Oh, Sport - You Are Peace!

Oh, Sport – You Are Peace! (1982) USSR : Yuri Ozerov ♥♥♥♥♡

ถึงอุดมการณ์ของ Olympic จะบอกว่า กีฬาไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ในยุคสงครามเย็น มันคงเป็นไปไม่ได้ที่อเมริกาจะส่งนักกีฬาของตนเข้าร่วมแข่งขัน 1980 Summer Olympics ที่ Moscow, Soviet Union แต่การ boycott ครั้งนี้ของอเมริกา (และประเทศไทย) ถือว่าพลาดมากๆ เพราะนี่ถือเป็นโอลิมปิกครั้งที่ยอดเยี่ยมที่สุด มีพิธีเปิดสวยงามที่สุด ก่อนการมาของ 2008 Beijing Olympics, China “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

กับหนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน เพราะผลพวงจากสงครามเย็น ทำให้หนังไม่เคยถูกกล่าวถึงเลย จากอเมริกาและทั่วโลก, ในปีนั้น หนังเป็นตัวแทนของ Russia ส่งเข้าชิง Oscar สาขา Best Foreign Language Film แต่ไม่ได้เข้ารอบใดๆ (คาดว่าคงถูก boycott เต็มๆ) สวนทางกับคุณภาพที่ทำเอาผมขนลุก น้ำตาคลอ สุขทุกข์กับหนังได้ตลอดทั้งเรื่อง, สารคดีบันทึกภาพการแข่งขันกีฬา Olympic นับจาก Olympia (1938) ก็มีเรื่องนี้แหละที่ผมปรบมือให้หลังดูจบ เป็นหนึ่งในหนังที่ประทับใจมากๆ มีความสวยงามที่ยากจะลืมเลือน

ถือว่าโชคดีสุดๆ ที่มีคนอัพโหลดหนังเรื่องนี้ขึ้น Youtube และมีเสียงบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ใครๆก็สามารถเข้าใจหนังทั้งเรื่องได้, เหตุผลที่ผมจัดหนังเรื่องนี้ ‘ต้องดูให้ได้ก่อนตาย’ ทั้งๆที่ก็มีหนังแนวนี้มากมายหลายเรื่องดีๆ อย่าง Olympia (1938) ที่ถือว่าสุดยอดมากเรื่องเทคนิค แต่ผมก็ไม่ได้จัดให้ต้องดูก่อนตาย, หนังเรื่องนี้มีสิ่งหนึ่งที่หนังเรื่องอื่นไม่มี คือ ทำให้ผมตระหนักถึง ‘คุณค่า’ ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก! หนังไม่ได้แค่เอากีฬา นำการแข่งขันมาเรียงๆต่อกัน ใส่โน่นนี่เข้าไป หรือมีเทคนิคตระการตา แต่หนังมีการเล่าถึงต้นสายปลายเหตุ ทำไมถึงมีกีฬาชนิดต่างๆนี้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ต้นกำเนิดคืออะไร? จุดเริ่มต้นมาจากไหน? นี่ไม่เพียงแค่ให้ความรู้เท่านั้น แต่ทำให้เราเข้าใจ เห็น ‘คุณค่า’ ความสำคัญและความหมายของห่วงห้าอันที่ซ้อนทับกัน และกับชื่อหนัง Oh, Sport! You are Peace! โอ้มันช่างตรงเหลือเกิน สันติสุข ทำไมหลายประเทศในตอนนั้นถึงมองไม่เห็นกันนะ!

ผมคิดว่าอเมริกาเคยมีบทเรียนหนึ่งตอน 1936 Berlin Summer Olympics โดยไม่รู้ตัว มันเหมือนว่าการไม่ได้ boycott ครั้งนั้น สร้างความขัดแย้งภายในเกิดขึ้นอย่างมาก เพราะ Nazi กลายเป็นชนวนสำคัญที่ก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง, สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ถึงปี 1980 คงจะกดดันคณะกรรมการรุ่นใหม่ ให้ตระหนักถึงสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับ Soviet Union ว่าอาจจะส่งผลให้เกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้, ผมเชื่อว่าอเมริกาอาจหาเรื่องไม่ไปโอลิมปิกมาตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ใช่จากชนวน Soviet ทำสงครามกับ Afghanistan หรอกนะครับ ซึ่งปธน. อเมริกาขณะนั้น Jimmy Carter ก็สามารถหว่านล้อมได้อีกกว่า 65 ประเทศทั่วโลกร่วม Boycott ไม่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ รวมถึงประเทศไทยด้วย (ปีนั้นตรงกับสมัยนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์) ดูชื่อนายกก็น่าจะชัดนะครับ กับเหตุผลว่าทำไมไทยถึงไม่ไปโอลิมปิกครั้งนี้

แต่การ Boycott ของบางประเทศ ไม่ได้ห้ามนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน ทำให้มีหลายคนเลือกที่จะเดินทางไป Moscows ด้วยตัวเอง ไม่ขอเสียโอกาสที่ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันโอลิมปิก เพราะพวกเขามองโอกาสที่จะได้ไปแข่งโอลิมปิกมันไม่ใช่ง่าย 4 ปีมีครั้ง ใช่ว่าครั้งหน้าตนจะพร้อม หรือมีแรงกายแรงใจอยู่เท่าตอนนี้, คณะกรรมการโอลิมปิกได้อนุญาติให้พวกเขาร่วมแข่งขันได้เป็นกรณีพิเศษ ในธง Olympic Flag, ตัดอเมริกาไปที่ไม่มีนักกีฬากล้าเข้าร่วม ก็มี Italy, France, Great Britain, Australia, Denmark, Switzerland, Spain, Belgium ฯ ที่นักกีฬาสามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ ทั้งๆที่ประเทศตนเอง boycott การแข่งขัน

Yuri Ozerov ผู้กำกับสัญชาติรัสเซีย รุ่นเดียวกับ Aleksandr Alov, Marlen Khutsiev และ Sergei Parajanov, มีผลงานดังระดับนานาชาติ อาทิ Vision of Eight (1974) ที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในแปด ผู้กำกับสารคดีโอลิมปิก 1972 Munich Summer Olympics, พอถึงครา Moscow เป็นเจ้าภาพในอีก 8 ปีถัดมา Ozerov ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมงานสร้างหนังทั้งหมด ซึ่งเขาถ่ายทอดออกมาเป็นหนังถึง 4 เรื่อง ประกอบด้วย Ballad of Sport, Farewell to the Olympics, The Olympic Holidays และ O, Sport – You Are Peace! แต่มีที่สามารถหาดูได้ในอินเตอร์เน็ตแค่เรื่องเดียวเท่านั้น

Ozerov ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับขวัญใจชาวรัสเซีย เขาได้รับรางวัล People’s Artist of the USSR ในปี 1977 จากทุกความสำเร็จในการทำหนัง, ในปีเดียวกัน ก็มีโอกาสได้เป็นหนึ่งในกรรมการเทศกาลหนังเมือง Cannes และเทศกาลหนังนานาชาติ Moscow, หนังเรื่อง O, Sport – You Are Peace! ทำให้เขาได้รางวัล State Prize of the USSR เทียบได้กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์บ้านเรานะครับ

เริ่มเรื่องด้วยแอนิเมชั่น 2 มิติ วาดโดย Fyodor Khitruk ผู้เคยได้รางวัล Special Jury Prize (สำหรับหนังสั้น) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, แอนิเมชั่นในหนังเรื่องนี้ มีเพื่อบอกเล่าเรื่องราวในยุคสมัยก่อน ถึงการเกิดขึ้นของโอลิมปิก กีฬาประเภทต่างๆ เกิดขึ้น มีที่มา มีความสำคัญอย่างไร, นี่เป็นส่วนที่ผมชอบมากๆ และตั้งหน้าตั้งตาคอยว่าเมื่อไหร่เจ้าตัวการ์ตูนหน้าตาประหลาดๆนี้จะโผล่ออกมาอีก คืออนิเมชั่นมันก็ไม่ได้ทำให้มีความสวยงามอะไร แต่มีความ ‘กรีก’ ลักษณะเสียดสีล้อเลียนให้ดูตลก (นี่เป็นแนวของ Khitruk ด้วยนะครับ)

ถ่ายภาพโดย Nikolay Olonovskiy, Lev Maksimov, Mikhail Oshurkov และอีก 102 ตากล้อง (ได้ยินมาจากเสียงบรรยายภาษาอังกฤษ) ถ้าคุณดูหนังแนวสารคดีโอลิมปิกมาหลายเรื่อง ก็จะพบว่าแทบไม่มีอะไรใหม่เลยสำหรับหนังเรื่องนี้ แทบทุกมุมกล้อง การเคลื่อนไหว ล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่เคยเห็นมาก่อน แค่เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนเวลาเท่านั้น, กระนั้นมันก็มีเหตุการณ์ที่หนังเรื่องนี้บันทึกเป็นครั้งแรก คือ การแสดงพิธีเปิดและพิธีปิด, ผมไม่รู้ว่าการแสดงเปิดปิดโอลิมปิกเริ่มต้นมาตั้งแต่ตอนจัดครั้งแรกเลยหรือเปล่า ซึ่งหนังสารคดีโอลิมปิกทั้งหลายที่ผมดูมา ก่อนหน้านี้จะมีแค่ ออกวิ่งจาก Greece, ขบวนพาเรดนานาชาติเดินเข้าสู่สนาม, คำปฎิญาณของนักกีฬา และจุดกระถางคบเพลิง จบแล้วก็จะตัดไปการแข่งขันกีฬาเลย ไม่มีบันทึกภาพการแสดงพิธีเปิด/ปิด, นี่ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกภาพการแสดงพิธีเปิด/ปิด โอลิมปิก

หลังจาก Tokyo Olympiad หนังแนวสารคดีโอลิมปิก ก็เริ่มที่จะนำเสนอมุมมองอื่นนอกจากการแข่งขันมากขึ้น, สำหรับหนังเรื่องนำเสนอกิจกรรมยามราตรีที่ช่วยผ่อนคลายให้กับนักกีฬา สิ่งบันเทิงก็มีหลากหลายมาก ตั้งแต่การร้องเล่นเต้นข้างถนน, การแสดงบัลเล่ต์, ดนตรีคลาสสิก, การแสดงพื้นบ้าน, คาบาเร่, ละครสัตว์ (นี่ก็เซอร์ไพรส์มากๆ ห้ามกระพริบตาเชียว)

ไฮไลท์ของหนังอยู่ที่การแสดงพิธีเปิด/ปิดโอลิมปิก เราจะเห็นการแสดงที่ ‘ขายวัฒนธรรม’ ล้วนๆของ USSR ไม่ใช่แค่ Russia นะครับ แต่รวมถึงประเทศในเครือสหภาพ Soviet ด้วย (ผมสังเกตจากชุดการแต่งกายที่หลากหลายมากๆ ไม่น่าจะแค่ของ Russia อย่างเดียวแน่ๆ), การแปรอักษรก็ถือว่าไม่ธรรมดาเช่นกัน มีเซอร์ไพรส์ตอนจุดคบเพลิงด้วย คาดไม่ถึงเลยว่าจะกล้าทำแบบนี้, สำหรับการแสดงที่ผมประทับใจสุดๆ เป็นตอนพิธีปิด มาสคอตการแข่งขัน Misha ชื่อหมีสีน้ำตาล (ถ้าเป็นตัวผู้จะชื่อ Mikhail/Michael) ตอน Misha ไซส์ลูกโป่งยักษ์เดินออกมา มันใหญ่มากๆ และตอนจบ จะปล่อย Misha ให้ล่องลอยไป เปรียบเสมือนการปลดปล่อย ร่ำลา สิ้นสุด, หนังตัดให้เราเห็นภาพของผู้ชมที่สุขเศร้าเคล้าน้ำตา โบกมือร่ำลาลาหมี Misha ลาก่อน Moscow Olympic พบกันใหม่ครั้งหน้า จบแบบนี้สร้างความประทับใจให้ผมได้มากกว่าหนังสารคดีโอลิมปิกเรื่องไหนๆที่ดูมาอีก

เพลงประกอบโดย Alexandra Pahkmutova, มีเพลงเพราะๆมากมาย หลากหลายอารมณ์ ทั้งคลาสสิก, Pop, Rock, เพลงพื้นบ้าน ฯ เพลงประกอบเน้นการสร้างอารมณ์ร่วม ด้วยทำนองสากลที่ถึงฟังภาษา Russian ไม่รู้เรื่อง ก็สามารถสัมผัสความรู้สึกของอารมณ์เพลงได้ นี่ถือว่าปฏิวัติเพลงประกอบหนังสารคดีโอลิมปิกเลยนะครับ ทุกเรื่องที่ผมดูมาแล้ว จะเน้นแค่สร้างบรรยากาศเท่านั้น ไม่ได้สร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชม มีตื่นเต้นเร้าใจลุ้นระทึก แต่ไม่เคยมีสุขทุกข์เศร้าประทับใจ, ผมเลือกเพลง Good Bye, Moscow ร้องโดย Lev Leshchenko มาให้ฟังนะครับ นี่เป็นเพลงที่อยู่ในพิธีปิด ถึงจะไม่เข้าใจความหมาย แต่ฟังแล้วจะรู้สึกถึงการจากลา ออกเศร้าๆ

ถึงผมจะยังไม่ได้ดูพิธีเปิด/ปิดโอลิมปิกครบทุกครั้ง แต่คิดว่า 1980 Moscow Olympics น่าจะสวยงามและยิ่งใหญ่อลังการที่สุด จนการมาถึงของ 2008 Beijing Olympics (เว้นตอนจุดกระถางคบเพลิงตอน 1992 Barcelona Olympics ไว้ ที่ใช้การยิงธนูสู่กระถาง ครั้งนั้นน่าจะเป็นการจุดคบเพลิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว)

ความตั้งใจจริงของหนังเรื่องนี้ เราสามารถมองได้ว่าเป็นการตอบโต้อเมริกาที่ boycott การแข่งขัน เพราะเหตุผลแรกสุด จุดกำเนิดของกีฬาโอลิมปิก นั้นเพื่อยุติข้อขัดแย้งทั้งหมด จับมือกันสู่สันติสุข (มีอธิบายในอนิเมชั่นของหนัง) แต่อเมริกากลับใช้ข้ออ้าง เพื่อต่อต้านไม่เข้าร่วมการแข่งขัน นี่ถือว่าเป็นการกระทำที่ชั่วร้าย ยิ่งเสียกว่าครั้งที่โอลิมปิกจัดไม่ได้อีก (มีครั้งที่จัดโอลิมปิกไม่ได้ 3 ครั้งเพราะสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2), กับคนที่ผ่านโอลิมปิกทั้ง 1980 Moscow และ 1984 Los Angeles แทบทุกคนจะพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า Moscow ยอดเยี่ยมที่สุดและ Los Angeles ห่วยแตกที่สุด

เกร็ด: ตอน 1984 Los Angeles เห็นว่า USSR และอีกหลายประเทศ (ที่เป็นคอมมิวนิสต์) ร่วม boycott ไม่เข้าร่วมการแข่งขัน นี่เป็นการตอบโต้ของ USSR ที่พอจะเข้าใจได้นะครับ แต่ผมก็มองว่าไร้สาระพอๆกันเลย

เป็นอีกครั้งที่ผมค้นพบเพชรแท้ แอบซ่อนอยู่ในที่ไม่มีใครสนใจ น่าเห็นใจแทนหนังของ Russian/German ที่มักถูกมองข้ามจากนักวิจารณ์และนักดูหนังมากๆ โดยเฉพาะอเมริกาเพราะเป็นประเทศคู่อริ ที่มักอยู่ขั้วตรงข้ามกันเสมอ ถ้ามีโอกาสนี่เป็นหนังที่ผมแนะนำอย่างยิ่งเลยนะครับ

แนะนำกับคอกีฬา มีนักกีฬาดังๆที่เชื่อว่าหลายคนเกิดทันและรู้จัก, คนที่ชื่นชอบหนังขายวัฒนธรรม, แนะนำอย่างยิ่งโดยเฉพาะผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ คนจัดงานทั้งหลาย และสายการแสดง พิธีเปิด/ปิดโอลิมปิกครั้งนี้สวยอลังการมากๆ และการแปรอักษรไม่ธรรมดาเลย!

จัดเรตทั่วไป เหมาะกับนั่งดูกันทั้งครอบครัว

TAGLINE | “Oh Sport – You Are Peace! เป็นหนังสารคดีโอลิมปิกที่ยอดเยี่ยมที่สุด นับจาก Olympia (1938) ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Best of Olympics Films | RAREMEAT BLOG Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] Oh, Sport – You Are Peace! (1982)  : Yuri […]

%d bloggers like this: