One Day in September (1999)
: Kevin Macdonald ♥♥♥♡
สารคดีรางวัล Oscar สาขา Best Documentary Features นำเสนอภาพเหตุการณ์ กลุ่มกันยาทมิฬของ Palestine จับตัวประกันนักกีฬา Israel จำนวน 11 คน ใน Summer Olympics ที่เมือง Munich ประเทศ Germany เมื่อวันที่ 5 กันยายน 1972, ใครที่ชื่นชอบหนังเรื่อง Munich (2005) ควรจะหาสารคดีเรื่องนี้มาดู เพื่อเติมเต็มเรื่องราวที่เกิดขึ้น, หนังติดชาร์ท 50 Documentaries to See Before You Die
ถึงจะบอกว่าเป็นหนัง Oscar แต่ก็มีข้อกังขามากๆ เพราะยุคนั้นสมาชิกของ Academy ที่จะสามารถโหวตสาขานี้ได้ มีข้อแม้หนึ่งคือต้องดูหนังครบทุกเรื่อง ซึ่ง Documentary Feature เป็นสาขาหนึ่งที่หาคนดูครบทั้ง 5 เรื่องได้ยาก, โปรดิวเซอร์หนังเรื่องนี้ Arthur Cohn ได้ทำการล็อบบี้ เมื่อรู้ว่าได้เข้าชิงสาขานี้ ก็จัดฉายหนังให้เฉพาะกับกลุ่มเพื่อน หรือคนรู้จักที่รับปากจะลงคะแนนโหวตให้เท่านั้น ซึ่งสมาชิกที่ไม่ได้ดูก็โหวตไม่ได้ คนดูแล้วก็โหวตให้แต่หนังเรื่องนี้ รางวัล Oscar จึงได้ไปแทบเป็นเอกฉันท์, ตอนขึ้นรับรางวัล Cohn ก็พูดออกมาในทำนองว่า ‘หนังได้รางวัลโดยไม่ได้เข้าฉายในโรงหนังสักที่’ (and I won this without showing it in a single theater!) นี่เป็นการหยามคณะกรรมการ Oscar อย่างมาก แบบลืมไม่ลงเลย (ปัจจุบันกฎข้อนี้ก็ยังใช้อยู่ มันเปลี่ยนไม่ได้นะครับ สมาชิกที่จะโหวตได้ ต้องดูหนังที่เข้าชิงครบ 5 เรื่องเท่านั้น)
ผมเกิดไม่ทันเหตุการณ์นี้ แต่เชื่อว่าคนที่เกิดทัน คงได้นั่งลุ้นอยู่หน้าจอโทรทัศน์ กับการรายงานสดสถานการณ์ แทบจะชั่วโมงต่อชั่วโมง และยืดเยื้อไปเป็นวันกว่าเหตุการณ์จะจบลง, มีนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์จับตัวประกัน Israel ครั้งนั้น เทียบเท่ากับ 9/11 ของอเมริกา (เกิดเดือนกันยายนเหมือนกันด้วย), สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครคาดคิดสมัยนั้น คือ ปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันของ Germany มีความชักช้าและไร้ประสิทธิภาพอย่างมาก ผลคือทำให้ตัวประกันเสียชีวิตทั้งหมด นี่เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นความมั่นคงของประเทศอย่างรุนแรง ผมไม่รู้ผลกระทบทางเศรษฐกิจของ Germany หลังจากนั้นเป็นอย่างไร แต่ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปัจจุบัน เชื่อว่าอาจจะได้เห็นประเทศล้มละลายแน่ๆ
ผู้กำกับหนังเรื่องนี้คือ Kevin Macdonald ชาวอังกฤษ มีความชื่นชอบแนวสารคดีเป็นพิเศษ เคยมีผลงานกำกับหนังเรื่อง The Last King of Scotland (2006) ที่ส่งให้ Forest Whitaker คว้า Oscar สาขา Best Actor, ส่วนคนที่ให้เสียงบรรยายหนังเรื่องนี้คือ Michael Douglas
ภาพส่วนหนึ่งของหนังมาจาก Archive ของสถานีโทรทัศน์แห่งต่างๆ ที่ได้บันทึกภาพ รายงานสด ณ ขณะนั้น, บันทึกภาพจากสถานที่จริง, ภาพจำลองสามมิติ ให้เห็นแผนการณ์ของปฏิบัติการ และการสัมภาษณ์ญาติหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในสถานการณ์นั้น ทั้งฝั่ง Israel, Germany และไฮไลท์เลยคือ การสัมภาษณ์ Jamal Al-Gashey ผู้ก่อการร้ายคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่
ผมทึ่งในบทสัมภาษณ์ของ Al Gashey มากๆ ถึงสายตาคนทั้งโลกจะมองพี่แกเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ในสายตาของชาวอาหรับ เขาคือฮีโร่ระดับชาติ ถึงเราจะไม่ได้เห็นใบหน้า ดวงตา แต่คำพูดของเขาเต็มไปด้วยความภาคภูมิในสิ่งที่ทำ ไม่มีน้ำเสียงสะท้อนความเสียใจเลยสักนัด, ผมทึ่งยิ่งกว่าที่ผู้กำกับไปติดต่อขอสัมภาษณ์ได้อย่างไร ว่ากันว่าเงื่อนไขของ Al Gashey คือ นัดหมายให้ MacDonald เดินทางไปยังประเทศอาหรับแห่งหนึ่ง มาคนเดียวโดยไม่ต้องแจ้งใคร เตรียมวิกกับหนวดสำหรับปลอมตัว แล้วจะถูกปิดตาคลุมหัวพาไปยังสถานที่นัดหมาย MacDonald มีหน้าที่แค่ถามคำถาม ส่วนคนที่บันทึกภาพเป็นคนสนิทของ Al Gashey
สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมสารคดีหนังเรื่องนี้ คือความละเอียดในการค้นคว้าหาข้อมูล (research) และการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น มันค่อนข้างชัดเจนในมุมของหนังเรื่องนี้ ที่แม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Germany ก็ให้สัมภาษณ์เชิงยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพราะนี่เป็นสิ่งที่ไม่คาดฝัน ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงไม่รู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไร, ผมไม่เห็นใจ Germany ในความผิดพลาดนี้เลยนะครับ ทำตัวเองล้วนๆ ขนาด Israel เสนอให้ความช่วยเหลือก็ไม่ยอมรับ แถมภายหลังเหตุการณ์นี้ ปล่อยให้เครื่องบินถูกจี้ แล้วส่งผู้ก่อการร้ายคือสู่ประเทศอาหรับ (ว่ากันว่ารัฐบาล Germany ต่อรองกับ Palestine ไม่ให้ก่อความรุนแรงใดๆในประเทศอีก) มันชัดเลยว่าเยอรมัน ‘โยนกลอง’ ผละความรับผิดชอบของตนทิ้งไป
ตัดต่อ เรียบเรียงเรื่องราวโดย Justine Wright ต้องบอกว่ามีวิธีการนำเสนอที่ไม่ธรรมดาทีเดียว ฟุตเทจที่มีอย่างจำกัด เสริมด้วยบทสัมภาษณ์ ภาพจำลอง ภาพถ่าย ฯ หนังสามารถเล่าเรื่องราวทั้งหมดได้อย่างลงลึกรายละเอียด สามารถดำเนินเรื่องให้มีความตื่นเต้นเร้าใจ และรู้สึกหดหู่ เศร้าสลดได้ในตอนท้ายๆ, มีช่วงหนึ่งที่ผมชอบมาก ตอนนั้นเหตุการณ์จับตัวประกันเกิดขึ้นแล้ว แต่การแข่งขันกีฬา Olympic ยังคงดำเนินต่อไป หนังเอาภาพการแข่งขันมาทำเป็น Music Video ใส่เพลง Immigrat Song แทรกเข้าไป มันเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อจริงๆที่ เหตุการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้นใกล้ขนาดนี้ แต่หลายสิ่งหลายอย่างยังต้องดำเนินต่อไป ไม่สามารถหยุดได้
หนังใช้เพลงประกอบเยอะมาก มีที่ผมจำได้คือ Joy ของ Apollo 100, Immigrant Song ของ Led Zeppelin และ Child in Time ของ Deep Purple, ผมไม่ค่อยรู้สึกขัดข้องอะไรกับการเอาเพลง Pop, Rock มาใส่ในหนัง แต่มีขณะหนึ่งใช้เพลงคลาสสิก Symphony No. 2 ของ Philip Glass นี่สิทำให้ผมส่ายหัวเลย รสนิยมการเลือกเพลงของผู้กำกับนี่ประหลาดมากๆ อยากใส่อะไรก็ใส่ ไม่สนความเข้ากันหรือความต่อเนื่องของอารมณ์เลย
มองภาพรวม หนังสารคดีเรื่องนี้มีข้อจำกัดและตำหนิมากมาย แต่ก็มีความยอดเยี่ยมในการเล่าเรื่อง นำเสนอความจริง และการอธิบายรายละเอียดที่เกิดขึ้นทั้งหมด, ถามว่าหนังสมควรได้ Oscar ไหม? ผมตอบไม่ได้นะครับ เพราะมันต้องดูหนังเรื่องอื่นๆที่เข้าชิงปีนั้นด้วย แต่ถ้าให้เทียบกับสารคดีเรื่องอื่นที่ได้ Oscar ผมว่าหนังเรื่องนี้ยัง ‘ห่างชั้น’ อย่างเยอะเลยละครับ
แนะนำหนังกับคนกำลังเรียน ศึกษาประวัติศาสตร์ของ Israel และ Palestine, สนใจเหตุการณ์ ต้องการเห็นภาพที่เกิดขึ้นจริงๆ ในโศกนาฎกรรมครั้งประวัติศาสตร์นี้, แนะนำอย่างยิ่งกับคนที่ดูหนังเรื่อง Munich มาแล้ว เพื่อเติมเต็มเรื่องราวทั้งหมด
จัดเรต 15+ ภาพเลือด ความตาย และความรุนแรง
Leave a Reply