Oliver Twist (1948) : David Lean ♥♥♥♥
ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังของ Charles Dickens สู่ภาพยนตร์สุดคลาสสิก โคตรอาร์ทโดยผู้กำกับ David Lean นำแสดงโดย Alec Guinness รับบท Fagin เพราะจมูกเจ้าปัญหาที่ยื่นมากไปถูกมองว่าเป็นการเหยียดชาวยิว (Anti-Semitic) ทำให้โดนแบนห้ามฉายในหลายประเทศ
นี่เป็นประเด็นอ่อนไหวมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะชาวจำนวนมาก Jews ถูกเข่นฆ่าสูญเสียสิ้นชีวิตไป ความพ่ายแพ้ของ Nazi Germany ประหนึ่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพวกเขา ชาวโลกยินยอมรับการมีตัวตนของพวกเขา
แต่แม้จะมิใช่ความตั้งใจของผู้กำกับ David Lean สื่อสะท้อนออกมาในเชิงเหยียดหยามเช่นนั้น แต่เพราะหนังสร้างขึ้นออกฉายในช่วงกระชั้นชิดใกล้เกินไป เลยกลายเป็นความซวยสนิท ผิดที่ผิดเวลา ไม่ดูตาม้าตาเรือ
ผมเคยรับชม Oliver Twist ฉบับของ Lean เมื่อครั้นนานมาแล้ว จดจำได้ว่าดูไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ แถมเครียดชิบหาย หาความสดใสหายใจแทบไม่ออก เช่นกันกับตอนรับชม Oliver Twist (2005) ของผู้กำกับ Roman Polanski ในโรงภาพยนตร์ก็ปวดหัวทรมานใจเช่นกัน จนกระทั้งเมื่อปีก่อนมีโอกาสรับชมฉบับ Musical เรื่อง Oliver! (1968) สร้างโดย Carol Reed ถึงค่อยพบเห็นความสำคัญในวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ และรู้สึกดีขึ้นมากด้วย (เพราะใช้เสียงการร้องเล่นเต้น ผ่อนคลายความเครียดลงได้เยอะ)
หวนกลับมารับชมฉบับของ David Lean อีกครั้งครานี้ เข้าใจเหตุผลเลยว่าทำไมเมื่อก่อนถึงดูไม่รู้เรื่อง เพราะหนังมีความคลาสสิก และโคตรอาร์ทในตัวเอง ต้องใช้จินตนาการ/ประสบการณ์พอสมควรในการรับชม เมื่อเปรียบกับ Oliver! ทำให้ผมชื่นชอบประทับใจ Oliver Twist ฉบับนี้มากกว่าเป็นไหนๆ
Sir David Lean (1908 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Surrey วัยเด็กชอบเพ้อฝัน ออกจากโรงเรียนกลางคัน ทำงานเป็นนักบัญชีผู้ช่วยพ่อแต่ก็ทนได้ไม่นานก็ออกไปสานฝันของตนเอง ที่เริ่มต้นจากของขวัญวันเกิดจากลุงตอนอายุ 10 ขวบ ได้มอบกล้อง Brownie Camera (เป็นชื่อเรียกกล้องสมัยก่อน ที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ราคาไม่แพงมาก) กลายเป็นงานอดิเรกที่คลั่งไคล้ ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์
เริ่มต้นจากเป็นเด็กรับใช้ในสตูดิโอ Gaumont ยกของ เสิร์ฟชา ตอกสเลท ผู้ช่วยผู้กำกับ เลื่อนขั้นเป็นนักตัดต่อเมื่อปี 1930 มีผลงานอย่าง Pygmalion (1938), 49th Parallel (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942) [สองเรื่องหลังของ Powell & Pressburger] และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก In Which We Serve (1942) เริ่มมีชื่อเสียงประสบความสำเร็จจาก Brief Encounter (1945)
หลังความสำเร็จของ Great Expectations (1946) ที่ก็ดัดแปลงจากวรรณกรรมคลาสสิกของ Charles Dickens เข้าชิง Oscar 5 สาขา (รวมทั้ง Best Picture, Best Director) คว้ามา 2 รางวัล ผู้กำกับ Lean ยกทีมงานชุดเดิมราวกับสร้างภาคต่อ หยิบเลือกอีกหนึ่งผลงานของ Dickens เรื่อง Oliver Twist หรือ The Parish Boy’s Progress นิยายลำดับที่สอง เริ่มจากตีพิมพ์ลงในนิตยสารรายเดือน Bentley’s Miscellany ช่วงระหว่างกุมภาพันธ์ 1837 – เมษายน 1839, เรื่องราวของนิยายสะท้อนปัญหาคุณภาพชีวิต และสังคมชนชั้นล่างของประเทศอังกฤษ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ประกอบด้วย เด็กกำพร้า (Orphan), การใช้แรงงานเด็ก (Child Labour) และอาชญากรรมเด็ก (Children Criminal)
เกร็ด: ก่อนหน้านี้เคยมีการดัดแปลง Oliver Twist เป็นหนังเงียบปี 1922 กำกับโดย Frank Lloyd มี Lon Chaney รับบท Fagin
ร่วมดัดแปลงบทภาพยนตร์กับ Stanley Haynes ค่อนข้างตรงต่อวรรณกรรมอย่างมาก เว้นแค่ตัวละคร Mr. Brownlow จริงๆแล้วไม่ใช่ญาติของ Oliver แต่คือคนรู้จักของพ่อ และเรื่องราวตอนที่ Sikes พา Oliver ออกปล้นบ้านครั้งแรก เด็กชายได้รับบาดเจ็บ ถูกปล่อยทิ้งให้ตายครอบครัวฝั่งแม่ของเขาพบเจอให้การช่วยเหลือ ซึ่งค้นพบเห็นภาพถ่ายที่ Brownlow มอบไว้ให้ ความจริงทุกอย่างเลยได้รับการเปิดเผย
เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กกำพร้าชื่อ Oliver Twist ทำงานใน Workhouse แห่งหนึ่ง แต่เพราะความหัวขบถจึงถูกขายให้กับสัปเหร่อ (Undertaker) แล้วสามารถหลบหนีเดินทางสู่ London รู้จักกับเพื่อนเด็กล้วงกระเป๋า Artful Dodger นำพาไปพบกับต้นตอแห่งความชั่วร้าย Fagin (รับบทโดย Alec Guinness) ที่พยายามเสี้ยมสอนให้เขากลายเป็นอาชญากรผู้ยิ่งใหญ่, ต้องไปลุ้นกันว่า Oliver จะสามารถหลุดออกจากวงจรอุบาศว์นี้ได้หรือไม่
Sir Alec Guinness de Cuffe (1914 – 2000) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Paddington, London เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงละครเวที มีชื่อเสียงจากการเล่นบทละคร Shakespeare ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการยกย่องเป็นสามทหารเสือแห่งอังกฤษ ควบคู่กับ Laurence Olivier และ John Gielgud, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รับใช้ชาติเป็นทหารเรือ Royal Naval Reserve สิ้นสุดสงครามจึงเริ่มรับงานแสดงภาพยนตร์โดยคำชักชวนของ David Lean อาทิ Great Expectations (1946), Oliver Twist (1948), กลายเป็นตำนานจากการรับบท 9 ตัวละครในหนังเรื่อง Kind Hearts and Coronets (1949), คว้า Oscar: Best Actor เรื่อง The Bridge on the River Kwai (1957)
รับบท Fagin หัวขโมยสูงวัยมากประสบการณ์ เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว มักมาก ขี้หวาดระแวง เหมือนจะเป็นคนดีเพราะชอบรับเลี้ยงดูแลเด็กๆกำพร้าไร้บ้าน แต่กลับพยายามปลูกฝังแนวคิดผิดๆ เสี้ยมสอนให้รู้จักการลักขโมย กระทำสิ่งผิดกฎหมาย เพื่อเติมเต็มความฝันของตนเมื่อสูงวัยกว่านี้ จะได้สุขสบายไม่ต้องทุกข์ลำบาก
เกร็ดไร้สาระ: Fagin พูดคำว่า ‘dear’ ทั้งหมด 23 ครั้ง นี่เหมือนจะเป็นคำสุภาพ แต่ถ้าเป็นหนังเรต R คงใช้คำว่า ‘fuck’แทนได้เลย
ถึงจะเคยร่วมงานกันใน Great Expectations แต่ผู้กำกับ Lean ไม่สามารถจินตนาการถึง Guinness ในการรับบทนี้ ขอให้มาทดสอบหน้ากล้องก่อน ซึ่งวันที่ปรากฎตัวมีสภาพไปต่างจาก Fagin ที่เห็นในหนังแม้แต่น้อย สร้างความอึ้งทึ่งตกตะลึงงันเป็นอย่างยิ่ง
“He came on looking not far removed from what he looks like in the film. Of course I was bowled over by it and he got the part without another word.”
แม้ว่าตอนนั้น Guinness จะยังไม่ใช่นักแสดงภาพยนตร์ที่โด่งดังนัก แต่ในวงการละครเวทีน่าจะกลายเป็นตำนานไปเรียบร้อยแล้ว รับบทนี้ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ แต่ยังน้ำเสียงกดในลำคอ ภาษาพูด สายตา ท่าทางการเคลื่อนไหว สวมวิญญาณราวกับกลายเป็น Fagin ไปจริงๆ (นี่แตกต่างจากภาพลักษณ์/การแสดงช่วงหลังๆของ Guinness ที่มักเต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งผยอง จองหองอวดดีเป็นอย่างยิ่งเลยนะ)
แต่งหน้าโดย Stuart Freeborn อ้างอิงจากภาพวาดประกอบนิยายของ George Cruikshank ศิลปินเพื่อนสนิทขาประจำของ Dickens มีผลงานร่วมกันสามเรื่อง Sketches by Boz (1836), The Mudfog Papers (1837–38) และ Oliver Twist (1838)
เกร็ด: Freeborn คือนักแต่งหน้าที่กลายเป็นตำนานของ Hollywood ได้รับฉายาว่า ‘grandfather of modern make-up design’ ผลงานเด่นอาทิ แต่งหน้า Peter Sellers ใน Dr. Strangelove, ฝูงลิงใน 2001: A Space Odyssey, และออกแบบ Yoda ใน Star Wars Trilogy ฯ
Robert Guy Newton (1905 – 1956) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Shaftesbury, Dorset, ตอนอายุ 16 เริ่มจากเป็นนักแสดงที่ Birmingham Repertory Theatre ไต่เต้าขึ้นจนได้เล่นละครเวที West End สู่วงการภาพยนตร์เซ็นสัญญากับ Alexander Korda เรื่องแรก Fire Over England (1937) ได้รับการยืมตัวไป Hollywood อาทิ The Green Cockatoo (1937), Jamaica Inn (1939), Gaslight (1940), มีชื่อเสียงโด่งดังกับ Hatter’s Castle (1942), Henry V (1944), Oliver Twist (1948), Treasure Island (1950) ฯ ด้วยไลฟ์สไตล์ที่ดื่มเหล้าจัด กลายเป็น Alcholism เสียชีวิตเพียงอายุ 50 ปี
รับบท Bill Sikes หัวขโมยระดับมืออาชีพ อดีตเด็กปั้นของ Fagin จนเติบใหญ่ ไม่สามารถวางมือหรือสรรหาอาชีพสุจริตทำงานได้ ชีวิตไม่รู้จักคำว่าสุขสบาย เต็มไปด้วยความเครียดเก็บกด สะสมความรุนแรงซ่อนเร้นอยู่ภายใน พร้อมปะทุระเบิดออกได้ทุกเวลา และสามารถทำลายล้างทุกสิ่งอย่างรอบข้างให้พังทลายสิ้นสูญ
ภาพลักษณ์ของ Newton คือชายขี้เมาหัวรุนแรง ก็ไม่รู้ว่าเมาจริงๆหรือแกล้งเมา แต่มีความเหมือนมากๆ (ก็แน่ละ ตัวจริงขี้เมาขนาดนั้น) กอปรเข้ากับการแสดงเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ฉุนเฉียว ใช้ความรุนแรงแบบไร้เหตุผล เกรงกลัวต่อความตายแต่ไม่สนสำนึกถูกผิด
สำหรับ Oliver Twist จากกว่า 1,500 คนที่มาสมัครคัดเลือกนักแสดง ไม่มีใครมีภาพลักษณ์ตรงใจของผู้กำกับ เป็นโชคส้มหล่นของของ John Howard Davies (1939 – 2011) เด็กชายของเพื่อนคนรู้จัก ได้รับชักชวนมาทดสอบหน้ากล้องแล้วได้รับบทไป
แต่เพราะ Davies เพิ่มอายุ 8 ขวบ และกฎหมายการใช้แรงงานมีข้อกำหนดห้ามเด็กต่ำกว่าอายุ 13 ทำงานในสตูดิโอภาพยนตร์ เห็นว่า Lean ได้ใช้เส้นสายขออนุญาตต่อรองกับทางการได้สำเร็จ, Davies ตอนโตเคยให้สัมภาษณ์ถึงการแสดงครั้งนั้น
“[Lean] was unfailingly nice, unfailingly courteous. He used various devices on me. When I felt inhibited about doing something, he would often shoot the rehearsal. He wasn’t silly enough not to do the take. But I pretty soon cottoned on to this because my hearing was even better than his, with his large ears, and I could detect the sound of a Mitchell turning over.”
แถมท้ายกับ Kathleen ‘Kay’ Walsh (1911 – 2005) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Chelsea, London ตอนอายุ 17 เป็นนักเต้นที่ West End ภาพยนตร์เรื่องแรก How’s Chances? (1934) พบเจอผู้กำกับ Lean ขณะถ่ายทำ Secret of Stamboul (1936) ไม่นานนักได้แต่งงานกัน และแสดงภาพยนตร์สองเรื่องของสามี Great Expectations (1964) และ Oliver Twist (1948) หย่าร้างปี 1949 แต่งงานใหม่แทบจะทันทีในปีนั้น ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Horse’s Mouth (1958), The Ruling Class (1972) ฯ
รับบท Nancy หญิงสาวโสเภณีที่ก็คล้ายกับ Bill Sykes เป็นเด็กกำพร้าถูกเสี้ยมสั่งสอนโดย Fagin มิอาจทำอาชีพสุจริตหรือหนีไปไหนได้ไกล (เหมือนจะเป็นคนรักของ Sykes ด้วยนะ) ครั้งหนึ่งจำใจต้องลักพาตัว Oliver มาจากอ้อมอกของครอบครัวใหม่ นั่นทำให้เธอรู้สึกผิดอย่างรุนแรง ต้องการแก้ไขปรับปรุงตัวแต่ก็มิอาจทันสำเร็จลุล่วง
Walsh ไม่ได้แค่เป็นนักแสดงเท่านั้น เธอยังช่วยเหลือสามี ดูแลงานหลายๆอย่างในกองถ่าย รวมทั้งฉาก Prologue จากเดิมที่มีบทพูดสนทนาหลายประโยค แนะนำให้ตัดออกหมด ใช้ภาษากาย สายตา สะท้อนอารมณ์สื่อความหมายได้อย่างงดงาม
ถ่ายภาพโดย Guy Green (1913 – 2005) ตากล้อง/ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ หลังจากร่วมงานกับ Lean เรื่อง Great Expectations (1946) คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography หวนกลับมาทำงานกันอีกครั้ง
หนังทั้งเรื่องถ่ายทำในสตูดิโอ ผสมผสานระหว่างสิ่งก่อสร้างกับภาพวาดพื้นหลัง Matte Painting ออกแบบสร้างโดย John Bryan มีข้อตำหนิใหญ่ๆเลยคือ ‘ฉากมันสวยเกินไป’
“John Bryan made it bloody difficult, too, although his sets were wonderful to photograph.”
เพราะเรื่องราวของ Oliver Twist ควรต้องสะท้อนความสกปรกโสมม ของสังคมชนชั้นล่างในประเทศอังกฤษ มันควรที่จะอัปลักษณ์พิศดาร มากกว่าเห็นแล้วรู้สึกสวยงาม ด้วยเหตุนี้ Green จึงต้องมุ่งเน้นการใช้แสงเงาอย่างจำกัด เพื่อไม่ให้เห็นว่าฉากที่ออกแบบมามีความสวยงามมากเกินไป
ฉาก Prologue จัดเต็มเรื่อง Special Effect โดดเด่นมากตอนแม่ของ Oliver สั่นระฆัง ฝนตก ฟ้าแลบ ตะเกียงโคลงเคลง แสงไฟแกว่งไปมา เป็นอะไรที่ช่างงดงามแต่มีความน่าหวาดสะพรึงกลัวเสียเหลือเกิน
ตอนที่ Oliver พบเจอกับ Fagin ครั้งแรก แล้วมีการแสดงตัวอย่างอาชีพที่พวกเขากระทำกัน ทำให้ผมหวนนึกถึง Musical ของ Oliver! (1968) ขึ้นมาทันที แต่รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้จะทำออกมาได้ยอดเยี่ยมกว่า เพราะมันไม่มีคำร้อง แค่เฉพาะท่าทางการเคลื่อนไหวสีหน้าท่าทางของ Fagin สร้างความขบขันเฮฮา สมจริงจังมากกว่า
ผมชอบสุดตอนที่ Sykes เกิดความโมโหโทโส แสดงความเกรี้ยวกราดลงไม้ลงมือกับ Nancy แต่เพื่อลดการนำเสนอภาพความรุนแรง ตัดไปที่เจ้าหมาแสดงท่าทีลุกลี้ร้อนรน กรีดกรายทนรับไม่ได้ เห้ย! มันถ่ายทำยังไงถึงให้น้องหมาแสดงออกมาได้แบบนี้ อึ้งทึ้งไปเลย
(เห็นว่าทีมงานหลอกเจ้าหมาโดยการนำตุ๊กตาแมวโยนใส่ในตู้ มันจึงพยายามหาทาง … ทำอะไรของมันก็ไม่รู้ภาษาหมานะ)
สำหรับตอนจบ เป็นไดเรคชั่นที่เจ๋งอยู่นะ จะถ่ายให้เห็นคนตกตึกถูกแขวนคอตายมันคงรุนแรงสาหัสเกินไปสำหรับเด็ก เห็นแค่กระเบี้ยงหลังคาตกน้ำ เชือกจากหย่อนกลายเป็นตึง และปฏิกิริยาสีหน้าอันตื่นตกใจของ Oliver แค่นี้ก็น่าจะครุ่นคิดกันต่อเองได้ว่า มันบังเกิดอะไรขึ้น
ตัดต่อโดย Jack Harris ขาประจำในยุคแรกๆของผู้กำกับ Lean มีทั้งความฉับไวรวดเร็ว และค่อยๆเฟด Cross-Cutting แบบช้าเนิบ เพื่อสร้างสัมผัสความต่อเนื่องให้กับหนัง
แม้ส่วนใหญ่เรื่องราวจะดำเนินไปในสายตาของเด็กชาย Oliver แต่หลายครั้งก็จะตัดสลับ เล่าเรื่องในมุมของตัวละครอื่นๆ เพื่อเติมเต็มเรื่องราวในส่วนที่เหลือ
ความเจ๋งเป้งของการตัดต่อ คือการเลือกภาพเชิงสัญลักษณ์มาใช้อธิบายหลายๆอย่าง ลมแรงก็ตัดให้เห็นต้นไม้พริ้วไหวปลิว, พอฝนซาก็เห็นก้อนเมฆเคลื่อนผ่านพระจันทร์, มืดมากไปก็ใช้เชิงเทียนให้แสงสว่าง, น้องหมาสะท้อนความรุนแรง ฯ เล็กๆน้อยๆเหล่านี้สร้างความสวยงามสุดคลาสสิก ราวกับบทกวีที่มีสัมผัสด้วยความหมายสอดคล้องจอง
เพลงประกอบโดย Sir Arnold Edward Trevor Bax (1883 – 1953) คีตกวีชื่อดังสัญชาติอังกฤษ ‘Master of the King’s Music’ มีผลงานหลากหลายตั้งแต่ Symphony, Orchestra, Concerto, Chamber และภาพยนตร์ Oliver Twist (1948) เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น
ใช้วง Orchestra อธิบายเรื่องราวของหนังทั้งเรื่อง ในบทเพลงความยาวเพียงสองนาทีกว่าๆ เริ่มจากความเหน็ดเหนื่อยทุกข์ทรมานแทบขาดใจ แม่คลอดลูกชาย Oliver ออกมา จากนั้นประกายแห่งความหวังเริ่มต้นขึ้น เด็กชายเติบโตกลายเป็นคนขี้สงสัย มีความคิดอ่านต้องการเป็นของตนเอง พบเจอหลายสิ่งอย่างที่ชั่วร้าย แต่โชคชะตาชี้ชักนำพาเขาให้พบเจอคุณค่าของความดีในที่สุด
Oliver Twist เป็นเรื่องราวของเด็กชายผู้โชคร้าย จับพลัดจับพลูเติบโตขึ้นในสังคมอังกฤษ ยุคสมัยที่ยังไม่มีใครสนใจคุณค่าของมนุษย์ และความเสมอภาคเท่าเทียม ชนชั้นล่างของสังคม กรรมกรแรงงาน ต่างต่อสู้ดิ้นรนอย่างลำบากยากเข็น งานแสนหนักแต่ค่าแรงแสนถูก ขณะที่นายทุนพยายามทำทุกอย่างเพื่อลดต้นทุนแล้วได้รับผลผลิตมากๆ (กดค่าแรงต่ำๆ ขยายเวลาการทำงาน) นี่คือสิ่งเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นของโลกยุคอุตสาหกรรม ที่จะค่อยๆต่อยอดกลายเป็นระบอบทุนนิยมในไม่ช้า
ใจความของหนัง (ที่แตกต่างจาก Oliver!) ต้องการพูดถึงความสำคัญของเด็กๆ เป็นวัยที่ควรมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน เรื่อยเปื่อยไร้สาระไปตามประสา ได้รับโอกาสในการมีชีวิต เพื่อให้เกิดวิวัฒนาการสมวัยของตนเอง เติบโตขึ้นจะได้ไม่กลายเป็นผู้ใหญ่ชั่วๆแบบ Fagin, Sykes หรือตัวละครคอรัปชั่นอื่นๆที่พบเห็นได้เต็มไปหมด
หลังจาก Dickens ตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ชาวอังกฤษต่างตระหนักเห็นความโหดร้ายทารุณของความเป็นอยู่ในสมัยนั้น จึงพยายามปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งอย่างในทางที่ดีขึ้น คนจนมีงานทำ, สถานที่/สภาพการทำงานมีคุณภาพดีขึ้น, เด็กๆได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย ทำงานได้แต่อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม, พวกเขามีความเป็นอยู่อย่างสะดวกสบายขึ้น แต่ … ก็ใช่ว่าโลกจะสามารถพลิกเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือได้โดยทันที
วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ได้รับการวิพากย์วิจารณ์รุนแรงมากๆตั้งแต่ตอนตีพิมพ์ปีแรกๆ คือตัวละคร Fagin มีลักษณะของชาว Jews ซึ่งการสร้างให้เป็นศูนย์กลางของความชั่วร้าย มองได้ว่าเป็นการ Anti-Semitic (ต่อต้านชาวยิว), เห็นว่า Lean ได้รับคำเตือนจากกองเซนเซอร์ของอังกฤษ รวมถึงนักแต่งหน้า Stuart Freeborn เสนอให้ลดความเหมือนชาวยิวของตัวละครนี้ลงไป แต่ผู้กำกับปฏิเสธแนวคิดนั้น ยืนกรานให้เหมือนดั่งที่ตั้งใจไว้ ผลลัพท์ออกมาเลยสร้างความอ่อนไหวรุนแรงต่อผู้ชมหลายประเทศพอสมควร
ผู้กำกับ Lean มีความสนใจอะไรกันแน่ในการดัดแปลงวรรณกรรมเยาวชนของ Charles Dickens ถึงสองเรื่องติดๆ, ส่วนตัวค่อนข้างเชื่อว่า นี่เป็นผลสะท้อนจากการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะนั้นสภาพสังคมในประเทศอังกฤษ (และทั่วโลก) และการกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัย Great Depression เด็กๆที่กำลังเติบโตขึ้นในโลกยุคสมัยนี้ ช่างมีความน่าวิตกกังวลห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง
ซึ่งสาสน์จากวรรณกรรมเยาวชนคลาสิกเรื่องนี้ ยังคงใช้ได้ในสมัยนั้น (และปัจจุบัน) ผู้ใหญ่ควรจะทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ เพราะพวกเขายังสามารถถูกชี้ชักนำทางเข้าสู่วงจรวิถีวัฎจักรแห่งความชั่วร้ายได้ไม่ยาก ซึ่งถ้าหลงผิดไปก็อาจกู่ไม่กลับแบบ Fagin, Sykes หรือตัวละครคอรัปชั่นอื่นๆที่พบเห็นได้เต็มไปหมด
ต้องถือว่า Oliver Twist ถือว่าเป็นนิทานสอนผู้ใหญ่ มากกว่าความบันเทิงสำหรับเด็กเสียอีกนะ
หนังไม่มีรายงานทุนสร้างและรายรับ ระบุแค่ทำเงินติดอันดับ 5 ในตาราง Boxoffice ประจำปี 1948 ของประเทศอังกฤษ, กระนั้นด้วยภาพลักษณ์ Anti-Semitic ของ Fagin ทำให้ถูกถอดจากโปรแกรมฉายที่ประเทศ Germany, แบนในประเทศ Israel, Egypt, ส่วนอเมริกาเข้าฉายปี 1951 ตัดหลายฉากของ Guinness ออกไป แม้จะยังได้รับเสียงวิจารณ์ดีล้นหลาม แต่ไม่ประสบความสำเร็จหรือได้เข้าชิง Oscar แบบเดียวกับ Great Expectations
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากกว่า Oliver! ฉบับ Musical โดยเฉพาะลีลาไดเรคชั่นของผู้กำกับ David Lean มีความเฉลียวฉลาดหลักแหลม สวยงามมีเสน่ห์กว่าเป็นไหนๆ และการแสดงของ Guinness โฉดชั่วแบบมีระดับลึกล้ำ (ขณะที่ Ron Moody ฉูดฉาดด้วยไปด้วยลีลาท่าทาง)
ผมจัดให้ Oliver! (1968) “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แต่คุณสามารถเลือกรับชม Oliver Twist (1948) ฉบับนี้ของผู้กำกับ David Lean แทนได้เลย หรือใครหลงใหลชื่นชอบวรรณกรรมเยาวชนของ Charles Dickens ก็ไม่ควรพลาดเลยนะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คอหนังคลาสสิก หลงใหลในไดเรคชั่น ภาษาภาพยนตร์ แฟนๆผู้กำกับ David Lean และนักแสดงคู่บารมี Alec Guinness ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ เรื่องราวสะท้อนความชั่วร้ายนานัปการ มุมมืดของโลก ผู้ใหญ่ควรนั่งดูกับเด็กเล็ก ให้คำแนะนำไปด้วยได้จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง
Leave a Reply