Oldboy (2003)
หนึ่งในหนังที่ดีที่สุดของเอเชีย ดีที่สุดของเกาหลีใต้ กำกับโดย Park Chan-wook นำแสดงโดย Choi Min-sik หนังเรื่องนี้มีตอนจบที่หักมุมได้เจ็บปวด สุดยอดและคาดไม่ถึงที่สุดแล้ว การันตีด้วยรางวัล Grand Prix จาก Cannes นี่คือหนึ่งในหนังโปรดของผม แนะนำอย่างมากสำหรับคนชอบดูหนังเจ๋งๆ หักมุมแบบไม่คาดคิด หนังมีความรุนแรงสูง อาจจะไม่เหมาะกับทุกคน แต่เชื่อว่าคนที่ได้ดูจะรู้สึกอึ่ง ทึ่ง พูดไม่ออกในความยอดเยี่ยมและทรงพลัง
ถ้าคุณเคยดูเวอร์ชั่นของ hollywood แล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปหาดูต้นฉบับนะครับ ควรทิ้งความทรงจำ ความรู้สึกนั้นไว้สักประมาณ 10 ปีจนจำเรื่องราวอะไรของหนังไม่ได้แล้ว ค่อยกลับมาดูเวอร์ชั่นนี้ ผมไม่เคยดูเวอร์ชั่นของ hollywood ไม่คิดจะดูด้วย ผมรู้ว่ามันต้องไม่ work ตั้งแต่คิดจะสร้างแล้ว เห็นคำวิจารณ์ของเมืองนอกก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สู้ต้นฉบับไม่ได้ สำหรับคนที่ชั่งใจว่าจะดูเวอร์ชั่นไหนดี ผมแนะนำต้นฉบับ original ฉบับภาษาเกาหลีนี่แหละครับ ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว
ผมดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกตอนอยู่ในโรงพยาบาล ซื้อแผ่นมาเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว ระหว่างดูก็คิดตามว่าหนังมันรุนแรงมากนะ มีฉากสวยๆอยู่หลายฉาก โดยเฉพาะฉาก love scene ที่สวยงามมากๆ แต่เมื่อหนังถึงจุดที่เฉลยปริศนา อารมณ์ผมเหมือนตัวละคร Oh Dae-su ในหนังเลยละครับ ดิ้นพล่าน จุกอก หายใจไม่ออก แทบอยากจะปาคอมทิ้ง เห้ย! fuck! หนังมันทำแบบนี้ได้ยังไง ผมไม่เคยหัวเสียหรือหงุดหงิดกับการหักมุมมาก่อน แต่กับหนังเรื่องนี้มันไม่เพียงทำร้ายจิตใจ แต่ยังขยี้เละแบบไม่เหลือชิ้นดี แต่แทนที่จะเกลียดกลับชอบมันแบบรุนแรง! ไฉนเป็นแบบนั้นก็ไม่รู้ … ช่วงหลังๆมานี่ผมไม่ค่อยชอบหนังที่นำเสนอภาพความรุนแรงนัก กระนั้นดูหนังเรื่องนี้ครั้งล่าสุด ผมเข้าใจเหตุผลของความรุนแรงนะ (และยังรู้สึกด้วยหนังมันรุนแรงเกินความจำเป็น) แต่ความชอบต่อหนังมันยังไม่ลดลงเท่าไหร่เลย ตอนจบหักมุมที่ไม่มีวันลืม ดูกี่ครั้งมันก็ยังมีเรื่องราวบางอย่างที่สุดยอด ประทับใจ คงเพราะในใจผมมันคงมีความรุนแรงบางอย่างแฝงอยู่ แบบว่า ถ้าผมตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น ไม่แน่ว่าผมอาจจะกลายเป็นแบบ Oh Dae-su ก็ได้
ผู้กำกับ Park Chan-wook กับ The Vengeance Trilogy หนังเรื่องนี้ Old Boy ถือเป็นเรื่องที่ 2 ของซีรีย์ ผมเคยไปหาดูอีก 2 ภาคแต่ก็ไม่ชอบเท่าเรื่องนี้เลย โดยเฉพาะความรุนแรงที่ไม่จำเป็น แสดงว่าหนังแนวนี้ถ้ามีแต่การแก้แค้น มันดูไม่สนุกเลยครับ มีนักข่าวถาม Park ว่า ทำไมเขาถึงเลือกทำหนังเกี่ยวกับการแก้แค้นที่มีความรุนแรงหลายๆเรื่อง Park ตอบว่า หนังของเขาต้องการพูดถึงข้อเสียของ “การล้างแค้น” ที่ส่งผลต่อชีวิตเขาและผู้คนที่เกี่ยวข้อง “my films are about the utter futility of vengeance and how it wreaks havoc on the lives of everyone involved” ไม่ใช่ว่าเขาส่งเสริมความรุนแรง แต่ที่ต้องผลักดันให้ตัวละครไปถึงจุดสูงสุดของอารมณ์ของการเอาคืน เพื่อให้คนดูตั้งคำถามว่าหลังจากเป็นเช่นนั้นแล้ว มันมีอะไรต่อ คำพูดใน Old Boy คือ “หลังจากนายฆ่าฉัน นายจะทำอะไรต่อไป” และตัวละครก็พูดว่า(เมื่อแก้แค้นสำเร็จ) “นายทำแบบนี้แล้วฉันจะมีชีวิตต่อไปเพื่ออะไร” ถึงมันไม่ใช่คำตอบ แต่ก็เป็นการตั้งคำถามใหม่ให้กับคนดู “แล้วฉันเหลืออะไรบ้างจากการแก้แค้น”
หนังดัดแปลงมาจาก manga เรื่อง Old Boy โดย Garon Tsuchiya และ Nobuaki Minegishi ดัดแปลงโดย Hwang Jo-yoon และ Im Joon-hyeong เห็นว่าเวอร์ชั่น manga ต่างจากหนังมากๆ ฉากรุนแรงก็แทบไม่มี ตัวละครมีที่ตายจริงๆอยู่ 1-2 ตัวเท่านั้น ผมไม่เคยอ่าน manga นะครับ (ไม่รู้จะไปหาอ่านที่ไหน) สำหรับคนไม่ชอบความรุนแรง ไปหา manga อ่านน่าจะดีกว่า ถึงดูแล้วมันอาจจะคนละเรื่องกัน แต่เนื้อหาหลัก ใจความสำคัญนั้นเหมือนกันแน่นอน
นำแสดงโดย Choi Min-sik เขาเป็นชาวพุทธที่ไม่ชอบความรุนแรง ฉากกินปลาหมึกเป็นๆนั่น ก่อนกินเขาก็สวดมนต์ขออโหสิทุกตัวที่เขาต้องกินเข้าฉาก แล้วทำไมถึงมาแสดง Old Boy เพราะเขาเชื่อมือผู้กำกับในการนำเสนอแนวคิด “สิ่งที่เกิดขึ้น กับคนที่เอาความแค้นเป็นข้ออ้างในการมีชีวิต” ช่วงเวลาที่ผมชอบเขาที่สุด แน่นอนว่าคือตอนที่เขารู้ความจริง ความบ้าคลั่งที่เขาแสดงออกมา มันไม่เพียงแต่สะท้อนความรู้สึกของตัวละครออกมา แต่ยังสะท้อนผลกรรมของสิ่งที่เขาคิดและทำ ถ้าเขาเลือกตั้งแต่ต้นว่าจะไม่แก้แค้น มันคงจะไม่มีอะไรพวกนี้เกิดขึ้นเลย ความหมกมุ่นที่จะแก้แค้นของตัวละครนี้มันเลยไปถึงจุดที่ ไม่ฉันก็แกต้องตาย แต่เขากลับไม่เคยคิดถึง ทำไม เพราะอะไร
นางเอก Kang Hye-jung เธอดูเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสาที่อ่อนต่อโลกมาก ใครจะไปคิดว่าแท้จริงแล้วเธอเป็น … กับฉากที่เธอถูกตรึงไว้ เหมือนกำลังจะถูกข่มขืน สายตา อารมณ์ ความรู้สึกของตัวละครและคนดู มันใช่เลยละ ต่อด้วยฉาก love scene ที่สวยมากๆ นี่เป็นตัวละครที่ทำให้คนดูรู้สึกหลงรักเธอ เห็นใจ เอ็นดู ไม่อยากให้เธอมีอันตรายใดๆ ผมก็ลุ้นไปทั้งเรื่องนะครับว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับเธอหรือเปล่า ขออย่าให้มีเลย โลกจะจบสิ้นลงทันทีถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับเธอ นี่เป็นตัวละครเดียวในหนังที่ทำให้รู้สึกโลกน่าอยู่ขึ้นมากๆ
ตัวร้ายของหนังนำแสดงโดย Yoo Ji-tae เขาคือสัตัวแทนความคิดของการเอาคืน บุคลิกของเขาสุขุม ลุ่มลึก แต่ตัวเนียบๆ พูดช้าๆ มีรอยยิ้มที่เย็นยะเยือก แต่ข้างในปั่นป่วนเหมือนมีระเบิดเวลาฝังอยู่ พร้อมที่จะระเบิดออกตลอดเวลา ความชั่วร้ายที่ไม่มีกำลัง นี่เป็นตัวละครที่แทบจะไม่มีความรุนแรงเลย เราจะเห็นแต่เขายิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ โกรธ จะมีแค่เขาทนไม่ได้ที่ใครสักคนมาหลบหลู่คนที่เขารัก ตัวร้ายนี้มีความคิดที่ซับซ้อนมากๆ การต่อสู้ของเขาก็ไม่ใช่สู้ด้วยพลัง แต่เป็นความคิด ในหนังผมถือว่าเรื่องนี้ตัวร้ายชนะพระเอกนะครับ เพราะพระเอกไม่สามารถเอาชนะตัวเองในการต่อสู้กับความแค้นได้ เขาไม่สามารถหยุดมันได้ ทำให้เขาต้องแลกบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ตัวเองยังมีชีวิตอยู่
ถ่ายภาพโดย Chung Chung-hoon หนึ่งในฉากสำคัญที่สุดในหนัง คือ 1 vs 100 ฉากนี้เห็นว่าถ่าย 17 เทค ใช้เวลา 3 วัน long take ไม่มีตัดต่อ เป็นช่วงเวลาที่เจ๋งและบ้ามากๆ ความแค้นมันสามารถทำให้คนธรรมดาๆกลายเป็นแบบนี้ได้เลยเหรอนี่ อีกฉากหนึ่งที่ผมชอบสุดๆ คือมุมกล้องหลังจากฉาก love scene ที่ตัวร้ายสวมหน้ากากค่อยๆเอามือสัมผัสกับร่างกายของหญิงสาว นี่เป็นฉากที่ผมชอบมากๆตั้งแต่ดูครั้งแรก กล้องที่ค่อยๆเลื่อนออก อารมณ์ของฉากนี้มันคือไคลน์แม็กซ์ของสิ่งที่ตัวร้ายทำ เพียงแต่สำหรับคนดูครั้งแรกจะยังไม่รู้ว่าฉากนี้สำคัญอย่างไร มันคือจุดจบ มันคือทุกอย่าง มันคือสิ่งที่ทำให้อารมณ์ ความรู้สึกเมื่อถึงการหักมุมไปถึงที่สุด
ตัดต่อโดย Kim Sang-bum ถือว่ายอดเยี่ยมมากๆ มี 2 ช่วงที่ผมชอบ ตอนเปิดเรื่อง 15 นาทีแรก แนะนำตัวละคร กับเหตุการณ์ 15 ปีในห้อง การตัดต่อช่วงนี้เด่นมากๆ เป็นช่วงเปิดประเด็น ตั้งคำถามให้กับคนดูว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมอยู่ดีๆหมอนี่ถึงถูกขังอยู่ในนั้น และอยู่ดีๆทำไมเขาถึงถูกปล่อยตัวออกมา อีกช่วงหนึ่งคือการตัดต่อสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เพื่อตามหาความทรงจำที่ว่า เกิดอะไรขึ้นในอดีต ตัวละคร ณ เหตุการณ์ปัจจุบันเดินทางไปมาหลายๆที่ กลับไปที่โรงเรียนเก่าเพื่อย้อนระลึกความทรงจำ การตัดต่อทำได้เนียลและต่อเนื่องกันมากๆ
เพลงประกอบโดย Jo Yeong-wook หลอนมากๆ เสียงเครื่องดนตรี electric ทำให้บรรยากาศหนังดูมืดมน อึมครึม ผสมกับการออกแบบฉากที่ให้อารมณ์เหมือนอยู่ในยุค 80-90 นี่คือเหตุผลที่ทำให้หนังเรื่องนี้จัดเป็น film noir โทนหนัง บรรยากาศที่ดูเข้มข้น จริงจัง ซีเรียส เพลงประกอบเป็นตัวช่วยนำพาอารมณ์ของเราและตัวละครไปให้ถึงจุดสูงสุด ณ จังหวะที่ความจริงทุกอย่างถูกเปิดเผย ไวโอลิน เสียงแหลมๆ ทุ้มๆ บรรเลงเสียดสี สะท้านหัวใจ ความรู้สึกพุ่งปี๊ด พร้อมกับเสียงกลอง เสียงเครื่องเป่า ตุบ ตุบ จังหวะ Waltz ราวกับเสียงหัวใจที่เต้นไม่หยุด ดนตรีเริ่มทำให้เราคลั่ง ใจสะท้าน พร้อมจะระเบิดออกทุกเมื่อ ลองไปฟัง Farewell, My Lovely ดูนะครับ
การออกแบบฉาก มีบรรยากาศของหนังเรื่อง In The Mood of Love อยู่ไม่น้อย คงเพราะพื้นฐานของยุคสมัยที่ใกล้เคียงกัน การออกแบบเลยมาคล้ายๆกัน แถมเพลงสุดท้ายของหนัง Old Boy ชื่อ The Last Waltz ผมฟังแล้วมีทำนองเริ่มต้นให้ความรู้สึกคล้ายๆกับเพลงในหนังของ Wong Ka-Wai มันอาจเป็นความคล้ายกันโดยไม่ตั้งใจ แต่นี่แสดงถึงอิทธิพลยุคสมัยของคนเอเชียกลาง ที่คล้ายๆกันเลย
ตอนจบของหนังอาจจะมีบางคนไม่เข้าใจ จริงๆมันไม่ได้มีอะไรเข้าใจยากเลย พระเอกต้องการลืมเรื่องทั้งหมด เขาเลยให้นักจิตวิทยาสะกดจิตให้เขาลืม ในหนังใช้การฆ่า monster ซึ่งเป็นอีกตัวตนของเขา เมื่อจังหวะที่เขาลืมตาขึ้น เขาลืมทุกอย่าง เป็นเหมือนเด็กเกิดใหม่ ส่วนนางเอกเธอเปิดกล่องของขวัญนั้นดูไหม หนังไม่ได้บอกเรา แต่ถ้าคิดสักนิดก็น่าจะรู้ว่าไม่เปิดนะครับ แล้วทำไมต้องไปถ่ายกันถึง New Zealand ก็เพื่อฉากหิมะตก ที่หมายถึงจุดเย็นยะเยือก หรือจุดที่อยู่ลึกสุดในหัวใจของมนุษย์ นั่นคือสิ่งที่เขาต้องการจากก้นเบื้องของหัวใจ ลืมทุกสิ่งทุกอย่างแล้วเริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นจากจุดนั้น จุดต่ำสุดของหัวใจ
เห็นว่า Park ตั้งชื่อตัวละคร Oh Dae-su โดยมีแรงบันดาลใจจาก Oedipus The King มีฉากหนึ่งในหนังที่พระเอกเล่นท่าโยคะ เป็นภาพตัวแทนของ Apollo คนที่ไม่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทพนิยายกรีกคงอาจจะไม่รู้ว่ามันคล้ายกันยังไง ผมคงไม่เขียนสปอยว่าเรื่องราวมันเป็นยังไง ให้ไปลองหาอ่านเปรียบเทียบดูเองนะครับ เพราะมันสปอยจุดหักมุมของหนัง แต่จุดที่ผมพูดได้คือ ชะตากรรมของทั้งสอง ณ ตอนจบ Oedipus ควักลูกตาของตนออกมา เพราะไม่อยากเห็นโลกที่น่ารังเกียจ ส่วน Oh Des-Su ใช้การตัดลิ้นตัวเอง เพื่อจะได้ไม่ต้องพูดอะไรที่ไม่ดีออกมาอีก
Old Boy คือเพื่อนเก่า ในหนังพูดถึงเพื่อนที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียน เพื่อนที่ปัจจุบันเราแทบจะจำอะไรเกี่ยวกับเขาไม่ได้ แต่เพราะเรื่องราวบางอย่างที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีต เพื่อนคนนี้เลยไม่ยอมจากไป ผมเปรียบเทียบว่ามันมีบางสิ่งบางอย่างที่มนุษย์มีติดตัวตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นอารยธรรม ก่อนจะมีความคิดเป็นของตัวเอง ก่อนที่จะมีความเป็นมนุษย์ (humanity) สิ่งนั้นคือ “สัญชาติญาณ” ที่จะทำในสิ่งที่ตนต้องการ โดยไม่คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่คิดถึงอะไรเลย ทำตามความ “อยาก” ของตนเอง “การล้างแค้น” มันคือการกระทำโดยสัญชาติญาณ เพราะฉันถูกขัง 15 ปี ฉันต้องเอาคืนคนที่ทำกับฉัน โลกเราเจริญไปมาก แต่ “เพื่อนเก่า” คนนี้ไม่เคยที่จากไป เพื่อนคนนี้ยังอยู่ในจิตใจมนุษย์ทุกคน แต่เราจะปฏิบัติกับมันแค่เพื่อนเก่า เป็นเพื่อนรัก หรือเพื่อนสนิท ก็อยู่ที่คุณใช้สัญชาติญาณในการดำรงชีวิตมากแค่ไหน
สิ่งที่เชื่อว่าทำให้คนดูฉุกคิดแน่ๆหลังจากดูหนัง คือ การแก้แค้นมันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตัวเองเท่านั้น ถ้าเกิดความแค้นนั้นมันทำให้คนรอบข้าง คนที่เรารักต้องเสี่ยงพบกับอันตรายบางอย่าง นั่นไม่ใช่สิ่งที่ควรทำแน่ๆ จุดนี้หนังนำเสนอชัดเจนมากๆ โดยค่อยๆเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ให้เราเตรียมใจพร้อมรับกับผลกระทบของตัวละคร ความรู้สึกบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่กระนั้นเมื่อถึงจุดที่เฉลยทุกอย่างออกมา ไม่ว่าเราจะเตรียมใจมาแค่ไหน ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรับมือกับความจริงนั้นได้
มีหนังไทยอยู่เรื่องหนึ่ง “เฉือน” ใครดูหนังเรื่องนี้แล้วคงเข้าใจว่าชื่อหนังมันสื่ออะไร ฉากเฉลยปริศนาทุกอย่างในเฉือน มันคล้ายกับ Old Boy มากๆ ถ้าผมไม่เคยดู Old Boy มาก่อน ไม่แน่ผมอาจจะชอบเฉือนมาก แต่เมื่อเคยดูมาก็เลยรู้ว่าหนังลอกแนวคิดมาแทบจะเปะๆเลย แค่เปลี่ยนบทสรุปนิดหน่อย ซึ่งผมคิดว่า impact มันไม่เท่า Old Boy นะครับ กับ Old Boy ณ จังหวะที่รู้ความจริงนั้น กับคนที่ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ นี่เป็นอะไรที่ร้ายแรงมากๆที่สุดอย่างหนึ่งเลย
นี่ไม่ใช่หนังที่เหมาะกับทุกคน ความรุนแรงในหนังถือว่าแรงมากๆ บางประเทศจัดเรตหนังที่ NC 20+ ผมคิดว่าเมืองไทย 18+ ก็พอ กระนั้นนี่เป็นหนังที่ผม Highly Recommend มากๆ ให้หาดูเมื่อมีโอกาส ก่อนดูทำความเข้าใจก่อนสักนิดว่า ความรุนแรงมันคือสิ่งจำเป็นของหนังเรื่องนี้ ถ้าคุณพร้อมที่จะรับมือความเจ็บปวดหลังจากดูหนัง ก็หามาลิ้มลองได้เลยนะครับ
คำโปรย : “Old Boy หนังแห่งการล้างแค้นที่จะทำให้คุณเจ็บสะท้านไปจนถึงเบื้องลึกสุดในหัวใจ กำกับโดย Park Chan-wook นำแสดงโดย Choi Min-sik”
คุณภาพ : RARE-GENDARY
ความชอบ : FAVORI
ไม่ใช่ตัวร้ายเหรอครับที่เล่นโยคะ?