม่หลงเหลือใครคอยปกป้อง คนใกล้ชิดก็เผ่นแนบหนี สุดท้ายลูกพี่ใหญ่เลยโดนฉุดคร่าตกลงมา จากนั้นค่อยตามเก็บที่หลงเหลือ
เทียบกับกษัตริย์ Polybus มงกุฎของกษัตริย์ Lainus สูงกว่าพอสมควร แสดงถึง Ego ความเย่อหยิ่งในอำนาจ ยศศักดิ์ศรีของตนเอง ทั้งๆสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่พระราชวัง กลับยังวางตัวผยองคิดว่าตนเองเหนือกว่า สุดท้ายก็ถูกฉุดคร่าลงมา ตายเหมือนหมาข้างถนน
หลังจาก Oedipus เข่นฆ่าใครก็ไม่รู้ตายเรียบ นำเอาหมวกของทหารสวมใส่เข้ากับตนเอง, ลักษณะของหมวกเหล็กใบนี้ ปกปิดคลุมใบหน้ามิดชิด ถ้าไม่เปิดออกก็จักมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ภายใน นี่สะท้อนตัวตวของเขาขณะนั้น ไม่ต้องการเปิดเผยตนเอง คงจะละอายในคำพยากร หรือต้องการเป็นคนไร้ตัวตนในโลกใบนี้
การตีความ Sphinx ของผู้กำกับ Pasolini ทำเอาผมอึ้งไปเลย มันตัวอะไรว่ะเนี่ย! จะให้มันออกมาคล้ายคลึงกับคำบรรยายในบทละคอนก็ได้นะ แต่ดูแล้วเหมือนต้องการสะท้อนลักษณะของตัวละครนี้กับ Delphic Oracle และใช้การต่อสู้รบปรบมือ แทนปริศนาที่มีคำตอบคือ “มนุษย์”
ผมมาครุ่นคิดว่า ทำไม Sphinx ถึงถามปริศนาดังกล่าว? ก็พบว่าคำตอบเป็นการสะท้อนเข้ากับนัยยะใจความของเรื่องราว ‘ความไม่แน่นอนของโชคชะตาชีวิตมนุษย์’ เกิดมาคลาน 4 ขา โตขึ้นใช้ 2 เท้าเดิน และพอแก่ชราภาพจำต้องใช้ไม้ช่วยพยุงเลยกลายเป็น 3 ขา
อุว่ะ! หอย, นี่เป็นหมวกที่พอผมเห็นแล้วกลั้นหัวเราไว้ไม่อยู่ ขณะที่มงกุฎพระราชาสื่อแทนสัญลักษณ์ของลึงค์ ประชาชนกลับสวมหอยประดับใบหน้าและศีรษะ นี่แปลความหมายแบบเหี้ยมโหดได้ว่า King fuck people!
ถึงมงกุฎของ Oedipus จะมีความสูงเทียบเท่าของบิดาตนเอง แต่เพิ่มเข้ามาคือหนวดเคราสวมเพิ่มเข้าไป, หนวดเครา มักเป็นสัญลักษณ์ของความทรงภูมิรู้ พวกบัณฑิต (จีน) นักปราชญ์ นิยมไว้ยาว เวลาลูบไล้จะได้เหมือนการครุ่นคิด มีความเฉลียวฉลาด
ภาพลักษณ์นี้ก็แปลว่า Oedipus เป็นทั้งคนที่เย่อหยิ่งทะนงตนในศักดิ์ศรี ขณะเดียวกับก็มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ทรงภูมิ (แต่กลับยังมืดบอดในวิสัยทัศน์ ความเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น)
ถ้าเป็นในบทละคอน Oedipus Rex นี่จะคือซีนแรกเริ่มต้น เมื่อ Oedipus ออกมารับฟังปัญหาประชาชนยังหน้าพระราชวังของตนเอง แต่เนื่องจากหนังไม่ได้ดำเนินเรื่องด้วยลำดับเดียวกัน เลยกว่าปรากฎฉากนี้ก็ล่วงมากลางๆเรื่องแล้ว
ส่วนตัวไม่ค่อยรู้สึกตราตรึงกับฉากนี้สักเท่าไหร่ เพราะเมื่อเทียบกับ Funeral Parade of Roses (1969) ที่ทำเอาผมผงะไปเลย นี่เป็นการทิ่มแทงตาบอดที่ไร้ความรู้สึกมากๆ แต่อาจเพราะหนังไม่ได้จะขยี้อารมณ์ตรงนั้นให้ผู้ชมปวดแสบปวดร้อนร้าวใจ แต่ต้องการสื่อนัยยะถึงบางสิ่งอย่างของประเทศอิตาลี มีความมืดบอดไร้อนาคตโดยสิ้นเชิง
ตัดกลับมาอิตาลีปัจจุบัน(นั้น) จะมีขณะหนึ่งที่สองตัวละครเดินผ่านอนุเสาวรีย์สงครามโลก พวกเขาเดินจากขวาไปซ้าย (ย้อนศร) อีกเช่นเคย นี่เป็นการสะท้อนว่าทิศทางของประเทศขณะนี้ มีแต่กำลังจะถดถอยหลังลงคูคลอง ไม่มีวันก้าวเดินต่อไปข้างหน้ากันได้ ถ้ายังมัวแต่เป็นแบบนี้อยู่
ตัดต่อโดย Nino Baragli ขาประจำของผู้กำกับ Pasolini ร่วมงานกันตั้งแต่ผลงานแรก Accattone (1961)
หนังดำเนินไปในมุมมองของ Oedipus ทั้งหมด ตั้งแต่ถือกำเนิดจนหวนกลับมายังสถานที่เก่า แค่ว่า Prologue-Epilogue นำเสนอด้วยพื้นหลังคือ อิตาลีปีปัจจุบัน(นั้น) เพื่อเป็นการสะท้อนความเหมือน/คล้ายคลึง/คู่ขนาน ไม่แตกต่างกันระหว่างสภาพสังคมการเมืองของประเทศ กับเรื่องราวเทพปกรณัมกรีกของ Oedipus Rex
ความแตกต่างในการลำดับดำเนินเรื่องของบทละคอนกับภาพยนตร์ ทำให้ผลลัพท์ทางอารมณ์/ความรู้สึก แตกต่างกันพอสมควร
– บทละคอน, เพราะผู้ชมไม่รับรู้ล่วงหน้าว่าเกิดอะไรขึ้น จะเกิดความตกตะลึงพร้อมๆกับตัวละคร ใจหายวูบเมื่อย้อนอดีตพบเห็นความจริงที่เกิดขึ้น รับได้ไม่ได้ว่ากันที่วินาทีนั้น
– ภาพยนตร์, ผู้ชมจะเกิดความตระหนักตั้งแต่คำพยากรณ์ของ Delphic Oracle คาดเดาได้ตั้งแต่ที่ Oedipus เข่นฆ่าคือพ่อ แต่งงานครองรักย่อมคือแม่ ซึ่งเมื่อถึงเวลาล่วงรู้ความจริง ย่อมไม่เกิดอาการตกตะลึงใดๆ อาจเป็นความสงสาร รวดร้าว สั่นสะเทือน ทำใจพอรับไหวมาตั้งแต่กลางเรื่องแล้ว
เพราะผมเคยรับชม Funeral Parade of Roses (1969) ที่ดำเนินเรื่องราวในลักษณะเหมือนบทละคอน จะบอกว่าช่วงท้ายเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย มันทำให้อึ้งทึ่งช็อค อ้าปากค้าง คลุ้มคลั่งเกือบเสียสติแตก [ตอนแรกก็ไม่รู้ด้วยนะว่า เรื่องนั้นดัดแปลงจาก Oedipus Rex] ด้วยเหตุนี้ลำดับการดำเนินเรื่องแบบหนัง(เรื่องนี้) มันเลยดูไม่ค่อยเวิร์คสักเท่าไหร่ แต่ที่บอกว่าคือความตั้งใจของผู้กำกับ Pasolini ใช้วิธีดังกล่าวนี้เพื่อจุดประสงค์อื่น
สำหรับเพลงประกอบ …หาเครดิตไม่ได้… มีส่วนผสมของ Romanian Folk-Song และเสียงเป่าขลุ่ยที่คล้ายหนังซามูไรของ Akira Kurosawa มอบสัมผัสอันเวิ้งว้างว่างเปล่า บาดลึกไปถึงขั้วของหัวใจ ฟังดูลึกลับพิศวงเหมือนดั่งเทพนิยาย
ข้อคิดในบทละคอน Oedipus Rex ส่วนใหญ่มักพูดถึง ‘ความไม่แน่นอนของโชคชะตาชีวิตมนุษย์’ พยายามหลบหลีกหนีจากคำพยากรณ์ที่แสนเลวร้าย แต่สุดท้ายกลับยังกระทำตามสิ่งที่ทำนายไว้ได้อย่างถูกต้องโดยไม่รู้ตัว ทำให้จากเคยเป็นกษัตริย์ผู้สูงส่งตกต่ำสู่ชายตาบอดพเนจรร่อนเร่ เริ่มต้น-สิ้นสุดหวนกลับมาบรรจบที่จุดเดียวกัน
ในทัศนคติของผู้กำกับ Pasolini มองอิตาลียุคสมัยนั้น ผู้นำ/รัฐบาลมากด้วยกลโกงคอรัปชั่น สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง โยนขี้ป้ายสีใส่ศัตรู โชคร้ายคือประชาชนผู้ต่ำต้อยกว่า ไร้ซึ่งโอกาสรุดหน้าทัดเทียมเท่านานาอารยประเทศ
– เป็นผู้นำแล้วชอบอวดอ้างดี แข่งขันกันสวมหมวกใครสูงใหญ่ยาวกว่า หมายถึงอำนาจบารมีเสียดฟ้าเฉกเช่นนั้นหรือ?
– คนที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญจนขึ้นเป็นผู้นำ มักเพราะความเฉลียวฉลาดรอบรู้ (ตอบปริศนา สามารถล้างคำสาป Sphinx) แต่พออยู่ในตำแหน่งนานวันกลับใช้อำนาจไม่เป็น โง่เขลาเบาปัญญาไม่สามารถเข้าใจแก้ปัญหาที่บังเกิดขึ้นได้
– เมื่อถูกผู้อื่นกล่าวโทษกลับมองไม่เห็นความผิดพลาดของตนเอง ครุ่นคิดว่าบุคคลนั้นคงต้องการทรยศหักหลัง เลยกำจัดขับไล่ล้างบางให้ดับสิ้นสูญ จนกระทั้งเมื่อรับรู้ว่าแท้จริงแล้วตนเองคือฝ่ายผิดจริงๆ ตอนจบเลยต้องทิ่มแทงดวงตาให้มืดบอดสนิท (จากนามธรรมกลายเป็นรูปธรรม)
ผู้นำ ถือเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในการกำหนดควบคุม บริหารจัดการประเทศชาติให้ดำเนินก้าวเดินไปในทิศทางถูกต้องเหมาะสม แทบทั้งนั้นเริ่มต้นล้วนมาดี แต่จะค่อยๆสูญเสียวิสัยทัศน์ มองสิ่งที่เป็นปัญหาข้างหน้าไม่ค่อยออก จนสุดท้ายมืดมิดสนิทเหมือนคนตาบอด ก้าวเดินไปทางไหนไม่ได้ต้องใช้คนอื่นช่วยนำ หวนกลับคืนสู่จุดเริ่มต้นกำเนิด
“Life ends where it begins”.
ภาพช็อตสุดท้ายของหนัง กล้องแพนขึ้นเห็นยอดไม้ (จุดสูงสุดของชีวิต) จากนั้นเคลื่อนลงต่ำจนถึงพื้นดินรากหญ้า (หวนกลับสู่ตำแหน่งต่ำสุด/จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งอย่าง)
ลึกๆของภาพยนตร์เรื่องนี้ มีนัยยะต่อต้านสิ่งที่โชคชะตาฟ้าลิขิต หรือการมีตัวตนของพระเจ้า, แม้ผู้กำกับ Pasolini จะเคยมีผลงาน The Gospel According to St. Matthew (1964) ชีวประวัติพระเยซูคริสต์ แต่ก็มิได้แปลว่าเขาจะเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งคำทำนายพยากรณ์ของ Delphic Oracle เป็นอะไรที่ Pasolini/Oedipus ต้องการต่อสู้เอาชนะ ไม่อยากให้มันประสบพบเจอกลายเป็นจริง เพราะจะเสมือนว่ามีบางสิ่งอย่างควบคุมคอยชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง
แต่อย่างที่ผมบอกไปตั้งแต่ตอนต้น Oedipus Rex คือเรื่องราวของการเวียนวน ‘กฎแห่งกรรม’ เคยทำอะไรใครไว้แม้จะโดยรู้ตัว-ไม่รู้ตัว บางครั้งแค่ความหน้ามืดตามัว ย่อมต้องได้รับผลตอบสนองคืนอย่างสาสมควร
Pasolini ตั้งชื่อจตุภาค Mythical Cycle ใช้เรื่องเล่าปรัมปรา/เทพนิยาย เปรียบเทียบกับสภาพสังคม/ยุคสมัยปัจจุบันของประเทศอิตาลี ประกอบด้วย
– Oedipus Rex (1967)
– Teorema (1968)
– Porcile (1969)
– Medea (1969) ดัดแปลงจากบทละคอนโศกนาฎกรรมกรีก Medea แต่งโดย Euripides
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดของหนัง คือการถ่ายวิวทิวทัศนียภาพกว้างใหญ่สุดลูกหูตา มีลักษณะคู่ขนานอดีต-ปัจจุบัน, นัยยะสิ่งสัญลักษณ์ต่างๆ และความลึกล้ำซับซ้อน สะท้อนถึงตัวตนความสนใจของผู้กำกับ Pasolini
แต่หนังก็มีปัญหาตรงความเชื่องช้าอืดอาด โดยเฉพาะครึ่งชั่วโมงแรกชวนให้หลับใหลเป็นอย่างยิ่ง คงเพราะจุดแตกต่างในการเล่าเรื่องที่ Pasolini ครุ่นคิดว่าผู้ชมส่วนใหญ่คงรับรู้อยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น เลยละทิ้งเป้าหมายปลายทางให้ใคร่ลุ้นระทึกติดตาม ทั้งยังเป็นการลดทอนความน่าสนใจในเนื้อหาบทละคอน Oedipus Rex จริงๆลงไปอีกด้วย
แนะนำคอหนังแนวโศกนาฎกรรม, เคยอ่าน/ชื่นชอบบทละคอน Oedipus Rex ของ Sophocles, สนใจจุดเริ่มต้นของปม Oedipus, ทิวทัศน์ประเทศอิตาลีในช่วงทศวรรษ 60s, แฟนๆผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini และนักแสดง Silvana Mangano, Franco Citti, Alida Valli ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับโศกนาฎกรรม และประเด็น Incest
ช่วงนั้น Pasolini น่าจะชอบหรือสนใจดนตรีตะวันออก ดูจากดนตรีเรื่องนี้ กับเรื่อง Medea (1969)
เรื่องนี้ดนตรีออกญี่ปุ่นตรงเสียงขลุ่ยหวีดหวิว
แต่เรื่อง Medea นี่ชัดเจนมาก ดนตรีจากฝั่งจีน ธิเบต เปอร์เซีย (ฟังปุ๊บนึกถึงหนังของผู้กำกับจีนรุ่นที่ 5 อย่างหนังของ Zhang Yimou, Yellow Earth (1984) กับหนังทางฝั่งอินเดีย-เปอร์เซีย-อิหร่าน ลอยขึ้นมาเลย) และเหมือนจะมีการแสดงขับกลอนดีดพิณของญี่ปุ่น (ฟังตอนแรกนึกถึงหนังเรื่อง Kwaidan (1964) ต้นพาร์ทโฮซึกิไร้หู ที่เป็นฉากกองเรือ) มาประกอบด้วย