Once Upon a Time in China

Once Upon a Time in China (1991) Hong Kong : Tsui Hark ♥♥♥♡

กาลครั้งหนึ่ง … ช่วงปลายราชวงศ์ชิง ค.ศ. 1875 ประเทศจีนต้องผจญศึกหนักทั้งจากภายนอกผู้รุกรานชาติตะวันตก และภายในการฉ้อราษฎร์บังหลวงของเหล่าขุนนางราชสำนัก หวงเฟยหง (รับบทโดย Jet Lee) และลูกศิษย์ จึงจำต้องหาหนทางพิชิตคว้าชัย ด้วยสติปัญญาไม่ได้ก็ต้องพละกำลังกังฟู

Once Upon a Time in China คงเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ชนชาวจีนเกิดความฮึกเหิม รักชาติ โกรธเกลียดเคียดแค้นชาติตะวันตก ที่พอแผ่อิทธิพลมาถึงเอาแต่กอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ถ้าพวกเราร่วมมือสมัครสมานย่อมสามารถต่อสู้ขับไล่ ไม่มีอะไรต้องหวาดหวั่นวิตกกลัว … เป็นเรื่องราวที่ทรงคุณค่าต่อชนชาวจีนเป็นอย่างยิ่ง!

แต่ในมุมต่างชาติอาจไม่คลุ้มคลั่งไคล้ขนาดนั้น แม้ฉากการต่อสู้จะมีความอลังการตราตรึง แต่อคติเล็กๆเกิดกับภาพลักษณ์ ‘Stereotype’ ชาวตะวันตก ดูยังไงก็โหดโฉดชั่วเลวร้ายเหมือนๆกันไปหมด (เว้นบาทหลวงสอนศาสนาไว้คนหนึ่ง!)

สิ่งน่าทึ่งที่ผมเองก็เพิ่งมีโอกาสสังเกตเห็นจากหนัง คือทุกการต่อสู้ล้วนมีนัยยะความหมายซ่อนเร้นอยู่ ไม่ใช่ว่าจู่ๆตัวละครจะดาหน้าวิ่งเข้าหาชกต่อยตี แต่คือลีลาท่วงท่า ฉากพื้นหลัง และอุปกรณ์ประกอบการฟาดฟัน เมื่อพบเห็นเข้าใจได้เช่นนั้นต้องยกย่องสรรเสริญเลยว่า คือหนึ่งใน Masterpiece ของแนว Martial Arts


Tsui Hark คนไทยรู้จักในนาม ฉีเคอะ (เกิดปี 1950) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ช่วงฮ่องกง เกิดที่ไซ่งอน เวียดนามใต้ มีพี่น้องทั้งหมด 16 คน, เมื่ออายุได้ 13 ปี ครอบครัวเดินทางมาตั้งรกรากที่ฮ่องกง แล้วไปร่ำเรียนต่อภาพยนตร์ยัง Southern Methodist University ตามด้วย University of Texas at Austin จบออกมามุ่งสู่ New York สร้างสารคดี From Spikes to Spindles (1976) ระหว่างนั้นก็เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จีน, เมื่อกลับมาฮ่องกงเริ่มสร้างภาพยนตร์ The Butterfly Murders (1979) ถูกจับตามองในฐานะคลื่นลูกใหม่แห่งวงการ, ผลงานเด่นๆตามมา อาทิ Zu Warriors from the Magic Mountain (1983), Peking Opera Blues (1986), และยังเป็นโปรดิวเซอร์หนังอย่าง A Better Tomorrow (1986), A Chinese Ghost Story (1987), The Swordsman (1990) ฯ

หวงเฟยหง, Wong Fei-hung (1847 – 1924) ปรมาจารย์กังฟูที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีน เกิดที่ฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง ในรัชสมัยฮ่องเต้เต้ากวง แห่งราชวงศ์ชิง บุตรของหวงฉีอิง ซึ่งเป็นปรมาจารย์กังฟูผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม 10 พยัคฆ์กวางตุ้ง แต่ถึงอย่างนั้นบิดาก็มิได้ถ่ายทอดวิทยายุทธให้แก่บุตรนอกเสียจากวิชาแพทย์แผนโบราณ ซึ่งอาจารย์ของหวงเฟยหงคือลู่อาไฉ ถ่ายทอดวิชามวยหงฉวน โดยมีกระบวนท่าสร้างชื่อคือ หมัดพยัคฆ์ดำ-กะเรียนขาว

ในประวัติศาสตร์ หวงเฟยหงได้สร้างสองวีรกรรมอันลือชื่อ
– มีตอนอายุ 16 ปี มีชาวตะวันตกกลุ่มหนึ่งคิดค้นกิจกรรมสร้างความบันเทิง โดยฝึกฝนสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดจนดุร้ายกระหายเลือด จากนั้นก็เปิดเวทีท้าประลองให้ชาวจีนสู้กับสุนัข แต่ไม่เคยมีใครได้รับชัยชนะจนกระทั้งหวงเฟยหง รับล่วงรู้เรื่องดังกล่าว จึงเข้าประลองและเป็นฝ่ายชนะอย่างง่ายดาย ด้วยกระบวนท่าที่เรียกว่า ฝ่าเท้าไร้เงา
– เมื่อครั้งที่ท่าเรือฮ่องกงเพิ่งเปิดทำการ หวงเฟยหงในวัย 21 ปี ไม่อาจทนเห็นผู้อ่อนแอโดนนักเลงท้องถิ่นจำนวนมากรุมรังแก จึงยื่นมือเข้าขัดขวาง ด้วยการใช้กระบองไม้ไผ่เป็นอาวุธบุกเดี่ยวเข้าสู้กับฝ่ายตรงข้ามจำนวนหลายสิบคน กลายเป็นศึกตะลุมบอนอันลือลั่น

สำหรับ Once Upon a Time in China ถือว่านำบุคคลผู้เป็นตำนานลือเล่าขานของชาวจีน หวงเฟยหง มาเติมเสริมแต่งสร้างเรื่องราวขึ้นใหม่ อาจมีส่วนจริงบ้างแต่จัดเป็นเรื่องแต่ง ‘Fiction’ อ้างอิงเนื้อหาประวัติศาสตร์ แต่ไม่ใช่ชีวประวัติตัวตน

พัฒนาบทภาพยนตร์โดย Tsui Hark, Yuen Kai-chi, Leung Yiu-ming และ Elsa Tang

เรื่องราวเกิดขึ้น ณ เมืองฝอซาน ค.ศ. 1875, หวงเฟยหง (รับบทโดย Jet Lee) เป็นปรมาจารย์กังฟูชื่อดัง และเปิดคลินิครักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ได้ป่วย มีลูกศิษย์เอกสามคน คือ
– อาโซ (รับบทโดย Jacky Cheung) แม้เป็นคนจีนแต่กลับพูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่วกว่า มีความรู้เรื่องยา แต่ไร้ทักษะการต่อสู้
– เจ้าหมู (รับบทโดย Kent Cheng) ชายร่างใหญ่ ฝีมือกังฟูใช้ได้ เสียอย่างเดียวเลือดร้อน ชอบแก้ปัญหาด้วยกำลังมากกว่าสติปัญญา
– อาไก่ (รับบทโดย Yuen Kam-fai)

ปัญหาความวุ่นวายที่หวงเฟยหง ประสบพบเจอประกอบด้วย
– การมาถึงของชาติตะวันตกประกอบด้วย กองทัพเรืออังกฤษ General Wickens (ครอบครองเกาะฮ่องกง), ทหารเรือสหรัฐอเมริกา Jackson (หาชาวจีนไปเป็นข้าทาสรับใช้)
– ขณะที่ผู้ว่าการเมืองฝอซาน แทนที่จะถือหางชนชาวจีน กลับไปยกยอปอปั้นสรรเสริญต่างชาติ พยายามหาเรื่องจับกุมคุมขังหวงเฟยหง ไม่ให้มีอำนาจอิทธิพลเหนือกว่าตนเอง
– กลุ่มอันธพาล Shaho Gang ที่พยายามเรียกค่าคุ้มครอง ครั้งหนึ่งถูกหวงเฟยหงจับกุมตัวได้ กลับไม่ใครเป็นพยานให้การ
– เกราะเหล็ก (รับบทโดย Yen Shi-kwan) ครูมวยยอดฝีมือ แต่ฐานะยากจนข้นแค้นไม่มีอันจะกิน ต้องการท้าต่อสู้หวงเฟยหง เมื่อได้รับชัยชนะชื่อเสียงโด่งดัง เงินทองคงไหลมาเทมา

เมื่อสันติวิธีไม่อาจใช้แก้ปัญหา หลงเหลือเพียงทางออกเดียวเท่านั้นคือการต่อสู้ประลองยุทธ์ ผู้ชนะสามารถมีได้เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น หวงเฟยหงและลูกศิษย์ จะสามารถนำชัยชนะให้กับชนชาวจีนได้หรือเปล่า?


หลี่เหลียนเจี๋ย, Jet Lee (เกิดปี 1963) นักแสดงชาวจีน เกิดที่กรุงปักกิ่ง เป็นลูกคนสุดท้องในพี่น้องทั้งหมด 5 คน เมื่ออายุ 8 ขวบ ได้เริ่มต้นฝึกฝนวิชากังฟู จนเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นได้เป็นตัวแทนนักกีฬาไปแข่งขันต่างๆมากมาย จนได้เป็นแชมป์ 5 ปีซ้อน ทั้งยังเคยไปแสดงศิลปะการป้องกันตัวต่อหน้า ปธน. Richard Nixon เมื่อปี 1974, เข้าสู่วงการแสดงตอนอายุ 20 ภาพยนตร์เรื่องแรก Shaolin Temple (1982), โด่งดังพลุแตกจากบทหวงเฟยหง ในแฟนไชร์ Once Upon a Time in China, ผลงานเด่นอื่นๆ Swordsman II (1992), Hero (2002), Fearless (2006), The Warlords (2007) ฯ

รับบทหวงเฟยหง ครูมวยชาวจีนที่ได้รับการนับหน้าถือตาจากผู้คน แรกเริ่มมีความชาตินิยมสูงมาก ปฏิเสธรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แต่หลังพานผ่านอะไรมามาก ครุ่นคิดจนเข้าใจถึงความชั่วร้ายอันตรายที่กำลังแผ่ปกคลุมเข้ามา ค่อยๆปรับเปลี่ยนแปลงทัศนะ ยินยอมรับสิ่งก้าวหน้าใหม่ๆ เพื่อมิให้ตนเองช้าล้าหลังกว่าไม่ทันโลก

สิ่งที่ทำให้หลี่เหลียนเจี๋ยกลายเป็นตำนานหวงเฟยหง คือภาพลักษณ์ที่ดูเป็นผู้นำ มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ และทักษะสามารถเก่งกาจกังฟู คิวบู๊ถือยอดเยี่ยมไม่ด้อยไปกว่าเฉินหลงหรือหงจินเป่า แต่ในเรื่องการแสดงไม่มีอะไรให้น่าพูดถึงสักเท่าไหร่

เกร็ด: Jet Lee ไม่ได้ให้เสียงหนังเรื่องนี้ เพราะเขาพูดได้แต่ Mandarin ไม่ใช่ Cantonese


หยวนเปียว, Yuen Biao (เกิดปี 1957) นักแสดง ผู้ออกแบบการต่อสู้ เกิดที่ฮ่องกง มีพี่น้องแปดคน เมื่ออายุ 6 ขวบ เข้าเรียนโรงเรียนการแสดง China Drama Academy มีเพื่อนร่วมรุ่นคือ หงจินเป่า และเฉินหลง ได้สนิทสนมกลายเป็นเพื่อร่วมสาบาน เข้าสู่วงการเมื่อปี 1970 ด้วยการเป็นตัวประกอบ และนักแสดงแทน บรูซ ลี จากนั้นหันสู่เบื้องหลังออกแบบการต่อสู้ ภาพยนตร์เด่นๆอาทิ The Dragon, the Odds (1977), Knockabout (1978), The Prodigal Son (1981), Project A (1983), แฟนไชร์ Lucky Stars (1983-96), ได้รับการจดจำสูงสุดก็ Once Upon a Time in China (1991), Hero (1997), A Man Called Hero (1999) ฯ

รับบทเหลียงควน เป็นคนพอมีฝีมือกังฟู สุดกู่ด้วยอุดมการณ์ แต่ด้วยความปากมาก เลยมักจับพลัดจับพลูตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก ต้องการเป็นลูกศิษย์หวงเฟยหง แต่กลับเคารพคารวะเกราะเหล็ก สุดท้ายถ้าไม่เพราะยึดถือมั่นในความถูกต้อง ปฏิเสธยินยอมรับเงินสกปรก คงได้ตกกระไดกลายเป็นโจรถูกจับติดคุกหัวโต

ความยียวนกวนประสาทของหยวนเปีย คือเอกลักษณ์ Typecast ของพี่แกเลยก็ว่าได้ จับพลัดจับพลูแต่ก็สามารถเอาตัวรอดได้ทุกขณะ จะถือว่าเป็นตัวแทนชนชาวจีน พานผ่านเหตุการณ์ต่างๆ เรียนรู้สะสมประสบการณ์ และยึดถือมั่นในอุดมการณ์หนักแน่นเหนือสิ่งอื่นใด


เครดิตถ่ายภาพโดย Ardy Lam, Bill Wong, David Chung, Arthur Wong, Wingo Chan, Wilson Chan

ก็ว่าอยู่ทำไมงานภาพแต่ละช็อตค่อนข้างดูสะเปสะปะ แม้มีความลื่นไหลจากการตัดต่อที่ฉับไว แต่ขาดความต่อเนื่องทางศาสตร์ศิลป์ ฉากเดียวกันพอสลับเปลี่ยนมุม ทิศทาง แสงสี พื้นหลัง ราวกับถ่ายทำคนละวันเวลาสถานที่อย่างงั้นละ!

ถึงกระนั้นก็ต้องชมความพิศดารของมุมกล้องในหลายๆฉาก จัดวางตำแหน่งที่ไม่มีใครเขานิยมกัน มันเลยเกิดความเฉพาะตัวขึ้นกับหนัง แต่ก็บอกไม่ได้ว่าสมควรยกเครดิตดีงามให้กับใคร

อารัมบทด้วยการเชิดมังกร (เทศกาลตรุษจีน) สัญลักษณ์ของความโชคดีงาม สุขสำราญตลอดปีใหม่ เป้าหมายคือลูกแก้ว ไล่งับได้เมื่อไหร่โดยหัวมังกรไม่ตกแตะพื้นถือว่าประสบความสำเร็จ, นัยยะของฉากนี้สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด สามารถแทนมังกรด้วยประเทศจีน ขณะกำลังปีนป่ายไล่ล่าลูกแก้ว ถูกทหารตะวันตกครุ่นคิดว่าคือเสียงสู้รบ ใช้ปืนยิงคนเชิดจนเกือบตกลงพื้น แต่ได้รับการช่วยเหลือโดยหวงเฟยหงลงมาเชิดเองเลย ปีนป่ายกระโดดบนเส้นเชือกอันตราย จนสามารถงับลูกแก้ว แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เสร็จสำเร็จ!

ภาพมุมกว้างของเมืองฝอซาน, กล้องค่อยๆเคลื่อนจากชั้นสองภายในโรงเตี้ยมที่มีนักดนตรีกำลังบรรเลงเพลงพื้นบ้านจีน มาจนถึงท้องถนนพบเห็นพระสงฆ์พุทธสาสนา และการเดินมาถึงของบาทหลวง (ชาวตะวันตก) ขับร้องสรรเสริญพระผู้เจ้า อัลเลลูยา

แซว: ฉากนี้น่าจะเป็น Long Take ที่ยาวสุดของหนังแล้วกระมัง เพราะส่วนใหญ่จะตัดต่อแบบรวดเร็วฉับไวเสียเหลือเกิน

การต่อสู้ระหว่าง Shaho Gang กับเหลียงควนและเจ้าหมู สะท้อนถึงความขัดแย้งภายในกันเองของชนชาวจีน ซึ่งพานผ่านบริเวณที่เต็มไปด้วยป้ายชื่อร้าน ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธต่อสู้ นัยยะคงสื่อถือการแบ่งแยก ร้านใครร้านมัน ไร้ซึ่งความสมัครสมานสามัคคีกลมเกลียว เป็นอันหนึ่งอันเดียว

โรแมนติกเล็กๆของหวงเฟยหงกับน้าสิบสาม เล่นกับเงาช็อตนี้สะท้อนความต้องการของหญิงสาว ต้องการสัมผัสแตะต้องตัว แต่ก็ยังเหนียงเขินอาย เพราะทัศนคติชนชาวจีน ผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง

แซว: ตัวจริงของหวงเฟยหง ว่ากันว่าผ่านการแต่งงานทั้งหมด 4 ครั้ง มีลูกทั้งหมด 10 คน

หวงเฟยหงต่อสู้กับหัวหน้ากลุ่ม Shaho Gang พบเจอในโรงเตี๊ยมขณะกำลังรีดไถเงินค่าคุ้มครอง ซึ่งอาวุธที่ใช้คือร่ม สิ่งคลุมศีรษะกันเปียกเวลาฝนตก … เป็นการล้อกันเองที่แสนยียวน เรียกร้องค่าคุ้มครองและโดยคลุมคลองเสียเอง!

พัดที่หวงเฟยหงได้รับมาจาก Liu Yongfu เปรียบได้กับจิตวิญญาณของชาวจีนที่สลักจารึกไว้ ถูกเผาไหม้ทำลายย่อมสะท้อนถึงค่านิยมปรับเปลี่ยนแปลงไป

กลุ่มคนที่เป็นต้นตอการเผาบ้านหวงเฟยหง ก็คือชนชาวจีนด้วยกันเอง ถือว่าสะท้อนความขัดแย้งภายใน เป็นเหตุให้ผืนแผ่นดินลุกเป็นไฟ และการมาถึงของผู้ปกครองเมือง แทนที่จะไล่ล่าติดตามตัวคนเผา กลับโบ้ยความผิด หาทางปรับปรำคนสุจริตซะงั้น!

การต่อสู้ที่โรงละครงิ้ว สถานที่ที่เต็มไปด้วยนักแสดงแต่งหน้าแต่งตา ปกปิดภาพลักษณ์/ตัวตนแท้จริง ทั้งๆก็ชาวจีนด้วยกันกลับทรยศหักหลังพรรคพวกพ้อง เป้าหมายหาใช่ชาวตะวันตกแต่คือล้างแค้นเอาคืนหวงเฟยหง ใช้ไม้พองกวาดโดยรอบไม่ให้เข้ามาใกล้ตัว

ความซวยตกอยู่กับผู้ชม ไม่รู้อิโหน่อีเหน่อะไรด้วยกลับโดนลูกหลง กระสุนปืนกราดยินเสียชีวิตไปไม่น้อยทีเดียว!

การต่อสู้ท่ามกลางสายฝนกับเกราะเหล็ก ต้องชมเลยว่าคือ Masterpiece ของการออกแบบฉากต่อสู้ ไม่เพียงสโลโมชั่น แต่ยังไม้อันนั้นที่ล่องลอยเหินหาว ทั้งสองต่างใช้หมัดและเท้าเล่นกับมันได้อย่างอึ้งทึ่งคาดไม่ถึง (และไม่มี CG)

นัยยะการต่อสู้ท่ามกลางสายฝนที่เต็มไปด้วยความเย็นยะเยือก สะท้อนถึงสถานะลำบากยากเร้นของทั้งคู่ตกอยู่ในช่วงเวลากลืนไม่เข้าคายไม่ออก
– เกราะเหล็กต้องการเอาชนะเพื่อชื่อเสียง เงินทอง ไหลมาเทมา
– หวงเฟยหงติดอยู่ว่า เป็นนักโทษถูกจำกัดบริเวณ แถมมีคนมากมายให้ห่วงหา เลยไม่อาจปลดปล่อยพลังฝีมือได้อย่างเต็มที่

นี่เป็นอีกช็อตที่ผมโคตรชอบ เกราะเหล็กได้แสดงธาตุแท้ของตนเองออกมา เงินคือสิ่งล้ำค่าที่สุดในชีวิต สั่งให้ลูกศิษย์เหลียงควนก้มลงเก็บ ภาพถ่ายจากระหว่างขา สะท้อนความตกต่ำของผู้มักมากในเงินตรา

คือส่วนตัวชื่นชอบฉากต่อสู้ท่ามกลางสายฝนมากกว่า แต่ไคลน์แม็กซ์กับบันได ถือว่าโคตรเจ๋งเป้งไม่แพ้กัน สัญลักษณ์ของการปีนป่าย ไต่เต้า พิสูจน์ตนเอง ใครกันแน่อยู่จุดสูงสุดแห่งวิทยายุทธกังฟู

แต่สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องของใครเก่งกว่าไม่เก่งกว่า เพราะมือเปล่าหรือจะสู้อาวุธปืน
– แม้ชื่อว่าเกราะเหล็กก็ไม่อาจต้านทาน
– ตรงกันข้ามกับหวงเฟยหงใช้กระสุนเล็กๆของชาวตะวันตก ดีดแสกกลางศีรษะ (เอาเทคโนโลยีต่างชาติ มาปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับตนเอง)

ช็อตสุดท้ายของหนังก่อนตัดเข้า Closing Credit คือการถ่ายภาพหมู่ แต่ปรากฎกว่าเละไม่เป็นท่า … นี่คงสะท้อนถึง คงอีกสักพักกว่าที่ชาวจีนจะสามารถปรับตัวรับกับวัฒนธรรมต่างชาติ ตอนแรกนำเข้ามาคงสับปะรดแบบนี้แหละ

ตัดต่อโดย Marco Mak นักตัดต่อ/ผู้กำกับชาวฮ่องกง ขาประจำของฉีเคอะ ผลงานเด่นๆ อาทิ A Better Tomorrow III (1989), Swordsman (1990), A Chinese Ghost Story II (1990), Once Upon a Time in China (1991) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของหวงเฟยหงเป็นหลัก แต่หลายๆขณะก็ใช้สายตาของ เหลียงควน ที่จับพลัดจับพลู เปลี่ยนครูอาจารย์ ฝั่งฝ่ายไปเรื่อยๆ

แม้การเล่าเรื่องจะดูสะเปะสะปะ เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ทุกฉากการต่อสู้บู๊กังฟู ต้องชมเลยว่ามีความลื่นไหล รวดเร็วฉับไว ไม่ทำให้อารมณ์ตื่นเต้นเร้าใจ สะดุดลงเลยแม้เพียงเสี้ยววินาที


เพลงประกอบโดย James Wong (1941 – 2004) นักแต่งเพลงชื่อดังชาวฮ่องกง ขาประจำของฉีเคอะ ผลงานเด่นๆ อาทิ A Better Tomorrow (1986), A Chinese Ghost Story (1987), The Swordsman (1990), Once Upon a Time in China (1991), Butterfly Lovers (1994) ฯ

แม้ว่า Wong จะคือคนทำเพลงประกอบให้กับหนัง แต่คนที่แต่ง Main Song กลับคือ George Lam, ท่วงทำนองและคำร้องทำให้เกิดความฮึกเหิม อยากลุกขึ้นมาเตะต่อย ปลดปล่อยพลังที่สะสมอัดอั้นอยู่ภายใน ต่อสู้เอาชนะศัตรูภัยพาล กลายเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

คงไม่ผิดอะไรจะบอกว่า Once Upon a Time in China คือภาพยนตร์ชวนเชื่อชาวจีน ปลุกกระแสชาตินิยมให้เกิดความฮึกเหิม ภาคภูมิใจ ขณะเดียวกันก็ต่อต้านชาติตะวันตก และความคอรัปชั่นขัดแย้งภายใน ต้องถูกกำจัดขับไล่ให้พ้นทาง

มีอีกสองสิ่งที่ผู้กำกับฉีเคอะแทรกใส่ไว้ นอกเหนือจากประเด็นรักชาตินิยม
– เพราะโลกกำลังก้าวไปข้างหน้าไม่หยุดนิ่ง มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จีนจะปิดประเทศ ปฏิเสธอะไรๆจากภายนอก ดังนั้นเราควรที่จะเปิดรับเทคโนโลยี นำเอาความเจริญก้าวหน้าเข้ามาช่วยพัฒนาชาติ แค่ว่าต้องคัดเลือกสรรปรับใช้ ไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างจนถูกกลืนกินสูญสิ้นวัฒนธรรมของตนเอง
– อีกอย่างหนึ่งคือศาสนาคริสต์ อันนี้น่าจะมาจากความเชื่อของผู้กำกับฉีเคอะโดยตรง เพราะพื้นฐานชาวจีนทั่วไปนับถือพุทธศาสนา แต่เรื่องนี้เพิ่มบทให้บาทหลวง อ้างว่าพระเจ้ามิได้ตาบอด

ลึกๆผมครุ่นคิดว่าฉีเคอะรับเอาอิทธิพล ค่านิยมของหนัง Hollywood ยุคสมัยนั้น อาทิ Superman (1978), Batman (1989) ฯ ซุปเปอร์ฮีโร่กอบกู้โลก แล้วทำไมประเทศจีนถึงไม่สามารถมีได้บ้าง? แต่จะให้ปลอมตัว ใส่หน้ากาก สวมผ้าคลุม มันก็กระไรอยู่ อาจเพราะเหตุนี้เลยค้นมองหา และพบเจอหวงเฟยหง แม้ตัวจริงอาจไม่ได้เก่งกาจ หรือเฉลียวฉลาดหลักแหลมแบบที่พบเห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่คือการนำเอาเรื่องเล่าตำนาน (Folk Hero) มาปรุงแต่งให้กลายเป็นวีรบุรุษในโลกภาพยนตร์

ทำไมประเทศจีนถึงต้องการฮีโร? คงต้องท้าวความถึงยุคสมัยนั้น(ตอนที่หนังออกฉาย) เพิ่งพานผ่านการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 นักศึกษา ประชาชน ชุมนุมต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน เรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ ประเมินผู้เข้าร่วมหลักแสน แต่ผู้นำประเทศคาดคิดว่ามีชาติตะวันตกสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง จึงไม่ยินยอมพร้อมเกิดการปะทะนองเลือด ข่าวลือว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,500 คน บาดเจ็บอีก 7,000-10,000 คน และการประท้วงครั้งนี้ประสบความล้มเหลว

ผู้กำกับฉีเคอะเป็นชาวฮ่องกง ไปร่ำเรียนถึงสหรัฐอเมริกา มุมมองของเขาต่อเหตุการณ์นองเลือดดังกล่าวย่อมเต็มไปด้วยอคติขัดแย้ง ไม่พึงพอใจ แต่ขณะเดียวกันด้วยความรักชาตินิยม มันจึงผสมผสานคลุกเคล้ากัน เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คงจากทัศนคติดังกล่าว วาดฝันวีรบุรุษเพื่อกอบกู้สันติภาพให้หวนกลับคืนมา!


หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่สามารถทำได้ HK$29.6 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม และยังได้เข้าชิง Hong Kong Film Awards 8 สาขา คว้ามา 4 รางวัล
– Best Film
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Jacky Cheung)
– Best Film Editing ** คว้ารางวัล
– Best Cinematographer
– Best Art Direction
– Best Action Choreography ** คว้ารางวัล
– Best Original Film Score ** คว้ารางวัล

ความสำเร็จอันล้นหลามของหนังเรื่องนี้ ก่อเกิดแฟนไชร์หวงเฟยหง
– Once Upon a Time in China (1991)
– Once Upon a Time in China II (1992)
– Once Upon a Time in China III (1993)
– Once Upon a Time in China IV (1993) นำแสดงโดย Vincent Zhao (แทน Jet Lee)
– Once Upon a Time in China V (1994) นำแสดงโดย Vincent Zhao (แทน Jet Lee)
– Once Upon a Time in China and America (1997)

ส่วนตัวชื่นค่อนข้างชื่นชอบหนัง ประทับใจฉากต่อสู้สุดมันส์แฝงนัยยะความหมายซ่อนเร้น ตัดต่อเฉียบคมคาย และบทเพลงประกอบตราตรึงคุ้นหูเสียเหลือเกิน

แต่ลึกๆก็ผิดหวังกับภาพรวมของหนัง มีกลิ่นอายชวนเชื่อรักชาติไปเสียนิด การแสดงของ Jet Lee มีแค่มิติเดียว (แต่ไปเด่นกับฉากบู๊แทน) และความมากเกินไปของบางตัวละคร พอเริ่มไม่ฮาก็พาเครียดเสียแล้ว

แนะนำคอหนังแอ๊คชั่น กังฟู สอดแทรกประวัติศาสตร์จีน เรื่องราวของหวงเฟยหง, แฟนๆผู้กำกับฉีเคอะ และนักแสดงนำ Jet Lee ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ อะไรๆก็ชกต่อยตี แถมยังชอบดูถูกเหยียดหยามย่ำยี

คำโปรย | Once Upon a Time in China แม้มีฉากการต่อสู้ที่โคตรอลังการตราตรึง แต่กลิ่นอายชาตินิยมจีนอาจไม่ถูกลิ้นของทุกคน
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: