Okja

Okja (2017) hollywood : Bong Joon-ho ♥♥♥♡

หมูยักษ์ (Super Pig) ถูกครุ่นคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาอาหารขาดแคลน แต่กลับถูกตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสมทางจิตสำนึก มโนธรรม ทั้งๆที่บรรดาพวกเรียกร้องเหล่านั้น ก็มักรับประทานเนื้อสัตว์เป็นประจำอยู่แล้ว แบบนี้ไม่ใช่ ‘ปากว่าตาขยิบ’ หรอกหรือ?

เมื่อครั้นพุทธกาล พระเทวทัตและบริษัทเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลขอวัตถุ ๕ ประการ เพื่อให้เห็นว่าตนเคร่งครัด

  1. ให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ป่าตลอดชีวิต เข้าสู่บ้านมีโทษ
  2. ให้ถือบิณฑบาตตลอดชีวิต รับนิมนต์มีโทษ
  3. ให้ถือผ้าบังสกุลตลอดชีวิต รับคหบดีจีวรมีโทษ
  4. ให้อยู่โคนไม้ตลอดชีวิต เข้าสู่ที่มุงที่บังมีโทษ
  5. ห้ามฉันเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต ฉันเข้ามีโทษ

แต่พระพุทธเจ้าทรงบอกปัดปฏิเสธ รับสั่งว่า

“อย่าเลย เทวทัต ภิกษุใดปรารถนา ภิกษุนั้นจงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงอยู่ในบ้าน รูปใดปรารถนา จงถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีกิจนิมนต์ รูปใดปรารถนา จงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีคหบดีจีวร เราอนุญาตโคนไม้เป็นเสนาสนะ ๘ เดือน เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ”

– พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒
http://www.84000.org/tipitaka/book/v.php?B=7&A=3770&Z=3863

ในอามคันธสูตร ได้มีการกล่าวถึงดาบสพวกหนึ่งที่ถือว่า ปลาและเนื้อเป็นกลิ่นดิบไม่สมควรบริโภค แต่พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบอย่างคมคาย

“ปลาและเนื้อไม่ใช่กลิ่นดิบ แต่กิเลสทั้งปวงที่เป็นบาปเป็นอกุศลต่างหาก ชื่อว่าเป็นกลิ่นดิบ”

– พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย
http://www.84000.org/tipitaka/book/v.php?B=25&A=7747&Z=7809

เอาจริงๆเราไม่ควรเสียเวลามาถกเถียงด้วยซ้ำว่า การกินเนื้อนั้นบาป-ไม่บาป หรือรับประทานมังสวิรัติแล้วจะสามารถยกระดับคุณธรรมศีลธรรมประจำใจ เพราะคนจะดี-ชั่วหาได้เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของอาหารแม้แต่น้อย เว้นเสียแต่ถ้าคุณลงมือเข่นฆ่า หรือเจ้าของธุรกิจดังกล่าว ผิดศีลข้อ ๑ ปาณาติบาต การันตีว่าจะหวนกลับมาเกิดเป็นสัตว์ประเภทนั้น แล้วถูกย้อนแย้งกระทำอย่างเดียวกันแน่นอน

รับชม Okja ทำให้ผมนึกถึงหมูตัวหนึ่งในมังงะ/อนิเมะเรื่อง Gin no Saji (Silver Spoon) ที่พระเอกเคยเลี้ยงดูแล ขุนให้มันอ้วนพีสมวัย จนเมื่อถึงเวลาอายุขัย ร่ำลาพาขึ้นรถส่งโรงฆ่า และได้รับกลับมากลายเป็นเนื้อสัตว์ จับจ้องมองเบคอนปิ้งย่าง กลืนน้ำลาย คนส่วนใหญ่คงรับประทานไม่ลงแต่…

เรื่องพรรค์นี้แล้วแต่ตัวคุณเองนะครับ จะมีมุมมองเกี่ยวกับการรับประทานเนื้อสัตว์ โรงฆ่า ธุรกิจอาหารเช่นไร? ซึ่งสิ่งที่ผู้กำกับ Bong Joon-ho ต้องการนำเสนอออกมา ไม่ใช่เรียกร้องให้ผู้ชมปรับเปลี่ยนแปลงวิถีการกินมาเป็นมังสวิรัติ ขอแค่ตระหนักถึงที่มาที่ไปของมื้ออาหารตรงหน้า ถ้ายังจะกินลงก็แล้วแต่ ไม่ก็ครุ่นคิดต่อเองว่าจะทำอะไร

“I don’t expect the entire audience to convert to veganism after watching the film. If you consider it, even the protagonist Mija – her favourite food is chicken stew in the film. I don’t have a problem with meat consumption itself, but I do want my audience to consider, at least once, where the food on their plate comes from. And, if one is to do that, I believe the level of meat consumption will gradually decline”.

– Bong Joon-ho


Bong Joon-ho (เกิดปี 1969) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี เกิดที่ Daegu ปู่ทวดคือนักเขียนชื่อดัง บิดาประกอบอาชีพ Graphic Designer ตัวเขาลูกคนกลาง อยากที่จะเป็นผู้กำกับตั้งแต่มีโอกาสรับชม The Wages of Fear (1953) แต่ครอบครัวไม่อนุญาต เลยจำต้องเข้าเรียนคณะสังคมศาสตร์ Yonsei University แต่ก็เอาเวลาว่างไปดูหนัง ชื่นชอบโปรดปรานผลงานของผู้กำกับ Edward Yang, Hou Hsiao-hsien และ Shohei Imamura

เมื่อเรียนจบมหาลัยก็ไม่จำเป็นต้องง้อใครอีก ทำงานหาเงินเป็นติวเตอร์เพื่อเข้าศึกษาต่อ Korean Academy of Film Arts จากนั้นช่วงงานเบื้องหลัง จนกระทั่งได้เครดิตเขียนบท Seven Reasons Why Beer is Better Than a Lover (1996), ผู้ช่วยกำกับ Motel Cactus (1997), Phantom: The Submarine (1999), ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Barking Dogs Never Bite (2000) และแจ้งเกิดโด่งดังกับ Memories of Murder (2001)

“In The Host, the monster is a complete fantasy. It’s fictional, it’s science fiction. However, although the super-pig phenomenon may be fiction at the moment, it’s very close to being a reality”.

จุดเริ่มต้นของ Okja มาจากบทความข่าวที่ผู้กำกับ Bong Joon-ho ได้อ่านจากหน้าหนังสือพิมพ์ กล่าวถึง GM Salmon (Genetically Modified) ซึ่งมีการดัดแปลงพันธุกรรม แถมยังได้รับอนุญาตจาก FDA (Food and Drug Administration) กำลังตระเตรียมวางแผนจัดจำหน่ายขายทอดตลาดในอีกไม่ช้านาน

“In Canada, they already made some kind of GM salmon. It’s already gotten FDA approval. They are starting to very carefully distribute it in the market. In the process of researching the film, I met and interviewed a PhD student who is developing a GM pig. So, Okja is real. It’s actually happening. That’s why I rushed making Okja, because the real product is coming”.

หลังจากพัฒนาบทร่างแรกเสร็จ ส่งต่อให้ Jon Ronson นักข่าว/ผู้กำกับสารคดี สัญชาติ Welsh ร่วมกันขัดเกลาเนื้อหา และช่วยแปลทุกสิ่งอย่างเป็นภาษาอังกฤษ (แบบเดียวกับ Snowpiercer ที่ได้ Kelly Masterson มาร่วมงาน)

Bong Joon-ho ส่งบทหนังไปให้สตูดิโอใหญ่ๆทั้งในเกาหลีใต้และ Hollywood แต่ทั้งนั้นมักตอบกลับด้วยข้อแม้ บางมุมมองอยากให้ตัดออก (โดยเฉพาะฉากในโรงฆ่า) จนกระทั่งมาถึง Netflix

“However, Netflix were fully supportive of the budget and the script and every other aspect of the filmmaking itself. I wasn’t hesitant in choosing Netflix”.

เริ่มต้นปี 2007, เมื่อ(อ้างว่า)นักสิ่งแวดล้อม Lucy Mirando (รับบทโดย Tilda Swinton) ขึ้นมาเป็น CEO ของ Mirando Corporation พัฒนาโปรเจคชื่อ ‘Super Pig’ (อ้างว่า)ค้นพบหมูกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ มีขนาดใหญ่กว่าปกติหลายเท่าตัว เพื่อให้สามารถเติบโตได้เองตามธรรมชาติ เลยจัดส่งแม่พันธุ์ 26 ตัว สู่ปศุสัตว์จากทั่วทุกมุมโลก โดยคาดหวังว่าอีกสิบปีต่อจากนี้ จักค้นพบหมูยักษ์มีความสมบูรณ์แบบที่สุด

ปี 2017, เด็กหญิง Mija (รับบทโดย Ahn Seo-hyun) อาศัยอยู่กับปู่และหมูยักษ์ชื่อ Okja ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร ห่างไกลจากชุมชนเมือง วันๆวิ่งเล่นเที่ยวเตร่ตามธรรมชาติ ทำให้มันมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ที่สุด (ในบรรดาหมู 26 ตัว) ซึ่งเมื่อ Dr. Johnny Wilcox (รับบทโดย Jake Gyllenhaal) เดินทางมาพบเห็นเข้า ต้องการนำพาให้หวนกลับสู่สหรัฐอเมริกา นั่นเองทำให้เรื่องวุ่นๆบังเกิดขึ้น เพราะ Mija ไม่ยินยอมพร้อมใจพลัดพรากจากเพื่อนสุดที่รัก ซึ่งระหว่างกำลังทางได้รับการช่วยเหลือจาก ALF (Animal Liberation Front) นำโดย Jay (รับบทโดย Paul Dano) ต้องการปลดแอกสรรพสัตว์ที่กำลังถูกส่งไปเข้าโรงฆ่า แต่เหมือนว่าหมอนี่จะพึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่


นำแสดงโดย Katherine Matilda Swinton (เกิดปี 1960) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ London พ่อเป็นทหารบกยศพลตรี ตอนเด็กเรียนร่วมห้องกับว่าที่เจ้าหญิงแห่งเวลส์ Diana Frances Spencer, โตขึ้นศึกษาต่อยัง New Hall (ปัจจุบันคือ Murray Edwards College) ณ University of Cambridge สาขาสังคมและรัฐศาสตร์ ให้ความสนใจเลือกเข้าฝั่งพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อมาสังกัด Scottish Socialist Party, ความสนใจด้านการแสดงในรั้วมหาวิทยาลัย หลังเรียนจบเลือกเข้าร่วม Royal Shakespeare Company กลายเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วยมินิซีรีย์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Caravaggio (1986), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Edward II (1991) คว้ารางวัล Volpi Cup for Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Venice, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Beach (2000), Vanilla Sky (2001), The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe (2005), Michael Clayton (2007)**คว้า Oscar: Best Supporting Actress, Burn After Reading (2008), Doctor Strange (2016) ฯ

Lucy Mirando แฝดคนน้องที่เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็น CEO บริษัท Mirando Corporation เป็นคน(อ้างว่า)รักธรรมชาติ แต่แต่งกายด้วยชุดเลิศหรูมีสไตล์ เก่งเรื่องวิวาทะชวนเพ้อฝัน จินตนาการบรรเจิดถึงโปรเจค ‘Super Pig’ แต่ไม่เคยครุ่นคิดถึงอุปสรรค พอประสบปัญหาเลยมิอาจหาหนทางแก้ไข และจิตใจเต็มไปด้วยความหวาดระแวง อคติต่อ Nancy เหมือนว่าต้องการพิสูจน์ตนเอง เรียกร้องความสนใจ โหยหาความรักจากทั้งมนุษย์และสรรพสัตว์

Nancy Mirando แฝดคนพี่ที่เพิ่งถูกฉุดคร่าลงจากตำแหน่ง CEO เพราะได้กระทำสิ่งเหี้ยมโหดร้ายทอดทิ้งไว้ให้สังคม ตัวเธอเต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งผยอง จองหอง เห็นแก่ตัว สนเพียงผลประโยชน์ ธุรกิจ กำไร ไร้ซึ่งศีลธรรมมโนธรรมประจำใจ, ช่วงท้ายหวนกลับมาพานพบเจอ Lucy อาสาแก้ไขปัญหาทุกสิ่งอย่างให้ แต่ด้วยคำพูดเสียดสี แดกดัน ประชดประชัน เจอเข้าแบบฉันบ้างรู้สึกตัวหรือยัง

เกร็ด: ผู้กำกับ Bong Joon-ho ให้สัมภาษณ์สาเหตุที่เลือกตัวละครแฝดพี่น้อง เพราะต้องการเคารพคารวะแฝดแม่มดจาก Spirited Away (2001)

ผมพบเห็นความสนุกสนานในหน้ากากการแสดงของ Swinton ที่ไม่ว่าจะรับบทบาทไหน ต่างเต็มที่สุดเหวี่ยง ‘เกินจริง’ เหนือจินตนาการ เห็นว่าได้แรงบันดาลใจจากความสะดีดสะดิ้งของ Ivanka Trump และภาพลักษณ์ CEO ของ Marissa Mayer แต่ผู้ชมอาจไม่บันเทิงรมณ์ไปกับเธอขนาดนั้น เพราะได้ก้าวข้ามผ่านความเพียงพอดี เพ้อคลั่งหลุดโลก มากๆเกินเลยเถิด


Ahn Seo-hyun (เกิดปี 2004) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Suwon เข้าสู่วงการตั้งแต่อายุ 4 ขวบ เริ่มจากแสดงซีรีย์ มีชื่อเสียงจากบทสมทบ The Housemaid (2010), Monster (2014), และแจ้งเกิดโด่งดังกับ Okja (2017)

รับบท Mija เด็กสาวที่สูญเสียพ่อ-แม่ อาศัยอยู่กับปู่ท่ามกลางขุนเขาพงไพร มีเพื่อนสนิทหนึ่งเดียวคือ Okja เลี้ยงดูแลกันมาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ เกิดสายสัมพันธ์ชิดเชื้อ ไม่สามารถพลัดพรากจากกันได้ แต่เมื่อถูกลักขโมยให้ต้องพลัดพรากจากไป พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อทวงคืนเพื่อนรักกลับคืนมา

ตอนที่หนังเปิดรับสมัครนักแสดง Ahn Seo-hyun ขณะนั้นเว้นว่างจากการแสดงเลยสมัครเข้ามาดู ไม่ได้คาดหวังอะไร แค่อยากพบเจอพูดคุยผู้กำกับ … กระทั่งว่า Bong Joon-ho ได้รับชมภาพยนตร์ Monster (2014) เกิดความชื่นชอบประทับใจ เลยมีโอกาสสนทนากันหลายครั้งในรอบสิบเดือน และตัดสินใจเลือกเธอจากผู้สมัครกว่า 2,100+ คน

“She had her own perspective, and we shared the same views about her character. Ms. Ahn may be young, but she but has a very strong sense of self”.

– Bong Joon-ho

ดวงตาของ Ahn Seo-hyun ไม่เพียงอ่อนเยาว์วัยบริสุทธิ์สดใส แต่ยังเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เมื่อปรารถนาสิ่งใดก็ปฏิเสธไม่ต้องการอะไรอื่น นั่นเองทำให้มิตรภาพแม้กับเพื่อนในจินตนาการ (ตอนถ่ายทำเห็นแค่หุ่น/โมเดลเท่านั้น) ช่างมีความแนบแน่น ลึกซึ้ง พอพลัดพรากจากก็เจ็บปวดรวดร้าว ทรมานแสนสาหัส

ฉากยากสุดและยอดเยี่ยมที่สุดของ Ahn Seo-hyun คือการแบกอารมณ์ขณะเดินเข้าไปในโรงฆ่าสัตว์ ทั้งหมดคือภาพจริงๆ(ไม่ใช่ CG) เธอเองก็เพิ่งอายุ 13-14 ปี มันเลยกลายเป็นภาพติดตาติดใจ

“It was surprisingly hard, and I carried that heavy emotion during and after [that scene] whenever I pass factories or markets”.

– Ahn Seo-hyun


Jacob Benjamin Gyllenhaal (เกิดปี 1980) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Los Angeles, California ตระกูล Gyllenhaal สืบเชื้อสายราชวงศ์ Kingdom of Sweden แม่ทำงานเป็นโปรดิวเซอร์/นักเขียนบท Naomi Foner ส่วนพ่อคือผู้กำกับ Stephen Gyllenhaal และมีพี่สาว Maggie Gyllenhaal เป็นนักแสดงเช่นกัน เติบโตในครอบครัวที่ให้อิสระและส่งเสริมความสนใจด้านงานศิลปะ, เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงเด็กในเรื่อง City Slickers (1991) เดินตามหลังพี่สาวเข้าเรียน Columbia University สาขาปรัชญาตะวันออก แต่ไม่ทันจบลาออกมาทุ่มเทให้กับการแสดง เริ่มมีชื่อเสียงจาก Rocket Boys (1999), Donnie Darko (2001), Brokeback Mountain (2005), Prisoners (2013), Nightcrawler (2014), Stronger (2017) ฯ

รับบท Dr. Johnny Wilcox ผู้จัดรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับสัตว์ เป็นหน้าเป็นตา/หุ่นเชิดชักของบริษัท Mirando Corporation ด้วยภาพลักษณ์สะดีดสะดิ้ง แต๋วแตก ชายไม่ใช่ หญิงไม่เชิง เมื่อถูกเจ้านายกดหัว เลยพยายามโต้ตอบเอาคืน ทำร้าย Okja เอาเนื้อบางส่วนมาย่างกินรับประทาน

ผมไม่อะไรเท่าไหร่กับ Tilda Swinton เพราะเห็นเธอบ้าๆหลุดโลกมาแล้วหลายครั้ง แต่สำหรับ Jake Gyllenhaal ปกติมักได้รับบทจริงจัง ขึงขัง เรื่องนี้พี่แกน็อตหลุด ปล่อยไก่เสียจน … คงไม่ใช่ทุกคนจะรับได้แน่

“I just really love that when one thing can vacillate between one end of the spectrum and the other. And that was the point of the character. From the very beginning, Bong said to me, ‘We have to hate you and you have to be bad.’ That was the goal and, well, I’d say we reached it. And so some people really love that and some people just think it’s genuinely bad. That’s fine”.

– Jake Gyllenhaal


ถ่ายภาพโดย Darius Khondji ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติ Iranian-French แจ้งเกิดกับผลงาน Delicatessen (1991), ติดตามมาด้วย Se7en (1995), Stealing Beauty (1996), Evita (1996), My Blueberry Nights (2007), Midnight in Paris (2011), Amour (2012) ฯ

ผู้กำกับ Bong Joon-ho ยกย่องตากล้อง Khondji ว่า ‘Prince of Darkness’ ชื่มชมความสามารถในการจัดแสง-สี เงามืด ทั้งฉากภายใน-นอก และลึกๆอยากรับรู้ว่านักถ่ายภาพเก่งๆ ไม่คุ้นเคยกับประเทศเกาหลีใต้ จะสามารถจัดเก็บภาพออกมาได้เช่นไร

ผลลัพท์ต้องชมเลยว่าโคตรตราตรึง! โดยเฉพาะทิวทัศนียภาพ ขุนเขาผืนป่าในประเทศเกาหลีใต้ มีความสวยสดงดงาม ต้องรับชมบนจอภาพยนตร์ขนาดใหญ่เท่านั้นถึงจะอ้าปากค้าง

ช็อตแรกของหนัง ก้าวเท้าของ Lucy Mirando สะท้อนถึงการเพิ่งได้รับตำแหน่ง CEO บริษัท Mirando Corporation ตระเตรียมสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ประกาศโครงการ ‘Super Pig’ ลงทุนระยะยาว 10 ปี

อารัมบทของหนัง มีลักษณะคล้ายจุดเริ่มต้นของ The Host (2006) นำเสนอเรื่องราวจากอดีต (ก่อนหน้าหลายปี) อันส่งผลให้ก่อเกิด ‘สัตว์ประหลาด’ ขึ้นในปัจจุบัน
– ขณะที่ The Host ทุกคนต่างพยายามหลบหนี เป็นตัวอันตราย หาทางกำจัดให้พ้นภัย
– Okja จะตรงกันข้ามคือหาหนทางช่วยเหลือ พยายามปกป้องรักษา

Okja แม้จะถูกเรียกว่าหมูยักษ์ แต่รูปลักษณะเหมือนฮิปโปโปเตมัสเสียมากกว่า ซึ่งการออกแบบพยายามให้ออกมาดูเป็นมิตร ลักษณะคล้ายๆ Totoro (จากอนิเมะ My Neighbor Totoro) โดยมีดวงตาคือหน้าต่างหัวใจ สามารถสื่อสาร จดจำเสียงเรียกของ Mija ได้ไม่หลงลืมเลือน

ผู้กำกับ Bong Joon-ho ไม่ได้มอง Okja ในเชิงสัญลักษณ์ แค่อยากนำเสนอให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของสัตว์สายพันธุ์ GM (ดัดแปลงพันธุกรรม) ที่กำลังถือกำเนิดขึ้นในอนาคต เพื่อแก้ปัญหาอาหารขาดแคลน

“I don’t think of Okja as a metaphor. It doesn’t have any symbolism of any kind. I simply want to make the audience think that this animal is something that could happen in the very near future, like five years from now. In reality, there are such animals being developed. They’re developing a genetically modified pig. Genetically modified salmon has already been developed”.

– Bong Joon-ho

ช็อตนี้นี่คือเคารพคารวะ My Neighbor Totoro (1988) ที่เด็กๆนอนหลับสบายบนพุงของ Totoro

Okja เป็นหมูที่มีความเฉลียวฉลาดไม่น้อย สามารถเสียสละตนเองให้ความช่วยเหลือ Mija รอดพ้นจากการตกเหว ขณะที่ตนเองเพราะมีร่างกายใหญ่โต ความสูงแค่นี้ไม่เท่าไหร่อยู่แล้ว … น่าเสียดายที่หนังไม่ได้เล่นกับความเฉลียวฉลาดของ Okja ไปมากกว่าจดจำเสียงเรียกของ Mija ได้เท่านั้น

สมฉายา ‘Prince of Darkness’ โดยแท้ เพราะฉากนี้ถ่ายทำท่ามกลางป่าเขายามค่ำคืน แสงไฟน้อยนิด แต่เลือกตำแหน่งสาดส่องได้อย่างงดงาม ครบถ้วน เห็นใบหน้าของ Okja จับจ้องมองรอเล่นกับ Mija

แซว: หมูยักษ์ไซส์ขนาดนี้ มันต้องกินจุมากๆเลยนะ

ฉากนี้จะถือว่าเป็นความเฉลียวฉลาดของ Okja ก็ว่าได้นะ เมื่อ Dr. Johnny Wilcox พูดถามความคิดเห็นบางอย่าง มันพ่นน้ำมูกสาดให้ เป็นการประชดประชัน ไม่ค่อยอยากไว้เนื้อเชื่อใจชายแปลกหน้า

แทนที่จะนำเสนอ Okja ถูกพลัดพรากจาก Mija ไปต่อหน้าต่อตา หนังจงใจให้ปู่ชักนำพามายังสุสานของพ่อ-แม่ (ของ Mija) เพื่อสะท้อนถึงชีวิตที่ล้วนมีการพบเจอและจากลา โดยใช้หมูทองคำแลกเปลี่ยนเป็นของต่างหน้า แต่นั่นใช่สิ่งเด็กหญิงต้องการเสียที่ไหน

ผมนึกถึงหนังเงียบเรื่อง The Crowd (1928) ของผู้กำกับ King Vidor ท่ามกลางสายธารแห่งฝูงชนกำลังเคลื่อนไหลไป มีเพียงตัวเอก/เด็กหญิงสาว สวมชุดแดง หันกลับมามอง แสงสว่างจากไหนไม่รู้สาดส่อง แล้วพยายามเดินสวนย้อน (น่าจะขึ้นผิดสถานี) ไม่ต้องการดำเนินไปตามวิถีทางของสังคม (ในยุคสมัยทุนนิยม)

บริษัท Mirando ถือได้ว่ามีภาพลักษณ์เปลือกนอกที่บอบบาง แม้จะเป็นกระจกกันกระสุน แต่แค่โดนเด็กหญิง Mija วิ่งพุ่งตรงเข้าใส่ ปรากฎว่าแตกละเอียดเป็นผุยผง แถมพนักงาน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พยายามเท่าไหร่ก็ไม่สามารถจับกุมตัว … คงเพราะเคยวิ่งเล่นอยู่ท่ามกลางป่าเขา เลยมีพละกำลังเหลือเฟือในการวิ่งไล่ หลบหนี

ความสูงของทางรอด เป็นสิ่งสะท้อนความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูงของบริษัท Mirando คือถ้าไม่เกินระดับที่กำหนด ย่อมสามารถผ่านได้อย่างหวุดหวิด … นั่นไม่ใช่สิ่งยี่หร่าเท่าไหร่ของเด็กหนุ่มขับรถ (รับบทโดย Choi Woo-shik เพิ่งแจ้งเกิดกับ Train to Busan และติดตามมาด้วย Parasite) ล้อเลียนถึงระดับความจงภักดีของพนักงานระดับล่าง เงินเดือนฉันก็น้อยนิด ไม่คิดจะรับผิดชอบอะไรให้กับบริษัทอยู่แล้ว

การมาถึงของ ALF ทำให้ผมนึกถึงฉากไล่ล่าของ The Dark Knight (2008) รถบรรทุกของ Joker พยายามเข้ามาเทียบรถตำรวจ จากนั้นความอลเวงป่วนๆก็บังเกิดขึ้น

ผู้กำกับ Bong Joon-ho มีโอกาสพูดคุยพบเจอสมาชิกตัวจริงของ ALF เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล นำมาใช้อ้างอิงในหนัง ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่เขาค้นพบ คือพวกเขาเหล่านี้มักไม่ใช้ชื่อเรียกตนเอง ส่วนใหญ่เป็นฉายา นามปากกา ด้วยเหตุนี้เลยใช้ชื่อตัวละคร Jay, K (มาจาก Korean), Red, Silver, Blond

เมื่อรถบรรทุกของ ALF ไล่ต้อนมาจนมุมถึงภายในอุโมงค์ การจัดแสง-สี โทนส้ม-เหลือง คงสะท้อนถึงความลุ่มร้อน แออัด และสภาพจราจรที่ติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน เด็กหญิง Mija ถึงขนาดขึ้นไปยืนบนหลังคารถ (มีคนจับขาให้ด้วยกลัวตก) ตะโกนเรียกหา Okja เรื่องวุ่นๆจึงบังเกิดขึ้นทันที

Sequence ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของหนัง การวิ่งหลบหนีของ Okja (และ Mija) เข้าไปในซุปเปอร์มาเก็ตแห่งหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งข้าวของเครื่องใช้ แฟนคลับสวมจมูก/หูหมู วิ่งมาถ่ายเซลฟี่ และรวมไปถึงโปสเตอร์ร้านอาหาร ลดราคาเนื้อหมูย่าง … เรียกว่าเป็นการพุ่งเข้าชนโลกทุนนิยม

เจ๋งเป้งสุดคือช็อตนี้ เมื่อฝ่ายตำรวจพยายามยิงกระสุนยาสลบใส่ Okja แต่ถูกฝ่าย ALF กางร่มเป็นโล่อย่างสโลโมชั่น พร้อมบทเพลง Annie’s Song ของ John Denver ปฏิเสธใช้ความรุนแรงใดๆในการโต้ตอบสู้ (แต่ก็เห็นชกต่อย ใช้กำลังแก่งแย่งอาวุธกันอยู่ดีนะ)

และตบมุก Sequence นี้ ฮากลิ้งตกเก้าอี้ด้วยความเหม็นฉาวโฉ่ ‘having a shitty day’

ผมเห็นฉากตำรวจ/ทางการ/ใครสักคนวิ่งไล่ล่าติดตามหลังรถที่กำลังวิ่งแล่นออกไป ในผลงานของ Bong Joon-ho แทบจะทุกเรื่องเลยนะ น่าจะถือว่าเป็นหนึ่งในลายเซ็นต์ได้แล้วละ

หนังมีความผิดพลาดใน Subtitle ประโยคนี้ ขึ้นข้อความว่า

“Mija! Try learning English. It opens new doors!”

ถ้าใครฟังภาษาเกาหลีออก จะพบว่าความหมายที่ตัวละคร K (รับบทโดย Steven Yean) พูดออกมาคือ

“Mija! Also, my name is Koo Soon-bum.”

แต่นี่เป็นความจงใจของผู้กำกับ Bong Joon-ho เพื่อจะสร้างความขบขัน ‘Inside Joke’ ให้ผู้ชมชาวเกาหลี ชักชวนไปหัดเรียนภาษาอังกฤษเสียบ้าง เพื่อจะได้เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ๆ

Comedy เล็กๆในห้องประชุมของ Mirando Corporation สังเกตตำแหน่ง ที่นั่ง บรรดาคณะกรรมการนั่งสบายอยู่ด้านใน ขณะที่ Lucy เพราะมีตำแหน่ง CEO จึงอยู่ฝั่งติดหน้าต่าง หรือคือผู้เผชิญหน้าความเสียหายทั้งหมด

ผมว่าเธอครุ่นคิดหาทางแก้ปัญหาไม่ได้จริงๆนะครับ ถ้าไม่ได้ผู้ช่วย (ที่มาเปิดเผยภายหลังว่าเป็นมือขวาของ Nancy) เดินไปชงแกแฟ สร้างความมึนงง แต่ทำให้ทุกคนผ่อนคลาย ชี้แนะนำหนทางออก ทุกสิ่งอย่างเลยคลี่คลายไปได้หนึ่งเปลาะ

หนังมีการเร่งเครื่องช่วงระหว่างการเดินทางของ Mija จากเกาหลีใต้มุ่งสู่สหรัฐอเมริกา ดูสีหน้าเธอสิ นี่ฉันมายืนทำบ้าอะไรอยู่ตรงนี้ รายล้อมด้วยบุคคลที่เอาแต่สร้างภาพ หากินกับ… อะไรก็ไม่รู้สิ

สำหรับ Okja เมื่อมาถึงสหรัฐอเมริกา มองออกไปด้านนอกรถบรรทุก มีช็อตหนึ่งพบเห็นสุสาน นี่เป็นการพยากรณ์เล็กๆถึงจุดจบของ ‘Super Pig’ ว่าคงมีแต่ความตายเท่านั้นคือหนทางออก

ณ จุดเริ่มต้นของการทดลอง ‘Super Pig’ สิ่งที่ Dr. Johnny Wilcox กระทำกับ Okja ประกอบด้วย
– หาตัวผู้มาสืบพันธุ์ … นี่ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจขยะแขยงอะไรเลยนะ เป็นปกติธรรมดาของการผสมพันธุ์สัตว์ ให้ตัวผู้-เมีย สายพันธุ์ดีขึ้นขี่กัน คาดหวังว่าลูกออกมาจักได้ส่วนดีจากทั้งพ่อ-แม่
– เป็นการแก้แค้นของ Wilcox ต่อ Lucy ที่ได้พูดเหยียดหยามดูถูกตนเอง เลยเฉือนเอาเนื้อส่วนอร่อยออกมาปิ้งย่างรับประทาน ไม่ถึงขั้นเป็นอันตราย แต่ก็เจ็บตัวอยู่ไม่ใช่น้อย

ความเฟอะฟะของ ALF มันทำเรื่องง่ายๆให้กลับกลายเป็นเรื่องยาก แบบเดียวกับป้ายข้อความที่กลับหัวกลับหาง … นี่ต้องถึงขั้นปลอมตัว แอบลักลอบขึ้นมาทางหนีไฟกันเลยหรือ??

ชุดที่ตัวละครสวมใส่คือ ฮันบก เครื่องแต่งกายประจำชาติเกาหลี ปกติแล้วมักจะมีหลากหลายสีสันฉูดฉาด แต่เพราะ Lucy และ Mija ต่างเป็นคนมีบุคคลิกนิสัยเฉพาะตัว เลยมีเพียงสองเฉด โทนสีอ่อน สะท้อนถึงความจืดจาง ไม่สนความตื่นเต้นเร้าใจอื่นใดในชีวิต (นอกจากความพึงพอใจส่วนตนเอง)

แซว: บอลลูนหมูยักษ์ ทำให้ผมนึกถึง Pink Floyd อัลบัม Animals (1977) ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ของมนุษย์ในยุคสมัยทุนนิยม

ฝาแฝดที่ตรงกันข้าม ทั้งภาพลักษณ์ ลักษณะนิสัย
– Lucy ไว้หน้าม้า ผมยาว สวมชุดสีอ่อน ขณะนี้จิตใจกำลังจมดิ่งลงเหว
– Nancy ผมสั้น สวมแว่นกันแด ชุดสีดำ เต็มไปด้วยความเริดเชิด มากด้วยความมั่นใจในตนเอง

โอกาสสุดท้ายของ Mija เพื่อติดตามหา Okja ให้ตายเถอะ นี่มันไคลน์แม็กซ์ของ Spirited Away (2001) ชัดๆเลยนะ

สำหรับ Nancy สิ่งเดียวเท่านั้นที่เธอสนใจคือ กำไร ผลประโยชน์ ถ้าไม่เพราะเจ้าหมูทองคำที่น่าจะราคาแพงลิบลิ่ว ก็คงไม่ยินยอมปล่อย Okja ให้สามารถหวนกลับสู่บ้านเก่าเกาหลีใต้

พูดถึงหมูทองคำ ทำให้ผมระลึกนึกถึง The Ten Commandments (1956) เรื่องราวของโมเสส ในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม ที่หลังจากได้บัญญัติสิบประการลงจากลงจากภูเขาซีนาย พบเห็นชาวยิวที่อุตส่าห์พาข้ามน้ำข้ามทะเลแดง หันไปกราบไหว้นับถือ “ลูกวัวทองคำ” เกิดความเกรี้ยวกราดโกรธ ทุ่มแผ่นศิลาลงพื้นจนผืนแผ่นดินธรณีสูบมนุษย์ผู้สูญสิ้นศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า

นี่แหละครับจุดเริ่มต้นการล่มสลายของมนุษยชาติ เพราะจากเคยยึดถือมั่นในความเชื่อศรัทธา คุณความดีงามของจิตใจ ปัจจุบันนี้กลับลุ่มหลงใหลในเงินทอง สิ่งข้างของ วัตถุนิยม เห็นมูลค่าของหมูทองคำอันนี้ ถึงยินยอมแลกเปลี่ยนแถมมองโลกในแง่ดี (ว่าสามารถขายหมูยักษ์ตัวแรกได้สำเร็จ)

แม้ว่า Okja รอดตายแล้ว แต่ตัวอื่นๆล่ะ? เพราะ Mija รับรู้และเข้าใจดีว่า เธอไม่สามารถช่วยเหลือหมูยักษ์ได้ทุกตัว จึงพยายามที่จะไม่หันหลังกลับไปมอง ก้าวเดินไปข้างหน้า ด้วยความเห็นแก่ตัวอยู่เล็กๆ

ผู้กำกับ Bong Joon-ho จงใจทำฉากนี้ให้ออกมาเหมือนว่า Okja ขยับปากพูดอะไรบางอย่างกับ Mija ที่กำลังเงี่ยหูฟัง ซึ่งเธอสามารถรับรู้ได้ด้วยหัวใจ เดินออกไปด้วยรอยยิ้มแย้ม (ผมว่าถ้าไม่ Thank You ก็ I Love You)

ลูกหมูตัวนี้น่าจะเป็นลูกของ Okja (ได้รับเชื้อตอนถูกข่มขืน) ซึ่งช็อตจบนี้ร้ายกาจไม่เบา ปู่และ Mija กำลังนั่งรับประทานอาหาร คาดว่าพวกเขาคงกลายเป็นมังสวิรัติไปแล้วละ

จริงๆหนังมันก็จบแล้วละ แต่เพื่อความมันส์ ใส่ After Credit หลังจาก Jay ได้รับการปลดปล่อยจากคุก ขึ้นรถเมล์ แนะนำสมาชิกใหม่ (อดีตคนขับรถจากเกาหลี) ตระเตรียมตัวทำภารกิจบางอย่าง … สร้างความฉงนสงสัยให้คุณยาย กลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด เลยกำลังจะต้องเออออห่อหมกตามพวกเขาไป

แซว: mirandoisfucked.com เป็นเว็บไซด์ที่ยังออนไลน์อยู่นะครับ แต่พอคลิกเข้าไปปรากฎว่า Redirect ไปหน้าหนังของ Netflix ซะงั้น!

ตัดต่อโดย Yang Jin-mo ผลงานเด่นๆ อาทิ Train to Busan (2016), Okja (2017), Parasite (2019) ฯ

เรื่องราวดำเนินไปโดยมี Okja เป็นจุดหมุน
– อารัมบท 10 ปีที่แล้ว Lucy Mirando นำเสนอโปรเจค ‘Super Pig’
– ครึ่งแรก เกาหลีใต้, นำเสนอผ่านมุมมองของเด็กสาว Mija ใช้ชีวิตกับ Okja และพยายามออกติดตามให้ความช่วยเหลือ
– ครึ่งหลัง สหรัฐอเมริกา, ตัดสลับไปมาระหว่าง Mija, พี่น้อง Mirando และสมาชิกกลุ่ม ALF
– ปัจฉิมบท, อนาคตไม่รู้กี่เดือนปี หลังจาก Okja กลับเกาหลีใต้ คลอดลูก พวกเขาก็มีชีวิตอย่างสงบสุขสันติ
– และหลังเครดิต, อนาคตไม่รู้กี่เดือนปีเช่นกัน หลังจากได้รับอิสรภาพ ภารกิจลำดับต่อไปของ ALF

หนังยังคงสไตล์ลายเซ็นต์ผู้กำกับ Bong Joon-ho ที่ชอบชักนำพาความเข้าใจผู้ชมไปอย่าง แล้วตลบแตลง พลิกแพลง ข้อเท็จจริงกลับตารปัตรคนละเรื่อง, ซึ่งครานี้สร้างความช็อครุนแรง เมื่อตอนตัวละคร K (รับบทโดย Steven Yeun) จงใจแปลภาษาผิด ทั้งๆที่ Mija ไม่ได้อยากเอาชีวิตเข้ามาเสี่ยงกับภารกิจ แต่จับพลัดจับพลู ได้เปิดประตูโลกกว้าง ออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา … ซะงั้น!


เพลงประกอบโดย Jung Jae-il ที่จะได้ร่วมงานผู้กำกับ Bong Joon-ho อีกเรื่อง Parasite (2019)

งานเพลงถือว่ามีความหลากหลายแนวทีเดียว (ขึ้นอยู่กับเรื่องราวเหตุการณ์นั้นๆ) แต่สำหรับ Main Theme มีกลิ่นอายแห่งมิตรภาพ เยื่อใยความรักต่างสายพันธุ์ เด็กหญิง-หมูยักษ์ ช่างมีความงดงาม ซาบซึ้ง ตราตรึง สัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณของทั้งสอง

ฉากการไล่ล่าทั้งหลายของหนัง ใช้บริการของ Dzambo Agusevi Orchestra กลุ่มนักดนตรีจาก Macedonian ในสไตล์ Funk เรียกท่วงทำนองดังกล่าวว่า Balkan music, เนื่องจากผมหาบทเพลงที่ใช้ประกอบหนังมาให้รับฟังไม่ได้ เลยเอาผลงานอื่นๆของวงที่พอได้ยินแล้ว เชื่อว่าจะจดจำในสไตล์ได้โดยทันที

บทเพลงอื่นๆได้ยินในหนัง อาทิ
– Dedicated To The One I Love ขับร้องโดย The Mamas and the Papas
– Annie’s Song แต่ง/ขับร้องโดย John Denver
– Harvest For The World ขับร้อโดย The Isley Brothers
– Sweeney’s Cavalcade แต่งโดย William Paris Chambers แสดงโดย The United States Air Force Band
– A Evaristo Carriego แต่งโดย Eduardo Rovira, ขับร้องโดย Osvaldo Pugliese
– และ J.S. Bach: Prelude and Fugue No.12 in F minor, BWV 881

Annie’s Song (1974) เป็นบทเพลงที่ John Denver แต่งให้ภรรยา Annie Martell เธอคือบุคคลที่เข้ามาเติมเต็มทุกสิ่งอย่างให้ฉัน สามารถไต่ขึ้นติดอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Hot 100 นานสองสัปดาห์ ยอดขายระดับ Gold (เกิน 1 ล้านก็อปปี้)

แม้เป็นความโชคดีของ Okja ที่มีเพื่อนแท้อย่าง Mija และชะตาของพวกเขาทำให้สามารถหวนกลับมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขสันติ แต่ผมมองภาพยนตร์เรื่องนี้คือโศกนาฎกรรม เพราะหนึ่งชีวิตมิอาจเทียบเคียงอีกร้อยพันหมื่น แสนล้านโกฎิ ที่ถูกเข่นฆ่าเพื่อนำมาเป็นอาหารให้มนุษย์ไม่เว้นแต่ละวัน

มันคือวิถีของโลกยุคสมัยทุนนิยม ระบบที่ใช้รองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมากมายมหาศาล เราอาจรู้สึกสงสารเห็นใจ แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องอุเบกขา ปล่อยวางตัวเป็นกลาง เพราะไม่ใครสามารถสวนกระแสธาราที่ไหลเชี่ยวกราก ต่อให้ ALF หรือ Green Peace ตะโกนร้องเรียกป่าวประกาศกึกก้องฟ้า แต่ถ้าเงินไม่ถึง เส้นสายไม่มี ก็แค่หมาเห่าใบตองแห้ง ชนชั้นนายทุนสนใจสิ่งที่เรียกว่าจิตสำนึกมโนธรรมเสียที่ไหนกัน

ตัวละครของ Tilda Swinton จะมองแยกสองพี่น้อง หรือคือ Alter-Ego ของมนุษย์ที่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์
– Lucy คือตัวแทนความบริสุทธิ์ ใสซื่อตรง เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์สุดบรรเจิด และรักในธรรมชาติของชีวิต
– Nancy มุมมองของความชั่วร้ายกาจ สนเพียงธุรกิจ เงินทอง ผลประโยชน์ กำไร ไร้ซึ่งจิตสำนึกมโนธรรมประจำใจ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่น้อง Mirando สะท้อนถึงปัญหาภาพลักษณ์ในยุคสมัยทุนนิยม
– ขณะหนึ่งประชาชนให้ความสนใจการแก้ปัญหาอาหารขาดแคลน (เฉพาะหน้า) ส่งเสริมสนับสนุนโปรเจค ‘Super Pig’ ขึ้นหน้าหนึ่งพาดหัวข่าว แบบไม่ใคร่คิดถึงข้อดี-ข้อเสีย ถูกต้องเหมาะสมทางจิตสำนึก-มโนธรรม
– แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป มุมมองใหม่ๆ สิ่งคาดคิดไม่ถึงบังเกิดขึ้น Mija และ Okja ได้ฉีกกระชากหน้ากาก บ่อนทำลายภาพลักษณ์โครงการ เบื้องลึกข้อเท็จจริงต่างๆจึงถูกขุดคุ้ยเปิดโปง (ทำให้ Nancy ต้องเข้ามาตอบโต้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า)

โลกทุนนิยมเป็นยุคสมัยแห่งความครุ่นคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ เต็มไปด้วยสิ่งเซอร์ไพรส์ มิอาจคาดคิดถึงโดยง่าย แต่หลายๆครั้งมักซ่อนเร้นด้วยความชั่วร้ายบางประการ ขัดแย้งต่อความถูกต้องเหมาะสมทางจิตสำนึก-มโนธรรม ซึ่งบรรดาผู้ริเริ่มต้นมักหาหนทางที่จะกลบเกลื่อน บิดเบือน ถ้าไม่ถูกโปงข้อเท็จจริง ก็เพิกเฉยเฉื่อยชาต่อปัญหา กอบโกยความสำเร็จเฉพาะหน้า อะไรจะเกิดขึ้นติดตามมาก็ช่างหัวมัน

ผู้กำกับ Bong Joon-ho ไม่ได้ทำการโจมตีระบบทุนนิยมตรงๆแบบผลงานเรื่องอื่นๆ แต่เลือกนำเสนอมิตรภาพ ความรักแม้ต่างสายพันธุ์ สามารถเปรียบ Okja เสมือนสมาชิกในครอบครัว Mija นั่นทำให้เธอพยายามทำทุกสิ่งอย่าง พานผ่านอุปสรรคขวากหนาม พร้อมเสียสละตนเอง ขอแค่ให้ได้หวนกลับมาอยู่ด้วยกันเท่านั้นเป็นพอ … เรื่องราวการผจญภัยของเด็กหญิง ในโลกทุนนิยมที่แสนเหี้ยมโหดร้าย เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย เทียบไม่ได้กับขุนเขาพงไพร บ้านเกิดเคยอยู่อาศัย แสนเรียบง่าย สุขสบาย ชีวิตไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่านี้


Okja และ The Meyerowitz Stories เป็นเพียง 2 เรื่อง จนถึงปัจจุบันของ Netflix ที่ได้เข้าฉายสายการประกวดหลัก เทศกาลหนังเมือง Cannes ก่อนค่ายสตรีมมิ่งนี้จะถูกแบนหลังจากปีนั้น เพราะถือว่าทำผิดกฎเข้าโรงภาพยนตร์พร้อมๆกับฉายออนไลน์ (เฉพาะในฝรั่งเศส ภาพยนตร์ต้องเข้าฉายเฉพาะในโรงภาพยนตร์ ก่อนนำออกสื่ออื่นเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนเท่านั้น)

ซึ่งเมื่อตอน Okja เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes พอโลโก้ Netflix ปรากฎขึ้น มีผู้ชมส่งเสียงโห่ต้อนรับ, จากนั้น 7 นาทีแรก เกิดความผิดพลาดทางเทคนิค (ฉายผิดอัตราส่วน) ทำให้ต้องเริ่มต้นฉายใหม่ พอโลโก้ Netflix ปรากฎขึ้นรอบสอง เสียงโห่ครานี้ดังยิ่งขึ้นกว่าเดิม, แต่ถึงอย่างนั้นระหว่างหนังฉาย ได้เสียงตอบรับเกรียวกราว และช่วงท้ายยืนปรบมือให้ผู้กำกับ Bong Joon-ho นานกว่า 4 นาทีเต็ม

ด้วยทุนสร้าง $50 ล้านเหรียญ (สูงสุดจนถึงปัจจุบันของผู้กำกับ Bong Joon-ho) มีเข้าฉายบ้างในโรงภาพยนตร์ประเทศเกาหลีใต้ ทำเงินได้ 2.3 พันล้านวอน ($2.1 ล้านเหรียญ) และฉายออนไลน์วันที่ 28 มิถุนายน 2017 ไม่รู้เหมือนกันว่าปริมาณผู้ชมมากน้อย คุ้มทุนสร้างเพียงใด

ส่วนตัวชื่นชอบครึ่งแรกของหนังมากๆเลยนะ โดยเฉพาะการถ่ายภาพของ Darius Khondji ทำให้ทิวทัศน์ป่าเขาประเทศเกาหลีใต้ มีความงดงามตราตรึง อึ้งทึ่งชวนให้หลงใหล แต่ก็ผิดหวังเต็มๆกับเรื่องราวของฝั่งสหรัฐอเมริกา ดูมั่วๆซั่วๆ เว้นเพียงช่วงท้ายไคลน์แม็กซ์ ซึ้งซาบซ่าน เจ็บปวดรวดร้าว ทรมานไปถึงขั้วหัวใจ

หลังจากดูหนังจบ ผมมีความรู้สึกอยากกินเนื้อย่างมากๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร คงตรงกันข้ามกับผู้คนส่วนใหญ่ คงรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ไหวไปหลายวัน

จัดเรต 18+ กับฉากในโรงฆ่า และความบ้าๆหลุดโลกของหลายตัวละคร

คำโปรย | Okja ของผู้กำกับ Bong Joon-ho แม้มีความงดงามระดับตราตรึง แต่ก็เต็มไปด้วยความสับสนอลม่าน
คุณภาพ | และสับสนอลม่าน
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: