Olympia 1938

Olympia (1938) German : Leni Riefenstahl ♥♥♥♥♡

ทุกสิ่งที่คุณเห็นในหนังเรื่องนี้ อาจไม่ใช่สิ่งใหม่เลย แต่มันคือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ของการบันทึกภาพการแข่งขันกีฬา ทุกช็อต ทุกมุมกล้อง ทุกการตัดต่อ ทำให้ Leni Riefenstahl กลายเป็นผู้กำกับหญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

เป็นเวลา 42 ปี นับจากโอลิมปิกครั้งแรก 1896 Summer Olympics จัดขึ้นที่กรุง Athens ประเทศ Greece จนถึงโอลิมปิกครั้งที่ 11 เมื่อปี 1936 Berlin Summer Olympics นี่เป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกภาพการแข่งขันของมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

โอลิมปิกในสมัยก่อน เป็นการแข่งขันกีฬาที่แฝงไปด้วยเรื่องของการเมือง (ปัจจุบันก็ยังมีอยู่แต่ถือว่าลดลงมาก) เช่นกันกับการบันทึกภาพการแข่งขันในหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นหนังที่มีจุดประสงค์แฝง เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของพรรคนาซี และทัพนักกีฬา German สู่สายตาชาวโลก

ตอน Adolf Hitler ก้าวเข้าสู่อำนาจเป็นผู้นำ Nazi ใหม่ๆ (เป็น Führer เมื่อปี 1934) เขาไม่ต้องการให้มีการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในประเทศ (โหวตเลือกเจ้าภาพเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 1931 ก่อนที่ Hitler จะขึ้นมามีอำนาจ) เพราะไม่อยากเห็นชนชาติ เผ่าพันธุ์ที่ด้อยกว่า เอาชนะทัพนักกีฬาของชาติตนเอง แต่เมื่อคิดได้ว่า ในทางกลับกัน นี่สามารถเป็นการประชาสัมพันธ์แนวคิด อุดมการณ์ของตนสู่สายตาชาวโลก จึงอนุญาติให้ดำเนินการต่อ และสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่ Hitler ใช้คือการบันทึกภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

หลังจากได้รับความยกย่องอย่างมากจากการทำหนัง Nazi Propaganda เรื่อง Triumph of the Will, Hitler ได้ขอให้ Leni Riefenstahl บันทึกภาพการแข่งขัน Summer Olympics ครั้งที่ 11 ที่กำลังจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-16 สิงหาคมปี 1936 ที่กรุง Berlin, Germany ซึ่งเธอก็ไม่ปฏิเสธเลย แถมยินดีอย่างมาก, หนังได้ทุนจาก German Olympic Committee เป็นจำนวนเงินสูงถึง $7 ล้านเหรียญ

เกร็ด: นี่เป็น Olympic ครั้งแรกที่การแข่งขันจะถูกถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์และวิทยุ ส่งถึง 41 ประเทศทั่วยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่น

หนังแบ่งออกเป็น 2 ภาค ประกอบด้วย
Olympia 1. Teil – Fest der Völker (Festival of Nations) เริ่มตั้งแต่วิ่งคบเพลิง เดินขบวนพิธีเปิด การแข่งขันกรีฑาทั้งลู่และลาน ในสนามกีฬาหลัก ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย
Olympia 2. Teil – Fest der Schönheit (Festival of Beauty) นำเสนอการแข่งขันกีฬาประเภทอื่นๆ (นอกจากกรีฑา) อาทิ กีฬาทางน้ำ, ยิมนาสติก, ชกมวย, ขี่ม้า, ปั่นจักรยาน ฯ

กับฉากเปิดเรื่องใน Olympia ภาคแรก เริ่มต้นจากภาพเศษซากปรักหักพังของเมือง นั่นคือกรีกนะครับ, Riefenstahl เดินทางไปยังประเทศ Greece เพื่อบันทึกภาพจากสถานที่จริง ก่อนตามด้วยนักกีฬาเปลือย ที่ค่อยๆเคลื่อนไหว (slow-motion) ตามท่าทางกีฬาประเภทต่างๆ (ท่าที่เห็นในฉากนี้ จะคือกีฬาที่มีทั้งหมดในหนังภาคนี้) จากนั้นมีการจุดคบไฟ (Torch Relay) ออกวิ่งสู่ Berlin, Germany เพื่อเริ่มต้นพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก

สิบนาทีแรกของหนัง อาจทำให้หลายคนสงสัย นี่ฉันกำลังดูอะไรอยู่ มันมีเหตุผลแฝงของการบันทึกภาพเช่นนี้อยู่นะครับ, ในมุมของนาซี มีความเชื่อเรื่องชาติพันธุ์ของตนว่ายิ่งใหญ่กว่าคนอื่น ท่าทางการเคลื่อนไหวของนักแสดง เราจะเห็นกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ เหงื่อเป็นหยดๆ นี่หมายถึง ‘ความสมบูรณ์แบบ’ ของร่างกายมนุษย์ แน่นอนนักแสดงคนนั้นไม่ใช่ชาวกรีก แต่คือ German นี่เป็นการพูดกลายๆว่า ฉันนี่แหละยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น!

เมื่อหนังเข้าสู่สนามกีฬา เราจะได้เห็นมุมมอง เทคนิคการถ่ายภาพที่ถือว่าล้ำสมัยมากๆในสมัยนั้น, ให้ลองคิดดูนะครับ ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีมาก่อน กับการบันทึกภาพการแข่งขันในสนามกีฬา จะตั้งกล้องไว้ตำแหน่งไหน? ถ่ายยังไง? ถ่ายอะไรบ้าง? ถ่ายใคร? นี่ล้วนเป็นปริศนาที่ยังไม่เคยมีใครคิดมาก่อน ซึ่งสิ่งที่เราเห็นทั้งหมดนี้ ล้วนมาจากมันสมองของผู้กำกับ Leni Riefenstahl ที่แสดงถึงอัจฉริยภาพในการคิด เลือกมุมกล้อง เทคนิค และวิธีการนำเสนอ, ความท้าทายคือ ทุกการแข่งขัน พลาดแล้วพลาดเลย ไม่มีซ้ำสอง (ใครมันจะมาวิ่ง 100 เมตรแข่งกัน 2 รอบ) ทีมงานต้องมีการซักซ้อม เตรียมการ วางแผนมาเป็นอย่างดี จะให้พลาดไม่ได้โดยเฉพาะช่วงเวลาสำคัญชี้เป็นชี้ตาย ต้องเก็บภาพนั้นให้จงได้

เทคนิคที่หนังเรื่องนี้ใช้ อาทิ Tracking Shot (นี่เป็นหนังสารคดีเรื่องแรกที่ใช้เทคนิคนี้), ในฉากวิ่งใช้การแพนกล้องจากบนสเตเดียม ติดตามนักกีฬา (Panoramic Aerial Shots), Extreme Close-Up เห็นกล้ามเนื้อเป็นมัดๆของนักกีฬา, Extremely High และ Low Shooting Angles (ถ่ายภาพมุมเงยสูง ของกระโดดค้ำถ่อ มุมต่ำสุดๆสำหรับฉากวิ่ง), Underwater Diving Shots (ถ่ายใต้น้ำ) ฯ ปัจจุบันเทคนิคเหล่านี้ หลายๆอย่างได้กลายมาเป็น ‘มาตรฐาน’ ของการถ่ายภาพแข่งขันกีฬา ที่เราจะเห็นได้ตามการถ่ายทอดสดกีฬาแทบทุกประเภท

การตัดต่อ ด้วยฟุตเทจที่ว่ากันว่ายาวถึง 1.3 ล้านฟุต (400,000 เมตร) Riefenstahl ได้สร้างเทคนิคพิเศษสำหรับการตัดต่อหนังเรื่องนี้ขึ้นมา, เธอมีลูกมือ 2 คน ที่คอยจดบันทึกว่า ฟุตเทจที่กำลังดูอยู่นี้ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ โดยใช้กระดาษสีแปะแยกฟีล์มแต่ละม้วน (color-system) สีแดงใช้ได้, สีน้ำเงินเก็บไว้ก่อน, สีดำเก็บเข้า Archive, สีขาวทิ้งไปเลย เป็นต้น ใช้เวลาทั้งสิ้น 10 สัปดาห์ วันละ 10 ชั่วโมง นั่งดูฟีล์มทุกม้วนจนหมด ก่อนเริ่มเข้าสู่การตัดต่อจริงๆ

หนังเรื่องนี้ไม่มีเสียงบรรยายประกอบ แต่จะมีแค่เสียงโฆษกในสนามเป็นภาษา German ถ้าใครสามารถหา Subtitle อ่านได้หรือฟัง German เข้าใจ จะรู้เลยว่าการบรรยายนี้ ล้วนแต่มีคำพูดที่โคตรเหยียดเลยละครับ เช่น ขณะแข่งขันวิ่ง 800m ‘คนผิวดำ 2 คนวิ่งแข่งกันคนผิวขายที่แข็งแรงที่สุด’ (Two black runners against the strongest of the white race,) ผลลัพท์คือว่า คนผิวดำได้ที่ 1 กับ 3 สร้างความไม่พอใจให้กับกองเชียร์อย่างมาก (ยกเว้นกองเชียร์อเมริกัน), เสียงบรรยายนี้ ไม่ได้มีความตื่นเต้นเร้าใจเท่าไหร่ แค่พูดว่าเกิดอะไรขึ้น การแข่งขันเป็นอย่างไร ไม่ใช่มีการบรรยายแบบลุ้นระทึกนั่งไม่ติดเก้าอี้แบบสมัยปัจจุบัน

เพลงประกอบโดย Herbert Windt และ Walter Gronostay, นอกจากเพลงชาติของชาติต่างๆที่จะได้ยินขณะรับเหรียญรางวัลแล้ว หนังยังจัด Orchestra แบบเต็มวง ที่เข้ากับบรรยากาศการแข่งขันกีฬา มีทั้งสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าอารมณ์ เมื่อผสมเสียงเชียร์ของผู้ชมเข้าไปแล้ว มันดูยิ่งใหญ่อลังการมากๆ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงท้ายของภาคแรก การแข่งขันมาราธอน ที่เพลงประกอบจะค่อยๆเร้าอารมณ์ผู้ชมขึ้นเรื่อยๆ พอผู้นำวิ่งเข้าสู่สนาม เสียงเชียร์ดังกระหึ่ม นี่เป็นบรรยากาศที่ยิ่งใหญ่มาก ทำเอาผมน้ำตาซึม ไม่ใช่น้ำตาแห่งความเสียใจ แต่เป็นความประทับใจในความทุ่มเทของนักกีฬาที่ยากจะลืมเลือน

หนังเรื่องนี้ถือว่าได้แจ้งเกิดให้กับนักกีฬาดังๆมากมาย ในภาคแรก ที่ดังที่สุดคงเป็น Jesse Owens นักกีฬาผิวสีทีมชาติอเมริกา (เห็นบ่อยจนจำหน้าได้เลยละ) ที่กวาดไปถึง 4 เหรียญทองจาก วิ่ง 100 m, 200 m, 4×100 m และกระโดดไกล (Long jump), ตอนกระโดดไกล คู่แข่งของ Owen คือ Luz Long นักกีฬาทีมชาติ German ขณะกระโดดได้ 7.83 เมตร ทำลายสถิติยุโรป กองเชียร์ German เฮลั่น รวมถึง Hitler ก็มีท่าทียินดี แต่พอ Owen กระโดดครั้งสุดท้าย สถิติ 8.06 เมตร คว้าเหรียญทอง ทำเอากองเชียร์จ๋อยไปเลย และ Hitler ถึงกับหัวเสียมาก (แต่หนังตัดภาพ Hitler ออกไป)

เกร็ด: มีหนังที่ดัดแปลงเรื่องราวของ Jesse Owens เรื่อง Race (2016) ผมจะเขียนหนังเรื่องนี้แน่นอนนะครับ

สำหรับภาค 2 นักกีฬาที่ดังที่สุดน่าจะเป็น Glenn Morris นักกีฬา Decathlon (กรีฑาสิบประเภท) ทีมชาติอเมริกา ที่คว้าเหรียญทองมาได้ ซึ่งขณะที่ Riefenstahl ถ่ายเขาช่วยรับเหรียญ เธอบอกว่า ‘ไม่เคยมาก่อนที่จะพบคนที่มีความน่าสนใจขนาดนี้’ (Never before had I experienced such passion) ซึ่งพอเธอตระหนักได้ว่า ไม่ได้ถ่ายตอนเขาวิ่ง 5,000 เมตร จึงไปขอให้เขาวิ่งอีกรอบ ซึ่ง Morris ก็ตกลงที่จะวิ่งเพื่ออีก 5,000 เมตรในวันถัดมา เพื่อให้เธอโดยเฉพาะ

เกร็ด: ว่ากันว่า Morris กับ Riefenstahl ได้เสียกลายเป็นชู้กันขณะถ่ายหนังเรื่องนี้ด้วย แต่พอ Morris กลับประเทศกันก็น่าจะไม่ได้เจอกันอีก

Olympia ฉายรอบปฐมทัศน์ในงานวันเกิดครบรอบ 49 ปีของ Hitler เมื่อวันที่ 20 เมษายนปี 1938 ตามต่อด้วยฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice และสามารถคว้ารางวัล Mussolini Cup (Best Foreign Film) มาครองได้, นี่เท่ากับเป็นการเปิดประตูสู่ hollywood อย่างเต็มตัวของ Riefenstahl เธอเดินทางไปอเมริกาเพื่อโปรโมทหนัง ได้รับการติดต่อจาก Louis B. Mayer และ Walt Disney ที่อาจได้ร่วมงานกันต่อไป แต่กลายเป็นว่าโชคไม่เข้าข้างเธอ เพราะ 5 วันหลังจากที่ไปถึงอเมริกา มีข่าวเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นในค่ายกักกันนาซี ทำให้โปรดิวเซอร์ทั้งหลายต้องขอยกเลิก นี่ทำให้ Riefenstahl หมดโอกาสที่จะแจ้งเกิดในอเมริกาทันที

สมัยนั้นคงมีหลายคนที่มองว่า Olympia เป็นหนัง Nazi Propaganda ประเภทหนึ่ง ซึ่งตัวหนังเองก็มีสิ่งที่แสดงถึงทัศนคติของ Riefenstahl ต่อความดูถูกดูแคลนชาติอื่นๆ, ผมมองว่าหนังเรื่องนี้มีค่ามากกว่านั้นนะครับ ไม่ใช่ทุกการแข่งขันที่เราจะเห็น German เป็นผู้ชนะทั้งหมด มีทั้งแพ้ชนะ และดาวเด่นของหนังอย่างที่ผมบอกไปแล้ว ทั้งสองภาคไม่ใช่คน German ด้วยซ้ำ นี่ถือว่า Olympia เป็นมากกว่าแค่หนังชวนเชื่อของนาซีแน่นอน

ในช่วงปีที่ Riefenstahl รู้จักกับ Hitler เธอเคยพูดชื่นชมเขาอย่างออกนอกหน้า ‘ว่าเป็นชายผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก’ แต่เมื่อความจริงถูกเปิดเผย เธออ้างว่า ‘ไม่รู้สิ่งที่เกิดขึ้นในค่ายกักกันของนาซี’ ข้ออ้างนี้อาจฟังไม่ขึ้นสำหรับหลายๆคน แต่ทุกครั้งที่เธอขึ้นศาลเพื่อต่อสู้คดีที่เป็น สหายร่วมอุดมการณ์ เธอจะชนะคดีตลอด เรื่องความบริสุทธิ์ใจนั้นไม่รู้ แต่ทางกฎหมาย เธอเป็นผู้บริสุทธิ์ 100%

กระนั้นมันก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีใครกล้าให้โอกาสเธอนะครับ, การเป็นผู้กำกับของ Hitler ทำให้เธอสูญเสียโอกาสโดยสิ้นเชิงที่จะสร้างหนังของตนเอง หรือแจ้งเกิดในระดับโลก, หลังสงครามจบ เธอทำหนังได้อีกเพียงเรื่องเดียวคือ Tiefland (1954) ก่อนที่จะยุติบทบาทของผู้กำกับลงโดยสิ้นเชิง (แต่ก็มีหนังอีกเรื่องเป็นสารคดี ฉายตอนเธออายุครบ 100 ปี เรื่อง Impressionen unter Wasser-2002) ถือว่าน่าเสียดายจริงๆ ที่เรามีโอกาสดูหนังของเธอแค่ไม่กี่เรื่อง ตอนผมเขียนรีวิว Triumph of the Will เปรียบเทียบเธอว่าเป็น Orson Welles ของ Germany แต่หลังจากดูหนังเรื่องนี้ มันควรเป็น Orson Welles ต่างหากที่เป็น Leni Riefenstahl ของอเมริกา

เกร็ด: Citizen Kane หนังเรื่องแรกของ Welles ฉายปี 1941 ขณะที่ Triumph of the Will ฉายปี 1935 และ Olympia ฉายปี 1938 ใครเป็นแรงบันดาลใจใครดูจากปีที่สร้างก็น่าจะรู้นะครับ

Riefenstahl เคยออกมาพูดว่า เธอไม่เคยมองหนังของตัวเอง มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง แม้แต่ Triumph of the Will ก็สามารถมองว่าเป็นสารคดีที่บันทึกชีวประวัติชายผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น และ Olympia ก็ไม่ได้มีความตั้งใจจะนำเสนอแค่ Germany เท่านั้น, ผมพูดไว้ตลอดนะครับ ภาพยนตร์ ไม่มีดีและชั่วในตัวมันเอง แต่ความตั้งใจของผู้กำกับ และการตีความของผู้ชม ที่จะบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนั้น ดีหรือชั่ว, หนังเรื่องนี้ ความตั้งใจไม่รู้ แต่การตีความของผม หนังมีค่ามากกว่าแค่ชวนเชื่อแน่นอน

ในปี 2005 นิตยสาร TIME จัดอันดับหนังเรื่องนี้ให้ติด All-TIME 100 Movies ร้อยภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล

นี่เป็นหนังที่อาจหาดูยากเสียหน่อย และมันอาจไม่ได้มีความสนุกอะไรเลย กระนั้นถ้ามีโอกาสก็ขอแนะนำนะครับ เพราะหนังได้บันทึกภาพประวัติศาสตร์ที่สำคัญของโลกไว้, ผมดูไปขนลุกไป ชื่นชมในอัจฉริยภาพของ Leni Riefenstahl เธอสามารถคิดและกำกับทั้งหมดนี่ได้ยังไง เก่งมากๆ บ้ามากๆ แต่ก็สุดยอดมากๆ

แนะนำอย่างยิ่งกับนักข่าว ช่างภาพสายกีฬา ควรที่จะต้องดูไว้ศึกษาเลยนะครับ, คนทำงานสายภาพยนตร์ก็เช่นกัน, นักกีฬาและคนที่ชื่นชอบการชมกีฬาก็ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG แอบมีภาพนู้ดนิดนึง เด็กๆดูได้ แต่คงทนได้ไม่นานเท่าไหร่

TAGLINE | “Olympia 1938 คือจุดเริ่มต้นของการบันทึกภาพการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และ Leni Riefenstahl คือผู้กำกับหญิงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Best of Olympics Films | RAREMEAT BLOG Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] Olympia (1938)  : Leni […]

%d bloggers like this: