Onibaba (1964) : Kaneto Shindo ♥♥♥♥♡
ในปีเดียวกับ Woman in the Dunes ยังมีภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นอีกเรื่องที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน เรื่องราวของแม่ที่สูญเสียลูกชายจากสงครามซามูไร ความหึงหวงลูกสะใภ้ที่แอบหนีตอนกลางคืน รีบวิ่งร่านไปร่วมรักกับชายอีกคน เธอจึงกลายร่างเป็น Onibaba สวมหน้ากากปีศาจ (Hannya) เพื่อหลอกหลอนย้ำเตือนสติ แต่กลับถอดไม่ออกทำให้กลายเป็นปีศาจ (Oni) ไปโดยทันที, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
เกร็ด: Onibaba (鬼婆), คำว่า Oni หมายถึงปีศาจ Demon, ส่วน Baba เป็นคำเรียกหญิงแก่สูงวัย, รวมแล้วแปลตรงตัวคือ Demon Hag หญิงสูงวัยที่มีความชั่วร้าย
เกร็ด 2: หน้ากากที่ Onibaba สวมใส่มีคำเรียกว่า Hannya หมายถึง ปีศาจชั่วร้าย, ตามตำนานเล่าว่า หน้ากากจะมีสีแดง ยิ่งสวมใส่นานๆจะเข้มขึ้นจนกลายเป็นเนื้อเดียวกับหนังหน้า มิอาจถอดออกหรือกลับมาเป็นคนดีได้อีก
แค่ประมาณสัก 5 นาทีแรกของหนัง … ไม่สิ ตั้งแต่ Opening Credit ก็ทำให้ผมตกหลุมหลงใหล ชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้โดยทันที งานภาพขาวดำเข้ม ตราตรึงกับต้นหญ้าพริ้วไหวสูงเหนือศีรษะ, Sound Effect ผ่อนคลายกับสายลมพัด, และเพลงประกอบรัวกลอง Taiko ผสมดนตรี Jazz ถือเป็นแนวทดลองที่ให้สัมผัสสุดประหลาด แถมเรื่องราวตีแผ่สันดานของมนุษย์ มีความดิบเถื่อน ติดดิน ร่านราคะ ไม่ด้อยไปกว่า Woman in the Dunes เลยละ
แต่เพราะ Woman in the Dunes ไปคว้ารางวัล Jury Special Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes เลยได้เป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่นเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film แถมปีถัดมาผู้กำกับยังได้เข้าชิงอีกสาขาคือ Best Director ทำให้ Onibaba กลายเป็นลูกเมียน้อยที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้จักมักคุ้นเท่าไหร่
Kaneto Shindo (1912 – 2014) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hiroshima ครอบครัวมีฐานะร่ำรวยจากอาชีพให้กู้ยืมที่ดิน แต่ต่อมาล้มละลายเพราะถูกเบี้ยวหนี้ โชคดีมีพี่น้องหลายคนช่วยเหลือจุนเจือ โตขึ้นหลังจากรับชมภาพยนตร์เรื่อง Bangaku No Isshō (1933) เกิดความสนใจงานด้านนี้ ตอนแรกสมัครเป็นช่างจัดไฟแต่ตัวเตี้ยเกินเลยไม่ได้รับเลือก จากนั้นเรียนรู้ว่าภาพยนตร์สร้างขึ้นโดยบทหนัง ซึ่งแต่ก่อนมักเขียนใส่กระดาษชำระเปียกน้ำง่าย ได้รับงานทำยังไงก็ได้ให้กระดาษแห้ง เขาจึงศึกษาเรียนรู้บทหนังจากงานสุดประหลาดนี้
ต่อมากลายเป็นนักออกแบบฉาก ร่วมงานเป็นผู้ช่วย Kenji Mizoguchi หลายครั้ง นำเอาบทภาพยนตร์ที่ตนพัฒนาขึ้นมานำเสนอ ถูกตอกกลับว่า ‘had no talent’ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กลายเป็นนักเขียนบทขาประจำของสตูดิโอ Shochiku โด่งดังกับบทหนังเรื่อง A Ball at the Anjo House (1947) กำกับโดย Kōzaburō Yoshimura, ได้รับโอกาสกำกับ Story of a Beloved Wife (1951), โด่งดังระดับนานาชาติกับ Children of Hiroshima (1953) ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องแรกที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับระเบิดนิวเคลียร์ ไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้ไม่ได้รางวัลอะไร แต่ถือเป็นเรื่องหนึ่งในทศวรรษยุคทองของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น
ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Naked Island (1960), Onibaba (1964), Kuroneko (1968), Live Today, Die Tomorrow! (1970), สารคดี Kenji Mizoguchi: The Life of a Film Director (1975), The Strangling (1979), A Last Note (1995), Postcard (2010) ฯ
สไตล์ของ Shindo มองภาพยนตร์ว่าคือ ‘an art of montage’ การรวมตัวของสิ่งเคลื่อนไหว หยุดนิ่ง บทพูดสนทนา และความเงียบ เน้นนำเสนอ ‘visual style’ ความงดงามด้านภาพ สื่อสะท้อนจิตวิทยาเบื้องลึกของมนุษย์, เรื่องราวที่มีความสนใจมักเป็นการวิพากย์สังคม ความยากจน หญิงสาว และ Sexuality ซึ่งมักสะท้อนกับสภาพของประเทศญี่ปุ่นช่วงขณะก่อน-หลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 และเรื่องราวชีวประวัติของตนเอง
“at their best, Shindo’s films involve a merging of the sexual with the social. His radical perception isolates man’s sexual life in the context of his role as a member of a specific social class.”
– นักวิจารณ์ Joan Mellen
หลังจากทำหนังแนววิพากย์สังคมมาหลายเรื่อง Shindo ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับทุกปัญหา ขมวดปมได้ว่าเกิดจากแรงขับเคลื่อนสันชาติญาณความต้องการทางเพศของมนุษย์ (โดยเฉพาะเพศชาย), ในทัศนคติของเขา Sex ของผู้ชาย คือการแสดงออกเพื่อการมีชีวิตเอาตัวรอด
“Political things such as class consciousness or class struggle or other aspects of social existence really come down to the problem of man alone….I have discovered the powerful, very fundamental force in man which sustains his survival and which can be called sexual energy…
My idea of sex is nothing but the expression of the vitality of man, his urge for survival.”
สำหรับเรื่องราวของ Onibaba นำแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าของศาสนาพุทธ นิกายชินโต yome-odoshi-no men (bride-scaring mask) หรือ niku-zuki-no-men (mask with flesh attached), เรื่องราวของแม่ที่สวมหน้ากากหลอกลูกสาว เพื่อไม่ให้เธอได้ไปทำบุญที่วัด หลายครั้งเข้าจึงถูกฟ้าดินลงโทษทำให้หน้ากากติดกับใบหน้าไม่สามารถถอดออกได้ ซึ่งเธอก็พยายามวิงอ้อนวอนขอ ไหว้วานให้ลูกสาวถอดหน้ากากออก แต่กว่าจะสำเร็จมีเนื้อหนังติดลอกออกมาด้วย กลายเป็นคำเรียก Onibaba หลอกหลอนเตือนสติมนุษย์ผู้ไร้สำนึก กระทำชั่วโดยมีแรงผลักดันจากความอิจฉาริษยา
สำหรับ Onibaba มีพื้นหลังในยุคสมัย Nanboku-chō (1336 – 1392) ความขัดแย้ง สงครามกลางเมือง ในยุทธการ Battle of Minatogawa ที่ยาวนานกว่า 50 ปีไม่สิ้นสุด, หญิงสูงวัย (รับบทโดย Nobuko Otowa) อาศัยอยู่กับลูกสะใภ้ (รับบทโดย Jitsuko Yoshimura) ในทุ่งดอกหญ้าสูงเหนือศีรษะ เอาตัวรอดด้วยการฆ่าซามูไรที่ต่อสู้ไล่ล่าติดตามกันมา แล้วนำเอาชุดเกราะไปขายแลกซื้ออาหารประทังชีพ วันหนึ่งเพื่อนบ้าน Hachi (รับบทโดย Kei Satō) หนีทหารกลับมาจากการถูกโจมตีโดย General Takauji Ashikaga เล่าข่าวที่ลูกชายของหญิงสูงวัยถูกฆ่าเสียชีวิต แต่มันจะมีส่วนจริงหรือเปล่า เพราะตัวเขาแสดงความใคร่สนใจในตัวลูกสะใภ้เหลือเกิน ลวงล่อหลอกให้ตายใจ ชักชวนมาหลับนอนอยู่กิน ทิ้งขว้างแม่ยายไม่ควรต้องเกรงใจ ด้วยความอิจฉาริษยาและหวาดกลัวจะต้องอยู่คนเดียวตอนแก่ คนเป็นแม่เลยคิดทำทุกสิ่งอย่าง หึงหวงขัดขวาง ไม่ยินยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น
Nobuko Otowa (1924 – 1994) นักแสดงหญิงยอดฝีมือ เกิดที่ Yonago, Tottori ชู้รักของผู้กำกับ Shindo ตั้งแต่พบเจอร่วมงานครั้งแรก Story of a Beloved Wife (1951) จนเมื่อเขาอย่าขาดกับภรรยาคนก่อน จึงได้แต่งงานอยู่ร่วมกันจนเสียชีวิต, ผลงานเด่นก็ล้วนจากหนังของ Shindo ทั้งนั้น อาทิ Children of Hiroshima (1952), Epitome (1953), Life of a Woman (1953), Onibaba (1964), Kuroneko (1968), The Strangling (1979), A Last Note (1995) ฯ
รับบทหญิงสูงวัย มีลูกชายคนเดียวที่พึ่งพาได้ แต่เพราะเขาเสียชีวิตในการสงคราม ทำให้มีความเคียดแค้นต่อซามูไรแสนสาหัส, อาศัยอยู่กับลูกสะใภ้ที่ยังสาว(สวย) พอรับรู้ว่าสามีจากไปแล้วก็พยายามแสวงหาโอกาสตีจาก เพื่อสนองกามรมณ์ตัณหาของตัวเอง แม่จึงพยายามเสี้ยมสอนโดยอ้างหลักคำสอนของพุทธศาสนา มีชู้ร่วมรักกับคนอื่น นอกใจสามีก็จะตกนรก ถูกทรมานต่างๆนานา แต่มีหรือคนรุ่นใหม่จะหวาดเกรงกลัว เธอจึงปลอมตัวเป็นปีศาจ นี่ทำให้หญิงสาวสะดุ้งโหยงเลย แต่สุดท้ายความร่านราคะก็เอาชนะทุกสิ่งอย่างแม้แต่ความกลัว
เป็นตัวละครที่น่าเห็นใจยิ่งนัก เพราะชีวิตที่เกิดมาจน เป็นคนชั้นต่ำ ก็ต้องหวังพึ่งพิงผู้ชายเพื่อเอาตัวรอด แต่เมื่อลูกชายหนึ่งเดียวเสียชีวิต จึงทำให้เธอเคว้งคว้าหวาดกลัวระแวง ถ้าต้องเสียลูกสะใภ้อีกคนไป ชีวิตฉันคงจบสิ้นไร้คนเยียวยาอย่างแน่นอน, ภาพลักษณ์ของตัวละคร หางคิ้วปัดยาวขึ้น ทรงผมมีสีขาวแทรกอยู่เป็นกระจุก (ลักษณะแบบนี้ชวนให้ระลึกถึงตัวละคร Bride ใน Bride of Frankenstein ทุกทีเลย) สีหน้าท่าทางหึงหวง อิจฉาริษยา และยังมีความอยากร่านต้องการใน Sex หลังจากเห็นการร่วมรักของลูกสะใภ้ วิ่งเข้าถาโถมกอดต้นไม้ที่ตายไปแล้ว นี่เป็นสัญลักษณ์ของศิวลึงค์ แต่เพราะไม่มีใบไม้หลงเหลืออยู่ มันคือความแห้งเหี่ยวร่วงโรยราไร้ความสดชื่นของวัยหนุ่มสาว เป็นการบอกว่าแก่ปูนนี้แล้วใครที่ไหนจะเอา
Jitsuko Yoshimura (เกิดปี 1943) นักแสดงหญิงที่ได้รับการค้นพบโดย Shohei Imanura รับบทใน Pigs and Battleships (1961), The Insect Woman (1963), Onibaba (1964), Dodes’ka-den (1970) ได้รับการจับตามองว่าอาจจะโด่งดังแน่ แต่กลับรีไทร์เมื่อปี 1970 (ไม่รู้เพราะแต่งงานหรือเปล่า) กลับมาช่วงปี 1980 ก็ไม่โด่งดังประสบความสำเร็จเท่าแต่ก่อนแล้ว
รับบทลูกสะใภ้ที่ยังสาว(สวย) แต่เพราะความยังอ่อนต่อโลกด้อยประสบการณ์ แต่งงานอาศัยอยู่กับแม่ยายที่เข้มงวดกวดขัน เพราะความเปล่งปลั่งแรกแย้มผลิ เมื่อสูญเสียสามีไปได้รับการชักชวนจากชายเพื่อนบ้าน ด้วยสันชาติญาณความต้องการที่เร่าร้อนแรง ก็อยากลิ้มลองสัมผัสรสรักอีกครั้ง แล้วก็ติดอกติดใจจนอะไรก็มิอาจขวางกั้น มิสนใจความถูกต้องเหมาะสม มโนธรรมศีลธรรม ใช้ชีวิตราวกับสัตว์เดรัจฉาน สนองความสุขส่วนตนเท่านั้น
ใบหน้าของ Yoshimura มีความเยาว์ที่บริสุทธิ์มากๆ บอกตามตรงผมไม่เห็นความสวยของเธอเท่าไหร่ แต่สีหน้าแห่งความร่านนั้นจัดเต็ม แต่งตัวโป๊เปลือยยั่วยวน ขณะไปหาชู้รักต้องรีบวิ่งสุดแรงเกิด สีหน้าท่าทางแบบว่าต้องการสุดๆ เกิดอะไรอื่นขึ้นฉันก็ไม่สนใจ แรงขับเคลื่อนความต้องการทางเพศนี่มันรุนแรงขนาดนี้เลยจริงๆนะ, ตอนทำหน้าตาสมน้ำหน้าแม่ยาย ขณะที่รับรู้ความจริงถึงใบหน้าติดอยู่กับหน้ากาก เป็นครั้งแรกที่หญิงสาวเติบโตเปล่งปลั่งกลายเป็นสาว มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง กล้าต่อรองเพื่อสนองตัณหาของตนเอง ก็พยายามช่วยจนทุบหน้ากากแตก แต่สิ่งที่อยู่ภายใต้นั่น ทำให้เธอต้องวิ่งหนีอุตลุด เผ่นป่าราบ
Kei Satō (1928 – 2010) นักแสดงจาก Aizu ขาประจำของ Nagisa Oshima และ Kaneto Shindo โด่งดังกับ The Human Condition (1959), Night and Fog in Japan (1960), Harakiri (1962), Onibaba (1964), Kwaidan (1964), Zatoichi’s Vengeance (1966), Kuroneko (1968), The Ceremony (1971) ฯ
รับบท Hachi เพื่อนบ้านที่หนีทหารกลับมา เล่าข่าวการเสียชีวิตของลูกชาย/สามี ให้หญิงทั้งสองฟัง เพราะความร่านเป็นเหตุ แสดงออกความต้องการต่อหญิงสาวออกมาอย่างชัดเจน ช่วงแรกๆที่ยังไม่ตอบสนอง ดิ้นพร่านไปมาราวกับสัตว์ติดสัตว์ที่ไม่ได้ผสมพันธ์ุ แต่พอได้ปลดปล่อยก็มีความโล่งเบาสบาย ชีวิตไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้อีกแล้ว
การแสดงของ Satō เต็มไปด้วยความหื่นกระหายที่ชัดเจนมากๆ นำแรงขับเคลื่อนภายในออกมาดิ้นพร่านอยู่ภายนอก แม้จะไม่มีอะไรมากกว่านี้ แต่แค่ภาพลักษณ์ของเขาก็สามารถเติมเต็มเป็นตัวแทนของมนุษย์ผู้ชายได้ทั้งแท่ง
ถ่ายภาพโดย Kiyomi Kuroda ขาประจำของ Shindo, คงมีการใช้สารเคมีบางอย่างเพื่อเพิ่มความเข้มแสง ทำให้ภาพออกมามีสีดำขลับ คมเข้มชัดกว่าปกติ แทบจะไม่มีสีเทาอ่อนปรากฎอยู่เลย
หนังถ่ายทำบริเวณใกล้ๆริมฝั่งแม่น้ำ Inba-Numa จังหวัด Chiba สร้างกระท่อมน้อยขึ้นมาสองหลัง ส่วนหลุมและถ้ำปั้นขึ้นมาจากดิน ไม่ได้ลงไปถ่ายในหลุม เพราะบริเวณนั้นเป็นพื้นที่ลุ่มดอน แค่ขุดไม่นานน้ำก็ท่วมเต็มบ่อ, สำหรับฉากกลางคืนในกระท่อม ต้องถ่ายตอนกลางวันเพราะมืดมาก แล้วหาผ้าหรืออะไรสักอย่างมาปกปิดคลุมด้านนอก ไม่ให้แสงแดดสาดส่องเข้าไปได้ จากนั้นใช้แสงจากไฟฉายสาดส่องใบหน้าตัวละคร ให้เห็นเฉพาะตำแหน่งที่ต้องการนำเสนอเท่านั้น
โดดเด่นมากๆกับภาพของต้นหญ้า ดอกหญ้า สายพันธุ์ของญี่ปุ่นมีชื่อว่า Susuki Grass ขึ้นสูงเหนือศีรษะ มีความพริ้วไหวจากสายลมอยู่ตลอดเวลา ตีความได้คือสัญลักษณ์ของเวลา ชีวิต สิ่งรอบข้างที่เคลื่อนผ่านไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ถ้าเราอยู่เฉยๆมันก็จะไม่ยุ่งเกี่ยวทำอะไรเรา แต่ถ้าไม่ระวังอาจถูกบาดเป็นแผลเลือดออกได้
ช็อตที่หลายคนคงจดจำได้แน่ ขอตั้งชื่อว่า ‘วิ่งร่าน’ นั่นคือการออกวิ่งใส่เกียร์หมา ฝ่าทุ่งกอหญ้าอย่างรวดเร็วของลูกสะใภ้ เพื่อไปหาชู้ร่วมรัก กล้องใช้การ Tracking Shot ติดตามในระยะประชิด เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วถึงที่สุด คงมีการใช้รางเลื่อนหรือไม่ก็เครน เพราะภาพนิ่งมากตากล้องคงไม่ได้วิ่งถือกล้องถ่ายแน่ๆ, ที่ต้องวิ่งเร็วขนาดนี้ ใครๆน่าจะตีความออกได้ทันที ราวกับเป็นสิ่งสำคัญสุดในชีวิต ถ้าไม่ได้โดยด่วนอาจถึงคราตายได้
มีอีกครั้งหนึ่งช่วงท้าย ตอนที่หน้ากากติดกับใบหน้าของหญิงสูงวัย หลังจากขอให้ลูกสะใภ้เอาออกให้ พยายามดึงเท่าไหร่ก็ไม่ออก ทำเอาเธอดิ้นพร่านไปมา, การเคลื่อนไหวของตัวละครฉากนี้รับแรงบันดาลใจจากการแสดง Noh ซึ่งเทคนิคการถ่ายภาพที่ใช้ กล้องมีการเคลื่อนไหวส่ายไปมา แทนด้วยความทรมานที่เกิดขึ้นจากความเจ็บปวดนี้
ให้ข้อสังเกตกับความโป๊เปลือยของตัวละคร แรกๆไม่ได้มีเท่าไหร่หรอก แต่หนังจะค่อยๆยั่วเย้ายวน เริิ่มจากลูกสะใภ้นั่งถ่างขาซักผ้า (ยั่วซะ) จากนั้นเมื่อสันดานความต้องการของมนุษย์เริ่มเปิดเผยแสดงออก เสื้อเปิดหน้าอกข้างหนึ่ง, นอนแผ่ร่าไม่ปกปิดท่อนบน, จากนั้นก็ไม่มีอะไรต้องปิดบัง ทั้งชายและหญิง
ตัดต่อโดย Toshio Enoki, หนังมีเพียง 3-4 ตัวละคร ใช้มุมมองของพวกเขาทุกคน แต่จะเยอะหน่อยกับหญิงสูงวัย เพราะเรื่องราวของเธอตรงกับชื่อหนัง Onibaba
หลายครั้งทีเดียวมีการใช้เทคนิค Montage ตัดสลับระหว่างสิ่งที่ตัวละครเห็นกับปฏิกิริยา สีหน้า ท่าทางอารมรณ์, โดดเด่นมากก็ตอนลูกสะใภ้พบเจอกับปีศาจ ตัดสลับไปมาระหว่างภาพใบหน้าของทั้งสอง และทุกครั้งหญิงสาวจะต้องกรีดร้อง ทำหน้าตาหวาดกลัวสุดขีด แล้วหันหลังวิ่งหนีเตลิดเปิดเปิงป่าราบ
เพลงประกอบโดย Hikaru Hayashi นักแต่งเพลงแนว Contemporary ถือว่ามีความแปลกประหลาดพิศดาร เพราะใช้เสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านญี่ปุ่น กลอง Taiko ผสมกับดนตรี Jazz แต่มันกลับเข้ากันได้อย่างลงตัวและโดดเด่นมากๆเลยละ น่าเสียดายที่ผมหา Opening Credit มาให้ฟังไม่ได้ มีเพียงบทเพลง Onibaba น่าจะเป็น Character Song เสียงกลองรัวๆเป็นจังหวะแล้วมีเสียงร้องอ๊ากกตบท้ายแทบทุกครั้ง (น่าเอาไปเป็นเสียง ringtone เสียจริง)
ฉากที่ลูกสะใภ้ออกวิ่ง เสียงกลองพลันรัวดังขึ้น กึกก้องราวกับเสียงเพรียกของหัวใจ มันสั่นไหวระริกรัว ร้องเรียกหาคู่เพื่อเสพย์สมสู่
ถึงบทเพลงในหนังจะมีแต่เสียงรัวกลอง แต่ถือว่าคือไฮไลท์ที่โดดเด่นขึ้นมา ขณะเดียวกันเสียงของธรรมชาติของ Sound Effect สายลมพัด สายฝน เกือกม้ากระทบพื้น ดาบฟันโช้งเช้ง ก็มีความกลมกลืน สงบแน่นิ่ง ถือได้ว่าสองสิ่งนี้เติมเต็มกันและกันได้อย่างลงตัว
Onibaba นำเสนอช่วงเวลาแห่งการสงคราม (สะท้อนกับสงครามโลกครั้งที่ 2) อันเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนแสดงสันดาน/สันชาติญาณดิบของตนเองออกมา แต่ก็ยังมิได้เลวร้ายกว่าการสวมใส่หน้ากาก ของคนที่พยายามปกปิดความต้องการ ตัวตนความชั่วร้ายของตัวเองไว้ภายใน, แต่เมื่อครั้นยินยอมรับความพ่ายแพ้ เพราะมิอาจหักห้ามสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องการถอดหน้ากากออกกลับมิสามารถทำได้ เพราะความชั่วนั้นมันได้เกาะกิน ติดแน่นฝังตรึงอยู่ตลอดไป ถอดออกมาก็จะพบเจอสภาพเน่าเฟะ กลายเป็นปีศาจตราบจนวันตาย
ผู้กำกับ Shindo ได้ให้นัยยะถึงสภาพของหญิงสูงวัยเมื่อถอดหน้ากากออกมา นั่นคือการสะท้อนภาพลักษณ์ของผู้ได้รับผลกระทบจากระเบิดนิวเคลียร์
Sex หมายถึง กระบวนการของสิ่งมีชีวิต ให้สามารถสืบทอดดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ โดยเป็นสิ่งที่ติดมากับสันชาติญาณตั้งแต่เกิด ถือว่าเป็นหนึ่งในความต้องการพื้นฐานของร่างกาย, แต่มนุษย์ถือว่าตนเองเป็นสัตว์ประเสริฐ ชนิดเดียวในโลกที่มีความสามารถหักห้ามความต้องการทางเพศได้ เพราะมีสติปัญญาแยกแยะแรงขับเคลื่อนภายในกับเหตุผลออกจากกันได้ … แต่ก็ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะสามารถแยกแยะสองสิ่งนี้ได้จริงๆ
การที่หนังนำเอาแนวคิดของพุทธศาสนาแทรกใส่เข้าไปด้วย ความเชื่อเกี่ยวกับการมักมากในกาม ผลกรรมของผู้ลักลอบมีชู้ ประพฤติผิดประเวณี มองในมุมหนึ่งคือการเสี้ยมสอนให้รู้จักการควบคุมสันชาติญาณของตนเอง แต่เพราะหลายครั้งสติปัญญามิสามารถเอาชนะแรงขับเคลื่อนภายในนี้ได้ พวกเราจึงยังวนเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป มิอาจหลุดพ้นออกจากวัฏสังสารของชีวิต
สังเกตว่าหนังเรื่องนี้ผู้หญิงต่างวัยทั้งสอง ต้องการผู้ชายเพื่อเติมเต็ม
1) ความต้องการทางเพศ ลูกสะใภ้แสดงออกโดยไม่ปกปิด
2) มีชีวิตเอาตัวรอด แม่ยายทำทุกอย่างกระทั่งสวมหน้ากากหลอกลวง,
ทั้งสองก่อให้เกิดความขัดแย้ง การแข่งขัน อิจฉาริษยา หลบซ่อนดิ้นรน แต่เมื่อมีผู้แพ้ก็ต้องมีผู้ชนะ นี่คือการวิพากย์สังคมในมุมมองของผู้กำกับ Shindo ที่ได้ทำการสรุปประมวลผล ความขัดแย้ง ปัญหาพิพาทต่างๆ จากสิ่งที่เขาพบเห็นในระดับมหภาค หลงเหลือเพียงจุลภาคที่คือเรื่องราวของมนุษย์ชายหญิง และ Sex เป็นตัวแทนของการใช้อำนาจ อิทธิพล ครอบงำ เป็นใหญ่ เพื่อการต่อสู้เอาตัวรอดของตนเอง
หลุมลึกขนาดใหญ่ที่ปรากฎในหนัง มีลักษณะเปรียบเหมือนอวัยวะเพศหญิง ใช้ในการหลอกล่อลวง (ผู้ชาย) ซามูไรให้มาตกดับ รวมถิงทิ้งซากศพโครงกระดูกให้เน่าเปื่อยผุพัง หญิงสาวทั้งสองมักจะสามารถกระโดดข้าม เอาตัวรอดได้ตลอดเวลาไม่เคยตกลงไป, ผมละไม่อยากอธิบายเจ้าหลุมแห่งตัณหานี้เลย ผู้ชายทั้งหลายต่างยินยอมตกลงในความลุ่มหลงใหล แต่แท้จริงภายในนั้นเมื่อปีนป่ายลงไป พบเจอแต่ความเน่าเฟะ โครงกระดูก และความตาย
การที่หญิงสูงวัยกระชากหยิบหน้ากากออกจากร่างซามูไร มันคือการดึงเอาความชั่วร้ายที่หลบซ่อนอยู่ภายใน ออกมาสวมใส่ให้ปรากฎเห็นภายนอก
ไม่ใช่แค่ชื่นชอบจาก 5 นาทีแรก วินาทีที่หญิงสูงวัยสวมหน้ากาก Hannya ทะยานออกมา นั่นทำให้ผมตกหลุมรักคลั่งหนังเรื่องนี้โดยทันที มันเป็นจุดที่มีความลึกซึ้ง ลึกล้ำ เฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง ครุ่นคิดจนปวดหัวกว่าจะได้บทความนี้
พยายามที่จะเปรียบเทียบกับ Woman in the Dunes ว่าเรื่องไหนยอดเยี่ยม เฉลียวฉลาด ยิ่งใหญ่กว่ากัน แต่ผมก็มิสามารถตอบได้ คือรู้สึกมันเท่าเทียมทัดพอๆกันเลยละ (แต่ใจค่อนไปทางปรัชญาของ Woman in the Dunes มากกว่า) ถือเป็น 2 Masterpiece สร้างขึ้นในปีเดียวกัน ของสองผู้กำกับที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่คุ้นชื่อสักเท่าไหร่
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” สิ่งที่ผมอยากแนะนำให้ทำการครุ่นคิดขณะรับชม คือเรื่องราวของการสวมใส่หน้ากากแห่งความชั่วร้าย ครั้งหนึ่งทำผิดยังพอให้อภัยได้ ครั้งสองก็เริ่มรับไม่ได้ ยิ่งยังฝืนทำต่ออีกเป็นครั้งที่ 3 ครานี้ฟ้าดินคงมิอาจให้อภัย จิตวิญญาณ ใบหน้าของตัวละคร จึงได้กลายเป็นปีศาจติดตัวไปจนวันตาย
แนะนำเป็นพิเศษกับคอหนัง J-Horror, ชื่นชอบการครุ่นคิด วิเคราะห์ ตีความ, หลงใหลงานภาพสวยๆ, งานเพลงแนวทดลอง, สอดไส้พุทธศาสนา, รู้จักผู้กำกับ Kaneto Shindo ห้ามพลาดเด็ดขาด
จัดเรต 18+ กับภาพโป๊เปลือย และการกระทำชั่วร้ายต่างๆ อาทิ ร่านราคะ ฆ่าคนตายโดยไม่รู้สึกอะไร
Leave a Reply