The Sacrifice

Offret (1986) Swedish : Andrei Tarkovsky ♥♥♥♥

แนวคิดของชาวคริสเตียนและปรมาจารย์ผู้กำกับ Andrei Tarkovsky สิ่งทรงคุณค่าสูงสุดที่ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐแตกต่างจากเดรัจฉาน คือเรียนรู้จักการเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น แม้บางครั้งอาจต้องแลกมาด้วยชีวิต ทรัพย์สิน และทุกคนรอบข้าง

แต่เรื่องราวความเสียสละที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ ช่างดูเพ้อเจ้อไร้สาระ หาคุณค่าความสลักสำคัญแทบไม่ได้ แถมต้องแลกมากับ… ถึงกระนั้นทั้งหมดสามารถเปรียบเทียบนัยยะเชิงสัญลักษณ์/นามธรรม และมันอาจเกิดขึ้นภายในจินตนาการเพ้อฝัน/จิตใจตัวละครเท่านั้นเอง

The Sacrifice (1986) ถือเป็น Swan Song ผลงานภาพยนตร์ Masterpiece เรื่องสุดท้ายก่อนเสียชีวิตของปรมาจารย์ผู้กำกับ Andrei Tarkovsky เปรียบดั่งบทกวีรำพรรณา ประมวลผลทุกสิ่งอย่างในชีวิตจนได้ข้อสรุปเชื่อว่า ‘การเสียสละ’ ตนเองเพื่อผู้อื่น มีความสำคัญทรงคุณค่าสูงสุดในสากลจักรวาล

การเสียสละในพุทธศาสนา ไม่ใช่ด้วยจุดประสงค์เพื่อผู้อื่นหรือต่อมนุษย์ชาติ (แบบศาสนาคริสต์) เริ่มต้นต้องจากตัวเราเองสามารถ ‘เสียสละทุกสิ่งอย่าง’ ปลดปล่อยวางกิเลสตัณหา จากนั้นเมื่อจิตสงบเกิดสมาธิและปัญญา ความปรารถนาเพื่อผู้อื่นมักติดตามมา

“ก่อนจะให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ควรต้องเอาตัวเองให้รอดเสียก่อน”

ฟังดูอาจเห็นแก่ตัว ไม่บริสุทธิ์จริงใจ ขัดต่อ’ความเชื่อ’ของบางศาสนา แต่ผมก็ครุ่นคิดเห็นด้วยสอดพ้อง เพราะถ้าคนว่ายน้ำไม่เป็นแล้วยังจะกระโดดลงไปช่วยเหลือผู้อื่น รังแต่จะสร้างความเดือดร้อนวุ่นวาย ซวยสุดๆก็จมน้ำตายทั้งคู่มีประโยชน์อันใด?


Andrei Arsenyevich Tarkovsky (1932 – 1986) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Russian เกิดที่ Zavrazhye, Yuryevetsky District บุตรชายของกวีคนสำคัญของรัสเซีย Arseni Tarkovsky (1907-1989) และ Maya Ivanovna Vishnyakova ครอบครัวมีน้องสาว Mariana อีกคน, ช่วงสงครามโลกที่สอง ครอบครัว Tarkovsky อพยพย้ายไปอยู่ทางชนบทของเมือง Yuryevets อาศัยอยู่กับตายายยังบ้านไม้หลังเก่าๆผุพัง ส่วนพ่อไปรบอยู่แนวหน้ากลับมาสูญเสียขาไปข้างหนึ่ง, โตขึ้นสมัครเรียนสาขาผู้กำกับ State Institute of Cinematography (VGIK) สร้างภาพยนตร์นักศึกษาสามเรื่อง The Killers (1956), There Will Be No Leave Today (1959), The Steamroller and the Violin (1961) เรื่องสุดท้ายได้รับคำชมล้นหลามจนมีได้รับโอกาสจาก Mosfilm กำกับหนังเรื่องแรก Ivan’s Childhood (1962) คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice Film Festival

ความขัดแย้งระหว่าง Tarkovsky กับทางการโซเวียต ถึงจุดแตกหักเมื่อครั้นกำลังสร้างภาพยนตร์ The First Day บุกเข้าไปสั่งปิดโปรดักชั่น เผาทำลายฟีล์มถ่ายทำไปแล้วเกือบครึ่ง จากนั้นเลยตัดสินใจอพยพลี้ภัยตนเองออกมาสร้าง Nostalghia (1983) และภาพยนตร์สารคดี Voyage in Time (1983) ยังประเทศอิตาลี

สำหรับ The Sacrifice แรกเริ่มตั้งชื่อโปรเจคว่า The Witch เรื่องราวของชายวัยกลางคน หลังจากร่วมรักหลับนอนค้างแรมกับแม่มดสาว ทำให้โรคมะเร็งป่วยอยู่รักษาหายขาดโดยพลัน เลยตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้านเพื่อไปอยู่กินกับเธอ … แต่พล็อตดังกล่าว Tarkovsky รู้สึกว่าจบแบบ Happy Ending ไร้ความท้าทายน่าสนใจ ซึ่งระหว่างโปรดักชั่น Nostalghia (1983) ครุ่นคิดการลงเอยด้วยโศกนาฎกรรม และการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สาม

“What interested me in this film was showing a man who was capable of self-sacrifice. Sometimes that can become distressing, even for his own family and friends. This is a man who has understood that, to redeem himself, it has become indispensable to efface himself. Even on a physical level one has to rise to another level of existence”.

– Andrei Tarkovsky

ระหว่างร่วมฉาย Nostalghia (1983) เทศกาลหนังเมือง Cannes, ผู้กำกับ Tarkovsky ได้รับคำชักชวนจาก Anna-Lena Wibom ผู้อำนวยการสถาบัน Swedish Film Institute ให้ไปสร้างภาพยนตร์เรื่องถัดไปยังประเทศสวีเดน เห็นเป็นโอกาสดีเลยยินยอมตอบตกลง

เรื่องราวของ Alexander (รับบทโดย Erland Josephson) อดีตนักแสดงละครเวทีชื่อดัง ผันตัวมาเป็นนักข่าว นักวิจารณ์ ปัจจุบันเป็นนักเขียนอาศัยอยู่บ้านบนเกาะห่างไกล ใช้ชีวิตร่วมกับภรรยา Adelaide (Susan Fleetwood) เธอมีลูกสาววัยรุ่นติดมา Marta และคลอดลูกชายคนเล็ก Little Man ขณะนั้นเป็นใบ้ชั่วคราวหลังจากผ่าตัดลำคอ

พอดิบพอดีวันเกิดของ Alexander ทำให้เพื่อนสนิทมิตรสหายแวะมาเยี่ยมเยือน อวยพร รวมถึงบุรุษไปรษณีย์ Otto (รับบทโดย Allan Edwall) นำของขวัญคือแผนที่ยุโรปมามอบให้ แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันบังเกิดขึ้น เริ่มจากได้ยินเสียงเครื่องบินเจ็ตเคลื่อนผ่านฟากฟ้า โทรทัศน์ประกาศข่าวการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สาม และไฟฟ้าดับสนิททุกแห่งหนตกอยู่ในความมืดมน

และดึกดื่นค่ำคืนนั้น Otto แวะมาเยี่ยมเยียน Alexander เพื่อบอกว่าทุกสิ่งอย่างบังเกิดขึ้นนี้สามารถสาปสูญหาย สิ้นสุดลงได้โดยทันที ถ้าเขาเสียสละตนเองร่วมรักหลับนอนกับแม่มดสาว Maria แต่นั่นมันเรื่องจริง จริงๆนะหรือ?


Erland Josephson (1923 – 2012) นักเขียน/นักแสดงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Kungsholmen, Stockholm ค้นพบเจอโดยผู้กำกับ Ingmar Bergman ร่วมงานกันตั้งแต่แสดงละครเวที เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Magician (1958), Hour of the Wolf (1968), ก่อนหน้านี้ได้ร่วมงาน Tarkovsky เรื่อง Nostalghia (1983) คุยไม่ยากเท่าไหร่กับผลงานถัดไป The Sacrifice (1986) ซึ่งได้รับการจดจำสูงสุดในชีวิต

แซว: Josephson เคยได้รับข้อเสนอแสดงภาคต่อ Jaws 2 (1978) เจ้าตัวบอกปัดปฏิเสธพร้อมพูดบอกว่า

“I rather have intellectual battles with ‘Liv Ullman’, than fighting with some shark.”

รับบท Alexander อดีตนักแสดงละครเวทีที่มีความเบื่อหน่ายต่อการสวมบทบาทเป็นผู้อื่น ปัจจุบันคือนักเขียนสูงวัยที่ใช้เวลาส่วนใหญ่กับลูกชายหัวแก้วหัวแหวน Little Man รักมากจนพร้อมทุ่มเทเสียสละทุกสิ่งอย่าง ถึงขนาดยินยอมออกเดินทางไปร่วมรักหลับนอนกับนางแม่มด Maria ตื่นเช้าขึ้นมาเมื่อทุกอย่างกลายเป็นจริง -แต่ก็ไม่รู้สิ่งเกิดขึ้นเมื่อคืน มันความจริงหรือเพ้อฝันกันแน่- เพื่อคำสัตย์สาบานที่ตั้งมั่นไว้ จุดไฟเผาบ้านตนเองมอดไหม้วอดวายกลายเป็นคนบ้าเสียสติแตก

แม้ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำด้วยระยะ Long Shot หรือปกคลุมด้วยความมืดมิด แต่น้ำเสียงของ Josephson เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า พูดพร่ำกับตนเองราวกับคนสิ้นหวังหมดอาลัย มีกำลังใจอยู่ได้เพราะบุตรชายสุดที่รักยิ่ง อย่างอื่นหมดสิ้นความสำคัญใดๆอีกต่อไป


Susan Maureen Fleetwood (1944 – 1995) นักแสดงสัญชาติ British เกิดที่ St Andrews, Scotland พ่อเป็นเจ้าพนักงานสังกัด Royal Air Force เคยพาครอบครัวไปอยู่ปอิยิปต์หลายปี ตามด้วยนอร์เวย์ ก่อนกลับมาอังกฤษเพื่อส่งลูกๆร่ำเรียนหนังสือ ซึ่งเธอได้รับทุนการศึกษาจาก Royal Academy of Dramatic Art จบออกมาเข้าร่วมคณะ Liverpool Everyman theatre, ตามด้วยแสดงซีรีย์, ภาพยนตร์ อาทิ Clash of the Titans (1981), Young Sherlock Holmes (1985), The Sacrifice (1986) ฯ

รับบท Adelaide แม้จะแต่งงานมาแล้วถึงสองครั้งครา แต่ยังคงความเร่าร้อนรุนแรงจากภายใน ส่งสายตาร่านพิศวาสกับหมอหนุ่ม Victor (รับบทโดย Sven Wollter) ชอบแสดงจริตเย่อหยิ่งหัวสูงต่อคนรับใช้ แต่พอพบเห็นข่าวการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สาม มิอาจควบคุมสติสตางค์ กรีดกรายร่ำร้องไห้จนต้องฉีดยาคลายเครียดถึงทุเลาลง

ความสัมพันธ์ระหว่าง Adelaide กับ Alexander ทั้งๆเป็นสามีภรรยาแต่แทบไม่เคยมองหน้าสบตา สัมผัสกอดจูบ หรือพูดคุยสนทนากันตรงๆ นี่ก็แปลว่าความรักได้จืดจางลงไป เธอจึงพยายามอ่อยเหยื่อโหยหาใครคนใหม่

ตัวละครของ Fleetwood ใช้ชีวิตด้วยอารมณ์ สนองความต้องการพึงพอใจส่วนตน ด้วยเหตุนี้จึงมีความซื่อตรงไปตรงมา ฟังเรื่องเล่าของ Otto ก็สนเพียงเหตุการณ์เฉพาะข้างหน้า ไม่สนเนื้อหาสาระนัยยะใจความ หรือมองเข้าไปในจิตวิญญาณของคนอื่น ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดความรุนแรงกระทบกระทั่ง/สงครามโลกครั้งที่สาม จึงไร้สติสตางค์ควบคุมตนเองแทบไม่อยู่ กรีดร่ำร้องคลุ่มคลั่ง ช่างทรงพลังเหลือหลาย

แม้ลึกๆจะรู้สึกว่ามากไป แต่ผมกลับชื่นชอบหลงใหลการแสดงของ Fleetwood ถ่ายทอดตัวละครนี้ออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ มิติเดียว แต่โคตรกวัดแกว่งทางอารมณ์ อยากโดนสายตาร่านยั่วสวาทเข้ากับตนเองบ้าง


ผู้กำกับ Tarkovsky เป็นแฟนตัวยงผลงานภาพยนตร์ของ Ingmar Bergman รวมถึงตากล้องขาประจำ Sven Nykvist เมื่อมีโอกาสครั้งนี้เลยติดต่อชักชวน แน่นอนว่าไม่ปฏิเสธแม้ทำให้พลาดโอกาส Out of Africa (1985) ก็ตามที

ใครที่เป็นแฟนตัวยงของผู้กำกับ Bergman พบเห็นภาพพื้นหลัง สถานที่ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ ต่างครุ่นคิดเข้าใจว่าคือเกาะ Fårö แต่จริงๆแล้วคือเกาะ Gotland อยู่ไม่ห่างกันสักเท่าไหร่ (เพราะกองทัพไม่อนุญาตให้ Tarkovsky ใช้สถานที่ถ่ายทำยังเกาะ Fårö คาดว่าคงเรื่องภัยมั่นคงล้วนๆ)

ความโดดเด่นงานภาพอยู่ที่การถ่ายทำ Long Take ซึ่งกล้องจะขยับเคลื่อนไหว แพนนิ่ง ซูมเข้า-ออก โฟกัสใกล้-ไกล ไม่ค่อยพบเห็นหยุดอยู่นิ่งกับที่, การเลือกโทนสีสัน (สีปกติ-ซีเปีย/ดำฟ้า-ขาวดำ) และการจัดแสง-ความมืด ซึ่งเห็นว่าหลังการถ่ายทำมีปรับลดความเข้มของภาพลงอีก 60%

เกร็ด: ในบรรดาผลงานของ Tarkovsky ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าถ่ายทำด้วย Long Take ปริมาณมากช็อต (115 ช็อต ในระยะเวลา 142 นาที) และยาวนานที่สุด (Opening Sequence ความยาว 9 นาที 26 วินาที)

ต้นไม้ตายแล้วที่ Alexander พยายามปลูกอยู่นี้ ผมเปรียบเทียบกับความเชื่อศรัทธาศาสนา/พระเจ้า ที่ยุคสมัยนั้น-นี้ ถือว่าเสื่อมความนิยมลงจนแทบสูญสิ้นคุณค่าทางจิตใจ แม้ความพยายามรดน้ำให้หวนกลับมาฟื้นคืนชีพทางกายภาพย่อมมิอาจเป็นไปได้ แต่เรื่องของจิตวิญญาณ/นามธรรม/เชิงสัญลักษณ์ ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าอาจมีวันนั้น

Long Take เกือบๆสิบนาทีนี้ สังเกตว่าตัวละครจะค่อยๆเดินเข้าใกล้กล้องขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน Otto ก็พยายามปั่นจักรยานวนรอบ Alexander และลูกชาย จนเมื่อหยุดพักเหนื่อยเลยถูกเจ้าตัวกระเปี๊ยกกลั่นแกล้งผูกเชือกติดกับกระบังหลัง ฉุดเหนี่ยวรั้งไม่ยอมให้เร่งรีบร้อนจากไป

หัวข้อการสนทนาของ Otto บ่นรำพันเสียดายที่ Alexander เลิกราอาชีพการแสดง เปลี่ยนมาเป็นนักข่าว นักวิจารณ์ และนักเขียน ช่างหาความเอาแน่เอานอนไม่ได้ ราวกับเอาตนเองเป็นจุดศูนย์กลาง … นี่คือเหตุผลของการปั่นจักรยานวนรอบตัว

สำหรับการกลั่นแกล้งของเจ้าตัวเล็ก คือความพยายามเหนี่ยวรั้ง Otto ไว้กับวิถีความเชื่อดั้งเดิม (ต้นไม้เล็กๆนี้ไม่ต่างจากต้นใหญ่ตายแล้วสักเท่าไหร่ เทียบแทนเชิงสัญลักษณ์ของความสิ้นสูญศรัทธาพระเจ้า) แต่เขากลับสามารถกระชากหลุด แล้วออกเดินทางต่อสู่อนาคตที่ไม่มีใครคาดเดาได้

Alexander นั่งหมดเรี่ยวแรงแล้วพูดพร่ำเรื่อยเปื่อย หวนระลึกถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมา ตรงกันข้ามกับเจ้าตัวเล็กพูดไม่ได้เอาแต่วิ่งเล่นซุกซนไปทั่ว

เราสามารถเปรียบเทียบ Alexander ได้ถึงผู้กำกับ Andrei Tarkovsky และเด็กคนนี้ก็คือลูกชายของเขา Andrejusja Tarkovsky ขณะนั้นยังถูกทางการรัสเซียสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองถ้าทำสิ่งทรยศหักหลังต่อชาติบ้านเมือง (พูดง่ายๆว่าเหมือนกำลังโดน Blackmail)

ซึ่งนัยยะการพูดไม่ได้ของเจ้าตัวเล็ก สื่อถึงลูกชายของ Tarkovsky มีสถานะเหมือนกำลังถูกปิดปาก ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียงพูดบอก แสดงออก กระทำสิ่งต่างๆอย่างอิสรภาพตามใจตนเอง

ฉากในจินตนาการ/เพ้อฝันของ Alexander ถ่ายทำด้วยภาพขาว-ดำ กล้องค่อยๆ Tilt Down เริ่มจากบันได สลัม พบเห็นขยะเกลื่อนกลาด ลงมาเรื่อยๆจนถึงกระจกสะท้อนตึกสูง สัญลักษณ์ของความเจริญ วัตถุนิยม เบื้องบนดูเลิศหรูหรา แต่ด้านล่างกลับชำรุดทรุดโทรม ทอดทิ้งให้สูญสิ้นค่าความสำคัญ

ผมมีความเพลิดเพลินกับไดเรคชั่นการพูดคุยสนทนา ระหว่าง Alexander และบุคคลรอบข้าง ซึ่งจะมีการนั่ง-ยืน-เดิน สลับสับเปลี่ยนตำแหน่งทิศทาง หน้า-กลาง-หลัง และยังหันมาสบตาพูดคุยหน้ากล้อง ซึ่งล้วนมีนัยยะสื่อความหมายบางอย่าง ใครเคยรับชมผลงานของผู้กำกับ Ingmar Bergman น่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ซึ่งผมขี้เกียจวิเคราะห์ เลยแนะนำให้ไปจับจ้องสังเกตกันเองแล้วกัน

ให้คำใบ้อย่างหนึ่งก็แล้วกัน ที่พบเห็นบ่อยมากๆก็คือขุ่นภรรยา Adelaide ชอบเดินตรงเข้าหายืนระยะใกล้กล้อง ซึ่งถ้อยคำพูดของเธอมักเต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง จองหอง เห็นแก่ตัว และยังชอบออกคำสั่งกับคนรับใช้ ให้ทำโน่นนี่นั่นตามใจฉัน

หนังสร้างความผิดสังเกตให้ตัวละคร Maria ตั้งแต่ครั้งแรกที่ปรากฎตัว อยู่ดีๆก็ประตูปิดดัง ปัง! ราวกับเธอมีพลังเวทย์มนต์อะไรบางอย่างปกปิดซ่อนเร้นอยู่!

Otto เลือกของขวัญวันเกิดคือ แผนที่ยุโรปโบราณ แม้เต็มไปด้วยความคลาดเคลื่อนเมื่อเทียบกับยุคสมัยปัจจุบัน แต่สะท้อนถึงยุคสมัยนั้น มนุษย์ยังคงเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมความดีงามภายในจิตใจ (กว่าคนยุคสมัยนี้เป็นไหนๆ)

เพราะความที่มันโคตรใหญ่ เลยยังหาบริเวณจัดเก็บตั้งโชว์ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ Alexander เลยนำไปวางไว้ตรงใต้บันได สถานที่แฝงนัยยะถึงการบดบัง หลงลืม ไม่ได้สลักสำคัญอันใด

ซึ่งตอนจบของหนังเมื่อบ้านทั้งหลังถูกเผาทำลาย แน่นอนว่ารูปภาพนี้ย่อมมอดไหม้วอดวายไปกับเขาด้วย ซึ่งสามารถสะท้อนเข้ากับ ความเชื่อศรัทธาจากอดีต ปัจจุบันสูญสิ้นไม่หลงเหลืออีกต่อไปแล้ว

ผมอดไม่ได้ที่จะนำช็อตนี้มา Maria ขอเจ้านายกลับบ้านเพราะทำงานเสร็จสิ้นแล้ว แต่ขุ่นภรรยา Adelaide กลับยังคงใช้เธอทำโน่นนี่นั่น หยิบจาน หยิบเทียน บลา บลา บลา นั่นทำให้นางแม่มดเดินเข้ามาสบตาพูดหน้ากล้อง ‘Break the fourth wall’ ด้วยความพิศวงลึกลั่น

การทำลายกฎภาพยนตร์นี้ สะท้อนความผิดปกติของ Maria ที่ถือว่าอยู่นอกเหนือกฎธรรมชาติ เพราะเธอคือนางแม่มดสามารถกระทำบางสิ่งอย่างให้เกิดการปรับเปลี่ยนแปลงไป

เรื่องเล่าของ Otto เรื่องรูปภาพถ่ายของแม่และลูกชาย สามารถแบ่งออกได้เป็นสามพาร์ท พบเห็นเดินไปเดินกลับ และตบมุก
– พาร์ทแรก, เริ่มต้นเดินจากหลังบันไดมาโต๊ะกลม แม่และลูกชายถ่ายรูปกันก่อนจะไปทหาร ไม่กี่วันหลังจากนั้นเสียชีวิตแนวหน้า เสียใจมากจนลืมสนิทไม่ได้ไปเอารูป
– พาร์ทสอง, เดินกลับมาตรงหลังบันได หลายปีผ่านไปแม่มีโอกาสถ่ายรูปใหม่ ปรากฎว่าติดวิญญาณลูกชาย
– พาร์ทสาม, Otto เดินเลยโต๊ะกลมนี้ไปหน่อย แล้วแสร้งล้มลงเป็นลม นึกว่าหัวใจวายตาย

นัยยะของเรื่องเล่านี้สะท้อนเข้ากับโครงสร้างของหนัง
– พาร์ทแรก คือการอารัมบทเข้าสู่เรื่องราว
– พาร์ทสอง เรื่องราวเกี่ยวกับวิญญาณดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็มีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้น
– พาร์ทสาม (Otto แสร้งเป็นลม=Alexander ตื่นเช้าขึ้นมา) แยกแยะไม่ออกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นคือความจริงหรือเพ้อฝัน

จุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง แก้วน้ำสั่นสะเทือน เสียงเครื่องบินเจ็ตล่อนผ่าน สาวๆเดินขวักไขว่สลับไปมา (Adelaide เดินไปซ้าย, คนใช้เดินไปขวา) แต่ปรากฎว่า Alexander กลับนั่งหลังพิงเก้าอี้ ราวกับผลอยหลับไป ** นี่คือจุดทางแยกของหนัง ซึ่งสามารถวิเคราะห์แยกเป็นสองกรณีต่อจากนี้ ความจริง-เพ้อฝัน

จบช็อตนี้ด้วยนมหก! เครื่องดื่มสำหรับเด็กน้อย ดื่มก่อนนอนจะได้เติบโต ร่างกายแข็งแรง อนาคตสดใส ซึ่งพอตกแตก ทุกสิ่งอย่างถือว่ากลับตารปัตร แก่ชรา อ่อนโรยแรง มืดมดไร้อนาคต

นำเบื้องหลังภาพนี้ เพราะไม่มีช็อตไหนในหนังพบเห็นบ้านเล็ก=บ้านใหญ่ สวยๆแบบนี้

เป็นซีนต่อจากนมหก Alexander ออกมานอกบ้านพบเห็น บ้านเล็ก=บ้านใหญ่ สัญลักษณ์ของการเปรียบเทียบ ลูกชาย=พ่อ ร่องรอยต่อระหว่าง จินตนาการ=เพ้อฝัน และขณะนั้น Maria กำลังจะกลับบ้าน พูดบอกความจริงบางอย่างให้เขา เกิดจิตรู้สึกนึกเล็กๆว่าเธอช่างเอ็นดูห่วงใยเจ้าตัวเล็กเสียเหลือเกิน ยิ่งกว่าแม่แท้ๆ Adelaide เสียอีก!

กลางคืนย่างกรายเข้ามา ตอนหัวค่ำคงยังพอมีแสงสว่าง-มืดมิด ไล่ระดับสลับเปลี่ยนแปลง (ตามทิศทางลมพัด), ในห้องนอนของเจ้าตัวเล็ก มีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น เพียงเตียง เก้าอี้ กระจก และบานหน้าต่างเท่านั้น … ทำเอาผมนึกถึง Fanny and Alexander (1982) เห็นว่าใช้บริการ Anna Asp ผู้เป็น Production Designer คนเดียวกันด้วยนะ!

Adoration of the Magi, การนมัสการของโหราจารย์ ชื่อที่ใช้ในหัวข้อวาดภาพชุดการประสูติของพระเยซูคริสต์ สามโหราจารย์เดินทางตามดาวแห่งเบธเลเฮม จนกระทั่งพบพระกุมารเยซู เมื่อพบแล้วก็มอบของขวัญที่เป็นทองคำ กำยาน และมดยอบ เพื่อถวายการสักการะ

Leonardo da Vinci ได้รับมอบหมายจาก Augustinian บาทหลวงแห่ง San Donato, Florence ให้วาดภาพสีน้ำมันบนไม้ The Adoration of the Magi เมื่อปี ค.ศ. 1481 แต่ไม่ทันเสร็จสิ้นก็มีเหตุให้ต้องออกเดินทางสู่ Milan แล้วก็ค้างคาไว้เช่นนั้นไม่มีโอกาสหวนกลับมาวาดต่อ (เค้าโครงร่างไว้แล้ว แต่การลงสียังไม่เสร็จสิ้น)

หนังนำภาพนี้มาใช้ตั้งแต่ Opening Credit และจะมีขณะหนึ่งกลางเรื่อง ที่ใบหน้าของ Alexander สะท้อนเข้ากับภาพวาดนี้ แล้วมีการปรับโฟกัสใกล้-ไกล นี่คงเป็นการเปรียบเทียบความตั้งใจสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ของผู้กำกับ Tarkovsky ต้องการจะเผยแพร่หลักคำสอน ความเชื่อศรัทธาในศาสนา พระผู้เป็นเจ้า

แวบแรกของช็อตนี้ ชวนให้ผมครุ่นคิดถึง Wag the Dog (1997) ขึ้นมาทันที! มันอาจไม่ได้เกิดสงครามขึ้นจริงๆก็ได้ แค่เป็นการหลอกลวงโลก ปรุงแต่งสร้างสรรค์ขึ้นโดยสื่อสารมวลชนที่เรียกว่าโทรทัศน์ ที่ถือว่าคือ’จักรวาลความเชื่อของมนุษย์’ ก็ว่าได้

วินาทีที่ Alexander ตั้งสัตย์สาบานต่อตนเอง/พระผู้เป็นเจ้า ยินยอมพร้อมเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อปวงชนและบุตรชาย สังเกตใบหน้าของเขาครึ่งหนึ่งอาบแสง อีกครึ่งหนึ่งปกคลุมด้วยความมืด นี่คล้ายกับเหรียญสองด้านของคำอธิษฐาน ซึ่งตรงกับสองทิศทาง/นัยยะความหมายของหนัง

เป็นอีกช็อตที่ผมต้องนำภาพเบื้องหลังมาให้รับชม เพราะฉากกลางคืนมันมืดมากๆจนมองไม่เห็นอะไร ซึ่งมีสองสามสิ่งน่าสนใจ
– ทำไม Alexander ถึงนอนตรงโซฟา? เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเขากับภรรยา คงถึงการแตกหัวไม่สามารถร่วมเตียงนอนได้อีกต่อไป
– ภาพวาดฝาผนัง มีลักษณะของ Romanticism (ผมว่ามันเด่นชัดกว่า Impressionism) สะท้อนความแห้งแล้ง มอดไหม้ ไม่หลงเหลืออะไร
– ลวดลายผนังกำแพงห้องก็เช่นกัน ดูหยาบกร้าน กระด้าง ไม่เป็นธรรมชาติเอาเสียเลย

Marta ลูกสาวแรกรุ่นจากสามีคนก่อนของ Adelaide น่าจะเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่โหยหาอิสรภาพ บุคคลนอกรีต ไม่ได้ใคร่มีความเชื่อศรัทธาศาสนาใดๆ สังเกตว่าในห้องนอนฉากนี้ เธอไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้า กล้าเดินไปมาอย่างไม่รู้สึกละอาย

การตื่นขึ้นจากฝัน และ Otto เดินทางมาหายามค่ำคืนดึกดื่น สังเกตว่าใบหน้าตัวละครปกคลุมด้วยความมืดมิดสนิท พบเห็นเพียงเงาอันเลือนลางคอยๆเดินตรงเข้ามา บรรจบกับหน้าของ Alexander พอดิบพอดี

ความมืดมิดดังกล่าวนี้ สะท้อนถึงสิ่งชั่วร้ายที่ปรากฎกายขึ้น มันต้องไม่ใช่เรื่องถูกต้องดีงาม ไม่เช่นนั้นคงต้องอาบด้วยแสงสว่างจากทั้งด้านหน้าหลัง

แต่คำพูดของ Otto บอกว่ามาด้วยข่าวดี นั่นทำให้ Alexander เดินไปจุดตะเกียงให้เกิดแสงสว่าง … ถึงกระนั้น Otto ก็เดินไปด้บ เพราะสิ่งที่เขากำลังจะพูดบอก มันหาใช่เรื่องน่ายกย่องสรรเสริญไม่

สังเกตลีลาการพูดคุยสนทนาระหว่างตัวละคร, Otto จะไม่พยายามพูดบอกออกมาตรงๆว่าจะให้ Alexander กระทำการอันใด? เพราะอะไร? เพื่ออะไร? เลี้อยเลี้ยวเคี้ยวคด อ้อมคอมไปเรื่อยๆไม่ต้องการพูด ‘คำหลัก’ นั้นออกมา แต่ความเฉลียวฉลาดของชายสูงวัย ถ้าไม่ได้รับเหตุผลอันน่าพึงพอใจ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ฉันจะต้องเปลืองตัวนั้น

คำหลักของฉากนี้คือ ‘แม่มด’ ซึ่งถือว่าอธิบายทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นกับ Maria และสร้างความตระหนักเข้าใจต่อ Alexander โดยทันที ถ้าเขาตัดสินใจเสียสละกระทำการนี้ ย่อมสามารถช่วยเหลือทุกคนให้รอดปลอดภัยผ่านพ้นเหตุการณ์ร้ายๆได้อย่างแน่นอน

ระหว่างการปั่นจักรยานไปหาแม่มด สังเกตว่าถนนหนทางมีสองเส้น (จริงๆคือล้อรถสองฝั่ง) และยังสองหลุมน้ำที่ทำให้ Alexander หยุดหักล้มลง แล้วเกิดความเฉลียวลังเลใจ นี่ฉันกำลังจะทำสิ่งถูกต้องเหมาะสมควรหรือเปล่า มีขณะหักเลี้ยวย้อนกลับชั่วครู่หนึ่ง ก่อนตัดสินใจวกกลับอีกรอบเพื่อไปต่อ

ผมค่อนข้างสนใจสองหลุมน้ำนี้อย่างมาก นึกถึงเวลาขับรถตกหล่มมันจะกระเด้งดึ๋ง ทำเอาผู้ร่วมโดยสารพูดบ่นด่ากราด ขับรถดีๆไม่เป็นหรือไง! … นี่ถือเป็นการย้ำเตือนสติคนขับ ให้ระมัดระแวดระวังภัยอันตราย นัยยะก็คล้ายๆฉากนี้ ตัวละครสะดุดล้มเลยเกิดสติครุ่นคิดทบทวนใจตนเอง อีกสักรอบก็ยังดี!

มาคล้ายๆ Solaris (1972) เลิฟซีนแบบล่องลอยชวนเพ้อฝัน แต่เรื่องนั้นไร้แรงโน้มถ่วงโลก เรื่องนี้ดูเป็นเวทย์มายากลเสียมากกว่า!

การเดินทางมาหานางแม่มด สามารถตีความได้อาการเก็บกดทางเพศของ Alexander เพราะภรรยาไม่ได้ใคร่สนใจในตัวเขาอีกแล้ว (นอนตรงโซฟา) ซึ่งเมื่อหัวค่ำตระหนักได้ถึงความรักเอาใจใส่เอ็นดูของ Maria ต่อบุตรชาย ด้วยเหตุนี้จึงจินตนาการความใคร่ ตอบสนองสะท้อนสัญชาติญาณความต้องการทางเพศที่สูญหาย

ในมุมของผู้กำกับ Tarkovsky ต้องการสะท้อนความโศกเศร้าสิ้นหวังที่คือ วิกฤตทางจิตวิญญาณ มันไม่เหมือนท้องหิวแล้วรับประทานอาหาร อาการดังกล่าวสามารถระบายออกด้วยการกระทำ หรือพฤติกรรมทางเพศ ต่อบุคคลผู้ไม่มีความเกี่ยวเนื่องใดๆกับตัวเราเลย

ผมชอบที่จะมองฉากนี้ในเชิงนามธรรมมากกว่า มันไม่จำเป็นว่าต้องคือร่วมรักหลับนอนกับนางแม่มด แต่คือการเสียสละกระทำทุกสิ่งอย่างเพื่อผู้อื่น
– Sex นัยยะทางปรัชญาไม่ใช่แค่ร่วมรักหลับนอน แต่สื่อถึง ‘การกระทำ’ อาทิ กินข้าว (มี Sex กับอาหาร), อ่านหนังสือ (มี Sex กับหนังสือ) ฯ
– การล่องลอยบนอากาศ ราวกับไม่แรงดึงดูดฉุดเหนี่ยวรั้ง สื่อถึงการไม่มีข้อจำกัด นอกกฎกรอบเกณฑ์ ไร้พันธนาการผูกมัด หรือคือทุกสิ่งอย่างสามารถกระทำได้เหนือหลักธรรมชาติ

ภาพแรกยามเช้า พบเห็น Marta ในสภาพเปลือยเปล่า กำลังวิ่งไล่ไก่ (ส่งเสียงขับขาน ปลุกให้ตื่นจากฝันร้าย) กล้องค่อยๆเคลื่อนผ่าน พบเห็น Adelaide หลบๆซ่อนๆกลัวใครเห็น (คาดว่าเมื่อคืนคงพรอดรักกับ…) และสุดท้ายคือ Alexander นอนอยู่บนโซฟา แสงสว่างค่อยๆสาดส่องเข้ามา ลืมตาลุกนั่งขึ้น พบเห็นโคมไฟตรงศีรษะสว่างจร้า … ราวกับไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้นมาก่อน

เสียงปลุกยามเช้าของ Alexander คือดนตรีญี่ปุ่นที่มีท่วงทำนองสะท้อนถึงจิตวิญญาณ สั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ ซึ่งจะพบเห็นกระจกสะท้อนใบหน้า นั่นคงคือสิ่งที่ผู้กำกับ Tarkovsky โหยหาไขว่คว้า แต่มันก็ช้าเกิดกว่าจะมีโอกาสรับเรียนรู้เข้าใจ

ผมไปอ่านเจอบทสัมภาษณ์สักแห่งหน Tarkovsky เล่าว่ามีความอิจฉาคนไทย เนปาล ทิเบต จีน (เหมารวมคือชนชาติเอเชีย) ที่มีการศึกษาทางจิตวิญญาณได้ละเอียดอ่อนลึกซึ้งมากกว่ายุโรป รัสเซีย ซึ่งนั่นอาจเข้าถึงสัจธรรมความจริงในทัศนคติของเขามากกว่าองค์ความรู้ปรัชญาตะวันตกเสียอีก!

เชื้อเพลิงคือเก้าอี้ไม้วางซ้อนๆกัน (การพักผ่อน/เพิกเฉย/ขี้เกียจคร้าน สำหรับ Alexander จบสิ้นลงแล้ว) จากนั้นจุดไฟบนผ้าสีขาว (สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา) จากนั้นลุกลามไปทั่ว พร้อมระเบิดรถ (สัญลักษณ์ของความก้าวหน้า เจริญทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ป

หลายๆช็อตช่วงนี้ ถ่ายทำจากมุมมองภายในบ้าน ซึ่งสามารถสะท้อนได้ถึงจิตวิญญาณของตัวละคร มองออกไปข้างนอกหน้าต่าง พานพบเห็นท้องทุ่งกว้างใหญ่ไพศาลของสวีเดน ช่างเต็มไปด้วยความเวิ้งว้างว่างเปล่า แทบไม่มีอะไรเลยสักอย่าง

การเผาบ้าน ถือเป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยวาง เสียสละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง เทียบได้ตรงๆต่อผู้กำกับ Tarkovsky ตัดสินใจทอดทิ้งบ้านเกิด/สหภาพโซเวียต ไม่ครุ่นคิดจะหวนกลับไปสยบแทบเท้าเผด็จการคอมมิวนิสต์อีก!

ความอลม่านของฉากนี้ เกิดขึ้นเพราะต้องถ่ายทำสองครั้ง
– ครั้งแรกบ้าบิ่นไปหน่อย ใช้กล้องเพียงตัวเดียวประสบอุบัติเหตุติดขัดระหว่างถ่ายทำ
– ใช้เวลาสร้างบ้านอีกหลัง 2 สัปดาห์ (แบบลวกๆเฉพาะภายนอก) รอบนี้ใช้กล้องสองตัวถ่ายคนละมุม พอสำเร็จเสร็จสิ้นนักแสดงต่างกรูเข้ามากอดคอร่ำร้องไห้ดีใจ

ความบ้าคลั่งของฉากนี้ ไม่ใช่แค่ Long Take แพนนิ่งไปมาโดยรอบทิศทาง แต่ยังคือนักแสดงที่ต้องเคลื่อนไหวออกเดินวิ่งให้ได้ตำแหน่งทิศทาง ตามแผนการซักซ้อมตระเตรียมไว้เปะๆ ผิดพลาดเริ่มใหม่ก็ไม่ได้ เพราะแค่ไม่กี่เสี้ยวนาทีเท่านั้น ทุกอย่างก็แทบจะกลายเป็นซากด้วยความรุนแรงของเปลวเพลิง

ล้อกับฉากแรกของ Ivan’s Childhood (1962) ช็อตจบของเรื่องนี้ คือภาพกิ่งก้านของต้นไม้ที่ตายแล้ว พื้นหลังคือท้องทะเล/มหาสมุทร ระยิบระยับด้วยแสงสว่างอรุณยามเช้า แต่กลับไร้ซึ่งกาลอนาคตข้างหน้า เพราะความเชื่อศรัทธาศาสนา จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ใกล้ถึงจุดดับสิ้นสูญ

“In the beginning was the Word. Why is that, Papa?”

คำพูดประโยคเดียวของเด็กตัวเล็ก ก่อนกล้องค่อยๆ Tilt Up ขึ้นมานี้ ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถาม มันกำลังเกิดอะไรขึ้นกับโลกขณะนั้น-นี้กันแน่? ทำไมมนุษย์ถึงลุ่มหลงใหลในวัตถุ? ลืมเลือนคุณค่าทางจิตใจไปหมดสูญสิ้น?

ตัดต่อโดย Andrei Tarkovsky และ Michał Leszczyłowski, นำเสนอเรื่องราวในมุมมองของ Alexander ปรากฎพบเห็นอยู่แทบทุกช็อตฉาก รวมถึงในความเพ้อฝันจินตนาการของตนเอง

ผู้ชมสามารถทำความเข้าใจหนังได้อย่างน้อยสองทิศทาง
– มองเป็นเส้นตรงว่าทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นจริง สงครามโลกครั้งที่สาม, ร่วมรักแม่มด, เช้าตื่นขึ้นมาทุกสิ่งอย่างหวนกลับเป็นปกติ
– การหลับฝันของ Alexander ทำให้จินตนาการถึงสงครามโลกครั้งที่สาม และร่วมรักแม่มด [ทั้ง Sequence ที่เกิดขึ้นตอนกลางคืน] ซึ่งพอเขาเช้าตื่นขึ้นมาก็หลงครุ่นคิดว่าทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นจริง

สำหรับเพลงประกอบ ส่วนใหญ่เป็นการผสมเสียง Ambian Sound เข้ากับ Sound Effect (สายลมพัด น้ำหยดไหล เพลิงมอดไหม้ ฯ) เพื่อสร้างบรรยากาศอันตึงเครียดจากความสมจริงของหนัง และบางครั้งคลอประกอบด้วย Diegetic Music ขลุ่ยญี่ปุ่นดังขึ้นจากเครื่องเล่นเพลง ฯ

Opening Song นำบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ (Passion) ชื่อ St Matthew Passion, BWV 244 (1727) ประพันธ์โดย Johann Sebastian Bach (1685 – 1750) เลือกท่อน 39. Erbarme dich, mein Gott, um meiner Zähren Willen! แปลว่า Have mercy, my God, for the sake of mankind! ท่วงทำนองเต็มไปด้วยความหดหู่ สิ้นหวัง หมดอาลัย

ในช่วงชีวิตของ Alexander คงเหมือนคนปกติทั่วไป ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อสนองความต้องการพึงพอใจส่วนตน ไม่ใครสนหัวครุ่นคิดถึงผู้อื่นใด จนกระทั่งได้แต่งงานมีลูกชายเจ้าตัวเล็ก Little Man ราวกับฟ้าประทานความรู้สึกรักเอ็นดูหวงแหน พร้อมทำทุกสิ่งอย่าง ‘เสียสละ’ เพื่อปกปักษ์คุ้มครอง ทะนุถนอมมิให้ได้รับภยันตรายร้ายแรง

ผู้กำกับ Tarkovsky นำเสนอเรื่องราวการเสียสละของ Alexander ถึงสองครั้งครา 1) ร่วมรักกับนางแม่มด เพื่อให้สงครามโลกครั้งที่สามยุติสิ้นสุดลง 2) เมื่อเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านมาเป็นจริง เลยยึดถือมั่นคำสัตย์สัญญา ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง เผาบ้านมอดไหม้วอดวาย

ซึ่งเราสามารถทำความเข้าใจหนังได้ในอีกบริบทหนึ่ง 1) เริ่มต้นที่การเสียสละทางใจ ร่วมรักนางแม่มดในความเพ้อฝัน 2) จากนั้นพิสูจน์ออกมาด้วยกระทำทางกาย ตื่นเช้าขึ้นมาเผาบ้านมอดไหม้วอดวาย

การได้สองข้อสรุปเช่นนี้ ก่อเกิดปฏิกิริยาความคิดเห็นของผู้ชม แตกต่างตรงกันข้ามเลยนะ!
– แบบแรก, การเสียสละของ Alexander แถมยังรักษาสัตย์คงมั่น สมควรได้รับการยกย่องชื่นชมถึงอุดมการณ์อันสูงส่ง
– แบบหลัง, มันคือภาพหลอนหลอกลวงตา เกิดความเข้าใจผิดสูญเสียสติ สามารถเรียกได้ว่า โศกนาฎกรรม

จริงอยู่ที่ Tarkovsky ครุ่นคิดเข้าใจว่า ‘การเสียสละ’ คือสิ่งทรงคุณค่าสูงสุดเพื่อรักษาจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ แต่การนำเสนอด้านโศกนาฎกรรมใส่เข้ามาด้วย เปรียบเสมือนมุมมองกระจกสองด้าน สะท้อนความเป็นจริงในยุคสมัยนั้น-นี้ ที่ผู้คนต่างกำลังลุ่มหลงใหลในวัตถุ(นิยม) รูปลักษณ์ เปลือกภายนอก ไม่ต่างอะไรจากตัวละคร Adelaide เมื่อบางสิ่งอย่างเลวร้ายรุนแรงเข้ามากระทบกระทั่งจิตใจ สติสตางค์สัมปชัญญะจักค่อยๆพร่าเลือนลาง ใครกันแน่ที่ดูคลุ้มบ้าคลั่งจนมิอาจควบคุมตนเองได้!

“If I believe that our civilisation will die of its material progress, it is not because of the physical consequences but rather because of what will happen to our spiritual beings.

Look at Sweden. for instance, no spiritual life, no interest in anything. They have everything they could ever want, and yet they are empty. This notion that everyone is equal: the baker. the publican, the film-maker, all of them equal in the sight of the tax collector, etc…. That’s why Baergman left.

– Andrei Tarkovsky

The Sacrifice จบลงด้วยการอุทิศให้แก่ลูกชาย Andrejusja Tarkovsky ด้วยความหวังและเชื่อมั่น เพราะขณะนั้นยังถูกห้ามไม่ให้ออกนอกประเทศ จึงไม่มีโอกาสพบเจอกันตลอดการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้

ช่วงปลายปี 1985, Tarkovsky ระหว่างกำลังตัดต่อ The Sacrifice เจ็บแน่นหน้าอกเลยไปให้หมอตรวจ ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายไม่มีทางรักษาหาย ใช้เวลาที่เหลือสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายให้เสร็จสิ้น จดบันทึกข้อความสุดท้ายในไดอารี่ส่วนตัว

“But now I have no strength left – that is the problem”.

สิ้นมหายใจ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1986 สิริอายุ 54 ปี


ฉายรอบปฐมทัศน์เทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ามา 4 รางวัล
– Grand Prize (ที่สอง)
– FIPRESCI Prize (รางวัลนักวิจารณ์)
– Prize of the Ecumenical Jury (รางวัลส่งเสริมมนุษยธรรม มอบโดยขบวนการคริสตชนโรมันคาทอลิก SIGNIS)
– Best Artistic Contribution (มอบให้กับตากล้อง Sven Nykvist)

เรื่องที่คว้า Palme d’Or ปีนั้นคือ The Mission (1986) ของผู้กำกับ Roland Joffé แนวโน้มอาจด้วยเหตุผลเดียวกับ Nostalghia (1983) ที่ทางการสหภาพโซเวียต พยายามล็อบบี้คณะกรรมการไม่ให้มอบรางวัลใหญ่แก่ Andrei Tarkovsky ถือเป็นความน่าเสียดายอย่างยิ่งยวดจริงๆ

นอกจากนี้หนังยังได้เป็นตัวแทนประเทศสวีเดน
– คว้ารางวัล BAFTA Award: Best Foreign Language Film
– และตัวแทนประเทศส่งลุ้นรางวัล Oscar แต่ไม่ผ่านรอบคัดเลือก

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังอย่างมาก โคตรฟินไปกับงานภาพสวยๆ เนื้อหาซับซ้อนแฝงปรัชญา และโคตรไดเรคชั่นผู้กำกับ Andrei Tarkovsky แม้ไร้สาระไปบ้างแต่งดงามตราตรึง สมบูรณ์แบบ

แนะนำคอหนัง Art House หลงใหลในความเชื่องช้า Slow Movie, นักบวช นักปรัชญา ครุ่นคิดหานัยยะความหมาย อ้างอิงศาสนา, ทิวทัศน์ ถ่ายภาพสวยๆของ Sven Nykvist, และแฟนๆผู้กำกับ Andrei Tarkovsky ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

จัดเรต 15+ กับความเชื่องช้า ความมืดหมองหม่น การกระทำที่เหมือนคนบ้าโรคจิต

คำโปรย | Offret คือบทสรุปสิ่งงดงามทรงคุณค่าสูงสุดในชีวิตผู้กำกับ Andrei Tarkovsky ค้นพบได้ด้วยจิตวิญญาณ 
คุณภาพ | 
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: