On Her Majesty’s Secret Service (1969)
: Peter R. Hunt ♥♥♥♥♡
James Bond ภาคนี้ตอนออกฉาย ถูกนักวิจารณ์สับเละ รับไม่ได้กับ 007 คนใหม่ George Lazenby แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ยอดพยัคฆ์ราชินี ได้กลายเป็นหนังที่ถูกใจผู้กำกับดังมากมาย เป็นหนังโปรดของ Steven Soderbergh และ Christopher Nolan, ถ้า Goldfinger คือหนังบอนด์ที่นักวิจารณ์หลงรักที่สุด On Her Majesty’s Secret Service จะคือหนังบอนด์ที่บรรดาผู้กำกับหลงใหลที่สุด, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
หลังจาก You Only Live Twice (1967) ขณะที่กำลังจะเริ่มสร้าง On Her Majesty’s Secret Service ภาคต่อไป Sean Connery ได้ออกมาประกาศว่า พอแล้วกับบท James Bond นี่ทำให้โปรดักชั่นหนังเกิดความล่าช้าไป 1 ปีเต็มๆ (จะเห็นว่าตั้งแต่ Dr.No ถึง Thunderball หนัง James Bond ฉายปีติดๆต่อเนื่องกันมา) เพื่อคัดเลือกนักแสดงคนใหม่ และรอช่วงฤดูหิมะตก จะได้ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ได้
On Her Majesty’s Secret Service เป็นนิยายลำดับที่ 10 ของ Ian Fleming ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 1963 เดือนแรกขายได้เกิน 60,000 เล่ม (ขายหมดเกลี้ยง), ตอนแรก Fleming ตั้งชื่อนิยายว่า The Belles of Hell (นี่น่าจะระฆังแต่งงาน) ภายหลังได้เปลี่ยนตามชื่อเรือลำหนึ่ง ที่อยู่ในนิยาย On Her Majesty’s Secret Service (ใครเคยเล่นเกม Assassin’s Creed IV Black Flag น่าจะเคยได้ยิน Legendary Ship HMS ย่อมาจากคำว่า Her Majesty Service)
เป็นนิยายเรื่องที่ 2 ของ Blofeld Trilogy (เริ่มต้นจาก Thunderball จบลงที่ You Only Live Twice), เรื่องราวดำเนินต่อจากที่ James Bond ออกตามหา Ernst Stavro Blofeld หลังเหตุการณ์ Thunderball ได้ติดต่อกับ College of Arms (สถาบัน/หน่วยงาน ที่เก็บสะสมรายละเอียด เชื้อสายวงศ์ตระกูลของขุนนางอังกฤษ) และพบว่า Blofeld อยู่ที่ Switzerland, ระหว่างนั้น Bond ได้พบกับ Contessa Teresa ‘Tracy’ di Vicenzo ตกหลุมรักและแต่งงานกัน
ในนิยายมีเกร็ดหนึ่งที่น่าสนใจ เริ่มต้นเรื่องจากการที่ Bond ไปเยี่ยมหลุมศพของ Vesper Lynd (ผู้หญิงคนแรกที่ Bond ตกหลุมรัก) แต่ฉบับหนังยังไม่เคยแนะนำตัวละครนี้เลย จึงไม่สามารถมีฉากนี้ได้, ซึ่งตอนที่ Bond ขอ Tracy แต่งงาน มันจะมีความรู้สึกบางอย่างแฝงอยู่ด้วย (เพราะ Bond ไม่ใช่คนที่จะตกหลุมรักใครง่ายๆ กับคนที่เคยอ่านหรือดู Casino Royale มาแล้ว จะมีความรู้สึกคุ้นๆใน ความน่ารักของ Tracy คล้ายกับ Lynd มากๆ) ซึ่งเมื่อถึงฉากตอนจบ … (เป็นไปได้พยายามหลีกเลี่ยงสปอยนะครับ ในบทความนี้ไม่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง) คุณจะช็อกแบบถึงที่สุด
