Once Upon a Time in the West

Once Upon a Time in the West (1968) hollywood : Sergio Leone ♥♥♥♥

หลังเสร็จจาก Dollars Trilogy แม้รู้สึกเพียงพอแล้วกับ Spaghetti Western แต่เมื่อ Sergio Leone ได้รับการโน้มน้าวจาก Paramount Pictures อนุญาตให้เข้าถึงนักแสดงคนโปรด Henry Fonda มีหรือจะไม่ยินยอมหวนกลับมา ครานี้ยำใหญ่ใส่สารพัดระดับ Epic และกลับตารปัตรทุกสิ่งที่ใครๆเคยพบเห็นมา

ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ภาพยนตร์แนว Western ระหว่างรับชม Once Upon a Time in the West (1968) คงพบเห็นร่อยรอย การคัทลอกเลียนแบบ บางฉากก็อปปี้มาดุ้นๆ ชื่อตัวละครยังคุ้นๆ ปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่นสักเล็กน้อย ผสมคลุกเคล้าจนค่อยๆกลายเป็นเนื้อเดียวกัน … นี่แหละที่ใครๆเรียกว่า Spaghetti Western

มีนักวิจารณ์ Christopher Frayling สังเกตพบการอ้างอิงถึงภาพยนตร์แนว Western มากกว่า 30 เรื่อง! แต่พูดถึงที่เด่นๆดังๆ พอมีคนรู้จักก็แล้วกัน
– The Iron Horse (1924) หลายๆช็อตของการเคลื่อนกล้อง โดยเฉพาะวางกล้องไว้ใต้รางรถไฟวิ่งผ่าน
– Duel in the Sun (1946) ความพิการของตัวละคร Morton และเป็นเจ้าของกิจการรถไฟ
– Winchester ’73 (1950) ลักษณะของเมืองมีความคล้ายคลึง
– Shane (1953) การฆาตกรรมต้นเรื่อง รวมถึงฉากงานศพ
– Johnny Guitar (1954) คัทลอกพื้นหลังตัวละคร Jill, Vienna และ Harmonica
– The Searchers (1956) แสง เสียง พื้นหลัง และการออกเดินทางต่อตอนจบ
– The Comancheros (1961) นำเอาชื่อตัวละคร McBain และชื่อเมือง Sweetwater 
– The Last Sunset (1961) การดวนปืนช่วงท้าย
– The Man Who Shot Liberty Valance (1962) เสื้อโค้ทหางยาวของพรรคพวก Cheyenne และฉากการประมูลดูคล้ายตอนเลือกตั้ง
ฯลฯ

เชื่อว่าคอหนังรุ่นใหม่ คงเกิดอาการเบื่อหน่ายต่อการดำเนินเรื่องที่แสนเชื่องช้าเต่าคลานของ Once Upon a Time in the West (1968) แถมระยะเวลา 165 นาที อาจได้หลับสนิทปลุกไม่ตื่น แต่นั่นคือมนต์เสน่ห์เหนือกาลเวลาของหนัง ค่อยเป็นค่อยไปเพื่ออารัมบท สรรค์สร้างบรรยากาศ ตระเตรียมทุกสิ่งอย่างให้พรักพร้อมสรรพ ต่อจากนั้นก็ชักปืนขึ้นมายิงโป้งเดียวจอด!

ใครเป็นแฟนหนังของผู้กำกับ Quentin Tarantino น่าจะสังเกตเห็นโครงสร้างดำเนินเรื่อง ถือว่าคัทลอก รับอิทธิพลมา ปรากฎพบแทบจะเปะๆทุกผลงาน!


Sergio Leone (1929 – 1989) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอิตาเลียน เกิดที่ Rome, Lazio บุตรของผู้กำกับ/นักแสดงชื่อดัง Vincenzo Leone กับ Edvige Valcarenghi สมัยเรียนเป็นเพื่อนร่วมชั้น Ennio Morricone ครั้นเห็นพ่อทำงานในกองถ่าย ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนกฎหมายเพื่อเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มต้นจากเป็นตากล้อง ผู้ช่วยผู้กำกับ Vittorio de Sica ถ่ายทำ Bicycle Thieves (1948) เคยร่วมงานเป็นผู้ช่วยหนัง Hollywood ที่มาถ่ายหนังในอิตาลีเรื่อง Quo Vadis (1951), Ben-Hur (1959), เมื่อผู้กำกับ Mario Bonnard ล้มป่วยระหว่างการถ่ายทำ The Last Days of Pompeii (1959) เป็น Leone รับหน้าที่กำกับแทนทั้งหมดแต่ไม่ขอรับเครดิต, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Colossus of Rhodes (1961) ด้วยทุนสร้างต่ำแต่สามารถทำให้มีความอลังการระดับ Hollywood Epic, ตามด้วยไตรภาค Dollars Trilogy เปิดประเดิม Sub-Genre ชื่อว่า Spaghetti Western

หลังเสร็จจาก The Good, the Bad and the Ugly (1966) ผู้กำกับ Leone ตั้งใจจะวางมือจากหนังแนว Western เพราะเชื่อว่าได้ทำสิ่งที่อยากนำเสนอไปหมดแล้ว ผลงานลำดับถัดไปตระเตรียมดัดแปลงหนังสือชีวประวัติ The Hoods (1952) แต่งโดย Harry Grey แต่เมื่อนำโปรเจคไปเสนอหลายๆสตูดิโอ Hollywood กลับถูกร้องขอให้สร้างหนังแนว Western อีกสักเรื่องหนึ่งเถอะ!
– United Artists ให้ตัวเลือกนักแสดงอย่าง Charlton Heston, Kirk Douglas, Rock Hudson แต่ก็ยังไม่อยู่ในความสนใจ
– กระทั่ง Paramount Pictures เสนอ Henry Fonda ที่เป็นนักแสดงคนโปรด ไม่ต้องโอดครวญอะไร แทบจะตอบตกลงปลงใจโดยทันที!

เกร็ด: หนังสือ The Hoods ได้กลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง Once Upon a Time in America (1984) ผลงานสุดท้ายในชีวิตของผู้กำกับ Sergio Leone

แม้ได้นักแสดงที่อยากร่วมงาน แต่ Leone ก็ไม่รู้จะครุ่นคิดหาเรื่องราวอะไรมานำเสนอ เลยชักชวนสองนักวิจารณ์อิตาเลี่ยนชื่อดังขณะนั้น Bernardo Bertolucci และ Dario Argento (ที่ต่อมาต่างกลายเป็นผู้กำกับระดับตำนานทั้งคู่เลย!) ให้มาร่วมพัฒนาบทภาพยนตร์ ซึ่งวิธีการของพวกเขาก็คือ รับชมหนัง Western แล้วพูดคุยสนทนาหาสิ่งน่าสนใจ น่าจะหลักหลายร้อยเรื่อง (ที่บ้านของ Leone) เพราะใช้เวลาเป็นปีๆกว่าจะเขียนบทเสร็จ!

ซึ่งเมื่อพัฒนาบทหนังเสร็จแล้ว ขอความช่วยเหลือ Sergio Donati ให้มาช่วยขัดเกลา และปรับปรุงบทสนทนา ไม่ต้องเยอะแต่ได้ใจความ (แถมคมคายอีกด้วย)

เรื่องราวพื้นหลังเมืองสมมติ Flagstone, เรื่องราวของ Jill McBain (รับบทโดย Claudia Cardinale) เดินทางจาก New Orleans เพื่อมาแต่งงานกับ Brett McBain (รับบทโดย Frank Wolff) แต่เขากับถูกฆ่าสังหารโหดยกครอบครัวจาก Frank (รับบทโดย Henry Fonda) หลังงานศพกำลังเตรียมตัวกลับ ได้รับการช่วยเหลือจากชายสองคน
– Cheyenne (รับบทโดย Jason Robards) หัวหน้ากลุ่มคาวบอย ที่เธอบังเอิญพบเจอวันแหกคุกพอดิบพอดี
– Harmonica (รับบทโดย Charles Bronson) นักเป่าเมาท์ออร์แกน เหมือนมีปมอาฆาตพยาบาท Frank อยู่ก่อนแล้ว

เพราะเหตุใด? ทำไม? สามีของเธอถูกฆ่าสังหารโหด และโดยไม่ทันรู้ตัวกำลังตกเป็นเหยื่อเป้าหมายรายต่อไป


Claudia Cardinale (เกิดปี 1938) นักแสดงหญิงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ La Goulette, Tunis หลังจากชนะการประกวด ‘Most Beautiful Italian Girl in Tunisia’ เมื่อปี 1957 ได้รางวัลเป็นการเซ็นสัญญาสู่วงการภาพยนตร์อิตาเลี่ยน มีชื่อเสียงโด่งดังกับ Rocco and His Brothers (1960), Girl with a Suitcase (1961), The Leopard (1963), 8½ (1963), The Pink Panther (1963), Once Upon a Time in the West (1968), Fitzcarraldo (1982) ฯ

รับบท Jill McBain จากเคยเป็นโสเภณีอยู่ที่ New Orleans เมื่อได้โอกาสแต่งงานมีหรือจะปฏิเสธความสุขสบาย แต่ทุกสิ่งอย่างเพ้อฝันไว้พลันล่มสลาย เพราะว่าที่สามีถูกเข่นฆ่าตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะกำลังเตรียมเดินทางกลับได้รับความช่วยเหลือจากชายสองคน ต่อมาถูกจับกุมโดย Frank อะไรจะเกิดฉันก็ไม่หวาดสะพรึงกลัวอยู่แล้ว

ในตอนแรก ผู้กำกับ Leone ต้องการนักแสดง Sophia Loren ซึ่งสามีของเธอ Carlo Ponti ก็ยินยอมพร้อมใจ ว่าจะแถมงบประมาณเพิ่มให้ด้วยถ้าร่วมแสดง แต่เพราะความหวาดกลัวว่าทั้งสองจะเรียกร้องโน่นนี่นั่นมากเกินไป เลยเปลี่ยนใจไปโน้มน้าวเพื่อนสนิท Claudia Cardinale เห็นว่าเธอตอบตกลงโดยไม่ได้อ่านบทหนังเสียด้วยซ้ำ

ก่อนหน้านี้ Cardinale มักรับบทหญิงสาวสวยไฮโซ เริดเชิดหยิ่ง แต่งกายเลิศหรูหรา แต่พอมาหนังเรื่องนี้ถูกผู้กำกับ Leone ฉุดคร่าจากนางฟ้ากลายเป็นเทวดาตกดิน โดยไม่รู้ตัวนั่นคือภาพลักษณ์ที่ใช่สำหรับเธออย่างยิ่ง สาวแกร่งหัวใจเหล็ก ถึงถูกกระทำชำเราก็ไม่แสดงความขลาดเขลา สามารถเอาชนะผู้ชายดิบๆแค่การชายตามองลิบๆ

เปรียบเทียบแล้วตัวละครนี้ราวกับผืนแผ่นดินแม่ หรือดินแดนตะวัน ‘The West’ เป็นที่หมายปองของชายทุกคน แต่สุดท้ายกลับไม่มีใครได้ครอบครองเป็นเจ้าของเธอ!


Henry Jaynes Fonda (1905 – 1982) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Grand Island, Nebraska ในครอบครัว Christian Scientist วัยเด็กเป็นคนขี้อาย หวาดกลัวสาวๆ ชอบว่ายน้ำ เล่นสเก็ต และออกวิ่ง โตขึ้นวาดฝันเป็นนักข่าว เข้าเรียน University of Minnesota แต่ไม่จบ กลายมาเป็นนักแสดงที่ Omaha Community Playhouse ครั้งหนึ่งได้ร่วมงานกลายเป็นเพื่อนสนิทกับ James Stewart อาศัยอยู่ห้องพักเดียวเดียวกัน, หลังประสบความสำเร็จจากการแสดง Broadway เรื่อง The Farmer Takes a Wife (1934) กลับมารับบทเดิมในฉบับภาพยนตร์ปี 1935 ตามด้วย You Only Live Once (1937), Jezebel (1938), Young Mr. Lincoln (1939) ร่วมงานครั้งแรกกับผู้กำกับ Ford เรื่อง Jesse James (1939), ผลงานที่กลายเป็นตำนานเริ่มตั้งแต่ The Grapes of Wrath (1940), The Lady Eve (1941), The Ox-Bow Incident (1943), My Darling Clementine (1946), War and Peace (1956), 12 Angry Men (1957), How the West Was Won (1965) ฯ

รับบท Frank คาวบอยผู้คร่ำหวอดในวงการมาเนิ่นนาน สนิทสนมกับ Mr. Morton (รับบทโดย Gabriele Ferzetti) ให้ความช่วยเหลืองานสกปรกบ่อยครั้ง กระทั่งพบเจอ Jill McBain ตกหลุมลักพาตัวร่วมรัก เพ้อวาดฝันต้องการวางมือแล้วใช้ชีวิตบั้นปลายกับเธอ แต่กงกรรมเกวียดจากอดีตกำลังไล่ติดตามทัน ถูกทรยศหักหลังจากพวกพ้อง และท้ายที่สุดจำต้องดวลปืนกับ Harmonica แม้นึกไม่ออกเสียทีว่าเคยทำอะไรให้หมอนี้บาดหมางเคืองโกรธขนาดนั้น

ทีแรกเมื่อได้รับการติดต่อ Henry Fonda บอกปัดไม่ต้องการรับบทตัวร้าย แต่ผู้กำกับ Leone ลงทุนบินตรงสู่อเมริกา พูดคุยโน้มน้ามชักจูง

“Picture this: the camera shows a gunman from the waist down pulling his gun and shooting a running child. The camera pans up to the gunman’s face and…it’s Henry Fonda”

เพราะไม่แน่ใจว่าคุ้มเสี่ยงหรือเปล่า เลยติดต่อสอบถามเพื่อนสนิท Eli Wallach ที่เคยร่วมงาน Leone เรื่อง The Good, the Bad and the Ugly (1966) ได้รับคำแนะนำแสนดี

“You will have the time of your life”.

เป็นการพลิกบทบาทที่ทำให้ผู้ชมสมัยนั้นอึ้งทึ่ง ช็อค คาดคิดไม่ถึง! เพราะโดยปกติ Fonda คือเทพบุตรแสนดี ไม่เคยกระทำร้ายผู้หญิงหรือเด็ก แต่ครานี่มาโคตรโหด โฉดด้วยเลิฟซีนครั้งแรกในชีวิตกับ Claudia Cardinale [เห็นว่าภรรยาของ Fonda มาคุมสามีในกองถ่ายตลอดทั้งการถ่ายทำ] โดยเฉพาะดวงตาสีฟ้าสะท้อนความยะเยือกเย็นชาของตัวละคร ช่างน่าหวาดสะพรึงกลัวเสียเหลือเกิน

แซว: ดวงตาของ Fonda มีสีฟ้าธรรมชาติ แต่เจ้าตัวมองว่ามันคงไม่เข้ากับบท วันแรกในกองถ่ายเลยสวมใส่คอนแทคเลนส์สีน้ำตาล และเติมหนวดเข้าไปด้วย ถูกผู้กำกับสั่งให้นำออกโดยพลัน

หลังจากการร่วมงานครั้งนี้ Fonda พูดชื่นชม Leone ว่าเป็นผู้กำกับยอดเยี่ยมที่สุดที่เคยร่วมงานด้วย แถมยังเป็นผู้แนะนำให้ James Coburn แสดงในหนังเรื่องถัดไป Duck, You Sucker (1971)


Jason Robards (1922 – 2000) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน หนึ่งใน Triple Crown of Acting (Tony, Oscar, Emmy) เกิดที่ Chicago, Illinois บุตรชายของ Jason Robards Sr. นักแสดงละครเวที หนังเงียบ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในยุคหนังพูด วัยเด็กชื่นชอบเล่นกีฬา ต่อมาสมัครทหารเรือเข้าร่วมรบสงครามโลกครั้งที่สอง ปลดประจำการเลือกเดินตามรอยเท้าพ่อแสดงละครเวที วิทยุ ภาพยนตร์ Long Day’s Journey into Night (1962), A Thousand Clowns (1965), Once Upon a Time in the West (1968), คว้าสองรางวัล Oscar: Best Supporting Actor จากเรื่อง All the President’s Men (1976) และ Julia (1977)

รับบท Manuel ‘Cheyenne’ Gutiérrez หัวหน้ากลุ่ม Cheyenne ค่าหัว $5,000 เหรียญ สามารถหลบหนีเอาตัวรอดจากการถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ เป็นเหตุให้พานพบเจอ Harmonica และโดยไม่รู้ตัวตกหลุมรัก Jill McBain หลังจากรับทราบข่าวการเข่นฆ่าสังหารโหด เลยแสร้งทำเป็นไปขอกาแฟดื่มที่บ้านของเธอ และแอบให้ความช่วยเหลืออยู่ห่างๆ

เดิมนั้นตัวละคร Cheyenne ไม่มีอยู่ในบทหนังของ Bertolucci และ Argento เพิ่มเข้ามาโดย Sergio Donati โดยจินตนาการถึง Eli Wallach ให้กลับมารับบท แต่ผู้กำกับ Leone คาดคิดว่าผู้ชมพอเห็นหน้า Wallach คงนึกถึง The Good, the Bad and the Ugly (1966) ขึ้นมาโดยทันที เลยสรรหานักแสดงคนใหม่ดีกว่า … เห็นว่า Kirk Douglas พยายามล็อบบี้บทบาทนี้ด้วยนะ แต่สุดท้ายเลือกเอา Jason Robards แม้ว่าวันแรกมาพบเจอจะเมาปลิ้น เลยโดนข่มขู่สั่งห้าม ถ้ามีพฤติกรรมแบบนี้อีกจักถูกไล่ออกจากกองถ่ายแน่

Robards เป็นนักแสดงที่มีความลุ่มลึก มิติทางอารมณ์ซับซ้อนหลายชั้น สำหรับบทบาทนี้ภายนอกแทบดูไม่ออกว่ามาดีหรือร้าย แต่พฤติกรรมการกระทำนั้นเด่นชัดเจน แอบตกหลุมซ่อนรักหญิงสาว แสดงความเข้มแข็ง ‘ลูกผู้ชาย’ ปกปิดบังความอ่อนแอภายในจิตใจจนกระทั่งวินาทีสุดท้าย อาจจะมีบางคนคาดไม่ถึงและร่ำไห้กับตอนจบ (บทถูกตัดทอนไปด้วยส่วนหนึ่ง เหลือเพียงเรื่องเล่าแค่ว่าคือผู้จัดการลูกสมุนของ Mr. Morton)


Charles Bronson ชื่อเกิด Charles Dennis Buchinsky (1921 – 2003) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Ehrenfeld, Pennsylvania ครอบครัวมีเชื้อสาย Lithuanian เมื่อพ่อเสียชีวิตตอนเขาอายุ 10 ขวบ ลาออกจากโรงเรียนไปทำงานเหมือง จนกระทั่งการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สองสมัครเป็นทหารอากาศ ออกบินถึง 25 ภารกิจจนได้ประดับ Purple Heart ปลดประจำการออกมาดิ้นรนไปเรื่อยๆจนได้เข้าร่วมกลุ่มนักแสดงที่ Philadelphia ต่อมามุ่งสู่ Hollywood เริ่มจากตัวประกอบ บทสมทบ ได้รับบทนำครั้งแรกกับซีรีย์นักสืบ Man with a Camera (1958–60), มีชื่อเสียงกับ The Magnificent Seven (1960), The Great Escape (1963), The Dirty Dozen (1967), โกอินเตอร์กับ Adieu l’ami (1968), Once Upon a Time in the West (1968), Guns for San Sebastian (1968), Rider on the Rain (1970), Death Wish (1974) ฯ

รับบทชายนิรนาม แต่เพราะชื่นชอบเป่าเมาท์ออร์แกนเลยได้รับฉายา Harmonica ฝีมือเก่งกาจไม่ธรรมดา เดินทางสู่ Flagstone ด้วยจุดประสงค์เดียวเท่านั้น คือเข่นฆ่าล้างแค้น Frank เคยมีอดีตอันร้ายแรงต้องการเอาคืนอยู่ แต่ระหว่างนั้นประสบพบเจอ Cheyenne และ Jill McBain ดูไม่ออกเท่าไหร่ว่าตกหลุมรักไหม แต่ก็มิได้อะไรเกินเลย

ความต้องการแรกของผู้กำกับ Leone แน่นอนว่าอยากให้ Clint Eastwood หวนกลับมารับบทชายนิรนาม แต่เจ้าตัวเพียงพอแล้วกับ Spaghetti Western เลยบอกปัดปฏิเสธ ตามต่อด้วย James Coburn เรียกร้องค่าจากมากเกินไป สุดท้ายลงเอยที่ Charles Bronson เคยเป็นหนึ่งในตัวเต็งแทน Eastwood ตั้งแต่ A Fistful of Dollars (1964) ครานี้เรื่องอะไรจะบอกปัด!

Bronson ถึงไม่ได้ดูหล่อเหลา สง่าราศีเทียบเท่า Eastwood แต่มีความคมเข้ม มาดขรึม พูดน้อยต่อยหนัก อธิบายทุกสิ่งอย่างด้วยการกระทำ และถ่ายทอดความรู้สึกผ่านเสียงเป่า Harmonica


ถ่ายภาพโดย Tonino Delli Colli (1923 – 2005) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของผู้กำกับ Leone และ Pier Paolo Pasolini ผลงานระดับตำนาน อาทิ The Gospel According to St. Matthew (1964), The Good, the Bad and the Ugly (1966), Once Upon a Time in the West (1968), Death and the Maiden (1990), Bitter Moon (1991), Life Is Beautiful (1997) ฯ

สถานที่ถ่ายทำหลักๆของหนัง ประกอบด้วย
– ฉากภายใน ณ สตูดิโอ Cinecittà studios, Rome
– ฉากภายนอกส่วนใหญ่ถ่ายทำยัง Andalucía, เมืองทางตอนใต้ของประเทศสเปน
– และเพื่อให้ได้กลิ่นอายตะวันตกแท้ๆ ภาพคุ้นเคยจากหนังของผู้กำกับ John Ford ส่วนหนึ่งจึงคือ Monument Valley, Arizona

จากประสบการณ์ The Good, the Bad and the Ugly (1966) ทำให้ผู้กำกับ Leone ตัดสินใจเลือกใช้ Techniscope อีกครั้งหนึ่ง ด้วยฟีล์ม 35mm ขนาด Anamorphic Widescreen (2.35:1) แลปสี Techinocolor และพากย์เสียงทับหลังการถ่ายทำ

เรื่องความงดงามอลังการ สุดลูกหูลูกตาของทิวทัศนียภาพพื้นหลัง ยังคงเป็นสิ่งตื่นตราตะลึง ชวนให้อ้าปากค้างอยู่บ่อยครั้ง! ขณะเดียวกันการ Close-Up ใบหน้าตัวละคร ทำให้พบเห็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ การขยับเคลื่อนไหว ริ้วรอยเหี่ยวย่น ช่างมีความใหญ่โตมโหฬาร (ถ้าได้ดูบนจอภาพยนตร์ด้วยแล้ว คงจะยิ่งขนลุกซู่ซ่า)

ถ้าเป็นพวกเทพนิยายที่เริ่มต้นด้วย กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว… มักจะเป็นการเปิดหนังสือ ขึ้นข้อความ หรือเสียงพูดบรรยาย, แต่สำหรับหนังเรื่องนี้คือใช้เท้าเปิดประตูผุๆพังๆ จากนั้นค่อยๆเคลื่อนกล้องจากเท้า ไล่ขึ้นถึงเอวสะพายปืน และใบหน้า ซึ่งสามารถสะท้อนได้ถึงวิวัฒนาการยุคสมัย จากพื้นจุดต่ำสุด -> ปืนคือสัญลักษณ์ของคนเถื่อน -> ศีรษะคือจุดสูงสุดแห่งอารยธรรม

สามลูกกระจอกระหว่างเฝ้ารอคอยการมาถึงของขบวนรถไฟ
– หนึ่งยืนตำแหน่งมีน้ำหยด แทนที่จะหลบกลับสวมหมวก แล้วเอาน้ำนั้นดื่มกิน! นี่เป็นการสะท้อนถึงการเอาชนะอุปสรรคปัญหา ด้วยวิธีการเผชิญหน้าแก้ไขไม่ใช่หลบหนี แล้วใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ควรเป็นโทษ
– สองถูกก่อกวนด้วยแมลงวัน (เห็นว่าใช้แยมทาหน้านักแสดง แล้วปล่อยให้แมลงวันมาตอม) แต่แทนที่จะเข่นฆ่าทำลายก็กักขังไว้ในกระบอกปืน จนกระทั่งถึงเวลาก็ปลดปล่อยมันไป, ทัศนคติของโลกยุคใหม่ไม่ใช่การเข่นฆ่าแกง ผู้กระทำความผิดก็จักแค่ถูกกังขังคุก ชดใช้ครบเมื่อไหร่ก็ย่อมได้รับอิสรภาพ
– คนสุดท้ายนั่งรอคอยรถไฟอยู่ข้างนอก ปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไป ไม่ต่างอะไรกับหมาน้อยที่เดินผ่านด้านหลัง

หลังจากลายเซ็นต์ของ Clint Eastwood ใน Dollars Trilogy คือการเคี้ยวบุหรี่, หนังเรื่องนี้เปลี่ยนให้ชายนิรนามปากคาบเมาท์ออร์แกนแทน ต้องถือว่าเท่ห์ไปอีกแบบ

สไตล์ลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Leone นิยมถ่ายช็อต Close-Up ใบหน้าตัวละคร โดยให้นักแสดงมีการขยับเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย เชิดหน้าขึ้นช้าๆ หมวกค่อยๆเปิดเผยหรือปกปิดดวงตา ทั้งๆก็ไม่มีอะไรแต่พบเห็นบนจอใหญ่จะรู้สึกว่า โคตรเท่ห์ชะมัด!

สิ่งน่าสนใจของฉากฆ่าสังหารโหด มาด้วยเสียงของจั๊กจั่น จิ้งหรีดเรไร ถึงมันจะดูผิดปกติที่ดังชัดขนาดนั้น แต่เมื่ออยู่ดีๆเงียบเสียงใครๆก็น่าจะสังเกตได้ ลางสังหรณ์ของมนุษย์คือภยันตรายกำลังคืบคลานเข้ามา

ว่าไปเริ่มต้นก่อนกลับมาที่บ้าน พ่อและลูกชายไปยิงนกได้สองตัว นั่นราวกับสะท้อนผลกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพวกเขา ถูกเข่นฆ่ายิงตายโดยไร้ความเมตตาปราณี

การปรากฎตัวครั้งแรกของ Frank สังเกตว่ากล้องเคลื่อนจากด้านหลังตำแหน่งนี้ หมุนไป 180 องศา บรรจบที่ใบหน้าระยะ Close-Up พอดิบพอดี นี่สะท้อนนัยยะได้ถึง
– เริ่มต้นคือคนอยู่เบื้องหลัง ต่อมาต้องการเป็นคนเบื้องหน้า
– นิสัยพื้นฐานชั่วช้าสามาลย์ แต่ลึกๆก็คงอยากเป็นคนดี

ว่าไปถ้าสมาชิกในกลุ่มไม่เอ่ยชื่อ Frank เด็กชายคนนี้อาจประสบโชคชะตากรรมเดียวกับ Harmonica

เดิมนั้นเห็นว่า ช็อตแรกของ Claudia Cardinale ต้องการถ่ายไล่ระดับจากพื้น เห็นรองเท้า ไม่สวมใส่กระโปรงชั้นใน (แสดงถึงความเป็นหญิงแกร่งแก่นแก้ว) เคลื่อนขึ้นถึงใบหน้า และกำลังเดินลงจากรถไฟ แต่สุดท้ายกลับหลงเหลือแค่ช็อตนี้ จับจ้องใบหน้าแล้วเคลื่อนติดตามลงบันไดมา

ผู้กำกับ Leone คงมีความเพลิดเพลินกับการใช้เครนเป็นอย่างมาก ก่อนมาถึงช็อตนี้ลากยาวตั้งแต่ตัวละครของ Claudia Cardinale เดินเข้าอ๊อฟฟิสสถานีรถไฟ จากนั้นพอเดินออกกล้องเคลื่อนขึ้น พบเห็นมุมกว้าง Bird Eye View ของเมือง Flagstone ประกอบพร้อม Main Theme ชวนให้ขนลุกซู่ซ่าสั่นสะท้าน

นี่เป็นอีกช็อตที่เสียงมีความโดดเด่นกว่าภาพ ข้างนอกไม่รู้เกิดความวุ่นวายอะไรขึ้น ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดจินตนาการไปเอง แล้วหนังนำเสนอผลลัพท์ท้ายสุด ใครคนหนึ่งเปิดประตูเดินเข้ามา

จะว่าไปเรื่องราวส่วนใหญ่ของ Cheyenne ก็มักเป็นเช่นนี้ คือไม่พบเห็นการกระทำนอกสายตาสักเท่าไหร่ รับรู้อีกทีก็แค่สิ่งเกิดขึ้น ผลลัพท์สุดท้ายโน่นเลย … นี่เรียกว่าโด่งดังด้วยเสียงลือเล่าขาน ไม่ใช่พบเห็นด้วยตา

ไดเรคชั่นนี้คืออีกหนึ่งลายเซ็นต์ผู้กำกับ Leone เลยนะครับ อาจจะด้วยข้ออ้างงบไม่พอก็ได้ แต่ถือว่ามีความเป็นศิลปะ ไม่ใคร่นำเสนอทุกสิ่งอย่าง ปล่อยให้คือจินตนาการของผู้ชมบ้าง!

โอกาส ความหวัง และความฝันของ Jill McBain ที่จะแต่งงานมีชีวิตสุขสบายได้พังทลายลง ช็อตนี้ถ่ายจากมุมสูง Bird Eye View ผ่านลวดลายผ้าที่มีลักษณะเหมือนกรงขัง ซูมเข้าไปจนระดับ Close-Up ใบหน้าของหญิงสาว นี่ฉันจะครุ่นคิดทำอะไรต่อไปดี

แม้จะช้าล้าหลังกว่า Mr. Morton อยู่นานหลายปี แต่ฉากนี้บนรถไฟ Frank เดินมานั่งยังเก้าอี้เจ้านาย ลองสลับตำแหน่งมุมมองสายตาดูบ้าง เอาใจเขามาใส่ใจเรา จักพบเห็นโลกปรับเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้

ในบริบทของหนังนี้ สะท้อนความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูงของ Frank หลังจากเป็นขี้ข้ามานานหลายปี เริ่มสั่งลูกน้องให้เก็บกวาดปัญหาแทนตนเอง

สำหรับตัวละคร Mr. Morton ก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นถึงมีสภาพพิการ ต้องสวมเหล็กดามหลังเดินสองขาไม่ได้ (สะท้อนถึงการต้องพึ่งพาคนอื่นเพื่อเอาตัวรอด) แต่จิตใจยังมีความเพ้อใฝ่ฝัน ต้องการพบเห็นทะเล/มหาสมุทรแอตแลนติกเข้าสักวัน!

การปักหลักเขตแดนสำหรับสร้างสถานีรถไฟ เป็น Harmonica ครุ่นคิดขึ้นก่อนได้ นำเสามาตอกปักหมุดรูปสี่เหลี่ยมพร้อมๆกับเล่าเรื่องไปด้วย ซึ่งพอถึงจุดๆหนึ่ง Cheyenne ก็เริ่มติดตามทัน หยิบเชือกมามัดเข้ากับหลัก ภาพช็อตนี้เสร็จแล้วดึงลากมา แปลว่าเข้าใจตรงกันว่ากำลังจะทำอะไร

ช็อตลักษณะนี้ที่พบเห็นตัวละครระยะใกล้-ไกล มีความคมชัดกริบ คือ Deep Focus ที่รับอิทธิพลจาก Rashômon (1950) ถือเป็นอีกลายเซ็นต์ผู้กำกับ Leone

เลิฟซีนฉากแรกในชีวิตของ Henry Fonda ช่างดูมีความร่านราคะอยู่ไม่น้อย บนเตียงที่เหมือนเปลวห้อยโต่งเต่งไม่ติดพื้น สะท้อนถึงความโคลงเคลง ชีวิตที่ไม่มั่นคงถาวระของตัวละคร ซึ่งนั่นทำให้เขาเกิดความครุ่นคิด คงถึงเวลาแล้วกระมังที่ต้องลงหลักปักฐาน หาสิ่งเหนี่ยวยึดติดเสียที

ไม่ได้ต้องการช่วยเหลือ แต่เพื่อให้ผู้เข่นฆ่า Frank ต้องคือฉันเท่านั้น นี่ถือว่าความหมายแตกต่างกันมาก เพื่อให้ใช้เวลาห้วงสุดท้ายที่มีไปกับการครุ่นคิดค้นหาเหตุผล เพราะอะไร ทำไม และเขาสมควรทำอย่างไรต่อไป

สถานที่แรกน่าสนใจมากๆ นักฆ่าหลบอยู่หลังผืนผ้าใบขนาดใหญ่ เขียนข้อความ Cosmopolitant Theatre หรือคือโรงละครที่ยังสร้างไม่เสร็จ นั่นสื่อนัยยะถึงฉากบังหน้า การเล่นละครตบตาเพื่อหักหลัง ตลบแตลง พรรคพวกเพื่อนเก่า

ฉากนี้ยังมีหนึ่งสิ่งเกิดขึ้นพร้อมกัน Jill McBain ขณะนั้นกำลังเปลือยเปล่าอาบน้ำ และเตรียมขัดถูกหลัง นั่นสะท้อนถึงเหตุการณ์ต่อสู้ที่เป็นการเปิดเผยธาตุแท้ตัวตนลูกน้องของ Frank ตัวเขาเกาหลังไม่ถึงจำต้องใช้ตัวช่วย ซึ่งก็คือ Harmonica

แต่ที่โคตรเจ๋งยิ่งกว่าคืออีกหนึ่งนักฆ่าคนนี้ เลือกตำแหน่งยื่นปืนออกไปตรงกับนาฬิกาเที่ยงตรงพอดิบพอดี นี่สะท้อนตรงๆถึงเวลาชีวิตที่ใกล้หมดลง ของทั้งหมอนี่และ Frank ซึ่งได้ทำการซื้อเวลา ยื้อย่างไว้อีกสักเล็กน้อย

สังเกตว่า ตอนนักฆ่าหลบอยู่หลังแผ่นป้าย Harmonica ตัดสินใจยิงช่วยเหลือ เพื่อเปิดโปง/อธิบายสิ่งที่เขากำลังพบเจอว่าคือถูกหลักหลัง แต่ครานี้ตรงนาฬิกากลับแค่พูดบอกอ้อมๆทั้งๆสามารถยิงเข่นฆ่า นั่นเพราะเขาไม่ใช่คนต้องการต่อเวลา Frank ต่างหากที่ถ้าอยากมีชีวิตต้องซื้อเวลาด้วยตนเอง

แม้ว่า Mr. Morton จะไปไม่ถึงมหาสมุทรแอตแลนติกดั่งที่วาดฝันตั้งใจไว้ แต่ฉากนี้นำเสนอความพยายาม ตะเกียกไปตาย แม้ถึงแค่สายน้ำหวาน (Sweetwater ตรงข้ามกับน้ำทะเลที่เป็น Salt Water) ช่างเป็นความล้มเหลวที่ Ironic ดีแท้!

ใครรับชมภาพยนตร์ของ Leone มาหลายเรื่อง อาจไม่รู้สึกตราตรึงการเผชิญหน้า ขาว-ดำ แค่สองคนนี้สักเท่าไหร่ แต่ถ้าสังเกตกันให้ดีๆจะพบว่ามีการลำดับ ทิศทาง ภาษาภาพยนตร์ที่เปะมากๆ (ไม่เยิ่นเย้อเหมือน The Good, the Bad and the Ugly) ซึ่งวินาทีหลังจากช็อตนี้ เพลงจบ ตัดไปใบหน้าของ Harmonica ค่อยๆซูมเข้าไปในดวงตา นั่นคือการหวนระลึกนึกย้อนอดีต ปรากฎภาพ Flashback จากมัวๆค่อยๆเด่นชัด และอธิบายสาเหตุผลทุกสิ่งอย่างของการเข่นฆ่าล้างแค้นนี้

ในกรณีของ The Good, the Bad and the Ugly จะเป็นการตัดสลับสามเส้าของตัวละคร แต่หนังเรื่องนี้มีการแทรกคั่นสิ่งที่คือการย้อนอดีต หวนระลึกความทรงจำ Once Upon a Time …

จุดเริ่มต้นของการเข่นฆ่าล้างแค้น คือการเอาเมาท์ออร์แกนยัดปาก จากนั้นค่อยๆซูมออกจนพบเห็นภาพทั้งหมดมุมกว้าง … หนังทั้งเรื่องก็มีลักษณะนี้นะครับ เริ่มจากตัวละครเป่า Harmonica ค่อยเปิดเผยรายละเอียดเรื่องราวออกทีละเล็กน้อย และที่สุดไคลน์แม็กซ์ถึงค่อยสามารถเข้าใจได้ทุกสิ่งอย่าง

ชื่อหนังที่ Closing Credit มีลักษณะหมุนติ้วๆเหมือนพายุ สายลมพัด หรือกาลครั้งหนึ่งที่เรื่องราวนี้เคลื่อนหมุนผ่าน แถมขนาดเล็กลงเรื่อยๆด้วยคือค่อยๆลับเลือนหาย ปลิวไปตามกระแสธารแห่งเวลา

เป็นอีก Long Take ที่บ้าพลังมากๆ เคลื่อนจากตัวละครของ Claudia Cardinale เดินออกจากบ้านมาแจกจ่ายน้ำให้กับคนงานรถไฟ กล้องแพนต่อไปเรื่อยๆจนพบเห็นหนุ่มๆกำลังขี่ม้าเดินสวนไปอีกทางตะวันตก นั่นสะท้อนถึงพวกเขาไม่สามารถเผชิญหน้า/ปรับตัวรับเข้ากับโลกใบใหม่ การมาถึงของความเจริญ (และรถไฟ)

ตัดต่อโดย Nino Baragli (1925 – 2013) ยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของผู้กำกับ Leone และ Pier Paolo Pasolini เฉกเช่นกัน อาทิ The Gospel According to Saint Matthew (1964), The Good, the Bad and the Ugly (1966), Once Upon a Time in the West (1968) ฯ

แม้ว่า Jill McBain จะคือศูนย์กลางของเรื่องราว แต่หนังไม่ได้นำเสนอผ่านมุมมองของเธอสักทีเดียว ใช้ฉาก/สถานที่คือที่ตั้ง แล้วร้อยเรียงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆแต่งเติมเสริม เมื่อถึงไคลน์แม็กซ์ของแต่ช่วงถึงค่อยดำเนินตอนต่อไป

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวเกิดขึ้นยังสถานี Flagstone ผู้ร้ายกำลังรอให้รถไฟของพระเอกมาถึง เพื่อยิงต่อสู้เข่นฆ่าให้ตายไปข้างหนึ่ง แต่หนังจะไม่มีความเร่งรีบร้อนประการใด ใช้เวลาเกือบๆ 10 นาที แนะนำตัวละคร นำเสนอพฤติกรรม การกระทำ กิจกรรมระหว่างเฝ้ารอคอย กระทั่งรถไฟมาถึงก็จะมีการเล่นลีลา จับจ้องมองตา เฝ้ารอคอยเวลา จากนั้นก็ปัง! เป็น-ตาย รู้ผลเพียงช่วงเสี้ยววินาที

นี่ถือว่าหนังให้ความสำคัญกับการเกริ่นนำ อารัมบท สร้างบรรยากาศให้กับฉาก/เหตุการณ์นั้นๆ เฝ้ารอคอยเวลาที่อะไรบางสิ่งอย่างจะบังเกิดขึ้น ซึ่งวินาทีนั้นก็จะเพียงปุปปั๊ป รวดเร็วฉันไว มองแทบไม่ทันตั้งตัว! … ไดเรคชั่นดังกล่าวถือว่าไม่ได้มุ่งเน้นนำเสนอความรุนแรง หรือภาพขยะแขยง แต่มีลักษณะของ ‘ศิลปะแห่งการอารัมบท’ หรือพิธีกรรมของการตระเตรียมการ

จะมีภาพๆเบลอๆหนึ่งที่แทรกเข้ามาในความทรงจำ/จินตนาการของ Harmonica ต้องรอถึงการต่อสู้ไคลน์แม็กซ์ถึงได้รับการเปิดเผย ซึ่งนั่นถือเป็น Flashback ครั้งเดียวของหนัง อธิบายเหตุผลของการเข่นฆ่าล้างแค้น ไม่สามารถให้อภัยต่อกันได้!


เพลงประกอบโดย Ennio Morricone ตำนานแห่งหนัง Western ซึ่งผู้กำกับ Leone ใช้วิธีการเดียวกับ Dollars Trilogy คือขอให้แต่งเพลงขึ้นเสร็จสรรพก่อน แล้วนำไปเปิดสร้างบรรยากาศระหว่างถ่ายทำ (ทำเช่นนั้นได้เพราะจะไม่มีการบันทึกเสียง Sound-on-Film)

Main Theme มอบสัมผัสของผืนแผ่นดินตะวันตก สั่นพ้องเสียงขับร้องของ Edda Dell’Orso แม้มีความโหยหวนเศร้าสร้อย แต่ก็สั่นสะท้านไปถึงทรวงใน เรียกได้ว่าคือประวัติศาสตร์ จิตวิญญาณผู้เสียสละชีพ เพื่ออนาคตวันข้างหน้าโลกของเรานี้จักได้พบความสงบสุขยั่งยืนนาน

Morricone ได้แต่ง Charactor Song ให้กับทุกตัวละครสำคัญๆในหนัง ซึ่งเสียงที่ใครๆคงคุ้นหูเป็นอย่างดีคือเมาท์ออร์แกน ตัวแทนของ Harmonica ผมขอเรียกว่า ‘เสียงกรีดร้องแห่งความตาย’ ช่างมีความหลอกหลอน สั่นสะท้าน หายนะเท่านั้นจักบังเกิดขึ้น!

สำหรับ Cheyenne จะมีท่วงทำนองเต็มไปด้วยความพิศวง ชวนขบขัน หมอนี่มันจะมาดี-ร้ายยังไงกันแน่ แม้แต่บททเพลง Farewell to Cheyenne ก็ไม่รู้จะโศกเศร้าหรือยินดี แต่รอยยิ้มนั่นมีให้แน่ๆ การกระทำของนายช่างวีรบุรุษแท้ (แม้ไม่มีใครได้พบเห็นเข้าใจก็ตามทีเถอะ)

Jill’s Theme มีกลิ่นอายแห่งโอกาส ความหวังของหญิงสาว เดินทางสู่ Flagstone เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ไฉนกลับพานพบเจอเรื่องวุ่นๆมากมาย … แต่ตราบใดมีลมหายใจ ชีวิตยังต้องเข้มแข็งแกร่งสู้ต่อไป!

แซว: ผู้กำกับ John Carpenter เป็นแฟนตัวยงของหนังเรื่องนี้ และเลือกJill’s Theme เป็นเพลงเปิดในงานแต่งงานกับภรรยา Adrienne Barbeau

กาลครั้งหนึ่งในผืนแผ่นดินแดนตะวันตก แม้ผู้คนมีชีวิตด้วยความหวาดหวั่นสั่นระแวง อาชญากรเต็มบ้านเกลื่อนเมือง เวลามีปัญหาขัดแย้งก็ใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าจัดการ แต่ใช่ว่าโลกใบนั้นจะหมดสิ้นหวัง เพราะคนดีๆก็พอพบเห็นมีหลงเหลืออยู่บ้าง แม้ในคราบนักโทษแหกคุกตาราง หรือฆาตกรสังหารโหดก็ยังสามารถตกหลุมรักหญิงสาว แทบทุกคนล้วนมีมุมอ่อนไหวหลบซ่อนอยู่ภายในจิตใจ

ทุกสิ่งอย่างกำลังปรับเปลี่ยนไปเมื่อการมาถึงของรถไฟ โลกใบใหม่ที่อีกไม่นานก็จักก้าวเข้ามาถึง ซึ่งสามารถขับไล่พวกคนเถื่อน/อาชญาการ ให้ต้องถอยร่นสู่ดินแดนตะวันตกไกล ผ่านไปอีกไม่นานก็พานพบจุดจบสิ้น ถึงเวลาต้องปักหลักตั้งถิ่นฐาน ประกอบอาชีพการงานสุจริต (ถ้าไม่อยากถูกจับเข้าคุกตาราง)

คนดีได้รับการปกป้อง คนชั่วต้องถูกกำจัด คนมีแค้นย่อมชำระ และคนมีกรรมย่อมได้รับผลตอบสนอง

Once Upon a Time in the West ยังถือว่าคือประมวลผล ‘กาลครั้งหนึ่งของภาพยนตร์แนว Western’ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆกับ Singin’ in the Rain (1952) ที่ทำการนำบทเพลงมีชื่อจากอดีต ยำรวมจนกลายเป็น Post-Classical แค่ว่าในกรณีของหนังเรื่องนี้มีคำเรียก Spaghetti Western ความหมายเหมือนต้มยำกุ้งบ้านเรา เพราะชาวอิตาเลี่ยนสามารถทำทุกสิ่งอย่างได้กับสปาร์เก็ตตี้

หนังอาจไม่มีสาระประโยชน์อะไรให้กล่าวถึง แค่ตราตรึงไปกับภาพ เสียง บรรยากาศ สไตล์และไดเรคชั่นผู้กำกับ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่ง ‘จดหมายรัก’ ส่งถึงภาพยนตร์แนว Western เติมเต็มความเพ้อฝันหวาน ขอบคุณสำหรับจินตนาการความทรงจำ และคงเป็นนิทานก่อนนอนของ Sergio Leono ก็ว่าได้


ด้วยทุนสร้าง $5 ล้านเหรียญ (เห็นว่าครึ่งหนึ่งคือค่าตัวนักแสดง) ประสบความสำเร็จล้นหลามในยุโรป ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน แต่ในสหรัฐอเมริกากลับทำเงินได้เพียง $5.3 ล้านเหรียญ

ในประเทศฝรั่งเศส ไม่เพียงยอดจำหน่ายตั๋วสูงสุดแห่งปี (14.8 ล้านผู้เข้าชม) เสื้อโค้ทหางยาวได้กลายเป็นเทรนด์แฟชั่น แต่ยังมีโรงภาพยนตร์หนึ่งที่ฉายต่อเนื่องยาวนานถึงสองปี ซึ่งผู้กำกับ Leone ก็ได้เคยไปแวะเยี่ยมเยียน และถูกรุมล้อมขอลายเซ็นต์จากแฟนๆ เช่นกันกับคนฉายหนังพูดบอกว่า

“I kill you! The same movie over and over again for two years! And it’s so SLOW!”

ไม่ได้มีความตั้งใจให้เป็นไตรภาค แต่นักวิจารณ์ก็มักเรียกว่า Once Upon a Time Trilogy ประกอบด้วย
– Once Upon a Time in the West (1968)
– Duck, You Sucker! (1971) บางประเทศจะใช้ชื่อว่า Once Upon a Time… the Revolution
– Once Upon a Time in America (1984)

คงไม่ผิดอะไรจะบอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นต้นกำเนิดชื่อ Once Upon a Time … แม้จะไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่ใช้ชื่อนี้ แต่ได้กลายเป็นค่านิยมของผู้สร้างหลากหลาย อาทิ
– Once Upon a Time in China (1991) และอีกหลายๆภาคตามมา
– Lagaan: Once Upon a Time in India (2001)
– Once Upon a Time in Mexico (2003)
– Once Upon a Time in Venice (2017)
– Once Upon a Time in Hollywood (2019)
ฯลฯ

แซว: เมืองไทยเราก็มีเหมือนกันนะครับ กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (พ.ศ. ๒๕๓๗)

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังพอสมควร แต่เมื่อเปรียบเทียบ The Good, the Bad and the Ugly (1966) ถือว่ายังห่างชั้นอยู่มาก  อะไรหลายๆอย่างไม่ตราตรึงเท่า กระนั้นสไตล์ลายเซ็นต์ผู้กำกับ Sergio Leone มีความทรงอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์ยิ่งยวดเลยละ!

แนะนำคอหนัง Western ยำใหญ่ใส่ Spaghetti, พื้นภาพหลังสวยๆ ทิวทัศน์กว้างไกล, เพลงประกอบติดหูของ Ennio Morricone, แฟนๆผู้กำกับ Sergio Leone และนักแสดงนำ Claudia Cardinale, Henry Fonda, Jason Robards และ Charles Bronson ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความรุนแรงไม่บันยะบันยัง

คำโปรย | Once Upon a Time in the West คือนิทานก่อนนอนกาลครั้งหนึ่งของ Sergio Leone ทำให้ความเพ้อฝันกลับกลายเป็นจริง งดงามอลังการ และได้รับการจดจำชั่วกัลปาวสาน
คุณภาพ | รึลั
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

2
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
1 Thread replies
3 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
ณ.คอน ลับแลOazkun Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Oazkun
Guest
Oazkun

ถ้าดีกว่าแต่ทำไมใน sight and sound ถึงอันดับสูงกว่า? the good the bad and the ugly

%d bloggers like this: