Once Upon a Time in America

Once Upon a Time in America (1984) hollywood : Sergio Leone ♥♥♥♥

หนังอาจจะเยิ่นยาวและเชื่องช้าเกินไป แต่คือ Swan Song เรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ Sergio Leone, เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่านแล้วมองย้อนกลับสู่อดีต ความทรงจำอันเลวร้ายจักค่อยๆเลือนลางจางหาย เคยโกรธเกลียดเคียดแค้นใครย่อมสามารถยกโทษให้อภัย เนิ่นนานเกินไปจึงหลงเหลือเพียงความเพ้อฝัน กาลครั้งหนึ่ง…

Once Upon a Time in America เป็นภาพยนตร์ที่ต้องบอกเลยว่าเหนื่อย!ในการรับชม แต่ความอืดอาดเชื่องช้านั้นมีนัยยะให้ผู้ชมตระหนักถึง ‘กาลครั้งหนึ่ง…’ เป็นสิ่งเนิ่นยาวนาน ล่องลอยไปเรื่อยๆในความทรงจำเพ้อฝันหวาน ไม่ต่างอะไรกับการดูดฝิ่นพ่นควันฉุย

มักถูกเปรียบเทียบเสมอๆกับ 1900 (1976) ของผู้กำกับ Bernardo Bertolucci เพราะคือภาพยนตร์แนว Period อิงประวัติศาสตร์ มีความอลังการ Epic ด้วยบรรยากาศหวนระลึก Nostalgia, ซึ่งทั้งสองเรื่องสร้างโดยผู้กำกับชาวอิตาเลี่ยน และนำแสดงโดย Robert De Niro

มุมมองส่วนตัวเห็นว่า 1900 (1970) และ Once Upon a Time in America (1984) ต่างเป็นภาพยนตร์ที่มีความยอดเยี่ยมดีเด่นในไดเรคชั่นของตนเอง แต่เรื่องหลังมีบางสิ่งอย่างที่ตราตรึงใจผมมากกว่า นั่นคือความน่ารักบริสุทธิ์ใสของ Jennifer Connelly (ผลงานแรกแจ้งเกิด) และเพลงประกอบอันโคตรไพเราะโดย Ennio Morricone ยิ่งกว่า The Godfather Trilogy เสียอีกนะ

แซว: ภาพยนตร์เรื่องนี้ สามารถเรียกแบบกวนๆได้ว่า ‘Spaghetti Gangster’ กล่าวคือ เกิดการ(ระ)ยำแนว Mafia Gangster หลายๆเรื่อง ผสมผสานคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน อาทิ
– การหวนระลึกวันวานของ Noodles มาจาก High Sierra (1941)
– 
Angels with Dirty Faces (1938) เด็กหนุ่มสองคนมีความแตกต่างสุดขั้ว แต่กลายเป็นเพื่อนสนิทสนม
– White Heat (1949) นักเลง (Max) ที่ค่อยๆเกิดความหวาดระแวง เกรี้ยวกราด เสียสติแตก
– กระเป๋าใส่เงิน อ้างอิงถึง
 Cry of the City (1948) และ The Killing (1956)
– สัมพันธ์รักระหว่าง Noodles กับ Deborah คล้ายคลึงกับ The Roaring Twenties (1939)
– โรงหนังจีน เคารพคารวะ The Lady from Shanghai (1947)
– Noodles เดินทางถึงบ้านของ Mr. Bailey คล้ายๆกับ The Big Heat (1953)


Sergio Leone (1929 – 1989) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอิตาเลียน เกิดที่ Rome, Lazio บุตรของผู้กำกับ/นักแสดงชื่อดัง Vincenzo Leone กับ Edvige Valcarenghi สมัยเรียนเป็นเพื่อนร่วมชั้น Ennio Morricone ครั้นเห็นพ่อทำงานในกองถ่าย ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนกฎหมายเพื่อเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มต้นจากเป็นตากล้อง ผู้ช่วยผู้กำกับ Vittorio de Sica ถ่ายทำ Bicycle Thieves (1948) เคยร่วมงานเป็นผู้ช่วยหนัง Hollywood ที่มาถ่ายหนังในอิตาลีเรื่อง Quo Vadis (1951), Ben-Hur (1959), เมื่อผู้กำกับ Mario Bonnard ล้มป่วยระหว่างการถ่ายทำ The Last Days of Pompeii (1959) เป็น Leone รับหน้าที่กำกับแทนทั้งหมดแต่ไม่ขอรับเครดิต, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Colossus of Rhodes (1961) ด้วยทุนสร้างต่ำแต่สามารถทำให้มีความอลังการระดับ Hollywood Epic, ตามด้วยไตรภาค Dollars Trilogy เปิดประเดิม Sub-Genre ชื่อว่า Spaghetti Western

ประมาณต้นทศวรรษ 60s, Fulvio Morsella พี่เขยของ Leone ได้มีโอกาสอ่านนวนิยาย The Hoods (1952) แต่งโดย Harry Grey (1901 – 1980) ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอิตาเลี่ยน เกิดความชื่นชอบหลงใหลเลยส่งต่อให้น้องเขย ซึ่งก็เป็นที่ถูกใจคลั่งไคล้ ต้องการดัดแปลงสร้างภาพยนตร์เรื่องถัดจาก The Good, the Bad and the Ugly (1966)

The Hoods คืออัตชีวประวัติของผู้เขียน Herschel Goldberg [นามปากกา Harry Grey] ซึ่งเป็นชาว Russian เชื้อสาย Jews อพยพสู่ New York City, สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1905 ด้วยสภาพแวดล้อมทุกข์ยากลำบาก เงินทองฝืดเคือง เป็นอันธพาลง่ายกว่าทำงานอาชีพสุจริต ด้วยเหตุนี้เลยก่ออาชญากรรมมากมาย ว่ากันว่าเขียนนวนิยายเรื่องนี้ระหว่างอยู่ในคุก Sing Sing Prison

Leone นำโปรเจคเรื่องนี้ไปเสนอหลายๆสตูดิโอใน Hollywood แต่ถูกบอกปัดปฏิเสธ สาเหตุเพราะความยาวที่มากเกินไป แถมถูกโน้มน้าวชักจูงเอานักแสดงคนโปรด Henry Fonda มาหลอกล่อจนยินยอมสร้าง Once Upon a Time in the West (1968) ตามด้วย Duck, You Sucker! (1971)

ระหว่างนั้น Leone มีโอกาสนัดพบเจอตัวจริงของ Herschel Goldberg พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนเข้าใจมุมมอง ‘สหรัฐอเมริกา’ ผ่านสายตาของเขา, น่าเสียดาย Goldberg เสียชีวิตจากไปก่อนมีโอกาสรับชมหนังเรื่องนี้

ช่วงปี 1971, Leone ได้รับการทาบทามให้กำกับ The Godfather (1972) แต่เขาบอกปัดปฏิเสธเพราะยังคงต้องการดัดแปลงหนังสือเล่มนี้เป็นภาพยนตร์มากกว่า … ภายหลังก็แสดงความเสียดายออกมา แต่ก็ยินดีปรีดาต่อความสำเร็จของ Francis Ford Coppola ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุผลสำคัญทำให้หนังสามารถสรรหางบประมาณได้เสียที

บทหนังแรกสุดพัฒนาโดย Leonardo Benvenuti เป็นภาษาอิตาเลี่ยน ได้ความยาว 317 หน้ากระดาษ จากนั้นร่วมแปลอังกฤษโดย Piero De Bernardi, Enrico Medioli, Stuart Kaminsky (ส่วนบทพูด) และขัดเกลาเพิ่มเติมจาก Franco Arcalli, Franco Ferrini

เรื่องราวของ Noodles เมื่อปี 1920 อาศัยอยู่ Lower East Side, Manhattan พร้อมกับเพื่อนสนิทสามคน Max, Patsy, Cockeye ร่วมมือกันเป็นอาชญากร รับงานสกปรกผิดกฎหมายทุกประเภท ครั้งหนึ่งเพื่อกำจัดคู่อริ Bugsy เป็นเหตุให้ Noodles ถูกจับติดคุกติดตารางอยู่หลายปี

ปี 1932, พ้นโทษออกจากคุกมา Noodles (รับบทโดย Robert De Niro) ยังคงคบหากับผองเพื่อนเดิม ขณะเดียวกันตกหลุมรักหญิงสาว Deborah (รับบทโดย Elizabeth McGovern) แต่เพราะความเร่งรีบร้อนเกินไปจึงถูกเธอผลักไส จากนั้นเริ่มรับไม่ได้กับความบ้าคลั่งของ Max (รับบทโดย James Woods) ที่ต้องการปล้น New York Federal Reserve Bank ด้วยเหตุนี้จึงทรยศหักหลัง โทรบอกตำรวจ เป็นเหตุให้พวกเขาถูกยิงเสียชีวิต

ปี 1968, Noodles หวนกลับมา New York City อีกครั้งหนึ่งหลังจากได้รับจดหมายลึกลับ พานพบเจอ Deborah ที่ยังคงสวยไม่สร่าง ขณะเดียวกัน Max ไม่รู้เอาตัวรอดมาได้อย่างไร กลายมาเป็น Mr. Bailey ร่ำรวยล้นฟ้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นราวกับว่าต้องการให้เขาทำบางสิ่งอย่างอย่าง เพื่อเป็นการยกไถ่โทษความผิดของตนเอง


นำแสดงโดย Robert Anthony De Niro Jr. (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan, New York พ่อมีเชื้อสาย Irish-Italian ประกาศตนว่าเป็นเกย์หย่าขาดกับแม่ตอน De Niro อายุได้ 2 ขวบ เติบโตขึ้นในบริเวณ Little Italy เคยแสดงละครเวทีงานโรงเรียน รับบทเป็น Cowardly Lion เรื่อง The Wizard of Oz ทำให้เริ่มมีความสนใจด้านนี้ พออายุ 16 มุ่งสู่ HB Studio, Stella Adler Conservatory และ Actors Studio กลายเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของ Lee Strasberg, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Wedding Party (1963) ของผู้กำกับ Brian De Palma แนะนำให้รู้จักจนกลายเป็นขาประจำกับ Martin Scorsese ร่วมงานครั้งแรก Mean Streets (1973) ผลงานเด่นๆ อาทิ The Godfather: Part II (1974) ** คว้า Oscar: Best Supporting Actor, Taxi Driver (1976), The Deer Hunter (1978), Raging Bull (1980) ** คว้า Oscar: Best Actor, Cape Fear (1991), Silver Linings Playbook (2012) ฯ

รับบท David ‘Noodles’ Aaronson หนุ่มน้อยหน้าใสเชื้อสาย Jews รวบรวมผองเพื่อนต้องการไต่เต้าขึ้นเป็นมาเฟียท้องถิ่น แต่ชีวิตหยุดชะงักจากการกำจัดคู่อริ Bugsy ติดคุกหัวโตอยู่นานหลายปี พ้นโทษออกมาแม้ยังได้รับความไว้วางใจ ตัวเขากลับตกหลุมรักคลั่งไคล้หญิงสาวหัวปลักหัวปลำ แล้วไปกระทำไม่ดีต่อเธอจนถูกทอดทิ้ง หมดสิ้นหวังอาลัยจนไม่ยินยอมทำการทำงาน สร้างความฉุนเฉียวเบื่อหน่ายให้กับ Max เลยสถาปนาตนเองขึ้นเป็นผู้นำกลุ่ม วาดฝันปล้นธนาคารใหญ่แต่ของแบบนี้มันบ้าเกินไป เขาเลยตัดสินใจโทรแจ้งตำรวจ เก็บเอาความรู้สึกผิดจมปลักอยู่กับการสูบฝิ่น เพ้อเมามายวาดฝันถึงอนาคตที่ก็ไม่รู้เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า

ผู้กำกับ Leone ติดต่อเข้าหา De Niro ระหว่างกำลังถ่ายทำ The Godfather: Part II (1974) ตั้งแต่ยังไม่เห็นผลลัพท์การแสดงเรื่องนั้น ซึ่งเขาก็ตอบตกลงโดยทันที แต่ก็อีกหลายปีกว่าจะได้ร่วมงานกันจริงๆ

De Niro ต้องถือว่า Typecast ต่อหนังแนวอาชญากรรม บทบาทเจ้าพ่อมาเฟีย คงด้วยภาพลักษณ์เสี้ยวอิตาเลี่ยน มาดนักเลง แลดูน่าเกรงขาม ภายนอกสงบเยือกเย็น แต่ขออย่าให้คลุ้มคลั่งขุ่นเคือง เพราะจะเปลื้องความรุนแรงเสียสติแตกออกมา และเรื่องนี้จักมีมุมอ่อนไหวให้พบเห็นอีกด้วย กับหญิงสาวสุดที่รัก และเพื่อนสนิทที่ตนทรยศหักหลัง

เกร็ด: ผู้กำกับ Leone ชื่นชมความมืออาชีพ การแสดงอันสมจริงของ Robert De Niro ว่ามีมากกว่า Clint Eastwood ที่ตนเคยร่วมงานก่อนหน้านี้มาถึงสามครั้งครา


James Howard Woods (เกิดปี 1947) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Vernal, Utah ครอบครัวมีเชื้อสาย Irish นับถือ Catholic และเคยเป็น Altar Boy, โตขึ้นเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ Massachusetts Institute of Technology ระหว่างนั้นเข้าร่วมชมรมการแสดง Dramashop เกิดความชื่นชอบหลงใหล เลยตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นนักแสดง เริ่มจากละครเวที Broadway, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Visitors (1972), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Onion Field (1979), Videodrome (1983), Once Upon a Time in America (1984), Salvador (1986), Casino (1995), Nixon (1995), Ghosts of Mississippi (1996), Contact (1997) ฯ

รับบท Max/David Bailey เพื่อนสนิทของ Noodles ที่มีความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง แถมยังเฉลียวฉลาดรอบรู้ แต่ลึกๆคงอิจฉาริษยา น่าจะเพราะเขาก็ตกหลุมรัก Deborah กลับได้แค่แอบจับจ้องมอง เริ่มแสดงความเกรี้ยวกราดเมื่อพบเห็นเธอจากไป แต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นผู้นำกลุ่ม พยายามวางอำนาจข่มขู่ครุ่นคิดแผนกลางปล้นธนาคารใหญ่ สุดท้ายถูกหักหลังไม่รู้เสียชีวิตหรือยังไง พบเจออีกทีอนาคตสามสิบปี กลายเป็นสมาชิกวุฒิสภา Mr. Bailey แม้ชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับการเคารพยกย่อง แต่กำลังจะพบจุดจบที่ไม่สามารถหาหนทางออกอื่นได้นอกจากความตาย

ก่อนจะมาลงเอยที่ James Woods ผู้กำกับ Leone ได้พูดคุยกับ Paul Newman, Dustin Hoffman, Jon Voight, Harvey Keitel, John Malkovich, John Belushi เช่นกันกับ Joe Pesci แต่ได้รับคำแนะนำให้เลือกบทบาทอื่นเหมาะสมกว่า

ภาพลักษณ์ของ Woods ไม่สง่างามมาดแมนเท่า De Niro แต่เขามีความเหมาะสมกับบทบาทนี้อย่างมาก เพราะคือผู้มีความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการเป็นผู้นำทั้งๆอาจจะรู้ตัวว่าบารมีไม่ถึง แต่ผิดอะไรจะเพ้อใฝ่ฝัน แสดงอาการเกรี้ยวกราดโกรธนั้น เพราะรับรู้ว่าคงไม่มีวันทำได้สำเร็จจริงแท้แน่นอน


ถ่ายภาพโดย Tonino Delli Colli (1923 – 2005) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของผู้กำกับ Leone และ Pier Paolo Pasolini ผลงานระดับตำนาน อาทิ The Gospel According to St. Matthew (1964), The Good, the Bad and the Ugly (1966), Once Upon a Time in the West (1968), Death and the Maiden (1990), Bitter Moon (1991), Life Is Beautiful (1997) ฯ

ขณะที่ฉากภายนอกของหนัง ตระเวนถ่ายทำยังสถานที่จริง New York City แต่ภายในกลับย้ายทวีปไปยังสตูดิโอ Cinecittà, Rome และบางฉากยังประเทศฝรั่งเศส, แคนาดา (เรียกว่าออกทัวร์ตะลอนไปทั่วยุโรป-อเมริกา)

แม้ว่าผลงานก่อนๆหน้า จะมีการเลือกใช้ Anamorphic Widescreen (2.35:1) แต่เรื่องนี้กลับเปลี่ยนมาเป็น 1.85:1 สาเหตุเพราะ Leone ตระหนักถึงค่านิยมโรงภาพยนตร์สมัยนั้นที่นิยมใช้จอ Spherical Widescreen เลยไร้เหตุผลถ่ายทำแบบ Anamorphic … ว่าไปก็น่าเสียดายนะครับ ผมว่ามันคงตราตรึงยิ่งกว่าถ้าภาพหนังเป็นโคตรโคตรกว้าง

มาคล้ายๆกับ Once Upon a Time in the West (1968) ช็อตแรกของหนังคือการเปิดประตู ซึ่งผมได้อธิบายไว้ว่ามันคือการเปิดหนังสือ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว… ซึ่งเรื่องนี้มีเพิ่มเติมคือเงามืด/ถ่ายย้อนแสง ตรงกันข้ามกับความสดใส พยากรณ์ความโชคร้ายของตัวละครนี้ได้โดยทันที

Prohibition Era (1920-33) คือชื่อเรียกยุคแห่งการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสหรัฐอเมริกา ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเลยว่า “ห้ามผลิต ห้ามขาย ห้ามนำเข้า ห้ามขนส่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด” อันเป็นผลมาจากกลุ่มคลั่งศาสนาที่อ้างถึง ‘สังคมแห่งศีลธรรม’ แต่อย่างไรก็ดีทศวรรษดังกล่าวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใดๆ หน่ำซ้ำร้ายมีการลักลอบซ่อนเร้นกันอย่างโจ๋งครึ่ง เหล่าเถื่อน อาชญากรรมพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิม แถมรัฐเก็บภาษีได้ลดน้อยลง ในที่สุดก็ยกเลิกประกาศใช้กฏหมายดังกล่าว

ก็ด้วยเหตุนี้การสูบฝิ่นจึงต้องกระทำในที่ลับ ฉากหน้าโรงละคร ลับหลังคือ Yellow Peril ชาวจีนถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย

การสูบฝิ่นเข้าไปครั้งนี้ของ Noodles ทำให้เขาได้ยินเสียงโทรศัพท์ดัง 24 ครั้ง (เหมือนเสียงแว่ว หูก้อง ได้ยินอยู่คนเดียว) พร้อมๆกับประมวลภาพความทรงจำจากอดีต และจินตนาการภาพอนาคต 30 ปีถัดไปที่อยากปรับปรุงแก้ไข

30 ปีที่ห่างหายไปของ Noodles แม้จะซื้อตั๋วไป Buffalo แต่สถานที่ที่เขาไปน่าจะคือ Coney Island ดินแดนแห่งความเพ้อใฝ่ฝันของชนชาวอเมริกันสำหรับพักผ่อนคลาย สนุกสนาน สำเริงราญ

สามสิบปีผ่านไปเพียงเสี้ยววินาที Noodles เมื่อเดินทางกลับมา New York City มุมกล้องคล้ายเดิมแต่พื้นหลังเปลี่ยนแปลงไป พบเห็นตึกสูงใหญ่ ผลแอปเปิ้ลสีแดง และข้อความว่า Love ซึ่งสื่อถึง ความรักให้อภัยได้ทุกสิ่ง

เรื่องราวของ Deborah (ตอนโตรับบทโดย Elizabeth McGovern, ตอนเด็กรับบทโดย Jennifer Connelly) เธอคือสุดที่รัก นางฟ้า ธิดาหงส์ แทบทุกครั้งพบเห็นส่องกระจก หรือกำลังแต่งหน้าทำสวย เพื่อสะท้อนการ ‘มองดูตนเอง’ ซึ่งก็คือ Noodles แอบด้อมๆมองๆ สิ่งหลบซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจของเขาเอง

การเผาทำลายร้านหนังสือพิมพ์ สัญลักษณ์ของการแพร่กระจายข่าวสาร พบเห็นเพลิงไหม้อยู่หลังซี่ลวดซึ่งดูเหมือนกรงขัง สะท้อนเนื้อหาข่าวที่ถูกปกปิด บิดเบือน ยุคสมัยนี้นั้นไม่มีใครนำเสนอข้อเท็จจริงออกมาอีกแล้ว

เอาจริงๆผมก็ครุ่นคิดไม่ออกว่าทำไมต้องเผาทำลายหนังสือพิมพ์ มันอาจมีนัยยะอื่นที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ข่าวสารยุคสมัยนั้น แต่ที่น่าสนใจของช็อตนี้คือการค่อยๆซูมเข้าไปตรงซี่กรงขัง นั่นเป็นสไตล์ลวดลายเซ็นต์หนึ่งของผู้กำกับ Leone เลยก็ว่าได้

สถานที่แห่งการเปิดบริสุทธิ์ครั้งแรกของหนุ่มๆ บนดาดฟ้าตึก โอ้โห! มันช่างตรงไปตรงมากับความสุขกระสันต์ สรวงสวรรค์ชั้นเจ็ด … ขณะเดียวกันบุคคลที่จ่ายค่าบริการให้พวกเขา คือนายตำรวจที่ชอบวางตัวหัวสูงส่ง แต่แท้จริงกลับสกปรกโสมม ตกต่ำทรามไม่คู่ควรกับสถานที่นี้เลยสักนิด

ช่างเป็นความครุ่นคิดที่แสนสร้างสรรค์ ใช้เกลือถ่วงสินค้าแล้วเฝ้ารอเวลาละลายหมดเมื่อไหร่ก็จักลอยขึ้นมาเหนือน้ำ, นัยยะของฉากนี้สื่อถึงแผนการกระทำ วิธีไต่เต้าขึ้นเป็นเจ้าพ่อมาเฟียท้องถิ่นของเด็กๆ คือเสแสร้งทำเป็นอ่อนน้อมตบตา ได้ทีท่าเมื่อไหร่ก็จัดแจงแทงสวนเข้าไป เท่านั้นก็ได้ครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง

ช็อตที่กลายเป็นตำนานของหนัง เด็กๆวิ่งผ่านช่องระหว่างตึก พบเห็นพื้นหลังลิบๆคือ Manhattan Bridge ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความเพ้อใฝ่ฝันของพวกเขา สักวันจะได้อยู่สูง โดดเด่นเป็นสง่า ใครๆจะต้องเงยหน้ามองมา แสดงความชื่นเชยชม

แต่ถัดจากช็อตนี้ไม่นาน ความโชคร้ายก็ได้เข้ามาเยือน Noodles พบเจอ Bugsy จำต้องขจัดแมลงตัวนี้ให้พ้นทาง

กาลเวลาผ่านไป Noodles หวนกลับมาพบเจอ Deborah ช็อตนี้สร้างความพิศวงให้ผมเล็กๆ เพราะสิ่งที่อยู่ระหว่างพวกเขาคือโคมไฟมีลักษณะเหมือนดอกไม้หุบ … ไม่รู้เหมือนกันจะสื่อนัยยะอะไร?

งานใหม่ที่ใหญ่ขึ้นของ Noodles และผองเพื่อน คือการโจรกรรมเพชรแล้วหักหลังคนกลาง เมื่อได้เงินมาก็กราดยิง แล้วมีคนหนึ่งวิ่งหนีมาถึงโรงงานผลิตปุยนุ่น สะท้อนความฟุ้งเฟ้อ เปราะบางของชีวิต ยุคสมัย และสหรัฐอเมริกายุคสมัยนั้นได้อย่างสงสารนักแสดง หายใจเข้าไปนี่อันตรายมากๆเลยนะ!

เป็นช็อตที่ไม่เพียงสวยมากๆ แต่การเลือกใช้บทเพลง Rossini: La gazza ladra ยังมีความคลาสสิกตราตรึง ใครเคยรับชม A Clockwork Orange (1971) น่าจะรู้สึกคุ้นๆหู

เกร็ด: La gazza ladra แปลว่า The Thieving Magpie มีเรื่องราวเกี่ยวกับการขโมยเหมือนกัน แหม! อะไรมันจะตรงขนาดนั้น

บอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ทำไมอยู่ดีๆความเงี่ยนถึงเข้าครอบงำ Noodles ให้กระทำการข่นขืนฝืนใจแฟนสาว รออีกนิดไม่ได้หรือยังไง?

มันไม่ใช่ว่าวินาทีนั้นครุ่นคิดสำนึกได้หรอกนะ แค่คนขับรถมันทนไม่ไหวเลยต้องจอด ทอดทิ้งเขาไว้ตรงริมมหาสมุทร ร่อยรอยต่อระหว่างความจริง-เพ้อฝัน ความเป็น-ความตาย สำเร็จ-ล้มเหลว … วินาทีนี้จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ล่องลอยออกไปตามกลางมหาสมุทร/ท้องฟ้าไกล

การมาถึงของบัลลังก์พระสันตปาปา เป็นการประท้วงเงียบของ Max ไม่พึงพอใจที่ Noodles กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ หมกมุ่นเรื่องความรัก ผิดหวังก็เมามาย การงานไม่ยอมทำ เช่นนั้นแล้วมันจะมีประโยชน์อะไรที่อุตส่าห์เฝ้ารอคอยกว่าจะออกมาจากคุกตั้งหลายปี

เฉกเช่นเดียวกัน Noodles ประท้วงเงียบด้วยการขอกาแฟสักแก้วแล้วค่อยๆคน เสียงช้อนกระทบถ้วยกระเบื้องช่างดังกึกก้องกังวาลย์ ทำให้ Max แสดงความคลุ้มคลั่งเกรี้ยวกราด ตวาดใส่แฟนสาวทั้งๆเธอไม่ได้พูดทำอะไรเลยสักนิด! (จะโชว์อ๊อฟว่า ผู้หญิงไม่ใช่เรื่องสำคัญของตนเอง)

มุมกล้องเงยขึ้นช็อตนี้ช่างทรงพลังยิ่งนัก เพราะคือวินาทีที่ Noodles โทรศัพท์แจ้งข่าวต่อตำรวจ ทรยศหักหลังเพื่อนพวกพ้อง ซึ่งเพียงกริ๊งเดียวตำรวจปลายทางก็รับสาย … แต่นั่นกลายเป็นเสียงที่ดังกึกก้องกังวาลย์ในจิตใต้สำนึกของเขา (เมื่อตอนต้นเรื่อง)

30 ปี ผ่านไป Deborah ยังคงสวยไม่สร่าง แม้แต่งแต้มไปด้วยเครื่องสำอางค์เสมือนหน้ากากบดบังตัวตนแท้จริง ซึ่งระหว่างพูดคุยสนทนากับ Noodles เธอก็พยายามเช็ดหน้าล้างตา แต่ท้ายที่สุดก็ยังคงหลงเหลือร่องรอยเปลอะเปลื้อนเมื่อเขาจากไป นั่นสะท้อนถึงจิตใจของพวกเขา มิอาจหวนกลับไปคงเดิมเหมือนวันวาน

ส่วนตัวมองว่านี่คือจินตนาการของ Noodles ถ้าได้มีโอกาสหวนกลับมาพบเจอ Deborah อีกสักครั้ง นั่นคงเป็นภาพที่เขาคงจะจดจำไม่ลืมเลือน

ช็อตแรกของ Mr. Bailey อาจทำให้หลายคนจับจ้องมองหา ยืน/นั่งอยู่ตรงไหน คำตอบคืออยู่ระหว่างรูปปั้นกึ่งกลางภาพ นี่เป็นการซ่อนเร้นความหมายเล็กๆถึงตัวละครนี้ว่าเหมือนหุ่น แท้จริงแล้วไร้ลมหายใจ ทั้งหมดของ Sequence นี้คือเรื่องราวในจินตนาการของ Noodles

เอาว่าถ้ายังไม่เข้าใจจุดนั้น หลายคนอาจสงสัยว่า Noodles หลงลืมเพื่อนเก่าแก่ Max ไปแล้วหรือไง คำตอบคือไม่ เพราะมีการประมวลภาพระลึกนึกย้อนอดีตถึงชายคนนี้ แต่ที่ไม่เรียกตรงๆรวมความถึงประโยคสุดท้าย

“It’s be a shame to see a lifetime of work go to waste”.

ฉากที่ชวนให้พิศวงสุดของหนัง เห็นว่า James Woods ไม่ได้เล่นเอง แต่ให้นักแสดงแทนแต่งหน้าสวมเสื้อผ้าเหมือน เดินตรงไปยังรถขนขยะ แล้วปล่อยให้ผู้ชมครุ่นคิดมโนไปเองว่า Mr. Bailey ฆ่าตัวตายจริงหรือเปล่า?

แซว: Woods ถูกนักข่าวตื้อสัมภาษณ์ถามชะตากรรมของตัวละคร เจ้าตัวตอบ ‘I has no idea’

ผมว่ามันก็ไม่จำเป็นต้องหาคำตอบนี้เลยนะ เพราะหาได้สลักสำคัญอะไรต่อเนื่องราว อีกอย่างก็คือ Max มันม่องเท่งไปแล้วมิใช่หรือ อยู่ดีๆปรากฎตัวขึ้นมา 30 ปีให้หลัง มันความจริงหรือเพ้อฝันกันแน่?

ช็อตที่ผมรู้สึกว่าเจ๋งเป้งมากๆ รถขนขยะขับไปท่ามกลางความมืดมิด พบเห็นดวงไฟหลังรถสีแดงฉาน แล้วอยู่ดีๆมันค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีขาว ไฟหน้ารถเปิดประทุนวิ่งสวนกลับมา

ทีแรกผมครุ่นคิดว่าหลอดไฟสีแดงสองดวง นาจะสื่อถึงดวงตาปีศาจ สิ่งชั่วร้ายที่จับจ้องมองมาจากความมืดมิด แต่พออยู่ดีๆแสงไฟเปลี่ยนเป็นสีขาว นั่นสะท้อนถึงสิ่งตรงกันข้าม กลับตารปัตรความเข้าใจ ดี-ชั่ว ถูก-ผิด ความจริง-เพ้อฝัน อดีต-อนาคต สองสิ่งสามารถเกิดขึ้นพร้อมกัน ตีความถึงโครงสร้างของหนังเลยก็ว่าได้!

แวบแรกชวนให้นึกถึงหนังตะลุง แต่ก็นึกขึ้นได้ว่าประเทศจีนก็มีการแสดงที่เล่นกับแสงเงานี้อยู่เหมือนกันนะ [แบบหนังเรื่อง To Live (1994)] ซึ่งนี่เป็นสิ่งสะท้อนเข้ากับ ความจริงซ้อนความฝัน หนังซ้อนหนัง ซึ่งการแสดง ‘เงา’ สามารถสื่อได้ถึงความทรงจำอันเลือนลางที่กำลังค่อยๆจางหายของตัวละคร

ช็อตสุดท้ายของหนัง รอยยิ้มอันสุดสยองของ Noodles (แอบนึกถึง Hannibal Lecter) ถ่ายจากมุม Bird Eye View พบเห็นผืนผ้า/มุ้งลวดบดบังใบหน้าตัวละคร นี่เป็นการสะท้อนถึงเรื่องราว/ทุกสิ่งอย่าง หลังจากสูบฝิ่นราวกับถูกคุมขัง ติดอยู่ในห้วงจินตนาการเพ้อฝันหวานของตนเอง

ตัดต่อโดย Nino Baragli (1925 – 2013) ยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของผู้กำกับ Leone และ Pier Paolo Pasolini เฉกเช่นกัน อาทิ The Gospel According to Saint Matthew (1964), The Good, the Bad and the Ugly (1966), Once Upon a Time in the West (1968) ฯ

หนังใช้มุมมองของ David ‘Noodles’ Aaronson แต่การลำดับเรื่องราวจะกระโดดไปมาระหว่าง อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต(หรือความเพ้อฝัน) ผ่านสามช่วงระยะเวลา
– วัยเด็ก ค.ศ. 1920
– วัยหนุ่ม ค.ศ. 1932-33
– สูงวัย ค.ศ. 1968

ข้อสังเกตของ Flashback-Flashforward มักมีการค่อยๆซูมเข้าไปยังดวงตาของตัวละคร หรือของสองสิ่ง เรื่องราวสองเหตุการณ์ อยู่ดีๆตัดสลับเปลี่ยนแปลงไป (เอาจริงๆสังเกตง่ายสุดคือภาพลักษณ์นักแสดง วัยเด็กก็คือเด็ก, หนุ่มแน่นผมดำ, สูงวัยผมขาว/เหี่ยวย่น)

ฉบับแรกสุดของหนัง ความยาวประมาณ 8-10 ชั่วโมง เล็มโน่นนี่นั่นออกเหลือ 6 ชั่วโมง ต้องการแบ่งฉายสองภาคแต่โปรดิวเซอร์ไม่ยินยอม สาเหตุเพราะความล้มเหลวของ 1900 (1976) จึงถูกบีบให้ภาคเดียวพอ! ด้วยเหตุนี้นำออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้ความยาว 269 นาที แต่ฉบับฉายทั่วโลกตัดออกอีกหน่อยที่ 229 นาที และเฉพาะอเมริกา 139 นาที (โดยไม่อยู่ในความพึงพอใจของผู้กำกับ)

ฉบับที่หลงเหลือถึงปัจจุบันประกอบด้วย
– ฉบับฉายอเมริกา 139 นาที เห็นว่าดำเนินเรื่องเป็นเส้นตรง ไม่มีตัดสลับย้อนอดีตไปข้างหน้าให้สับสนวุ่นวาย
– ฉบับปกติ 229 นาที
– Extended Director’s Cut ฉบับบูรณะความยาว 251 นาที
– และกำลังจะมีอีกฉบับ 269 นาที แต่ยังบูรณะส่วนของ Deleted Scene ไม่เสร็จ (ก็ไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่)


เพลงประกอบโดย Ennio Morricone ขาประจำของผู้กำกับ Leone ซึ่งขอให้แต่งเพลงขึ้นเสร็จสรรพก่อน แล้วนำไปเปิดสร้างบรรยากาศระหว่างถ่ายทำ (ทำเช่นนั้นได้เพราะจะไม่มีการบันทึกเสียง Sound-on-Film)

บทเพลงที่มีกลิ่นอายของสหรัฐอเมริกาในยุค Prohibition เสียง Pan Flute (เป่าโดย Gheorghe Zamfir) ตามด้วยเสียงขับร้องของ Edda Dell’Orso แทนด้วยจิตวิญญาณอันล่องลอย ความเพ้อใฝ่ฝัน โหยหาเป้าหมายความสำเร็จของชาวอเมริกัน แต่จักมีสักกี่คนสามารถไต่เต้าไปถึงจุดนั้น

เกร็ด: Hans Zimmer เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า นี่คือ Soundtrack เรื่องโปรด!

ความยากจนเป็นสิ่งทุกข์ทรมาน บทเพลง Poverty เริ่มต้นด้วยเสียงเปียโนอันรวดร้าวบาดใจ แต่ถ้าไม่ยินยอมจำนนต่อโชคชะตาลิขิต พยายามต่อสู้ดิ้นรนตะเกียกตะกาย เสียง Pan Flute แห่งความหวังก็จักปรากฎดังขึ้น เป้าหมายเพื่อให้หลุดรอดพ้นจากชุมชนคนชั้นล่าง ไต่เต้าไล่โน๊ตขึ้นสู่จุดสูงสุดบนชั้นฟ้า

Morricone ได้แต่ง Charactor Song ให้กับทุกตัวละครสำคัญๆในหนัง ซึ่งได้รับการจดจำสูงสุดคือ Deborah’s Theme ซึ่งเห็นว่าแต่งให้หนังเรื่องอื่นแต่ไม่ได้นำไปใช้ ทีแรกผู้กำกับ Leone ก็ลังเลใจ แต่พอใส่เข้ามาแล้วก็ทำให้ใครๆฟินกันถ้วนหน้า

ได้ยินบทเพลงนี้ไม่รู้ทำไมหัวใจมันสั่นๆ น้ำตาปริ่มๆพร้อมไหลหลั่งออกมา หญิงสาวพร้อมทุ่มเททุกสิ่งอย่างให้กับชายที่ตนรัก แต่เขากลับ… นั่นเป็นการกระทำอันเลวร้าย ก่อเกิดร่องรอยบาดแผลไม่วันรักษาหาย อารมณ์ชั่ววูบแค่เพียงเสี้ยววินาที ทำให้สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง!

นอกจาก Original Score ยังมีการนำบทเพลงมีชื่อเพิ่มเติมเข้าไปในหนังด้วย
– God Bless America (1918) แต่งโดย Irving Berlin
– Yesterday (1965) ของวง The Beatles
– Summertime (1934) แต่งโดย George Gershwin สำหรับโอเปร่าเรื่อง Porgy and Bess (1935)
– Amapola (1920) แต่งโดย José María Lacalle García
– La gazza ladra (1817) แปลว่า The Thieving Magpie โอเปร่าสององก์ แต่งโดย Gioachino Rossini (1792 – 1868) คีตกวีสัญชาติอิตาเลี่ยน ก่อนหน้านี้เคยถูกใช้ในหนังเรื่อง A Clockwork Orange (1971)
– Night and Day (1932) แต่งโดย Cole Porter ประกอบละครเพลงเรื่อง Gay Divorce (1932)
– St. James Infirmary Blues บทเพลง Jazz Standard บันทึกเสียงครั้งแรกโดย Louis Armstrong
ฯลฯ

แวบแรกที่ผมได้ยินท่วงทำนอง Yesterday บอกเลยว่าคาดไม่ถึง! เพราะเหตุการณ์อนาคตปี 1968 คลอบคลุมการมาถึงของบทเพลงนี้พอดี ซึ่งสามารถใช้อธิบายการหวนระลึกนึกย้อนอดีต Flashback ที่พานผ่านไปแล้วราวกับ ‘เมื่อวาน’ นี่รวมถึงคำร้องเธอผู้จากไปด้วยนะครับ

เกร็ด: Yesterday เป็นบทเพลงของ The Beatle ที่ผมชื่นชอบอันดับสองรองจาก Hey Jude

Once Upon a Time in America นำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ดิ้นรนของชนชาวอเมริกัน จากเคยอยู่สลัมเป็นคนชั้นต่ำในสังคม ตะเกียกตะกายขวนขวายไขว่คว้า ‘American Dream’ วาดฝันความสำเร็จ ชื่อเสียงโด่งดัง ร่ำรวยเงินทอง มีชีวิตสุขสบาย และครองคู่แต่งงานกับหญิงสาวคนที่ตนรัก

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ถ้าด้วยอุดมการณ์ ‘ทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนวิธีการ’ จักทำให้ท้ายที่สุดต้องสูญเสียหมดสิ้นทุกสิ่ง
– เพื่อนรักที่ร่วมจับมือทำสัตยาบัน ตัดสินใจทรยศหักหลัง สุดท้ายไม่หลงเหลือใคร
– หญิงสาวที่รักมากแต่มิอาจอดใจรอคอย พยายามใช้กำลังข่มขืน เธอรับไม่ได้จึงออกเดินทางหลบหนีไป
– ชีวิตไม่หลงเหลืออะไร มอมเมาตนเองด้วยการสูบฝิ่น เกิดรอยยิ้มฝันหวานในจินตนาการ สูญเสียโลกแห่งความจริงชั่วนิรันดร์

มุมมองของผมต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ มีเรื่องราวขณะสูบฝิ่นเป็นจุดหมุน เริ่มต้น-สิ้นสุด กล่าวคือ พระเอกหลังจากสูญเสียแฟนสาวและทรยศหักหลังเพื่อน ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย จมปลักอยู่กับการสูบฝิ่น จินตนาการเพ้อฝันหวานถึงเหตุการณ์ตั้งแต่นั้น หรือจะมองว่า 30 ปีให้หลังเป็นอนาคตที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง! แต่สะท้อนถึงจิตใต้สำนึกที่ต้องการแก้ไขตัวตนเอง หวนกลับมาพบเจอ Deborah ที่ยังสวยไม่สร่าง และเพื่อนรัก Mr. Bailey มีชีวิตประสบความสำเร็จถึงจุดสูงสุด

ผู้กำกับ Leone เปิดกว้างให้กับการตีความนี้ ไม่บอกตรงๆว่าถูกหรือผิด แต่ถือว่าคือคำตอบที่อธิบายตัวตนของ Mr. Bailey และความยังสาวสวยอยู่ของ Deborah (กาลเวลาทำให้ใครๆหัวหงอก แก่ชรา แต่เธอยังคงเป็นนางฟ้าในความทรงจำเขา)

การไม่ลงมือกระทำอะไรของ Noodles ต่อ Mr. Bailey ช่วงท้ายของหนัง ในบริบทนี้ไม่ได้แปลว่าเขาหลงลืมเลือนอดีต หรือยินยอมให้อภัยเพื่อนเก่าที่ฉกแย่งชิงทุกสิ่งอย่างไป แต่คือจุดจบการลงโทษทัณฑ์ตนเอง ต่อการทรยศหักหลังเพื่อนฝูงในวันนั้น ระยะเวลา 30 ปีแห่งความสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง คงสาสมควรแก่ผลกรรมเสียที!

“It’s be a shame to see a lifetime of work go to waste”.

สหรัฐอเมริกา อิตาลี และทุกประเทศในโลก ล้วนเคยผ่านช่วงเวลาร้ายๆ ตัดสินใจทำอะไรผิดพลาด ก่อเกิดโศกนาฎกรรม แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่านเลยไป คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ถ้าเรายังมัวแต่หมกมุ่นครุ่นคิดถึงอดีต อนาคตคงสูญเสียเปล่าแน่ถ้าไม่สามารถก้าวข้ามผ่านปัจจุบันนั้นไปได้

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงเป็นจดหมายรักของผู้กำกับ Leone ต่อหนังแนว Gangster และประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ยังรวมถึงความเพ้อใฝ่ฝันของมนุษย์ ตะเกียกตะกายทะเยอทะยานแบบขาดสติ ท้ายสุดทุกสิ่งอย่างที่เคยได้รับอาจหมดสูญสิ้นไม่หลงเหลืออะไร

รวมถึงตัวผู้กำกับ Leone ด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ ความพยายามจะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้สำเร็จ กินเวลาชีวิตเขาถึงสองทศวรรษ จริงอยู่คือ Swan Song สุดยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา แต่ว่ามันคุ้มค่าแล้วหรือ? … สร้างหนัง Spaghetti Western อาจได้เป็นสิบๆเรื่องเลยนะ


เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes นอกสายการประกวด และได้รับการยืนปรบมือนานถึง 15 นาที, ด้วยทุนสร้าง $30 ล้านเหรียญ เข้าฉายสหรัฐอเมริกาฉบับตัดต่อเหลือ 139 นาที ปรากฎว่าทั้งเสียงวิจารณ์และรายรับ ขาดทุนย่อยยับเยิน $5.3 ล้านเหรียญ

เพราะหนังฉบับ 139 นาที ถูกนักวิจารณ์บ่นขรมป่นปี้ เลยพลาดโอกาสลุ้นรางวัล Oscar ในปีนั้นโดยสิ้นเชิง ถึงกระนั้นที่ยุโรปได้เข้าชิงถึง 5 สาขา BAFTA Award และคว้ามา 2 รางวัล
– Best Direction
– Best Supporting Actress (Tuesday Weld)
– Best Cinematography
– Best Costume Design ** คว้ารางวัล
– Best Film Music ** คว้ารางวัล

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ แม้เบื่อหน่ายกับความเชื่องช้าแต่ก็ไม่ถึงขั้นเขี้ยวลากดิน หลงใหลความน่ารักจิ้มลิ้มของ Jennifer Connelly, เพลงประกอบสุดไพเราะ Ennio Morricone และไคลน์แม็กซ์คาดไม่ถึงช่วงท้าย งดงามตราตรึง ซึ้งซาบซ่านไปถึงทรวง

แนะนำคอหนังยุค Prohibition แนวอาชญากรรม มาเฟีย, นักออกแบบฉาก แฟชั่นดีไซน์เนอร์ เสื้อผ้าหน้าผมจัดเต็ม, แฟนๆนวนิยาย Harry Grey, คลั่งไคล้ผู้กำกับ Sergio Leone และนักแสดง Robert De Niro, James Woods, Elizabeth McGovern ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ อาชญากรรม ข่มขืน ดูดฝิ่น

คำโปรย | Once Upon a Time in America กาลครั้งสุดท้ายของ Sergio Leone ก่อนตื่นจากความฝันที่แม้เนิ่นยาวนาน แต่กลับไม่รู้ลืมเลือน
คุณภาพ | Swan Song
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: