One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975)
: Miloš Forman ♥♥♥♥♡
Cuckoo นอกจากแปลว่านกกาเหว่า ยังหมายถึงคนบ้า, ในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง หมอ/พยาบาลดูแลปกครองผู้ป่วยด้วยความเข้มงวดราวกับเผด็จการ ก็มีทั้งคนปกติ เต็มใจ ไม่เต็มใจอาศัยอยู่ ครึ่งหนึ่งพอจะพูดคุยสนทนารู้เรื่อง แต่แค่เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ไม่ยอมพูดคุยโต้ตอบ ไม่คิดจะออกเสียงแสดงความคิดเห็น ถึงสามารถหนีเอาตัวรอดพ้นออกจากประเทศ/โลกใบนี้ได้, “ต้องดูให้ได้ก่อตาย”
บ้าก็บ้าวะ มันภาพยนตร์เกี่ยวกับคนบ้า-ไม่บ้า ในโรงพยาบาลจิตเวชไม่ใช่หรือ? หน้าหนังก็ใช่อยู่นะครับ แต่สำหรับคนที่สามารถครุ่นคิดไปต่อได้ จะพบว่าใจความของมันสอดไส้ประเด็นการเมืองหนักอึ้ง ในมุมของผู้แต่งหนังสือก็อย่างหนึ่ง ขณะที่ผู้กำกับ Miloš Forman สัญชาติ Czech ช่วงทศวรรษนั้นบ้านเกิด Czechoslovakia ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ (พันธมิตรของสหภาพโซเวียต) เลยถูกแบนห้ามสร้างภาพยนตร์ในประเทศ (เพราะเป็นพวก Anti-Communist) จำต้องอพยพลี้ภัยดั่งนกกาเหว่าตัวหนึ่งบินออกจากรังมุ่งสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ครั้งแรกที่ผมรับชมเมื่อหลายปีก่อน มองหนังเต็มไปด้วยความไม่สมเหตุสมผล แปลกพิลึกพิลั่น แทนที่เรื่องราวเกี่ยวกับคนบ้า/โรงพยาบาลจิตเวช จะนำเสนอมุมมองด้านดีๆ เพื่อให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกว่านี่ไม่ใช่สถานที่น่ากลัวอันตราย ส่งเสริมให้ครอบครัวที่พี่น้องหรือลูกหลานมีความผิดปกติทางจิต กล้าเปิดอกยอมรับ เชื่อใจหมอ พึ่งพาได้กับสถานดูแลรักษาที่แตกต่างจาก Asylum/Bedlam/Mad House สมัยก่อนโดยสิ้นเชิง แต่ที่ไหนได้! โรงพยาบาลจิตเวชแห่งนี้ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยที่เป็นคนบ้า แต่ยังหมอและพยาบาลมากคลั่งยิ่งกว่า กระนั้นเพี้ยนสติแตกสุดต้องคือผู้สร้างภาพยนตร์ ทำอะไรไร้สติสตางค์เกินไปหน่อยหรือเปล่า!
หมอและพยาบาลสมัยนี้อาจมองโลกในแง่ดี ว่าภาพยนตร์นำเสนอสิ่งที่เป็นปัญหาของการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชสมัยก่อน ที่ยังขาดความรู้เข้าใจในวิธีการอันถูกต้องเหมาะสมควร ทั้งนี้ก็ขอให้เชื่อใจได้ว่า ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยแตกต่างจากที่พบเห็นในหนังน่าจะโดยสิ้นเชิงแล้วละ
กลับมารับชมครานี้รู้สึกว่าคิดถูกที่รับชม Amadeus (1984) มาก่อน ทำให้ได้ศึกษาค้นหาอ่านชีวประวัติคร่าวๆ เลยล่วงรับรู้ถึงเหตุผลความสนใจของผู้กำกับ Forman ว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องบ้าๆของคนบ้า-ไม่บ้า ทำความเข้าใจหนังในมุมนั้นจะพบเห็นความสมเหตุสมผลกว่ามาก แถมยังสะท้อนตัวตน ‘ศิลปิน’ ที่สามารถนำเอาจิตวิญญาณของตนเองแทรกใส่ลงในผลงานศิลปะ
ความสำเร็จของ One Flew Over the Cuckoo’s Nest เป็นสิ่งเกินความคาดหมายอย่างยิ่ง เพราะไม่มีสตูดิโอไหนอยากเป็นผู้จัดจำหน่ายให้ทุน แต่กลับทั้งทำเงินและกวาดรางวัล Big Five ห้าสาขาใหญ่สุดของ Oscar ประกอบด้วย Best Picture, Best Director, Best Actor, Best Actress และ Best Writing ในประวัติศาสตร์คือครั้งที่สองถัดจาก It Happened One Night (1934) ก่อนตามด้วย The Silence of the Lambs (1991) นี่การันตีคุณภาพได้เลยว่า ต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน
One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1962) แรกสุดเลยคือนิยาย แต่งโดย Ken Kesey (1935 – 2001) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร TIME ติดอันดับ ‘100 Best English-language Novels from 1923 to 2005’
Kesey ไม่ใช่จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา แต่เขาเคย Part-Time ในศูนย์ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่ Menlo Park, California ระหว่างทำงานไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยสนทนากับใคร กระนั้นก็ชอบเฝ้ามองสังเกตการณ์ พบเหตุอะไรๆแปลกประหลาดเกิดขึ้นมากมาย นอกจากนี้ยังเคยเป็นหนูทดลองยา อาทิ Mescaline, LSD ให้กับโปรเจค MKUltra (CIA Mind Control Program) ทำให้รับรู้ซึ้งเข้าใจผู้ป่วยจิตเวชโดยแท้
ตอนที่ Kesey เริ่มเขียนนิยายเล่มนี้เมื่อปี 1959 เป็นช่วงขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement, 1955-68) ของประเทศอเมริกา กำลังมีการต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันของคนผิวสี ความบ้าคลั่งวุ่นวายที่เกิดขึ้นนี้สร้างแรงบันดาลใจเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลจิตเวช กับสภาพสังคมอเมริกาขณะนั้น เจ้าหน้าที่รัฐพยายามจะไม่ยอมรับอารยะขัดขืนของประชาชนคนทั่วไป
นิยายเล่าเรื่องในมุมมองของ Chief ผู้มีเชื้อสาย Native American ไม่เคยพูดคุยสนทนากับใคร แต่ชอบเฝ้ามองสังเกตการณ์สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลจิตเวช (นี่คงแทนได้ด้วยผู้เขียน Kesey เองกระมัง) พบเห็น Nurse Ratched ตัวแทนของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ปกครองดูแลผู้ป่วยด้วยความเข้มงวดจริงจัง ขณะที่ Randle McMurphy ตัวแทนของประชาชน (คนปกติ) ที่ไม่พึงพอใจต่อการใช้อำนาจเด็ดขาดเบ็ดเสร็จ ลุกฮือขึ้นขัดขืนต่อต้านอำนาจรัฐเพื่อเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียม
เกร็ด: ชื่อหนังสือ มาจากคำร้องของ Nursery Rhyme ที่ Chef หวนระลึกถึงคุณย่าที่เคยร้องเพลงนี้ให้ฟังตอนเขายังเด็ก (ในหนังไม่มีการพูดถึงเลยนะ!)
Vintery, mintery, cutery, corn,
Apple seed and apple thorn,
Wire, briar, limber lock
Three geese in a flock
One flew East
One flew West
And one flew over the cuckoo’s nest
Kirk Douglas หลังจากอ่านนิยายเล่มนี้เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้เป็นอย่างยิ่ง ติดต่อขอซื้อสิขสิทธิ์และได้ดัดแปลงเป็นละครเวที Broadway เมื่อปี 1963-64 สร้างโดย Dale Wasserman นำแสดงโดย Douglas รับบท McMurphy, Joan Tetzel รับบท Nurse Ratched, Gene Wilder รับบท Billy Bibbit ทั้งหมด 82 รอบการแสดง
ไม่เพียงเท่านี้ Douglas ยังสนใจดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ ระหว่างมองหาผู้กำกับอยู่นั้นบังเอิญได้มีโอกาสรับชม The Firemen’s Ball (1967) เลยติดต่อหา Miloš Forman ตอนนั้นยังอาศัยอยู่ Czechoslovakia ก็ว่าพูดคุยตกลงกันอย่างมั่นเหมาะ ส่งหนังสือเล่มนี้ไปทางจดหมายแต่ถูกศุลกากรยึดไว้โดยไม่รู้ตัว เฝ้ารออยู่นานจนเกิดความคับข้องผิดใจ โปรเจคจึงถูกขึ้นหิ้งทิ้งค้างไว้นานหลายปี
กระทั่งลูกชาย Michael Douglas หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย ด้วยความม่วนอยู่กับเรื่องการเมืองและสงครามเวียดนาม หลังจากอ่านนิยายเล่มนี้พูดขอพ่อ
“Let me run with this.”
ด้วยความที่อายุเข้าใกล้ 60 ปี Douglas คนพ่อเลยจำใจต้องวางมือจากโปรเจค ทั้งๆที่ก็อยากจะรับบทแสดงนำเองด้วยแต่ก็รู้ตัวว่าแก่เกินแกง ทำได้เพียงคอยเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ
Douglas คนลูก มอบหมายงานดัดแปลงให้ Lawrence Hauben ซึ่งก็ได้แนะนำให้รู้จัก Miloš Forman (คงเป็นโชคชะตาที่ต้องได้ชายคนนี้เป็นผู้กำกับจริงๆละสินะ!) ครานี้เขาย้ายมาอาศัยอยู่ New York City ติดต่อไปบินมาหาถึง Hollywood พูดคุยกันไม่นานก็ตกลงร่วมเริ่มงานโดยทันที
Jan Tomáš ‘Miloš’ Forman (1932 – 2018) ผู้กำกับ นักแสดงภาพยนตร์สัญชาติ Czech เกิดที่ Čáslav, Czechoslovakia (ปัจจุบันคือ Czech Republic) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พ่อเป็นสมาชิกของกลุ่มต่อต้านนาซี พอโดนจับเลยถูกยิงเสียชีวิต เด็กชาย Forman เลยต้องไปอาศัยอยู่กับลุงป้าที่ Nachod ต่อมาได้ครอบครัวบุญธรรมรับเลี้ยง ส่งเข้าโรงเรียนที่รวมรวมเด็กกำพร้าครอบครัวจากสงคราม (War Orphans) ที่นั่นทำให้มีโอกาสรู้จัก Ivan Passer (ผู้กำกับภาพยนตร์) และ Vaclav Havel (ต่อมาเป็น ปธน. ของสาธารณรัฐ Czech)
ด้วยความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก ได้รับคัดเลือกเป็นตัวประกอบภาพยนตร์โทรทัศน์ เก็บเงินจนซื้อกล้องถ่ายภาพได้เอง จึงเริ่มสนใจงานเบื้องหลัง กำกับถ่ายทำสารคดี จนมีชื่อเสียงโด่งดังกับ Loves of a Blonde (1965), The Firemen’s Ball (1967) ฯ หลังจากถูกไล่ออกจาก Czech studio มุ่งสู่ Hollywood สร้าง Taking Off (1971) แม้จะคว้ารางวัล Grand Prix จากเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่กลับไม่ทำเงินสักเท่าไหร่
“To me [the story] was not just literature but real life, the life I lived in Czechoslovakia from my birth in 1932 until 1968. The Communist Party was my Nurse Ratched, telling me what I could and could not do; what I was or was not allowed to say; where I was and was not allowed to go; even who I was and was not.”
เรื่องราวของ R.P. McMurphy (รับบทโดย Jack Nicholson) ถูกจับข้อหาทำร้ายร่างกายหลายครั้ง ได้รับการส่งไปโรงพยาบาลจิตเวชเพื่อตรวจสอบว่าเขาเป็นคนบ้าวิกลจริตหรือเปล่า ได้อยู่ในแผนกผู้ป่วยอาการไม่สาหัสนัก สามารถพูดคุยสนทนา เล่นไพ่ ดูโทรทัศน์ ออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมถึงเข้ากลุ่มบำบัด (Group Therapy) แต่แทบทุกฝีก้าวต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูของนางพยาบาล Ratched (รับบทโดย Louise Fletcher) ผู้มีความโหดเหี้ยมเย็นชา มาดนิ่งๆแต่ร้ายนัก
John Joseph Nicholson (เกิดปี 1937) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Neptune City, New Jersey เดินทางสู่ Hollywood เมื่อปี 1954 ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ออฟฟิศที่ MGM Cartoon Studio พวกเขาเสนองานนักวาด Animator แต่ปฏิเสธเพราะต้องการเป็นนักแสดง, มีโอกาสเรียนการแสดงที่ Players Ring Theater ผลงานเรื่องแรก The Cry Baby Killer (1958) ตัวประกอบสมทบใน The Little Shop of Horrors (1960) The Raven (1963), The St. Valentine’s Day Massacre (1967) ฯ เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Trip (1967), Easy Rider (1969) เรื่องหลังได้เข้าชิง Oscar ครั้งแรก และทำให้ Kubrick เลือกมารับบท Napoleon ในหนังที่เขาตั้งใจสร้าง แต่สุดท้ายก็ล้มเลิกไป
ถึงปัจจุบันเข้าชิง Oscar ทั้งหมด 12 ครั้ง คว้ามา 3 รางวัล โดยเป็น Best Actor 2 ครั้ง จากเรื่อง One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975), As Good as It Gets (1997) และ Best Supporting Actor จาก Terms of Endearment (1983)
รับบท Randle Patrick ‘Mac’ McMurphy เชื้อสาย Irish-American เป็นคนหัวรุนแรง ชื่นชอบการพนัน เห็นว่าเคยผ่านสงครามเกาหลี และเอาตัวรอดจากค่ายกักกัน (Prison of Wars) นี่น่าจะเป็นสาเหตุทำให้เขามิสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้เมื่อหวนกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติ
ไม่ต้องถึงระดับจิตแพทย์ก็น่าจะมองออกกันได้ สิ่งที่ Mac แสดงออก เขาไม่ใช่คนบ้า ไม่ได้แกล้งบ้า แค่ว่าทนไม่ได้ต่อกฎกรอบข้อบังคับของสังคม ในทางการแพทย์เข้าข่ายเป็นพวกต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) ก็ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นต้องอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช แค่ได้รับคำแนะนำในการใช้ชีวิต และมีครอบครัวช่วยเหลือสนับสนุนเข้าใจก็พอจะมีชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกันคนปกติได้
แต่ความโชคร้ายที่ Mac ได้พบเจอ คือเขาถูกจองจำอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช โดยมีนางพยาบาล Ratched ผู้เย็นชา มิได้ใคร่สนใจอยากแก้ปัญหาของเขาจริงๆ ซึ่งเมื่อการแสดงออกมาความก้าวร้าวรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เธอจึงตอบโต้เขาในระดับตาต่อตาฟันต่อฟันมากขึ้นเช่นกัน
เมื่อ Douglas คนพ่อรู้ตัวเองว่าแแก่เกินแกง มีนักแสดงหลายคนได้รับการติดต่อไป อาทิ Marlon Brando, Gene Hackman, Steve McQueen, Burt Reynolds ฯ ก่อนมาลงเอยที่ Nicholson ตามคำร้องขอของสตูดิโอ
สมัยนั้นแทบไม่มีใครจินตนาการออกว่า Nicholson จะสามารถรับบทคนบ้าเสียสติแตกระดับได้ เพราะความคาดไม่ถึงนี่แหละทำให้คว้า Oscar: Best Actor แบบไร้ข้อกังขา แต่ผู้ชมปัจจุบันนี้เมื่อมองย้อนกลับไป ต่างมีภาพลักษณ์บ้าๆบอๆของ Nicholson ติดตาไปแล้ว คงเกิดความเมามันส์สะใส แต่อาจรู้สึกยังคลั่งไม่เท่า The Shining (1980)
ฉากที่ผมชอบสุดของ Nicholson คือตอนถูกช็อตไฟฟ้า มันโคตรสมจริงเลยนะ ต้องใช้ความเกร็งขนาดไหนกันถึงทำให้ใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีแดงแจ๊ดขนาดนั้นได้ (ผู้กำกับยืนยันใน Director Commentary บอกว่านั่นเป็นการแสดงล้วนๆไม่ได้ถูกช็อตไฟฟ้าจริงๆ แต่ Nicholson ได้มีโอกาสพบเห็นผู้ป่วยขณะถูกช็อตไฟฟ้าจริงๆ เลยสามารถถ่ายทอดประสบการณ์นั้นออกมาได้)
เกร็ด: ถึงตัวละครนี้จะไม่ติดโผล AFI’s 100 Years… 100 Heroes and Villains แต่ก็ได้อันดับ 61 นิตยสาร Empire ชาร์ท Greatest Movie Character of All Time
Estelle Louise Fletcher (เกิดปี 1934) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Birmingham, Alabama ทั้งพ่อ-แม่ เป็นคนหูหนวก ที่บ้านใช้ภาษามือในการสื่อสาร พ่อของเธอเป็นบาทหลวงและยังก่อตั้งโบสถ์เพื่อคนพิการหูหนวกกว่า 40 แห่งใน Alabama, Fletcher เรียนการพูดจากป้า ที่ยังแนะนำให้รู้จักการแสดงอีกด้วย โตขึ้นเข้าเรียน University of North Carolina จบออกมามุ่งสุ๋ Los Angeles ได้งานเป็นเลขานุการ กลางคืนก็ไปร่ำเรียนเพื่อเป็นนักแสดง, เข้าสู่วงการจากบทสมทบซีรีย์โทรทัศน์หลายเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องแรก Thieves Like Us (1974), ตามด้วยผลงานที่กลายเป็นตำนาน One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) หลังจากนั้นกลายเป็น Typecast ไปเลยก็ว่าได้
หัวหน้าพยาบาล Ratched ประจำอยู่ที่ Salem State Hospital กุมอำนาจสูงสุดในวอร์ด เป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ เข้มงวดกวดขันต่อผู้ป่วย ไม่มีประณีประณอมผ่อนปรนแต่ประการใด แถมนิสัยเย่อหยิ่งจองหอง คิดว่าตัวเองถูกต้องเสมอ ใช้อำนาจตอบโตต่อผู้ขัดขืนอย่างรุนแรง ตาต่อตาฟันต่อฟัน
ถึงหลายครั้งตัวละครนี้จะยิ้ม แต่นั่นหาใช่ร่อยรอยกลั่นออกมาจากใจไม่ เพราะทุกการเคลื่อนไหวแสดงออก สัมผัสได้ถึงความยะเยือกเย็นชา สนอย่างเดียวคือการควบคุมทุกสิ่งอย่างให้อยู่ในอุ้งมือของตนเอง ปากอ้างประชาธิปไตยแต่แท้จริงแล้วคือเผด็จการเบ็ดเสร็จ
แรกสุดเลยผู้กำกับเล็ง Shelley Duvall สำหรับบทบาทนี้ แต่หลังจากได้รับชม Thieves Like Us (1974) ก็เกิดความสนใจ Louis Fletcher เรียกตัวมาหลายทดสอบหน้ากล้องหลายครั้งในรอบ 6 เดือน เซ็นสัญญากันสัปดาห์สุดท้ายก่อนเริ่มถ่ายทำ
ใบหน้าของ Fletcher ช่างมีลับเล่ห์คมใน ดูน่าหวาดสะพรึง ม้วนมวยผมสองข้างรูปทรงเหมือนเขาของปีศาจ แค่ภาพลักษณ์นี้ก็ตราติดตรึงฝังใจผู้ชมยิ่งๆแล้ว แถมได้การแสดงออกอันเข้มข้น ด้วยสีหน้าอันเย็นชา คำพูดอันเย็นใจ สร้างสัมผัสบรรยากาศอันหนาวเย็นยะเยือก ทุกฉากที่พบเห็นเธออะไรๆมันก็ดูเย็นเฉียบไปเสียหมด
ถึง Fletcher จะเคยให้สัมภาษณ์บอกว่า พยายามทำให้ตัวละครนี้มีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่บ้าง อย่างน้อยคือเป็นห่วงเป็นใยคนไข้จริงๆ แค่วิธีการและความลุ่มหลงใหลในอำนาจทำให้เธอหลงเดินทางผิด แต่ผมกลับไม่สัมผัสถึงความรู้สึกดีๆที่แผ่ออกมาจากตัวละครสักนิดเลยนะ คงเพราะความชินชาต่อหน้าที่การงาน มันเลยทำให้มนุษย์เฉื่อยชาต่อความรู้สึก ไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำอยู่คือความเสื่อมทรามคอรัปชั่น
ฉากที่ผมทำให้ผมแทบจะวีนแตก Ratched ถาม Billy Bibbit ไม่ละอายใจบ้างหรือที่ร่วมรักกับโสเภณี จากโรคติดอ่างไร้ความมั่นใจที่เกือบจะหายดี กลับกลายมาเป็นติดติดติดเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม สุดท้ายทุกสิ่งที่เคยมีของเด็กชายหนุ่มพลันมลายสูญสิ้นไป โดยไม่รู้ตัวเองบ้างรึไง คำพูดของหล่อนแค่นั้นคือสิ่งที่ฆ่าคนตายได้
เพราะทั้งการถ่ายทำ Fletcher มิอาจเข้าร่วมคลุกคลีหัวเราะสนุกสนานกับนักแสดงคนอื่นได้ ใครๆต่างมองเธอเป็นนางมารปีศาจร้าย ด้วยเหตุนี้หลังจากถ่ายทำคิวสุดท้ายของตนเองเสร็จ เธอก็ได้ปลดเปลื้องถอดเสื้อผ้าอาภรณ์เหลือกางเกงในตัวเดียว เรียกรอยยิ้มเสียงหัวเราะเจี๊ยวจ้าว ท้าพิสูจน์ว่าตนเองไม่ใช่แค่ ‘a cold-hearted monster’
แต่เพราะบทบาทนี้แทบจะทำให้ Fletcher กลายเป็น Typecast ไปเลยก็ว่า แม้จะมีผลงานอีกมากมายตามมา แต่ก็มิอาจสลัดคราบนางพยาบาลปีศาจ Ratched ออกไปได้ ถือเป็นชะตากรรมเดียวกับ Anthony Perkins ที่รับบท Norman Bates จากเรื่อง Psycho (1960) ไม่มีใครอยากจ้างให้แสดงบทบาทอื่นสักเท่าไหร่
เกร็ด: ความคอรัปชั่นชั่วร้ายของ Nurse Ratched แน่นอนว่าต้องติดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Heroes & Villains ฝั่งผู้ร้ายสูงถึงที่ 5 เป็นรองเพียง Dr. Hannibal Lecter, Norman Bates, Darth Vader และ The Wicked Witch of the West
ก่อนเริ่มต้นโปรดักชั่น ผู้กำกับนัดหมายให้นักแสดงทุกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนไข้จิตเวทที่ Oregon State Hospital พูดคุยสังเกตการณ์ อาศัยหลังนอนอยู่ร่วมกับผู้ป่วยในวอร์ดจริงๆ ซึ่ง Nicholson กับ Fletcher โหดกว่านั้น เพราะพวกเขาได้มีโอกาสเห็นคนถูกช็อตไฟฟ้าต่อหน้าต่อตา
สถานที่ถ่ายทำก็ปักหลักอยู่ที่ Oregon State Hospital นักแสดงบางคนก็เลือกจากในท้องที่
– Will Sampson (รับบท Chief Bromden) เป็น Park Ranger อยู่ใกล้บริเวณที่ถ่ายทำ
– Dean Brooks (รับบท Dr. John Spivey) คือผู้อำนวยการจริงๆของ Oregon State Hospital ขณะนั้น
แซว: โปรดิวเซอร์ Michael Douglas บอกว่า เขาไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่า ผู้ป่วยจิตเวชหลายคนที่ให้นักแสดงไปพูดคุยอาศัยอยู่ด้วยกัน คืออาชญากรที่ถูกวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางจิต
ถ่ายภาพโดย Haskell Wexler ร่วมงานกันได้ประมาณครึ่งเรื่องถูกไล่ออก แล้วได้ Bill Butler มาแทนที่, เหตุผลที่ Wexler ถูกขับออกจากกองถ่าย เพราะเข้ามาจุ้นจ้านในไดเรคชั่นของผู้กำกับ Forman มากจนเกินไป (เพราะ Wexler ต้องการไต่เต้าขึ้นเป็นผู้กำกับ เลยแสดงความคิดเห็นต่างๆนานามากจนเกินหน้าเกินตัว แถมยังดื้อดึงไม่ค่อยยอมรับฟังความเห็นผู้อื่น สุดท้ายทนกันไม่ไหวเลยขอให้ออกจากกองถ่าย)
ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำภายใน เลยมักเป็นภาพ Medium-Shot และ Close-Up เห็นว่าหลังครั้งในการถ่ายปฏิกิริยานักแสดง เป็นการแอบถ่ายโดยที่พวกเขาไม่รู้ว่ากล้องกำลังจับภาพอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่นักแสดงจะอยู่ในตัวละคร (in-character) แทบจะตลอดเวลา แม้ตอนไม่ได้ถ่ายทำ
แซว: การอยู่ในตัวละครของ Danny DeVito ได้สร้างภรรยาของตัวเองขึ้นมาในจินตนาการ พูดคุยสนทนายามค่ำคืนให้ดูราวกับคนเสียสติ, เห็นว่า DeVito ถึงขนาดปรึกษา Dr. Brooks แอบหวั่นวิตกกลัวตัวเองจะกลายเป็นบ้า แต่หมอยืนยันตราบใดสามารถแยกแยะคนจริงๆกับเพื่อนในจินตนาการได้ ก็ไม่มีเรื่องน่าวิตก
ภาพ Close-Up ถือเป็นไฮไลท์ของหนังเลยนะ (นี่อาจเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ The Silence of the Lambs ด้วยกระมัง) หลายครั้งจับจ้องค้างคาที่ใบหน้าของ Nicholson และ Fletcher ผู้ชมแทบจะสัมผัสได้เลยว่า ภายในของพวกเขา/ตัวละคร กำลังครุ่นคิดรู้สึกอะไรอยู่
สีขาวถือเป็นโทนหลักของหนัง เข้ากับเสื้อผ้าของผู้ป่วย และชุดพยาบาล, เหตุผลที่โรงพยาบาลนิยมใช้ชุดสีขาว เพราะความสะอาดบริสุทธิ์ ทั้งภาพลักษณ์และจิตใจ(ที่ขาวสะอาดบริสุทธิ์) แต่เว้นเฉพาะในห้องผ่าตัด ที่หมอจะใส่ไม่สีเขียวก็สีฟ้าอ่อน เพื่อไม่ให้เป็นการรวบการมองเห็นของสายตา (สีขาวนี่ตัวดีเลยนะ เวลาเราจับจ้องอะไรนานๆ พอหันไปหาสิ่งที่มีพื้นหลังสีขาว มักจะเห็นภาพนั้นปรากฎติดตาอยู่เสมอ)
ภายนอกโรงพยาบาลเห็นมีเพียงเดินทางไปขึ้นเรือตกปลา เห็นว่าเดิมนั้นไม่มีอยู่ในบท พอเพิ่มเข้ามาเลยวางโปรแกรมไว้ท้ายสุดประมาณ 10 วัน ก็เล่นเอา Nicholson กลายเป็นคนขี้เมาเรือไปเลย เพราะมีขณะที่เรือต้องหมุนวนเป็นวงกลม ไม่รู้กี่รอบกว่าจะได้ที่เห็นในหนัง แต่แค่นั้นก็ชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้าแล้วละ, เปรียบชีวิตกับการเดินทางล่องเรือ เป้าหมายข้างหน้ามองไม่เห็นอะไรนอกจากผืนมหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาล ดีสุดก็คือขับตรงไปเรื่อยๆ แต่เมื่อไหร่พบเจอปัญหาก็เหมือนกับวังวน หมุนเวียนอยู่อย่างนั้นแหละจนกว่าจะสามารถหาทางออกให้กับชีวิตได้
ฉากที่ผมชื่นชอบที่สุดคือตอนยกก๊อกน้ำ เห็นว่า Nicholson ทำยกจริงๆจนเป็นแผลถลอกขึ้นเลยนะ ซึ่งคำพูดที่ว่า ‘But I tried, didn’t I?’ มันโดนใจมากๆ ความหมายสอนใจดีด้วย ถ้ายังไม่เคยทำอย่าบอกว่าทำไม่ได้ ทำแล้วไม่สำเร็จก็หาใช่เรื่องน่าเสียใจ เพราะถือว่าได้พยายามแล้ว
เนื่องจาก Forman ไม่อนุญาตให้นักแสดงเห็นฟุตเทจที่ถ่ายทำเสร็จแต่ละวัน คงเพื่อไม่ให้หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เสร็จสิ้นผ่านไปแล้ว แต่กลับทำให้หลายๆคนสูญเสียความมั่นใจในตนเองไป นี่รวมถึง Nicholson ทะเลาะขึ้นเสียง และบอยคอตไม่ยอมพูดคุยตรงๆผู้กำกับ เป็นโปรดิวเซอร์ Douglas ที่เข้ามาไกล่เกลี่ย ขอให้ Forman เปิดอะไรสักอย่างให้นักแสดงดูเพื่อเรียกความมั่นใจ ทุกคนเลยชื้นใจเพราะสิ่งที่ออกมาค่อนข้างดีเยี่ยมเลย
ตัดต่อโดย Richard Chew, Sheldon Kahn, Lynzee Klingman
ในนิยายใช้การเล่าเรื่องในมุมมองของ Chef แต่หนังเปลี่ยนมาเป็นสายตาของ Randle McMurphy ที่เฝ้าคอยสังเกตเห็นทุกสิ่งอย่างความเป็นไปในวอร์ดแห่งนี้ จริงๆก็ไม่ทำให้เรื่องราวเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากเดิมมากนัก แค่ว่าอาจสร้างความประหลาดใจให้ผู้ชม เพราะตอนจบกลับเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้ที่หนีออกจากโรงพยาบาลจิตเวชแห่งนี้ได้
เกร็ด: พอผู้เขียนนิยาย Ken Kesey รับรู้ว่าหนังเปลี่ยนมุมมองการเล่าเรื่อง เขาเลยปฏิเสธที่จะรับชมและพูดถึงฉบับดัดแปลงนี้ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเหมาะสมควรแม้แต่น้อย
สิ่งโคตรโดดเด่นในการตัดต่อ คือฉากลุ่มบำบัด (Group Therapy) มักมีการตัดสลับไปมาระหว่างผู้พูด และผู้ฟังรอบวง ซึ่งเราจะพบเห็นปฏิกิริยาของแต่ละคนแสดงออกแตกต่างออกไป (หลายครั้งเป็น Outtake จากการแอบถ่าย) ยิ่งถ้าการโต้เถียงมีความรุนแรงทวีขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีความเร่งเร็วเร้าอารมณ์ เกิดความสับสนวุ่นวายบ้าคลั่ง (แต่ทุกขณะนั้นพยาบาล Ratched จะสงบนิ่งไม่ขยับไหวติงอะไรทั้งนั้น)
เพลงประกอบโดย Jack Nitzsche สัญชาติอเมริกา แนวถนัดคือ Rock, Jazz, Avant-Garde ที่มีผลงานเด่น The Exorcist (1973), An Officer and a Gentleman (1982), Starman (1984) ฯ
ตุบ-ตุบ จังหวะ หนึ่ง-สอง ที่ได้ยินไปตลอดเพลง สะท้องตรงๆเลยคือเสียงร้อง Cuck-oos, ตามด้วยเสียงหอนของ Theremin มีความความหลอกหลอน บิดเบี้ยว สะท้อนความผิดปกติของร่างกายและจิตใจมนุษย์, เสียงเครื่องเป่าที่ตามมา ให้สัมผัสของอิสรภาพ โลกภายนอกที่ไร้ขอบเขตกำแพงกั้นขวาง ไม่มีอะไรยื้อเหนี่ยวรั้งอีกต่อไป ราวกับนกน้อยที่โตเต็มวัยพร้อมออกจากรังไปผจญโลกกว้างด้วยตนเอง
เพลงนี้ดังขึ้นสองครั้งในหนัง Prologue และ Epilogue แต่นัยยะตรงตัวสุดคือครั้งหลัง ที่เราจะได้เห็น Cuckoo ตนหนึ่ง โบยบินออกจากรังไปจริงๆ
บทเพลงอื่นๆของหนังจะมีสัมผัสที่นุ่มนวลอ่อนหวาน แม้ไม่ใช่ Mozart แต่เป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยได้รู้สึกผ่อนคลาย เบาสบาย เคลิบเคลิ้ม ไม่เกิดความเคร่งเครียดจนเกินไป น่านอนหลับสบายคงจะฝันดี
One Flew Over the Cuckoo’s Nest คือเรื่องราวของการโหยหาไขว่คว้าอิสรภาพ ความต้องการของนกกาเหว่าที่จะบินออกจากรัง ผู้ป่วยจิตเวชต้องการหายเป็นปกติ จะได้กลับไปใช้ชีวิตเหมือนอย่างคนปกติทั่วๆไป (ไม่เช่นนั้นพวกเขาหลายคนคงไม่สมยอมปักหลัก รักษาตัวอยู่โรงพยาบาลบ้าแห่งนี้หรอกนะ)
แต่การจะได้มาซึ่งอิสรภาพนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด
– นกกาเหว่าต้องเติบโตขึ้นจนปีกกล้าขาแข็ง สามารถหากินเอาตัวรอดได้ด้วยตนเอง เมื่อนั้นถึงได้รับโอกาสร่ำลาจากครอบครัว โบยบินไปสู่ดินแดนแห่งความเพ้อฝันของตนเอง
– Billy Bibbit คือเด็กชายหนุ่มผู้ขาดความกล้าในชีวิต ทำให้ขลาดกลัวและพูดติดอ่าง แต่เมื่อได้รับโอกาสลิ้มลองรสรักจากหญิงสาว วินาทีนั้นเหมือนอาการป่วยจะสูญหาย พูดจาคมชัดไม่สะดุด (แม้จะแค่ไม่กี่วินาทีก็เถอะ) ต้องถือว่ามาถูกทางแล้วละ ได้รับกำลังใจอีกนิดเชื่อว่าน่าจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมปกติได้
– สิ่งที่ McMurphy โหยหา คือสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมของชีวิต ไม่ต้องการอยู่ภายใต้อำนาจครอบงำเผด็จการของใคร แต่เมื่อเลือกไม่ได้ก็พยายามกระเสือกกระสนดิ้นรนให้หลุดพ้น แม้กายจะไม่สำเร็จ แต่จิตวิญญาณของเขาเมื่อถึงตอนจบก็ได้กลายเป็นอิสระเรียบร้อยแล้ว
– ขณะที่ Chief คนปกติที่แสร้งบ้า เพื่อหลอกลวงตบตาผู้อื่นได้อย่างแนบเนียน แต่เมื่อพบเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม/โรงพยาบาลบ้าแห่งนี้ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็มิอาจอดรนทนต่อไปได้ ลุกขึ้นมาเพื่อสานต่ออุดมการณ์ของเพื่อนรัก ทุบทำลายกำแพง ก้าวเดินออกไปสู่อิสรภาพแห่งชีวิต
บุคคลที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในช่วงเวลาของเขาอาจไม่ได้กลายเป็นผู้ชนะหรือสามารถกระทำบางสิ่งอย่างนั้นได้สำเร็จลุล่วง แต่มักกลายเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น/รุ่นถัดไป เกิดความกล้าที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาท เผชิญหน้าต่อสู้กับความอยุติธรรม หรือดิ้นรนเอาตัวรอดนำพาตนเองสู่อิสรภาพ
ผู้กำกับ Forman อาศัยอยู่ในกฎกรอบระบอบการปกครอง Communist ของบ้านเกิด Czechoslovakia มาตลอดชีวิต จนกระทั่งเมื่อถึงจุดๆหนึ่งสามารถกางปีกโบยบิน หลุดพ้นออกจากกรงขังนั้น มุ่งสู่อิสรภาพอันไร้ขอบเขตจำกัด แม้เป็นสิ่งฟังดูยิ่งใหญ่ แต่ตัวเขากลับเคว้งคว้างล่องลอยหมุนวนอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ หลงทางไปต่อไม่ถูกอยู่สักพัก ก็น่าจะเพราะมีโอกาสได้สร้างภาพยนตร์ Hollywood นี่แหละ ที่ทำให้เขาค้นพบจุดหมายปลายทาง สามารถยังมีชีวิตอยู่ต่อได้โดยไม่กลายเป็นคนบ้าคลั่งเสียสติ
ทุนสร้างตั้งต้น $2 ล้านเหรียญ แม้จะบานปลายมาถึง $4.4 ล้านเหรียญ แต่สามารถทำเงินในอเมริกาได้ $108.9 ล้านเหรียญ กำไรล้นหลามถล่มทลาย, เข้าชิง Oscar 9 สาขา คว้ามา 5 รางวัล
– Best Picture **คว้ารางวัล
– Best Director **คว้ารางวัล
– Best Actor (Jack Nicholson) **คว้ารางวัล
– Best Actress (Louise Fletcher) **คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Brad Dourif)
– Best Writing Adapted Screenplay **คว้ารางวัล
– Best Cinematography
– Best Film Editing
– Best Original Music Score
ตอนที่ Louis Fletcher ขึ้นรับรางวัล Oscar ได้พูดผ่านภาษามือเพื่อขอบคุณพ่อ-แม่ ตนเองที่ต่างเป็นใบ้ เห็นแล้วซาบซึ้งใจที่สุดเลยนะ
เกร็ด: นี่เป็นหนังเรื่องโปรดของอดีต ปธน. Barrack Obama
สิ่งที่ทำให้ผมคลั่งไคล้ภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ คืออิสรภาพตอนจบของ Chief บุคคลผู้อยู่นิ่งเงียบไม่เคยแสดงออกต้องการอะไร มิได้แปลว่าเขายินยอมก้มหัวทำตามไม่สนใจใคร จนกว่าจะพบเห็นโอกาสหนทางออก หรืออดรนทนต่อความอยุติธรรมต่อไปไม่ได้แล้ว เมื่อนั้นถึงแสดงออกในสิ่งเต็มเปี่ยมด้วยมนุษยธรรมอันเหมาะสม
เพราะทัศนคติทางการเมืองของผมก็เป็นเช่นนั้น กล้าพูดแบบไม่อายว่าทั้งชีวิตเลือกตั้งผ่านมากี่ครั้งก็ไม่รู้ เข้าคูหาไม่เคยออกเสียง ไม่สนับสนุนใคร ตอนสมัยเป็นนักเรียนนักศึกษาลงสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการ/องค์การ ก็กาไม่ออกเสียงไม่เลือกตนเอง เหตุผลก็แบบเดียวกับ Chief เนี่ยแหละ พูดไปเลือกไปจะมีประโยชน์อันใด
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ความชั่วร้ายเย็นชาของตัวละคร Nurse Ratched คงมีบ้างบางคนที่สงสารเห็นใจ แต่ส่วนใหญ่น่าจะเกลียด กลัว อคติ รับไม่ได้ ลองนำพฤติกรรมของเธอมาเป็นแบบอย่างในชีวิต ฉันจะไม่แสดงกลายเป็นคนอย่างหล่อนเด็ดขาด นี่คือสปิริต!
แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา คนทำงานในโรงพยาบาลจิตเวช, คนทำงานสายการแสดง ศึกษาเรียนรู้เป็นแบบอย่าง, นักคิด นักปรัชญา นักการเมือง สนใจประเด็นแฝงของหนัง, รู้จักผู้กำกับ Miloš Forman และนักแสดง Jack Nicholson, Louise Fletcher ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง
จัดเรต 18+ กับความบ้าๆของหนัง
Leave a Reply