เกร็ด: ชีวิตจริงของ Fleming ในยุค 30s เขาเคยไปเล่นสกีที่ Kitzbühel, Austria และได้พบกับหิมะถล่ม (avalanche) เหตุการณ์ในนิยายฉากนี้ ก็มาจากประสบการณ์ตรงที่ถูกฝังในหิมะ รอดตายมาได้ (ยังไงก็ไม่รู้)
Peter R. Hunt หลังจากเป็นคนตัดต่อหนังแฟนไชร์ James Bond มาแล้ว 5 เรื่อง ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจาก Harry Saltzman และ Albert R. Broccoli เป็นอย่างดี ได้เป็นผู้กำกับ Second Unit ใน You Only Live Twice และได้รับความไว้วางใจสูงสุดให้เป็นผู้กำกับ On Her Majesty’s Secret Service, ความตั้งใจของ Hunt ต้องการทำ James Bond ภาคนี้ออกมาให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สุด ในความเชื่อเรื่องการตัดต่ออันรวดเร็วทำให้เกิดสไตล์ เขาเอาแนวคิดจากสายงานที่เคยทำนี้ มาปรับใช้ให้เข้ากับสไตล์การกำกับภาพยนตร์
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Richard Maibaum (อีกแล้ว) หลังจากที่ไม่ว่างตอน You Only Live Twice กลับมาอีกครั้งเป็น James Bond เรื่องที่ 4, ครานี้ได้รับมอบหมายให้ดัดแปลงบทภาพยนตร์ที่เคารพต้นฉบับเปะๆ (ตรงข้ามกับ You Only Live Twice ที่แต่งเรื่องราวขึ้นใหม่ล้วนๆ) ตัดออกเฉพาะส่วนที่ไม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับภาคอื่นได้, ได้ยินว่าขณะถ่ายทำผู้กำกับ Hunt จะพกนิยายเล่มนี้ติดตัว เพื่ออ้างอิงเหตุการณ์ทุกสิ่งอย่าง ให้ตรงเปะๆกับในหนังสือเลย
หลังการสละเรือของ Sean Connery มีนักแสดงมากมายที่ได้รับการคาดการณ์ เป็นตัวเกร็งรับบท James Bond ประกอบด้วย John Richardson (ชาวอังกฤษ), Hans De Vries (ชาวดัช), Robert Campbell (ชาวอเมริกา), Anthony Rogers (ชาวอังกฤษ) ก่อนสุดท้ายจะตกเป็นของนักแสดงออสเตรเลียน George Lazenby ผู้ไม่เคยมีประสบการณ์การแสดงมาก่อนในชีวิต
เกร็ด: Sean Connery ได้รับข้อเสนอค่าตัวถึง $1 ล้านเหรียญ แต่เขายังบอกปฏิเสธ, กระนั้นเขากลับกลืนน้ำลายตัวเอง กลับมาเล่นหนัง Bond อีก 2 เรื่อง 2 คราหลังจากนี้
เหตุผลที่ผู้สร้างเลือก Lazenby เพราะการได้เห็นโฆษณา Fry’s Chocolate Cream ที่ Lazenby แต่งตัวคล้ายๆกับ James Bond ใส่สูทผูกไทด์ สวม Rolex ท่าทางการเดินของเขา ดูเหมือน Sean Connery มากๆ จึงได้รับข้อเสนอให้มาคัดตัว, ตอนที่ Broccoli ตัดสินใจเลือก เป็นขณะที่เห็น Lazenby บังเอิญชกหน้านักมวยปล้ำอาชีพ ที่เป็น Stuntman เข้ามาช่วยทดสอบหน้ากล่อง เขารู้สึกว่าชายคนนี้มีความรุนแรงที่น่าสนใจแฝงอยู่, ในสัญญาทาส Lazenby เซ็นไว้ 7 เรื่อง แต่เขาตัดสินใจเล่นภาคเดียว ด้วยเหตุผล รู้สึกเหมือนถูกกดขี่จากโปรดิวเซอร์ … Lazenby ตัวจริงเป็นพวกโลกส่วนตัวสูง เอาแต่ใจ และเรื่องมาก (พูดง่ายๆว่าติสต์แตก) คิดว่าตัวเองเก่ง ฉลาด จึงไม่ชอบอยู่ภายใต้คำสั่งใคร, ผิดกับ Sean Connery ที่(อาจ)ฝืนตนเองอยู่หลายปีกับบทนี้ แต่เขาก็รวยเละเทะกลายเป็นเศรษฐีจากส่วนแบ่งกำไรหนัง ผิดกับ Lazenby ที่พอแก่วัยตกอับ ไม่มีใครจ้าง เงินติดตัวสักแดงก็ไม่มี นี่เรียกว่า ทำตัวเองนะครับ
การแสดงเป็น James Bond ของ Lazenby แน่นอนไม่ใช่ที่ยอดเยี่ยมที่สุด แต่ถือว่ามีความเซ็กซี่ แข็งแกร่ง คล่องตัว แฝงความน่ารัก อ่อนไหว, ฉากที่ผมชอบที่สุด คือตอนที่ Bond ถูกล้อมทุกด้านจนมุม นั่งลงบนเก้าอี้ใกล้ๆลานสเก็ตน้ำแข็ง สีหน้าของเขาอ่อนแรง เหนื่อยล้า สิ้นหวัง หาทางออกไม่ได้ ขณะนั้นมีนางฟ้ามาโปรด Tracy ที่ทำให้เขาเหมือนฟื้นคืนชีพ ตื่นขึ้นจากขุมนรก
Countess Tracy di Vicenzo รับบทโดย Diana Rigg นักแสดงชาวอังกฤษ ผู้สร้างเลือกเธอจากการได้เห็นผลงานในทีวีซีรีย์เรื่อง The Avengers (แบบเดียวกับที่เลือก Honor Blackman ใน Goldfinger) นักแสดงคนอื่นที่ได้รับการติดต่อคือ Brigitte Bardot (บอกปัดเพราะรับปากเรื่องอื่นไปแล้ว), ความสวยของเธอมีเสน่ห์ที่น่าหลงใหล (มองผ่านๆดูไม่น่ารักเท่าไหร่ แต่ถ้ามองนานๆจะหลงใหลจนคลั่งไคล้) สิ่งที่ Bond หลงในตัวเธอ คงจะคือความเฉลียวฉลาด ห้าวหาญ กล้าทำในสิ่งที่คนอื่นคาดไม่ถึง (เป็นผู้หญิงที่ชอบข่มผู้ชาย แต่มาเจอ James Bond กลับข่มไม่ลง) นิสัยแบบเดียวกับ Vesper Lynd เลยนะครับ… นี่สินะ สเป็คผู้หญิงของ James Bond
Telly Savalas รับบท Ernst Stavro Blofeld หรือ Comte Balthazar de Bleuchamp, อาจมีคนสงสัยทำไมต้องเปลี่ยนนักแสดงที่รับบท Blofeld คำตอบจริงๆอยู่ใน You Only Live Twice ที่ Blofeld ชอบทำศัลยกรรม (Plastic surgery) เปลี่ยนแปลงใบหน้าของตนไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ใครจดจำตัวต้นที่แท้จริงของเขาได้ (ข้ออ้างหน้าด้านๆเลยนะเนี่ย), ถ้าลำดับตามนิยาย Bond กับ Blofeld พบกันครั้งแรกใน On Her Majesty’s Secret Service นะครับ แต่เพราะหนังสร้าง You Only Live Twice ก่อน ผู้ชมส่วนใหญ่คงรู้สึกแปลกๆ เพราะ Bond เจอกับ Blofeld มาแล้ว แต่ดันทำเป็นไม่รู้จักกันภาคนี้ (เพราะหนังอ้างอิงนิยายเป็นหลัก จึงดำเนินเรื่องในลักษณะ ทั้งสองไม่เคยรู้จักมาก่อน)
จริงๆเหตุผลที่เปลี่ยน เพราะ Blofeld ภาคนี้ต้องมีฉากต่อสู้ที่ใช้ร่างกายค่อนข้างมาก ซึ่ง Donald Pleasence (ที่รับบทใน You Only Live Twice) มีร่างกายไม่เอื้ออำนวยเสียเท่าไหร่ Broccoli จึงแนะนำกับ Hunt ให้ใช้บริการของ Telly Savalas ที่หนุ่มแน่น แข็งแรงกว่า, การแสดงของ Savalas ต้องบอกว่า แอบผิดหวัง หรือไม่รู้เพราะผมติดภาพ Blofeld ของ Pleasence มากระมัง ในท่าทางที่สุขุมเยือกเย็น เฉลียวฉลาด โหดเหี้ยมแบบมีสไตล์ ซึ่ง Savalas ตีความ Blofeld ให้มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ดูแล้วไม่เหมือนคนใช้สมองเสียเท่าไหร่ (เน้นแต่ใช้กำลัง)
ลูกน้องของ Blofeld ภาคนี้ต้องพูดถึงเลยคือ Ilse Steppat (ชาว German) รับบท Irma Bunt ภาพของเธอทำให้ผมนึกถึง Lotte Lenya ที่รับบท Rosa Klebb ใน From Russia With Love มีลักษณะความโหดเหี้ยม ร้ายลึกคล้ายกันมาก, จริงๆตัวละครนี้ต้องปรากฎใน You Only Live Twice ด้วยนะครับ แต่อย่างที่ทราบกัน เรื่องนั้นไม่ได้อ้างอิงอะไรจากนิยายมาก นี่จึงเป็นภาคแรกภาคเดียวของตัวละครนี้ และเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของ Steppat ด้วย, เธอเสียชีวิตจากหัวใจวาย หลังหนังฉายรอบปฐมทัศน์เพียง 4 วันเท่านั้น
ถ่ายภาพโดย Michael Reed ชาวแคนาดา ผลงานส่วนใหญ่เป็นตากล้องให้กับภาพยนตร์โทรทัศน์, งานภาพของหนังเรื่องนี้ อาจดูธรรมดาแต่มีงดงามเย็นยะเยือก เห็นความสวยงามของธรรมชาติบนเทือกเขา Swiss Alps, มีความสมจริง จับต้องได้ และทุกฉากจะเหมือนถูกสร้างให้มีกรอบล้อมรอบ เห็นพื้น/เพดาน/กำแพง ครบหมดในฉากภายใน (เวลาภาพถูกตัดฉายในทีวี ออกมาแล้วจะดูดีมาก)
มีภาพการเล่น/แข่ง/ไล่ล่า สกีและกีฬาฤดูหนาวทุกประเภท อาทิ Alpine Ski, Ski Jumping, Bobsleigh, Ice Skate ฯ ไฮไลท์คือฉากหิมะถล่ม (Avalanche) ทีมผู้สร้างร่วมงานกับทหารของ Swiss Army ที่ปกติมักใช้ระเบิดเพื่อป้องกันหิมะถล่ม แต่ครานี้ใช้ระเบิดเพื่อให้หิมะถล่ม, สถานที่ถ่ายทำ เลือกบริเวณไม่มีหมู่บ้านหรือคนอาศัยอยู่ ภาพที่เห็นเป็นส่วนผสมของภาพจริงกับ man-made avalanche (ใช้เกลือทำเป็นหิมะทับคน) แล้วให้ Stuntman เป็นตัวตายตัวแทน (แต่ไม่มีใครตายนะครับ)
งานภาพมีการเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆยิบย่อยมากมาย เพราะหนังมีการตัดต่อที่รวดเร็ว ฉับไว แต่นำเสนอแทบจะไม่เห็นมุมกล้องซ้ำเดิมเลย เปลี่ยนไปเรื่อยๆ, การเคลื่อนกล้องถือว่ามีลีลาที่ทำให้เกิดความตื่นเต้น ลุ้นระทึก คงใช้ Hand Held ถ่ายภาพ fast motion เป็นหลักในฉากไล่ล่า ส่วนภาพ Close-Up ใบหน้าตัวละครจะใช้ Rear Projection ฉายภาพพื้นหลังที่ถ่ายไว้แล้วด้านหลัง (ถ่ายในสตูดิโอ)
สถานที่ถ่ายทำ เริ่มต้นจาก Canton of Bern, Switzerland ในช่วงปลายเดือนตุลาคม (ฤดูหิมะพอดี), ฐานบัญชาการใหญ่ของ Blofeld ใช้ร้านอาหารชื่อดัง Piz Gloria ตั้งอยู่บนยอดเขา Schilthorn ใกล้หมู่บ้าน Mürren, บ้านของ M และฉากแต่งงาน ถ่ายที่ Marlow, Buckinghamshire และฉากภายในอื่นๆ Pinewood Studio, London
เกร็ด: นี่เป็นหนัง Bond เรื่องเดียวที่ถ่ายทั้งเรื่องในทวีปยุโรป (เรื่องอื่นๆจะตะลอนทัวร์ไปทวีปต่างๆด้วย)
ในปีเดียวกับที่ On Her Majesty’s Secret Service ฉาย มีหนังที่เกี่ยวกับสกีอีกเรื่องฉายพร้อมกันคือ Downhill Racer (1969) นำแสดงโดย Robert Redford ต้องบอกว่าคุณภาพฉากสกีของทั้งสองเรื่อง ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน (แต่คิดว่า Downhill Racer มีความสมจริงและเสี่ยงตายกว่า)
ตัดต่อโดย John Glen (รับหน้าที่เป็นผู้กำกับ Second Unit ถ่ายฉากสกีทั้งหมดด้วย) หนังมีความเร็วในการตัดต่อสูงมาก แต่กลับเป็นหนังที่ยาวที่สุดในแฟนไชร์ 140 นาที (ก่อนที่จะถูกโค่นลงโดย Casino Royale-2006) แต่เห็นว่าหนังตัดออกไป 2 ฉากใหญ่แล้วนะครับ 1) ขณะ Bond เลือกซื้อแหวน 2) ไล่ล่ากันบนหลังคาที่ London
มีช็อตหนึ่งสวยมากๆ ขณะที่ Bond กำลังซื้อเลือกแหวน ภาพเคลื่อนเข้าไปที่แหวนวงที่กำลังจะซื้อ แล้วก็ตัดไปนิ้วของ Tracy ที่สวมแหวนวงนี้ กล้องเคลื่อนออก, นี่เป็นการตัดต่อฉากที่เยิ่นยาวออก ให้มีความกระชับได้อย่างลงตัวสวยงามมากๆ
นี่เป็นหนัง Bond เรื่องแรกที่มีการใส่ Flashback ฉายซ้อนภาพผ่านกระจก ขณะที่ Bond ระลึกถึงขณะที่ Tracy ถูก Blofeld ลักพาตัวไป
หลายฉากในหนัง มีการตัดต่อสลับระหว่าง 2 เหตุการณ์คู่ขนานกันไปพร้อมๆกัน อาทิ การสนทนาของ Bond กับ Tracy กับ Marc-Ange Draco ตัดสลับกับ การสู้วัวกระทิงที่กำลังไล่ขวิด (นี่เป็น montage สะท้อนความดื้อด้าน ชอบเอาหัวเข้าชนของ Tracy ต่อพ่อและคนอื่น), ขณะ Bond กำลังขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาช่วย Tracy ที่ถูกลักพาตัวอยู่ในฐานบัญชาการของ SPECTRE บทกวีที่เธอร่ายออกมาถือว่าเฉียบขาด แหลมคม สะท้อนเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
Thy dawn, O Master of the World, thy dawn; For thee the sunlight creeps across the lawn, For thee the ships are drawn down to the waves, For thee the markets throng with myriad slaves, For thee the hammer on the anvil rings, For thee the poet of beguilement sings.
บทพูดจากละครของนักกวี James Elroy Flecker เรื่อง The Story of Hassan of Bagdad and How He Came to Make the Golden Journey to Samarkand
เพลงประกอบโดย John Barry, ถ้าพูดถึงเฉพาะ Soundtrack เพลงบรรเลงประกอบภาพยนตร์ ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้มีความสร้างสรรค์ที่ไพเราะโดดเด่นที่สุดแล้ว โดยเฉพาะเสียงเครื่องดนตรี Electrical ที่สอดคล้องกับสไตล์การตัดต่อที่โฉบเฉี่ยว เพลงประกอบก็มีความเฟี้ยว ไม่เหมือนภาคใดๆที่ Barry เคยเขียนขึ้นมา
สำหรับเพลงเปิด Title Sequence เห็นว่า Barry ไม่สามารถหานักร้อง/เนื้อเพลง ที่เข้ากับสไตล์ดนตรีของหนังได้ จึงตัดสินใจไม่ใส่คำร้องไปเลย เป็นดนตรีล้วนๆแบบ Dr. No และ From Russia With Love ซึ่งทำให้หนังมีสไตล์เป็นของตนเองมากกว่า
ถึง Title จะไม่มีเพลง แต่ในหนังมีเพลงเนื้อร้องนะครับ, We Have All the Time in the World เขียนคำร้องโดย Hal David ขับร้องโดย Louis Armstrong ใช้ในฉากกุ๊กกิ๊กของ Bond กับ Tracy (นี่เป็นเพลงสุดท้ายที่ Louis Armstrong ร้องด้วยนะครับ), อีกเพลงหนึ่งชื่อ Do You Know How Christmas Trees Are Grown? ร้องโดย Nina
ก่อนที่จะขึ้น Title Sequence ถ้าสังเกตหน่อยจะพบว่า Bond หันหน้ามาคุยกับผู้ชม (นี่เรียกว่า Breaking the Fouth Wall) พูดว่า ‘This never happened to the other fellow’ นี่ไม่เคยเกิดขึ้นกับหนัง Bond เรื่องอื่น, เป็นมุกของนักแสดงและผู้กำกับ ที่อยากให้ผู้ชมตระหนักว่าหนัง Bond คนนี้/เรื่องนี้ ต่างจากภาคอื่นๆที่เคยสร้างมา
สำหรับฉาก Title Sequence มี 2 ใจความที่ผมจับได้ คือแก้วค็อกเทล และภาพย้อนอดีตของสาวบอนด์กับตัวร้าย จากภาคก่อนหน้า, โดยปกติแล้ว Title Sequence มักจะนำเสนอภาพที่สะท้อนกับใจความของหนังภาคนั้นๆ แต่กับหนังเรื่องนี้ ดันนำภาพอดีตมาให้ดูถือว่าแปลกไม่เหมือนใคร
เกร็ด: ฉาก Gun Barrel ตอน Bond เดินมาแล้วหันมายิงปืนใส่กล้อง จะนั่งลงคุกเข่ายิง (ภาคอื่นๆจะหันมายิงเฉยๆ), และตอนเลือดไหลท่วมจอ ภาพของ Bond หายไป
กับสายลับเสือผู้หญิง จิตใจพี่แกทำด้วยอะไรไม่รู้ หว่านเสน่ห์ไปทั่ว โดยไม่สนอะไรทั้งนั้น, ตอนที่ Bond ถูกจับได้ว่าเขาไม่ใช่ Sir Hilary Bray เป็นอะไรที่ฮามาก เพราะความเสือผู้หญิงของตนเองเป็นเหตุ หลังจากหญิงสาวห้องเบอร์ 8 กลับมาห้องตัวเองเจอหญิงสาวอีกคน มันคือ Deja Vu ของลายเสือที่มิอาจเปลี่ยน, แต่ไฉนมีผู้หญิงสองคน หนึ่งคือ Vesper Lynd และสองคือ Countess Tracy ที่สามารถเอาชนะใจ ชายเหล็กใหลผู้นี้ ได้แต่งงานเป็นคนรักที่สุด ไม่มีวันลืม, ผมเองก็ไม่เคยลืมชื่อของทั้งสองนะครับ และใช้อ้างอิง เปรียบเทียบกับ Bond Girl คนอื่นๆเรื่อยมา เพราะหญิงสาวที่ชนะใจ James Bond ได้ ก็ต้องย่อมชนะใจผู้อ่าน ผู้ชมด้วยเช่นกัน
เป้าหมายครองโลกของ Blofeld ในหนังเรื่องนี้ ว่าไปคืออะไร ผมก็ไม่แน่ใจเท่าไหร่ (คือประเด็นมันไม่สำคัญเท่าเรื่องรักๆใครๆ ตัวตนของ James Bond แม้แต่น้อย) เห็นว่าเป็นเรื่องไวรัส โรคระบาด โดยมี Angels of Death หญิงสาวที่ถูกล้างสมองโดย Blofeld ส่งตัวไปทั่วโลก, นี่ถือว่าเป็นวิธีการครองโลกที่แปลกมาก แต่เป้าหมายแท้จริงคือเพื่อแลกกับการให้ตนเองกลายเป็น ท่านเคาท์ (Count) ก็ไม่รู้เป็นแล้วประโยชน์อะไร? (คงเพื่อสนองอัตตาของตน)
ความพ่ายแพ้ของ Blofeld ในภาคนี้ ไม่ถึงตาย แต่คอเกือบหัก (รอดไปได้ยังไงก็ไม่รู้) คอเป็นส่วนที่ตั้งของหัว แทนความทะเยอทะยาน คอหักก็คือความล้มเหลวต่อความฝันที่ทำไม่สำเร็จ
ในบรรดาแฟนไชร์ James Bond นับภาคไม่ถ้วนนี้ มีเพียง Goldfinger กับ On Her Majesty’s Secret Service เท่านั้นที่ผมใส่หนังลงในลิส “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” กับภาคนี้มันอาจดูไม่มีเหตุผลสมควรรองรับเท่าไหร่ แต่เพราะผมถือว่า ‘นี่เป็นหนังบอนด์ภาคที่ดีที่สุด’ ที่คนส่วนใหญ่มักมองข้ามไม่เคยดู จริงอยู่มันอาจไม่ใช่บอนด์ภาคที่คุณคุ้นเคย บางคนอาจยอมรับไม่ได้ แต่นี่คือภาคที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุด สวยงามครบเครื่อง งานภาพ ตัดต่อ การแสดง เพลงประกอบ และ Special Effect ตระการตา เรียกว่าสมบูรณ์แบบในทุกๆด้าน ถ้าคุณดูหนังเป็นแล้วพลาดเรื่องนี้ไป จะเสียชาติเกิดมากๆ
ด้วยทุนสร้าง $7 ล้านเหรียญ หนังทำเงินในอเมริกา ทำเงินทั่วโลก $64.6 ล้านเหรียญขณะฉาย ถือว่าน้อยกว่า You Only Live Twice ครึ่งต่อครึ่ง (แต่ก็ยังเป็นหนังทำเงินสูงสุดในปี)
นี่เป็นหนังบอนด์เรื่องโปรดของ Christopher Nolan ที่จะพบ reference อย่างชัดเจนในหนังเรื่อง Inception (2010), ‘สิ่งที่ผมชอบในหนังเรื่องนี้ คือการที่หนังพยายามให้มีส่วนผสมความสมดุลของ ฉากต่อสู้ ความรักโรแมนติก โศกนาฎกรรมและอารมณ์ ที่เท่าๆกัน’
What I liked about it that we’ve tried to emulate in this film is there’s a tremendous balance in that movie of action and scale and romanticism and tragedy and emotion.
Christopher Nolan
เช่นกันกับ Steven Soderbergh ‘สำหรับผม On Her Majesty’s Secret Service คือ Bond ภาคที่ยอดเยี่ยมที่สุด เป็นเรื่องเดียวที่ควรค่าแก่การรับชมซ้ำ ด้วยเหตุผลอื่นนอกจากความบันเทิง, ทุกช็อต ทุกการเคลื่อนไหว มีความสวยงามในแบบที่ Bond ภาคอื่นไม่เคยมี’
For me there’s no question that cinematically On Her Majesty’s Secret Service is the best Bond film and the only one worth watching repeatedly for reasons other than pure entertainment … Shot to shot, this movie is beautiful in a way none of the other Bond films are
Steven Soderbergh
แน่นอนว่าผมหลงรักบอนด์หนังภาคนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ดู (แต่ส่วนตัวยังแอบชอบ Casino Royale-2006 มากกว่า) ในความสมบูรณ์แบบ และความบันเทิงที่ไร้ที่ติ, สาว Bond ภาคนี้ Diana Rigg สวยมีเสน่ห์ (ผมชอบเธอเป็นลำดับ 3 ถัดจาก Eva Green และ Daniela Bianchi) และตอนจบที่ทำลายหัวใจจนป่นปี้ ซึมหนัก พูดไม่ออก อยากร้องไห้แต่ไม่มีน้ำตา ความรู้สึกช็อกแบบเดียวกับบอนด์ขณะนั้นเลยละครับ
ในแง่คุณภาพของหนัง ผมถือว่า: On Her Majesty’s Secret Service > Goldfinger > Casino Royale (2006) > From Russia with Love > Dr. No
ส่วนความชื่นชอบ: Casino Royale (2006) > On Her Majesty’s Secret Service > From Russia with Love > Goldfinger
แนะนำกับคนชื่นชอบการเล่นสกี, Bobsleigh, ชื่นชอบหิมะ ภูเขา Alps สวยๆ, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ลองดูสิว่าวิธีการที่ Blofeld ใช้สะกดจิตหญิงสาว ทำได้อย่างไร
จัดเรต PG ฉากแอ๊คชั่นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีเลือด เด็กเล็กยังพอดูได้
Leave a Reply