101 Dalmatians

One Hundred and One Dalmatians (1961) hollywood : Wolfgang Reitherman, Hamilton Luske ,Clyde Geronimi ♥♥♥

‘คนนิสัยเช่นไร สัตว์เลี้ยงย่อมมีรูปลักษณะเช่นนั้น’ แดลเมเชียน เป็นสุนัขสายพันธุ์ประหลาด ตอนเกิดมีผิวพันธุ์ขาวผ่อง แต่เมื่อเติบโตจุดด่างดำจะปรากฎเด่นชัดขึ้น ความดีชั่วของมนุษย์ก็เช่นกัน

แต่อนิเมชั่นเรื่องนี้ไม่ได้นำแนวคิดที่เกริ่นมาไปใช้เลยนะครับ มีเพียงแค่ฉากตอนต้นที่ผมประทับใจมากๆกับการเปรียบเทียบ มนุษย์=สัตว์เลี้ยง แต่เรื่องราวค่อยๆแปรสภาพเหลือเพียงการผจญภัย เพื่อช่วยเหลือลูกสุนัขแดลเมเชียนทั้งหมด 99 ตัว จากนางปีศาจผมสองสี Cruella De Vil ผู้กลายเป็นตำนานตัวร้ายแห่งวงการภาพยนตร์

The Hundred and One Dalmatians (1956) หรือ The Great Dog Robbery ต้นฉบับคือวรรณกรรมเยาวชนแต่งโดย Dodie Smith (1896 – 1990) นักแสดงหญิง ผันมาเขียนบทละครเวที และนิยายเด็กสัญชาติอังกฤษ เธอได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนคนหนึ่งพูดว่า

“Those dogs would make a lovely fur coat!”

Smith เป็นคนรักสัตว์ ที่บ้านเลี้ยงสุนัขพันธุ์แดลเมเชียน ครั้งหนึ่งคลอดออกมา 15 ตัว ใครจะไปเลี้ยวไหว! ก็ขายบ้าง แบ่งฟรีให้เพื่อนช่วยเลี้ยงบ้าง เหลือขณะเริ่มเขียนนิยายเล่มนี้ 9 ตัว หนึ่งในนั้นชื่อ Pongo คงจะเป็นตัวโปรดของเธอเลยละ

เกร็ด: ความสำเร็จขายดีของ The Hundred and One Dalmatians (1956) ทำให้ Smith ตัดสินใจเขียนภาคต่อ The Starlight Barking (1967) แต่แปลกที่หนังสือเล่มนี้กลับไม่เคยถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์สักครั้ง [กล่าวคือ ทั้งอนิเมชั่นภาคต่อ และภาพยนตร์คนแสดง 101 Dalmatians (1996) มาเป็น 102 Dalmatians (2000) ไม่ได้ดัดแปลงเรื่องราวจากนิยายภาคต่อ]

เมื่อนาย Walt Disney มีโอกาสอ่านนิยายเรื่องนี้ รีบติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ตั้งแต่ปี 1957 (Smith ยินดีมอบให้ เพราะเธอก็แอบหวังว่า Disney จะสนใจ) มอบหมายให้ Bill Peet ดัดแปลงบทภาพยนตร์ ถือเป็นครั้งแรกของสตูดิโอที่ไม่ได้ใช้การระดมสมองในการพัฒนาบท แค่บทร่างแรกก็ถูกใจมากๆ เลยให้วาด Storyboard และออกแบบภาพร่างตัวละครต่อเลย

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งคงเพราะความล้มเหลวไม่ทำเงินของ Sleeping Beauty (1959) สร้างความเสียหายอย่างหนักให้สตูดิโอ Disney ถึงขนาดมีการพูดคุยปิดแผนกอนิเมชั่น (แล้วหันไปมุ่งเน้นสร้างภาพยนตร์คนแสดง และกิจการสวนสนุก Disneyland) แต่นาย Walt Disney ยังคงยืนกรานให้ไปต่อ แค่ว่าผลงานลำดับถัดไปต้องหั่นงบประมาณลงครึ่งต่อครึ่ง

เรื่องราวของ Pongo (พากย์เสียงโดย Rod Taylor) สุนัขสายพันธุ์แดลเมเชียน อาศัยอยู่ในแฟลตเล็กๆกรุง London กับมนุษย์นักแต่งเพลง Roger Radcliffe (พากย์เสียงโดย Ben Wright) ด้วยความเบื่อหน่ายในชีวิต เลยวางแผนหาคู่ให้เขา (และตนเอง) พบเห็นมนุษย์สาวสวยชื่อ Anita (พากย์เสียงโดย Lisa Davis เข้ามาแทน Lisa Daniels ที่ถอนตัวไปกลางคัน) มากับสุนัขสาวสวยสายพันธุ์แดลเมเชียนเช่นกัน Perdita (พากย์เสียงโดย Cate Bauer) ไม่นานนักทั้งสองก็ได้ครองคู่แต่งงาน และมีลูกด้วยกัน 15 ตัว

ความวุ่นวายเกิดจาก Cruella De Vil (พากย์เสียงโดย Betty Lou Gerson) ก็ไม่รู้เป็นเพื่อนหรือญาติฝั่งไหนของ Anita แสดงความสนใจในลูกแดลเมเชียนที่เพิ่งเกิด ติดต่อขอซื้อแต่ว่าพวกเขาไม่คิดจะขาย จึงว่าจ้างโจรกระจอกสองตัวให้ทำการลักขโมย ทำให้ค้นพบว่าแท้จริงแล้วความสนใจของเธอคือ ต้องการถลกหนังลูกสุนัขทั้งหลายเพื่อนำมาแปรรูปเป็นข้าวของใช้ต่างๆมากมาย

เกร็ด: ต้นฉบับของนิยาย ที่คฤหาสถ์ของ Cruel and Devil (เล่นคำกับ Cruella De Vil) จะเต็มไปด้วยพรม ผ้าม่าน เครื่องใช้ทุกอย่างที่จากการถลกหนังแดลเมเชียน แต่อนิเมะตัดออกไปเลย เพราะเป็นองค์ประกอบดูน่ากลัวเกินไปสำหรับเด็กๆ

สำหรับนักพากย์ เป็นความจงใจให้เสียงของสุนัขมีความคมเข้ม ลุ่มลึก ฟังดูพึ่่งพาได้มากกว่ามนุษย์ ในบท Pongo เลือกนักจัดรายการวิทยุสัญชาติออสเตรเลียน Rod Taylor ที่กำลังจะมีผลงานดังอย่าง The Time Machine (1960), The Birds (1963) ฯ, ลักษณะเด่นของ Pongo คือหูดำทั้งสองข้าง และสวมปลอกคอสีแดง มันจะชอบเชิดหน้าอย่างยิ่งยโสโอหัง บางครั้งก็จะมีดวงตาสุดแสนขี้เกียจ แต่เมื่อชีวิตมีเป้าหมายก็จะแน่วแน่ในสิ่งที่ตนอยากทำ

ต้นฉบับในหนังสือ คู่รักของ Pongo ไม่มีชื่อเรียกว่า Missis Pongo ขณะที่ Perdit คือชื่อแม่สุนัขอีกตัวที่ลูกๆของตนถูกขายให้กับ Cruella De Vil แต่เพื่อความรวบรัดตัดทอนเรื่องราวบางส่วนออก ผนวกสองตัวละครให้เหลือเพียงสุนัขเพศเมียชื่อ Perdit แต่งงานกับ Pongo, ลักษณะเด่นของ Perdit เหมือนจะมีแค่ปลอกคอสีน้ำเงิน และบางช็อตขณะ Close-Up จะเห็นขนตา (แต่ภาพที่นำมานี้ไม่เห็นนะครับ)

เกร็ด: การจำแนกลูกหมาก็เช่นกัน ตัวสวมปลอกคอสีแดงคือเพศผู้ และสีน้ำเงินคือเพศเมีย

สำหรับ Cruella De Vil ต้องการเสียงที่มีลักษณะเก๊ๆ ดัดจริตพูดสำเนียงอังกฤษ แต่ฟังรู้ว่ามาไม่ไกลจาก New York City, ตอนแรกนาย Walt Disney เล็งให้ Lisa Davis แต่หลังจากทดสอบอ่านบทไปสองสามครั้งเสนอว่าตัวเองเหมาะกับบท Anita มากกว่า (ประมาณว่าดัดจริตไม่ถึงขั้นนั้น) สุดท้ายมาลงเอยที่ Betty Lou Gerson นักพากย์ Radio Drama ก่อนหน้านี้เคยให้เสียงบรรยายนำอนิเมชั่นเรื่อง Cinderella (1950)

“Well, I didn’t intentionally imitate her [Talluhah Bankhead] …I was raised in Birmingham, and Tallulah was from Jasper. We both had phony English accents on top of our Southern accents and a great deal of flair. So our voices came out that way.”

เกร็ด: ตัวละครนี้ตามคำบอกเล่าของนักออกแบบ รับอิทธิพลจาก Bette Davis, Rosalind Russell และ Tallulah Bankhead ส่วนแฟชั่นเสื้อโค้ทใหญ่เว่อ กับทรงผมสองสี บอกว่าเคยเห็นจากนิตยสารแฟชั่นเก่าๆแถวๆทศวรรษ 40s

ฉากการมาถึงของ Cruella De Vil กลิ่นอายหนังเงียบเรื่อง The Lodger (1927) ลอยมาตุๆ ไหนจะการออกแบบฉาก ประตู แสงเงา และพื้นหลังกรุง London สะท้อนถึงบางสิ่งชั่วร้ายเกี่ยวกับตัวละครนี้, ขณะที่รูปลักษณ์ทรงผมขาวครึ่งดำครึ่ง (ไม่ต่างอะไรจาก Two-Face) คนสองหน้ากลับกลอก เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้ สวมเสื้อคลุมหลวมใหญ่ แต่ภายในชุดเดรสสีดำ ถุงมือรองเท้าสีแดง ราวกับคนที่มือเท้าเปื้อนเลือดมาชอบกล

เกร็ด: ความโหดโฉดชั่วของ Cruella ติดอันดับ 39 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Heroes & Villains ฝั่งตัวร้าย

เหตุผลหนึ่งที่ 101 Dalmatians สามารถสร้างเสร็จในงบประมาณที่ถูกตัดทอนลง สืบเนื่องจากการมาถึงของเทคโนโลยีเครื่องถ่ายเอกสาร (Xerox) ที่สามารถนำภาพวาดจากกระดาษลงแผ่น Cels ทำอนิเมชั่นได้โดยทันที ช่วยร่นระยะเวลาการวาดซ้ำ/ทำอนิเมชั่นลงได้ครึ่งต่อครึ่ง (โดยเฉพาะลูกสุนัขแดลเมเชียน ถึง 99 ตัว ออกแบบเสร็จก็เข้าเครื่องซีร็อกได้เลย) นี่ถือเป็นอุปกรณ์ปฏิวัติวงการอนิเมชั่นสองมิติเลยนะ!

เกร็ด: การทดลองใช้เครื่อง Xerox ของสตูดิโอ Disney เกิดจากชายชื่อ Ub Iwerks กับเรื่อง Sleeping Beauty ในฉากป่าหนาม (Thorn Forest) ตามด้วยอนิเมชั่นขนาดสั้น Goliath II (1960) และ 101 Dalmatians ถือเป็นอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกที่ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์นี้สูงสุด

แซว: จริงๆแล้วนาย Disney ไม่ค่อยพึงพอใจกับผลลัพท์จากการใช้เครื่องถ่ายเอกสารนี้สักเท่าไหร่ มองว่าทำให้อนิเมชั่นขาดองค์ประกอบของ ‘แฟนตาซี’ แต่ครานี้ยินยอมปล่อยไปเพราะต้องการตัดทอนงบประมาณทุนสร้าง

ฉากที่ฝูงสุนัขเดินผ่านท่ามกลางหิมะ ถ้าสังเกตกันดีๆจะพบว่าผิวของพวกมันไม่ใช่สีขาวแต่อมเทาอ่อนๆ เพราะถ้าระบายขาวไปเลยจะกลมกลืนกับพื้นหลังจนแยกไม่ออก

เกร็ดไร้สาระ: มีคนบ้าจี้นั่งนับจุดด่างดำที่ปรากฎ 6,469,952 จุด โดยในแต่ละช็อต Pongo มี 72 จุด, Perdita มี 68 จุด และลูกหมา 32 จุด

เพื่อประหยัดเงินและเวลาในการทำอนิเมชั่น รถของ Cruella และโจรกระจอกสองตัว ใช้เทคนิค Cut-Out Animation ตัดกระดาษแข็งเป็นรูปรถแล้วเคลื่อนขยับไปมาระหว่างทำอนิเมชั่น

เรื่องราวดำเนินในมุมมองของสุนัขหนุ่ม Pongo พร้อมเสียงบรรยายจากความคิดเพ้อว่าตัวเองเป็นเจ้านายของมนุษย์ Roger จะมีเพียงตอนลูกๆถูกลักพาตัวไป ที่ใช้บริการของ Twilight Bark (คล้ายๆกับการสุมไฟไปเรื่อยๆของชาวอินเดียแดงเพื่อส่งสัญญาณ ต่างแค่เป็นเสียงเห่าหอน ด้วยรหัสมอส?) ภาพจะเคลื่อนไปเรื่อยๆตามรัศมีของการเห่าหอน จากกลางเมือง London สู่ชนบทห่างไกลแล้วย้อนกลับมา

เพลงประกอบโดย George Bruns ขาประจำของสตูดิโอ Disney, จริงๆแล้ว Bruns แต่งมากกว่าแค่สามบทเพลงที่ใช้จริง Cruella De Vil, Kanine Krunchies และ Dalmatian Plantation (ที่มีแค่สองท่อน) แต่ถูกตัดออกเพราะเรื่องงบประมาณเช่นกัน ถึงกระนั้นก็มีการรวมใส่อยู่ใน Extra ของ DVD/Blu-ray อาทิ

Don’t Buy a Parrot from a Sailor ขับร้องโดยโจรกระจอก Jasper กับ Horace ขณะอยู่ในคฤหาสถ์ Hell Hall

บทเพลง March of the One Hundred and One ขับร้องหลังจากขึ้นรถบรรทุก ระหว่างหลบหนีตบตา Cruella De Vil

สำหรับ Overture/Main Theme ใช้ท่วงทำนอง Swing Jazz เสียงแซกโซโฟนมีความรุกเร้า สร้างความสนุกสนานครึกครื้นเครง เต็มเปี่ยมด้วยพลังงานและความมีชีวิตชีวา

อดไม่ได้ที่จะนำบทเพลงถัดมา A Beautiful Spring Day เดี่ยวเปียโนด้วยท่วงทำนองอันเคลิบเคลิ้ม ผ่อนคลาย ยามบ่ายสุดขี้เกียจวันนี้ช่างมีความงดงามเสียเหลือเกิน ตัวโน๊ตเต็มไปด้วยความลื่นไหล เผลอพักสายตาเชื่อว่าคงได้หลับฝันขึ้นสวรรค์อย่างแน่นอน

ทิ้งท้ายกับบทเพลง Cruella de Vil ที่อยู่ในอัลบัม Disney’s Greatest Hits ขับร้องโดย Dr. John ประกอบฉบับ Live-Action รู้สึกว่าไพเราะกว่าในอนิเมะเลยนำมาให้รับฟัง

“Cruella de Vil, Cruella de Vil. If she doesn’t scare you, no evil thing will”.

One Hundred and One Dalmatians คือเรื่องราวของการค้นหาคู่รักที่ใช่ ติดตามลูกๆที่ถูกลักพาตัวไป เมื่อพบเจอแล้วจักเกิดความสุขกาย-ใจ มีชีวิตอย่างสงบสุขสันติ ของทั้งมนุษย์และสุนัข

ผมพยายามครุ่นคิดหาใจความแฝงอื่นอื่นๆ ใกล้เคียงสุดก็คือ มนุษย์ = กาย, สุนัข = ใจ แต่มันก็อธิบายอะไรๆไม่ได้ชัดเจนสักเท่าไหร่ เลยขอสรุปว่านี่เป็นเรื่องราวที่มีเพียงความบันเทิง สาระคติคือความมีสัตวธรรม (มนุษยธรรม?) เกิดความสงสารเห็นใจในลูกสุนัขที่ถูกลักพาตัวไป คือถ้าเป็นลูกมนุษย์เชื่อว่าคงไม่มีพ่อแม่คนไหน (ที่รักลูกจริงๆ) ยินยอมแพ้ง่ายๆแน่ แล้วไม่คิดหรือว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายจะรู้สึกเช่นเดียวกัน!

ทำไมต้องสุนัขแดลเมเชียน 101 ตัว? นั่นเพราะตัวเลขนี้ ศูนย์ตรงกลางมีลักษณะเหมือนจุดด่างดำ (อันนี้ผมเพ้อเจ้อขึ้นเองนะครับ ผู้แต่งนิยายต้นฉบับไม่ได้ให้คำตอบไว้)

ทำไม Cruella De Vil ถึงมีความโหดเหี้ยมชั่วร้ายกับสุนัขพันธุ์แดลเมเชียนนี้นัก? ในอนิเมะไม่ได้มีอธิบายเหตุผลที่มาที่ไป ส่วนนิยายก็แค่คำรำพันถึง ขณะที่ภาพยนตร์คนแสดงให้เหตุผลว่าเป็นรสนิยมความชื่นชอบตั้งแต่เด็ก เคยว่าจ้างให้ลูกน้องไปถลกหนังเสือไซบีเรียที่สวนสัตว์ลอนดอน แต่ถูกสงสัยเลยเปลี่ยนมาเป็นลูกสุนัขแดลเมเชียนที่มีลักษณะขนคล้ายๆกันแทน

ส่วนตัวมองว่า Cruella คงมีปมด้อยอะไรสักอย่างตั้งแต่เด็ก เพราะบ้านรวยระดับมหาเศรษฐี แต่ไม่เคยมีใครสนใจดูแล เห็นผู้อื่นรักสุนัขมากกว่าตนเลยต้องการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ถลกหนังพวกมันมาตั้งแต่ยังเล็ก นำไปขายให้โรงงานได้ราคาดีกว่า

ด้วยทุนสร้าง $3.6 ล้านเหรียญ น้อยกว่าเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับ $6 ล้านเหรียญของ Sleeping Beauty (1959) ออกฉายครั้งแรกทำเงินได้ในอเมริกา $6.2 ล้านเหรียญ (สูงสุดแห่งปี) แต่กำไรมาจากต่างประเทศ ในประเทศฝรั่งเศสมียอดเข้าชม 14.7 ล้านคน (ติดอันดับ 10 ผู้เข้าชมสูงสุดตลอดกาล) รวมแล้วทำเงินได้ $14 ล้านเหรียญ

เพราะความสำเร็จครั้งนั้น ทำให้มีการออกฉายซ้ำหลายรอบ
– ปี 1969 ทำเงินเพิ่ม $15 ล้านเหรียญ
– ปี 1979 ได้มาอีก $19 ล้านเหรียญ
– ปี 1985 สองเท่า $32 ล้านเหรียญ
– ล่าสุด 1991 อีก $60.8 ล้านเหรียญ

รวมถึงปัจจุบันทำเงินได้ในอเมริกา $145 ล้านเหรียญ ปรับค่าเงินปี 2018 = $915.2 ล้านเหรียญ ติดอันดับ 12 ตลอดกาล [ถูก Star Wars: The Force Awakens (2015) แซงขึ้นอันดับ 11 เมื่อไม่กี่ปีก่อน]

รับชมอนิเมชั่นเรื่องนี้ทำให้ผมหวนระลึกถึง กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (พ.ศ. ๒๕๓๗) เกี่ยวกับการลักพาตัวเด็กเช่นกัน ความสนุกเกิดขึ้นช่วงขณะไล่ล่าติดตามตัว แต่ก็เท่านั้นละ ส่วนอื่นๆละลายตาไปกับจุดด่างดำ ไร้ซึ่งพิษภัยใดๆต่อเด็กเล็ก

นึกขึ้นได้ว่ามีอีกอย่างที่ผมชื่นชอบ คือท่าหาวบิดขี้เกียจของเจ้า Pongo มันช่าง… ขี้เกียจ เสียกระไร!

แนะนำคออนิเมชั่นสองมิติ หลงใหลในผลงานของสตูดิโอ Disney, ชื่นชอบแนวผจญภัย รักสัตว์ โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์แดลเมเชียน, เคยอ่านวรรณกรรมเยาวชน หรือรับชมภาพยนตร์คนแสดง ไม่ควรพลาดต้นฉบับอนิเมะเรื่องนี้เลยนะ

จัดเรตทั่วไป ไร้ซึ่งพิษภัยใดๆ

TAGLINE | “One Hundred and One Dalmatians แม้เต็มไปด้วยรอยด่าง แต่ก็สร้างความบันเทิงจนเป็นที่หลงใหล”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: